หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 607 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ส้ม…สายน้ำ “พิษ” เมื่อ... “ส้ม” ทำ “พิษ” ให้ชุมชน พิมพ์
Wednesday, 01 November 2006

ส้ม…สายน้ำ “พิษ”  
เมื่อ... “ส้ม” ทำ “พิษ” ให้ชุมชน

ธัญลักษณ์  นวลักษณกวี  เรื่อง  


ย่านการค้า ใจกลางกรุงเทพมหานคร
อรทัย : สาวออฟฟิศ 
ขณะเดินไปยังป้ายรถเมล์เพื่อต่อรถกลับบ้าน เธอเห็นกองส้มที่ถูกเรียงเป็นชั้นสูงลดหลั่นกันของร้านขายผลไม้ ผลส้มสีเหลืองทอง ผิวเป็นมันแวววาวดูน่ารับประทานจนเธออดใจไม่ได้ที่จะหยุดซื้อ ระหว่างรอแม่ค้าซึ่งกำลังหยิบส้มชั่งกิโลขายให้กับลูกค้าที่มาก่อนเธอ สายตาเธอจึงให้ความสนใจกับละครทีวีเบื้องหน้า ภาพของสถานที่ซึ่งดูสวยงาม ไร่ส้มท่ามกลางขุนเขาที่โอบล้อมรอบ คนงานหน้าตายิ้มแย้มสดใส กำลังช่วยกันเก็บผลส้มที่มีอยู่ดกดื่นเต็มต้นลำเลียงลงในลังพลาสติก อรทัยคิดว่าคงจะดีไม่น้อยถ้าเธอมีโอกาสไปเก็บผลส้มด้วยตนเองและรับประทานสดๆ จากต้น ในไร่ส้ม ! 

แหล่งปลูกส้มสายน้ำผึ้ง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
สถานที่ : หมู่บ้านสันทรายคองน้อย ต.เวียง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ หมู่บ้านที่ถูกสวนส้มล้อมรอบ


พ่อหลวงจันทร์ :
ผู้ใหญ่บ้าน                    
พ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) ขี่มอเตอร์ไซด์ มาถึงวัดคลองศิลา เพื่อประชุมร่วมกับกลุ่มแกนนำชาวบ้าน ในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสวนส้ม  พ่อหลวงเองพอคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาก็หนักใจ “ตั้งแต่เกิดปัญหาสารพิษจากสวนส้มทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนทั้งเรื่องน้ำกินน้ำใช้ น้ำที่เคยใช้กินใช้อาบกันได้อย่างสบายใจ ตอนนี้ก็ไม่กล้ากินกันแล้วขนาดแค่อาบยังเป็นผื่นคันเป็นตุ่มแผล รายได้ก็ไม่ใช่จะมากมายอะไรต้องมาซื้อน้ำกินกันอีก กลิ่นสารเคมีจากพวกสวนส้มนี่ก็เหลือจะทน จะไม่ให้ชาวบ้านเครียดจนถึงขั้นเอาปืนไปขู่คนงานฉีดยาให้ หยุดฉีดยังไงไหว ฉีดกันทุกวันกลางค่ำกลางคืน กลับมาจากทำงานเหนื่อยๆ จะได้นอนหลับเต็มแรง ก็ต้องสะดุ้งตื่นเพราะทนกลิ่นไม่ไหว” พ่อหลวงเองที่พอจะทำได้ เมื่อรู้ว่าสวนไหนฉีดยามากไปกลิ่นโชยมารบกวนชาวบ้านก็ไปขอให้เขาหยุดฉีดก็พอจะช่วยกันได้บ้าง แต่คิดต่อไปว่า “เข้าหน้าฝนเมื่อไรเดือดร้อนกันหนักอีกแน่ พวกสวนส้มอยู่ข้างบน พวกเราอยู่ข้างล่างน้ำฝนก็ชะเอาสารเคมีไหลลงมา ซ้ำร้ายยิ่งฉีดบ่อยขึ้นอีก เป็นห่วงก็แต่ละอ่อน (เด็ก) บ้านเราต้องมารับสารพิษสะสมวันแล้ววันเล่า สมองก็คงจะฝ่อ สุขภาพก็มีแต่จะแย่ลง”  

ตั้งแต่เป็นพ่อหลวงมาจนถึงขณะนี้ก็ปีกว่าแล้ว ความตั้งใจก็อยากจะให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุข พยายามช่วย กันกับตุ๊เจ้า (พระสงฆ์) รวมทั้งชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเหมือนกัน แต่ก็ดูว่าปัญหานี้มันจะหนักหนาเกินกำลัง “พวกนายทุนมีทั้งอิทธิพลมีทั้งนักการเมืองและข้าราชการหนุนหลัง นี่ก็ไปปลุกปั่นชาวบ้านที่ปลูกส้มขายส้ม หาว่า กลุ่มเราไปพูดเรื่องสารเคมีจนทำให้ราคาส้มตกขายไม่ออกเพราะคนกลัวสารพิษเลยไม่กล้าซื้อส้มกิน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วก็มาจากชาวสวนส้มเองไม่แข็งพอ ถ้ามีความรับผิดชอบมีการควบคุมคุณภาพไม่เร่งเก็บส้มก่อนกำหนดจนส้มที่ออกมาไม่ได้รสชาติ ถ้าทำได้อย่างที่สวนส้มรายใหญ่ๆ เขาทำกันก็คงไม่เกิดปัญหา นี่กลายเป็นว่าทำให้ชาวบ้านทะเลาะกัน เฮาเองก็พลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วย โดนทั้งถูกข่มขู่ ถูกกลั่นแกล้งถึงขนาดทำหนังสือร้องเรียนไปถึงนายอำเภอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน แค่ลำพังเฮาเองก็ไม่เท่าไร แต่นี่แม้กระทั่งตุ๊เจ้าเป็นพระที่พยายามช่วยเหลือชาวบ้านมาตลอด ก็ยังโดนทำเรื่องฟ้องร้องไปถึงฝ่ายสงฆ์ระดับจังหวัดด้วย แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ท้อใจได้อย่างไร” 

ลุงสุทัศน์ : ภารโรงโรงเรียนสันทรายคองน้อย  ต.เวียง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
ถึงแม้ลุงสุทัศน์จะเป็นแค่ภารโรง โรงเรียนเล็กๆ แต่ในฐานะที่แกก็เป็นคนบ้านสันทรายคองน้อยมาตั้งแต่เกิดจนเฒ่า แกคิดว่าเป็นภาระหน้าที่ของแกเช่นกันที่จะต้องร่วมไม้ร่วมมือกันพัฒนาหมู่บ้าน เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในหมู่บ้านแกก็ต้องทำเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะเมื่อเห็นตุ๊เจ้ายังต้องออกมาทำงานอนุรักษ์ป่า ทั้งตอนนี้ยังต้องมาร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาสารพิษจากสวนส้มร่วมกับพวกชาวบ้านอีก

ปัญหาสารพิษจากสวนส้มที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ลุงสุทัศน์ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะ กรรม การกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำฝาง ได้พยายามเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเข้ามาแก้ปัญหาในเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าของกลุ่มนายทุนเพื่อขยายทำสวนส้ม แหล่งน้ำสาธารณะที่ชาวบ้านเคยได้ใช้ทำไร่ทำนาถูกนายทุนเบียดบังดักเอาไปใช้เฉพาะตน แล้วยังทางสาธารณะที่เคยได้ใช้สัญจรไปมาก็โดนปิด ที่เดือดร้อนกันมากก็เรื่องสารเคมีจากสวนส้มกระจายไปทั่วหมู่บ้านเป็นอันตรายต่อสุขภาพของชาวบ้าน รวมไปถึงป่าอนุรักษ์ที่ตุ๊เจ้าเริ่มนำให้กลุ่มชาวบ้านร่วมกันดูแลก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งไม้ไผ่ก็ถูกตัดทำลายเอาไปทำไม้ค้ำต้นส้ม หน่อไม้ที่เคยได้เก็บไปกินไปขายก็ลดน้อยลง เห็ดป่าที่เคยออกดอกตามฤดูกาลก็ไม่มีแล้ว ต้นพลวงที่เคยได้ใช้ใบมาทำหลังคาก็โดนแมลงที่หนีจากสวนส้มพากันมากัดทำลาย ชาวบ้านที่เคยได้ใช้ประโยชน์เคยมีรายได้จากของในป่าเหล่านี้มาจุนเจือครอบครัวก็ขาดรายได้ไป

แต่ขณะนี้ปัญหาที่กลุ่มอนุรักษ์ฯ เรียกร้องให้แก้ไข กลับถูกเบี่ยงเบนประเด็นไปกลายเป็นว่ากลุ่มอนุรักษ์ไปโจมตีทำให้ส้มราคาตก “เราไม่ได้ว่าส้มมีพิษไม่ควรกิน แต่จุดประสงค์เราคือ ต้องการให้รู้ถึงขบวนการก่อนจะออกมาเป็นผลส้มว่ามันทำลายอะไรบ้าง” ลุงสุทัศน์คิดเช่นนั้น 

พี่จันทร์ฟอง : อดีตคนงานไร่ส้มของนายทุนรายใหญ่ ใน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
พี่จันทร์ฟองเคยทำงานเป็นคนงานตัดแต่งกิ่งและเก็บผลส้ม เธอนึกย้อนกลับไปถึงช่วงที่เคยทำงานในไร่ส้มแล้วก็อดขนลุกไม่ได้ว่าเธอได้ผ่านอันตรายจากสารเคมีที่มีผลต่อสุขภาพและชีวิตของเธอ ด้วยเธอยังมีโอกาสเลือกที่จะเลิกทำงานนี้ 

ในช่วงที่ยังทำงานในไร่ส้ม เธอจะเริ่มงานตั้งแต่ 8 โมงเช้า และเลิกงานเวลา 5 โมงเย็น หน้าที่ของเธอคือการเก็บผลส้ม พร้อมทั้งตัดและแต่งกิ่งต้นส้ม ขณะตัดแต่งกิ่งต้นส้มที่มีหนามทำให้เธอไม่สามารถใส่ถุงมือได้ ด้วยหนามที่เกี่ยวติดกับถุงมือทำให้ทำได้ไม่ถนัดและล่าช้า ซึ่งจะมีผลต่อการถูกตำหนิและถูกหักเงินเดือนได้หากเธอทำหน้าที่ไม่ได้ตามที่หัวหน้ากำหนด ส่วนสารเคมีที่ติดอยู่ตามใบและกิ่งกระจายฟุ้งในอากาศโดนหน้าตาและเข้าสู่ลมหายใจวันแล้ววันเล่า เธอมักรู้สึกแสบตา เคืองตา น้ำตาไหล และมีอาการตาบวมอยู่เสมอ ส่วนมือที่ต้องสัมผัสโดนสารเคมีเริ่มมีอาการแสบร้อนและบวม ขนคิ้วเริ่มหลุดร่วง ริมฝีปากแห้งแตกทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าหนาว เธอเริ่มมีอาการปวดศีรษะ รู้สึกอยากอาเจียน บ่อยครั้งขึ้น เธอไม่รู้ว่าเธอเป็นอะไรจึงถามเพื่อนร่วมงานซึ่งได้คำตอบว่ามีอาการเช่นเดียวกัน

ในช่วงที่มีการเรียกร้องจากกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำฝางให้แก้ปัญหาผลกระทบจากสวนส้ม จนกระทั่งมีการส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตรวจสอบสารพิษในร่างกายชาวบ้าน เธอเป็น 1 ในหลายๆ คนที่ได้รับการตรวจพบว่า มีสารพิษสะสมอยู่ในร่างกาย คำแนะนำที่เธอได้รับจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการดูแลสุขภาพคือ เธอควรดื่มน้ำโซดาเป็นประจำเพื่อช่วยล้างสารพิษที่อยู่ในร่างกายออกไป

หลังจากนั้นไม่นาน พี่จันทร์ฟองจึงลาออกจากงานกลับมาทำไร่ทำนาที่เธอมี เธอคิดว่าดีกว่าที่จะเสี่ยงชีวิตเพื่อรายได้วันละ 100 บาท แต่เธอก็อดคิดถึงคนงานจำนวนมากที่ยังต้องทนทำงานต่อไปเพราะไม่มีทางเลือกโดยเฉพาะแรงงานชาวพม่าที่เข้ามาเป็นคนงานส่วนใหญ่ในไร่ส้ม ซึ่งมีการปกปิดและแอบซ่อนคนงานผิดกฎหมายเหล่านี้โดยมีการรู้เห็นกันระหว่างนายทุนเจ้าของไร่ส้มและเจ้าหน้าที่ของรัฐ  เธอคิดว่าแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ต่างหากที่จะต้องเอาชีวิตมาทิ้งในประเทศที่ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนเพื่อแลกกับรายได้เพียงวันละ 80 บาท โดยคนภายนอกไม่สามารถรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ได้เลย! 


วัดคลองศิลา หมู่บ้านสันทรายคองน้อย ต.เวียง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

พระอธิการเอนก หรือ ตุ๊เจ้า ของชาวบ้าน : ประธานเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำฝาง

เช้านี้จะมีการประชุมเรื่อง “การจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำฝาง” ตุ๊เจ้าจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆที่จะต้องใช้ในการประชุม ทั้งเป็นผู้ลงแรงจัดโต๊ะเก้าอี้สำหรับบรรดาแกนนำชาวบ้านที่จะเข้าประชุมด้วยตนเอง ครั้นใกล้เวลาแกนนำชาวบ้านต่างทยอยกันมาแล้ว การประชุมจึงเริ่มขึ้น           

ตุ๊เจ้านั่งฟังชาวบ้านนำเสนอปัญหา ข้อคิดเห็นและแนวทางออกของการจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกันอย่างตั้งใจ ปัญหาในวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบจากการทำสวนส้ม ผู้ประกอบการรายใหญ่ไปปิดกั้นเหมืองฝายที่เป็นของสาธารณะ แล้วต่อท่อเข้าสู่สวนส้มของตน หลายต่อหลายครั้งที่ชาวบ้านต้องไปเจรจากับเจ้าของสวนส้มเพื่อให้นำท่อออกเสียเนื่องจากชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำได้ เรื่องนี้เคยเสนอไปยังหน่วยราชการในท้องที่ให้เข้ามาดูแลแก้ไขแล้ว แต่พอเผลอเจ้าของสวนส้มก็แอบไปต่อท่ออีกแล้ว เช่นเดียวกับเรื่องขยายพื้นที่ปลูกส้มรุกล้ำเขตป่าสงวน  ตุ๊เจ้าร่วมรับรู้ปัญหาของชาวบ้านเรื่องแล้วเรื่องเล่าของความเดือดร้อน ตลอดระยะเวลา 4 – 5 ปี มานี้ หมู่บ้านที่เคยสงบ ร่มเย็น อยู่กันด้วยความสามัคคีปรองดอง แต่กลับต้องมาแตกแยกขัดแย้ง เผชิญกับความหวาดกลัวจากพิษภัยสารเคมีที่ปกคลุมไปทั่วทุกหัวระแหง ในถิ่นเกิดที่อยู่กันมานานชั่วลูกชั่วหลาน นับแต่การรุกเข้ามาของผลไม้ที่ชื่อ “ส้มสายน้ำผึ้ง”  

หากอรทัย ได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับผู้คนในอีกมุมหนึ่งของประเทศไทยเช่นนี้ เธอจะคิดและทำอย่างไร?


ทุกครั้งที่ซื้อ เคยรู้บ้างไหม? อะไรคือความแตกต่าง มิใช่แค่รูปร่าง ขนาด สีสัน และปลอดสารพิษเท่านั้นแต่ควรมองลึกลงไปถึงกระบวนการผลิต 

ใครถูกเอาเปรียบ ? 

ช่วยกันเลือกอีกสักนิด เพื่อหลายชีวิต ไม่ถูกทำร้าย....

  • ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตร
  • ไม่กดขี่และเอาเปรียบแรงงาน
  • ไม่แย่งชิงทรัพยากร ที่ดิน น้ำ ป่า ของคนท้องถิ่น         

 


 

 

ที่มาของปัญหา

ส้มพันธุ์สายน้ำผึ้ง เมืองฝาง จ.เชียงใหม่

ปี 2525 เจ้าของสวนส้มธนาธร ได้นำพันธุ์ส้มจากประเทศจีนที่ตนรับประทานแล้วชื่นชอบในรสชาติของผลส้ม มาปลูกที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมของเมืองฝาง คือเป็นที่ราบลุ่มในหุบเขา อากาศเย็นชื้น มีแหล่งน้ำปริมาณมาก มีฤดูฝนและฤดูหนาวยาวนาน ส้มที่นำมาปลูกจึงออกผลผลิตที่ได้รสชาติดีและผิวสีเหลืองสวยงามน่ารับประทาน จึงมีการคัดสายพันธุ์ส้มสายน้ำผึ้งและขยายจนประสบความสำเร็จด้วยคุณภาพของส้มประกอบกับการจัดการด้านการตลาดแบบมืออาชีพ นับเป็นสวนส้มรายแรกที่มีการนำตราสติกเกอร์มาเป็นสัญลักษณ์ของตนติดบนผลส้มเช่นเดียวกับผลไม้จากต่างประเทศ มีการเคลือบผิวส้มหรือที่เรียกกันว่าการแว๊กซ์ผิวส้มเพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ ยืดอายุผลส้ม และทำให้ผิวส้มดูเงาแวววาวน่ารับประทาน รวมไปถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า จนเป็นที่ยอมรับกันว่าส้มสายน้ำผึ้งของสวนส้มธนาธรมีราคาสูงและเป็นที่นิยมของผู้ชอบรับประทานส้ม ส้มสายน้ำผึ้งจากสวนธนาธรได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศ มีวางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้าต่างๆ และมีการส่งออกไปขายยังต่างประเทศ อีกด้วย           

ความสำเร็จของสวนส้มธนาธร เป็นแบบอย่างให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย หันมาปลูกส้มสายน้ำผึ้งกันเป็นจำนวนมาก  นำไปสู่การขยายพื้นที่ปลูกส้มจาก อ.ฝาง ไปสู่ อ.แม่อาย และ อ.ไชยปราการ ซึ่งจัดเป็นพื้นที่เหมาะสมในการปลูกส้มเช่นกัน มีการกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านทั้งที่เป็นที่นาและพื้นที่สูง และเริ่มขยายรุกล้ำไปยังเขตป่าสงวนแห่งชาติ โครงการวิจัยเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการทำพืชเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในพื้นที่ลุ่มน้ำฝาง โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ประเมินว่า พื้นที่ปลูกส้ม 3 อำเภอคือ ฝาง แม่อาย และไชยปราการ มีประมาณ 300,000 ไร่ (ปี 2546) มีการใช้พื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่สาธารณะด้วย และจากภาพถ่ายดาวเทียม โดยคณะทำงานแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า พบว่า เฉพาะพื้นที่ อ.ฝาง มีสวนส้มมากกว่า 100,600 ไร่ ซึ่งกว่าครึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ           

การขยายตัวของสวนส้มส่งผลกระทบตามมาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร แหล่งน้ำ ที่ดิน ป่าไม้ในท้องถิ่น, ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดมลพิษในชุมชนและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนในชุมชน, ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและนายทุนรายใหญ่ รวมไปถึงปัญหาแรงงานต่างด้าวที่หลั่งไหลเข้ามาทำงาน และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมาในอนาคต

 


  
ผู้ได้รับผลกระทบ

 

เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำฝาง 3 อำเภอ ( อ.ฝาง อ.แม่อาย และ อ.ไชยปราการ)

เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำฝาง เกิดจากการรวมตัวกันของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำสวนส้มในเขต อ.ฝาง, อ.แม่อาย และ อ.ไชยปราการ ประกอบด้วยชุมชน 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองขี้นกยาง ต.แม่นาวาง อ.แม่อาย, บ้านหัวยาว ต.ดงเย็น อ.ไชยปราการ, บ้านแม่ฮ่าง แม่สาย ต.แม่สาย อ.แม่อาย, บ้านล้องอ้อ ต.แม่สูน อ.ฝาง, บ้านใหม่กองทราย ต.สันต้นหมื้อ อ.แม่อาย และบ้านสันทรายคองน้อย ต.เวียง อ.ฝาง           

กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำฝาง ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยได้เสนอข้อสรุปปัญหาผลกระทบจากสวนส้ม จากผลการวิจัยของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งได้เข้ามาทำวิจัยเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการทำพืชเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำฝาง แบ่ง เป็น 2 ประเด็นใหญ่ คือ

1.  ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นปัจจัยการผลิตและสิ่งแวดล้อม

1.1 ที่ดิน  นายทุนเบียดบังเอาที่สาธารณะไปจากชาวบ้าน เช่น แย่งที่วัดร้างของบ้านหนองบัวงาม อ.แม่อาย  แย่งถนนของบ้านสันทราย คองน้อย อ.ฝาง

1.2 น้ำ ก่อนที่จะมีสวนส้มเข้ามาในหมู่บ้าน เกษตรกรใช้น้ำที่สะอาดจากบ่อน้ำตื้นเพื่ออุปโภคและบริโภค และมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้เพื่อการเกษตร แต่หลังจากสวนส้มเข้ามาในชุมชน ชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงสวนส้ม (0-500 เมตร) ต้องซื้อน้ำดื่มมากกว่า 20.1% ในฤดูฝน เมื่ออาบน้ำจะมีอาการคัน เป็นตุ่ม เป็นฝี น้ำเพื่อการเกษตรลดน้อยลง ถูกสวนส้มขนาดใหญ่ขุดสระขนาดใหญ่หลายจุดติดลำเหมืองสาธารณะ  เพื่อดักน้ำไปใช้เพียงคนเดียว มีการเบี่ยงเบนเส้นทางน้ำ จากลำเหมืองเข้าสู่สวน

1.3 ป่า ด้วยการปลูกส้มต้องใช้ไม้ไผ่เพื่อใช้ค้ำยันต้นส้มเพื่อไม่ให้ล้ม ปกติต้องใช้ 1,200 ลำต่อพื้นที่ 1 ไร่ ดังนั้นในพื้นที่ลุ่มน้ำฝาง 100,000 ไร่ ต้องใช้ไม้ค้ำยันมากกว่า 120,000,000 ลำต่อปี ซึ่งเป็นการทำลายป่า และทำให้ไม้ไผ่ลดลงจำนวนมาก หน่อไม้ซึ่งเป็นอาหารและรายได้ธรรมชาติของชาวบ้านได้ลดลง

1.4 ลม การได้รับกลิ่นสารเคมี พบว่าชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงสวนส้ม (0-500 เมตร) ร้อยละ 12.4 ได้กลิ่นสารเคมีทุกวัน, ร้อยละ 6.7 ได้กลิ่นวันเว้นวัน และร้อยละ 6.1 ได้กลิ่นทุก 2 วัน ขณะเดียวกันร้อยละ 65.3 มีความมั่นใจว่าอากาศไม่บริสุทธิ์ 


2. การปนเปื้อนของสารเคมีในอาหารธรรมชาติ 
ปัจจุบันอาหารธรรมชาติลดลงมาก ชาวบ้านไม่กล้าเก็บกิน เพราะกลัวการปนเปื้อนของสารเคมี โดยเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่ใกล้สวนส้ม ชาวบ้านมากกว่า 23.9 ไม่กล้าเก็บผักและอาหารธรรมชาติกิน

2.1 กาย จากการศึกษาพบว่าชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงสวนส้ม (0 - 500 เมตร) มีโรคมากกว่า 38 ชนิด และค่อนข้างรุนแรง เช่น เป็นหวัด 35.9%,  เวียนหัว 33.8%, น้ำมูกไหล 29.6%, คัน 29.5%, ปวดศีรษะ 29.3%, ไอ 15.3%, ท้องร่วง 13.2%, เจ็บคอ 12.4%, ครั่นเนื้อครั่นตัว 11.1% เป็นต้น

2.2 จิตใจ  จากการศึกษาสุขภาพทางจิตพบว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงสวนส้ม (0 - 500 เมตร) มีอาการเครียด 27.3%, อาการโวยวาย 5.1%, ก้าวร้าว 1.1 %, ยิงปืนขึ้นฟ้า 0.9 %, ยิงถังพ่นยา 0.1 %

2.3 สังคม จากการศึกษาพบว่าชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงสวนส้ม (0 - 500 เมตร) มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน มีความเห็นไม่ลงรอยกันทั้งคนในชุมชนกับคนในชุมชน และคนในชุมชนกับแรงงานต่างด้าว ทำให้ชุมชนมีความเห็นแตกแยกมากขึ้น

2.4 ศีลธรรมหรือจิตวิญญาณ จากการศึกษาพบว่า คนในชุมชนเอาเปรียบกัน เห็นแก่ตัวมากขึ้น หลายครอบครัวย้ายออกนอกพื้นที่ ส่วนใหญ่ต้องการย้ายออกจากชุมชนแต่ไม่มีที่ไป เยาวชนที่มีโอกาสไปทำงานข้างนอกไม่ยอมกลับบ้าน 

ข้อสรุปปัญหาดังกล่าว ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยการนำเสนอของนายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรีมีมติ  วันที่ 9 ก.ย.46 เรื่องการแก้ปัญหาสวนส้ม 3 อำเภอที่ จ.เชียงใหม่ โดยมอบให้กระทรวงทรัพยากรฯ และกระทรวงสาธารณสุข รับไปดูแลและแก้ไข ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 23 ก.ย.46 เห็นชอบตามที่นายประพัฒน์ รายงานโดยให้ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ใน 4 กรอบปัญหาคือ

1.  เห็นควรประกาศให้กิจการสวนส้มเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามพ.ร.บ.สาธารณสุข 2535

2. ให้มีการออกประกาศให้พื้นที่ อ.แม่อาย, ฝาง และไชยปราการ เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 และให้มีการจัดทำแผนการจัดการดิน น้ำ และสารเคมีต่างๆ ร่วมกับราษฎรในพื้นที่

3. ให้เร่งพิสูจน์สิทธิในที่ดิน และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

4. ให้พิจารณาเกี่ยวกับการจัดระเบียบใช้ที่ดินในที่สูงหรือพื้นที่อนุรักษ์ โดยได้มอบหมายให้ทางจังหวัดรับไปดำเนินการ 



ปัญหาที่ตามมา

ภายหลังมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้ดำเนินการศึกษาผลกระทบและวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาจากการประกอบกิจการสวนส้ม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหานี้ในพื้นที่ อ.ฝาง, แม่อายและไชยปราการ ทั้งหมด 6 ชุด ได้แก่
1.  คณะทำงานประกาศให้กิจการสวนส้มเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
2.  คณะทำงานเพื่อประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม 3 อำเภอ
3.  คณะทำงานพิสูจน์สิทธิในที่ดิน
4.  คณะทำงานจัดระเบียบการใช้ที่ดินในที่สูงหรือในพื้นที่อนุรักษ์
5.  คณะทำงานศึกษาผลกระทบเรื่องแรงงานต่างด้าว
6.  คณะทำงานศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม 

แต่ดูเหมือนว่า ปัญหาผลกระทบจากสวนส้มที่กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำฝางเรียกร้องให้แก้ไขในเรื่องที่ทำให้พวกเขาเดือดร้อน กลับเริ่มส่อเค้ากลายเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอนุรักษ์ฯ กับผู้ประกอบการส้มรายย่อยและสหกรณ์สวนส้ม เมื่อมีความพยายามเบี่ยงเบนประเด็นว่ากลุ่มอนุรักษ์ฯ ทำลายบรรยากาศการลงทุน การท่องเที่ยว และทำให้ส้มราคาตกต่ำ มีการข่มขู่ คุกคาม แกนนำชาวบ้าน จนกระทั่งบางคนต้องยุติบทบาทตัวเอง และอยู่ด้วยความหวาดกลัวต่ออิทธิพลของนายทุนรายใหญ่ซึ่งมีทั้งเงินและอำนาจภายใต้การสนับสนุนของข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่น 

สำหรับคณะทำงาน 6 ชุดที่แต่งตั้งขึ้นมา ก็เริ่มมองเห็นถึงความไม่ยุติธรรมในความเอนเอียงของข้าราชการท้องถิ่นและอิทธิพลของนายทุนรายใหญ่ สิทธิและเสียงของชาวบ้านเริ่มถูกลิดรอน ความหวังของกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำฝางที่พยายามเรียกร้องความเป็นธรรม และสิทธิในชุมชนในท้องถิ่นของตนเมื่อถูกละเมิด สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องเพียงต้องการดำรงชีวิตอยู่ในถิ่นเกิดอย่างปลอดภัยในร่างกายและทรัพย์สิน  สามารถที่จะร่วมจัดการดูแลทรัพยากรในท้องถิ่นทั้ง ดิน น้ำ ป่าไม้ มิใช่ใครบางคนเป็นเจ้าของและนำไปใช้เท่านั้น “หรือจะต้องรอให้มีคนตายขึ้นมา นายกฯ ถึงจะรู้ แล้วลงมาดู” เสียงตัดพ้อที่เริ่มจะบางเบา จากชาวบ้านสันทรายคองน้อย ในวันนี้  



ทางออกที่ยั่งยืน

ปัญหาสวนส้มในลุ่มน้ำฝาง - ตัวอย่างของระบบการเกษตรเชิงเดี่ยวที่เปลี่ยนให้ส้มกลายเป็นอุตสาหกรรมเกษตรเคมี เนื่องจากส้มเป็นพืชที่เสี่ยงต่อโรคหลายชนิด ต้องฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มสารกำจัดเชื้อรา กลุ่มอาหารเสริมและฮอร์โมน สลับกันไปทั้งแบบฉีดพ่นและแบบใส่ลงดินโดยเฉลี่ยสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งสารเคมีส่วนใหญ่ที่สวนส้มใช้จัดเป็นสารเคมีกลุ่มที่องค์การอนามัยโลกจัดอยู่ในกลุ่ม 1 เอ พิษร้ายแรงสูงมาก (1a, extremel hazardous)* และกลุ่ม 1 บี พิษร้ายแรงสูง (1b, highly hazardous)** ปุ๋ยเคมีต่างๆ ล้วนมีผลต่อสภาพดิน ดินที่ผ่านการปลูกส้มและมีการสะสมของปุ๋ยเคมีจะแข็งและหมดความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุต่างๆ เจ้าของสวนส้มจึงต้องปรับสภาพด้วยการเติมอินทรีย์สาร เช่น มูลวัว มูลควายสดใต้ต้น วงการวิชาการยอมรับว่าพื้นที่ปลูกส้มมานานจะหมดสภาพความอุดมสมบูรณ์ คนทำสวนส้มจึงมักย้ายถิ่นทุก 15-20 ปีเพื่อหลีกหนีปัญหาต้นทุนและผลผลิตตกต่ำ               

การย้ายแหล่งปลูกส้มจากถิ่นเดิมตั้งแต่ ย่านบางมดเขตธนบุรี สู่เขตรังสิต จ.ปทุมธานี ไปอยุธยา กระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ เนื่องจากปัญหาดินเสื่อมเพราะสารเคมี และแหล่งน้ำไม่เพียง พอเพราะส้มเป็นพืชที่ต้องการน้ำจำนวนมากตลอดทั้งปี การขยายตัวของสวนส้มในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไปสู่เขตภาคกลางตอนบน และภาคเหนือ เช่น เขต อ.พบพระ จ.ตาก, จ.กำแพงเพชร, จ.อุตรดิตถ์, อ.เถิน จ.ลำปาง, จ.น่าน, จ.เลย และ จ.เชียงใหม่ ได้ลุกลามนำไปสู่ปัญหาต่อชุมชนแทบทุกแห่งที่มีการทำสวนส้ม               

แนวคิดในการแก้ปัญหาพืชเกษตรเชิง เดี่ยวที่ต้องใช้สารเคมีจำนวนมาก โดยเปลี่ยนมาเป็นการทำการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งก็คือการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี ดังนั้นการปลูกส้มปลอดสารเคมี จึงเป็น   ทางออกที่เหมาะสม เป็นไปได้ในปัจจุบันและจำเป็นต่อไปในอนาคต

คุณชมชวน  บุญระหงษ์  ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน ภายใต้มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน จ.เชียงใหม่  ยกตัวอย่าง สวนส้มเกษตรอินทรีย์ ที่เมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ทำสวนส้มด้วยระบบผสมผสานโดยปลูกพืชผักสวนครัวเช่น ผักกาดหัว เป็นพืชคลุมดิน และใช้ฟางคลุมใต้ต้นส้ม ซึ่งการทำเกษตรผสมผสานเช่นนี้ ทำให้ได้ผลผลิตส้มที่มีคุณภาพและออกผลจำนวนมาก เช่นเดียวกับประเทศเนปาลที่มีการปลูกส้มโดยไม่ใช้สารเคมี และอีกหลายประเทศซึ่งเคยมีปัญหาจากการใช้สารเคมีได้เปลี่ยนมาทำสวนส้มด้วยวิธีชีวภาพหรือเกษตรอินทรีย์           

สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน จึงได้เริ่มโครงการทดลองปลูกส้มแบบเกษตรอินทรีย์ในหลายแห่ง โดยเข้าไปสนับสนุนชาวบ้าน เช่น  ที่ อ.ฝาง, อ.แม่อาย และ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ซึ่งในบางแห่งเริ่มให้ผลผลิตออกมาเป็นที่น่าพอใจ “เราคาดว่าไม่เกิน 2 ปีข้างหน้าจะมีตัวอย่างสวนส้มอินทรีย์ให้ดู” คุณชมชวนยืนยันในเรื่องนี้           

ไม่เพียงเฉพาะส้มเท่านั้นที่ต้องเปลี่ยนกระบวนการผลิตเลิกพึ่งพิงสารเคมี แต่หมายถึงเกษตรกรรมทั้งระบบที่ควรปรับเปลี่ยนไปสู่การเกษตรแบบยั่งยืนเช่นที่คุณชมชวนมองว่า  “สถานการณ์ของโลกต้องไปสู่อาหารอินทรีย์ เกษตรอิน ทรีย์ มิติเรื่องสุขภาพและความต้องการอาหารสุขภาพที่เพิ่มขึ้น เช่น การส่งไปยังสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ขณะนี้ต้องเป็นสินค้าอินทรีย์  ประกอบกับการที่รัฐบาลกำหนดให้ประเทศไทยเป็น Food Safety ก็เป็นโอกาสในการส่งเสริมระบบเกษตรยั่งยืนได้มากขึ้น”            


 

*   สารในกลุ่ม 1 เอ. มีชื่อการค้าในไทย เช่น โฟริดอน มอเรนดอน ทรีท็อกซ์ อีซี่ท็อกซ์ สะตอม แขกดำ
**  สารในกลุ่ม 1 บี. เช่น แลนเนท ไดนามิล เมทโอเวอร์ ฟูราดาน คูราแทร์ พอสซ์ เฟมวอส ไดคาร์โซล20

   


  
แหล่งข้อมูล :
  • หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
  • http://www.thaingo.org/
  • นิตยสารสารคดี ฉบับที่  222  เดือน สิงหาคม 2546
  • คุณชมชวน บุญระหงษ์  สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนภายใต้มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน จ.เชียงใหม่  

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >