หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow ธรรมะสนทนา - สัมมาอาชีวะ "เราต้องกล้าสบตาตัวเองในกระจก"
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 110 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

ธรรมะสนทนา - สัมมาอาชีวะ "เราต้องกล้าสบตาตัวเองในกระจก" พิมพ์
Wednesday, 08 July 2009

ธรรมะสนทนา - สัมมาอาชีวะ
"เราต้องกล้าสบตาตัวเองในกระจก"

Interview ฉบับที่ 22

บายไลน์ - Text : พรเทพ เฮง / สันติสุข กาญจนประกร
Photo : อนุช ยนตมุติ

เนื้อเรื่อง
วิศวกร หมอ

Imageเมื่อยังพึงใจใช้ความคิดทางโลก ไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์ หนุ่มน้อยเชื้อสายจีนจากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ใฝ่ฝันที่จะดุ่มเดิมอยู่บนเส้นทางเหล่านั้นในนามมืออาชีพ

เดาไม่ยาก วิศวกรเป็นตัวเลือกแรกๆ ของคนหนุ่มในทุกยุคทุกสมัย ส่วนอย่างหลัง เจ้าตัวบอกเองว่า เสน่ห์ของมันอยู่ที่การได้ต่อลมหายใจให้แก่ผู้อื่น

ไพศาลเป็นนักกิจกรรมตัวยง ตอนเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ เขาเป็นสาราณียกรหนังสือปาจารยสาร ขณะเดียวกันก็มีความสนใจในพระพุทธศาสนา ทำงานกับชุมนุมศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณี

ร่วมชุมนุมอย่างสงบกับเพื่อนกลุ่มอหิงสา อดอาหารเพื่อเรียกร้องคณะสงฆ์ให้ทบทวนบทบาทในการพิจารณาประเด็นสามเณรถนอม ก่อนเกิดเหตุนองเลือด 6 ตุลา 19 ในวันรุ่งขึ้น ถูกจับในขณะที่ตำรวจและฝ่ายขวาบุกเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลังเรียนจบ กลับมาทำงานในกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี 16 ตัดสินใจบ่ายหน้าเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์ในปี 26 เนื่องจากไม่อาจหาความสุขทางใจได้จากชีวิตฆราวาส และอยู่ในผ้าเหลืองนับแต่นั้นเป็นต้นมา

พระไพศาล วิสาโล ได้ชื่อว่าเป็นพระนักกิจกรรมหัวก้าวหน้า เชื่อมโยงพุทธศาสนากับสังคม เป็นนักคิด นักวิชาการ และยังมีงานเขียนออกมาอย่างสม่ำเสมอ นอกเหนือจากการรับเชิญไปแสดงธรรมเทศนาในที่ต่างๆ

พูดได้ว่าท่านพิสูจน์ตัวเองจากการงานมาโดยตลอด

"พระไม่ควรเป็นอาชีพ แต่มันควรเป็นวิถีชีวิต เป็นปณิธาน มันคือสิ่งที่คุณบำเพ็ญเพื่อทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม" คือบางถ้อยคำที่ท่านกล่าวกับเราระหว่างการสนทนา ในงานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ ซึ่งท่านได้รับเชิญไปปาถกถาธรรม

เช่นเดียวกับ หมอ ครู และนักการเมือง ที่ท่านบอกว่าไม่ควรมองเป็นแค่การทำมาหากิน

เพราะชีวิตคนไม่ใช่ผักปลา ที่จะอนุญาตให้ใครมาทำอะไรชุ่ยๆ เพื่อแลกกับเงินเลี้ยงปากท้อง

แล้วคนขายหมู ช่างซ่อมแว่นตา พนักงานห้าง นักเขียน นักร้อง นักแสดง ผู้จัดการธนาคาร กระทั่งคนกวาดถนนล่ะ มาตรฐานของอาชีพอยู่ที่ตรงไหน อุทิศตนให้ส่วนรวมได้บ้างไหม

แค่คำว่าสุจริตอย่างเดียวเพียงพอหรือยัง

เรากราบนมัสการขอสัมภาษณ์หลวงพี่ไพศาลด้วยเรื่องราวเหล่านี้ อย่างน้อยๆ ก็ถือเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยในวาระที่เพิ่งผ่านพ้นปีใหม่มาได้ไม่นาน

อีกทั้งไหนๆ ก็มีข่าวไม่ค่อยลื่นหูเรื่องที่จะมีคนต้องก้มหน้าวิจัยฝุ่นกันเป็นทิวแถวจากพิษเศรษฐกิจ

แด่ทั้งผู้ที่ขาเก้าอี้ยังแข็งแรงและเริ่มร้อน

เรามาร่วมเจริญสติไปพร้อมๆ กัน


การที่เราต้องใช้สอยเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตหมดไปกับเรื่อง หน้าที่การงาน นอกจากเรื่องพื้นฐานอย่างการตอบสนองในแง่ปากท้อง ความอยู่รอด กระทั่งหน้าตาทางสังคม ในทางพุทธศาสนา มีคำอธิบายอะไรอื่นอีกไหม ที่ทำให้คนเราต้องประกอบอาชีพ

มนุษย์ไม่ได้มีชีวิตเพื่อการอยู่รอดเพียงอย่างเดียว เรามีทั้งร่างกายและจิตใจ จริงอยู่ การประกอบอาชีพอาจตอบสนองในแง่ปัจจัยพื้นฐาน ทั้งการอยู่รอด อาหาร รวมถึงเอื้อให้เรามีความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต เเต่ชีวิตคนควรมีมิติอื่นที่มากกว่านั้น เราสามารถพัฒนาไปในทิศทางที่สูงขึ้นได้จากการทำงาน ซึ่งในทางพุทธศาสนาแบ่งการพัฒนาออกเป็นสี่อย่าง พัฒนากาย นั่นคือกายภาวนา พัฒนาศีล ศีลภาวนา ได้แก่ความสัมพันธ์กับผู้คนหรือการประพฤติปฏิบัติ อันที่สามคือจิตภาวนา สุดท้ายคือปัญญาภาวนา ซึ่งไปพ้นจากแค่ตอบสนองเรื่องปัจจัยสี่

เหมือนอย่างที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ในเรื่องสัมมาอาชีวะ นั่นคือ คนเราควรประกอบอาชีพที่เหมาะที่ควร มีประโยชน์ ไม่เบียดเบียนใคร ถ้าทำได้เช่นนั้น อย่างน้อยเราได้ถึงสองต่อ ทั้งตอบสนองเรื่องปัจจัยสี่ และยังพัฒนาเรื่องของธรรมะ เรื่องของศีล เราอยู่โดยไม่เบียดเบียนใคร นั่นเป็นบุญ เกิดประโยชน์ทางสังคม ส่วนรวมมีความผาสุก เพราะถ้าเรามีอาชีพที่เป็นมิจฉา เป็นโจร เป็นขโมย กระทั่งการค้าขายที่เรียกว่าเป็นมิจฉา ขายเหล้า ขายยาเสพติด ขายอาวุธ ขายคน ย่อมก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ถามว่าแค่นี้พอไหม สัมมาอาชีวะยังสามารถทำให้เราพัฒนาจิตได้ด้วย เช่น ถ้าเราทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วทำให้เราลด ละ ความเห็นแก่ตัว ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น มีน้ำใจกับเพื่อนร่วมงาน ถึงแม้คุณเหนื่อย ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ได้รับการยกย่อง แต่เราก็ยังทำ เพราะมันเป็นสิ่งที่ดี ผลประโยชน์ไม่ได้เกิดขึ้นจากงานที่ทำ ซึ่งมันเป็นการลดละอะไรบางอย่าง ตรงนี้เรียกว่าเป็นจิตภาวนา

ถ้าคุณทำงานอย่างมีสติ การทำงานก็คือการปฏิบัติธรรม เป็นการเจริญสติได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานที่ใช้แรงกายหรือแรงสมอง มันพัฒนาจิตได้ทั้งนั้น พัฒนาให้มีเมตตา กรุณา มีสมาธิ ลด ละความเห็นแก่ตัว ส่วนการพัฒนาปัญญาก็คือ เราใช้การทำงานเป็นโอกาสในการเข้าใจชีวิต เรื่องของการงาน มีทั้งความสำเร็จ ความล้มเหลว ทั้งลาภยศ สรรเสริญ และการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ เราจะเข้าใจว่าโลกมันเป็นอย่างนี้เอง ต้องปล่อยวางให้ได้ ไม่ยึดติด ถือมั่น นี่เรียกว่าพัฒนาปัญญา หรือปัญญาภาวนา


โลกยุคปัจจุบันที่นับวันดูจะซับซ้อนขึ้น การงานที่หลายคนบอกว่าสุจริต อาจมีบางมิติที่เหลื่อมซ้อนอยู่ พูดให้ฟังดูมองโลกในแง่ร้าย อาชีพบางอย่าง บวกลบแล้วส่งผลต่อสังคมในทางลบมากกว่าทางบวก ดังนั้น แค่ประกอบอาชีพสุจริตเพียงพอหรือไม่

สุจริตในทางกฎหมายกับทางธรรมอาจไม่เหมือนกัน ถามว่าการขายเหล้าเป็นอาชีพสุจริตไหม ใช่ แต่ในทางธรรมเป็นมิจฉาอาชีวะ ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้อะไรมานิยามคำว่าสุจริต เช่นกัน ถ้าเราทำอาชีพที่สุจริตในทางธรรม อย่างน้อย มันไม่เกิดโทษกับสังคม ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ถ้าเราทำได้ดีด้วย มันยิ่งมีส่วนเกื้อหนุนทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าในชุมชน ประทศ คนขี่ซาเล้งเก็บของเก่าก็มีประโยชน์ กรรมกรก็มีประโยชน์ต่อสังคม ไม่ว่าอาชีพใด ถ้าสุจริตในทางธรรม มีประโยชน์ต่อสังคมทั้งนั้น


บนเส้นทางอาชีพ เพื่อให้ดูเป็นคนฉลาด สังคมมักอนุญาตให้คนเราซิกแซกเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งบางครั้งอาจผิดกฎหมายเลยด้วยซ้ำ อย่างการยัดเงินใต้โต๊ะ จริงๆ ในทางพุทธสามารถทำได้ไหม หรือว่าเราควรตรงไปตรงมา

ซิกแซกถ้าอยู่ในบริบทของความไม่ถูกต้อง คงไม่ถูกแน่ แต่ถ้าหมายถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการผลิต อย่างงานโฆษณา เราคิดให้แปลก นอกกรอบ อย่างนี้อาตมาคิดว่าเป็นเรื่องดี แต่ถึงที่สุดเเล้ว เราต้องหันกลับมาถามตัวเองว่า คนเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ถ้าเราชัด ว่ามันไมใช่แค่อยู่เพื่อกิน เพื่อเงินทอง ซึ่งตายก็เอาไปไม่ได้ ตรงข้าม ถ้าเราต้องการมีชีวิตที่มีคุณค่า มองกระจกแล้วภูมิใจในตัวเองว่าไม่ได้ทำอะไรผิดพลาด ไม่ได้ทำอะไรที่มันเลวร้าย ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ คำถามต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เราจะตอบได้เองว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควร

คนเราควรทำในสิ่งที่รัก ที่ชอบ มันต้องเลือกว่าถ้าได้ทำตามความฝัน ในสิ่งที่เราชอบ แต่ค่าตอบแทนต่ำ กับสิ่งที่ไม่ชอบ เเต่ได้เงินมาก คุณจะทำอะไร สำหรับคนที่รักในความเป็นตัวเอง คงต้องเลือกอย่างแรก ยอมมีรายได้น้อย ยอมรับในผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ เราต้องชัดเจนว่าต้องการอะไร


แต่ในสถานการณ์ปกติ เราก็แทบทะเลาะเบาะแว้งกันเรื่องแย่งเก้าอี้ ยิ่งช่วงเศรษฐกิจทรุดแบบนี้ หลายคนหมดทางเลือก ต้องทนฝืนทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ ตกเย็นต้องบ่นเพ้อฟูมฟาย อย่างนี้เราควรตอบตัวเองอย่างไร

มีคำกล่าวว่า หากคุณไม่สามารถทำในสิ่งที่ตังเองรักได้ คุณก็ควรเรียนรู้ที่จะรักในสิ่งที่ทำ งานที่เราไม่ชอบ เพราะมันไม่ตรงกับความคาดหวังของเรา ซึ่งคนส่วนใหญ่เสียเวลาไปกับการบ่น การตีโพยตีพาย เราบ่นเรื่องเจ้านาย เรื่องเงินเดือน บ่นเรื่องเนื้องาน แต่ที่จริง ถ้าเราลองวางมันลง ลองปรับใจเสียใหม่ว่า ไม่ว่าจะเป็นงานประเภทไหน ให้ทำอย่างเต็มที่ ด้วยความตั้งใจ การทำงานจะมีความสุขมากกว่าเดิม ส่วนใหญ่ที่เราบ่น เพราะเรามีมาตรฐานบางอย่าง แล้วมันไม่เป็นไปตามนั้น จริงๆ เราควรเอาใจใส่กับงานที่ทำอยู่เฉพาะหน้า อาตมาพูดอย่างนี้ก็เพราะว่า เวลาเราทำงานที่เราไม่ถนัด ยกตัวอย่างการขนหิน ต้องตากแดด แดดร้อน แต่ถ้าเราเลิกบ่น งานทุกอย่างมันก็ไม่ใช่เรื่องยาก

เมื่อเราตัดสินใจทำสิ่งใดแล้ว อย่างแรกเลย เราต้องทำมันอย่างมีความสุข แน่นอน เมื่อเทียบกับงานที่เราชอบ นั่นคงทำให้เรามีความสุขมากกว่า แต่มันมีประโยชน์อะไรที่จะมานั่งบ่น เราควรบ่นให้น้อยลง แล้วยอมรับความเป็นจริงให้มากขึ้น ยอมรับกับยอมจำนนไม่เหมือนกัน อย่างรถติด ถ้าเราไม่ยอมรับความจริง เราปฏิเสธ เราพยายามต่อต้าน มันก็จะไม่มีความสุขเลย ถ้าเราเริ่มจากการเปิดใจยอมรับความจริง เราไปบ่นอะไรมันได้ สู้เปิดเพลงฟัง เอาหนังสือมาอ่าน ไม่ดีกว่าหรือ แต่นั่นไม่ได้หมายถึงว่า ติดก็ปล่อยมันไปโดยไม่หาทางแก้ไข อย่างน้อยๆ วันหน้า เราก็ควรวางแผนว่าจะใช้เส้นทางไหนที่รถไม่ติด

อาตมาย้ำนะว่า ยอมรับไม่เหมือนยอมจำนน ยอมรับคือเข้าใจความเป็นจริงว่ามันคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ปัญหาคือเรามักไม่ยอมรับความจริง เราปฏิเสธ เราผลักไส ที่พูดไม่ใช่หมายความแค่เรื่องงาน เรื่องอื่นๆ ในชีวิตด้วย ทั้งเรื่องรูปร่าง หน้าตา


เมื่อไม่มีความศรัทธาในเนื้องาน จะทำให้เราซื่อสัตย์กับมันน้อยลงไหม ไม่รัก ไม่ชอบ ก็ไม่สนว่าจะผลิตอะไรออกมา

ความซื่อสัตย์ไม่ได้เกิดจากความศรัทธาเพียงอย่างเดียว อยู่ที่เราใส่ใจกับมันมากน้อยแค่ไหน จริงอยู่ เราอาจไม่ศรัทธา แต่ถ้าเราเลือกทำมันแล้ว เราควรทำให้ดี ในพื้นฐานของความสุจริต ทั้งโดยกฎหมายและทางธรรม พูดง่ายๆ ว่า เราควรรักในสิ่งที่ทำให้ได้ นี่หมายถึงว่าเราได้ตัดสินใจว่าจะทำแล้ว แต่ถ้ามีทางเลือกมากกว่า อาตมาเห็นด้วยว่าควรไปทำในสิ่งที่รัก แต่ประสบการณ์ของอาตมา เมื่อได้สัมผัสกับมันจริงๆ ความชังก็เปลี่ยนเป็นความชอบได้ ความรักมันสร้างกันได้


อย่างนั้นเราควรคำนึงถึงผลผลิตจากงานที่ทำมากน้อยแค่ไหน หลวงพี่เน้นย้ำว่างานที่ทำควรให้ประโยชน์แก่สังคม ซึ่งงานบางอย่างอาจผลิตสิ่งไร้สาระ เช่น การทำเสียงริงโทนโทรศัพท์ ผู้หลักผู้ใหญ่ก็บอกว่ามันทำให้วัยรุ่นใช้จ่ายสิ้นเปลือง

ถ้าเราเลือกได้ เราควรเลือกทำในสิ่งที่เราชอบ ถูกต้อง เป็นธรรม เป็นสัมมาชีพ เเต่เราต้องยอมรับความจริงว่า ชีวิตคนไม่สามารถทำทุกอย่างตามต้องการได้ นี่คือกติกาของชีวิต มันไม่มีอะไรเป็นที่พอใจของเราไปเสียทั้งหมด ได้อย่าง เสียอย่าง ได้การงานที่มั่นคง มันก็อาจเป็นอาชีพที่เราไม่ชอบ ได้อาชีพที่ชอบ การเงินอาจไม่มั่นคงก็ได้

ส่วนที่ถามเรื่องการผลิตริงโทน อาตมาไม่ได้ปฏิเสธนะ จริงอยู่ มันอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นของชีวิต แต่มันก็เป็นอาชีพที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งอาจนำไปสู่การต่อยอดในสิ่งที่มีประโยชน์ มีสาระมาขึ้นก็ได้ เหมือนเราไม่ชอบนิยายน้ำเน่า ซึ่งนักเขียนใหญ่หลายคนก็เติบโตมากับนิยายพวกนี้ สายลม แสงแดด เราต้องยอมให้มันมีแบบนี้บ้าง อย่างน้อยๆ เพื่อเป็นบันไดให้คนบางคนก้าวไปสู่สิ่งที่สร้างสรรค์กว่า ริงโทน มองในแง่หนึ่งมันฟุ่มเฟือย ในอีกแง่ อนาคตเขาอาจสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมจากประสบการณ์ที่ทำอยู่ใน ขณะนั้นๆ


พูดกันในนามของความสำเร็จ เรามักมองไปที่ตัวเงินหรือผลตอบแทนเป็นหลัก เงินดี หมายถึงอาชีพที่ดี เห็นได้ชัดจากการไปนั่งจ้องหน้าจอในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งไม่ต้องลงแรงอะไรมากมาย เราควรอธิบายเรื่องราวแบบนี้อย่างไร

มันผิดพลาดมาตั้งแต่เราให้คุณค่าทางสมองและแรงกายไม่เท่ากัน คนที่ทำงานโดยใช้สมองอยู่ในออฟฟิศ ก็จะได้เงินเดือนมากกว่า ส่วนกรรมกรหรือคนกวาดถนน ได้ค่าตอบแทนต่างกันลิบลับ อาตมายอมรับว่ามันควรมีความแตกต่างกันได้ ระหว่างการใช้แรงงานกับการใช้สมอง แต่มันไม่ควรแตกต่างกันมาก เป็นร้อยเท่า สิบเท่าอย่างนี้ ถ้าในหลักสังคมนิยมนี่ต้องเท่ากันเลย ในหลักความเป็นจริงมันทำไม่ได้ การใช้แรงงานสมองมีต้นทุนหลายอย่าง เราจึงต้องจ่ายผลตอบแทนให้เหมาะสมกับต้นทุนนั้นๆ ซึ่งในทางธรรมะมันไม่ต่างกัน
เลยนะ ไม่ว่าสมองหรือเเรงงาน ดังนั้น ในทางโลกมันต่างกันได้ แต่ไม่ควรทิ้งระยะห่างมากเกินไป

สังคมที่ดี คือสังคมที่มีเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย ควรเปิดโอกาสให้คนได้เข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม และสิ่งที่จะช่วยให้เราเคลื่อนย้ายสถานะทางสังคมคือการศึกษา ดังนั้น คนเราควรเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยาก เเต่ควรพยายาม


แล้วการทำงานโดยคำนึงถึงผลตอบแทนมากจนเกินไป ถือเป็นความโลภไหม เพราะหลักการสำคัญของพุทธศาสนา สอนให้เราอย่าโลภ

การไม่โลภเป็นสิ่งที่ดี แต่เราต้องตั้งคำถามด้วยว่า เราทำงานเพื่ออะไร อะไรคือคุณค่าสูงสุดของงาน ถ้าคำตอบคือการทำได้ประโยชน์ให้เเก่เพื่อนมนุษย์ แล้วเราปรารถนาที่จะทำอย่างเต็มที่ ให้ความเป็นตัวตนได้แสดงออกมาอย่างงดงาม ทรงพลัง ถ้าใครคิดได้อย่างนี้ เงินคงไม่ใช่เรื่องใหญ่แล้ว

แน่นอน เมื่อเราเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน เราก็ควรคำนึงถึงผลตอบแทนด้วย ในทางพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ แค่มันควรมีความสำคัญรองลงมา เหนืออื่นใด เราได้ใช้งานนั้นๆ ให้เกิดประโยชน์ในทางธรรมะมากน้อยแค่ไหน เราเรียกร้องความเป็นธรรมได้ ทำไมค่าแรงเราน้อย เราเรียกร้องเพื่อคนอื่นด้วย แต่ถ้ามันไม่เป็นไปตามนั้น เราต้องไม่ทุกข์ ง่ายๆ เป็นหลักการทั่วไป เราพยายามไปให้ถึงจุดหมายได้ แต่ถ้ามันไม่ถึง เราก็ไม่ทุกข์ ความล้มเหลวเป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตัวเรา


กลับกัน ในโลกตะวันออกซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศเกษตรกรรม ชาวไร่ชาวนาที่ควรมีสถานะทางสังคมมาเป็นอันดับต้นๆ ในฐานะผู้ผลิตข้าวปลาอาหารอันจำเป็นต่อการดำรงชีพ นับวันดูเหมือนยิ่งต้อยต่ำลง

ถ้าตอบอย่างง่ายๆ คนเป็นเกษตรกรมันเยอะ ตามหลักเศรษฐศาสตร์ในระบบทุนนิยม อะไรที่มันเยอะ ของมันก็จะราคาถูก สังคมอย่างประเทศโลกที่สาม เกษตรกรมีรายได้ต่ำ กรรมกรมีรายได้ต่ำ แต่ถ้าคุณไปดูประทศญี่ปุ่น พลเมืองที่เป็นชาวนามีเเค่สามเปอร์เซ็นต์ ความเป็นอยู่ของเขาถึงดีไม่น้อยหน้าอาชีพอื่น เพียงแต่ว่าอาจน่าเบื่อ เพราะคนญี่ปุ่นเองก็ไม่อยากเป็นชาวนากันแล้ว มันเกี่ยวโยงกับสิ่งที่คุณผลิตด้วย อย่างข้าว ถ้ามันมีเยอะ ราคามันก็ถูก

อีกส่วนมันขึ้นอยู่กับนโยบายการพัฒนาประเทศด้วย ว่าเราจะเดินไปในทิศทางไหน ถ้าเราต้องการเป็นประเทศอุตสาหกรรม เราก็จะให้คุณค่ากับภาคเกษตรกรรมน้อย อาชีพเกษตรกรจึงต้องต้อยต่ำ สังคมไม่ส่งเสริม แต่ถ้าประเทศมีนโยบายในการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เราก็จะต้องรักษาความสามารถในการผลิตพืชผลทางการเกษตรไว้ให้ได้ ไม่ว่าที่ดินมันจะราคาแพงแค่ไหน เราต้องอนุรักษ์ชนชั้นชาวนาไว้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ชาวนา ชาวไร่ คงลืมตาอ้าปากได้ อย่างญี่ปุ่นเขาบอกเลยว่า ไม่ว่าข้าวจากต่างประเทศราคาถูกแค่ไหน รัฐบาลจะหาทางสกัดกั้น เห็นไหม อาหารคือความมั่นคงของชาติอย่างหนึ่ง


หลวงพี่มองอย่างไรกับอาชีพนักการเมืองและนักแสดงที่ทำรายได้มหาศาล

ถ้ามองเป็นอาชีพมันก็ตัน เพราะนั้นหมายถึงแค่การทำมาหากิน นักการเมืองไม่ควรเป็นอาชีพ เราควรมองว่ามันเป็นเรื่องของปณิธาน ที่คนเป็นนักการเมืองต้องทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม เหมือนถามว่า อาชีพพระกับอาชีพนักเขียน อย่างไหนดีกว่ากัน แค่ถามก็ผิดแล้ว เพราะพระไม่ควรเป็นอาชีพ แต่มันควรเป็นวิถีชีวิต เป็นปณิธาน มันคือสิ่งที่คุณบำเพ็ญเพื่อทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ตรงนี้คุณใช้กับศิลปินหรือนักแสดงก็ได้ ศิลปินไม่ควรเป็นอาชีพ ศิลปินควรมีแรงบันดาลใจบางอย่างเพื่อมอบให้แก่โลก


ทิศทางการแบ่งอาชีพก็ไม่ถูกต้องนัก?

อาตมาไม่ได้รังเกียจอาชีพในความหมายของการทำเพื่อเป็นอาชีพ แต่บางอาชีพไม่ควรมองไปในทิศทางนั้นอย่างเดียว พระ หมอ ครู นักการเมือง ถ้ามองแค่เป็นอาชีพ มันจะกลายเป็นเรื่องต่ำต้อยทันที


พระ หมอ ครู นักการเมือง ไม่ควรเป็นอาชีพ แต่ควรเป็นวิถี จริงๆ แล้วมันต้องเป็นอย่างนั้นทั้งหมดเลยไหม เพราะบางคน แยกตัวตนออกจากงานที่ทำ จันทร์ถึงศุกร์ประกอบอาชีพโดยแฝงการเบียดเบียนผู้อื่น พอเสาร์อาทิตย์กลับเข้าวัดทำบุญ

นักการเมือง พระ หมอ ครู เป็นวัตรปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับส่วนรวม อย่างที่บอก อาตมาไม่ได้ปฏิเสธการทำงานเป็นอาชีพ แต่การที่เราทำอะไรสักอย่างเป็นอาชีพ ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำอะไรกับมันก็ได้ ในทุกอาชีพมีจรรยาบรรณของมัน ถ้าหากเข้าใจในคุณค่าของงาน เข้าใจคำว่าสัมมาชีพ มันก็เป็นการพัฒนาตน ถ้าใจคุณพัฒนาแล้ว คุณจะไปโกง ไปเอารัดเอาเปรียบคนทำไม เพราะมันสวนทางกัน คนที่เอารัดเอาเปรียบคนจากจันทร์ถึงศุกร์ แล้วเสาร์อาทิตย์เข้าวัดทำบุญ แสดงว่าเขาไม่เข้าใจธรรมะ เข้าวัดก็เพียงเพื่อหวังว่าจะได้เงินเยอะๆ จากการทำบุญ นั่นถือว่าสิ่งที่เขาทำก็ไม่ได้ขัดแย้งในตัวตน จันทร์ถึงศุกร์หาเงิน เสาร์อาทิตย์มาลงทุนกับศาสนา หวังผลตอบแทน


หรือทำบุญเพื่อลบล้างความผิดบาปบางอย่างในใจ?

อาจใช่ แต่ปัจจุบันมีน้อย เราทำผิดทำชั่วได้โดยไม่รู้สึกอะไรแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้คนเราไม่เชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป


หลวงพี่พูดเหมือนว่าพุทธศาสนาไม่ได้เข้าไปอยู่ในใจคนเลย ทั้งๆ ที่เราพร่ำบอกกันว่าเราเป็นชาวพุทธ

ศาสนาที่มีอิทธิพลที่สุดคือศาสนาบริโภคนิยม มันทรงพลังยิ่งกว่าศาสนาพุทธ คนที่บอกว่าตัวเองเป็นชาวพุทธ เอากันจริงๆ แล้ว นับถือศาสนาบริโภคนิยมทั้งนั้น


ทุกอาชีพควรคำนึงถึงสังคมหรือไม่

ทุกอาชีพต้องมีจรรณยาบรรณ คือศีลในการควบคุม ไม่ให้ไปสร้างความเดือดร้อนแก่สังคม ในสมัยก่อน สังคมเรามีศีลธรรม มีจริยธรรมนำหน้า ส่วนรายได้ ผลตอบแทน ตามมาทีหลัง คุณเป็นหมอ แทบจะไม่ได้ร่ำรวยอะไรเลย แต่ปัจจุบัน ศาสนาหรือศีลธรรมถูกลดทอนความสำคัญลง ผันไปสู่ความคิดในการกอบโกยให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพไหน อย่างนี้มันต้องไปแก้ที่ตัวโครงสร้างของสังคม ว่าเราจะเน้นไปในทิศทางไหน ถ้าเราเลือกทุนนิยมที่นับถือเงินเป็นใหญ่ อาชีพต่างๆ มันก็ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย


บางศาสนามีบทบัญญัติชัดเจน เข้มข้น ในการนำมาใช้ดำเนินชีวิต ตรงนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีหรือไม่ ที่ศาสนาสามารถเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนได้อย่างแท้จริง

พุทธศาสนาไม่มีกฎระเบียบที่คร่ำเคร่ง ชัดเจน ตายตัว เราเน้นใช้ปัญญาในการพิจารณา เพราะเส้นแบ่งระหว่างความดีกับความชั่วมันระบุยาก ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยด้วย คนที่ขโมยของ บางครั้งเขาอาจไม่ได้เป็นคนเลว ที่ทำไปด้วยเหตุจำเป็น จริงๆ ศีลก็คือข้อกำหนดที่เป็นข้อปฏิบัติ ในทางพุทธมีคำสอนเรื่องความเมตตา กรุณา รวมทั้งการไม่เอาเปรียบ เบียดเบียนใคร เรามีคำสอนอยู่แล้ว เพียงแต่คนในสังคมไม่เอามาประพฤติปฏิบัติหรือมาตีความให้เป็นกฎระเบียบของ สังคม นี่คือจุดอ่อนของพุทธศาสนา


ช่วงนี้มีข่าวว่าคนจะตกงานกันเยอะ ทำให้หลายคนคิดว่าต้องทำทุกอย่างเพื่อให้อยู่รอด จริงๆ เราควรบริหารความรู้สึกตรงนี้อย่างไร

ต้องเข้าใจก่อนว่า การตกงานไม่ได้หมายถึงว่าชีวิตนี้คุณล่มสลาย ต้องหาที่วางใจให้เป็น ความหวังยังไม่หมดสิ้น คุณต้องหาข้อดีของการตกงานให้ได้ อาตมาว่าดีเหมือนกัน เราจะได้กลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่ เพราะคนต่างจังหวัด เวลามาทำงานในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับพ่อแม่เลย อาตมาคิดว่า การตกงานอาจเป็นโอกาสให้เราค้นพบอะไรบางอย่าง ได้ทำในสิ่งที่ชอบ เป็นของเราจริงๆ หลายคนพบทางออกของตัวเอง แค่ต้องปรับใจ ปรับตัว ในเรื่องการใช้ชีวิต การบริโภค การจับจ่ายใช้สอย จริงๆ ก่อนตกงาน เราควรวางแผนชีวิตไว้ก่อน ว่าควรอดออมไว้แค่ไหน บางคนตอนที่มีหน้าที่การงาน ไม่เคยคิด เพราะนึกว่างานจะมั่นคง เราต้องวางแผน อนาคตมันไม่แน่นอน


เมื่อสักครู่หลวงพี่พูดถึงประเทศญี่ปุ่น ทำไมประเทศที่เจริญด้านเทคโนโลยี ผู้คนมีอาชีพการงาน สวัสดิการที่มั่นคง ถึงได้มีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงมาก

เพราะคนเราไม่ได้ต้องการแค่ปัจจัยสี่ เเต่ต้องการความลุ่มลึกด้านจิตใจ อย่างที่อาตมาบอกตั้งแต่ต้น แม้อาชีพมั่นคง แต่ถ้ามันไม่ได้ส่งเสริมหรือตอบสนองความต้องการด้านจิตใจ ไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องชีวิต ไม่เกิดการพัฒนา ไม่เข้าใจว่าเป้าหมายของชีวิตคืออะไร มีเงินเยอะ แต่คุณก็ว่างเปล่า หาเงินหาของมาได้เท่าไหร่ คุณก็ยังว่างเปล่า ยิ่งแก่ตัว ยิ่งว้าเหว่ ไม่มีเพื่อน ป่วยไข้ไม่มีใครดูแล ก็ต้องจบลงที่การฆ่าตัวตาย เรียกว่ายากไร้ในการมีชีวิต ตรงนี้คือปัญหาของประเทศที่เน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจมาก ได้อย่าง เสียอย่าง คุณได้วัตถุ แต่เสียด้านจิตใจ คุณว่างเปล่า


หลวงพี่คิดว่าอาชีพไหนที่สังคมไทยยังขาดแคลนหรือขาดความเข้มแข็ง

อาชีพครูมีปัญหามากที่สุด ต่ำต้อย ขาดความสามารถ ขาดสติปัญญา ล้มละลายทางด้านธรรมะ ไม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีได้ คุณไม่ได้คิดอยากมาเป็นครูหรอก
หรอก


เพราะมันจำเป็น?

ถึงได้สอนแบบอยู่ไปวันๆ จริงๆ พระเองก็มีปัญหา แต่จำนวนน้อย แค่ประมาณสามเเสน ซึ่งครูมีเป็นล้าน สังคมไหนถ้าครูหมดสภาพ ไม่มีทางเจริญ เยาวชนไร้คุณภาพเพราะครู


เป็นเพราะอาชีพครูรายได้น้อยหรือเปล่า

ระบบทั้งระบบมันล้มเหลว


คล้ายกับวงการแพทย์ไหม ที่ช่วงหลังๆ มีการฟ้องร้องกันบ่อย

มองในภาพรวมยังดีกว่าวงการครู ทั้งนี้ มันขึ้นอยู่กับการศึกษา ระบบการศึกษาแพทย์เองก็มีปัญหา อีกส่วนหนึ่งคือระบบสุขภาพในเมืองไทย ที่ไปสร้างภาระให้แก่หมอมากจนเกินไป ใครป่วยก็ต้องเข้าโรงพยาบาล หมองานเยอะ ก็เครียด ทำงานผิดพลาด เลยกลายเป็นทะเลาะกับคนไข้ ทัศนคติของหมอก็เปลี่ยนไป ไม่ได้มองคนไข้เป็นเพื่อนทุกข์ แต่มองเป็นผู้ใช้บริการ เป็นลูกค้า ที่มีการฟ้องร้องกัน ความผิดพลาดของหมอเป็นส่วนหนึ่ง เเต่ว่าหมอไปมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ทำพลาดก็ไม่ขอโทษ มีหลายกรณีที่หมอผิดพลาด แต่คนไข้ก็ไม่ฟ้อง เพราะเห็นใจ ที่ฟ้องเเพราะแค้น เลยอยากเอาชนะ


นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป อุดมคติในเรื่องอาชีพไม่มีแล้ว?

ไม่หายหมดหรอก แต่มันลดทอนลง ค่านิยมบริโภคมันครอบงำ ทุกอย่างกลายเป็นการทำมาหากิน เงินเดือนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด


คนที่มีเส้นทางชีวิตแขวนไว้กับอุดมคติ อย่าง สืบ นาคะเสถียร หรือ ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ คนรุ่นใหม่ควรเรียนรู้อะไรจากท่านเหล่านั้น

อย่างน้อยก็เรียนรู้จากประวัติของท่าน เเต่อย่าเรียนรู้เเค่ความสำเร็จ ต้องรู้ว่าท่านได้ทำอะไรมาบ้าง ชีวิตผ่านอะไรมา ส่วนใหญ่เราชอบเด็ดยอด ไม่สนใจว่ากว่าจะมาถึงจุดนั้นๆ มันลำบากแค่ไหน เสียสละแค่ไหน ผ่านช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานมาแค่ไหน ปัญหาคือตอนนี้คนไทยขาดแบบอย่างที่ดี


ควรใช้ชีวิตแบบมีอุดมคติให้เข้มข้นอย่างนั้นเลยไหม เรียกว่าเดินตามแนวทาง

เราต้องถามตัวเองว่าเราเป็นใคร ถ้าเรารู้จักตัวเอง เส้นทางชีวิตก็จะสอดคล้องกับความเป็นตัวเรา อย่าไปลอกเลียนใคร เราต้องแสวงหาบทบาทและเส้นทางชีวิตที่เป็นตัวเราให้มากทีสุด ทั้งนี้ อย่าไปเน้นตัวเองมาก จนลืมเรียนรู้จากผู้อื่นหรือไม่รับฟังคำชี้แนะจากผู้อื่น


ที่มา http://www.budnet.org/

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >