หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 1266 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


หลากหลายวิธีในการปฏิบัติการสันติวิธี พิมพ์
Tuesday, 22 August 2006


หลากหลายวิธี...ในการ  ภาพจาก www.danaellyn.com
ปฏิบัติการ...สันติวิธี


ทุกวันนี้ สันติวิธีมิใช่เรื่องแปลกที่มิได้อยู่ในความสนใจของสาธารณชนโดยทั่วไปอีกแล้ว แต่การทำความเข้าใจความหมายของ “ปฏิบัติการสันติวิธี”  ยังต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ชุมชน หรือสังคมที่ประสบหรือเผชิญกับระดับแห่งความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าความหมายของสันติวิธี มิใช่อยู่ตรงที่การไม่ปฏิบัติการใดๆ เลย หรือการนิ่งเฉย ซึ่งเป็นความเข้าใจอย่างพื้นฐานที่สุดของคำๆ นี้ (ซึ่งนัยยะกลับกันจะดูเหมือนว่าเป็นการสนับสนุนความรุนแรงโดยอ้อมเสียด้วยซ้ำไป)

ข้อสรุปของเหตุการณ์ความรุนแรง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมโลก จากอดีตที่ผ่านมา ได้เกิดตัวอย่างมากมายที่เป็นการพัฒนาความหมายของปฏิบัติการสันติวิธีออกไปอย่างกว้างขวางและน่าสนใจอย่างยิ่ง  “ผู้ไถ่” ฉบับนี้ขอนำเสนอตัวอย่างปฏิบัติการสันติวิธีจากหนังสือ “อำนาจและยุทธวิธีไร้ความรุนแรง” ของ ยีน ชาร์ป (Gene Sharp) นักทฤษฎีสันติวิธี ซึ่งได้แบ่งประเภทของปฏิบัติการสันติวิธีไว้ ๓ ประการใหญ่ๆ คือ
๑. การประท้วงโดยไร้ความรุนแรงและการโน้มน้าว
๒. การไม่ให้ความร่วมมือ
๓. การแทรกแซงโดยไร้ความรุนแรง


Imageการประท้วงโดยไร้ความรุนแรงและการโน้มน้าว

เป็นวิธีการเชิงสัญลักษณ์ที่มีจุดมุ่งหมายชักจูงฝ่ายตรงข้ามหรือคนอื่น ให้เห็นด้วยกับฝ่ายตน หรือเพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่เห็นด้วยหรือไม่พอใจของกลุ่ม ได้แก่

คำประกาศอย่างเป็นทางการ :
จดหมายคัดค้านหรือสนับสนุน ได้แก่ จดหมายส่วนตัวและจดหมายเปิดผนึก, แถลงการณ์ขององค์กร หรือสถาบันเพื่อแสดงสถานะต่อกรณีนั้นๆ

การสื่อสารกับคนในวงกว้างขึ้น :
แผ่นผ้า แผ่นป้ายและแผ่นประกาศ,  หนังสือพิมพ์และวารสารทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย,  การเขียนข้อความบนท้องฟ้าและพื้นดิน โดยเขียนคำหรือสัญลักษณ์บนท้องฟ้าโดยใช้เครื่องบิน

ตัวแทนกลุ่ม :
การตั้งคณะผู้แทนเพื่อเข้าแสดงเจตนารมณ์ เจรจา, การให้รางวัลล้อเลียน เช่น รางวัล “ผู้ก่อให้เกิดมลภาวะแห่งปี”  การวิ่งเต้นในสภา (ล็อบบี้),  การชุมนุมชี้ชวน

Imageการปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์  :
- การติดธงและสีสัญลักษณ์ เช่น การไว้อาลัย 
- การสวมใส่สัญลักษณ์ เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าสีเข้ม  การสวดภาวนาและการทำพิธีบูชา
- การใช้สัญลักษณ์ เช่น การประท้วงการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของโซเวียต คนในลอนดอนได้นำขวดนมนับร้อยไปวางหน้าสถานทูตโซเวียต โดยขวดแต่ละใบตีตราสีแดงไว้ว่า “อันตรายกัมมันตภาพรังสี”
- ไฟสัญลักษณ์ เช่น เทียน ตะเกียงแขวนไว้หน้าบ้านเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งเปลวเพลิงเสรีภาพที่ลุกสว่างอยู่ในหัวใจ
- เสียงสัญลักษณ์ ระหว่างช่วงที่ได้เกิดการแข็งข้อขึ้นในกองทัพฝรั่งเศส เมื่อ ปี ค.ศ.๑๙๑๗ ขณะทหารชั้นผู้น้อยในกรมกองกำลังเดินสู่สนามเพลาะ ทหารทุกคนต่างก็ร้องเลียนเสียงลูกแกะถูกเชือดกันดังลั่นไปทั่วกองโดยที่แม่ทัพทั้งหลายก็ยืนงง และไม่สามารถระงับอะไรได้

แรงกดดันต่อปัจเจกบุคคล
- การติดตามเจ้าหน้าที่ เพื่อจะเตือนเจ้าหน้าที่ถึงความไร้จริยธรรมของการกระทำของเขา
- การแสดงความเป็นมิตร ขณะเดียวกันก็จงใจนำเขา ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ละครและดนตรี
- การแสดงละครและดนตรี เป็นการล้อเลียนเหตุการณ์นั้นๆ การร้องเพลง เช่น การร้องเพลงขัดจังหวะปาฐกถาที่เราไม่ต้องการ

ขบวนแถว
- ขบวนแห่ทางศาสนา ได้แก่ การเดินขบวนโดยมีความหมายทางศาสนา
- การเดินจาริก เป็นการเดินโดยใช้เวลาหลายวันหรือหลายเดือน
- ขบวนพาหนะ การขับรถยนต์โดยเอาแผ่นป้ายติดกับรถยนต์เพื่อจะแสดงทัศนะของตน

การให้เกียรติผู้ตาย
- พิธีฝังศพประท้วง เช่น พิธีวีรชน ๑๔ ตุลา,  การแสดงความเคารพ ณ ที่ฝังศพ หรือบริเวณฌาปนกิจ

การชุมนุมในที่สาธารณะ
- การชุมนุมประท้วงหรือสนับสนุน
- การชุมนุมประท้วงแบบพรางตา เช่น ในช่วงปี ค.ศ.๑๙๔๓ – ๑๙๔๘ รัฐบาลฝรั่งเศสไม่ยอมให้ชุมนุมแสดงทัศนะทางการเมือง ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมและเสรีนิยมได้ร่วมกันประท้วงโดยจัดในรูปของการเลี้ยงสังสรรค์

Imageการเพิกถอนและการสละสิทธิ์
- การตบเท้าออก
- การนิ่งเงียบ เป็นการนิ่งเงียบรวมกลุ่ม
- การสละเกียรติยศ เช่น การคืนเกียรติยศพิเศษที่ได้รับ
- การหันหลังให้ เช่น หลังจากการลุกฮือเมื่อ วันที่ ๑๖ – ๑๗ มิถุนายน ค.ศ.๑๙๕๓ ในเยอรมันตะวันตกหนึ่งวันให้หลังคนงานได้กลับเข้ามาทำงานตามปกติตามโรงงานต่างๆ แต่ก็ปฏิเสธที่จะทำงาน และต่างนั่งลงตามม้านั่งโดยหันหลังให้กับเจ้าหน้าที่ของพรรค


การไม่ให้ความร่วมมือ

การไม่ให้ความร่วมมือทางสังคม
- การอัปเปหิบุคคล : การคว่ำบาตรทางสังคม,  การระงับกิจกรรมทางศาสนา
Image- การไม่ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมประเพณีสถาบันทางสังคม : การคว่ำบาตรทางสังคม เช่น การไม่เข้าร่วมฉลองงานเลี้ยงสังสรรค์ งานรับรอง,  การหยุดเรียนของนักศึกษาหรือไม่เข้าห้องสอบ,   การถอนตัวจากสถาบันสังคม อาจเป็นการลาออกอย่างเป็นทางการ
- การถอนตัวจากระบบสังคม : การอยู่แต่ในบ้าน โดยประชาชนหรือผู้ร่วมปฏิบัติการ ไม่ยอมออกจากบ้าน,  การผละของคนงาน ได้แก่ การผละงานโดยไม่บอกล่วงหน้า,  การอพยพเพื่อประท้วง

การไม่ให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
- การปฏิบัติการโดยผู้บริโภค : การคว่ำบาตรของผู้บริโภค ทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยปฏิเสธที่จะซื้อสินค้าหรือใช้บริการ,  การไม่บริโภคสินค้าที่ถูกคว่ำบาตร,  นโยบายประหยัด ไม่ยอมใช้สินค้าฟุ่มเฟือย
- ปฏิบัติการของคนงานและผู้ผลิต : การคว่ำบาตรของคนงานโดยการงดใช้วัตถุดิบหรือเครื่องมือ หรือทำงานให้กับสินค้าหรือเครื่องมือที่ตนไม่ต้องการร่วมมือ,  การคว่ำบาตรของผู้ผลิต ได้แก่ การปฏิเสธของผู้ผลิตที่จะขายหรือจัดส่งผลิตภัณฑ์ของเขา
- ปฏิบัติการของคนกลาง : การคว่ำบาตรของผู้จัดจำหน่ายและผู้จัดส่ง
- ปฏิบัติการของเจ้าของและผู้จัดการ : การคว่ำบาตรของพ่อค้าในการปฏิเสธที่จะซื้อหรือขายสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง,  การปฏิเสธให้เช่าหรือขายทรัพย์สิน,  การนัดหยุดงานทั่วไปของพ่อค้า ได้แก่ การปิดร้านหรือกิจการพร้อมๆ กัน
- ปฏิบัติการของผู้กุมทรัพยากรทางการเงิน : การถอนเงินจากธนาคาร,  การปฏิเสธการจ่ายค่าธรรมเนียมเงินต้นชำระและภาษี,  การให้รัฐขาดรายได้ เช่น การปฏิเสธที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ที่เสียภาษีพันธบัตรรัฐบาล
- ปฏิบัติการโดยรัฐบาล : การห้ามค้าขายภายในประเทศ เป็นการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลเริ่ม,  การห้ามขายสินค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ การที่รัฐบาลปฏิเสธที่จะขายผลิตภัณฑ์ชนิดใดชนิดหนึ่งแก่ประเทศใดประเทศหนึ่ง
- การนัดหยุดงานเชิงสัญลักษณ์ : การนัดหยุดงานประท้วง,  การนัดหยุดงานโดยฉับพลัน เป็นการนัดหยุดงานเพื่อประท้วงซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ
- การนัดหยุดงานทางการเกษตร : การนัดหยุดงานของคนงานในไร่
- การนัดหยุดงานทางอุตสาหกรรม : การนัดหยุดงานในโรงงาน เป็นการนัดหยุดงานของคนงานทั้งหมดในโรงงานหนึ่ง,  การนัดหยุดงานเพื่อแสดงความเห็นใจ เป็นการนัดหยุดงานของคนงานกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของคนงานกลุ่มอื่นๆ
- การนัดหยุดงานจำกัดเขต : การนัดหยุดงานแบบเฉื่อยชา คนงานเจตนาที่จะทำงานให้ช้าลงเพื่อให้ผลิตผลลดลงอย่างฮวบฮาบ,  การแจ้งป่วยโดยคนงานไม่ทำงานและแจ้งว่าพวกตนป่วย (ทั้งที่ไม่ได้ป่วยจริง),  การลาออก โดยบุคคลที่มีความสำคัญซึ่งเป็นผู้เกี่ยวของในกรณีพิพาท
- การผสมระหว่างการนัดหยุดงานกับการหยุดยั้งทางเศรษฐกิจ : การปิดร้าน,  อัมพาตทางเศรษฐกิจ การหยุดยั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่หนึ่งๆ ในขั้นที่รุนแรงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจเป็นอัมพาตได้

การไม่ให้ความร่วมมือทางการเมือง
- การปฏิเสธอำนาจหน้าที่
: การปฏิเสธการสนับสนุนอย่างเปิดเผย เช่น การจงใจไม่ให้การสนับสนุนเปิดเผยต่อระบบการปกครองและนโยบาย,  ข้อเขียนและคำพูดที่ส่งเสริมการต่อต้าน ได้แก่ คำพูดหรือการตีพิมพ์

- การไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล 
: การคว่ำบาตรองค์กรนิติบัญญัติ ได้แก่ การปฏิเสธโดยถาวรในการเข้าร่วมในสภานิติบัญญัติ
: การคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ได้แก่ การชักชวนให้ประชาชนไม่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ไร้ความบริสุทธิ์ยุติธรรม
: การคว่ำบาตรกระทรวง ทบวง กรม ตัวแทน และองค์กรของรัฐ เป็นการปฏิเสธที่จะร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐทั้งหมด 
: การลาออกจากสถาบันการศึกษาของรัฐบาล
: การคว่ำบาตรองค์กรที่รัฐสนับสนุน
: การปฏิเสธที่จะช่วยเหลือกองกำลังของรัฐ

- ทางเลือกของประชาชนที่จะดื้อแพ่ง
: การยอมตามอย่างไม่สมัครใจและเชื่องช้า คือ การถ่วงเวลาที่จะทำตามคำสั่งให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้,  การดื้อแพ่งของประชาชน เป็นการจงใจละเมิดกฎหมายหรือระเบียบโดยไม่ใส่ใจ,  การปฏิเสธที่จะสลายการชุมนุม หรือการประชุม,  การดื้อแพ่งต่อกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม

- ปฏิบัติการโดยบุคลากรของรัฐบาล
: การเลือกปฏิเสธความช่วยเหลือโดยกลไกของรัฐ,  การไม่ให้ความร่วมมือในการบริการงานทั่วไป คือ การที่ข้าราชการพนักงานของรัฐบาลปฏิเสธที่จะร่วมมือกับผู้กุมอำนาจ,  การไม่ให้ความร่วมมือทางศาล,  การกบฎ ได้แก่ สมาชิกกองกำลังทหาร และตำรวจปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่ง

- ปฏิบัติการภายในประเทศของรัฐบาล
: การหลีกเลี่ยง และการหน่วงเหนี่ยวในแง่กฎหมาย เป็นความพยายามที่จะเลี่ยงในการทำตามกฎหมาย / คำสั่งนโยบายซึ่งพวกเขาไม่พอใจ,  การไม่ให้ความร่วมมือโดยกลไกของรัฐบาล

- ปฏิบัติการระหว่างประเทศของรัฐบาล
: การเปลี่ยนตัวทูตและผู้แทนอื่นๆ ,  การหน่วงเหนี่ยว และการยกเลิกกิจการทางทูต,  การตัดความสัมพันธ์ทางการทูต,  การถอนตัวจากองค์กรระหว่างประเทศ


Imageการแทรกแซงโดยไร้ความรุนแรง

วิธีนี้เป็นการแทรกแซงเข้าไปในสถานการณ์ซึ่งสามารถให้ผลได้ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ บางทีก็ก่อให้เกิดแบบแผนพฤติกรรม นโยบาย ความสัมพันธ์ หรือสถาบันชนิดใหม่ที่มหาชนพอใจ เป็นวิธีการที่ท้าทายโดยตรง ฉับพลัน ชัดเจนและตรงเป้ามากกว่าวิธีการที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ ในกรณีที่ประสบผลสำเร็จ ชัยชนะที่ได้รับจากการนี้มักจะเกิดขึ้นรวดเร็วกว่า ๒ วิธีการแรก แต่ผลลัพธ์ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วเสมอไป เพราะอาจนำมาซึ่งการปราบปรามอย่างรุนแรงและรวดเร็วกว่า ซึ่งก็ไม่ได้หมายถึงความพ่ายแพ้เสมอไป

- การแทรกแซงทางจิตวิทยา : การสัมผัสความยากลำบากด้วยตนเอง คือ การทำให้ร่างกายของบุคคลใดบุคคลหนึ่งอยู่ในสภาพที่ยากลำบาก,  การอดอาหาร,  การก่อกวนโดยไร้ความรุนแรง
- การแทรกแซงทางกายภาพ : การนั่งประท้วง,  การยืนประท้วง,  การนั่งรถประท้วง เช่น เพื่อให้ยกเลิกคำสั่งเกี่ยวกับการใช้บริการคมนาคมขนส่ง,  การลุยฝ่าเข้าไป เป็นการฝ่าฝืนของบุคคลซึ่งถูกกฎหมายหรือประเพณี กีดกันมิให้เข้าไปในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง,  การสวดภาวนา,  การจู่โจมโดยไร้ความรุนแรง ได้แก่ การเดินขบวนไปยังสถานที่ซึ่งถือว่ามีความหมายในเชิงสัญลักษณ์, การบุกรุกโดยไร้ความรุนแรง เป็นการจงใจเข้าไปในพื้นที่ซึ่งถูกห้ามนั้นอย่างเปิดเผยโดยไร้ความรุนแรง,  การกีดขวางโดยไร้ความรุนแรง,  การครอบครองพื้นที่โดยไร้ความรุนแรง
- การแทรกแซงทางสังคม : การสร้างแบบแผนทางสังคมขึ้นใหม่,  การหน่วงเหนี่ยว คือ การที่ลูกค้าบริษัทห้างร้านติดต่อธุรกิจที่ถูกกฎหมาย แต่พยายามหน่วงเหนี่ยวให้เป็นไปอย่างล่าช้าที่สุด,  ละครจรยุทธ การแสดงละครเหน็บแนมทางการเมืองหรือปฏิบัติการอื่นๆ ที่คล้ายกัน,  การตั้งระบบการสื่อสารชนิดใหม่
- การแทรกแซงทางเศรษฐกิจ : การดื้อแพ่งต่อการปิดล้อม เป็นการดื้อแพ่งโดยไร้ความรุนแรงต่อการปิดล้อมของระบอบปกครองที่เป็นปฏิปักษ์โดยการนำอาหารให้แก่ประชาชนที่ถูกปิดล้อมนั้นด้วย,  การยึดครองทรัพย์สิน,  การเลือกสนับสนุน
- การแทรกแซงทางการเมือง : การสร้างภาระหนักแก่ระบบการบริหาร ได้แก่ การที่ประชาชนจงใจเรียกใช้บริการอย่างล้นหลาม,  การเปิดเผยตัวสายลับ,  การหาทางเข้าคุก โดยฝ่ายต่อต้าน (จำนวนมาก) เรียกร้องที่จะเข้าคุก ทำให้คุกแน่นไปด้วยนักโทษ

ทั้งหมดที่ผ่านมานี้ คงจะพอทำให้ทราบว่า ความหมายที่แท้จริงของ “สันติวิธี” คืออะไร เพื่อว่าเราจะได้เข้าใจอย่างถูกต้องและไม่สับสนกับคำกล่าวหาต่างๆ ของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่กล่าวผ่านสื่อมวลชนอยู่บ่อยๆ เช่นว่า “ชาวบ้านที่ชุมนุมกันอยู่นี้ เป็นพวกชอบก่อกวน สร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นในสังคม” ทั้งๆ ที่ท่านเหล่านั้นไม่รู้เลยว่านี่แหละที่เรียกกันว่า “สันติวิธี”


(บทความนี้เคยลงในวารสาร “ผู้ไถ่” ฉบับที่ ๓๘ “สิทธิชุมชน” กันยายน – ธันวาคม ๒๕๓๘)



ยีน ชาร์ป. อำนาจและยุทธวิธีไร้ความรุนแรง. แปลโดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และคมสันต์ หุตะแพทย์ พิมพ์ครั้งแรก กรุงเทพ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๒๙
อ้างอิงจาก ท้าทายทางเลือก : ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง โดย ชัยวัฒน์  สถาอานันท์ หน้า ๑๑๓  สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง ปี  ๒๕๓๓
อ้างอิงจาก ท้าทายทางเลือก : ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง โดย ชัยวัฒน์  สถาอานันท์ หน้า ๑๑๗ – ๑๑๘  สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง ปี ๒๕๓๓
เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
พลังเกษตรกรเมืองเพชรฯ กับเครือข่ายเกษตรกร : ทางออกแห่งยุคสมัย พิมพ์
Tuesday, 22 August 2006

  

ภาพโดย เกริก ยุ้นพันธุ์

พลังเกษตรกรเมืองเพชรฯ
กับเครือข่ายเกษตรกร : ทางออกแห่งยุคสมัย

วรพจน์ สิงหา

ง่ายมากที่เราแต่ละคนจะพูดและเขียนคำว่า “เห็นใจคนยากจน” ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไปหรือแม้แต่คนที่ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนเองก็ตามที เพราะแต่ละคนส่วนใหญ่มีเงินเดือนเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง โดยไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจกับเรื่องของดินฟ้าอากาศที่กำลังแปรปรวน หรือไม่ต้องตกใจกับภาวะหนี้สินและดอกเบี้ยที่กำลังเพิ่มขึ้นอยู่ทุกขณะ

ซึ่งหลายครั้งคำว่า “คนยากจนหรือเกษตรกร” ได้กลายเป็นนโยบายหาเสียงของนักการเมืองเพียงเท่านั้น

เรื่องราวของเกษตรกรผู้ยากไร้ เป็นเรื่องที่คนไทยได้ยินได้ฟังกันมานานมากแล้ว และทุกวันนี้ ภาพของเกษตรกรไทยก็ยังเป็นเหมือนเดิม ไม่ว่าจะผลัดเปลี่ยนผู้นำกี่ยุคกี่สมัย รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าต่างชูประเด็น นโยบาย และสัญญาว่าจะสร้างหลักประกันให้กับเกษตรกรและคนยากจน แต่แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นเพียงการสร้างความทุกข์ให้กับชาวบ้านเพิ่มมากขึ้น


สมการความยากจน

การเมือง + ราชการ = การหลอกลวงประชาชน
หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยภายใต้นโยบายประชานิยมของนายกฯ ทักษิณ ได้สร้างความบอบช้ำให้กับคนยากจนและเกษตรกรผู้ยากไร้ ประชาชนส่วนใหญ่ได้เห็นถึงสัญญาณเตือนภัยจากปัญหามากมายที่เกิดขึ้นตามมาจากโครงการสารพัดเอื้ออาทรของรัฐบาล โดยเฉพาะปัญหาเรื่องหนี้สินของเกษตรกรและคนยากจนที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

จากจุดอ่อน รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการอัดฉีดเงินสู่หมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น การพักชำระหนี้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารประชาชน มีส่วนทำให้คนเป็นหนี้ยิ่งทียิ่งมากขึ้น เพราะฉะนั้น คำกล่าวอ้างในเรื่องการเข้าถึง “แหล่งทุน” ตามนโยบายรัฐบาล จึงกลายเป็นการเข้าถึง “แหล่งหนี้” มากกว่า

Imageกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรบุรี นับเป็นตัวอย่างที่ดีงามและเข้มแข็งในการช่วยเหลือกันเอง โดยนับจากเริ่มก่อตั้งกลุ่มเมื่อปี ๒๕๔๔  ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ ๑๐,๐๐๐  คน ที่เข้าร่วมในกลุ่มฟื้นฟูฯ แห่งนี้ ในระยะแรกของการก่อตั้งกลุ่ม ชาวบ้านเริ่มพูดคุยถึงเรื่องที่ทุกคนมีปัญหาคล้ายคลึงกัน ทั้งเรื่องหนี้สินและความยากจนจากโครงการของรัฐ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไร้ที่ทำกิน หรือมีที่ทำกินแต่ก็ถูกพ่อค้ากดราคา ไม่สามารถขายผลผลิตให้พอยังชีพได้ รวมถึงอีกหลายรายต้องสูญเสียที่ดินทำมาหากินที่เคยมีมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ

กลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรบุรี เคยทั้งเรียกร้องและรวมตัวกันเพื่อไปปิดศาลากลางจังหวัด และเมื่อปลายปี ๒๕๔๘ เกษตรกรกลุ่มฟื้นฟูฯ รวมทั้งเครือข่ายภาคกลาง ๑๑ จังหวัด และภาคอีสาน ๑๙ จังหวัด ร่วมเดินทางไปปิดทำเนียบรัฐบาล แต่การดำเนินการเพื่อช่วยเหลือกันเองของชาวบ้าน กลับถูกกล่าวหาจากผู้ไม่ประสงค์ดี ทั้งการทิ้งใบปลิวใส่ร้ายป้ายสี ไปจนถึงมีศัตรูมากมายทีสูญเสียผลประโยชน์ในด้านต่างๆ

Imageทรัพย์ วัฒนกุล ประธานกลุ่มเกษตรกรเมืองเพชรบุรี หนึ่งใน ๗๓ แกนนำเกษตรกรที่ถูกระบุว่าเป็นศัตรูของรัฐบาล กล่าวว่า รัฐบาลได้หยิบยกปัญหาหนี้สินของเกษตรกรเป็นเพียงนโยบายในการหาเสียง และเห็นความทุกข์ของเกษตรกรเป็นเพียงละครฉากหนึ่งในกระบวนการสร้างความนิยมให้กับรัฐบาล ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรยังคงมีอยู่ และเป็นเพียงการเริ่มต้นในการแก้ปัญหา ซึ่งน่าจะพัฒนาและแก้ไขได้มากกว่านี้

"นโยบายรัฐบาลของนายกฯ ทักษิณมีแต่คำพูด แต่ไม่มีการทำอะไรที่จริงจังในการช่วยเหลือเกษตรกรเลย คำพูดดีหมด นโยบายดีหมด แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามคำพูด นายกฯ ทักษิณดูถูกประชาชนและเกษตรกร เพราะรัฐบาลทักษิณโกหกชาวบ้านมาโดยตลอด ทั้งปัญหา FTA รวมถึงโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ล้วนแต่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องของบรรดานักการเมืองและนักธุรกิจทั้งนั้น สิ่งที่ร้ายแรงที่สุดคือ ชาวบ้านที่ยากจนไม่สามารถใช้ชีวิตที่พอเพียงได้เลย คนจนก็ยิ่งจนลง คนรวยก็ยิ่งรวยขึ้น”

Image“ปัญหาเกี่ยวกับเกษตรกรที่ติดขัดเวลานี้อยู่ที่ภาคการเมืองและบรรดาผู้เสียผลประโยชน์ นั่นคือสถาบันการเงินต่างๆ  ที่ค้าดอกเบี้ยเกษตรกรอยู่ และทุกวันนี้ปัญหามันมีเยอะ แต่รัฐบาลไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ กลับไปแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แม้กระทั่งเรื่องการใช้สารเคมี ซึ่งเป็นรายได้ของนักการเมืองที่นำสารเคมีเข้ามาสู่ประเทศไทย และมีการรณรงค์ให้ใช้สารเคมีเร่งผลิตผล ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของพวกเขา แต่พอชาวบ้านรณรงค์ให้ใช้ปุ๋ยชีวภาพ กลับถูกปิดกั้นว่ามันใช้ไม่ได้และเป็นอันตราย”

ในความคิดเห็นของประธานกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรบุรี บรรดานักการเมือง ตำรวจ หรือข้าราชการ เป็นลูกจ้างของประชาชน กินเงินภาษีของประชาชน พวกเขาให้สัญญาว่าจะดูแลทุกข์สุขของประชาชน “แต่พอคุณมีอำนาจ คุณกลับข่มเหงและทำร้ายประชาชน พวกชาวไร่ชาวนาก็มีศักดิ์ศรีเหมือนบรรดานักการเมืองในรัฐสภาทุกคน”


สมการภาคประชาชน

รวมตัว + ภูมิปัญญา = พลังเกษตรกร
นิมิตหมายที่ดีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยวันนี้คือ การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายเกษตรกรเพื่อช่วยเหลือกันและกัน เพราะพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศรู้แล้วว่า การไว้เนื้อเชื่อใจรัฐบาล นับเป็นการสร้างความเจ็บปวดให้กับตนเอง

Imageกิจ ผ่องภักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นที่ปรึกษากลุ่มเกษตรกรเมืองเพชรบุรี และเป็นตัวแทนเกษตรกรภาคกลาง กล่าวว่า “ถ้าเรารวมพลังเกษตรกรได้ เราจะมีอำนาจการต่อรองกับสถาบันการเงิน เกษตรกรไม่ได้ยากจนเพราะความขี้เกียจ แต่ที่พวกเขายากจน เป็นเพราะดอกเบี้ยและหนี้สิน เช่น เสียดอกเบี้ยร้อยละ ๘ ต่อปี แต่พอผิดสัญญา เขาปรับขึ้นเป็นร้อยละ ๑๑ หรือ ๑๒ หรือมากกว่านั้น และที่ผ่านมาสินค้าทางการเกษตรไม่เคยประกันราคาได้เลย พ่อค้าคนกลางเป็นคนกำหนดราคาให้เกษตรกรมาโดยตลอด เกษตรกรไม่มีสิทธิต่อรองใดๆ  เกษตรกรเป็นเพียงเครื่องมือของนักการเมืองในการเลือกตั้ง”

ในความเห็นของกิจ ผ่องภักดิ์ นโยบายที่ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้เป็นสิน มาจากกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งนำสารเคมี นำเมล็ดพันธุ์พืชที่เอื้อกับผลประโยชน์ของนายทุน เน้นการผลิตเพื่อส่งออก เร่งผลิตด้วยปริมาณมากๆ ทำให้กุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคม ที่หากินได้ ก็ตายไป และเมื่อสินค้ามากจนล้นตลาด สินค้าที่มีสารเคมีตกค้าง ต่างประเทศก็ตีกลับ

Image“เวลารัฐบาลหาเสียง พวกเขาใช้ปัญหาเกษตรกรมาอ้างทุกครั้ง และบอกว่าทำเพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน เวลาเปลี่ยนรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรฯ ต้องเปลี่ยนทุกครั้ง เราต่อสู้เพียงเพื่อต้องการเก็บที่ทำมาหากินไว้ให้ลูกหลานของเรา ซึ่งทุกวันนี้ ในเรื่องการศึกษา กระทรวงศึกษาฯ ก็ไม่เคยสอนให้เด็กกลับมาปลูกหอม กระเทียม กะเพรา โหระพา ไว้ในครัวเรือน แต่สอนให้เป็นมนุษย์เงินเดือนอย่างเดียวเท่านั้น”

บรรดานักการเมืองในรัฐสภาที่เราเห็น หรือคนที่เข้าไปบริหารงานเกี่ยวกับเรื่องเกษตรกร จะมีสักกี่คนที่เข้าใจหรือเกิดมาในครอบครัวของเกษตรกรอย่างแท้จริง ถ้าจะเป็นความชอบธรรมจริงๆ ต้องปรับเปลี่ยนสัดส่วนของคณะผู้บริหารของประเทศ เน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ซึ่งตัวแทนเกษตรกรภาคกลางคนนี้ ตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า “ทุกวันนี้ที่มีการประกาศถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติ มีทางเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน?”

อนิรุทธ์ ขาวสนิท ที่ปรึกษากลุ่มเกษตรกรเมืองเพชรบุรี กล่าวว่า การดำรงชีวิตของเกษตรกร วิธีคิดต่างจากสิ่งที่ร่ำเรียนมาในทางทฤษฎี อย่างวิถีชีวิตของเกษตรกรที่เพชรบุรี วิถีชีวิตผูกพันอยู่กับการทำไร่ ทำนา ทำสวน และเคยปลูกผักผสมผสาน แต่พอรัฐบาลและราชการสั่งให้ปลูกผักเชิงเดี่ยว เกษตรกรยิ่งมีหนี้สินเพิ่มขึ้น รวมทั้งการที่รัฐบาลและราชการระดมให้ชาวบ้านปลูกผักและผลิตสิ่งของแบบเดียวกันทั้งจังหวัด เวลาผลผลิตออกมา แต่ไม่มีตลาดกลางรองรับ สินค้าการเกษตรก็ล้นตลาด พอขายไม่ได้ หนี้สินที่ไปกู้ยืมมา พอถึงปีต้องชำระคืน ดอกทบต้น ต้นทบดอก ชาวบ้านก็กลัว ต้องไปกู้หนี้นอกระบบมาใช้ในระบบ พอถึงสิ้นเดือน หนี้นอกระบบก็ต้องใช้คืน ในระบบก็ต้องใช้คืน หนี้สินเลยสะสมจนท่วมตัว เกิดเป็นหนี้สินที่ใช้คืนไม่มีวันหมด

“ในประเทศไทย ไม่มีหรอกที่เกษตรกรจะเป็นผู้ที่โกงเงินของสถาบันการเงิน คนที่โกงส่วนใหญ่คือ คนที่ทำธุรกิจและเป็นคนที่มีความรู้ เกษตรกรเขาไม่มีความรู้มากนัก หลายคนไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เงินไม่เท่าไหร่เขาก็กลัวแล้ว และเขาจะโกงสถาบันการเงินต่างๆ ได้อย่างไร”

กลุ่มเกษตรกรเมืองเพชรฯ เริ่มก่อตั้งโดยใช้วิธีคิดและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้าน และให้ชาวบ้านดำเนินตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในเรื่องเกษตรพอเพียง ซึ่งการแก้ปัญหาความยากจน ถ้าหากเกิดจากเกษตรกรจริงๆ จะแก้ไขได้ แต่ถ้าการแก้ปัญหาเกิดจากรัฐบาล ปัญหาจะแก้ไขไม่ได้ เพราะแม้แต่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ เองก็ไม่รู้จักเรื่องการเกษตรเลย

Image“รัฐบาลนำโครงการทุกอย่างลงมาที่หมู่บ้าน แต่เอามาให้ชาวบ้านโดยใช้เงินเป็นตัวตั้ง เช่น กองทุนหมู่บ้าน ชาวบ้านเป็นหนี้อยู่แล้ว ต้องกู้เงินมาอีก ก็เป็นหนี้เพิ่มขึ้นอีก เพราะรัฐบาลไม่ได้หาทางแก้ว่าจะต้องทำอย่างไร ที่จะให้เกษตรกรอยู่รอดโดยที่ไม่ต้องกู้เงินมา”

ที่ปรึกษากลุ่มเกษตรกรเมืองเพชรบุรี บอกอีกว่า “วันนี้ เกษตรกรมากมายกำลังถูกยึดที่และไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วยอย่างจริงจัง นักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ไม่ใช่ผู้นำชุมชน แต่กลับเป็นคนที่รัฐบาลสั่งมา ตอนเขาได้รับเลือกตั้ง ประกาศบอกว่าจะช่วยเหลือเกษตรกร จะช่วยเหลือชาวบ้าน แต่พอได้รับเลือกตั้งแล้ว ก็ถูกอำนาจเบื้องบนสั่งลงมาและมาข่มขู่ชาวบ้าน”

“รัฐบาลประกาศว่า ถ้าประชาชนไม่ไปเลือกตั้ง ส.ส. หรือ ส.ว. จะเสียสิทธิไป ๔ ปี ๖ ปี แต่พอประชาชนไปเลือกตั้งแล้ว แต่ผู้แทนกลับไม่รักษาผลประโยชน์ของชาวบ้าน ไม่ทำตามที่ได้สัญญาไว้ ซึ่งจะมีประโยชน์อะไร ระบอบประชาธิปไตย ประชาชนไม่ได้มีสิทธิแค่วันเลือกตั้ง แต่ประชาชนมีสิทธิตลอดเวลา ไม่ใช่มีสิทธิเพียง ๒ นาที ในการกาบัตรเลือกตั้ง แต่ต้องปวดร้าวไปอีก ๔ ปี”

Image“ตอนคุณหาเสียง คุณยกมือไหว้ชาวบ้านปะหลกๆ  คุณบอกว่าจะช่วยชาวบ้าน แต่วันที่ชาวบ้านเดือดร้อนจริงๆ คุณกลับไม่ช่วยพวกเขาเลย ตอนเข้ามาหาชาวบ้าน พวกเขาพกนโยบายหลอกหลอนชาวบ้านมามากมาย และมีหลายครั้งที่กลุ่มฟื้นฟูเมืองเพชรฯ จะถูกตำรวจจับในเรื่องการก่อม็อบ ผมถามว่า วันนี้คุณหาทางออกให้ชาวบ้านหรือยัง วันนี้คุณห้ามไม่ให้พวกผมเข้ามา แต่ว่าชาวบ้านที่เขาเดือดร้อนจากการถูกยึดที่ คุณหาทางแก้ไขและช่วยเหลือเขาหรือเปล่า เขาไม่มีที่อยู่ ที่ดินที่เป็นของปู่ย่าตายาย กลับถูกสถาบันการเงินยึด ช่วยเหลือเขาบ้างหรือเปล่า”

เขาเล่าอีกว่า เมื่อเงินกองทุนหมู่บ้านลงมา แต่เงินไม่เคยถึงชาวบ้าน เพราะผลประโยชน์ตกอยู่กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักเลงท้องถิ่น เขาจะจัดการให้แต่พวกพ้องของเขาเอง ชาวบ้านก็กลัวที่จะเรียกร้องสิทธิ คนที่ได้เงินกลับเป็นคนรวยและคนที่มีเส้นสายหรือมีอิทธิพล ทั้งๆ ที่เงินกองทุนหมู่บ้านเป็นเงินภาษีของประชาชน  ยกตัวอย่าง รัฐบาลให้เงินหมู่บ้านละล้าน จังหวัดหนึ่งมีหลายหมู่บ้าน ทำไมไม่หมุนเงินกองทุนหมู่บ้าน ให้เข้ามาอยู่ในกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร เพื่อที่จะซื้อหนี้เกษตรกรที่ถูกขายทอดตลาด คนที่ไม่มีที่ทำกิน ก็จะกลับมามีที่ทำกินอีกครั้ง โดยให้ผ่อนชำระ โดยไม่ต้องถูกยึดที่ ไม่ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ ทำไมรัฐบาลไม่ทำ

“หลายครั้งรัฐบาลบอกชาวบ้านว่า ถ้าชาวบ้านไม่มีเงินหมุน ไม่มีเงินกู้ ชาวบ้านจะอยู่ไม่ได้ โดยที่เขาไม่เคยรู้และเข้าใจเลยว่าวิถีชีวิตของชาวบ้าน ๓ เดือน ๖ เดือนถึงจะได้เกี่ยวข้าว แต่บรรดานักธุรกิจนั้น พวกเขาใช้เงินหมุนรายวัน เพื่อใช้เงินทำธุรกิจ อย่างนี้พวกเขาอยู่โดยใช้เงินกู้มาหมุนได้ แต่เกษตรกรไม่ใช่ เพราะเกษตรกรไม่ได้ดำเนินชีวิตโดยใช้เงินเหมือนนักธุรกิจ”


เสียงสะอื้นของเกษตรกร

ป้าลำจวน วัย ๖๐ ปี สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรบุรีตั้งแต่เริ่มต้น กล่าวว่า รัฐบาลทักษิณบอกว่าจะช่วยคนจน แต่คนจนจริงๆ ไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรเลย เขาเอาเงินมาลงท้องถิ่นจริง แต่ไม่ได้เอาเงินมาช่วยเหลือคนจน มีเพียงคนรวยเท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์จากเงินที่รัฐบาลเอาลงมา

“ลงทะเบียนคนจน ป้าก็ไปลงทะเบียนมาแล้ว แต่ไม่ได้เลย เขาให้เราจดรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้สิน และต้องการหลักทรัพย์ต่างๆ ถามว่าคนจนจะหาหลักทรัพย์ที่ไหนมา เขาไม่ได้ช่วยเหลือคนจนจริงๆ ได้แต่หลอกเราไปวันๆ”

Imageป้าลำจวนพูดด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ ว่า “คนเขาไม่เข้าใจชาวไร่ชาวนา อย่างเขามีเงินเดือนหลายหมื่นหลายแสน น้ำท่วมก็ยังมีเงินเดือน แต่ชาวบ้านไม่มี เพราะที่นาที่ไร่คือที่ทำมาหากิน เมื่อน้ำท่วม ชาวบ้านจะเอาเงินที่ไหน เงินเดือนก็ไม่มี ต้องเป็นหนี้เป็นสิน เป็นหนี้แล้วเป็นหนี้อีก”

ชีวิตที่ทุกข์ยาก ทำให้หลายครั้งป้าลำจวนและพี่น้องกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรฯ ต้องมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องและทวงถามถึงสิทธิของตนเองจากรัฐบาล ร่วมชุมนุมที่สนามหลวงและบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า แต่ชะตากรรมของคนทุกข์ยากไม่อนุญาตให้ชีวิตเรียบง่ายอย่างที่ตั้งหวัง เพราะในขณะที่ป้าลำจวนเรียกร้องอยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่อกลับมาบ้าน พี่สาวของป้าลำจวน ซึ่งเป็นอัมพาตมากว่า ๒๐ ปี ได้นอนเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน

“ป้าไปที่หน้าทำเนียบ ลานพระบรมรูปฯ ไปเพื่ออยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเรา ป้าทิ้งพี่สาวไปจนตาย แกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นอัมพาต ต้องอาบน้ำ ป้อนข้าว ป้อนน้ำ ต้องคอยพลิกตัวตลอดเวลา กระดิกตัวไม่ได้มาตลอด ๒๐ ปี เมื่อไม่มีใครอยู่ที่บ้าน จึงหาอะไรกินไม่ได้ ฉี่นองพื้น กลับมาตัวแข็งทื่อ นอนตายอยู่ที่บ้าน” ป้าลำจวนพูดด้วยน้ำเสียงปนสะอื้น

และสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดคือ มีคนถามป้าลำจวนว่า “ใครจ้างมาประท้วง และได้เงินเท่าไหร่”

Imageป้าทองเพียร วัย ๕๕ ปี เป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรฯ กล่าวถึงเงินจากรัฐบาลที่ลงสู่หมู่บ้านว่า “เอาเงินมาช่วยเหลือคนจน หรือจะมาฆ่าคนจน ฉันว่าเอาเงินมาฆ่าคนจนมากกว่า ให้คนจนเป็นหนี้หนักขึ้นไปอีก ถ้าคืนไม่ทันก็ต้องติดคุก รัฐบาลทำได้อย่างไรแบบนี้ มีแต่นโยบาย แต่พอปฏิบัติจริงแล้ว ชาวบ้านเดือดร้อน และยิ่งจนลง”

ป้าทองเพียรก็เหมือนกับป้าลำจวน คือร่วมเดินทางไปทวงสัญญากับรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลเคยให้คำมั่นสัญญากับชาวบ้านว่าจะช่วยเหลือ แต่ผลที่เกิดขึ้นคือการไม่รักษาสัญญาในทางปฏิบัติ หลายครั้งที่ชาวบ้านไปเรียกร้องสิทธิ แต่รัฐบาลกลับกล่าวหาว่าชาวบ้านไปสร้างความเดือดร้อนและความยุ่งยากให้เกิดขึ้นในประเทศ “เราไปเพื่อเรียกร้องสิทธิของเรา เข้าไปกรุงเทพฯ ชาวบ้านก็ถูกหาว่าโดนจ้างมา หลายคนบอกว่าพวกเราสร้างความเดือดร้อนให้บ้านเมือง เราไม่ได้ไปขอเงิน แต่เราไปทวงสิทธิของเรา”

ป้าทองเพียรพูดให้ฟังว่า “รัฐบาลกล่าวหาคนจนว่าเป็นหนี้สินและยากจนเพราะเล่นหวย ยากจนเพราะกินเหล้า ลองคิดดูว่า เดี๋ยวนี้เงิน ๑๐๐ บาท ทำอะไรได้บ้าง ออกจากบ้าน ค่ารถ ค่าข้าว ก็เกือบหมดแล้ว เศรษฐกิจเป็นอย่างไร และหวยมาจากไหน เขาไม่เคยจน เขาไม่รู้ว่าความจนเป็นอย่างไร”

“เวลาสมัครผู้แทนก็กราบไหว้เราอย่างดี แต่เวลาเดือดร้อนจริงๆ  เขาไม่เคยช่วยเหลือเราเลย เวลาที่เขาได้ตำแหน่งแล้ว เขาไม่เคยช่วยเหลือเราจริงๆ เขาไม่เห็นคุณค่าของคนจน เวลาติดต่อกับรัฐบาล เหมือนเขาหลอกชาวบ้านไปวันๆ  ชาวบ้านหลายคนเบื่อหน่ายและถอยออกไปจากกลุ่ม เพราะเบื่อหน่ายที่ต้องจะรอคอย และถูกหลอกอยู่เสมอ เรื่องถูกเก็บถูกวางไว้เฉยๆ  โดยไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ”


เครือข่ายเกษตรกร : ทางออกแห่งยุคสมัย

ในยุคทุนนิยม ชนบทไทยได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเงินทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่บรรดาผู้มีเงินทุน ธนาคารพาณิชย์ หรือแหล่งสะสมเงินทุนใหญ่มักประสบผลสำเร็จในการสร้างความร่ำรวยหรือดำเนินธุรกิจไปได้ด้วยดี แต่ประชาชนส่วนใหญ่ในชนบทกลับไม่มีเงินทุน ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ว่าจะกี่แผนมาแล้ว ได้มองข้ามความสำคัญในการสร้างฐานเงินทุนขึ้นในหมู่บ้าน เพื่อเป็นแหล่งเงินกู้และพัฒนาชีวิตชาวบ้าน แต่กลับไปให้ความสำคัญกับวิธีการส่งเสริมการผลิตให้มาก เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร ผลที่เกิดขึ้นคือ การนำพาเกษตรกรทั่วประเทศไปสู่การแข่งขันกันผลิตโดยไม่รู้ตัว ทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นในท้องตลาด และเปิดช่องทางให้พ่อค้าคนกลางกอบโกยเอากำไร ในขณะที่ชาวบ้านกลับมีฐานะย่ำแย่ลง

ขอขอบคุณ กลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชร เอื้อเฟื้อภาพประกอบทรัพย์ วัฒนกุล ยกตัวอย่างว่า “ตัวเกษตรกรเองนั้น โดยทั่วไปแล้วมีเงินทุนอยู่น้อยหรือไม่มีเลย การดำรงชีวิตก็มาจากการทำกินปลูกพืชเลี้ยงสัตว์บนที่ดิน แล้วอาศัยแรงงานช่วยให้พืชหรือสัตว์ออกผลออกลูก นำไปขายเลี้ยงชีวิต ส่วนฐานะทางการเงินที่เก็บออมไว้มีอยู่น้อยมาก ซึ่งต้องใช้แรงกายไปรับจ้างทำงานแลกกับเงิน”

กิจ ผ่องภักดิ์ บอกว่า “การพัฒนาชนบท รัฐบาลต้องสนใจสร้างฐานเงินทุนขึ้นในหมู่บ้านก่อน เพื่อเป็นหลักประกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น และแหล่งเงินทุนในหมู่บ้านให้เกษตรพึ่งพิงได้ การจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านหรือกลุ่มออมทรัพย์จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อสร้างความมั่งคั่งขึ้นในหมู่บ้าน เป็นแหล่งเงินกู้เพื่อเพิ่มผลผลิต พัฒนาเศรษฐกิจและชุมชนหมู่บ้านในด้านต่างๆ โดยเจ้าของธนาคารหมู่บ้านและเงินทุนคือชาวบ้าน”

นอกจากการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ซึ่งเป็นวิธีการระดมทุนจากชาวบ้านคนละเล็กละน้อยมารวมกันเป็นก้อนใหญ่ กลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรบุรี ได้ดำเนินโครงการมากมายในการพึ่งตนเอง ทั้ง การผลิตแชมพูสมุนไพร ปุ๋ยชีวภาพ น้ำยาล้างจาน โดยมีคนในกลุ่มช่วยสอนกันเอง รวมถึงการทำแผนแม่บทชุมชน ให้ความรู้ชาวบ้าน เรื่องเกษตรพอเพียง และชาวบ้านพยายามลดต้นทุนในการผลิต โดยไม่ใช้สารเคมี ใครมีขี้วัวก็ใช้ขี้วัวในการทำปุ๋ย ใครมีเศษผักก็ไปซื้อกากน้ำตาลมาทำน้ำหมักชีวภาพ ใครมีสมุนไพรตามท้องถิ่นก็นำมาใช้ หรือต้นอะไรก็ได้ที่หนอนและแมลงไม่กิน นั่นคือยาไล่แมลงอย่างดี  โดยไม่ได้ฆ่าแมลงแม้แต่ตัวเดียว

Imageสิ่งสำคัญก็คือ เกษตรกรเมืองเพชรบุรีพยายามสร้างเครือข่ายกับเกษตรกรจากทั่วประเทศ เพราะเครือข่ายเกษตรกรไม่ได้อยู่ภาคกลางเท่านั้น แต่เชื่อมโยงถึงกันทั้งประเทศ โดยเฉพาะในปัจจุบัน กลุ่มเกษตรกรเมืองเพชรฯ กำลังมีโครงการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างเครือข่ายเกษตรกร เช่น ทางกลุ่มแม่กลองมีเกลือและน้ำปลา  ทางเพชรบุรีมีมะนาว มีข้าว ก็นำมาแลกเปลี่ยนกัน หรือเดินทางไปเรียนรู้ระหว่างกลุ่มเกษตรต่างๆ ที่อยู่ทั่วประเทศ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรเมืองเพชรฯ เชื่อว่านี่คือ “ทางออกของเกษตรกร” และจะช่วยบรรเทาทุกข์ รวมถึงร่วมช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกรที่อยู่ตามจังหวัดต่างๆ

ทุกวันนี้ เราคงได้ยินได้ฟังคำว่า “การกระจายอำนาจสู่ชุมชน” อย่างหนาหู ทั้งการเสแสร้งในรัฐสภา หรือแม้กระทั่งการถกเถียงกันตามหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร รวมทั้งในอินเตอร์เน็ต แต่สิ่งเหล่านี้หากยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ก็เป็นเพียงรูปแบบที่ไร้จิตวิญญาณแห่งชุมชนที่แท้จริง

ในขณะที่ชาวบ้านจากกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรบุรีและเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศพยายาม “ปฏิบัติ” และสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกันและกัน สิ่งนี้เป็นพลังของชาวบ้านเพื่อลบคราบน้ำตาเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน และนี่คือ “พลัง” ที่จะแปรเปลี่ยนความทุกข์ยากของเกษตรกร มากกว่าคำพูดที่ไร้ค่าของบรรดานักการเมือง และอีกหลายคนที่ไม่เคยเข้าใจความทุกข์ยากของพี่น้องชาวบ้านผู้ยากจนอย่างแท้จริง

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
การมีส่วนร่วมของศาสนิกชน ต่อการปฏิรูปการเมือง โดย กองบรรณาธิการ พิมพ์
Tuesday, 22 August 2006


การมีส่วนร่วมของศาสนิกชน ต่อการปฏิรูปการเมือง

โดย กองบรรณาธิการ

Image“...สถานการณ์สังคมได้ทำให้ผู้คนเกิดความสนใจ ห่วงใย และติดตามความเป็นไปที่เกิดขึ้น  ในฐานะที่เราเป็นคริสตชนซึ่งจะต้องให้ความสนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม การมีภาวะทางการเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งของสภาพสังคมที่ปรากฏอยู่ด้วย เมื่อภาคการเมืองไม่สงบสุข ภาคสังคมก็ย่อมได้รับผลกระทบด้วย จึงเห็นว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งของหลายๆ ขั้ว ตั้งแต่การลาออกของนายกฯ ซึ่งนำไปสู่การเปิดเผยบาดแผลต่างๆ อย่างที่เรียกได้ว่าถูกซุกอยู่ใต้พรมมาตลอด แต่ก็ถือว่าเป็นบรรยากาศทางการเมืองที่ทำให้เราได้ใช้สำนึกของความเป็นคริสตชนในการตื่นตัวทางการเมืองและเข้าถึงความเป็นจริงให้มากที่สุดต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในแต่ละคู่ แต่ละฝ่าย นี่จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เข้าถึงความเป็นจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะในบรรยากาศที่ผ่านมา ผู้ใช้อำนาจได้ใช้อำนาจกดผู้คนให้อยู่ในภาวะที่เป็นรอง เราจึงไม่สามารถเข้าถึงความเป็นจริงได้...” อัจฉรา สมแสงสรวง เลขาธิการ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.) เกริ่นนำในการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง “ปฏิรูปการเมืองกับการมีส่วนร่วมของประชาชน” เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา ซึ่ง ยส. จัดขึ้นโดยมุ่งหวังให้เป็นเวทีซึ่งคริสตชนจะได้แสดงความคิดเห็นและเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ดังที่ภาคสังคมและภาคประชาชนกำลังช่วยกันระดมสมองกันอยู่ขณะนี้

Imageรสนา โตสิตระกูล ว่าที่สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ ในฐานะวิทยากรหลักในการเสวนาครั้งนี้ ได้แสดงทรรศนะต่อเรื่องของการปฏิรูปการเมืองไว้ว่า นับจากปี ๒๕๔๐ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นการปฏิรูประบอบการปกครองครั้งที่ ๑ ประเทศไทยได้รัฐธรรมนูญที่เกิดจากประชาชน เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงและเชื่อกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลก แต่รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ กลับดีเพียงรูปแบบ คือทำได้เพียงแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองแบบเดิมๆ

“เมื่อปี ๒๕๓๕ เป็นยุคสิ้นสุดระบอบเผด็จการทหารอย่างเป็นทางการ แต่ยุคทุนนิยมเริ่มเข้มแข็งขึ้นมาธนกิจทางการเมืองหรือนักการเมืองที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หรือนักธุรกิจที่เข้ามาเป็นนักการ เมืองเองก็เกิดขึ้น และรัฐธรรมนูญปี ๔๐ นี่ก็เหมาะมาก ส่วนหนึ่งเราได้คนอย่างทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเขาเป็นคนที่มีความสามารถในการใช้กลไกอันนี้มาบิดเบือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขามักจะอ้างเสมอว่าเป็นกติกาที่เขาไม่ได้ร่างขึ้นเอง แต่เป็นกติกาที่คนอื่นวางไว้ ในสมัยเด็กๆ เรามีคำถามที่ถามกันเล่นๆ ว่า “อะไรเอ่ย คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ” ซึ่งตอนสมัยเด็กๆ เราจะตอบว่า “โลงศพ” แต่ปัจจุบันนี้คำตอบต้องเป็น “รัฐธรรมนูญ” เพราะคนทำไม่ได้ใช้ คนที่ใช้เขาก็บอกว่า เขาไม่ได้ทำ เขาทำตามกติกาคนอื่นตลอด”

เธอคิดว่า รัฐธรรมนูญปี ๔๐ ยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจได้อย่างแท้จริง  “รัฐธรรมนูญฉบับ ๔๐ แม้จะถูกออกแบบมาให้มีการคานดุลอำนาจกัน แต่ก็เป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน และถึงแม้จะมีส่วนที่เปิดให้ประชาชนสามารถใช้อำนาจทางตรงได้บ้าง เช่น ใช้  ๕๐,๐๐๐ รายชื่อ เพื่อถอดถอนนักการเมือง หรือเสนอกฎหมาย “แต่ว่าการใช้อำนาจอันนี้ถูกทำให้หมดสภาพในการเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการจัดการนักการเมืองได้ และตอนนี้ต้องบอกว่า ๕๐,๐๐๐ รายชื่อ เป็นเพียงไส้ติ่งในองคาพยพของการเมืองคือ ไม่มีหน้าที่ทำอะไรได้ ตลอดเวลา ๙ ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครใช้ ๕๐,๐๐๐ รายชื่อ เพื่อจัดการกับนักการเมืองได้อย่างแท้จริง”

เธอจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะต้องทบทวนให้ดีถึงเป้าหมายของการปฏิรูปการเมือง ว่าเราต้องการปฏิรูปการเมืองเพื่อนำไปสู่สิ่งใด “เวลานี้ เมื่อเราพูดกันถึงเรื่องปฏิรูปการเมือง คนส่วนใหญ่มองเรื่องรูปแบบเยอะ ในขณะที่เราไม่ค่อยมองส่วนที่เป็นเนื้อหาว่าการปฏิรูปการเมืองเพื่อนำไปสู่อะไร เราพูดถึงให้มีรูปแบบประชาธิปไตย มีรูปแบบการเลือกตั้ง มีประชาชนเป็นคนเลือกตั้ง ซึ่งเหล่านี้เป็นเปลือก และเวลานี้ รัฐธรรมนูญถ้าเป็นเครื่องมือก็เป็นเครื่องมือที่ใช้การไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราอ้างมาตรา ๓ ที่บอกว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่สิ่งที่รัฐบาลพยายามบอกเราคือ การคืนอำนาจให้ประชาชน คือ เมื่อเขายุบสภา ประชาชนมีอำนาจอยู่ในมือเพียง ๒ นาที ในคูหากาบัตรเลือกตั้ง แล้วพอกาเสร็จก็มอบอำนาจคืนให้อีกคนหนึ่ง”

--------------------------------------------------------------------------- 

หลากหลายทรรศนะ ต่อการปฏิรูปการเมือง

Image

คุณพ่อสุเทพ  ภูผา
ศูนย์วิชาการสังฆมณฑลราชบุรี

“...จะทำอย่างไรให้ข้อมูลที่เป็นความจริงถึงรากหญ้าให้ได้ เพราะเขาก็จะมองแค่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า เขาให้เงินมา ก็ต้องเลือกเขา สื่อก็ถูกปิดกั้น เป็นปรากฏการณ์ที่น่าเป็นห่วง และข้อสังเกตอีกอย่างคือ ศาสนิกที่เป็นนักธุรกิจก็จะมองแค่เรื่องของผลประโยชน์อย่างเดียวเช่นกัน...”

-------------------------------------------------------------------------- 

ดังนั้นในการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่นี้ต้องทำให้การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็ง และสามารถใช้อำนาจในการตรวจสอบนักการเมืองเพื่อให้การเมืองมีคุณภาพมากขึ้น “ในการปฏิรูปการเมืองครั้งต่อไป เราต้องทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง และเมื่อภาคประชาชนเข้มแข็งแล้ว ถ้าประชาชนตื่นตัวมากพอ จะรู้ว่าเราเป็นผู้บริโภคที่กำลังบริโภคสินค้าการเมือง และกำลังโหวตให้กับสังคมที่เราอยากจะเห็นทุกวัน ผ่านการซื้อสินค้าของเรา จึงต้องมีวิธีคืนสินค้าการเมืองที่ไม่ได้เรื่อง ซึ่งเวลานี้ สินค้าการเมืองใช้แต่มาร์เก็ตติ้งอย่างเดียวแต่ไม่มีคุณภาพเลย ประชาชนต้องตื่นตัวให้มากขึ้นและทำให้สินค้าการเมืองต้องปรับตัวและมีคุณภาพ เราต้องทำคนเลวให้ท้อแท้บ้าง เพราะว่าคนเลวมีเยอะ ทำให้เราท้อแท้ เราต้องทำระบบให้คนเลวท้อแท้บ้าง”

“และการที่จะทำให้ ส.ส. หรือนักการเมืองมีคุณภาพ คุณภาพของประชาชนจึงสำคัญที่สุด เราน่าจะทำกองทุนประชาชน ชื่อ “กองทุนพิฆาตทรราชย์” ขอให้ประชาชนบริจาคคนละ ๑ บาท เดือนละ ๓๐ บาท แค่ ๑ ล้านคนก็พอ ซึ่งกองทุนนี้จะเข้าไปดูในประเด็นต่างๆ ที่ประชาชนถูกรุกรานสิทธิอย่างไม่เป็นธรรม เช่น รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิชุมชนท้องถิ่น แต่พวกมาเฟียท้องถิ่นหรือนักการเมืองกลับมาแสวงหาประโยชน์ และในปัจจุบันนี้ กฎหมายเป็นเหมือนอาวุธ และเป็นพันธนาการที่เราสู้ไม่ได้ ทำอย่างไรเราจะมีกฤษฎีกาภาคประชาชน และมีนักกฎหมายที่ต่อสู้เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง”

“...การปฏิรูปการเมืองกับการมีส่วนร่วมของประชาชน จะมีคุณประโยชน์ต่อสังคมการเมืองได้ ก็ต่อเมื่อมุ่งไปในทางที่ถูกต้อง และเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนทุกคน...”  คำทิ้งท้ายจาก รสนา  โตสิตระกูล จึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนต่างก็มุ่งหวังเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ศาสนิกทุกศาสนาควรเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดการเมืองที่มีคุณธรรมและจริยธรรม ส่วนปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่นั้นต้องเป็นการเมืองของภาคประชาชนที่เข้มแข็งและสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจตรวจสอบและเอาผิดนักการเมืองฉ้อฉล จึงจะเปลี่ยนนักการเมืองให้มีคุณภาพได้  เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม

-------------------------------------------------------------------------- 

หลากหลายทรรศนะ ต่อการปฏิรูปการเมือง

Image

คุณรุ่งโรจน์  ตั้งสุรกิจ
กรรมการ ยส.

“ความจริงถ้ามองในแง่ศาสนา ผมว่านี่เป็นด้านดี มีคุณธรรม แต่อาจมีเรื่องของข้อมูลและความลึกซึ้งของอุดมการณ์ที่อยู่ข้างหลัง โดยส่วนตัวที่ผมได้ยินเรื่อง ๑๙ ล้านเสียง ผมรู้สึกว่า เอ๊ะ ไปดูถูกประชาชนมากไป ถึงแม้เขามีนโยบายประชานิยม แต่ไปโทษชาวบ้าน ๑๙ ล้านเสียง ที่เลือกคุณทักษิณไม่ได้ เพราะมันจะเป็นลักษณะของการแบ่งแยกระหว่างประชาธิปไตยของคนชั้นกลางกับของข้างล่าง ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้ต้องระวัง...”


---------------------------------------------------------------------------- 

หลากหลายทรรศนะ ต่อการปฏิรูปการเมือง

Image

คุณพ่อวัชรินทร์ สมานจิต 
ผู้อำนวยการ ร.ร. ปรีชานุศาสน์ จ.ชลบุรี
และจิตตาธิการ ยส.

“...เราต้องมีสำนึก ต้องเรียนรู้และเท่าทัน แต่ว่าสื่อเท่านั้นที่จะช่วยให้เราได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ในฐานะที่เราทำงานในพระศาสนจักร ทำอย่างไรให้สัตบุรุษรู้ถึงความจริง ซึ่งจะนำไปสู่สันติภาพได้...”


--------------------------------------------------------------------------
 

หลากหลายทรรศนะ ต่อการปฏิรูปการเมือง

Image

คุณจักรชัย โฉมทองดี
โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส)
 

“...ถึงแม้เราจะพูดกันแค่เรื่องปฏิรูปการเมือง แต่จริงๆ แล้ว เราต้องการเห็นการปฏิรูปในบริบทที่มากกว่าการเมือง คือ เห็นการปฏิรูปสังคม ปฏิรูปบรรทัดฐาน ระบบการให้คุณค่าของสังคม เพราะฉะนั้นมันกว้างกว่าการแก้รัฐธรรมนูญแน่ๆ ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญอาจจะเป็นแกนกลางสำคัญในฐานะเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายต่างๆ ให้เราปกครองกันในนิติรัฐ แต่ว่ากฎหมายใดก็แล้วแต่จะไม่สามารถนำพาทิศทางไปสู่สังคมที่รอดพ้นไปได้ถ้าขาดจริยธรรมที่ควบคู่ไปด้วย ซึ่งบทบาทในการสร้างมาตรฐานในการให้คุณค่าของจริยธรรม ว่าอะไรคือความชอบธรรม ศาสนาทุกศาสนามีบทบาทสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรในพระศาสนจักรคาทอลิกเอง บุคลากรในศาสนาอื่น หรือคนในฐานะศาสนิกต่างๆ

ปัจจุบันนี้การปฏิรูปการเมืองต้องเน้นย้ำว่าไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐบาลหรือนักการเมืองเท่านั้น เป็นเรื่องของประชาชน หรือไม่ใช่แม้แต่เรื่องของนักวิชาการ ไม่ใช่เรื่องของคนที่จะต้องมารู้เรื่องกฎหมายแม่กฎหมายลูกว่ามันสัมพันธ์กันอย่างไร ชาวบ้านไม่จำเป็นหรอกที่จะต้องเข้าใจมาตรานั้นมาตรานี้อย่างละเอียด แต่เขาต้องเข้าใจว่าเป้าหมายที่ต้องการเห็น สังคมที่ต้องการเห็นเป็นอย่างไร และพลังขับเคลื่อนต้องขึ้นมาจากรากหญ้า เมื่อถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยน ยกร่างออกมาเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญตรงนั้นนักกฎหมายจึงเข้ามามีบทบาทโดยการจับตามองอยู่ของสังคมในวงกว้าง

ซึ่งถ้ากลับไปใช้เวลาอ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างจริงจัง ผมเห็นว่ามีการปะทะของ ๒ อุดมการณ์ซึ่งน่าสนใจ และผมในฐานะที่พูดถึงเรื่องเศรษฐกิจบ่อย ก็ขอมองในด้านเศรษฐกิจคือ มันเป็นการปะทะกันของทุนนิยมโลกาภิวัตน์หรือการกล่าวอ้างของทุนนิยมเสรีด้านหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจคือ กระแสความคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน กระแสความคิดของการพัฒนาแบบพอเพียง และรัฐสวัสดิการ เช่น จะต้องจัดสรรที่ดินอย่างเป็นธรรม  การจะต้องมีการกระจายรายได้ การจะต้องมีการศึกษา ๑๒ ปีฟรี เป็นต้น

และอีกอุดมการณ์ที่ค่อนข้างชัดคือ เรื่องสิทธิมนุษยชน และก้าวไปถึงสิทธิชุมชนที่เห็นสะท้อนออกมาเยอะมาก สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมในรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษา การได้ประโยชน์ซึ่งการจัดสรรทรัพยากรในชุมชนของตนเอง บุคคลซึ่งรวมถึงการเป็นชุมชนท้องถิ่นย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณีของเดิม นี่มีกำหนดในรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งเป็นหมวดที่รัฐจะต้องปฏิบัติตาม แนวนโยบายแห่งรัฐเป็นแค่ Guideline เฉยๆ บุคคลย่อมมีสิทธิในการรับข้อมูลสาธารณะต่างๆ ถ้าดูตามนี้แล้ว ผมมีความรู้สึกว่า รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ แม้ว่ามีจุดที่น่าเป็นห่วง แต่ว่าจุดที่มีความเข้มแข็งก็มี แต่ประเด็นที่มีการพูดถึงคือ ไม่ได้มีการกำหนดลงไปว่า กรอบเวลาที่จะต้องออกกฎหมายลูกหรือปรับเปลี่ยนแก้กฎหมายเดิมให้เป็นไปตามเจตนารมณ์หรือเป็นไปตามรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องออกภายในเมื่อไร และใครรับผิดชอบ ตรงนี้ไม่ได้ถูกสะท้อนออกมาสู่การปฏิบัติจริง

การมีส่วนร่วมของประชาชน พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน การเมืองภาคพลเมือง  คนก็พูดกันและยอมรับกันว่า การเมืองในระบบบางครั้งมันก็ตีบตัน ส.ว.ชุดที่แล้ว อย่าง ส.ว.ในกรุงเทพฯ คนก็ยอมรับกันมาก หน้าที่ของ ส.ว. โดยตรงคือ การเสนอชื่อ ถอดถอนรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เคยทำได้สักคนไหม ก็ติดกระบวนการว่ามาไม่ถึง อะไรก็แล้วแต่ กระบวนการในระบบมันไปไม่ถึง แต่ปรากฏว่าพี่รสนาเอารัฐมนตรีเข้าคุกไป ดำเนินการแล้วก็เข้าคุกไป หรือแม้กระทั่งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจซึ่งหลายคนไม่สบายใจ และมองว่า นี่มันเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน การเมืองในระบบทำอะไรไม่ได้ ขยับไม่ได้ แต่มีกลุ่มคนดำเนินการแล้วทำให้ตรงนี้ยุติลงได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าการพัฒนาการเมืองภายในระบบจะไปอย่างไร ณ วันนี้ผมมีความรู้สึกว่าการเมืองภาคพลเมืองได้สถาปนาตนเองในระดับหนึ่งแล้ว และจำเป็นที่จะต้องไม่ปล่อยให้ตรงนี้หลุดออกไป จำเป็นต้องให้เห็นว่าสังคมที่ดีได้ การเมืองภาคพลเมืองจะต้องดำรงอยู่

จริงๆ แล้วประเด็นจะแก้อีกกี่ครั้ง ผมว่าไม่ใช่ประเด็นเท่ากับสิ่งที่เราจะต้องปฏิรูปจริงจังคือ ทัศนคติของสังคมในการยอมรับการที่จะต้องเป็น Active Citizen เป็นประชาชนที่ตื่นตัวและตื่นรู้ เป็นประชาชนที่มีสิทธิที่จะปฏิสัมพันธ์กับการเมืองเพราะเป็นบทบาทของเรา และในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็บอกว่าเป็นหน้าที่ด้วยซ้ำ...”

------------------------------------------------------------------------- 

หลากหลายทรรศนะ ต่อการปฏิรูปการเมือง

Image

พระสังฆราชบุญเลื่อน  หมั้นทรัพย์
มุขนายก ยส.

“...คำว่า “ปฏิรูป” น่าจะต้องใช้คำภาษาอังกฤษว่า Transformation ในแง่ปรัชญาจะหมายความว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบยังไม่พอ เราต้องการการเปลี่ยนแปลงซึ่งลึกซึ้งกว่านั้น เพราะว่ารูปแบบมันเป็นสิ่งที่ปรากฏภายนอก สิ่งที่ปรากฏภายนอกเราจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ได้ แต่เราต้องคำนึงถึงเนื้อแท้…

...ที่คุณรสนาบอกว่าการเมืองเราถือว่าเป็นสิ่งสกปรก สกปรกเสียจนฝ่ายศาสนาส่วนใหญ่บอกว่าอย่าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองเลย เดี๋ยวทำให้ศาสนามัวหมอง ผมว่าความคิดนี้ผิดอย่างมากเลยนะ เพราะถ้าการเมืองมันสกปรก ศาสนานี่จะต้องเป็นเกลือที่จะไปดองให้สะอาด ถ้าการเมืองมันนำไปสู่มุมมืด ศาสนาจะต้องเป็นความสว่างให้การเมือง และเป็นหน้าที่ของศาสนาที่จะต้องสอนคนให้รู้ว่า เราต้องปฏิบัติต่อกันและกันแบบมนุษย์ เราต้องเปลี่ยนทัศนคติของเราเกี่ยวแก่ชีวิตมนุษย์ด้วยกัน…

...การปฏิรูปการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ไม่มีวันจบ แต่เราก็ต้องทำ ...เพราะฉะนั้น พวกเราที่อยู่ในที่นี้ซึ่งทำงานทางศาสนาเพื่อจะทำให้สังคมเป็นสังคมที่ดีขึ้น แต่อย่าหวังว่าจะเป็นสังคมที่สมบูรณ์ เพราะจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อวาระสุดท้าย...”


-------------------------------------------------------------------------
 

หลากหลายทรรศนะ ต่อการปฏิรูปการเมือง

Image

คุณกัทลี  สิขรางกูร
ศูนย์พัฒนาประชาชาติแห่งเอเชีย ACPP - Hotline Asia
(Asian Center for the Progress of People)

“...เราควรปลูกฝังการอ่านและทำความเข้าใจรัฐธรรมนูญกันตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เราจะสร้างคนอย่างนี้ไปในอนาคต เราต้องเริ่มในโรงเรียนหรือเปล่า ใครทำงานอยู่ในโรงเรียน ทำอะไรได้ไหม อย่างการตรวจสอบ ส.ส. ส.ว. ลองให้เด็กเริ่มเก็บข้อมูลกันว่า เริ่มมีการประชุมหรือยัง ใครเข้าใครไม่เข้า เป็นตัวช่วยตรวจสอบ เป็นกิจกรรมเล็กๆ ทำเพื่อการมีส่วนร่วมได้หรือเปล่า หรือถ้าเว็บไซท์ในประเทศไทยถูกรัฐบาลปิด เราก็อาศัยเว็บไซท์จากภายนอกลงข้อมูลเกี่ยวกับประวัติ และการทำงานของส.ส.ไว้เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกครั้งต่อไป

หรืออย่างการนำเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนมาใช้และให้การศึกษากับชาวบ้านในชุมชน เขาก็จะหลุดจากวัฒนธรรมการพึ่งพา การอุปถัมภ์ของรัฐบาล แต่เขาจะมองว่าเป็นสิทธิของเขาที่ต้องได้สิทธิเรื่องสุขภาพ โครงการ 30 บาท เป็นสิทธิของเขาไม่ใช่เป็นเรื่องที่รัฐบาลยื่นมือมาให้อุปถัมภ์เขา เพราะฉะนั้นเราจะใช้เรื่องของสิทธิมนุษยชนไปช่วยชาวบ้านเพื่อให้เขายืนได้ด้วยแข้งขาของเขาเอง และทำหน้าที่จับตารัฐบาลต่อไปในอนาคตได้อย่างไร ...”

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
ปฏิรูปการเมืองและทางออกสังคมไทย ผ่านมุมมองความคิด ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ พิมพ์
Tuesday, 22 August 2006


ปฏิรูปการเมืองและทางออกสังคมไทย
ผ่านมุมมองความคิด ศ.ดร.นิธิ  เอียวศรีวงศ์

วรพจน์  สิงหา  สัมภาษณ์

ภาพจาก www.midnightuniv.org

ความล้มเหลวประการสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ หรือรัฐธรรมนูญที่เชื่อกันว่าเป็นฉบับประชาชน คือ การเปิดช่องทางให้ระบอบทักษิณเกิดขึ้นในสังคมไทย ช่วงเวลาที่ผ่านมา หัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในระดับกลุ่มเล็กๆ และระดับชาติ คือ การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒ และมีนักวิชาการ รวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างมากมาย

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ คืออีกท่านหนึ่งที่สังคมไทยให้ความเคารพในทรรศนะ มุมมอง ท่านเป็นนักวิชาการที่สามารถเข้าใจวัฒนธรรมทั้งตะวันออกและตะวันตกได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญคือมีความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างที่หาได้ไม่ง่ายนักในสังคมที่คนส่วนใหญ่สนใจแต่การแข่งขันในทางวัตถุ ดังที่ท่านออกมายืนเคียงข้างคนยากจน ใช้วิชาความรู้ต่อสู้เพื่อความถูกต้องของสังคมไทย แทนที่จะเสาะแสวงหายศ ทรัพย์ และชื่อเสียงดังเป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ข้อเสนอและความคิดของอาจารย์นิธิ ลุ่มลึกและกว้างขวางควรแก่การรับฟัง โดยเฉพาะในยุคสมัยที่สังคมไทยกำลังแสวงหาทางออกจากวิกฤติด้านสติปัญญาอย่างในปัจจุบัน


การปฏิรูปการเมืองที่กำลังพูดถึงกันมากในตอนนี้ ต้องทำอย่างไร เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น?

ต้องเข้าใจก่อนว่า ความพยายามที่จะแก้ปัญหาของรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐  หรือเชื่อกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกเหมือนกัน คือไม่มีการแก้ปัญหาอะไรที่สะอาดร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม แม้รัฐธรรมนูญพยายามจะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ การตรวจสอบรัฐ หรือการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามจะแก้ปัญหาการเมืองแบบนักเลือกตั้ง หมายความว่า มีคนที่ได้คะแนนจากหัวคะแนนที่ตัวเองมีเครือข่ายอยู่ในชนบท และเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่จำเป็นต้องตอบสนองความต้องการอะไรของประชาชนเลย เพราะว่าเขาได้มาจากหัวคะแนนอีกที ซึ่งคนที่ร่างรัฐธรรมนูญก็อยากจะแก้ไขในตรงนี้ โดยใช้สูตรการแก้คือ ต้องมีพรรคการเมืองที่สามารถคุมสมาชิกได้  และพรรคการเมืองแข่งขันกัน โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี ๔๐ สร้างเงื่อนไขที่จะทำให้พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ พรรคการเมืองขนาดเล็กจะเสียเปรียบ ซึ่งแต่ก่อนนี้ พรรคการเมืองไม่มีความหมาย เพราะนักการเมืองก็ย้ายไปย้ายมาตลอดเวลา แต่ก็หวังกันว่าเมื่อพรรคการเมืองมีอำนาจต่อรองกับนักการเมืองบ้าง มันก็จะบังคับตัวนักการเมืองให้เป็นนักการเมืองที่ดี ตอบสนองต่อประชาชนได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น เงื่อนไขต่างๆ ก็ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ขึ้น แข็งขึ้น คุมนักการเมืองได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน คำว่า “พรรคการเมืองใหญ่” หมายความว่า คนที่สามารถเล่นการเมืองได้ต้องมีเงิน ยิ่งพรรคใหญ่ก็ต้องมีเงินเยอะ พอดีได้คุณทักษิณมาซึ่งก็มีเงินแยะด้วย เพราะฉะนั้น คุณทักษิณกับพรรคพวกจึงเอาเงินมาลงทุนและทำพรรคการเมือง และก็ได้พรรคใหญ่จริงๆ ตามที่รัฐธรรมนูญต้องการ แต่ว่าไม่สามารถทำลายระบบนักเลือกตั้งไปได้ เพราะนักเลือกตั้งก็เอาเงินจากคุณทักษิณไปเลี้ยงเครือข่ายหัวคะแนนเพื่อให้ได้คะแนนมา ร้ายไปกว่านั้น คุณทักษิณยังช่วยพวกเหล่านี้โดยการทำนโยบายที่ทำให้เครือข่ายหัวคะแนนได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐบาล หรือที่เรียกว่านโยบายประชานิยม มันจึงยังเหมือนเดิม เป็นแต่เพียงว่า คนที่เข้ามามีอำนาจแทนที่จะเป็นมุ้งของนักเลือกตั้งหลายๆ มุ้งมารวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาล กลับกลายเป็นพรรคเดียว แต่ภายในนั้นก็มีหลายๆ มุ้งเหมือนเดิมนั่นแหละ ซึ่งไม่ได้แตกต่างอะไรจากเดิมที่ผ่านมา


อาจารย์หมายถึง เมื่อปฏิรูปการเมืองครั้งที่สอง อาจจะไม่แตกต่างไปจากเดิม?

Imageปัญหาเรื่องนี้ จะแก้โดยวิธีการที่คิดง่ายๆ แต่เพียงว่าทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น คิดว่าคงไม่สำเร็จหรอก พร้อมๆ กันไปนั้น ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ทำอีก ๒-๓ อย่างที่คิดว่ามีความสำคัญ คือทำให้เกิดการตรวจสอบอำนาจรัฐมากขึ้น คือ ต้องการจะเห็นฝ่ายบริหารเข้มแข็ง ซึ่งก็ได้ผลจริง คือฝ่ายบริหารเข้มแข็ง แต่ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญก็วางเงื่อนไขในการทำให้ฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งนี้ถูกตรวจสอบได้ง่ายขึ้น จึงมีการตั้งองค์กรอิสระ ซึ่งเราไม่เคยมีมาก่อน ๑๑ องค์กร แต่ว่ายังตั้งไม่หมด เพื่อจะเป็นการตรวจสอบรัฐบาล เปิดให้อำนาจประชาชนในการออกกฎหมายเอง เปิดให้ประชาชนมีอำนาจในการเข้าชื่อกันถอดถอนตำแหน่งทางการเมืองและอื่นๆ หรือให้หลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อ แต่ทั้งหมดเหล่านี้ถูกทำลายหมดเลย ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

เพราะฉะนั้น ส่วนดีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มี เราก็ต้องกลับมาคิดว่า ความล้มเหลวในการทำให้เกิดการตรวจสอบ มันหลุดไปตรงไหน มันหายไปตรงไหน และเราจะป้องกันมันอย่างไรในการจะทำให้สิ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้วางเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่ององค์กรอิสระ เสรีภาพของสื่อ หรืออำนาจของประชาชน มันหายไปตรงไหน ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาและให้มันมั่นคงแข็งแรงกว่านี้ให้ได้ ซึ่งจะทำอย่างไร ก็ต้องมาช่วยกันคิด และที่สำคัญที่สุดในการปฏิรูปการเมืองก็คือต้องกระจายอำนาจไปสู่กลุ่มคนรากหญ้าในท้องถิ่น การมีส่วนร่วมของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ใช้นโยบายหลอกชาวบ้านและไม่ใช่ปฏิรูปการเมืองจากนักการเมืองหรือกลุ่มคนที่มีอำนาจต่างๆ


การตรวจสอบอำนาจรัฐเป็นจริงมากน้อยเพียงใด?

การตรวจสอบก็มี ๒ อย่าง คือ ๑. สร้างองค์กรอิสระ  ๒. สร้างบทบาทของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกกฎหมายเองทั้งหมด รวมทั้งการดูแลรักษาทรัพยากรในระดับหนึ่งด้วย เพียงพอหรือไม่ เรามาเถียงกันได้ แต่ว่าจะปฏิรูปการเมือง เราต้องมาถกเถียงกันว่า การที่รัฐธรรมนูญบอกว่า เรามีสิทธิในการที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรท้องถิ่นดั้งเดิม หรือจะคิดทำโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งต้องผ่านการประชาพิจารณ์ และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้เพียงพอหรือยัง ซึ่งอาจจะไม่พอก็ได้ เช่น การทำประชาพิจารณ์ในเวลานี้ รัฐไม่ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการประชาพิจารณ์ที่ดีมาเลย ยังใช้ระเบียบสำนักนายกฯ มาใช้ในระเบียบการประชาพิจารณ์ ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร เพราะว่า ทั้งรัฐและเอกชนเมื่อทำโครงการเรียบร้อยแล้ว ประชาพิจารณ์เป็นแต่เพียงการโฆษณาให้ประชาชนยอมรับ ซึ่งประชาพิจารณ์มันต้องเริ่มต้นตั้งแต่ตอนที่โครงการยังไม่ได้เริ่ม ไม่ใช่มาประชาพิจารณ์ในตอนที่ลงมือสร้างหรือสร้างกันเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันก็ต้องผลิตความรู้ให้กับทั้งสองฝ่ายด้วย เช่น บางประเทศ บริษัทเอกชนที่ทำโครงการขนาดใหญ่ ต้องทำ EIA (Environmental Impact Assessment) หรือศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่กฎหมายไทย เราให้ตัวบริษัทไปจ้างบริษัทอื่นมาทำ EIA ให้ และจะต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อที่จะให้ EIA ผ่าน จะโกหกอย่างไรก็ได้ ซึ่งทุกบริษัทที่มีอยู่เวลานี้ก็โกหกกันหมด แทนที่กฎหมายจะบังคับ สมมุติว่า โครงการ ๑,๕๐๐ ล้านบาท คุณต้องเสีย ๑๕๐ ล้านบาท ในการทำ EIA ซึ่ง ๑๕๐ ล้านบาท ต้องยกไปให้รัฐบาล และรัฐบาลก็ต้องไปจ้างบริษัทอื่นมาเป็นผู้ทำ EIA เอง บริษัทนั้นไม่มีข้อผูกมัดกับโครงการ คือถ้าทำออกมาแล้ว เห็นว่าไม่ควรสร้างโครงการนี้ หรือควรสร้าง ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับตัวโครงการโดยสิ้นเชิง ในบางประเทศ ถึงขนาดที่มีการทำ EIA ซ้อนกัน คือรัฐบาลไม่ได้จ้างบริษัทเดียวทำ แต่ยังจ้างอีกบริษัทหนึ่งด้วยเพื่อที่จะตรวจสอบกันและกัน

เวลานี้เรามีตาแก่อยู่จำนวนหนึ่ง ที่นั่งเป็นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมอยู่ในกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม คนพวกนี้แทบจะไม่เคยออกจากกรุงเทพฯ เลย แต่เป็นผู้อนุมัติโครงการ แล้วก็รอประชาชนเข้ามาร้องเรียน แต่ชาวบ้านร้องเรียนให้ตายกลับไม่สนใจ พวกเขาก็เซ็นอนุมัติต่อไป ซึ่งคนเหล่านี้อาจจะเป็นตาแก่ที่บริสุทธิ์ อาจจะเป็นคนที่ดีก็ได้ แต่ว่าคุณสามารถประเมิน EIA ได้อย่างไรในขณะที่นั่งอยู่เฉยๆ


ถ้าชาวบ้านจะหันมาตรวจสอบรัฐบาล?

Imageปัญหาที่ยังมีอยู่ คือคนยากจนในประเทศเรา ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองได้ หรืออาจจะหมายถึงการตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรด้วยก็ได้ นอกจากนี้ ยังเข้าไม่ถึงทรัพยากรทางการเมืองสมัยใหม่ด้วย คือพวกสื่อนานาชนิด เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เข้าถึงได้น้อยมากหรือเกือบจะเรียกว่าเข้าไม่ถึงเลย จะเข้าถึงสื่อแต่ละทีก็เหมือนต้องทำอะไรที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย หรือหลายคนบอกว่ามีท่าทางส่อไปในทางความรุนแรงจึงได้รับความสนใจจากสื่อทีหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจในแง่ของปัญหาของพวกเขาอยู่ดี ซึ่งข้อเรียกร้องหรือแนวทางการแก้ปัญหาของชาวบ้านมักไม่ได้รับความสนใจเท่ากับการที่พวกเขาพากันเดินขบวนเข้ามากรุงเทพฯ ที่หลายคนบอกว่าคนจนมาบุกทำเนียบ สร้างความวุ่นวาย และเมื่อมองในด้านกฎหมาย การศึกษา จะพบว่าคนจนก็เข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน เอาแค่ว่าในขณะที่เรียนหนังสือมา มีใครสักคนไหมที่พูดถึงเรื่องคนรากหญ้าบ้าง ระบบการศึกษาก็สอนให้รังเกียจคนจนหรือความยากจนด้วย การทำประชาพิจารณ์ก็เป็นทรัพยากรทางการเมืองซึ่งคนจนเข้าไม่ถึงการทำประชาพิจารณ์อีกเหมือนกัน และตัวกฎหมายเองก็กีดกันคนจนให้หลุดออกไปจากการใช้ทรัพยากรด้วยซ้ำไป


แปลว่า ที่ผ่านมารัฐบาลและสังคมไทยไม่เข้าใจคำว่า “คนจนหรือความยากจน” อย่างแท้จริง?

เข้าใจหรือเปล่า ผมไม่ทราบ เพราะความยากจนในประเทศไทยนั้นเกิดจากโครงสร้าง ไม่ได้เกิดจากการที่ไม่มีเงินในกระเป๋า และรัฐบาลพยายามบอกชาวบ้านว่า พวกเขายากจนต้องเอาเงินไปให้ ปัญหาในเชิงโครงสร้างทำให้คนเหล่านี้จน แต่ทีนี้รัฐบาลแทนที่จะแก้ไขที่โครงสร้าง กลับมาแก้ที่ว่าเอาเงินไปแจก เอานโยบายไปให้ และตอนนี้ไม่มีวี่แววอะไรที่รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่หวังว่าพี่น้องระดับรากหญ้าจะพยายามผลักดันในสิ่งที่ต้องการให้เป็นนโยบายให้มากขึ้น เพราะสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ ในระดับรากหญ้าคิดว่าเขาเข้าใจปัญหาเรื่องโครงสร้างมากขึ้น และเขาเริ่มผลักดันในเรื่องโครงสร้างมากขึ้น เช่น กลุ่มที่ต่อต้านเขื่อนไม่ได้ต่อต้านเขื่อนเฉพาะที่บ้านตนเองอย่างเดียว แต่เขารู้ว่าเขื่อนไม่ได้ทำประโยชน์แก่ใคร หรือกลุ่มที่ต่อต้านเรื่องโรงไฟฟ้า ก็ไม่ได้ต่อต้านเรื่องโรงไฟฟ้าอย่างเดียว แต่ขยายต่อไปถึงเรื่องนโยบายพลังงาน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประเด็นระดับโครงสร้าง เช่น เรื่องพลังงาน ในเวลานี้ เราเจอปัญหาเรื่องน้ำมันแพง แล้วรัฐบาลก็กำลังคิดถึงเรื่องพลังงานทดแทน หมายความว่าสิ่งที่คุณมีอยู่ในเวลานี้คือ แก๊ส ก็ใช้แก๊ส และเวลานี้ กฟผ. ก็กำลังหันไปสู่ถ่านหิน เพราะถือว่ามันทดแทนน้ำมัน แต่โลกปัจจุบัน เรากำลังพูดกันถึงพลังงานหมุนเวียน ไม่ใช่พลังงานทดแทน ให้หมุนเวียนนำกลับมาใช้ได้อีก เช่น แสงแดด ลม น้ำ แต่รัฐบาลไม่สนใจเรื่องนี้เลย เพราะว่าพลังงานทดแทนจะทำให้เขาสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเป็นพันๆ เมกะวัตต์ และได้ประโยชน์เป็นกอบเป็นกำ ซึ่งการรวมศูนย์พลังงาน ถือเป็นการรวมศูนย์อำนาจในแง่หนึ่ง และมันมีคนอยู่เพียงประมาณ ๑๐ กว่าคนเท่านั้นที่เป็นคนบอกคุณว่า ค่าเอฟทีราคาเท่าไหร่

นโยบายรัฐบาลที่ผ่านทั้งหมด รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลคุณทักษิณเองด้วย ไม่ได้มุ่งที่จะไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง คือความขัดแย้งระหว่างคนชั้นกลางกับคนรากหญ้า เป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง แต่คุณทักษิณใช้วิธีการเอาเงินไปให้คนรากหญ้า แต่ไม่แก้โครงสร้าง ปัญหาในตัวโครงสร้างจึงยังอยู่อย่างเดิม ซึ่งค่อนข้างเอียงไปเข้าข้างคนชั้นกลาง แต่ว่าขณะเดียวกันก็ปลอบใจชาวบ้านโดยการเอาเงินและนโยบายนานาชนิดไปให้ เช่น ยืดอายุการใช้หนี้ ธกส. หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ ไม่ได้แตะลงไปในปัญหาเชิงโครงสร้างเลย เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องใหญ่ เช่น มีคนประมาณ ๑๐-๒๐ ล้านคนในประเทศไทยที่ไม่มีที่ดินทำกิน แล้วคิดว่าการไม่มีที่ดินทำกินมาจากอะไร มันมาจากการที่คุณไปปล่อยให้คนใช้ที่ดินเป็นสินค้าเก็งกำไร ซึ่งอันตรายที่สุดเพราะว่าที่ดินเป็นสินค้าที่มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของโลก ไม่มีที่ไหนจะปล่อยให้คุณใช้เก็งกำไรได้ และที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะทำเกษตรหรืออุตสาหกรรม เพราะเราลอยในอากาศไม่ได้ เราต้องมีที่ดิน เพราะฉะนั้นสินค้าที่เป็นปัจจัยในการผลิตพื้นฐานขนาดนี้ คุณปล่อยให้ใครเอาไปเก็งกำไร ไม่ได้ สรุปง่ายๆ ต้องปฏิรูปที่ดิน แต่การปฏิรูปที่ดินก็เป็นเรื่องใหญ่มากๆ เลย และใครล่ะที่มีที่ดินอยู่มากมาย ก็คือกลุ่มหัวหน้าของคนชั้นกลางทั้งหลาย เวลาที่นักการเมืองเปิดแจ้งทรัพย์สินให้กับ ปปช. นักการเมืองแต่ละคนถือที่ดินเป็นหมื่นไร่ทั้งนั้น เช่น คุณสุดารัตน์มีที่ดินเป็นหมื่นไร่ และไม่ใช่แค่นักการเมืองอย่างเดียวเท่านั้น นักธุรกิจหรือใครต่อใครก็ไปถือที่ดินกัน เพราะในประเทศไทยไม่มีอะไรปลอดภัยเท่าที่ดิน และถ้าถือกฎหมายแบบนี้ ประเทศเราก็ฉิบหายอย่างแน่นอน

เวลาที่เราพูดถึงความยากจน ผมคิดว่ามันมีความแตกต่างระหว่างความยากจนในอดีตกับปัจจุบัน ซึ่งคงเคยได้ยินกันเสมอที่พูดกันว่า “คนจนคนรวยก็มีเหมือนกันทุกสังคม” หรือพูดกันว่า “ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน” ซึ่งจริงๆ แล้ว ความยากจนในสังคมไทยทุกวันนี้เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม มันดำรงอยู่ได้ เพราะระบบต่างๆ ในสังคมเป็นผู้กระทำ ตัวบุคคลเป็นเพียงเหยื่อเท่านั้น และที่น่าตกใจก็คือ มีจำนวนคนที่กำลังจนลงไปเรื่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกที เพราะมีคนอีกมากมายที่กำลังถูกกันออกไปจากทรัพยากรที่ตัวใช้อยู่ เช่น ท่อก๊าซที่ภาคใต้ โรงไฟฟ้า หรือการสร้างเขื่อนที่ระบาดไปทั่วประเทศ

รัฐบาลอาจจะเข้าใจคนจนก็ได้ แต่โครงสร้างที่อยุติธรรมมันให้ประโยชน์ต่อคนกลุ่มหนึ่งด้วย เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงไม่อยากจะไปแตะตัวโครงสร้าง ก็เหมือนกับเรื่องที่ดิน หรือเรื่องพลังงาน โรงไฟฟ้าทุกโรง เขื่อนทุกเขื่อนที่สร้างขึ้นมา ถามว่าสะอาดเหรอ ก็โกงกันฉิบหายวายป่วงหมดทั้งนั้น


การมีส่วนร่วมของกลุ่มคนรากหญ้าจะเป็นจริงมากน้อยเพียงใดในการปฏิรูปการเมือง?

จนถึงปัจจุบัน โอกาสของคนรากหญ้าดีขึ้นไหม มีส่วนร่วมมากขึ้นไหม ผมว่ามันก็ไม่ได้ดีขึ้น เช่น การปฏิรูปการเมืองในเวลานี้ ถามว่าคนรากหญ้าเข้ามามีส่วนร่วมอยู่แค่ไหน คำตอบคือมี แต่มันน้อย ซึ่งเวลานี้มีกลุ่มที่เป็นคนชั้นกลางเริ่มเคลื่อนไหวในเรื่องปฏิรูปการเมืองโดยการไม่ปล่อยให้ไปแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียว เพราะไม่มีประโยชน์อะไร มีคนรากหญ้าอยู่จำนวนหนึ่งที่คิดว่าจะเข้ามาทำอะไรได้บ้าง เช่น กลุ่มสมัชชาคนจน ก็คิดกันว่าต้องมีประชาธิปไตยที่กินได้ แต่กำลังเขาก็น้อย นักวิชาการที่จะไปช่วยก็น้อย เพราะฉะนั้นข้อเสนอของเขาที่ออกมาจึงมีรูโหว่เต็มไปหมด แม้แต่กลุ่มรากหญ้าที่รู้แล้วว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ก็ช่วยตัวเองได้ไม่มากเท่าไหร่ เพราะว่าไม่มีกำลังของคนชั้นกลาง ซึ่งกำลังในที่นี้ไม่ได้หมายถึงจำนวน แต่หมายความรวมถึงความรู้ เครื่องไม้เครื่องมือที่จะเข้ามาช่วย เช่น มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ช่วยอะไรพวกชาวบ้านเลย คือเขาไม่มีกำลังที่จะศึกษาอะไรได้เลย

“ชุมชนเข้มแข็ง” เป็นถ้อยคำที่ยังไม่เป็นจริง และอำนาจรัฐเวลานี้ก็ไม่ได้ถูกตรวจสอบเลย ทุกสังคมอำนาจรัฐต้องถูกตรวจสอบ แต่ต้องถามต่อไปว่า ใครเป็นคนตรวจสอบ คำตอบก็คือคนอย่างคุณสนธิ คนที่ไม่ได้สัมพันธ์กับคนรากหญ้าเลยเป็นคนตรวจสอบ เป็นคนที่มีสมรรถภาพจะไปตรวจสอบ แต่ตัวรากหญ้าไม่มีสมรรถภาพที่จะตรวจสอบรัฐบาลได้


แล้วคนชั้นกลางเข้าใจคนรากหญ้ามากน้อยแค่ไหนครับ?

Imageคนชั้นกลางไม่เคยเข้าใจคนรากหญ้าหรอกครับ ที่จริง เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในระยะหลัง เช่นในปี ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันแพง ปัญหาภาคใต้ที่ไม่จบ อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งหมดเหล่านี้ คนชั้นกลางกับคนรากหญ้า ถามว่ามีผลประโยชน์สอดคล้องกันไหม คำตอบคือไม่สอดคล้องกันหรอก แต่ว่ารัฐบาลที่ผ่านๆ มาทุกรัฐบาล มักจะวางนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อคนชั้นกลางมากกว่าคนระดับรากหญ้า คุณทักษิณประสบความสำเร็จในการทำให้นโยบายของคุณทักษิณนั้น เอื้อประโยชน์ต่อคนรากหญ้า โดยไม่ขัดต่อประโยชน์ของคนชั้นกลาง จนกระทั่งเมื่อถึงปี ๒๕๔๘ ความสามารถนี้ของคุณทักษิณหมดไป เพราะเศรษฐกิจมันเปลี่ยนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยแพงขึ้น น้ำมันแพงขึ้น อย่างที่กล่าวมา ซึ่งคุณทักษิณต้องเลือกแล้ว ต้องเลือกว่าจะทำอย่างไร ในเมื่อน้ำมันแพงขึ้น สินค้าแพงขึ้น จะทำอย่างไร จะต้องเลือกระหว่างรากหญ้ากับคนชั้นกลาง ว่าจะเอาประโยชน์ของใคร ซึ่งคุณทักษิณค่อนข้างจะเลือกเอาประโยชน์ของคนรากหญ้ามากกว่า และนั่นคือเหตุผลที่มีคนเป็นแสนไปร่วมกับคุณสนธิ เพราะความไม่มั่นใจในความมั่นคงของประโยชน์ของตนเองภายใต้คุณทักษิณอีกต่อไปแล้ว แต่ก่อนนี้ไม่เป็นไร คุณทักษิณจะเอาเงินกี่หมื่นล้านไปโปรยให้คนรากหญ้าก็ไม่เป็นไร ไม่เดือดร้อน เพราะอย่างไรคุณทักษิณก็สัญญาว่าจะทำรถไฟฟ้า หรืออะไรต่างๆ ในเมือง ซึ่งเงินยังไหลเข้ามาในกระเป๋าของคนชั้นกลาง เพราะฉะนั้นจึงไม่มีปัญหาอะไร แต่ตอนนี้ไม่ได้ เพราะเงินที่สร้างรถไฟฟ้าก็ไม่มีแล้ว หมดแล้ว พอเกิดความตึงเครียดตรงนี้ขึ้นมา แล้วคุณทักษิณก็ไม่รู้จะแก้ปัญหานี้อย่างไร ซึ่งแน่นอน แกต้องเลือกในสิ่งที่เป็นคะแนนเสียงของตัวเอง


ทั้งรัฐบาลและประชาชนหลายคนพูดว่าเวลาชาวบ้านประท้วง คือการสร้างความวุ่นวายให้พวกเขา?

ใช่ ตราบใดที่คนชั้นกลางยังงี่เง่าขนาดนี้ โอกาสที่บ้านเมืองจะพัฒนาไปสู่ความสงบ มันก็ยาก และยังต้องเผชิญกับนักการเมืองที่เป็นที่นิยม หรือ Populist อย่างคุณทักษิณตลอดไป คนชั้นกลางทำได้แต่เพียงด่าเขาอย่างเดียว ด่าคนรากหญ้าโดยไม่มีความเข้าใจว่า ที่จริงคนชั้นกลางเองก็ผูกอยู่กับพี่น้องคนรากหญ้าด้วย

ผมหวังว่าอย่างนี้ ก่อนหน้าคุณทักษิณ ในสมัยคุณชวน จะดีเลวอย่างไรก็แล้วแต่ แกตีหัวชาวนาจนตายบ้าง อะไรบ้าง แต่ก็ยังไม่โหดเหี้ยมเท่าสมัยนี้ คือผมเชื่อว่าการเคลื่อนไหวในท้องถนนของชาวนา จะชอบหรือไม่ก็แล้วแต่ ต้องเปิดให้มันมี และต้องประกันความปลอดภัยให้พวกเขา แต่ภายใต้รัฐบาลทักษิณ ตำรวจสามารถลุยเข้าไปตีหัวชาวบ้านที่เขามาประท้วงโดยสงบสันติ อย่างกรณีที่อำเภอจะนะ ซึ่งศาลเพิ่งพิพากษาการกระทำของรัฐว่าผิดจริง อย่างนี้ทำได้อย่างไร เพราะฉะนั้น หากคนชั้นกลางหวังให้บ้านเมืองเราจะพัฒนาต่อไปโดยสงบได้ ต้องเปิดให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเรียกร้องและชุมนุมโดยสงบ ซึ่งคนชั้นกลางต้องทนกับสิ่งเหล่านี้ และอย่ายอมให้รัฐบาลใช้ตำรวจเที่ยวไปตีหัวชาวบ้าน


อาจารย์คิดอย่างไรกับทฤษฎีสองนัคราประชาธิปไตย ที่ว่าคนชนบทตั้งรัฐบาล คนกรุงล้มรัฐบาล?

เมื่อตอนที่อาจารย์เอนกพูดมันยังจริงอยู่ ปัจจุบันนี้ก็ยังจริงอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ว่าในขณะเดียวกัน มันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในสังคมไทยเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทักษิณ นั่นคือนโยบายที่เรียกว่าประชานิยมหรืออะไรก็แล้วแต่ ที่คุณทักษิณทำ มันจะดีหรือไม่ ช่างมันก่อน แต่มันไปสอนสิ่งหนึ่งให้คนในระดับรากหญ้ารู้ว่า เขามีอำนาจที่จะกำหนดนโยบายรัฐบาลได้ เพราะว่า เขาเลือก ครั้งนี้เขาเลือกชัดๆ เลยว่า เขาต้องการรัฐบาลที่เอาเงินมาให้เขา และเป็นความต้องการจากตัวเขาเองที่พอใจในตัวคุณทักษิณด้วย ผมว่าไม่เคยมีครั้งไหนที่คนระดับรากหญ้าลงมาตัดสินใจในเชิงนโยบายเอง แต่ก่อนนี้เลือกคนตามแต่หัวคะแนนจะบอก แต่ครั้งนี้ นอกจากหัวคะแนนจะบอกพวกเขาแล้ว พวกเขาเองก็พอใจคุณทักษิณ เพราะว่าคุณทักษิณทำนโยบายที่เขาพอใจ เขาจะผิดหรือถูกไม่สำคัญ ฉะนั้น ทฤษฎีของอาจารย์เอนก ตั้งอยู่บนทฤษฎีที่ว่า คนระดับรากหญ้า unpoliticize ไม่ได้ถูกทำให้เป็นการเมือง แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว พวกชาวบ้านจำนวนมาก ได้ถูกทำให้เป็นการเมืองอย่างชัดเจนแล้ว เพราะฉะนั้น ทฤษฎีนี้จะอธิบายต่อไปได้หรือไม่ และยังจะใช้ได้ต่อไปหรือไม่ ก็ไม่แน่


การปฏิรูปการเมืองพอจะเป็นทางออกของสังคมไทยได้ไหม?

ผมหวังว่า ถ้าเราได้เรียนรู้จากปรากฏการณ์ที่ผ่านมา เช่น การประท้วงเมื่อหลายเดือนก่อนไปบ้าง คนในเมืองต้องให้ความอดทนต่อสิ่งที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของคนระดับรากหญ้ามากกว่านี้ ไม่ใช่อยู่ๆ เขามาประท้วงก็ไปด่าเขาว่าโง่ ถ้าอย่างนี้ไปไม่รอด และก็จะเป็นประชาธิปไตยจอมปลอมอีกชนิดหนึ่งที่มีคนอย่างคุณสนธิ คนแบบนักวิชาการใหญ่ๆ ทั้งหลายเป็นผู้คุมอำนาจทางการเมืองหมด ใครเป็นนายกฯ ก็ต้องไปเสวนากับคนเหล่านี้ ซึ่งผมว่ามันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเราต้องอดทนและเคารพสิทธิของเขา และอำนาจการควบคุมรัฐเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ สื่อที่อิสระ ต้องคิดให้ดีๆ ว่าเราจะทำกันอย่างไรถึงจะประกันอิสรภาพของกลไกต่างๆ ทั้งทางการเมืองและสังคมที่จะเป็นตัวควบคุมอีกทีหนึ่ง ซึ่งการปฏิรูปต้องไม่ให้อยู่ที่นักการเมืองหรือนักวิชาการ หรือคนชั้นกลาง ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันคิดต่อไป


ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างกว้างขวาง เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (www.midnightuniv.org) และ "สำนักข่าวประชาธรรม" (www.newspnn.net) เพื่อสนับสนุนสร้างความเข้มแข็ง และเป็นปากเสียงให้กับสามัญชนหรือคนยากจนทั่วประเทศ ซึ่งถูกโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมกันของสังคม ปิดกั้นโอกาสทั้งทางด้านการศึกษา การรับรู้ข่าวสาร และการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและการเมือง อย่างเท่าเทียมกับอภิสิทธิ์ชน

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
เยาวชนกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดย ฝ่ายเผยแพร่เพื่อการมีส่วนร่วม พิมพ์
Tuesday, 22 August 2006
  
ภาพจาก www.rangkids.comภาพจาก www.rangkids.comภาพจาก www.rangkids.com

เยาวชนกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง

โดย ฝ่ายเผยแพร่เพื่อการมีส่วนร่วม


แรงคิด - ต้นกล้าประชาธิปไตย

“เรามองว่าเยาวชนสนใจเรื่องบ้านเมืองน้อยมาก หลายคนเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัวมากๆ หรือคิดว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ จะมาทำทำไม โดยที่ไม่มองว่าเขาเองก็ต้องรับผลกระทบนี้ในอนาคตด้วย” 

ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย หรือ โน้ต เด็กหนุ่มวัย ๑๙ ปี นักศึกษาชั้นปีที่ ๒ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มแรงคิด บอกถึงจุดประสงค์ของการก่อตั้งกลุ่มแรงคิดซึ่งเป็นกลุ่มลูกหลานของคนเดือนตุลาฯ ที่มารวมตัวกันจัดกิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งสะท้อนแนวคิดด้านประชาธิปไตย รวมถึงปัญหาสังคม และเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชน อย่างเช่น โครงการสภากาแฟเยาวชนซึ่งเปิดเวทีให้เยาวชนได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อต่างๆ ซึ่งจะเป็นไปตามสถานการณ์สังคมในช่วงเวลานั้นๆ อาทิ ตามรอยไข้หวัดนก ผลกระทบสู่เยาวชนไทย, การแปรรูปรัฐวิสาหกิจและผลกระทบสู่สังคมไทย, อนาคตระบบการศึกษา จะเดินหน้า หรือถอยหลัง? ฯลฯ

ในช่วงที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อปี ๒๕๔๗ กลุ่มแรงคิดก็ได้คิดโครงการ “เยาวชนใช้สิทธิเกินร้อย” โดยจัดให้มีการเลือกตั้งจำลองในโรงเรียนมัธยมศึกษา ๙ แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร เปิดโอกาสให้เยาวชนได้ทดลองใช้สิทธิในการเลือกตั้ง “เลือกผู้ว่า กทม. ในใจของเยาวชน”ซึ่งเป็นการให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตย และให้เยาวชนเห็นความสำคัญของการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 

นับวันกิจกรรมของกลุ่มแรงคิดก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น และยิ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาใส่ใจในปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวมอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ว่าจะเป็นการทำป้ายประท้วงในหัวข้อต่างๆ เช่น เอฟทีเอ, ปัญหาไฟใต้, การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ, การขายหุ้นชินคอร์ป เป็นต้น

และเมื่อเกิดวิกฤติศรัทธาเรื่องของความชอบธรรมในตัวผู้นำประเทศ กลุ่มแรงคิดถึงกับไปยื่นจดหมายถามหาคำตอบจากนายกฯ ถึงวิธีแก้ไขปัญหาความไม่น่าเชื่อถือของรัฐบาลชุดนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๙ เลยทีเดียว สำหรับเรื่องนี้โน้ตบอกว่า

“แรงคิดอาจจะอ้างได้ว่าเป็นเยาวชนกลุ่มแรกที่ออกมาเลย เพราะเราไปยื่นหนังสือให้ท่านนายกฯ ก่อนแล้วตั้งแต่ต้นปี แต่ไม่มีใครสนใจ เราเริ่มมองเห็นปัญหาแล้วว่ามันจะเกิดเรื่องขึ้น ผมไม่อยากปล่อยให้ม็อบหัวหงอก คือ ผู้ใหญ่ ต่อสู้กันโดยลำพัง เพราะว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ก็กระทบกับเราในอนาคตอยู่แล้ว และสิ่งที่กลุ่มพันธมิตรฯ พยายามจะเรียกร้อง ยังไงโตขึ้น เราก็ต้องใช้ ผมเคยคุยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในพันธมิตรฯ  ท่านเคยบอกผมว่า ลุงไม่เคยคาดหวังว่าเยาวชนจะมานั่งอยู่ตรงนี้กับพวกลุง ลุงคาดหวังว่าเมื่อลุงทำสำเร็จ เมื่อเราได้ประชาธิปไตยเต็มใบขึ้นมาจริงๆ แล้วพวกเรารู้จักนำไปใช้ นั่นคือสิ่งที่เขาหวัง ผมก็เลยรู้สึกว่า เรายิ่งต้องออกมานะ เพราะเท่ากับเราเรียกร้องเพื่อตัวเราเอง ไม่ได้เรียกร้องให้คุณสนธิ ไม่ได้เรียกร้องให้พันธมิตรฯ แต่สิ่งที่เราออกมาคือ สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นมันจะมีผลกระทบกับเรา”

โน้ตบอกถึงเหตุผลที่กลุ่มแรงคิดออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลหลักคือ ขาดความชอบธรรมด้านคุณธรรม – จริยธรรม

“ผมว่า นายกฯ ไม่ชัดเจนในหลายๆ เรื่อง เช่น สื่อต้องอยู่ในมือของเอกชน แต่เขากลับครอบงำสื่อ แล้วก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ครอบงำ อย่างการถอดรายการลุงสนธิช่วงนั้นเห็นได้ชัดเลยว่า “ครอบงำ” พอถอดปุ๊บ ก็ฟ้องเขาปั๊บ ซึ่งรัฐบาลจริงๆ ควรจะยอมรับต่อคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นๆ ยอมรับในที่นี้หมายความว่า ฟัง และถ้าผิดจริงก็แก้ ถ้าไม่ผิดก็โชว์หลักฐานเลย แต่นี่เล่นไม่ทำอะไรเลย ทำเป็นใบ้ไปซะอย่างนั้น คนก็เลยสงสัยมาเรื่อยๆ ซิครับ ความชอบธรรมของเขาก็เลยหมดไป แทนที่จะทำอะไรให้มันชัดเจน”


เราถามโน้ตว่า เยาวชนส่วนใหญ่จะชื่นชอบนายกฯ คนนี้มาก เปรียบเสมือนเป็นฮีโร่ของคนรุ่นใหม่ที่อยากเดินรอยตามเลยทีเดียว แล้วตัวเขาเองล่ะเคยคิดแบบนี้ไหม

Image“ไม่ ผมเอะใจกับคำพูดของท่านคำหนึ่งว่า อีกหน่อยคนจนจะหมดไป แล้วมันก็จะหมดจริงๆ คือ ตายหมด เพราะว่าไม่มีอะไรจะกินแล้ว เขาใช้ระบบการปกครองแบบที่ไม่ค่อยเหมาะกับเมืองไทยเท่าไหร่ เรื่องทุนนิยม ประชานิยม ประเทศเราคล้ายอาร์เจนตินาเข้าไปทุกวันแล้ว  ถ้าดูดีๆ กองทุนหมู่บ้านเองก็คือการซื้อเสียงทางอ้อมเพราะนโยบายนี้ออกมาตอนจะเลือกตั้งรอบสอง วิธีการมันผิดน่ะ ไม่ใช่นโยบายไม่ดี นโยบายบางเรื่องของไทยรักไทยผมเห็นด้วยว่าดี เช่น นโยบาย ๓๐ บาท ถ้าได้มาตรฐานจริงก็ถือว่าโอเค กองทุนหมู่บ้านก็โอเค แต่ถามจริงๆ ว่าชาวบ้านได้เงินจริงหรือเปล่า แล้วเขาให้ความรู้กับชาวบ้านหรือเปล่าว่า เงินที่ให้นั้นเอาไปทำอะไร ไม่ใช่เอาไปซื้อหวย การพนัน อะไรสิ้นเปลือง”


แล้วเขาคิดอย่างไรกับเยาวชนอีกจำนวนมากที่ไม่สนใจปัญหาสังคมหรือการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง

“เพื่อนผมบางคนบอกว่า เขาโกงชาติ ไม่ได้โกงกู ผมก็คิดว่า เออ แล้วประเทศชาติไม่ใช่ของมึงเหรอ ผมก็อยากจะสวนเขาเหมือนกัน คือมันอยู่ที่จิตสำนึกเด็กส่วนหนึ่ง การปลูกฝังของพ่อแม่ส่วนหนึ่ง สถาบันการศึกษาก็มีส่วน ทุกอย่างมันหล่อหลอม สังคมมันหล่อหลอมให้เยาวชนวันนี้ไม่ตื่นตัวกับสถานการณ์ต่างๆ เท่าที่ควร ไม่อยากจะโทษใคร เพราะมีหลายส่วนที่บีบให้เยาวชนไทยเป็นอย่างนี้”

“พ่อแม่มีส่วนมากกับการตัดสินใจหรือการทำอะไรก็ตามของวัยรุ่นสมัยนี้ ต่างกับยุคพ่อแม่ผมที่บอกไปเลย ลุยเลย สมัยนั้นพ่อเล่าว่า มีโปสเตอร์ที่พ่อแม่ของนิสิตนักศึกษาเขียนเลยว่า สู้เถิดลูกเพื่ออนาคตของพวกเราเอง ซึ่งรุ่นนี้ไม่มีแล้ว นักศึกษาไม่ค่อยออกมา แล้วยิ่งตอนนี้เจอทุนนิยมวัตถุนิยมเข้ามาเบรค Say ‘No’ กันเป็นแถวเลย หลายคนบอกอยู่บ้านสบายดีกว่า ไม่ต้องออกมาร้อน ออกมาตากแดด”


เมื่อถามโน้ตถึงสถานการณ์ทางการเมืองหลังการชุมนุมยืดเยื้อผ่านพ้นไปซึ่งมีการพูดกันมากถึงการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ เขาคิดว่าเยาวชนควรจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง

“ผมก็อยากเสนอว่าให้มีเด็กและเยาวชนเข้าไปนั่งในคณะอนุกรรมการหรือกรรมการชุดต่างๆ  เพราะเด็กก็มีปัญหาของเด็ก และเด็กเองก็เป็นพลังที่บริสุทธิ์ เขาจะไม่มีเบื้องหลัง เช่น เรื่องเงิน เรื่องการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้ารับฟัง ผู้ใหญ่หลายคนจะได้อะไรมากกว่าที่คิด แต่ผู้ใหญ่อีกหลายคนยังไม่คิดว่า เด็กก็มีความคิด เพราะฉะนั้นถ้าทำได้ ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี และจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น”


และถ้าเขาสามารถเสนอประเด็นใดก็ได้ให้ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจหรือมีหน้าที่ในการปฏิรูปการเมืองล่ะ

Image“ควรให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนอย่างเท่าเทียมกันและทั่วถึง คือ สื่อสองด้านเลย ทั้งสื่อที่ต่อต้านรัฐและสื่อที่เห็นด้วยกับรัฐ ไม่ใช่ใส่ข่าวด้านเดียวตลอดเพื่อกรอกหูว่า ฉันทำดีนะ ฉันทำได้ ถ้าสื่อเข้าไปถึงทุกคนแล้ว ผมคิดว่า ปัญญาจะเกิดขึ้น ไม่อยากจะบอกว่า ให้ปฏิรูปการศึกษาให้เยอะๆ แต่ว่าเรื่องสื่อนี่ผมว่าเข้าถึงคนง่ายกว่า เอาง่ายๆ อย่างคนจบ ป.๔  ก็ดูทีวีได้ ไม่จำเป็นต้องมานั่งอ่านหนังสือ เพราะฉะนั้นถ้าทีวี-วิทยุไทย ให้ความรู้และให้ข่าวสารแก่ประชาชนอย่างจริงจังและครบถ้วนทุกด้าน ผมมองว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีว่าอนาคตประเทศชาติจะพัฒนาไปอย่างไร เพราะเมื่อคนเริ่มมีความรู้ กลไกต่างๆ จะเริ่มเดินไปโดยอัตโนมัติ แต่ตอนนี้มันไม่เดินเพราะว่า อย่างทีวี ช่วงไพรม์ไทม์ จะมีแต่ละครและเกมโชว์ คนก็ดูแต่ละคร ไม่มีความรู้มาเข้าหัวเลย ทำให้ประเทศชาติมันไปไม่ได้ มันเป็นเรื่องไร้สาระไปหมดเลย”


สนใจการเมืองมากอย่างนี้ คิดอยากเป็นนักการเมืองบ้างไหม

“ไม่เคยคิดครับ หลายคนก็แซวๆ ว่าใกล้แล้วล่ะ แต่ว่าไม่ค่อยอยาก “อาชีพนักการเมือง” ผมมองว่า ตอนนี้ประเทศไทยขาดนักการเมืองอาชีพนะ ไม่ใช่อาชีพนักการเมือง นักการเมืองอาชีพคือ ไม่ใช่เข้ามาโกง คุณต้องเสียสละเป็น คุณต้องรู้ว่าคุณจะทำอะไร ไม่ใช่เข้ามาแล้วโกง เข้ามาแล้วกินกัน อันนี้คือ อาชีพนักการเมือง เป็นอาชีพๆ หนึ่งที่เข้ามาหาผลประโยชน์ หาเงินแล้วก็ออกไป แต่นักการเมืองอาชีพ ดูอย่างประเทศฟินแลนด์ คอร์รัปชั่นน้อยที่สุดในโลก เพราะอาชีพนักการเมืองของเขา เขารู้ว่าเขาต้องทำอย่างไร ทำอะไร เพื่อใคร แต่เมืองไทยไม่ใช่อย่างนั้นไง นี่คือสิ่งที่ควรเกิดขึ้นในเมืองไทยในอนาคต”


เมื่อถามโน้ตว่า เขารู้สึกอย่างไรที่ในยุคสมัยของพ่อแม่เป็นนิสิตนักศึกษา ต้องออกมาต่อสู้คัดค้านเผด็จการ มาถึงยุคนี้ตัวเขาเองก็ต้องมาทำหน้าที่เช่นเดียวกับรุ่นพ่อแม่อีกครั้งหนึ่ง

“การต่อสู้ของรุ่นพ่อแม่ไม่เหมือนกับรุ่นเราแล้ว สมัยพ่อกับแม่อย่าลืมว่ามันเป็นเผด็จการแบบเห็นชัด มาเป็นทหารเลย ถือปืน เห็นชัดเลย แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แบบนั้น เขามาโดยถูกต้อง เขามาตามประชาธิปไตยแต่สิ่งที่เขาทำมันไม่ใช่ประชาธิปไตยเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นวิธีการต่อสู้มันยากกว่า ผมเคยคุยกับพ่อแม่ลุงป้าคนรุ่น ๑๔ ตุลา เขายังพูดเลยว่า ไล่คุณทักษิณ ยากกว่าไล่เผด็จการคนอื่น เพราะมันดึงมวลชนออกมาไม่ได้ เพราะไม่เห็นภาพชัดเจนเหมือนยุคก่อนๆ  และการออกมาเข้าร่วม เราเป็นเด็กเราอาจจะมาเป็นจุดเล็กๆ ของม็อบหัวหงอก แต่จุดเล็กๆ นี้ก็สำคัญ เพราะอีกหน่อยก็ต้องเข้ามานั่งทำแทนผู้ใหญ่ที่นั่งกันตอนนี้ ผมเคยพูดเสมอและเป็นคำติดปากของกลุ่มฯ เรา ผมให้สโลแกนว่า เยาวชนไม่ได้ขอเป็นแค่อนาคตของชาติ แต่เราขอเป็นปัจจุบันด้วย เพราะตอนนี้เราก็ต้องเข้ามาสู้แล้วล่ะ เพื่ออนาคตของเราด้วย”


แล้วสังคมแบบไหนกันล่ะที่เขาอยากให้เป็น

“อยากจะเห็นสังคมไทยเป็นไปในทิศทางที่คนทุกชนชั้นอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องถึงกับว่ารวยหมดทุกคน เพราะถ้าจะไม่ให้มีคนจนน่ะ เป็นไปไม่ได้ แต่ทำอย่างไรล่ะ ให้คนจนเขารู้จักใช้ชีวิต รู้จักอยู่อย่างพออยู่พอกิน หรือว่าคนรวยแล้วก็รู้จักใช้แล้วเผื่อแผ่ให้คนอื่นบ้าง เพื่อให้ทุกส่วนมันเฉลี่ยๆ กันไป ไม่ใช่ว่า คนรวยก็รวยไป คนจนก็จนเอา มันอยู่ที่การให้ความรู้ การแบ่งปันกัน การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งสังคมไทยตรงนี้มันหายไปเยอะมาก ไม่เหมือนเมื่อก่อนสมัยปู่ย่าตายายเรา กินอยู่กัน เนี่ยะ ฉันตกปลาได้ แกงกินกัน แล้วแบ่งบ้านนู้นบ้านนี้ บ้านนี้ทำผัดผักก็แบ่งกันมา สังคมไทยมันควรจะกลับมาอย่างนั้น เพราะฉะนั้นพระราชดำรัสของในหลวง เศรษฐกิจพอเพียง ผมมองว่า จะทำให้ประเทศอยู่ได้ แต่นโยบายของรัฐมันไม่ใช่อย่างนั้นซิ เศรษฐกิจพอเพียงในความหมายของผมอาจจะไม่ต้องถึงกับทำไร่ทำนาสวนผสมก็ได้ มีพออยู่พอกินก็พอ อย่างผมก็อาจจะไม่ต้องใช้ของแบรนด์เนม ใช้ของที่มีอยู่แล้วให้คุ้มค่า ไม่ใช่ต้องฟู่ฟ่า คือ เศรษฐกิจพอเพียงมันตีความได้หลายอย่าง ถ้าสังเกต กลุ่มผู้ใหญ่หรือคนรวยในสังคมน่ะ ใช้กระเป๋าใบละเป็นหมื่นเป็นแสน ซึ่งมันไม่ใช่การอยู่อย่างพออยู่พอกินน่ะ  เศรษฐกิจพอเพียงเป็นการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและรู้จักใช้อย่างคุ้มค่ามากกว่า”

อ่านมาถึงตรงนี้ คงเห็นแล้วว่าไม่เบาเลยสำหรับความคิดในวัยเพียงเท่านี้ ของ โน้ต -     ยุรชัฏ  ชาติสุทธิชัย หนึ่งในกลุ่มแรงคิด หนึ่งต้นกล้าประชาธิปไตย ลูกไม้ใต้ต้นคนเดือนตุลาที่ยังไม่เปลี่ยนไปตามกระแสโลกาภิวัตน์และทุนนิยมเสรีที่ไหลเชี่ยวกรากอยู่ ณ ปัจจุบันนี้


ศนศ. : คลื่นลูกใหม่ของพลังประชาชน

Imageเป็นที่ฮือฮากันไปทั้งประเทศ เมื่อนักเรียนมัธยมของสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศแห่งหนึ่งออกมาขอแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า พวกเขาเห็นว่านายกรัฐมนตรีหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศแล้ว พร้อมชี้แจงประเด็นการขาดความชอบธรรมของนายกฯ ออกมาเป็นข้อๆ ได้ตรงใจประชาชนทั้งหลายที่ต่างก็เห็นพ้องตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจนิยมแบบเบ็ดเสร็จ การใช้นโยบายประชานิยมกับคนรากหญ้า การขาดศีลธรรมจริยธรรม ฯลฯ นับได้ว่าพวกเขาเป็นต้นแบบที่ได้ปลุกกระแสหรืออาจจะเรียกได้ว่า ปลุกให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาอีกจำนวนมาก พาตัวเองออกมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการชุมนุม เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

และจากการชุมนุมครั้งนี้เองได้ส่งผลให้มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา พากันมาลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับกลุ่มแรงคิดที่ไปตั้งเต็นท์บริเวณท้องสนามหลวงเป็นจำนวนกว่า  ๑,๐๐๐  คน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์ประสานงานนักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือ ศนศ. เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสาร และปฏิบัติงานร่วมกันของกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา รวมถึงการจัดกิจกรรมกระตุ้นให้นักเรียนและนักศึกษา มีความตื่นตัวต่อสถานการณ์ในสังคมมากขึ้น

แม้ ศนศ. จะดูเหมือนเป็นน้องใหม่ในวงการ แต่สิ่งที่พวกเขามีอยู่เต็มเปี่ยมก็คือ พลังของเยาวชนที่พร้อมจะเรียนรู้ มีสำนึกต่อส่วนรวม และมุ่งหวังจะเห็นสังคมที่ดีที่พวกเขามีส่วนร่วมสร้าง ตัวแทนของ ศนศ. ๒ คนนี้เป็นตัวอย่างที่อยากแนะนำให้คุณได้รู้จักแง่มุมความคิดของพวกเขา

น้ำฝน อุตมะโภคิน หรือ แนน  อายุ ๒๐ ปี กำลังศึกษาอยู่ปี ๓ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา  แนนเปรียบเสมือนพี่เลี้ยงของน้องๆ ศนศ. ที่ยังเรียนอยู่ในระดับมัธยมฯ  แนนทำหน้าที่เป็นเหรัญญิก จัดระบบด้านการเงินการบัญชีของกลุ่ม ศนศ. คอยติดต่อประสานงานกับองค์กรต่างๆ  เมื่อ ศนศ. จะจัดกิจกรรม เช่น งานเสวนาเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย โดยเชิญนักวิชาการมาให้ความรู้และข้อมูลแก่น้องๆ เรียกได้ว่า เป็นการทำหน้าที่ของพี่สาวที่แสนดี ซึ่งคอยเอื้ออำนวยความสะดวกทุกอย่างให้กับน้องๆ อย่างเต็มที่และเต็มใจ

และอีกหนึ่งหนุ่มน้อย ศตวรรษ  อินทรายุธ หรือ ปรินซ์  อายุ ๑๙  ปี  ศึกษาอยู่ ปี ๒ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปรินซ์ก็เป็นอีกหนึ่งหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของ ศนศ. กำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนงานและกิจกรรมต่างๆ ให้เดินหน้า 


ความคิดเห็นต่อการเมืองไทย

แนน  ถ้าเป็นคนที่ไม่ค่อยสนใจการเมืองก็จะคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว คิดว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของเรา เราไม่ใช่นักการเมือง เราก็มีหน้าที่เลือกเข้าไป เขาก็ทำไป  แต่ก่อนหน้านี้ ช่วงการเมือง ยกตัวอย่างเช่น ช่วงตุลา ๓๐ กว่าปีก่อน นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมกับการเมืองมาก ทั้งองค์กรนักศึกษาที่ตั้งขึ้นหรือพวกซุ้มต่างๆ ในมหาวิทยาลัยจะมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวพันทั้งหมด แต่พอหลังจากยุคนั้น เช่น ยุค ๖ ตุลา หรือ ยุคปี ๒๕๒๒ นักศึกษาจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลย คือไม่ตื่นตัว และอีกอย่างคือ ทุนนิยมเข้ามาในประเทศเยอะมาก ทำให้นักศึกษาไม่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมือง หนูตอบในฐานะนักศึกษานะคะ คือ เขาสนใจกับโลกของทุนนิยมมากเกินไป เช่น การเรียนหนังสือ บางคนเท่าที่หนูคุยกับเพื่อน เขาเรียนเพื่อตัวเอง แต่ว่าเขาไม่สนใจอะไรที่นอกเหนือไปจากที่ถูกกำหนดมาให้เขาเรียน คือ หนูว่าเด็กสมัยนี้ถูกสอนมาให้รักตัวเองมาก จนเห็นแก่ตัว บางทีเขาเรียนไปเพื่อให้เขาเก่งที่สุด เพื่อเขาจะชนะคนอื่น และเพื่อให้เขาได้ทำงานที่ดีที่สุด และได้เงินมากที่สุดกว่าคนอื่น โดยที่เขาไม่คิดว่าการเรียนของเขามันไม่ได้ทำประโยชน์เพื่อคนอื่น คือ เรียนเอาความรู้เข้าหาตัวเอง  อย่างจบไปทำงาน เขาก็ไม่สนใจว่างานที่เขาทำจะมีประโยชน์กับคนอื่นแค่ไหน  แต่เพื่อให้ตัวเขาเองได้ผลประโยชน์มากที่สุด แต่ถ้าทั้งอาจารย์และผู้ปกครองส่งเสริมและเปิดทางให้นักศึกษานักเรียน ปลูกฝังให้เขาสนใจเรื่องราวของบ้านเมืองบ้าง เช่น ไม่ใช่เลือกคนมาทำงานโดยไม่สนใจเรื่องจริยธรรม การที่เราเลือกเขาให้เก่งอย่างเดียว คล้ายๆ กับเด็กสมัยนี้ ในเรื่องการเมือง ตัวผู้นำทางการเมืองเป็นภาพสะท้อนให้เห็นภาพรวมของประเทศว่า คนในประเทศเป็นอย่างไร ถ้านายกรัฐมนตรีเป็นคนที่ทุนนิยมจ๋าเลย เราก็เดาได้เลยว่าสังคมมันก็ต้องเอนไปทางนั้น เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุนนิยมมีอิทธิพลมาก ทุกประเทศต้องมีทุนนิยมเข้ามาเกี่ยวข้องตลอด บางทีในพื้นฐานของการใช้ชีวิตแบบไทยมันต้องประยุกต์เข้ากัน เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทุนนิยมไม่มาทำลายพื้นวิถีชีวิตคนไทย คือเอามาใช้ในแบบที่เหมาะสม เอาแต่ด้านดีมา เอาประโยชน์มาใช้

ปรินซ์  คนส่วนใหญ่กำลังคิดว่า รัฐบาลนี้ ถ้าเขาโกงจริง แล้วคนอื่นไม่โกงหรือไง ปัญหาคือ หลายๆ คนคิดแบบนี้ โกงแล้วมีผลงาน โกงแล้วประเทศชาติเจริญ คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งอันนี้อันตรายครับ และการคอร์รัปชั่นมันมีวิวัฒนาการให้ซับซ้อนขึ้น อันนี้ก็อันตรายเหมือนกัน


ทำไมถึงมีแนวคิดแบบนี้

แนน  ครอบครัวแนนปลูกฝังเรื่องการเมืองมาตั้งแต่เล็กๆ เลย คุณพ่อเคยเป็นนักศึกษายุค ๑๔ ตุลา ทางบ้านพ่อแม่จะให้ดูข่าวเยอะมาก แล้วบางทีเราก็ค่อนข้างจะแปลกกว่าเพื่อนในกลุ่มหรือเพื่อนส่วนใหญ่ที่รู้จัก คือ เราจะดูข่าว สนใจการเมือง แล้วพ่อเขาก็จะเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ หรือเรื่องเกี่ยวกับนายกฯ คนนั้นคนนี้ เขาจะคอยสอนเราตลอด เราก็เหมือนกับได้รับข้อมูลมาเยอะกว่าคนอื่น แล้วพอเราฟังหรือดูข่าวมาเยอะๆ เราจะเกิดความสงสัยว่า มันใช่เหรอ ไอ้สิ่งที่เขาให้เรารู้ มันจริงเหรอ เราก็พยายามค้นหาจากหลายๆ สื่อ ไม่ใช่เรารับด้านหนึ่งแล้วเราปิดอีกด้านหนึ่ง บางทีข่าวหนึ่งบอกอย่างนี้ แต่สังคมที่เราพบเจอจริงๆ มันไม่ใช่อย่างนี้ เราก็เริ่มหาอะไรที่มันแปลกไป เช่น หนังสือพิมพ์ หนังสือรายสัปดาห์ รายการทางเคเบิลทีวี เราก็จะดูแล้วชั่งน้ำหนักดูความน่าจะเป็นด้วย เพื่อนบางคนถามว่า ทำไมต้องไปทำอย่างนี้ ไม่กลัวเหรอ น้อยๆ หน่อย เราก็บอกว่า อย่างน้อยเราก็ภูมิใจว่าเราเป็นคนส่วนน้อย เป็นเด็กนักศึกษา เราอาจจะไม่ใช่เด็กที่ตั้งใจเรียนอย่างเดียว แต่อย่างน้อยเราก็มีอีกมุมที่คนอื่นเขาไม่ได้เป็นอย่างเรา และคิดว่า ไม่ว่าจะทำอะไรทุกอย่างทั้งสังคมการเมือง เราทำด้วยความอยากทำจริงๆ และมันเป็นประสบการณ์ที่ดีด้วย

ปรินซ์  ตั้งแต่ยังเด็กแล้ว เวลาอยู่บ้าน เวลามีเรื่องเกี่ยวกับการเมือง มีประชุมสภาฯ อะไรอย่างนี้ พ่อเขาชอบจับมานั่งดู แรกๆ ก็รู้สึกว่าน่าเบื่อ แต่หลังๆ ก็ชิน ดูบ่อยๆ ก็เริ่มถามพ่อว่า อย่างนั้นเป็นยังไง อย่างนี้เป็นยังไง ในเรื่องของการเมืองมาเรื่อยๆ จนมีรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ที่สวนลุม ก็ไปบ้าง ดูในเน็ตบ้าง เพราะเวลาไปดูคนเดียวบางทีมันก็น่าเบื่อ ก็เลยนั่งเปิดเน็ตดูอยู่ที่บ้าน พอมาเจอเพื่อนๆ ที่นี่ ก็เลยมาทุกวันเลย


คิดว่าปัญหาใหญ่ของสังคมที่ต้องแก้ไขคือปัญหาใด

ปรินซ์  คุณธรรมจริยธรรม ถ้าถามตอนนี้ทุกคนบอกอย่างนี้เหมือนกันหมด ถ้าตรงนี้ดีแล้วทุกอย่างก็จะดีไปเอง ถ้าใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี มาผู้นำบริหารประเทศ ถ้ามีคุณธรรมจริยธรรมแล้วเขาย่อมจะนำพาประเทศไปในทางที่ถูกต้องบริหารประเทศไปในทางที่ถูกต้อง น้อยคนนะ ผู้บริหารประเทศที่ผ่านๆ มา ที่เก่ง ผมว่าเขาเก่งมากๆ ครับนายกฯ คนนี้ ลองคิดดูว่าถ้าคนเก่งๆ แบบนี้แล้วบริหารตามแนวทางที่ถูกต้องจะทำให้ประเทศชาติเจริญมากขนาดไหน ผมว่าจะเจริญกว่านี้อีกเยอะเลย

แนน  หนูว่าเรื่องจริยธรรม เรื่องเกี่ยวกับกระบวนการคิด เพราะตอนนี้หนูรู้สึกว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปเยอะมาก หนูเคยคุยกับเพื่อนเรื่องการรับน้องว่า ทำไมเมื่อก่อนเขารับกันได้นะ ระบบโซตัส แต่ทำไมปัจจุบันนี้เขามาห้ามกัน หนูก็บอกเขาไปว่าบางทีเราก็ต้องยอมรับว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรแรงๆ มากขึ้นทำให้รัฐเข้ามาห้าม เราก็ต้องดูว่าที่เขาห้ามเพราะอะไร เพราะคุณภาพของคน คือรุ่นพี่ที่เขาเอาระบบจากเมืองนอกที่ดีๆ เขาเอามาใช้ในทางที่ผิด เหมือนเขาคิดน้อยไป คิดเอาแค่สนุก  ส่วนตัวรุ่นน้อง บางทีที่รุ่นน้องเป็นอะไรไป แบบ โอ๊ย รับน้องแรงไป รับไม่ได้  ฆ่าตัวตายดีกว่า หนูไม่โทษรุ่นพี่ แต่หนูโทษครอบครัว โทษสังคมเขา ว่าเขาเลี้ยงมาอย่างไร ทำไมถึงอ่อนแอได้แม้เรื่องแค่นี้ หนูรู้สึกว่า ผู้ใหญ่เดี๋ยวนี้ชอบหลอกเด็กว่า โลกนี้มันสวยงาม เหมือนขังเด็กให้อยู่ในห้อง แล้วตกแต่งให้สวยงาม ให้เห็นว่าโลกนี้มีแต่สิ่งสวยงาม แล้ววันหนึ่งเมื่อเด็กได้ออกไปเจอโลกแล้วรับไม่ได้น่ะ  หนูคิดว่าผู้ใหญ่มีส่วนสำคัญมากในการสอนให้เด็กได้เจอได้รู้ บางทีเราต้องสอนให้เด็กได้เจอเรื่องร้ายๆ บ้าง ผู้ใหญ่เดี๋ยวนี้เลี้ยงเด็กสปอยล์มาก เลี้ยงเด็กแบบหลอกเด็กน่ะ ให้เจอแต่ด้านดีๆ แต่วันหนึ่งถ้าเขาไปเดินในแหล่งชุมชนแออัดหรือเพื่อนหลอกไปเสพยาไปเข้าผับ เด็กก็เห็นว่า มีที่แบบนี้ในโลกด้วยเหรอ ผู้ใหญ่จึงมีส่วนสำคัญมากในการสอนเด็ก บางทีหนูเคยพูดกับเพื่อนว่า ถ้าเรามีลูกนะ เราจะไม่สอนแค่ให้เขาดี แต่เราจะสอนให้เขาคิด ให้เขารักพ่อแม่ รักตัวเอง พอเขาทำอะไรไปเขาก็จะคิดได้ว่า อะไรไม่ดี ไม่ควร แล้วเขาก็จะหยุดเอง แนนคิดว่าการทำให้สังคมดีขึ้นเริ่มจากครอบครัว


การออกมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองให้อะไรแก่เรา

ปรินซ์  อย่างแรกก็คือพื้นฐานเลย รู้จักคนเยอะขึ้น มีความกล้าแสดงออก ได้คิดอะไรใหม่ๆ ที่ผ่านมาถ้านึกย้อนไป ๕ เดือนก่อน เรายังแค่นักศึกษาธรรมดาอยู่เลย ไม่ได้มีส่วนร่วม เดินไปเดินมา เรียนเสร็จกลับบ้าน แต่วันนี้เราได้เข้ามามีส่วนร่วม อนาคตสิ่งที่เราเสนอไปอาจจะเป็นนโยบายของบ้านเมือง อาจเป็นสิ่งที่รัฐบาลนำไปปฏิบัติจริงๆ แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็เยอะสำหรับเด็กคนหนึ่งจะทำได้แล้ว


ได้เห็นถึงความแตกแยกทางความคิดจากการชุมนุมของทั้งสองฝ่าย เราคิดอย่างไร

Imageแนน  หนูว่าเรื่องความแตกแยกมันเป็นเรื่องปกติมากในสังคมประชาธิปไตย หนูไม่โทษคนที่เขาไม่รู้หรือคนละข้าง แต่เราโทษตัวผู้นำมากกว่า ว่าทำไมเขาไม่ให้ข้อมูลที่เป็นความจริง แล้วทำไมเขาไม่เลิกหลอกคนที่ไม่รู้ เหมือนอย่างเรื่องของตัวผู้นำที่เป็นการผิดจริยธรรมหรือทำความผิดเรื่องคอร์รัปชั่นอะไรต่างๆ แล้วคนในสังคมมักจะเห็นไปในทางเดียวกัน และออกมาแสดงความคิดเห็น ภาพมันชัดเจนกว่า แต่แบบนี้เหมือนเขาแทรกซึมทางความคิดน่ะค่ะ เขาค่อยๆ ปลูกฝัง ค่อยๆ ซื้อคน เอานโยบายเข้าไป แต่นโยบายเขาเป็นนโยบายที่ต้องการดึงคนมาน่ะ แล้วรู้สึกว่าเงินที่เขาเอาไปลงกับพวกนโยบายตรงนี้เป็นเงินที่เสียเปล่า โอเค คนที่เขาไม่มีเงิน เขาอยากจะมีเงินมาทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น มาลงทุน แต่คนจนบางกลุ่มเขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องเอาเงินส่วนนี้ไปใช้ยังไง เขาก็ไปซื้อสิ่งอำนวยความสะดวก ซื้อมือถือ ซื้ออะไร แล้วเงินที่เสียไปมันเป็นเงินของทั้งประเทศ แต่เขากลับเอาไปให้คนกลุ่มนี้ใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ทั้งๆ ที่หนูคิดว่าสินค้าฟุ่มเฟือย ควรจะเป็นสิ่งที่เราหาได้จากแรงของเราเอง ไม่ใช่การไปยืมเงินคนอื่นมาเพื่อซื้อของแบบนี้

หนูรู้สึกว่าเขาสร้างค่านิยม ตอนนี้หนูถึงเห็นด้วยมากกับการล้มระบอบของเขาไปเลย เพราะเหมือนเขาอยู่มานานแล้วเขาแทรกซึมทุกอย่าง เขาไปปูพื้นฐานอะไรใหม่หมดเลย เขาทำนิสัยคนให้เปลี่ยนไปได้น่ะ เขาทำรากฐานสังคมให้เปลี่ยนไปได้ หนูรู้สึกว่า ไปได้แล้ว ถ้าสมมุติวันหนึ่งเขาไป อยากให้รัฐบาลใหม่ หรือใครที่มีอำนาจทำได้ ออกมาเปิดเผยสิ่งที่เขาทำไปทั้งหมดให้คนที่ไม่รู้ได้รู้ข้อมูลรู้ความจริงด้านลบของเขา คนก็ยังชื่นชมเขาไปหมดทุกเรื่อง บางทีเขาก็ดี เขาก็มีส่วนดี แต่เขาไม่เหมาะที่จะมาเป็นผู้นำประเทศเรา เพราะประเทศเรายังไม่พร้อมกับอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงไปแรงๆ มันต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ผสมผสานไป  เหมือนอย่างระบบเขาต้องการให้มันไฮเทค ให้มันโลกาภิวัตน์มากขึ้น แต่ว่าเขายังไม่พัฒนาตัวรากฐานคนก่อน เพราะหนูรู้สึกว่าสิ่งที่จะพัฒนาต้องเริ่มจากข้างล่าง ไม่ใช่เริ่มจากข้างบนลงมาข้างล่าง ต้องเริ่มจากคน พัฒนาการศึกษา ความรู้ ชีวิตความเป็นอยู่ ค่าครองชีพให้ดีขึ้นต้องกระจายไป ไม่ใช่ว่าคนที่รวยที่สุด ก็รวยขึ้นไปถึงระดับโลก แต่คนจนก็ยังจนอยู่เหมือนเดิมไม่มีอะไรดีขึ้น


การเมืองแบบไหนที่เราอยากให้เป็น

ปรินซ์  ในอุดมคติเลยก็คือ ไม่มีการคอร์รัปชั่น ซึ่งยากมากๆ ทุกคนคงอยากให้การเมืองบริสุทธิ์ยุติธรรม ที่สำคัญคือ ถ้ารัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของนักวิชาการ ไม่ใช่ออกมาบอกว่า เป็นขาประจำ และต้องให้เสรีภาพกับสื่อมวลชนที่จะแสดงความคิด


คิดว่าวิธีที่เยาวชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองทำได้อย่างไรบ้าง

ปรินซ์  คงไม่ต้องเหมือนอดีตที่ต้องไปเดินขบวน รวมตัวกันเป็นหมื่นๆ มีอะไรรุนแรง คงไม่ต้องถึงขั้นนั้นแล้ว  ถ้าเราสนใจก็ไปบอกเพื่อนๆ ชักชวนให้เขาเข้ามาสนใจ เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่ปล่อยว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เป็นเรื่องไกลตัว เด็กๆ หลายคนคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งจริงๆ แล้วถ้ามองดีๆ มันไม่ใช่ เพราะตื่นลืมตามาปุ๊บ เปิดไฟก็เป็นเรื่องการเมืองแล้ว การไฟฟ้าฯ จะถูกขายไป ค่าไฟแพง นี่ยังไม่กระทบอีกเหรอ นั่งรถไปโรงเรียน ค่าน้ำมันแพง ค่ารถก็ขึ้น นี่ก็กระทบอีกแล้ว แต่ถ้ามองเผินๆ มันก็ไม่เกี่ยว จริงๆ แล้วในชีวิตประจำวันทุกอย่างมันล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองหมด ผมคิดว่าถ้าเยาวชนออกมาเคลื่อนไหว มันมีปัจจัยหลายอย่างซึ่งมีพลังมากกว่าผู้ใหญ่ด้วยซ้ำไป เพราะเด็กออกมาไม่ได้มีผลประโยชน์ซ่อนเร้น และก็จัดเสวนาให้เด็กมาคุยกันแล้วมีข้อเสนอให้ผู้ใหญ่ ผมว่าน่าจะมีความคิดเห็นที่ริเริ่มสร้างสรรค์

แนน  หนึ่งก็คือ การเข้าไปเรียกร้องสิทธิที่ตัวเองสามารถทำได้  การเสนออะไรเข้าไป มีน้องคนหนึ่งเขาพูดว่า “ก่อนที่จะให้เยาวชนสนใจการเมือง ควรเห็นความสำคัญของเราบ้าง” หนูยอมรับเลยว่าเรื่องการศึกษา ประเทศไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญนะ หนูว่าเขาพยายามจะพูดเอามาหาเสียงว่าเขาจะเน้นเรื่องการปฏิรูปการศึกษา พัฒนาการศึกษา แต่หนูรู้สึกว่า ครูเดี๋ยวนี้คุณภาพแย่  คือ บางทีครูยังรู้ไม่เท่าเด็กน่ะ คือเราไม่รู้ว่าเด็กมันแก่แดดหรือเปล่า จริงๆ ก่อนที่จะพัฒนาการศึกษา ก็ต้องพัฒนาครูก่อน และต้องให้ความรู้ครู และไม่ใช่เพียงให้ความรู้แต่ในเรื่องการศึกษา แต่ต้องให้ความรู้ในเรื่องจริยธรรม เป็นครูต้องมีจรรยาบรรณสอนเด็ก


อยากเสนออะไรเข้าไปในการปฏิรูปการเมืองรอบใหม่

ปรินซ์  คงไม่พ้นเรื่องการศึกษา เพราะตอนนี้ที่บอกว่าปฏิรูปการศึกษา มันไม่ได้ปฏิรูปที่การศึกษา แต่เป็นแค่ปฏิรูปการทำงานของครู ปฏิรูประบบราชการมากกว่า แต่ไม่ได้ลงไปที่เด็ก อย่าง Child Center ตอนนี้เน้นเด็กทำงาน แต่ในความเป็นจริง สมมุติห้องหนึ่งมีนักเรียน ๕๐ คน ครูสั่งงานอย่างเดียว และใน ๕๐ คน มีคนทำงานจริงไม่ถึง ๑๐ คนหรอก ที่เหลือก็ลอก ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร หนักเข้าไปกว่าเดิมอีก แล้วครูก็สบาย สั่งเด็กอย่างเดียว เด็กก็ต้องใช้เงินทำรายงาน ผู้ปกครองยังบอกว่า อะไรมีแต่ทำรายงาน ใช้แต่เงิน ทุกอย่างใช้เงินหมดเลย แต่เด็กที่บ้านไม่มีเงิน แล้วเขาจะทำอย่างไร  มันทำให้ช่องว่างระหว่างสังคมมันห่างกว่าเดิมอีก

แนน  อย่างนโยบายการศึกษาพื้นฐานที่บอกว่าเรียนฟรี ๑๒ ปี ความจริงแล้วไม่ฟรีหรอก ค่าประกัน ค่าอุปกรณ์การศึกษา ค่าไฟค่าน้ำ ฯลฯ ทั้งๆ ที่ค่าเทอมเองจริงๆ แล้ว ไม่เท่าไรหรอก แต่ค่าอย่างอื่นซิ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และเด็กเดี๋ยวนี้ถือว่า โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์การเรียนไปแล้ว

ปรินซ์  เด็กอนุบาลมีโทรศัพท์มือถือห้อยคอน่ะ แล้วรุ่นดีกว่าที่เราใช้อีกน่ะ

แนน  คือ ระบบมันไปแล้วน่ะ เมื่อก่อนเราไม่เห็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือเลย ทำไมเรายังอยู่ได้

ปรินซ์  เทคโนโลยีมันพัฒนาไปเร็วน่ะดีแล้ว แต่ว่าสภาพพื้นฐานสังคมมันต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เทคโนโลยีกับจริยธรรมมันต้องไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่เทคโนโลยีไปแล้ว ศีลธรรมจริยธรรมยังต่ำๆ ทำให้อะไรเลวร้ายเกิดขึ้นเยอะมากกว่าเดิม


สังคมที่อยากจะเห็นเป็นอย่างไร

แนน  อาจจะยากนะคะ แต่หนูอยากให้คนรากหญ้ามีความสุขกับสิ่งที่เขาทำ เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เราขาดคนตรงนี้ไม่ได้ เราอยากให้เขาทำตรงนี้ต่อไป ไม่ใช่ว่าพอประเทศเป็นทุนนิยมแล้ว เขาต้องขายนาขายวัวขายควายมาทำงานกรุงเทพฯ มาเป็นสาวโรงงาน หนูรู้สึกว่า ให้เขาทำตรงนั้น แล้วคนที่มีอำนาจ ให้ทุน ให้ที่ดิน ให้เขามีโอกาสทำอย่างมีความสุขในสิ่งที่เขาได้ทำ เขาก็ยังจะเป็นคนรากหญ้า แต่ให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับสังคมเมือง หนูอยากให้เด็กคิดไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่คิดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อสังคม มีจริยธรรม 

Imageปรินซ์  ผมได้ยินคนถามคำถามนี้กับคนอื่นแล้วบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียงน่ะดี แต่ผมคิดว่าในความเป็นจริงเราต้องนำมาประยุกต์ใช้มากกว่า นำโลกาภิวัตน์กับพื้นฐานของไทยคือ วัฒนธรรม นำสองอย่างมารวมกัน ให้มีทางสายกลาง และการศึกษานี่สำคัญมากๆ ทั้งจริยธรรมและเรื่องอื่นๆ ที่เป็นปัญหาของสังคมในขณะนี้ ผมว่าพื้นฐานก็มาจากการศึกษาอยู่ดี ระบบการศึกษาต้องปฏิรูปกันอย่างจริงๆ จัง และปฏิรูปคนด้วยไม่ใช่ปฏิรูประบบอย่างเดียว ปลูกฝังเรื่องจริยธรรมคุณธรรมตั้งแต่เด็ก จัดระบบการเรียนการสอนใหม่หมดเลยดีกว่า เพราะตอนนี้ครูเอง จะไปโทษครูอย่างเดียวไม่ได้ เพราะครูก็เงินเดือนนิดเดียว เทียบกับอาชีพอื่นๆ แล้วไม่เยอะเลย ภาระหน้าที่รับผิดชอบก็เยอะมากๆ อะไรก็โยนไปให้ครูหมด เด็กกวดวิชามากก็บอกว่าครูในห้องสอนไม่ดีหรือเปล่า ครูต้องรับบทบาทด้านการศึกษาค่อนข้างหนัก ถ้ายังเป็นอย่างนี้อยู่ ต้องเริ่มจากให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้

ในขณะที่ผู้ใหญ่ผู้ใส่ใจสังคมเฝ้ามองความเป็นไปของเยาวชนยุคนี้อยู่ด้วยสายตาเป็นห่วงเป็นใยกับความล่อแหลมและความเสี่ยงต่อสิ่งยั่วยวนใจในสังคมที่ทุนนิยมบริโภคนิยมครอบงำ และสังคมปัจเจกนิยมซึ่งบุคคลล้วนมุ่งสู่การแสวงหาความเป็นหนึ่งในหน้าที่ การเรียน การงาน นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่เรายังได้เห็นพลังของเยาวชนอีกส่วนหนึ่งที่ออกมาขับเคลื่อนและมีส่วนร่วมต่อปัญหาสังคมมากขึ้น และหวังว่าคงจะยิ่งมากขึ้นอีกนับจากนี้ไป



เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการ โดยมีองค์กรนิสิตนักศึกษาเป็นแกนนำของกลุ่มคนในสังคมเข้าร่วมต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยคืนมาจากรัฐบาลเผด็จการทหารในยุคนั้น
เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
<< หน้าแรก < ย้อนกลับ 81 82 83 84 85 86 87 88 89 90 หน้าถัดไป > หน้าสุดท้าย >>

ผลลัพธ์ 721 - 729 จาก 847