หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 1278 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


The Motorcycle Diaries โดย ลีออง ๑๙๖๘ พิมพ์
Friday, 02 June 2006


เนื้อในหนัง

ลีออง ๑๙๖๘

THE MOTORCYCLE DIARIES

 

เช กูวารา“พวกเราคับแคบเกินไป อคติ ด่วนสรุป และยึดมั่นอะไรมากเกินไปหรือเปล่า”

“การเร่ร่อนไปทั่วอเมริกาใต้ มันได้เปลี่ยนแปลงตัวผมไปมากกว่าที่คิด ผมไม่ใช่คนเดิมอีกแล้ว”

นี่คือบทสรุปของบันทึกแห่งการเดินทางเล่มหนึ่งซึ่งบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางที่เปลี่ยนคนธรรมดาคนหนึ่งให้กลายป็นวีรบุรุษของอเมริกาใต้ หนึ่งในผู้นำการปฎิวัติปลดปล่อยประเทศคิวบา....เช กูวารา

เขียนความคิดเห็น (2 ความคิดเห็น)
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม...
ฤา ไทยจะเดินรอยตามประเทศอาร์เจนตินา พิมพ์
Thursday, 01 June 2006

ฤา…ไทยจะเดินรอยตาม... ประเทศอาร์เจนตินา

โดย อัมรินทร์ คอมันตร์


ประมาณ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอาร์เจนตินาขณะนั้น คือ นายอัลฟองซีน ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เขาต้องการที่จะพัฒนาอาร์เจนตินาให้เป็นประเทศชั้นนำอันดับหนึ่งของทวีปอเมริกาใต้ จึงเสนอโครงการพัฒนาต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่เคยปรากฏมาก่อนในอาร์เจนตินา เช่น การปฏิรูประบบราชการ การเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาครอบครองแผ่นดิน การเอารัฐวิสาหกิจออกมาขายในตลาดหลักทรัพย์ หรือให้สัมปทานการเปิดเสรีการค้า ฯลฯ

Imageเมื่อแผนพัฒนาประเทศดังกล่าวถูกนำสู่สาธารณชน และเข้าสู่สภาฯ ปรากฏว่าได้รับการต่อต้านจากประชาชนและฝ่ายค้านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้นำฝ่ายค้าน – นายคาร์ลอส เมเนม ได้กล่าวหาว่า นายอัลฟองซีน และพรรคพวก ว่าเป็นคนขายชาติ ขายแผ่นดิน มีผลให้นายอัลฟองซีนต้องหลุดจากตำแหน่งประธานาธิบดี ก่อนที่จะครบวาระ

หัวหน้าฝ่ายค้านซึ่งเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดี ต่อจากนายอัลฟองซีน ได้พยายามสร้างและหาความนิยมจากประชาชน เพื่อที่ตนเองจะได้ชนะการเลือกตั้งที่จะมีต่อไปในอนาคต กล่าวคือ อะไรที่ อัลฟองซีนทำ เขาบอกว่าจะไม่ทำ จะคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อประชาชน และประเทศ เขาได้บริหารประเทศโดยใช้นโยบาย ลด แลก แจก แถม หรือที่เรียกทั่วๆ ไปว่า “ประชานิยม” คือเอาเงินภาษีอากรของประชาชน มาใช้ในการหาเสียงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เมื่อการเลือกตั้งมาถึง พรรคการเมืองของนายเมเนม ประสบชัยชนะอย่างขาดลอย ครองเสียงข้างมากในสภาฯ เข้าคุมประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ ฝ่ายค้านหมดน้ำยาทันที ชัยชนะที่ได้มานั้น มาจากปัจจัยที่สำคัญ เช่น การใช้เงินซื้อเสียงด้วยวิธีการต่างๆ การใช้นโยบายหลอกล่อประชาชนให้หลงเชื่อ และการทำลายฝ่ายตรงข้าม

ครั้นเข้ามาบริหารประเทศผ่านไปเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ สื่อต่างๆ ของอาร์เจนตินา ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐบาลนายเมเนม สื่อโทรทัศน์ของรัฐและเอกชนถูกสั่งโดยทางตรงและทางอ้อมให้ปิดหูปิดตาประชาชนเสมอ หน้าที่หลักคือ สรรเสริญ สนับสนุนรัฐบาล วันๆ ให้ประชาชนมัวเมากับฟุตบอล และการพนัน สื่อหนังสือพิมพ์ถ้าฉบับไหนวิจารณ์รัฐบาลจะถูกงดการให้เงินโฆษณาจากรัฐวิสาหกิจ หรือกิจการของนักธุรกิจการเมืองฝ่ายรัฐบาล

ปี ๒๕๓๗ เขาออกแผนพัฒนาเศรษฐกิจหลักการเดียวกับกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ ๑๑ ฉบับของไทย หรือกฎหมายขายชาติที่สื่อเรียกกัน นำมาใช้ในการบริหารประเทศอาร์เจนตินา แผนหลักสำคัญๆ เช่น การแปรรูป(ขาย)รัฐวิสาหกิจ การเปิดเสรีการค้า การให้สิทธิต่างชาติซื้อแผ่นดิน การปฏิรูประบบราชการ การยกเลิกแก้ไขกฎหมายที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนในชาติ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่นายเมเนม เคยต่อต้านในช่วงที่ตนเองเป็นฝ่ายค้าน แต่พอมีอำนาจกลับนำมาใช้ เพราะเห็นว่าสามารถสร้างความร่ำรวยให้แก่ตนเองและพรรคพวกได้

การขายรัฐวิสาหกิจ เขาใช้สื่อต่างๆ หลอกลวงประชาชนว่า รัฐวิสาหกิจเป็นภาระของรัฐบาล มีการโกงกิน การบริหารไร้ประสิทธิภาพ ต้องแปรรูปเอาหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือไม่ก็ขายสัมปทาน ซึ่งความจริงแล้วรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีกำไรและนำเงินเข้าสู่รัฐเพื่อนำมาใช้สอยสร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาชน แค่ปรับปรุงและปราบการโกงกินก็ย่อมทำได้แต่ไม่ทำ เพราะถ้าเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์จะสามารถปันเงินเข้ากระเป๋าตัวเองและพรรคพวกได้

ภาพจาก www.argentina.indymedia.orgแรกๆ พวกพนักงานรัฐวิสาหกิจ เช่น สหภาพต่างๆ ออกมาคัดค้าน รัฐบาลของนายเมเนม ก็ให้สินบนผู้คัดค้านเหล่านั้นด้วยการขายหุ้นในราคาถูกบ้าง ให้หุ้นฟรีบ้าง สัญญาว่าจะขึ้นเงินเดือน ๒๐ – ๓๐ เปอร์เซ็นต์ บ้าง จะไม่มีการไล่ออกบ้าง การให้สินบนก็เอาเงินภาษีของประชาชนมาปิดปากการคัดค้านทำให้พวกขายตัวเงียบไปและยอมสยบให้กับรัฐบาล ในที่สุดรัฐบาลแทบไม่ได้ทำตามสัญญาเลย รัฐบาลนายเมเนมได้เอารัฐวิสาหกิจแทบทุกอย่างออกมาขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยเที่ยวหลอกลวงประชาชนว่าไม่ต้องห่วง เพราะรัฐยังถือหุ้นส่วนใหญ่อยู่ และจะไม่ขายให้แก่ต่างชาติ สุดท้ายเขาและพรรคพวกใช้อำนาจบริหารกวาดหุ้น ปั่นหุ้น ทำเงินเข้ากระเป๋าเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งนี้ ยังไม่นับรายได้จากการขายสัมปทานของรัฐโดยตรง

ในที่สุด รัฐวิสาหกิจต่างๆ ก็ตกอยู่ในมือของพวกนักธุรกิจการเมือง และคนต่างชาติ เช่น กิจการประปาตกอยู่ในมือของอังกฤษและฝรั่งเศส ไฟฟ้าตกอยู่ในมือของแคนาดา ฝรั่งเศส และอเมริกา กิจการสายการบินตกอยู่ในมือของสเปน กิจการโทรศัพท์ตกอยู่ในมือของสเปน เป็นต้น

ขอยกตัวอย่างให้เห็นว่าเขานำภัยสู่ประชาชนอย่างไรกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ยกตัวอย่างเช่น ไฟฟ้าและประปา อาร์เจนตินาผลิตไฟฟ้าประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ โดยใช้พลังงานจากน้ำตก ที่เหลือใช้น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ซึ่งเกือบทั้งหมดนับว่าเป็นต้นทุนที่ถูกมาก ซึ่งมีอยู่แล้วในประเทศ หลังจากแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ และตกอยู่ในมือของพวกเศรษฐีและต่างชาติแล้ว ราคาค่าไฟเพิ่มขึ้นมาถึงหน่วยละประมาณ ๖.๕๐ บาท เมื่อแปรรูปประปาแล้ว น้ำประปาในอาร์เจนตินาแพงถึงขนาดมีคนเสียชีวิตเพราะขาดน้ำเนื่องจากขอน้ำใครกินไม่ได้ ไม่มีใครให้เพราะน้ำแพง ชาวบ้านถึงกับตั้งศาลเพียงตาไว้ให้ผู้เสียชีวิต ไม่มีประเทศไหนในโลกที่แปรรูปแล้วประชาชนไม่เดือดร้อนและนักการเมืองไม่โกงกิน

โทรศัพท์เมื่อแปรรูปฯ ไปแล้ว ราคาแพงสุดโหด และหุ้นใหญ่ตกไปอยู่ในมือขององค์การโทรศัพท์สเปน ๒ ปีที่ผ่านมา องค์การโทรศัพท์ของสเปนประกาศว่ากำไรของเขาลดลงไป ๑.๓ พันล้านเหรียญสหรัฐ เพราะเหตุการณ์วิกฤตในอาร์เจนตินา คิดดูแล้วกันว่าต่างชาติขนเงินออกจากอาร์เจนตินาเท่าไรเมื่อรัฐวิสาห กิจตกไปอยู่ในมือต่างชาติ

นายเมเนมได้ออกกฎหมายให้ต่างชาติเข้ามาซื้อแผนดินได้ โดยหวังที่จะให้เงินลงทุนมาจากต่างประเทศ ปรากฏว่าต่างชาติได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินในรูปแบบต่างๆ (คล้ายๆ กับที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้) จอร์จ โซรอส แค่รายเดียว ซื้อที่ดินในอาร์เจนตินาเกือบล้านไร่ ในช่วงไม่กี่ปีต่างชาติเข้าครองแผ่นดินอาร์เจนตินาถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ สร้างความวิบัติให้แก่สังคมอย่างมหาศาล

การเปิดเสรีการค้าเป็นสาเหตุหนึ่งที่สร้างความวิบัติ พวกนักธุรกิจการเมืองในรัฐบาลนายเมเนม มีผลประโยชน์กับบริษัทข้ามชาติในสาขาต่างๆ เช่น การค้าปลีกค้าส่ง โดยปล่อยและร่วมมือให้ร้านค้าขนาดยักษ์ของต่างชาติเข้ามาทำลายร้านค้าขนาดย่อมขนาดเล็ก สร้างความหายนะให้แก่คนอาร์เจนตินานับล้านๆ คน นอกจากนั้น กิจการภาคบริการก็ถูกต่างชาติยึดอีก คนชั้นกลางของอาร์เจนตินาต้องกลายเป็นคนจนเพียงเวลา ๒-๓ ปี นับแต่นายเมเนนบริหารประเทศ

วิธีบริหารประเทศของนายเมเนมนั้น ใช้คอร์รัปชั่นเชิงนโยบายบริหารประเทศเป็นหลัก มือข้างหนึ่งเขาจะใช้กลยุทธ์การบริหาร และการ ตลาด ตลอดจนการประชาสัมพันธ์หลอกลวงประชาชนด้วยโครงการต่างๆ เพื่อให้ตายใจ ส่วนมืออีกข้างหนึ่งเขาจะหยิบเอาสมบัติของคนทั้งชาติ เช่น รัฐวิสาหกิจไปปั่นหุ้นขายหาเงินเข้ากระเป๋าตนเองและพรรคพวก สมคบกับต่างชาตินำทุนข้ามชาติมาทำลายทุนใหญ่น้อยในชาติ กู้เงินมาลงทุนสร้างโครงการที่ไม่มีความจำเป็น เช่น สนามบิน เป็นต้น เพื่อที่จะได้ค่าใต้โต๊ะเป็นการตอบแทน

ในช่วงรัฐบาลนายเมเนม มีหลายคนออกมาเตือนว่าระวังประเทศอาร์เจนตินาจะเป็นเหมือนอย่างประเทศบราซิล ซึ่งประสบความหายนะมาก่อนอาร์เจนตินาประมาณ ๒ - ๓ ปี แต่รัฐบาลนายเมเนมกลับบอกประชาชนว่า อาร์เจนตินาไม่มีวันประสบกับหายนะอย่างบราซิลเพราะเราเดินมาถูกทางแล้ว ไม่ว่าชาติมหาอำนาจ หรือ IMF ก็บอกอย่างนั้น พวกที่บอกว่าอาร์เจนตินาจะหายนะเหมือนบราซิลเป็นพวกโง่

ภาพจาก www.argentina.indymedia.orgเมื่ออาร์เจนตินาประสบความหายนะมีอะไรเกิดขึ้นที่คนไทยควรจะรู้ไว้ก็คือ ประธานาธิบดีเมเนมถูกขับออกจากตำแหน่ง เขาหิ้วกระเป๋าไปแต่งงานกับมหาเศรษฐีสาวชาวเปรู(เป็นมหาเศรษฐีได้อย่างไรคิดดูเองก็แล้วกัน) อายุต่างกันประมาณ ๒๐-๓๐ ปี วันนี้มีลูกคนหนึ่งแล้ว

ชาวอาร์เจนตินาตกงานนับล้านๆ คน รัฐบาลสั่งห้ามคนอาร์เจนตินาถอนเงินฝากของตน นอกจากเอามาใช้ซื้ออาหารกินเดือนละ ๑,๒๐๐ เปโซ เด็กในเมืองหลวงนับล้านคนไม่สามารถไปเรียนหนังสือได้ เพราะรัฐไม่มีเงินช่วยเหลือ ประเทศอาร์เจนตินามีพลเมืองแค่ ๓๗ ล้านคน แต่ผู้คนและเด็กอดอาหาร ทั้งๆ ที่อาร์เจนตินาผลิตอาหารเลี้ยงคนได้ถึง ๒๐๐ ล้านคน แต่เนื่องจากแผ่นดินการเกษตรตกอยู่ในมือต่างชาติ จึงผลิตเพื่อการส่งออก อาชญากรรมระบาดไปทั่ว กิจการต่างๆ ของคนในชาติเป็นจำนวนมากต้องถูกยึด หรือปิดตัวเอง ผู้หญิงต้องทำแม้กระทั่งตัดผมของตัวเองแลกอาหาร เด็กอดอาหารตายเป็นจำนวนมาก

การที่ใครก็ตามออกมาพูดเรื่องอาร์เจนตินา ไม่ได้หมายความว่า เขาต้องการให้ประเทศไทยเป็นแบบอาร์เจนตินา หรือพูดให้คนตกอกตกใจและสับสน แต่ที่เขาเอาอาร์เจนตินามาพูดนั้นก็เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้บริหารประเทศและประชาชนได้ตระหนักว่า เรามีตัวอย่างประเทศที่เขาเดินไปสู่ความวิบัติอย่างไร ถ้าเราไม่อยากวิบัติอย่างเขา เราก็ไม่ควรจะเดินตามรอยเขา แล้วไปลงเหวนรก ประชาชนจึงต้องมีจิตสำนึกออกมาป้องกันผู้บริหารประเทศ และนักการเมืองชั่วๆ บางคนที่กำลังแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบก่อนที่ประเทศไทยจะเกิดความวิบัติ

ใครที่มีเพื่อนเป็นคนอาร์เจนตินาลองไปถามได้ว่า ที่เขียนมาทั้งหมดมีอะไรไม่เป็นความจริงบ้าง มีตรงไหนที่แสดงความโง่บ้าง ประเทศอาร์เจนตินาใหญ่กว่าประเทศไทย ๕ เท่า มีประชากรแค่ ๓๗ ล้านคน มีน้ำมัน น้ำตก ก๊าซ ถ่านหิน และพื้นดินที่สมบูรณ์ ในช่วงรัฐบาลนายเมเนม GDP เคยขึ้นถึง ๘ - ๙ เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขสวยมากทุกตัว เพราะเขาขายทุกอย่าง โกงทุกอย่าง ปิดหูปิดตาประชาชนทุกอย่าง แม้แต่ทหารซึ่งเคยเป็นดุลถ่วงพวกนักการเมือง ก็ยอมอยู่ใต้อุ้งมือนักการเมือง ไม่กล้าคิดจะปกป้องประเทศชาติและประชาชน ถูกตัดกำลังแทบจะมีไว้สำหรับเฝ้าทำเนียบ หรือเดินสวนสนามเท่านั้น

คนเราอาจจะหลอกคนบางคนได้ในบางเวลา แต่จะหลอกทุกคนไปตลอดเวลาไม่ได้หรอก ความวิบัติของประเทศจะไม่เกิดขึ้นถ้าผู้บริหารประเทศและประชาชนมีความสำนึก ผูกพัน และหวงแหนแผ่นดิน สมบัติของชาติ รัฐวิสาหกิจ สิทธิและผลประโยชน์เรื่องการทำกินของคนในชาติ ในระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลต้องทำหน้าที่รับใช้ประชาชน ระบอบเผด็จการเท่านั้นที่รัฐบาลแสดงอำนาจกับประชาชน ระบอบนี้ไม่ควรมีอยู่บนแผ่นดินไทยแม้แต่วันเดียว

(จาก เล่าเรื่องอาร์เจนตินา : อัมรินทร์ คอมันตร์ น.ส.พ.มติชน วันจันทร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ หน้า ๗)


อัมรินทร์ คอมันตร์ นักธุรกิจซึ่งเคยไปทำธุรกิจในประเทศอาร์เจนตินา มีประสบการณ์ในช่วงที่อาร์เจนตินาประสบภาวะวิกฤติในประเทศ เป็นแกนนำ 45 องค์กรพันธมิตรคัดค้านกฏหมายขายชาติ และแกนนำคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ


เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
ปุจฉา - วิสัชนา เรื่องการเมือง สังคม และจริยธรรม พิมพ์
Thursday, 01 June 2006

"สังคมวัตถุนิยมจะทำลายตัวมันเอง เมื่อเกิดวิกฤติเต็มที่แล้ว"

ปุจฉา - วิสัชนา เรื่องการเมือง สังคม และจริยธรรม
กับ พระไพศาล วิสาโล

โดย กองบรรณาธิการ


Imageท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่ยังไหลเชี่ยวแรงไม่หยุด ประเทศไทยในอุ้งมือของผู้นำที่พาเราลงเรือ "ไทยรักไทย" ล่องไปในมหาสมุทร "โลกาภิวัตน์" และเดินเรือเข้าสู่กระแส "บริโภคนิยม" อย่างเต็มอัตรา ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ดังที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในสภาพสังคมปัจจุบัน อาทิ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เช่น ปตท. ซึ่งให้บทเรียนแก่คนไทยไปแล้วเมื่อต้องรับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นไม่หยุด ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในยุครายได้ต่ำค่าครองชีพสูง หรือที่กำลังจะนำ กฟผ. เข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งย่อมต้องรับผลจากราคาค่าไฟที่แพงขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ที่จะทำกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีข้อวิตกกังวลว่าเป็นการนำผลประโยชน์ของชาติไปแลกกับผลประโยชน์ส่วนตนของผู้นำรัฐบาลและบริวารรายรอบ และยังเท่ากับเป็นการแปรรูปประเทศไทยให้ต่างชาติเข้ายึดครอง หรือแม้กระทั่งปัญหาสถานการณ์ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งยังคงมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตไม่เว้นแต่ละวัน คงเพียงพอที่จะสะท้อนภาพความเป็นจริงให้เราได้เห็นกันบ้างแล้วว่า หากผู้นำประเทศ มุ่งแต่จะนำพาเรือ "ไทยรักไทย" มุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างประมาท ไม่ยึดในหลักธรรมา ภิบาล เห็นแต่เพียงประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง สุดท้ายใครเล่าที่รับผลเหล่านั้น ถ้าไม่ใช่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

ถึงเวลาหรือยังที่เราจะกลับมาทบทวน ตั้งรับ และร่วมด้วยช่วยกันหาทางออกให้สังคมไทย เพื่อให้เกิด "สังคมแห่งสันติสุข" "ผู้ไถ่" มีหลายคำตอบจาก พระไพศาล วิสาโล ซึ่งได้ช่วยวิเคราะห์และให้แนวคิดต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้


การที่รัฐบาลพยายามเร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อย่าง ปตท. กฟผ. สะท้อนให้เราเห็นถึงผลกระ ทบต่อสังคมโดยรวมอย่างไรบ้าง

ต้องดูเหตุผลเบื้องหลัง คือกระแสโลกา ภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกระแสใหญ่ของโลกปัจจุบัน โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจมีลักษณะอยู่ ๓ ประการ คือ การเปิดเสรีทางการเงินทางการค้า เช่นที่กำลังทำเอฟทีเอกันอยู่ อันที่สองคือ เรื่องของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อันที่สามคือ การผ่อนคลายกฎระเบียบข้อบังคับ นี่คือเสาหลัก ๓ ประการของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจปัจจุบัน เป็นความเชื่อหรือเป็นอุดมการณ์เลยว่าถ้ามี ๓ อย่างนี้จะทำให้ไม่ตกกระแสโลกาภิวัตน์และสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศได้ เพราะเขาเห็นว่าเวลานี้รัฐรับภาระมากในเรื่องของรัฐวิสาหกิจ รับภาระในเรื่องการควบคุมกิจการทางเศรษฐกิจซึ่งรัฐล้มเหลว เขาจึงมีความคิดจะกระจายอำนาจไปจากรัฐ ให้ตลาดเข้ามาเป็นตัวกำหนดการจัดสรรทรัพยากรแทน จึงเกิดแนวคิด ๓ ประการนี้ขึ้นมา นี่คือกระแสหลักของปัจจุบันซึ่งเป็นเรื่องที่โต้เถียงกันอยู่ว่าโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจมีประโยชน์จริงไหมต่อประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนยาก คนจนที่อยู่ในระดับล่างของสังคม แน่นอนมันอาจจะให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นพวกชนชั้นนำ ผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจ ค่อนข้างแน่ชัด แต่คราวนี้ที่เขาพูดว่าถ้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจแล้วประเทศจะเจริญมั่งคั่ง ถามว่าความมั่งคั่งไปอยู่กับใคร ไปอยู่กับชนชั้นนำ ผู้ประกอบการระดับบน เช่นนั้นหรือเปล่า แล้วคนทั่วไปจะได้ประโยชน์ไหม เรื่องนี้ก็พูดกันเยอะ ถกเถียงกันมาก

แต่ว่าในกรณีของเมืองไทย มีประเด็นที่ทับซ้อนเข้ามาคือ ความไม่แน่ใจในเจตนาที่แท้จริงของรัฐบาล เพราะว่ารัฐบาลนี้ถูกจ้องมองมากว่ามีปัญหาความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเยอะ จึงไม่แน่ใจและมีความระแวงสงสัยหรือมีความเชื่อมั่นว่าที่แปรรูปกันตอนนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง เพราะว่าถ้าแปรรูปแล้วก็มาช้อนซื้อเอาตอนที่หุ้นมันราคาถูกๆ พอหุ้นราคาแพงขึ้นก็อาจจะขายให้ต่างชาติ คือ หวังที่จะแปรรูปเพื่อตัวเองจะได้เข้ามาฮุบ เข้ามาเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะกิจการที่ให้กำไรได้เยอะ เช่น กฟผ. ปตท. หรือไม่รู้ว่าต่อไปจะเป็นการบินไทยด้วยหรือเปล่า เพราะตอนนี้ขาดทุนอยู่ แต่ว่า ปตท. และ กฟผ. ให้กำไรสูง และทรัพย์สิน เช่น สายส่ง เขื่อน ที่ดินอะไรต่างๆ เหล่านี้ที่เป็นแพ็คเกจ ตรงนี้มีข้อสงสัยมากขึ้น ตอนนี้ประเด็นก็พูดกันมาก ความสงสัยในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง ของรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่

เท่าที่ผ่านมา เขามีตัวอย่างในหลายประเทศว่า เอาเข้าจริงแล้ว ชาวบ้านในระดับรากหญ้า หรือชาวบ้านที่เป็นคนยากคนจนจะเดือดร้อนจากนโยบายแปรรูปซึ่งทำให้เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจมากขึ้น คือตอนนี้หากจะพูดว่า ถ้าแปรรูปแล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้น คนจะมีรายได้มากขึ้น จะมีสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปอย่างแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งอันนี้มันเกิดขึ้นมาก เมื่อสัก ๒๐ ปีที่แล้ว อัตราส่วนระหว่างคนยากคนจน ๒๐ เปอร์เซ็นต์แรก และ ๒๐ เปอร์เซ็นต์สุดท้าย อาจจะสัก ๑ ต่อ ๗ แต่ตอนนี้มัน ๑ ต่อ ๑๒ แล้ว ซึ่งรวมไปถึงช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท หรือเกษตรกับอุตสาหกรรม จะมีสัดส่วนคล้ายๆ กัน คือ ช่องว่างมันถี่กว้างขึ้น เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นประเด็นซึ่งคนเขาไม่สบายใจ โดยเฉพาะผู้ที่สนใจในเรื่องของความผาสุกของสังคม แต่พวกชนชั้นกลางเขาก็เห็นว่า มันต้อง Privatization ต้องมีการแปรรูปเพราะตนเองจะได้ผลประโยชน์ มาซื้อหุ้น แล้วรัฐบาลนี้ก็ฉลาด เอาหุ้นมาขายให้กับชนชั้นกลาง หุ้น ปตท.นี่ ชนชั้นกลางได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ แต่ทั้งหมดนี้ ในที่สุดคนที่รับภาระก็คือ คนยากคนจนนั่นเอง ซึ่งต้องแบกรับภาระในเรื่องของค่าไฟที่สูงขึ้น


ดูเหมือนว่าประชาชนก็ไม่ตื่นตัวเท่าไร เหมือนกับต้องรอให้มีอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วย เช่น กลุ่มที่คัดค้านไปถึงศาลปกครอง

ในเรื่องเศรษฐกิจ เราต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยากนะ โดยเฉพาะมันเป็นเรื่องที่ไม่ได้เห็นชัดๆ อย่างเรื่องคอร์รัปชั่นที่เป็นการให้สินบน แม้กระทั่งเรื่องคอร์รัปชั่นคนก็ไม่เข้าใจ มองไม่ทะลุจึงมองแต่เพียงว่าการคอร์รัปชั่นที่เขาห่วงใยคือ การกินสินบน หรือการให้เงินใต้โต๊ะ แต่ไม่ได้มองการคอร์รัปชั่นในลักษณะที่เรียกว่า คอร์รัปชั่นแบบบูรณาการ การเอื้อประโยชน์ การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย คนไม่เข้าใจ มองไม่ค่อยเห็น รัฐบาลจึงใช้ประโยชน์ตรงนี้มาพูดว่าจะปราบคอร์รัปชั่น การปราบคอร์รัปชั่นของรัฐบาลก็คือ จะป้องกันไม่ให้ใครกินสินบน แค่นั้นแหละ แต่ว่าคอร์รัปชั่นที่มันอันตรายต่อบ้านเมืองมากกว่านั้น คือ คอร์รัปชั่นเชิงนโยบายหรือคอร์รัปชั่นเชิงบูรณาการ หรือการกำหนดนโยบายให้เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง แล้วไปผลักภาระให้กับคนอื่น อันนี้คนไม่ค่อยมอง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนเข้าใจยาก เพราะฉะนั้นผลกระทบจากการแปรรูปนี่ คนจะตามไม่ค่อยทัน และยิ่งมีเรื่องเทคนิค เช่น ค่าเอฟทีต่างๆ เราเองถ้าไม่ตามก็ไม่รู้เรื่อง หรือที่ตอนนี้กำลังเจรจาเอฟทีเอ เรื่องสิทธิบัตรยา สิทธิบัตรในการรักษาวินิจฉัยโรค เรื่องพวกนี้ถ้าไม่ตามก็ไม่รู้ ขนาดเราซึ่งเรียกว่าพอมีพื้นอยู่บ้าง ถ้าไม่เจาะ ไม่อ่าน ไม่ค้น ก็มองไม่ชัดว่ามันคืออะไร ก่อปัญหาอย่างไร

นี่คือสิ่งที่เป็นปัญหา และตอนนี้จะเป็นอย่างนี้มากขึ้นเรื่อยๆ คือ เป็นเรื่องที่ยาก เป็นเรื่องเทคนิคมาก และบางทีก็เกี่ยวกับเรื่องกฎ หมาย แค่เขาเถียงกันเรื่องของคุณหญิงจารุวรรณ เรื่องความขัดแย้งระหว่างวุฒิสภา คตง. (คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน) ศาลรัฐธรรมนูญ ๓ เรื่องนี้เราฟังก็งงแล้วว่าตกลงแล้วมันอย่างไรกันแน่ ถ้าไม่ตามให้ละเอียดนะ ก็หลุดไปเลย นี่เป็นความซับซ้อนซึ่งคนทั่วไปจะไม่เข้าใจ ไม่มีเวลา และไม่มีข้อมูล

อย่างสื่อก็เสนอข่าวนี้บ้าง องค์กรภาคประชาชนก็พยายามออกมานำ ให้ประชาชนเข้ามาเสริม แต่ก็เหมือนแรงยังไม่มากพอหรือเปล่าคะ

มันก็เกิดความเคลื่อนไหวอยู่เหมือนกันนะ อย่างกรณี กฟผ.เรื่องไปถึงศาลปกครอง หรือกรณีเอฟทีเอ พอมันมีเหตุการณ์อะไรบางอย่างทำให้สื่อสนใจ คนก็พลอยได้รับรู้ไปด้วย ส่วนหนึ่งจึงแล้วแต่ความเคลื่อนไหวที่สามารถจุดประเด็นความสนใจของคนได้ อย่างเช่น การประท้วง เอฟทีเอ ที่เชียงใหม่ มองในแง่หนึ่งก็ประสบความสำเร็จในเรื่องของการแย่งชิงพื้นที่ในสื่อมวลชน เพราะว่ารูปแบบและจำนวนของคนที่มาประท้วง รวมถึงการประสานเสียงของคนหลายฝ่าย เช่น ส.ส. ส.ว. หรือนักวิชาการ อันนี้มันจึงเกิดขึ้น แต่ว่าเราก็ต้องยอมรับว่าประเด็นพวกนี้มันเป็นประเด็นซึ่งเข้าใจไม่ง่าย ไม่เหมือนกรณีการเอาเครื่องบินซี ๑๓๐ ขนพรรคพวกไปเชียงใหม่ หรือกรณีไปทำบุญประเทศที่วัดพระแก้ว ประเด็นพวกนี้มันเห็นง่าย

ผลวิจัยเอแบคสำรวจไว้ว่า คนกรุงเทพฯ เมินเกาะติดข่าวแปรรูป กฟผ. คือ เขาสรุปมาในเชิงว่า ประชาชนยังมีความรู้และตระหนักในปัญหาไม่พอ เอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เป็นวาระของชาติไม่มากพอ ประชาชนจะมองแต่ผลดีว่า ถ้าแปรรูป กฟผ. จะผลิตไฟฟ้าได้มากพอกับความต้องการ เป็นการลดภาระหนี้ เป็นผลดีต่อบรรยากาศตลาดหุ้น ส่วนผลเสียก็กลัวว่าค่าไฟจะแพงขึ้น กลัวนักลงทุนต่างชาติจะมากว้านซื้อหุ้น อย่างนี้มองว่า ประชาชนจะตระหนักก็ต่อเมื่อเกิดผลกระทบกับตัวเองก่อนใช่ไหมคะ

ใช่ มันเป็นอย่างนี้แหละ ต้องยอมรับว่า ถ้าชนชั้นกลางคือชาวบ้าน ตอนนี้เขาก็จะมองอะไรจากกรอบที่ค่อนข้างแคบว่า มันเกิดอะไรขึ้น มันมีผลกระทบอย่างไรกับตัวเองบ้าง กับชาวบ้านไม่ค่อยเท่าไร แต่กับชนชั้นกลางเป็นอย่างนี้มาก เพราะเป็นลักษณะของชนชั้นกลางไทยมาช้านานแล้วที่สนใจแต่เรื่องของตัว ชนชั้นกลางจะหวังความช่วยเหลือจากรัฐ เพราะชนชั้นกลางไทยเติบโตมาอย่างนี้ ตั้งแต่สมัยสฤษฎิ์ฯ ทำการพัฒนาแล้วคนชั้นกลางก็พลอยได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นเผด็จการ เพราะชนชั้นกลางไทยมีประวัติที่เติบโตมาโดยอาศัยการพึ่งพิงรัฐ พึ่งพิงผู้มีอำนาจ ถ้ารัฐบาลที่เป็นอยู่ให้ที่พึ่งพิงไม่ได้ ก็พึ่งพิงเสด็จพ่อ ร.๕ เพราะเสด็จพ่อ ร.๕ เป็นสัญลักษณ์ของผู้ปกครองที่เป็นอัศวินม้าขาว คือชนชั้นกลางไทยไม่เหมือนกับชนชั้นกลางในยุโรปซึ่งเติบใหญ่มาด้วยการต่อสู้แย่งชิงอำนาจจากขุนนาง พวกกุฎุมพี พวกผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ต้องต่อสู้กัน และประชาธิปไตยที่ได้มาก็เป็นประชาธิปไตยของชนชั้นกลางหรือกุฎุมพี อย่างน้อยประวัติศาสตร์ของชนชั้นกลางมันมีรากอยู่ที่การต่อสู้ การเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการเข้าไปกำหนดแบบแผนของสังคม แต่ว่าชนชั้นกลางไทยเติบโตมาด้วยการพึ่งพิงกับรัฐ อาศัยรัฐเป็นผู้อุปถัมภ์เพราะฉะนั้นเขาก็จะรอคอยว่ารัฐจะทำอะไร หรือรอคอยอัศวินม้าขาว จะไม่ค่อยท้าทายรัฐเท่าไร เขาจึงไม่มีลักษณะของผู้นำที่จะนำความเปลี่ยนแปลงมาให้แก่สังคมทั้งหมด เราจึงเห็นเวลาที่มีประท้วงอะไร ที่ประท้วงโดยชาวบ้าน เช่น สมัชชาคนจน เขาก็จะไม่ค่อยสนใจหรืออาจจะรำคาญด้วยซ้ำ อาจจะต่อต้าน กระแสต่อต้านรังเกียจเอ็นจีโอจึงเกิดขึ้นมากเพราะเหตุนี้

แล้วเมื่อไรที่คนชั้นกลางจะตระหนักถึงเรื่องของส่วนรวม

ตอนนี้จะว่าไป ความเปลี่ยนแปลง เช่น เผด็จการ ๑๔ ตุลา เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็มีส่วนในการยกระดับชนชั้นกลางไม่น้อย การที่เรามีเอ็นจีโอ เอ็นจีโอเหล่านี้ก็เป็นชนชั้นกลาง มีความตื่นตัวพอสมควร แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะยังทำกันได้น้อยก็คือ ความพยายามที่จะเชื่อมผลประโยชน์ที่มีร่วมกันระหว่างชนชั้นกลางกับคนระดับรากหญ้า ยังไม่สามารถเชื่อมให้เห็นถึงผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างคนชั้นกลางกับชาวบ้านที่จะร่วมมือกันได้ ตอนนี้มันไม่เห็น ซึ่งจะว่าไปแล้วอาจจะเป็นลักษณะของสังคมปัจจุบัน ซึ่งมีความหลากหลายทางด้านผลประโยชน์มาก เพราะฉะนั้นคนชั้นกลางเขาจึงรู้สึกว่าผลประโยชน์ของตัวเองไม่มีอะไรที่ร่วมกับคนระดับรากหญ้ามากสักเท่าไร แต่อาตมาคิดว่าก็ต้องให้การศึกษาให้ข้อมูลกับชนชั้นกลางมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ตอนนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ความคิดของคนแคบลงเรื่อยๆ เพราะบริโภคนิยม คนเขาบ่นกันว่า นักเรียนนักศึกษาหรือเยาวชนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจใคร คือ อย่าว่าแต่สนใจสังคมเลย แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยของตัว โรงเรียนของตัวก็ยังไม่ค่อยสนใจ ไม่สนใจ ไม่รับรู้แม้กระทั่งครอบครัวของตัวด้วย เหินห่างกัน มีลักษณะปัจเจกนิยมกันมากขึ้น เป็นปัจเจกนิยมแบบสุดขั้ว


ขอถามหลวงพี่ว่า ตัวเลขจีดีพี กับมูลค่าในตลาดหุ้น ซึ่งผู้นำรัฐบาลเห็นว่ามีความสำคัญกับประเทศชาติ มันจะทำให้ประชาชนอย่างเรามีความสุขในชีวิตได้ไหม

พระไพศาลวิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่ามหาวันตัวเลขจีดีพีหรืออัตราหุ้นไม่ได้เป็นตัววัดความเจริญมั่นคงทางเศรษฐกิจได้อย่างครบถ้วน ถึงแม้ว่ามันจะสะท้อนให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจได้อย่างครบถ้วน แต่ไม่สามารถสะท้อนให้เราเห็นถึงความสุขในมิติอื่นๆ ด้วย จีดีพีก็พูดกันมานานแล้วว่าเป็นตัวเลขที่หยาบมาก เนื่องจากคนไปหาหมอ คนไปผ่าตัด คนไปรักษาเพราะว่ามีมลพิษเพิ่มมากขึ้น มูลค่าเหล่านี้มันช่วยไปเพิ่มจีดีพีได้เหมือนกัน จีดีพีเป็นตัวเลขซึ่งไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญทางเศรษฐกิจมากเท่าไร แล้วยิ่งไม่ได้บอกอะไรเราเลยในเรื่องการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ตัวเลขตลาดหุ้นยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะมันเกิดจากการฉกฉวยเล่นตัวเลข เช่น ปั่นหุ้น เพราะฉะนั้นเราจะวัดตรงนี้ไม่ได้ คือเวลานี้เขาพยายามที่จะหาตัวเลขหรือมาตรวัดอันใหม่ที่เรียกว่า ดัชนีที่จะสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมอย่างรอบด้าน ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจอย่างเดียวแต่รวมถึงสังคม วัฒนธรรมด้วย อย่างที่สหประชาชาติเขาใช้ตัวเลขดัชนีความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ หรือบางแห่งเขาใช้ว่า ดัชนีวัดความสุข (เช่น ที่ประเทศภูฎาน) แต่ว่าของภูฎานตัววัดยังไม่ชัดเจน การวัดยังวัดยาก แต่ของที่สหประชาชาติทำ เราว่าดี ดูมันมีตัวเลขดีกว่า คือเขาวัดเอาเรื่องของการศึกษา เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสิทธิเสรีภาพ เข้าไปรวมด้วย

แต่ว่าเวลานี้คนเราอยู่ในยุคของบริโภคนิยมมาก เดี๋ยวนี้เราจะมองอะไรแต่เฉพาะวัตถุ วัดความสำเร็จด้วยเงิน วัดความสำเร็จด้วยวัตถุ วัดความสำเร็จด้วยตัวเลขในตลาดหุ้นหรือค่าเงินบาท จึงละเลยมิติด้านอื่นๆ ของชีวิตไป ขณะนี้เมืองไทยเราหนักไปในทางวัตถุนิยมมาก อย่างเช่น พื้นที่ว่างในเมือง ถ้าที่ไหนเป็นที่ว่างก็ต้องสร้างศูนย์การค้าหรือทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้เงิน เช่น สร้างโรงแรม แทนที่จะใช้เป็นที่สาธารณะเพื่อทำเป็นสวน ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เมืองไทยไม่ยอมทำให้เป็นสวนหรอก พี่แกจะต้องทำเป็นศูนย์การค้า หรือไม่ก็ทำให้เป็นที่ท่องเที่ยว อย่างไนท์ซาฟารี ที่เชียงใหม่ แทนที่จะปล่อยให้เป็นสถานที่ธรรมชาติสวยงาม ให้คนได้มาสัมผัส ก็แปรให้เป็นทุนไปหมดเลย ภูกระดึงก็จะเอากระเช้าลอยฟ้าขึ้นไป คือทุกอย่างต้องปั่นให้เป็นตัวเลขให้หมด เพราะฉะนั้นเมืองไทยมันหนักนะ ในขณะที่เมืองนอกเราเห็นมีป่า มีสวนสาธารณะใหญ่ๆ กลางเมืองให้คนได้พักผ่อนหย่อนใจเยอะมาก เป็นเพราะว่าเราหลงวัตถุนิยมมาก ซึ่งนี่ก็เป็นเครื่องสะท้อนถึงความล้มเหลวหรือความอ่อนแอของภาคสังคมและศาสนาด้วย คือศาสนาเป็นสิ่งที่มีพลังที่สามารถโน้มนำให้คนเข้าสู่ความสงบในจิตใจได้ แต่ทุกวันนี้ไม่มีพลังในการทัดทานกระแสวัตถุนิยมบริโภคนิยม คนก็เลยหันไปหาการเก็งกำไร การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยไม่คิดที่จะเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตหรือสร้างความสุขให้กับตัวเองหรือสังคมมากเท่าไร

สังคมที่มองเรื่องเงินเป็นใหญ่หรือมองเรื่องบริโภคนิยมนี่ มันจะมีจุดอิ่มตัวไหม

มันไม่มีจุดอิ่มตัว จะมีก็แต่ความวิกฤติ ถ้ามันจะดีก็เพราะว่ามันวิกฤติเต็มที่แล้วมันถึงหยุด แต่มันไม่มีจุดอิ่มตัว เหมือนคนที่เป็นเศรษฐีร้อยล้านพันล้านก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองพอสักทีต้องหาเงินเพิ่มมากขึ้น สังคมวัตถุนิยมมันไม่รู้จักความอิ่มตัว แต่ว่ามันจะทำลายตัวมันเองเสียมากกว่า เว้นเสียแต่ว่ามีกระแสอื่นเข้ามาทัดทาน เข้ามาชะลอ หรือเข้ามาเปลี่ยนทิศทางของสังคม เช่น ศาสนา หรือพลังของสังคมที่เรียกว่าประชาสังคม

มีความเป็นไปได้ไหมที่จะมีพลังเช่นที่ว่า

ก็มีมาตลอด คือเศรษฐกิจนี่ มันจะทำลายตัวเองเมื่อถึงจุดหนึ่งซึ่งวิกฤติ เมื่อถึงจุดที่วิกฤติก็จะเปิดโอกาสให้ภาคสังคมเข้ามา อย่างเช่น ในอเมริกา เมื่อเศรษฐกิจเจริญเต็มที่ในปี ค.ศ.๑๙๒๐ เมื่อไปถึงจุดหนึ่งก็เกิดดีเพรสชั่น (The Great Depression) ขึ้นมา เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วไปหมด เศรษฐกิจมันไปไม่ได้ล้มละลาย คนฆ่าตัวตาย ถึงตรงนี้ที่เริ่มมีการพูดถึงการทำสวัสดิการสังคม การช่วยเหลือคนยากคนจน มีการประท้วง ประชาสังคมก็ขึ้นมามีพลังและทำให้เศรษฐกิจทุนนิยมเริ่มมีการปรับปรุงให้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น นี่แหละ! มันต้องเกิดอาการ Crash ก่อน แล้วมีกระแสอื่นเข้ามาเสริมเข้ามาทัดทาน ของไทยเราจะว่าไปยังไม่ถึงที่สุด ตอนที่เราเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ ก็ยังไม่วิกฤติกันอย่างเต็มที่เมื่อเทียบกับกรณีดีเพรสชั่น หรือที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกา ตอนนั้นคนว่างงาน คนลำบากกันเยอะ ของไทยไม่มากขนาดนั้นและเกิดขึ้นไม่นานด้วย

เป็นแค่คนบางกลุ่มใช่ไหมคะ

ก็เป็นกันทั่ว แต่ยังพอเงยหน้าอ้าปากกันได้ เศรษฐกิจถดถอยแต่ว่ายังมีกินมีใช้พอสมควร แม้ว่าจะเป็นหนี้เป็นสินบ้าง คือเราไม่ต้องแบกเงินไปเป็นฟ่อนๆ ไปซื้อข้าว ไม่เหมือนในประเทศอาร์เจนตินา เงินกลายเป็นแบงค์กงเต็กอะไรอย่างนี้ กรณีดีเพรสชั่นก็เหมือนกัน คนยากจนอดอาหารไม่มีข้าวกิน ต่อคิวกันเป็นแถว สมัครหางานต่อคิวกันเป็นแถว ตอนวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ มันไม่ถึงขนาดนั้น ครั้งนั้นจึงยังไม่สำนึกเพียงพอ ไอ้วัตถุนิยมนี่ ส่วนภาคประชาสังคมก็ยังไม่แข็งขนาดเข้ามากำกับทิศทางของสังคมได้

เหมือนกับว่าคนไทยต้องรอให้เกิดบทเรียนครั้งใหญ่อีกครั้งหรือเปล่า

จริงๆ เราเจอบทเรียนกันมาเยอะ แล้วเราก็พยายามเรียนรู้กันมาก อย่างเช่น ๑๔ ตุลา ๖ ตุลา พฤษภาทมิฬ ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง แต่นั่นก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ไม่ได้เกี่ยวกับเศรษฐกิจ คนเราอาจจะเป็นเช่นนั้นก็ได้ ถ้าไม่เจอวิกฤติหรือไม่เจอภัยคุกคามก็ไม่ตื่นตัว นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์แหละ วิกฤติเศรษฐกิจมีคนเตือนล่วงหน้าไว้แล้วว่ามันจะพังนะ ก็ไม่มีคนสนใจเพราะยังคิดว่ายังอยากจะรวย เสร็จแล้วก็ลงเหวกันไปไม่น้อย

อ่านเจอมาว่า นายกฯ ภูฎาน เขาบอกว่า ถ้าปราศจากธรรมาภิบาลแล้วก็ไม่มีเป้าหมายประการใดจะบรรลุผลสำเร็จได้ อย่างกษัตริย์ภูฎานก็มีแนวคิดเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ คือ มองในเรื่องการพึ่งพาตนเองในเรื่องเศรษฐกิจ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี และการมีธรรมาภิบาล จึงอยากทราบว่าคนที่เขาจะคิดแบบนี้ได้เขาจะต้องมีพื้นฐานอย่างไร

ต้องมีพื้นฐานทางด้านศาสนาในระดับหนึ่ง และต้องอาศัยความเข้มแข็งของวัฒนธรรมประเพณีด้วย แต่สิ่งที่สำคัญคือว่า สังคมที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมประเพณีจะมีธรรมาภิบาลได้อย่างไร เพราะส่วนใหญ่จะเป็นสังคมซึ่งให้อำนาจกับผู้นำมาก อย่างภูฎานนี่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย อำนาจอยู่ที่พระมหากษัตริย์เสียเยอะ จะเรียกว่าเป็นอำนาจที่รวมศูนย์ก็ได้ มันก็มีดีอย่างเสียอย่างคือ มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมประเพณีที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความสุขเรื่องของจิตใจ แต่ในแง่ของโครงสร้างทางการเมืองก็เป็นแบบรวมศูนย์ ถ้าจะทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีธรรมาภิบาลมากขึ้น ก็น่าคิดว่ามันจะสามารถคงอยู่คู่กับพื้นภูมิปัญญาดั้งเดิม คือภูมิปัญญาทางด้านจิตใจ ด้านศาสนาได้หรือเปล่า นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ภูฎานนี่ก็ต้องดูกันต่อไปว่า การที่เขายังคงอย่างนี้ได้เป็นเพราะเขาไม่เปิดประเทศ และประชากรเขายังมีจำนวนน้อย เขาจะทำอย่างไร ถ้าในที่สุดทานกระแสโลกาภิวัตน์ไม่ไหวต้องเปิดรับอิทธิพลจากภายนอก แล้วจะรักษาแนวทางอย่างที่ว่านี้ได้อย่างไร เพราะอย่างลาดัก ก็พังไปเลย แย่ไปเลย

แล้วแนวทางสำหรับเมืองไทย

อาจจะแสวงหาหนทางใหม่ที่อยู่บนพื้นฐานของความพอเพียงก็อาจจะได้ คือ ทำอย่างไรให้ลดความหลงใหล คลั่งไคล้ในวัตถุนิยม นี่เป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรที่จะให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง เพราะตอนนี้อำนาจทุนมันใหญ่มากแล้วมันก็ยึดครองรัฐไว้ได้ และยังสามารถสยบภาคประชาสังคมไม่ให้หือ ไม่ให้เข้มแข็ง ตอนนี้เป็นเรื่องที่ยังไม่เห็นแนวทางชัดเจน คือแนวทางก็มีอยู่ แต่ว่าในทางปฏิบัติยังไม่สามารถจะทำอย่างนั้นได้ ส่วนใหญ่ภาคประชาสังคมเราจะประสบความสำเร็จเป็นเรื่องๆ ไป เช่น เรื่องบุหรี่ เรื่องเหล้า แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางของสังคมได้

มีโพลของสถาบันพระปกเกล้าฯ ระบุว่า ประชาชนสามารถทนในเรื่องของความทุจริตได้มากขึ้น ก็ยังเข้าข่าย คือ โกงไม่เป็นไร ขอให้ทำงานเก่ง เป็นเรื่องจุดด้อยในเรื่องของความซื่อสัตย์ของนายกฯ อย่างนี้เหมือนกับว่า เราสามารถทนอยู่กับความชั่วร้ายได้มากขึ้นหรือเปล่า

เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่สมัยสฤษฎิ์ฯ แล้ว ก็พูดกันตั้งแต่สมัยเราเด็กๆ ว่า สฤษฎิ์ฯ โกงบ้างก็ไม่เป็นไรเพราะทำให้บ้านเมืองเจริญ คือ คนไทยนี่เป็นพวก Pragmatise (นักปฏิบัตินิยม - แก้ไขปัญหาลักษณะที่เน้นเรื่องการปฏิบัติได้มากกว่าจะเน้นเรื่องทฤษฎี) เราจึงเห็นว่า โกงบ้างไม่เป็นไร เพราะส่วนหนึ่งเราเองก็โกงด้วยเหมือนกัน เลยยอมได้ แต่ก็โกงได้ถึงจุดหนึ่งเท่านั้น เพราะว่าประเด็นเรื่องการคอร์รัปชั่นยังเป็นประเด็นที่หากินได้ เวลาจะโจมตีนักการเมือง หรือเวลาที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ประเด็นที่ใช้ได้ผลมากที่สุดประเด็นหนึ่งก็คือ ประเด็นเรื่องคอร์รัปชั่น ทุกวันนี้ที่ผ่านมาเวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจก็พูดกันไม่กี่เรื่อง เช่น ซีทีเอ็กซ์ ประชาธิปัตย์ก็โดนเรื่องของ สปก.ไปเมื่อ ๑๐ ปีก่อน คือ มันขึ้นอยู่กับว่าเรายอมรับเรื่องการคอร์รัปชั่นได้ในระดับหนึ่ง แต่จะรับได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับรูปแบบมากกว่า ถ้าตามน้ำนี่ไม่เป็นไร แต่ว่าถ้าแบบน่าเกลียดก็อยู่ไม่ได้

นี่เป็นปัญหาจริยธรรมคนไทย คือ เรายังไม่ชูให้เรื่องของความซื่อสัตย์เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด แต่ไม่ใช่ว่าเราจะละทิ้งเรื่องความซื่อสัตย์เลย เรื่องการคอร์รัปชั่นก็ยังเป็นประเด็นที่ยังหากินได้ ยังเป็นอาวุธทางการเมืองได้อยู่ สิ่งที่ทำให้ทักษิณอยู่ได้ไม่ใช่เรื่องประชาชนเห็นว่ารัฐบาลนี้ซื่อสัตย์น้อยมาก แต่ว่าที่เขายังยอมรับรัฐบาลทักษิณได้เพราะเขามีนโยบายประชานิยม คือ เขาไม่ได้เอาเงินเข้ากระเป๋าคนเดียว เขามาแบ่งให้เราด้วย ถ้ากินคนเดียวซิ ประชาชนจะไม่พอใจ ก็คอร์รัปชั่นไม่เป็นไรแต่ว่าขอให้มาเผื่อแผ่แบ่งปันให้กับประชาชน ซึ่งทักษิณก็รู้จึงใช้นโยบายประชานิยม

ไปเรื่องของสถานการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้บ้างนะคะ ในฐานะที่ท่านอยู่ใน กอส. ด้วย มองว่ามีความหวังที่สถานการณ์จะดีขึ้นไหม

พระไพศาลวิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่ามหาวันมีความหวังว่าดีขึ้น แต่ถามว่าตอนนี้ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน ดีขึ้นไม่มากแต่ก็ไม่เลวลง เพราะอย่างน้อยไม่มีกรณีตากใบ กรือเซะ และการอุ้มฆ่าแบบโจ่งแจ้งก็น้อยลง กอส.มีคณะอนุกรรมการชุดหนึ่งที่ไปตามหาเรื่องคนถูกอุ้ม รายชื่อที่ได้มาก็ไม่ถึง ๒๐ คน ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา เราไม่ได้คิดว่าเป็นร้อย อาจจะเป็นร้อยก็ได้ แต่ชื่อที่เราหามาได้มีแค่ ๒๐ เท่านั้น และคนที่หายไปก็เป็นกรรมการฝ่ายมุสลิม ตอนนี้ความป่าเถื่อนหรือการใช้อำนาจดิบดูน้อยลง หรืออย่างน้อยก็ทรงตัว และเท่าที่ดูฝ่ายที่เขาพยายามใช้สันติวิธีก็มีความพยายามพอสมควร ในระดับเจ้าหน้าที่ (ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง) ก็เริ่มปรับขบวนกันได้ แต่ว่ายังไม่ถึงกับเป็นเอกภาพ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คือเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นในแนวทางนะ แต่ในทางปฏิบัติอาจจะยังมีปัญหาอยู่ เช่น การมารายงานตัว การรายงานตัวมันดี แต่ว่าพอเอาไปใช้มันเละหมดเลย ไปหลอกให้เขามารายงานตัว หลอกให้เขามาเซ็นชื่อ คือ แนวทางเริ่มจะดี แต่วิธีการยังใช้วิธีการเดิมๆ เพื่อไปสนองนโยบายใหม่ มันก็ไม่เวิร์ค แต่ก็ยังดี มารายงานตัวยังมีโอกาสปล่อย ๒ - ๓ อาทิตย์ก็ออก ดีกว่าขังลืม แต่ชาวบ้านเขาก็เกิดความหวาดระแวง

ตอนนี้เริ่มมีแนวทางที่ดีขึ้น แต่ถามว่าถึงรากถึงโคนหรือเกาถูกที่คันหรือยัง ก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น มันต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เรื่องที่พูดกันมากคือ เรื่องข้าราชการที่ไม่ดี (ตำรวจ, นายอำเภอ) ยังไม่มีวิธีการจัดการ คือ ความสำเร็จของนโยบายใต้ร่มเย็นที่ไปจัดการโจรใต้ได้สำเร็จเมื่อ ๒๐ กว่าปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งก็มีวิธีการจัดการกับข้าราชการที่ไม่ดี ตอนที่เขาเริ่มมี ศอบต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ใหม่ๆ คุณเจริญจิต ณ สงขลา เป็นผู้อำนวยการ ศอบต. ย้ายทีเดียวเกือบ ๒๐๐ คน ตอนนั้นสายตรงกับพลเอกเปรมฯ ซึ่งเซ็นย้ายให้ แต่ตอนนี้ไม่มีกลไกหรือนโยบายชัดเจนที่จะจัดการกับข้าราชการที่ไม่ดี มิหนำซ้ำทักษิณกลับบอกว่า ข้าราชการที่ไม่ดีไม่มีแล้ว มีแค่ ๑ เปอร์เซ็นต์ คือพยายามปกป้องว่าอันนี้ไม่ใช่ปัญหาของภาคใต้ แต่คนภาคใต้เขาพูดกันขรม มิฉะนั้นมันจะมีปัญหาเรื่องค้ายา ค้าของเถื่อน อะไรต่างๆ ได้อย่างไร

ทำอย่างไรถึงจะมีกลไกในเชิงระบบที่จะจัดการกับข้าราชการไม่ดีและสามารถทำให้ข้าราชการที่ดีสามารถอยู่ได้ นี่เป็นอันหนึ่งนะ แต่ว่ายังเป็นการแก้ปัญหาระดับเริ่มต้น ในระดับโครงสร้างมากกว่านั้นต้องแก้เรื่องของการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ กระจายอำนาจก็ต้องว่ากันไปว่ากระจายอำนาจแบบไหน แต่ต้องให้เขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น ตรงนี้ยังไม่กล้าแตะ ยังไม่กล้าจับ ที่คิดว่าระบบที่มีก็ดีอยู่แล้ว เพียงแต่แก้นิดแก้หน่อยเท่านั้นเอง ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าระบบนั่นแหละคือตัวปัญหา คุณมีระบบแบบนี้มา ๓๐ - ๔๐ ปีแล้ว มันไม่ได้ช่วยทำให้ดีขึ้นเลย ตัวระบบก็ยังไม่ดีเท่าไร แล้วตัวข้าราชการยังแย่ลงไปอีก คือ ตัวคนปฏิบัติงานแย่ลงกว่าเดิม ก็เสร็จเลย

รัฐบาลก็รู้ปัญหา แต่เขาไม่แก้...

รัฐบาลรู้ปัญหาหรือเปล่า ก็ไม่รู้นะ คือคุณทักษิณแกบอกว่า ปัญหาเรื่องข้าราชการไม่ดี ไม่ใช่ปัญหา ไม่ใช่เป็นสาเหตุแห่งความไม่สงบใน ๓ จังหวัดภาคใต้ ในขณะที่พวกเราเห็นเลยว่านี่แหละคือปัญหาหนึ่งเลย ข้าราชการที่ไม่ดี ความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ ทั้งในแง่ที่ไปรังแกเขา หรือในแง่ที่ละเลย ไม่ทำหน้าที่ เช่น เรืออวนรุน - อวนลาก ผิดกฎหมายก็ปล่อยให้เข้ามาใช้เรืออวนรุน - อวนลากแถวชายฝั่ง ผิดกฎหมายแท้ๆ ไม่จับ เขาบอกว่าไม่มีเงิน ไม่มีงบประมาณ พูดแบบนี้ทั้งปีทั้งชาติ ที่ชายฝั่งปัตตานีเขามีปัญหามาก ชาวบ้านแย่ ปราบปรามไม่ได้ ต้องไปเป็นกรรมกรที่มาเลเซีย พลัดที่นา คาที่อยู่ ไม่มีเวลาดูแลครอบครัวเพราะพ่อแม่แยกกันไปคนละที่คนละทางเพื่อหาเงิน นี่ก็สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมในระดับหนึ่ง ความไม่เป็นธรรมด้วยการละเว้นหน้าที่เพราะว่าเห็นแก่นายทุนมากกว่า ชาวบ้านเขาเห็นตำตาอยู่ เขาจะยอมรับได้อย่างไร มันเป็นมา ๓๐ ปีแล้วแบบนี้

กอส. เสนอปัญหาไปมี Reaction ไหมคะ

บางกรณี อย่างเช่น เรืออวนรุน - อวนลาก เราเสนอเป็นนโยบายไปยังรัฐบาล รัฐบาลก็มีมติ ครม.มา แต่มีมติ ครม. มาแล้วกลับไม่ทำ อย่างเช่น ทำอย่างไรถึงจะมีเรือตรวจการ เรือลาดตระเวนเพื่อผลักดันเรืออวนรุน - อวนลาก ออกไป มีเหมือนกันที่ชาวบ้านร่วมกับ ตชด. ร่วมมือกันลาดตระเวนจับเรือได้ แต่ปรากฏว่า พอขึ้นศาล สำนวนอ่อน ก็คือว่า ของกลางคือเรือก็หลุด ของกลางที่ได้จึงมีแค่ปลา แต่เรือมันหลุด ไม่ใช่เป็นของกลาง เพราะถ้าเป็นของกลางก็ต้องยึด แต่ว่าทำสำนวนว่าเรือไม่ใช่ของกลาง เรือก็เลยออกไปได้ ชาวบ้านก็ "อะไรวะ?" แสดงให้เห็นเลยว่า อัยการ ตำรวจ ร่วมมือกัน ให้เรือหลุดออกมาได้ ก็ขนาดว่า ตชด. ร่วมมือกับชาวบ้านจับมาได้แล้วนะ รัฐบาลมีมติ ครม. ออกมาก็ไม่ทำนะ ตอนนี้คือ ประเด็นเรื่องตัวบุคคลก็แย่ แต่ไม่ใช่แค่นั้น เรื่องของโครงสร้างก็ไม่ดี มันเป็นกันหมด ระบบการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ที่กอส.ทำก็พยายามเสนอมาตรการเหล่านี้ขึ้นมา

หลวงพี่ลงไปในพื้นที่มีโอกาสได้คุยกับชาว บ้านบ้างไหมคะ ว่าเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง

พระไพศาลวิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่ามหาวันมีโอกาสคุยน้อยนะ เพราะหน้าที่โดยตรงไม่ได้อยู่ที่ภาคใต้ หน้าที่ส่วนใหญ่ก็อยู่ที่กรุงเทพฯ คอยเสนอแนวทาง มาตรการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี มีอีกส่วนที่จะทำงานในพื้นที่อย่างคุ้ง (นารี แซ่ตั้ง) หมอบัญชา ฝ่ายพื้นที่เขาจะอยู่นานมาก ที่เขาทำกับกลุ่มผู้หญิงนี่น่าสนใจนะ เครือข่ายผู้หญิงมุสลิม เราคิดว่าน่าสนใจ เพียงแต่ว่าในสังคมมุสลิมผู้หญิงจะมีบทบาทน้อย แต่ว่าเขาจะมีมุมมองอะไรต่างๆ อาจจะไม่เหมือนกับผู้ชาย ไม่เหมือนกับผู้นำ แล้วความแข็ง ความตายตัวของเขาน้อยกว่า พูดง่ายๆ คือมีความเป็นมนุษยนิยม มนุษยธรรมสูงกว่า เลยคิดว่าน่าสนใจ เครือข่ายผู้หญิงน่าจะอุดหนุนส่งเสริมให้เขามีบทบาทมากขึ้น อย่างน้อยในเรื่องการเยียวยา แล้วเป็นทุกที่นะในประเทศที่มีความขัดแย้ง เกิดสงครามกลางเมือง ผู้หญิงมีบทบาทมาก อย่างน้อยในช่วงฟื้นฟู เช่น ที่ซูดาน รวันดา โครเอเชีย บอสเนีย เชชเนีย ผู้หญิงมีแนวโน้มไปในทางสันติวิธีมากกว่า

ตรงนี้บทบาทของศาสนาน่าจะเข้าไปช่วยเสริมอย่างไรบ้าง

บทบาทของศาสนาในเรื่องของความเมตตา การให้อภัย การมองมนุษย์อย่างไม่จำแนก ไม่ยึดติดที่เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม เป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ว่าตอนนี้ศาสนาถูกใช้ไปในแง่ลบเยอะ ถูกใช้ไปในการสร้างแรงจูงใจให้คนใช้ความรุนแรง เอาศาสนามาใช้เพื่อทำให้คนกล้าพลีชีพ กล้าที่จะใช้ระเบิดพลีชีพเพื่อทำลายคนอื่นได้ เราต้องเอาพลังของศาสนามาใช้ในแง่บวกก็คือ ในแง่ของความรัก ความสมานฉันท์ การให้อภัย ความมีเมตตา ตรงนี้ยังใช้กันไม่มาก ซึ่งเราคิดว่าต้องเอามาใช้กันให้มาก ศาสนาต้องมีพลังทางด้านนี้

สังคมปัจจุบันที่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรงมากขึ้นแสดงถึงว่าผู้คนไม่มีสันติในจิตใจหรือมีน้อยลงหรือเปล่าคะ

ใช่ ผู้คนติดยึดกับบริโภคนิยมมากขึ้น หรือไม่ก็ไปหลงติดกับอัตลักษณ์ที่แคบ อัตลักษณ์ เช่น ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม เชื้อชาติ ก็เลยเห็นคนที่ต่างอัตลักษณ์จากตัวเป็นศัตรู เป็นคนอื่น ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหามาก ความรุนแรงในสังคมเกิดขึ้นมาจากค่านิยมสองส่วนนี้ซึ่งเป็นค่านิยมที่เอาเปรียบมาก ที่ไปเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ จากกระแสความหลงใหลในอัตลักษณ์ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมา ตรงนี้ถ้าไปตกอยู่ภายใต้กระแส ๒ กระแสนี้ หรือเป็นเหยื่อของ ๒ กระแสนี้ก็จะเกิดความไม่สันติ เกิดความเกลียด เกิดความโลภที่จะทำร้ายกัน โลภ โกรธ หลง ก็มาจากบริโภคนิยมกับอัตลักษณ์นิยม

ทำอย่างไรจะให้เรามีสันติในจิตใจ หรือนำสันติวิธีมาใช้ในชีวิตประจำวันได้

เราต้องมีเมตตาต่อตัวเอง และมีเมตตาต่อผู้อื่นให้มาก การเมตตาจะเกิดขึ้นได้ต้องเปิดทรรศนะของเราให้กว้าง เวลานี้เราไปหลงติด มองคนโดยเอากรอบของภาษา ศาสนา วัฒนธรรม เชื้อชาติ มาเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ได้มองว่าทุกคนไม่ว่าเป็นพุทธ มุสลิม เป็นไทย เป็นพม่า ก็คือมนุษย์เหมือนกัน เราไม่ได้มองตรงนั้น เราไม่สามารถมองทะลุอัตลักษณ์ไปเห็นความจริงที่เป็นสากลได้ แต่ถ้าหากว่า มนุษย์เราถ้าได้รู้จักกัน ได้โอภาปราศรัย ได้สมาคมกัน ก็จะเห็นว่าคนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างศาสนาไม่ได้มีอะไรที่น่ากลัว เราไปสร้างภาพให้มันดูเลวร้าย เพราะเป็นที่เราเอง หรือเราไปรับรู้ผ่านสื่อ แต่เราไม่ได้สัมผัสซึ่งกันและกัน การได้สัมผัสซึ่งกันและกันทำให้เราได้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ของกันและกัน และมีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น

แต่ปัญหาจริงๆ ที่คนเราไม่มีสันติ เพราะ คนเราลึกๆ ก็ไม่ได้รักตัวเองเท่าไร เราจึงไม่สามารถที่จะรักคนอื่นได้ พูดง่ายๆ คือเราไม่มีสันติในตัวเอง เราก็เลยไม่มีสันติกับผู้อื่น เพราะฉะนั้นศาสนาจะทำให้เรามีสันติในตัวเอง แล้วจะได้ค้นพบความสุขภายใน คนเราถ้ามีความสุขแล้วก็สามารถแผ่ความสุขไปให้ผู้อื่นได้ ที่เราสร้างความทุกข์ให้แก่กันและกันก็เพราะว่าในใจเรามีความทุกข์อยู่แล้ว ความทุกข์จากความโกรธ ความทุกข์จากความเกลียด ความทุกข์จากความหลง ต้องเอาศาสนามาช่วยตรงนี้ ถ้าเรามีความสุข มีสันติภายในแล้ว เราก็จะแผ่ความสุขให้แก่ผู้อื่นได้ง่าย เราก็จะสร้างสันติซึ่งกันและกันได้ง่ายขึ้น

 

พระไพศาลวิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่ามหาวัน
ต. ท่ามะไฟหวาน อ. แก้งคร้อ จ. ชัยภูมิ

"บางคนเรียกท่านว่า พระนักคิด พระเอ็นจีโอ พระนักวิชาการ เป็นนักคิดชั้นแนวหน้าท่านหนึ่ง ในหมู่ผู้แสวงหาทางออกให้แก่สังคมและโลกโดยสันติวิธี มีผลงานที่มีคุณภาพปรากฏอยู่บนสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ อยู่เป็นประจำ และต่อเนื่อจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นท่านยังเป็นนักกิจกรรมตัวอย่างซึ่งดำรงชีวิตอุดมคติ มีความกล้าหาญทางจริยธรรม และอ่อนน้อมถ่อมตน มีประสิทธิภาพและคุณภาพในการทำงานอย่างน่าสนใจ

 


ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ หรือ จีดีพี (Gross Domestic Product หรือ GDP) คือมาตรวัดผลผลิตทางเศรษฐกิจภายในดินแดนใดๆ ในเชิงของทุนการคลัง ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ผลิตภัณฑ์มวลรวมเป็นหนึ่งในมาตรวัดรายรับและผลผลิตของประเทศ

จีดีเอช Gross Domestic Happiness - GDH ตัวชี้วัดการพัฒนาที่นำเรื่องผลปลายทางจากการพัฒนาในรูปของ "ความสุข" มาเป็นเป้าหมายสำคัญในการชี้วัด

เหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ที่เริ่มในปลายปี ค.ศ.๑๙๒๙ ได้กลายเป็นบันทึกหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์โลก เพราะเหตุการณ์ครั้งนั้น ไม่ได้สะท้อนเฉพาะปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินครั้งร้ายแรงที่ก่อกำเนิดในแผ่นดินพญาอินทรี ซึ่งส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกเท่านั้น หากแต่ภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การลงทุน การค้า ฯลฯ ก็ได้เกิดปัญหาขึ้นทั่วโลกด้วย : อ้างอิงจาก ; เรียนเศรษฐกิจฟองสบู่จาก "The Great Depression" โดย รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ www.nidambe11.net

เมืองชายแดนอินเดีย - ทิเบต เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนจัมมู และแคชเมียร์ - แว่นแคว้นหนุ่งของอินเดีย ลาดัก เป็นชุมชนโบราณที่สืบอารยธรรมมาจากธิเบต เป็นเสมือนอาณาจักรลับแลที่แวดล้อมไปด้วยขุนเขาสูงใหญ่ จนเมื่ออินเดียเปิดลาดักให้เป็นเขตท่องเที่ยว ชุมชนนี้จึงเป็นที่รู้จักของโลกภายนอก วิถีดั้งเดิมขอลลาดักจึงสั่นคลอนอย่างหนักด้วยวัฒนธรรมใหม่ของเหล่านักเดินทาง

 

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
‘ดอกไม้ปลายปืน’ ผู้กล้าขวางกลุ่มทุนฮุบ กฟผ. พิมพ์
Thursday, 01 June 2006


รสนา โตสิตระกูล

‘ดอกไม้ปลายปืน’ ผู้กล้าขวางกลุ่มทุนฮุบ กฟผ.


กองบรรณาธิการ : สัมภาษณ์


รสนา โตสิตระกูลพลันที่ศาลปกครองมีคำสั่งระงับการกระจายหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ของ บริษัท การไฟฟ้าฝ่ายผลิต จำกัด (มหาชน) หรือ กฟผ. ไว้ชั่วคราว ตามที่เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนยื่นฟ้องไปเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วนั้น คงทำให้เรารู้สึกโล่งอกโล่งใจไปได้บ้างถึงแม้ยังไม่รู้ผลที่จะออกมาในตอนต่อไป

ความสำเร็จขั้นแรกนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจากความพยายามของคนกลุ่มหนึ่ง อาทิ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, กลุ่มพลังงานทางเลือก, กลุ่มเอฟทีเอ วอทช์, เครือข่ายสลัมสี่ภาค, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, นักกฎหมายเพื่อประชาชน, นักเคลื่อนไหวทางสังคม ฯลฯ ที่ร่วมกันคิดหาช่องทางยับยั้งการแปรรูปฯ อย่างสุดความสามารถ

และหากจะกล่าวว่าคุณรสนา โตสิตระกูล ในฐานะกรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ประธานเครือข่าย ๓๐ องค์กรพัฒนาเอกชนต้านคอร์รัปชัน เป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวคัดค้านการแปรรูป กฟผ.ในครั้งนี้ก็ย่อมได้ หลังจากที่ผลงานปราบทุจริตการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ในกระทรวงสาธารณสุข กระทั่งศาลตัดสินจำคุก ๑๕ ปี รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงได้ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จขององค์กรภาคประชาชนที่สามารถใช้กลไกทางกฎหมายตามรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบการทำงานของคนในรัฐบาลที่ประพฤติมิชอบได้

ปลายปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนยกให้เธอเป็นหนึ่งในหญิงเหล็กแห่งปีระกา และหนึ่งในบุคคลแห่งปี ผู้เป็นดอกไม้ปลายปืน Switch off ทุนฮุบ กฟผ. หากยังมีผู้ข้องใจว่าทำไมประชาชนถึงต้องคัดค้านการแปรรูป กฟผ. เธอมีคำตอบอย่างชัดเจนให้แล้ว ณ บรรทัดถัดไปนี้

เหตุผลที่เข้ามาร่วมคัดค้านการแปรรูปกฟผ.

ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วเรื่อง กฟผ.เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะการที่จะเอาไปขายในตลาดหลักทรัพย์เท่ากับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของ กฟผ.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะรัฐวิสาหกิจเขาไม่ได้เน้นในเรื่องการหากำไร แต่เน้นในแง่ของการจัดบริการสาธารณะ ซึ่งบริการสาธารณะก็คือเรื่องจำเป็นพื้นฐานของชีวิตที่ทุกคนจะต้องใช้ คนยากดีมีจนก็ต้องใช้ไฟฟ้า น้ำประปา มันเป็นเส้นเลือดใหญ่ เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคน ถ้าหากว่ากิจการแบบนี้ไปแสวงหากำไร ก็จะเกิดปัญหาว่าคนยากคนจนต่อไปจะประสบกับความยากลำบากมากขึ้น ตัวอย่างเราเห็นได้จากกรณีของ ปตท. พอมีการแปรรูปขายเข้าตลาดหลักทรัพย์ บริษัทกำไรมากเลยนะ เมื่อเทียบกับสมัยก่อน ซึ่งถ้าเรามองแค่กำไรว่าเป็นความสำเร็จ แล้วบอกว่า โอ้โห! ปตท.พอแปรรูปแล้วได้กำไรมหาศาลเลย แสดงว่ามีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเรากลับมาย้อนถามว่าประสิทธิภาพตรงนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์เฉพาะผู้ถือหุ้นเท่านั้นหรือเปล่า หรือเป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่ เราจะตอบได้ว่ามันมีประสิทธิภาพที่เป็นไปเพื่อคนถือหุ้นในบริษัทนั้นเท่านั้น

ปตท.นี่ทำให้เกิดปัญหามากเลย เป็นบทเรียนที่สำคัญมากสำหรับผู้บริโภค เพราะฉะนั้นพอมาถึง กฟผ. ซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่า เพราะไฟฟ้าเป็นเรื่องที่เราไม่ใช้ไม่ได้ ยังไงก็ต้องใช้ ไม่พอใจ กฟผ. จะไปใช้ที่อื่นก็ไม่มีทางเลือก เพราะว่ามันเป็นกิจการที่ผูกขาด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คือไม่มีใครสามารถมาพาดเสาไฟฟ้าแข่งกับ กฟผ.ได้ เพราะฉะนั้นกิจการลักษณะแบบนี้เราเห็นว่าถ้าแปรรูปไปมันเกิดปัญหามาก แล้วมันไม่เป็นธรรมน่ะ เพราะคิดดูว่าเวลาที่พาดสายผ่านทั่วทุกท้องที่ในประเทศไทย ต้องไปรอนสิทธิชาวบ้าน ต้องไปพาดผ่านบ้านชาวบ้านเขา หรืออาจจะต้องไปเวนคืนที่ดินของเขา และก็เวนคืนในราคาถูกๆ เพราะว่ารัฐใช้อำนาจเข้าไปกระทำ ประชาชนอาจจะไม่พอใจ แต่ไม่สามารถต้านทานตรงนี้ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดเขาอาจจะให้เหตุผลกับตัวเองว่า การที่เรายอมให้รัฐมารอนสิทธิได้ แต่สิ่งนั้นต้องกลับมาเป็นประโยชน์ต่อเรา คือกลับมาในลักษณะที่เป็นบริการสาธารณะซึ่งไม่ใช่เรื่องการแสวงหากำไร แต่เวลานี้ปรัชญาตรงนี้กำลังจะเปลี่ยนไป ถ้านำเข้าไปขายในตลาดหลักทรัพย์ นี่คือข้อที่หนึ่ง

ข้อที่สอง การแปรรูปลักษณะแบบนี้มีความไม่โปร่งใส ถ้าไปดูในเรื่องการตีมูลค่าทรัพย์สินต่างๆ ไม่มีความโปร่งใสเลย มันตีขายแบบถูกมากจนเหมือนกับยึดทรัพย์ประชาชนไปขายทอดตลาด เวลาเขาอ้างว่า ต้องการกระจายหุ้นเพียง แค่ ๒๕เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเท่ากับ ๒,๐๐๐ล้านหุ้น รัฐบาลอนุมัติให้ขายหุ้นในราคาหุ้นละ ๒๕ - ๒๘ บาท ลองคูณดูซิ ๒,๐๐๐ ล้านหุ้น คูณกับ ๒๕ บาท เราจะได้เงินแค่ ๕๐,๐๐๐ ล้าน และถ้าคูณ ๒๘ บาท เราก็จะได้ ๕๖,๐๐๐ ล้าน เพราะฉะนั้น ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นเนื้อที่เราตัดออกไปขาย แต่ได้เงินมาสูงสุดไม่เกิน ๕๖,๐๐๐ ล้านน่ะ หรือถ้าเราคิดเล่นๆ ขายหมดเลยนะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ๘,๐๐๐ ล้านหุ้น คูณ ๒๕ บาท จะได้ ๒๐๐,๐๐๐ ล้าน ถ้าคูณ ๒๘ บาท จะได้ ๒๔๒,๐๐๐ ล้านบาท มูลค่ากิจการที่สามารถทำกำไรได้มหาศาล แต่เราขายราคาเต็มที่ได้แค่ ๒๔๒,๐๐๐ ล้านบาท งานวิจัยของ ดร. ภูรี สิรสุนทร นักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า กิจการที่ผูกขาดแบบผู้ขายรายเดียว อย่าง กฟผ. มูลค่ากิจการอยู่ที่ ๓.๗๙ ล้านล้านบาท แบบนี้ไม่เรียกว่าเป็นการยึดทรัพย์ประชาชนมาขายทอดตลาดละหรือ เป็นการขายหุ้นที่มีความไม่โปร่งใสน่ะ เพราะฉะนั้นตรงจุดนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่า ประชาชนไม่ควรยอม

กลุ่มขององค์กรผู้บริโภคบอกว่า ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องนี้ เมื่อก่อนเราต่อสู้เฉพาะเรื่องการขึ้นค่าไฟ ค่าเอฟที ว่าเป็นการขึ้นที่ไม่เป็นธรรม แต่ตอนนี้เห็นว่าการขาย กฟผ. ในตลาดหลักทรัพย์เป็นเรื่องใหญ่กว่ามาก จึงเห็นว่าไม่ได้แล้ว ต้องค้าน ไม่ให้มีการขายเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะถ้าขายเข้าตลาดฯ อย่าว่าแต่ค่าเอฟทีเลย ต่อไปแม้แต่ค่าไฟฐาน คุณก็จะไม่สามารถไปกำหนดหรือไปเรียกร้องอะไรได้ เพราะเขาก็อ้างว่าเขาเป็นบริษัท เขาไม่ฟังคุณหรอก ถึงแม้รัฐจะถือหุ้นใหญ่เราก็ไม่เชื่อ เพราะว่าสภาพที่ผ่านมาเราไม่ค่อยเห็นหรอกว่ารัฐจะช่วยเหลือประชาชนได้จริง อย่างกรณี ปตท. พอราคาเชื้อเพลิงขึ้น เราบอกว่าต้องลดลงมา รัฐกลับไม่สามารถไปแทรกแซงการกำหนดราคาของ ปตท.ได้ แต่ต้องมาตั้งกองทุนชดเชยราคาน้ำมันแทน ซึ่งก็กลายเป็นหนี้ในอนาคตของประชาชนเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นตรงจุดนี้เลยคิดว่า ไม่ได้หรอก ในฐานะของผู้บริโภค เราต้องถือว่าเราเป็นเจ้าของทรัพย์สินอันนี้นะ ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ กฟผ. รัฐบาลจะอ้างว่า เลือกตั้งมาโดยเสียง ๑๙ ล้านเสียง แล้วจะขายทอดตลาดทรัพย์สินของประชาชนอย่างนี้ ไม่ได้ ! นี่เป็นการแปลงทรัพย์สินของชาติให้กลายเป็นทุน แล้วไม่รู้ว่าทุนของใคร ตรงนี้จึงต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน ต้องลุกขึ้นมาคัดค้าน

ในช่วงแรก พวกเราพยายามรณรงค์ด้วยการเดินสายแจกแผ่นพับ เอกสารต่างๆ ให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ตื่นตัวและลุกขึ้นมาคัดค้านเรื่องนี้ แต่จะเห็นว่าสื่อไม่ค่อยลง เราตั้งข้อสังเกตว่า โดยปกติแล้ว สื่อในระบบทุนนิยม เขาก็ถูกระบบทุนนิยมกำกับและควบคุม อย่าง กฟผ.ซื้อหน้าโฆษณาในสื่อต่างๆ มาก ถ้าคุณขืนไปลงเรื่องที่ไม่เป็นผลดีกับเขา เขาอาจจะถอนโฆษณาก็ได้ ทำให้สื่อส่วนใหญ่เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะฉะนั้นข่าวของประชาชนที่คัดค้านเรื่องนี้จึงไม่ค่อยปรากฏในสื่อเท่าไร และเมื่อไม่ปรากฏ การส่งสารเหล่านี้ในประชาชนวงกว้างจึงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะว่าพวกเราเป็นคนกลุ่มไม่ใหญ่ การรณรงค์ก็อยู่ในพื้นที่ๆ จำกัด ถ้าหากไม่มีสื่อมวลชนช่วยกระจายข่าวนี้เพิ่มเติม ข้อมูลเหล่านี้จะไปถึงประชาชนวงกว้างย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราสามารถใช้ช่องทางของศาลปกครองได้ เราจึงเลือกใช้ และพบว่าเป็นกลไกที่สามารถใช้การได้เหมือนกันนะ อย่างน้อยที่สุดชัยชนะขั้นแรกที่ศาลมีคำสั่งให้ชะลอการกระจายหุ้นของ กฟผ. เข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยเกิดความรู้สึกมีความสุขในช่วงนั้นขึ้นมา

ไปเห็นช่องทางที่จะฟ้องถึงศาลปกครองได้อย่างไรคะ

ที่จริงต้องให้เครดิตกับคุณคณิน บุญสุวรรณ ตอนนั้นพวกเรารณรงค์กันจนเหนื่อย แบบ ตายแล้ว ! มันหมดหวังน่ะ เพราะว่ากำลังจะเข้าตลาดหุ้นในวันที่ ๑๕ - ๑๖ พฤศจิกายน ช่วงนั้นเกิดความรู้สึกว่า ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะการลงสื่อต่างๆ ก็ไม่มีทางแล้ว พอดีคุยกับคุณสุริยะใส กตะศิลา เขาถามว่าพี่สนใจไหม เขาเคยได้ยินคุณคณิน พูดว่า น่าจะใช้ช่องทางของศาลปกครองในการฟ้องได้ ตอนนั้นก็หูผึ่งทันทีเลยนะเพราะว่ามันหมดหนทางอย่างอื่นแล้ว เราก็ เอ๊ะ ! ถ้ามันมีช่องทางอะไรที่พอจะเป็นช่องให้เราเคลื่อนต่อได้ ก็สนใจทั้งนั้น จึงไปคุยกับคุณคณิน ท่านชี้ประเด็นให้ว่า ที่จริงน่าจะฟ้องศาลปกครองได้เพราะว่าพระราชกฤษฎีกา ๒ ฉบับที่รัฐออกมาน่าจะขัดกับกฎหมาย เราฟังดูมีเหตุผลน่าทำและไม่เสียหายอะไร ประชาชนไม่มีต้นทุนอยู่แล้ว เราทำไปมีแต่เสมอตัวกับกำไร ตรงจุดนั้นเลยคิดว่า ลองใช้ช่องทางนี้ดู คุณคณิน จึงช่วยร่างต้นฉบับแรกให้กับเรา และมีคุณนิติธร ล้ำเหลือ ซึ่งเป็นทนายของสภาทนายความ มาช่วยทำให้มันเป็นคำร้องที่มีข้อกฎหมายในการสนับสนุนมากขึ้น แล้วจึงยื่นต่อศาลปกครอง พอยื่นเสร็จ เราก็ขอให้ศาลมีการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราว หรือชะลอการนำหุ้น กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์ไปก่อน ซึ่งปรากฏว่าศาลรับไต่สวนฉุกเฉินจริงๆ และในที่สุดก็นำไปสู่การชะลอการนำหุ้น กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์ ส่วนช่วงนี้เป็นช่วงที่เรากำลังทำข้อมูลเพื่อยื่นเสนอเข้าไป เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าพระราชกฤษฎีกา ๒ ฉบับ ที่ทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคฟ้องว่าขัดต่อกฎหมาย เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

เรื่องของพระราชกฤษฎีกา ๒ ฉบับ นี้ไม่ชอบมาพากลอย่างไร

ภาพจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพระราชกฤษฎีกา ๒ ฉบับนี้ ฉบับหนึ่งเป็นพระราชกฤษฎีกาในการยกเลิก พ.ร.บ. รัฐวิสาหกิจ กฟผ. และอีกฉบับหนึ่งเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจสิทธิต่างๆ ของ กฟผ. ซึ่งเป็นพระราชกฤษฎีกาที่อ้างว่ามาจาก พ.ร.บ.ทุน
คือต้องบอกอย่างนี้ โยงไปถึงเรื่อง พ.ร.บ ทุนรัฐวิสาหกิจก่อน พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจนี่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ปี ๒๕๔๐ และรัฐบาลจะต้องไปกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ (IMF - International Monetary Fund หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ทีนี้ไอเอ็มเอฟก็มีเงื่อนไขกับผู้กู้ และข้อหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟคือ รัฐบาลจะต้อง Privatize คือการทำให้สิ่งที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือกิจการของรัฐเปลี่ยนสภาพให้เป็นของเอกชน ก็คือว่า สหรัฐอเมริกาเขาพยายามจัดระเบียบโลกใหม่ ว่าอย่างนั้นเถอะ จัดระเบียบโลกใหม่เพื่อให้ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาสามารถเข้าไปแสวงหาประโยชน์ได้ง่ายขึ้น คือมันเป็นอาณานิคมยุคใหม่น่ะ สมัยก่อนเขาอาจจะใช้ปืนมาข่มขู่เวลาเขาจะเข้าไปแสวงหาประโยชน์ในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย แต่เวลานี้เขาใช้กฎหมาย แต่ถ้าจำเป็นเขาก็พร้อมใช้อาวุธ อย่างในกรณีของอิรัก เป็นต้น

อีกประการหนึ่งคือ รัฐบาลตอนนั้นอาจจะไม่มีสตางค์ จึงจำเป็นต้องขายรัฐวิสาหกิจบางอย่างเพื่อเอาสตางค์เข้ามา จริงๆ แล้วสิ่งที่เป็นเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ คือ การแปรรูปกิจการของรัฐที่รัฐผูกขาดไว้ ต้องทำให้เป็นของเอกชนให้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเขาจึงออกกฎหมายที่เรียกว่า กฎหมายขายชาติ ๑๑ ฉบับ ซึ่งกฎหมาย ๑๑ ฉบับ นั้นก็กลายมาเป็น พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ แล้ว พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจนี้เหมือนกับเป็นการเขียนเช็คเปล่าให้กับฝ่ายบริหารน่ะ คือ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจเป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาก็จริง แต่ให้อำนาจกับฝ่ายบริหารคือรัฐบาล มันเหมือนกับการเซ็นเช็คเปล่าให้เขา เพื่อให้เขาสามารถจะเลือกรัฐวิสาหกิจอันไหนไปขายก็ได้ ซึ่งในต่างประเทศเขาจะไม่ใช้วิธีนี้ แต่ในเมืองไทยก็อย่างนี้นะ... กฎหมาย ถ้าผู้บริหารมีอำนาจทางการเมืองมาก เขาจะใช้กฎหมายในการแสวงหาผลประโยชน์

เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจนี้เป็นกฎหมายที่คนต่อต้านกันมาตลอด หลายกลุ่มเลยที่ต่อต้านกันมาก่อนองค์กรผู้บริโภค เขาต่อต้านกฎหมาย ๑๑ ฉบับ เพราะเขาถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เป็นกฎหมายที่จะทำลายประโยชน์ของประชาชน แต่กำลังมีน้อย เจรจาก็แล้ว รัฐบาลไทยรักไทยตอนเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๔ ตอนนั้นการที่คนหันมาเลือกไทยรักไทย ไม่เลือกประชาธิปัตย์สาเหตุหนึ่งเกิดจากเรื่องนี้ด้วยนะ ประชาธิปัตย์ล้มเหลวในการแก้ปัญหาแล้ว คนที่เคลื่อนไหวเขาเบื่อหน่ายประชาธิปัตย์ และเขาต้องการคัดค้านกฎหมาย ๑๑ ฉบับนี้ ตอนที่คุณทักษิณหาเสียงครั้งแรก แกบอกว่า ถ้ารัฐบาลไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิกกฎหมาย ๑๑ ฉบับ จะยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ อันนี้จริงๆ แล้วต้องบอกว่าเป็นสัญญาประชาคมนะ แต่ว่าเป็นสัญญาประชาคมที่นักการเมืองไม่ค่อยรักษา แล้วพวกเราฐานะประชาชน เราเองก็ไม่เคยเข้าไปทวงสัญญาอย่างจริงจัง หรือกำลังของเราอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาต้องรักษาสัญญานี้ เพราะประชาชนถึงแม้จะมีจำนวนมาก แต่เมื่อไม่มีการรวมตัวกันอย่างจริงจัง และบางทีสำนึกทางการเมืองยังน้อย จึงปล่อยให้นักการเมืองทำอะไรตามใจชอบ

เรื่องนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีพนักงาน กฟผ. ลุกขึ้นมาค้าน ที่ประท้วงตั้ง ๔๐๐ วัน จนในที่สุดต้องยุติไปชั่วคราวเพราะรัฐสู้ไม่ได้ เขาจึงยอมเจรจาว่าเขาจะยกเลิก พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ และจะไม่แปรรูปบริการสาธารณะ ไฟฟ้า น้ำประปา ถ้าแปลงสภาพเป็นบริษัทก็จะให้รัฐถือหุ้น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ นี่เป็นมติของ ค.ร.ม. เป็นสิ่งที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้ทั้งนั้น แต่พอมาถึงจุดที่มีการเลือกตั้งครั้งที่สองพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ๓๗๗ เสียง ปรากฏว่าพลิกเลย รัฐบาลกลับมาหยิบเรื่องนี้ทำเลย ซึ่งตรงจุดนี้คนจึงต่อต้าน

ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องรายละเอียดทางกฎหมายที่ต้องสู้กัน แล้วเป็นการสู้ในเรื่องเทคนิคด้วยนะ แต่ก็น่าสนใจ เป็นประเด็นที่ทำให้ประชาชนได้เรียนรู้มากขึ้นว่า ตอนที่เราต่อสู้ให้ได้รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ มา แต่พอได้มาแล้วประชาชนไม่ค่อยใช้ มีแต่ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลใช้ ประชาชนยังเดินขบวน ยังไม่มีโอกาสมาพัฒนากลไกตามกฎหมายที่ให้มาว่า ประชาชนจะใช้ได้อย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นตอนนี้อย่างน้อยที่สุด เรามี ๒ กรณีแล้วนะ กรณีทุจริตยาและกรณี กฟผ. เป็นกรณีที่ภาคประชาชนได้ใช้กลไกของกฎหมายเพื่อสู้กับอำนาจรัฐ ส่วนกรณี กฟผ. จะชนะหรือไม่ชนะก็ต้องรอดูกันต่อไป แต่อย่างน้อยที่สุดการที่เราทำให้การกระจายหุ้นถูกชะลอได้ก็เป็นชัยชนะขั้นที่หนึ่งของประชาชน

กลัวไหมคะว่า ศาลปกครองอาจถูกครอบงำโดยอำนาจรัฐ

ก็มีโอกาสทั้งนั้นนะ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจตอนที่ประธานตุลาการศาลปกครองออกมาแถลงตอนที่ให้มีการชะลอการเอาหุ้น กฟผ. เข้าตลาดหลักทรัพย์ สิ่งที่ท่านเริ่มต้นพูด ท่านบอกว่า ท่านขอทำความเข้าใจกันก่อนว่า ศาลปกครองไม่ใช่องค์กรอิสระ แต่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทำงานภายใต้พระปรมาภิไธย ซึ่งพี่รู้สึกว่ามีนัยยะสำคัญบางอย่างนะ ทำไมท่านต้องปฏิเสธว่าท่านไม่ใช่องค์กรอิสระ เพราะเดี๋ยวนี้องค์กรอิสระนี่ ประชาชนรู้สึกว่ามันไม่เป็นองค์กรอิสระแล้วใช่ไหม องค์กรอิสระถูกการเมืองแทรกแซงเกือบหมด การที่ศาลปกครองออกมาบอกว่าท่านไม่ใช่องค์กรอิสระ เป็นการส่งนัยยะสำคัญอะไรหรือเปล่า แต่ท่านบอกว่าท่านเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จริงๆ องค์กรอิสระต่างๆ ก็เป็นองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญนั่นแหละ และท่านบอกว่าท่านทำงานภายใต้พระปรมาภิไธย ยิ่งทำให้เรารู้สึกใจชื้นนะ เพราะว่าถ้าทำงานภายใต้พระปรมาภิไธย หมายถึงว่าท่านทำงานตามแนวทางของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และถ้าเรานึกถึงปฐมบรมราชโองการครั้งแรกตอนที่ในหลวงเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ ท่านตรัสไว้ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” (๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓) ตรงนี้น่าสนใจมากนะ เพราะถ้าหากว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญทำงานโดยยึดแนวทางของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เช่นนี้ พี่เชื่อว่าเราต้องชนะ

เวลานี้พี่ถือว่า เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เรากำลังพยายามใช้สิ่งที่เป็นกติกาของสังคมซึ่งเราได้ตกลงร่วมกันเอาไว้ แต่สิ่งที่พี่มองเห็นก็คือ รัฐบาลบางทีไม่ได้เคารพกติกาตรงนี้ หรือคนที่มีอำนาจทางการเมือง มีอำนาจทางทุนทรัพย์มากกว่า ไม่ค่อยเคารพกติกา เราจึงเห็นอย่างที่ถามว่า เอ๊ะ! ศาลปกครองจะมีการ... คือมีข่าวร่ำลือเยอะว่าองค์กรอิสระทั้งหลายถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง การที่ถูกครอบงำได้เพราะอะไร เพราะตัวเองใช้อำนาจได้มากกว่าใช่ไหม ตัวเองมีเงินใช่ไหม เพราะเมื่อไปแทรกแซง องค์กรอิสระเหล่านั้นก็ไม่สามารถทำหน้าที่ที่เป็นเรื่องถูกต้องได้ ทำให้ระบบทั้งระบบมันรวนไปหมด แต่ถ้ามีองค์กรอิสระที่อิสระอย่างแท้จริง เราจะกลัวอะไร ประชาชนไม่กลัวอยู่แล้วนะ แต่ที่ประชาชนเป็นห่วงก็คือ องค์กรอิสระเหล่านั้นมันไม่เป็นอิสระ กลไกต่างๆ ในสังคมที่ถูกวางขึ้นมาไม่ได้เป็นไปเพื่อคนส่วนรวม คือถ้าเราดูแค่กติกามันเป็นประโยชน์แก่ทุกคน แต่เมื่อเอามาใช้จริงมักจะใช้เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม แต่ประชาชนถูกทำลายสิทธิประโยชน์ ถ้าประชาชนไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ตรงนี้เราก็จะไม่มีความหวังเหมือนกัน

พี่ทำในเรื่องของการปราบคอร์รัปชั่น เห็นได้ว่าในยุคนี้มันยิ่งเลวร้ายมากขึ้น?

Imageคอร์รัปชั่นมันก็ซับซ้อนมากขึ้น และรัฐธรรมนูญเองถูกออกแบบมาก็เพื่อจะปราบคอร์รัปชั่นแบบเดิมๆ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างนักธุรกิจ นักการเมือง และข้าราชการ องค์ประกอบของการคอร์รัปชั่นก็คือ การที่นักการเมืองสามารถใช้อำนาจรัฐไปเอื้อประโยชน์ให้กับนักธุรกิจ นักธุรกิจก็เอื้อประโยชน์ในรูปของเงินทองให้กับนักการเมือง และอาศัยข้าราชการเป็นตัวทำงานหลบเลี่ยงระเบียบการควบคุมไปได้ แต่เวลานี้นักธุรกิจกลายเป็นนักการเมืองเสียเอง การตรวจสอบจึงยากขึ้น กฎหมายคอร์รัปชั่นของเราก็ไม่ทันสมัย เพราะว่ากฎหมายเหล่านี้ไปเน้นที่ต้องมีใบเสร็จ แล้วจะไปมีใบเสร็จได้อย่างไร ใช่ไหม มันยาก โดยเฉพาะคนที่เข้ามาดูแลหรือกุมระบบตรงนี้ย่อมไม่อยากให้มาตรวจสอบตัวเองอยู่แล้ว นักธุรกิจที่เข้ามาใช้อำนาจทางการเมืองมีทั้งเงินและอำนาจ ตรงจุดนี้อำนาจก็ยิ่งมากขึ้นเพราะพวกนี้ใช้เงินมายึดพื้นที่องค์กรอิสระ หรือแม้แต่ในวุฒิสภา พอยึดได้หมด คนเหล่านี้ซึ่งต้องใช้กลไกอย่างถูกต้องชอบธรรม ก็จะไม่ทำ พอไม่ทำจึงเกิดการเอาเปรียบ กลายเป็นว่าคนเหล่านี้ใช้กลไกเพื่อประโยชน์เฉพาะกลุ่มของตัวเองเท่านั้น ซึ่งพี่คิดว่าไม่ได้ต่างจากระบบอำนาจนิยมทหารนะ เพียงแต่รูปแบบมันเปลี่ยนไป แต่ว่าตลอดยุคสมัยของการต่อสู้ทางการเมืองเป็นการต่อสู้กับการเอารัดเอาเปรียบของคนกลุ่มที่มีอำนาจกับคนกลุ่มที่ไม่มีอำนาจ เพียงแต่แปรสภาพไป สมัยก่อนเขาอาจจะใช้อำนาจทางการทหาร ใช้อำนาจแบบความรุนแรงเข้ามาปราบ แต่เดี๋ยวนี้พอเป็นทุนนิยม อำนาจทหารก็เอาด้วยนะ ไม่ใช่ว่าไม่เอา อำนาจเงินนี่ โอ้โห “เหล็กแม้ว่าแข็ง ก็ง้างอ่อนได้ดังใจ” เพราะฉะนั้นก็ซื้อได้หมด สื่อทั้งหลายที่เข้ามาอยู่ในระบบก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะถ้าขืนไปเขียนด่าเขา เดี๋ยวเขาถอนโฆษณาก็เดือดร้อนอีก สิ่งเหล่านี้จึงเป็นประเด็นที่ยาก กฎหมายที่มีอยู่ก็ยากที่จะมาปราบคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นเรื่องของการทับซ้อนในผลประโยชน์ นักธุรกิจที่เข้ามาเป็นนักการเมืองจึงสามารถออกหลักเกณฑ์เพื่อคุ้มครองธุรกิจของตัวเอง หรือไปจนถึงตัวเองเป็นอินไซเดอร์ รู้ข้อมูลก่อนคนอื่น แล้วตัวเองก็มีธุรกิจอยู่ด้วย จึงได้เปรียบกว่าคนอื่น เวลาที่เขาจะมาเอาผิด ก็สามารถทำให้มันถูกระเบียบ ยิ่งกว่าสมัยก่อนนะ สมัยก่อนยังเป็นเรื่องการยัดเงินใต้โต๊ะ ต้องเลี่ยงระเบียบ แต่เดี๋ยวนี้ออกระเบียบได้เลย

อย่างการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย เป็นการออกระเบียบเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง โดยมาเอาประโยชน์จากประชาชน ซึ่งเรียกว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงขนานใหญ่ก็ได้ เพราะสมัยก่อนไม่ใช่ว่าไม่มีการคอร์รัปชั่นนะ เราอาจไม่เรียกว่าการคอร์รัปชั่น เราใช้คำว่า “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” “ฉ้อราษฎร์” คือ การฉ้อโกงประชาชน “บังหลวง” คือ การไปเบียดบังเอาเงินงบประมาณ การคอร์รัปชั่นไม่ใช่แค่การเอาเงินรัฐมาใช้เท่านั้น แต่การฉ้อราษฎร์ก็คือการคดโกงประชาชน การออกกฎหมายเพื่อเอาเปรียบประชาชนเป็นการฉ้อราษฎร์ด้วย เพราะฉะนั้นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะอย่าง กฟผ. ถือว่าเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงเพราะว่าเป็นการออกกฎหมายหรือเป็นการใช้กฎหมายเพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งมีสิทธิอำนาจพิเศษกว่าประชาชนทั่วไป ทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือก คุณจะไม่ใช้ไฟหรือเป็นไปไม่ได้ คุณก็ต้องควักเงินจ่าย เขาจะกำหนดเท่าไร คุณจะไปเถียงเขาได้อย่างไร สมัยก่อนถ้าเป็นหน่วยงานรัฐ เรายังด่าเขาได้นะ แต่พอเป็นเอกชน เขาบอก “ฉันเป็นเอกชน คุณจะมาด่าอะไรฉันล่ะ เอกชน ฉันก็ต้องเอื้อประโยชน์เพื่อผู้ถือหุ้นของฉันซิ” พวกนี้เวลาเขาพูดถึง “บรรษัทภิบาล” ต้องบอกว่า คือ การปกป้องคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายเล็กๆ ที่อยู่ในบรรษัทขนาดใหญ่ แต่ถ้าประชาชนไม่ได้อยู่ในบริษัทที่ถือหุ้น คุณอยู่นอกคำนิยามว่า “บรรษัทภิบาล” นะ เพราะว่าเขาไม่มีคำว่า “ประชาภิบาล”

เวลานี้ระบบการจัดระเบียบโลกสมัยใหม่ที่จะแปรรูปทุกอย่างให้เป็นเอกชน เอกชนไม่ใช่ประชาชนทั้งหมด เป็นแค่คนบางกลุ่มเท่านั้นเอง สิ่งที่เป็นสาธารณสมบัติของทุกคน เป็นบริการสาธารณะของทุกคน พอกลายเป็นของเอกชนคนเดียว คนส่วนใหญ่ก็ต้องถูกคนส่วนน้อยเอาเปรียบอยู่แล้ว แล้วยิ่งคนส่วนน้อยเหล่านี้มีเงินมีอำนาจทางการเมือง ประชาชนก็ตายอย่างเดียว แล้วกฎหมายเหล่านี้ไปให้สิทธิพวกนี้ และถ้าประชาชนไม่ตื่นตัวมาดูว่า ข้อตกลงไม่ใช่อย่างนี้นี่ อย่างนี้ไม่ได้ ต้องมาคุยกัน ต้องมาว่ากันใหม่ แต่ว่าตอนนี้มันใช้กลไกการเลือกตั้ง “ประชาชน ๑๙ ล้านเสียงเลือกผมแล้ว ให้ผมทำอะไรก็ได้ ถ้าคุณไม่พอใจเหรอ อีก ๔ ปีข้างหน้า คุณอย่าเลือกผม” ซึ่งไม่ทัน ผู้บริโภคบอกว่า รถคันนี้ห่วย คุณจะไปบอกว่า “อีก ๔ ปีข้างหน้าคุณอย่าเลือกซื้อรถผม คุณไปซื้อรถอย่างอื่น” เขาทำอย่างนั้นไหม เขาไม่ทำ เขาทุบรถเลย

ผู้บริโภคก็ต้องตื่นตัวไปถึงขั้นว่า ต่อไปในอนาคต นักการเมืองซึ่งเป็นสินค้าชนิดหนึ่งในตลาดการเมือง ถ้าไม่มีคุณภาพ เราต้องมีกลไก ต้องมีวิธีการส่งคืนสินค้าเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน นักการเมืองเป็นสินค้าที่หมดอายุเร็วนะ พอหลังเลือกตั้งปุ๊บ มันหมดอายุเลย คือ มันไม่ทำตามสิ่งที่ตัวเองโฆษณา เราไปดูซิ สินค้าที่เขาโฆษณาว่า ผงซักฟอกชนิดนี้ไม่ต้องขยี้เลย ซักแล้วสะอาด ถ้าเกิดไม่เป็นอย่างนั้นจริง เรายังฟ้อง สคบ. ได้นะ ไอ้นี่โฆษณาเกินจริง หรือยานี่ บอกว่ากินแล้วดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ปรากฏว่าไม่เป็นอย่างนั้น เกิดพิษภัยขึ้นมา เราก็ฟ้อง อย. ให้ถอนทะเบียนออกจากตลาดได้เลย แต่นักการเมืองที่ประกาศว่า ถ้าผมได้เป็นรัฐบาล ผมจะยกเลิกกฎหมายขายชาติ ๑๑ ฉบับ แต่เข้ามาแล้วใช้ประโยชน์เต็มที่เลย ประชาชนจะว่าอย่างไร มีแค่เพียงการรับผิดชอบทางการเมือง ก็คือ ๔ ปีข้างหน้าคุณอย่าเลือกผม แต่เมื่อผมแจกเงิน มีเรียลลิตี้โชว์ แจกเงินกันสะบั้นหั่นแหลกเลย เป็นการซื้อเสียงหรือเปล่า เป็นการซื้อใจชาวบ้านไว้หรือเปล่า เพราะต้องเลือกผมนะ ถ้าคุณอยากได้เงินอีก

สิ่งเหล่านี้เพราะเขาเข้าใจว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ตื่นตัว ถึงตื่นตัวก็ยังรวมกันไม่ได้ คนที่รู้ทันก็เป็นคนกลุ่มน้อย คนกลุ่มใหญ่ยังไม่รู้ทัน ยังไม่มีอำนาจจะไปต่อสู้กับเขา เขาจึงเป็นสินค้าที่ไม่ต้องมีคิวซี เป็นสินค้าที่ไม่ต้องรักษาคุณภาพตามที่โฆษณาไว้เพราะเขาคิดว่าประชาชนไม่มีทางเลือก ในอนาคตผู้บริโภคหรือประชาชนต้องตื่นตัวให้มากกว่านี้ ตื่นตัวจนต้องเข้ามาจัดการกับกติกาคือ กฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญว่าต้องมีหลักเกณฑ์ในการที่จะจัดการกับนักการเมืองที่ไม่ทำตามสัญญาประชาคม เพราะการที่เขาประกาศในการหาเสียงถือว่าเป็นสัญญาประชาคมนะ

การลงนามเอฟทีเอกับสหรัฐฯ ซึ่งครอบคลุมไปถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่ให้สิทธิเขามาลงทุนได้ ก็ยิ่งเข้าทางรัฐบาลที่จะอ้างว่า เราขัดข้อตกลงเอฟทีเอไม่ได้ ด้วยไหมคะ

ก็ต้องไม่เซ็นไง สาเหตุนี้ คนจึงต้องต่อสู้เพื่อไม่ให้ไปเซ็นเอฟทีเอโดยที่ประชาชนไม่รู้เลยว่าคุณเอาอะไรไปแลก เพราะว่านายกฯทักษิณ บอกว่า การเซ็นเอฟทีเอก็มีทั้ง give and take น่ะ แต่เราอยากจะรู้ว่า give อะไร แล้ว take อะไร สิ่งที่คุณ give คือผลประโยชน์ของคนเล็กคนน้อยทั้งหมดหรือเปล่า แล้วที่คุณ take คือ ผลประโยชน์ของพวกยานยนต์หรือพวกกิจการทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองหรือเปล่า ตรงนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องรู้ แต่ว่าถูกปิดเงียบ ไม่มีใครรู้ ทำอย่างนี้ไม่ได้ คุณเลือกตั้งมา ๑๙ ล้านเสียงก็จริง แต่ไม่ใช่ว่าประชาชนมอบให้คุณ ยกอนาคตทั้งอนาคตให้กับคุณน่ะ

นายกฯ ทักษิณ เขาอาจจะเคยตัวนะ กับการที่เขาได้สัมปทาน อย่างเช่น สัมปทานโทรศัพท์นี่ เวลารัฐบาลให้สัมปทานกับคุณ คุณได้สิทธิผูกขาดทำคนเดียว ได้อำนาจเต็มที่ แต่ในกรณีของการเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาล มันไม่เหมือนกันนะ เพราะว่าประชาชนไม่ได้ให้สัมปทานประเทศคุณ ใช่ไหม? นี่เกิดการเข้าใจผิดว่า เลือกมา ๑๙ ล้านเสียง แล้วยกให้คุณสัมปทานประเทศเลย โดยที่คุณไม่ฟังคนอื่น อันนี้ไม่ใช่ เป็นคนละเรื่องกัน ฉะนั้นการที่คุณจะไปเซ็นเอฟทีเอกับใครที่ทำให้ประชาชนต้องเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจ ต้องให้ประชาชนเจ้าของประเทศรู้กันทั้งหมด ต้องถามประชาชนว่า ฉันจะเอาประโยชน์ของคุณไปแลกนะ จะเอาไหม และเอฟทีเอเมื่อไปเซ็นแล้ว ต้องไปแก้กฎหมายตั้งมากมาย ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน เพราะฉะนั้นประชาชนมีข้อต่อสู้ตรงนี้ และในข้อต่อสู้ที่เราจะทำต่อไป ถ้ารัฐบาลจะไปเซ็นก็คือ มาตรา ๒๒๔ ระบุไว้เลยว่า พระมหากษัตริย์จะต้องทรงลงพระปรมาภิไธยในการทำสัญญาทุกอย่าง แต่ว่าในกรณีที่สัญญาเหล่านั้นนำไปสู่การต้องแก้กฎหมายภายในประเทศ อันนี้ต้องผ่านรัฐสภา ฉะนั้นบอกได้ว่ากฎหมายทุกอย่าง แม้แต่พระราชกฤษฎีกา พระราชกำหนดที่ออกโดยรัฐบาลเอง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ต้องทรงลงพระปรมาภิไธยก่อน อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่รัฐบาลชุดนี้กำลังทำขัดกับรัฐธรรมนูญที่ไม่เอาเรื่องข้อตกลงทั้งหลายมาให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ลงพระปรมาภิไธย แล้วยิ่งถ้าเกิดไปตกลงเอฟทีเอแล้วต้องไปแก้ไขกฎหมายอะไรทั้งหลายในประเทศนี้ ต้องเข้ารัฐสภาเลย ขนาดอเมริกาซึ่งเป็นระบบประธานาธิบดี เขาจะไปตกลงเอฟทีเอ เขาต้องเข้าสภาฯ นะ แต่ระบบการปกครองของประเทศเราเป็นระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งอาศัยระบบรัฐสภา ไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี แต่นายกรัฐมนตรีไม่เคารพหลักเกณฑ์ตรงนี้ว่าทุกอย่างต้องเข้ารัฐสภา กลัวอะไร คุณมีเสียงส่วนใหญ่ตั้งเยอะ ทำไมคุณไม่กล้าเข้า ซึ่งตรงจุดนี้เป็นสิ่งที่จะเกิดปัญหา

Imageแล้วเอฟทีเอนี่ที่เกี่ยวพันกับเรื่อง กฟผ.เพราะอะไร เวลารัฐบาลบอกว่าเขาขายหุ้น ๒๕เปอร์เซ็นต์ แล้วขายให้ต่างชาติได้ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เขาจะกำหนดไว้ว่าให้ขายต่างชาติได้แค่ ๓๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลือเป็นของคนไทยหมด แต่ถ้าเซ็นเอฟทีเอเมื่อไร จะมาบอกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นของคนไทย ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นของต่างชาติไม่ได้ คุณต้องเปิดทั้งหมดเพราะถือว่าเขาก็มีสิทธิซื้อได้เท่าๆ กับคุณนะ แล้วอีก ๗๕ เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ รัฐบาลจะรักษาไว้ได้หรือเปล่า เพราะว่า ปตท.ที่บอกว่ารัฐจะถือหุ้น ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เหลืออยู่ ๕๒ เปอร์เซ็นต์ แล้วคิดดูนะ เวลาเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เม็ดเงินต่างชาติเยอะกว่าเรามาก แล้วในระบบที่มันแปรผันเปลี่ยนแปลงไป ไปๆ มาๆ พอต้องการเงินมากขึ้นก็ขายหุ้นไปเรื่อยๆ แต่คุณขายไป ๔๙ เปอร์เซ็นต์ปุ๊บ ต่างชาติเกิดซื้อได้หมดเลย ๔๙ เปอร์เซ็นต์เนี่ยะ ไปดูซิ ตอนที่แกรมมี่จะเทคโอเวอร์มติชน เขาไม่ต้องถือ ๔๙ เปอร์เซ็นต์นะ เขาเกิน ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เขาก็มีสิทธิเข้ามาร่วมบริหารแล้ว และถ้าไปถึงจุดที่รัฐบาลเกิดถังแตกจริงๆ เขาสามารถขายหุ้นรัฐวิสาหกิจออกไปเกินกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วกลายเป็นวิสาหกิจของเอกชน จะมีใครรับประกันได้ว่ารัฐบาลจะไม่ทำแบบนั้นในยุคต่อไป ถ้าเกิดถังแตก ก็ต้องขายทรัพย์สิน เหมือนบ้านเราเป็นหนี้เป็นสินเยอะแยะไปหมดเลย ต้องเอาทรัพย์สินในบ้านออกไปขายน่ะ แล้วทรัพย์สินพวกนี้อยู่ในตลาดฯ อยู่แล้ว ก็ขายเพื่อเอาเงินเข้ามา พอขายเกิน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นธุรกิจของเอกชนได้นะ และเมื่อกลายเป็นธุรกิจของเอกชนแล้ว คุณไปเซ็นเอฟทีเอ ต่างชาติก็สามารถมาเทคฯ หมดได้เลย หรือเผลอๆ อาจเป็นของคนไทยด้วย เพราะว่าคนไทยเดี๋ยวนี้ไปทำนอมินี่ (Nominee - ตัวแทน) ต่างประเทศแล้วกลับเข้ามาซื้อหุ้นตัวเอง เราจะไปรู้ได้อย่างไรว่ามันจะไม่กลายเป็นเอกชนของนักการเมืองไทยที่ไปจดบริษัทในต่างประเทศแล้วกลับเข้ามาซื้อ นี่คือการใช้อำนาจรัฐผ่องถ่ายทรัพย์สินของชาติออกไป นี่คือการคอร์รัปชั่นแบบใหม่ซึ่งยังไม่มีกฎหมายไปจัดการกับคอร์รัปชั่นแบบนี้ได้

เพราะฉะนั้นเวลานี้สิ่งที่ประชาชนจะทำได้ก็ต้องต่อสู้ สกัดไม่ให้เปิดประตู เพราะถ้าเปิดประตูได้เมื่อไร ๒๕ เปอร์เซ็นต์ นี่แค่ข้ออ้าง คุณเปิด ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เมื่อไร คุณอย่าหวังเลยว่าจะรักษาอีก ๗๕ เปอร์เซ็นต์ไว้ได้

บทเรียนของอาร์เจนตินา ก็ไม่ใช่การตื่นตูม

ไม่ตื่นตูมหรอก พี่รู้สึกว่า นักการเมืองเวลานี้เหมือนไส้ศึกน่ะ ตอนเราเสียกรุงครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง ไม่ได้เกิดจากข้าศึกตีเข้ามา มันเกิดจากคนในที่เป็นพวกเสนาบดีทั้งหลาย ระดับเสนาบดี ซึ่งเวลานี้ถ้าจะแปลภาษาใหม่ก็คือพวกนักการเมืองนี่แหละ เป็นคนไปเข้ากับพวกข้าศึกนอกประเทศ แล้วไปเปิดประตูเมืองให้เขา โอกาสมันเป็นไปได้มาก ที่จะบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นนี่เป็นสิ่งที่ประชาชนจะต้องตระหนักรู้ และพี่ไม่คิดว่าเป็นเรื่องของการตื่นตูมนะ เพราะลองคิดดูซิว่า แค่การขายหุ้น กฟผ.นี่ การประเมินมูลค่าทรัพย์สินในราคาที่ต่ำมาก มันเป็นเรื่องที่น่าสงสัยใช่ไหม เพราะว่ามูลค่าทรัพย์สินที่นักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์เขาประเมินว่า มูลค่าของ กฟผ.จะสามารถทำกำไรหรือผลประโยชน์ได้สูงถึง ๓.๘ ล้านล้านบาท นี่เขาประเมินมูลค่าของกิจการนะ แต่คุณขายไป ๒ แสน ๔ หมื่นล้าน คิดดูซิ อย่าง กฟผ. คุณขาย คุณตัดเนื้อคุณขายไป ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ได้ ๕๖,๐๐๐ ล้านบาท สูงสุดนะ แต่ลองดู กฟผ. สมัยที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ปีหนึ่งเขาต้องส่งเงินเข้ารัฐ ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท ๒ ปี ๖๐,๐๐๐ ล้านบาท มากกว่า ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ของหุ้นที่ขายออกไป แล้วหุ้นที่ขายออกไป ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ที่อ้างว่าเป็นการระดมทุนที่ไม่ต้องมีดอกเบี้ย มีเงินปันผลไหม เงินปันผล ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ต้องจ่ายตลอดไปนะ แต่ถ้าหากเป็นเงินกู้ เราจ่ายหนี้หมดเราก็ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยอีก แต่ถ้าคุณขายหุ้นออกไป ๒๕ เปอร์เซ็นต์ หุ้นนั้น คุณต้องจ่ายเงินปันผลให้เขาตลอดไป

ภาพจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตรงจุดนี้ รัฐบาลทำให้ประชาชนเกิดความคลางแคลงใจว่า เขาจะรักษาผลประโยชน์ของชาติจริงหรือเปล่า เพราะว่าวิธีการคิดมูลค่าทรัพย์สินของเขาคิดตามมูลค่าบัญชี หมายความว่า สินทรัพย์ตัวหนึ่ง สมมุติรถคันหนึ่ง ๕ แสนบาท เวลาเราตัดมูลค่าทางบัญชีเราตัด ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ต่อปี พอ ๕ ปี รถคันนี้มีมูลค่าเท่ากับศูนย์ แต่ถ้าเราขายมันยังมีมูลค่าอยู่ใช่ไหม แต่เวลาเขาประเมินทรัพย์สิน เขาประเมินตามมูลค่าบัญชี ก็หมายความว่ามีทรัพย์สินจำนวนมากเลยใน กฟผ. ที่ในทางบัญชีไม่มีมูลค่าอีกแล้ว เขาทำอย่างไรบ้าง เขาประเมินมูลค่าอย่างไร เขาไม่เคยบอก พวกพี่ไปขอข้อมูล ก็ไม่บอก ไม่ให้ข้อมูล บอกว่าเป็นความลับ แล้วเราจะไว้ใจได้ไหม คนที่เรามอบหมายให้ทำหน้าที่แทนประชาชน ว่าจะรักษาผลประโยชน์ของเราน่ะ หรือว่าคนพวกนี้จะไปเปิดประตูเมืองให้ข้าศึกเข้ามาโจมตีเรา เพราะว่านักการเมืองเขาสามารถใช้อำนาจ เขาอาจจะบอกว่า ตอนนี้นะ ขายไปเลย หุ้นนี้ ขายไปเลย แล้วฉันก็ไปซื้อ ก็ย่อมทำได้ เขาเป็นอินไซเดอร์น่ะ

อย่าง ปตท. ที่เคยบอกว่ารัฐจะเก็บไว้ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เหลือ ๕๒ เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นออกมาพูดเลย แล้วเกิดวันดีคืนดี เรามารู้อีกที ปตท. ขายหุ้นออกไปหมดแล้ว รัฐถือหุ้นแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ขายไปหมดเลย ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เกิดอะไรขึ้นล่ะ เขาทำได้นะ กฟผ. ก็เหมือนกัน เราจะไปนั่งจับตามองเขาได้อย่างไรตลอดเวลา เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำได้ตอนนี้ก็คือ สกัดไม่ให้กิจการที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานถูกเอาไปขายแบบนี้

แต่ก็เหมือนกับมีแค่องค์กรภาคประชาชนซึ่งเป็นเอ็นจีโอออกมาต่อสู้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้ามาร่วมด้วยเท่าไรนัก

ก็ไม่เป็นไรหรอก โลกเปลี่ยนแปลงโดยคนกลุ่มน้อย (หัวเราะ) เราเชื่ออย่างนั้น แต่ว่าถ้าเราไปบอกว่าคนต้องมาเยอะๆ นี่ก็ไม่ได้ แต่ถ้าคนกลุ่มน้อยริเริ่มในสิ่งที่ถูกต้องนะ ต่อไปมันจะใหญ่ขึ้นมาได้เอง เราลองดูซิ ในธรรมชาติน่ะ แม่น้ำสายใหญ่ๆ ก็เกิดจากตาน้ำที่เล็กนิดเดียว ถ้าไปดูตาน้ำในภูเขา เราอาจแทบไม่เชื่อเลยนะ ว่ามันจะสามารถกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ๆ ได้ แต่ว่าตาน้ำที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง สามารถก่อให้เกิดแม่น้ำลำคลองขึ้นมาได้ เราก็ต้องเชื่ออย่างนั้นด้วยเหมือนกันว่า ในเรื่องที่มันมีความซับซ้อน คนส่วนใหญ่ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้ แต่ขอให้มีคนถึงแม้จะมีจำนวนน้อยที่มองเห็นสิ่งเหล่านี้ และทำต่อไปอย่างไม่ลดละ เราอาจจะเป็นตาน้ำที่ทำให้เกิดแม่น้ำสายใหญ่ขึ้นก็ได้ ที่จะเป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆ ประชาชนได้อาศัยดื่มกิน แต่ว่าทุกคนก็ต้องช่วยกันทำให้น้ำสะอาดด้วยนะ ไม่ใช่ไหลไปแล้วกลายเป็นน้ำเน่าไปหมด

เพราะฉะนั้นต้องไม่หมดความหวังกับเรื่องราวเหล่านี้ และถ้าเรามีความเชื่ออย่างนี้ สำหรับพี่เอง พี่คิดว่าภาษิตจีนอันนี้ใช้การได้ “ความพยายามเป็นของมนุษย์ ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า” เวลาทำอะไรไม่ต้องไปสนใจว่าเราจะชนะหรือเราจะแพ้ ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งถูกต้อง ให้ทำไปอย่างเต็มที่โดยไม่ย่อท้อ โดยไม่ท้อถอย แล้วไม่ต้องไปหมดกำลังใจว่าเราเป็นคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่ยังไม่ตื่นตัว เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เปลี่ยนแปลงเกิดจากคนส่วนน้อยทั้งนั้น เราลองดูซิ อย่าง ๑๔ ตุลา เกิดขึ้นจากคนเท่าไร ๑๓ คน เกิดจากจุดเล็กๆ เท่านั้น ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยแล้วถูกจับ เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมานะ อาจจะไม่ใช่ความตั้งใจของ ๑๓ คนที่จะทำให้คนออกมาเดินบนถนนกันเป็นแสนเป็นล้านคน แต่ว่า ๑๓ คนนั้นเห็นว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเมื่อเขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อไปถึงจุดๆ หนึ่งซึ่งเป็น the matter of time เป็นเรื่องของเงื่อนไขของเวลา เป็นเรื่องของความสุกงอมของสถานการณ์ คนห้าแสนคนที่ออกมาเดิน ใครจะไปจัดตั้งเขาได้

กฟผ. ก็เหมือนกัน พวกเราก็เป็นเพียงแค่เหตุปัจจัยตัวเล็กๆ หลายคนถามว่า ทำให้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เราบอก เราไปทำลายระบบใหญ่ๆ เขาไม่ได้หรอก ถ้าเปรียบไป เราก็เหมือนลูกแม็กซ์เล็กๆ ที่เผอิญหลุดเข้าไปในเครื่องถ่ายเอกสาร ทำให้ระบบมันรวนไปหมด ทำให้มันหยุดไปชั่วคราว แต่ว่าเราก็ไม่ลดละหรอกที่จะต้องทำต่อไป ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมกับคนส่วนใหญ่ เราก็ต้องต่อสู้ต่อไป และเมื่อการต่อสู้ของเราโดยไม่ลดละ ไม่ท้อถอย ไปถึงจุดหนึ่งที่มันเป็นความเหมาะสมของกาลเวลา ความเหมาะสมของสถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นได แต่ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นจากเราไปกำหนดอะไรนะ ต้องถือว่ามนุษย์เราเป็นเหตุปัจจัยตัวหนึ่งของสถานการณ์ทั้งหมด และถ้าเราเชื่อว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงโดยคนส่วนน้อยแล้ว เราจะมีกำลังใจว่าเราจะเป็นคนส่วนน้อยที่เป็นตัวจุดประกายของการเปลี่ยนแปลงอันนั้น แต่ไม่ใช่เราเป็นผู้ทำการเปลี่ยนแปลง

มนุษย์เราต้องไม่อหังการว่า เราเป็นผู้กุมการเปลี่ยนแปลงอันนั้น การเปลี่ยนแปลงอาจเป็นเรื่องของพระเจ้าก็ได้ เป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยทั้งหมด แต่เราเป็นเพียงเหตุปัจจัยตัวหนึ่ง แล้วเราทำเหตุปัจจัยของเราให้ดีที่สุด ชัยชนะนั้นไม่ใช่ชัยชนะที่เราทำ แต่เผอิญเราทำถูกต้องกับกาลเวลา กับสถานการณ์ แล้วมันเกิดชัยชนะขึ้นมาก็เป็นชัยชนะของทุกคน


พ.ร.บ. ๑๑ ฉบับ ที่รัฐบาลและรัฐสภาไทยได้ออกกฎหมายภายใต้การบังคับและครอบงำจาก IMF หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ถึงแม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ชดใช้เงินกู้จาก IMF หมดสิ้นแล้วก็ตาม แต่หลักการรุกรานยึดครองของต่างชาติโดยกฎหมาย พ.ร.บ. ๑๑ ฉบับก็ยังคงอยู่เช่นเดิม

 

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
ศาสนิกกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน พิมพ์
Thursday, 01 June 2006


ศาสนิกกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน

ปาฐกถาโดย ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ในโอกาสครบรอบ ๖๐ ปีสันติภาพ ผมอยากจะตัดคำว่า “ไทย” ออกไป เพราะสันติภาพไทยเป็นเพียงเสี้ยวนิดเดียวของสันติภาพของโลก ของมวลมนุษย์ทั้งหลาย เพราะความจริงแล้วสงครามและสันติภาพไทยก็เกิดสืบเนื่องมาจากสงครามและสันติภาพในภาคส่วนอื่นของโลก คำวลีอันเป็นกุญแจสำคัญที่เราให้ความสำคัญในวันนี้ “สันติภาพ” “สิทธิมนุษยชน” และ “ภารกิจของศาสนิก” ผมอยากจะเรียนทำความเข้าใจในส่วนตัวของผม “สิทธิมนุษยชน” ไม่ใช่อื่นไกลเลย เป็นเรื่องของการดำรงชีวิตร่วมกัน ร่วมสังคม ร่วมโลกอย่างมีศักดิ์ศรี อย่างมีสันติภาพ อย่างยุติธรรม ซึ่งจะนำไปสู่สันติสุข เพราะฉะนั้นสิทธิมนุษยชนจึงไม่ได้เป็นจุดหมายในตัวของมันเอง เป็นเพียงเครื่องมือ เป็นเพียงวิถีทางที่นำไปสู่เป้าหมายของชีวิตที่พึงปรารถนา สันติภาพก็เช่นเดียวกัน เป็นเป้าหมายของชีวิตเราทุกๆ คน แต่ทั้งสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ เป็นเพียงผลที่เกิดแต่เหตุ

เหตุนี้ผมจึงคิดว่าเป็นภารกิจที่แท้จริงของศาสนิก เราอาจจะประพฤติ ปฏิบัติ หรือแม้กระทั่งสั่งสอนในเรื่องของความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพ และสันติภาพ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการประพฤติปฏิบัติในชีวิตของเราเท่านั้น คำถามก็คือว่า การประพฤติปฏิบัติที่จะนำไปสู่การเคารพในสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างความยุติธรรมและสันติภาพ เป็นผลที่เกิดแต่เหตุอะไร ผมขอถือโอกาสนี้จากการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมายาวนานพอสมควร อยากจะสรุปว่าภารกิจของศาสนิกนั้น นอกเหนือไปจากการนำแนวทางและสั่งสอนในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติแล้ว ผมคิดว่าศาสนิกนั้นมีภารกิจที่สำคัญที่สุด คือ ในการสร้างเสริมสภาวะจิตซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ของคนเรา การประพฤติปฏิบัติของคนเรานั้นเกิดขึ้นจากภาวะของจิตของการเรียนรู้ซึ่งผมเรียกสั้นๆ ว่า “การเรียนรู้”

ในโลกปัจจุบันนี้ ถ้าเราย้อนกลับไปในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา ผมคิดว่าปัญหาของความวิกฤติในสภาวะจิต วิกฤติในสภาวะและวัฒนธรรมการเรียนรู้ นำมาซึ่งการกดขี่เบียดเบียน การดิ้นรนต่อสู้ และสงคราม ล้วนแล้วแต่มาจากการเปลี่ยนแปลงของโลก นับแต่มีการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์เป็นต้นมา การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ของโลกเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความสำเร็จของโลก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์เกิดความอหังการว่า ความรู้ของมนุษย์นั้นสามารถเอาชนะธรรมชาติ มนุษย์นั้นเป็นนายเหนือธรรมชาติ ครั้นมาถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรม วัฒนธรรมการเรียนรู้ที่มองเห็นความลักลั่นของคนกับธรรมชาติ ก็นำมาซึ่งการเบียดเบียนคนด้วยกัน นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่ผมคิดว่า ภารกิจของศาสนิกนั้นคงจำเป็นต้องทำความเข้าใจร่วมกัน

จากลัทธิเศรษฐกิจตลาดเสรี ซึ่งเรียกอย่างสวยหรูว่า “เศรษฐกิจเสรีนิยม” ได้พัฒนาการมาเป็นสิ่งที่ในวงวิชาการในขณะนี้เรียกว่า “ทรราชแห่งตลาด” และทรราชแห่งตลาดนี้ก็นำไปสู่พฤติกรรมของมวลมนุษย์ทั่วโลก ซึ่งก็คือ “บริโภคนิยม” ในสภาวะการเรียนรู้ตรงนี้ วัฒนธรรมการเรียนรู้ตรงนี้เป็นปมปัญหาที่อยู่กับเรามาโดยตลอด คำถามคือว่า เราจะแก้ไขที่จะปฏิรูป ความจริงคำว่า “ปฏิรูป” ผมก็ไม่ชอบ เผอิญผมติดในฐานะที่เป็นนักสังคมศาสตร์ แต่ความจริงแล้ว เราจะพูดในภาษาฝรั่งก็คือว่า เราจะ D Learning เราจะถอนการเรียนรู้ที่อยู่กับตัวเราเป็นเวลาช้านานจนกลายเป็นระบบการศึกษาในยุคปัจจุบัน ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นภารกิจของศาสนิกที่จะช่วยกันมองทะลุ ย้อนกลับไปหาภูมิปัญญาของชนสามัญ ผมคิดว่าแก่นของวัฒนธรรมการเรียนรู้ซึ่งอาจดูผิวเผินว่าล้าสมัย ความรู้ หรือภูมิปัญญาหนึ่งก็คือ การอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยความเคารพในธรรมชาติ ดังเช่น คำของพ่อเล็ก กุดดวงแก้ว ที่ จ.สกลนคร พูดเสมอถึงภูมิปัญญา ประเพณีของชาวบ้านที่บอกว่า เราอยู่อย่างเคารพและกินอย่างเคารพธรรมชาติ การเคารพธรรมชาติจะนำมาสู่การอยู่อย่างเคารพเพื่อนมนุษย์ และบริโภคอย่างเคารพเพื่อนมนุษย์ ภาพจาก www.episcopalchunch.orgเพราะว่าการแสวงอำนาจในทางเศรษฐกิจ หรือที่เราเรียกว่า “การขยายตลาด” “การขยายบริโภคนิยม” สองอย่างนี้ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ ผมเคยพูดเสมอว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน ไม่ต้องไปรบราฆ่าฟันกันเลย เพียงแต่กำจัดศาสนาบริโภคนิยมออกไป เท่านั้นแหละครับ ผมคิดว่าวัฒนธรรมการเรียนรู้ตรงนี้เป็นกุญแจสำคัญ และทุกๆ ศาสนามีภารกิจร่วมกันตรงนี้ ความแตกต่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา ภูมิประเทศ ฐานทรัพยากร เป็นความแตกต่างหลากหลายที่เป็นความงดงามของโลกชีวิต ไม่ได้เป็นความแตกต่างหลากหลายที่นำมาสู่ความลักลั่นขัดแย้งระหว่างกัน ตรงนี้เป็นภารกิจที่ศาสนิกจำเป็นต้องมี Mission ร่วมกัน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างหลากหลายกันอย่างไรก็ตาม ความแตกต่างเป็นเพียงเรื่องของบริบท ความงดงามของโลกใบนี้ก็คือความหลากหลาย แต่ในวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมการบริโภคกำลังบังคับให้โลกทุนนิยมเหล่านั้นเป็นวัฒนธรรมเดียวที่เรียกว่า Mono Culture ได้กำจัดความงดงามของโลกชีวิตออกไป นี่คือสภาวะของโลกยุคปัจจุบันซึ่งมีสาเหตุมาจากการพัฒนาความรู้ของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไปลดความสำคัญของจิต เอาเรื่องของกาย เรื่องของวัตถุมากำหนดจิต

มีข้อสังเกตของนักเศรษฐศาสตร์บอกว่า เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือของสังคม แต่ปัจจุบันนี้สังคมซึ่งหมายถึงชีวิตของมนุษย์ เป็นเครื่องมือของเศรษฐกิจ มนุษย์มีคุณค่าเป็นเพียงแรงงานการผลิต มีคุณค่าเพียงการบริโภค ยิ่งผลิตได้มาก บริโภคได้มาก เราเรียกว่า ความก้าวหน้า หลักความคิดเรื่องความก้าวหน้าที่เรายึดถือปัจจุบันนี้ นั่นก็คือความถดถอยศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เกิดการกดขี่เบียดเบียน คือ ที่มาของสงคราม ที่มาของความขัดแย้ง ที่มาของการบั่นทอนทำลายสิทธิเสรีภาพ คุณค่าความเป็นมนุษย์ ตรงนี้ผมคิดว่าภารกิจของศาสนิกนั้นคงจะต้องพ้นไปจากความแตกต่างหลากหลายเพื่อมามองภารกิจร่วมกัน นี่คือภารกิจระยะยาว หลักธรรมคำสั่งสอนทั้งหลายเป็นหลักธรรมคำสั่งสอนในการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา แต่หลักธรรม การสั่งสอน และการประพฤติปฏิบัติเหล่านี้จะไม่เป็นมรรคเป็นผลเท่าที่ควร หากปราศจากพื้นฐานของการเรียนรู้อย่างถ่องแท้เกี่ยวกับโลกของชีวิต โดยเฉพาะการมองถึงปัญหาของระบบการศึกษาปัจจุบันที่นำพาเราไปสู่ชีวิตของการเบียดเบียน การเอารัดเอาเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของเชื้อชาตินิยม หรือในรูปของความเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจ มูลเหตุของสงครามก็มาจากนี่แหละครับ

เราพูดในวันนี้ พูดในโอกาสครบรอบ ๖๐ ปีของสันติภาพ ถ้าเราย้อนกลับไปดูเมื่อ ๖๐ ปีก่อน สาเหตุสำคัญก็คือลัทธิชาติ เชื้อชาตินิยม แต่ถ้ามองไปอีก ลัทธิเชื้อชาตินิยม ลัทธินาซี ลัทธิต่างๆ ถ้ามองให้ลึกลงไปก็คือ ปฏิกิริยาต่อระบบทุนนิยม ต่อระบบเศรษฐกิจนั่นเอง จึงเอาเรื่องของเชื้อชาติขึ้นมาเป็นอาวุธในการต่อสู้จนกระทั่งโลกประสบหายนะอย่างใหญ่หลวง มนุษย์จึงได้ระลึกว่าเราต้องสร้างสันติภาพ สร้างองค์การสหประชาชาติและเชิดชูสิทธิมนุษยชน แต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ทันทีที่โลกเกิดสันติภาพจึงค่อยๆ พัฒนาไปสู่อีกลัทธิหนึ่ง ก็คือลัทธิจักรวรรดินิยมในทางเศรษฐกิจ ตลาดทุน เทคโนโลยี กลายเป็นเครื่องมือเป็นกลไกที่จะสร้างความเอารัดเอาเปรียบ สร้างความยิ่งใหญ่

ขณะนี้ในโลกเศรษฐกิจเองก็กำลังประสบกับภาวะวิกฤติในเรื่องของการช่วงชิงแก่งแย่ง ไม่มีความสุขหรอกครับ และกระแสโลกาภิวัตน์ที่กำลังเป็นอยู่ขณะนี้ ในความสังเกตของผมกำลังถึงจุดที่สร้างปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรง สิ่งที่เราเรียกว่า “การก่อการร้าย” ในทุกวันนี้ ถ้าพูดกันด้วยความเป็นธรรมก็เป็นเพียงปฏิกิริยาที่ต่อต้านกระแสการขยายอำนาจกดขี่เบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบกันในทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นการมองที่เหตุและผลต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ผมมีความเชื่อว่าเป็นภารกิจของ ศาสนิกทุกๆ ศาสนาในโลกนี้จะต้องมีความเข้าใจตรงกันว่าเรากำลังประสบกับชะตากรรมของโลกอย่างไรบ้าง

สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องของชีวิตด้านนั้นด้านนี้ แต่เป็นเรื่องขององค์รวมของชีวิต เป็นเรื่องของการดำรงชีวิตร่วมกันอย่างเคารพซึ่งกันและกัน และเข้าใจกัน แต่ว่าการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายก็ดี การแก้ไขปัญหาความวิกฤติในภาคใต้ก็ดี ล้วนแล้วแต่มีมูลเหตุเดียวกัน คืออำนาจบาตรImageใหญ่ในทางเศรษฐกิจ ผมอยากจะเรียนในที่นี้ว่า พัฒนาการของเศรษฐกิจมาถึงจุดที่เริ่มมีการเบียดเบียนทรัพยากรท้องถิ่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกลายเป็นเครื่องมือกลไกของการช่วงชิงในรูปแบบของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เราได้ยินเรื่องของปัญหาข้าวหอมมะลิ ปัญหาของหญ้าเปล้าน้อยมาแล้ว จนกระทั่งเกิดความขัดแย้งถึงโรงถึงศาล อย่างเช่น ข้าวจัสมาติ ของอินเดียกับสหรัฐอเมริกา เป็นต้น จนกระทั่งเป็นคดีความที่ต้องไปต่อสู้กันในศาลสหรัฐฯ นี่เป็นเรื่องน่าคิดนะครับ และในสหรัฐฯ เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นประเทศที่มีนักกฎหมายเป็นจำนวนมาก ไม่มีทางสู้ได้หรอกครับ การไปสู้คดีในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้ จนกระทั่งในขณะนี้การพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เรามองรวมเป็นความก้าวหน้ามันกลายเป็นเครื่องมือของการช่วงชิง

เมื่อไม่นานมานี้ผมทำหน้าที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีข้อเสนอมาจากสหรัฐฯ ต้องการให้ไทย –สหรัฐฯ ทำข้อตกลงก่อตั้งกองทุนวิจัยป่าเขตร้อน ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สหรัฐฯ จะช่วยตั้งกองทุนวิจัยแต่สหรัฐมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีสิทธิในการสำรวจป่าเขตร้อนทั่วประเทศ สิทธิในการนำไปวิจัย และจดทะเบียนเป็นสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา เพราะฉะนั้นปัญหาภาคใต้นั้นเรามองเป็นปัญหาทางศาสนา ปัญหาของกระบวนการยุติธรรม นั่นก็เป็นส่วนจริงครับ แต่ที่ลึกไปกว่านั้นเราพูดกันเสมอในแวดวงวิชาการที่ปัตตานีว่าความจริงนั้นก็คือ ปัญหาการเบียดเบียนทรัพยากร ซึ่งหมายถึง การเบียดเบียนชีวิต เบียดเบียนสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ทุกครั้งที่พูดถึงภาคใต้ ผมจึงพูดเสมอว่า ปัญหาภาคใต้เกิดขึ้นทุกภาคส่วนของสังคมไทย เพราะเป็นที่ทราบกันว่า ประเทศไทยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของป่าเขตร้อนของโลก อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นฐานของการดำรงชีวิตและการเรียนรู้ของชุมชนโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ชาวเขา ชาวม้ง ก็ถูกเบียดเบียนทั้งสิ้น นี่เป็นเรื่องที่เราต้องพยายามทำความเข้าใจร่วมกันว่า โลกในขณะนี้กำลังก้าวเข้าสู่จุดวิกฤติซึ่งคนยากคนจน คนสามัญ นั้นไม่มีทางออกที่จะแสวงหาความยุติธรรม ความสันติสุข อย่าว่าแต่สิทธิเสรีภาพเลย

ในระบบโลก ระบบรัฐ ทุกวันนี้ก็ไม่เอื้ออำนวยเพราะเรากำลังพัฒนาไปสู่การรวมศูนย์อำนาจทั้งสิ้น ประชาธิปไตยที่เรามองเห็นทุกวันนี้เป็นประชาธิปไตยรวมศูนย์ ผมอยากจะเรียนว่า ไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่จะเป็นประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิเสรีภาพหากปราศจากซึ่งสิทธิการปกครองตนเองของชุมชนท้องถิ่น การถ่วงดุลอำนาจไม่ได้อยู่ที่รัฐสภา ไม่ได้อยู่ที่การถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่อยู่ที่ฐานของสิทธิการปกครองตนเองของท้องถิ่น ผมพูดถึงวิกฤติตรงนี้ ในประเทศไทยเรากำลังมีข้อเสนอสำคัญที่เรียกว่า การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเขตฯ ที่จะยกให้อยู่ในอำนาจปกครองดูแลของคณะกรรมการชุดหนึ่ง เพียงต้องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และให้สิทธิอำนาจนั้นเป็นสิทธิเด็ดขาด อันนี้หมายความว่าเป็นการล้มเลิกสิทธิในการปกครองตนเองของท้องถิ่นทั้งหมด เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ เขตห้าเหลี่ยมเศรษฐกิจในขณะนี้นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นกลไกที่จะลงไปครอบครองครอบงำ นั่นก็คือการเบียดเบียนชีวิต นี่เป็นจุดวิกฤติซึ่งเราต้องมีความตื่นตัวและทำความเข้าใจร่วมกัน

โดยสรุปแล้ว ภารกิจของศาสนิกในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ในเรื่องของสันติภาพนั้น นอกเหนือไปจากหลักธรรมคำสั่งสอนเพื่อการประพฤติปฏิบัติ เพื่อความถูกต้องชอบธรรมในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีอะไรที่ลึกซึ้งและอยู่บนพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือ การพยายามที่จะสร้างสภาวะจิต สภาวะความรู้ วัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ เป็นการปฏิรูประบบซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยที่สุด ถ้าเราเริ่มมีความเข้าใจร่วมกัน ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่พัฒนาการที่ดีขึ้น สดใสขึ้น เป็นเรื่องของระยะยาว ด้วยเหตุนี้ในส่วนตัวผมจึงให้ความสนใจกับการปฏิรูปการศึกษา แต่เป็นการปฏิรูปการศึกษาซึ่งไม่ใช่การปฏิรูปที่เราพูดถึงกันทุกวันนี้ ผมคิดถึง เปาโล แฟร์ เขาไม่ได้พูดถึงการศึกษาในชั้นเรียนอย่างนี้ แต่กำลังพูดถึงกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมที่เรียกว่า Social Learning ผมคิดว่าบทบาทของศาสนามีความสำคัญอย่างยิ่งตรงนี้ ทำอย่างไรที่จะมีหลักธรรมคำสั่งสอน ความคิด มีเป้าหมายร่วมกัน คือคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และคุณค่าของความเป็นมนุษย์จะมีไม่ได้ ถ้าปราศจากซึ่งพื้นฐานของวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่พึงปรารถนา ประเด็นทั้งหมดนี้ ผมอยากเรียนทิ้งท้ายเอาไว้ เพราะเรายังมีประเด็นที่ยังต้องถกเถียง ต้องแสวงหากันอีกมากมาย ทุกๆ อย่างต้องมีจุดตั้งต้น และสิ่งที่ผมพยายามนำเสนอนี้ พยายามทำให้เรามองภารกิจร่วมกันที่จะแสวงหาจุดตั้งต้นที่ถูกต้องชอบธรรมต่อไป


ถอดเทปจากงานเสวนา “๖๐ ปีสันติภาพไทย : ภารกิจศาสนิกกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน” เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนของพระศาสนจักรคาทอลิกแห่งประเทศไทย เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ณ อาคารมูลนิธิเซนต์คาเบรียล ซ.ทองหล่อ ๒๕ กรุงเทพฯ จัดโดย คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
<< หน้าแรก < ย้อนกลับ 81 82 83 84 85 86 87 88 89 90 หน้าถัดไป > หน้าสุดท้าย >>

ผลลัพธ์ 775 - 783 จาก 847