หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow จงเอาชนะความรุนแรงด้วยการไม่เคียดแค้นชิงชัง : พระไพศาล วิสาโล
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 452 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

จงเอาชนะความรุนแรงด้วยการไม่เคียดแค้นชิงชัง : พระไพศาล วิสาโล พิมพ์
Wednesday, 22 September 2010






ฅ คน Magazine

ฉบับเฉพาะกิจ ก้าวข้ามความเกลียดชัง


จงเอาชนะความรุนแรงด้วยการไม่เคียดแค้นชิงชัง

พระไพศาล วิสาโล


ในท่ามกลางความหดหู่ สิ้นหวัง และยังไม่อาจมองเห็นทางออก สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ถามพระไพศาล วิสาโล ถึงวิธีการออกจากความทุกข์ ทุกข์แห่งความขัดแย้งรุนแรง และนี่คือคำตอบ

... ในความรู้สึกหดหู่ ห่อเหี่ยวนั้น ก็สืบเนื่องมาจากการที่เห็นคนไทยทำลายล้างกัน ฆ่ากัน แตกแยกกันอย่างขนานใหญ่ ในแง่นี้อาตมาเชื่อว่า ถ้าเรามองไปยังอดีต สังคมไทยก็เคยผ่านเหตุการณ์คล้ายๆ แบบนี้มาแล้ว และเราก็สามารถก้าวข้ามพ้นไปได้ อย่างเช่นเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 อาตมาเชื่อว่า ภาพนักศึกษาถูกฆ่าที่ธรรมศาสตร์ ที่สนามหลวง สั่นสะเทือนความรู้สึก มันหดหู่ หมดศรัทธาในมนุษย์ หมดศรัทธาในคนไทยด้วยกัน หลังจากนั้น 2-3 ปี ก็ดีขึ้นใหม่ แล้วก็มีความหวังขึ้น

ถ้าเราเอาประวัติศาสตร์เป็นบทเรียน อาตมาเชื่อว่า เราจะต้องข้ามความหดหู่ เศร้าหมอง ขอเพียงแต่เรามีศรัทธาในอนาคต ศรัทธาในความดีที่ยังมีอยู่ในมนุษย์ทุกคน ในคนไทย .... แม้ว่าจะมีความพลั้งพลาดพลั้งเผลอไปบ้าง ความจริงแล้วความหดหู่เศร้าหมองนี้ อาจจะยังไม่น่ากลัวเท่าความเคียดแค้นชิงชัง ... ความหดหู่ เป็นเพียงความรู้สึกว่า เราไม่อยากจะทำอะไร หมดเรี่ยวหมดแรง เพราะไม่มีศรัทธาอะไรเลย แต่ก็ไม่ร้ายเท่ากับความโกรธเกลียดเคียดแค้นพยาบาท ....

เมื่อเรามีความโกรธเกลียดเคียดแค้น เราอยากจะทำอะไรบางอย่าง อยากจะแก้แค้น อยากจะตอบโต้ และก็มักจะนำไปสู่ความรุนแรงที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม อาตมารู้สึกว่า น่ากลัวกว่าความหดหู่เศร้าหมอง

ความโกรธเกลียดเคียดแค้นเป็นสิ่งที่จะต้องรีบจัดการเยียวยาให้ได้ เพราะว่าเมื่อเกิดความรู้สึกนี้ขึ้นในใจ มันทำร้ายจิตใจเราเป็นคนแรก แล้วคนอื่นก็จะพลอยได้รับโทษภัยจากความรู้สึกนี้ตามมา เริ่มจากคนใกล้ตัวเราไปถึงคนที่เรามองว่าเขาเป็นศัตรู เขาไม่ใช่พวกเรา เขาเป็นตัวการที่ทำให้เราสูญเสียเจ็บปวด

ปัญหาคือว่า ตอนนี้ทุกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองถูกกระทำ ทุกฝ่ายมีความเจ็บปวดรวดร้าว แต่อาตมาเชื่อเลยว่า ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดงหรือไม่ใช่คนเสื้อแดงล้วนเจ็บปวดทั้งนั้น เคียดแค้น เพราะรู้สึกว่าตัวเองถูกกระทำ ฝ่าย นปช. ก็รู้สึกว่าตัวเองสูญเสียเพื่อนของเขา เพื่อนเขาถูกยิงในสมรภูมิ บางคนอาจจะมีแค่มือเปล่า บางคนไปช่วยเพื่อนที่กำลังล้มแล้วถูกยิง คนที่ถูกยิงขณะที่ไปช่วยพยาบาลคนเจ็บป่วยมีเยอะมาก ซึ่งเราไม่ทราบ และตอนนี้ ก็คงจะไม่พูดว่าเป็นใครที่ยิง แต่ฝ่าย นปช. คนเสื้อแดงที่เขารู้สึกว่าเพื่อนเขาที่ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอาวุธ แต่ว่าต้องตายไป นี่คือความรู้สึกว่า เขาถูกกระทำ แต่ว่าคนที่ไม่ใช่เสื้อแดงเขาก็รู้สึกว่า เขาถูกกระทำเหมือนกัน ... ตลอด 2 เดือน เขารู้สึกว่า เดือดร้อน เสร็จแล้วก็ลงเอยด้วยทรัพย์สินของเขาสูญไปหมด ทำมาหากินไม่ได้ บางคนก็รู้สึกว่า เจ็บปวดเคียดแค้นที่คนรักต้องตาย บางคน ก็ไม่ได้เป็นคนเสื้อแดงแต่ว่าก็ตาย ตายไปกับเหตุการณ์ ตายไปเพราะไม่รู้อีโหน่อีเหน่ อย่างเช่น ลูกของเพื่อนอาตมา ก็เสียชีวิตไป เขาเคยเป็นการ์ดพันธมิตร คราวนี้ เพียงแต่เขาไปอยู่ในเหตุการณ์ แล้วเขาก็ถูกลูกหลงตาย คนเหล่านี้ต้องเจ็บปวดเคียดแค้นว่า ทำไมต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่า ตัวเองสูญเสียเจ็บปวด เป็นฝ่ายถูกกระทำ อาตมาคิดว่า ต้องมาช่วยกันเยียวยาสมานแผลความเจ็บปวดความเคียดแค้นนี้ให้ได้

สังเกตว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลางเมือง มักจะเกิดขึ้นทุกๆ 20 ปี 6 ตุลาคม 2519 เสร็จแล้วก็พฤษภา 2535 มันก็ประมาณ 16 -17 ปี นับจากพฤษภา 2535 มาถึง พ.ศ. นี้ ก็ 18 ปี เป็นเจเนอเรชันหนึ่ง อาตมาก็ยังมีความรู้สึกว่า เป็นเพราะเราหลงลืม ตอนพฤษภาทมิฬคนจำนวนไม่น้อยหลงลืมเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งผ่านไปไม่นานนัก คือไม่ถึง 20 ปี แล้วมาถึงตอนนี้ยิ่งไม่ตระหนักเลยว่า เราเคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา และพฤษภาทมิฬมาแล้ว หลายคนไม่ตระหนัก

6 ตุลาเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดมากว่า เมื่อคนเรายึดติดในอุดมการณ์แล้วทำลายล้างกันได้ คนธรรมดามือเปล่าๆ สามารถที่จะเผานักศึกษาทั้งเป็นได้ เพราะอะไร เพราะความโกรธเกลียด เพราะความเชื่อมั่นในความถูกต้องว่า ฉันถูก แกผิด และความรู้สึกนี้ ก็เกิดขึ้นอีกในช่วงที่ผ่านมา 1-2 เดือนนี้

อาตมาเชื่อในคำอธิบายนี้ ข้อหนึ่งก็คือ เราหลงลืม คนไทยเรามักจะพูดแต่เรื่องการให้อภัย ให้อภัยด้วยการลืม

เราไม่มีอนุสรณ์สถานของ 6 ตุลา 2519 เพื่อที่จะเตือนใจว่า เราเคยผ่านการทำลายล้างกันแบบนี้มาแล้ว และตอนนั้นก็เกือบจะนำพาเมืองไทยสู่สงครามกลางเมือง เพราะว่ามีนักศึกษาประชาชนจำนวนเป็นพันๆ เข้าป่าจับอาวุธ สู้รบกับทหาร ก็ตายกันไปเยอะ ตายกันเป็นร้อยเป็นพัน เจ็บกันทั้งสองฝ่าย แต่ในที่สุดเราก็กลับมาได้ เรียนรู้ว่า การฆ่ากันไม่มีประโยชน์

สำหรับกรณีนี้ มันก็ให้ความหวังแก่เราว่า ครั้งหนึ่ งเมืองไทยเราเคยจะทำสงครามกลางเมืองกันมาแล้ว แต่ว่าเราเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เจ็บปวดว่า ความรุนแรง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทหารก็รู้ว่า ถ้าใช้ความรุนแรงปราบผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มันจะยิ่งเพิ่มขึ้น เขาก็เลยใช้วิธีเอาชนะใจเขาดีกว่า ด้วยการเปิดโอกาสให้กลับมาเป็นผู้ร่วมอาสาพัฒนาบ้านเมือง ตรงนี้ได้ให้ทั้งความหวังกับเราว่า ครั้งหนึ่งเมืองไทยเราเกือบจะเกิดสงครามกลางเมือง แต่เราก็ผ่านมาได้ อาตมาจึงมองว่า ยังมีความหวังว่าวันที่มืดมิดในขณะนี้ สักวันหนึ่ง มีโอกาสที่ฟ้าจะสางขึ้น ถ้าดูจากบนเรียนในประวัติศาสตร์

ขณะเดียวกัน บทเรียนนั้นก็ทำให้เราเห็นว่า เมื่อต่างฝ่ายต่างยึดมั่นในความถูกต้องแล้ว ไม่ยอมถอย ก็จะเกิดการสูญเสียขึ้นมา ซึ่งตอนนี้ อาตมาก็ยังเป็นห่วง เพราะว่าฝ่ายที่ต้องการเรียกร้องให้ปราบปรามคนเสื้อแดงก็ยังมีอยู่มาก ให้จัดการกับเขาด้วยวิธีอะไรก็ได้ ซึ่งการทำแบบนี้ มันก็จะนำไปสู่การผลักดันให้เขาเป็นปฏิปักษ์กับส่วนที่เหลือในสังคมไทยมากขึ้น แล้วก็จะไม่มีทางที่จะคืนดีกันได้ พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า เรามองข้ามกระบวนการยุติธรรมนะ กระบวนการยุติธรรมก็ควรจะทำไป แล้วก็สำคัญด้วย การทำความจริงให้ปรากฏว่า ใครที่ทำผิด ใครที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่ไหนๆ เขาก็ใช้วิธีนี้ กระบวนการยุติธรรม จะช่วยเยียวยาจิตใจของผู้คนได้ แต่เราจะเข้าใจเรื่องนี้ได้เราต้องไม่ลืมบทเรียนจากอดีต เป็นเรื่องที่เราจะต้องหันมาเรียนรู้กันใหม่ ความเข้าใจที่ว่า เราลืมๆ กันไปเถิด แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง คงไม่ใช่ ต้องกลับมาเรียนรู้เหตุการณ์ที่ผ่านมา ให้อภัยก็ดีแล้ว แต่ว่าต้องไม่ลืม ภาษาฝรั่งเขามีว่า forgive but not forget

คุณูปการของ 6 ตุลา ก็คือทำให้เราไม่เกิดการนองเลือดในช่วงเดือนแรก ในช่วง 45 วันแรกของการชุมนุมนปช. มีคนเตือนว่า อย่าทำ ! อย่าทำ ! เพราะว่ามันเคยเกิดเหตุการณ์แบบ 6 ตุลา มาแล้ว 14 ตุลา ก็เช่นเดียวกัน พฤษภาทมิฬก็เช่นเดียวกัน แต่คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เรียนรู้จากอดีต ก็เรียกร้องให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงสลายฝูงชน และในที่สุดเราก็ไม่สามารถจะทัดทานเสียงเรียกร้องอย่างนี้ได้ เราไม่พูดว่าใครผิดใครถูก เพราะว่า นปช. เองก็คงจะมีส่วนด้วยเหมือนกัน รัฐบาลก็อาจจะอยู่ในภาวะที่ถูกกดดันให้ต้องใช้วิธีการเหล่านี้ แต่อาตมาคิดว่า ถ้าสังคมไทยได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ 6 ตุลา เราจะไม่มีวันนี้อีก

คนไทยมักจะมองว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องตัวบุคคล การที่ขบวนการเสื้อแดงขยายตัวมากขึ้นก็เพราะว่าคุณทักษิณ ขณะที่คนเสื้อแดงก็มองว่า ปัญหาของระบบอำมาตย์ทั้งหมดอยู่ที่พล.อ.เปรม คือคนเรามักจะมองปัญหาในแง่ตัวบุคคล เหมือนกับกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มองว่าที่เกิดเรื่องวุ่นวายนี้เป็นเพราะว่าผู้ก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คน อาจจะรวมถึงพวกผู้มีอิทธิพลที่ค้าของหนีภาษีอะไรต่างๆ เราไม่เคยมองให้เห็นถึงรากเหง้าปัญหาที่ดึงคนจำนวนนับล้านๆ ให้มาสนับสนุนคนกลุ่มที่อาตมาพูดถึง

กรณีความรุนแรงในกรุงเทพฯ มันเป็นเรื่องที่เชื่อมต่อ หรือเป็นเรื่องเดียวกันกับกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องเดียวกัน หรือเป็นเรื่องที่สืบเนื่อง ทั้งๆ ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีเรื่องของชาติพันธุ์ เรื่องของศาสนา ที่อาจจะไม่มีอะไรเหมือนกับ 73 จังหวัดที่เหลือ หรือในกรุงเทพฯ เลย แต่มันมีสองอย่างที่เหมือนกัน ที่ทำให้เกิดความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วก็ที่กรุงเทพฯ แล้วก็ในหลายจังหวัด ขณะนี้

กอส. เคยศึกษาเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาพูดว่า ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ... จริงอยู่ ... ที่มีขบวนการก่อการร้าย แต่ที่ขบวนการก่อการร้ายเติบใหญ่เข้มแข็งก็เพราะว่า มันมีรากเหง้าอยู่สองตัว หนึ่ง ความยากจน สอง ความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าแก้สองปัญหานี้ได้ ขบวนการก่อการร้ายที่มีคนไม่กี่คนจะไม่มีกำลังพอ จะไม่ขยายตัว จะไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนจนกระทั่งว่า ยิงใครไปแล้วก็ลอยนวล เพราะประชาชนไม่ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ

สองข้อนี้ ไปสอดคล้องกับกรณีที่คนเสื้อแดงบอกว่า มันมีความไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน ต้องเติมข้อหนึ่งว่า มันมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจด้วย เราจะต้องมองให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหาว่า เป็นเรื่องโครงสร้าง เพราะว่าในกรณีคนเสื้อแดง ถ้าไม่มีสองอันนี้ คุณทักษิณจะไม่มีทางเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะคุณทักษิณสามารถทำให้ประชาชนที่เขารู้สึกว่า เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เขายากจน รู้สึกเงยหน้าอ้าปากขึ้นมาได้ ถ้าเขามีเครือข่ายกับพรรคไทยรักไทยแล้ว ส.ส. ก็จะคุ้มครองเขาจากการเอาเปรียบของเจ้าหน้าที่รัฐ คนที่เป็นหัวคะแนน นายอำเภอ ตำรวจไม่กล้ายุ่ง เพราะว่าสามารถต่อสายไปยัง ส.ส. จนถึงรัฐมนตรีฯ ซึ่งสามารถสั่งย้ายนายอำเภอ หรือแม้กระทั่งผู้ว่าฯ ได้

ความรู้สึกแบบนี้ ทำให้คนเทใจไปที่พรรคไทยรักไทย และคุณทักษิณ เพราะมันมีเชื้อของมันอยู่ คือว่าเขารู้สึกไม่มีความเป็นธรรม เขาถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐ สังคมมีความเหลื่อมล้ำ เขายากจนแล้วมีโครงการสามสิบบาทจากคุณทักษิณให้มา เขาก็ยิ่งมีความสุข ทั้งๆ ที่สิ่งที่คุณทักษิณให้กับประชาชนมันน้อยกว่าสิ่งที่เขาแบ่งปันให้กับเครือข่าย อาจจะรวมถึงครอบครัวของตัวด้วยซ้ำ แต่นั่นเราไม่ลงรายละเอียด แต่ชาวบ้านเนื่องจากเขาเคยถูกละเลย เขายากจน แต่พอมีนโยบายประชานิยม เขาก็ชื่นชมและเทิดทูนในทักษิณ อันนี้ คือมันมีสาเหตุรากเหง้าในเชิงโครงสร้างที่ทำให้คนอย่างคุณทักษิณสามารถที่จะเป็นศูนย์รวมของขบวนการ นปช. หรือสามารถทำให้แกนนำ นปช. รวบรวมคนได้มากมายทั้งประเทศ อาตมาคิดว่าถ้าไม่แก้ปัญหานี้ แม้จะจัดการกับคุณทักษิณได้ แม้คุณทักษิณจะมีอันเป็นไปในวันข้างหน้า มันก็จะยังมีนักการเมืองแบบคุณทักษิณสามารถที่จะดึงประชาชนเข้ามาร่วมขบวนการและต่อสู้เพื่อเรียกร้องอย่างที่ นปช. ได้ทำมาแล้ว

ตรง นี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ปัญญามองให้ถึง ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยมองไปไม่ถึงตรงนี้ คือไปติดแค่ตัวบุคคล คือคุณทักษิณ หรือเวลามองสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มองไปติดแค่ผู้ก่อการร้ายหรือผู้ก่อ ความไม่สงบไม่กี่คน แต่ไม่เห็นถึงรากเหง้าของปัญหา ทั้งๆ ที่จะว่าไปแล้วมันเหมือนกับภูเขาน้ำแข็ง ภูเขาน้ำแข็งเราเห็นแต่ยอด แต่เราไม่เห็นข้างล่างซึ่งมันมีถึง 10 ส่วนของส่วนที่อยู่เหนือน้ำขึ้นมา

กรณี นปช. เราเห็นแต่คุณทักษิณอยู่ข้างบน แต่เราไม่เห็นถึงรากเหง้าของปัญหาที่เป็นโครงสร้างที่ไม่ยุติธรรม ซึ่งมันอยู่ข้างใต้ ที่มองไม่เห็นเพราะมันเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นอาตมาคิดว่าต้องใช้ปัญญาที่จะช่วยกันมองให้เห็น แล้วก็พากันขับเคลื่อนสังคมไทยให้มีการปฏิรูป ให้มีการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เรื่องภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า เรื่องภาษีมรดก เรื่องปฎิรูปที่ดิน ก็ต้องทำ อย่าขัดขวาง เพราะถ้าขัดขวางมันจะไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาอย่างที่ว่าได้ และถ้าเราแก้ปัญหานี้ไม่ได้ มันก็จะเกิดกรณีปะทะขึ้นมาใหม่ อาจจะไม่ใช่ลักษณะของ นปช. กับรัฐบาล แต่อาจจะมาในลักษณะใหม่ เหมือนคนป่วย ถ้าภูมิต้านทานอ่อนแอ มันก็จะมีโรคต่างๆ เดี๋ยวเป็นโรคนี้ บ้างโรคนั้นบ้าง ถ้าเรารักษาตามอาการ อาการนั้นหาย แต่โรคใหม่ก็เกิดขึ้นอีก

ถ้าจะอธิบาย อาตมาว่ามันก็เป็นผลพวงของสังคมไทยที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะสังคมที่มีช่องว่างทั้งในแนวดิ่ง คือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การแบ่งชนชั้น ... ขอใช้ความหมายนี้นะ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สถานภาพที่แตกต่างกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น .... ซึ่งอันนี้มีมาก่อนที่จะเกิดโลกาภิวัตน์ ช่องว่างทางเศรษฐกิจมีมาก่อน แต่ทีนี้พอโลกาภิวัตน์มันเข้ามา ก็ทำให้เกิดความแตกต่างในแนวระนาบ ชนชั้นกลางด้วยกันก็มีความเห็นไม่เหมือนกัน เพราะว่าดูสื่อคนละช่อง ดูโทรทัศน์คนละช่อง หรือว่ามีวิธีคิดคนละแบบ ความหลากหลายมันเป็นสภาวะที่สังคม เกิดแตกตัวเป็นกลุ่มย่อยๆ แม้กระทั่งคนในบ้านเดียวกัน พ่อแม่ลูกก็คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่องแล้ว หรือลูกซึ่งเป็นผู้หญิงกับผู้ชายก็มีความเห็นที่แตกต่างกันมาก ยังไม่พูดถึงคนที่อยู่ในซอยเดียวกัน บ้านอยู่ในซอยเดียวกันก็ยังมีความหลากหลาย อันนี้แสดงให้เห็นว่า ทำไมในบ้านเดียวกันมีทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อขาว มันเป็นความหลากหลายในแนวระนาบ เมื่อผสมกับความเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างในแนวดิ่ง คือรวยกับจน สูงกับต่ำ ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ได้ง่าย ทวีความซับซ้อน และเกิดความแตกต่างจนคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง และยิ่งทุกฝ่ายเชื่อว่า ตัวเองถูก อีกฝ่ายหนึ่งผิด มีเหตุผลรองรับ อีกฝ่ายหนึ่งเอาศีลธรรมมาเป็นหลักว่า ฉันอยู่ฝ่ายศีลธรรม ใช้วาทกรรมเรื่องคุณธรรม จริยธรรม เช่น พวกคุณทักษิณแกไม่มีคุณธรรม คอร์รัปชัน นักการเมืองซื้อเสียง นปช. รับเงินเขามา ใช้วาทกรรมเรื่องคุณธรรม อีกฝ่ายหนึ่งใช้วาทกรรมเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิ สังคมสองมาตรฐาน เน้นเรื่องการเสมอภาค สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ทั้งสองฝ่ายยืนยันความถูกต้องโดยอาศัยวาทกรรมคนละแบบ มันก็เลยยิ่งปะทะกันเข้าไปใหญ่

การอธิบายเรื่องเหตุการณ์ตอนนี้ เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องทำ ซึ่งอาตมาก็ไม่มีความสามารถพอที่จะอธิบายได้ทั้งหมด แต่คิดว่า สิ่งที่เราควรจะต้องใส่ใจตอนนี้ก็คือว่าการที่ช่วยเยียวยาความเจ็บปวดของทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่แค่ความหดหู่เศร้าหมองอย่างที่เราพูดกันตอนต้น ความเจ็บแค้น ความพยาบาท ซึ่งสืบเนื่องมาจากความทุกข์ที่ถูกกระทำ ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องมาจัดการเป็นเรื่องเร่งด่วนเลย

สิ่งแรกที่อยากจะเชิญชวนให้ทำนั้นคือว่า ลองเปิดใจรับรู้ถึงความทุกข์ของฝ่ายอื่นด้วย คือตอนนี้ ทุกคนทุกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองถูกกระทำโดยอีกฝ่ายหนึ่ง คนเสื้อแดงก็รู้สึกว่า ตัวเองถูกกระทำโดยรัฐบาล และก็โดยคนกรุงเทพฯ ซึ่งมีเงิน ส่วนคนในกรุงเทพฯ หรือว่าคนเสื้อเหลือง เสื้อขาว เสื้อสีชมพู ก็รู้สึกว่าตัวเองถูกกระทำจากคนเสื้อแดง ซึ่งมายึดบ้านยึดเมืองมา 2 เดือน แล้วก็เผาบ้านเผาเมืองอีก นี่คือความรู้สึกของแต่ละฝ่าย โดยที่ไม่ได้ตระหนักว่าไม่ใช่เราทุกข์ฝ่ายเดียว คนอื่นเขาก็ทุกข์ คนอื่นเขาก็เจ็บปวดเหมือนกัน อาตมาเชื่อว่า ถ้าเราลองเปิดใจรับรู้ถึงความทุกข์ของอีกฝ่ายหนึ่งว่า เขาไม่ได้เป็นฝ่ายกระทำเราอย่างเดียวนะ เขาก็ถูกกระทำด้วย ถูกกระทำโดยพวกเรา อาตมาเชื่อว่า ถ้าคนเราเปิดใจรับรู้ถึงความทุกข์ของอีกฝ่ายหนึ่ง เราจะลดความโกรธเกลียดลง เราจะเห็นใจกันมากขึ้น แล้วก็จะตระหนักว่า ในที่สุดแล้วเราเป็นเพื่อนทุกข์เหมือนกัน

เคยมีครูคนหนึ่งมีปัญหามาก นักเรียนในห้องทะเลาะกันเพราะว่า ฝ่ายหนึ่งผิวสี ผิวดำกับผิวเหลือง อีกฝ่ายหนึ่งผิวขาว เม็กซิกัน สเปน อันนี้เกิดขึ้นในอเมริกา ทะเลาะกัน ทำร้ายกันอยู่เป็นประจำ ครูไม่รู้จะทำอย่างไร นักเรียนในห้องมีแค่ 30 คน แต่ว่าเป็นศัตรูกัน สิ่งหนึ่งที่ครูทำคือ วันหนึ่งครูขีดเส้นตรงกลางห้อง แล้วถามว่าใครที่ไม่เคยสูญเสียพี่น้องมาอยู่ตรงฝั่งนี้ ใครที่เคยสูญเสียพี่น้องหรือเพื่อนอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ปรากฏว่าแทบทั้งห้องเฮโลไปอยู่ฝั่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นผิวเหลือง ผิวดำ ผิวขาว ไปอยู่ฝั่งเดียวกันหมด ใครที่ไม่เคยถูกกระทำบ้างให้อยู่ฝั่งนี้ ใครที่ถูกกระทำอยู่ฝั่งนี้ ทั้งกลุ่มเฮโลมาอยู่ฝั่งเดียวกัน และทุกคนก็เริ่มรู้ว่า ไม่ว่าเราผิวสีไหน ล้วนแต่มีความทุกข์เหมือนกัน เป็นผู้ถูกกระทำเหมือนกัน เขาเริ่มรู้สึกว่า ที่เห็นว่าเป็นคนละพวก คนละกลุ่ม คนละสี ที่จริงแล้วเรามีชะตากรรมเดียวกัน ก็คือเราเจ็บปวดเหมือนกัน เราถูกกระทำเหมือนกัน ตรงนี้ทำให้นักเรียนในห้องเริ่มจะเข้ามาใกล้กันมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเห็นแต่ความแตกต่าง แต่เราไม่เห็นความเหมือนเลย และความเหมือนอย่างหนึ่งก็คือว่า เราต่างเป็นผู้สูญเสีย ถูกกระทำเหมือนกัน

อาตมาอยากจะเชิญชวนให้ทุกฝ่ายได้เปิดใจรับรู้ถึงความทุกข์ของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งสื่อก็มีส่วนสำคัญ เพราะถ้าสื่อพูดถึงแต่ความสูญเสียของคนกรุงเทพฯ ที่ถูกไฟเผา ถูกเพลิงไหม้ แต่ไม่ได้พูดถึงคนที่เขาสูญเสียพี่น้องจากการถูกยิง จากการสลายฝูงชน ทั้งๆ ที่ไม่มีอาวุธ ทั้งๆ ที่ไปช่วยเพื่อนที่กำลังเจ็บถูกยิงอยู่บนถนน แล้วก็ถูกยิงกลับมา ทั้งๆ ที่อยู่ในเขตอภัยทาน แต่ถูกยิงจากข้างนอกเข้ามา เราก็ต้องให้พื้นที่กับคนเหล่านี้เขาได้พูดถึงความทุกข์ของเขา ให้เขาได้เล่าเรื่องราวความทุกข์ของเขา อาตมาคิดว่า การให้คนได้พูดถึงความทุกข์ของตัว ความคับแค้นของตัว ความเจ็บปวดของตัว มันจะช่วยเยียวยาได้ เราควรจะมีพื้นที่ให้กับทุกฝ่ายที่เจ็บปวด ให้เขาได้พูด ให้เขาได้เล่า ให้เขาได้ระบาย มันเป็นประโยชน์ต่อคนพูดเอง และเป็นประโยชน์ต่อคนฟังหรือคนดูด้วยว่า โอ้... เราคิดว่าเขาไม่สูญเสียนะ แต่เขาสูญเสียเยอะเลย ความเห็นใจมันจะมีมากขึ้น และจะมาช่วยลบเลือนความเกลียด แค้น ความพยาบาทได้

ในแอฟริกาใต้ มีความขัดแย้งมาก ระหว่างคนดำกับคนขาว และสู้กันมา 40-50 ปี จนกระทั่งเนลสัน แมนเดลา ต้องถูกจับเข้าคุก อยู่ในคุก 27 ปี และรัฐบาลแอฟริกาใต้รู้เลยว่า ถ้าเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นต่อไป สงครามกลางเมืองเกิดขึ้นแน่ เขาปล่อยเนลสัน แมนเดลา ออกมา แล้วก็หันมาเจรจากัน นำไปสู่การเลือกตั้ง แล้วมีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือเขามีการจัดตั้งคณะกรรมการความจริง และสมานฉันท์ Truth and Reconciliation Commission ... ก็คือมีหน้าที่สืบหาความจริงว่าการฆ่ากัน การละเมิดสิทธิมนุษยชน ใครทำ ใครรับผิดชอบ แต่ที่น่าสนใจ คือมีการบอกว่า ใครที่รับผิดในการกระทำที่ไม่ดีของตัวจะนิรโทษกรรมให้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายคนผิวดำ คนผิวขาว หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้ายอมรับว่า ตัวเองเคยทำสิ่งที่ไม่ดี เช่น ไม่ฆ่าเขา ไม่ทรมานเขา ก็จะนิรโทษกรรม ใครที่ไม่ยอมรับก็ขึ้นศาล กระบวนการขึ้นศาลก็น่าสนใจ เพราะเขาเอาผู้เดือดร้อนมาพูด มีคนนึงแกตาบอดและเป็นคนผิวดำ หลังจากที่แกได้มาพูดถึงความทุกข์ของแกในศาลว่าถูกรังแก ถูกเอาเปรียบอย่างไรบ้าง จนกระทั่งตาบอด เป็นครั้งแรกที่แกรู้สึกว่าโล่งอก เหมือนกับตาแกมองเห็นอีกครั้งหนึ่ง เพราะแกได้เล่าเรื่องความทุกข์ของแก ซึ่งไม่เคยคิดว่า จะมีโอกาสได้พูดได้ระบาย และไม่เคยคิดว่าจะมีคนฟัง

อาตมาคิดว่าตอนนี้สังคมไทย ก็เริ่มจะน้องๆ แอฟริกาใต้เข้าไปทุกทีแล้ว เพราะฉะนั้นอยากจะให้มีพื้นที่และกระบวนการที่จะทำให้เรารับฟังความทุกข์ของกันและกันไม่ว่าสีใด และในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้พูดถึงความทุกข์ เราต้องเปิดพื้นที่ให้กับ นปช. ให้กับคนเสื้อแดงด้วย ไม่ใช่เฉพาะคนใน กทม. ที่สูญเสียจากเพลิงไหม้เท่านั้น ทุกฝ่าย อาตมาเชื่อว่ามันจะนำไปสู่การเยียวยา อาจจะไม่ทั้งหมด เพราะว่ากระบวนการยุติธรรมก็จำเป็นต้องมี อาตมาเชื่อว่านี่เป็นสิ่งที่อยากจะชักชวนให้เราทำกัน

ในระดับบุคคล มันมีตัวปิดกั้นไม่ให้เราเห็นปัญหา หรือสาเหตุ ดังที่ได้พูดมา ตัวปิดกั้นนั้นก็คือ ความโกรธ ความเกลียด และอคติ รวมทั้งการตีตราประทับป้ายให้กับคนอื่น อย่างเช่นถ้าเราเชื่อตั้งแต่แรกว่า ผู้ที่ชุมนุมคนเสื้อแดงรับเงินมา เราก็จะไม่มีทางรับรู้ถึงความรู้สึกเป็นทุกข์ ความรู้สึกอาจจะถึงเคียดแค้นที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ความรู้สึกเจ็บปวดที่เขาถูกดูถูก

อาตมาได้ไปคุยกับชาวบ้านหลายคนก่อนที่เขาจะกลับภูมิลำเนา ช่วงที่เขาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หลายคนพูดด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจว่า ทำไมคนในเมืองหาว่า เขาว่าโง่ ทำไมหาว่าเขารับเงินมา ทำไมไปดูถูกเขาอย่างนั้น ใช่ไหม คือเราไม่เคยได้ยิน และเราจะไม่ได้ยินความรู้สึกแบบนี้ ถ้าเราคิดตั้งแต่แรก หรือสรุปตั้งแต่แรกว่า พวกนี้ มันรับเงินเขามา หรือพวกนี้มันหลงผิด อาตมาไม่เคยปฏิเสธนะ เรื่องรับเงินเรื่องหลงผิดมันก็มี แต่คนจำนวนไม่น้อย เราไม่เชื่อเลยว่า เขาคิดแบบนี้ เขาน้อยอกน้อยใจ เขารู้สึกเจ็บปวดว่า คนกรุงเทพฯ ดูถูกเขา หาว่าเขาโง่ เขารู้สึกคับแค้นใจ ทำไมไม่มีใครเห็นด้วยกับเขาเลย ทำไมเขาเป็นผู้ถูกกระทำตลอดเวลา ตรงนี้อาตมาคิดว่า เป็นเพราะเราอคติ เป็นเพราะเราตีตราประทับป้ายให้เขาแล้ว อาตมาคิดว่า เสื้อแดงก็คงมองกับคนอื่นในทำนองนี้เหมือนกัน ก็เลยไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ทำไมคนกรุง ถึงมีปฏิกิริยากับเขาอย่างนั้น

สำหรับสำหรับปัจเจกบุคคล อาตมาถึงได้พูดแต่แรกว่า ต้องเปิดใจ เปิดใจรับรู้ความทุกข์ของเขา แต่จะเปิดใจรับรู้ความทุกข์ของเขาได้ ก็ต้องรู้ทันอคติ และความโกรธ เกลียด ถ้ามันมีความโกรธ เราก็มองเขาเป็นผู้ร้าย หรือมีความคิดที่จะทำร้ายเขา หรือถ้าเขาแพ้ เราก็จะทับถม ซ้ำเติม สมน้ำหน้าเขา

อาตมาก็อยากจะขอร้องว่า อย่าทำ เพราะการทำเช่นนั้นจะเป็นการผลักให้เขาเป็นปฏิปักษ์ต่อสังคมมากขึ้น

เมื่อเราเปิดใจ เราได้ยินว่า เขาทุกข์อย่างไร และเราก็จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่เป็นเรื่องของตัวบุคคล ไม่ใช่เป็นเรื่องของนักการเมือง เช่น คุณทักษิณเท่านั้น แต่มันมีอะไรมากกว่านั้น ทำไมเราเคยรู้สึกว่า ทำไมคนจนเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำไมเขารู้สึกว่า ทำไมเวลาลูกเขาเจ็บป่วยแล้ว ต้องตายเพราะไม่มีเงินรักษา แต่พอมี 30 บาทแล้ว มันก็เหมือนมีอะไรมาชุบชีวิตเขาใหม่ แต่เราก็รู้ว่า 30 บาทนี่มันก็เป็นการแก้ปัญหาบางด้านของเขาเท่านั้นเอง แต่เขายังมีความทุกข์อีกเยอะ ยังเป็นหนี้จำนวนไม่น้อย แล้วจะแก้ จะจัดการกับปัญหาหนี้สินได้อย่างไร เขาถูกเจ้าหน้าที่เอาเปรียบ ไม่รู้จะปกป้องตัวเองอย่างไร ต้องอาศัยนักการเมืองในท้องถิ่น ถ้านักการเมืองคนไหนปกป้องเขาจากเจ้าหน้าที่ได้ เขาก็พร้อมจะเลือก ถ้าให้เงินด้วยเขาก็ยินดี ยิ่งพร้อมจะเลือกเข้าไปใหญ่ แต่ถึงแม้ไม่ให้เงิน อาตมาก็เชื่อว่า เขาก็พร้อมจะเลือกนะ ถ้าได้รับการปกป้องจากความไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างที่นักการเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาก็ไม่ได้มีเงินมากนัก แต่ประชาชนก็เลือกเพราะเห็นว่านักการเมืองเหล่านี้พร้อมจะปกป้องเขาได้

อาตมาคิดว่าอย่างแรกเลยที่ปัจเจกชนทำได้ ก็คือ รู้เท่าทันความโกรธ เกลียด ในใจเรา รู้เท่าทันอคติในใจเรา และอย่าไปตีตราประทับป้ายให้แก่ใคร เพราะถ้าเรา ไปตีตราประทับป้ายให้แก่ใคร เราจะเห็นแต่ป้าย เห็นแต่สีเสื้อ แต่จะไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา เราจะไม่เห็นความเจ็บปวดของเขา เราจะเห็นแต่ความไม่ดีของเขา ตามที่ได้ยินได้ฟังมาจากสื่อซึ่งอาจจะมีความจริง แต่คนก็ไม่ได้มีแต่ความไม่ดี เขาอาจจะมีความดีและอาจมีความทุกข์ด้วย เป็นความทุกข์ที่ไม่ได้เกิดจากความที่เขาขี้เกียจ ไม่ใช่เป็นความทุกข์ที่เขาไม่ทำมาหากิน แต่มันเป็นความทุกข์ที่เขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม

สอง เมื่อเราเปิดใจรับฟังความทุกข์ของเขา เราจะได้เห็นว่า ความทุกข์ในสังคมนี้ มันมากมายเหลือคณานับ ในเมื่อเราเป็นเพื่อนร่วมทุกข์กัน เราต้องช่วยแก้ไข คราวนี้ในแง่ของสื่อ สื่อก็เช่นเดียวกัน ทำอย่างไร สื่อถึงจะเปิด ทำอย่างไรถึงจะลดอคติของผู้คนในสังคมให้ได้ และทำให้เป็นเสมือนหน้าต่างที่ทำให้เห็นอะไรกว้างๆ คนในประเทศนี้ก็เหมือนกับอยู่ในห้องที่ไม่มีหน้าต่าง เราก็เห็น เราดูสื่อเฉพาะของตัว เราดูสื่อเฉพาะที่ถูกใจเรา ใช่ไหม เราดูสื่อเฉพาะผู้ร่วมหลักของเรา ทีนี้ คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ดูแต่ P Chanel ไม่ดูสื่ออื่น คนเสื้อเหลืองก็ดูแต่ ASTV ใช่ไหม มันก็เลยไม่เห็นซึ่งกันและกันจากความเป็นจริง เห็นเฉพาะจากภาพที่สื่อทำให้ สื่อจะต้องกล้าที่จะเป็นหน้าต่าง เพื่อให้คนที่อยู่ในห้องแคบๆ เขามองไปเห็นความจริงที่กว้างกว่าเดิม เห็นความทุกข์ของคนทุกสี ทุกฝ่าย เห็นจนเลยความเป็นสี ความเป็นอุดมการณ์ของเขา เห็นความเป็นมิตรของเขา อย่างที่อาตมาพูดเมื่อตอนต้นว่า จะต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเขาได้พูดถึงความทุกข์ของเขา และตรงนี้เองปัจเจกชนก็สามารถจะช่วยได้

อาตมาก็จะชักชวนมีเพื่อนๆ หลายคนอยากจะเป็นอาสาสมัครเพื่อไปรับฟังความทุกข์ อาจจะลืมความคับแค้น ความเจ็บปวดที่ทุกฝ่ายได้รับ ไม่ว่าแดง หรือไม่แดง คนเหล่านี้เขาอยากจะพูดอยากจะระบาย แต่ไม่มีคนฟัง มีแต่คนตำหนิ มีแต่คนประณาม ถ้าเรามีกลุ่มคนเหล่านี้เข้าไป รวมทั้งมีกระบวนการที่กว้างกว่านั้นที่ทำให้เขาได้พูด อาตมาเชื่อว่า จะช่วยคลี่คลายความรู้สึก และสร้างเมตตาให้เกิดขึ้น สร้างกรุณาให้เกิดขึ้น และเปิดมุมมองให้กว้างทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา

กรุณากับปัญญานี่สำคัญมากที่เราต้องมีในวันนี้ และถ้าเราไม่มี สังคมไทยก็คงจะถลำไปสู่ความเลวร้าย หรือว่าหุบเหวลึกในที่สุด


เรื่องสื่อนั้น อาตมาก็ตระหนัก และก็ยอมรับเลยว่า เป็นปัญหามาก ซึ่งไม่ต้องเสนอภาพที่ถูกต้องก็ได้ เพียงแต่อย่าไปเสนอภาพที่ตกแต่ง บิดเบือน คลาดเคลื่อน อันนี้เป็นปัญหา อาตมาเชื่อว่าในเรื่องของการปฏิรูปสื่อเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อไป แล้วก็สำนึกของผู้เสพ ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าตอนนี้ มันเป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ คือเรื่องของการใช้วิจารณญาณและการรู้จักคิด อันนี้ก็คงไม่อยากจะโทษระบบการศึกษาแต่มันเป็นปัญหาทั้งหมด ซึ่งมันต้องปฏิรูปไปพร้อมๆ กัน มันเป็นแผนในระยะยาว เรื่องการปฏิรูปสื่อ ซึ่งในแผนปรองดองแห่งชาติ ก็พูดเรื่องเรื่องปฏิรูปสื่อ ซึ่งถ้าหากไม่มีการทำให้เป็นผลที่เกิดขึ้นได้จริงๆ ก็น่าเสียดาย แล้วเราก็จะเกิดการรบราฆ่าฟันกันใหม่ เหมือนอย่างเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็โทษว่าเป็นเพราะสื่อ แล้วเราก็พยามมีการปฏิรูปสื่อ มีไอทีวี มีอะไรต่างๆ แต่ว่าสุดท้าย กระแสโลกาภิวัตน์ ก็มาจนกระทั่งเราตั้งตัวไม่ติด คือว่าเดี๋ยวนี้ใครก็มีสื่อได้ มีเสรีภาพมากเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นสื่อวิทยุชุมชน ไม่ว่าจะเป็นสื่ออินเตอร์เน็ต อันนี้เป็นปัญหาโลกาภิวัตน์ที่เราต้องรับมือกับมัน

เราจะทำอย่างไรให้สื่อได้รับการปฏิรูปตามแนวทางที่ว่ามา ทั้งนี้มันก็ขึ้นอยู่กับผู้เสพ ถ้าผู้เสพฉลาด มีวิจารณญาณ สื่อที่สุดโต่ง ก็จะอยู่ไม่ได้ หรือไม่มีทางขยาย หรืออาจจะอยู่เป็นเว็บไซต์ เป็นสถานีวิทยุเล็ก เป็นสถานีเล็กๆ แต่ไม่มีทางขยาย ไป อาตมาคิดว่า คุณภาพของคนสำคัญมากในการที่จะควบคุมกำกับสื่อให้ไปในทางที่ถูกต้อง แต่ทีนี้เรื่องของคน ซึ่งก็มีอยู่หลายมิติใช่ไหม คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ขณะเดียวกันก็อาจจะดำเนินชีวิตอย่างที่เรียกว่า ทำร้ายตัวเอง เบียดเบียนตัวเอง เอาเปรียบตัวเอง ติดเหล้า ติดอบายมุข ไม่มีความสำนึกในเรื่องของความถูกต้องเท่าที่ควร

ตอนนี้อาตมารู้สึกว่า ประชาชนมีสำนึกทางการเมืองสูง แต่ว่าสำนึกทางจริยธรรมรู้สึกว่าจะต่ำลง อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง การที่คนเรามีสำนึกการเมืองที่สูง มันเป็นเรื่องดี แต่ว่าถ้าสำนึกทางจริยธรรมไม่ได้สูงขึ้นตามไปด้วย มันก็จะกลายเป็นการต่อสู้ขับเคี่ยวเอาชนะด้วยวิธีใดก็ได้ เน้นการเรียกร้องจากผู้อื่น แต่ไม่เรียกร้องจากตัวเอง ตรงนี้เป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไข ก็ไม่อยากจะโทษสื่อ แต่ก็ต้องยอมรับว่า สื่อก็มีส่วนปลุกเร้าให้คน กระตุ้นให้คนติดอบายมุข หรือว่าหวังรวยทางลัด แต่เราก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นวัฒนธรรมของคนไทยไปแล้วคือว่า ต้องการรวยทางลัด ต้องการหวังผลเร็วๆ ความต้องการผลเร็วๆ มันก็เลยต้องการอัศวินม้าขาวมาแก้ปัญหาบ้านเมือง ทำให้เราต้องการแก้ปัญหาขัดแย้งระหว่างกลุ่มชน ด้วยวิธีการที่เร็วๆ ซึ่งก็หนีไม่พ้นต้องใช้กำลังทหาร การรัฐประหาร การปฏิวัติ ถ้ายังมีความคิดแบบนี้อยู่มันก็คงจะแก้ปัญหาไม่ได้

อาตมาคิดว่าคงต้องขับเคลื่อนกันไปหลายด้านทีเดียว ไม่เฉพาะการปฏิรูปสื่ออย่างเดียว คืออคติมีได้ แต่ก็ต้องรู้ทัน แล้วก็ต้องเปิดใจรับรู้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ซึ่งอาจไม่ตรงกับใจของเรา สื่อก็เหมือนกัน มีอคติได้ แต่ก็ต้องรู้เท่าทันอคติ เหมือนอย่างที่อาตมาพูดมาทั้งหมดตั้งแต่ต้น ก็คิดว่ามันก็อาจจะมีบางอย่างที่แฝงไปด้วยอคติ ฉันทาคติบ้าง โมหะคติบ้าง พญาคติบ้าง รู้ แต่ว่าเปิดใจรับฟังความเห็น ข้อมูล ที่ไม่ตรงกับเรา ตรงนี้มันโยงกับหลักกาลามสูตร ซึ่งมีทั้งหมด 10 ประการ ข้อใหญ่ๆ มันมี 3 ข้อ อันที่หนึ่ง อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะใครๆ เขาว่ากัน อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะเชื่อในแหล่งที่มา จะเป็นตำรา จะเป็นผู้พูด จะเป็นครูก็ตามแล้วก็อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะว่ามันเข้าได้กับความเห็นของเรา หรือว่ามันสอดคล้อง กับทฤษฎีอุดมการณ์ของเรา ถ้าเรามีเรื่องนี้เตือนใจแล้ว ก็จะทำให้เราไม่หลงเชื่อในข้อมูลข่าวสารอะไรง่ายๆ ในขณะเดียวกัน ถ้าเราไม่ปิดตัวเอง ไม่ดูแต่สื่อที่มันถูกใจเราแล้วนี่ เราไปรับรู้สื่ออื่นๆ ไปอยู่พื้นที่อื่นๆ ที่มีความหลากหลาย อาตมาเชื่อว่ามันจะช่วยจะทำให้เราไตร่ตรองแล้วก็รู้เท่าทันอคติได้

ตอนนี้คนที่จะไปเปิดใจรับรู้สื่อต่างๆ กว้างขวางมันไม่ค่อยมี ก็ยังคิดว่า ถ้าเราตระหนักถึงคุณค่าของความจริง สัจจะและไม่ต้องการทำร้ายตัวเองด้วยความคิดที่คับแคบ ก็ต้องเปิดใจไปรับรู้สื่อต่างๆ ด้วย ไม่ดูแต่ PTV ASTV อาจจะดู Free TV ด้วย เปิดเวบไซต์ อาจจะดูเฟชบุค ที่มีความหลากหลาย และก็ควรจะมีพื้นที่ในการที่จะโต้เถียงกัน สังคมไทยมันมีพื้นที่ที่จะโต้เถียงกันแบบอารยะชนไม่พอ ถ้าเรามีพื้นที่ที่เปิดให้ทุกคนเข้าถึงได้ มีการโต้เถียงกัน คนก็จะได้เห็น ได้ฟังความคิด ความเห็นในข้อมูลที่หลากหลาย

..... ที่พูดไปนี้ คงจะไม่สามารถจะแทนความรู้สึกของทุกฝ่ายได้อย่างถูกต้องครบถ้วน ในสิ่งที่อาตมาพูดนี่ ต้องมีทั้งฝ่ายที่ชอบและไม่ชอบ ทีนี้ฝ่ายที่ไม่ชอบต้องพูดว่า ไม่เห็นพูดถึงความทุกข์ของเขาเลย ไม่เห็นพูดว่า เขาไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไรบ้าง อาตมารู้สึกว่า มันมีข้อจำกัดในการพูด ในการพูดอย่างนี้ว่าไม่เห็นพูดให้ครอบคลุม ทุกเรื่องหรือว่าให้น้ำหนัก หรือพูดถึงความทุกข์ของผู้คน หรือให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายอย่างครบถ้วน หรือพูดครบถ้วน แต่ให้น้ำหนักไม่เท่ากัน ทำไมไม่พูดถึงความทุกข์ของคนกรุงเทพฯเลย พูดแต่เรื่องความทุกข์ของคนเสื้อแดง ส่วนคนเสื้อแดงก็จะพูดว่า ทำไมพูดถึงความทุกข์คนเสื้อแดงน้อยเหลือเกิน ทำไมพูดถึงแต่ความทุกข์ของคนกรุงเทพฯ ต้องมีความรู้สึกแบบนี้เสมอมา อาตมาเชื่อว่ามันมีข้อจำกัด แม้กระทั่งไม่เจาะจงตัวบุคคลเลย แม้จะพยายามพูดเพียงใด ทั้งสองฝ่ายซึ่งตอนนี้ กำลังโกรธแค้นและต้องการระบายความทุกข์ และต้องการความเห็นใจ ต้องการให้คนรับรู้ความทุกข์ของตัว จะรู้สึกว่าสิ่งที่อาตมาพูดมันไม่พอ บางคนอยากให้อาตมาประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เสื้อเหลืองก็อยากให้อาตมาประณามเสื้อแดง เสื้อแดงก็อยากให้อาตมาประณามรัฐบาล

คำพูดแบบนี้ จะไม่มีทางที่จะเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายได้ แต่ไม่เป็นไร เพราะมันมีข้อจำกัดนี่เอง อาตมาคิดว่ามันจะดีกว่าถ้าเราฟังกันมากขึ้นแทนที่เราจะพูด เพราะจะพูดยังไงมันก็ไม่ครบถ้วน แต่ถ้าเราฟัง ฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังอย่างเข้าใจ ฟังอย่างเปิดใจ แล้วก็ฟังอย่างหลากหลายรอบด้าน มันจะดีกว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องฟังกันให้มากขึ้น ที่ผ่านมาเราพูดกันมาก เราแสดงความเห็นกันมาก เราประณามกัน เราฟังกันน้อย ให้ฟังกันด้วยสติ ฟังกันด้วยใจที่เปิด และพร้อมจะรู้เท่าทันอคติ และรู้อารมณ์ของตัว อาตมาเชื่อว่ามันจะเกิดการคิดอย่างสร้างสรรค์และนำไปสู่การเยียวยาได้ดีกว่า

เมืองไทยตอนนี้ ถึงแม้ว่าการชุมนุมที่ราชประสงค์จะไม่มีแล้ว แต่มันยังไม่จบ ความเคียดแค้น ชิงชัง ความโกรธ ความพยาบาท พร้อมจะประทุเป็นความรุนแรงขึ้นมาอีก นปช. ก็อาจจะชุมนุมที่อื่นต่อ อาตมาคิดว่า เรื่องนี้รัฐบาลอาจจะใช้ความระมัดระวังมาก ถ้าสมมติรัฐบาลคิดว่าการชุมนุมที่ราชประสงค์ คือมะเร็ง ตอนนี้มะเร็งมันกระจายไปแล้วเพราะเราใช้ยาแรง และยาที่เราใช้มันทำลายเซลล์ที่ดีๆ ไปด้วย เราใช้ฉายแสง คีโมเข้าไป มันแรงเกินไป ไม่ใช่เซลล์มะเร็งที่ตาย เซลล์ดีๆ ก็ตายไปด้วย เซลล์ดีๆ นี้อาจหมายถึง ผู้ชุมนุมที่เขาไม่ได้ใช้ความรุนแรง ประชาชนทั่วไป อาสาสมัคร พยาบาล ต่างๆ รวมทั้งคนที่สูญเสียบ้านเรือน คนที่สูญเสียทรัพย์สิน มันกระจายไปแล้ว ตอนนี้รัฐบาลต้องใช้สติแล้วก็ความระมัดระวังให้มากขึ้น สถานการณ์ หลังจากเกิดเหตุการณ์ 6ตุลา แล้วนี่ ถ้ารัฐบาลซึ่งใช้วิธีการที่รุนแรง ไล่ปราบพวกคอมมิวนิสต์ มันจะไม่จบ จะต้องหันมาหาวิธีที่จะเยียวยาและปรองดองให้มากขึ้น กระบวนการยุติธรรมจะต้องเริ่มได้แล้วเพื่อจะพิสูจน์ว่า ใครผิดใครถูกแล้วนำคนผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วถ้าสถานการณ์ดีขึ้น ต้องขับเคลื่อนไปสู่กระบวนการปฏิรูปอย่างแท้จริง

ประชาชนทั่วไปอาตมาคิดว่า จะต้องไม่ผลักไสคนที่คิดต่างจากเราไปเป็นศัตรู เมื่อเกิดเหตุการณ์ 11 กันยา ขึ้นนี่ ประธานาธิบดีบุช บอกว่าคนที่คิดไม่เหมือนกับเรา ก็คือ พวกผู้ก่อการร้าย คือ บินลาเดน ถ้าเขาไม่เห็นด้วยกับเราแสดงว่าเขาเป็นศัตรูกับเรา ความคิดแบบนี้ทำให้อเมริกาเข้าสู่สงครามยืดเยื้อในอัฟกานิสถาน ในอิรัก หรืออาจจะในปากีสถานด้วย ทีนี้ถ้าคนไทย หรือรัฐบาลมีความคิดว่า ถ้าใครไม่เห็นด้วยกับฉัน ก็เป็นศัตรูกับฉัน ถ้าไม่เห็นด้วยกับเสื้อเหลือง ก็กลายเป็นเสื้อแดง ถ้าไม่เห็นด้วยกับเสื้อแดง ก็เป็นเสื้อเหลือง ความคิดแบบนี้มันจะนำไปสู่ความแตกแยกที่ร้าวลึกมากขึ้น อย่าทำอย่างนั้น ถึงแม้ว่าเขาไม่ได้เห็นด้วยกับเรา เขาก็เป็นยังเพื่อนเรา สามารถอยู่ร่วมกันได้ อย่าคิดแบบบุช แต่ต้องคิดอย่างพระพุทธเจ้า คือว่า เห็นมนุษย์ทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เช่นเดียวกันกับเรา

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า พระองค์ทรงมีพระเมตตากับราหุล ซึ่งเป็นลูก มีเมตตากับราหุลเท่าเทียมกับพระเทวทัต พระเทวทัตนี่จ้องจะทำร้ายชีวิตพระองค์อยู่หลายครั้ง แต่พระองค์ก็ทรงมีความรักความเมตตาเสมอกันกับลูกของพระองค์ เราอาจจะทำไม่ได้เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า แต่เราเป็นชาวพุทธ เราต้องนำเอาพระกรุณาของพระพุทธเจ้ามาเป็นประทีปนำทาง ต้องระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงคำสอนของพระองค์ นึกถึงพระพุทธคุณ ที่ทำให้เกิดมหาบุรุษอย่างพระพุทธเจ้า

พระพุทธคุณนั้นคือปัญญา และกรุณา ปัญญาคือการมองมนุษย์ว่า เป็นเพื่อนร่วมทุกข์กับเรา ปัญญาคือการมองว่าศัตรูที่แท้ไม่ใช่มนุษย์ ไม่ใช่คนต่างสี แต่คือความโกรธ ความเกลียด คืออวิชชา ความโลภ ความเห็นแก่ตัว คือ ตัณหา มานะ ทิฐิ นี่คือปัญญา และถ้าเรามองแบบนี้ เราจะมีปัญญา มีเมตตา คือไม่เห็นคนที่คิดต่างจากเราเป็นศัตรู ไม่เห็นคนที่ทำร้ายเราเป็นศัตรู เพราะรู้ว่าเขาเองก็มีความทุกข์ มีความพลั้งพลาด มีความหลงผิดด้วย กรุณาจะทำให้เราสามารถที่จะร่วมมือกัน ผิดก็ว่าไปตามผิดนะ อาตมาไม่ว่าอะไร แต่ว่าจะทำให้เราให้อภัยกันมากขึ้น และถ้าเรามีปัญญาด้วย ก็จะนำไปสู่การขับเคลื่อนสังคมไทย การปฏิรูป ขจัดรากเหง้าของความรุนแรงและนำไปสู่ความหวัง

อาตมาเชื่อว่าเราต้องมีความหวัง เราต้องมีศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ เราต้องมีศรัทธาทุกคนที่เป็นคนไทย และตรงนี้จะนำพาเราฝ่าข้ามวิกฤติขณะนี้ไปได้ 


------------------------------

จาก เว็บ

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >