หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 83 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


นักเคลื่อนไหวทางการเมือง กับ การเมืองของภาคประชาชน พิมพ์
Thursday, 13 July 2006


ธัญลักษณ์  นวลักษณกวี สัมภาษณ์

นักเคลื่อนไหวทางการเมือง

กับ

การเมืองของภาคประชาชน

Image

คุณพิภพ  ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ถือได้ว่าเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองแถวหน้าของไทย ซึ่งมีบทบาทในขบวนการภาคประชาชน เรียกร้องประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลายตำแหน่งข้างต้นคงยืนยันตัวตนที่ชัดเจนได้เป็นอย่างดี

"ผู้ไถ่" ฉบับนี้ นำคุณร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม โดยร่วมรับรู้ว่า ทำไมเราทุกคนจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองภาคประชาชน ผ่านความคิด ทรรศนะ ของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองท่านนี้ 


บทบาทของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อการมีส่วนร่วม

คนไทยไม่เคยหยุดนิ่งต่อการเคลื่อนไหวเพื่อมีส่วนร่วมทางการเมืองและการพัฒนาประเทศ คำว่ามีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ได้หมายถึงว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือเข้าไปเล่นการเมืองในระบบรัฐสภา แต่การที่คิดว่าบ้านเมืองไม่ได้เป็นของใคร คนหนุ่มสาวและคนที่ทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนรุ่นใหม่ รวมทั้งนักวิชาการ ขอมีส่วนร่วมตลอดเวลา ถึงแม้ว่ารัฐบาลนายกฯ ทักษิณ  ชินวัตร จะมีทีท่าไม่อยากให้นักวิชาการ เอ็นจีโอ องค์กรชาวบ้าน หรือองค์กรทางศาสนา มีส่วนร่วมทางการเมืองและการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งนโยบายของรัฐก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถจะยับยั้งได้ การต่อสู้ทางการเมืองถ้านับเหตุการณ์ 14 ตุลา ถือว่าเปิดมิติที่กว้างทำให้จิตสำนึกในเรื่องสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองหรือทางสังคมซึมลึกเข้าไป ยากที่รัฐบาลใดจะหยุดยั้งได้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลทักษิณจะพยายามทุกวิถีทาง รวมถึงการปิดกั้นสื่อมวลชน แต่ก็ไม่สามารถจะปิดสนิทได้

ถึงแม้ความรู้สึกภาพรวมๆ ดูเหมือนหยุดชะงักในสมัยรัฐบาลทักษิณปีที่ 3 ปีที่ 4  แต่ที่จริงแล้วการเคลื่อนไหวมีเป็นกระแสเล็กๆ ในหลายจุดทั่วประเทศมากกว่าสมัยรัฐบาลชวนเสียอีก เพียงแต่ว่าการเคลื่อนไหวใหญ่ในกรุงเทพฯ อาจจะมีน้อย เช่น การประท้วงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แค่นั้น แต่โดยรวมของประเทศมีการเคลื่อนไหวที่จะขอกำหนดวิถีชีวิตและการพัฒนาที่ไปกระทบวิถีชีวิต ชุมชน มีทุกจุด การตายในสมัยรัฐบาลทักษิณคงไม่เกิดขึ้นตั้ง 16 - 17 คน ก็แสดงว่าประชาชนไม่หยุดการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นกรณีเหมืองแร่โปแตซ เกษตรกรรายย่อยที่ภาคเหนือ สมัชชาคนจน กรณีเขื่อน จีเอ็มโอ เอฟทีเอ ก็เคลื่อนไหวกันตลอด

ในระดับกรุงเทพฯ นักวิชาการก็ออกมาเคลื่อนไหวหนักกว่าสมัยรัฐบาลชวนเสียอีก ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งมีการวิจัย ผลการวิจัยโต้ตอบนโยบายประชานิยมจอมปลอมของรัฐบาลทักษิณว่าจะก่อให้เกิดภาวะหนี้สิน และไปทำลายความเข้มแข็งของประชาชน รวมทั้งการลงคะแนนเสียงล่าสุดในการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ก็เป็นการเคลื่อนไหวของพลังเงียบที่ต้องการบอกกับคุณทักษิณว่า การใช้อำนาจไม่เป็นธรรม การมีผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้ท่าทีก้าวร้าวและไม่ฟังใคร เป็นสิ่งที่คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ รับไม่ได้ ก็โดนโต้ตอบโดยการลงคะแนนเสียงให้คุณอภิรักษ์ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า 100% ได้คะแนนเสียง 9 แสนกว่าคะแนน จะนิยมชมชอบคุณอภิรักษ์หรือประชาธิปัตย์ แต่ส่วนหนึ่งเป็นการลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์ คือแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบท่าทีของรัฐบาล เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ภาคประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดการเปลี่ยนแปลง ประชาชนไม่เคยจนมุม


ผลงานเข้าตา แต่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม

ต้องยอมรับว่านโยบายระยะแรกเป็นที่ต้องการของประชาชน เพราะหลายนโยบายของรัฐบาลประยุกต์มาจากนโยบายที่ข้าราชการหัวก้าวหน้าทำอยู่ เช่น ในกระทรวงสาธารณสุขมีการทดลองเรื่องการรักษาโรคที่มีราคาถูกแต่ไม่ได้หมายถึง 30 บาท ซึ่งทดลองอยู่ที่โรงพยาบาลต่างๆ ยังไม่ได้คิดจะทำทั้งประเทศ แต่ทักษิณเก่งที่เอามาเป็น 30 บาท  นโยบายเกี่ยวกับการเกษตร การแก้ไขปัญหาระยะแรกก็เป็นนโยบายการพัฒนาที่เอ็นจีโอทำมาตลอด 25 ปี ซึ่งรัฐบาลทักษิณก็เอาผลงานของเอ็นจีโอมาทำเป็นนโยบายในระยะแรก

แต่ข้อดีของรัฐบาลทักษิณก็คือ มีความฉับไว มีนโยบายเป็นของตัวเองโดยไม่ให้ข้าราชการเป็นตัวกำหนดนโยบายโดยเฉพาะพวกเทคโนแครตหรือนักวิชาการขุนนางที่อยู่ในสภาพัฒน์ ซึ่งเป็นข้อดีที่เปิดมิติใหม่ทางการเมืองว่าพรรคการเมืองต้องมีนโยบาย เพราะแต่ก่อนพรรคการเมืองส่วนใหญ่อาศัยนโยบายของสภาพัฒน์ ประเทศไทยถูกข้าราชการชี้นำนโยบายมาตลอด

ด้านผลเสียก็มากมาย ทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นผู้อาศัยหรือเป็นผู้ถูกกระทำโดยไม่มีพลังที่จะไม่เห็นด้วย ทักษิณแสดงความเป็นผู้นำ พอมาวันนี้รู้สึกว่าสภาวะความเป็นผู้นำของทักษิณก่อให้เกิดปัญหากับระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ระยะแรกผมว่าคนไทยต้องการภาวะความเป็นผู้นำเพราะเรียกร้องมาตลอด สังเกตว่าคนไทยจะเรียกร้องภาวะความเป็นผู้นำแทนจอมพลสฤษฎิ์ ซึ่งอยู่ในลักษณะเผด็จการทหาร แต่คนไทยอยากให้มีลักษณะผู้นำอยู่ในระบบประชาธิปไตย แต่คุณทักษิณซึ่งอยู่ในระบบประชาธิปไตยกลับแสดงภาวะความเป็นผู้นำที่ขัดแย้งกับระบบประชาธิปไตยโดยปฏิเสธหรือเมินเฉยกับขบวนการตรวจสอบขององค์กรอิสระทั้งหมดในรัฐธรรมนูญ เมินเฉยต่อการมีส่วนร่วม เมินเฉยต่อบทบาทของวุฒิสภา และไม่เพียงเมินเฉย แต่ยังเข้าไปแทรกแซงให้เป็นเครื่องมือของนายกฯ ของรัฐ ว่าจะต้องทำตามนโยบายของรัฐและมติของคณะรัฐมนตรีโดยไม่ขัดขวาง ทำให้ขบวนการตรวจสอบของรัฐสภาและองค์กรอิสระอ่อนยวบยาบ การมีส่วนร่วมทางการเมืองและตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เรียกว่า การเมืองของพลเมืองหรือการเมืองภาคประชาชน ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมตามที่รัฐธรรมนูญได้ออกแบบไว้

เรื่องเอฟทีเอ ประชาชนจะเริ่มต่อต้านรัฐบาลเมื่อการลงนามไปแล้วมีผลในทางปฏิบัติ เช่น กรณีที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือ เห็นชัดแล้วว่าเริ่มมีผลในทางปฏิบัติ ไปกระทบเกษตรกร ส่วนทางภาคกลางจะไปกระทบวัวนม เมื่อถึงเวลานั้นรัฐบาลจะอยู่ในฐานะลำบาก กรณีจีเอ็มโอ ถือว่ามีปฏิกิริยาเร็วมาก เพราะว่ามีผลกระทบต่อการส่งออก มีการโต้กลับจากอียู ดังนั้นจึงแล้วแต่ว่าประเด็นไหนประชาชนเห็นผลกระทบเร็ว ประชาชนก็จะลุกขึ้นมาโต้ตอบรัฐบาลหรือเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐบาล บางประเด็นที่เห็นช้าต้องรอให้เห็นผลก่อนจึงจะลุกขึ้นมาโต้ตอบ เมื่อใดที่ประชาชนเห็นประเด็นชัด เขาพร้อมจะลุกมาขับเคลื่อน เคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อโต้ตอบนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ฟังเสียงประชาชนหรือนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน


นโยบายประชานิยมจอมปลอม

นโยบายประชานิยม นักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่าเป็นประชานิยมจอมปลอม คำว่า 'จอมปลอม' หมายความว่า ให้คนนิยมเท่านั้นเอง ให้ประชาชนนิยมโดยใช้การหว่านเงินลงไป แต่การหว่านเงินนั้นไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือทำให้ประชาชนสามารถเป็นตัวของตัวเอง กำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ กลับกลายเป็นทาสของเงิน ทาสของวัตถุ ทาสของนักการเมือง เขาถึงเรียกว่า "ประชานิยมจอมปลอม" ซึ่งก่อให้เกิดหนี้สินมาก นโยบายประชานิยมซึ่งลงไปกับประชาชนระดับล่างต้องดูว่าประชาชนระดับล่างดีขึ้นจริงหรือไม่ในระยะยาว ไม่ใช่ดีขึ้นเพียงระยะสั้น อาจจะดูว่าประชาชนมีมือถือ แต่มันเกินความจำเป็นหรือไม่ ขณะที่รัฐบาลน่าจะบริการโทรศัพท์เข้าไปตามบ้านต่างๆ ให้มาก กลับให้ประชาชนต้องไปพึ่งมือถือ หรือแทนที่จะบริการขนส่งมวลชนให้มาก กลับทำให้ประชาชนไปพึ่งการใช้รถปิ๊กอัพหรือมอเตอร์ไซด์ กระตุ้นการบริโภคอย่างมากมาย ขณะที่รัฐบาลหว่านเงินลงไปมากมาย ผลลัพธ์คือประชาชนจ่ายมาก เป็นหนี้มากขึ้น แต่กลุ่มทุนในกรุงเทพฯ กลับได้กำไรจากการทำมาหากินจากนโยบายประชานิยมที่ลงไป


กรณียายไฮไม่ได้แสดงว่าขบวนการประชาชนอ่อนแอ การสู้อย่างโดดเดี่ยวไม่ใช่คำตอบของความสำเร็จเสมอไป

Imageถ้ายายไฮไม่ได้ต่อสู้มา 20 กว่าปี สื่อมวลชนก็คงไม่สนใจ ที่แน่นอนคือทีวีมีอิทธิพล เมื่อทีวีโฟกัสเฉพาะจุดเล็กๆ ของยายไฮเลยกลายเป็นประเด็นทางจริยธรรมที่รัฐบาลได้ละเลย แล้วข้อต่อสู้เรียกร้องของยายไฮก็เป็นข้อเรียกร้องที่บริสุทธิ์ ต่อสู้เพื่อขอให้เอาที่นาคืนมา แต่ไม่ได้หมายความว่าขบวนการประชาชนอ่อนแอ ถ้ายายไฮไม่ได้เติบโตในขบวนการประชาชน ยายไฮจะเข้มแข็งขนาดนี้หรือ อาจจะยอมแพ้ตั้งแต่เมื่อไรแล้วก็ได้ 

การแก้ปัญหายายไฮไม่ได้แก้ปัญหาองค์รวม แต่อาจจะทำให้ประชาชนรู้สึกดีขึ้นกับรัฐบาล รัฐบาลชอบแก้ปัญหาสิ่งที่เป็นการเอาคะแนนเสียงทางการเมือง ประชาชนจำนวนมากมีความเดือดร้อนแต่ไม่สามารถออกโทรทัศน์ได้ ไม่สามารถดึงคะแนนเสียงรัฐบาลได้จึงไม่ไปแก้ปัญหา จะเห็นได้ว่าศักยภาพของรัฐบาลสามารถทำได้ถ้าอยากจะแก้ปัญหา แต่เพราะปัญหาเหล่านั้นไม่ได้เป็นปัญหาที่สาธารณชนสนใจ ไม่ก่อให้เกิดคะแนนเสียง สิ่งที่รัฐบาลทำไปไม่ใช่เห็นคุณค่าหรือเห็นปัญหาของยายไฮ กรณีของยายไฮไม่ได้ไปกระทบกับกลุ่มทุนของรัฐบาลเลย แต่กระทบจริยธรรมของข้าราชการในพื้นที่ซึ่งเอารัดเอาเปรียบและดูถูกประชาชนเป็นปัญหาของระบบราชการซึ่งไม่เคยแก้ เพราะฉะนั้นการสู้อย่างโดดเดี่ยวแล้วจะได้ความสนใจมากกว่านั้นไม่จริงเสมอไป


ถ้าคนชั้นกลางเข้าใจคนยากจน พลังการเมืองภาคประชาชนจะเติบโตกว่านี้

จะเห็นได้ว่ากระแส "รู้ทันทักษิณ" ต้องการไม่ให้นายกฯ ทักษิณมีอำนาจต่อ รุนแรงกว่าสมัยจอมพลถนอม จอมพลประภาส รุนแรงกว่าสมัย รสช. แสดงว่าประชาชนคนไทยไม่ได้โง่ คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ไม่ได้โง่ แต่คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ไม่พยายามยอมรับคนยากจนในชนบทจึงเป็นจุดอ่อนของสังคมไทย ปล่อยให้คนชนบทยอมรับชะตากรรมจากการพัฒนาที่คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ได้ประโยชน์ คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ จะเข้าใจก็ต่อเมื่อผลกระทบมากระทบกับตัว เช่น คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมคนที่ จ.กาญจนบุรี หรือที่    อ.จะนะ ต่อต้านการก่อสร้างท่อแยกก๊าซ และโรงงานแยกก๊าซที่ไปตั้งในชุมชนของเขา แต่เขาจะเข้าใจทันทีเมื่อท่อก๊าซผ่านชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ  เขาเข้าใจทันทีที่รถไฟฟ้าได้ก่อสร้างโดยที่ไม่ได้บอกเลยว่าจะมีสถานีอยู่ตรงไหนบ้าง เช่น กรณีที่โรงเรียนมาแตร์ฯ ลุกขึ้นมาต่อต้าน หรือการที่คนชั้นกลางที่ราชบุรีลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องสะพานข้ามอ่าว ถ้าคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เข้าใจคนยากจน พลังทางการเมืองภาคประชาชนจะเติบโตยิ่งกว่านี้เป็น 10 เท่า


รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน - ช่องโหว่ที่เปิดให้รัฐบาลอำนาจนิยม

รัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดโอกาสให้คุณทักษิณมีอำนาจมากขนาดนั้น แต่ตั้งใจให้รัฐบาลแข็งแรง ขณะที่รัฐบาลแข็งแรงแล้ว และนายกรัฐมนตรีมีภาวะผู้นำแล้ว รัฐธรรมนูญก็ตั้งใจให้มีองค์กรอิสระ มีอำนาจและให้สภานิติบัญญัติ วุฒิสมาชิกคานอำนาจ แต่ปรากฏเอาเข้าจริงแล้ว รัฐธรรมนูญได้ทำให้เกิดช่องทางที่เกิดรัฐบาลซึ่งขาดจริยธรรมหรือผู้นำที่ขาดจริยธรรมทางการเมืองและไม่มีความคิดแบบประชาธิปไตย เข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระ ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีที่เราได้นายกฯ ที่มีเงินและใช้อำนาจโดยไม่ยั้งคิด อาศัยช่องโหว่ที่รัฐธรรมนูญมีอยู่เข้าไปแทรกได้ เช่น รัฐธรรมนูญวางไว้ว่าให้ ส.ส.มี 200 คน จึงจะอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีได้ แต่พรรคไทยรักไทยมีคะแนนเสียงมากกว่า ฝ่ายค้านจึงไม่สามารถตรวจสอบนายกรัฐมนตรีได้  และขณะนี้นายกฯ ทักษิณ พยายามจะทำให้ได้คะแนนเสียง 400 เสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบนายกฯ ได้เลย ดังนั้นขึ้นอยู่กับประชาชนคนไทยแล้วที่จะตัดสิน


กรณีสุภิญญา  กลางณรงค์ ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนธุรกิจครอบครัวนายกฯ

เขาเริ่มหวั่นไหวว่าสิ่งที่เขาทำถูกจับตามองจากประชาชน และอาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน มีนโยบายที่เอื้อกับบริษัทในเครือของคนที่บริหารประเทศชาติ จึงใช้วิธีการฟ้องร้องเพื่อจะหยุดยั้งการเคลื่อนไหว รวมทั้งทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบชะงักงันเพราะถูกนำตัวเข้าสู่คดีของศาล ทำให้ประชาชนที่อยากจะตรวจสอบเรื่องนี้ต้องไปติดร่างแหอยู่กับคดีทำให้เกิดการพะรุงพะรัง และทำให้ฝ่ายประชาชนที่ร้องเรียนเรื่องนี้เหลือไม่กี่คน และไม่กล้าตรวจสอบ

ดังนั้นกระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจะต้องทบทวนเรื่องนี้ ผมทราบว่าอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังจะเริ่มทบทวนประเด็นนี้เพื่อเสนอต่อสังคมและรัฐบาลว่า ขบวนการยุติธรรมจะต้องปรับตัวอย่างไรเมื่อเรายุให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ปปช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ก็ยุให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและตรวจสอบเรื่องธุรกิจคอร์รัปชั่น รัฐธรรมนูญก็ยุ แต่ขบวนการยุติธรรมและกฎหมายลูกกฎหมายเก่ากลับปิดกั้น เปิดโอกาสให้มีการฟ้องร้องหมิ่นประมาทได้อย่างรุนแรง เพราะฉะนั้นต้องแก้ไขกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายทั้งระบบ


ปรับตัวรับ "ขาลง" ชูนโยบายเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น รับการเลือกตั้งครั้งหน้า

 4 ปีที่เป็นรัฐบาลมา แสดงว่าคุณทักษิณไม่ได้ต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชน กฎหมายรัฐบาลชุดนี้ออกน้อยที่สุด โดยเฉพาะกฎหมายกระบวนการมีส่วนร่วมซึ่งไม่ได้พยายามแก้ไขเพิ่มเติม ระเบียบประชาพิจารณ์ยังอยู่ในสำนักนายกฯ ยังไม่มีกฎหมายรับรองออกมาเลย หรือกฎหมายข้อมูลข่าวสารซึ่งออกมาสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต รัฐบาลก็ไม่ได้ขยับตัวเปลี่ยนแปลงให้เป็นองค์กรอิสระที่มีการเข้าถึงของประชาชนมากขึ้น เพราะฉะนั้นนี่เป็นนโยบายหาเสียงเท่านั้นเอง

ตอนนี้คุณทักษิณเชื่อไม่ได้เพราะรัฐบาลนี้เสนอนโยบายประชานิยมเพื่อสะกดประชาชน มีนโยบายที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนทำให้กลุ่มทุนของเขาเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะนโยบายให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้ให้รัฐบาลพม่า หรือที่ภรรยานายกฯ ออกมาแข่งขันประมูลที่ดินซึ่งไม่มีใครเชื่อว่าการประมูลที่ดินราคานั้นไม่มีคนกล้าแข่งขัน การที่นายกฯ ไม่ระวังตัวเองในเรื่องการให้ครอบครัวหรือตัวเองเข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจ จะบอกว่าแยกจากนโยบายของรัฐบาลเป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครเชื่อแล้ว รวมทั้งครอบครัวคณะรัฐมนตรี บริษัทในเครือของคณะรัฐมนตรี ไม่มีใครเชื่อแล้วว่าไม่อาศัยนโยบายของรัฐบาลเป็นเครื่องมือในการเติบโตของกลุ่มทุนของตน


การเมืองต้องสร้างตัวเลือกให้ประชาชน

เมื่อใดที่การลงคะแนนเสียงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและอนาคต ประชาชนพร้อมจะมาลงคะแนน ผมยังเชื่อในทฤษฎีนี้อยู่ การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ครั้งนี้ ประชาชนเห็นว่าไปแล้วจะเกิดความเปลี่ยนแปลงว่าจะเอาหรือไม่เอาไทยรักไทย เพราะฉะนั้นมองการเมืองต้องมองอย่างมีอนาคต ความหวังอยู่ที่ว่าคุณมีตัวเลือกให้ประชาชนไหม ขณะนี้เริ่มมีตัวเลือกมากขึ้น ซึ่งเป็นนิมิตรหมายที่ดี ถ้าเราอดทนเสียหน่อย และไม่มีการเปลี่ยนแปลงโดยล้มล้างรัฐธรรมนูญ ผมกลัวว่าจะสะดุดเสียก่อน กลัวจะมีการล้มรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการโค่นคุณทักษิณ โดยไม่คำนึงว่าจะโค่นในระบบประชาธิปไตยหรือนอกระบบประชาธิปไตย ผมอยากให้คุณทักษิณลงจากอำนาจ หรือประชาชนต่อต้านคุณทักษิณโดยกระบวนการประชาธิปไตย โดยการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือมีพรรคการเมืองทางเลือกให้ประชาชนเลือก ถ้ามีตัวเลือก คุณทักษิณได้ไม่ถึง 250 เสียงด้วย แต่เผอิญพรรคประชาธิปัตย์ก็อ่อนแอเกินไปและมีความเป็นอนุรักษ์นิยมเกินไป ติดยึดในอดีตหัวหน้าพรรคมากไปจึงไม่มีการปฏิรูปพรรค ขณะที่พรรคมหาชนนำเสนอตัวแต่อยู่ในความเคลือบแคลงว่าอาจจะร่วมกับรัฐบาลไทยรักไทย หรือไม่ได้มีนโยบายคัดง้างกับไทยรักไทยได้อย่างชัดเจน


นโยบายพรรคที่ดีต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม 

Imageเรื่องการเมือง คนจะรู้สึกว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่โดยดู 3 ส่วน คือ 1.ดูพรรค พรรคดูดี มีภาพดี เป็นพรรคยั่งยืนไม่ใช่ชั่วคราว ไม่ใช่เป็นพรรคอะไหล่ 2.ดูนโยบาย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับให้พรรคการเมืองต้องมีนโยบายในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ และ3.ตัวบุคคล สมมุตินโยบายดี แต่ตัวบุคคลจะจัดการปัญหาได้ไหม จะนำนโยบายมาปฏิบัติได้หรือไม่ ในแง่ของประชาชน ก็ไม่เชื่อว่านโยบายที่ดีจะปฏิบัติได้โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ตอนนี้ภาคประชาชนมีความตื่นตัวมากถึงแม้จะมีนโยบายที่ดี แต่ต้องบอกด้วยว่าจะให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างไร สังเกตได้จากนโยบายของผู้ว่ากทม. มีการพูดถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมากเป็นพิเศษ เช่น คุณอภิรักษ์บอกว่าจะให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบ มีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม คุณพิจิตรก็เช่นกัน ซึ่งไม่เคยเป็นประเด็นทางการเมืองในสมัยก่อน


การเลือกตั้งครั้งหน้า สิทธิของเราจะยกให้เขาทั้งหมดไหม

ตอนนี้องค์กรอิสระพึ่งไม่ได้ ยอมรับอิทธิพลของรัฐบาลในการเข้าไปชี้นำ เพราะรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงในขบวนการสรรหาและเลือกหมดทุกขั้นตอน รวมถึงวุฒิสมาชิกที่เกือบครึ่งยอมรับอิทธิพลของรัฐบาลในการชี้นำทิศทาง เพราะฉะนั้นตอนนี้มีทางเดียวคือ ต้องเลือกพรรคที่จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านอย่างแท้จริงเพื่อจะตรวจสอบรัฐบาล เราต้องยอมรับว่านายกฯ ทักษิณได้เป็นรัฐบาลต่อแน่ แต่จะกี่เสียง ถ้าให้เขาถึง 400 เสียง ก็เป็นเรื่องของประชาชนคนไทยแล้ว ไปยอมให้เขาเอง แต่เราก็จะไม่สามารถตรวจสอบนายกรัฐมนตรีได้เลย 

ส่วนฝ่ายค้านก็ต้องปรับปรุงปฏิรูปตัวเองด้วยที่จะให้ประชาชนรู้สึกมั่นใจว่าจะเข้าไปตรวจสอบได้จริงๆ คะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ก็จะมา ผมไม่ได้มีความหวังกับพรรคชาติไทยหรือพรรคมหาชนหรือพรรคต้นตระกูลไทย แต่มีความหวังกับประชาธิปัตย์ที่จะปรับปรุงตัวเองให้เป็นทางเลือกของประชาชนในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านและตรวจสอบรัฐบาล ส่วนพรรคมหาชนก็ต้องดูทีท่าเขาก่อนว่าจะร่วมกับฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล สำหรับพรรคทางเลือกที่สามที่จะเป็นทางเลือกจริงๆ น่าจะเกิดหลังจากรัฐบาลทำงานไปแล้ว 2 ปี


ความหวังยังอยู่ที่ภาคประชาชน

กระบวนการภาคประชาชนก็ต้องเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ เพิ่มยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีให้เข้มข้นขึ้น ต้องตรวจสอบไป ประชาชนดีกว่าพรรคการเมืองที่คนเดียวก็ยังตรวจสอบได้ 2 - 3 คน ก็ตรวจสอบได้ ถ้ามีความเข้าใจและมีข้อมูลที่ถูกต้อง รวมถึงมีความกล้าหาญทางจริยธรรม แล้วประชาชนไม่ต้องกลัว จะเกิดการตรวจสอบเป็นกลุ่มนั้นกลุ่มนี้เยอะแยะไปหมด ผมอยู่ในกลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหว ผมเห็นการเคลื่อนไหวไม่หยุดยั้งเลย เพียงแต่ไม่เป็นข่าวเหมือนสมัยรัฐบาลชวนเท่านั้นเอง แต่อย่าลืมว่าการไม่เป็นข่าวใหญ่ๆ ไม่ได้หมายความว่า มันไม่มีการเคลื่อนไหว จริงๆ แล้วมันมี

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >