หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow เยาวชนบ้านขุนแปะกับงานสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 87 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

เยาวชนบ้านขุนแปะกับงานสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ พิมพ์
Monday, 14 May 2007


เยาวชนบ้านขุนแปะกับงานสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ

เรื่อง / ภาพ โดย ธัญลักษณ์  นวลักษณกวี ฝ่ายเผยแพร่เพื่อการมีส่วนร่วม ยส.

.........เล เล เล เล ………                                                 
เปอ โอ ฮี เลอ โม แด ลอ                  
หมู่บ้านเราแม่เคยอาศัย
เปอ โอ ฮี เลอ ปา แด ลอ                   
ชุมชนเราพ่อเคยอาศัย
ซา ซวี่ ซา เลอ โม ซู ลอ                     
ส้ม มะโอ ที่แม่ปลูกไว้
มา แง ซา เลอ ปา ซู ลอ                      
ส้มมะนาวที่พ่อปลูกไว้
เปอ ออ เกอ ตอ ออ เกอ ตอ                   เรากินไปรักษากันไป
กู ออ ปกา เล ตือ เล ตอ                           เราจึงมีกินตลอดไป

เสียงขับขานบทเพลงปกาเกอะญอของเยาวชนทั้งหญิงและชายจำนวนกว่า 80 คน ดังก้องโบสถ์คาทอลิก - ศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านขุนแปะ  ชุมชนปกาเกอะญอในเขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 

เยาวชนหญิง ชาย เหล่านี้ พวกเขามารวมตัวกันในงาน สืบสานวัฒนธรรมประเพณีเด็กและเยาวชน ชนเผ่าปกาเกอะญอ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 23 24 เมษายน 2550 ณ บ้านขุนแปะ อ.จอมทอง  จ.เชียงใหม่ ซึ่งจัดโดยศูนย์สังคมพัฒนาเชียงใหม่ ร่วมกับ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.) สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) และที่สำคัญยิ่งก็คือ ผู้นำชุมชนบ้านขุนแปะ ซึ่งประกอบด้วย อดีตพ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน)  พ่อหลวงคนปัจจุบัน  และอดีตผู้นำชุมชนอีกหลายท่านที่ยังมีบทบาทในการร่วมดูแล จัดการ และแก้ปัญหาภายในชุมชน 

ณ วันนี้ ผู้อาวุโสซึ่งผ่านหลายสิบร้อนหนาว ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในชุมชน เมื่อการพัฒนากระแสหลักโดยเฉพาะวิถีทำกินแบบดั้งเดิมของปกาเกอะญอที่ยังชีพด้วยการปลูกข้าวเป็นหลัก แต่ทว่านับตั้งแต่การเข้ามาส่งเสริมจากภาครัฐให้ปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อป้อนสู่ตลาดเสรี จากเคยผลิตเพื่อยังชีพกลายมาเป็นผลิตเพื่อขาย ความพออยู่พอกินและวิถีปกาเกอะญออันทรงคุณค่าในภูมิปัญญา รากเหง้าและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามเริ่มถูกลืมเลือน เวลาอันแสนรื่นรมย์ในระหว่างวันซึ่งหนุ่มสาวจะขับบทลำนำหรือ อื่อธา เพื่อเกี้ยวพาราสีกันอย่างสุภาพไม่ด่วนได้ไปเสียทุกอย่างเช่นสมัยนี้ อีกทั้งนิทานปกาเกอะญอซึ่งมีเป็นร้อยเป็นพันเรื่องที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายจะเล่าให้ลูกหลานฟังก่อนนอนก็สูญหายไปมากต่อมาก  ลูกหลานเดี๋ยวนี้มีรายการทีวีผ่านสัญญาณดาวเทียม มีหนังไทยหนังเทศฉายผ่านเครื่องเล่นวีซีดีดีวีดี เข้ามาแทนที่เสียงอันคุ้นเคยของคนในครอบครัว หรือแม้แต่เสื้อผ้าที่บ่งบอกความเป็นปกาเกอะญอก็ถูกพับเก็บไว้จะถูกนำออกมาใช้ก็ในวันสำคัญของชนเผ่าเท่านั้น เราจึงได้เห็นแต่แฟชั่นจากเมืองหลวงเกลื่อนกล่นสีสันและลวดลายบนดอยสูงแห่งนี้

ด้วยเห็นถึงปัญหาผลกระทบจากการพัฒนากระแสหลักที่เข้ามามีอิทธิพลครอบงำต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนทุกระดับในสังคมไม่เว้นชาวเขาชาวดอยที่อยู่บนพื้นที่ห่างไกลความเจริญ  กระแสบริโภคนิยมและวัตถุนิยมไหลบ่าขึ้นไปถึงบนดอยสูง ซ้ำยังกระตุ้นให้เยาวชนหลงใหลไปกับค่านิยมใหม่ๆ ที่ปลุกเร้าให้พวกเขาเห็นดีเห็นงามไปกับความสุขฉาบฉวยที่ต้องใช้ เงิน แลกเพื่อให้ได้มา

Imageพ่อหลวงไพบูลย์  ตระการศุภกร อดีตพ่อหลวงคนหนึ่งของบ้านขุนแปะ ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงเป็นผู้นำชุมชนที่ยังมีบทบาทสำคัญ บอกกับเยาวชนลูกหลานเป็นภาษาปกาเกอะญอ ได้ใจความว่า

วันนี้ดีใจมากที่ได้เห็นภาพการแต่งกายของชนเผ่าปกาเกอะญอ เป็นการสืบสานวัฒนธรรมของเราอย่างหนึ่ง วันนี้ทีมงานจะมาช่วยค้นหาเกี่ยวกับการสืบสานวัฒนธรรมของเรา ขอให้เยาวชนตั้งใจศึกษาวัฒนธรรมของเราด้วย

ทีมงานซึ่งล้วนแต่เป็นลูกหลานบ้านขุนแปะที่ได้รับการศึกษาแล้วกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของพวกเขา ทั้งเจ้าหน้าที่จากศูนย์สังคมพัฒนาเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่จากสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) จะมีคนต่างถิ่นอยู่กลุ่มหนึ่งก็คือ คณะเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.) ซึ่งเข้ามาในชุมชนบ้านขุนแปะนี้เพื่อทำการศึกษาผลกระทบจากการพัฒนากระแสหลักที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาความเป็นมนุษย์ตามแนวทางของพระศาสนจักรคาทอลิก Imageซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นผู้จุดประกายให้เกิดงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีเด็กและเยาวชน ชนเผ่าปกาเกอะญอ ครั้งนี้ขึ้นนั่นเอง

คุณลิเก วงศ์จอมพร เจ้าหน้าที่ศูนย์สังคมพัฒนาเชียงใหม่ ลูกหลานบ้านขุนแปะ ผู้ที่เป็นตัวหลักในการจัดงานครั้งนี้ ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์และกระบวนการจัดอบรมให้เยาวชนทราบว่า งานในครั้งนี้มุ่งหวังให้เยาวชนสามารถแยกแยะ วิเคราะห์สถานการณ์สังคมในปัจจุบันได้  ให้เยาวชนตระหนักถึงสิทธิ คุณค่า และศักดิ์ศรีของตนเอง  ให้เยาวชนได้รื้อฟื้นศาสนา  วัฒนธรรม ประเพณีของชนเผ่าและของชุมชนตนเอง และสามารถนำความรู้ ความเข้าใจมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้


เยาวชนปกาเกอะญอกับกิจกรรมฐานสิทธิมนุษยชน

Imageเริ่มด้วย หลักการและแนวคิดสิทธิมนุษยชน จาก คุณอัจฉรา  สมแสงสรวง เลขาธิการ ยส.  พี่อัจได้พยายามเชื่อมโยงให้น้องๆ เยาวชน ได้เข้าใจความหมายของคำว่า สิทธิมนุษยชน ที่สามารถสัมผัสได้ด้วยมุมมองของศาสนาที่ตนนับถือทั้งพุทธและคริสต์

หลักสิทธิมนุษยชนนั้นสอนให้เคารพชีวิตทุกชีวิต เช่นเดียวกับบัญญัติ 10 ประการ และศีล 5   สิทธิมนุษยชนมีแก่นของศาสนาอยู่ เพราะสอนว่าเราควรได้รับการเคารพในฐานะเพื่อนมนุษย์ และเราควรรักชีวิตของคนอื่นด้วย ดังนั้นสิทธิมนุษยชนอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เราต้องดูแลผู้อื่นและไม่ไปละเมิดผู้อื่น ตัวอย่างเช่น คนพิการก็มีความคิด ความเจ็บปวดเหมือนเรา เราจึงไม่ควรไปพูดว่าเขา มีประโยคที่ว่า เอาใจเขามาใส่ใจเรา  นี่แหละจึงจะเรียกว่า ปฏิบัติสิทธิมนุษยชน

จากนั้นจึงต่อด้วยกิจกรรมฐานสิทธิมนุษยชนซึ่งจะสอดแทรกความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนให้แก่เยาวชนได้เข้าใจผ่านฐานต่างๆ  

ฐานเงาะของฉันหายไปไหน ให้เยาวชนหยิบเงาะคนละ 1 ลูก สังเกตเงาะและจดจำให้ได้ เมื่อนำไปรวมกันอีกครั้งแล้วให้เลือกเงาะของตน จากนั้นให้แกะเปลือกเงาะแล้วจดจำเนื้อในของตนอีกครั้งก่อนส่งคืน ฐานนี้ให้ความรู้เรื่องสิทธิว่า เงาะเป็นเพียงองค์ประกอบภายนอก เช่น เรามีผมหยิก เธอมีผมตรง ฉันผิวขาว เธอผิวคล้ำ  แต่องค์ประกอบภายนอกไม่สำคัญเท่าสิ่งที่อยู่ภายใน นั่นก็คือ จิตวิญญาณ

ImageImage 


ฐานบันไดชีวิต...สิทธิของฉัน
ประยุกต์จากเกมบันไดงู ให้เยาวชนแบ่งเป็น 2 ทีม โยนลูกเต๋าแล้วเดินไปตกช่องไหนให้ตอบคำถามเกี่ยวกับสิทธิในข้อนั้นๆ โดยสรุปแล้วมีเนื้อหาสาระที่เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนคือ มนุษย์ต้องได้รับการดูแลในเรื่องอะไรบ้าง อาทิ สิทธิเด็ก  สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการทำร้ายร่างกาย จิตใจ หรือทางเพศ หรือ สิทธิในครอบครัว  เด็กจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างเพียงพอทางด้านโภชนาการ สาธารณสุขมูลฐาน และการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ เป็นต้น

ImageImage 


ฐานสีแห่งสามัคคี
ให้เยาวชนจับกลุ่มสีเดียวกัน คนที่ได้สีแตกต่างจากคนอื่นจะรู้สึกว่าตนมีความแตกต่าง หรือมีความอ่อนด้อยกว่าคนอื่น เปรียบได้กับคนหลากหลายเชื้อชาติที่อยู่ในสังคมไทย รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ชนเผ่าปกาเกอะญอ สำหรับเนื้อหาสาระที่สอดแทรกอยู่ในกิจกรรมนี้สอนว่ามนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน แม้จะมีความแตกต่างหลากหลายแต่ก็ต้องอยู่ร่วมกันจึงต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความสามัคคีกัน และไม่ไปละเมิดสิทธิของคนที่ด้อยกว่า

ImageImage


ฐานชุมชนแห่งสิทธิ ให้เยาวชนแต่ละกลุ่มช่วยกันวาดรูปชุมชนบ้านขุนแปะ แล้วออกมาเล่าถึงสิ่งที่มีในชุมชน  สาระที่แฝงอยู่ในฐานนี้ก็เพื่อให้เยาวชนได้เห็นความสำคัญและความจำเป็นของสิ่งใกล้ตัวในชุมชนของตน ให้เห็นว่ามีสิทธิอยู่รอบตัวในชุมชนที่อาศัยอยู่ เช่น สิทธิในถิ่นที่อยู่อาศัย สิทธิชุมชน สิทธิในความเป็นปกาเกอะญอที่มีเอกลักษณ์และมีคุณค่า 

ImageImage


รู้จักชุมชนของตนด้วยการทำแผนที่ชุมชน

เยาวชนทั้งชายหญิง ตัวเล็ก ตัวโต ระดมพลช่วยกันทำแผนที่ชุมชนโดยนำเอาวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนของพวกเขา อาทิ ทราย, ก้อนหิน, กิ่งไม้, ใบไม้, ดอกไม้ ฯลฯ เด็กตัวเล็กเปรียบเสมือนกองกำลังเสริมช่วยพี่เก็บดอกไม้ ใบไม้ มาเป็นวัสดุตกแต่งให้ ส่วนพี่ๆ ก็ช่วยกันระดมความคิดแล้วลงมือก่อร่างสร้างชุมชนจำลองของตน บ้างมีทั้งแปลงนาข้าว แม่น้ำ ภูเขา ป่าชุมชน โรงเรียน โบสถ์  วัด ฯลฯ


ImageImage 

กระบวนการนี้มีสาระแทรกไว้หวังให้เยาวชนหันกลับมามองว่า ที่ผ่านมาพวกเขาไม่ได้สนใจมองหรือวิเคราะห์ชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่เพราะการอยู่ในชุมชนจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่เยาวชนจะได้มีโอกาสคิดพิจารณาและมองเห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนของพวกเขาเองมากขึ้นว่าภายในชุมชนของพวกเขาเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งก็ได้คำตอบหลายข้อที่เป็นปัญหาร่วมของชุมชนอันเป็นความห่วงใยของฝ่ายผู้อาวุโสในชุมชนที่มีความวิตกกังวลอยู่ อาทิ ปัญหาการดื่มสุราของเยาวชนที่มากขึ้น การเล่นฟุตบอลที่มากเกินไป การขาดความสามัคคีและความร่วมมือระหว่างคนในชุมชน เป็นต้น นอกจากนี้กระบวนการนี้ยังเป็นการสร้างผู้นำเยาวชนให้สืบสานงานเพื่อชุมชนต่อจากรุ่นพ่อแม่


งานรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสแห่งบ้านขุนแปะ

ImageImage

ผู้อาวุโสแห่งบ้านขุนแปะจำนวน 55 ท่าน เริ่มทยอยกันมานั่งประจำที่ในเต็นท์ซึ่งจัดเตรียมไว้ พ่อหลวงพงษ์ชัย  ชุลีกรเมตตา อดีตพ่อหลวงและผู้นำชุมชนคนสำคัญอีกคนหนึ่งของบ้านขุนแปะ อุ้มแม่เฒ่าที่ขาไม่ดีจนเดินไม่ไหวมาร่วมพิธีนี้ท่ามกลางสายตาชื่มชมของหลายต่อหลายคน แล้วพิธีรดน้ำดำหัวก็เริ่มขึ้นเมื่อตัวแทนเยาวชนออกมากล่าวสุนทรพจน์อันมีใจความสำคัญเพื่อแสดงความขอบคุณผู้อาวุโสทั้งหลายที่ได้มีส่วนในการสร้างหลักปักฐานให้ลูกหลานได้มีที่ทำกินมาจนถึงรุ่นพวกเขา อีกทั้งขอขมาลาโทษในสิ่งที่พวกเขาได้ล่วงเกินไป  พร้อมอวยพรให้ผู้อาวุโสในชุมชนมีสุขภาพแข็งแรง และอยู่กับลูกหลานไปนานๆ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาของชนเผ่าให้แก่ลูกหลานต่อไป

ImageImage 

จากนั้นจึงเริ่มการรดน้ำผู้อาวุโสด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย สิ่งสำคัญสำหรับการขอขมาของชนเผ่าปกาเกอะญอ พิธีเริ่มตามลำดับความอาวุโสมากไปหาน้อยจนครบถ้วนกระบวนความแล้ว  ตัวแทนผู้อาวุโสก็ออกมาให้พรแก่เยาวชนและผู้ร่วมดำหัวว่า ลูกหลานที่มารดน้ำดำหัวให้ในวันนี้ขอให้อยู่ดีมีสุข พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ พ้นจากอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น ได้ประสบแต่สิ่งดีงามในอนาคตข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นตนเองหรือลูกหลาน ครอบครัว และคนรอบข้าง ทำมาหากินขึ้น มีกินมีใช้ สามารถดูแลคนได้ทั้งเมือง รวมทั้งเด็กกำพร้า แม่หม้าย และขอบคุณลูกหลานทุกคนที่มาดำหัวให้ในวันนี้

ImageImage

แล้วพิธีการรื้อฟื้นวัฒนธรรมแห่งการเคารพผู้อาวุโสก็เสร็จสิ้นเมื่อเยาวชนทั้งหมดมอบของขวัญให้แก่ผู้อาวุโสทั้งหลายพร้อมรับพรอันมีค่าจากบุพการีและบรรพบุรุษของพวกเขา


สืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ

ฐาน Hsai pliz , Hsai  htuz  หรือ การสอนทำแร้วดักสัตว์  เป็นภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอในการทำที่ดักสัตว์อย่างง่ายๆ ด้วยอุปกรณ์จากธรรมชาติ นั่นก็คือ ไม้ไผ่  ใช้สำหรับดักนก ดักหนู  ฐานนี้เยาวชนสนใจมาลองของกันอย่างสนใจ          

ImageImage


ฐาน
T’Lei  pliz,  poz  pliz  หรือ สอนฟั่นเชือก
โดยการนำเปลือกอ่อนของต้นปอมาแยกเป็นเส้นๆ แล้วนำมาพันกันจนได้เชือกที่ใช้มัดของ ฐานนี้พ่อหลวงไพบูลย์ ลงมือสอนเยาวชนด้วยตัวเองอย่างชำนิชำนาญ        

ImageImage 


ฐาน
Leif bai  หรือ  สอนปั่นด้าย
  โดยนำฝ้ายมาปั่นให้เป็นด้ายสำหรับนำมาทอผ้า  เด็กผู้หญิงปกาเกอะญอกับการทอผ้าย่อมเป็นของคู่กัน ครูผู้สอนก็สอนอย่างใส่ใจจริงๆ  

 ImageImage


ฐาน
Hta taj
หรือ สอนทอผ้า  ฐานนี้น่าเอ็นดูดีจริง ใช้เปลือกกล้วย (หยวกกล้วย) มาทำเป็นเครื่องทอผ้า เป็นเหมือนของเล่นของเด็กตัวน้อยๆ แถมยังได้หัดเรียนรู้วิธีการทอผ้าอีกด้วย  ครูผู้สอนบอกว่า เด็กจะเรียนทอผ้าจากหยวกกล้วยนี้ตั้งแต่วัยเริ่ม 3 ขวบกระทั่งอายุได้ 10 ขวบ จึงจะเริ่มทอผ้าจากของจริง  การทอผ้านี้นับเป็นงานของผู้หญิงปกาเกอะญอโดยแท้ แต่ครั้งนี้เป็นโอกาสให้ผู้ชายได้มาเรียนรู้วิธีทอผ้าด้วย

ImageImage


ฐาน
Htei sei kwaux  หรือ สอนสานตะกร้า
  งานสานตะกร้าถือเป็นงานของผู้ชาย  ผู้หญิงก็ได้มาลองหัดทำบ้างเหมือนกัน

Image


ฐาน
Qa bu, Guz bu, T’ceiz bu   หรือ  ตำข้าว - ฝัดข้าว
  เมื่อก่อนชาวบ้านขุนแปะยังตำข้าวกินเอง แต่เมื่อยุคสมัยที่ความสะดวกสบายคืบคลานเข้ามาถึงพวกเขา การจ่ายเงินให้แก่โรงสีในตัวเมืองเพื่อสีข้าวให้จึงกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว  

Image


ฐานบทลำนำ หรือ อื่อธา
ฐานนี้  เยาวชนจะได้รู้จัก อื่อธา หรือบทลำนำ ผ่านการบอกเล่าของครูผู้สอน  เยาวชนผู้สนใจคนหนึ่งบอกว่า เยาวชนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่รู้จัก ธา และไม่เข้าใจความหมายใน ธา ส่วนตัวเขารู้ว่ามี ธา ที่รุ่นปู่ย่าตายายใช้ขับลำนำเป็นร้อยเป็นพันบท  ธา ส่วนใหญ่เป็นบทกลอน แต่ละบรรทัดจะมี 7 คำ อื่อธามีทั้งบทที่ใช้ชม เปรียบเปรย บอกความคิดถึงห่วงหาระหว่างหญิงชาย เยาวชนคนนี้บอกว่า สมัยนี้หากเขาจะใช้ อื่อธา จีบหญิง เธอคงจะงง ไม่เข้าใจ และว่าเขาเชย!

ImageImage


ระบุง ตะกร้า เชือกปอ ครกกระเดื่องตำข้าว เครื่องปั่นด้าย ฯลฯ ข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ เยาวชนอาจจะเห็นจนคุ้นตาแต่กลับไม่เคยรู้วิธีการทำของสิ่งนั้นเลย ประกอบกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน ชุมชนมีสิ่งอำนวยความสะดวก มีข้าวของเครื่องใช้ทำจากพลาสติกราคาถูกเข้ามาแทนเครื่องมือเครื่องใช้ท้องถิ่นที่เคยทำใช้ได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาภายนอก หากวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้หมดไปหรือองค์ความรู้ภูมิปัญญาในการทำข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ขาดผู้สืบสานย่อมเป็นเรื่องน่าเสียดาย จึงเป็นโอกาสดีที่เยาวชนจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมชนเผ่าของตนจากผู้รู้และผู้อาวุโสอย่างต่อเนื่องเพื่อสืบสานองค์ความรู้ท้องถิ่นของชาวปกาเกอะญอไม่ให้สูญหายหรือถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา  

เหตุเช่นนี้ งานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีแก่เด็กและเยาวชนปกาเกอะญอ จึงถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อฟื้นคืนคุณค่าภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ พร้อมปลูกฝังให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้ซึมซับรับรู้และภูมิใจในความเป็นปกาเกอะญอ พร้อมตระหนักและร่วมใจกันหันมารื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามให้คงอยู่คู่ชุมชนปกาเกอะญอบ้านขุนแปะสืบต่อไป

Image

 อื่อธา เป็นบทกวี เป็นลำนำเพลง เป็นวรรณกรรมของชาวปกาเกอะญอ เนื้อหาของอื่อธาคือทุกสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชาวปกาเกอะญอ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ธรรมชาติ เป็นต้น อื่อธามีมากมาย มากกว่าใบไม้ในป่าเสียอีก อื่อธาเป็นวรรณกรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ  ชาวปกาเกอะญอพบเห็นสิ่งใดผ่านตา ก็นำมากล่าวเป็นบทอื่อธาได้ทุกอย่าง


Image

ความคิดเห็น
คิดถึงบ้าน
เขียนโดย ดาด้า เปิด 2012-03-09 23:43:19
น่ารักทุกคนเลย คิดถึงบรรยากาศเกา สมัยนี้ไม่ค่อยมีแล้ว

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >