หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 96 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


พลังเกษตรกรเมืองเพชรฯ กับเครือข่ายเกษตรกร : ทางออกแห่งยุคสมัย พิมพ์
Tuesday, 22 August 2006

  

ภาพโดย เกริก ยุ้นพันธุ์

พลังเกษตรกรเมืองเพชรฯ
กับเครือข่ายเกษตรกร : ทางออกแห่งยุคสมัย

วรพจน์ สิงหา

ง่ายมากที่เราแต่ละคนจะพูดและเขียนคำว่า “เห็นใจคนยากจน” ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไปหรือแม้แต่คนที่ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนเองก็ตามที เพราะแต่ละคนส่วนใหญ่มีเงินเดือนเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง โดยไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจกับเรื่องของดินฟ้าอากาศที่กำลังแปรปรวน หรือไม่ต้องตกใจกับภาวะหนี้สินและดอกเบี้ยที่กำลังเพิ่มขึ้นอยู่ทุกขณะ

ซึ่งหลายครั้งคำว่า “คนยากจนหรือเกษตรกร” ได้กลายเป็นนโยบายหาเสียงของนักการเมืองเพียงเท่านั้น

เรื่องราวของเกษตรกรผู้ยากไร้ เป็นเรื่องที่คนไทยได้ยินได้ฟังกันมานานมากแล้ว และทุกวันนี้ ภาพของเกษตรกรไทยก็ยังเป็นเหมือนเดิม ไม่ว่าจะผลัดเปลี่ยนผู้นำกี่ยุคกี่สมัย รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าต่างชูประเด็น นโยบาย และสัญญาว่าจะสร้างหลักประกันให้กับเกษตรกรและคนยากจน แต่แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นเพียงการสร้างความทุกข์ให้กับชาวบ้านเพิ่มมากขึ้น


สมการความยากจน

การเมือง + ราชการ = การหลอกลวงประชาชน
หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยภายใต้นโยบายประชานิยมของนายกฯ ทักษิณ ได้สร้างความบอบช้ำให้กับคนยากจนและเกษตรกรผู้ยากไร้ ประชาชนส่วนใหญ่ได้เห็นถึงสัญญาณเตือนภัยจากปัญหามากมายที่เกิดขึ้นตามมาจากโครงการสารพัดเอื้ออาทรของรัฐบาล โดยเฉพาะปัญหาเรื่องหนี้สินของเกษตรกรและคนยากจนที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

จากจุดอ่อน รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการอัดฉีดเงินสู่หมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น การพักชำระหนี้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารประชาชน มีส่วนทำให้คนเป็นหนี้ยิ่งทียิ่งมากขึ้น เพราะฉะนั้น คำกล่าวอ้างในเรื่องการเข้าถึง “แหล่งทุน” ตามนโยบายรัฐบาล จึงกลายเป็นการเข้าถึง “แหล่งหนี้” มากกว่า

Imageกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรบุรี นับเป็นตัวอย่างที่ดีงามและเข้มแข็งในการช่วยเหลือกันเอง โดยนับจากเริ่มก่อตั้งกลุ่มเมื่อปี ๒๕๔๔  ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ ๑๐,๐๐๐  คน ที่เข้าร่วมในกลุ่มฟื้นฟูฯ แห่งนี้ ในระยะแรกของการก่อตั้งกลุ่ม ชาวบ้านเริ่มพูดคุยถึงเรื่องที่ทุกคนมีปัญหาคล้ายคลึงกัน ทั้งเรื่องหนี้สินและความยากจนจากโครงการของรัฐ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไร้ที่ทำกิน หรือมีที่ทำกินแต่ก็ถูกพ่อค้ากดราคา ไม่สามารถขายผลผลิตให้พอยังชีพได้ รวมถึงอีกหลายรายต้องสูญเสียที่ดินทำมาหากินที่เคยมีมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ

กลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรบุรี เคยทั้งเรียกร้องและรวมตัวกันเพื่อไปปิดศาลากลางจังหวัด และเมื่อปลายปี ๒๕๔๘ เกษตรกรกลุ่มฟื้นฟูฯ รวมทั้งเครือข่ายภาคกลาง ๑๑ จังหวัด และภาคอีสาน ๑๙ จังหวัด ร่วมเดินทางไปปิดทำเนียบรัฐบาล แต่การดำเนินการเพื่อช่วยเหลือกันเองของชาวบ้าน กลับถูกกล่าวหาจากผู้ไม่ประสงค์ดี ทั้งการทิ้งใบปลิวใส่ร้ายป้ายสี ไปจนถึงมีศัตรูมากมายทีสูญเสียผลประโยชน์ในด้านต่างๆ

Imageทรัพย์ วัฒนกุล ประธานกลุ่มเกษตรกรเมืองเพชรบุรี หนึ่งใน ๗๓ แกนนำเกษตรกรที่ถูกระบุว่าเป็นศัตรูของรัฐบาล กล่าวว่า รัฐบาลได้หยิบยกปัญหาหนี้สินของเกษตรกรเป็นเพียงนโยบายในการหาเสียง และเห็นความทุกข์ของเกษตรกรเป็นเพียงละครฉากหนึ่งในกระบวนการสร้างความนิยมให้กับรัฐบาล ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรยังคงมีอยู่ และเป็นเพียงการเริ่มต้นในการแก้ปัญหา ซึ่งน่าจะพัฒนาและแก้ไขได้มากกว่านี้

"นโยบายรัฐบาลของนายกฯ ทักษิณมีแต่คำพูด แต่ไม่มีการทำอะไรที่จริงจังในการช่วยเหลือเกษตรกรเลย คำพูดดีหมด นโยบายดีหมด แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามคำพูด นายกฯ ทักษิณดูถูกประชาชนและเกษตรกร เพราะรัฐบาลทักษิณโกหกชาวบ้านมาโดยตลอด ทั้งปัญหา FTA รวมถึงโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ล้วนแต่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องของบรรดานักการเมืองและนักธุรกิจทั้งนั้น สิ่งที่ร้ายแรงที่สุดคือ ชาวบ้านที่ยากจนไม่สามารถใช้ชีวิตที่พอเพียงได้เลย คนจนก็ยิ่งจนลง คนรวยก็ยิ่งรวยขึ้น”

Image“ปัญหาเกี่ยวกับเกษตรกรที่ติดขัดเวลานี้อยู่ที่ภาคการเมืองและบรรดาผู้เสียผลประโยชน์ นั่นคือสถาบันการเงินต่างๆ  ที่ค้าดอกเบี้ยเกษตรกรอยู่ และทุกวันนี้ปัญหามันมีเยอะ แต่รัฐบาลไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ กลับไปแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แม้กระทั่งเรื่องการใช้สารเคมี ซึ่งเป็นรายได้ของนักการเมืองที่นำสารเคมีเข้ามาสู่ประเทศไทย และมีการรณรงค์ให้ใช้สารเคมีเร่งผลิตผล ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของพวกเขา แต่พอชาวบ้านรณรงค์ให้ใช้ปุ๋ยชีวภาพ กลับถูกปิดกั้นว่ามันใช้ไม่ได้และเป็นอันตราย”

ในความคิดเห็นของประธานกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรบุรี บรรดานักการเมือง ตำรวจ หรือข้าราชการ เป็นลูกจ้างของประชาชน กินเงินภาษีของประชาชน พวกเขาให้สัญญาว่าจะดูแลทุกข์สุขของประชาชน “แต่พอคุณมีอำนาจ คุณกลับข่มเหงและทำร้ายประชาชน พวกชาวไร่ชาวนาก็มีศักดิ์ศรีเหมือนบรรดานักการเมืองในรัฐสภาทุกคน”


สมการภาคประชาชน

รวมตัว + ภูมิปัญญา = พลังเกษตรกร
นิมิตหมายที่ดีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยวันนี้คือ การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายเกษตรกรเพื่อช่วยเหลือกันและกัน เพราะพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศรู้แล้วว่า การไว้เนื้อเชื่อใจรัฐบาล นับเป็นการสร้างความเจ็บปวดให้กับตนเอง

Imageกิจ ผ่องภักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นที่ปรึกษากลุ่มเกษตรกรเมืองเพชรบุรี และเป็นตัวแทนเกษตรกรภาคกลาง กล่าวว่า “ถ้าเรารวมพลังเกษตรกรได้ เราจะมีอำนาจการต่อรองกับสถาบันการเงิน เกษตรกรไม่ได้ยากจนเพราะความขี้เกียจ แต่ที่พวกเขายากจน เป็นเพราะดอกเบี้ยและหนี้สิน เช่น เสียดอกเบี้ยร้อยละ ๘ ต่อปี แต่พอผิดสัญญา เขาปรับขึ้นเป็นร้อยละ ๑๑ หรือ ๑๒ หรือมากกว่านั้น และที่ผ่านมาสินค้าทางการเกษตรไม่เคยประกันราคาได้เลย พ่อค้าคนกลางเป็นคนกำหนดราคาให้เกษตรกรมาโดยตลอด เกษตรกรไม่มีสิทธิต่อรองใดๆ  เกษตรกรเป็นเพียงเครื่องมือของนักการเมืองในการเลือกตั้ง”

ในความเห็นของกิจ ผ่องภักดิ์ นโยบายที่ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้เป็นสิน มาจากกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งนำสารเคมี นำเมล็ดพันธุ์พืชที่เอื้อกับผลประโยชน์ของนายทุน เน้นการผลิตเพื่อส่งออก เร่งผลิตด้วยปริมาณมากๆ ทำให้กุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคม ที่หากินได้ ก็ตายไป และเมื่อสินค้ามากจนล้นตลาด สินค้าที่มีสารเคมีตกค้าง ต่างประเทศก็ตีกลับ

Image“เวลารัฐบาลหาเสียง พวกเขาใช้ปัญหาเกษตรกรมาอ้างทุกครั้ง และบอกว่าทำเพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน เวลาเปลี่ยนรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรฯ ต้องเปลี่ยนทุกครั้ง เราต่อสู้เพียงเพื่อต้องการเก็บที่ทำมาหากินไว้ให้ลูกหลานของเรา ซึ่งทุกวันนี้ ในเรื่องการศึกษา กระทรวงศึกษาฯ ก็ไม่เคยสอนให้เด็กกลับมาปลูกหอม กระเทียม กะเพรา โหระพา ไว้ในครัวเรือน แต่สอนให้เป็นมนุษย์เงินเดือนอย่างเดียวเท่านั้น”

บรรดานักการเมืองในรัฐสภาที่เราเห็น หรือคนที่เข้าไปบริหารงานเกี่ยวกับเรื่องเกษตรกร จะมีสักกี่คนที่เข้าใจหรือเกิดมาในครอบครัวของเกษตรกรอย่างแท้จริง ถ้าจะเป็นความชอบธรรมจริงๆ ต้องปรับเปลี่ยนสัดส่วนของคณะผู้บริหารของประเทศ เน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ซึ่งตัวแทนเกษตรกรภาคกลางคนนี้ ตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า “ทุกวันนี้ที่มีการประกาศถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติ มีทางเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน?”

อนิรุทธ์ ขาวสนิท ที่ปรึกษากลุ่มเกษตรกรเมืองเพชรบุรี กล่าวว่า การดำรงชีวิตของเกษตรกร วิธีคิดต่างจากสิ่งที่ร่ำเรียนมาในทางทฤษฎี อย่างวิถีชีวิตของเกษตรกรที่เพชรบุรี วิถีชีวิตผูกพันอยู่กับการทำไร่ ทำนา ทำสวน และเคยปลูกผักผสมผสาน แต่พอรัฐบาลและราชการสั่งให้ปลูกผักเชิงเดี่ยว เกษตรกรยิ่งมีหนี้สินเพิ่มขึ้น รวมทั้งการที่รัฐบาลและราชการระดมให้ชาวบ้านปลูกผักและผลิตสิ่งของแบบเดียวกันทั้งจังหวัด เวลาผลผลิตออกมา แต่ไม่มีตลาดกลางรองรับ สินค้าการเกษตรก็ล้นตลาด พอขายไม่ได้ หนี้สินที่ไปกู้ยืมมา พอถึงปีต้องชำระคืน ดอกทบต้น ต้นทบดอก ชาวบ้านก็กลัว ต้องไปกู้หนี้นอกระบบมาใช้ในระบบ พอถึงสิ้นเดือน หนี้นอกระบบก็ต้องใช้คืน ในระบบก็ต้องใช้คืน หนี้สินเลยสะสมจนท่วมตัว เกิดเป็นหนี้สินที่ใช้คืนไม่มีวันหมด

“ในประเทศไทย ไม่มีหรอกที่เกษตรกรจะเป็นผู้ที่โกงเงินของสถาบันการเงิน คนที่โกงส่วนใหญ่คือ คนที่ทำธุรกิจและเป็นคนที่มีความรู้ เกษตรกรเขาไม่มีความรู้มากนัก หลายคนไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เงินไม่เท่าไหร่เขาก็กลัวแล้ว และเขาจะโกงสถาบันการเงินต่างๆ ได้อย่างไร”

กลุ่มเกษตรกรเมืองเพชรฯ เริ่มก่อตั้งโดยใช้วิธีคิดและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้าน และให้ชาวบ้านดำเนินตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในเรื่องเกษตรพอเพียง ซึ่งการแก้ปัญหาความยากจน ถ้าหากเกิดจากเกษตรกรจริงๆ จะแก้ไขได้ แต่ถ้าการแก้ปัญหาเกิดจากรัฐบาล ปัญหาจะแก้ไขไม่ได้ เพราะแม้แต่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ เองก็ไม่รู้จักเรื่องการเกษตรเลย

Image“รัฐบาลนำโครงการทุกอย่างลงมาที่หมู่บ้าน แต่เอามาให้ชาวบ้านโดยใช้เงินเป็นตัวตั้ง เช่น กองทุนหมู่บ้าน ชาวบ้านเป็นหนี้อยู่แล้ว ต้องกู้เงินมาอีก ก็เป็นหนี้เพิ่มขึ้นอีก เพราะรัฐบาลไม่ได้หาทางแก้ว่าจะต้องทำอย่างไร ที่จะให้เกษตรกรอยู่รอดโดยที่ไม่ต้องกู้เงินมา”

ที่ปรึกษากลุ่มเกษตรกรเมืองเพชรบุรี บอกอีกว่า “วันนี้ เกษตรกรมากมายกำลังถูกยึดที่และไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วยอย่างจริงจัง นักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ไม่ใช่ผู้นำชุมชน แต่กลับเป็นคนที่รัฐบาลสั่งมา ตอนเขาได้รับเลือกตั้ง ประกาศบอกว่าจะช่วยเหลือเกษตรกร จะช่วยเหลือชาวบ้าน แต่พอได้รับเลือกตั้งแล้ว ก็ถูกอำนาจเบื้องบนสั่งลงมาและมาข่มขู่ชาวบ้าน”

“รัฐบาลประกาศว่า ถ้าประชาชนไม่ไปเลือกตั้ง ส.ส. หรือ ส.ว. จะเสียสิทธิไป ๔ ปี ๖ ปี แต่พอประชาชนไปเลือกตั้งแล้ว แต่ผู้แทนกลับไม่รักษาผลประโยชน์ของชาวบ้าน ไม่ทำตามที่ได้สัญญาไว้ ซึ่งจะมีประโยชน์อะไร ระบอบประชาธิปไตย ประชาชนไม่ได้มีสิทธิแค่วันเลือกตั้ง แต่ประชาชนมีสิทธิตลอดเวลา ไม่ใช่มีสิทธิเพียง ๒ นาที ในการกาบัตรเลือกตั้ง แต่ต้องปวดร้าวไปอีก ๔ ปี”

Image“ตอนคุณหาเสียง คุณยกมือไหว้ชาวบ้านปะหลกๆ  คุณบอกว่าจะช่วยชาวบ้าน แต่วันที่ชาวบ้านเดือดร้อนจริงๆ คุณกลับไม่ช่วยพวกเขาเลย ตอนเข้ามาหาชาวบ้าน พวกเขาพกนโยบายหลอกหลอนชาวบ้านมามากมาย และมีหลายครั้งที่กลุ่มฟื้นฟูเมืองเพชรฯ จะถูกตำรวจจับในเรื่องการก่อม็อบ ผมถามว่า วันนี้คุณหาทางออกให้ชาวบ้านหรือยัง วันนี้คุณห้ามไม่ให้พวกผมเข้ามา แต่ว่าชาวบ้านที่เขาเดือดร้อนจากการถูกยึดที่ คุณหาทางแก้ไขและช่วยเหลือเขาหรือเปล่า เขาไม่มีที่อยู่ ที่ดินที่เป็นของปู่ย่าตายาย กลับถูกสถาบันการเงินยึด ช่วยเหลือเขาบ้างหรือเปล่า”

เขาเล่าอีกว่า เมื่อเงินกองทุนหมู่บ้านลงมา แต่เงินไม่เคยถึงชาวบ้าน เพราะผลประโยชน์ตกอยู่กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักเลงท้องถิ่น เขาจะจัดการให้แต่พวกพ้องของเขาเอง ชาวบ้านก็กลัวที่จะเรียกร้องสิทธิ คนที่ได้เงินกลับเป็นคนรวยและคนที่มีเส้นสายหรือมีอิทธิพล ทั้งๆ ที่เงินกองทุนหมู่บ้านเป็นเงินภาษีของประชาชน  ยกตัวอย่าง รัฐบาลให้เงินหมู่บ้านละล้าน จังหวัดหนึ่งมีหลายหมู่บ้าน ทำไมไม่หมุนเงินกองทุนหมู่บ้าน ให้เข้ามาอยู่ในกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร เพื่อที่จะซื้อหนี้เกษตรกรที่ถูกขายทอดตลาด คนที่ไม่มีที่ทำกิน ก็จะกลับมามีที่ทำกินอีกครั้ง โดยให้ผ่อนชำระ โดยไม่ต้องถูกยึดที่ ไม่ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ ทำไมรัฐบาลไม่ทำ

“หลายครั้งรัฐบาลบอกชาวบ้านว่า ถ้าชาวบ้านไม่มีเงินหมุน ไม่มีเงินกู้ ชาวบ้านจะอยู่ไม่ได้ โดยที่เขาไม่เคยรู้และเข้าใจเลยว่าวิถีชีวิตของชาวบ้าน ๓ เดือน ๖ เดือนถึงจะได้เกี่ยวข้าว แต่บรรดานักธุรกิจนั้น พวกเขาใช้เงินหมุนรายวัน เพื่อใช้เงินทำธุรกิจ อย่างนี้พวกเขาอยู่โดยใช้เงินกู้มาหมุนได้ แต่เกษตรกรไม่ใช่ เพราะเกษตรกรไม่ได้ดำเนินชีวิตโดยใช้เงินเหมือนนักธุรกิจ”


เสียงสะอื้นของเกษตรกร

ป้าลำจวน วัย ๖๐ ปี สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรบุรีตั้งแต่เริ่มต้น กล่าวว่า รัฐบาลทักษิณบอกว่าจะช่วยคนจน แต่คนจนจริงๆ ไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรเลย เขาเอาเงินมาลงท้องถิ่นจริง แต่ไม่ได้เอาเงินมาช่วยเหลือคนจน มีเพียงคนรวยเท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์จากเงินที่รัฐบาลเอาลงมา

“ลงทะเบียนคนจน ป้าก็ไปลงทะเบียนมาแล้ว แต่ไม่ได้เลย เขาให้เราจดรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้สิน และต้องการหลักทรัพย์ต่างๆ ถามว่าคนจนจะหาหลักทรัพย์ที่ไหนมา เขาไม่ได้ช่วยเหลือคนจนจริงๆ ได้แต่หลอกเราไปวันๆ”

Imageป้าลำจวนพูดด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ ว่า “คนเขาไม่เข้าใจชาวไร่ชาวนา อย่างเขามีเงินเดือนหลายหมื่นหลายแสน น้ำท่วมก็ยังมีเงินเดือน แต่ชาวบ้านไม่มี เพราะที่นาที่ไร่คือที่ทำมาหากิน เมื่อน้ำท่วม ชาวบ้านจะเอาเงินที่ไหน เงินเดือนก็ไม่มี ต้องเป็นหนี้เป็นสิน เป็นหนี้แล้วเป็นหนี้อีก”

ชีวิตที่ทุกข์ยาก ทำให้หลายครั้งป้าลำจวนและพี่น้องกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรฯ ต้องมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องและทวงถามถึงสิทธิของตนเองจากรัฐบาล ร่วมชุมนุมที่สนามหลวงและบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า แต่ชะตากรรมของคนทุกข์ยากไม่อนุญาตให้ชีวิตเรียบง่ายอย่างที่ตั้งหวัง เพราะในขณะที่ป้าลำจวนเรียกร้องอยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่อกลับมาบ้าน พี่สาวของป้าลำจวน ซึ่งเป็นอัมพาตมากว่า ๒๐ ปี ได้นอนเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน

“ป้าไปที่หน้าทำเนียบ ลานพระบรมรูปฯ ไปเพื่ออยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเรา ป้าทิ้งพี่สาวไปจนตาย แกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นอัมพาต ต้องอาบน้ำ ป้อนข้าว ป้อนน้ำ ต้องคอยพลิกตัวตลอดเวลา กระดิกตัวไม่ได้มาตลอด ๒๐ ปี เมื่อไม่มีใครอยู่ที่บ้าน จึงหาอะไรกินไม่ได้ ฉี่นองพื้น กลับมาตัวแข็งทื่อ นอนตายอยู่ที่บ้าน” ป้าลำจวนพูดด้วยน้ำเสียงปนสะอื้น

และสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดคือ มีคนถามป้าลำจวนว่า “ใครจ้างมาประท้วง และได้เงินเท่าไหร่”

Imageป้าทองเพียร วัย ๕๕ ปี เป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรฯ กล่าวถึงเงินจากรัฐบาลที่ลงสู่หมู่บ้านว่า “เอาเงินมาช่วยเหลือคนจน หรือจะมาฆ่าคนจน ฉันว่าเอาเงินมาฆ่าคนจนมากกว่า ให้คนจนเป็นหนี้หนักขึ้นไปอีก ถ้าคืนไม่ทันก็ต้องติดคุก รัฐบาลทำได้อย่างไรแบบนี้ มีแต่นโยบาย แต่พอปฏิบัติจริงแล้ว ชาวบ้านเดือดร้อน และยิ่งจนลง”

ป้าทองเพียรก็เหมือนกับป้าลำจวน คือร่วมเดินทางไปทวงสัญญากับรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลเคยให้คำมั่นสัญญากับชาวบ้านว่าจะช่วยเหลือ แต่ผลที่เกิดขึ้นคือการไม่รักษาสัญญาในทางปฏิบัติ หลายครั้งที่ชาวบ้านไปเรียกร้องสิทธิ แต่รัฐบาลกลับกล่าวหาว่าชาวบ้านไปสร้างความเดือดร้อนและความยุ่งยากให้เกิดขึ้นในประเทศ “เราไปเพื่อเรียกร้องสิทธิของเรา เข้าไปกรุงเทพฯ ชาวบ้านก็ถูกหาว่าโดนจ้างมา หลายคนบอกว่าพวกเราสร้างความเดือดร้อนให้บ้านเมือง เราไม่ได้ไปขอเงิน แต่เราไปทวงสิทธิของเรา”

ป้าทองเพียรพูดให้ฟังว่า “รัฐบาลกล่าวหาคนจนว่าเป็นหนี้สินและยากจนเพราะเล่นหวย ยากจนเพราะกินเหล้า ลองคิดดูว่า เดี๋ยวนี้เงิน ๑๐๐ บาท ทำอะไรได้บ้าง ออกจากบ้าน ค่ารถ ค่าข้าว ก็เกือบหมดแล้ว เศรษฐกิจเป็นอย่างไร และหวยมาจากไหน เขาไม่เคยจน เขาไม่รู้ว่าความจนเป็นอย่างไร”

“เวลาสมัครผู้แทนก็กราบไหว้เราอย่างดี แต่เวลาเดือดร้อนจริงๆ  เขาไม่เคยช่วยเหลือเราเลย เวลาที่เขาได้ตำแหน่งแล้ว เขาไม่เคยช่วยเหลือเราจริงๆ เขาไม่เห็นคุณค่าของคนจน เวลาติดต่อกับรัฐบาล เหมือนเขาหลอกชาวบ้านไปวันๆ  ชาวบ้านหลายคนเบื่อหน่ายและถอยออกไปจากกลุ่ม เพราะเบื่อหน่ายที่ต้องจะรอคอย และถูกหลอกอยู่เสมอ เรื่องถูกเก็บถูกวางไว้เฉยๆ  โดยไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ”


เครือข่ายเกษตรกร : ทางออกแห่งยุคสมัย

ในยุคทุนนิยม ชนบทไทยได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเงินทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่บรรดาผู้มีเงินทุน ธนาคารพาณิชย์ หรือแหล่งสะสมเงินทุนใหญ่มักประสบผลสำเร็จในการสร้างความร่ำรวยหรือดำเนินธุรกิจไปได้ด้วยดี แต่ประชาชนส่วนใหญ่ในชนบทกลับไม่มีเงินทุน ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ว่าจะกี่แผนมาแล้ว ได้มองข้ามความสำคัญในการสร้างฐานเงินทุนขึ้นในหมู่บ้าน เพื่อเป็นแหล่งเงินกู้และพัฒนาชีวิตชาวบ้าน แต่กลับไปให้ความสำคัญกับวิธีการส่งเสริมการผลิตให้มาก เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร ผลที่เกิดขึ้นคือ การนำพาเกษตรกรทั่วประเทศไปสู่การแข่งขันกันผลิตโดยไม่รู้ตัว ทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นในท้องตลาด และเปิดช่องทางให้พ่อค้าคนกลางกอบโกยเอากำไร ในขณะที่ชาวบ้านกลับมีฐานะย่ำแย่ลง

ขอขอบคุณ กลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชร เอื้อเฟื้อภาพประกอบทรัพย์ วัฒนกุล ยกตัวอย่างว่า “ตัวเกษตรกรเองนั้น โดยทั่วไปแล้วมีเงินทุนอยู่น้อยหรือไม่มีเลย การดำรงชีวิตก็มาจากการทำกินปลูกพืชเลี้ยงสัตว์บนที่ดิน แล้วอาศัยแรงงานช่วยให้พืชหรือสัตว์ออกผลออกลูก นำไปขายเลี้ยงชีวิต ส่วนฐานะทางการเงินที่เก็บออมไว้มีอยู่น้อยมาก ซึ่งต้องใช้แรงกายไปรับจ้างทำงานแลกกับเงิน”

กิจ ผ่องภักดิ์ บอกว่า “การพัฒนาชนบท รัฐบาลต้องสนใจสร้างฐานเงินทุนขึ้นในหมู่บ้านก่อน เพื่อเป็นหลักประกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น และแหล่งเงินทุนในหมู่บ้านให้เกษตรพึ่งพิงได้ การจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านหรือกลุ่มออมทรัพย์จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อสร้างความมั่งคั่งขึ้นในหมู่บ้าน เป็นแหล่งเงินกู้เพื่อเพิ่มผลผลิต พัฒนาเศรษฐกิจและชุมชนหมู่บ้านในด้านต่างๆ โดยเจ้าของธนาคารหมู่บ้านและเงินทุนคือชาวบ้าน”

นอกจากการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ซึ่งเป็นวิธีการระดมทุนจากชาวบ้านคนละเล็กละน้อยมารวมกันเป็นก้อนใหญ่ กลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรบุรี ได้ดำเนินโครงการมากมายในการพึ่งตนเอง ทั้ง การผลิตแชมพูสมุนไพร ปุ๋ยชีวภาพ น้ำยาล้างจาน โดยมีคนในกลุ่มช่วยสอนกันเอง รวมถึงการทำแผนแม่บทชุมชน ให้ความรู้ชาวบ้าน เรื่องเกษตรพอเพียง และชาวบ้านพยายามลดต้นทุนในการผลิต โดยไม่ใช้สารเคมี ใครมีขี้วัวก็ใช้ขี้วัวในการทำปุ๋ย ใครมีเศษผักก็ไปซื้อกากน้ำตาลมาทำน้ำหมักชีวภาพ ใครมีสมุนไพรตามท้องถิ่นก็นำมาใช้ หรือต้นอะไรก็ได้ที่หนอนและแมลงไม่กิน นั่นคือยาไล่แมลงอย่างดี  โดยไม่ได้ฆ่าแมลงแม้แต่ตัวเดียว

Imageสิ่งสำคัญก็คือ เกษตรกรเมืองเพชรบุรีพยายามสร้างเครือข่ายกับเกษตรกรจากทั่วประเทศ เพราะเครือข่ายเกษตรกรไม่ได้อยู่ภาคกลางเท่านั้น แต่เชื่อมโยงถึงกันทั้งประเทศ โดยเฉพาะในปัจจุบัน กลุ่มเกษตรกรเมืองเพชรฯ กำลังมีโครงการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างเครือข่ายเกษตรกร เช่น ทางกลุ่มแม่กลองมีเกลือและน้ำปลา  ทางเพชรบุรีมีมะนาว มีข้าว ก็นำมาแลกเปลี่ยนกัน หรือเดินทางไปเรียนรู้ระหว่างกลุ่มเกษตรต่างๆ ที่อยู่ทั่วประเทศ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรเมืองเพชรฯ เชื่อว่านี่คือ “ทางออกของเกษตรกร” และจะช่วยบรรเทาทุกข์ รวมถึงร่วมช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกรที่อยู่ตามจังหวัดต่างๆ

ทุกวันนี้ เราคงได้ยินได้ฟังคำว่า “การกระจายอำนาจสู่ชุมชน” อย่างหนาหู ทั้งการเสแสร้งในรัฐสภา หรือแม้กระทั่งการถกเถียงกันตามหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร รวมทั้งในอินเตอร์เน็ต แต่สิ่งเหล่านี้หากยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ก็เป็นเพียงรูปแบบที่ไร้จิตวิญญาณแห่งชุมชนที่แท้จริง

ในขณะที่ชาวบ้านจากกลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรบุรีและเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศพยายาม “ปฏิบัติ” และสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกันและกัน สิ่งนี้เป็นพลังของชาวบ้านเพื่อลบคราบน้ำตาเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน และนี่คือ “พลัง” ที่จะแปรเปลี่ยนความทุกข์ยากของเกษตรกร มากกว่าคำพูดที่ไร้ค่าของบรรดานักการเมือง และอีกหลายคนที่ไม่เคยเข้าใจความทุกข์ยากของพี่น้องชาวบ้านผู้ยากจนอย่างแท้จริง

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >