หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow งานเสวนา 60 ปีสันติภาพไทย ภารกิจศาสนิกกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 111 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

งานเสวนา 60 ปีสันติภาพไทย ภารกิจศาสนิกกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน พิมพ์
Thursday, 18 May 2006
งานเสวนา 60 ปีสันติภาพไทย ภารกิจศาสนิกกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน

ในโอกาส วันสิทธิมนุษยชนของพระศาสนจักรคาทอลิกแห่งประเทศไทย
วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2548
ณ อาคารมูลนิธิเซนต์คาเบรียล ซ.ทองหล่อ 25 กรุงเทพฯ

บรรยากาศการเสวนาวจนพิธีกรรม โดย คุณพ่อวัชรินทร์  สมานจิต

พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยได้ทำการระลึกถึงและเฉลิมฉลองชีวิตแห่งความเป็นมนุษย์ของเรา ในทุกโบสถ์ในประเทศไทยจะมีการภาวนาเพื่อสิทธิมนุษยชน พวกเรากลุ่มเล็กๆ ที่มาชุมนุมกัน ณ ที่นี้กำลังประกาศจุดยืนและความเชื่อของเราทุกคนที่มีต่อพระเจ้าผู้ทรงเป็นบ่อเกิดของชีวิต ผู้ทรงบันดาลให้มนุษย์ชาย-หญิงทั้งหลายได้รับการแบ่งปันชีวิตของพระองค์ในรูปแบบของความเป็นมนุษย์ของเราแต่ละคนทั้งหญิงและชายมีเกียรติและศักดิ์ศรีเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

คุณพ่อวัชรินทร์ สมานจิตเราเริ่มกิจกรรมนี้ด้วยความสำนึกในพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่พระองค์ทรงประทานให้กับเราแต่ละคน และไม่ใช่ประทานให้กับเราซึ่งชุมนุมกัน ณ ที่นี้เท่านั้น แต่ประทานกับทุกคนซึ่งถือว่าเป็นบุตรของพระองค์ทั้งหญิงและชายทั่วโลก ซึ่งเราเรียกว่ามนุษยชาติ ให้การเริ่มต้นในการอธิษฐานภาวนาพร้อมที่จะเชื้อเชิญให้พระเจ้าเข้ามานำทางชีวิตของเราในการเสวนา ในการแบ่งปันความคิด เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่จะออกมาจากความคิด ความมุ่งมั่นของเราแต่ละคนจะได้มีพระจิตเจ้านำทาง และเราเพียรพยายามตอบสนองต่อเสียงเรียกของพระองค์เพื่อชีวิตของเราเองและชีวิตมนุษย์ชาย-หญิง จะได้เจริญชีวิตอย่างสมเกียรติ ศักดิ์ศรีในสถานการณ์ของโลกปัจจุบันโดยเฉพาะในประเทศไทยของเรา

บรรยากาศในวจนพิธีกรรมพวกเราได้มาร่วมในการเสวนาในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนในพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายๆ ครั้งด้วยกัน และในปีนี้เป็นโอกาสพิเศษ 60 ปีสันติภาพไทย เราได้ยินแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วยหลายๆ แนวคิด หลายๆ รูปแบบ หลายๆ จุดยืน แต่ทุกๆ แนวคิด ทุกๆ รูปแบบ ทุกๆ จุดยืนนั้น มุ่งไปสู่จุดเดียวกันนั่นก็คือ จะทำอย่างไรให้มนุษย์ทุกคนมีชีวิตอยู่อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี พระศาสนจักรคาทอลิกยืนหยัดมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงชีวิตมนุษย์ หลักของพระศาสนจักรคาทอลิกได้ประกาศจุดยืนมาตลอดก็คือว่า มนุษย์ทุกคนจากห้วงลึกของจิตใจแล้ว ทุกคนมีส่วนร่วมในการเป็นปึกแผ่น มีส่วนร่วมในชะตากรรมเดียวกันนั่นคือ การดำเนินชีวิตไปสู่จุดหมายปลายทาง และในการเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางนี้ ชีวิตมนุษย์จึงต้องดิ้นรนและต่อสู้เพื่อความอยู่รอด และไม่ได้อยู่รอดทางฝ่ายกายเพื่อจะได้มีชีวิตอยู่อย่างอยู่รอดปลอดภัย แต่ในเชิงของจิตใจ ในห้วงลึกของจิตใจนั้น มนุษย์ต้องการอยู่อย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี ก็เพื่อจะได้มีพลัง มีช่องทาง มีหนทางที่จะมีชีวิตไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นๆ ตามแต่ละองค์ศาสดาได้เชิญชวน ท้าทาย และเสนอแนวทางไปสู่จุดหมายปลายทางของชีวิต

ประการที่สอง พระศาสนจักรยังยืนยันและยืนหยัดด้วยพันธกิจอันสำคัญ และความเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้าว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นหญิงเป็นชาย เราทุกคนได้รับการแบ่งปันชีวิตของพระเจ้าในความเป็นมนุษย์ของเรา และเราก็ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอว่านั่นก็หมายถึงว่าเราทุกคนได้รับการแบ่งปันภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่พระองค์สวมใส่เข้ามาในความเป็นตัวตนของมนุษย์ และภาพลักษณ์ของพระเจ้านั่นแหละจึงทำให้เราสูงกว่าประเสริฐกว่าและในเวลาเดียวกันก็ร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งสร้างที่พระองค์ได้ทรงมอบหมายหน้าที่แก่เรา ภาพลักษณ์ของพระเจ้านี่เองที่ทำให้เรามีเกียรติและศักดิ์ศรีทัดเทียมเท่าเทียมกัน และจุดยืนนี้แหละพระศาสนจักรจึงยืนยันอยู่เสมอว่าเราจึงเป็นพี่น้องกัน ทำให้ห้วงลึกของชีวิตจิตของมนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและมีความหมายสูงส่งมากกว่า เพราะเราทุกคนได้รับการเชื้อเชิญได้รับการแบ่งปันจากภาพลักษณ์ของพระเจ้าซึ่งมีจิตวิญญาณ มีความเป็นอมตะ มีเสรีภาพและมีความรักอันบริสุทธิ์

มากไปกว่านั้น พระศาสนจักรก็ยืนยันว่าแม้มนุษย์จะทำให้ภาพลักษณ์ของพระเจ้ามัวหมองไปทั้งด้วยตัวเองถูกกระทำ ตัวเองกระทำเอง แต่ว่าความรักของพระเจ้านั้นได้มาฟื้นฟูได้มาทำให้ภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่มัวหมองไปอันเนื่องจากความผิดบาป เนื่องจากความขัดแย้ง การทำลายล้างกัน ซึ่งเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากความรุนแรงต่างๆ ให้สำเร็จ ให้เด่นชัดโดยการไถ่บาปของพระเยซูคริสตเจ้า จึงทำให้ความเป็นมนุษย์ของเราและความเป็นมนุษย์ขององค์พระเยซูคริสตเจ้าประสานกันเป็นหนึ่ง ให้มนุษย์สามารถก้าวเข้าไปสู่ภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์ของพระเจ้าที่พระองค์ทรงประทานตั้งแต่แรกเริ่ม อาศัยการไถ่บาปของพระเยซู คริสตเจ้า นี่เป็นความเชื่อเป็นจุดยืนวิทยากร ร่วมวจนพิธีกรรมของพระศาสนจักร พวกเราที่มาชุมนุมกันในโอกาสนี้เป็นพิเศษ เรามาจากสถานภาพที่ต่างกัน บางท่านเป็นนักบวช บางท่านเป็นสงฆ์  บางท่านเป็นอาจารย์ บางท่านเป็นฆราวาส บางท่านก็มีส่วนร่วมในกลุ่มหรือองค์กรเอกชน หรือกำลังทำงานร่วมกับประชาชนในการที่จะดำเนินชีวิตร่วมกันในเส้นทางเดียวกัน จึงเป็นโอกาสที่เราได้มาทบทวน มาฟื้นฟู มาทำให้พันธกิจที่พระคริสตเจ้ามอบหมายให้กับเรา ได้สดชื่นและมีพลังขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ด้วยสายตาแห่งความเชื่อ ด้วยการรู้จักวินิจฉัยแยกแยะเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ อย่างเป็นผู้ที่มีความเชื่อและความหวังที่พระองค์ทรงสัญญาไว้กับเรา

ดังนั้น ในการทำงานของเรามีอยู่ 2 แนวทางที่เราควรจะคำนึงอยู่เสมอก็คือ ในงานป้องกัน ในงานที่จะปกป้องและส่งเสริมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นแก่นเนื้อหาสาระที่สำคัญของสิทธิมนุษยชน ตราบใดที่ไหนไม่ว่า แม้แต่ในวงการของเราเอง ในความเป็นเพื่อนในการทำงานด้วยกัน ในวงการการศึกษา แม้กระทั่งในวงการของพระศาสนจักร ที่ไหนที่ไม่เคารพเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่ไหนมีการช่วงชิง เอารัดเอาเปรียบ ที่ไหนซึ่งเกิดความขัดแย้งอันเนื่องจากสถานภาพซึ่งต่างระดับชั้นกัน ในการบริหาร การปกครองอะไรก็แล้วแต่ ที่นั่นมีการละเมิดของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอยู่ และเราก็ทราบดี ดังนั้นงานปกป้องสิทธิมนุษยชนจึงเป็นงานพื้นฐานที่เราจะต้องก้าวเดินไปด้วยกัน

แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น ซึ่งบทบาทของเราในการเยียวยารักษา พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ได้ประกาศแนวทาง และถือว่าเป็นสัจธรรมที่ทุกภาคส่วนได้ยินได้ฟังและพยายามนำมาเป็นจริงเป็นจัง นั่นก็คือว่า สันติสุขหรือสันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการให้อภัยและคืนดีกัน เมื่อมาถึงจุดที่สันติสุขจะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อมีการอภัย มีการคืนดีกัน เราคงไม่เรียกร้องคนอื่นให้ให้อภัยคืนดีกัน เราอาจจะมีส่วนซึ่งตรงนี้แหละที่ต้องสร้างความสำนึกตระหนักเสมอว่าต้องเริ่มจากตัวเราเองซึ่งต้องประสานรอยร้าวในจิตใจของเราเองซึ่งบางทีเราแยกภาคส่วน เลือกที่รักมักที่ชัง เลือกปฏิบัติหรือเอารัดเอาเปรียบ หรืออยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่ามีบทบาทหน้าที่การบริหาร ก็ไม่คำนึงถึงความทุกข์ร้อนของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา จึงทำให้สะท้อนว่าโอกาสที่เรากำลังรำลึกถึงสิทธิมนุษยชนในฐานะที่เราเป็นคริสตชน เราต้องเริ่มมองที่ตัวเราว่ายังมีใครไหมที่เราไม่สามารถที่จะให้อภัยและคืนดี ที่จะกล่าวคำว่าขอโทษ ขอเวลาฉันปรับตัวเอง ท่าที ทัศนคติ ขอเวลาของกันและกันที่จะมาจูนเครื่องของชีวิตให้มาอยู่ในเส้นทางเดียวกัน

วจนพิธีกรรมความสงบใจเป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นรากแก้วของสันติสุข หากชีวิตของเรา ดวงใจของเรายังไม่ประสานเป็นหนึ่ง ยังไม่สงบ เราจะไปทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชน มันจะเป็นการเข้าข้าง เป็นการตัดสินไปทำไปว่าฉันอยากทำด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ให้เราฟังเสียงของพระเจ้า เพราะพระเจ้านั้นพระองค์ทราบดีว่าสิ่งไหนที่มนุษย์กระทำ สิ่งไหนที่เกิดขึ้นเพราะความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ หากปล่อยให้พระจิตเจ้านำทางชีวิต การตัดสินใจเลือกทาง เลือกวิธีการในงานปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนี้ หรือว่าในงานเยียวยารักษาก็จะช่วยให้ชีวิตของเราเป็นเครื่องมือของพระองค์จริงๆ ในการนำสันติสุขและความสงบสุข มาสู่จิตใจของเราและกับบุคคลที่อยู่รอบข้าง และอย่าลืมที่จะสร้างเครือข่ายของกันและกันที่จะทำให้งานนี้ค่อยเป็นค่อยไป โดยมีจุดหมายปลายทางเดียวกันก็คือ องค์พระเยซูคริสตเจ้า องค์แห่งสันติสุข ให้เราภาวนาเพื่อกันและกัน เพื่อเราที่มีบทบาทหน้าที่ต่างๆ กันจะได้สำนึกถึงสัจธรรมข้อนี้ และขอให้เราเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพของพระองค์ วิงวอนขอให้พระองค์ประทับอยู่ในวิถีชีวิตของเราแต่ละคนในการดำเนินชีวิตและทำงานร่วมกันเพื่อเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ร่วมกัน

ศาสนิกกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน

ปาฐกถาโดย ศาสตราจารย์เสน่ห์  จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ศาสตราจารย์เสน่ห์  จามริกในโอกาสที่ครบรอบ 60 ปีสันติภาพ ผมอยากจะตัดคำว่าไทยออกไป เพราะสันติภาพไทยเป็นเพียงเสี้ยวนิดเดียวของสันติภาพของโลก ของมวลมนุษย์ทั้งหลาย เพราะความจริงแล้วสงครามและสันติภาพไทยก็เกิดสืบเนื่องมาจากสงครามและสันติภาพในภาคส่วนอื่นของโลก คำวลีที่เป็นคำกุญแจสำคัญที่เราให้ความสำคัญในวันนี้ “สันติภาพ” “สิทธิมนุษยชน” และ “ภารกิจของศาสนิก” ผมอยากจะเรียนทำความเข้าใจ ในส่วนตัวของผม “สิทธิมนุษยชน” ไม่ใช่อื่นไกลเลย เป็นเรื่องของการดำรงชีวิตร่วมกัน ร่วมสังคม ร่วมโลกอย่างมีศักดิ์ศรี อย่างมีสันติภาพ อย่างยุติธรรม ซึ่งจะนำไปสู่สันติสุข เพราะฉะนั้นสิทธิมนุษยชนจึงไม่ได้เป็นจุดหมายในตัวของมันเอง เป็นเพียงเครื่องมือ เป็นเพียงวิถีทางที่นำไปสู่เป้าหมายของชีวิตที่พึงปรารถนา สันติภาพก็เช่นเดียวกัน เป็นเป้าหมายของชีวิตเราทุกๆ คน แต่ทั้งสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ เป็นเพียงผลที่เกิดแต่เหตุ เหตุนี้ผมคิดว่าเป็นภารกิจที่แท้จริงของศาสนิก เราอาจจะเข้าไปปฏิบัติ ประพฤติ หรือแม้กระทั่งสั่งสอนในเรื่องของความยุติธรรม เรื่องของสิทธิเสรีภาพ เรื่องของสันติภาพ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการประพฤติปฏิบัติในชีวิตของเราเท่านั้น คำถามก็คือว่า การประพฤติปฏิบัติที่จะนำไปสู่การเคารพในสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างความยุติธรรมและสันติภาพ เป็นผลที่เกิดแต่เหตุอะไร ผมขอถือโอกาสนี้จากการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมายาวนานพอสมควร อยากจะสรุปว่าภารกิจของศาสนิกนั้น นอกเหนือไปจากการนำแนวทางและสั่งสอนในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติแล้ว ผมคิดว่าศาสนิกนั้นมีภารกิจที่สำคัญที่สุด คือ ในการสร้างเสริมสภาวะจิตซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ของคนเรา การประพฤติปฏิบัติของคนเรานั้นเกิดขึ้นจากภาวะของจิตของการเรียนรู้ซึ่งผมเรียกสั้นๆ ว่า “การเรียนรู้”

ในโลกปัจจุบันนี้ ถ้าเราย้อนกลับไปในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา ผมคิดว่าปัญหาของความวิกฤติในสภาวะจิต วิกฤติในสภาวะและวัฒนธรรมการเรียนรู้ ซึ่งนำมาซึ่งการกดขี่เบียดเบียน การดิ้นรนต่อสู้ และสงคราม ก็ล้วนแล้วแต่มาจากการเปลี่ยนแปลงของโลก นับแต่มีการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์เป็นต้นมา การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ของโลกเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความสำเร็จของโลก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์เกิดความอหังการว่า ความรู้ของมนุษย์นั้นสามารถเอาชนะธรรมชาติ มนุษย์นั้นเป็นนายเหนือธรรมชาติ ครั้นมาถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรม วัฒนธรรมการเรียนรู้ที่มองเห็นความลักลั่นของคนกับธรรมชาติ ก็นำมาซึ่งการเบียดเบียนคนด้วยกัน นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่ผมคิดว่า ภารกิจของศาสนิกนั้นคงจำเป็นต้องทำความเข้าใจร่วมกัน จากลัทธิเศรษฐกิจตลาดเสรีซึ่งเรียกอย่างสวยหรูว่า “เศรษฐกิจเสรีนิยม” ได้พัฒนาการมาเป็นสิ่งที่ในวงวิชาการในขณะนี้เรียกว่า “ทรราชแห่งตลาด” และทรราชแห่งตลาดนี้ก็นำไปสู่พฤติกรรมของมวลมนุษย์ทั่วโลก ซึ่งก็คือ “บริโภคนิยม”  ในสภาวะการเรียนรู้ตรงนี้ วัฒนธรรมการเรียนรู้ตรงนี้เป็นปมปัญหาที่อยู่กับเรามาโดยตลอด คำถามคือว่า เราจะแก้ไขที่จะปฏิรูป ความจริงคำว่า “ปฏิรูป” ผมก็ไม่ชอบ เผอิญผมติดในฐานะที่เป็นนักสังคมศาสตร์ แต่ความจริงแล้ว เราจะพูดในภาษาฝรั่งก็คือว่า เราจะ D Learning เราจะถอนการเรียนรู้ที่อยู่กับตัวเราเป็นเวลามาช้านานจนกลายเป็นระบบการศึกษาในยุคปัจจุบัน ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นภารกิจของ ศาสนิกที่จะร่วมกันช่วยกันมองทะลุ ย้อนกลับไปหาภูมิปัญญาของชนสามัญ ผมคิดว่าแก่นของวัฒนธรรมการเรียนรู้ซึ่งอาจจะดูผิวเผินว่าล้าสมัย ความรู้ หรือภูมิปัญญาหนึ่งก็คือ การอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยความเคารพในธรรมชาติ ดังเช่น คำของพ่อเล็ก กุดดวงแก้ว ที่สกลนคร พูดเสมอถึงภูมิปัญญาประเพณีของชาวบ้านที่บอกว่า เราอยู่อย่างเคารพ และกินอย่างเคารพธรรมชาติ การเคารพธรรมชาติก็จะนำมาสู่การอยู่อย่างเคารพเพื่อนมนุษย์ และบริโภคอย่างเคารพเพื่อนมนุษย์ เพราะว่าการแสวงอำนาจในทางเศรษฐกิจ หรือที่เราเรียกว่า “การขยายตลาด” “การขยายบริโภคนิยม” 2 อย่างนี้ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดใม่ได้ ผมเคยพูดเสมอว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน ไม่ต้องไปรบราฆ่าฟันกันเลยครับ เพียงแต่กำจัดศาสนาบริโภคนิยมออกไป เท่านั้นแหละครับ ผมคิดว่าวัฒนธรรมการเรียนรู้ตรงนี้เป็นกุญแจสำคัญ และผมคิดว่าทุกๆ ศาสนามีภารกิจร่วมกันตรงนี้ ความแตกต่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา ภูมิประเทศ ฐานทรัพยากร เป็นความแตกต่างหลากหลายที่เป็นความงดงามของโลกชีวิต ไม่ได้เป็นความแตกต่างหลากหลายที่นำมาสู่ความลักลั่นขัดแย้งระหว่างกัน ตรงนี้เป็นภารกิจที่ศาสนิกจำเป็นต้องมี Mission ร่วมกัน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างหลากหลายกันอย่างไรก็ตาม ความแตกต่างเป็นเพียงเรื่องของบริบท ความงดงามของโลกใบนี้ก็คือความหลากหลาย แต่ว่าในวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมการบริโภคกำลังบังคับให้โลกทุนนิยมเหล่านั้นเป็นวัฒนธรรมเดียวที่เรียกว่า Mono Culture ได้กำจัดความงดงามของโลกชีวิตออกไป นี่คือสภาวะของโลกยุคปัจจุบันซึ่งมีสาเหตุมาจากการพัฒนาความรู้ของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไปลดความสำคัญของจิต เอาเรื่องของกาย เรื่องของวัตถุมากำหนดจิต

บรรยากาศการเสวนามีข้อสังเกตของนักเศรษฐศาสตร์บอกว่า เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือของสังคม แต่ปัจจุบันนี้สังคมซึ่งหมายถึงชีวิตของมนุษย์ เป็นเครื่องมือของเศรษฐกิจ มนุษย์มีคุณค่าเป็นเพียงแรงงานการผลิต มีคุณค่าเพียงการบริโภค ยิ่งผลิตได้มาก บริโภคได้มาก เราเรียกว่า ความก้าวหน้า หลักความคิดเรื่องความก้าวหน้าที่เรายึดถือปัจจุบันนี้ นั่นก็คือความถดถอยศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เกิดการกดขี่เบียดเบียน นั่นก็คือที่มาของสงคราม ที่มาของความขัดแย้ง ที่มาของการบั่นทอนทำลายสิทธิเสรีภาพ คุณค่าความเป็นมนุษย์ ตรงนี้ผมคิดว่าภารกิจของศาสนิกนั้นคงจะต้องพ้นไปจากความแตกต่างหลากหลายมามองภารกิจร่วมกัน นี่คือภารกิจระยะยาว  หลักธรรมคำสั่งสอนทั้งหลายเป็นหลักธรรมคำสั่งสอนในการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา แต่หลักธรรม การสั่งสอน และการประพฤติปฏิบัติเหล่านี้จะไม่เป็นมรรคเป็นผลเท่าที่ควร หากปราศจากพื้นฐานของการเรียนรู้อย่างถ่องแท้เกี่ยวกับโลกของชีวิต โดยเฉพาะการมองถึงปัญหาของระบบการศึกษาปัจจุบันที่นำพาเราไปสู่ชีวิตของการเบียดเบียน การเอารัดเอาเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของเชื้อชาตินิยม ในรูปของความเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจก็ดี มูลเหตุของสงครามก็มาจากนี่แหละครับ เราพูดในวันนี้ พูดในโอกาสครบรอบ 60 ปีของสันติภาพ ถ้าเราย้อนกลับไปดูเมื่อ 60 ปีก่อน สาเหตุสำคัญก็คือลัทธิชาติ เชื้อชาตินิยม แต่ถ้าเรามองไปอีก ลัทธิเชื้อชาตินิยม ลัทธินาซี ลัทธิต่างๆ ถ้ามองให้ลึกลงไปก็คือ ปฏิกิริยาต่อระบบทุนนิยม ต่อระบบเศรษฐกิจนั่นเอง จึงเอาเรื่องของเชื้อชาติขึ้นมาเป็นอาวุธในการต่อสู้จนกระทั่งโลกประสบหายนะอย่างใหญ่หลวง มนุษย์จึงได้ระลึกว่าเราจึงต้องสร้างสันติภาพ สร้างองค์การสหประชาชาติและเชิดชูสิทธิมนุษยชน แต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองมา โลกทันทีที่เกิดสันติภาพก็ค่อยๆ พัฒนาไปสู่อีกลัทธิหนึ่ง ก็คือลัทธิจักรวรรดินิยมในทางเศรษฐกิจ ตลาด ทุน เทคโนโลยี กลายเป็นเครื่องมือเป็นกลไกที่จะสร้างความเอารัดเอาเปรียบ สร้างความยิ่งใหญ่

ในขณะนี้ในโลกเศรษฐกิจเองก็กำลังประสบกับภาวะวิกฤติในเรื่องของการช่วงชิงแก่งแย่ง ไม่มีความสุขหรอกครับ และกระแสโลกาภิวัตน์ที่กำลังเป็นอยู่ขณะนี้ ในความสังเกตของผม กำลังถึงจุดที่สร้างปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรง สิ่งที่เราเรียกว่า “การก่อการร้าย” ในทุกวันนี้ ถ้าพูดกันด้วยความเป็นธรรมก็เป็นเพียงปฏิกิริยาที่ต่อต้านกระแสการขยายอำนาจกดขี่เบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบกันในทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นการมองที่เหตุและผลต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ผมมีความเชื่อว่าเป็นภารกิจของศาสนิกทุกๆ ศาสนาในโลกนี้ จะต้องมีความเข้าใจตรงกันว่าเรากำลังประสบกับชะตากรรมของโลกอย่างไรบ้าง สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องของชีวิตด้านนั้นด้านนี้ แต่เป็นเรื่องขององค์รวมของชีวิต เป็นเรื่องของการดำรงชีวิตร่วมกันอย่างเคารพซึ่งเราเข้าใจกัน แต่ว่าการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายก็ดี การแก้ไขปัญหาความวิกฤติในภาคใต้ก็ดี ล้วนแล้วแต่มีมูลเหตุเดียวกันก็คืออำนาจบาตรใหญ่ในทางเศรษฐกิจ ผมอยากจะเรียนในที่นี้ว่า พัฒนาการของเศรษฐกิจมาถึงจุดที่เริ่มมีการเบียดเบียนทรัพยากรท้องถิ่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกลายเป็นเครื่องมือกลไกของการช่วงชิงในรูปแบบของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เราได้ยินเรื่องของปัญหาข้าวหอมมะลิ ปัญหาของหญ้าเปล้าน้อยมาแล้ว จนกระทั่งเกิดความขัดแย้งถึงโรงถึงศาล อย่างเช่น ข้าวจัสมาติ ของอินเดียกับอเมริกา เป็นต้น จนกระทั่งเป็นคดีความที่ต้องไปต่อสู้กันในศาลสหรัฐอเมริกา นี่เป็นเรื่องน่าคิดนะครับ และในสหรัฐอเมริกาเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นประเทศที่มีนักกฎหมายอย่างอุดมสมบูรณ์ ไม่มีทางสู้ได้หรอกครับการไปสู้คดีในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้ จนกระทั่งในขณะนี้การพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เรามองรวมเป็นความก้าวหน้ามันกลายเป็นเครื่องมือของการช่วงชิง

เมื่อไม่นานมานี้ผมทำหน้าที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็มีข้อเสนอมาจากสหรัฐฯ ต้องการให้ไทย –สหรัฐฯ ทำข้อตกลงก่อตั้งกองทุนวิจัยป่าเขตร้อน ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สหรัฐฯ จะช่วยตั้งกองทุนวิจัยแต่ว่าสหรัฐจะต้องมีสิทธิในการสำรวจป่าเขตร้อนทั่วประเทศ สิทธิในการนำไปวิจัยและจดทะเบียนเป็นสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา เพราะฉะนั้นปัญหาภาคใต้นั้นเรามองเป็นปัญหาทางศาสนา ปัญหาของกระบวนการยุติธรรม นั่นก็เป็นส่วนจริงครับ แต่ที่ลึกไปกว่านั้นเราพูดกันเสมอในแวดวงวิชาการที่ปัตตานีว่าความจริงนั้นก็คือ ปัญหาการเบียดเบียนทรัพยากร เพราะการเบียดเบียนทรัพยากรก็หมายถึงการเบียดเบียนชีวิต เบียดเบียนสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ทุกครั้งที่พูดถึงภาคใต้ ผมก็จะพูดเสมอว่า ปัญหาภาคใต้เกิดขึ้นทุกภาคส่วนของสังคมไทย เพราะเป็นที่ทราบกันว่า ประเทศไทยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของป่าเขตร้อนของโลก อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นฐานของการดำรงชีวิตและการเรียนรู้ของชุมชนโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ชาวเขา ชาวม้งต่างๆ ก็ถูกเบียดเบียนทั้งสิ้น นี่เป็นเรื่องที่เราคงจะต้องพยายามทำความเข้าใจร่วมกัน ว่าโลกในขณะนี้กำลังก้าวเข้าสู่จุดวิกฤติซึ่งคนยากคนจน คนสามัญนั้นไม่มีทางออกที่จะแสวงความยุติธรรม ความสันติสุข อย่าว่าแต่สิทธิเสรีภาพเลย

ในระบบโลก ระบบรัฐทุกวันนี้ก็ไม่เอื้ออำนวยเพราะเรากำลังพัฒนาไปสู่การรวมศูนย์อำนาจทั้งสิ้น ประชาธิปไตยที่เรามองเห็นทุกวันนี้ก็เป็นประชาธิปไตยรวมศูนย์ ผมอยากจะเรียนว่า ไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่จะเป็นประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิเสรีภาพถ้าหากปราศจากซึ่งสิทธิการปกครองตนเองของชุมชนท้องถิ่น การถ่วงดุลอำนาจไม่ได้อยู่ที่รัฐสภา ไม่ได้อยู่ที่การถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่อยู่ที่ฐานของสิทธิการปกครองตนเองของท้องถิ่น ผมพูดถึงวิกฤติตรงนี้ ในประเทศไทยเรากำลังมีข้อเสนอสำคัญที่เรียกว่า การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเขตฯ ที่จะยกให้อยู่ในอำนาจปกครองดูแลของคณะกรรมการชุดหนึ่งเพียงต้องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และให้สิทธิอำนาจนั้นเป็นสิทธิเด็ดขาด อันนี้หมายความว่าเป็นการล้มเลิกสิทธิในการปกครองตนเองของท้องถิ่นทั้งหมด เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ เขตห้าเหลี่ยมเศรษฐกิจในขณะนี้นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นกลไกที่จะลงไปครอบครองครอบงำ นั่นก็คือการเบียดเบียนชีวิต  นี่เป็นจุดวิกฤติซึ่งเราต้องมีความตื่นตัวและทำความเข้าใจร่วมกัน

โดยสรุปแล้ว ภารกิจของศาสนิกในเรื่องของสิทธิมนุษยชนในเรื่องของสันติภาพนั้น นอกเหนือไปจากหลักธรรมคำสั่งสอนเพื่อการประพฤติปฏิบัติ เพื่อความถูกต้องชอบธรรมในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีอะไรที่ลึกซึ้งและอยู่บนพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ การพยายามที่จะสร้างสภาวะจิต สภาวะความรู้ วัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ เป็นการปฏิรูประบบซึ่งไม่ใช่ของง่ายๆ แต่อย่างน้อยสุด ถ้าเราเริ่มมีความเข้าใจร่วมกัน ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่พัฒนาการที่ดีขึ้น สดใสขึ้น เป็นเรื่องของระยะยาว ด้วยเหตุนี้ในส่วนตัวของผมจึงให้ความสนใจกับการปฏิรูปการศึกษา แต่เป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ไม่ใช่เป็นการปฏิรูปที่เราพูดถึงกันทุกวันนี้ ผมคิดถึง เปาโล แฟร์ เขาไม่ได้พูดถึงการศึกษาในชั้นเรียนอย่างนี้ แต่กำลังพูดถึงกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมที่เรียกว่า Social Learning  ผมคิดว่าบทบาทของศาสนามีความสำคัญอย่างยิ่งตรงนี้ ทำอย่างไรที่จะมีหลักธรรมคำสั่งสอน ความคิด มีเป้าหมายร่วมกัน ก็คือคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และคุณค่าของความเป็นมนุษย์จะมีไม่ได้ ถ้าปราศจากซึ่งพื้นฐานของวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่พึงปรารถนา ประเด็นทั้งหมดนี้ ผมก็อยากเรียนทิ้งเอาไว้ เพราะเรายังมีประเด็นที่ยังต้องถกเถียง ต้องแสวงหากันอีกมากมาย ทุกๆ อย่างต้องมีจุดตั้งต้น  และสิ่งที่ผมพยายามนำเสนอนี้ พยายามทำให้เรามองภารกิจร่วมกันที่จะแสวงจุดตั้งต้นที่ถูกต้องชอบธรรมต่อไป

เสวนา สิทธิมนุษยชนและสันติภาพ

จากสถานการณ์พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

คุณชื่นสุข  อาศัยธรรมกุล ผู้ดำเนินรายการ

คุณชื่นสุข  อาศัยธรรมกุล ในเอกสารจะเห็นว่าช่วงนี้เป็นการเสวนาเรื่องสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ จากสถานการณ์พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าสิ่งที่เราจะได้ร่วมกันปฏิบัติหรือร่วมกันทำต่อจากนี้ไป เป็นการสนทนาธรรมมากกว่าการเสวนา เพราะถึงแม้เราจะดูสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ว่าเมื่อเรากำลังพิจารณาสถานการณ์นั้นจากมุมมองศาสนิก เราจะได้เห็นจากมุมของการสนทนาธรรม และถึงแม้เราจะมีวิทยากร 3 ท่าน แต่ก็คิดว่าทุกท่านก็จะร่วมกันสนทนาธรรมกับเราได้ด้วย พยายามแสวงหาคำตอบร่วมกันกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น  ในวันนี้อาจจะเน้นไปที่สถานการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ แต่สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในสังคมของเราทุกวันนี้ ภาวะที่ค่อนข้างปราศจากสันติภาพ หรือพลังของสันติภาพอ่อนแรงลง คิดว่าไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เกิดขึ้นกับชีวิตของเราแต่ละคนทุกพื้นที่ อย่างที่อาจารย์เสน่ห์ได้พูดไปแล้วว่า เราคงไม่สามารถพูดถึงสันติภาพแค่ในประเทศไทย ในสังคมไทยเท่านั้น แต่ว่าทั่วโลกกำลังต้องการสันติภาพ และในทุกส่วนของประเทศไทยก็ต้องการสันติภาพ

รศ.เสาวนีย์  จิตต์หมวด  คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ – ตัวแทนชาวมุสลิม

รศ.เสาวนีย์  จิตต์หมวด  ดิฉันได้ขอให้ทางผู้จัดตั้งคำถามเพราะดิฉันอยากทราบว่าทางนี้อยากทราบอะไร นอกจากหัวข้อที่ตั้งไว้แล้ว ทางนี้ก็ได้กรุณาตั้งคำถามไว้ 5 ข้อ ซึ่งคำถามประเด็นภาพกว้างส่วนใหญ่ก็เป็นตามที่ผู้ดำเนินการอภิปรายได้เสนอแล้ว แต่ว่าคำถามที่ดิฉันได้รับซึ่งแตกต่างจากคุณหมอบัญชา   คงจะมีประการเดียวก็คือ  วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพี่น้องมุสลิม การเรียนรู้เรื่องความต่างและการยอมรับในความหลากหลาย คงจะเป็นประเด็นของดิฉันโดยเฉพาะ

ในประเด็นนี้ดิฉันขออนุญาตนำเสนอว่า อิสลามนั้นเป็นศาสนา และในฐานะที่พี่น้องส่วนใหญ่ในห้องนี้เป็นคาทอลิก ก็คงต้องบอกว่า อิสลามเป็นศาสนาที่อยู่ในสายเดียวกับศาสนาคริสต์ คือ เป็นศาสนาที่มีพระเจ้าองค์เดียว และอิสลามเป็นศาสนาที่ท้ายสุดซึ่งในความเป็นมุสลิม มุสลิมต้องยอมรับในพระเยซูคริสต์ มุสลิมต้องยอมรับในท่านนบีโมเสสในอิสลามด้วย จะต้องยอมรับใน Old Testment (คัมภีร์เก่า) และ New Testment (คัมภีร์ใหม่) ด้วย เพราะฉะนั้นในความเป็นมุสลิม ดิฉันมองว่าอาจจะได้เปรียบมากขึ้นหรือเปล่า เพราะต้องรับมาหมดเลย ต้องรับทั้งคัมภีร์ไบเบิ้ลเก่า ไบเบิ้ลใหม่ และศาสนทูตที่มาจากพระเจ้าทั้งหมด เมื่ออิสลามเป็นเหมือนศาสนาท้ายสุดในศาสนาที่มีพระเจ้าองค์เดียว อิสลามจึงต้องมีอีกสถานภาพหนึ่งที่พระเจ้ากำหนดให้ คือให้เป็นมากกว่าศาสนา นั่นคือให้เป็นวัฒนธรรม นั่นคือวิถีแห่งการดำเนินชีวิตด้วย ดังนั้นถ้าจะพูดในแง่ของกฎระเบียบ มุสลิมได้รับกฎระเบียบในการปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น จากการเพิ่มเป็นวัฒนธรรมตรงนี้เองทำให้อิสลามมีลักษณะแตกต่างจากศาสนาอื่นๆ ที่ค่อนข้างจะเห็นได้ชัดประการหนึ่งนั่นก็คือว่า อิสลามไม่มีสถาบันนักบวช มุสลิมทุกคนจึงอยู่ในฐานะของผู้ครองเรือนและผู้ครองธรรม เพราะฉะนั้นทุกย่างก้าวของชีวิตจะต้องเป็นไปตามหลักการของวัฒนธรรมอิสลามและศาสนาอิสลาม นี่คือความแตกต่างของศาสนาอิสลามจากศาสนาอื่นที่เป็นประเด็นสำคัญ

ประเด็นต่อไป ในแง่ของการยอมรับความหลากหลายของวัฒนธรรม ในคัมภีร์อัลกุรอานบอกชัดเจนว่า นอกจากพระองค์จะบอกว่าพระองค์ทรงสร้างมนุษย์คนแรกมาจากอาดัมแล้ว บางโองการก็ได้บอกชัดเจนว่า พระองค์ได้ทรงสร้างให้มนุษย์เหล่านั้นมีความแตกต่างกันทางชาติพันธุ์ ภาษา และความแตกต่างในมิติต่างๆ และพระองค์ได้ทรงทำให้เขาได้รู้จักกัน แต่ที่สำคัญยิ่ง ความประเสริฐหรือความดีของใครจะมากกว่ากันนั้น พระองค์ไม่ได้ดูที่หน้าตา สีผิว ภาษา แต่พระองค์ดูที่ความยำเกรงของเขาต่างหาก เพราะฉะนั้นคงต้องบอกว่า อิสลามยอมรับในความแตกต่างหลากหลายเหล่านั้น และมองว่าความแตกต่างหลากหลายเหล่านั้นเป็นความสวยงามเป็นความดีและเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ต้องการให้มีความแตกต่างหลากหลาย และจะได้รู้จักกัน

เรื่องของการ “รู้เขา รู้เรา” ชาวไทย มุสลิมมีจุดอ่อนก็คือว่า เราจะมีเวทีพูดให้มุสลิมด้วยกันเองได้รู้ได้เข้าใจศาสนาเท่านั้นเพื่อที่เขาจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้องเนื่องจากมันเป็นวัฒนธรรม แต่มุสลิมไม่ค่อยได้ทำหน้าที่ในการจะบอกว่าเราเป็นใคร เราจะต้องปฏิบัติอย่างไรให้เพื่อนต่างศาสนิกเพื่อนร่วมชาติได้รับรู้ เป็นข้ออ่อนด้อยมากๆ ของชาวไทยมุสลิม เพราะฉะนั้นท่านอาจจะเห็นคำว่า มีขบวนการดะวะห์ (ในภาษาอาหรับแปลว่า "เชิญชวน" ในที่หลักการอิสลามใช้นั้น คือหมายถึงการเชิญชวนไปสู่อัลลอฮฺ เช่น การตักเตือนกันให้ทำดีละความชั่ว, การไบยาน (บรรยายศาสนา), การคุตบะหฺ (เทศนา), การอะซาน-อิกอมะหฺ (เรียกให้คนมาละหมาด) หรือ ตับลีฆ (คือการ"เผยแผ่")) ไปเชิญชวนมุสลิมให้เข้าสุเหร่า ให้ปฏิบัติศาสนกิจ แต่จะไม่ได้บอกคนข้างนอกให้รู้เลยว่า มุสลิมเป็นอย่างไร อิสลามเป็นอย่างไร มุสลิมอาจจะได้เปรียบในแง่ที่ว่าเมื่อเข้าไปสู่ระบบการศึกษา หลักสูตรที่ให้เรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาพุทธค่อนข้างมากและให้รู้คริสต์ด้วย เพราะฉะนั้นมุสลิมก็จะรู้เรื่องคริสต์เรื่องพุทธ แต่ไม่ได้บอกเรื่องของตัวเองให้คนอื่นรู้ ดังนั้นเพื่อนๆ ก็เลยไม่รู้ว่ามุสลิมเป็นอย่างไร เมื่อไม่รู้ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมาได้

ประการต่อไป ในคำสอนของศาสนาอิสลาม ในแง่ของแนวคิดและคุณธรรมของศาสนาอิสลาม ในคัมภีร์อัลกุรอานบอกว่า มุสลิมทุกคนเป็นพี่น้องกัน จากประโยคสั้นๆ นี้ ดิฉันมองว่า จึงเป็นมิติที่ทำให้มุสลิมมองข้ามในแง่ของพื้นที่ ของตัวบริเวณ เพราะฉะนั้นตัวพื้นที่ไม่ได้สำคัญ แต่พอเป็นมุสลิมไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนาใด พอรู้ว่าเป็นมุสลิม ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด พอเจอกัน แต่งตัวแบบเดียวกัน ก็จะสลามให้กัน เพราะความรู้สึกเป็นพี่น้องเกิดขึ้นเพราะศาสนาสอนไว้

นอกจากนั้นอิสลามสอนเรื่องการให้อภัยอย่างมาก อิสลามได้สอนในแง่ของความอดทน ขันติธรรม ซึ่งเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ดิฉันเคยได้อ่านและยอมรับว่าดิฉันไม่เข้าใจเลยว่า เมื่ออยู่ด้วยกันทำไมต้องมีขันติธรรมด้วย แต่ ณ พ.ศ.นี้ดิฉันเข้าใจชัดเจนเลยว่า ขันติธรรมในการอยู่ร่วมกันเป็นอย่างไรที่จะต้องรู้จักความอดทนและความอดกลั้น

ต่อไปในแง่ของสิทธิมนุษยชน  อิสลามเขียนไว้ในคัมภีร์ชัดเจนเลยและคงไม่ต่างไปจากคัมภีร์ไบเบิล ในแง่ที่ว่าให้เคารพเกียรติและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน และระหว่างชาย-หญิง พระองค์จะดูในแง่ของความต่างของแต่ละบุคคลตรงที่ความยำเกรง การปฏิบัติของเขาเท่านั้น ซึ่งอิสลามยอมรับในแง่ของความต่าง จากในความต่าง พระองค์ทรงกำหนดทั้งส่วนที่เป็นสิทธิและหน้าที่เอาไว้ ตัวอย่างในแง่ของสิทธิหน้าที่ที่เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน เช่น ในคัมภีร์อัลกุรอานบอกว่า ให้แม่ให้นมลูกเป็นเวลาถึง 2 ปี นี่คือสิ่งที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน จุดนี้ดิฉันมองว่านี่คือหน้าที่ของแม่ชัดเจนเลย แต่หน้าที่ของแม่ตรงนี้ แท้จริงดิฉันมองว่ามันคือสิทธิของลูก ซึ่งถ้าถาม ณ ปัจจุบันนี้ แม้แต่แม่ของมุสลิมเองก็ตาม ถามว่า ลูกหรือเด็กมุสลิมถูกละเมิดสิทธิหรือเปล่า ดิฉันมองชัดเจนว่า เด็กมุสลิมปัจจุบันถูกละเมิดสิทธิจำนวนไม่น้อย ที่เขาไม่มีสิทธิจะดื่มนมแม่เป็นเวลา 2 ปีเต็ม ซึ่งหากแม่ที่ปฏิบัติหน้าที่นี้ หรือลูกได้รับสิทธิตรงนี้จะเป็นภูมิป้องกันเชื้อโรค ภูมิป้องกันจิตใจที่จะบ่มเพาะเด็กขึ้นมาได้อย่างมหาศาลมาก เพราะฉะนั้นจุดตรงนี้หลักการวางไว้ดีแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือมุสลิมไม่ได้ปฏิบัติตามหลักการที่ว่านี้

ในอิสลามแบ่งในแง่ที่ว่ามีคนที่จนสุดๆ จนกระเถิบขึ้นมา แล้วมีผู้เดินทาง มีแม่ม่าย มีเด็กกำพร้า อะไรต่างๆ แล้วจัดคนกลุ่มนี้ไว้ 8 จำพวก คนที่มั่งมีถ้าหากมีทรัพย์สินเกินพิกัดในรอบ 1 ปี จะต้องออกสะกาด (บริจาค) เพราะฉะนั้นผู้ได้รับความเดือดร้อนใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่มีแม่ม่าย ลูกกำพร้ามากมาย ดิฉันมองว่าคนเหล่านั้นคือคนที่มีสิทธิได้รับการเยียวยาและการช่วยเหลือจากคนที่มีฐานะดีกว่า ตรงนี้ก็กลับกันก็คือว่า เป็นหน้าที่ของอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นแล้วตรงนี้มีการละเมิดสิทธิกันบ้างหรือเปล่า

ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ในอัลกุรอานพูดไว้มากว่า มนุษย์มีหน้าที่ในการพิทักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อมและใช้อย่างประหยัด เพราะฉะนั้นจุดนี้จึงเป็นปัญหาดังที่ อ.เสน่ห์ ได้พูดไป โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดภาคใต้ ประการต่อไปในแง่ของสถานการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2541 ดิฉันได้เป็นคณะทำงานของวุฒิสมาชิกซึ่งมีคุณอารีย์  วงศ์อารยะ เป็นประธานในการศึกษาปัญหา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สรุปได้ว่าในการศึกษา สาเหตุของปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมิได้แตกต่างไปจากปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศไทยหรือกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ปัญหาการศึกษา ปัญหายาเสพติด แต่บางปัญหาอาจมีน้ำหนักมาก คือ ปัญหากลไกของรัฐและปัญหาสังคมจิตวิทยา

ในทรรศนะของดิฉันมองว่า ถ้าจะมองรากเหง้าของปัญหาจริงๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และอาจจะโยงมาในเรื่องของสิทธิมนุษยชนก็คือ รากเหง้าปัญหาประการแรกก็คือ อวิชชา คือความไม่รู้ ทั้งฝ่ายรัฐผู้ปกครอง และความไม่รู้จากฝ่ายประชาชนผู้ถูกปกครอง ถ้าหากในแง่กลไกของรัฐ อวิชชา ตัวนี้ นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเยอะมากเหลือเกิน เขาไม่รู้ว่ามุสลิมต้องละหมาด 5 เวลา ใน พ.ศ. 2547 – 2548 ที่ทหารยกกำลังลงไป ทหารเองก็หงุดหงิดหรือรำคาญใจว่า ละหมาดอะไรกันตั้ง 5 เวลา และก็พูดจาเป็นการละเมิดสิทธิ ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันอย่างมากมาย แค่พื้นฐานที่มุสลิมต้องปฏิบัติตรงนี้ก็โดนเสียแล้ว 

และจาก อ อวิชชา นี้ก็นำไปสู่ อ อีกตัวคือ อคติ เมื่ออวิชชา แล้ว แน่นอนที่สุดว่า อคติ เกิดขึ้นได้ง่ายเหลือเกิน เรามีการพูดกันในวงการทำงานของคุณจาตุรนต์ ในการทำแผนยุทธศาสตร์ว่า ทำไมข้าราชการที่เป็นมุสลิมแม้แต่ในสถานศึกษาก็น้อย ยังไม่ต้องพูดถึงข้าราชการส่วนอื่น ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้  เพราะปรากฏว่าเกิดอคติตั้งแต่รับเข้าแล้ว สอบข้อเขียนผ่านแล้วแต่พอมาเจอตัวจริงว่ามีผ้าคลุมแล้วนี่ อคติเกิดเรียบร้อย เธอก็ถูก Get Out ไปเรียบร้อยเลย หลายต่อหลายคนเป็นแบบนี้ที่พบมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน  และปัจจุบันนี้อคติเกิดการแพร่ระบาดมาในกรุงเทพฯ และในภูมิภาคอื่นๆ เรียบร้อยแล้วว่า ถ้าเห็นใครแต่งตัวแบบนี้ ถ้าเห็นผู้ชายไว้หนวด ไว้เครา สวมหมวก ก็เรียบร้อยเลย อคติเกิดขึ้น แล้วก็ทำการจัดการหรือปฏิบัติการที่ทำให้เกิดการกระทบกระทั่ง เกิดความหวาดระแวงไปจากอคติที่มีตรงนี้

หรือว่าเมื่อไม่นานมานี้ที่มีรายการทางช่อง 5 ตอนเช้า ซึ่งจริงๆ ดิฉันไม่ค่อยอยากฟังโดยตรง ... ดิฉันอ่านหนังสือเจอว่า เมื่อมีการทำบัตรสมาร์ทการ์ดแล้วต้องมีการถ่ายรูป ผู้จัดรายการช่อง 5 ตอนเช้าก็ให้ความเห็นเรียบร้อยเลยว่า ให้เอาฮิญาบ (ผ้าคลุมผม) ออกในการถ่ายรูปติดบัตรประชาชนในการทำบัตรสมาร์ทการ์ด ซึ่งเคยทำมาแล้วในอดีต กฎนี้เคยออกมาแล้ว และดิฉันใช้เวลาต่อสู้เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีหลายคนกว่าจะแก้ปัญหาตรงนี้มาได้

ต่อไปก็คือ อำนาจ อำนาจที่มีอยู่โดยเฉพาะจากกลไกของรัฐ อำนาจในแง่ทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่ อ.เสน่ห์พูดไว้ เป็นการไปละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำมาหากิน การประมงชายฝั่งหรือทรัพยากรธรรมชาติ และจากอวิชชา อคติ อำนาจ ก็นำไปสู่ อธรรมและอยุติธรรม  ที่ประชาชนได้รับมาเป็นเวลานานนี่แหละที่เป็นชนวนจุดกองไฟของผู้ไม่ปรารถนาดีเกิดขึ้นง่ายเหลือเกิน เหล่านี้คือกลุ่มของข้าราชการกลไกของรัฐ

สำหรับตัวประชาชนก็เป็นอีก อ หนึ่ง คือ อัตลักษณ์ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอัตลักษณ์ ที่มาจาก 2 แหล่งคือ อัตลักษณ์ในแง่ของความเป็นมุสลิมที่จะต้องปฏิบัติตามศาสนาและวัฒนธรรมอิสลาม เนื่องจากตรงนั้นเป็นคนมลายูเชื้อชาติเดิม ถึงแม้ตอนนี้จะเป็นเชื้อชาติไทยแล้วก็ตาม ในความเป็นมลายูทำให้เขามีอัตลักษณ์ของเขาเอง โดยเฉพาะภาษาประเพณี พิธีต่างๆ จากอัตลักษณ์ตรงนี้ เมื่อกลไกของรัฐมีอวิชชาและอคติต่ออัตลักษณ์ ก็เลยใช้อำนาจในทางที่มิชอบก่อให้เกิดความอยุติธรรมขึ้น นี่คือรากเหง้าของปัญหา ส่วนประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนน้อยมากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาจะมีอีก อ หนึ่งคือ อุดมการณ์ ซึ่งอุดมการณ์ของเขา เป้าหมายของเขานั้นคือ เอกราช เราต้องไม่ปฏิเสธตรงนี้ว่าเขามีจริง แต่ดิฉันมองว่าศักยภาพมันน้อย แต่จากการแก้ปัญหาของรัฐที่ตั้งแต่แรกไม่สนใจ ทอดทิ้ง ไม่เหลียวแล และกดทับปัญหานั้นมาโดยตลอด เมื่อเริ่มจะมาแก้ปัญหาก็แก้ปัญหาโดยการตั้งโจทย์ผิดและใช้ความรุนแรง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นความอยุติธรรมต่างๆ ที่เขาได้รับจึงทำให้ผู้ปรารถนาดีแต่ประสงค์ร้ายสามารถจุดเป็นกองไฟได้มากเหลือเกิน นี่จึงเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้

ในแง่ของตัวประชาชนจริงๆ ประชาชนส่วนใหญ่ เป้าหมายเขาไม่ได้อยู่ที่เอกราชเพราะเขาไม่ได้มีอุดมการณ์ แต่เขามีแต่ตัวอัตลักษณ์ของเขา เป้าหมายของพี่น้องมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ อีก อ หนึ่ง คือ อาคีเราะห์ ก็คือ ปรภพ โลกหน้าอันเป็นโลกที่เป็นนิรันดร์ ต่างหาก เพราะฉะนั้นเป้าหมายของพี่น้องชาวไทย-มุสลิมส่วนใหญ่ กับส่วนน้อย ดิฉันมองว่าเป้าหมายแตกต่างกัน

สำหรับความหวัง มุสลิมถูกสอนไม่ให้ย่อท้อ ให้มีความหวังตราบใดที่เรายังมีพระเจ้าอยู่ เราจะต้องไม่สิ้นหวัง พระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้นก็เป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วสำหรับเราที่จะอยู่และปฏิบัติตนต่อไป ที่เราจะต้องขอความช่วยเหลือจากพระองค์ เพราะฉะนั้นมุสลิมไม่สิ้นหวัง ดิฉันยอมรับว่าเหนื่อยต่อสถานการณ์ ณ วันนี้ แต่เราก็ต้องไม่สิ้นหวังและทำอย่างดีที่สุดเต็มความสามารถ แต่ผลจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่พี่น้องชาวไทยมุสลิมต้องทำควบคู่กันไปก็คือการขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าในการให้บ้านเมืองกลับมาสู่ความสงบสุขอีกครั้งหนึ่ง ตรงนี้เป็นหน้าที่ของมุสลิม แต่การแก้ปัญหาความรุนแรงไม่ได้อยู่ในมือของ กอส. ไม่ได้อยู่ในมือของพี่น้องที่เป็นชาวบ้าน มันอยู่ในมือของรัฐบาล เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาที่เราอยากเห็นมากที่สุดก็คือ ความจริงใจ ความจริงจังในการแก้ปัญหาบนฐานของการแก้ปัญหาที่มีเอกภาพและยึดอยู่บนแนวทางของสันติวิธี ซึ่งทุกๆ ศาสนานั้นไม่มีศาสนาใดสอนให้ศาสนิกชนใช้ความรุนแรง แต่ทุกศาสนาสอนให้อยู่บนแนวทางของสันติวิธี เพราะฉะนั้นดิฉันมองว่าเรามีความหวังในการที่จะให้บ้านเมืองสงบสุข แต่ว่าไม่มีใครคนใดคนหนึ่งทำได้โดยลำพัง เราต้องช่วยกัน เพราะว่าเรานั้นคือพวกที่อยู่ในเรือลำเดียวกัน

คุณชื่นสุข  อาศัยธรรมกุล  ผู้ดำเนินรายการ

วิทยากร งานเสวนาเรื่องที่พูดคุยกันอยู่มีความสำคัญ และละเอียดอ่อนมาก อาจารย์ได้เสนอมุมมองอย่างคมชัด  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความที่เป็นมุสลิมและเป็นคริสตชนที่มีประวัติศาสตร์ทางศาสนาร่วมกัน มีประวัติศาสตร์ของพระเจ้าร่วมกัน คิดว่าพวกเราคงสามารถสื่อเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์ได้นำเสนอให้เราได้ดีพอสมควร เราได้เห็นคีย์เวิร์ดซึ่งเป็นคำสำคัญที่อาจารย์ได้ให้ไว้ ทำให้เราได้เห็นว่าอะไรที่เป็นต้นตอของปัญหาปัจจุบันที่เกิดขึ้น ตัวสำคัญคือ อ อ่าง - อวิชชา อคติ อำนาจ อธรรมและอยุติธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่ออัตลักษณ์ การต้องการดำรงอัตลักษณ์ ซึ่งอัตลักษณ์นี้ เราซึ่งเป็นคาทอลิกในสังคมไทยน่าจะเข้าใจได้ไม่ยากเพราะเราก็เป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมไทยเหมือนกัน หลายครั้งเราก็คงจะรู้สึกลำบากที่จะดำรงชีวิตความเป็นคาทอลิก แต่ในเวลาเดียวกันก็มีความหวังเพราะว่ามีพระเจ้าเป็นกำลังให้เราเหมือนกัน คิดว่าเราคงคิดร่วมไปกับอาจารย์ได้ ช่วงนี้คิดว่าเราคงพอมองเห็นว่าสถานการณ์ภาคใต้ไม่ใช่เรื่องของศาสนาเท่านั้น เราโดยทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจว่า ปัญหาความยากจน ปัญหาการเบียดเบียน การถูกบังคับใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นฐานในการดำรงชีวิตของคนภาคใต้โดยมีคนจากข้างนอกเข้าไปใช้และดึงผลประโยชน์ไป ก็เป็นปัญหาพื้นฐานในการทำมาหากิน และเป็นสิ่งที่อาจารย์บอกว่าเป็นภาวะเริ่มต้น รากฐานต้นที่เกิดในทุกภูมิภาคของประเทศไทยไม่ใช่เฉพาะในภาคใต้ แต่ที่เราต้องทำความเข้าใจมากขึ้นว่าในวัฒนธรรมของมุสลิม อะไรทำให้เกิดความรุนแรงมากกว่าที่อื่น ความจริงที่อื่นก็เกิด เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว และต้องมาเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ด้วย ควันฝุ่นเรื่อง สมัชชาคนจนยังไม่จางหาย นั่นเข้ามาถึงกรุงเทพฯ แต่อาจจะยังไม่มีการเข่นฆ่าเด่นชัด แต่ว่าภาคใต้มีการเข่นฆ่า ทำให้เรารู้สึกว่ามันร้อนแรงมากขึ้นนะคะ

เรื่องที่พูดคุยกันอยู่มีความสำคัญ และละเอียดอ่อนมาก อาจารย์ได้เสนอมุมมองอย่างคมชัด  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความที่เป็นมุสลิมและเป็นคริสตชนที่มีประวัติศาสตร์ทางศาสนาร่วมกัน มีประวัติศาสตร์ของพระเจ้าร่วมกัน คิดว่าพวกเราคงสามารถสื่อเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์ได้นำเสนอให้เราได้ดีพอสมควร เราได้เห็นคีย์เวิร์ดซึ่งเป็นคำสำคัญที่อาจารย์ได้ให้ไว้ ทำให้เราได้เห็นว่าอะไรที่เป็นต้นตอของปัญหาปัจจุบันที่เกิดขึ้น ตัวสำคัญคือ อ อ่าง - อวิชชา อคติ อำนาจ อธรรมและอยุติธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่ออัตลักษณ์ การต้องการดำรงอัตลักษณ์ ซึ่งอัตลักษณ์นี้ เราซึ่งเป็นคาทอลิกในสังคมไทยน่าจะเข้าใจได้ไม่ยากเพราะเราก็เป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมไทยเหมือนกัน หลายครั้งเราก็คงจะรู้สึกลำบากที่จะดำรงชีวิตความเป็นคาทอลิก แต่ในเวลาเดียวกันก็มีความหวังเพราะว่ามีพระเจ้าเป็นกำลังให้เราเหมือนกัน คิดว่าเราคงคิดร่วมไปกับอาจารย์ได้ ช่วงนี้คิดว่าเราคงพอมองเห็นว่าสถานการณ์ภาคใต้ไม่ใช่เรื่องของศาสนาเท่านั้น เราโดยทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจว่า ปัญหาความยากจน ปัญหาการเบียดเบียน การถูกบังคับใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นฐานในการดำรงชีวิตของคนภาคใต้โดยมีคนจากข้างนอกเข้าไปใช้และดึงผลประโยชน์ไป ก็เป็นปัญหาพื้นฐานในการทำมาหากิน และเป็นสิ่งที่อาจารย์บอกว่าเป็นภาวะเริ่มต้น รากฐานต้นที่เกิดในทุกภูมิภาคของประเทศไทยไม่ใช่เฉพาะในภาคใต้ แต่ที่เราต้องทำความเข้าใจมากขึ้นว่าในวัฒนธรรมของมุสลิม อะไรทำให้เกิดความรุนแรงมากกว่าที่อื่น ความจริงที่อื่นก็เกิด เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว และต้องมาเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ด้วย ควันฝุ่นเรื่อง สมัชชาคนจนยังไม่จางหาย นั่นเข้ามาถึงกรุงเทพฯ แต่อาจจะยังไม่มีการเข่นฆ่าเด่นชัด แต่ว่าภาคใต้มีการเข่นฆ่า ทำให้เรารู้สึกว่ามันร้อนแรงมากขึ้นนะคะ

ดิฉันขอเรียนเชิญ คุณหมอบัญชา ให้ภาพจากมุมมองของศาสนิกทางพุทธว่าเป็นอย่างไรบ้าง ขอเชิญค่ะ

นายแพทย์บัญชา  พงษ์พานิช คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ และ โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ – ตัวแทนพุทธศาสนิกชน

นายแพทย์บัญชา  พงษ์พานิช ผมเองขอเริ่มตรงนี้นิดหนึ่งว่าผมเติบโตมาในครอบครัวพุทธก็จริง แต่ในบ้านผมมีคริสต์อยู่ครึ่งบ้าน คุณป้าสะใภ้ผมเป็นคริสต์ไบทีเรียนที่นครศรีธรรมราช ท่านเป็นประธานของคริสตจักรจังหวัด  ฉะนั้นครึ่งหนึ่งผมก็เข้าใจและเรียนรู้อยู่ภายใต้ภาวะกลมกลืน และขณะเดียวกันสมาชิกในบ้านอีกหลายคนก็เป็นมุสลิม ผมก็เติบโตมาแบบนี้ รู้จักกันและเข้าใจกันเป็นอันหนึ่งเดียวด้วยฐาน 2 อย่าง หนึ่งคือความเป็นญาติ ความเป็น สมาชิกครอบครัว และขณะเดียวกันฐานคิดที่ต่างก็มีอยู่ มีทั้งที่ต่างและที่อาจโน้มไปสู่ความขัดแย้งก็มี แต่เราก็ใช้วิธีจัดการแบบครอบครัว แบบสมาชิก ว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ก็อยู่กันมาได้ตลอดมา เมื่อผมเติบโตมา คือตอนเด็กๆ เราก็ไปโบสถ์บ่อย เป็นกิจกรรมที่สมาชิกไปก็ชวนไป เมื่อโตขึ้น ผมเป็นคนใต้ เมื่อผมไปเรียนที่เชียงใหม่ เมื่อรู้ว่าอย่างไรตัวเองก็ต้องกลับบ้าน หลายวิชาเลือกที่ผมเลือกก็คือ วิชาอิสลามเพื่อที่จะเข้าใจ และเมื่อผมเรียนจบผมก็บวช จริงๆ ผมผ่านช่วงๆ หนึ่งของชีวิตที่คิดว่า ไม่นับถือศาสนาอะไรดีกว่า ถือศาสนาวิทยาศาสตร์ ศาสนาเหตุผล ศาสนาสมัยใหม่ที่ไม่มีศาสนา แต่เมื่อมาผ่านช่วงชีวิตของการทำงานช่วงหนึ่ง ผมก็ได้คิดว่า มันไม่ใช่น่ะ ทำไมเราทำงานทุ่มเทเหลือเกิน เราเป็นหมอ แต่รู้สึกเราจัดการบางอย่าง เรื่องความเข้าใจ  เราเรียนจิตวิทยามาด้วย แต่เราจัดการเรื่องของจิตใจเราไม่ได้ ผมทำงานท่ามกลางสภาพแวดล้อม สังคม มันหงุดหงิด ทุกข์มาก ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมทำดีแล้วผลไม่เป็นอย่างนี้ล่ะ ก็พยายามหาคำอธิบาย ผมไปหมด ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม เพื่อจะศึกษาว่าอะไรเป็นอะไร  สุดท้ายด้วยความเป็นพุทธเดิม ผมก็เลยตัดสินใจบวชอีกสักครั้งหนึ่งเพื่อเข้าใจ ผมได้บวชอยู่กับท่านอาจารย์พุทธทาสก็ได้เข้าใจได้เห็นบางประเด็น เพราะฉะนั้นเราจึงสมาทานพุทธ ผมสอนหนังสือให้กับลูกศิษย์วิชาว่าด้วยคุณภาพชีวิต เน้นทำอย่างไรให้คนปัจจุบันที่เรียนๆ แต่วิชาอาชีพ แต่ไม่ได้เรียนวิชาชีวิตเลย ก็ตั้งโจทย์กับนักศึกษาและพยายามหาช่องให้นักศึกษาที่กำลังอายุ 20 นึกถึงสมัยเราก็ไม่ค่อยได้หาความหมายของชีวิตเท่าไร แล้วเราก็มาว้าวุ่นแถวๆ เริ่มทำงาน เราพบคนทำงานหลายๆ คนบอกว่าทำไมเรื่องนี้เราไม่เคย ก็พยายามจัดระบบให้นักศึกษาได้เรียน นักศึกษาของผมก็มีทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม นักศึกษาพุทธ ผมก็พาไปสวนโมกข์ ไปอย่างจริงจัง ไปอยู่แบบไปบวช 3 วัน 2 วันก็ต้องบวชนะ เอากันจริงจัง นักศึกษามุสลิมเขาก็บอก “ผมเป็นมุสลิมผมก็ไม่อยากไปสวนโมกข์” ผมก็พาไปอยู่ปอเนาะ ผมก็ไปละหมาดกับเขา ถือศีลกับเขา นั่นก็ดำเนินการอย่างนั้นมาตั้งแต่ต้น เป็นพื้นฐานของผม

ผมเองขอเริ่มตรงนี้นิดหนึ่งว่าผมเติบโตมาในครอบครัวพุทธก็จริง แต่ในบ้านผมมีคริสต์อยู่ครึ่งบ้าน คุณป้าสะใภ้ผมเป็นคริสต์ไบทีเรียนที่นครศรีธรรมราช ท่านเป็นประธานของคริสตจักรจังหวัด  ฉะนั้นครึ่งหนึ่งผมก็เข้าใจและเรียนรู้อยู่ภายใต้ภาวะกลมกลืน และขณะเดียวกันสมาชิกในบ้านอีกหลายคนก็เป็นมุสลิม ผมก็เติบโตมาแบบนี้ รู้จักกันและเข้าใจกันเป็นอันหนึ่งเดียวด้วยฐาน 2 อย่าง หนึ่งคือความเป็นญาติ ความเป็น สมาชิกครอบครัว และขณะเดียวกันฐานคิดที่ต่างก็มีอยู่ มีทั้งที่ต่างและที่อาจโน้มไปสู่ความขัดแย้งก็มี แต่เราก็ใช้วิธีจัดการแบบครอบครัว แบบสมาชิก ว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ก็อยู่กันมาได้ตลอดมา เมื่อผมเติบโตมา คือตอนเด็กๆ เราก็ไปโบสถ์บ่อย เป็นกิจกรรมที่สมาชิกไปก็ชวนไป เมื่อโตขึ้น ผมเป็นคนใต้ เมื่อผมไปเรียนที่เชียงใหม่ เมื่อรู้ว่าอย่างไรตัวเองก็ต้องกลับบ้าน หลายวิชาเลือกที่ผมเลือกก็คือ วิชาอิสลามเพื่อที่จะเข้าใจ และเมื่อผมเรียนจบผมก็บวช จริงๆ ผมผ่านช่วงๆ หนึ่งของชีวิตที่คิดว่า ไม่นับถือศาสนาอะไรดีกว่า ถือศาสนาวิทยาศาสตร์ ศาสนาเหตุผล ศาสนาสมัยใหม่ที่ไม่มีศาสนา แต่เมื่อมาผ่านช่วงชีวิตของการทำงานช่วงหนึ่ง ผมก็ได้คิดว่า มันไม่ใช่น่ะ ทำไมเราทำงานทุ่มเทเหลือเกิน เราเป็นหมอ แต่รู้สึกเราจัดการบางอย่าง เรื่องความเข้าใจ  เราเรียนจิตวิทยามาด้วย แต่เราจัดการเรื่องของจิตใจเราไม่ได้ ผมทำงานท่ามกลางสภาพแวดล้อม สังคม มันหงุดหงิด ทุกข์มาก ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมทำดีแล้วผลไม่เป็นอย่างนี้ล่ะ ก็พยายามหาคำอธิบาย ผมไปหมด ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม เพื่อจะศึกษาว่าอะไรเป็นอะไร  สุดท้ายด้วยความเป็นพุทธเดิม ผมก็เลยตัดสินใจบวชอีกสักครั้งหนึ่งเพื่อเข้าใจ ผมได้บวชอยู่กับท่านอาจารย์พุทธทาสก็ได้เข้าใจได้เห็นบางประเด็น เพราะฉะนั้นเราจึงสมาทานพุทธ ผมสอนหนังสือให้กับลูกศิษย์วิชาว่าด้วยคุณภาพชีวิต เน้นทำอย่างไรให้คนปัจจุบันที่เรียนๆ แต่วิชาอาชีพ แต่ไม่ได้เรียนวิชาชีวิตเลย ก็ตั้งโจทย์กับนักศึกษาและพยายามหาช่องให้นักศึกษาที่กำลังอายุ 20 นึกถึงสมัยเราก็ไม่ค่อยได้หาความหมายของชีวิตเท่าไร แล้วเราก็มาว้าวุ่นแถวๆ เริ่มทำงาน เราพบคนทำงานหลายๆ คนบอกว่าทำไมเรื่องนี้เราไม่เคย ก็พยายามจัดระบบให้นักศึกษาได้เรียน นักศึกษาของผมก็มีทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม นักศึกษาพุทธ ผมก็พาไปสวนโมกข์ ไปอย่างจริงจัง ไปอยู่แบบไปบวช 3 วัน 2 วันก็ต้องบวชนะ เอากันจริงจัง นักศึกษามุสลิมเขาก็บอก “ผมเป็นมุสลิมผมก็ไม่อยากไปสวนโมกข์” ผมก็พาไปอยู่ปอเนาะ ผมก็ไปละหมาดกับเขา ถือศีลกับเขา นั่นก็ดำเนินการอย่างนั้นมาตั้งแต่ต้น เป็นพื้นฐานของผม

ทีนี้ถ้าเข้าสู่ประเด็น เราจะทำอย่างไรเพื่อท่านทั้งหลายจะได้ตั้งประเด็นคุยกันต่อ ผมได้ร่วมกับเพื่อนๆ ทำกิจกรรมหนึ่ง ผมได้พบว่าชุมชนมุสลิมทุ่มเทและตั้งใจในการรักษาหลักปฏิบัติศรัทธาหลายๆ ประการที่พึงกระทำ ชุมชนที่ผมไปมา ผมถามว่าความสุขของชุมชนคืออะไร เขาบอกว่า ความสุขของเขา คือเขามั่นใจว่า คนรุ่นหลังไม่ไกลจากศาสนา ถามว่าทำอย่างไร เขาบอกว่าจะต้องตั้งโรงเรียนตั้งแต่ระดับพื้นฐาน  และเขามีความสุขมาก เด็กเหล่านี้อายุตั้งแต่ 5 ถึง 8 ขวบ ตั้งใจที่จะอ่านคัมภีร์อัลกุรอานให้ได้ ผมถามว่าทำไมต้องทำขนาดนั้น เด็กไม่เหนื่อยตายหรือ เขาบอกว่าไม่ได้ เขาห่างไกลเรื่องนี้ไม่ได้ ต้องอ่านให้ได้ ไม่เข้าใจเรื่องนี้ไม่เป็นไร เรื่องความเข้าใจค่อยไปต่อตอนอยู่ปอเนาะ ตาดีกา เรียนสูงๆ เขาพยายามจัดระบบ

ผมได้เรียนรู้ว่าชุมชนมุสลิม ได้ทุ่มเทเรื่องนี้สูงมาก ในขณะที่ชุมชนพุทธต่างมาก ผมพบว่าชุมชนพุทธเราไหลไปตามวิธีคิดและวิธีการเรียนรู้แบบใหม่โดยสิ้นเชิง เราลืมเรื่องศีลธรรมหมด สังคมพุทธทุกวันนี้เหลือไว้แต่เพียงพิธีกรรม ดำรงอยู่เพียงพิธีกรรมเท่านั้นเอง และแยกนักบวชกับบุคคล ของพุทธหลุดเอามากๆ ผมยกตัวอย่างเช่น เราเหลือแต่เพียงสัญลักษณ์ ลองไปถามเพื่อนพุทธว่าคุณถือศีลเท่าไร เข้าใจเท่าไร หายากแทบไม่เหลือเลย วัดบางวัดชุมชนก็ยอมรับว่าเป็นเพียงที่ประกอบพิธีกรรมก็พอ ถึงขั้นยินยอมว่า พระจะผิดศีลก็ไม่เป็นไรเดี๋ยวไม่มีพระเอาไว้สวด ในงานศพ งานทำบุญ ต้องครบ 4 องค์ 5 องค์ ไม่ครบองค์ก็ทำสังฆกรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้นศีลธรรมอย่างอื่นไม่เอาแล้ว เอาแต่ผ้าเหลืองก็พอ นี่คือสภาพที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัญหามาก แม้ขณะนี้เมื่อเกิด ได้ลองไปนั่งคุยกับพระ ท่านก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน ก็ดึงไว้ได้แค่เชิงสัญลักษณ์และพิธีกรรม นี่คือความวิตกทั้งพระทั้งชุมชน ตอนนี้ชาวพุทธในภาคใต้เวลาคิด ผมว่าต้องเข้าใจว่าเขาอาจไม่ได้คิดในฐานะเป็นพุทธ เป็นเพียงมีตราว่าพุทธ อันนี้สำคัญมาก ในขณะที่พี่น้องมุสลิม จริงๆ ในทุกบริบทของวัฒนธรรมก็มีคนที่จริงจังทั้งในความเป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นมุสลิม แต่บางคนก็เพียงมีแบรนด์ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ อันนี้ก็ต้องดูอย่างแยกแยะ ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่มากที่จะต้องคลี่คลาย มันใหญ่เพราะว่าเป็นเรื่องเชิงซ้อนมาก

ใน 3 จังหวัดภาคใต้ คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม คนส่วนน้อยเป็นพุทธ คริสต์นี่อาจจะต้องมีส่วนแลกเปลี่ยนด้วยเพราะว่าการกำหนดบทบาทที่ทางของพี่น้องคริสต์ก็ยิ่งลำบากใหญ่ อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของทั้งสอง ในขณะที่ประเทศไทยมีพุทธเป็นส่วนใหญ่ คริสต์เป็นส่วนเล็กอยู่ในทุกๆ ที่ ใต้นี่มุสลิมใหญ่ พุทธส่วนน้อย พอระดับประเทศพุทธเป็นข้างใหญ่ มุสลิมเป็นข้างน้อย คริสต์ก็ยังเป็นส่วนน้อย ซึ่งสภาพนี้เป็นสภาพที่เป็นอยู่ กลับไปที่ภาคใต้ แล้วใครก่อเหตุ แน่นอนผู้ที่มุ่งมั่นอยากแบ่งแยกดินแดนมี ผมสัมผัสกับพี่น้องมุสลิมภาคใต้ คือ เขารู้สึกว่าอยู่เมืองไทยมีความสุขมาก เป็นชาวไทย เป็นมุสลิมเชื้อชาติมลายูแต่เป็นคนไทย ในแต่ละศาสนิกก็มีหลายกลุ่ม กลุ่มที่ตั้งใจทำเรื่องศาสนาอย่างจริงจังมีความสุขมาก เขาทำได้เต็มที่ แต่ปัญหาของเราในวันนี้ เรามองเหมือนกันหมด พอเป็นมุสลิมก็มุสลิมหมด คริสต์ก็คริสต์ทั้งนั้น พุทธก็พุทธทั้งเพ ในเรื่องทั้งหมดผู้ก่อเหตุตอนนี้ก็ชัดเจนว่า มีผู้คิดการณ์ดังกล่าวอยู่จำนวนหนึ่ง คิดแรงมาก และทำรุนแรงขึ้นทุกที อย่างวัดพรหมประสิทธิ์ เขาตั้งใจเลยที่จะทำ

เขาบอกทุกคนเป็นคนดีแล้วทำไมเข้าสู่ระบบอันนี้ ผมเชื่อว่าเพราะระบบอื่นๆ มันไม่เอื้อ ผมว่าไม่แปลก คงเหมือนยุค 2516 -17 -18 ที่คนรุ่นใหม่เขาไม่รู้จะไปไหน ก็ไปเป็นคอมมิวนิสต์กันดีกว่า ยิ่งภาวะที่เขาไม่สามารถเชื่อใจใครได้เลย คือรักษาตัวเองให้ได้ แต่รู้ว่าใครอยู่ใกล้เราที่สุดก็คือผู้ที่ลึกลับที่สุด  ชาวพุทธเองก็ลำบากไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แม้แต่เจ้าหน้าที่ทางการที่เข้ามาอยู่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก 2 – 3 เดือนเปลี่ยนคน พอคนเริ่มคุ้นก็ต้องเปลี่ยนคนมาใหม่อีกแล้ว ทำให้การแก้ไขไปไม่ถึงสาเหตุและอยู่แค่ปรากฏการณ์ ความจริงแล้วรัฐก็เห็นเป็นปัญหา และมีคนที่ตั้งใจและจริงจังอยู่ไม่น้อย แต่ยังไม่มีกำลังพอ คงต้องผ่านความพยายามกันอีกระยะหนึ่ง แต่จะทันกับเหตุการณ์หรือไม่ จะทันกับความอึดอัดอย่างที่สุดของคนที่อยู่ข้างล่างได้หรือไม่ผมยังไม่แน่ใจ แต่จากที่ผมคุยกับกลุ่มคนที่ผมทำงานด้วย เขาก็ยืนยันว่า ใจเขาไม่ไป เรื่องแบ่งแยกดินแดนเขาก็ไม่เอาเหมือนกัน ยังเป็นไทยนี่แหละ ทำอย่างไรล่ะ ช่วยที นี่คือสภาพที่กำลังเกิดขึ้นและลำบากมากทุกกลุ่ม

ทีนี้เรื่องทางออก ยังมีความหวังไหม ความหวังของผมไม่ใช่ความหวังเฉพาะพุทธ ผมเห็นว่าชุมชนมุสลิมน่านับถือ น่าเอาเป็นแบบอย่างและเป็นโอกาสที่เราจะต้องเรียนรู้ เราตั้งโจทย์ที่ไปคุยกับพี่น้อง ตั้งแต่ ปี 2546 ถ้าจะทำให้ชุมชนเป็นสุขจะเอาอย่างไร พี่น้องมุสลิมเขาก็นั่งคุยกัน เขาตอบมาว่า ขอให้พัฒนาตามหลักศีลธรรม ไม่ใช่เอาหลักวัตถุบริโภคนิยม นิยามความหมายของพี่น้องมุสลิมเขาก็ให้เอาหลักศีลธรรมเป็นหลักนำในการพัฒนา และไปให้พ้นเรื่องวัตถุนิยม บริโภคนิยม  ไปสู่จิตวิญญาณ  คำว่าจิตวิญญาณ นี่ต้องให้เครดิตพี่น้องมุสลิม ชุมชนมุสลิมเขาบอกว่า ถ้าจะให้ชุมชนเป็นสุข ต้องพยายามเอาหลักศาสนามาจับในการพัฒนา เศรษฐกิจที่เป็นเชิงเอากำไรสูงสุดต้องเอาหลักศีลธรรมมากำกับว่าแบบไหนห้ามทำ แบบไหนควรทำ เมื่อทำได้กำไรแล้วจะแบ่งปันกันอย่างไร สะกาด (การบริจาค) ก็เลยเข้ามา เขาพยายามคิด การศึกษาเขาบอกว่าทอดธุระโดยส่งไปโรงเรียนตามลำพังไม่ได้ จริงๆ แล้วโลกคริสต์นี่แข็งมากในเรื่องนี้ มีโรงเรียนมาคู่และพัฒนากันมาแต่ไหนแต่ไร คือพยายามสร้างคนที่ไม่ไกลจากศาสนา พุทธเดิมวัดทำ แต่พอรัฐรับมาทำ รัฐเอาไปทำหมด เราก็ยกให้รัฐหมด พระไม่ทำ สุดท้ายพระไม่รู้จะทำอะไร เหลือแต่สวดศพ นี่คือปัญหา

ผมพบว่ามุสลิมแข็งแรงกว่านั้น เขาถือว่าเป็นหน้าที่ของครอบครัว ของผู้ปกครองที่ต้องจัดการศึกษาดูแล และเขาออกแบบการศึกษาอย่างที่ผมตกตะลึง ที่โครงสร้างของเขาแข็งขัน เขาดูแลตั้งแต่เด็กเกิดมา พ่อแม่จะต้องกล่าวคำ “อะซาน” (อะซาน คือ เสียงกู่ร้องที่บ่งบอกความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า) ก่อน ให้หัดอ่านพระคัมภีร์ เขามีโครงสร้าง “กีรออาตี” (หลักสูตรการศึกษาของอิสลาม) ต้องอ่านคัมภีร์ให้ได้ แล้วมี “ตาดีกา” (สถานสอนจริยศึกษา) เรียนวิชาทางโลกเรียนไป แต่ชุมชนเป็นหน้าที่จะต้องตั้งตัวกัน หาผู้รู้ทำหน้าที่สอนตาดีกาให้กับลูกหลานของคุณให้เข้าใจหลักศาสนาตั้งแต่ศาสนประวัติ ศาสนบัญญัติ พอถึงขั้นนั้นวิชาสามัญกับวิชาศีลธรรมมันมาด้วยกันตั้งแต่ต้น และเข้าไปสู่อีกขั้นหนึ่ง ผมพบว่าชุมชนมุสลิมมุ่งมั่นจะปลูกฝังงานด้านศีลธรรมให้กุลบุตรกุลธิดาของเขาอย่างจริงจังหาที่ไหนไม่เจอ ของพี่น้องคริสต์ที่มียังไม่แข็งแรงเท่ามุสลิม พุทธนี่สิ้นสภาพเกือบสิ้นเชิง

แล้วทางออกในภาวะอย่างนี้เป็นอย่างไร ทางออกในความเห็นของผม ผมไปพบบรรยายของท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านพูดมานานแล้วว่าโลกวิปริต  ท่านเสนอไว้ 3 เรื่อง ก็คือ

1. เราต้องไปให้พ้นจากอำนาจวัตถุนิยม หรือบริโภคนิยม มองชีวิตให้ครบ ทั้งมิติจิตวิญญาณศีลธรรม

2. ทุกศาสนาจะต้องพาศาสนิกของตนไปให้ถึงหัวใจของศาสนาแห่งตนให้ได้ แค่นั้นพอ

3. ความเข้าใจระหว่างศาสนาไม่เกิดไม่ได้ เพราะเราร่วมทุกข์ด้วยกัน ต้องมาช่วยกันเรื่องศีลธรรมร่วมกัน แต่เรื่องความต่างก็รักษาไว้ก็ทำไป มีปัญหามากของมนุษย์เราเวลาเจอกัน เราจะมานั่งเปรียบเทียบว่าต่างกันด้วยเรื่องอะไร และก็มาติดอยู่ที่ความต่าง แต่ท่านบอกว่า เราควรจะมานั่งดูว่าเราร่วมกันเรื่องอะไร และทำเรื่องร่วมกัน เรื่องที่ต่างก็ต่างคนแยกกันไปทำ

ท่านพุทธทาสเสนอ 2 ขั้น

1. ระดับบุคคล ปัจเจก ท่านเสนอ 7 ข้อ ผมอ่านแล้วคิดว่านี่เป็นคำตอบ เรื่องของใช้หัวใจศาสนาให้ถูกต้องทันควัน ท่านใช้คำว่าให้เหมือนกับเห็นและมี หรืออยู่กับพระเจ้าของแต่ละศาสนานั้น คือมีปัญหาอะไรเราก็ถามพระเจ้า คือยกหลักธรรมคำสอนของพระเจ้า ถ้าทุกคนอยู่อย่างนั้นได้ เห็นศาสนาเป็นของอร่อย เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดให้เติบโตทางวิญญาณ [1.การใช้หัวใจของศาสนากันอย่างถูกต้องทันควัน ; เห็นและมีหรืออยู่กับพระเจ้า 2.การเห็นศาสนาเป็นของอร่อย ของจำเป็น มีค่าสูงสุด ; ปัจจัยที่ 5 ทำคนเป็นคน 3.ความเป็นเด็กโตวันโตคืนทางวิญญาณ ; มีภูมิชีวิตสมกับเกิดมาชาติหนึ่ง 4.การยอมรับสภาพ ตามที่เกิดอยู่ ; ตามพระเจ้าเรียกร้อง 5.การยอมรับเพื่อนที่อยู่ร่วมโลกอันวิปริตด้วยกัน ; เมตตาสามัคคีในฐานะเพื่อนมนุษย์ 6.การอยู่ในโลกอย่างไม่ยึดมั่นโลก ; ไม่เป็นทาสโลก ไม่พ่ายแพ้แก่โลก เห็นโลกโดยประการอื่น 7.การบังคับจิตได้ ไม่เป็นทาสของอายตนะ ; ทั้งทั่วๆ ไปอย่างสุภาพบุรุษและอย่างสูงสุด ]

2. แต่ถ้าร่วมกัน ท่านเสนอ 8 ข้อ และท่านอธิบายแบบเป็นสากล ท่านบอกว่าต้องให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาให้ได้ เข้าใจศาสนาของตนให้ถูกต้อง สำหรับพุทธท่านบอกว่า ให้เอาพวกขี้ริ้วออกไป เอาของปน ของปลอม ออกไป รักษาหัวใจไว้ให้ได้ ตามที่หลักศาสนาว่าไว้เรื่องหลักศรัทธา [1.ความเข้าใจกันดี ระหว่าง เอกชนกับเอกชน, สังคมที่ถืออุดมคติต่างกัน, ศาสนาที่กำลังไม่เข้าใจกัน, ประเทศที่มุ่งแข่งขันแก่งแย่งกัน, วิทยาการที่หลับตาเดินกันคนละทาง (ศาสนากับวิทยาศาสตร์ – การพัฒนากับศีลธรรม) 2.การเข้าใจศาสนาของตนอย่างถูกต้อง มีการศึกษาทุกระดับชั้นอย่างถูกต้อง, แยกของปนออก การเผยแผ่ที่สำเร็จประโยชน์ 3.ศรัทธา ยังไม่มีการใช้อย่างถูกต้อง เชื่ออย่างมีใครมาคอยช่วย, เชื่ออย่างมีอะไรรับประกัน, เชื่อขนาดข่มความรู้สึกอื่นๆ ได้, เชื่อด้วยอำนาจปัญญาเพื่อระดมกำลังการปฏิบัตินั้นๆ ให้ถึงที่สุด 4.ต้องให้สัมมาทิฎฐิครองโลก อย่างพระเจ้าครองโลก ครองคน ครองใจ ครองสติปัญญา ไม่หลงสารพัด 5.ช่วยกันทำศาสนาให้เป็นไปตามเดิม หมดพังผืด เนื้องอก ส่วนเกินที่ต้องคัดออก 6.อย่าจมสมุท ตา หูฯ / รูป เสียงฯ 7.ละอบายมุขหก ปิดกั้นทิศหก ยิ่งสวยสดยิ่งงดงาม ยิ่งรั่วไหลยิ่งเหลวแหลก 8.การระดมธรรม การระดมใช้พลังธรรมในหมู่ชนให้ทันควันกับความเข้าใจผิด]

ทั้งหมดนี้ผมมองว่าเป็นทางออก ถ้าเราน้อมนำเรื่องศาสนามาเพื่อพัฒนา เช่น ในภาคใต้จะยังแก้ไม่ได้เพราะกรอบคิดของสังคมใหญ่ รัฐบาลมีธุรกิจ เศรษฐกิจนำ และสังคมทั้งสังคมก็ยังมองเงินเป็นตัวนำ ไม่มีคนให้น้ำหนักเรื่องจิตเท่าไร ผมเห็นว่ายังไม่ง่ายนัก ทางแก้ของผมคิดว่า ขณะนี้ต้องหนุนให้พี่น้องมุสลิมได้พิสูจน์ตามแนวทางที่เขาอยากจะทำ เอาศีลธรรมเป็นเรื่องนำ แล้วช่วยเขา ผมคิดว่าคำตอบอยู่ที่กลุ่มคน บุคคลที่จะเริ่มต้นและมาช่วยกัน เริ่มที่การศึกษากับคนรุ่นใหม่ คืนบทบาทการจัดการให้ชุมชน และรัฐช่วยสนับสนุน รับรอง ประคับประคอง ช่วยเชื่อมประสาน รวมทั้งปกป้องและคุ้มครอง

ให้ศาสนธรรมนำพัฒนา สร้างสมานฉันท์และสันติสุขสู่สังคม โดยการเข้าถึงหัวใจของศาสนาตน ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม และสร้างความเข้าใจกันระหว่างศาสนิก อย่างนี้แล้วชุมชนย่อมเป็นสุข

บาทหลวง อิกญาซิอุส อิสมาร์โตโน ( Ignatius Ismartono) - พระสงฆ์คณะเยสุอิต ชาวอินโดนีเซีย ผู้ประสานงานในวิกฤติและการคืนดีในพื้นที่ความขัดแย้งของประเทศอินโดนีเซีย

บาทหลวง อิกญาซิอุส อิสมาร์โตโน ( Ignatius Ismartono)คุณพ่ออิสมาร์โตโน ได้ยกตัวอย่างความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความขัดแย้งระหว่างศาสนามาเป็นเวลาช้านานแล้ว ในอินโดนีเซียนั้นประชากรส่วนใหญ่ประมาณ 90 % นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนอีก 10% ที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ ฮินดู และพุทธ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ความรุนแรง กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมักจะทำลายศาสนสถานโดยการเผา วางระเบิด โบสถ์ของชาวคริสต์ และมัสยิดของมุสลิม หลายต่อหลายแห่ง เพื่อหวังทำลายความสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกต่างศาสนาให้มีความเกลียดชัง มีความหวาดกลัวและหวาดระแวงซึ่งกันและกัน

ด้วยเหตุนี้พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศอินโดนีเซีย จึงพยายามที่จะสร้างความเข้าใจอันดีระหว่าง ศาสนิกต่างศาสนาโดยเน้นให้ศาสนิกทุกศาสนาหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของการสื่อสารระหว่างศาสนาและความเชื่อที่แตกต่างกัน เพราะเห็นว่าการสื่อสารระหว่างศาสนาและการยอมรับความเชื่อที่แตกต่างกัน หากทุกฝ่ายตระหนักและรับฟังอย่างจริงจังย่อมเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยใจที่เปิดกว้าง

คุณพ่ออิสมาร์โตโน กล่าวว่า การสื่อสารระหว่างชนต่างศาสนาจะสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศ 4 ลักษณะ คือ การเป็นศัตรูกัน การอดกลั้น การเสวนา และการเป็นพี่น้องกันอย่างแท้จริง ซึ่งการเสวนาระหว่างศาสนิกจะเปลี่ยนจากการเป็นศัตรูมาสู่การเป็นพี่น้องกันได้  คุณพ่อได้ชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงนั้นเกิดจากสาเหตุซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องศาสนาเลย นั่นคือ จากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ และศาสนาก็มีบทบาทสำคัญเมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้น ผู้นำทางศาสนาต่างก็ถูกเชิญให้มาแสดงความเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเรียกร้องให้ศาสนิกของตนแสดงความอดทนและหลีกเลี่ยงที่จะไม่ตอบโต้อย่างเหี้ยมโหด ตลอดจนเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชน บทบาทของผู้นำชุมชนและผู้นำศาสนาในการเข้าไปเยี่ยมพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้งและใช้ความรุนแรงจะช่วยบรรเทาสถานการณ์อันตึงเครียดได้ แม้ว่าการเยี่ยมเยียนจะเป็นเพียงสัญลักษณ์ก็ตาม แต่ก็สามารถช่วยให้ผู้ที่มีความขัดแย้งกันเริ่มหาทางประสานรอยร้าวได้

บรรยากาศของความอดกลั้น เพราะความอดกลั้นคือพื้นฐานของสังคมที่เจริญแล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงและความรู้ที่คนๆ นั้นมีเกี่ยวกับศาสนาอื่นๆ บทบาทของผู้นำศาสนาจะต้องให้การสนับสนุน ศึกษาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง แต่ลำพังความอดกลั้นเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอเพราะความอดกลั้นไม่สามารถทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างกัน จึงจำเป็นต้องมีการเสวนา เพื่อสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน การให้แนวคิดเรื่องความหลากหลายเป็นสิ่งสำคัญ ศาสนิกแต่ละศาสนาควรเลิกคิดและรู้สึกว่าศาสนาที่ตนนับถือดีกว่าศาสนาอื่น แต่ควรเข้าใจว่าศาสนาต่างๆ ล้วนมีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกัน แต่ทุกศาสนาต่างก็มีสิ่งที่ละม้ายคล้ายกันอยู่ ผู้นำชุมชนและผู้นำศาสนามีบทบาททำให้ศาสนิกได้แลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจ ทำความเข้าใจเรื่องคุณธรรมต่างๆ อย่างละเอียด และพัฒนาการเคารพซึ่งกันและกัน ดังเห็นได้จากการที่รัฐบาลอินโดนีเซีย โดยกระทรวงศาสนา ได้เชิญผู้นำศาสนามาริเริ่มการเสวนาระหว่างกันโดยมีจุดมุ่งหมายสร้างความปรองดองต่อกันระหว่างผู้นับถือศาสนาเดียวกัน ผู้นับถือศาสนาต่างกัน และระหว่างศาสนาต่างๆ กับรัฐบาล

ร่วมจุดเทียนเพื่อสันติภาพสร้างบรรยากาศแห่งการเป็นพี่น้องกันอย่างแท้จริง มิตรภาพและความร่วมมือกันจะเกิดเมื่อ  ศาสนิกต่างศาสนาต่างก็เอาใจใส่ในการแลกเปลี่ยนความคิดและแรงบันดาลใจซึ่งกัน ดังนี้แล้วความสมานฉันท์จะแสดงออกผ่านการทำงานร่วมกันเพื่อคุณงามความดีที่เป็นสากล

“ทุกศาสนาต่างตระหนักมากยิ่งขึ้นแล้วว่าในความเป็นจริงเราอาศัยอยู่ในโลกที่มีความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งนี่คือความท้าทายใหม่สำหรับทุกคนที่จะเข้าใจว่าความแตกต่างมีความหมายว่าอย่างไร ในอดีตความแตกต่างถูกเข้าใจเพียงว่า จะทำอย่างไรจึงสามารถกำจัดผู้ที่แตกต่างออกไป แต่ในปัจจุบันความแตกต่างสะท้อนออกมาในแนวความคิดเรื่องความหลากหลาย การมีอยู่ของความต่างถูกมองจากสายตาแห่งการร่วมไม้ร่วมมือกัน จากการสรรหาวิธีการเสริมสร้างกันและกันให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อาศัยความเคารพในกันและกันเพื่อบรรลุพันธกิจร่วมกัน สำหรับอินโดนีเซียนั้น ข้อสรุปหนึ่งที่ได้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องความหลากหลายคือ ก่อนที่การร่วมมือกันจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการยอมรับเรื่องความหลากหลายที่มีอยู่ร่วมกันเสียก่อน การร่วมมือกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชนที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน การร่วมมือกันจะช่วยให้พวกเขาสามารถปั้นแต่งโลกให้เป็นสถานที่ซึ่งมนุษย์ผู้เป็นที่รักของพระเป็นเจ้าจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี”  บทสรุปจากคุณพ่ออิกญาซิอุส  อิสมาร์โตโน

ฝ่ายเผยแพร่เพื่อการมีส่วนร่วม : เรียบเรียง
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >