หน้าหลัก arrow เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน arrow หน้าหลัก arrow นักปกป้องต่อสู้ปิดเหมืองหิน ฟื้นแผ่นดินภูผาป่าไม้ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวดงมะไฟ
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 472 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


นักปกป้องต่อสู้ปิดเหมืองหิน ฟื้นแผ่นดินภูผาป่าไม้ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวดงมะไฟ พิมพ์
Monday, 22 January 2024

Imageวารสารผู้ไถ่
ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๑๒๓ ก.ย. - ธ.ค. ๒๕๖๖

 

รายงานพิเศษ: 

นักปกป้องต่อสู้ปิดเหมืองหิน ฟื้นแผ่นดินภูผาป่าไม้
ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวดงมะไฟ

องอาจ เดชา 

 


Image

เป็นภาพที่เต็มไปด้วยพลัง ความรัก ความหวัง ความเชื่อและศรัทธา กับงาน  ",๐๙๕ วัน อัศจรรย์ปิดเหมืองหินดงมะไฟ ชัยชนะที่ลิขิตโดยไทบ้าน" เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา โดยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จัดขึ้นที่หมู่บ้านผาฮวกพัฒนาชาวประชาสามัคคี ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู โดยกิจกรรมวันนั้น มีการทำบุญตักบาตร พิธีเปิดป้ายและอ่านคำประกาศกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จากนั้นได้ทำพิธีไหว้ศาลปู่ย่าผาฮวก ซึ่งถือว่าเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านแห่งนี้

 

อร-มณีนุด อุทัยเรือง นักต่อสู้รุ่น ๓ ที่ร่วมคัดค้านและเรียกร้องให้มีการปิดเหมืองหินในถิ่นฐานบ้านเกิด กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได เล่าให้ฟังว่า งานทำบุญครบรอบวันครบรอบการปิดเหมือง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเรา วัตถุประสงค์ที่เราทําบุญ ก็คืออยากจะผูกขวัญภูเขากลับคืนมา

"เพราะคนอีสานเรามีความเชื่อว่า ภูเขาทุกลูกนั้น มีจิตวิญญาณ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของเรา แต่พอเขาโดนทําร้าย โดนทําลาย  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็อาจจะย้ายไปหรือว่าไปอยู่ที่อื่น เราจึงทําบุญผูกขวัญเพื่อดึงเรียกให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์กลับมาและปกป้องรักษาเรา เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเราต่อไป ดังนั้น เราก็เลยยึดวันแรกที่เราไปตั้งแถวปิดเหมือง ก็คือวันที่ ๑๓ สิงหาคม ของทุกปี" 

กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได นั้นประกอบไปด้วยประชาชนจากหลายหมู่บ้านและพันธมิตรในตำบลดงมะไฟ ในอำเภอสุวรรณคูหา และในจังหวัดหนองบัวลำภู

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได บอกว่า ก่อนหน้านั้น ชาวบ้านดงมะไฟ ได้ไปเจรจากับทางจังหวัด และการเจรจาล้มเหลวเหมือนที่ผ่าน ๆ มา เพราะทุกคนประเมินดูแล้ว ว่าเมื่อรัฐไม่ได้เป็นที่พึ่งและทางออกให้กับชาวบ้านได้ จึงตัดสินใจพากันปิดทางเข้าเหมือง ตั้งแต่วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๓ เป็นต้นมาจนถึงตอนนี้

"ที่ผ่านมา กระบวนการเคลื่อนไหวของพี่น้อง ได้สรุปบทเรียน ถอดบทเรียนร่วมกัน ดังนี้คือ ๑. ขอให้ปิดเหมือง โรงโม่หิน  ๒. ฟื้นฟูภูผาป่าไม้  ๓. พัฒนาดงมะไฟ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและโบราณคดี ชาวบ้านดงมะไฟ ก็จะยึดถือเอาข้อเรียกร้องนี้เป็นสัญญาประชาคมร่วมกัน เวลาไปทำกิจกรรมกันที่ไหน ก็ชูมือสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์เพื่อจะสื่อถึงพันธะสัญญาสามข้อนี้ร่วมกัน โดยข้อเรียกร้องทั้งสามข้อนี้ก็เพื่อต้องการให้มีการยุติการทำเหมือง โรงโม่หิน ออกไปจากพื้นที่ดงมะไฟอย่างถอนรากถอนโคน"

 

อร-มณีนุด อุทัยเรือง บอกว่า เราไปตั้งแคมป์ปิดเหมืองตรงปากทางเข้า-ออก เพื่อยุติการทําเหมือง เราอยู่มาสามปีแล้ว เพราะว่าเหมืองมันหมดใบประทานบัตรไปแล้ว เราก็ไปยึดพื้นที่กลับคืนมา และก็ได้ช่วยกันฟื้นฟูด้วยการปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่าหมื่นต้น หลังจากนั้นเราได้ขยับทำตามข้อเรียกร้อง ๓ ข้อ ของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได

"ตอนนี้เราได้ขยับไปข้อที่สามแล้ว นั่นก็คือพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมา เราปิดเหมืองไปแล้ว  โดยในปีแรก เราไปตั้งแคมป์ชุมนุมอยู่หน้าทางเข้า-ออก ปีที่สอง เราก็ได้ฟื้นฟูด้วยการปลูกต้นไม้ พอมาปีที่สาม เราได้ขยับในเรื่องของการท่องเที่ยว โดยมีการทดลอง เปิดรับนักท่องเที่ยว รวมไปถึงการเปิดบ้านรับค่ายนักศึกษา ซึ่งมีทั้งนักศึกษาจากไทย และเปิดรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาทําค่ายกับเรา  มาเรียนรู้และมาท่องเที่ยวกับเรา"

 

ลงพื้นที่เรียนรู้การท่องเที่ยว เศรษฐกิจชุมชน หาแรงบันดาลใจที่เชียงดาว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ ๑๐-๑๒ มกราคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ได้ไปลงพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมศึกษาเรียนรู้เรื่องการต่อสู้การจัดการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน ภายหลังจากที่ดอยหลวงเชียงดาว ได้ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกโดยยูเนสโก

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ บอกว่า การที่เราไปเชียงดาว ก็เพื่อต้องการไปหาความรู้ ประสบการณ์ ชุดความคิด  ต้องการมาหาพื้นที่ตัวอย่าง ที่จะช่วยจุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้นำไปสู่ข้อเรียกร้องที่สาม นั่นคือ การพัฒนาพื้นที่ดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางนิเวศวัฒนธรรมและโบราณคดี ซึ่งพื้นที่เชียงดาว เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่น่าสนใจ มีความโดดเด่นในด้านการท่องเที่ยว และมีกระบวนการต่อสู้ปกป้องรักษาดอยหลวงเชียงดาว รวมไปถึงการถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของยูเนสโก อันนี้ถือว่าน่าสนใจ จึงได้พาพี่น้องดงมะไฟ มาลงพื้นที่เรียนรู้กัน

"เพราะที่ผ่านมา พี่น้องดงมะไฟ พวกเขามีความมุ่งมั่นในการต่อสู้ปกป้องสิทธิ ก็จะโฟกัสไปที่กระบวนการต่อสู้กันมาก มีแต่งานร้อน เป็นงานต่อสู้มาโดยตลอด ไม่ค่อยมีงานเย็น ไม่ได้ออกไปดูข้างนอกกัน ซึ่งบางทีทำให้เรามองตัวเองไม่ออก เพราะอยู่แต่ข้างใน ดังนั้น จึงอยากให้เราออกมาข้างนอก อยู่ข้างนอก แล้วมองกลับไปข้างใน จึงได้พาพี่น้องชาวบ้านออกมาข้างนอก เพื่อจะมองกลับไปข้างใน มาหาแรงบันดาลใจ หาประสบการณ์ไปปรับใช้กับชุมชนของตนเอง"

 

ร่วมกันถอดบทเรียนการเรียนรู้ เพื่อความยั่งยืนไปพร้อมกับการต่อสู้ในอนาคต

จากนั้น ชาวบ้านดงมะไฟ ได้ร่วมกันถอดบทเรียนการเรียนรู้ครั้งนี้ เพื่อจะวางแผนการขับเคลื่อนงานเพื่อความยั่งยืนไปพร้อมกับการต่อสู้ในอนาคต

ลำดวน วงศ์คำจันทร์ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได บอกว่า ตอนแรกที่มา ก็ไม่ได้คาดหวังอะไร แต่พอมาแล้วเราได้อะไรมากมายเลย สิ่งที่มันสาบสูญไปจากหมู่บ้านเกิดของแม่ อย่างเช่น ป่าไผ่ใหญ่ ป่าไผ่หนาม ก็ได้มาเห็นที่เชียงดาวนี้ ก็ได้ความรู้หลาย ๆ เรื่อง เรื่ององค์ความรู้ การจัดการเหมือง การบำรุงเหมือง จากชาวบ้านที่นี่ ก็อยากจะกลับไปฟื้นฟูและพัฒนาให้หมู่บ้านของเราต่อไป

เช่นเดียวกับ พรพรรณ อนุเวช เล่าให้ฟังว่า ก่อนมา ลูก ๆ เคยแนะนำให้ทำเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เปิดยูทูปดูก็ได้ ลูกเคยชวน แต่เราก็ไม่ได้สนใจ ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี แต่หลังจากที่ได้มาเยือนเชียงดาว มาเห็นชาวบ้านที่นี่เขาทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจมาก หลังจากกลับไปบ้านครั้งนี้ จะฮึด ลงมือทำ จะเปิดยูทูปศึกษาดูว่า จะเริ่มต้นทำยังไงก่อนดี ถ้าไม่เข้าใจก็จะขอโทรมาปรึกษากับคุณมล ถิ่นนิยม กับคุณแหม่ม สวนบัวชมพู เราสามารถลงมือทำได้เลย เพราะมันไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีอะไรเลย มาทำนาปุ๋ยอินทรีย์เอา

  

อร-มณีนุด อุทัยเรือง เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ ที่ได้ร่วมต่อสู้เพื่อบ้านเกิดอย่างขันแข็ง บอกว่า ก่อนหน้านั้น เราอยู่แค่บ้าน ไม่ได้ออกไปข้างนอก พอพูดว่า เกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยวเชิงนิเวศหรือ มันจับต้องไม่ได้ เป็นเพียงภาพเพ้อฝัน เราอยู่แต่ในพื้นที่ มันทำให้เราดูยากจัง มันทำไม่ได้หรอก  แต่พอเราได้มาเรียนรู้ที่เชียงดาว มันทำให้เราจับต้องได้ และมีความเชื่อมั่นว่าเราก็ทำได้ เราสามารถลงมือทำ และสามารถสร้างรายได้ให้เราได้จริง สามารถเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัวได้จริง

 

"การจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนดงมะไฟนั้น  แน่นอน เราจำเป็นต้องมองทั้งระบบ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ ก็คือแต่ละครอบครัวต้องวาดฝันเอาไว้ว่า  ทำอย่างไรถึงจะให้มีคนมาเที่ยวบ้านเรา อย่างครอบครัวของเราก็เคยวางแผนเอาไว้เหมือนกันว่า อยากมีร้านกาแฟ ทำสวนดอกไม้ หรือแม่ก็ฝันอยากขุดสระให้มีคนมาเล่นน้ำกัน หรือทำโฮมสเตย์ให้คนมาพัก แล้วเราจะพาเขาไปเที่ยวรอบ ๆ ชุมชนของเรา"

แน่นอน ชาวบ้านดงมะไฟหลายคน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า การมาเยือนเชียงดาวครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นอะไรมากมาย ทำให้เราได้หันกลับไปมองตัวเอง ทำให้เรารู้ว่าท้องถิ่นบ้านเรานั้นก็มีของดีมีคุณค่าเยอะแยะเลย ไม่ว่าจะเป็นถ้ำซึ่งมีมากมาย มีภาพเขียนประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ มีเครื่องปั้นดินเผา แหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ซึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของเราต่อไปว่าจะทำอย่างไรจึงจะพัฒนาให้เป็นที่รู้จักเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้ได้

 

ย้ำ ขับเคลื่อนและพัฒนาดงมะไฟให้ก้าวต่อไป ทั้งเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการเมือง

เช่นเดียวกับ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ได้บอกในตอนท้ายว่า การมาเยือนเชียงดาวในครั้งนี้ ทำให้พี่น้องดงมะไฟ ได้มาเห็นการจัดการบริหารท่องเที่ยวในถ้ำหลวงเชียงดาว ไปเรียนรู้เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ และการแปรรูป การสร้างแบรนด์ ผลิตภัณฑ์จากสินค้าการเกษตร ซึ่งประเด็นเรื่องการท่องเที่ยว เราคิดว่า เราจะมุ่งแต่เรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้ แต่สิ่งที่เราต้องการจากการท่องเที่ยว นั่นคือจิตสำนึกในเรื่องของการท่องเที่ยว ที่มากไปกว่าปริมาณของนักท่องเที่ยว แต่จะมุ่งเน้นที่การสร้างคุณภาพของการท่องเที่ยว และสร้างผลิตภัณฑ์สินค้าท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของชุมชนด้วย คือทำอย่างไรให้มีการสร้างรายได้ ให้กับชาวบ้านชุมชนที่ออกมาปกป้องภูเขาบ้านเกิด ปกป้องดงมะไฟ เพราะตนคิดว่าเราจะต้องมีสองขาที่ขาดไม่ได้ คือ คนที่จะออกมาปกป้องดูแลภูเขาบ้านเกิดได้ ก็จะต้องมีรายได้ให้มีชีวิตอยู่ได้ โดยการคิดค้นสินค้าที่เรามีต้นทุนในชุมชนอยู่แล้ว อย่างเช่น การปลูกข้าว พืชผักการเกษตรที่เรามีอยู่แล้ว ทำอย่างไรถึงจะเอามาเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่นั้น ๆ โดยให้สอดคล้องกับภูมินิเวศของชุมชนดงมะไฟ

"เป้าหมายของเรา คือ เราต้องการเปลี่ยนกระบวนการคิด กระบวนทัศน์ของพี่น้องดงมะไฟกันใหม่ จากเดิมที่หลายคนมองว่า ภูเขาที่เราอาศัยอยู่นี้ มันเป็นแค่ภูเขาหินปูนที่จะต้องระเบิดและเอาไปขาย ซึ่งจริง ๆ แล้ว ภูเขาหินปูนนั้นมีมากกว่าคำว่าทรัพยากรที่มีประโยชน์เพียงแค่ระเบิดมันออกไปขาย ซึ่งถ้าทำแบบนั้น ผ่านไป ๑๐-๒๐ ปี ภูเขาลูกนี้ก็สูญหายไป แต่ถ้าเรามองให้มันมีคุณค่ามีความหมายมากกว่านั้น นั่นคือทรัพยากรและธรรมชาติ แล้วเรารักษาภูเขาลูกนี้เอาไว้ เรายังสามารถขายคุณค่าความงามของภูเขานี้ได้  จึงเกิดข้อเรียกร้องข้อที่สาม โดยชุมชนจะออกมาผลักดันให้เกิดการพัฒนาดงมะไฟ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและโบราณคดี ให้เกิดขึ้นเอง ไม่ใช่โดยภาครัฐ เพราะเรารู้ปัญหาข้อจำกัดของรัฐ ว่าที่ผ่านมา มักไม่ค่อยยืนอยู่ข้างชาวบ้านกันสักเท่าไหร่ แต่ชอบยืนอยู่ข้างนายทุนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เราจึงต้องกระตุ้นจิตสำนึกของเราก่อน ปฏิบัติการของเราก่อน นี่คือสิ่งที่เราต้องการขับเคลื่อนและพัฒนาดงมะไฟให้ก้าวต่อไปในอนาคต ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการเมือง" ที่ปรึกษา กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ย้ำอย่างหนักแน่นและจริงจัง

 

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ชาวบ้านจะประกาศชัยชนะในการยึดเหมืองหินดงมะไฟ และก้าวต่อไปด้วยการฟื้นฟูป่าชุมชน และกำลังพัฒนาให้ดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวกันต่อไปนั้น

ในขณะที่ศาลพิพากษาออกมาชัดเจนแล้วว่าบริษัททำเหมืองทำผิด และสั่งให้เพิกถอน

แต่ล่าสุด ชาวบ้านก็ยังถูกบริษัทเหมือง ฟ้องเอาผิดอยู่ และดูเหมือนว่าปัญหาเรื่องเหมืองนี้มันยังไม่จบลงง่าย ๆ

ซึ่ง อร-มณีนุด อุทัยเรือง เป็น ๑ ใน ๓ คนที่ถูกบริษัทเหมืองฟ้องในครั้งนี้ด้วย

"คือต้องเล่าย้อนกลับไปก่อนนะว่า ก่อนหน้านั้น กลุ่มเราได้ทำการฟ้องบริษัทก่อน และในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ มีคําตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ได้ตัดสินคดีให้ชาวบ้านเป็นฝ่ายชนะ  ต่อมา หลังจากนั้นประมาณ เดือนพฤษภาคม ได้มีหมายศาลมาแจ้งว่า ทางเหมือง ได้ทำการฟ้องชาวบ้าน ซึ่งก็มีตัวแทนชาวบ้านที่ถูกฟ้อง ๓ คน ก็คือแม่ต้อย แม่มูน แล้วก็อรด้วย โดยเขาฟ้องเราว่า เราไปกีดขวางเส้นทางการใช้ประโยชน์ ก็คือเขาก็ให้เรารื้อถอนการชุมนุมให้ออกจากพื้นที่อะไรแบบนี้ ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในกระบวนการชั้นศาล หลังจากโดนเหมืองฟ้อง  ชาวบ้านทุกคนก็ให้ความสนใจกับคดี  ก็ติดตามแล้วก็ไปขึ้นศาลด้วยทุกครั้งที่มีการนัดสืบพยาน ชาวบ้านทุกคนต่างไปให้กำลังใจกัน" อร-มณีนุด กล่าว

 

มิโพ-ไชยศรี สุพรรณิการ์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมต่อสู้ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได มานานหลายปี ก็มองว่า ถึงแม้พี่น้องชาวบ้านดงมะไฟ จะชนะ จนมีการปิดเหมืองไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนและชาวบ้านก็ยังเกิดขึ้นอยู่ ซึ่งปัญหาที่พบเห็นนั่นก็คือ กฎหมายที่ยังเอื้อต่อกลุ่มทุนอยู่

"ผมคิดว่าควรจะต้องมีการแก้ไข พรบ.แร่ คือเขียนให้มันชัด ให้คนที่บังคับใช้กฎหมาย เช่น ถ้าศาลตัดสินว่าบริษัทเหมืองแร่ทําผิด ฉะนั้น คุณถูกถอดออกไป ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาทํา หรือขอประทานบัตรได้อีกต่อไป คือต้องใช้กฎหมายให้มันเข้มข้น หรือกรณีถ้าพื้นที่ไหนที่เป็นแหล่งโบราณวัตถุ โบราณคดี ต้องไม่สามารถที่จะเข้าไปสัมปทานทําเหมืองได้ ที่สำคัญ ต้องเขียนเอาไว้ชัดเจนกว่านี้ ว่าใครมีอำนาจอนุมัติหรือเพิกถอน ไม่ใช่ว่าพอมีเรื่องร้องเรียน ผู้ว่าฯ ก็บอกว่าอํานาจอยู่ที่กรมป่าไม้ ในขณะที่กรมป่าไม้ก็บอกว่าอํานาจ อยู่ที่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน จนกลายเป็นเรื่องของการเมือง โยงกันไปโยงกันมา กลายเป็นยื้อเวลาให้มันผ่านไป หนึ่งปี สองปี สามปี แต่ชาวบ้านที่นี่ต้องเสียเวลา พวกเขาต้องลุกขึ้นเรียกร้องต่อสู้ ผ่านไปเป็นหลายสิบปี ซึ่งมันเสียเวลามาก ๆ ต่อประเด็นนี้ เราจึงอยากให้รัฐหรือกลุ่มทุนมีการชดใช้ ชดเชยเยียวยา กับวันเวลาที่สูญเสียของชาวบ้านด้วย เพราะที่ผ่านมา พี่น้องชาวบ้านต้องสูญเสียทั้งเรื่องเวลา การทำมาหากิน กระทบเสียหายด้านการเงินรายได้ และมีหลายคนต้องสูญเสีย แกนนำต้องเสียชีวิตจากการต่อสู้เรื่องเหมืองไปแล้ว ๔ ศพ ที่เขาต้องต่อสู้ ก็เพราะพื้นที่ตรงนี้มันคือพื้นที่ทางจิตวิญญาณของเขา แต่พวกคุณกลับมาทําลาย ซึ่งผมถือว่าเป็นการทําลายวิถีชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อมของชาวบ้านที่นี่เลย ดังนั้น ผมคิดว่า จะต้องแก้ไขกฎหมายให้มันชัดเจนไปเลย"

 

ย้ำและยืนยัน การท่องเที่ยวชุมชนที่ยั่งยืน คือทางออกของชาวบ้านดงมะไฟ

อร-มณีนุด บอกว่า เราเริ่มทำเรื่องการท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๕  เนื่องจากก่อนหน้านั้น เราก็มีการสํารวจดูว่าบ้านเรามีอะไรดี ที่จะทําเป็นแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนของเราบ้าง ซึ่งเรามีของดีหลายอย่างเลย มีทั้งภาพสีโบราณอายุสามพันปี มีการขุดพบวัตถุโบราณในถ้ำ ขุดพบกลองมโหระทึกโบราณ แล้วก็มีถ้ำหินงอกหินย้อยที่สวยงาม แล้วก็มีป่าเต็งรังที่ยังอุดมสมบูรณ์ สามารถให้ผู้คนเข้าไปศึกษาเรียนรู้กันได้ แล้วอีกอย่างหนึ่ง คือเรามีวิถีชีวิต ภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สามารถบอกเล่าได้

"แล้วเราก็มีเรื่องราวการต่อสู้ เป็นจุดขาย ซึ่งตอนแรก ๆ เราก็จะเริ่มแบบแนวดาร์ก (Dark) เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เขาสนใจประเด็นปัญหาการต่อสู้ของพื้นที่ดงมะไฟ ได้มาเรียนรู้ มาฟังเรื่องราวของเรา เพราะว่าในตอนแรก ที่เราเปิดรับนักท่องเที่ยว เราจะรับคนที่เกี่ยวข้องกับเรา คนที่เป็นเครือข่ายกับเรา รู้จักเรา  แล้วให้มาศึกษาแลกเปลี่ยน มารับฟังเรื่องราวของเรา หลังจากนั้น เราก็ได้ขยับรับนักท่องเที่ยวหลายกลุ่ม แล้วรู้สึกว่า การที่เราเปิดบ้านรับนักท่องเที่ยว  มันมีความเป็นไปได้ แล้วมันก็สร้างความประทับใจให้กับกับแขกที่มาเยือน เราก็เลยมีการขยับในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพของคนในพื้นที่ค่ะ อย่างตอนนี้ เรากําลังมีโครงการร่วมกับเครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI)  ที่จะพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน แล้วก็ผู้ใหญ่ที่เป็นสมาชิกกลุ่มเรา ได้ขยับไปอยู่ในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นไกด์กันด้วย"

 

เติมความหวัง กำลังใจให้กันและกัน ส่งต่อให้เยาวชนรุ่นใหม่ ร่วมกันพัฒนาดงมะไฟ

อร-มณีนุด บอกว่า เราสู้กันมาจะสามสิบปีแล้ว  ซึ่งมันก็มีท้อกันบ้าง เพราะเป็นการต่อสู้กันยาวนานมาก ซึ่งบางครั้งก็มีการทะเลาะกัน เพราะบางทีความคิดของเราก็ไม่ตรงกัน อาจจะมีความคิดที่แปลกแยกไปบ้าง แต่ว่าสุดท้ายแล้ว จุดยืนเราก็คือจุดเดียวกัน อุดมการณ์เราก็คือเรื่องเดียวกัน คือเราอยากยุติเหมืองให้ได้ถาวร แล้วเราก็อยากบริหารจัดการทรัพยากรบ้านตัวเอง

"และเหตุผลที่เราอยากให้ดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็เพราะว่าเราอยากให้เป็นการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน โดยไม่ให้พื้นที่ตรงนั้นมันกลับไปเป็นเหมืองหินให้กับกลุ่มทุนอีก ที่สำคัญ เราอยากส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้ลูกหลานในอนาคต เพราะว่า สมาชิกกลุ่มเราก็มีจํานวนค่อนข้างเยอะ และมีลูกหลานเป็นเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่อยู่ในพื้นที่ เราก็มีความรู้สึกว่า เราอยากจะส่งต่อพื้นที่ที่สวยงามนี้ของดงมะไฟ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต"

อีกส่วนสำคัญ ที่ทำให้กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ได้ต่อสู้จนได้รับชัยชนะ ก็คือองค์กรเครือข่าย นักศึกษา นักวิชาการ ที่เข้ามาช่วยหนุนเสริมในหลาย ๆ ด้าน

"ใช่ค่ะ เรามีเครือข่ายที่คอยช่วยเหลือและสนับสนุน เป็นที่ปรึกษา มีคนที่คอยให้ข้อมูล ให้ความรู้เรา ถึงแม้ที่ผ่านมา การเรียกร้องต่อสู้ของเราจะโดนข่มขู่หรือถูกฟ้องร้อง เราก็ไม่ได้หวาดกลัว หรือตื่นตระหนกอะไร ไม่มีใครที่จะถอยไปหรือว่าหายไปเลยค่ะ ทุกคนพร้อมที่จะสู้กับปัญหาไปด้วยกัน  ทุกคนพร้อมที่จะต่อสู้กับทุกสิ่งทุกอย่างไปด้วยกัน เราค่อนข้างเข้มแข็งมากค่ะ"

 

ในตอนท้าย เราได้ขอให้เธอ ได้สื่อสาร และให้ความหวัง กำลังใจไปถึงพี่น้องชาวบ้าน อีกหลายพื้นที่ในประเทศ ที่กำลังเผชิญกับปัญหา กับนโยบายรัฐหรือกลุ่มทุน ที่ส่งผลกระทบกับฐานทรัพยากรท้องถิ่นของตนอยู่ในขณะนี้

"มาถึงตอนนี้ เราก็ยังยืนยันว่า เราทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ มีสิทธิมนุษยชน ดังนั้น เราสามารถใช้สิทธิในการเรียกร้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี คุณภาพสังคมที่ดีของตัวเองได้ และสําหรับคนที่เจอปัญหา เจอเรื่องราวที่มันไม่ยุติธรรม หรืออาจจะโดนครอบงําด้วยอะไรบางอย่างที่มันทําให้เรารู้สึกท้อแท้ ท้อถอย จนเรารู้สึกว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าสุดท้ายแล้ว นี่คือชีวิตเรา บ้านของเรามันก็คือชีวิตเรา จะรอให้คนอื่นมาปกป้อง มันก็ไม่ได้ ฉะนั้น เราก็ต้องลุกขึ้นมา เราต้องเข้มแข็ง แล้วช่วยกันปกป้องบ้านเกิดทรัพยากรของตัวเอง อาจจะเหนื่อยไปบ้าง มีปัญหาบ้าง หรือว่าใช้ระยะเวลายาวนานบ้าง แต่ก็ขอให้เข้มแข็งและต่อสู้ต่อไปค่ะ เพราะว่าการรักษาทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ มันไม่ได้เพื่อแค่ตัวเราอย่างเดียว แต่มันเพื่อโลกใบนี้ทั้งใบ ทุกคนได้ประโยชน์ ไม่มีใครได้โทษจากการรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้เลย แล้วมันก็เป็นสิ่งที่ส่งต่อได้อย่างยั่งยืน ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป" อร-มณีนุด กล่าวย้ำในตอนท้าย

 

------------ 

ข้อมูลประกอบและอ้างอิง

๑. กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ฉลอง ๑,๐๙๕ วัน อัศจรรย์ปิดเหมืองหินดงมะไฟ, ประชาไท, ๑๓-๐๘-๒๐๒๓

๒. เมื่อชาวดงมะไฟ ลงพื้นที่เชียงดาว สร้างแรงบันดาลใจการต่อสู้ การจัดการท่องเที่ยว-เศรษฐกิจชุมชน, องอาจ เดชา, ประชาไท, ๒๕-๐๒-๒๐๒๒

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >