หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 1330 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ถ้าขานี้ไม่แข็งแรง ประชาธิปไตยก็จะเอียงและไม่มั่นคง พิมพ์
Thursday, 13 July 2006

ประชาธิปไตยภาคประชาชน
 

"ถ้าขานี้ไม่แข็งแรง
ประชาธิปไตยก็จะเอียงและไม่มั่นคง"

ธัญลักษณ์  นวลักษณกวี สัมภาษณ์

Imageคุณเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกวุฒิสภา  จ.เชียงราย เป็นผู้หญิงนักพัฒนาซึ่งโดดเด่นในบทบาทการทำงานมาตั้งแต่ยุค 6 ตุลา 2519 เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) เมื่อปี พ.ศ.2528 ทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้พี่น้องชาวเขาใน จ.เชียงราย มาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน ได้รับรางวัลจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ GLOBAL 500 ในการประชุม EARTH SUMMIT ที่ประเทศบราซิล เมื่อปี ค.ศ.1992  และปี ค.ศ.1994 เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล GOLD MAN  ซึ่งเป็นรางวัลที่เทียบเท่ากับรางวัล NOBEL  PRIZE  ด้วยผลงานการส่งเสริมภูมิปัญญาของชาวเขาที่อยู่กับธรรมชาติในเขตต้นน้ำลำธารได้อย่างยั่งยืน

และอีกบทบาทหน้าที่กับตำแหน่ง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยอยู่ในคณะกรรมาธิการ การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ และคณะกรรมาธิการ การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 

"ผู้ไถ่" ฉบับนี้ นำคุณมารู้จักคุณเตือนใจ ในภาคของ ส.ว.ที่มาจากการเลือกโดยประชาชน เพื่อเข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชน และทำงานอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชน มาติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลผ่านบทสัมภาษณ์ของเธอ กันได้เลยค่ะ


ผู้ไถ่: บทบาทหน้าที่ของคุณเตือนใจในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ต้องทำอะไรบ้างคะ

คุณเตือนใจ : หน้าที่มี 2 ส่วนคือ เข้าประชุมวุฒิสภา สมัยนี้ประชุมวันจันทร์-อังคาร ประเด็นเนื้อหาการประชุมเป็นเรื่องเสนอกฎหมาย กลั่นกรองกฎหมายที่ส่งมาจากสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ในเรื่องการตรวจสอบทำได้คือ การเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการสามัญ พี่เป็นรองประธานคนที่ 2 ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การตรวจสอบโดย 1. ตรวจสอบผ่านการทำงานของกรรมาธิการซึ่งอาจจะตรวจสอบตามประเด็นปัญหาที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนและร้องเรียนมา เช่น ขณะนี้มีประเด็นปัญหาชาวเขาถูกจับข้อหาบุกรุกป่าสงวน ชาวเขาถูกโยกย้ายโดยการเตรียมความพร้อมน้อย ชาวเขาไม่มีสัญชาติ ถูกถอนสัญชาติ ปัญหาชาวบ้านถูกจับข้อหาบุกรุกป่าสงวนซึ่งมีอยู่ทุกภาค ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ในการตรวจสอบ และการตรวจสอบอีกแบบหนึ่งเป็นการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในประเด็นเชิงนโยบาย เช่น ที่พี่ตั้งกระทู้ในเรื่องการถูกถอนสัญชาติของชาวแม่อาย เมื่อ 2 ปีที่แล้วซึ่งก็ยังติดตามอยู่เพราะทำทั้ง 2 ระดับคือ ระดับส.ว.ส่วนบุคคลโดยตั้งกระทู้ และทำในฐานะองค์กรคือคณะกรรมาธิการสามัญ คือ การตรวจสอบการถูกถอนสัญชาติของชาวแม่อายและเสนอไปให้รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยสั่งให้อธิบดีกรมการปกครองคืนสถานะบุคคลทางกฎหมายหรือคืนสัญชาติให้ชาวบ้านเข้าไปในบัญชีรายชื่อเดิม แต่ยังไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร และ 3. การตรวจสอบโดยผ่านกรรมาธิการวิสามัญซึ่งอาจเป็นเรื่องพิเศษที่เสนอญัติเข้าที่ประชุม ให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เช่น พี่เป็นกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาความมั่นคงชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นมา 2 ปีแล้ว หรือเรื่องของการใช้สารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน

อีกหน้าที่คือ การแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น การตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แต่ที่ยังไม่ได้ทำเลยคือ เรื่องของการถอดถอนเพราะกระบวนการของการถอดถอนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการเสนอตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดและต้องมีจำนวน ส.ส.ที่เห็นชอบการถอดถอนนั้นด้วย


ผู้ไถ่  :  มีการมองว่า ส.ว.ไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้เท่าที่ควร

คุณเตือนใจ : พี่มองว่า หลายกรรมาธิการก็ทำหน้าที่ตรวจสอบได้อย่างเข้มแข็ง เช่น     กรรมาธิการสิ่งแวดล้อม ใน 2 ปีแรกที่เข้ามา มีปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาเรื่องโครงการเขื่อนปากมูล ซึ่งประชาชนอยากมีส่วนร่วมในกระบวนการที่เสนอให้เปิดประตูเขื่อนถาวร ตามที่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลฯ ทำการวิจัยมา ตรงนี้คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชนได้ร่วมกันทำงาน ได้มีการศึกษาและนำเสนอผลต่อที่ประชุมวุฒิสภาด้วย รวมถึงเรื่องโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านที่ จ.สมุทรปราการ ก็เป็นผลการทำงานของกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการทุจริตด้วย  หรือเรื่องของท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ก็เหมือนกัน คือกรรมาธิการหลายกรรมาธิการพยายามทำหน้าที่ในการตรวจสอบว่านโยบายของรัฐเป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็แล้วแต่จะมอง แต่อย่างน้อยที่สุดก็มี ส.ว.กลุ่มหนึ่งที่พยายามทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง แต่ท่านอื่นๆ ก็ทำตามที่ท่านถนัด แต่ประชาชนอาจจะมองว่ามี ส.ว.ที่เป็นญาติพี่น้องกับนักการเมือง ตรงนั้นประชาชนก็มีสิทธิจะคิด แต่สิ่งที่จะดูได้คือ ประชาชนตรวจสอบการลงมติของ ส.ว.และ ส.ส. ได้ว่า ในแต่ละประเด็น ส.ส. และ ส.ว. ที่ตนเองเลือกเข้ามา ลงมติอย่างไร  มติที่เขาลง 1 เสียง อยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนหรือผลประโยชน์ของใคร ตรงนี้ประชาชนตรวจสอบได้ อย่างของ ส.ว. สามารถขอข้อมูลได้ที่ call center ของวุฒิสภา ส่วนของ ส.ส. ก็น่าจะขอได้เหมือนกัน  หรือจะตรวจสอบว่า ส.ส. หรือ ส.ว. ที่ตัวเองเลือกเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทน เข้าประชุมไหม หรือว่าเข้ามาเซ็นชื่อแล้วก็ออกไป หรือว่าลาประชุมบ่อย ได้ทำหน้าที่หรือเปล่า แต่ ส.ส. กับส.ว. หน้าที่ต่างกัน ส.ส.เสนอกฎหมายได้ แต่ ส.ว. เสนอกฎหมายไม่ได้ แต่ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมา ยที่ ส.ส.เสนอมา ที่ผ่านมาแล้วจากสภาผู้แทนฯ


ผู้ไถ่ : เป็นเพราะว่า ส.ว. ที่ทำหน้าที่แทนประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีน้อยเกินไปหรือเปล่า

คุณเตือนใจ : อาจจะเป็นอย่างนั้นจ้ะ


ผู้ไถ่ : ปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดของการทำหน้าที่ของ ส.ว. มีอะไรบ้าง

คุณเตือนใจ : ข้อจำกัดมีเยอะ เช่น ความถนัดของ ส.ว. แต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างพี่เองถนัดในเรื่องการทำงานกับเกษตรกร กับชาวเขา กับประชาชนในระดับรากหญ้า ตัวพี่เองไม่เก่งในเรื่องกฎหมาย ซึ่งเราก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติม นี่เป็นประเด็นเรื่องข้อจำกัดในเรื่องความสามารถส่วนตัว รวมถึงความร่วมมือจากหน่วยงานที่เราต้องการข้อมูลจากเขา เช่น กรรมาธิการเชิญมาแล้วไม่มา หรือเชิญมาแล้วไม่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ กรณีโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ได้ข้อมูลที่มีตัวดำๆ ป้ายเอาไว้เป็นครึ่งเลย ซึ่งนี่ก็เป็นข้อจำกัดว่าเราไม่สามารถได้ข้อมูลที่ครบถ้วนที่เป็นประโยชน์กับการตรวจสอบการทำงาน


ผู้ไถ่ : การเป็นผู้หญิงในตำแหน่ง ส.ว. ทำให้มีข้อจำกัดหรือไม่

Imageคุณเตือนใจ : การเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายไม่ใช่ข้อจำกัดของการทำงานในวุฒิสภา แต่ข้อจำกัดขึ้นอยู่กับความถนัดของเรามากกว่า เพราะเราไม่ถนัดในทุกเรื่อง กรรมาธิการมีตั้ง 26 กรรมาธิการ ซึ่งแต่ละกรรมาธิการก็มีผู้ที่ถนัดในเรื่องที่ตัวเองสังกัดในกรรมาธิการนั้นๆ แต่เรื่องที่เข้ามาในกรรมาธิการมีหลากหลาย อย่างเช่นวันนี้มีเรื่องของรายงานผลการทำงานของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ เช่น อ.เจิมศักดิ์ ท่านเก่งเรื่องนี้ท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์และท่านมีความรู้ อันนี้ก็คือความถนัด ซึ่งพี่จะไม่ถนัดเลยเพราะฉะนั้นเราก็จะพยายามทำสิ่งที่ถนัด แต่สิ่งใดที่ไม่ถนัดก็พยายามที่จะเรียนรู้เท่าที่จะทำได้


ผู้ไถ่ เรื่องสำคัญที่ทำอยู่ขณะนี้ล่ะคะ

คุณเตือนใจ : ที่พี่ทำมี เรื่องที่หนึ่งสถานะบุคคลของชาวเขาและคนไร้สัญชาติต่างๆ กำลังเสนอให้ตั้งเป็นอนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอีกประเด็นคือ ความมั่นคงของประชาชนในเรื่องของการจัดการและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งพี่จะเสนอเรื่องของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ มี 6 ประเทศ ที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกันและมีประชาชนอยู่ 60 ล้านคนที่มีเชื้อชาติ มีอารยธรรมถึง 100 กลุ่มชาติพันธุ์ และมีความหลากหลายของพรรณพืชและพันธุ์สัตว์เป็นอันดับ 3 ของแม่น้ำของโลก แต่ว่าจีนซึ่งอยู่ตอนต้นของแม่น้ำโขง ได้มีแผนที่จะทำเขื่อนถึง 12 เขื่อน ตอนนี้ทำไปแล้ว 2-3 เขื่อน และเสนอให้ไทยร่วมมือในโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจที่จะปรับปรุงแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือได้ตลอดปี ซึ่งจะทำลายความมั่นคงทางอาหาร ทำลายความมั่นคงในเรื่องของการใช้ประโยชน์จากน้ำของประชาชนใน 6 ประเทศ ตอนนี้กำลังติดตามในประเด็นนี้อยู่ แต่เรื่องอื่นๆ ที่เข้ามาในวุฒิสภาและกรรมาธิการก็ต้องทำหน้าที่นั้นๆ ด้วย แต่ว่าความสนใจจะเป็น 2 เรื่องนี้

พี่อยู่ในคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชนและผู้สูงอายุด้วย และเห็นว่าประเด็นของเยาวชนไทยเราถูกกระตุ้นเรื่องของการบริโภคและความต้องการทางเพศมาก ทำให้การที่จะพัฒนาเยาวชนให้เป็นอนาคตที่มั่นคงและมีคุณค่าของชาติ แต่เราก็มอมเมาเยาวชนของเราด้วยการโฆษณาและการใช้สื่อที่เสรีมากเกินไปและตรวจสอบได้ยาก


ผู้ไถ่ : ตรงนี้จะทำอะไรได้แค่ไหนคะ

คุณเตือนใจ : ก็คงจะทำผ่านเครือข่ายเดิม คือพี่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนมาก่อน เป็นเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ก็จะทำงานเครือข่ายทั้งในภาคเหนือและภาคอื่นๆ จะใช้เครือข่ายที่มีอยู่และทำในส่วนของกรรมาธิการ ซึ่งกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชนและผู้สูงอายุ ทำงานร่วมกับสถาบันพัฒนาครอบครัวของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ  และเรื่องของการใช้ประโยชน์จากสื่อมวลชน พยายามจะสร้างเครือข่ายกับสื่อมวลชนเล็กๆ เท่าที่จะทำได้ คือจะนำเสนอความคิดว่า เยาวชนเขาจะต้องมีแม่แบบที่ดีที่จะเป็นตัวอย่างของชีวิตของเขา และเรื่องหลักสูตร นโยบายการศึกษาซึ่งจะสร้างเยาวชนให้เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ รัฐบาลจะต้องลงทุนในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มากขึ้นซึ่งพี่ก็อยู่ในอนุกรรมาธิการของกรรมาธิการการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ก็พยายามเข้าในช่องทางที่จะทำได้


ผู้ไถ่  : กรณีเรื่องท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย มองว่าการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนถูกปิดกั้นไหม

คุณเตือนใจ : ในเรื่องของท่อก๊าซฯ มันเกี่ยวข้องกับนโยบายพลังงานรวมทั้งเรื่องของเขื่อนปากมูลด้วย ซึ่งทางชาวบ้านเองที่ไม่เห็นด้วย เขาไม่ใช่ไม่เห็นด้วยเฉพาะเรื่องของชุมชน แต่ว่าเขาไม่เห็นด้วยในเรื่องของหลักการและนโยบายในการจัดการพลังงานซึ่งเขาเห็นว่าการจัดการพลังงานน่าจะทำได้มากกว่านี้ ได้ดีกว่านี้ ไม่ใช่ว่ามีพลังงานอยู่ที่ไหนก็นำมาใช้ ณ ปัจจุบันให้หมดโดยไม่คิดถึงอนาคตว่าเราจะจัดการอย่างไรที่จะทำให้การใช้พลังงานมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ไม่ให้มีการรั่วไหล มีการสูญเสียระหว่างการขนส่ง หรือระบบการใช้ที่ไม่มีมาตรการประหยัด

อย่างเรื่องท่อก๊าซฯ ชาวบ้านเขาก็ศึกษาอ่านไปถึงสัญญาเลย โดยร่วมมือกับนักวิชาการว่าสัญญามันไม่เป็นธรรมอย่างไร  ทำให้คนไทยต้องเสียเปรียบเพราะซื้อก๊าซ ณ หลุมตัวเอง แต่ต้องไปใช้ราคาสากล แต่ว่าสังคมยังไม่ค่อยเข้าใจ ตรงนี้พี่ว่าการสื่อสารก็มีข้อจำกัด ในเรื่องของรัฐบาลเข้าไปครอบงำสื่อทำให้การเคลื่อนไหวของประชาชนถูกปิดกั้นอยู่ในกลุ่มเล็กๆ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะไม่เข้าใจว่าประชาชนกลุ่มท่อก๊าซหรือเขื่อนปากมูลเขาเคลื่อนไหวเพื่ออะไร ก็เลยไม่เข้าใจถึงเป้าหมายที่สำคัญของการเคลื่อนไหวนั้น ๆ เพราะว่าเราถูกปิดกั้นทางสื่อ เมื่อก่อนยังมีรายการทีวีดีๆ เยอะ อย่างสมัย อ.เจิมศักดิ์ยังทำ มีรายการมองต่างมุม ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนออกมาพูดให้สาธารณะฟัง แต่ตอนนี้เราไม่มีรายการอย่างนั้นแล้ว ล่าสุดเคยมีรายการกรองสถานการณ์ของช่อง 11 ซึ่งชาวบ้านเคยออกมาพูดได้ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เป็นเรื่องของหน่วยงานต่างๆ หมดเลย อันนี้เป็นปัญหาสำคัญ แต่ทีนี้ชาวบ้านก็พยายามใช้สื่อ เช่น วิทยุชุมชน แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่เพราะวิทยุชุมชนสามารถสื่อสารได้เฉพาะกลุ่มแคบๆ เท่านั้น ยิ่งหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสารก็เป็นเรื่องของธุรกิจโฆษณาไปหมดแล้ว นี่ก็เป็นข้อจำกัดอย่างมากของประเทศเรา ที่เราได้นายกฯ ที่มาจากทุน ซึ่งใช้ทุนให้เป็นอำนาจของเขาเอง


ผู้ไถ่ : มองทางออกในเรื่องนี้อย่างไร

คุณเตือนใจ : ทางออกที่สำคัญอย่างเดียวก็คือ การตื่นตัวของประชาชนที่จะเรียนรู้และรู้เท่าทัน  และทำให้พลังของประชาชนเอาชนะนักการเมืองที่เป็นกลุ่มทุนและกลุ่มอำนาจให้ได้ เพราะว่านักการเมืองทุกคนต้องกลัวประชาชนอยู่แล้ว ถ้าประชาชนใช้สิทธิใช้เสียงของตัวเอง เพื่อเลือกคนเลือกพรรคการเมืองที่บริสุทธิ์ ที่โปร่งใส ที่มีทิศทางการพัฒนาประเทศที่ไม่ได้เอาประโยชน์ส่วนตน ตรงนี้เป็นความหวังอย่างเดียวที่พี่ว่าเป็นไปได้


ผู้ไถ่ : คิดว่านโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นอย่างไรคะ

คุณเตือนใจ : ที่พี่มอง นโยบายที่ดีก็มี อย่างเช่น นโยบายการให้บริการประกันสุขภาพพื้นฐาน  ถ้าโดยหลักคิดนี่ดี แต่วิธีการปฏิบัติมันไม่เป็นจริงเป็นการที่เรียกว่านโยบายประชานิยม  หรือว่ากองทุนหมู่บ้าน คือ รัฐบาลมุ่งในเชิงปริมาณและการหาเสียงมากเกินไป แต่ถ้าทำโดยมีการศึกษาวิจัยรองรับและมีการขยายผลให้มีคุณภาพเท่าที่จะทำได้ จะดีกว่าการทำแบบปูพรมทั้งหมด  ไม่ใช่เพียงนโยบายบางอย่าง แต่เป็นทิศทางการพัฒนาของประเทศเลย  ซึ่งรัฐบาลนี้ยิ่งทำให้การพัฒนาที่มุ่งเน้นทางเศรษฐกิจมันไปเร็วมากขึ้น คือทำให้คนอยากจะร่ำรวย เป็นเหตุให้ครอบครัวเปลี่ยนสภาพเปลี่ยนโครงสร้างไป เช่น ลูกต้องไปเรียนที่อื่น แทนที่ลูกจะอยู่กับพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ลูกต้องเข้าไปเรียนในเมืองเพื่อจะได้มีโอกาสทางการศึกษาดีขึ้น มีโอกาสในการทำงานมากขึ้น พ่อแม่ก็ต้องไปทำงานที่อื่น โครงสร้างครอบครัวก็ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกันเหมือนก่อน เพราะฉะนั้นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น เช่น เยาวชนของเราเข้าสู่การมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น ก็เพราะเขาไม่ได้อยู่กับครอบครัว ไม่ได้อยู่กับชุมชน และบทบาทของวัดและศาสนาก็ถูกแยกออกไป เป็นเรื่องของพิธีกรรม

ที่มองเห็นชัดเจนที่สุดคือ ทิศทางการพัฒนาประเทศมันผิดพลาด เพราะว่ามองการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีเป็นตัวหลัก แต่ว่าไม่ได้มองคุณภาพชีวิตไม่ได้มองเรื่องของความยั่งยืนของเศรษฐกิจกับธรรมชาติ กับวัฒนธรรมประเพณีที่เรามีอยู่ จะเป็นเหมือนกับว่ารัฐบาลพยายามที่จะทำอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาเร็วมาก แต่ไม่ได้มองความเป็นจริงว่าประชาชนเขามีศักยภาพอะไรอยู่ มีฐานอะไรที่สอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลเร่งทำให้เกิดขึ้น ก็เลยเหมือนกับว่านายกฯ เป็นผู้กำหนดนโยบาย แม้กระทั่งคนในคณะรัฐมนตรี ก็ไม่มีความหมาย  ส.ส. ก็ไม่มีความหมาย ส.ส. ก็ต้องทำตามสิ่งที่นายกฯ เห็นว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสม แม้กระทั่งในคณะรัฐมนตรี ก็มีแต่นายกฯ คนเดียวเท่าที่เห็น กลายเป็นว่าคนๆ เดียวบริหารประเทศทั้งหมด ตรงนี้จะทำให้เป็นเผด็จการทางประชาธิปไตย และการตรวจสอบถ่วงดุลมันทำไม่ได้ เพราะขณะนี้พรรครัฐบาลเป็นเสียงส่วนใหญ่การตรวจสอบโดยการเสนออภิปรายทั่วไปของวุฒิสภาก็ทำได้ยาก  เพราะในวุฒิสภาเสียงส่วนใหญ่ก็มักจะสนับสนุนรัฐบาลอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งในสภาผู้แทนราษฎรก็ทำไม่ได้ เพราะพรรคฝ่ายค้านมีเสียงน้อย ตรงนี้เป็นสิ่งท้าทายผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในครั้งต่อไปว่า ถ้าประชาชนไทยเลือกพรรคเดียวเป็นเสียงส่วนใหญ่ การตรวจสอบ ถ่วงดุล หรือการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือความโปร่งใสในการบริหารงานจะทำไม่ได้
 

ผู้ไถ่ : คิดอย่างไรกับนโยบายการปราบปรามคอร์รัปชั่นที่ออกมาใหม่

Imageคุณเตือนใจ : ปราบคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่ต้องปราบอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญคือ ตัวผู้ที่คอร์รัปชั่นเชิงนโยบายเองนั่นแหละคือตัวการ เช่น ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นายกฯ และครอบครัวมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้าน จากแค่ไม่กี่พันล้าน  ในเมื่อตัวนายกฯ เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนแล้วนี่ ความเชื่อถือว่านายกฯ จะปราบปรามคอร์รัปชั่นเชื่อถือไม่ได้เพราะตัวนายกฯ เองเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์นั้น  คือนโยบายดี แต่ตัวเองต้องบริสุทธิ์จากนโยบายนั้น และนโยบายนั้นต้องใช้กับตัวเองกับครอบครัวและคนใกล้ชิดด้วย ถ้าจะแก้ต้องแก้ให้ตัวนายกฯ เองต้องถูกตรวจสอบอย่างโปร่งใสได้ก่อน แล้วจึงจะไปทำอย่างนั้นกับประชาชนทั้งหมด เพราะมิฉะนั้นก็เหมือนกับว่า ตัวนายกฯ เองเป็นผู้ที่อยู่เหนือกฎหมายและกฎระเบียบทั้งปวง อันนี้เป็นอันตรายมากของประเทศ และคนทั่วโลก อย่างพี่ไปประชุมกลับมา คนมาเลเซีย ส.ส. มาเลเซียที่ร่วมประชุมบอกว่า นายกฯ ทักษิณ จะซื้อประเทศไทยอยู่แล้ว มันน่าอายมาก


ผู้ไถ่ : มีกระแส ส.ว. จะให้แก้รัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว. สามารถสังกัดพรรคการเมืองได้

คุณเตือนใจ : ตรงนี้เป็นเสียงของคนกลุ่มเดียวที่ไปสัมมนา ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่พี่ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว มิฉะนั้นเราจะต่างอะไรกับ ส.ส. แล้วพี่มองว่า จำนวน ส.ว.  กับ ส.ส. ในประเทศไทยมีจำนวนมากเกินไปทำให้การบริหารในระบบนิติบัญญัติมันเทอะทะมาก และบทบาทของสภานิติบัญญัติซึ่งเป็นฝ่ายตรวจสอบรัฐบาลไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่าที่ควร  ถ้า ส.ว.ต้องสังกัดพรรคการเมืองแล้วอะไรคือความแตกต่างระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว. การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว. ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองเพื่อให้ ส.ว. มีอิสระในการตัดสินใจ ในการลงมติทุกอย่าง โดยไม่ต้องกังวลกับนโยบายของพรรค แต่ถ้าให้ ส.ว.สังกัดพรรคการเมือง ก็ไม่จำเป็นต้องมี ส.ว. เพราะ ส.ว.จะไม่ต่างจาก ส.ส. แล้วการเลือกก็จะได้แบบเดิม คือ ได้นักการเมืองท้องถิ่นที่ขยับขึ้นมาเป็นนักการเมืองระดับชาติ และคนเหล่านี้สมัครทีไรก็จะได้ทุกทีเพราะว่าเขาเป็นนักเลือกตั้งอยู่แล้ว


ผู้ไถ่ : ส.ว. ในกลุ่มที่ทำหน้าที่แทนประชาชนในการตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่คนของรัฐบาลมีประมาณกี่คนคะ

คุณเตือนใจ : พี่ว่าทั้งกลุ่มที่เป็นพลังเงียบ ท่านจะใช้พลังในโอกาสอันควร น่าจะมีไม่น้อยกว่า 80 คน จาก ส.ว.ทั้งหมด 200 คน


ผู้ไถ่ : จำนวนที่อยู่ข้างประชาชนมีเพียง 80 กว่าคน

คุณเตือนใจ : ใช่ เราต้องดูที่มาไงคะว่า  ส.ว.ที่มาจากการทำงานร่วมกับประชาชนระดับรากหญ้ามีใครบ้าง อย่างเช่น คุณครูประทีป อึ้งทรงธรรม ก็มาจากพี่น้องในชุมชนแออัดเลือกมา ท่านอาจารย์เจิมศักดิ์ ก็มาจากประชาชนที่ดูรายการของอาจารย์ เช่น  มองต่างมุม ขอคิดด้วยคน พี่โสภณ  สุภาพงษ์ พี่มีชัย วีระไวทยะ  คุณหมอนิรันดร์ ก็ทำงานกับพี่น้องทางอีสานในเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติ คุณครูหยุย คุณครูยุ่น ก็ทำในเรื่องของเด็ก แต่พี่ว่าสมัยหน้าพวกเราจะลำบาก ส.ว.มีวาระเทอมละ 6 ปี และต้องเว้น 1 เทอม  พอหมดปี 49 สิ้นเดือนมีนา 49 เราก็หมดสภาพ ส.ว. เราก็กลับไปทำงานอื่นที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์


ผู้ไถ่ : แสดงว่าต้องเว้นไป 6 ปี จึงจะสมัครใหม่ได้

คุณเตือนใจ : ใช่ค่ะ ถ้าจะลง ส.ว.ใหม่นะคะ นอกจากจะไปลงอย่างอื่น เช่น องค์กรอิสระอะไรก็ได้


ผู้ไถ่ : มีการมองว่ารัฐบาลนี้ก็ยังจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลในครั้งหน้า

คุณเตือนใจ : ไม่แน่ พี่ไม่แน่ใจหรอกว่ารัฐบาลชุดนี้จะได้กลับเข้ามาหรือเปล่า เพราะว่าประชาชนตื่นตัวและรู้เท่าทันมากขึ้น เท่าที่พี่ได้ยินมา ประชาชน พ่อค้า นักธุรกิจ เขาแปลกใจที่รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจดี แต่พอไปดูจริงๆ การแก้ไขของเขาก็ไม่ได้ดีขึ้นมาเลย และยังถูกเก็บภาษีหนักด้วย ดังนั้นพี่ไม่แน่ใจว่าลงคะแนนเสียงครั้งต่อไปประชาชนจะตัดสินใจอย่างไร ถ้าฟังผู้รู้การเมืองชั้นเซียน เขาวิเคราะห์บอกว่ากลับมาได้ แต่จะอยู่ไม่ครบเทอมเพราะความเดือดร้อนจะมากขึ้น คือพี่ไม่ได้มองว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรที่ดีเลยนะ ที่ดีก็มี แต่ที่รับไม่ได้เลยจริงๆ คือเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน และความเป็นเผด็จการที่ไม่ฟังเสียงที่มีความคิดที่แตกต่างไปจากตน แล้วยังทำลายระบบการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะว่าทำให้เสียงในสภาเป็นเสียงที่ต้องคล้อยตามสภาไปทั้งหมด และฝ่ายค้านหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยทำหน้าที่ไม่ได้เลย ตรงนี้จะเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยมาก เพราะในอดีตที่ผ่านมาแม้ว่าเราจะมีเผด็จการ แต่เผด็จการก็ไม่ได้เป็นเผด็จการร่วมกับทุน ในยุคนี้เป็นยุคทุนนิยมเสรี เมื่อทุนมาได้อำนาจมันเป็นอันตรายมาก


ผู้ไถ่ : มองปัญหานี้อย่างไรคะ เมื่อ ส.ว. ที่ทำหน้าที่แทนประชาชนไม่สามารถลงสมัครได้

คุณเตือนใจ : ก็อยู่ที่ว่าประชาชนจะตื่นตัว แล้วคนที่รู้เท่าทันจะต้องเสนอตัวและสมัครเข้ามาเป็นฝ่ายตรวจสอบให้มากขึ้น และองค์กรปกครองท้องถิ่นจะต้องเข้มแข็ง ถ้าองค์กรปกครองท้องถิ่นเข้มแข็ง อำนาจบริหารส่วนกลางก็ทำอะไรไม่ได้มาก พี่ถึงพูดว่าพลังของประชาชนเท่านั้นที่เป็นคำตอบของระบอบประชาธิปไตย เพราะว่าขณะนี้เราไปมองประชาธิปไตยภาคตัวแทนคือ คณะรัฐมนตรี รัฐบาล และ ส.ส. แต่ในขณะเดียวกัน ประชาธิปไตยภาคประชาชนซึ่งเป็นอีกขาหนึ่งที่คู่กัน ถ้าขานี้ไม่แข็งแรง ให้ขาแรกแข็งแรง ประชาธิปไตยก็จะเอียงและไม่มั่นคง

Image

 

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๖๖ พิมพ์
Wednesday, 12 July 2006


วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๖๖

การเมืองภาคประชาชน กับการมีส่วนร่วม

 


เรื่องเด่นประจำฉบับ


 - ประชาธิปไตยภาคประชาชน "ถ้าขานี้ไม่แข็งแรง ประชาธิปไตยก็จะเอียงและไม่มั่นคง"
: คุณเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกวุฒิสภา  

 - "ประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงการหย่อนบัตรภายในเวลา 10 วินาที แล้วให้อำนาจเขาไปหมด" : นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา  

 - นักเคลื่อนไหวทางการเมือง กับ การเมืองของภาคประชาชน : คุณพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย  

 - ภาคประชาชน กับ การมีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจไทย : ตัวอย่างการเคลื่อนไหวของกลุ่ม FTA WATCH โดย คุณจักรชัย โฉมทองดี จาก Focus on the Global South  

 

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๗๑ พิมพ์
Wednesday, 12 July 2006


วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๗๑

ปฏิรูปการเมือง สร้างสังคมที่เป็นธรรม 

 


เรื่องเด่นประจำฉบับ


 - ปฏิรูปการเมือง กับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
: กองบรรณาธิการ เรียบเรียง  

 - เยาวชนกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง : ฝ่ายเผยแพร่เพื่อการมีส่วนร่วม  

 - ปฏิรูปการเมืองและทางออกสังคมไทย ผ่านมุมมองความคิด ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : วรพจน์ สิงหา 

 - การมีส่วนร่วมของศาสนิกชน ต่อการปฏิรูปการเมือง : กองบรรณาธิการ

 - พลังเกษตรกรเมืองเพชร กับเครือข่ายเกษตรกร : ทางออกแห่งยุคสมัย : วรพจน์ สิงหา 

 - หลากหลายวิธีในการปฏิบัติการสันติวิธี : กองบรรณาธิการ

 

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
สันติภาพและการคืนดี (Peace and Reconciliation) อัจฉรา สมแสงสรวง พิมพ์
Thursday, 06 July 2006

  

Image    

     
      สันติภาพและการคืนดี


           (Peace and Reconciliation)


อัจฉรา สมแสงสรวง  ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องด้านสังคม


สันติภาพ

หากเราถูกถามว่า สันติภาพหมายถึงอะไร  ก็คงจะมีหลายคำตอบที่อธิบายภาวะแห่งสันตินั้น  อาทิ ภาวะไร้สงคราม  ความผสานกลมกลืน ความปรองดอง ความเงียบสงบ  ความเยือกเย็น ความแจ่มใส  ความไม่กังวล ความพอใจ และยอมรับสภาพของตนเอง ฯลฯ  แต่สันติภาพที่แท้จริงนั้น  อยู่สูงกว่าและลึกซึ้งกว่าภาวะความสงบทั้งในระดับส่วนตัวและสังคม และสันติภาพมิใช่เรื่องของโครงสร้างและกลไก (นิติบัญญัติ การเมือง เศรษฐกิจ)   แต่เป็นเรื่องของประชาชนผู้สร้างสันติ   สันติภาพที่แท้จริง เกิดขึ้นจากการยอมรับว่า เรามนุษย์มาจากพระเป็นเจ้าองค์เดียวกัน และเป็นพี่น้องกัน(มธ.25:40)  นั่นหมายถึง คนไม่ดี คนไม่น่ารัก คนที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย คนยากจน และคนต่ำต้อยอื่นๆ  ก็เป็นพี่น้องของเรา  ใครที่ตีตัวออกห่างจากคนเหล่านี้  ใครไม่สนิทกับผู้อื่น ก็เท่ากับเขากำลังตีตัวออกห่างหรือไม่สนิทกับพระเยซูคริสต์  เช่น  คำว่าสันติภาพในภาษาฮีบรู คือ Shalom เป็นคำกล่าวทักทายกันในปาเลสไตน์สมัยของพระเยซูเจ้า ที่แสดงออกถึงความปรารถนาดีให้แก่ผู้รับว่า ขอให้ปลอดภัย  ในพระคัมภีร์ของชาวยิว shalom หมายถึง ความผาสุข ซึ่งเป็นการขอให้คุณได้รับพระพรในสิ่งที่ดี  หรือในพี่น้องมุสลิม คำว่า Salaam  คือสันติภาพ ซึ่งเป็นคำที่ใช้ทักทายเมื่อเจอกัน หมายถึงขอให้สันติอยู่กับท่าน  ซึ่งแสดงออกถึงความปรารถนาดีที่มีต่อกัน

 

เขียนความคิดเห็น (1 ความคิดเห็น)
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม...
ทำความเข้าใจ กับ “ความเข้าใจ” ในสังคมไทย โดย รศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ พิมพ์
Thursday, 06 July 2006

  

ภาพจาก www.allforpeace.org

ทำความเข้าใจ กับ              
“ความเข้าใจ” ในสังคมไทย


โดย รศ.ดร.สุวรรณา  สถาอานันท์
ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


วันนี้อยากพูดประเด็น “ความเข้าใจ” ดิฉันคิดว่าสังคมวัฒนธรรมไทยมีปัญหาในการทำความเข้าใจกับ ‘ความเข้าใจ’ จึงขอพูดเรื่องนี้จาก 5 มิติด้วยกัน คือ
     1.ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับความเข้าใจ
     2.ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริงกับเรื่องราวที่สร้างขึ้นจากข้อเท็จจริง
     3.การเข้าใจสาเหตุและผล อะไรเป็นสาเหตุ อะไรเป็นผล ทำให้มีผลต่อการทำความเข้าใจเรื่องหนึ่งๆ
     4.ปัญหาจินตนาการชีวิตอื่นในสังคมและวัฒนธรรมไทย
     5.ปัญหาเศรษฐศาสตร์แห่งความเห็นใจ


ประเด็นที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้และความเข้าใจ

ในการศึกษาสมัยใหม่ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงในยุโรปใน 400 ปีที่ผ่านมา เราให้ความสำคัญกับความรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกในความหมายที่ค่อนข้างแคบและเฉพาะเจาะจง เราพยายามที่จะหาความรู้ที่เป็นปรนัย คือเป็นอย่างนั้นโดยที่ไม่เกี่ยวกับความชอบไม่ชอบของเรา ที่เรียกว่าความรู้ที่ปลอดอคติ ตัวอย่างของวิธีของความรู้แบบนี้ที่ชัดที่สุดคงจะเป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ฝากวิธีหาความรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกไว้ที่เครื่องมือและมนุษย์มาตรฐาน “มนุษย์มาตรฐาน” นี้เป็นมนุษย์ที่ลบประวัติศาสตร์ส่วนตัว ลบความชอบ - ไม่ชอบ ลบคำตัดสินทางศีลธรรมออก อย่างสมมุติคนๆ หนึ่งยกปรอทแล้วจุ่มลงไปในน้ำ วิทยาศาสตร์ต้องการจะรู้ว่าน้ำอุณหภูมิเท่าไร คนที่ถือปรอท คนๆ นี้ชอบหรือไม่ชอบปรอท ชอบหรือไม่ชอบน้ำไม่เกี่ยว ความรู้ที่เป็นปรนัยคือพยายามหาอุณหภูมิจากปรอท ความรู้แบบนี้ในแง่หนึ่งก็สำคัญทำให้เรามีห้องแอร์แบบนี้ได้ ทำให้โลกเปลี่ยน เราสร้างเครื่องบินได้ เราสร้างถนนสร้างเขื่อนได้ แต่ความรู้แบบนี้ก็มีปัญหาเพราะว่าให้ความสนใจกับความเข้าใจของผู้รับรู้น้อย สนใจแต่ว่าสิ่งนี้เป็นอย่างไรในเชิงกายภาพและวัดได้ แต่ผู้รับรู้เข้าใจสิ่งที่รับรู้อย่างไร อาจอยู่นอกขอบข่ายการหาความรู้แบบนี้ ในประวัติศาสตร์ปรัชญาก็ถกเถียงกันเรื่องนี้ ในทางหนึ่งก็เชื่อในความรู้ประจักษ์คือความรู้ทางปรนัย ในอีกทางหนึ่งเป็นปัญหาเรื่องความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับตัวเอง เป็นประเด็นของพวกประจักษ์นิยมกับพวกตีความ ดิฉันคิดว่าถ้าสังคมลงทุนกับความรู้ประเภทที่พยายามจะเป็นปรนัยแบบวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี แต่ไม่ค่อยลงทุนกับการพัฒนาความเข้าใจ ตรงนี้ดิฉันคิดว่าทำให้ศักยภาพในการเข้าใจปัญหาต่างๆ อ่อนแอลง เราไม่ค่อยลงทุนกับการพัฒนาวิจารณญาณและความเข้าใจของมนุษย์ แต่เราพร้อมจะทุ่มเททุนสู่การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

  Image

ประเด็นที่ 2 ปัญหาเรื่องข้อเท็จจริงกับเรื่องราวที่สร้างจากข้อเท็จจริง

พวกเราคงจำเรื่องอังกฤษคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีนได้ ถ้าพวกเราดูทีวีวันนั้นจะเห็นเหตุการณ์ประหลาดคือ ภาพที่ปรากฏบนทีวีดูเป็นข้อเท็จจริงเหมือนกันหมดคือ มีการลดธง มีสุนทรพจน์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส มีบุคคลสำคัญต่างๆ มากมาย แต่คำอธิบายที่ออกมาจาก CNN  และคำอธิบายที่ออกมาจาก BBC เป็นคนละเรื่อง  BBC จะบอกว่าอังกฤษได้ให้ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจแก่ฮ่องกงในขณะที่จีนไม่ได้ให้ มีการไปสัมภาษณ์มาร์กาเร็ต  แท็ตเชอร์ แล้วบอกว่า We deliver prosperity he did not.   “he’ หมายถึง เติ้งเสี่ยวผิง ในขณะที่ถ้าเราเปิดช่อง CNN ภาพเดียวกันแต่คำอธิบายจากข่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งคือ เป็นการกลับสู่มาตุภูมิ return to motherland เป็นจุดจบของอาณานิคม เราอย่าลืมว่าวันที่คืนเกาะฮ่องกงคือ 30 มิถุนา อีก 4 วัน สำหรับอเมริกาคือวันชาติอเมริกัน ดิฉันก็ไปถามเพื่อนที่เป็นคนจีนว่า ที่เมืองจีนเขาถ่ายทอดเรื่องนี้แล้วอธิบายว่าอย่างไร เขาบอกว่าที่เมืองจีนเขาถือว่าเป็นจุดจบแห่งความอัปยศอดสูแห่งชาติ lสำหรับจีนแล้วการคืนเกาะฮ่องกงเป็นการปิดฉากประวัติศาสตร์การพ่ายแพ้อำนาจอาณานิคมอันขมขื่น เพราะฉะนั้นความเข้าใจของเราไม่ได้เกิดจากข้อเท็จจริงเท่านั้นแต่เกิดจากเรื่องราวที่ถักร้อยออกมาจากข้อเท็จจริง การที่เราเข้าใจเรื่องหนึ่งเรื่องใด เราก็ไปยอมรับความชอบธรรมของผู้ผลิตเรื่องราวนั้นไปด้วย สมมุติว่าเราเชื่อเรื่องราวของ BBC  เราก็ “อ้อ! ลัทธิอาณานิคมก็ไม่ได้เลวร้ายนะ อย่างน้อยก็ได้ให้ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ” ถ้าเราเชื่อเรื่องราวของ CNN เราก็จะรู้สึกว่า “เอ๊ะ! อาณานิคมนี่ไม่ดีนะ ประเทศเสรีดีกว่า” ถ้าเราเชื่อแบบจีนเราก็จะรู้สึกว่า “อ๋อ! จีนเขาก็ต้องการเป็นตัวของตัวเอง อาณานิคมเป็นปัญหาประวัติศาสตร์” ถ้าเราเรียกคนที่ก่อความไม่สงบว่า ‘ผู้แบ่งแยกดินแดน’ และไม่มีเรื่องราวอื่นๆ เลย ถามว่าเราจะยอมรับความชอบธรรมของอำนาจส่วนไหนในสังคม


ประเด็นที่ 3 เป็นปัญหาเรื่องการเข้าใจว่าอะไรคือสาเหตุ อะไรเป็นผล

ตอนเกิดกรณีเวิลด์เทรด วันที่ 11 เดือนกันยายน เวลาเราเข้าใจว่าเรื่องนั้นคือสาเหตุ เป็นตัวก่อการ เราก็จะมีทัศนคติว่า “พวกนี้เลวร้าย พวกนี้ต้องทำลาย ปล่อยให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก…” ดิฉันไม่ได้บอกว่าคนพวกนี้ทำถูกนะคะ ดิฉันกำลังวิเคราะห์ว่า ถ้าเห็นเหตุการณ์นั้นเป็นเพียงสาเหตุ เราจะมีคำตัดสินชุดหนึ่งเกี่ยวกับผู้ก่อการเหล่านั้น แต่ถ้าเรามองเหตุการณ์เดือนกันยายนว่า มันเป็นผลของนโยบายสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาด้วย ท่าทีต่อการมองเหตุการณ์ 11 กันยาฯ จะเปลี่ยนไป การบอกว่าสิ่งหนึ่งเป็นสาเหตุก็ถูกต้อง แต่เราอย่าลืมว่าสิ่งที่เป็นสาเหตุ เหตุการณ์หนึ่งที่เป็นสาเหตุก็เป็นผลของสิ่งอื่นด้วย เวลาเราอ่านข่าวเราจะเห็นว่า ทั้ง 2 ฝ่าย หรือถ้ามากกว่า 2 ฝ่าย ก็จะอ้างว่าตัวเองเป็นผู้ทำปฏิกิริยาต่อเหตุซึ่งผู้อื่นก่อ แต่ดิฉันคิดว่าจริงๆ แล้วปัญหาสาเหตุและผลมันซับซ้อนกว่านั้นมาก มีงานนวนิยายเรื่องหนึ่งของนักเขียนเกาหลี เขาเปิดฉากโดยบอกว่า “เขาถูกยิงล้มลง แล้วเลือดเขาก็ทาแผ่นดิน ... แล้วเขาก็ตายไป เลือดที่อยู่ในแผ่นดินนั้น ต่อมาก็มีหญ้างอกขึ้นมา พอหญ้างอกขึ้น ต่อมาก็มีคนเอาวัวมาเลี้ยง วัวก็กินหญ้านั้น พอวัวตัวนั้นโตขึ้นก็ถูกนำไปที่โรงฆ่าสัตว์ แล้วก็ถูกชำแหละเป็นเนื้อไปขาย  ทหารคนแรกที่ยิงคนที่ตายไปตอนแรก ไปซื้อเนื้อวัวนั้นมากิน” คำถามก็คือ คนที่ฆ่าได้กินเนื้อซึ่งเกิดจากวัวที่กินหญ้าที่มาจากเลือดของผู้ถูกฆ่า คำถามคือ ถ้าเราเชื่อพุทธธรรม ปฏิจจสมุปบาท ในที่สุดแล้วการบอกว่าอะไรเป็นสาเหตุเป็นผล เป็นเรื่องที่ซับซ้อน ไม่ใช่มิติเชิงเดี่ยว    

ภาพจาก www.home.iprimus.com

ประเด็นที่ 4 คือเรื่องจินตนาการชีวิตอื่น

ดิฉันคิดว่าในสังคมวัฒนธรรมไทยมีปัญหาเรื่องนี้ค่อนข้างมากเพราะว่าปัจจัยที่ซับซ้อน วัฒนธรรมไทยถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมมาเป็นเวลานานและเป็นชาตินิยมแบบคับแคบ ชาตินิยมแบบใจกว้างไม่มี ยกตัวอย่าง เช่น พุทธธรรม เป็นศาสนาสากล เกิด แก่ เจ็บ ตาย ดิฉันมีเพื่อนคนหนึ่งพูดติดตลกว่า “ไม่ต้องพยายามไปบอกคนให้เป็นพุทธหรอก พอแก่แล้วทุกคนจะเป็นพุทธเองโดยธรรมชาติ สังขารมันฟ้อง” เหล่านี้เป็นต้น ตัวพุทธธรรมเป็นสากล การดับทุกข์เป็นสากล แต่พุทธศาสนาในประวัติศาสตร์ไทยถูกใช้โดยอุดมการณ์อย่างอื่นที่ทำให้ถูกลดทอนเหลือเพียงตัวดัชนีชี้ความเป็นไทย เช่น เป็นพุทธเท่ากับเป็นไทย เมื่อรับกันมาแบบนี้ทำให้กลุ่มพุทธหัวก้าวหน้าถูกป้ายว่าพวกนี้เป็นมหายาน เป็นเซ็น ไม่ใช่พุทธเถรวาท ทีนี้พอคิดเรื่องพุทธเท่ากับไทย คนที่ไม่ใช่พุทธที่อยู่ในสังคมวัฒนธรรมนี้มีความสนิทใจได้ยากที่จะเป็นไทย แล้วคนไทยก็รู้สึกว่าคนพวกนี้เป็นคนไทยได้ไม่สนิทใจเท่ากับคนที่เป็นพุทธ ตรงนี้การจินตนาการชีวิตอื่นในวัฒนธรรมไทยที่อุดมการณ์บางอย่างไปใช้ตัวอย่างเช่นพุทธศาสนามาทำให้มันมีลักษณะเฉพาะมากเกินไปทำให้การจินตนาการชีวิตอื่นมีปัญหา 


ประเด็นที่ 5 เป็นประเด็นเศรษฐศาสตร์แห่งความเห็นใจ

ดิฉันขอสังเกตอย่างนี้ เวลาคนที่มาเยี่ยมคนป่วย ถ้ามีความรักความเห็นใจคนป่วยน้อย ของขวัญที่เอามามักจะแพง เวลาที่ให้มักจะน้อย บทสนทนามักจะน่าเบื่อ แต่ถ้าเป็นคนที่มาเยี่ยมแล้วมีความรักความเห็นใจจริงๆ ของขวัญถูกก็ได้แพงก็ได้ไม่สำคัญ เวลาจะให้เยอะ บทสนทนาฟังแล้วเยียวยาและชื่นใจ

ในระดับชาติ แน่นอนมีความซับซ้อนมากกว่าเศรษฐศาสตร์แห่งความเห็นใจที่ยกตัวอย่าง แต่ดิฉันคิดว่า การเยียวยาแผลที่เกิดเรื้อรังเป็นเวลานานและเป็นแผลลึก ด้วยการเอาพลาสเตอร์ราคาแพงมาปิด ดิฉันไม่เชื่อว่ารักษาได้ ต้องให้เวลา ให้ความเห็นใจ ให้ความสำคัญบางอย่าง ต้องไปที่สิ่งซึ่งพื้นฐานกว่า พลาสเตอร์ราคาแพง ปัญหาความเข้าใจในสังคมไทยเป็นปัญหาความเข้าใจในเชิงญาณวิทยา คือเป็นปัญหาเชิงการรับรู้เรื่องต่างๆ ว่ารับรู้ว่าเป็นอะไร และรัฐเข้าใจมันว่าอย่างไร พอๆ กับที่เป็นปัญหาทางความรู้สึกและเมตตาธรรม

________________________________________

ถอดเทป จากการสนทนาในหัวข้อ 
“เข้าถึง...เข้าใจ...พัฒนา... : มุ่งเยียวยาสังคมไทย”  จัดโดย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ    เมื่อวันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2547 ณ ห้องประชุม 101 ชั้น 1 สำนักงานคณะกรรมการ      สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
<< หน้าแรก < ย้อนกลับ 81 82 83 84 85 86 87 88 89 90 หน้าถัดไป > หน้าสุดท้าย >>

ผลลัพธ์ 739 - 747 จาก 847