หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow ทางเลือกของการเลือกตั้งสำหรับชาวบ้าน
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 44 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

ทางเลือกของการเลือกตั้งสำหรับชาวบ้าน พิมพ์
Thursday, 06 December 2007
ทางเลือกของการเลือกตั้งสำหรับชาวบ้าน   
เขียนโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์   
วันอาทิตย์ที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๐
นิธิ เอียวศรีวงศ์
"การเลือกตั้งซึ่งกำลังจะมาถึงจึงไม่ตอบปัญหาอะไรของประชาชนระดับรากหญ้าเลย ไม่ว่าจะเลือกพรรคใด"
  ประมาณ 6-7 ปีมาแล้ว ที่ความเคลื่อนไหวภาคประชาชนไม่คืบหน้าไปไหนเลย

ภายใต้รัฐบาลทักษิณ นายกรัฐมนตรีคิดหรือแสร้งคิดว่า คำตอบของพี่น้องระดับรากหญ้าอาจแก้ได้ด้วยนโยบายของพรรคเท่านั้น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐหรือทุน เป็นปัญหาชั่วคราว ซึ่งนายกฯ มีคำตอบที่เป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่ายเสมอ

คำตอบของนายกฯ มีกำลังบ้านเมืองหรือกำลังอันธพาลสนับสนุนอยู่ด้วย ฉะนั้นบางครั้งชาวบ้านก็ต้องยอมรับคำตัดสินนั้น ทั้งๆ ที่นายกฯ ไม่เคยแสดงเหตุผลได้ว่าเหตุใดจึงตัดสินใจเช่นนั้น แต่เมื่อไรที่ชาวบ้านไม่ยอมรับคำตอบ ก็จะมีกองกำลังของรัฐ เช่นตำรวจไว้ "ลุย" จนชาวบ้านหัวร้างข้างแตกและเสียข้าวเสียของเป็นบทเรียน เรื่องอาจจะขึ้นโรงขึ้นศาล และแม้ฝ่ายชาวบ้านจะชนะคดี แต่คำตอบของนายกฯ ก็ยังเหมือนเดิมทุกอย่าง

ดังเช่นกรณีชาวบ้านจะนะกับการวางท่อก๊าซที่สงขลาเป็นต้น

การรัฐประหารเป็นเรื่องของการแย่งอำนาจกันในระหว่างกลุ่มชนชั้นนำ โดยได้รับความสนับสนุนจากคนชั้นกลาง ฉะนั้นการรัฐประหารจึงไม่ตั้งใจจะเข้ามาแก้ปัญหาของพี่น้องระดับรากหญ้ามาแต่ต้น รัฐบาลของคณะรัฐประหารไม่ใส่ใจแม้แต่จะบังคับให้โรงงานที่ปลดแรงงานปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัดด้วยซ้ำ และการประท้วงของพี่น้องแรงงาน แม้เป็นข่าวก็มักจะไม่เกิดผลอะไร

ดังนั้น เวลานี้จึงมีเรื่องของภาคประชาชนตกค้างอยู่ในประเทศไทยนับเป็นร้อยเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงานถูกปลด, เรื่องมลภาวะที่อาจเกิดจากโรงถลุงเหล็ก, เรื่องการแย่งชิงพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศไทย, เรื่องไล่คนออกจากป่า, เรื่องเหมืองชนิดต่างๆ ที่ปล่อยสารพิษลงแหล่งน้ำแล้ว และทำท่าจะปล่อยในอนาคต, เรื่องที่ทิ้งขยะ, เรื่องอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างความเสื่อมโทรมแก่ระบบนิเวศ, เรื่องผลกระทบของสึนามิ, เรื่องหนี้สินเกษตรกร, เรื่องโชห่วย, ฯลฯ

ทั้งนี้ยังไม่นับเรื่องที่ยังไม่ "ร้อน" อีกนับไม่ถ้วน เช่นการสูญเสียที่ดินหรือการมีที่ดินไม่พอแก่การลงทุนของเกษตรกรรายย่อย, เรื่องหนี้สินของเกษตรกรซึ่งนับวันก็ยิ่งพอกพูนเพิ่มขึ้น, เรื่องต้นทุนด้านการศึกษาซึ่งสูงเกินกว่าที่คนจำนวนมากจะรับไหว, เรื่องคนแก่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว, เรื่องของหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า, เรื่องอุตสาหกรรมบางประเภทต้องย้ายฐานการผลิตออกไป, เรื่องแรงงานไร้ฝีมือที่ต้องสูญเสียแหล่งทำกิน ทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม, ฯลฯ

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งจะเกิดขึ้นในต้นปีหน้าย่อมกระอัก จะเอากองกำลังของรัฐมา "ลุย" ประชาชนที่เคลื่อนไหว กองกำลังก็ไม่เล่นด้วยแน่ ครั้นจะแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม พรรคที่ร่วมรัฐบาลผสมอาจขัดขวาง เพราะการแก้ปัญหาบางอย่างย่อมขัดกับผลประโยชน์ของนายทุนพรรค ใครที่เป็นแกนนำก็รับหน้าเสื่อไปเต็มๆ อย่างน้ำท่วมปาก พูดไม่ออกบอกไม่ถูก

ด้วยเหตุดังนั้น การเลือกตั้งซึ่งกำลังจะมาถึงจึงไม่ตอบปัญหาอะไรของประชาชนระดับรากหญ้าเลย ไม่ว่าจะเลือกพรรคใด ก็มีความหมายเหมือนกัน กล่าวคือประคองประเทศไทยต่อไปสำหรับผลประโยชน์ของคนชั้นกลางซึ่งมีเสียงดังกว่าเท่านั้น

อันที่จริง ประชาชนระดับรากหญ้าก็ไม่เคยมี ส.ส.หรือพรรคการเมืองใดเป็นตัวแทนของตนอยู่แล้ว เพราะประชาชนขาดการจัดองค์กรเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในระบบ ทำให้มีพลังน้อยกว่าหัวคะแนนอย่างเทียบกันไม่ได้ แม้แต่การเลือกตั้งที่ใช้เขตเลือกตั้งเล็ก (เขตเดียวเบอร์เดียว หรือที่เรียกกันว่าวันแมนวันโหวต) ประชาชนระดับรากหญ้าก็ไม่อาจใช้วิจารณญาณของตนในการเลือกตัวแทนได้ ฉะนั้นยิ่งมาเจอการเลือกตั้งแบบพวงใหญ่ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็เป็นอันตัด ส.ส.ไปได้เลยว่า ไม่ใช่ตัวแทนผลประโยชน์ของตน

ความไร้พลังของประชาชนระดับรากหญ้า เป็นผลให้พรรคการเมืองต่างๆ แทบไม่เคยเหลียวมองเลย แม้แต่คะแนนเสียงท่วมท้นของพรรค ทรท.ก็ใช่ว่ามาจากนโยบายที่เรียกกันว่า "ประชานิยม" ล้วนๆ หัวคะแนนและอำนาจรัฐก็มีส่วนอยู่ในนั้นไม่ใช่น้อย (ไม่อย่างนั้นแล้วจะรวบรวมนักการเมืองที่กุมเครือข่ายหัวคะแนนได้กว้างขวางไว้มากมายทำไม ... แม้เป็นผลให้สมาชิกก่อตั้งต้องถอนตัวไปหลายคน)

ความไร้พลังทางการเมืองระดับชาติตรงนี้ ส่วนหนึ่งก็ทำให้ประเด็นที่ภาคประชาชนผลักดันไม่เป็นผล อีกส่วนหนึ่งก็คือทำให้หาพันธมิตรในบรรดาคนชั้นกลางได้ยาก

ที่จริงแล้วประเด็นที่ภาคประชาชนเคลื่อนไหวนั้น มีนัยสำคัญต่อชาติหรือส่วนรวมมากกว่าความเดือดร้อนเฉพาะกลุ่ม (แต่ในขณะเดียวกัน สองอย่างนี้ก็แยกออกจากกันได้ยาก) เพราะรากเหง้าของนโยบายที่ผิดพลาดนั้น ไม่ได้กระทบต่อประชาชนในบางพื้นที่เท่านั้น แต่กระทบต่อประชาชนทั้งหมดซึ่งส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว

ยกตัวอย่างนโยบายพลังงาน ในขณะที่ประชาชนระดับรากหญ้าเดือดร้อนจากการกระจุกโรงไฟฟ้าสกปรกไว้ในพื้นที่ของคนเล็กๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ, จากถ่านหิน และจากนิวเคลียร์ในอนาคต แต่การกระทำเหล่านี้ล้วนผูกอยู่กับนโยบายรวมศูนย์พลังงาน โดยมีกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเกาะกุมวางแผนอยู่ ขาดความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ และต่อรองไม่ได้ นับตั้งแต่แหล่งพลังงาน, สถานที่ตั้ง, ราคารับซื้อ, และราคาขาย ฯลฯ ล้วนอยู่ในดุลพินิจของคนกลุ่มนี้

พวกเขาอาจวางแผนโดยเห็นแก่ประโยชน์ของ "ส่วนรวม" แต่รู้ได้อย่างไรว่า "ส่วนรวม" ของเขา หมายถึงสิ่งเดียวกับของคนไทยส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในระดับรากหญ้าหรือไม่ (ยังไม่พูดถึงอะไรอื่นที่อาจทับซ้อนกันได้อีกมาก)

เหตุใดจึงกระจายหลายส่วนของการพลังงาน (นับตั้งแต่การผลิต, การกระจาย, การบริโภค และอีกหลายส่วนของการจัดการ) ให้กว้างขวางไม่ได้ เช่นเหตุใดผู้ที่ผลิตไฟฟ้าจากขยะจึงไม่อาจซื้อ-ขายให้แก่สายส่งได้สะดวกเหมือนบริษัทเอคโก้ หากเป็นเช่นนั้น ใครจะลงทุนกับพลังงานหมุนเวียน เหตุใดการคำนวณค่าเอฟทีจึงมีข้อน่าสงสัยอยู่เสมอ เหตุใดการคำนวณต้นทุนของเขื่อนไฟฟ้าจึงไม่รวมค่าสูญเสียด้านนิเวศและสังคมลงไว้ด้วย ฯลฯ

ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนไทยทุกคน ไม่เฉพาะแต่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรงไฟฟ้า การเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวของตนจึงทำให้ได้พันธมิตรในหมู่คนอื่นๆ ซึ่งไม่ได้ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าโดยตรงด้วย

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง การขยายการผลิตเหล็กอันเป็นนโยบายของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนนั้น ไม่ใช่เพื่อใช้ในประเทศ แต่เพื่อการส่งออก การผลิตเหล็กเพื่อการส่งออกนั้นเป็นนโยบายที่ควรได้รับการทบทวนเสียที หลายประเทศในโลกนี้ ยุติการผลิตเหล็กเพื่อส่งออกเสียแล้ว เพราะไม่คุ้มกับมลพิษและมลภาวะที่การผลิตก่อให้เกิดขึ้น และมักจะย้ายทุนไปผลิตในประเทศโลกที่สาม แล้วนำเข้าจะ "ถูก" กว่า แม้แต่จีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่ของโลกในปัจจุบัน ก็เปลี่ยนนโยบายโดยค่อยๆ ลดปริมาณการผลิตลง ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะผลิตเพียงเพื่อพอใช้ในประเทศ

คนชั้นกลางที่คิดแต่กำไร-ขาดทุน ต้องเข้าใจเรื่องนี้ อันอาจทำให้พวกเขากลายเป็นพันธมิตรของชาวบางสะพาน ด้วยจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน กล่าวคือในขณะที่ชาวบางสะพานซึ่งทนต่อมลภาวะของโรงเหล็กมานาน ไม่อยากรับผลกระทบมากไปกว่าเดิม ชาวกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ก็อาจคิดถึงการวางนโยบายอุตสาหกรรมที่เป็นผลดีต่อลูกหลานในอนาคต และฉลาดรู้เท่าทันกับโลกาภิวัตน์ภายใต้การนำของมหาอำนาจด้วย

ฉะนั้น แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ให้คำตอบอะไรแก่ปัญหาของชาวบ้าน และไม่ว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไปอย่างไร โอกาสที่ ส.ส.หรือพรรคการเมืองจะมาเป็นตัวแทนของชาวบ้านก็เกิดขึ้นได้ยาก ตราบเท่าที่ความเคลื่อนไหวภาคประชาชนจะต้องจัดองค์กรเพื่อเข้าไปมีพลังต่อรองในการเมืองในระบบบ้าง

การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ชาวบ้านผู้เคลื่อนไหว จะใช้เป็นงานทดลอง เพื่อเรียนรู้การจัดองค์กรสำหรับการนี้ในภายหน้า และในความเป็นจริงแล้ว ก็มีทางเลือกที่ชาวบ้านอาจเลือกได้หลายวิธี ซึ่งไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง และมีค่ากว่าเงินซื้อเสียง หรือสัญญาความช่วยเหลือแลกเปลี่ยนของผู้สมัคร

ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เซคชั่น กระแสทรรศน์  นสพ.มติชน

วันที่ 29 ต.ค.50  ปีที่ 30 ฉบับที่ 10824
------------------------------

Imageจากเว็บ http://www.siamsewana.org/

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >