หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow "พิการ" กาย ใจ "พิเศษ" : นิภาพร ทับหุ่น
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 152 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

"พิการ" กาย ใจ "พิเศษ" : นิภาพร ทับหุ่น พิมพ์
Wednesday, 11 July 2012
Life Style

วันที่ 5 กรกฎาคม 2555

"พิการ" กาย ใจ "พิเศษ"

โดย : นิภาพร ทับหุ่น

                                             ภาพจาก : www.bangkokbiznews.com

ถ้า "ความพิการ" เป็นคำที่สกัดกั้นการพัฒนาอย่างหาข้อโต้แย้งไม่ได้ อย่างนั้นเปลี่ยนเป็น "ความพิเศษ" กันจะดีกว่ามั้ย

อย่างน้อยก็ทำให้มั่นใจได้ว่า คุณค่าที่แท้จริงมีอยู่ในทุกๆ คน

...........................

กาวา ค่อยๆ ยกขาข้างซ้ายของเธอขึ้นช้าๆ พร้อมกับทิ้งน้ำหนักตัวบางส่วนลงไปบนฝ่ามือข้างขวาที่กำราวเหล็กไว้แน่น ทันทีที่เท้าซ้ายสัมผัสพื้น ขาข้างขวาก็ขยับขึ้นราวอัตโนมัติ เธอสลับขาเดินไป-มาอยู่อย่างนั้นจนรู้สึกเหนื่อยจึงหันมายิ้มแห้งๆ ก่อนจะทิ้งร่างอันอ่อนแรงลงไปบนตักมารดา

ถ้าเป็นเด็กปกติธรรมดา อายุปาเข้าไป 4 ขวบแบบนี้ คงวิ่งเร็วจี๋ชนิดที่จับตัวแทบไม่ทัน แต่กาวาไม่ได้เกิดมาพร้อมความธรรมดาที่ว่านั้น เพราะสมุดประจำตัวที่ระบุว่าเป็น "บุคคลที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย" ทำให้กาวามีสถานะเป็น "เด็กพิการ" ไปโดยไม่ทันตั้งตัว

ดูเหมือนจะมีชีวิตที่เลวร้าย แต่เมื่อเด็กหญิงตัวเล็กๆ ลุกขึ้นมาปฏิเสธภาวะ "พิการ" ที่ผูกติดกายมาแต่กำเนิด อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้

มูลค่า "ความพิการ"

รอยยิ้มที่ฉายฉาบอยู่บนใบหน้าของ กาวา หรือ เด็กหญิงสตรีรัตน์ ผลรุ่งเรือง ทำให้ผู้พบเห็นสามารถยิ้มร่วมไปกับเธอได้อย่างอัตโนมัติ พรทิพย์ ผลรุ่งเรือง มารดาของกาวาที่พิการทางด้านร่างกาย บอกว่า ลูกสาวเกิดมาก็ไม่สามารถลุกขึ้นนั่ง ยืน เดินเหมือนคนปกติได้ ต้องนอนหงายอยู่บนพื้นตลอดเวลา เป็นความทรมานที่ทำให้เธอรู้สึกสงสารจับใจ

"นอนตลอด ขยับไม่ได้เลย จนครูต้อยมาเจอเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ครูฝึกให้ทำกายภาพบำบัด ตอนนี้น้องลุกขึ้นนั่งได้ และก็กำลังฝึกให้เดิน ให้ทรงตัวเอง" พรทิพย์ ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงโป ในวัย 42 เล่าอย่างมีความหวังผ่านล่ามท้องถิ่น

ส่วน ครูต้อย ที่เธอเอ่ยถึงนั้น คือ จงจิต ไชยวงศ์ จากศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน และผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กพิการและขาดโอกาส อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้รับทุนครูสอนดีของ สสค.

ครูต้อย เล่าว่า แม่ฮ่องสอนมีทั้งหมด 7 อำเภอ แต่ละอำเภอมีความทุรกันดาร จนบางพื้นที่ระบบการศึกษาและระบบสาธารณสุขยากจะเข้าถึงได้ ในฐานะครูผู้ดูแลเด็กพิการและเด็กพิเศษในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ครูต้อยจึงจำเป็นต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ด้วยตัวเอง พร้อมกับนำความรู้ต่างๆ ไปถ่ายทอดให้ผู้ปกครองของเด็กๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เด็กพิการและขาดโอกาส

"เป็นที่น่าตกใจว่า เด็กพิการบางคนไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ทำให้ขาดโอกาสที่จะฝึกทักษะและพัฒนาศักยภาพ ซึ่งเด็กทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ถึงแม้เขาจะเป็นเด็กที่มีความบกพร่องในแต่ละประเภท แต่เราก็ต้องให้โอกาสกับเด็กของเราเพื่อให้เขาได้รับการพัฒนาได้เท่าเทียมกับเด็กปกติ" ครูต้อย บอก

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ระบุว่า เด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ถิ่นทุรกันดาร มีจำนวนมากถึง 160,000 คน ส่วนหนึ่งเป็นเด็กออทิสติก (Autistic) เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ (Learning Disabilities : LD) เด็กสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) เด็กที่มีอาการพิการทางสมอง เช่น อาการดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) ฯลฯ

แม้สุขภาพร่างกายจะไม่เอื้อต่อการศึกษาตามระบบ ทว่า เด็กๆ เหล่านี้ก็ควรมี "ทางเลือก" ในการดำเนินชีวิต และควรได้รับสิทธิทางการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นพิเศษตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงชั้นสูงสุดตามศักยภาพและพัฒนาการที่พึงมี

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการ สสค. กล่าวว่า เด็กพิการและขาดโอกาสทางการศึกษา ถือเป็นเยาวชนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพ และมีพลังที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ เพราะถ้ามองในมุมนักเศรษฐศาสตร์ เด็กพิเศษกลุ่มนี้ก็มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเหมือนกัน หากเขาไม่ต้องเป็นภาระ และสามารถลุกขึ้นมาทำงานได้ นั่นหมายถึงรายได้ท้องถิ่น หรือภาษีท้องถิ่น ซึ่งจากการคำนวณของ สสค. มีเด็กด้อยโอกาสอยู่ในตำบลต่างๆ เฉลี่ยตำบลละ 200-300 คน (ประเทศไทยมีอยู่ราว 8,000 ตำบล) ถ้าเด็กกลุ่มนี้กลายเป็นคนที่ถูกจำกัดศักยภาพไป ก็อาจจะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละหลายสิบล้านบาทเลยทีเดียว

"เด็กแต่ละคนถ้าพลาดโอกาสนิดเดียวก็ไปแล้ว เด็กขวบสองขวบถ้ากล้ามเนื้อบางมัดไม่ถูกกระตุ้น กล้ามเนื้อมันตาย หรือสมองไม่ได้รับการพัฒนาในช่วงขวบสองขวบ สมองก็ตายเหมือนกัน คือหน้าต่างแห่งโอกาสมันเปิดอยู่แคบๆ แค่นี้ ต้องเข้าเร็ว ประกบเร็ว พบเขาให้เร็ว กระตุ้นเขาให้ได้ อย่างน้อยที่สุดเขาก็ไม่เป็นภาระให้ใครแล้วดูแลตัวเองได้ หรือดีกว่านั้นก็อาจจะกลายเป็นเด็กที่เรียนปกติ มีงานมีการทำ ถ้าคนที่เอะอะอะไรก็เอาตัวเลขเศรษฐกิจเป็นตัวนำ ก็ต้องบอกว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการแก้ปัญหาสังคม หรือการช่วยเหลือเด็กเพียงอย่างเดียว แต่นี่มันมีนัยทางเศรษฐกิจด้วย"

ปรับบ้านเป็นโรงเรียน

แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีตัวเลขของเด็กพิการและขาดโอกาสทางการศึกษาจำนวนมาก แม้จะมีศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหน่วยงานที่ดูแลช่วยเหลือเด็กพิการและขาดโอกาสทางการศึกษา แต่ก็ยังมีข้อจำกัด เพราะมีอยู่เพียงแห่งเดียว และตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ขณะที่สภาพภูมิประเทศของจังหวัดส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูง จึงมีข้อจำกัดในการเดินทางเพื่อเข้าถึงการดูแลและโอกาสทางการศึกษา

เหตุนี้เอง "ศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กพิการและขาดโอกาสต้นแบบ" จึงเกิดขึ้นในพื้นที่โรงเรียนอนุบาลแม่สะเรียง (บ้านโป่ง) ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยความสนับสนุนของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.), สำนักการศึกษาขั้นพื้นฐาน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, องค์การบริการส่วนตำบลบ้านกาศ ในด้านการจัดสรรสถานที่และงบประมาณ และมหาวิทยาลัยนเรศวร สนับสนุนข้อมูลด้านงานวิจัย ทั้งนี้เพื่อดูแลเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสใน 3 อำเภอ คือ แม่สะเรียง, แม่ลาน้อย และสบเมย ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่ห่างไกลจากการดูแล เพื่อเป็นหลักประกันทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาส

"อาจจะพูดไม่ได้ว่าเราเข้ามาสนับสนุน แต่เราเข้ามาช่วยในการประสานและบูรณาการให้เกิดการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่นในการดูแลเด็กๆ มากกว่า ซึ่งการเข้ามาประสานให้เกิดความร่วมมือกันของหลายๆ ฝ่ายในการช่วยเหลือและดูแลเด็กๆ ในพื้นที่ ถือว่าเป็นผลสำเร็จ เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งให้ความร่วมมือในการทำงานของศูนย์เป็นอย่างดี เด็กๆ พิการที่นี่ก็จะได้ใช้ประโยชน์และเข้าถึงการศึกษาอย่างเต็มที่และยั่งยืน" ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้บริหารชุดโครงการวิจัยจาก สสค. กล่าว ทั้งยังเสริมว่า

พื้นที่ในอำเภอแม่สะเรียงเป็นพื้นที่ที่มีเด็กขาดโอกาสในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการศึกษาที่เด็กๆ จะต้องใช้ต้นทุนสูงมากในการเข้ารับการศึกษาเพราะปัญหาจากสภาพภูมิประเทศที่ทุรกันดารและห่างไกลความเจริญ ที่สำคัญเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ร่างกาย และพิการทางสมอง ก็ควรได้รับการค้นพบและเข้ารับการดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อพัฒนาสมรรถภาพทางร่างกายและทักษะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต

"ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า เราเลือกพื้นที่แม่ฮ่องสอนเพราะเป็นพื้นที่ปราบเซียนที่สุดแล้ว อำเภอแม่สะเรียงเป็นอำเภอที่มายาก ไม่ว่าจะมาจากอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนหรือจากจังหวัดเชียงใหม่ เรามาทำที่นี่เพื่อให้เห็นและเป็นกำลังใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศว่า อบต. ที่นี่ร่วมแรงร่วมใจกัน ร่วมกับทางอำเภอและจังหวัด ทำให้พื้นที่ห่างไกลตรงนี้มีตัวแบบการจัดการที่เราจะดูแลเด็ก ส่งต่อเด็กได้ ถ้าทำตรงนี้ได้ ไม่มีพื้นที่ไหนปฏิเสธได้แล้วครับว่าจะทำไม่ได้" ที่ปรึกษาวิชาการอย่าง ดร.อมรวิชช์ ยืนยัน

สำหรับศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กพิการและขาดโอกาส อำเภอแม่สะเรียงนั้น เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา โดยภารกิจหลักอยู่ที่การให้บริการแก่เด็กพิการและผู้ปกครองนำบุตรหลานมารับการฝึกทักษะไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปดูแลบุตรหลานได้เมื่อต้องกลับไปอยู่ในชุมชน

"ศูนย์แห่งนี้มีครู 3 คน มีเป้าหมายรองรับเด็ก 30 คนที่จะผลัดกันเข้ามาใช้บริการ แล้วแต่ความสะดวกของผู้ปกครอง เราให้ผู้ปกครองมาอยู่กับเด็กประมาณ 2 สัปดาห์ ให้ความรู้ในการดูแลเด็กแก่ผู้ปกครองไปด้วย ผู้ที่อยู่ห่างไกลทางเราจะมีที่พักให้ และฝึกอาชีพให้กับผู้ปกครองไปด้วย เพราะการมาอยู่ที่ศูนย์ฯ ทำให้เขาขาดโอกาสเรื่องการทำมาหากิน" ครูต้อย อธิบาย

เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู

จันทร์ทิพย์ คงจรัสแสง ครูประจำชั้นการศึกษาพิเศษ เล่าว่า กิจกรรมของศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กพิการและขาดโอกาส จะเริ่มตั้งแต่การเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างพัฒนาการในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการพูดคุยสื่อสาร การฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่ การช่วยเหลือตัวเองเพื่อไม่ให้เป็นภาระสังคม รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพ เมื่อเด็กมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดีขึ้นก็จะจัดส่งเด็กไปยังโรงเรียนห้องเรียนคู่ขนานที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 (บ้านทุ่งพร้าว) ทำให้เด็กๆ สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมปกติได้อย่างไม่เป็นภาระใคร

"ช่วงเช้าเป็นภาควิชาการ คือกิจกรรมเสริมสร้างต่างๆ ส่วนช่วงบ่ายจะนอนพัก แล้วทำกิจวัตร เช่น แปรงฟัน ล้างหน้า จากบางคนฉี่ตลอดเวลา ตอนนี้ก็ปรับมาฉี่เป็นเวลา อันนี้เราต้องฝึกผู้ปกครองด้วย เพราะผู้ปกครองเป็นหนึ่งเดียวกับเด็ก ปัญหาคือผู้ปกครองอยู่ไกล พาลูกมาลำบาก แต่มาแล้วเราก็พยายามให้อยู่ 1-2 สัปดาห์เพื่อให้เขาเรียนรู้อย่างถูกวิธี แล้วนำกลับไปดูแลต่อที่บ้านได้"

ด้าน สุขชัย เกียรติดี ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่พา น้องมายมิ้น ลูกสาววัย 5 ขวบ ซึ่งมีอาการดาวน์ซินโดรม มาเข้าศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กพิการและขาดโอกาส อำเภอแม่สะเรียง บอกว่า น้องมายมิ้นดูมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดีขึ้น

"เกิดมาได้ 3 วัน หมอก็บอกว่า ลูกเป็นเด็กดาวน์ซินโดรมนะ ตอนนั้นไม่เข้าใจหรอกว่า โรคนี้เป็นยังไง หมอก็บอกว่า เหมือนสายัณห์น่ะ พอแม่เด็กรู้ก็ร้องไห้โฮเลย เราก็สงสาร แต่เป็นแบบนี้แล้วเราก็ต้องเลี้ยงเขา ไม่ทิ้งเขา พอพาน้องมาเข้าศูนย์ฯ ก็ต้องมาเรียนรู้พร้อมๆ กับน้อง เขาสนใจกิจกรรมที่มีรูปภาพ ชอบมองรูป เขาไม่พูดแต่พอถามเขาว่าอันนี้คืออะไร สัตว์ตัวนี้ตัวนั้นเขารู้หมด ผมคิดว่าเขาจะพูดได้ แต่อาจจะช้า ต้องหลอกล่อประจำ ต้องสอนให้เขาพูดตาม ครูสอนเรามาแบบนี้เราก็เอาไปสอนลูกอีกที ผมไม่ขออะไรมาก ขอแค่ให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ แค่นั้นก็ดีใจแล้ว" สุขชัย คุณพ่อวัย 39 บอก

ถามว่า พัฒนาการดีขึ้นแบบนี้ มีอะไรที่คุณพ่อยังต้องเป็นห่วงอีกบ้าง สุขชัย บอกทันทีว่า น้องมายมิ้นยังมีพฤติกรรมบางอย่างที่เขายังหาทางแก้ไขไม่ได้

"มายมิ้นชอบหนีไปบ่อยๆ ชอบหายไป ก็ไปตามเจอตามบ้านคนโน้นคนนี้ เขาไปเล่น ไปดูทีวี เคยหายไปนานสุด 2 ชั่วโมง ตอนนั้นตกใจมาก ก็ตามหา จนไปเจอว่ายืนร้องไห้อยู่ในป่า เขาหาทางกลับไม่เจอ ก็สงสารเขา"

ความพิการไม่ใช่อุปสรรคในการพัฒนา หากคนในสังคมให้โอกาสและร่วมมือกันส่งเสริมให้กลุ่มคนเหล่านั้นสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข แม้จะมีความพิการเป็นพื้นฐาน แต่ก็สามารถขยายฐานมาเป็นความพิเศษได้ ถ้าทุกคนช่วยกัน

 ----------------------

ที่มา...กรุงเทพธุรกิจ : http://www.bangkokbiznews.com

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >