หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow รายงาน: 10 ก้าวหน้า 10 ถดถอย: สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 486 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

รายงาน: 10 ก้าวหน้า 10 ถดถอย: สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย พิมพ์
Monday, 17 December 2007

Imageรายงาน: 10 ก้าวหน้า 10 ถดถอย: สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย  

เมื่อเวลา 10.30 น. วานนี้ (10 ธ.ค.) ที่มูลนิธิ 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว โดย นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน นายศราวุฒิ ประทุมราช คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และนายเมธา มาสขาว คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมแถลงรายงาน 10 ก้าวหน้า และ 10 ถดถอย มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ดังนี้

-----------------------------------------------

10 ก้าวหน้า 

1. สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม

เนื่องจากการที่ เจ้าหน้าที่ทหารได้ประกาศใช้ แผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2550 โดยมีการระดมกำลังเพื่อกวาดจับประชาชนที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนหลายร้อยคน ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารสามารถทำการจับกุมประชาชนทุกคนได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายจับและหมายค้น และมีอำนาจควบคุมตัวเพื่อซักถามได้เป็นเวลา 7 วันตามกฎอัยการศึก และควมคุมอีก 30 วัน ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 37 วัน 

ภายหลังการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยภายในกำหนดระยะเวลาของกฎหมายพิเศษทั้งสองฉบับแล้ว ปรากฎว่า บุคคลผู้ถูกควบคุมตัวดังกล่าวกลับมิได้รับการปล่อยตัว หรือมิได้ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากแต่แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กลับจัดให้มีโครงการ ฝึกอบรมอาชีพและปรับทัศนคติ เป็นระยะเวลา 4 เดือน ณ ค่ายรัตนรังสรรค์ จังหวัดระนอง ค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ ค่ายเขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร 

ในวันที่ 5 ตุลาคม 2550 ญาติของผู้ถูกควบคุมตัวได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดชุมพร ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี และศาลจังหวัดระนอง ขอให้ดำเนินการไต่สวนว่าโครงการฝึกอบรมอาชีพและปรับทัศนคติ เป็นเวลา 4 เดือน เป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (มาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) หากมีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว 

ปรากฏว่าในวันที่ 30 ตุลาคม 2550 ศาลได้มีคำวินิจฉัยว่ากรณีไม่ถือว่าเป็นการคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ต่อมาผู้เข้ารับการฝึกอบรมแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับการฝึกอบรมอีกต่อไป ข้อตกลงหรือความยินยอมสมัครใจรับการฝึกอบรมที่ได้ให้ไว้ย่อมสิ้นสุดลง ดังนั้น การฝึกอบรมโดยบุคคลผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่ยินยอมหรือไม่สมัครใจ ย่อมไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 32 วรรค 5 

ศาลมีคำสั่งให้ผู้บังคับการจังหวัดทหารบก (จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดชุมพร)ระงับการฝึกอบรมตามโครงการฝึกอบรมอาชีพและปรับทัศนคติ ในศูนย์ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 เฉพาะบุคคลผู้มีชื่อตามคำร้องของผู้ร้องที่ถูกควบคุมอยู่ที่ค่ายรัตนรังสรรค์ จังหวัดระนอง จำนวน 6 ราย ค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 28 ราย และ ค่ายเขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร จำนวน 47 ราย  


2. ศาลยกฟ้องคดีต้านท่อก๊าซไทย
มาเลเซีย 

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 ศาลจังหวัดสงขลา มีการอ่านคำพิพากษาคดีสลายการชุมนุมบริเวณปากทางเข้าโรงแรมเจบี หาดใหญ่ เมื่อวันที่ 20 ธ..2545 เมื่อครั้งที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครั้งที่ 5) และการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรีไทยกับคณะรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยมีพนักงานอัยการจังหวัดสงขลาเป็นโจทย์ ชาวบ้านเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทยมาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 12 คน เป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย, พกพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร, ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธ และร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป, ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์, มั่วสุมกันกระทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธโดยผู้กระทำความผิด เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้ที่มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น, ไม่เลิกมั่วสุมตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ 

ศาลได้พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสิบสอง โดยศาลเห็นว่า โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย มาเลเซีย เป็นโครงการขนาดใหญ่ทางด้านพลังงานที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ชุมชนท้องถิ่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กำหนดให้ประชาชน ชุมชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องร่วมรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ร่วมเสนอความเห็น ร่วมวางแผน ร่วมกระบวนการพิจารณา และเข้าร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามที่กฎหมายบัญญัติ ประชาชนหรือจำเลย ย่อมมีสิทธิในการนำเสนอความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าวต่อรัฐบาลไทย 

รัฐบาลย่อมตระหนักถึงบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงได้มีการจัดให้มีการประชาพิจารณ์ โดยอาศัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พุทธศักราช 2539 ขึ้น 2 ครั้ง แต่มีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยร่วมชุมนุมแสดงพลังมวลชนคัดค้านโครงการดังกล่าว หลังจากนั้นปรากฏว่า รัฐบาลยังคงดำเนินการตามโครงการต่อไป ประชาชน ย่อมมีสิทธิร่วมชุมนุมกันแสดงพลังมวลชนคัดค้านโครงการดังกล่าวภายในขอบเขตแห่งกฎหมายเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินโครงการนี้ได้ 

การแสดงพลังมวลชน เพื่อเข้ายื่นหนังสือคัดค้านโครงการฯ ต่อนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยตามขั้นตอนที่ตกลงกันไว้ จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญของประชาชนหมู่มาก ทั้งชายหญิงและคนชรา และเป็นธรรมดาที่กลุ่มคัดค้านต้องตระเตรียมวางแผนการ จัดเตรียมเครื่องแต่งกาย เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องอำนวยความสะดวก เครื่องขยายเสียง และสัญลักษณ์ประจำกลุ่มผู้คัดค้าน ให้เป็นไปในลักษณะเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน ส่อแสดงให้เห็นเป็นแนวทางว่า กลุ่มผู้คัดค้านมีเจตนาและวัตถุประสงค์ร่วมกัน ประกอบกับเพื่อประโยชน์ และความสะดวกแก่การควบคุมดูแลกันและกัน สามารถแยกแยะออกจากกลุ่มพลังมวลชนอื่นๆ ได้ง่าย 

การที่กลุ่มผู้คัดค้านร่วมชุมนุมกัน เพื่อแสดงพลังมวลชนดังกล่าว จึงเป็นการร่วมชุมนุมกันโดยชอบ และก่อนเกิดเหตุการณ์ผลักดันและสลายการชุมนุม ผู้ชุมนุมไม่มีทีท่าว่าจะขับรถยนต์ฝ่าแผงเหล็กกั้น ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจให้การ และการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจให้การว่า มีสายลับรายงานข่าวว่า ผู้ชุมนุมจะยึดโรงแรมเจบี หาดใหญ่ และขัดขวางการประชุมคณะรัฐมนตรี เป็นเพียงรายงานข่าวที่เลื่อนลอย พฤติกรรมบ่งชัดว่ากลุ่มคัดค้านฯ มีเจตนาแสดงพลังเรียกร้องให้ทบทวนโครงการฯ หาได้มีการวางแผนตามที่กล่าวอ้าง 


3. การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
 

กฎหมายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งมีผลบังคับใช้นับแต่27 กันยายน 2550 มีเจตนารมณ์ เพื่อกำหนดแนวทางและปรับปรุงวิธีการในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองคนพิการเพื่อมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุสภาพทางกายหรือสุขภาพ รวมทั้งให้คนพิการมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ตลอดจนให้รัฐต้องสงเคราะห์คนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 

1.การรับรองสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ จากการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ การศึกษา การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ การยอมรับและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง การช่วยเหลือให้เข้าถึงนโยบาย แผนงาน โครงการ กิจกรรม การพัฒนาและบริการอันเป็นสาธารณะ ข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและเทคโนโลยี บริการล่ามภาษามือ เป็นต้น

2.การมีผู้แทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติจำนวนเจ็ดคน เพื่อทำหน้าที่บริหารให้เป็นตามกฎหมายนี้ 

3.การมีกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อเป็นทุนสำหรับการใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ การส่งเสริมและการดำเนินงานด้านการสงเคราะห์ช่วยเหลือคนพิการ การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ การศึกษาและการประกอบอาชีพของคนพิการ รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ โดยจัดสรรให้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง 


4. การตรวจสอบการฆ่าตัดตอน
 

สืบเนื่องจากการกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติของรัฐบาลทีแล้ว จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 2500 คน โดยอ้างว่าเป็นการฆ่าตัดตอนกันเองของผู้ค้ายาเสพติด ซึ่งเป็นที่ครางแครงใจว่า เป็นการใบอนุญาตให้ฆ่า มีการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบนโยบายนี้อย่างจริงจังต่อเนื่องจากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ จนกระทั่ง เมื่อวันที่14 สิงหาคม 2550 คณะรัฐมนตรีรับทราบ การแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์ การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิด ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) ประกอบด้วยนายคณิต ณ นคร เป็นประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ นายกิตติ ลิ้มชัยกิจ พลตำรวจโทวันชัย ศรีนวลนัด นายอุดม รัฐอมฤต และนายอุทัย อาทิเวช โดยมีนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ เป็นกรรมการและเลขานุการ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ นายวสันต์ สิงคเสลิต ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมและผู้อำนวยการกองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ช่วยเลขานุการ โดยคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 

1. ตรวจสอบ สอบสวน ศึกษาและวิเคราะห์เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงทั้งปวงเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายของประชาชน รวมตลอดถึงบุคคลที่ต้องรับผิดชอบในการกระทำการดังกล่าว 

2. กำหนดมาตรการแก้ไข เยียวยา ผู้ได้รับความเสียหายจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษ 

3. ศึกษา วิเคราะห์ และเสนอแนะการกำหนดมาตรการและนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน 

4. เรียกเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งบุคคลมาชี้แจง ให้ถ้อยคำและส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการดำเนินงานของคณะกรรมการ 

5. ให้ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐให้ความร่วมมือด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ 

6. จัดให้มีการประชุม สัมมนา เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากประชาชนและเผยแพร่ผลการดำเนินงานต่อสาธารณะ 

7. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อมอบหมายให้ดำเนินการใด ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด 

8. ดำเนินการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย 

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคตน.พบว่าการเสียชีวิต 2,500 ศพในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2546 พบว่า 1,400 ศพ เป็นการเสียชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และมีเพียง 1,100 ศพเท่านั้นที่ผู้ตายมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยการเสียชีวิตเกิดขึ้นมากในช่วงแรก และค่อยๆลดลงในเดือนต่อๆมา เนื่องจากในช่วงแรกที่มีการประกาศนโยบายขาดความชัดเจน จึงทำให้มีการสื่อความหมายในทางที่ผิด เริ่มต้นตั้งแต่การสำรวจผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดระดับชุมชนและหมู่บ้านจนไปถึงการลดเป้า ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติคิดว่าทำอะไรก็ได้ เพื่อให้ได้ผลตามข้อสั่งการ คือลดเป้านักค้ายาเสพติดให้ได้ตามกำหนด  


5. การใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิต่อยาของประเทศไทย
 

กระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์มงคล ณ สงขลา รมว.กระทรวงสาธารณสุขได้มีการประกาศใช้สิทธิ (Compulsory Licensing) ตามสิทธิบัตรด้านยาและเวชภัณฑ์ต่อยาต้านไวรัสเอชไอวี 2 ชนิด และยาป้องกันความรุนแรงของโรคเส้นเลือดอุดตันในหัวใจ และในสมอง 1 ชนิด เพื่อการส่งเสริมให้ประชาชนได้รับยาจำเป็นที่มีคุณภาพดีอย่างทั่วถึง ตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและเป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เนื่องจากเป็นที่ยอมรับกันตามหลักมนุษยธรรมว่า ยาเป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่อชีวิต สิทธิในการเข้าถึงยาจึงเป็น สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เป็นสิทธิที่ต้องมีอยู่เหนือกว่าผลประโยชน์ทางการค้าใดๆ 


6. การคุ้มครองสิทธิสตรี
 

การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพานิช (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2550 เพื่อการคุ้มครองสิทธิของเพศหญิงให้มีความเท่าเทียมกับเพศชายในทางกฎหมาย ดังนี้ 

1. การแก้ไขกฎหมายให้สิทธิของเพศชาย หรือหญิงคู่หมั้น ในการเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตน ซึ่งแต่เดิมนั้นให้สิทธิเฉพาะชายคู่หมั้นเท่านั้น มีสิทธิในการเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นที่ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตน แต่ผู้หญิงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตน ซึ่งเป็นกฎหมายที่เลือกประฏิบัติ 

2. การแก้ไขกฎหมายเรื่องเหตูฟ้องหย่า ซึ่งเดิมนั้นกำหนดว่า สามีอุปการะเลี้ยงดูเหมือนยกย่องเหมือนหญิงอื่นกับภริยาหรือภริยามีชู้ ทำให้เหตุในการฟ้องหย่านั้นเพศชายกับเพศหญิงต่างกัน เพศชายสามารถฟ้องหย่าเพศหญิงได้ในกรณีภริยามีชู้ แต่ภริยาจะฟ้องหย่าสามีได้ เหตุฟ้องหย่านั้นสามีต้องมีพฤติกรรมอุปการะ เลี้ยงดู ยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา ซึ่งไม่เท่าเทียมกันได้มีการแก้ไขเป็น สามี หรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกยองผูอื่นฉันภริยาหรือสามี เปนชูหรือมีชูหรือรวมประเวณีกับผูอื่นเปนอาจิณ อีกฝายหนึ่งฟองหย่าได้


7. การคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว
 

กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกระทำความรุนแรงในครอบครัว มีผลบังคับใช้แล้วในปัจจุบัน โดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองเด็ก เยาวชน คู่สมรส คู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินฉันสามีภริยามิได้จดทะเบียนสมรส บุตร บุตรบุญธรรม สมาชิกในครอบครัว รวมทั้งบุคคลใดๆที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกันจากการกระทำใดๆที่มุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลดังกล่าว หรือบังคับ หรือใช้อำนาจครอบงำผิดครองธรรมให้ต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบแต่ไม่รวมถึงการกระทำโดยประมาท ด้วยการกำหนดรูปแบบ วิธีการ และขั้นตอนที่ให้ผู้กระทำความผิดมีโอกาสกลับตัวและยับยั้งการกระทำผิดซ้ำ รวมทั้งการรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวไว้ได้ 


8. การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี
 

วันที่ 7 สิงหาคม 2550 คณะรัฐมนตรีมีมติ อนุมัติเห็นชอบเรื่องการพิจารณาเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ทำคำแถลงตีความในการเข้าเป็นภาคีในข้อบทที่ 1 ข้อบทที่ 4 และ ข้อบทที่ 5 และจัดทำข้อสงวนในข้อบทที่ 30 ของอนุสัญญา ซึ่งนายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ยื่นภาคยานุวัติสารของอนุสัญญามอบให้เลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 

การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯดังกล่าว ทำให้รัฐบาลมีพันธกรณีในการจัดทำรายงาน ความก้าวหน้าของการปฏิบัติตามอนุสัญญา ต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบในการจัดทำรายงานประเทศตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญา 

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรียังอนุมัติให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์เพื่อต่อต้านการทรมาน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 

การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี นี้จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของไทยในการส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนให้เด่นชัดยิ่งขึ้น รวมทั้งสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ไทยได้ให้การรับรอง

อนึ่ง ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว 5 ฉบับ ประกอบด้วย

1) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

2) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

3) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

4) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และ

5) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

อนึ่ง อนุสัญญาต่อต้านการทรมานดังกล่าวถือเป็นอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 6 ที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี 


9. การขยายสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ขยายสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายอยู่ในระบบบัตรทอง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2551 จะคุ้มครองเรื่องการผ่าตัดปลูกถ่ายไตในกรณีที่สามารถหาไตบริจาคได้ และจะขยายการทดแทนไตด้วยวิธีผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง หรือ CAPD ทั้งผู้ป่วยรายเก่าและผู้ป่วยรายใหม่ เพื่อป้องกันภาระล้มละลายของผู้ป่วยและครอบครัวจากค่ารักษาพยาบาลไตวายที่สูงมากและเพื่อความเสมอภาคเป็นธรรมในสังคม

ทั้งนี้ จะเริ่มให้บริการในจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน ซึ่งมีอยู่แล้วประมาณ 20 จังหวัด และจะขยายให้ครบทุกจังหวัดภายในหนึ่งปี และจะเริ่มปีงบประมาณ 2552 


10 . การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ มีสาระสำคัญคือ

1.กำหนดการกระทำในลักษณะต่างๆ เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากบุคคลที่ไม่ได้จำกัดแต่เด็กและผู้หญิง การนำบุคคลเข้ามาค้าประเวณีในหรือส่งไปค้านอกราชอาณาจักร การบังคับแรงงาน หรือขอทาน บังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า มีความผิดฐานค้ามนุษย์ และครอบคลุมเรื่องการ 'ตกเขียว' ที่ให้เงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นแก่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลบุคคลนั้นเพื่อให้ยินยอมแก่ผู้แสวงหาประโยชน์

2. กำหนดโทษที่ค่อนข้างรุนแรงคือจำคุกตั้งแต่ 4-12 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000-200,000 บาท หากเป็นการกระทำต่อบุคคลอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6-12 ปี และปรับตั้งแต่ 120,000- 200,000 บาท กรณีที่อายุไม่เกิน 15 ปี มีโทษจำคุกตั้งแต่ 8-15 ปี และปรับตั้งแต่ 160,000 - 300,000 บาท หากเป็น ส.ส. สว. นักการเมืองท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พนักงานหน่วยงานของรัฐ กรรมการ พนักงานรัฐวิสาหกิจกระทำผิดให้มีโทษเป็นสองเท่า ส่วนผู้ที่อยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบปรามการค้ามนุษย์มีโทษเป็น 3 เท่า

3.กำหนดการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายด้วยการกำหนดโทษผู้ที่เผยแพร่ภาพ หรือเสียงผ่านสื่อใดๆ ให้รู้ถึงชื่อ สกุล ประวัติ ที่อยู่ ที่ทำงาน สถานศึกษา ของเหยื่อโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ยกเว้นผู้เสียหายยินยอมเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหายเอง ทั้งนี้ กฎหมายมีผลบังคับใช้หลังประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน 

-----------------------------------------------


10 ถดถอย

1. ร่างกฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร

ร่างกฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร เป็นร่างกฎหมายที่รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติเร่งผลักดันให้ออกให้ได้ แม้ว่าจะมีการคัดค้านจากวงการต่างๆในสังคมอย่างกว้างขวาง จึงทำให้เชื่อได้ว่าเป็น การรัฐประหารเงียบ เนื่องจากสาระสำคัญของร่างกฎหมาย เป็นการขยายอำนาจให้ทหารควบคุมรัฐและสังคม โดยปราศจากการตรวจสอบจากสถาบันตุลาการ อันเป็นภัยคุกคามต่อหลักสิทธิเสรีภาพ หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม ดังนี้

ประการแรก เป็นการให้อำนาจทหารในนามกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร(กอ.รมน.)ให้มีอำนาจกว้างขวางไม่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง และเป็นการใช้อำนาจในยามปกติโดยไม่จำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกพื้นที่ โดยการให้กอ.รมน.เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยั้บยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

ประการที่สอง เป็นการถ่ายโอนอำนาจให้ทหารมีอำนาจเหนือหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน โดยการ ให้กอ.รมน.ระดับชาติ ระดับภาค และระดับจังหวัด ใช้อำนาจแทนหน่วยงานของรัฐ ทั้งการเป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ หรือหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานมอบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบให้ รวมทั้งมีอำนาจจัดตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยสามารถกำหนดโครงสร้าง อัตรากำลัง การบริหารจัดการ อำนาจหน้าที่ และการกำกับติดตามได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ประการที่สาม เป็นการให้กอ.รมน.มีอำนาจออกข้อหนดที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น การห้ามใช้เส้นทางคมนาคม การห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ เป็นต้น หากประชาชนฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว ต้องมีความผิดอาญามีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ประการที่สี่ เป็นการให้ กอ.รมน.ใช้อำนาจบริหารที่ไม่ต้องตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการ โดยการออกข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามกฎหมายนี้ที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง ถือเป็นการขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารจะต้องถูกตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการ และเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม

ประการที่ห้า เป็นการให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะมีบทบัญญัติยกเว้นความผิดของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่ต้องรับผิดทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางวินัย ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายนี้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการลุแก่อำนาจและทำให้คนทำผิดลอยนวลดังเป็นที่ประจักษ์อยู่ทั่วไปในขณะนี้   


2. การละเมิดสิทธิชุมชน

การละเมิดสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นระบบคือ

1.การละเมิดสิทธิการจัดการป่าชุมชน สภานิติบัญญัติได้พิจารณาอนุมัติร่างกฎหมายป่าชุมชน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 โดยได้กำหนดเงื่อนไขกีดกันและยกเลิกสิทธิชุมชนในการจัดการป่าชุมชน เพราะไม่ยอมให้ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่มีการดูแลจัดการป่าอย่างมีประสิทธิภาพมาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่อยู่นอกเขตอนุรักษ์จะต้องเสียสิทธิในการจัดการป่าชุมชนจากกฎหมายฉบับนี้มากกว่า 1,000 ชุมชน หรือการที่ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์และอยู่มาก่อนการประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ แต่จัดการป่าชุมชนมาไม่ถึง 10 ปี ก่อนกฎหมายนี้ใช้บังคับ ก็ไม่มีแม้เพียงสิทธิการขอจัดการป่าชุมชน รวมทั้งการให้เจ้าที่ของรัฐมีอำนาจประกาศกันพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ของราชการเสียก่อนที่จะให้ชุมชนมีสิทธิจัดการป่าชุมชน ตลอดจนการไม่ให้ชุมชนที่ได้สิทธิจัดการป่าชุมชนแล้วใช้สอยไม้เพื่อประโยชน์ในครัวเรือนหรือประโยชน์สาธารณะ ทั้งๆที่ มาตรา 66 ของรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จาก ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับ วันที่ 24 สิงหาคม เป็นต้นมา สภานิติบัญญัติที่แต่งตั้งโดยคณะยึดอำนาจการปกครอง นอกจากจะออกกฎหมายเป็นการทำลายสิทธิชุมชนแล้ว หากยังเป็นการล้มเลิกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสิทธิชุมชนอีกด้วย

2.การละเมิดสิทธิการจัดการทรัพยากรน้ำ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณารับหลักการร่างพ...ฯ น้ำ พ.. ... เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550 และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ โดยได้มีความพยายามเร่งรัดการออกกฎหมายฉบับนี้ให้เร็วที่สุด สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ ประการแรก เป็นการถ่ายโอนทรัพยากรน้ำทั้งหมดเป็นของรัฐในทันที ไม่ว่าน้ำในบรรยากาศ น้ำบนผิวดิน น้ำใต้ดิน น้ำในแม่น้ำระหว่างประเทศ น้ำในแหล่งน้ำที่รัฐสร้างขึ้น ประการที่สอง เป็นการรวมอำนาจการจัดการทั้งคณะกรรมการระดับชาติและคณะกรรมการระดับลุ่มน้ำอยู่กับหน่วยงานราชการเป็นโดยแทบไม่มีตัวแทนจากภาคองค์กรผู้ใช้น้ำของเกษตรกรจริง ๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสม ประการที่สาม ทำให้ภาคการเกษตรสูญเสียความสามารถการเข้าถึงและการจัดสรรทรัพยากรน้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยว และกิจการรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ เพราะเกษตรกรต้องเสียค่าใช้น้ำ โดยไม่สามารถถ่ายโอนต้นทุนเหล่านี้ไปยังราคาผลผลิตได้ แต่การใช้น้ำในกิจกรรมประเภทอื่นๆทั้งหมด ผู้ประกอบการสามารถผลักภาระต้นทุนค่าน้ำไปรวมไปในราคาของสินค้าหรือบริการได้ และประการสุดท้าย การทำลายการจัดการน้ำของชุมชนตามจารีตประเพณีที่รับรองไว้ตามมาตรา 66 ของรัฐธรรมนูญ  


3. กอ.รมน.เชียงใหม่สั่งยุติการใช้ภาษาชนเผ่าออกอากาศวิทยุชุมชนภาคเหนือ

เมื่อ 19 ตุลาคม 2550 นายจรัญ ปัญญาวีร์ ปลัดอำเภอ รักษาราชการแทนนายอำเภอฮอดได้แจ้งให้จุดปฏิบัติการการเรียนรู้วิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อนทราบว่า กองทัพภาคที่ 3 เป็นผู้ออกคำสั่งให้วิทยุชุมชนในเขตภาคเหนือห้ามกระจายเสียงภาษาอื่นนอกจากภาษาไทยและภาษาคำเมืองท้องถิ่นเท่านั้น โดยอ้างว่าเพื่อความมั่นคงของประเทศซึ่งอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลม หากต้องการออกอากาศภาษาอื่นต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และต้องมีการแปลเป็นภาษาไทยให้ผู้ฟังทราบอีกครั้งหนึ่ง

นายบุญจันทร์ จันหม้อ หัวหน้าจุดปฏิบัติการการเรียนรู้วิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อนกล่าวว่า การห้ามครั้งนี้ส่งผลต่อความรู้สึกและจิตใจของชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะที่ตั้งของสถานีวิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อนเป็นชุมชนกะเหรี่ยงโผล่ง ชาวบ้านใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสาร โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่เขาเคยฟังภาษากะเหรี่ยงออกอากาศด้วยความภาคภูมิใจ เพลงกะเหรี่ยงยุคเก่าที่กำลังเลือนหายไปก็มีวิทยุชุมชนมาช่วยเผยแพร่ไว้ แต่เมื่อมีมาตรการอย่างนี้ออกมาในอนาคตสิ่งเหล่านี้อาจหายไปได้ และที่สำคัญผังรายการวิทยุชุมชนคนเหนือเขื่อนมีรายการที่ใช้ภาษากะเหรี่ยงแค่ 2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้นเองและเนื้อหารายการก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย ซึ่งกรณีนี้ชาวบ้านเสียใจมาก

คำสั่งของกองทัพภาคที่ 3 ดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนในการอนุรักษ์ หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นตามมาตรา 66 ของรัฐธรรมนูญ และขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยรับรอง ข้อ 27 บุคคลผู้เป็นชนกลุ่มน้อย ทางเผ่าพันธุ์ ศาสนาหรือภาษาจะไม่ถูกปฏิเสธสิทธิที่จะมีวัฒนธรรมของตนเอง หรือนับถือและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของตนเอง หรือใช้ภาษาของตนเองภายในชมชนร่วมกับสมาชิกอื่นๆของชนกลุ่มน้อยด้วยกัน ถือเป็นการทำลายความเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างสำคัญ 


4. ร่างแก้ไขกฎหมายสัญชาติ

เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.....แต่ยังมีสาระสำคัญที่ไม่ยอมรับรองสถานความเป็นบุคคล ดังนี้

1.การไม่ยอมรับสิทธิเด็กที่เกิดในประเทศไทย ตามมาตรา 7 ทวิ วรรค 3 ที่กำหนดให้เด็กแรกเกิด ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องกลายเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย มีโทษทางอาญาตั้งแต่แรกเกิด เพียงเพราะเด็กคนดังกล่าว เกิดจากพ่อหรือแม่ที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย และแม้ว่าพ่อหรือแม่นั้นจะได้รับอนุญาตให้สามารถอยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวในประเทศไทยแล้วก็ตาม ถือเป็นการขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาคีที่ต้องมีพันธต้องปฏิบัติตามข้อ 7 เด็กจะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิด และมีสิทธิที่จะมีชื่อนับแต่เกิด และสิทธิที่จะได้สัญชาติ และเท่าที่จะเป็นไปได้ สิทธิที่จะรู้จักและได้รับการดูแลเลี้ยงดูจากบิดามารดาของตน

2.การไม่ยอมรับหลักความเสมอภาคทางเพศ ตามมาตรา 9 ที่กำหนดแต่เพียงให้หญิงสามารถร้องขอสัญชาติไทยตามสามีได้เท่านั้น ทั้งๆ ที่สิทธิของบุคคลในครอบครัวเดียวกันจะมีสัญชาติเดียวกันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์และการก่อตั้งครอบครัว ไม่ว่าหญิงหรือชายควรมีสิทธิยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยโดยการสมรสได้ทั้งสิ้น

3.การไม่ยอมคืนสัญชาติให้กับกลุ่มไทยพลัดถิ่น ทั้งที่ต้องเสียสัญชาติ เพราะผลจากการเสียดินแดนให้กับประเทศอังกฤษในยุคการล่าอาณานิคม 


5. การลอบสังหารนักต่อสู้เพื่อสิทธิผู้บริโภค

นางรวิวรรณ เสตะรัต หรือนางอภัสนันท์ ธิติโชติ อายุ 53 ปี นักต่อสู้เรียกร้องสิทธิผู้บริโภค กรณีการร้องเรียนและฟ้องร้องผลกระทบจากการทำศัลยกรรม ได้ถูกลอบสังหารเมื่อคืนวันที่ 13 กันยายน 2550 เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการศัลยกรรม จนมีคดีฟ้องร้องกับ นพ.กวีวัธน์ หรือไพศาล เฮงสวัสดิ์ เจ้าของไบโอคลีนิค หรือไพศาลคลีนิค ในข้อหาทำศัลยกรรมจนเสียโฉม รวมทั้งหมด 6 คดี เป็นคดีที่นางรวิวรรณและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ฟ้องร้อง 1 คดี อีก 5 คดีเป็นคดีที่อีกฝ่ายฟ้องกลับนางรวิวรรณ ข้อพิพาทดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง โดยเฉพาะคดีที่ สคบ.ร่วมเป็นโจทย์ยื่นฟ้อง นพ.ไพศาล ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่นางรวิวรรณเรื่องละเมิดจำนวน 12.3 ล้านบาท

จากกรณีดังกล่าว นางรวิวรรณได้ร้องเรียนหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แพทยสภา รวมถึงหน่วยงานอื่น ซึ่งถือได้ว่านางรวิวรรณ เสตะรัต เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งในด้านสิทธิผู้บริโภค และการลอบสังหารนางรวิวรรณ อย่างอุกอาจครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นว่าการสร้างหลักประกันคุ้มครองพลเมืองที่ออกมาต่อสู้และเรียกร้องสิทธิเพื่อความเป็นธรรม เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลและสังคมต้องให้ความสำคัญสำหรับการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย  


6. คำสั่งไม่ให้กลับบ้าน

เนื่องจากมีคำสั่งของแม่ทัพภาคที่ 4 ห้ามบุคคลเข้าไปหรืออยู่อาศัยในเขตท้องที่จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และบางอำเภอจังหวัดสงขลา และในเขตพื้นที่ที่ได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นเวลา 6 เดือน หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จึงทำให้บุคคลจำนวน 384 คนไม่สามารถเดินทางเข้าพื้นที่ที่เป็นภูมิลำเนาของตนเองได้ แม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะพ้นจากการถูกควบคุมตัว 7 วันตามอำนาจกฎอัยการศึก และถูกควบคุมต่ออีก 30 วันตามอำนาจของ พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เมื่อครบกำหนดการควบคุม 37 วันแล้ว จะต้องเข้าโครงการ ฝึกอบรมอาชีพ ต่อไปอีก 4 เดือนตามค่ายทหารและศูนย์ฝึกในที่ต่างๆ เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดระนอง และจังหวัดชุมพร โดยที่พวกเขาเหล่านี้ไม่มีโอกาสได้รับทราบประกาศฉบับนี้มาก่อนแต่ประการใด

อาจกล่าวได้ว่าคำสั่งดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง ที่จะห้ามบุคคลใดไม่ให้เดินทาง ใช้เส้นทางคมนาคม หรือห้ามมิให้เข้าเคหะสถานของตนเอง ซึ่งถือเป็นการผลักดันพลเมืองซึ่งมีสัญชาติไทยถูกต้องตามกฏหมาย ให้เป็นพลเมืองที่ไม่มีสิทธิพลเมืองตามกฏหมาย หรือถูกบังคับให้เป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศของตนเอง (Internally Displaced Persons -IDP) โดยมิชอบและเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 34 เสรีภาพในการเดินทางและเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ และมาตรา 29 ความแสมอภาคและห้ามเลือกปฏิบัติ รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันแล้ว ข้อ 13 บุคคลที่อยู่ในดินแดนของรัฐโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีสิทธิในเสรีภาพในการโยกย้าย และเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ในดินแดนของรัฐนั้น และต่อมาเมื่อมีการคัดค้านจากบุคคลและองค์กรสิทธิมนุษยชน จึงได้มีการยกเลิกคำสั่งดังกล่าว


7. สิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ

ในรอบปี 2550 จังหวัดต่างๆในพื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่ ได้ออกประกาศลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่อง การกำหนดมาตรการเพื่อจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง คือ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 ประกาศของจังหวัด ระยอง วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 ประกาศของจังหวัด ระนอง วันที่ 9 มิถุนายน 2550 ประกาศของจังหวัดพังงา และวันที่ 26 ตุลาคม 2550 ประกาศของจังหวัดสมุทรสาคร

ประกาศดังกล่าว มีเนื้อหาสำคัญคล้ายคลึงกัน ในการเตือนให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและกฎหมายคนเข้าเมืองโดยเคร่งครัด แต่มีอยู่ 4 ข้อ ที่เข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างร้ายแรง ได้แก่ การห้ามแรงงานต่างชาติและผู้ติดตามออกนอกที่พักตั้งแต่ 2 ทุ่มถึง 6 โมงเช้า ห้ามแรงงานต่างชาติ ใช้ โทรศัพท์มือถือ หากจำเป็นให้นายจ้างทำบัญชีรายชื่อคนงานต่างชาติ และหมายเลขโทรศัพท์ส่งให้ฝ่ายปกครองตรวจสอบ ห้ามแรงงานต่างชาติขับขี่จักรยานยนต์ หรือขับรถยนต์ และห้ามแรงงานต่างชาติจัดชุมนุมทำกิจกรรมตามประเพณี โดยอ้างว่ามีแรงงานข้ามชาติสัญชาติ ลาว กัมพูชาและพม่า เข้ามาทำงานในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้มีการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน สังคม เศรษฐกิจ ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงความมั่นคงของประเทศโดยรวม ซึ่งข้อห้ามตามประกาศดังกล่าว เป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อย่างน้อย 4 ประการ คือ

1. ละเมิดสิทธิในการเดินทางและเคลื่อนไหว ในฐานะเป็นมนุษย์ การห้ามแรงงานต่างชาติและผู้ติดตาม ออกนอกที่พัก ตั้งแต่ 2 ทุ่ม ถึง 6 โมงเช้า และ ห้ามแรงงานต่างชาติขับขี่จักรยานยนต์ หรือขับรถยนต์

2. ละเมิดเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกัน คือ การห้ามแรงงานต่างชาติ ใช้ โทรศัพท์มือถือ

3. ละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ สิทธิในการรวมกลุ่ม และ

4. ละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรม การทำกิจกรรมตามประเพณี การปฏิบัติตามความเชื่อ ประเพณีและศาสนาเป็นสิทธิสมบูรณ์ที่ไม่อาจถูกจำกัดหรือเพิกถอนได้ การที่รัฐห้ามไม่ให้มีการปฏิบัติเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของแรงงานข้ามชาติ จึงเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญ และสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ 


8. การจับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสองคน

เจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า 20 นาย ได้บุกจับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในนามแฝงของชายและหญิง ว่า พระยาพิชัย และท่อนจัน ที่บ้านพักในตอนเช้าและบ่ายของวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ด้วยข้อหากระทำความผิดฐานแสดงความคิดเห็นเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงตามมาตรา14 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ภายหลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายเพียงหนึ่งเดือน

ศาลอาญาพิจารณาให้มีการประกันตัวพระยาพิชัย เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2550 และให้ประกันตัว ท่อนจัน เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2550 และนัดมารายงานตัวเพื่อรับฟังคำพิจารณาในวันที่ 12 ตุลาคม 2550 ซึ่งทั้งคู่ได้มารายงานตัวตามนัดหมายแต่อัยการยังไม่ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาล

ในระหว่างการควบคุมตัว พระยาพิชัยไม่ได้รับสิทธิผู้ต้องที่จะติดต่อกับญาติพี่น้อง และญาติพี่น้องก็มิได้รับแจ้งจากทางการเป็นเวลาหลายวัน

แม้ว่าในที่สุดผู้ต้องหาทั้งสองคนจะได้รับการประกันตัวและพนักงานอัยการยังไม่สั่งฟ้อง แต่การใช้อำนาจของเจ้าที่ตำรวจ จะส่งผลกระทบต่อการเซ็นเซอร์ตัวเอง โดยในมาตรา 15 ได้ระบุความผิดที่ปรากฏว่ารวมไปถึงผู้ให้บริการ ทำให้นับจากนี้ไป เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องเซ็นเซอร์แล้ว แต่ผู้ให้บริการทุกระดับจะเป็นผู้เซ็นเซอร์เสียเอง และตามมาตรา 20 ที่ให้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล ซึ่งไม่มีการระบุชัดเจนถึงขั้นตอนการดำเนินการ และการใช้อำนาจดังกล่าว อาจขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองในการตรวจสอบรัฐ อาจจะกลายเป็นการคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐก็ได้ 


9. เสรีภาพในการการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ

จากกรณีที่มีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ เพื่อเรียกร้องให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี ในตอนกลางดึกของคืนวันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม 2550 จนมีการเผชิญหน้าและมีการใช้ความรุนแรงต่อกันระหว่างเจ้าที่ตำรวจและกลุ่มผู้ชุมนุม เนื่องจากมีความพยายามของเจ้าที่ตำรวจที่จะหยุดยั้งไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินขบวนไปหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ จนทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนไม่พอใจการกระทำของเจ้าที่ และมีการใช้กำลังกระทบซึ่งกันและกันจนนำไปสู่การสลายการชุมนุม และมีผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่ายทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าที่ตำรวจจำนวนมาก และมีการจับกุมแกนนำกลุ่มพิราบขาวอีก 6 คน

จนต่อมาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2550 ได้มีการจับกุมแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ(นปก.) จำนวน 9 คน ประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายจักรภพ เพ็ญแข, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.เหวง โตจิราการ, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย, นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ, พ.อ.ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย และนายจรัล ดิษฐาอภิชัยในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และข้อหาสั่งการหรือยั่วยุปลุกระดมให้กลุ่มบุคคลกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงาน แต่ไม่มีการจับกุมเจ้าหน้าที่ที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมแต่อย่างใด

เป็นที่ประจักษ์กันแล้วว่า การใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง เป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และรัฐต้องมีภาระหน้าที่ในการประกันให้ประชาชนสามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวโดยเสมอหน้ากันไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นที่เป็นการคัดค้านหรือสนับสนุนรัฐบาล รวมทั้งความคิดเห็นทางการเมืองอื่นๆ

ดังนั้น การสลายการชุมนุมจนเกิคความรุนแรงขึ้น จะต้องมีการดำเนินการทางกฎหมายกับทั้งสองฝ่ายทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายผู้ชุมนุม เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้พิสูจน์ตัวเองในศาลว่าฝ่ายผู้ชุมนุมได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และเจ้าหน้าที่ได้ทำหน้าที่ประกันสิทธิการชุมนุมเพียงใด แต่กลับมีการดำเนินการทางกฎหมายกับเฉพาะแกนนำการชุมนุม โดยละเลยไม่ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงเป็นการใช้กฎหมายอย่างไม่เสมอหน้า และไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าการใช้เสรีภาพในการชุมนุมครั้งนี้เป็นไปตามหลักสิทธิเสรีภาพ  


10. การถอดถอนนายจรัล ดิษฐาอภิชัยพ้นจากกรรมการสิทธิมนุษยชน

สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ประชุมลับลงมติด้วยคะแนน 156 เสียง ให้ถอดถอนนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ออกจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2550 โดยอ้างเหตุในการยื่นญัตติถอดถอนว่า นายจรัลปฏิบัติหน้าที่โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ และไม่เป็นกลางอันเนื่องมาจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) หน้าบ้านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ จนมีการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและจับกุมแกนนำกลุ่ม นปก.จำนวน 9 คนซึ่งมีนายจรัลรวมอยู่ด้วยในฐานะเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และมีการจับกุมแกนนำกลุ่มพิราบขาวอีก 6 คน ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน

การลงมติถอดถอนนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ออกจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ขัดต่อสิทธิเสรีภาพ และขัดต่อหลักนิติธรรม ดังนี้

ประการแรก การอ้างเหตุผลถอดถอนนายจรัลของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542ว่า เพราะเหตุที่กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชน หรือไม่เป็นกลางเป็นการอ้างที่ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว เพราะโดยแท้จริงแล้ว การคัดค้านการรัฐประหาร เพื่อจรรโลงระบอบประชาธิปไตย เป็นผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชน หาใช่ผลประโยชน์ส่วนตนของนายจรัลแต่ประการใดไม่

ประการที่สอง การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกในการคัดค้านและต่อต้านการรัฐประหารและคณะรัฐประหารที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของพลเมืองทุกคน ซึ่งหากมีการใช้เสรีภาพโดยทุจริต หรือกระทำการอย่างผิดกฎหมายก็ต้องถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย และขณะนี้นายจรัลกำลังถูกดำเนินคดีในข้อหาว่า เป็นผู้นำในการใช้กำลังชุมนุมเกิน 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และอีกหลายข้อหาร่วมกับ กลุ่มนปก.อีก 8 คน นายจรัลต้องไปพิสูจน์ความถูกผิดของตนในศาลว่าตนใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธหรือไม่เพียงใด

ประการสุดท้าย ตามหลักสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรม ต้องถือว่านายจรัลและพวก ยังไม่มีความผิดจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กลับทำหน้าที่ถอดถอนนายจรัล เสมือนหนึ่งทำตัวเป็นผู้พิพากษา โดยที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาแต่อย่างใด

10 ธันวาคม 2550
ณ ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา

 

 


 จาก : ประชาไท   วันที่ : 11/12/2550
Link: http://www.prachatai.com

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >