หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 1226 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


พระสมณสาสน์การพัฒนาประชาชาติ-ข้อท้าทายและแนวทางสำหรับพระศาสนจักรในปัจจุบัน พิมพ์
Monday, 26 March 2007

พระสมณสาสน์การพัฒนาประชาชาติ – ข้อท้าทายและแนวทางสำหรับพระศาสนจักรในปัจจุบัน*

โดย ปีเตอร์ เฮนเรียต, เอส.เจ.
ถอดความโดย ต้นกล้วย

เป็นไปได้หรือ นั่นสิ น่ากระหายใคร่รู้นักหรือ  จะตื่นเต้นไปทำไมกับเอกสารเขียนโดยพระสันตะปาปาเมื่อกว่าสี่ทศวรรษที่ผ่านมา?  เอกสารที่เขียนขึ้นในยุคสมัยซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน  โลกในยุคก่อนอินเตอร์เน็ท ก่อนเหตุการณ์ 9 กันยา โลกที่แบ่งออกเป็นค่ายคอมมิวนิสต์และทุนนิยม และโลกที่ปราศจากอิทธิพลตลอดระยะเวลา 25 ปี ของยอห์น ปอลที่สอง ผู้นำซึ่งทรงอิทธิพลที่สุดของคริสตศาสนาในศตวรรษที่ 20

นั่นคือคำถามซึ่งผมถามตนเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าในระหว่างเตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อท่านทั้งหลายในเช้าวันนี้  ในหัวข้อ การไตร่ตรองเรื่องข้อท้าทายและแนวทางซึ่ง ปอล ที่หก นำเสนอต่อพระศาสนจักรผ่านทางพระสมณสาสน์ การพัฒนาประชาชาติ เมื่อปี 2510  ที่ผมตั้งคำถามนี้ ด้วยความสัตย์จริง โดยส่วนตัวผมรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ทบทวนพระสมณสาสน์การพัฒนาประชาชาตินี้อีกครั้งหนึ่ง ได้มีโอกาสศึกษาคำบรรยายในเรื่อง การพัฒนาซึ่งมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เพื่อค้นพบปัญญาอันลึกซึ้งซึ่งผมอาจมองข้ามไป และเพื่อประเมินว่าพระสมณสาสน์ฯ เกี่ยวพันกับงานของผมในทวีปแอฟริกา ที่ซึ่งผมใช้ชีวิตอยู่ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา

ผมหวังว่าผมจะไม่ตื่นเต้นจนเกินไป กระตือรือร้น เต็มไปด้วยพลัง และกำลังใจ จากการอ่านพระสมณสาสน์ฯ จนทำให้ลืมงานที่ได้รับมอบหมาย คือ คำเชื้อเชิญจาก CIDSE** ให้นำเสนอว่าสิ่งที่พระสมณสาสน์ฯ ประสงค์จะให้พระศาสนจักรเป็นกระบอกเสียงในเรื่องความยุติธรรมในโลกนั้น มีความหมายเช่นไรในปัจจุบัน   อะไรที่เกี่ยวพันกับงานของ CIDSE -องค์กรพัฒนาสังคมที่ได้รับการสนับสนุนจากพระศาสนจักรคาทอลิก ซึ่งอ้างว่ามีประวัติศาสตร์อันใกล้ชิดและแน่นแฟ้นยิ่งกับพระสมณสาสน์การพัฒนาประชาชาติ?  สิ่งที่ผมจะนำเสนอ ณ ที่นี้ ผมยอมรับว่า เป็นความพยายามที่จะทำให้คุณตื่นเต้นเช่นเดียวกัน คือ จะนำเสนอสั้นๆ เกี่ยวกับแง่มุมห้าประการในพระสมณสาสน์ฯ แล้วจะสรุปเกี่ยวกับข้อท้าทายและแนวทางซึ่งพระสมณสาสน์ฯ มอบแก่เราในอดีตและยังคงต่อเนื่องมาในปัจจุบัน เฉพาะอย่างยิ่ง ข้อท้าทายต่อบรรดาผู้นำของ CIDSE

อิทธิพลต่องานแพร่ธรรมและงานวิชาการ

ก่อนที่จะบรรยายถึงแง่มุมห้าประการในพระสมณสาสน์ฯ ที่ผมเห็นว่ามีความเกี่ยวพันกับปัจจุบัน ขอให้ผมกล่าวเล็กน้อยเกี่ยวกับที่มาของผม ทั้งในส่วนงานแพร่ธรรมและงานวิชาการ เพราะสิ่งนี้คือสาเหตุที่พระสมณสาสน์ฯทำให้ผมตื่นเต้น และเป็นจุดหลักในการแบ่งปันของผม ในงานแพร่ธรรม ผมมาจากประเทศแซมเบีย ประเทศร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่งในแอฟริกา และมีคนยากจนที่สุดในโลกอาศัยอยู่  ความแตกต่างอย่างสุดขั้วซึ่งยอมรับไม่ได้นี้ นำพาผมไปสู่งานซึ่งเราเรียกว่า องค์กรบนฐานความเชื่อ ศูนย์เยสุอิตเพื่อการไตร่ตรองทางเทวศาสตร์ (JCTR)  เป็นศูนย์หน้าในการส่งเสริมความเชื่อและความยุติธรรมของพระศาสนจักร และยังร่วมมือกับบรรดาหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานกัน และหลายๆ หน่วยงานก็นั่งอยู่ตรงหน้าผมในเช้าวันนี้  JCTR ได้รับแรงบันดาลใจจากคำสอนด้านสังคมและมีแรงจูงใจจากประชาชนที่เราพยายามรับใช้อยู่ในแต่ละวัน จึงทำงานวิจัย งานการศึกษา และเป็นกระบอกเสียงเพื่อให้เกิดความก้าวหน้า ขอใช้คำจากพันธกิจของเรา ในสังคมที่ความเชื่อช่วยส่งเสริมความยุติธรรมสำหรับทุกคน ในทุกมิติของชีวิต เฉพาะอย่างยิ่ง คนยากจน

ในส่วนงานวิชาการ เมื่อเร็วๆ นี้งานของผมได้รับอิทธิพลจากข้อเขียนของนักวิเคราะห์ด้านงานพัฒนาที่มีชื่อเสียงหลายๆ ท่าน ได้แก่ อมาตยา เซ็น (รางวัลโนเบล 2541) ใน การพัฒนาคือเสรีภาพ ได้อธิบายมาตรวัดงานพัฒนาโดยใช้ ความสามารถของมนุษย์  จุดหลักไม่ใช่เรื่องรายได้หรือความร่ำรวย แต่มุ่งเน้นความหมายของชีวิตมนุษย์ การสร้างสรรค์โอกาส และเสรีภาพอันมั่นคง  โจเซฟ สติกลิทซ์ (รางวัลโนเบล 2544) ใน โลกาภิวัฒน์และความไม่พึงใจ ได้นำเสนอข้อวิจารณ์อันคมกริบเกี่ยวกับ คัมภีร์การตลาดซึ่งใช้เป็นหลักในโครงการเศรษฐกิจต่างๆ แต่ขาดแนวทางที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง  เจฟรีย์ แซชส์ ใน จุดจบความยากจน กล่าวถึงความเป็นไปได้จริงที่จะถอนรากความยากจนไปจากโลกนี้หากเราให้ความสำคัญกับประชาชนก่อน  โคฟี่ อันนัน ใน เสรีภาพที่ใหญ่กว่า เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางศีลธรรมที่สามารถช่วยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) บรรลุผลในปี 2558

ผมกล่าวถึงบุคคลเหล่านี้เนื่องจากผมเชื่อว่า หากพระสมณสาสน์ฯ ถูกเขียนขึ้นในวันนี้ ผู้เขียนจะต้องกล่าวอ้างถึงสิ่งที่ท่านเหล่านี้ได้ค้นพบและข้อเสนอแนะของพวกท่าน  ที่ผมกล่าวเช่นนี้ก็เพราะ นี่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและสมควรยกย่องของยอห์นที่หก ท่านวางแบบแผนคำสอนด้านสังคมด้วยการกล่าวอ้างนักเขียนหลากหลายในด้านเศรษฐกิจและจริยธรรมในงานพัฒนา เช่น แอล.เจ ลีเบรต  โคลิน คล๊าก  โอ.วี เนล บรูเอนนิ่ง  ฌาก มาริเทน  เอม.ดี เชนู ฯลฯ  (เป็นที่น่าเสียใจว่า แบบแผนอันดีงามของยอห์นไม่ได้รับการสืบทอดมาในเอกสารด้านสังคมอื่นๆ ของพระศาสนจักร!)

แง่มุมสำคัญ

ผมขอนำเสนอข้อท้าทายและแนวทางของพระสมณสาสน์ฯ โดยเน้นแง่มุมสำคัญห้าประการจากสารที่สื่อออกมา คือ ล้ำสมัย ร่วมสมัย ไม่ทันยุค (เรียกร้อง) การเปลี่ยนแปลงอย่างถอนราก และมองโลกในแง่ดี 

ล้ำสมัย

เมื่อกล่าวว่าพระสมณสาสน์ฯ มีเนื้อหาที่ล้ำสมัยนั้น ก็คือการยอมรับว่าเอกสารนี้มีเนื้อหาที่ก้าวล้ำไปกว่าช่วงเวลาในยุคนั้นในหลายๆ กรณี  ผมขอกล่าวให้เห็นถึงเครื่องหมายที่หนักแน่นสองประการ ประการแรก ยอห์นที่หก กล่าวถึงคำจำกัดความของงานพัฒนาที่จริงแท้อย่างง่ายๆ ว่า คือการเปลี่ยนผ่านแต่ละครั้งและทุกครั้งจากสภาพที่เป็นมนุษย์อันน้อยนิดไปสู่สภาพที่เป็นมนุษย์มากยิ่งกว่า (ข้อ 20)  คำจำกัดความนี้ เกิดขึ้นก่อนที่จะมี ดรรชนีการพัฒนามนุษย์ ของโครงการพัฒนาของสหประชาชาติ (UNDP)  ดรรชนีซึ่งมีอิทธิพลยิ่งของ UNDP นี้ คือมาตรฐานการชี้วัดในยุคปัจจุบัน ว่าเกิดอะไรขึ้นกับประชาชน เมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ

พระสมณสาสน์ฯ สรุปให้เห็นถึงแรงจูงใจของหญิงและชาย เฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่ในความระทมทุกข์ เพื่อจะหาให้ได้มากขึ้น รู้มากขึ้น และมีมากขึ้นเพื่อจะได้เป็นมากขึ้น (ข้อ 6)  สำหรับพระสมณสาสน์ฯ การพัฒนามีความหมายมากไปกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อจะเป็นสิ่งจริงแท้ การพัฒนาต้องสมบูรณ์ ผนวกรวม นั่นคือ ต้องส่งเสริมความดีของแต่ละคนและคนทั้งครบ” (ข้อ 14) สำหรับพระสมณสาสน์ฯ แล้ว การพัฒนาไม่ใช่สิ่งน่าพึงปรารถนา และอาจเป็นสิ่งที่มีอันตราย หากว่าไม่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง  โดยส่วนตัวจากประสบการณ์ที่ได้อาศัยอยู่ในประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งเพิ่งผ่านโครงการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง (structural adjustment programme – SAP) อย่างรวดเร็ว เข้มงวด และถอนราก ผมได้มองเห็นว่า แนวทางการพัฒนาที่ไม่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางนั้นคือ การที่ชีวิตของคนธรรมดาๆ ทั้งหญิงและชาย ได้ถูกผลักไสไปที่ชายขอบโดยผ่านทางแผนเศรษฐกิจ แผนซึ่งยอมรับอิทธิพลขององค์กรระดับโลกเช่น IMF และธนาคารโลกอย่างราบคาบ

ประการที่สอง พระสมณสาสน์ฯ ล่วงรู้ถึงประเด็นที่ถกเถียงกันเรื่อง ความเป็นปึกแผ่น ซึ่งยอห์น ปอลที่สอง จะนำมาเขียน ปอลที่หก เขียนไว้ว่า จะไม่มีความก้าวหน้าในการพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งหญิงและชาย หากไม่มีความสมัครใจที่จะพัฒนาของมนุษย์ทุกหมู่เหล่า ในจิตตารมณ์ของความเป็นปึกแผ่น (ข้อ 43)  ความเป็นปึกแผ่นนำพาเราข้ามผ่านความจริงเชิงประจักษ์ของการพึ่งพากันในทางเศรษฐกิจ ไปยังความจริงเชิงจริยธรรมของการเชื่อมโยงกันของมนุษยชาติ  หากจะพูดให้ง่ายขึ้น มันหมายถึงว่า บรรดาประเทศร่ำรวยก็ยังคงเป็นมนุษย์อมทุกข์ที่ด้อยพัฒนา ตราบใดที่พวกเขายังดำรงชีวิตอยู่ในโลก ซึ่งพี่และน้องของเขายังต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อการมีชีวิตรอดในประเทศยากจน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มนุษย์ไม่สามารถยอมรับได้  ในความเห็นของปอลที่หก ความโลภ การมุ่งครอบครองทรัพย์สินแต่เพียงผู้เดียว คือ เพื่อชาติหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นประจักษ์พยานถึงรูปแบบความด้อยพัฒนาของศีลธรรม (ข้อ 19)  ด้วยเหตุนี้ ปอลจึงสามารถเสริมว่า โลกกำลังป่วย (ข้อ 66) - ความป่วยไข้ที่แสดงออกในการขาดความเป็นพี่เป็นน้องในท่ามกลางปัจจเจกและประชาชน  ทุกวันนี้ ความเป็นปึกแผ่นได้กลายมาเป็นคำพูดที่คุ้นหูหากแต่ไม่ใช่ความเป็นจริงที่คุ้นเคย   เราต้องขอบคุณพระสมณสาสน์ฯ ที่ได้ช่วยนำข้อท้าทายและคำแนะนำนี้มาเสนอต่อเรา 

ร่วมสมัย

พระสมณสาสน์ฯ นับว่าเป็นเอกสารร่วมสมัยเพราะได้นำเสนอประเด็นหลักที่เป็นวาระของยุคปัจจุบัน เช่น โลกาภิวัตน์ เป็นต้น แม้ว่าคำซึ่งใช้กันอย่างฟุ่มเฟือยนี้จะมิได้ปรากฎในเอกสาร แต่ความหมายและผลกระทบของมันกลับได้รับการอรรถาธิบายอย่างชัดแจ้ง  เห็นได้จากการที่ท่านได้แกะรอยของผลที่เกิดจากความโยงใยของอาณานิคมในอดีตและการเชื่อมโยงการค้าในปัจจุบัน ปอลมองเห็นความจริงที่เรียกร้องความยุติธรรม จึงทำให้ท่านกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า ในทุกวันนี้ ความจริงพื้นฐานที่เราทุกคนต้องตระหนักก็คือ คำถามเกี่ยวกับสังคมได้ขยายวงกว้างไปทั่วโลก (ข้อ 3) ท่านได้จัดเตรียมทางไว้สำหรับยอห์น ปอลที่สอง ในการเรียกร้องจริยธรรมอีกครั้งหนึ่งในเรื่อง โลกาภิวัตน์ในความเป็นปึกแผ่น โลกาภิวัฒน์ที่ไม่ผลักไสใครไปสู่ชายขอบ

ความร่วมสมัยของพระสมณสาสน์ฯ ยังสามารถเห็นได้ หากจะอ่านข้อเขียนในเรื่องการค้า (ข้อ 56-61) ประกอบกับรายงานการอภิปรายและข้อตกลงจากการประชุมขององค์การการค้าโลกที่จัดขึ้นที่ฮ่องกงเมื่อเดือนธันวาคม 2548  รูปแบบความไม่เป็นธรรมที่สืบทอดมาในความสัมพันธ์ด้านการค้า ความหลอกลวงของระบอบ การค้าเสรี ในระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งมีความไม่เท่าเทียมกันในอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างเกินขอบเขต ความไม่ยุติธรรมของการโอบอุ้มภาคการเกษตรในประเทศร่ำรวย  ความต้องการที่ยิ่งไปกว่าการพิจารณาว่าเป็นเพียงแหล่งค้าขายหากประเทศจากจนต้องก้าวไปข้างหน้า ประเด็นเหล่านี้และอีกจำนวนมากถูกกล่าวถึงอย่างชัดแจ้งในเอกสารซึ่งสนับสนุนข้อเรียกร้องของประเทศต่างๆ ที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่แท้จริงในข้อบรรดาตกลงทางการค้าทั้งหลาย เสรีภาพในการค้าคือความชอบธรรม ปอลกล่าวตรงๆ ก็ต่อเมื่อมันสนองตอบต่อข้อเรียกร้องของความยุติธรรมในสังคม (ข้อ 59)  การประท้วงบนท้องถนนที่ซีแอตเทิ้ลและวอชิงตัน ดี.ซี. และภายในบริเวณที่ประชุมที่แคนคูนและฮ่องกง ได้สะท้อนข้อเขียนของพระสมณสาสน์ฯ ในหลายๆ ทาง

ความร่วมสมัยประการที่สามของพระสมณสาสน์ฯ คือการตอกย้ำไปที่ศูนย์กลางของวัฒนธรรม เพื่อความเข้าใจและส่งเสริมการพัฒนาแบบองค์รวม  ปอลมองเห็นความขัดแย้งระหว่าง ขนบอารยธรรม สถาบันและความเชื่อที่สร้างขึ้นมาจากบรรพกาล และองค์ประกอบใหม่ๆ ของ อารยธรรมอุตสาหกรรมซึ่งอาจปฏิเสธความร่ำรวยของมนุษย์ที่สืบทอดมาจากอดีตกาล (ข้อ 10)  ท่านเตือนอย่างไม่เห็นด้วยกับการที่ประเทศพัฒนาแล้วยอมสละทรัพย์สมบัติที่ดีที่สุดจากอารยธรรมยุคก่อน (ข้อ 40) และยอมรับ สิ่งที่เป็นมายาซึ่งจะทำให้ความเป็นมนุษย์ในอุดมคติต้องตกต่ำลง(ข้อ 41) ท่านตระหนักถึงเยาวชนผู้ซึ่งสูญเสียความภาคภูมิในคุณค่าของขนบธรรมเนียมพื้นบ้านของตน  ผมไม่อาจอ่านข้อความนี้โดยไม่ถูกเรียกร้องให้ไตร่ตรองถึงผลของ จักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมตะวันตก หรือที่จริงก็คือ วัฒนธรรมอเมริกัน ซึ่งถาโถมเข้ามาพร้อมความเชื่อมโยงของการค้าและการสื่อสารทั่วโลกได้รุกรานเข้ามาในแซมเบียทุกวัน แน่นนอนว่าการเป็นกระบอกเสียงให้กับความยุติธรรมในโลกในทุกวันนี้นั้น พระศาสนจักรไม่สามารถละเลยแง่มุมของวัฒนธรรมไปได้

ไม่ทันยุค

แม้ว่าพระสมณสาสน์ฯ จะได้ชื่อว่าล้ำสมัยและร่วมสมัย แต่ก็ยังมีลักษณะที่ไม่ทันยุคสมัยอยู่ด้วย  เมื่อกล่าวถึงแง่มุมนี้ ผมหมายถึงเนื้อหาในสารไม่ได้กล่าวถึงประเด็นท้าทายยิ่งหลายๆ ประเด็นของยุคนี้  หากปอลเขียนพระสมณสาสน์ในวันนี้ เฉพาะอย่างยิ่งหากท่านต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาในปัจจุบัน เช่นบรรดาผู้ที่ผมกล่าวถึงข้างต้น ท่านย่อมต้องกล่าวถึงประเด็นเรื่องเพศสภาพ HIV/AIDS สิ่งแวดล้อม การอพยพย้ายถิ่นทั่วโลก เทคโนโลยีสารสนเทศ  และ ขบวนการใหม่ เช่น พวกที่เดินขบวนในเวทีสังคมโลก (World Social Forum) เป็นต้น และท่านกล่าวอย่างระมัดระวังถึงประเด็นที่รบกวนจิดใจเรื่องการใช้ความรุนแรง (ข้อ 30-31) – บางสิ่งบางอย่างที่จุดชนวนความขัดแย้ง! – คงจะต้องนำความเป็นจริงในโลกภายหลังโศกนาฏกรรม 11 กันยายน บนตึกแฝดที่นิวยอร์กมาพิจารณาด้วย โลกของเราทุกวันนี้ไม่เพียงเผชิญกับการก่อการร้ายของกลุ่มจัดตั้งที่ต่อต้านอิทธิพลตะวันตกเท่านั้น แต่ยังคงเผชิญกับการก่อการร้ายของกลุ่มจัดตั้งที่ตอบโต้การต่อต้านนั้นด้วย แต่ละคนควรจะได้ไตร่ตรองถึงสงครามอันโหดร้ายและผิดกฎหมายในอิรักปอลได้สร้างสรรค์คำกล่าวที่ว่า สันติภาพคือชื่อใหม่ของการพัฒนา (ข้อ 87) ประโยคนี้ควรจะทำให้ชัดและมีจุดเน้นมากขึ้น เพราะว่าข้อท้าทายในประเด็นสันติภาพของโลกยุคปัจจุบันที่นำเสนอโดยองค์การนอกภาครัฐ  ต้องล้มเหลวไปเพราะความยากจนทั้งในด้านวัตถุและจิตใจ

ขอกลับไปประเด็นเรื่องเพศสภาพ จากมุมมองของเราในปัจจุบัน คงเป็นไปไม่ได้หากเอกสารด้านการพัฒนาจะไม่เขียนเกี่ยวกับ contribution และประโยชน์ที่จะได้รับจากความแตกต่างเรื่องเพศสภาพ แต่พระสมณสาสน์ฯ ก็เป็นผลผลิตจากยุคสมัย สตรีและการพัฒนาเป็นหัวข้อที่ไม่ได้รับการนำเสนอในยุค 2503 – และเป็นผลผลิตจากถิ่นฐานที่พระสมณสาสน์ฯ กำเนิดขึ้น บทบาทของสตรีถูกผลักไสอย่างเป็นระบบ (และอย่างน่าเศร้าใจ!) ให้ไปอยู่ชายขอบ ทั้งในโครงสร้างและระบบคิดภายในพระศาสนจักรของเรา  ด้วยความสัจจริง หนทางยังอยู่อีกยาวไกลกว่าที่ประโยคเช่น การส่งเสริมความดีของคน (man) ทุกคนและคนทั้งครบ (whole man)” จะเปลี่ยนเป็นภาษาที่รวมเอาทุกๆ คนเข้าไว้ บุคคลทุกคน (person) และคนทั้งครบ (whole person) – ซึ่งเขียนขึ้นบนความตระหนักในเรื่องเพศสภาพมากยิ่งขึ้น  และนี่ย่อมเป็นวาระแห่งการเป็นกระบอกเสียงในเรื่องความยุติธรรมในศาสนจักรในปัจจุบัน

(เรียกร้อง) การเปลี่ยนแปลงอย่างถอนราก 

ผมสามารถกล่าวด้วยความจริงใจและซื่อสัตย์ว่า พระสมณสาสน์ฯ เป็นเอกสารที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากที่สุดในบรรดาคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร  ผมใช้คำว่า ถอนราก เมื่อหมายถึงการวิเคราะห์และการให้ข้อเสนอแนะของสมณสาสน์ฯ  เราต้องไม่ลืมว่าพระสมณสาสน์ฯ เขียนขึ้นในตอนปลายของยุคล่าอาณานิคม ตัวอย่างหนึ่งคือ เอกสารนี้ปรากฏขึ้นในประเทศแซมเบียหลังจากได้รับอิสรภาพจากการปกครองของอังกฤษไม่ถึงสามปี  ขณะที่เอกสารกล่าวถึงประโยชน์ที่บางประการที่ได้รับจากการเป็นเมืองขึ้น  เอกสารก็ยังได้แสดงความจริงใจที่จะรับรู้ว่า นักล่าอาณานิคมได้แสวงหาสิ่งต่างๆ ที่ตนต้องการ อำนาจ และความรุ่งเรืองต่อไป... (ข้อ 7) ปอลรู้ว่าการที่จะเอาชนะปัญหาใหญ่ๆ ของสิ่งที่หลงเหลือจากการเป็นเมืองขึ้น ต้องอาศัยการอุทิศตนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ไม่เช่นนั้นเราอาจต้องเผชิญกับอันตรายที่เรียกว่า อาณานิคมยุคใหม่ในรูปแบบของการกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจ suzerainty ที่มุ่งรักษาหรือได้มาซึ่งการครอบงำที่สมบูรณ์ (ข้อ 52) เราต้องการได้ยินเสียงเตือนเช่นนั้นในยุคสมัยนี้เมื่อเราต้องเผชิญกับความจิรงของโลกาภิวัฒน์ 

ความเร่งด่วนคือเครื่องหมายของคุณลักษณะถอนรากในพระสมณสาสน์ฯ ปอลเสนอ clarion ...

เราต้องการความเข้าใจที่ชัดเจน การเผชิญหน้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันต้องกระทำด้วยความกล้าหาญ และความไม่ชอบธรรมที่เกี่ยวข้องต้องได้รับการฝ่าฟันและเอาชนะ การพัฒนาเรียกร้องความกล้าในการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมที่ลึกล้ำ การปฏิรูปจะต้องดำเนินการโดยไม่รั้งรอ (ข้อ 32)

เช่นเดียวกัน ในการประณามค่าใช้จ่ายที่สูญเปล่า เช่น การใช้เงินงบประมาณของชาติหรือของส่วนตัวเพื่อโอ้อวดหรือใช้เพื่อการแข่งขันด้านอาวุธ ปอลเรียกร้องให้เห็นถึงความเร่งด่วนด้วยคำร้องขอ บรรดาผู้มีอำนาจได้รับฟังเสียงร้องขอของเราก่อนที่มันจะสายเกินไปหรือไม่ (ข้อ 53)

ปอลไม่เห็นพ้องกับทางออกที่เสรีนิยมใหม่เสนอต่อวิกฤตในการพัฒนา ท่านเห็นว่าโลกได้รับประสบการณ์ที่สาหัสขึ้นทุกวัน เสียงเรียกให้เปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากของท่านสะท้อนอยู่ในการไตร่ตรองเรื่องการนำระบบอุตสาหกรรมมาใช้ เมื่อท่านประณามระบบซึ่ง มองเห็นผลประโยชน์เป็นแรงจูงใจหลักสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ  การแข่งขันเป็นกฎสูงสุดทางเศรษฐศาสตร์ และการครอบครองส่วนบุคคลเป็นเครื่องมือของการผลิต และเป็นสิทธิอันสมบูรณ์ซึ่งไม่มีขีดจำกัด และไม่ต้องรับผิดชอบต่อพันธะต่อสังคม (ข้อ 26) ท่านกล่าวต่อไปอีกเพื่อฟื้นความจำของเราว่า เสรีนิยมที่มิได้ตรวจสอบจะนำไปสู่อำนาจนิยมซึ่งพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 ได้ปฏิเสธอย่างถูกต้องว่าจะก่อให้เกิด -  จักรวรรดินิยมด้านการเงินในระดับนานาชาติ (ข้อ 26) ท่านยังกลับมาตั้งคำถามถึง หลักการพื้นฐานของเสรีนิยม ในฐานะกฎระเบียบของการแลกเปลี่ยนทางการค้า ซึ่งท้าทายการตั้งราคาในตลาดการค้าเสรีซึ่งก่อให้เกิดผลที่ไม่เป็นธรรม (ข้อ 58)  (คิดดูอีกสักครั้งเรื่องการเจรจาตกลงทางการค้าขององค์การค้าโลก)

คำสอนหนึ่งซึ่งเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากที่สุดในพระสมณสาสน์ฯ ได้สร้างปัญหาแก่บางประเทศ เช่น การชักชวนในพระสมณสาสน์ฯ ถูกห้ามไม่ให้เผยแพร่ในประเทศที่ปกครองโดยเผด็จการทหารในประเทศบราซิล คำสอนเหล่านี้คือเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนบุคคล (ข้อ 23)  ในที่นี้ปอลประยุกต์ใช้สารในประเด็นความรับผิดชอบของเจ้าของที่ดินและหน้าที่ของรัฐบาลในการส่งเสริมประโยชน์ส่วนรวม เพื่อวางแนวทางในการพิจารณาเรื่องเวนคืนที่ดินซึ่ง มีพื้นที่กว้างขวาง ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่  หรือที่ดินนั่นสร้างความยากลำบากให้แก่ประชาชน หรือสร้างความเสียหายแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติ  และประโยชน์ส่วนรวมที่กว้างขวางกว่า (ข้อ 24)  สิ่งที่ทำให้ผมระลึกถึงคำสอนนี้คือการไตร่ตรองถึงจุดเริ่มต้นของกระบวนการปฏิรูปที่ดินในประเทศซิมบับเว (กระบวนการที่ต้องยอมรับว่าได้เดินไปไม่ถูกทางในแง่ของความยุติธรรมในสังคมโดยรวม) และข้อท้าทายสำหรับอนาคต ตลอดจนการปฏิรูปที่ดินที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในประเทศเช่น แอฟริกาใต้ นามิเบีย และหากเป็นไปได้ แซมเบีย

หากจะสรุปเกี่ยวกับคุณลักษณะของการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากของพระสมณสาสน์ฯ คงต้องมุ่งไปที่การยืนยันของปอลว่า กิจเมตตาเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้เราบรรลุข้อท้าทายของการพัฒนา แต่ต้องอาศัยอุดมการณ์ที่มุ่งมั่นและต่อเนื่องเพื่อความเป็นธรรม  ท่านอ้างข้อคิดเห็นอันแหลมคมของแอมโบรสที่ว่า สิ่งของที่ได้มอบให้แก่คนยากจนก็เป็นเพียงการส่งคืนสิ่งที่ได้หยิบฉวยไปจากคนเหล่านั้น (ข้อ 23) พระสมณสาสน์ฯ แท้จริงได้เปิดทางไปสู่ความเข้าใจอันลึกซึ้งของเทวศาสตร์แห่งการปลดปล่อย เทวศาสตร์ซึ่งมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่องานเขียนคำสอนด้านสังคม เช่น ความยุติธรรมในโลก โดยซีโนตของบรรดาพระสังฆราชเมื่อปี 2514

จริงๆ แล้ว พระสมณสาสน์ฯ ได้ถูกวิพากษ์ว่าอุปถัมภ์ ลัทธิการพัฒนา จากนักวิเคราะห์สังคมซึ่งมีความคิดที่มุงการเปลี่ยนแปลงอันถอนรากยิ่งกว่า ในช่วงปลายทศวรรษ 2503 และต้น 2513 คนเหล่านี้ espoused “ทฤษฎีการพึ่งพา  อย่างไรก็ดี ผมไม่คิดว่าข้อวิพากษ์เหล่านั้นเป็นธรรม หากเทียบกับการวิเคราะห์โครงสร้างที่เข้มข้นกว่าของพระสมณสาสน์ฯ ตัวอย่างเช่น กรณีการวิพากษ์เสรีนิยมและปฏิบัติการของการค้าโลก  ประเด็นนี้ผมได้กล่าวแล้วข้างต้น

มองโลกในแง่ดี

มุมมองสุดท้ายที่สำคัญเกี่ยวกับพระสมณสาสน์ฯ คือ การมองโลกในแง่ดี พระสมณสาสน์ฯ มีความมั่นใจว่า ไม่ว่าจะมีปัญหาใดๆ โลกกำลังมุ่งหน้าเข้าใกล้พระผู้สร้างและแผนการอันดีของพระองค์  แม้ว่าภาพลักษณ์ของความก้าวหน้าจะหดตัวลง พระสมณสาสน์ฯ ยังกล่าวว่า มนุษยชาติกำลังก้าวหน้าไปในเส้นทางเดียวกับประวัติศาสตร์ ดังเช่นคลื่นในขณะที่น้ำกำลังขึ้นได้ถาโถมเช้าใส่ชายฝั่ง (ข้อ 17) (นี่ทำให้ผมระลึกถึงบาทหลวงธีฮาร์ด เดอ การ์แดงต์ เอส.เจ.) ปอลเห็นว่าความร่วมมือในระดับนานาชาติ เช่น สหประชาชาติ จะเป็นคำตอบของกระแสเรียก ที่จะนำไม่เพียงแต่บางคน แต่ทุกๆ คน ให้ปฏิบัติต่อกันในฐานะพี่สาวและน้องชาย (ข้อ 78)  สำหรับคนที่มองเห็นความหวังนี้ว่าเป็นเพียงเรื่องในอุดมคติ ท่านก็ได้ท้าทายไว้ว่า บางทีคนเหล่านี้อาจไม่อยู่บนความเป็นจริงนัก และพวกเขาอาจไม่ได้รับรู้ความเป็นไปของโลกซึ่งปรารถนาการดำรงอยู่แบบพี่แบบน้องมากยิ่งขึ้น โลกซึ่งแม้จะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ประพฤติผิด ทำบาป ย้อนกลับไปสู่ความป่าเถือน หลงทางห่างไกลจากเส้นทางแห่งความรอด และแม้จะไม่รู้ตัว ก็ยังคงก้าวไปอย่างช้าๆ แต่มั่นคง ในย่างก้าวที่มุ่งสู่พระผู้สร้าง (ข้อ 79)

การมองโลกในแง่ดีที่แสดงออกโดยปอลที่หกนี้ บางคนเห็นว่าเป็นรูปแบบของความหงอยเหงา สามารถพบได้ไม่เฉพาะแต่ในพระสมณสาสน์ฯ เท่านั้น แต่ปรากฏในข้อเขียนอื่นๆ ที่ตามมาด้วย เช่น ท่านกล่าวถึงเรื่องความเป็นไปของโลก ซึ่งบางขณะเคลื่อนไปสู่ความเป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่กว่า ในข้อเขียนของท่านเรื่อง เสียงเรียกสู่การปฏิบัติ (Octogesima Adveniens) เมื่อปี 2514  ซึ่งเกี่ยวกับ ความหวังซึ่งผุดขึ้นจากความเป็นจริงที่ว่า คริสตชนรู้ว่าหญิงและชายคนอื่นๆ กำลังทำงาน เพื่อที่จะลงมือปฏิบัติความยุติธรรมและสร้างสันติภาพเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน  แม้จะมีความแตกต่างทั้งที่เห็นได้และมองไม่เห็น แต่ในจิตใจของทุกๆ คน ย่อมมีความปรารถนาที่จะดำรงอยู่อย่างพี่น้อง และโหยหาความยุติธรรมและสันติภาพ ซึ่งจะต้องทำให้แพร่หลาย (ข้อ 48)  การส่งเสริมความพยายามในงานพัฒนาแบบองค์รวมในทวีปแอฟริกาและที่ต่างๆ ทั่วโลก ย่อมเป็นความหวังในแง่ดี!

แน่นอนว่าปอลได้รับอิทธิพลการมองมนุษยชาติจากมุมมองในแง่บวกมาจากข้อเขียนของ ฌาก มาริเตน ผู้ซึ่งท่านอ้างถึงในพระสมณสาสน์ฯ (ข้อ 42) ทรรศนะที่มีต่อโลกของท่านประกอบด้วยแง่มุมทางมานุษยวิทยาว่าด้วยการบรรลุเป้าหมายของมนุษย ซึ่งส่งเสริมงานพัฒนาแบบองค์รวม นับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับพระศาสนจักรในการเป็นกระบอกเสียงเพื่อความยุติธรรมในโลก

สิ่งที่บ่งบอกเป็นนัยถึงการเป็นกระบอกเสียงของพระศาสนจักร

เกือบสี่สิบปีที่พระสมณสาสน์การพัฒนาประชาชาติปรากฏแก่สายตา  แล้วเราจะสามารถกล่าวอะไรได้ในวันนี้  หลังจากที่เราได้รู้ว่าพระสมณสาสน์ฯ เป็นเอกสารที่ล้ำสมัย ร่วมสมัย ไม่ทันยุค เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนราก และมองโลกในแง่ดี?  อะไรคือสิ่งบ่งบอกที่เป็นนัยแก่พระศาสนจักรของเราในการเป็นกระบอกเสียงเพื่อความยุติธรรมในสังคมโลก? เฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งนี้จะท้าทายและนำทาง CIDSE ซึ่งเป็นความพยายามของพระศาสนจักรในระดับโลกและได้นำเอาพระสมณสาสน์ฯ มาเป็นเอกสารหลักขององค์กร ได้อย่างไร?  ผมขอเสนอนัยสามประการซึ่งผมเชื่อว่าได้รับฟังและสนองตอบต่อยุคปัจจุบัน บนพื้นฐานของพระสมณสาสน์ฯ

ประการแรก เสียงเรียกร้องเพื่อความยุติธรรมไม่ควรจะเงียบหายไปในกิจกรรมต่างๆ ของพระศาสนจักร และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในองค์การพัฒนาที่พระศาสนจักรให้การสนับสนุน  ผมหมายถึงว่า การเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อให้ชีวิตสมบูรณ์จะต้องเป็นภารกิจหลักของพระศาสนจักร หากเรายังคงซื่อสัตย์ต่อพันธกิจของพระสมณสาสน์ฯ  ในกรณีของ CIDSE ผมเห็นว่า จะมีนัยสำคัญยิ่งหากยกบางตอนของพระสมณสาสน์ฯ ขึ้นมาเพื่อรองรับการก่อตั้ง CIDSE ข้อ 45 ถึง 55 ในหัวข้อย่อย ให้ความช่วยเหลือผู้อ่อนแอ” – คำเชื้อเชิญให้กระทำกิจเมตตาไม่เคยห่างไกลจากภารกิจเพื่อความยุติธรรม  สำหรับกองทุนสาธารณะและส่วนตัว สิ่งของและเงินกู้ยืม ไม่ว่าจะใจกว้างขนาดไหน ก็ไม่เพียงพอที่จะกำจัดความหิวโหยหรือลดระดับความยากจนลง หากไม่เชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้กับความพยายามที่จะ สร้างโลกซึ่งประชาชนทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะมีเชื้อชาติใด ศาสนาไหน หรือสัญชาติอะไร สามารถที่จะดำรงชีวิตในฐานะมนุษย์อย่างสมบูรณ์ ปราศจากการบังคับให้เป็นทาสโดยมนุษย์คนอื่น หรือโดยอำนาจของธรรมชาติ อำนาจซึ่งพวกเขาไม่สามารถควบคุมได้ โลกซึ่งคำว่าเสรีภาพไม่ใช่คำพูดที่ว่างเปล่า...(ข้อ 47) (นี้คือเทวศาสตร์เพื่อการปลดปล่อยที่เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น!)

มิติด้านโครงสร้างสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในทันทีในบทที่เรียกร้องให้จ่ายภาษีสูงกว่าในประเทศร่ำรวยเพื่อสนับสนุนความพยายามในงานพัฒนา ให้ราคาสินค้าส่งออกจากประเทศยากจนสูงขึ้น ร่วมมือกันมากขึ้น  ให้มีการวางแผนแบบที่คนเป็นศูนย์กลาง การจัดสรรทุนจากงบประมาณด้านอาวุธ ทักท้วงเรื่องอาณานิคมใหม่ ปรับโครงสร้างหนี้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ก่อให้เกิดเงื่อนไขที่จะส่งผลร้าย  และหลังจากบทที่เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือก็ตามมาด้วยบท ความเป็นธรรมในความสัมพันธ์ทางการค้า แน่นอนว่าเป็นประเด็นความยุติธรรมระดับโลกทั้งในปี 2510 และ 2549

ผมเน้นย้ำนัยนี้สำหรับพระศาสนจักรของเรา เพราะมันเป็นข้อท้าทายที่หนักหน่วงและเป็นแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการเป็นกระบอกเสียงเรื่องความยุติธรรมในโลก  แน่นอนว่าสำหรับ CIDSE นี่เป็นจุดหลัก  โดยส่วนตัว ผมรู้สึกสำนึกและขอบคุณการให้ความร่วมมือที่ได้รับจากหน่วยงานของคุณซึ่งดำเนินงานอยู่ทั่วโลก เพื่อส่งเสริมความพยายามของท้องถิ่นในการระดมพลเพื่อความยุติธรรมในสังคมในประเทศยากจน เช่น แซมเบีย  ผมเน้นย้ำนัยนี้เพราะเห็นว่างานของ CIDSE ได้ช่วยสนับสนุนงานของสมณกระทรวงเพื่อความยุติธรรมและสันติ ตลอดจนการอุทิศตนอย่างแข็งขันเพื่อความยุติธรรม ไม่แต่เพียงปอลที่หกเท่านั้น แต่ยังมียอห์น ปอลที่สอง และเบเนติดที่ 16 อีกด้วย

ใช่ เรายังคงต้องพูดถึงงานเมตตาจิต แต่ในการไตร่ตรองถึงความต้องการนั้น เราต้องก้าวให้พ้นงานสงเคราะห์และไปสู่ความยุติธรรม ผมได้รับการท้าทายจากข้อเขียนที่อุทิศให้บาทหลวง อัลแบร์โต ฮูร์ตาโด นักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวชิลี คณะเยสุอิต ซึ่งเสียชีวิตเมื่อ 15 ปีก่อนที่พระสมณสาสน์ฯ จะได้รับการเผยแพร่ ท่านได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญเมื่อเร็วๆ นี้ ในความคิดของฮูร์ตาโด มาร์กซ์กล่าวว่า ศาสนาคือยาเสพติดของประชาชน แต่ข้าพเจ้ารู้เช่นเดียวกันว่า กิจเมตตาก็เป็นยาเสพติดสำหรับคนรวย

ประการที่สอง เป็นนัยที่ค่อนข้างชัดเจน เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ที่ผมใช้อธิบายในแง่มุมหลักต่างๆ เกี่ยวกับคำสอนของพระสมณสาสน์ฯ และนี้ก็เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับปูพื้นฐานในงานทุกๆ งานของพระศาสนจักรเพื่อเป็นกระบอกเสียงในความยุติธรรมในโลกตามคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร  หลายปีก่อนผมได้ร่วมงานกับเพื่อนๆ บางคนในการผลิตหนังสือที่มีชื่อน่าสนใจว่า คำสอนด้านสังคมของคาทอลิก สุดยอดความลับ  ผมคงไม่ได้พูดผิดไปแม้จะพูดให้กับคนในพระศาสนจักร เพราะแม้แต่ผู้ที่ร่วมงานกับหน่วยงานพัฒนาของพระศาสนจักร คำสอนด้านสังคมยังคงเป็นความลับสุดยอดที่น้อยคนนักจะได้รับรู้? จะมีสักกี่คนที่รู้ลึกไปกว่าชื่อของพระสมณสาสน์ฯ แหล่งความรู้ที่นำเสนอคุณค่าอันมั่งคั่งที่สามารถส่งเสริมความพยายามในการพัฒนาแบบองค์รวม?

ในการริเริ่มโครงการวิจัยและการศึกษาที่ฮาราเร่ ประเทศซิมบับเว เมื่อเร็วๆ นี้ (ได้รับการสนับสนุนจาก Misereor) ชมรมแอฟริกันเพื่อคำสอนด้านสังคม (African Forum for Catholic Social Teaching – AFCAST) กล่าวว่า มีมิติเสริมด้านคุณค่าในการโต้แย้งและตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะที่นำเสนอโดยคำสอนด้านสังคม  เพราะคำสอนด้านสังคมที่เราศึกษานั้นไม่มีลักษณะเป็นนามธรรมแต่เป็นรูปธรรม ไม่เป็นกลางแต่มีอุดมการณ์ ไม่สุภาพแต่ทำนาย  ไม่ได้อ้างผู้เขียนแต่ประยุกต์ใช้หลักการ ในบริบทของแอฟริกา คำสอนด้านสังคมเชื่อมโยงประเด็นการพัฒนาแบบพอเพียง การบริหารแบบประชาธิปไตย ส่งเสริมความเข้มแข็งให้สตรี การโกงกิน นิเวศน์วิทยา และการกำจัดความยากจน ฯลฯ  แน่นอนว่ามิติทางคุณค่าของประเด็นต่างๆ นี้ไม่ควรที่จะเป็น สุดยอดความลับ”!  แน่นอนว่าหน่วยงานของ CIDSE ซึ่งอยู่ ณ ที่นี้ ย่อมวางจุดเน้นที่มีความสำคัญลำดับต้นๆไว้ที่ความรู้สึกจากภายในของบรรดาเจ้าหน้าที่ ในคุณค่าของคำสอนด้านสังคม และส่งเสริมจากภายนอกในทุกแผนงานและโครงการเพื่อนำคุณค่าเหล่านี้ไปใช้

ประการที่สามและนัยประการสุดท้ายจากพระสมณสาสน์ฯ อาจจะซับซ้อนเล็กน้อยและอาจทำให้เกิดความลำบากใจเพิ่มขึ้นอีกนอกเหนือจากการนำเสนอในเช้านี้ แต่ขอให้ผมได้พูดถึงสิ่งที่อาจรบกวนเราหลายคน สิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับการโต้แย้งและตอบสนอง ผมรู้ว่ามันเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ CIDSE ได้ฟันฝ่ามาตลอดตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง สิ่งที่ผมเห็นจากประสบการในการปฏิบัติงานพัฒนาหลายปีของผมในวอชิงตัน ดี.ซี และอีกหลายปีในพื้นที่แถบแอฟริกา คือความต้องการให้เกิดการเชื่อมร้อยระหว่างงานอภิบาลและงานพัฒนาในพระศาสนจักร  ผมหมายความว่า การแบ่งแยกอย่างเด็ดขาดระหว่างสิ่งที่บางคนเห็นว่าเป็นกิจของผู้แพร่ธรรมที่ ศักดิ์สิทธิ์ กว่า (การเตรียมพิธีกรรม การสร้างวัด เป็นต้น) กับงานพัฒนาซึ่งเป็นงาน ทางโลก (งานสุขภาพ อบรมการเกษตร เป็นต้น) ทุกวันนี้คงไม่มีตำราเล่มไหนที่เหมาะสมไปกว่าการลงมือปฏิบัติ การนำไปใช้ในทุกๆ วัน  อย่างน้อยผมก็เห็นตัวอย่างจริงในแซมเบีย

ผมรู้สึกว่าจุดเน้นอันเข้มข้นของพระสมณสาสน์ฯ ซึ่งได้วางงานพัฒนาบนฐานของพระคัมภีร์ ทำให้ความแตกต่างเขม็งเกลียวยิ่งขึ้น และจะต้องเป็นสิ่งที่ท้าทายเราและนำทางเรา  ดังตัวอย่างหนึ่ง มีคำเชิญชวนให้ฆราวาสสู้ทนอย่างเด็ดเดี่ยวเพื่อแผ่ขยาย วิธีคิดเ ขนบธรรมเนียม กฎหมายและโครงสร้างของชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ ด้วยจิตวิญญาณแห่งพระวรสาร โดยมีเป้าหมายเพื่อ สร้างข้อเท็จจริงและความจริงเกี่ยวกับศีลธรรมของโลกที่วางอยู่บนความยุติธรรมและเป็นธรรม (ข้อ 81) ผมเชื่อว่าสิ่งนี้เกี่ยวข้องโดยตรงต่อความต้องการอย่างยิ่งของเราในเรื่อง จิตวิญญาณแห่งความยุติธรรม ซึ่งเราพูดถึงในทุกวันนี้  แต่ผมได้กล่าวแล้วว่า สิ่งนี้เรียกร้องการไตร่ตรองและการตอบสนองเป็นอย่างยิ่ง บางทีนี่อาจจะเป็นภารกิจที่เหมาะสมสำหรับโอกาสฉลองสี่สิบปีของพระสมณสาสนฯ และของ CIDSE ในฐานะองค์กรเครือข่าย

บทสรุป

ในพระสมณสาสน์ฉบับหลังๆ คือ ความห่วงใยด้านสังคมของพระศาสนจักร (Sollicitudo Rei Socilalis) ซึ่งออกในปี 2530 ในโอกาสฉลอง 20 ปีของพระสมณสาสน์การพัฒนาประชาชาติ ยอห์น ปอลที่สองได้กล่าวยกย่องเอกสารที่เขียนโดยผู้ที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนหน้าท่าน  ท่านได้บันทึกว่าพระสมณสาสน์การพัฒนาประชาชาติคือการประยุกต์ใช้ผลจากการประชุมสังคายนาวาติกันที่สองอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็เป็นสารที่มีต้นกำเนิดเที่ยงแท้ (ข้อ 5-10)  ท่านได้กล่าวว่า แรงจูงใจพื้นฐานที่ดลใจให้เกิดเอกสารนี้ คือ การสนองตอบต่อเอกสารจากสังคายนาวาติกันที่สอง ที่ชื่อว่า พระศาสนจักรในโลกปัจจบัน (Gaudium et Spes) และประโยคเริ่มต้นที่เราได้ยินอยู่เสมอ ความชื่นชมและความหวัง ความทุกข์และความกังวลใจ ของหญิงและชายในยุคสมัยนี้ เฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ยากจนหรือเดือดร้อน ความยากลำบากเหล่านี้ก็เช่นเดียวกัน คือความชื่นชมและความหวัง ความทุกข์และความกังวลใจ สำหรับผู้ที่ติดตามพระเยซูเจ้า

แน่นอนว่าเราไม่สามารถหาแบบแผนที่ดีกว่าในการตรวจตราและลงมือปฏิบัติตามหัวข้อในการชุมนุม CIDSE ครั้งที่ห้านี้ ที่ว่า ““พระศาสนจักรป่าวประกาศความยุติธรรมในสังคมในปัจจุบัน”  การเป็นกระบอกเสียงของพระศาสนจักรในเรื่องความยุติธรรมในโลกได้รับการช่วยเหลืออย่างดียิ่งจากข้อท้าทายและแนวทางนำเสนอโดยพระสมณสาสน์การพัฒนาประชาชาติ  แง่มุมทั้งห้าที่ผมได้วิเคราะห์ทำให้เนื้อหาของพระสมณสาสน์ฯ กลับมีชีวิตขึ้นใหม่สำหรับเรา และนัยทั้งสามประการที่ผมเสนอ ก็สามารถนำเราไปสู่การปฏิบัติ  การพัฒนาประชาชาติไม่เคยมีครั้งใดที่เร่งด่วนเท่าในยุคปัจจุบัน ไม่ใช่คำถามที่ว่า เราจะตอบสนองหรือไม่ แต่ เราจะตอบสนองอย่างไร?

ขอขอบคุณ


Image


*เอกสารชิ้นนี้นำเสนอในงาน ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์กร CIDSE เมื่อวันที่ 11-12 มกราคม 2549 ที่เนเธอร์แลนด์

**CIDSE คือกลุ่มองค์กรคาทอลิกเพื่อการพัฒนา 15 องค์กรในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศเบลเยี่ยม

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >