หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 1288 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


Home School การศึกษาบ้านเรียน อีกหนึ่งทางเลือกของระบบการศึกษาไทย : องอาจ เดชา พิมพ์
Monday, 25 September 2023

Image


วารสารผู้ไถ่

ปีที่ ๔๔
ฉบับที่ ๑๒๒ พ.ค. - ส.ค. ๒๕๖๖



Home School การศึกษาบ้านเรียน
อีกหนึ่งทางเลือกของระบบการศึกษาไทย

องอาจ เดชา 
 


Image 

หลังเกิดวิกฤตโควิด-๑๙ เมื่อ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ทำให้พ่อแม่หลายครอบครัว ต้อง Work from Home เมื่อเจอมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม อีกทั้ง เด็ก ๆ นักเรียน ต่างก็ได้รับผลกระทบ ทำให้ไม่สามารถไปเรียนในระบบโรงเรียนได้ หลายโรงเรียนถึงขั้นต้องปิดเรียน On Site ปรับรูปแบบการเรียนการสอนมาเป็นแบบ Online แทน ซึ่งถือเป็นอุปสรรค เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับการจัดการศึกษาในระบบของไทย เนื่องจากทั้งครูและนักเรียนไม่ถนัด ไม่คุ้นชินกับระบบ ทำให้ทุกคนในบ้านต่างต้องปรับกิจกรรมและพฤติกรรมกันถ้วนหน้า แน่นอน สถานการณ์โควิด-๑๙ ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคน เริ่มค้นหาทางออกด้วยตนเอง และทำให้หลายครอบครัวหันมาสนใจการจัดการศึกษาทางเลือกโดยครอบครัว หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม ‘บ้านเรียน' หรือ ‘โฮมสคูล'กันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การจะตัดสินใจให้ลูกเรียนที่บ้านหรือโฮมสคูลนั้น ทำได้ แต่ก็ใช่ว่าจะง่ายกับทุกคน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของผู้ปกครองและเด็ก วิถีชีวิตของแต่ละคน แนวคิดและอาจรวมไปถึงความเข้าใจในแนวทางของครอบครัวด้วย

 

เรียนรู้โฮมสคูล ผ่านครอบครัวบ้านเรียน

มาลี พัฒนประสิทธิ์พร อดีตบรรณาธิการนิตยสารรักลูก ปัจจุบันเป็นอาสาสมัครที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และเป็นผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนให้ลูกชายวัย ๘ ขวบ น้องบูดู-เด็กชายบูมิบุตร ละมุล เจ้าของเพจ Homeschool BD Plearn & Learn อ.เชียงของ จ.เชียงราย เล่าว่า เริ่มต้นแนวคิดนี้ ตั้งแต่ตอนที่เป็นบรรณาธิการนิตยสารรักลูก แล้วเป็นช่วงที่กำลังถกกันเรื่อง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ๒๕๔๒ ตอนนั้นมีกลุ่มพ่อแม่บ้านเรียนรุ่นแรก ๆ ที่เป็นรุ่นบุกเบิก ก็ไปใช้พื้นที่สำนักงานในการประชุมหารือกัน ตั้งแต่ช่วงที่กําลังผลักดันกันใหม่ ๆ เราก็จะเห็นเขาคุยกันเรื่องโฮมสคูล อีกทั้งระหว่างการทํางาน เราต้องไปสัมภาษณ์ครอบครัวต่าง ๆ และก็มีโอกาสได้สัมภาษณ์ครอบครัวที่เขาทําโฮมสคูล

"ทำให้เรามองเห็นความเจิดจรัสของเด็กโฮมสคูล ว่าเฮ้ย! มัน Amazing มาก มันเกิดผลกับเด็กขนาดนี้เลยเหรอ ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวเรามองเห็น อีกอันหนึ่งก็คือทำให้เป็นตัว challenge คือระหว่างที่เราทํางานนิตยสารรักลูก มันมีทฤษฎีมากมายที่เราได้จากการอ่านการสัมภาษณ์ การคุยกับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ทำให้เราเริ่มคิดว่าถ้าเงื่อนไขเราพร้อม มีครอบครัว มีลูกก็อยากทำบ้าง เป็นสนามทดลองของเรา พอมีลูกก็ตัดสินใจทำโฮมสคูลทันที รู้สึกสนุก และตัวเองไม่มองว่าการทำโฮมสคูลเป็นอุปสรรคเลยนะ ทั้ง ๆ ที่โดยพื้นฐาน เป็นคนขี้งอแง กลัวอุปสรรค กลัวล้มเหลว แต่พอมาทำโฮมสคูล กลับไม่ได้มองว่ามันเป็นอุปสรรค กลับมองเป็นเรื่องที่สนุก ท้าทาย ไม่เคยรู้สึกท้อ สนุกที่จะคิดที่จะทําอะไรใหม่ ๆ เพื่อจะแก้ปัญหา"

มาลี บอกว่า "บ้านเรียนของบูดู เลือกใช้หลักสูตรแบบกลุ่มประสบการณ์ และการประเมินรายปีตามปกติ เหมือนหลักสูตรบ้านเรียนทั่วไป เพียงแต่ว่าส่งแผนสามปี เพราะเราให้เหตุผลไปว่า สังคมเดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนเร็ว เราก็ไม่มั่นใจว่าลูกเรา ณ เวลานั้น เขาจะเปลี่ยนไปแบบไหน จึงขอใช้แผนสามปี"

"ทุกปี เราจะมานั่งคุยกันในครอบครัว ทั้งพ่อ แม่ ลูก เป็นช่วงเวลาของการปรับตัว ตรงนี้สําคัญ เราจะประเมินว่า การเรียนบ้านเรียนเป็นอย่างไรบ้าง  โอเคไหม หรือถ้ามัน drop ลง ก็จะถามลูกชาย ว่าถ้ายังอยากจะไปทางนี้ต่อ ก็ต้องปรับปรุง และผู้ปกครองเราก็จะต้องช่วยกันออกแบบ กําหนดวิธีการที่จะทําให้เขาพัฒนาดีขึ้น สามารถบริหารจัดการตัวเองดีขึ้น พยายามกระตุ้น เพราะใจเรา ก็ยังอยากให้เขาเรียนแบบบ้านเรียนไปอย่างน้อยจนจบระดับชั้นประถม อีกอย่างเราก็ต้องฝึกฝนเขาด้วย เพราะอีกด้านหนึ่งของเรา พ่อแม่ก็ทํางานขับเคลื่อนเรื่องงานพัฒนา EF การศึกษาในโฮงเฮียนแม่น้ำของด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกันในเรื่องของการพัฒนาเด็กอยู่แล้ว"

จากการที่พ่อแม่ ทำงานที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ ทำให้บูดู ลูกชายมีโอกาสได้เรียนรู้ที่หลากหลาย ทุกปีจะมีอาสาสมัครชาวต่างชาติมาทำงานด้วย ทำให้ลูกชายมีโอกาสได้เรียนรู้สื่อสารภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติด้วย นอกจากนั้น ลูกชายยังสนใจเรื่องแม่น้ำแต่ละสาขาด้วย โดยดูได้จากที่เขาเรียนรู้ศึกษาข้อมูลเรื่องแม่น้ำ ทำให้เขาสามารถเรียนรู้ในหลาย ๆ เรื่อง เช่น ภูมิศาสตร์เชิงพื้นที่ การใช้แอปพลิเคชัน Google Earth, Google map การสื่อสาร อธิบายความคิดด้วยการพูดและการเขียน การหาข้อมูล มีความกระตือรือร้นกับการสื่อสารอธิบายความ ช่างสังเกต มีการเรียนรู้ด้วยตนเอง รู้จักคิดวิเคราะห์เปรียบเทียบ และการสื่อสาร จนสามารถลงมือเขียนแผนที่แม่น้ำ ติดไว้ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของด้วย


เช่นเดียวกับ พิชชาพา เดชา ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนม่อนภูผาแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟังที่ตัดสินใจจัดการศึกษาโดยครอบครัวนี้ว่า เริ่มรู้จักโฮมสคูลเมื่อประมาณ ๑๘ ปีที่แล้ว เพราะครอบครัวของรุ่นพี่ที่อยู่อเมริกาเขาทำโฮมสคูลให้ลูก ๆ ของเขา แต่ตอนนั้นเรารู้แค่ว่าโฮมสคูล จะเป็นการซื้อหลักสูตรจากโรงเรียนแล้วมาสอนเองที่บ้านเท่านั้น ก็เพิ่งมารู้ทีหลังว่าการทำโฮมสคูลสามารถทำได้หลายทาง ทั้งจดทะเบียนเป็นศูนย์การเรียน จดทะเบียนกับเขตการศึกษา หรือลงทะเบียนกับการศึกษาทางไกล และยังสามารถลงเรียนหลักสูตรต่างประเทศได้ด้วย

"เราก็พูดคุยกับรุ่นพี่ตลอดและสังเกตว่า เด็ก ๆ ค่อนข้างมีอิสระในการเรียน กรอบการเรียนรู้ค่อนข้างกว้าง เด็ก ๆ ดูมีความสุขในการเรียนแบบนี้มาก ตั้งแต่นั้นเราก็ศึกษามาเรื่อย ๆ จนมีลูกก็คิดว่าจะให้ลูกเรียนโฮมสคูลช่วงอนุบาล เพราะอยากใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากที่สุด ให้เขาได้เล่น ได้เรียนรู้ตามธรรมชาติให้เต็มที่ หลังจากนั้นวัยประถมค่อยพาเข้าโรงเรียนก็ได้ เริ่มจากช่วงโฮมสคูลชั้นอนุบาล"

แน่นอนว่า มีผู้ปกครองหลายคนสนใจอยากจะให้ลูกเรียนโฮมสคูล แต่ยังวิตกกังวล ไม่กล้าตัดสินใจ โดยเฉพาะในประเด็นที่ครอบครัวมักอ้างว่าไม่มีความพร้อมเรื่องเวลาและไม่มีศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็ก ๆ ทั้ง ๆ ที่หลายบ้านเรียนก็มีทักษะพื้นฐานมาจากครอบครัวชาวบ้านธรรมดา ๆ ยังสามารถจัดโฮมสคูลได้

พิชชาพา บอกว่า จริง ๆ โฮมสคูลสามารถทำได้หลายรูปแบบ ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องสอนเด็กทุกวิชา หรือทำตามตารางเป๊ะเหมือนในโรงเรียน แต่เราสามารถจัดสรรเวลายืดหยุ่นตามความเหมาะสมของสภาพครอบครัวได้ การเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การเรียนรู้ไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทุกวิชาอยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กอยู่แล้ว บางวิชาบางหัวข้อที่เด็กสนใจ แต่ผู้ปกครองไม่มีความรู้ ไม่สามารถสอนได้  เราก็สามารถให้เด็กลงคอร์สเรียนเพิ่มเติมได้  ซึ่งสามารถเลือกได้เลยแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายก็มี  เดี๋ยวนี้มีให้เลือกเยอะมาก เราสามารถให้เขาค้นคว้าเองจากอินเตอร์เน็ต จากหนังสือ จากห้องสมุดได้

"ยกตัวอย่าง บ้านเรียนที่เป็นแผนแบบกลุ่มประสบการณ์ เด็กก็สามารถเรียนรู้จากวิถีชีวิตหลักของครอบครัวได้ ครอบครัวค้าขาย ก็ได้วิชาคณิตศาสตร์ การงานพื้นฐานอาชีพ ศิลปะ  สังคมก็อยู่ในนี้ทั้งนั้น หรือบางบ้านเป็นแผน ๘ กลุ่มสาระก็จัดตารางสอนตามความสะดวกของครอบครัวได้เลย ช่วงเย็น ช่วงเช้า ช่วงก่อนนอน เพราะที่สุดแล้ว การทำโฮมสคูลหรือบ้านเรียน  ไม่ได้หมายความว่าการยกโรงเรียนมาไว้ที่บ้าน ตารางเรียนไม่ต้อง ๘ โมงถึง ๔ โมง แต่เป็นการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  มันยืดหยุ่นได้ตามความสนใจของผู้เรียน ตามบริบทของแต่ละครอบครัว"

ผู้จัดการบ้านเรียนม่อนภูผาแดง ยังพูดถึงจุดเด่นของการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือโฮมสคูล ด้วยว่า เราสามารถออกแบบการจัดการเรียนการสอนได้เอง ตามสถานการณ์ได้เลย ปกติเด็กโฮมสคูลไม่ได้เรียนแต่ที่บ้าน ก็จะมีออกไปรวมกลุ่มทำกิจกรรมกันตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นประจำ พอมีสถานการณ์โรคระบาดเข้ามา  เราก็สามารถปรับกิจกรรมกลุ่มเป็นแบบออนไลน์ได้เลย การเรียนบางวิชาที่ต้องออกไปตามศูนย์ต่าง ๆ เด็กไม่จำเป็นต้องออกไปเสี่ยงข้างนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่สถานการณ์รุนแรง  เด็กโฮมสคูลส่วนใหญ่จะคุ้นชินกับการเรียนรู้ที่หลากหลายรูปแบบอยู่แล้ว เด็กเรียนรู้จากสิ่งที่อยู่รอบตัวได้ด้วยเช่นการทำงานบ้าน การปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ วาดรูป เป็นต้น

"ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถออกไปไหนได้ เขาก็ยังเรียนได้ตลอดเวลาจากที่บ้าน ข้อดีอีกอย่างคือเด็กได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ผู้ปกครองได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก เด็กมีอิสระในการเรียนที่เป็นตัวเองมากที่สุด"


สกาวรัตน์ วงศ์มั่นกิจการ ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนฟีนิกซ์-โฟนิค-ฟีน่า-Phenomenon Homeschool กรุงเทพฯ และเป็นที่ปรึกษาบ้านเรียนกรรมการศูนย์ประสานสิทธิการศึกษาบ้านเรียนและศูนย์การเรียนไทย ได้บอกเล่าที่มาของการตัดสินใจจัดการศึกษาในรูปแบบบ้านเรียน หรือโฮมสคูลให้แก่ลูก ๆ ทั้ง ๔ คนว่า  ก่อนนั้น เคยพาลูกคนโตเข้าโรงเรียน ลองหาโรงเรียน ลองเรียนมาหลายที่ ด้วยเพราะครอบครัวมีพื้นฐานของการทำงานอาชีพครูทั้งฝ่ายสอนและฝ่ายบริหาร เราได้สัมผัสมาหมด เพราะฉะนั้น ปัญหาภายในเรารู้เราเห็น ไม่ใช่แค่โรงเรียนเดียวนะคะ ตลอดชีวิตของพ่อแม่เราที่เป็นครู เป็น ผอ.โรงเรียน เป็นประธานผู้ปกครองต่าง ๆ เราได้เข้าไปร่วมวง เห็นปัญหา เห็นทั้งมุมมืดมุมสว่าง เราจึงเลือกที่จะหาพื้นที่ที่น่าจะดีที่สุด หรือเรียกง่าย ๆ คือ เลือกโรงเรียนที่แย่น้อยที่สุดให้ลูกเรา แต่สุดท้ายก็ไม่มีที่ไหนตอบโจทย์ได้เหมาะสม เราจึงเลือกโฮมสคูลให้ลูกเอง

"คือต้องยืนยันยืนหยัดแนวคิดเยอะมาก เพราะฉีกกรอบทุกกรอบของคนที่บ้านเขาเชื่อเขาทำกันมา แต่ในระหว่างทางนั้น เราไม่ได้ปิดกั้นโรงเรียนนะคะ ถามลูกตลอดว่า ไปเรียนในโรงเรียนไหม ลูกเราคบเพื่อนหลากหลาย เพื่อนในโรงเรียนก็มีเยอะค่ะ ไม่น้อยไปกว่าเพื่อนโฮมสคูล แต่สังคมที่แตกต่างหล่อหลอมคนที่แตกต่าง เห็นได้ชัดเลยว่า เพื่อนในโรงเรียนกับเพื่อนโฮมสคูล มีสิ่งที่ต่างกันเหมือนกันอย่างไร ยิ่งได้ฟังแนวคิดลูกเราในการเลือกคบเพื่อน เรายิ่งชัดเจนว่า โฮมสคูลสอนอะไรได้มากกว่า เราพบว่า    โฮมสคูลเป็นการศึกษาเพื่อการดำเนินชีวิต เป็นช่วงจังหวะที่ครอบครัวสามารถปรับ ขยับ บริหารเวลา บริหารการเงิน บริหารการเรียนรู้การเติบโตได้อย่างเหมาะสม และเรียนรู้เติบโตไปด้วยกันด้วยหัวใจของคำว่าครอบครัว รวมถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การเติบโตทางความคิด mind set ของลูก การเคารพตนเองและผู้อื่น การดูแลตัวเองรับผิดชอบตัวเองในแบบที่วันหนึ่งไม่มีเราหรือเราเป็นอะไรไป เขาจะอยู่และดูแลตัวเองให้ดำเนินชีวิตในสังคมต่อไปได้ กระทั่งตอนนี้ ก็ทำโฮมสคูลให้ลูก ๆ ทั้ง ๔ คนค่ะ ม.๖/ป.๕/ป.๓ และอนุบาล ๒"

แน่นอน ย่อมทำให้ผู้ปกครองหลายคนรู้สึกทึ่ง เมื่อรู้ว่าครอบครัวนี้ สามารถจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลให้กับลูก ๆ หลายช่วงชั้นเรียนถึง ๔ คนพร้อมกัน  ในขณะที่มีผู้ปกครองอีกหลายคนกำลังสนใจอยากทำโฮมสคูลให้ลูกตัวเองบ้าง แต่ยังกังวล ไม่กล้าตัดสินใจ

สกาวรัตน์ บอกว่า เราต้องกล้าคิด เชื่อมั่นในตัวเอง และมีความแข็งแรงทางจิตใจ

"ดังนั้น พ่อแม่ทุกคนทำบ้านเรียนให้ลูกได้ กับเรื่องของเวลาเช่นกัน อันนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารเวลา บริหารแนวทางการเรียนรู้ให้ลูกว่าทำแบบไหนอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด อย่างพ่อแม่ทำงานประจำทั้งคู่ ลูกอยู่กับตายาย ทำอย่างไรได้ล่ะ เราก็คุยทำความเข้าใจกันค่ะ ระหว่างบุคคลในครอบครัวเลย พร้อมกับตารางกิจกรรมคร่าว ๆ ที่วางไว้ เวลาว่างกลับมาหรือวันว่างเราก็ทำกิจกรรมไปกับลูก เรียนรู้ไปด้วยกันได้ค่ะ นั่นคือวิถี นั่นคือบริบทของครอบครัวที่ลูกก็ได้เรียนรู้เติบโตไปกับพ่อแม่ด้วยเช่นกัน"

สกาวรัตน์ ยังพูดข้อเด่นข้อดีของการจัดการศึกษาแบบบ้านเรียน

"การทำบ้านเรียน มีข้อดี คือ ๑.การเรียนบ้านเรียนทำให้เด็ก ๆ เราได้ดูแลสุขภาพตนเองในพื้นที่หรือในห้วงเวลาที่เรายังสามารถเรียนรู้ได้ การเรียนรู้ไม่ได้หยุดชะงัก คือการเรียนรู้ตลอดเวลาจริง ๆ เรียนรู้การดำเนินชีวิตให้ปลอดภัยและเติบโต ๒.สามารถบริหารเวลา บริหารกิจกรรมการเรียนรู้ได้ ว่าจะทำอะไรเมื่อไหร่อย่างไร  เพื่อให้เหมาะสมลงตัวกับจังหวะที่อาจจะออกจากบ้านไม่ได้ หรือต้องดูแลตัวเองมากขึ้นหากต้องออกไปทำกิจกรรมข้างนอก ๓.เด็ก ๆ ได้รู้จักการปรับตัวกับวิถีใหม่และสามารถทำกิจกรรมในพื้นที่การเรียนรู้ออนไลน์ได้ เรียนรู้จักการปรับใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง ๔.เด็ก ๆ ได้พักผ่อนนอนหลับเต็มอิ่มเต็มที่ กับจังหวะที่การออกจากบ้านน้อยลง อยู่บ้านมากขึ้น ๕.ได้มีเพื่อนต่างชาติมากขึ้นค่ะ เห็นได้จากการเล่นเกม หรือการใช้สื่อโซเชียลพูดคุยกับเพื่อน ๆ ตอนนี้โลกเราแคบลงด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาและจังหวะดี ๆ ที่ทำให้เราได้มีโอกาส และเห็นความสำคัญของการได้ลงมือเรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยีอย่างจริงจัง"

 

ย้ำเด็กโฮมสคูล สามารถเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้

สกาวรัตน์ บอกว่า ลูกคนโตซึ่งเรียนโฮมสคูลมาตั้งแต่อนุบาลจนถึงระดับมัธยมปลาย ล่าสุด ปีนี้ (๒๕๖๖) สามารถเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีได้สำเร็จ

ที่สำคัญและน่าสนใจก็คือ สามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัย โดยไม่ต้องสอบอีกด้วย

"ลูกคนโตเรียนโฮมสคูล ตั้งแต่อนุบาลกระทั่งจบ ม.๖ ล่าสุด ตอนนี้เข้าเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยไม่ได้ทำข้อสอบ เพราะมีสิทธิ์เลือกได้ โดยการประเมินตามสภาพจริง  เราใช้ยื่น Portfolio และสอบสัมภาษณ์ แสดงผลงานและพูดคุย สะท้อน Mind set แสดงหลักการของตนเอง ก็ผ่านเข้าได้เรียบร้อยแล้วค่ะ เรียนในมหาวิทยาลัย โดยใช้หลักสูตร Module ซึ่งไม่มีการสอบ เป็นการวัดและประเมินผลผ่านการทำโปรเจกต์และนำเสนอ เราจึงอยากสื่อสารว่า อนาคตยังมีอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงอีกเยอะ อีกหน่อย นอกจากมหาวิทยาลัยที่ลูกเราเข้าได้ และได้ใช้หลักสูตร Module ที่เขาการันตีมาว่า เป็นที่แรกของประเทศไทย ก็น่าจะมีการขยายไปสู่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ได้อีก ซึ่งจริง ๆ แล้ว หลักสูตรนี้มีมานานแล้ว แต่ที่นี่นำมาปรับใช้อย่างเต็มรูปแบบและนำมาพัฒนาให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของผู้เรียนและรูปแบบสังคมที่ปรับเปลี่ยนไป ดังนั้น การทำข้อสอบ เป็นเพียงอีกหนึ่งแนวทางการวัดและประเมินผล ไม่ใช่การประเมินตายตัวที่จะต้องใช้เพื่อการแสดงศักยภาพและพัฒนาการการเรียนรู้นะคะ เราเลือกได้จริง ๆ เพราะเราทำมาแล้ว"

ทั้งนี้ สกาวรัตน์ บอกอีกว่า มหาวิทยาลัยที่ทำโปรเจกต์ส่งงานก็น่าจะมีอีกหลายแห่ง ครอบครัวใดมีแนวทางอย่างไรให้หาข้อมูลเพื่อเตรียมสำหรับการเข้ามหาวิทยาลัยให้ลูกไว้ตั้งแต่ช่วงมัธยม และเช่นกัน มหาวิทยาลัยและคณะที่ยังต้องสอบก็มีเช่นกัน

"เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาดูข้อมูลให้ดีก่อนว่า เรามีแนวทางการศึกษา แนวทางเด็กหรือแนวทางครอบครัวอย่างไร รวมถึงเราต้องคำนึงถึงความหลากหลายบนหลักสิทธิ ซึ่งครอบครัวมีสิทธิที่จะเรียนรู้และยืนยันแนวทางเพื่อนำไปปฏิบัติได้"

_____           

ข้อมูลประกอบ

๑. การจัดการศึกษาโดยครอบครัวในสังคมไทย (Home School in Thai Society), ดร.ศรีวรรณ  มีคุณ, วารสารศึกษาศาสตร์ ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ี ๒ เดือน พ.ย. ๒๕๔๕ - มี.ค. ๒๕๔๖
๒. โฮมสคูล "Home school" อีกทางเลือกของการเรียน, KomChadLuekOnline, ๒๐ ก.ค. ๒๕๖๔
๓. เรียนรู้เรื่องโฮมสคูล ผ่านมุมมองครอบครัวบ้านเรียน หนึ่งทางเลือกของการศึกษาในยุค COVID-๑๙, ประชาไท, ๒๖ เม.ย. ๒๐๒๒

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >