หน้าหลัก arrow หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 420 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 124: เรียนรู้โลกยุคใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ชีวิต จิตวิญญาณ!?
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 124


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง...การเรียนรู้ ดนตรี ศิลปะ ชีวิต คือความงดงามจากข้างใน : ภู เชียงดาว พิมพ์
Thursday, 21 September 2023

Image


วารสารผู้ไถ่

ปีที่ ๔๔
ฉบับที่ ๑๒๒ พ.ค. - ส.ค. ๒๕๖๖



โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง...
การเรียนรู้ ดนตรี ศิลปะ ชีวิต คือความงดงามจากข้างใน

ภู เชียงดาว : สัมภาษณ์/เรียบเรียง
 


Image 

‘โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง' ตั้งอยู่ในหมู่บ้านถาวร ต.ถาวร อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เกิดขึ้นจากแนวความคิดความฝันของครูลี่-คีตา วารินบุรี ที่เปลี่ยนเอากระท่อมและทุ่งนากว้าง มาเป็นโรงเรียนสอนความรู้นอกตำรา เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบวิถีธรรมชาติ พื้นบ้าน การรักษารากฐานวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น
 
ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เด็ก ๆ ในชุมชน จะพากันมาที่โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างแห่งนี้ บรรยากาศโล่งกว้าง อิสระ เสรี อบอวลไปด้วยความสุขจากการปลูกผัก ร้องเพลง เล่นดนตรี วิ่งเล่นกันไปมา โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างแห่งนี้ จึงมีเสียงเพลงและเสียงหัวเราะอบอวลไปทั่วท้องนา
 
"โรงเรียนเล็กฯ คือของเล่นที่สำคัญที่สุดของหนูค่ะ มีความสุขมากค่ะ ที่ได้มาอยู่ที่นี่ค่ะ เรามาทำแปลงผักเป็นใบสมัคร แม่ช่วยพรวนดิน หนูช่วยเอาผักใส่ลงดิน แล้วช่วยรดน้ำ" น้องแมว นักร้องประจำวง โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง บอกเล่า
 
"มาขุดดิน ปลูกผัก เป็นใบสมัครมาเรียนที่นี่ครับ ผมชอบปลูกผักบร็อคโคลี่" แทนภูมิ เด็กชายอารมณ์ดี นักดนตรี นักร้องนำของโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง
 
"เอาแผ่นดินมาเป็นกระดาษ เอาจอบมาเป็นปากกา นี่เป็นใบสมัครที่เต็มไปด้วยมิตรภาพ มวลสารที่ดีที่ส่งถึงกัน และเป็นใบสมัครที่กินได้ด้วย พื้นที่ตรงนี้ จะเป็นพื้นที่การแบ่งปันภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เรามีส่งต่อให้กับลูกหลาน แล้วความอบอุ่นก็เกิดขึ้น ให้เขาใกล้ชิดกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในบ้านของเขา ได้ซึมซับวิถีชุมชนที่มีอยู่แล้ว แล้วความสนุกสนานก็เกิดขึ้น" ครูลี่- คีตา วารินบุรี บอกเล่าด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้มและอิ่มเอมความสุข
ทุกกิจกรรมของโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง จึงมีคุณค่า อุดมด้วยปัญญาแห่งการเรียนรู้ที่เหมาะสมสอดคล้องกับชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง
 
ครูลี่ - คีตา วารินบุรี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง บอกว่า เมื่อก่อน เคยเป็นนักดนตรีตามผับ ตามบาร์ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ มีความฝันเหมือนทุก ๆ คนนั่นแหละ มันเหมือนวัฒนธรรมของคนพื้นถิ่น ว่าเรียนจบแล้วต้องเข้าไปกรุงเทพฯ เพื่อตามหาความฝันของตนเอง
 
"ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นที่รับวัฒนธรรมพวกนี้มา พอเข้าไปในกรุงเทพฯ ก็ทํางานอยู่หลายที่ สุดท้าย ความฝันของคนเป็นนักดนตรี ก็มีประมาณนี้ เหมือนเจอทางตัน เพราะเราเล่นดนตรีกลางคืนทุกวัน ๆ มันก็เบื่อ อยากหาอะไรทําใหม่ ๆ บ้าง พอดีผมได้ไปเจอกับอาจารย์เอกลักษณ์ หน่อคํา (เอ แมลงเพลง) ท่านก็พาไปทํากิจกรรมเกี่ยวกับชุมชน เกี่ยวกับเด็ก เอาเครื่องดนตรีไปมอบให้เด็กตามรอยตะเข็บชายแดน ไปเล่นดนตรี เอากล่องไปรับบริจาค เพื่อที่จะซื้อของไปให้น้องที่ขาดโอกาส ก็เริ่มเรียนรู้การแบ่งปันคนอื่นนั้นมีความสุขนะ จนกระทั่ง อาจารย์ชวนมาอยู่ที่เชียงใหม่ บอกว่าเดี๋ยวเราไปทําโรงเรียนธรรมชาติ จริง ๆ ผมก็ไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร แต่ว่าผมชอบแนวความคิดนี้ ก็ตัดสินใจลาออกจากร้านที่กรุงเทพฯ มาเล่นดนตรีที่เชียงใหม่ มาทําโรงเรียนธรรมชาติ เอาเด็กชนเผ่าปกาเกอะญอมาเรียน สอนดนตรีให้เด็ก ๆ"
 
ครูลี่ บอกว่า ทำโรงเรียนธรรมชาติกันอยู่ ๓ - ๔ ปี เอาเด็กมาเรียน เราเป็นทั้งครู เป็นภารโรง เป็นอะไรทุกอย่าง และที่สำคัญ ได้มีโอกาสเจอกับอาจารย์ปราสาท เทศรัตน์ เจออาจารย์ไพบูลย์ ฐิตมโน อาจารย์ก็ได้แนะนำให้รู้จักเรียนรู้จากเรื่องรีเซ็ต เรื่องการฝึกสมาธิ เรื่องด้านในของชีวิต
 
"พอโรงเรียนธรรมชาติปิดตัวลง ก็ได้มีโอกาสไปพำนักอยู่กับอาจารย์ปราสาท ที่จังหวัดแพร่ ก็ได้วิชาความรู้ ถ่ายทอดเรื่องของประสบการณ์ การใช้ชีวิต การทําเพื่อตัวเอง ทีนี้เราก็เหมือนตกผลึกอะไรบางอย่าง จากนั้น ก็มีโอกาสไปที่มุกดาหาร อาจารย์ไพบูลย์บวชอยู่ที่นั่น ก็มีโอกาสได้เจอกับพี่นนท์-สุวิชานนท์ รัตนภิมล ก็ได้ไปเรียนรู้ด้านในเพิ่มเติมจากพี่นนท์ด้วย"


กลับคืนบ้านเกิด ก่อตั้งโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง


ครูลี่ เล่าว่า กลับบ้านครั้งนี้ ตอนแรกยังไม่ได้คิดจะมาทําโรงเรียนเลยนะ กลับมาบ้าน เพราะว่าคิดถึงแม่ อยากมาอยู่กับแม่ เส้นทางชีวิตจากแม่มานานมาก

"ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของอาจารย์ไพบูลย์ ฐิตมโน ว่าสุดท้ายคนเราก็ต้องกลับบ้าน และอาจารย์ก็เคยเล่าเรื่องที่ดินรกร้างนี่แหละว่า เพราะคนรุ่นใหม่ เขาทิ้งบ้าน ทิ้งแผ่นดิน สุดท้ายมันก็จะเป็นของต่างชาติ อาจารย์ปราสาทก็พูดบ่อย ทำให้ผมตัดสินใจกลับบ้าน มาดูแลแม่ ทีนี้พอมาอยู่กับแม่สักพักหนึ่ง ก็มีเพื่อนอยู่ที่นี่ เขาก็รู้ว่าเรากลับบ้าน เขาก็มาหา ชวนไปเล่นดนตรีอีก แต่ตอนนั้นผมรู้สึกเบื่อดนตรีแล้วนะ คือคิดจะเลิกเล่นแล้ว ใจอยากเป็นชาวนา อยู่กับวิถี ช่วงนั้นผมอ่านหนังสือ เกี่ยวกับวิถีวัฒนธรรมพวกนี้ ซึมซับในตัวเราเยอะอยู่เหมือนกัน ทำให้มองเห็นคนอีสานจากบ้าน แล้วก็ทิ้งพ่อทิ้งแม่ มันอาจจะฝังอยู่ พอผมมาอยู่กับแม่ ก็ปลูกผัก ทํานา ทำสวนได้ประมาณสองเดือน"

ครูลี่ บอกว่า จุดประกายเริ่มต้นนั้นมาจากหลาน จนกลายมาเป็นโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

"พอดีมีหลานอยู่คนหนึ่ง กำลังติดเกม ก็ไม่ค่อยคุยกับเรา ไม่ค่อยเล่น ไม่ค่อยทำอะไร ก็เลยวางแผนจะทํากิจกรรม เริ่มต้นจากเด็กประมาณสัก ๔ - ๕ ขวบ รวมทั้งหลานคนนี้ด้วย ผมพาเด็ก ๆ มาทําแคมป์ ไปเดินป่า พาไปเล่นน้ำ ทําอาหารด้วยกัน เพื่อให้เด็ก ๆ ห่างจากมือถือ ห่างจากเกม ก็พาเขาร้องเพลง เราก็เล่นกีตาร์ แล้วก็บังเอิญมันมีฟีดแบคกลับมาในทางที่ดี คือจากหลานเรานี่แหละ เขาเริ่มห่างจากโทรศัพท์ จากเดิมเป็นเด็กที่อยู่กับโทรศัพท์ สิ่งที่เราเห็นก็คือ เขาจะไม่ค่อยคุยกับใคร เข้ากับคนอื่นไม่ได้ แล้วก็คําพูดคําจาก็ไม่เพราะหู ภาษาอะไรก็ไม่รู้ เราก็ฟังไม่รู้เรื่อง พอทําสักพักหนึ่ง ก็เริ่มมีผลตอบรับกลับมา เด็กเริ่มดีขึ้นนะ แล้วก็บังเอิญ ช่วงนั้นมีวันเด็กในหมู่บ้าน เราก็อยากให้พวกผู้ใหญ่ได้เห็น ก็พาเด็ก ๆ ไปร่วมกิจกรรมวันเด็ก ก็ไปขอเขา อยากให้เด็กกลุ่มนี้มาร่วมแสดงด้วย เป็นการแสดงครั้งแรก ที่ไม่ได้หวือหวาอะไร เอาวัสดุเหลือใช้นั่นแหละมาทำเครื่องทำดนตรี ก็เอาถังสีมาทำกลอง เอากระป๋องทินเนอร์มาทําพิณ เราก็เล่นกีตาร์ตัวเดียวแหละ ก็ร้องเพลงกันได้ ๓ - ๔ เพลง พอแสดงเสร็จก็ลงมา หลังจากนั้นก็มีชาวบ้านทยอยเอาลูกเอาหลานมาฝากเพิ่มมากขึ้น ๆ"

ส่วนหนึ่งก็คือ ครูลี่มีประสบการณ์จากการทำโรงเรียนธรรมชาติที่เชียงใหม่มาด้วย บวกกับมีแม่ที่คอยหนุน คอยเป็นที่ปรึกษาให้ลงมือทำ

"แม่บอกผมว่า ถ้าอยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำ ง่าย ๆ เพราะว่าจริง ๆ แล้ว แม่ก็ชอบเสียงเพลงอยู่แล้ว แม่อยากให้ผมทำวงหมอลําให้เด็ก ตอนแรกไม่ได้คิดจะทำนะครับ ดูกําลังตัวเอง จนตัดสินใจลงมือทำ"
ครูลี่ ก็เลยนัดเด็ก ๆ ให้เด็กทุกคนก่อนจะเข้ามาเรียน โดยมีกติกาว่า ต้องปลูกผักเป็นใบสมัครเข้าเรียน
"เด็ก ๆ ที่พ่อแม่พามาจะต้องฝึกปลูกผักให้เป็น ปลูกอะไรก็ได้ตามใจชอบ ระหว่างปรับตัวให้เข้ากับโรงเรียนเป็นเวลา ๓ เดือน หากแปลงผักและนิสัยใจคอเด็ก ๆ งอกงาม ก็เข้ามายกขันขึ้นครู นับเป็นสมาชิกโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างได้เต็มตัว"

ทําไมต้องปลูกผักแทนการกรอกใบสมัครเรียน? หลายคนมักตั้งคำถามกันแบบนี้

"คือมันจะได้วัดเด็กไงครับ ว่าเด็กเอากับเราไหม? เด็ก ป.๑ ป.๒ ให้เขามาขุดแปลงผัก มันเป็นเรื่องยากนะครับ ทีนี้ผู้ปกครองเขาก็เล่นด้วย ถ้าจะเปลี่ยนแปลงดี ก็ให้ทำแปลงผักนี่แหละแทนใบสมัคร เป็นการคัดสรรไปในตัว มันเป็นการสแกน ทีนี้พอทําไปทํามา เด็กก็เริ่มเยอะขึ้น กิจกรรมที่เราพาเด็ก ๆ ทำ มันคงตอบโจทย์เขา เขาไม่ได้อยากเล่นโทรศัพท์ แต่เขาไม่รู้จะทําอะไร แล้วที่หมู่บ้านผมก็มีธรรมชาติค่อนข้างสมบูรณ์ เคยเป็นดินภูเขาไฟด้วย ทำให้พืชผักอาหารที่ภูเขาไฟนั้นอร่อย ไม่ว่าจะเป็นเห็ด หน่อไม้ ดอกกระเจียว อะไรพวกนี้เยอะมากครับ เราพาเด็กขึ้นเขาไปกางเต็นท์บนภูเขา แต่หลัก ๆ ก็คือการรีเซ็ตตัวเองนี่แหละ เริ่มจากเบื้องต้นก่อน อาจารย์บอกว่าให้เราปรับข้างในให้ได้ก่อน ลงรีเซ็ตลงไป เราก็ได้ฝึกตัวเองไปด้วย และการรีเซ็ตก็เริ่มมีกําลังเยอะขึ้น อันนี้รู้สึกได้เลย เด็กมีความสุขมากขึ้น มันเหมือนพวกเขาได้ปลดปล่อย เขาได้เล่น ได้เรียนรู้"

นั่นคือที่มาของ "โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง"

แน่นอนว่า ย่อมแตกต่างจากโรงเรียนในระบบของรัฐอย่างสิ้นเชิง

เด็ก ๆ เคยบอกครูลี่ว่า เขาเบื่อกับการที่ต้องทําอะไรซ้ำ ๆ ที่โรงเรียน เขาเบื่อกับการต้องแบกหนังสือ แบกการบ้านกลับบ้าน มาถึงบ้านก็มานั่งเขียน ๆ ในโรงเรียนที่เขาไปเรียนนั้นมีแต่กฎระเบียบ ไม่มีอิสระ แต่พอมาอยู่ที่นี่ เราได้ให้อิสระกับเขา

"การมาเรียนรู้ที่โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง นอกจากเรื่องของดนตรี เรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในชุมชนแล้ว เรามีอีกอันหนึ่ง ซึ่งเหมือนเป็นหลักสูตร ก็คือ เรื่องฐานกายกับฐานใจ ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการใช้ชีวิต เรื่องกายมันก็คือเรื่องของปัจจัยสี่ที่เราดํารงอยู่ นั่นคืออาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เราทําเรื่องพวกนี้ สอนให้เด็ก ๆ ปลูกผัก เลี้ยงปลา เก็บผักพื้นบ้านมาทำอาหารกัน รวมไปถึงให้เด็ก ๆ ได้ศึกษาเรียนรู้ในอินเทอร์เน็ตศึกษาใน YouTube บ้าง แล้วก็ให้เพื่อนมาช่วยสอนบ้าง เรื่องยา เรื่องสุขภาพ อะไรพวกนี้ ก็มีพี่น้องเครือข่ายเข้ามาช่วยกัน แต่วิชาใจ คือเรื่องของด้านใน การมอง รู้สึกตัว พัฒนาเรื่องของสติของตัวเอง เราจะเน้นเหมือนเป็นแก่นตั้งแต่แรก เพื่อเอามาเติมเรื่องของวิชากาย"


การเรียนรู้ของเด็ก ต้องรู้จักค้นหาความแตกต่างของแต่ละคน

ครูลี่ ย้ำว่า การเรียนรู้ เราต้องเข้าใจ ความแตกต่างของเด็กว่าแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน

"ยกตัวอย่าง ปลื้ม เด็กชั้น ป.๒ ผมมองเขาเป็นเด็กที่อัจฉริยะมาก แต่ปลื้มอ่านหนังสือไม่ออก ตอนที่เราตั้งโรงเรียนใหม่ ๆ จำได้ว่า ตอนนั้น เราไม่มีเงิน แต่ผมต้องทําอาหารเลี้ยงเด็ก ทั้งมื้อเช้า เที่ยง เย็น ผมก็ได้ปลื้ม ซึ่งมีวิชาหาปลา เก่งมาก นี่คือเด็กแปดขวบ ชวนเพื่อนไปทอดแห หาปลา ไปเก็บเห็ด เก็บผัก มาทํากับข้าว แต่พอไปโรงเรียนในระบบ ปลื้มอ่านหนังสือไม่ค่อยคล่อง ครูก็หาว่าเขาเรียนไม่เก่ง โง่ แต่พอมาอยู่กับเรา โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง เราไม่ได้มองเด็กแบบนั้นไง เราไม่ได้มองการศึกษาแบบนั้น ผมคิดว่า เราควรไปเติมในสิ่งที่เขาขาด หรือสิ่งที่เขามีอยู่แล้ว มีจุดเด่นอะไร เราก็ไปต่อยอดเขา ผมว่าไอ้ตรงนั้นต่างหาก มันจะงดงาม มันจะทําให้ชีวิตเขาไปได้ ไม่ใช่มัวแต่มาเอาคะแนนเป็นตัวชี้วัด และอยู่ที่ปลายปากกาของครู ครูก็ไม่ได้คลุกคลีอะไรกับเด็ก ครูก็ยังต้องทําแต้มให้กับตัวเองอยู่เลย ซึ่งผมว่ายากครับ"

เช่นเดียวกับ แพรวา นักดนตรีประจำวง โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง เธอบอกเล่าให้ฟังว่า เข้ามาเรียนในโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง ตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ จนถึงตอนนี้อายุ ๑๓ ปีแล้ว ก็ยังชอบมาเรียนที่นี่ เพราะมีความแตกต่างกับโรงเรียนทั่วไป ที่สำคัญคือ สนุก มีความสุขมาก

"หนูคิดว่าดีค่ะ ที่มีโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างแบบนี้ ทำให้เป็นพื้นที่เปิดประสบการณ์ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้อะไรที่ไม่เคยทํา ก่อนจะเข้ามาเรียนมีการปลูกผักเป็นใบสมัครเรียน แล้วก็ซ้อมดนตรี หนูเล่นแคนกับกีตาร์ค่ะ อย่างแคนนี่ไม่เคยเล่นมาก่อนก็มาเรียนกับครูลี่ พอลองเล่นแล้วก็ชอบเลย โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างจะแตกต่างจากโรงเรียนปกติ คือ จะพาเราไปหาประสบการณ์ห้องเรียนข้างนอกมากกว่า รู้สึกสนุกมาก อย่างเวลาพากันเดินป่า ไปเก็บเห็ด มาทําอาหารด้วยกันหลาย ๆ คนก็สนุกค่ะ"

ล่าสุด เด็ก ๆ โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง ได้ออกเดินทางท่องโลก ลงใต้ นั่งรถไฟข้ามประเทศไปถึงปีนัง ปาดังเบซาร์ประเทศมาเลเซีย ไปเล่นดนตรีแลกเปลี่ยนกับเยาวชนที่โน่นมาแล้ว

แพรวา บอกอีกว่า อยากให้มีหน่วยงานต่าง ๆ มาส่งเสริมโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างกันเยอะ ๆ

"คืออยากให้มาสนับสนุนให้พัฒนาขึ้น ดีขึ้นกับรุ่นต่อไป ตอนนี้ก็มีทั้งน้อง ๆ ประถม มีเพื่อนมัธยม
แต่พอจบ ม.๖ ก็ออกไปเรียนมหาวิทยาลัย พี่ ๆ บางคนก็กลับมา แต่ก็จะมีน้อง ๆ เด็ก ๆ รุ่นใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ เหมือนกัน"

ในขณะที่ ครูลี่ มองระบบการศึกษาของไทยตอนนี้ว่า ไม่ทันกับยุคสมัยไปแล้ว ต้องปฏิรูประบบการศึกษากันใหม่ได้แล้ว

"ผมว่า มันต้องล้มกระดาน ต้องปฏิรูประบบการศึกษากันใหม่หมดเลย เพราะว่าสิ่งที่มีอยู่ ที่เห็นอยู่ตอนนี้ มันไม่ใช่ว่าแค่ว่ามันไม่ทันโลก แล้วไม่ใช่บัวไม่พ้นน้ำ แต่เป็นบัวที่จมใต้น้ำ จมอยู่ในปลักโคลนเลยทีเดียว โดยเราดูจากเด็กได้เลยว่า เด็กในระบบโรงเรียน ส่วนใหญ่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย เด็กว่ายน้ำไม่เป็น เด็กเอาตัวรอดไม่ได้ ขนาดเด็กมัธยม ยังเอาตัวรอดง่าย ๆ ยังไม่ได้ แค่หุงข้าวกินเองยังไม่ได้เลย ซึ่งผมเคยเจอ ตอนพาเด็กมาอยู่ที่นี่ช่วงปิดเทอม เราเห็นสิ่งที่เขาทำกิจวัตรประจําวัน การปฏิสัมพันธ์กับผู้คนก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ ทำให้ผมมองว่า มันต้องล้มกระดานใหม่ทั้งหมดเลย จากนั้น เราต้องกลับมาเน้น มาค้นหาเรื่องรากเหง้าของตัวเองก่อน ว่ารากของตัวเองนั้นมีข้อดีอะไรบ้างในท้องถิ่นของเรา มาค้นหาความงามที่เรามี ซึ่งคนไทยเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ผมว่าสิ่งเหล่านี้เราควรจะรื้อขึ้นมาใหม่ ให้มันอยู่ในตํารา ให้มันจับต้องได้ อย่างวิชาศีลธรรม วัฒนธรรม พุทธศาสนา ไม่รู้ยังมีเรียนกันอยู่หรือเปล่า"

ครูลี่ ยังฝากความหวังไปถึงรัฐบาลใหม่ อยากเน้นให้ความสำคัญกับการศึกษาทางเลือก ให้มีอยู่ทุกท้องถิ่น ว่าสิ่งแรกที่ต้องทําคือหลักสูตรท้องถิ่น ก็คือให้ชุมชนออกแบบหลักสูตรของเขาเอง ชุมชนต้องมีบทบาทในการร่างหลักสูตรด้วย

"อย่างบ้านผม เป็นหมู่บ้านที่เคยมีภูเขาไฟอาจจะใหญ่ที่สุดของประเทศก็ได้ แต่ไม่มีการวิจัยเรื่องหินดินภูเขาไฟ โพแทสเซียมที่มันอยู่ในดิน ธาตุต่าง ๆ ที่มันอยู่ในดิน ไม่มีเลย ซึ่งผมพาเด็กเอาหินมาทดลองตํา ๆ บด ๆ แล้วก็เอาไปหว่านใส่ผักที่เราปลูก ทำให้ผักงาม มันเป็นปุ๋ยชั้นดี แต่ว่าหลักสูตรที่นี่ เด็ก ๆ ไม่รู้เรื่องเลย"

ที่สำคัญ คือประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จำเป็นต้องมีและให้ความสำคัญ

"ประวัติศาสตร์ชุมชน ทําให้เด็กทุกคนรักพื้นถิ่นของเขา แต่เด็กไม่รู้ประวัติศาสตร์เราเลย หลักสูตรไม่มี เราก็ไม่รู้ที่มาที่ไป ว่าเราเป็นยังไงมาจากไหน อย่างตระกูลผม มีเชื้อสายกุลา มาจากลาวโน่น ก่อนจะเดินทางมานี่ เป็นยุคของคนกุลา แล้วต่อมาเป็นนายฮ้อย มาค้าวัวค้าควายที่นี่ แล้วก็มาตั้งหมู่บ้าน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ผมไปศึกษาเองนะครับ ในตําราไม่มีเลย ทีนี้พอเล่าให้เด็ก ๆ ฟัง เด็ก ๆ โอ้โห... ตาโตเลย ตื่นเต้น สนใจ พอเขารู้ว่าเขามายังไง แล้วถ้ามันมีเรื่องเหล่านี้ ก็จะทําให้เด็ก ๆ เขารักบ้านเกิด เขาจะได้ไม่ทิ้งบ้านเกิด นอกจากนั้น หมู่บ้านผมก็จะมีประเพณีฮีตสิบสองคองสิบสี่อยู่แล้ว อันนี้เราสามารถเอาเข้าไปเป็นหลักสูตรได้เลย สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นตําราได้เลย แต่หลักสูตรการศึกษาทุกวันนี้ เหมือนจะสอนให้ป้อนคนเข้าสู่โรงงาน สุดท้ายโรงงานมันมีจํากัด มีแค่ในเมืองใหญ่ ๆ ทุกคนก็ไปกระจุกกันอยู่ตรงนั้น แล้วเกิดอะไรขึ้นรู้ไหม หมู่บ้านผมจึงเหลือแค่เด็กกับคนแก่เกิน ๖๐ เปอร์เซ็นต์เลยนะ ดังนั้น วัฒนธรรมสิ่งดีงามของท้องถิ่น เราก็ต้องช่วยกันรักษาและเรียนรู้ ส่วนความรู้ที่เป็นโลกสมัยใหม่ เราก็ต้องเรียน อย่างเช่น ไอที วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีอะไรพวกนี้ มันก็ต้องเรียนควบคู่กันไปด้วย"

ครูลี่ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า "การจัดการศึกษาทางเลือกรูปแบบนี้ ควรจะมีทุกหมู่บ้านเลยด้วยซ้ำ เพราะผมมองเห็นว่า ระบบการศึกษาไทย ณ เวลานี้ มันไม่ใช่แค่ล้มเหลว แต่กำลังล้มละลายไปแล้ว และถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องออกมาขยับกันได้แล้ว"

_____

ข้อมูลประกอบ

๑. สัมภาษณ์ ครูลี่-คีตา วารินบุรี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง, ๑๕ มิ.ย. ๒๐๒๓
๒. สัมภาษณ์ แพรวา นักเรียนโรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง, ๑๖ มิ.ย. ๒๐๒๓
๓. ภาพและข้อมูล จากเพจ TungKwang School โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง

  

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง คือพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน ให้ธรรมชาติเป็นครู ทุกกิจกรรมในบ้าน พ่อแม่และสมาชิกทุกคนในครอบครัว สามารถมีส่วนร่วมส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลายให้กับเด็ก ๆ ได้ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน องค์กรหน่วยงานที่สนใจ สามารถร่วมแลกเปลี่ยน ค้นหาพื้นที่เรียนรู้เพื่อความสุขของเด็ก หรืออยากช่วยต่อเติมความฝันให้กับเด็ก ๆ เชิญได้ที่...

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง
ที่ตั้ง ๓๓๓ ม.๑ ต.ถาวร อ.เฉลิมพระเกียรติ์ จ.บุรีรัมย์ เบอร์โทรศัพท์ ๐๖ ๓๒๓๘ ๓๕๒๔
E-mail :
Facebook : TungKwang School โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง
Youtube : TungKwang School

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >