หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 1277 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ทลาย ข่ายแห่งความรุนแรง กับ โสภณ สุภาพงษ์ พิมพ์
Tuesday, 04 July 2006


   “ไม่มีความสามัคคีใดตั้งอยู่บนความอยุติธรรมได้”
“ไม่มีความแข็งแรงใดตั้งอยู่บนความเกลียดชังได้ ความแข็งแรงต้องตั้งอยู่บนความรัก”
“ไม่มีเมล็ดพันธุ์ของความโหดร้ายใด จะออกดอกมาเป็นสันติภาพได้”

Image

ทลาย ข่ายแห่งความรุนแรง

 กับ โสภณ  สุภาพงษ์ : สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร

 กองบรรณาธิการ สัมภาษณ์

หากหน้าที่หนึ่งของการเกิดมาเป็นมนุษย์คือ การช่วยเหลือเพื่อนร่วมสังคมที่ทุกข์ยากลำบากกว่าเราแล้ว เหมือนได้เติมเต็มชีวิตให้มีคุณค่ายิ่งขึ้น การตระหนักถึงหน้าที่ของความเป็นมนุษย์เช่นนี้เองทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางชายแดนภาคใต้  ตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี และล่าสุดที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส คุณโสภณ สุภาพงษ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้ลงไปให้ความช่วยเหลือครอบครัวของผู้เสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้หญิงที่เป็นภรรยาและเป็นแม่ของเด็กๆ ซึ่งต้องกลายเป็นเด็กกำพร้ามากกว่า 1,000 คน การลงไปช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญเสียอย่างต่อเนื่องหลายต่อหลายครั้ง ทำให้เขาพบว่า มี ‘ข่ายแห่งความขมขื่น’ เกิดขึ้นในสังคมชาวมุสลิมผู้ถูกมองเป็นผู้ร้ายในสายตาของสังคมไทยไปโดยปริยาย และ “ความขมขื่น” ที่สะสมเพิ่มพูนและขยายวงขึ้นเรื่อยๆ นี่เอง ที่เขาเกรงว่าจะเป็น “ระเบิดเวลา” ในอนาคต ซึ่งสังคมไทยต้องร่วมกันทำความเข้าใจ ร่วมกันหาทางออก เพื่อปลดชนวนระเบิดเวลานี้ร่วมกัน

“ผู้ไถ่” ขอนำสาระประโยชน์จากการพูดคุยกับคุณโสภณ สุภาพงษ์ มาให้คุณผู้อ่านได้รับรู้และเข้าใจร่วมกัน 


ข่ายแห่งความขมขื่น

สิ่งที่ห่วงใยที่สุดสำหรับผมก็คือ เด็ก เท่าที่รู้ มีเด็กกำพร้ามากกว่า 700 - 800 คน แต่ผมคิดว่ามากกว่า 1,000 คนแล้วตอนนี้ เพราะคนตายทั้งหมด 540 คน ถ้าพูดถึง 540 ครอบครัว ในฐานของเด็กเท่าไร ครอบครัวภาคใต้มีลูกกัน 5 คน 9 คน เพราะฉะนั้นมีเด็กกำพร้ามากกว่า 700-800 คน ที่เขาอยู่กันอย่างขมขื่น พ่อตาย ว้าเหว่ คับแค้น เขาจะสะสมอะไร ทุกๆ วันที่ได้รับรู้เรื่องโกหกเกี่ยวกับพ่อเขา จากคำสัมภาษณ์ จากการดูถูกทางศาสนาบ้าง ความคับแค้นมันเป็นระเบิดเวลา ความขมขื่น แม่ซึ่งต้องรับภาระหนัก ผู้หญิงกับภาระหนักเมื่อสามีเสียชีวิต มีลูกจำนวนมากที่ไม่ได้เรียน ไม่มีกิน ไม่มีที่อยู่อาศัย ประการสำคัญคือ แม่ที่เป็นหม้าย เด็กที่กำพร้า เขาเป็นคนบริสุทธิ์ และเป็นผู้ที่เคราะห์ร้ายอ่อนแอ ไม่ว่าเขาจะเป็นลูกทหาร ตำรวจ ชาวบ้าน หรือผู้ที่ก่อเหตุร้าย แต่ผู้หญิงกับเด็กเป็นผู้บริสุทธิ์ การที่ไปเกลียดชังเด็กกับผู้หญิง เป็นสังคมที่น่าตระหนกตกใจ ส่งความเกลียดชัง เราละเลยความเป็นมนุษย์ เราพูดกันเรื่องเหตุผลมากมาย แต่จริงๆ แล้วอยู่บนพื้นฐานของความเกลียดชัง ซึ่งทุนของประเทศไทย เรามีทุนที่แข็งแรงแทบจะไม่มีชาติไหนมีทุนอย่างเรา คือ ทุนแห่งสันติภาพ เราไม่เคยฆ่าฟันกันเพราะเชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้น ใครที่ทำสิ่งนี้ขึ้นต้องรับรู้ว่า ตนเองได้ทำบาปกรรมต่อสังคม ไม่ว่าใครที่โหดร้าย น่าเสียดายเรามีทุนทางศาสนา  เรามีเพื่อน เราล้อเล่นกัน เราไม่เคยยึดประเด็นเรื่องพวกนี้ แต่ที่ยกขึ้นมาพูดเพื่อปัดความรับผิดชอบ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ผมยืนยันว่ามันเป็นเรื่องของกลุ่มผู้โหดร้าย กับชาวบ้านที่บริสุทธิ์ ไม่ว่าคนโหดร้ายจะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่หรือศาสนาใด ก็เป็นกลุ่มโหดร้ายทั้งนั้นที่กำลังทำ การสร้างสังคมแบบนี้ผู้บริหารบ้านเมืองต้องตระหนักว่าไม่ควรสร้างบาปกรรมทิ้งไว้ให้กับสังคมไทย ตรงนี้เมื่อเราแก้ไขไม่ได้ยังใช้นโยบายโหดร้ายกันทั้งคู่ ก็ต้องทำจากครอบครัวลงไป

มีกรณีหนึ่งที่พูดได้เลยว่าอาจเป็นตัวอย่าง คือ ครอบครัวคุณวิชิต ซึ่งเป็นอัมพาตเพราะโดนลอบยิง มีลูกซึ่งกำลังเป็นโรคธาลัสซีเมีย* ต้องเอาลูกเข้ามาเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก ผมอยู่ในกระบวนการที่จะทำก็ต้องหาผู้บริจาคทั่วโลกเพราะค่าใช้จ่ายแพง ประมาณ 1-2 ล้านบาท จะช่วยกันอย่างไร การจะเอาเด็กมาจะทำอย่างไร จะเปลี่ยนถ่ายอย่างไร แม่ตกลงใจเลือกอย่างไร การให้ข้อมูลอะไรต่างๆ ซึ่งเราก็พบว่ากระบวนการอย่างนี้เป็นรางวัลในตัวมันเอง เราทำให้คนที่เจ็บป่วยหมดหวังทุกข์ยากได้รับรู้ว่าพวกเขายังมีเพื่อน อย่างภรรยาคุณวิชิตยังอยู่ในสภาวะซึ่งเครียดมาก สามีเป็นอัมพาต ไม่มีกิน ลูกต้องออกจากโรงเรียนมาดูแลพ่อ ต้องหาเลี้ยงชีพ ลูกอีกคนก็เป็นธาลัสซีเมีย พบว่าเงินไม่มี ความเจ็บป่วย ทุกอย่างมันล่มสลายลงมาทันทีทันควัน ก็ต้องเข้าไปให้ทุนการศึกษา แต่เราพบว่าทุนการศึกษาไม่ใช่เรื่องจะเยียวยาได้ แต่เป็นสะพานไปสู่ความทุกข์ของเด็กๆ ลูกคนโตเขาจะเคียดแค้นเพื่อนร่วมสังคม เขาจะแก้แค้นไหม พ่อเขาถูกยิงโดยใคร หรือแม่ที่กำลังทนทุกข์ พ่อที่กำลังหมดหวัง ไอ้เจ้าตัวเล็กซึ่งต้องถ่ายเลือดชีวิตก็จะสั้น เมื่อเราเข้าไปเป็นเพื่อน จิตเขาก็จะหลุดจากความเกลียดชังได้ แล้วก็จะพบกับความสุข พบว่ายังมีเพื่อนที่ดีอีกเยอะ อย่าไปติดอย่างนั้น  ถ้าเรามีโอกาสเล็กน้อยซึ่งทำให้เขามีความหวังขึ้น มีเพื่อนขึ้น มันเป็นรางวัลน่ะ เราทำเรารู้สึก

หรืออย่างครอบครัวคุณมาสุนีห์ มีลูกทั้งหมด 5 คนที่ต้องดูแล สามีตาย มีหนี้ ไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีค่าเล่าเรียนให้ลูก ลูกไม่มีกิน ตัวเองไม่รู้จะอยู่อย่างไร มันล่มสลายลงมาหมดเลยทั้งร่างกายและจิตใจ คนเล็กอายุ 3 ขวบ เห็นผมครั้งแรกนี่ตัวสั่น ถามแต่ว่า ทำไมถึงยังไม่ไป ทำไมไม่ไป จะไล่ผมกลับบ้าน เขาตัวสั่น เพราะว่า วันที่พ่อเขาตาย บ้านเขาถูกตรวจค้น รื้อของหมด เด็กก็ช็อค ใครไปบ้านเด็กก็สั่น ก็เข้าไปให้ทุน ผมก็เอาจักรเย็บผ้าไปให้แม่เขา แม่เขาอาศัยที่คนอื่นอยู่แต่ก็ได้เย็บผ้า เย็บหมวกกปิเยาะห์** รายได้แค่ 30 กว่าบาท แต่ก็เริ่มหลุดจากการทบทวนเพราะแม่มีโอกาสที่จะทำร้ายตัวเองมาก แต่พอผมไปเยี่ยมเจ้าตัวเล็กครั้งที่ 3 เนี่ย เขาจ๊ะเอ๋กับผมแล้ว โอ้โห! มันเป็นรางวัล คือ เราได้ดึงจิตของเด็กที่หวาดกลัว กระเจิดกระเจิง กลัวไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง จิตเด็กซึ่งมันสูญเสียหมดแล้วน่ะ พอครั้งที่ 3 ไปแล้วเขาจ๊ะเอ๋ ชี้แว่นเราแล้ว เรารู้เลยว่าเราได้ดึงจิตนั้นกลับมาสู่ความหวัง


ความขมขื่นถูกรดน้ำพรวนดินและใส่ปุ๋ยด้วยคำพูดที่ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ความรู้สึกเขาขมขื่น หมดหวัง สิ้นหวัง คือ ต้องเข้าใจเลยว่า สิ้นหวังก็ไปอย่าง  หมดหวังไปอย่าง หรือโกรธ พวกโกรธนี่มีโอกาสหลุดเข้าไปเป็นเหยื่อที่จะกระทำอะไร แต่ขมขื่นนี่จะอันตรายที่สุด เพราะคนที่โกรธอยากจะทำร้ายคนอื่นแต่ก็กลัวตาย แต่คนที่ขมขื่นนี่ซิ ตัวอย่างเช่น ผมพบกับอิสมาแอล อายุ 16 ปี พ่อตาย แม่เป็นบ้า  มีน้องอยู่ 4 คน ที่ต้องดูแล ผมถามอิสมาแอลว่า “โกรธไหม” เขาบอก “ไม่โกรธครับ” พอผมจะกลับ อิสมาแอลบอกว่า “พ่อผมไม่ติดยานะครับ” เขาขมขื่น มีคนโกหกเรื่องพ่อเขา พ่อเขาอาจทำอะไรที่ก่อเหตุร้าย แต่พ่อไม่ติดยา พ่อเลี้ยงดูครอบครัวดี แต่พ่อคิดว่ามีหน้าที่อะไรบางอย่างที่สูงกว่าหน้าที่ต่อครอบครัวซึ่งเขาจะต้องป้องกัน เขาก็อยากไปตาย ชัดเจน อยากไปตาย อยากให้เจ้าหน้าที่ฆ่าเขาให้ตาย เขาต้องการตาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่กดดันเด็กเหล่านี้จะต้องรีบมีเพื่อน ไม่รู้ว่าจะทันหรือไม่ทัน แต่สิ่งที่ผมห่วงใยก็คือ เรื่องของความรุนแรงไม่ใช่เรื่องลูกที่พ่อตาย แต่พ่อที่ลูกตาย ครอบครัวที่อยู่ในศาสนา เป็นหน้าที่ คนที่ขมขื่นเขาได้กำหนดวันตายของเขาแล้วล่ะ เพียงแต่ว่าเขาอยากจะแจ่มใสเพื่อจะทำหน้าที่อะไรบางอย่างก่อนตาย ซึ่งน่ากลัว เข้าใจอันนี้กันหรือเปล่าไม่รู้ว่าการที่มีคนตายคนหนึ่ง ไม่ใช่เพียงตัวคนตาย ลูกเขาอีก 5-6 คน ญาติพี่น้องเขาอีกเป็นร้อย ความขมขื่นมันกระจาย แล้วยิ่งไปโกหกเรื่องคนตายเข้าไปมากมาย ไม่มีอะไรที่รุนแรงเท่ากับได้รับการโป้ปดมดเท็จ ทำไมเราไม่รับความจริง ความจริงนี่ไม่กดดัน ไม่ว่าจะผิดแค่ไหนก็ไม่กดดัน แต่ถ้าโกหกนี่กดดัน คนที่ขมขื่นนี่อันตรายกว่าคนที่โกรธ ความขมขื่นนี่มีจริงซึ่งนโยบายของรัฐบาลได้สร้าง เพราะฉะนั้นปัญหาในภาคใต้ มันไม่เป็นเครือข่าย ผมยืนยัน มันเป็นข่ายที่ไม่มีเครือ เป็นข่ายของความขมขื่น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับองค์กรหรือขึ้นอยู่กับอะไร โจรร้อยคนมี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันมีความขมขื่นเป็นกระจุกๆ ผู้ที่รดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย รดน้ำมันทุกวันด้วยคำพูด เช่น คำพูดว่า “โลกหน้าเป็นเรื่องโง่เขลา” “ฉันจะทำให้รวยใน 3 ปี” อันนี้อันตรายมากเพราะไปดูถูกศาสนาเลย หรือ “จะแก้ไขทบทวนคัมภีร์อัลกุระอาน” ไม่รู้พูดไปได้อย่างไร


ทำหน้าที่ของมนุษย์อย่างมีคุณค่า

ลองนึกถึงความทุกข์ซิ ผมไปเยี่ยมคนถูกจับ ผมเดินเข้าไปเยี่ยมเด็กหนุ่มมีตั้งแต่ อายุ 14 - 20 ปี รอดจากการถูกทับตายในรถบรรทุก 1,300 กว่าคน ไปถึง ผมถามว่า “ทางบ้านรู้ไหม”  เขาบอก “ยังไม่รู้”  “ได้ติดต่อกับทางบ้านหรือยัง”  “ยัง” สิ่งที่ผมทำก็คือ ยื่นโทรศัพท์ให้ บอกให้โทรกลับบ้าน ทหารเขายืนถือปืนเอ็ม 16 อยู่ข้างผม เป็นโหลเลย เราก็ทำ เพราะมนุษย์ต้องมีบ้าน ห่วงบ้าน บ้านห่วง ได้ใกล้คนที่รู้สึกว่าเขาวางใจที่สุด คิดถึงที่สุด นี่คือชีวิตมนุษย์ ผมยื่นโทรศัพท์ให้ เขาก็โทรกลับบ้าน พอแม่รับก็ร้องไห้โฮเลย เด็กหนุ่มๆ คนอื่นก็ร้องกันใหญ่ ร้องไห้ ทหารที่ยืนข้างผมก็ควักโทรศัพท์ให้กันหมดเลย คนเราติดต่อกันด้วยความเป็นมนุษย์ทุกคนก็กลายเป็นมนุษย์หมด การที่เราทำหน้าที่มนุษย์ ทำให้ทุกคนร่วมทำ ทหารที่ค่ายเขาน่ารักมาก ยื่นโทรศัพท์ให้ โทรกลับบ้าน ร้องไห้กันกระจองอแง ผมก็ต้องจดชื่อบางคนที่โทรไม่ได้ ไม่เคยกดเลยโทรศัพท์ เราก็กดให้ ช่วยกันใหญ่ทั้งผมทั้งทหารที่นั่นก็แบตเตอรี่หมดทุกคน เพราะเรารู้สึกว่า นี่แหละคือหน้าที่เราแล้วล่ะ ผมก็ถามท่านรองแม่ทัพ “เตรียมหรือยัง ถ้า 1,300 คน เขากลับไปหาครอบครัว กลับไปบ้าน  อยากให้เขาพูดถึงกองทัพว่าอย่างไร” เออ แล้วมันก็เปลี่ยนนะ ก็ดี แล้วโทรศัพท์หาผมทุกวันเลยในช่วงนั้นบอกว่า “จวนปล่อยแล้ว จะปล่อยให้หมดเลย” คือคนเราถ้าได้ทำหน้าที่ ไอ้ที่สมมุติ หรือใครที่กดดัน ก็จะมีสติ ขอให้ได้ทำ ถ้าช่วยๆ กันทำแบบนี้เราจะแก้ปัญหาภาคใต้ได้ เมื่อเราทำ เราจะพบว่านั่นเป็นหน้าที่ที่ได้ทำ ความดีของเขาก็เป็นความดีของมนุษย์ทุกคนนะ นึกถึงเด็ก ม.สงขลานครินทร์ อายุ 18-19 ปี ที่ช่วยกันอยู่ตอนนั้น 50-60 คน ใน 3 จังหวัด สตางค์ตนเองก็ไม่มี ไปเยี่ยมคนนั้นคนนี้ ไปเยี่ยมตำรวจ ไปเยี่ยมคนพุทธ คนมุสลิม พร้อมผม ผู้หญิงเขาก็โพกหัวนะ ผมก็เห็นเขาเป็นมนุษย์ เขาไปกอดเด็กไม่ว่าจะเป็นศาสนาอะไร ทำไมจิตเขาสะอาด มันไม่ได้เป็นอย่างที่นั่งๆ นึกกัน ถ้าเราเข้าไปพบชาวบ้าน เราจะพบ

ผมอยากพูดถึงทหารคนหนึ่ง ชื่อ ร้อยเอก วีระ เขามาบอกว่า “ขอบคุณครับคุณครู” เขาเรียกผม ‘ครู’ ผมบอกว่า “นี่ผมไม่ได้เป็นครูนะ” เขาบอก “ครูได้สอนความเป็นมนุษย์ให้ผม ผมเข้าโรงเรียน ครูได้สอนเรื่องความเป็นมนุษย์ แล้วผมนำมาใช้ ขอบคุณคุณครู”  เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่าต่อเด็กซึ่งหมดหวัง ลองไปสัมภาษณ์เด็กทุกคนบอกตรงกันเลยว่าทางค่ายดีกับเขา อย่างน้อยมันก็เริ่มต้นทำความดี แม้ว่าจะผิดพลาดอะไรบางส่วน    นี่แสดงว่ามีคนดีในทุกแห่งนะ ต้องมีความหวังอันนั้น เพียงแต่ว่าเราต้องมั่นใจและช่วยกันทำมากขึ้น แต่แน่นอน จะมีคนแรกตายคาลวดหนามก็ไม่เป็นไร เพียงแต่คนต่อมาจะกล้าเหยียบมันข้ามหรือไม่


ทำลายข่ายแห่งความขมขื่นด้วยการสร้างความหวังและร่วมกันทำหน้าที่มนุษย์

ความขมขื่นที่ถูกรดน้ำพรวนดินทำให้เกิดความขมขื่นที่พร้อมจะระเบิดด้วยตัวเอง ไม่ต้องมีใครมาโยง มีโอกาส มีความรู้ มันก็เกิดระเบิดออกมา เพราะมันสะสม เพราะฉะนั้นการแก้ไขนี่ไม่ใช่กำลัง ดึงความขมขื่นนี่ออกซะ ทำให้เกิดความหวัง เคยสร้างความหวังไหม ว่าความขมขื่นนี้จะหมดสิ้น ในหลวงท่านเป็นความหวังทั้งหมดเลย ราชวงศ์ทั้งหมด ผมยืนยันเลยว่า ล้าน 6 แสนคนที่นั่นรักในหลวง คราวสุดท้ายราษฎรของพระองค์ท่านต้องมาตาย 20 กิโลเมตรจากพระตำหนัก โดยคน 2-3 คนที่มีจิตแบบนั้น มันสูญเสียมาก ต้องรับผิดชอบนะคนที่ทำน่ะ เพราะมันทำให้สิ่งที่พระองค์ท่านเหนื่อยยากมาตลอด สร้างความรักความผูกพัน กระทบมากเลย ยังไม่รับรู้กันอีกหรือ บางทีความโมโห ความโหดร้ายมันครอบคลุมไปเสียหมดจนไม่เห็นความผิดของตน นั่นจะแก้ยาก ผมก็ยังคิดว่า ต้องเริ่มจากความเป็นมนุษย์ และเราไม่ควรจะหมดหวัง ทำหน้าที่ไป พระเยซูก็ไม่ได้ไปแก้ด้วยการไปฆ่าทหารโรมัน พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทำอะไรที่วัง ท่านก็อยู่ในป่า พระมูฮัมหมัดท่านก็ป้องกันคนยากจน คนด้อยโอกาส ท่านไม่ได้ยกทัพไปตีกรุงโรมอะไร  ทำหน้าที่มนุษย์ ทำในส่วนที่ต้องทำ ทำหน้าที่จนความดีมันมีพลังพอ


รู้จักเขารู้จักเรา

อย่างเช่นผมนี่ เหาะเหินเดินอากาศไปต่างประเทศ ไปเจรจาระหว่างประเทศมีข้อมูลอะไรๆ พอเข้าไปก็พบว่าเราก็โง่ ไม่รู้จักเขาหรอก มันเกิดคำถามพื้นฐานเลยว่า แล้วเขาจะรู้จักเราได้อย่างไร ดูอินเตอร์เน็ตทุกวันยังไม่รู้เรื่องเขาเลย แล้วจะไปซี้ซั้วบังคับว่าเขาจะต้องรู้เรื่องเรา ทำแบบเรา ซึ่งมันเป็นความเห็นแก่ตัว เราแข็งแรงกว่าเราก็ต้องเป็นผู้เริ่ม อย่างเช่น ผมอยู่กรุงเทพฯ คาทอลิกก็ต้องไปพูด อิสลามก็ต้องไปพูด พูดกับมุสลิมผมก็ซี้ซั้ว อัสลามอาลัยกุ้ม สันติจงมีแด่ท่าน ก็จำๆ มา ไปที่นั่นเราก็รู้สึกว่าชาวบ้านในหมู่บ้านเขาอยู่ใกล้ศาสนามาก ก็ต้องถามว่า “บัง ผมจะพูด ‘อัสลามูอะลัยกม’  ที่นี่ได้ไหม” เขาบอกว่า “ไม่ควรหรอก เพราะ ‘อัสลามูอะลัยกม’ ‘ขอความสันติจงมีแด่ท่าน’ เป็นการขอพรพระเจ้าให้กับอีกคนหนึ่ง” เราเป็นคนนอกศาสนาแล้วไปให้พรแบบนี้ ซี้ซั้วตั้งตัวเป็นพระเจ้าหรือเปล่า ใช่ไหม เราไม่รู้น่ะ แม้แต่ตั้งใจทำความดี ก็ไม่เข้าใจวัฒนธรรม แล้วจะพบว่าตัวเองโง่ ซี้ซั้วทักเขา (หัวเราะ) ซี้ซั้วด่าเขานี่ยิ่งน่ากลัวใหญ่เลย เยอะแยะเลยในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลนี้ ผิดก็ไม่รู้เท่าไร หรืออย่างยกมือไหว้นี่ผมก็ต้องถาม ไม่ว่าไปที่ไหนเราจะต้องทิ้งวิชา ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วเริ่มเรียนรู้ชีวิตเขา ก็ถามว่า “ไหว้ได้ไหมล่ะ” เขาบอกว่า “เขาคงพอเข้าใจ แต่ในทางศาสนาจะไม่ไหว้ เพราะการไหว้หมายถึงพิธีกรรมต่อสิ่งของ” เขารู้สึกอย่างนั้น เขาก็จะกังวลว่าควรจะรับหรือไม่รับ ใช้ผงกหัวก็ได้ เราก็ต้องเข้าใจ ไม่ใช่เป็นความผิดอะไรของใคร แต่ถ้าเริ่มอย่างนั้นเราจะเริ่มเป็นเพื่อน


เหมือนปลูกต้นไม้ในทะเลทรายซึ่งต้องการน้ำจำนวนมหาศาล

ถ้าถามว่าเราสามารถแก้ได้ไหม ผมไม่รู้ แต่เราก็ช่วยเหลือคนที่นั่น เพราะเราเป็นมนุษย์เหมือนเขา  แต่ที่ผมคิดว่าได้มากเลยคือ คนที่อยู่ทางศาสนาจะมีจิตที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ และในเมืองไทย การร่วมมือกันระหว่าง 3 ศาสนาแข็งแรงมากไม่มีที่ไหนในโลก ช่วยกันทำดี ลงไปช่วยกันทำ ไปปรากฏตัว ช่วยกันทำให้ที่นั่นสว่าง ผมใช้คำนี้เลยนะ

1.ต้องเริ่มจากความบริสุทธิ์ ถ้าส่วนกลางเริ่มจากคนที่จิตบริสุทธิ์ จิตทางศาสนารวมกันให้มาก แต่สิ่งเหล่านี้จะแก้ได้ต่อเมื่อถูกสร้างแรงบันดาลใจจากเรื่องในพื้นที่ เพราะฉะนั้นต้องลงไปและพบความจริง พบความดี พบความสะอาดของชีวิต ของชุมชนในพื้นที่ ซึ่งจะสร้างแรงคุณค่าเหมือนที่ผมบอกว่า เด็กคนนั้นจากกลัวผม มาจ๊ะเอ๋ เรารู้เลยว่า นี่เป็นรางวัลนะ เราได้พาจิตวิญญาณของเด็กคนนั้นออกจากนรกมาแล้ว ค่อยๆ ทำไป ไถ่ถาม ไปเยี่ยมบ่อยๆ 

2.ต้องทำที่นั่นให้สว่าง สว่างทั้งจิตสว่างทั้งพื้นที่ ให้คนโหดร้ายทำอะไรยาก

3. ใช้ระบบกฎหมาย โดยองค์กรอิสระ เพราะรัฐบาลกลายเป็นคู่กรณี ต้องใช้องค์กรอิสระคือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญต้องโยงกันเพื่อปกป้องด้วยกฎหมาย 

4.รัฐบาลต้องดูแลบ้านเมืองโดยนำข้อเสนอของคุณจาตุรนต์ ฉายแสง มาใช้ เริ่มตรงนั้นเพราะจะถอนความขมขื่นออกไปได้มาก สร้างความหวังด้วยข้อเสนอของคุณจาตุรนต์ เริ่มทางด้านความบริสุทธิ์เสียก่อน เราไม่สามารถปลูกต้นไม้บนความโหดร้ายได้ อยากให้ทำตรงนี้ก่อน ถ้ามีโอกาส เราเริ่มจากคนละหยด แต่พอทำพร้อมกันจะเยอะ อย่าไปมองเรื่องจะให้คนอื่นทำ ชวนลูก ชวนพ่อแม่ที่บ้าน ร่วมกันทำ จะทำอะไรถึงแม้จะเล็กน้อยก็ทำกันเถอะ เพราะว่ามันเหมือนหยดน้ำกลางทะเลทราย เราต้องการน้ำมหาศาล ต้องการเวลาที่จะทำให้เกิดพื้นดิน เกิดต้นไม้ ต้องการใจ คนแข็งแรงต้องเสียสละ

 

____________________________________________

 

* โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ที่เกิดจากการสร้าง "ฮีโมโกลบิน" ที่ผิดปกติไป ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะได้รับกรรมพันธุ์นี้มาจากบิดาและมารดา ทำให้ไม่สามารถสร้าง ฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นสารที่จำเป็นสำหรับการขนส่ง ออกซิเจน ของเม็ดเลือดแดงได้เหมือนคนปกติ เม็ดเลือดแดงจะมีประสิทธิภาพต่ำ และอายุใช้งานสั้นกว่าธรรมดา

** หมวกกปิเยาะห์ หมวกสีขาวที่มุสลิมชายสวม


Imageคุณโสภณ  สุภาพงษ์ เป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร อดีตผู้บริหารบริษัทน้ำมันบางจากที่มีสัญลักษณ์ใบไม้สีเขียว ผู้ที่สามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการบริหารและจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ พลิกให้องค์กรที่ประสบภาวะขาดทุนมหาศาลขึ้นสู่การเป็นองค์กรที่ทำผลกำไรต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการบริหาร และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่สามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจชุมชนมาสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างธุรกิจกับชุมชน โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนต่างๆ นำสินค้าที่ผลิตเองมาวางจำหน่ายในร้านที่ตั้งขึ้นในชื่อ เลมอนฟาร์ม ซึ่งเป็นที่รู้จักและนิยมของคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เป็นอย่างดี รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะจึงเป็นเครื่องหมายรับประกันคุณภาพอย่างดีกับผลงานที่ฝากไว้ หลังจากนั้นจึงผันตัวเองมาทำงานด้านการเมืองกับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา อยู่ในคณะกรรมาธิการ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ, การมีส่วนร่วมของประชาชน และกิจการโทรคมนาคม 

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๖๗ พิมพ์
Monday, 03 July 2006


วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๖๗

'เข้าใจ' หัวใจของ 'สันติภาพ'

 


เรื่องเด่นประจำฉบับ


- ทลายข่ายแห่งความรุนแรง
กับ โสภณ สุภาพงษ์

- เหยื่อของความบิดเบือน : ศุภรา จันทร์ชิดฟ้า

- รู้เขารู้เรา กับ รศ.เสาวณีย์ จิตต์หมวด

- ภาระที่ยังอยู่... ชีวิตที่ถูกลืม : บรรณาธิการ

- ทำความเข้าใจ กับ 'ความเข้าใจ' ในสังคมไทย : รศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์   

- สันติภาพและการคืนดี : อัจฉรา สมแสงสรวง

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
Amelie : ลีออง ๑๙๖๘ พิมพ์
Friday, 30 June 2006

เนื้อในหนัง 
ลีออง 1968

Amelie


"อมิลี่ รู้สึกเป็นสุขอย่างประหลาด มันเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก แสงแดดอ่อนๆ กลิ่นหอมของสายลม เสียงพึมพำของผู้คนในเมือง เธอสูดลมหายใจลึกๆ สัมผัสถึงชีวิตที่เรียบง่ายและกระจ่างแจ้ง กระแสความรัก และความอยากจะช่วยเหลือผู้อื่นเข้าถาโถม" นี่คือความรู้สึกที่ใครก็สัมผัสได้และจะอยู่ใกล้แค่เอื้อมหากเรารู้จักคำว่า 'ให้'

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม...
สึนามิ : สัญญาณแห่งกาลเวลา พิมพ์
Friday, 30 June 2006


สึนามิ : สัญญาณแห่งกาลเวลา

พระไพศาล วิสาโล 
เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ


พระไพศาล วิสาโลเหตุการณ์สึนามิถล่ม สามารถมองได้หลายอย่าง หลายแง่มุม และทุกคนคงหาความหมายจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้แตกต่างกันไป

ปรากฏการณ์สึนามิไม่ได้เป็นการตอบโต้ การแก้แค้นของธรรมชาติ หรือการลงโทษมนุษย์ และปรากฏการณ์สึนามิไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะปรากฏการณ์คลื่นยักษ์เกิดขึ้นมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์

ปรากฏการณ์สึนามิเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติ แต่ครั้งนี้ก่อให้เกิดภัยพิบัติที่ร้ายแรงเป็นประวัติการณ์ เพราะมนุษย์เรามาอยู่ผิดที่

ปรากฏการณ์สึนามิ คือ ปรากฏการณ์ที่ธรรมชาติเพียงแค่จามหรือขยับตัวตามธรรมชาติมาหลายศตวรรษ มนุษย์เรามาอยู่ผิดที่ เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากการขยายตัวของสังคม และส่วนหนึ่งเกิดจากกระแสทุนนิยมและเงินตรา ที่ทำให้มนุษย์เข้าไปทำลายพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น สร้างรีสอร์ท ขยายเมือง ถมที่ ที่สำคัญคือไปทำลายป่าชายเลน ซึ่งป่าชายเลนเป็นตัวกันสึนามิที่ได้ผลมาก

ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา การทำลายป่าชายเลนเกิดขึ้นอย่างมหาศาล นี่คือเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมากมาย เพราะมนุษย์เริ่มขยายถิ่นฐานเข้าไปอยู่ตามชายฝั่งทะเล ส่วนหนึ่งเกิดจากการกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้าง   รีสอร์ท สร้างโรงแรม  ถมทะเล และทำลายป่าชายเลน

ที่บริเวณเขาหลักหรือตะกั่วป่ามีความเสียหายมากเพราะมีการขยายถิ่นฐานเข้าไป ด้วยแรงผลักดันจากการท่องเที่ยว เพื่อจะเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวสูงขึ้น บริเวณเขาหลักและตะกั่วป่าได้รับผลกระทบเพราะอิทธิพลจากการท่องเที่ยวโดยตรง

ธรรมชาติไม่ได้คิดจะแก้แค้นหรือตอบโต้มนุษย์ แต่มนุษย์เราได้อยู่ผิดที่ผิดทาง ปัญหาสำคัญที่ทำให้มนุษย์มาอยู่ผิดที่ผิดทาง เพราะการพัฒนาที่เน้นในเรื่องเงินตรามาก นี่คือเหตุผลหนึ่งที่บอกกับเราได้ว่า ทำไมเมื่อ ดร.สมิทธิ ธรรมสโรช ได้เตือนว่าจะมีสึนามิเกิดขึ้นเมื่อ 6-7 ปีก่อน จึงไม่มีคนสนใจ และยังถูกต่อว่าต่อขานถูกข่มขู่คุกคาม เพราะว่าผู้คนหลงใหลเงินตรา หลงใหลในความเจริญ และที่สำคัญคือ กลัวว่าการออกมาเตือนเช่นนี้จะทำให้คนมาท่องเที่ยวน้อยลง ซึ่งหมายความว่าเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวจะลดน้อยลงตามไปด้วย

เราเอาเงินเป็นตัวตั้ง ทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น เพราะทำให้ไม่มีการเตรียมตัว ไม่มีการป้องกันภัย ไม่มีสำนึกในด้านความปลอดภัย

ปรากฏการณ์สึนามิที่เกิดขึ้น จะว่าไปแล้วต้องถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคนทั้งสังคม ถ้าจะเรียกก็คือ 'กรรมร่วม' ซึ่งการที่พระอธิบายว่าเป็นเพียงกรรมของปัจเจกบุคคลไม่สามารถจะอธิบายอะไรได้เท่าไร แต่สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ คือ เป็น 'กรรมร่วมของคนทั้งสังคม' โดยเฉพาะคนในสังคมไทย ที่เราเห็นดีเห็นงามไปกับกระแสการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งเราไปเบียดเบียนธรรมชาติ

การที่เราไม่เคารพธรรมชาติ ซ้ำยังละเลย ไม่ใส่ใจคำเตือน เพียงเพราะกลัวว่าเม็ดเงินจะลดลง นี่คือปัญหา ความประมาท ความเลินเล่อ และความหลง เพราะเพลิดเพลินในเงินตรา ทำให้เราประมาท ทำให้เราไม่เตรียมพร้อม ยิ่งทำให้ภัยพิบัติจากสึนามิรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อันนี้ถือเป็นกรรมร่วมของคนทั้งสังคม

ประการต่อไปคือ สึนามิแสดงให้เห็นว่า มนุษย์เราตัวเล็กมากเมื่อเผชิญกับธรรมชาติ มนุษย์คิดว่าตนเองรู้จักธรรมชาติเพียงพอ แต่ที่จริงเรารู้น้อยลง และเราคิดว่า เรามีพลังในการควบคุมธรรมชาติได้ แต่อานุภาพของธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์มากนัก อันนี้น่าจะทำให้มนุษย์เราอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น และเคารพธรรมชาติมากขึ้น

มนุษย์จะต้องเจอภัยธรรมชาติอีกกี่ครั้ง ถึงจะทำให้เราตระหนักว่า เราควรจะต้องเตรียมตัวและเห็นแก่ตัวให้น้อยลง หรืออย่างน้อยควรยำเกรงธรรมชาติให้มากขึ้น

เรื่องนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า มนุษย์เราควรลดความอหังการลง เพราะธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์จะควบคุมได้ และที่สำคัญคือ สึนามิครั้งนี้เป็นสัญญาเตือนว่ามหันตภัยจากธรรมชาติจะมีมาอีก และจะมีอานุภาพทำลายล้างอย่างกว้างขวาง จนไม่มีใครบนโลกจะหนีพ้นได้

สึนามิครั้งนี้ ทำไมคนทั่วโลกตื่นตัวมาช่วยเหลือ ส่งคน ส่งเงินมาช่วย... ส่วนหนึ่งเพราะว่ามันกระทบแทบทุกทวีป ภัยสึนามิกระทบต่อคนทั้งโลก

ภัยสึนามิส่งผลแห่งความสูญเสียและความพลัดพรากแผ่ไปทั่วโลก ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าในโลกยุคโลกาภิวัตน์นี้ ภัยธรรมชาติจะรุนแรงกว่านี้ และจะไม่มีใครหนีพ้นจากอิทธิพลของมันเลย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ซึ่งถ้าเราดูจากสภาพที่เป็นอยู่คงจะปฏิเสธได้ไม่ยาก เพราะตอนนี้ คนในวงการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับโรคระบาดกำลังวิตกกันอยู่ว่า ไข้หวัดใหญ่ซึ่งเคยรุนแรงระบาดไปทั่วโลก จะหวนกลับมาหลังจากที่เคยคร่าคน 20 ล้านคน มาแล้วเมื่อปี ค.ศ.1918 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1

สึนามิมีผลดีในแง่ที่ว่า ได้กระตุ้นให้คนเกิดความตื่นตัวมาร่วมกัน การร่วมแรงร่วมใจครั้งนี้ทั้งโลก เป็นไปอย่างไม่เคยมีมาก่อน คนอเมริกัน 1 ใน 3 บอกว่า ได้มีส่วนช่วยผู้ประสบภัยสึนามิด้วยการบริจาค ส่วนคนอังกฤษประมาณ 80 % ได้ช่วยบริจาค เงินบริจาคมากกว่าที่ต้องการถึง 20 เท่าของงบที่ต้องการ แสดงว่ามนุษย์เราพร้อมที่จะร่วมมือและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของมนุษยชาติยังไม่หายไป แม้จะมีสงคราม ความรังเกียจเดียดฉันท์ ด้วยเหตุทางภาษา ศาสนา หรือวัฒนธรรม ปัญหาคือว่า เราจะต้องรอให้สึนามิเกิดขึ้นก่อนหรืออย่างไร ถึงจะทำให้สำนึกในความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติเกิดขึ้นได้

สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายมนุษย์เราว่า เราจะต้องรอให้เกิดภัยธรรมชาติขึ้นมาเสียก่อนในระดับรุนแรงหรือ ถึงจะเกิดสำนึกในการร่วมมือกัน สำนึกที่จะทำความดี  สำนึกที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมนุษยชาติ และกรณีสึนามิยังบอกอีกว่า มีแต่สำนึกในความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติเท่านั้นที่เราจะขจัดปัดเป่าภัยอันตรายจากธรรมชาติในระดับนี้ได้

ถือเป็นการซ้อมใหญ่ก็ได้ เพราะว่าถ้าเกิดมีโรคไข้หวัดใหญ่ระบาด ไม่มีทางเลยที่มนุษย์เราชาติใดชาติหนึ่งจะสู้กับภัยนี้ได้ นอกจากเราจะร่วมมือกัน ปัญหาอยู่ที่ว่า ถ้าไข้หวัดใหญ่ระบาดเกิดขึ้น เราจะร่วมมือกันอย่างสุนามิอีกหรือเปล่า เพราะว่าตัวอย่างพอเกิดโรคซาร์สหรือไข้หวัดนกขึ้น ต่างคนต่างปิดพรมแดน ต่างคนต่างเอาตัวรอดก่อน ประเทศของฉัน พอเกิดโรคระบาดบางทีแทนที่เราจะเกิดความร่วมมือกลับเกิดความเห็นแก่ตัว แต่สึนามิตรงกันข้าม เพราะให้ผลที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

นี่เป็นการซ้อมใหญ่ที่ชี้ให้เห็นว่า ถ้าเราร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราจะแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

ปัญหาคือถ้าเกิดภัยครั้งใหญ่ หรือปรากฏการณ์เรือนกระจกที่แสดงอานุภาพออกมามากขึ้นเรื่อยๆ เราจะร่วมมือกันได้หรือเปล่า

Imageประการต่อมาชี้ให้เห็นว่า สำนึกของการร่วมมือกันของคนทั้งโลกนี่ ตัวจุดประกายจริงๆ มาจากคนธรรมดาหรือคนเล็กๆ ในขณะที่รัฐบาลหลายประเทศช่วยด้านการเงินให้กับผู้ประสบภัยสึนามิ ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศให้คำมั่นสัญญาไว้ ซึ่งหลายครั้งผิดสัญญา

แต่คนเล็กๆ ไม่ได้ให้คำมั่นสัญญา กลับควักเงินให้เลย ความร่วมมือครั้งนี้ประสบผลได้จากคนเล็กๆ และธรรมดาสามัญ ซึ่งน่าจะให้ความหวังแก่เราว่า ถ้าโลกนี้จะเผชิญภัยครั้งต่อไป ความหวังของเราคงจะอยู่ที่คนเล็กๆ ที่จะร่วมมือกัน เพราะคนเหล่านี้ จะติดเรื่องเชื้อชาติ เรื่องภาษา เรื่องความเป็นชาติน้อยมาก อันนี้เป็นสิ่งที่เราน่าจะคิดกันดูว่าเราจะสามารถปลูกจิตสำนึกในคนตัวเล็กๆ ธรรมดาๆ ให้มียิ่งขึ้นได้อย่างไร เพื่อเป็นฐานในการแก้ปัญหา

ในกรณีเมืองไทย คนเล็กๆ ธรรมดาๆ เข้าไปช่วยกันอย่างมากมาย สาวไฮโซ เด็กจาก       เซ็นเตอร์พอยท์ ก็ไปช่วย น้ำใจของคนออกมาอย่างปัจจุบันทันด่วน โดยที่รัฐบาลไม่ต้องเป็นผู้นำ แต่ต้องมีคนสามัญชนเป็นผู้นำ

เราจะสร้างหรือประสานระหว่างคนตัวเล็กๆ ได้อย่างไร

นอกจากจะมองกรณีสึนามิว่าเป็นสัญญาณแล้ว น่าจะมองว่าเป็นโอกาสในการได้ทำในสิ่งที่ดีที่มีอยู่แล้ว หรือทำสิ่งที่ไม่เคยมีให้ปรากฏขึ้น โดยเฉพาะการใช้โอกาสที่จะกระตุ้นต่อมสำนึกหรือต่อมความดีของมนุษย์โดยเฉพาะในคนไทย และในหมู่เยาวชนไทย เป็นเรื่องที่ควรจะทำอย่างจริงจังอย่างเป็นระบบ หรือเป็นโอกาสในการนำเยาวชนมาเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยฟื้นฟูผู้ประสบภัย

ภัยพิบัติครั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของคนทุกฝ่าย และในทุกมิติ ซึ่งแต่ละคนสามารถจะไปช่วยเหลือได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักดำน้ำ ศาสนิกชน นักร้อง หรือคนที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับเด็ก

ในขณะที่ตอนนี้เรากำลังเป็นห่วงเยาวชนว่า เป็นพวกช็อปไว ใช้แหลก แดกด่วน ที่จริงเยาวชนไทยมีความดีอยู่เยอะ มีน้ำใจมาก เราต้องใช้โอกาสนี้ดึงเยาวชนมาทำอย่างต่อเนื่อง กว้างขวาง และเป็นระบบ จะมีพลัง และอาจจะทำให้สังคมไทยเคลื่อนไปสู่ยุคใหม่ เหมือนกับ 30 ปีที่แล้ว เหตุการณ์ 14 ตุลา ได้เปลี่ยนสังคมไทย ได้เปลี่ยนจิตสำนึกของคนไทย เราอาจจะไม่ต้องมี 14 ตุลา เหมือนในยุคนั้น แต่ถ้าเราใช้สึนามิเป็นจุดขับเคลื่อน ให้เป็นจุดคานดีดคานงัดให้เกิดการเปลี่ยนจิตสำนึก ไม่แน่อาจจะเกิดความเปลี่ยนแปลงได้ไม่น้อยกว่าคนรุ่น 14 ตุลา สำหรับคนรุ่นใหม่อาจจะเปลี่ยนแปลงเพราะเหตุการณ์สึนามิก็ได้ อยากจะฝากความหวังไว้อย่างนี้

______________________________________

ถอดเทปจาก เสวนา "สึนามิ : บทเรียนเรื่องสัญญาณแห่งกาลเวลา" จัดโดย ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องด้านสังคม ร่วมกับ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2548 ณ ศูนย์พัฒนาบุคลากรอัสสัมชัญ ซ.ทองหล่อ 25 กรุงเทพฯ

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
อาสาสมัคร บทสะท้อนความรักเพื่อนบ้าน พิมพ์
Friday, 30 June 2006

ปิดเล่ม
อัจฉรา  สมแสงสรวง ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องด้านสังคม


Image 

อาสาสมัคร

บทสะท้อนความรักเพื่อนบ้าน


การเป็นอาสาสมัครในทัศนะของชาวคริสต์  มี 2 บทบาทที่สำคัญ  บทบาทแรก เป็นการเดินตามพระเยซู - ชาวนาซาเร็ธในฐานะศิษย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนคริสตชน   บทบาทที่สอง ในฐานะพลเมืองผู้ทำงานร่วมกันกับผู้อื่นเพื่อสร้างสรรค์สังคม และเพื่อความดีส่วนรวมของทุกคน  แนวคิดของการเป็นอาสาสมัครมิใช่เรื่องการเป็น   ' ฮีโร่ '  การอุทิศตนเป็นอาสาสมัคร เป็นผลสืบเนื่องมาจากแรงจูงใจคริสตชน  และปรากฏเป็นภาคปฏิบัติของการทำงานในฐานะที่เป็นพลเมือง ซึ่งผูกเรื่อง 2 เรื่อง เข้าด้วยกัน คือความรับผิดชอบและการเสียสละอุทิศตนเพื่อความยุติธรรม ...

 

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม...
<< หน้าแรก < ย้อนกลับ 81 82 83 84 85 86 87 88 89 90 หน้าถัดไป > หน้าสุดท้าย >>

ผลลัพธ์ 748 - 756 จาก 847