หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 184 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


สาระสำคัญของสารวันสันติภาพสากล ปี 2005/2548 : จงอย่าให้ความชั่วชนะ แต่จงชนะความชั่วด้วยความดี พิมพ์
Friday, 19 May 2006
สาระสำคัญของสารวันสันติภาพสากล
ของสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2
1 มกราคม 2005/2548
จงอย่าให้ความชั่วชนะ แต่จงชนะความชั่วด้วยความดี

สำหรับคำขวัญวันสันติภาพสากลประจำปี 2548 นี้ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ได้เลือกคำสอนของนักบุญเปาโล ในจดหมายถึงชาวโรมัน ที่ว่า “จงอย่าให้ความชั่วชนะ แต่จงชนะความชั่วด้วยความดี” (รม 12:21)

และบอกไว้ในย่อหน้าแรกของสารว่า ความชั่วไม่สามารถเอาชนะความชั่วได้ ถ้าเราเลือกหนทางนี้ “แทนที่จะเอาชนะความชั่ว เรากลับจะต้องพ่ายแพ้แก่ความชั่ว”

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ระบุไว้ในสารฉบับนี้ว่า “สันติภาพเป็นความดีที่จะต้องส่งเสริมด้วยความดี” สันติภาพจะต้องได้รับการทะนุบำรุงและส่งเสริมด้วยการตัดสินใจและการปฏิบัติที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความดี

สารฉบับนี้อธิบายไว้ว่า นับแต่เริ่มต้น มนุษยชาติรู้จักโศกนาฎกรรมของความชั่วร้ายและดิ้นรนค้นหารากเหง้าและพยายามอธิบายสาเหตุของมัน ในระดับลึกที่สุด ความชั่วร้ายคือการปฏิเสธเสียงเรียกร้องของความรักอย่างน่าเศร้าสลด ในทางตรงกันข้าม ความดีทางศีลธรรมเกิดจากความรัก และมุ่งสู่ความรัก

สารฉบับปี 2005 ย้ำอย่างหนักแน่นและชัดเจนอีกครั้งว่า ความรักที่แท้จริง คือการรักแม้กระทั่งศัตรูของเราเอง “หากศัตรูท่านหิว จงให้อาหารแก่เขา หากเขากระหาย จงให้เขาได้ดื่ม” (รม 12:20)

ในสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน เราได้พบการแพร่กระจายของความชั่วร้ายในรูปแบบต่างๆ ทางสังคมและการเมือง เริ่มจากสังคมที่ไร้ระเบียบไปจนถึงความสับสนอลหม่านและสงคราม จากความ อยุติธรรมถึงการกระทำที่รุนแรงและการสังหารเพื่อค้นพบหนทางระหว่างข้อเรียกร้องที่ขัดแย้งกันของความดีและความชั่วร้าย

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 แสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ เช่น แอฟริกา ดินแดนที่มีความขัดแย้งและทำลายชีวิตผู้คนไปแล้วเรือนล้าน และความรุนแรงยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง หรือสถานการณ์ที่อันตรายของปาเลสไตน์ อันเป็นดินแดนของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นดินแดนที่ความเข้าใจกันและกันถูกทำลาย โดยความขัดแย้งที่เกิดจากความรุนแรงและการแก้แค้นด้วยกำลังเป็นรายวัน ยังคงไม่สามารถได้รับการเยียวยารักษาด้วยความยุติธรรมและสัจธรรม และยังมีความรุนแรงจากการก่อการร้าย ซึ่งดูเหมือนว่าจะนำโลกไปสู่อนาคตแห่งความหวาดกลัวและสับสน และที่ลืมไม่ได้ก็คือเหตุการณ์โศกนาฏกรรมในอิรัก ซึ่งก่อให้เกิดสถานการณ์น่าเศร้าสลดใจเพราะความไม่แน่นอน และไม่มั่นคงของประชาชนในประเทศนั้น

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ความรุนแรงเป็นความชั่วร้ายที่ไม่อาจยอมรับได้ และไม่มีวันที่จะแก้ปัญหาได้ ความรุนแรงขัดแย้งกับสัจธรรมในความเชื่อของเรา และความรุนแรงทำลายสิ่งที่เราต้องการปกป้อง นั่นคือศักดิ์ศรี ชีวิต และเสรีภาพของมนุษย์”

สารฉบับนี้บอกไว้ว่า สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน คือความมุ่งมั่นที่จะอบรมบ่มเพาะจิตสำนึกและให้การศึกษาคนรุ่นใหม่ ให้รู้จักความดีโดยการยึดคุณค่าความเป็นมนุษย์นิยมอย่างสมบูรณ์และสมานฉันท์ นี่คือพื้นฐานของระเบียบทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่มีการเคารพศักดิ์ศรี เสรีภาพ และสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์แต่ละคน

และการส่งเสริมสันติภาพโดยให้ความดีพิชิตความชั่ว จะต้องมีการไตร่ตรองเรื่อง “ความดีของส่วนรวม” อย่างรอบคอบ รวมทั้งผลกระทบทางสังคมและการเมือง

สารฉบับนี้บอกกับเราว่า “เมื่อใดที่ความดีของส่วนรวมได้รับการส่งเสริมในทุกระดับ เมื่อนั้นสันติภาพก็จะได้รับการส่งเสริมด้วย มนุษย์แต่ละคนจะบรรลุถึงความสมบูรณ์ครบครันได้อย่างไร หากไม่คำนึงถึงธรรมชาติทางสังคมของตน”

นอกจากนั้น สารฉบับนี้ยังเรียกร้องไว้ว่า คุณความดีของสันติภาพจะได้รับหลักประกันดียิ่งขึ้นหากประชาคมระหว่างประเทศ มีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้นต่อสิ่งที่เราเรียกว่า “ทรัพยากรสาธารณะ” ซึ่งหมายถึงทรัพยากรที่พลเมืองทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ โดยไม่จำเป็นจะต้องตั้งใจเลือกหรือมีส่วนสร้างสรรค์ทรัพยากรนั้นโดยทางใดทางหนึ่ง

และกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “เราจำเป็นจะต้องคิดถึงการต่อสู้ความยากจน การส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง ความห่วงใยต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และการควบคุมโรค ซึ่งหลักการว่าด้วยทรัพยากรเพื่อประโยชน์ร่วมกันยังสามารถนำไปสู่แนวทางที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการท้าทายความยากจน โดยเฉพาะเมื่อเราคำนึงถึงความยากจนข้นแค้นซึ่งเป็นสภาพการดำรงชีวิตของประชากรเรือนล้าน”

สารฉบับนี้กล่าวไว้ว่า ในช่วงเริ่มต้นของสหัสวรรษใหม่นี้ ประชาคมระหว่างประเทศได้กำหนดวาระเร่งด่วนที่จะลดจำนวนประชากรที่ยากจนเหล่านี้ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2015 และพระศาสนจักรสนับสนุนและให้กำลังใจความมุ่งมั่นในการลดความยากจน และเชื้อเชิญทุกคนและทุกภาคส่วนให้ “เลือกรักคนยากจน”

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ยังคงกังวลต่อปัญหาความยากจนและหนี้สินของประเทศยากจนทั้งหลาย และชี้ให้เห็นว่า ประเทศยากจนยังคงติดกับอยู่ในวัฏจักรชั่วร้าย ซึ่งวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่แท้จริงในการช่วยประเทศให้จัดการกับปัญหาความยากจน คือ การจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นโดยการให้เงินช่วยเหลือระหว่างประเทศ ทั้งในภาครัฐและเอกชน และสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน คือการระดมพลังทางศีลธรรมและเศรษฐกิจ และที่สำคัญการริเริ่มทุกอย่างจะต้องดำเนินไปด้วยจิตตารมณ์ของการแบ่งปันอย่างแท้จริง โดยการเคารพหลักการการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

สารฉบับปี 2005 ย้ำอย่างชัดเจนว่า “มนุษย์ทุกคนสามารถเอาชนะความชั่วร้ายด้วยความดีได้”
สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ทรงให้กำลังใจเราทุกคนให้มีความหวังในความยุติธรรมและสันติ ถึงแม้เราแต่ละคนจะมีบาปส่วนตัวหรือมีบาปในของสังคม แต่ความหวังยังคงช่วยกระตุ้นความมุ่งมั่นต่อความยุติธรรมและสันติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความเชื่อมั่นแน่วแน่ว่า “การสร้างโลกที่ดีกว่า” เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แม้ว่า “ความไม่เสมอภาคที่ยากจะเข้าใจ” ยังคงดำรงอยู่ในโลกก็ตาม

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 เรียกร้องบรรดาคริสตชนไว้ในสารฉบับนี้ว่า คริสตชนจะต้องแสดงในการดำเนินชีวิตว่า “ความรัก” เป็นพลังประการเดียวที่สามารถนำมนุษย์แต่ละคนและสังคมมนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์พร้อมได้ และ “ความรัก” เป็นพลังเพียงประการเดียวที่สามารถชี้นำประวัติศาสตร์ไปสู่หนทางแห่งความดีและสันติภาพ

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 กล่าวไว้ในย่อหน้าท้ายๆ ของสารปี 2005 ว่า ไม่มีชายหญิงคนใดสามารถทอดทิ้งการต่อสู้เพื่อพิชิตความชั่วร้ายด้วยความดี ซึ่งการต่อสู้นี้จะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพก็ด้วย “อาวุธแห่งความรัก” เท่านั้น

และระบุไว้ว่า “เมื่อความดีเอาชนะความชั่วร้าย ความรักจะดำรงอยู่ และที่ใดที่มีความรัก ที่นั่นก็มีสันติภาพ”


เขียนความคิดเห็น (2 ความคิดเห็น)
สาระสำคัญของสารวันสันติภาพสากล ปี 2004/2547 : การสอนสันติภาพ เป็นภารกิจสำคัญในยุคสมัยนี้ พิมพ์
Friday, 19 May 2006

สาระสำคัญของสารวันสันติภาพสากล
ของสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2
1 มกราคม 2004/2547
การสอนสันติภาพ เป็นภารกิจสำคัญในยุคสมัยนี้

25 ปีในตำแหน่งพระสันตะปาปา เป็นช่วงเวลาแห่งการทำงานเพื่อสร้างสันติภาพและเรียกร้องให้มวลมนุษย์สร้างความดีงามพื้นฐานแก่กันและกัน

ในปัจจุบันมนุษยชาติมีความจำเป็นมากขึ้นที่จะแสวงหาเส้นทางแห่งความสมัครสมานไมตรี ซึ่งถูกครอบงำด้วยความเห็นแก่ตัวและความเกลียดชัง เพราะความกระหายในอำนาจและกิเลสของการแก้แค้น

สารฉบับปี 2004 นี้ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ทรงกล่าวรำลึกถึงสมเด็จพระสันตะปาปา พอล ที่ 6 ซึ่งเป็นผู้เริ่มต้นและปรารถนาเฉลิมฉลองวันที่ 1 เดือนมกราคมของทุกปี ให้เป็นวันสากลแห่งการภาวนาเพื่อสันติภาพ และยังทรงได้กำหนด “ศาสตร์แห่งสันติภาพ” ที่แท้จริง และมีสารวันสันติภาพสากลจำนวน 11 ฉบับของสมเด็จพระสันตะปาปา พอล ที่ 6 ที่ทรงมีถึงโลกมนุษย์ และทรงปูเส้นทางอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อบรรลุถึงสันติภาพที่เราใฝ่ฝัน

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 กล่าวไว้ในสารฉบับนี้ว่า สารของสมเด็จพระสันตะปาปา พอล ที่ 6 เป็นคล้ายกับ “คำเตือนของประกาศก” โดยเฉพาะในเรื่องโศกนาฏกรรมแห่งสงครามที่เริ่มต้นในช่วงสหัสวรรษที่ 3

ตลอดระยะเวลา 25 ปีในตำแหน่งสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 พระองค์ยังคงมุ่งไปตามเส้นทางแห่งสันติภาพ และพระองค์ใฝ่ฝันถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ในระยะเวลาที่ผ่านมา สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ทรงเรียกร้องและชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างสันติภาพ เพราะมนุษย์ทั้งชายและหญิงที่ต้องเผชิญหน้ากับโศกนาฏกรรมที่ยังคงทำร้ายมนุษยชาตินั้น ทำให้มนุษย์มีแนวโน้มที่จะยอมแพ้ต่อโชคชะตาและดูเหมือนว่าสันติภาพเป็นความใฝ่ฝันที่ไม่อาจเป็นจริงได้

สารฉบับปี 2004 ยังคงเน้นอย่างชัดเจนว่า “สันติภาพเป็นไปได้” และ “พระศาสนจักรไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยที่จะกล่าวซ้ำว่าสันติภาพเป็นหน้าที่” สันติภาพจะต้องสร้างบนเสาหลักสี่ประการ ที่บุญราศีสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 ได้กล่าวถึงในสมณสาสน์ของพระองค์ที่ชื่อ “สันติบนแผ่นดิน” คือ สัจธรรม ความยุติธรรม ความรัก และเสรีภาพ เพราะฉะนั้น หน้าที่ที่เราทุกคนที่รักสันติภาพได้รับ คือการสอนอุดมคติเรื่องสันติภาพแก่ชนรุ่นใหม่ เพื่อเตรียมอนาคตที่ดีกว่าสำหรับมนุษยชาติ

ในช่วงเวลาที่สมณสาสน์ฉบับนี้เกิดขึ้น เป็นช่วงเวลาของสงครามในหลายสถานที่ และหลายฝ่ายกล่าวว่าองค์การสหประชาชาติเป็นเหมือนองค์การที่ขาดประสิทธิภาพในการระงับความขัดแย้ง แต่สมณสาสน์ฉบับนี้ระบุให้เห็นอีกแง่หนึ่งว่า แม้องค์การสหประชาชาติจะมีข้อจำกัดและความล่าช้าในการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความล้มเหลวของบรรดาประเทศสมาชิก แต่องค์การสหประชาชาติก็มีคุณูปการต่อการส่งเสริมการเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ เสรีภาพของประชาชาติและข้อเรียกร้องของการพัฒนาก่อให้เกิดการเตรียมเนื้อหาแห่งวัฒนธรรมและสถาบันเพื่อการสร้างสันติภาพ

สารฉบับปี 2004 กังวลต่อความรุนแรงจากการก่อการร้าย ซึ่งหายนะของการก่อการร้ายเกิดขึ้นมากมายในช่วงเวลาที่ผ่านไป การก่อการร้ายได้ก่อให้เกิดการสังหารอย่างเหี้ยมโหด และเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงต่อการเสวนาและการเจรจา และก่อให้เกิดความตึงเครียดและปัญหาที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ระบุไว้ในสารฉบับนี้ว่า “เพื่อเอาชนะการต่อสู้ การก่อการร้าย มิใช่จะต้องทำการตอบโต้ด้วยความรุนแรง แม้มีความจำเป็นก็ตาม แต่จะต้องเกิดจากการวิเคราะห์อย่างกล้าหาญและโปร่งใสต่อเหตุผลเบื้องหลังของการโจมตีของผู้ก่อการร้าย”

สารฉบับนี้ระบุว่า “การต่อสู้กับการก่อการร้ายจะต้องดำเนินการในระดับการเมืองและการศึกษาด้วยในด้านหนึ่ง โดยการขจัดสาเหตุของสภาพความอยุติธรรม ซึ่งมักจะทำให้ประชาชนสิ้นหวังและลงมือปฏิบัติด้วยความรุนแรง และในอีกด้านหนึ่งนั้น ความเป็นหนึ่งเดียวกันของเผ่าพันธุ์มนุษยชาติเป็นสภาพความเป็นจริงที่มีพลังมากกว่าการแบ่งแยกของปัจเจกบุคคลและประชาชน”

และชี้ให้เราเห็นว่า “ในการต่อสู้กับการก่อการร้ายที่จำเป็นนั้น ต้องมีการเรียกร้องให้มีการปรับปรุงกฎหมายระหว่างประเทศโดยการพัฒนาเครื่องมือทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน การติดตามผลและการปราบปรามอาชญากรรมไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม รัฐบาลประชาธิปไตยรู้ดีว่าการใช้กำลังต่อผู้ก่อการร้ายไม่อาจสร้างความชอบธรรมให้กับการละทิ้งหลักการของการใช้กฎหมายการตัดสินใจทางการเมือง อาจเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ หากเป็นการมุ่งแสวงหาความสำเร็จที่ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เนื่องจากเป้าหมายไม่อาจสร้างความชอบธรรมให้กับวิธีการได้”

สารฉบับปี 2004 ระบุไว้ว่า การสร้างสันติภาพไม่อาจแยกขาดจากการเคารพระเบียบทางจริยธรรมและกฎหมาย และชี้อย่างตรงไปตรงมาว่า กฎหมายระหว่างประเทศจะต้องสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีกฎหมายของผู้มีอำนาจมากกว่า วัตถุประสงค์สำคัญคือการแทนที่กำลังอาวุธด้วย “พลังทางศีลธรรมแห่งกฎหมาย”

สำหรับคริสตชนสารฉบับนี้กล่าวไว้ว่า คำสอนของพระศาสนจักรในรอบหลายศตวรรษได้มีคุณูปการที่สำคัญในการกำหนดกฎหมายระหว่างประเทศให้มุ่งไปสู่ความดีส่วนรวมของครอบครัวมนุษยชาติ โดยเฉพาะในระยะเวลาช่วงหลัง สมเด็จพระสันตะปาปาหลายพระองค์ไม่ลังเลในการที่จะเน้นความสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ ในฐานะคำมั่นสัญญาต่อสันติภาพ ด้วยความเชื่อมั่นว่า “การเก็บเกี่ยวความยุติธรรมนั้น เกิดจากการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพโดยผู้สร้างสันติภาพ” นี่คือหนทางที่พระศาสนจักร ได้อุทิศตนเพื่อปฏิบัติด้วยวิธีการที่เหมาะสมและด้วยแสงสว่างแห่งพระวรสาร และความช่วยเหลือที่ขาดไม่ได้ของการภาวนา

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ทรงสรุปไว้ในสารฉบับนี้ว่า “ในการสร้างสันติภาพที่แท้จริงในโลกนั้น ความยุติธรรมจะต้องเกิดขึ้นด้วยเมตตาธรรม แต่เราไม่อาจไปถึงเป้าหมายของสันติภาพได้ หากความยุติธรรมไม่ได้รับการหนุนเสริมด้วยความรัก... ประสบการณ์ในประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า ความยุติธรรมมักไม่อาจปลดปล่อยตนเองจากความอาฆาต ความเกลียดชังและความโหดเหี้ยม ความยุติธรรมไม่เพียงพอ ความยุติธรรมอาจทรยศต่อตัวเอง นอกเสียจากว่าความยุติธรรมจะเปิดรับพลังที่ลึกซึ้งกว่า นั่นคือความรัก”

สารฉบับนี้ยังระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “การให้อภัยเป็นความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาของปัจเจกบุคคลและประชาชาติ จะไม่มีสันติภาพหากปราศจากการให้อภัย” และชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเนื่องในดินแดนปาเลสไตน์และตะวันออกกลาง จะประสบผลสำเร็จได้ต้องก้าวข้ามตรรกะของความยุติธรรมและเปิดออกสู่ตรรกะแห่ง “การให้อภัย”

ในย่อหน้าท้ายสุดของสารปี 2004 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ทรงระบุไว้ว่า “ความรักเอาชนะทุกอย่าง” และมนุษยชาติเท่านั้นที่จะมี “อารยธรรมแห่งความรัก” ซึ่งจะสามารถชื่นชมกับสันติภาพที่แท้จริงและถาวร

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
สาระสำคัญของสารวันสันติ ปี 2003/2546 : สันติบนแผ่นดิน : การอุทิศตนทั้งชีวิต เพื่อสร้างสันติบนแผ่นดิน พิมพ์
Friday, 19 May 2006

สาระสำคัญของสารวันสันติภาพสากล
ของสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2
1 มกราคม 2003/2546
สันติบนแผ่นดิน : การอุทิศตนทั้งชีวิต เพื่อสร้างสันติบนแผ่นดิน

สารฉบับปี 2003 เป็นการระลึกถึง 40 ปี ของพระสมณสาสน์ “สันติบนแผ่นดิน” ที่ออกโดยสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 ในวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ที่ 11 เมษายน 1963 ซึ่งพระองค์ทรงส่งสารนี้ถึง “ผู้มีน้ำใจดีทุกคน” โดยพระองค์สิ้นพระชนม์หลังจากออกสมณสาสน์ “สันติบนแผ่นดิน” ได้เพียง 2 เดือน

สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 ทรงสรุปสารเกี่ยวกับ “สันติบนแผ่นดิน” ไว้ในประโยคแรกของพระสมณสาสน์ว่า “สันติบนแผ่นดิน ซึ่งมนุษย์ทั้งมวลทุกยุคทุกสมัยใฝ่หาอย่างยิ่งนั้น สามารถสร้างขึ้นได้และดำรงไว้อย่างมั่นคง หากเพียงมีการปฏิบัติอย่างซื่อสัตย์ตามระเบียบที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้”

สถานการณ์โลกในช่วงที่สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 ทรงมีสารถึงในขณะนั้น อยู่ในภาวะที่ไร้ระเบียบเป็นอย่างมาก ศตวรรษที่ 20 เริ่มต้นด้วยความหวังว่า จะเกิดความเจริญก้าวหน้า แต่ภายในช่วงเวลา 60 ปีของศตวรรษเดียวกันกลับมีสงครามโลกเกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง นอกจากนั้นยังเกิดระบบเผด็จการล้างผลาญ เกิดความทุกข์ยากสุดพรรณาแก่มวลมนุษย์และเกิดการเบียดเบียนพระศาสนจักรครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ในปี 1961 เพียงสองปีก่อนที่พระสมณสาสน์ “สันติบนแผ่นดิน” จะออกมา มีการสร้างกำแพงเบอร์ลินขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะแยกเมืองนี้ออกเป็น 2 ส่วนที่เป็นปรปักษ์ต่อกันเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการสร้างสังคมในโลก 2 วิธีด้วยกันอีกด้วย และกำแพงเบอร์ลินได้ปิดกั้นมนุษยชาติทั้งมวลในแง่โลกทัศน์และชีวิตจริง ทั้งยังสอดแทรกเข้าไปในจิตใจและความคิดของประชาชน สร้างความแตกแยกที่ดูเหมือนว่าจะดำรงอยู่ตลอดไป

นอกจากนั้น เพียง 6 เดือนก่อนที่พระสมณสาสน์ฉบับดังกล่าวจะออกมา และเมื่อสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 เปิดอย่างเป็นทางการที่กรุงโรมนั้น โลกก็ต้องเสี่ยงกับสงครามนิวเคลียร์เพราะวิกฤติการขนส่งจรวดไปคิวบา และดูเหมือนว่า หนทางไปสู่โลกแห่งสันติภาพ ความยุติธรรม และเสรีภาพ จะถูกปิดกั้นจนหมดสิ้น โดยมีหลายคนในเวลานั้นเชื่อว่า มนุษยชาติถูกกำหนดให้ต้องมีชีวิตภายใต้อันตรายที่จะเกิดสงครามเย็นตลอดไป

สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 ไม่เห็นด้วยกับผู้ที่อ้างว่า “สันติภาพเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้” และพระองค์ทรงกล่าวถึงเงื่อนไข 4 ประการ ที่จำเป็นสำหรับจิตวิญญาณของมนุษย์ในการสร้างสันติภาพ นั่นคือ “สัจธรรม ความยุติธรรม ความรัก และเสรีภาพ”

สัจธรรม จะสร้างสันติภาพได้หากมนุษย์แต่ละคนไม่เพียงแต่รับรู้สิทธิของตนอย่างจริงใจเท่านั้น แต่ยังรับรู้ถึงหน้าที่ของตนต่อผู้อื่นด้วย

ความยุติธรรม จะสร้างสันติภาพได้ หากมนุษย์แต่ละคนเคารพสิทธิและปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อผู้อื่นในชีวิตประจำวัน

ความรัก
จะสร้างสันติภาพได้ หากประชาชนยึดถือความต้องการของผู้อื่นดังเป็นความต้องการของตน และแบ่งปันสิ่งที่ตนมีแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะคุณค่าทางความดีและจิตวิญญาณที่พวกตนมี

ส่วน เสรีภาพ จะสร้างสันติภาพและเจริญงอกงามยิ่งขึ้น หากในการเลือกวิธีการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้น มนุษย์ปฏิบัติตามเหตุผลและรับผิดชอบต่อการกระทำของตน

ช่วงเวลาของสมณสาสน์ “สันติบนแผ่นดิน” เป็นช่วงเวลาที่เกิดสงครามและมีข่าวลือเกี่ยวกับสงคราม แต่ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในกิจการของมนุษย์ ซึ่งสำหรับสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 พระองค์ทรงมองว่า “เป็นการเริ่มต้นที่ให้ความหวังของการปฏิวัติชีวิตฝ่ายจิต”

แม้สถานการณ์ในช่วงเวลานั้นจะยุ่งเหยิง แต่สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 ทรงเชื่อมั่นว่า โลกกำลังสำนึกถึงคุณค่าทางจิตใจบางประการมากยิ่งขึ้น และสิ่งสำคัญคือโลกและผู้คนกำลังเปิดใจต่อความหมายของ “เสาหลักแห่งสันติภาพ” คือ สัจธรรม ความยุติธรรม ความรัก และเสรีภาพ เพิ่มมากขึ้น

สัจธรรมเที่ยงแท้ประการหนึ่ง ซึ่งพระสมณสาสน์ “สันติบนแผ่นดิน” ได้สอนไว้ ก็คือ สันติภาพที่ถูกต้อง ไม่สามารถแยกออกจากประเด็นทางศีลธรรมได้ และเรื่องของสันติภาพนั้น ไม่อาจแยกออกจากประเด็นศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชนได้ ซึ่งสัจธรรมประการนี้ ทำให้เราใช้โอกาสนี้เพื่อรำลึกถึงและไตร่ตรองในวาระครบรอบ 40 ปี ของพระสมณสาสน์ “สันติบนแผ่นดิน”

สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 ทรงเชื่อมั่นว่า ความดีงามสามารถพบได้ในมนุษย์แต่ละคน และพระองค์ทรงเรียกร้องชาวโลกทั้งผองให้เห็นถึงความจำเป็นที่การเมืองและผู้มีอำนาจจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่สูงส่งมากยิ่งขึ้น และพระองค์ได้ทรงท้าทายโลกอย่างเด็ดเดี่ยวให้คิดถึงอนาคตที่อยู่ข้างหน้า แทนการคำนึงถึงภาวะความยุ่งเหยิงในโลกปัจจุบัน และให้มุ่งแสวงหาระเบียบระหว่างประเทศรูปแบบใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับศักดิ์ศรีมนุษย์

สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 ทรงคัดค้านผู้ที่มีความเห็นว่า การเมืองจะต้องถูกแยกออกจากศีลธรรมและจะเกี่ยวข้องเฉพาะผลประโยชน์ของพรรคพวกเท่านั้น โดยพระองค์ทรงกล่าวไว้ว่า “มนุษยชาติถูกสร้างขึ้นมาโดยมีความสามารถที่จะเลือกกระทำตามกฎศีลธรรม จึงไม่มีกิจการใดๆ ของมนุษย์ที่จะเกิดขึ้นนอกขอบเขตการวินิฉัยทางศีลธรรมได้”

สารฉบับนี้จึงระบุอย่างชัดเจนว่า “ในเมื่อการเมืองเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ ฉะนั้น การเมืองต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบทางศีลธรรมโดยเฉพาะ ซึ่งประเด็นนี้รวมไปถึงการเมืองระหว่างประเทศด้วย”

สารปี 2003 กล่าวไว้ว่า สันติภาพไม่ใช่เรื่องของ “โครงสร้าง” แต่เป็นเรื่องของ “ประชาชน” โครงสร้างและกลไกบางอย่างของสันติภาพ เช่น นิติบัญญัติ การเมือง เศรษฐกิจ เป็นสิ่งจำเป็น และมีอยู่แล้ว โครงสร้างและกลไกเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากอะไรอื่น แต่เกิดจากภูมิปัญญาและประสบการณ์ในการแสดงถึงท่าทีแห่งสันติภาพ

สารฉบับนี้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ศาสนามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการแสดงท่าทีแห่งสันติภาพ และในการสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่สันติภาพ ศาสนาสามารถแสดงบทบาทของตนอย่างมีประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น หากศาสนาเน้นสิ่งที่เหมาะสมกับสันติภาพ นั่นคือ การใส่ใจต่อพระเจ้า การส่งเสริมภราดรภาพสากลและการเผยแพร่วัฒนธรรมสมานฉันท์ของมนุษย์”

สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2 กล่าวถึงบุญราศีสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 ไว้ว่า ทรงเป็นบุคคลที่ไม่เกรงกลัวอนาคต แม้ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนว่าจะมีความขัดแย้งถาวร พระองค์ก็ไม่ทรงลังเลที่จะกระตุ้นผู้นำในยุคสมัยของพระองค์ให้ยึดถือวิสัยทัศน์ใหม่เกี่ยวกับโลก และนี่คือ มรดกที่สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 ทรงมอบไว้ให้แก่เรา

สมณสาสน์ “สันติบนแผ่นดิน” ระบุไว้ว่า “หน้าที่อันยิ่งใหญ่” ของมนุษย์ทั้งชายหญิงทุกคน คือ “การสร้างสายสัมพันธ์ใหม่ในสังคมมนุษย์ ตามแนวทางสัจธรรม ความยุตธรรม ความรัก และเสรีภาพ” ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 ทรงระบุว่าพระองค์หมายถึง “ความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองแต่ละคน ระหว่างพลเมืองและรัฐของตน ระหว่างรัฐประเทศและระหว่างมนุษย์แต่ละคน ครอบครัว องค์กร และรัฐฝ่ายหนึ่งกับประชาคมโลกอีกฝ่ายหนึ่ง” และทรงสรุปว่าภาพที่แท้จริงตามระเบียบที่พระเจ้าทรงกำหนด คือ หน้าที่อันสูงส่งที่สุด

สารฉบับปี 2003 นับเป็นวาระเพื่อเฉลิมฉลอง 40 ปี ของพระสมณสาสน์ “สันติบนแผ่นดิน” และสิ่งสำคัญคือเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่จะหันกลับไปใส่ใจต่อคำสอนของสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 ที่มีลักษณะเป็นประกาศก พร้อมกันนั้นเราต้องเปิดกว้างต้อนรับทุกคนที่มีใจปรารถนา “ที่จะทำลายอุปสรรคที่แบ่งแยกพวกเขา เสริมสร้างสายสัมพันธ์แห่งความรักระหว่างกัน เพื่อเรียนรู้ที่จะเข้าใจกันและกัน และเพื่อให้อภัยผู้ที่กระทำผิดต่อตน”

และสิ่งที่สำคัญที่สุดในสารฉบับปี 2003 ก็คือ ให้ประชากรทุกหนแห่งในโลกนี้สร้างโลกแห่งสันติภาพที่เข้มแข็ง บนรากฐานของ “เสาหลัก 4 ประการ” ที่บุญราศีพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 ได้ทรงระบุได้ในพระสมณสาสน์ฉบับประวัติศาสตร์ของพระองค์ คือ สัจธรรม ความยุติธรรม ความรัก และเสรีภาพ

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
สาระ ปี 2002/2545 : ไม่มีสันติภาพ หากปราศจากความยุติธรรม และจะไม่มีความยุติธรรม หากปราศจากการให้อภัย พิมพ์
Friday, 19 May 2006

สาระสำคัญของสารวันสันติภาพสากล
ของสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2
1 มกราคม 2002/2545
ไม่มีสันติภาพ หากปราศจากความยุติธรรม
และจะไม่มีความยุติธรรม หากปราศจากการให้อภัย

ปี 2002 เป็นการเฉลิมฉลองวันสันติภาพสากลท่ามกลางเงามืดจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ซึ่งในวันนั้นมีการประกอบอาชญากรรมอันโหดร้าย ชั่วเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่ชั่วโมง ประชาชนคนธรรมดาๆ หลากหลายสัญชาติจำนวนนับพันถูกสังหาร

นับจากนั้นเป็นต้นมา ประชาชนทั่วโลกต่างเริ่มรู้สึกว่าตนเองไม่ปลอดภัย และหวาดกลัวต่ออนาคตของตน

สถานการณ์ในช่วงเวลานั้น การพูดถึงความยุติธรรมและการให้อภัยในฐานะที่เป็นบ่อเกิดและเงื่อนไขในการสร้างสันติภาพดูจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ชี้ให้เห็นว่า “เราสามารถทำได้ และเราต้องทำ ไม่ว่าจะยากเย็นแสนเข็ญเพียงใดก็ตาม”

ความรุนแรงของสถานการณ์โลก ทำให้หลายคนคิดว่าความยุติธรรมและการให้อภัยเป็นสิ่งที่หวังไม่ได้อีกต่อไป แต่สารฉบับนี้บอกว่า “การให้อภัยเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความขมขื่น และการผูกพยาบาทแก้แค้น สันติภาพเที่ยงแท้คือ ผลที่เกิดจากความยุติธรรม”

แต่เนื่องจากความยุติธรรมของมนุษย์มักจะเปราะบางไม่สมบูรณ์ มีขีดจำกัด และความเห็นแก่ตัวของมนุษย์แต่ละคนแต่ละกลุ่ม เพราะฉะนั้น ความยุติธรรมที่สมบูรณ์จึงต้องประกอบไปด้วย “การให้อภัย” ซึ่งจะช่วยสมานแผลให้หายสนิทและฟื้นฟูความสัมพันธ์อันร้าวฉานของมนุษย์ให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างจริงจัง การให้อภัยไม่มีทางที่จะขัดแย้งกับความยุติธรรมได้ และความยุติธรรมที่สมบูรณ์นำไปสู่ความสงบแห่งความสมดุลย์ ซึ่งเป็นสภาพที่มากกว่าเพียงแค่สภาวะเปราะบางชั่วคราวของการสิ้นสุดความเป็นปรปักษ์เท่านั้น ความสงบแห่งความสมดุลย์จะช่วยทำการสมานแผลกลัดหนองในจิตใจมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง

ฉะนั้น ความยุติธรรมและการให้อภัย จึงเป็นคุณธรรมที่จำเป็นต่อการสมานแผลดังกล่าว

ในสารฉบับนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 กล่าวถึงสันติภาพจากมิติ 2 ด้าน คือ ความยุติธรรมและการให้อภัย และกล่าวถึงปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ ปัญหาความรุนแรงในระดับใหม่ที่กระทำโดยขบวนการก่อการร้าย

ซึ่งพระองค์กล่าวไว้ว่า การก่อการร้ายเกิดจากความเกลียดชัง และก่อให้เกิดการโดดเดี่ยว ความไม่ไว้วางใจ และการปิดตัวเอง ความรุนแรงทวีขึ้นในเหตุการณ์ที่ต่อเนื่อง ทำให้คนรุ่นต่อๆ มายิ่งโกรธแค้นมากขึ้น แต่คนรับมรดกแห่งความเกลียดชัง และการก่อการร้ายถือเป็น “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติทั้งมวลเลยทีเดียว” เพราะขบวนการนี้ หันไปยึดถือการก่อการร้ายเป็นเครื่องมือทางการเมืองและการทหารด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม สารฉบับนี้บอกไว้อย่างชัดเจนว่า “เราต้องยืนยันอย่างหนักแน่นว่าความ อยุติธรรมที่ดำรงอยู่ในโลกจะต้องไม่ถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการก่อการร้าย และต้องย้ำว่าเหยื่อของการทำลายล้างอันรุนแรง ซึ่งเป็นเป้าหมายของการก่อการร้ายนั้น คือประชาชนหญิงชายหลายล้านคนในประเทศที่กำลังพัฒนา ผู้ซึ่งต้องดำรงชีวิตอย่างแร้นแค้นและได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากความสับสนอลหม่านทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลกอยู่แล้ว เขาเหล่านั้นจึงไม่สมควรที่จะต้องทนรับสภาพล่มสลายของความสมานฉันท์ระหว่างประเทศอีก ดังนั้น การที่ผู้ก่อการร้ายอ้างว่าพวกตนกระทำการในนามของคนยากจนจึงเป็นคำอ้างที่ฟังไม่ขึ้น”

สารฉบับนี้ระบุอย่างตรงไปตรงมาว่า “อย่าฆ่าคนในนามของพระเป็นเจ้า” ผู้ที่สังหารผู้อื่นด้วยการก่อการร้ายเป็นผู้ที่สิ้นหวังในมนุษยชาติ ชีวิต และอนาคต ในสายตาของพวกเขาทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องได้รับการเกลียดชัง และจะต้องถูกทำลาย และการก่อการร้ายมักจะเป็นผลของลัทธิคลั่งศาสนาที่เกิดจากความเชื่อมั่นที่ว่าวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสัจธรรมของบุคคลคนหนึ่งจะต้องนำไปยัดเยียดให้กับผู้อื่นด้วย

ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 บอกไว้ว่า “เราไม่สามารถยัดเยียดสัจธรรมให้แก่กันและกันได้ ซึ่งการพยายามยัดเยียดสิ่งที่เราถือว่าเป็นสัจธรรมให้แก่ผู้อื่นด้วยวิธีการรุนแรงถือได้ว่า เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของมนุษย์ และในที่สุดก็เท่ากับเป็นการล่วงละเมิดต่อพระเป็นเจ้าด้วย”

สารยังกล่าวไว้อีกว่า “การก่อการร้ายไม่เพียงเอารัดเอาเปรียบมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเอารัดเอาเปรียบพระเป็นเจ้าด้วย การก่อการร้ายจบลงด้วยการทำให้พระเจ้าเป็นเพียงแค่ “เทวรูป” ที่พวกเขาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ของตนเองเท่านั้น”

และสารฉบับนี้ยังระบุอย่างตรงไปตรงมาว่า “ไม่มีผู้นำทางศาสนาคนใดที่อาจเห็นดีเห็นงามกับการก่อการร้ายได้ และไม่อาจเทศน์สอนได้ การประกาศว่าตนเป็นผู้ก่อการร้ายในนามของพระเจ้า และกระทำความรุนแรงต่อผู้อื่นในนามของพระองค์ เป็นการบิดเบือนศาสนาอย่างผิดเพี้ยนโดยสิ้นเชิง”

เนื้อหาของสารฉบับนี้แม้จะมีการประณามการก่อการร้าย แต่สารฉบับนี้ก็ได้เรียกร้องถึง “การให้อภัย” และเป็นเหมือนเนื้อหาหลักของสารฉบับนี้ด้วย โดยระบุไว้ว่า “ครอบครัว กลุ่มสังคม รัฐ และประชาคมระหว่างประเทศ ต้องการการให้อภัยเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ถูกบั่นทอนลงไป และก้าวข้ามจากสถานการณ์แห่งการร่วมประณามซึ่งมิก่อให้เกิดผลดีแต่อย่างใด ซึ่งความสามารถที่จะให้อภัย ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเกี่ยวกับสังคมในอนาคตที่มีความยุติธรรมและความสมานฉันท์”

ในทางตรงกันข้าม การไม่สามารถให้อภัย โดยเฉพาะเมื่อมันทำให้ความขัดแย้งยืดยาวออกไปนั้น สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่การพัฒนามนุษย์ มีการใช้ทรัพยากรเพื่อสร้างอาวุธ แทนที่จะใช้เพื่อการพัฒนา สันติภาพและความยุติธรรม กลับจะเกิดความทุกข์ยากต่อมนุษยชาติหากเราไม่สามารถคืนดีกัน เพราะฉะนั้นสันติภาพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนา แต่สันติภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการให้อภัยเท่านั้น

สารฉบับนี้ยังเตือนไว้อีกว่า “การให้อภัยมักจะต้องยอมสูญเสียบางอย่างที่เห็นได้ชัดในระยะสั้น เพื่อจะได้รับประโยชน์ในระยะยาวอย่างแท้จริง แต่ถ้าหากเราใช้ความรุนแรงเพื่อประโยชน์ในระยะสั้น มันก็จะก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างถาวรในระยะยาว” และกล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า “การให้อภัยดูเหมือนจะเป็นความอ่อนแอ แต่กลับต้องใช้ความเข้มแข็งทางจิตใจอย่างใหญ่หลวง รวมทั้งความกล้าหาญทางศีลธรรมด้วย ดูเหมือนว่าการให้อภัยจะทำให้เราสูญเสีย แต่แท้ที่จริงแล้ว การให้อภัยจะทำให้เราบรรลุความเป็นมนุษยชาติที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น”

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ยืนยันอย่างหนักแน่นในช่วงเวลานั้นว่า “จะต้องมีการให้อภัย” แม้ว่าจะยังดูห่างไกลอยู่มากก็ตาม

รวมทั้งสารฉบับนี้ยังกล่าวถึงปัญหาในตะวันออกกลาง ความขัดแย้งระหว่างอาหรับและอิสราเอล ซึ่งปัญหาดังกล่าวดำเนินมากว่า 50 ปีแล้ว โดยพระองค์ทรงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันมาทำงานเพื่อยุคสมัยใหม่แห่งการเคารพกันและกันและตกลงกันอย่างสร้างสรรค์

นอกจากนี้ พระองค์ยังเชื่อมั่นว่าศาสนาสามารถมีส่วนในการสร้างคุณูปการให้แก่สันติภาพในโลกได้ และกล่าวไว้ว่า “ผู้นำศาสนายิว คริสต์ และอิสลาม จะต้องทำการประณามการก่อการร้ายอย่างเปิดเผยและปฏิเสธที่จะให้ความชอบธรรมทางศาสนาหรือศีลธรรมใดๆ แก่ผู้ก่อการร้าย และศาสนาต่างๆ ต้องดำเนินอยู่บนหนทางแห่งการให้อภัย ซึ่งเป็นหนทางไปสู่ความเข้าใจ การเคารพ และความเชื่อใจกันและกัน”

สารฉบับนี้ย้ำไว้ในย่อหน้าท้ายๆ ตลอดเวลาว่า “ไม่มีสันติภาพหากไม่มีความยุติธรรม และจะไม่มีความยุติธรรม หากไม่มีการให้อภัย” และสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ทรงกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “ข้าพเจ้าจะไม่มีวันเหนื่อยหน่ายที่จะกล่าวคำเตือนนี้ซ้ำอีกให้แก่ผู้ที่ยังมีความรู้สึกเกลียดชัง ความต้องการที่จะแก้แค้นหรือความต้องการที่จะทำลายด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ตาม”

และในช่วงเวลาแห่งความยุ่งยากที่เกิดขึ้นนี้ สารจบลงไว้ด้วยข้อความว่า “สันติภาพที่แท้จริงต้องเกิดจากการประสานความยุติธรรมและเมตตาธรรมเข้าด้วยกัน”
เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
สาระสำคัญของสาร ปี 2001/2544 : การเสวนาระหว่างวัฒนธรรม เพื่อการสร้างอารยธรรมแห่งความรักและสันติภาพ พิมพ์
Friday, 19 May 2006

สาระสำคัญของสารวันสันติภาพสากล
ของสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2
1 มกราคม 2001/2544
การเสวนาระหว่างวัฒนธรรม เพื่อการสร้างอารยธรรมแห่งความรักและสันติภาพ

สารปี 2001 เป็นการเริ่มต้นสหัสวรรษใหม่ และเป็นการมุ่งหวังมากขึ้นว่าความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนจะยิ่งได้รับแรงบันดาลใจเพิ่มมากขึ้นจากความใฝ่ฝันถึงภราดรภาพสากลที่แท้จริง

และในปี 2001 นี้ องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็น “ปีสากลแห่งการเสวนาระหว่างอารยธรรม” ด้วย และสารฉบับนี้ชวนให้เราไตร่ตรองพิจารณาหัวข้อว่าด้วยการเสวนาระหว่างวัฒนธรรมและประเพณี ซึ่งการเสวนาที่ว่านี้เป็นวิถีทางที่จำเป็นต่อการสร้างโลกที่มนุษย์คืนดีกัน เป็นโลกที่สามารถมุ่งสู่อนาคตได้อย่างปลอดโปร่งและถาวรมั่นคงด้วยสันติภาพ

สารฉบับนี้ แม้จะมีความหวังถึงสันติภาพที่แท้จริง แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีเมฆหมอกหนาทึบมาบดบังความหวังไว้ เพราะมนุษยชาติกำลังเริ่มต้นประวัติศาสตร์บทใหม่ด้วยบาดแผลใหญ่ๆ หลายๆ ภูมิภาคยังถูกรุมเร้าด้วยความขัดแย้งที่ขมขื่นถึงขนาดหลั่งเลือด และต่างก็ยังดิ้นรนด้วยความยากลำบากมากยิ่งขึ้นที่จะรักษาความสมานฉันท์ระหว่างประชาชนต่างวัฒนธรรมและอารยธรรม ที่อาศัยอยู่ในดินแดนเดียวกัน

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 บอกไว้ในสารฉบับนี้ว่า “เราทุกคนรู้ว่าเป็นการยากเหลือเกินที่จะขจัดความแตกต่างระหว่างฝ่ายต่างๆ ในเมื่อความเกลียดชังแต่โบราณและปัญหารุนแรงที่ไม่มีทางแก้ไขได้ง่ายนั้น กลับสร้างบรรยากาศแห่งความโกรธแค้น และเพิ่มความรุนแรงขึ้น แต่สิ่งที่เป็นอันตรายต่อสันติภาพในอนาคตไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือการไม่สามารถใช้ “ปัญญา” แก้ปัญหาที่เกิดจากสภาพสังคมใหม่ๆ ในหลายๆ ประเทศ อันเป็นผลมาจากการอพยพที่เพิ่มมากขึ้น และเกิดสถานการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่ประชาชนต่างวัฒนธรรมและอารยธรรมต้องมาอยู่ด้วยกัน

สารบอกไว้ว่า แม้จะเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะถือว่าวัฒนธรรมของตนเองมีคุณค่า แต่จำเป็นที่จะต้องรับรู้ด้วยว่า “ทุกๆ วัฒนธรรมก็มีข้อจำกัดของตน” ตามสภาพความเป็นจริงของมนุษย์และของประวัติศาสตร์ หากจะป้องกันมิให้เกิดความคิดที่ถือว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งจนกลายเป็นการ “แยกตัว” นั้น วิธีแก้ที่มีผลก็คือ “การเรียนรู้จักวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างชัดเจนและปราศจากอคติใดๆ”

ยิ่งกว่านั้น เมื่อศึกษาวัฒนธรรมอย่างรอบคอบและถูกต้อง เราจะพบว่าใต้เปลือกนอกวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกันนั้น มักจะมี “องค์ประกอบที่สำคัญร่วมกัน” เพราะฉะนั้น เราจึงควรเข้าใจความหลากหลายของวัฒนธรรมในขอบเขตที่กว้างขึ้น คือ “ความเป็นเอกภาพของมนุษยชาติ”

ในอดีต ความแตกต่างทางวัฒนธรรมมักจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างประชาชาติ และเป็นสาเหตุของความขัดแย้งและสงคราม แม้ในช่วงเวลานั้นก็ยังพบสัญญาณเตือนให้เห็น “การอ้างสิทธิที่วัฒนธรรมหนึ่งๆ กระทำต่ออีกวัฒนธรรมหนึ่งๆ อย่างก้าวร้าว” ซึ่งมีเพิ่มมากขึ้นทุกวันในส่วนต่างๆ ของโลก

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 เตือนไว้ในสารฉบับนี้ว่า “ในระยะยาวสถานการณ์การรุกรานทางวัฒนธรรมจะนำไปสู่ความตึงเคีรยดและความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดหายนะได้ อย่างน้อยสถานการณ์เช่นนี้ก็ทำให้ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมต้องประสบกับความยากลำบาก ในการอาศัยอยู่ในสังคมที่มีวัฒนธรรมของชนส่วนมาก ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมของตนและทำให้เสี่ยงต่อการเกิดความคิดและการกระทำที่เป็นอริและแบ่งแยกเชื้อชาติ”

สารฉบับนี้กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า “การคลั่งไคล้เอกลักษณ์ถึงขั้นรุนแรง นับว่าน่าเป็นห่วง แต่ที่เป็นอันตรายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ “การตกเป็นทาสทางวัฒนธรรม” ตามรูปแบบวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตก เพราะการปลีกตัวออกห่างจากต้นกำเนิดของคริสตศาสนาของตน ทำให้รูปแบบทางวัฒนธรรมเหล่านี้ มักจะได้รับอิทธิพลจากแนวทางชีวิตที่เน้นเรื่องฝ่ายโลก ไม่นับถือพระเจ้า และด้วยรูปแบบปัจเจกชนนิยมอย่างโจ่งแจ้งเป็นประการสำคัญ”

นี่คือปรากฏการณ์ส่วนใหญ่ที่ได้รับการค้ำจุนโดยสื่อมวลชนอันทรงพลัง ซึ่งมุ่งที่จะเผยแพร่วิถีชีวิต แผนการทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งรูปแบบวัฒนธรรมตะวันตก มักจะมีเสน่ห์ชวนหลงใหลเพราะมีพื้นฐานที่น่าตื่นตาตื่นใจจากวิทยาศาสตร์และวิชาการ แต่สารฉบับนี้ระบุไว้ว่า “วัฒนธรรมตะวันตกเหล่านี้ลดคุณค่าของมนุษย์ ชีวิตจิต และศีลธรรมลงอย่างมาก และเป็นวัฒนธรรมที่พยายามจะขจัดพระเป็นเจ้า ซึ่งเป็นองค์ความดีสูงสุด”

สารฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า “วัฒนธรรมที่ไม่นับถือพระเจ้าก็จะสูญเสียจิตวิญญาณของตน หลงทาง และกลายเป็นวัฒนธรรมแห่งความตาย”

เนื้อหาของสารกล่าวอย่างชัดเจนว่า “มนุษย์แต่ละคนบรรลุวุฒิภาวะโดยการเปิดใจกว้างรับผู้อื่น และด้วยการให้ตัวเองแก่ผู้อื่นอย่างใจกว้าง วัฒนธรรมเองก็เช่นกัน มนุษย์เป็นผู้สร้างวัฒนธรรมเพื่อให้รับใช้ตน วัฒนธรรมจึงต้องมีการเสริมสร้างให้สมบูรณ์ด้วยการเสวนาและด้วยความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันบนพื้นฐานเอกภาพดั้งเดิมของครอบครัวมนุษยชาติ เพราะครอบครัวมนุษยชาติมาจากพระหัตถ์ของพระเจ้า”

สารฉบับนี้บอกกับเราว่า “ความเป็นหนึ่งเดียวกัน มิได้หมายถึงความเหมือนกันแบบไม่มีชีวิตชีวา หรือการผสมผสานเข้ากัน โดยการบังคับขืนใจ หรือโดยการถูกกลืน แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงการพบกันของรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งเป็นเครื่องหมายของความร่ำรวยและคำสัญญาของความเจริญก้าวหน้าที่แท้จริง”

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 กล่าวไว้ในสารฉบับนี้ว่า “เมื่อต้องเผชิญกับความไม่เสมอภาคในโลกมากขึ้นทุกวัน คุณค่าหลักที่ต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นในวงกว้างมากยิ่งๆ ขึ้นนั้น คือ ความสมานฉันท์”

ซึ่ง “การส่งเสริมความยุติธรรม” เป็นหัวใจของวัฒนธรรมแห่งความสมานฉันท์ที่แท้จริง เรื่องนี้มิใช่เพียงแค่การให้ส่วนเกินของตนแก่ผู้ที่ต้องการเท่านั้น แต่ยังหมายถึง “การช่วยประชาชาติทั้งมวลที่ถูกกีดกันและถูกขับออกไปอยู่ชายขอบ ให้เข้ามาในแวดวงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและพัฒนามนุษย์ หากจะให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ไม่เป็นการเพียงพอที่จะอวดอ้างชักจูงด้วยปัจจัยส่วนเกิน ซึ่งตามความจริงแล้วโลกของเราผลิตได้อย่างมากมายอยู่แล้ว แต่เหนือสิ่งอื่นใดเราต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและการบริโภค ทั้งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจที่กำกับสังคมอยู่ในปัจจุบัน”

และ “การเสวนาระหว่างวัฒนธรรมที่แท้จริง” นอกจากจะต้องตระหนักถึงการเคารพกันและกันแล้ว ต้องไม่ลืมส่งเสริมความสำนึกที่แจ่มชัดเกี่ยวกับ “คุณค่าชีวิต” ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 กล่าวไว้ในสารฉบับนี้ว่า “เราไม่อาจถือว่าชีวิตมนุษย์เป็นเพียงวัตถุที่เราสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ แต่เราต้องถือว่าชีวิตคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และไม่อาจล่วงละเมิดได้ โลกจะไม่มีสันติภาพหากความดีพื้นฐานที่สุดนี้ ไม่ได้รับการคุ้มครอง และเป็นไปไม่ได้ที่จะเรียกร้องสันติภาพ แต่เหยียดหยามชีวิต”

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ยังกล่าวไว้อีกว่า “แม้ในยุคสมัยของเราจะมีตัวอย่างความใจกว้างและการอุทิศตนเพื่อรับใช้ชีวิต แต่ยังมีภาพอันน่าสลดของคนนับร้อยล้านทั้งชายและหญิงที่ความโหดร้ายและความเพิกเฉยทำให้พวกเขามีอนาคตที่เจ็บปวดและมืดมน ข้าพเจ้าหมายถึงวงจรอุบาทว์แห่งความตาย ซึ่งรวมการฆาตกรรม การฆ่าตัวตาย การทำแท้ง การุณยฆาต การทำให้พิการ การทารุณทั้งทางกายและจิตใจ การบังคับอย่างไม่ยุติธรรมในรูปแบบต่างๆ การคุมขังโดยพลการ การหวนกลับไปใช้โทษประหารชีวิตโดยไม่จำเป็น การเนรเทศ การเป็นทาส การประเวณี การค้าผู้หญิงและเด็ก นอกจากที่กล่าวมาแล้ว เรายังต้องเพิ่มพันธุวิศวกรรมศาสตร์ที่ขาดความรับผิดชอบ เช่น การโคลนนิ่งและการใช้ตัวอ่อนมนุษย์เพื่อการวิจัย ซึ่งมักอ้างอย่างไม่ชอบธรรมถึงเสรีภาพ ความก้าวหน้าทางวัฒนธรรม และความเจริญของมนุษยชาติ เมื่อสมาชิกที่อ่อนแอและเปราะบางที่สุดของสังคมต้องตกเป็นเหยื่อของความโหดร้ายดังกล่าว ความคิดในเรื่องครอบครัวมนุษยชาติที่สร้างอยู่บนคุณค่าของตัวมนุษย์ ความไว้ใจ การเคารพกัน และการสนับสนุนซึ่งกันและกันก็จะเสื่อมถอยลงอย่างน่าอันตราย อารยธรรมที่อยู่บนพื้นฐานของความรักและสันติภาพจะต้องคัดค้านการทดลองเหล่านี้ ซึ่งไม่เหมาะสมกับมนุษย์เลย”

สารฉบับนี้บอกกับเราว่า “เพื่อจะสร้างอารยธรรมแห่งความรักนั้น การเสวนาระหว่างวัฒนธรรมจะต้องมุ่งขจัดความเห็นแก่ตัวทางเชื้อชาติให้หมดสิ้นไป และช่วยให้มนุษย์สามารถประสานการเคารพ เอกลักษณ์ของตนกับความเข้าใจในเอกลักษณ์ของผู้อื่น และการเคารพต่อความหลากหลาย”

แม้การเสวนามักจะเป็นเรื่องยาก เพราะถูกถ่วงด้วยมรดกอันโหดร้ายจากสงคราม ความขัดแย้ง ความรุนแรง และความเกลียดชัง ซึ่งยังคงอยู่ในความทรงจำของประชาชน เนื่องด้วยเกิดมีเขตแดนอันเนื่องมาจากการขาดการติดต่อกันนั้น เขตแดนนี้จะต้องเชื่อมกันโดยหนทางการให้อภัยและการคืนดีกัน หลายคนถือว่าสิ่งนี้เป็น “อุดมการณ์ที่เพ้อฝัน” แต่ในมุมมองของคริสตชนแล้ว หนทางนี้เท่านั้นที่จะนำไปสู่เป้าหมายของสันติภาพได้

ในช่วงท้ายของสารฉบับนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ฝากความหวังไว้ที่บรรดาเยาวชนคนหนุ่มสาวจากทุกวัฒนธรรมและภาษา พระองค์เชื่อมั่นว่าเยาวชนทั้งชายหญิง จะเป็นผู้สร้างความสมานฉันท์ สันติภาพ และความรักชีวิต ด้วยการเคารพมนุษย์ทุกคน นอกจากนี้ บรรดาเยาวชนคือผู้สร้างมนุษยชาติใหม่ ซึ่งเป็นพี่น้อง ทุกคนเป็นสมาชิกของครอบครัวเดียวกัน และในที่สุดก็สามารถดำรงชีวิตในสันติสุข

เขียนความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)
<< หน้าแรก < ย้อนกลับ 81 82 83 84 85 86 87 88 89 90 หน้าถัดไป > หน้าสุดท้าย >>

ผลลัพธ์ 802 - 810 จาก 847