หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 93 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


เธอชื่อ "แสงดาว" ดาวนำทางให้แก่เด็กๆ ผู้ไร้สัญชาติ แห่งโรงเรียนไร่ส้ม พิมพ์
Wednesday, 07 October 2015

เธอชื่อ "แสงดาว"

ดาวนำทางให้แก่เด็กๆ ผู้ไร้สัญชาติ แห่งโรงเรียนไร่ส้ม

ธัญลักษณ์ นวลักษณกวี เรื่อง/สัมภาษณ์

 


   Image   
              ภาพ : nikhelbig.com                 

"การได้สัญชาติไทย บางคนอาจจะได้มาง่ายมาก แต่มันสำคัญสำหรับเรา กว่าจะได้มามันต้องผ่านอุปสรรคมากมาย ถ้าหนูไม่ได้สัญชาติไทย หนูก็เหมือนคนอื่นทั่วๆ ไป แต่ถ้าหนูได้สัญชาติไทย ชีวิตอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ อย่างที่เขาได้เบี้ยยังชีพกัน อีกหน่อยเราแก่ตัวไป ก็ได้มา เรื่องสัญชาติก็เป็นสิ่งสำคัญ อย่างทุกวันนี้ปลอบตัวเองไปอย่างนั้นล่ะว่าไม่ได้สัญชาติไทยก็ไม่เป็นไร เราก็ทำงานได้เหมือนคนไทยทุกอย่าง มีอย่างเดียวคือ เราไปเลือกตั้งไม่ได้แค่นั้นเอง นี่คือการปลอบใจตัวเอง ไม่ได้คิดมากอะไร แต่ถ้าเมื่อไรที่เขายกเรื่องสิทธิขึ้นมา เราก็ไม่ได้รับสิทธิอย่างที่เขาได้รับกัน"

แสงดาว วงปา หรือ "ครูแสงดาว" แห่งโรงเรียนเด็กด้อยโอกาสบ้านเด่น หรือที่รู้จักกันในชื่อโรงเรียนไร่ส้มในเขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ สะท้อนความรู้สึกของเธอถึงความหวังที่จะได้รับสัญชาติไทย ได้เป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์ในสักวันหนึ่ง

ครูแสงดาวเป็นชาวไทใหญ่ พ่อแม่ของเธออพยพจากประเทศพม่าเข้ามาอยู่ในเมืองไทยเมื่อ ๓๖ ปีที่แล้ว และให้กำเนิดเธอในอีก ๔ ปีต่อมา ในความเป็นจริงแล้วเธอควรจะได้สัญชาติไทย เป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ และได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างที่คนไทยทุกคนควรจะได้รับ แต่เนื่องจากฐานะที่ยากจนของพ่อแม่และถิ่นฐานที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญและ การพัฒนาใดๆ ทำให้เธอกลายเป็นบุคคลที่ตกสำรวจ ไร้สัญชาติ ไร้สิทธิและสถานะ

"ตั้งแต่จำความได้ พ่อแม่ทำงานอยู่ในแคมป์ป่าไม้แถวดอยอ่างขาง อยู่ตำบลแม่งอน หลังจากคลอดปุ๊บก็ลงมาอยู่ที่บ้านห้วยฮ่อม โตที่นั่นเรียนจบที่นั่น สมัยนั้นยังไม่มีรถ โรงพยาบาลอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้จัก การทำคลอด แม่บอกว่ายายเป็นหมอตำแย เป็นคนทำคลอดให้ อยู่ที่นั่นมาเรื่อยๆ ถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้สัญชาติไทย"

"ปี ๒๕๓๓ เคยได้ไปทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง เคยไปถ่ายรูปไปอะไรหมด แต่ตกหล่น ไม่ได้บัตร อยู่ไปถึงปี ๒๕๓๗ เขาสำรวจอีกที ได้ทำบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสัญชาติ ไทย (ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า) ตอนนั้นไม่ได้แยกแยะหรอกว่าบัตรไหนเป็นอย่างไร ขอแค่ว่าได้มีบัตร อยู่ในเมืองไทยได้ไม่ผิดกฎหมาย เราก็ไปทำกัน แต่บัตรนั้นจะระบุว่า "ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า" ก็ใช้บัตรนี้เรื่อยมา เข้าโรงเรียนก็ใช้บัตรนี้ แต่ทะเบียนประวัติเขาระบุว่าเราเกิดพม่า ปีที่พ่อแม่เข้ามาในไทยปี ๒๕๒๑ แต่ดาวเกิดเมื่อปี ๒๕๒๕"

"อย่างทุกวันนี้หลายคนก็บอกว่าทำไมไม่ไปเรียกร้องสิทธิหรือไปขอสัญชาติ ดาวก็บอกว่าเราก็อยากได้อยู่หรอกสัญชาติไทย แต่เราก็พอรู้กฎหมายว่าเราไม่มีหลักฐานจะไปยืนยันเขาเพราะเราไม่มีใบเกิด เราไม่มีพยาน แล้วนึกดูว่ามันค่อนข้างยาก แล้วจะดิ้นรนไปทำไม เลยคิดว่าทุกวันนี้ถึงเราไม่ใช่คนไทย เราก็ทำประโยชน์ได้ แต่ลึกๆ ก็คิดอยู่นะคะว่า วันหนึ่งจะมีโอกาสไหมที่จะได้เป็นคนไทย ก็คิดอยู่เหมือนกัน"

"เรื่องสิทธิสำคัญสำหรับหนู เพราะที่ผ่านมาจะทำอะไรก็ถูกแบ่งแยกมาตลอด ถึงแม้เราจะคิดว่าไม่สำคัญหรอก แต่พอเราโดนกระทำ เราก็คิดว่ามันสำคัญสำหรับเรา"

และนี่คือเสียงสะท้อนของผู้หญิงคนหนึ่งในจำนวนผู้ไร้สัญชาติอีกหลายแสนคนที่แม้จะเกิดในผืนแผ่นดินไทย แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์ได้ เพียงเพราะกฎหมายไทยไม่ให้การรับรองสถานะ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนควรจะมีเท่าเทียมกัน และสิทธิต่างๆ ที่ควรจะได้รับอย่างเสมอภาคถ้วนหน้ากันเช่นคนไทยอีก ๖๐ กว่าล้านคน จึงไม่เคยเกิดขึ้นจริงกับชีวิตของเธอและเพื่อนร่วมชะตากรรม มีแต่เพียงคำที่ฟังดูสวยหรูแต่จับต้องไม่ได้!


เรื่องของครูแสงดาว กับโรงเรียนในไร่ส้ม

Imageณ บนดอยสูงในโอบล้อมของเทือกเขาลดหลั่นสลับซับซ้อนกัน ไร่ส้มเรียงเป็นแถวเป็นแนวกินพื้นที่กว้างสุดลูกหูลูกตา ที่นี่คือ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ แหล่งปลูกส้มสายน้ำผึ้งอันเลื่องชื่อของประเทศไทย และ ณ ที่แห่งนี้เองที่เด็กสาววัยแรกรุ่นคนหนึ่งที่จบการศึกษาเพียงแค่ชั้น ป.๖ ได้รวบรวมสมาชิกตัวน้อยๆลูกหลานของแรงงานในสวนส้ม มาสอนหัดเรียนเขียนอ่านภาษาไทย ซึ่งเด็กเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเด็กผู้ไร้สัญชาติกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งไทใหญ่ที่อพยพมาจากประเทศพม่า ชาวดาระอั้ง (หรือปะหล่อง) และชาวปกาเกอะญอ จากความคิดเริ่มต้นที่คิดเพียงว่า เด็กๆ เหล่านี้ได้แต่อยู่ในสวนส้มไปวันๆ ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เธอจึงอยากสอนเด็กๆ เหล่านี้ให้อ่านออกเขียนได้เพื่อเป็นความรู้ติดตัวไม่ให้พวกเขาถูกหลอกลวง หรือถูกเอาเปรียบได้

"แรกๆ เกิดจากสิ่งที่หนูโดนมาก่อน หนูคิดว่าไม่อยากให้เด็กพวกนี้ไม่รู้เรื่อง ไม่มีคนช่วยเหลือ ไม่อยากให้เขาเป็นอย่างที่เราเป็น คิดว่าอย่างน้อยให้เขาอ่านเขียนได้ ก็ดีใจแล้ว ถึงแม้ตัวเราไม่มีใครช่วย แต่เราก็อยากจะช่วยคนอื่น"

ครูแสงดาวเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเป็นครูของเธอ เมื่อเธอไปบอกผู้ปกครองถึงความตั้งใจเพื่อให้ส่งเด็กๆ มาเรียนหนังสือกับเธอ เริ่มแรกมีเด็กๆ มาเรียนกับเธอ ๕-๖ คน โดยเธอจะได้ค่าจ้างเป็นเงิน ๑๕๐ บาทต่อเดือนต่อเด็กคนหนึ่ง "เดือนหนึ่งก็ได้เกือบพันบาทแต่ด้วยค่าใช้ จ่ายมันก็ไม่พอ ดาวมีมอเตอร์ไซค์อยู่คันหนึ่ง ก็ขายของไปด้วย ตอนตีสองจะไปนั่งที่ตลาดขายโรตีสายไหม ก็ผันตัวเองขึ้นมาทำรถพ่วงข้าง บ่ายสามไปขายน้ำเต้าหู้ที่ตลาดชัยปราการ ทำแบบนี้ตลอดมา ก็ทำให้เราพอใช้จ่ายได้บ้าง"

ครูแสงดาวต้องทำหน้าที่เป็นทั้งแม่ค้าเพื่อช่วยหาเลี้ยงครอบครัว และเป็นครูสอนหนังสือให้เด็กๆ และเมื่อเธอมีโอกาสและความพร้อมมากขึ้น เธอจึงเข้าศึกษาต่อที่ศูนย์การศึกษานอกระบบ (กศน.) เพื่อพัฒนาทักษะและเพิ่มพูนความรู้ในวิชาชีพครู และในวันหนึ่งเธอมีโอกาสได้เจอกับอดุลย์ ดวงดีทวีรัตน์ (ผู้จัดการโครงการของกลุ่มเพื่อเด็ก (Group for Children) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ริเริ่มโครงการโรงเรียนในไร่ส้ม) ศูนย์การเรียนเด็กด้อยโอกาสบ้านเด่น หรือโรงเรียนในไร่ส้มจึงถูกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยมีเธอมารับตำแหน่งเป็นครูอาสาคนแรกของศูนย์ฯ ทั้งๆ ที่ หากว่าเธอยังคงรับสอนเด็กๆ ในแบบเดิมเธอย่อมได้รับค่าตอบแทนมากกว่านี้เพราะเด็กที่เธอสอนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

Image"หัวหน้าดุลย์จากองค์กรยูนิเซฟ เขาถามว่า หนูอยากมีเงินเดือนไหม ครูจะเปิดเป็นศูนย์ฯ ให้เขาให้เงินเดือนขั้นแรก ๒,๐๐๐ บาท ก็เลยเสียสละมารับเป็นครูอาสาสอนเด็ก แล้วมาบุกเบิกในหมู่บ้าน มีโรงเรียนร้างก็เลยมาขอใช้สถานที่เพื่อสอนเด็กไร้สัญชาติ ตอนนั้นคิดว่าให้อ่านออกเขียนได้คิดเป็นแค่นั้น ไม่ได้คิดว่าจะมาถึงทุกวันนี้ เขาก็อนุญาตชั่วคราว แต่เราก็ใช้สถานที่เขาตลอดมาจนกระทั่งเด็กเพิ่มมากขึ้นจาก ๓๐ เป็น ๔๐ - ๕๐ คน แต่ดาวอยู่คนเดียวไม่ไหว หัวหน้าเขาเลยหาคนมาเพิ่มให้อีกคน ก็อยู่ช่วยกันสองคน"

แต่การเปิดศูนย์ฯ ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นง่ายดายอย่างที่คิด เพราะกลับมีอุปสรรคมากมายให้เธอต้องฟันฝ่าข้ามผ่านมันไปให้ได้ "คือ ชาวบ้านอาจมองว่าเราตั้งกลุ่มอะไรขึ้นมา เกี่ยวกับศาสนาหรือเปล่า โดนขับไล่ โดนชาวบ้านไม่พอใจ แต่ด้วยความที่เราสอนเด็กให้รู้จักไหว้อ่อนน้อมถ่อมตน ผู้ปกครองก็เลยเริ่มยอมรับจนทุกวันนี้ ดาวก็สอนเด็กเรื่อยมา จนกระทั่งปี ๕๓ เด็กเพิ่มขึ้นมาเป็น ๑๐๐ และได้เข้าสู่ระบบการศึกษาของเขต ๓ โดยใช้โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนเครือข่ายพ่วงกับโรงเรียนแม่ จากนั้นมาเด็กก็เพิ่มมาเป็น ๑๒๐ คน"

นับจากนั้นมากระทั่งปัจจุบัน โรงเรียนเด็กด้อยโอกาสบ้านเด่น จึงเข้ามาอยู่ในระบบของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้โรงเรียนแม่คือ โรงเรียนบ้านหล่ายฝาง ต.แม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

ทุกวันนี้หากใครมีโอกาสได้ไปเยือนโรงเรียนแห่งนี้จะได้ยินเสียงเจื้อยแจ้วของเด็กๆ กล่าวต้อนรับผู้มาเยือนอย่างพร้อมเพรียงกันว่า "ยินดีต้อนรับทุกท่าน สู่ศูนย์การเรียนเด็กด้อยโอกาสบ้านเด่น พวกเราทุกคนขอสัญญาว่าจะเป็นเด็กดีจะไม่สร้างปัญหาให้ประเทศ จะจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว จะรักและซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินไทย"

และนอกจากการสอนความรู้เบื้องต้นในการอ่านออกเขียนได้แล้วครูแสงดาวจะสอนวิชาชีพให้เด็กๆ ด้วย เช่น เลี้ยงหมู ไก่ เป็ด ปลา และปลูกผัก ครูแสงดาวจะเน้นสอนเด็กๆ ว่า "พยายามให้เด็กเรียนรู้ถึงการใช้ชีวิต เราก็ไม่รู้เขาจะไปถึงขั้นไหน แต่ถ้าเขาจบออกไป ไม่อยากให้เขาสร้างปัญหาให้ประเทศ เขามาอยู่ตรงนี้เพราะประเทศไทยให้โอกาส แล้วอย่าไปสร้างปัญหาให้เขานะ อย่าไปยุ่งเรื่องยาเสพติด อย่าขโมย ดาวจะเน้นมากตรงไม่สร้างปัญหา"


ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร...เพียงเพราะเป็นคนไร้สัญชาติไร้สถานะ จึงไร้สิทธิไร้เสียง!


  Image  
                  ภาพ : nikhelbig.com                   


เด็กสาววัยเพียง ๑๓ ปี เธอต้องจากอ้อมกอดอันแสนอบอุ่นของพ่อและแม่ ไปทำงานด้วยความหวังว่าเงินจากน้ำพักน้ำแรงของเธอ จะช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวได้บ้าง แต่ใครเลยจะล่วงรู้อนาคตได้ว่าชีวิตนับจากนี้ไป เด็กสาวคนนี้จะต้องพบเจอกับอะไรบ้าง...

"เขามาขอกับแม่ว่าจะมาเอาดาวไปเป็นพี่เลี้ยงเด็กให้เงินเดือน ๗๐๐ บาท วันรุ่งขึ้นดาวก็ต้องไปทำงานเลย แต่มันไม่ได้เป็นอย่างที่เขาบอก ไม่ใช่เป็นพี่เลี้ยงเด็ก แต่เป็นเหมือนใช้แรงงาน อยู่บ้านเขาออกกฎว่าต้องตื่นตีสอง ก่อนเขาจะตื่นกัน เราต้องกวาดบ้านถูบ้าน ซักผ้า นึ่งข้าวให้เสร็จก่อนเขาตื่น ถ้าเราทำงานไม่เสร็จ เขาตื่นมาเราก็โดน ดาวก็ทำตามที่เขาบอก แต่พอทำงานเสร็จ เขาก็ให้เราไปทำงานในสวนไปไร่ต่อ กลับมาตอนเที่ยงเราหิวข้าว เขาก็ไม่ได้เตรียมไว้ให้เรานะ เขาบอกว่าหากินเอง นั่นน่ะ พริก กับถั่วเน่า กินได้ก็กิน กินไม่ได้ก็ไม่ต้องกิน เราก็เคยตกทุกข์มามาก แค่นั้นเราก็สุดๆ แล้ว แต่เราก็คิดว่าเราอยู่ได้"

"จากนั้นมาเราก็อยู่ได้เดือนหนึ่ง ไม่คิดอะไร คิดแต่ว่าเงิน ๗๐๐ บาทนั้นจะเอาไปให้แม่ คิดว่าแม่ได้เงิน ๗๐๐ คงซื้อข้าวสารได้หลายกระสอบอยู่ พอเงินเดือนออกมาปุ๊บ เขาบอกว่าอยากจะซื้ออะไรก็ไปซื้อ อยากจะกินอะไรก็ไปกิน แม้กระทั่งก๋วยเตี๋ยวอยู่ข้างๆ ดาวยังไม่กินเลย เพราะถ้าดาวกินไปแล้วเงิน ๗๐๐ มันจะหายไป ไม่ครบดาวก็บอกว่าดาวไม่กิน แต่ขอไปบ้านวันหนึ่งดาวจะได้ไปหาแม่ เขาก็ยอมบอกว่าเขาจะไปส่ง แต่เขาแค่ไปส่งปุ๊บ ดาวคุยกับแม่ไม่กี่คำ เขาก็พากลับ เขาคงกลัวว่าดาวจะเล่าเรื่องทุกอย่างให้ครอบครัวฟัง พอเขารับกลับ ก็เป็นแบบเดิม"

"ดาวอดทนได้ ๔ เดือน ดาวก็หนีแบบไม่คิดชีวิตเลย เอากระเป๋าวิ่งหนีตอนแรกลังเลจะไปดีหรือไม่ไปดี ถ้าไปแล้วไม่ได้เงินเดือนพ่อแม่เราจะทำยังไง แต่ก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ตอนกลางคืนนั่งเหงา เราเห็นอยู่อย่างเดียวคือ พระจันทร์ที่เป็นคู่เรา เลยตัดสินใจไม่อยู่แล้ว หนีเลย"

เด็กหญิงแสงดาวเริ่มก้าวออกจากโลกใบเดิมๆ ของเธอ แล้วเธอก็ไปได้งานใหม่เป็นคนงานร้านข้าวซอยด้วยอัตราเงินเดือน ๑,๒๐๐ บาท ด้วยความขยันขันแข็ง สู้งาน ทำให้เธอเป็นที่โปรดปรานของนายจ้าง แต่ในทางกลับกัน สิ่งนี้กลับนำภัยมาสู่ตัวเธอ เหมือนที่เขามีคำกล่าวว่า "ทำดีแต่อย่าเด่น จะเป็นภัย" เมื่อเพื่อนคนงานที่อยู่มาก่อนไม่ชอบเธอและคิดหาอุบายแกล้งเธอด้วยการไปบอกนายจ้างว่าเธอขโมยของของนายจ้าง

"เจ๊เขาบอกว่า อุตส่าห์สงสาร เป็นคนชอบขโมยแม้กระทั่งไก่ และเสื้อ แล้วทำไมต้องขโมย ดาวก็บอกว่า หนูไม่ได้ทำ ถ้าหนูขโมยก็ต้องเห็นเสื้อ เขาก็ไม่เชื่อ เขาก็ว่าเดี๋ยวจะเรียกตำรวจมาจับ อันนี้ก็พ่วงมาจากที่เราไม่ใช่สัญชาติไทย ดาวบอกว่า ยังไงก็ได้ค่ะเจ๊ แต่หนูไม่ได้ทำ แต่เพราะความกลัว เขาถามว่าจะยอมรับไหม ดาวบอกว่า หนูไม่ยอมรับ ทำให้เราไม่ได้เงินเดือน แล้วก็ต้องรีบไป เพราะเขาบอกจะเอาตำรวจมาจับ ตอนนั้นไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้อะไรสักอย่าง"

แสงดาวต้องออกจากงานเป็นครั้งที่สอง ทั้งที่เธอทำงานไปได้เพียงแค่สองเดือน โลกภายนอกที่พ้นจากอ้อมอกพ่อและแม่ โลกใบใหม่ของเด็กสาววัยแรกรุ่นอย่างเธอที่ยังเปราะบางและอ่อนไหวนั้นไม่ง่ายดายเลย เธอตระเวนหางานต่อไปโดยไม่ยอมกลับบ้านด้วยเกรงว่าพ่อแม่จะเป็นกังวล จนกระทั่งไปได้งานใหม่เป็นคนงานในสวนบนดอยสูง

"ไปทำงานเป็นคนสวน เขาให้รายวันๆ ละ ๘๐ บาท เราก็คิดว่า เดือนหนึ่งก็ ๒,๔๐๐ แล้ว ชาตินี้ทั้งชาติไม่เคยเห็นเงิน ๒,๔๐๐ เลย มันเป็นยังไง น่าจะมากมาย จินตนาการไปก็ดีใจไป ทำงานไปได้เดือนเดียววันสุดท้ายที่จะได้รับเงินความดีใจว่าจะเอาเงินนี้ไปให้แม่ มีคนงานเยอะมากเข้าแถวรอรับเงิน พอถึงคิวดาว เขาเอาเงินให้ ๙๐๐ บาท ดาวก็บอกว่า อ้าว! พี่ หนูไม่เคยขาดสักวันเลยนะ ตอนที่มาสมัครบอกว่าได้วันละ ๘๐ บาท ก็คือเดือนละ ๒,๔๐๐ เขาก็บอกว่า หักค่าขโมย โดนเรื่องขโมยอีกแล้วนะ เขาบอกว่า เมื่อกี๊นี้ตอนเข้าแถวน่ะ เงินหัวหน้าตก แล้วเธอเป็นคนหยิบขึ้นมาแล้วไม่คืนให้ ดาวก็บอกว่า ไม่มี มาตรวจดูเลย เขาบอกว่า ไม่รู้ล่ะ คนอย่างพวกเธอ ส่งให้ตำรวจก็สิ้นเรื่องแล้ว จะเอาหรือไม่เอา เงิน ๙๐๐ บาทน่ะ ดาวก็ไม่รู้จะทำยังไง ไม่มีที่พึ่งที่ไหน นอกจากร้องไห้แล้วเดินออกมา คิดว่าทำไมโลกถึงเป็นแบบนี้นะ ก็เลยตัดสินใจกลับบ้าน"

หรือนี่จะเป็นเพราะโชคชะตาฟ้ากำหนด หรือเพราะปาฏิหาริย์กันเล่า ที่นำพาเธอกลับสู่บ้าน...เพื่อที่เธอจะได้สร้างปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ ผู้ไร้สัญชาติไร้สถานะอีกมากมาย ไม่ให้พวกเขาต้องเผชิญชะตากรรมดังเช่นที่เธอต้องประสบพบเจอผู้ที่หาประโยชน์ บนความทุกข์ยากจากคนที่ถูกตีตราด้วยคำว่า "คนไร้สัญชาติ"


"แสงดาว" แห่งศรัทธา ของเด็กๆ ผู้ไร้สัญชาติ

Imageการเป็นครูอาสาสอนเด็กซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเด็กไร้สัญชาติไร้สถานะที่มีฐานะยาก จน ทำให้ครูแสงดาวต้องเป็นธุระจัดการและประสานงานเรื่องสิทธิที่เด็กควรจะได้ รับ

"ยังไม่มีใครที่ได้สัญชาติ เราช่วยเด็กจากที่ไม่มีบัตรอะไรเลย ก็มามีบัตรสถานะทางทะเบียน เพราะเด็กที่ไม่มีหลักฐานอะไรเลยเขาจะใช้ว่า "เด็กที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน" แล้วก็มาได้บัตร ๑๐ ปี ที่เขาเรียกว่า "บัตรเลขศูนย์" พอได้มาเด็กก็มีชีวิตที่ดีกว่าเดิม จากเด็กที่อยู่ไปวันๆ ไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่พอมาได้บัตร ๑๐ ปี เขาดีใจน่ะว่ามีหลักประกัน ไปไหนก็สามารถยื่นบัตรได้ ไม่ต้องกลัวตำรวจแล้ว แล้วพอได้บัตรมา สิทธิต่างๆ ก็ตามมา อย่างเช่น ไปหาหมอ"

แม้จะต้องเผชิญกับคำติฉินนินทาหรือคำครหาจากบางคนที่คิดว่าเธอหาประโยชน์จาก เด็กๆ ไร้สัญชาติ แต่ด้วยจิตวิญญาณความเป็นครูผู้มีอุดมการณ์ มีความเสียสละ และเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันของทุกผู้คน เสียงที่มากระทบจึงไม่อาจทำให้เธอเสียศรัทธาต่อตนเองและผู้อื่นได้เลยแม้แต่ น้อย

"เราก็คิดว่าช่วยเขาตรงนี้ดีกว่า บางคนก็ถามว่า เอาเด็กไปทำบัตร ได้เงินหลายพันไหม ดาวบอกว่า อย่ามาพูดแบบนี้กับหนู เพราะหนูทำมาโดยตลอด หนูไม่เคยได้เก็บเงินจากใคร ผู้ปกครองเขาจะรู้ เขาจะบอกว่า อย่าว่าผมอย่างนั้นอย่างนี้เลย ครูจะเอาเท่าไหร่ ก็บอกเลยว่า ไม่ต้องมาพูดเรื่องเงินกับครู ถ้าถามว่าครูรวยไหม ครูไม่รวย แต่ครูจะไม่หากินกับเผ่าของตัวเอง จะไม่หาเงินจากคนที่ทุกข์ยาก ครูรู้ว่าพวกเธอไม่มีเงิน พวกลุงป้าต้องเลี้ยงลูก แล้วดาวเองที่ทุกคนเรียกว่าครู แล้วจะมากด มาเหยียบย่ำ ครูไม่ทำ"


อคติทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ สิ่งที่ยังไม่หมดไปจากสังคมไทย

Image"ทุกวันนี้ เรื่องอื่นๆ ก็ไม่มีปัญหาในการช่วยเหลือสิทธิของเด็ก แต่บางอย่างเราก็ยังได้รับการแบ่งแยกอยู่ว่า คนไทย หรือไม่ใช่คนไทย เราไม่สามารถเรียกร้องหรือทำอะไรมากกว่านั้น เพราะถ้าทำอะไรไปแล้วเขาไม่พอใจ เราจะอยู่ลำบาก เช่น การหยอดวัคซีน การวัดความดัน เขาก็จะแบ่งแยกว่า พวกคุณไม่ใช่คนไทยนะ ไม่มีสิทธิ อคติแบบนี้มีเยอะ แค่คำว่าสัญชาติไทย กับไม่ใช่สัญชาติไทย ก็แตกต่างกันเยอะมากแล้วสำหรับในชุมชน อย่างเช่น เวลาไปทำงาน ถ้าเป็นสัญชาติไทย ฉันจ้างแค่นั้นนะ ถ้าไม่ใช่สัญชาติไทย ฉันจ้างแค่นี้ หรืออย่างมีงานในหมู่บ้าน ถ้าเขามีประกาศบอกว่าให้ไปช่วยทำงาน คนไทยจะไปก็ได้ไม่ไปก็ได้ แต่คนไม่ใช่สัญชาติไทยต้องไปต้องทำ แม้กระทั่งทางสาธารณสุขไปตรวจสุขภาพ เขาก็จะประกาศว่า เฉพาะคนไทย ถ้าไม่ใช่คนไทย เขาไม่ตรวจ เราก็คิดว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับทางสาธารณสุข แต่น่าจะเป็นทางชุมชนที่เขาอาจจะแบ่งแยก บางคนที่ดาวเคยเห็นมา พอเขารู้ว่าจะมีการไปตรวจสุขภาพในหมู่บ้าน เขารีบไปกวาดไปทำความสะอาดในวัดเลย แล้วพอหมอมาเขาจะเดินไป เขาจะกีดกันคนที่ไม่มีสัญชาติ บอกว่า มาทำไม ไม่ใช่สัญชาติไทย กลับบ้านไป อันนี้คนเฒ่าคนแก่ก็เสียใจมาก แค่เขาได้ตรวจ เขาก็ดีใจแล้ว"

ครูแสงดาวระบายถึงปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเพื่อเด็กๆ กลุ่มชาติพันธุ์อคติทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ที่ยากจะขจัดให้หมดสิ้นลงไป จากจิตใจของคนบางคนได้


การเสียสละ เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่...ความสุข คือการเป็นผู้ให้

Imageปัจจุบันแม้ความเป็นอยู่ของครูแสงดาวจะดีขึ้นกว่าเดิม เธอมีคู่ชีวิตที่คอยช่วยเหลือและร่วมเดินเคียงข้างกันไป มีลูกที่น่ารักวัย ๕ ขวบหนึ่งคน และยังมีภาระต้องดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา รวมถึงย่าและหลาน สมาชิกในครอบครัวของเธอ แต่ครูแสงดาวยังสละเงินเดือนของเธอส่วนหนึ่งเพื่อเป็นค่าจ้างครูอาสามาเพิ่ม เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนเด็กๆ นักเรียนที่มากขึ้น

"โรงเรียนนี้เกิดขึ้นมาจากน้ำพักน้ำแรงของหนูเอง และจากที่เราไม่ใช่ครูอะไรเลย สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เกิดจากผู้ปกครองไว้ใจดาวถึงขั้นให้ลูกหลานมาเรียน กับเราทั้งๆ ที่เราไม่มีวุฒิหรืออะไรจะรับประกัน หรือไม่ว่าจะเป็นการพาเด็กไปหาหมอ เขาไว้ใจเรา อย่างที่เราอยู่กันเงินเดือนที่เราได้ ได้แค่ ๔ คน แต่นักเรียนเราตั้งร้อยกว่า แล้วโรงเรียนเราต้องจัดตามมาตรฐานคือ ต้องได้เรียนทั้ง ๘ สาระ นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ป.๖ อย่างน้อยต้องมีครูถึง ๗ - ๘ คน แต่เรามีแค่นี้ ถ้าดาวหวงเงินเดือน ๖,๐๐๐ - ๗,๐๐๐ บาทไว้ แล้วจะทำยังไงกับเด็กที่ไม่ได้เรียน วันๆ หนึ่งจะเอาเด็กมาเหมือนเรารับฝากไว้เฉยๆ เราก็ทำไม่ได้ เด็กต้องได้รับการพัฒนา"

"ทุกวันนี้ถามว่าทำแล้วสบายใจไหม ดาวสบายใจ เพราะว่าตั้งแต่ เล็กจนโตดาวไม่เคยได้ของขวัญจากใคร แต่เรามาคิดกลับกัน เราไม่เคยได้รับสิ่งดีๆ จากคนอื่น แต่เราสามารถมอบสิ่งดีๆ จากเราให้คนอื่นได้ แค่นี้เราก็สบายใจแล้ว คิดแบบนี้ก็เลยชอบที่จะได้ช่วยเหลือคนอื่น"

"มีคณะของต้นกล้าที่มาทำโรงอาหารให้ เขาบอกว่าอยากได้อะไรไหม หนูก็บอกว่า อยากให้ทางสาธารณสุขมาจัดกิจกรรมตรวจสุขภาพให้เด็กไร้สัญชาติและผู้เฒ่าผู้ แก่ เขาก็จัดให้ เขาก็มาตั้งเต้นท์ให้ คนก็แห่กันมา ความสุขของดาวก็คือ ได้เห็นเขามากันหมด บางคนที่ใกล้จะคลอดแล้วไม่เคยไปโรงพยาบาลก็มาบอกว่า อยากจะรู้ค่ะ ว่าลูกเป็นยังไง ทั้งที่เขาไม่รู้หรอกว่า แพทย์เคลื่อนที่เขาไม่สามารถนำอัลตร้าซาวด์มา แต่แค่มีหูฟังมาตรวจเขา ว่าลูกเขาเป็นยังไง ถ้าใครไม่อยู่ตรงนั้นไม่เข้าใจหรอก ความสุขสำหรับหนูมันยิ่งใหญ่ที่ได้เห็นและได้ช่วย การเสียสละมันยิ่งใหญ่ ถึงแม้ทุกวันนี้จะยังไม่รู้อนาคตของตัวเองว่าจะอยู่ตรงไหน"

เมื่อถามถึงเป้าหมายในชีวิต หรือมองอนาคตของตัวเองไว้อย่างไร ครูแสงดาวตอบว่า "คือ ดาวโดนอะไรมาเยอะ ทุกวันนี้ ดาวไม่กล้าวาดฝันเลยว่าชีวิตของตัวเองจะเป็นอย่างไร จะได้ไปถึงจุดไหน แต่อย่างน้อยก็คิดว่า ให้มันผ่านพรุ่งนี้ไปได้ถ้าพูดถึงอนาคตไม่เคยวาดฝันว่าจะต้องดีแบบนั้นแบบ นี้ เพราะอะไรมันไม่แน่ไม่นอน ดาวทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทุกวันนี้สามารถทำงานได้ แม้ไม่เก่งแต่ก็ลุยได้ สุดท้ายเราสามารถช่วยให้ทุกคนไปถึงจุดหมายได้ แล้วจุดหมายของเราเองล่ะอยู่ที่ไหน ก็เคยคิดอยู่เหมือนกัน"

ณ วันนี้ ครูแสงดาวยังคงมุ่งมั่นกับการสอนเด็กๆ ลูกหลานของแรงงานในไร่ส้ม พร้อมๆ ไปกับการช่วยเหลือเรื่องสิทธิและสถานะให้แก่เด็กๆ ผู้ไร้สัญชาติแต่เธอก็ยังไม่ทิ้งฝันของเธอที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ เพิ่มพูนขึ้นด้วยการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่ ม.ราชภัฏฯ เชียงใหม่ คณะมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน โดยมีผู้ใจบุญที่เห็นคุณค่าในสิ่งที่เธอทำช่วยออกทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าใช้ จ่ายให้แก่เธอ เหลืออีกเพียงปีกว่าๆ ที่เธอจะสำเร็จการศึกษา ได้มีหนึ่งฝันที่เป็นจริงในอนาคตอันใกล้นี้ แม้อีกฝันหนึ่ง...คือ การได้เป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์...ยังห่างไกล และไม่อาจรู้ได้ว่าจะมาถึงเมื่อไร!


-----------------

ผู้มีจิตศรัทธาที่ต้องการสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาให้เด็กๆ ไร้สัญชาติโรงเรียนไร่ส้มของครูแสงดาว ติดต่อได้ที่ แสงดาว วงปา โรงเรียนเด็กด้อยโอกาสบ้านเด่น (ไร่ส้ม) ๑๐๔ หมู่ ๖ ต.แม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ โทร. ๐๘ ๕๓๔๒ ๙๙๐๘

 

  ------------------------------

จาก วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๓๕ ฉบับที่ ๙๖
"สิทธิ คุณค่า ศักดิ์ศรี" สิ่งที่มนุษย์พึงมีเท่าเทียมกัน



เว็บ 

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >