หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow เราจะอยู่กัน ต่อไปอย่างไร? : บทสัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 78 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

เราจะอยู่กัน ต่อไปอย่างไร? : บทสัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล พิมพ์
Wednesday, 11 August 2010

Interview June 2010
Interviewed By Varanyoo Intrakumhang
Photo By Suwat

‘เราจะอยู่กันต่อไปอย่างไร?'

บทสัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล
กับกรณีความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทย


-------------------------------------------------------


ในช่วงเวลาที่ท้องฟ้าของเมืองไทยยังดูหมองหม่น กลางวันคล้ายจะเป็นกลางคืนมืดมิดที่ไร้สิ้นแสงสว่าง ท่ามกลางความสูญเสียและความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงซ่อนตัวอยู่คล้ายกับสัตว์ร้ายบาดเจ็บที่อาจจะลุกขึ้นมากระโจนเข้าใส่ผู้คนได้ทุกเมื่อ

ในภาวะที่ยังมืดไปหมดทั้งแปดด้านซึ่งยังไม่มีใครในสังคมรู้ว่าเราจะหาทางออกจาก (หรือจะอยู่ใน) สภาวะแห่งความมืดมิดนี้ต่อไปได้อย่างไร มีประทีปดวงหนึ่งที่ยังคงเพียรพยายามส่องแสงสว่างพอให้มองเห็นอะไรได้บ้าง

เมื่อเอสไควร์บอกกับมิตรสหายของเราว่าจะได้มีโอกาสในการไปกราบนมัสการพร้อมทั้งสนทนากับพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล และหากต้องการพวกเขาก็สามารถติดตามไปด้วยเพื่อจะได้ร่วมด้วยช่วยกันซักถามถึงสิ่งที่พวกเราคนไทยทั้งประเทศกำลังกังวลใจกันอยู่

เราไม่ได้ถามเรื่องอะไรใหญ่โตกันมากนัก เพราะมีสื่อมวลชนอื่นๆ ที่ทำหน้าที่นั้นได้ดีอยู่แล้ว คำถามเล็กๆ ในวันนั้นเกิดจากกลุ่มคนที่พยายามจะอยู่ตรงกลาง บางคนอกหักจากการเลือกที่จะเชื่อมั่นในสันติวิธี บางคนมีปัญหาขัดแย้งกับคนใกล้ตัว บางคนพยายามหลีกหนีจากความจริงอันน่าเศร้า และไม่รู้ว่าควรจะทำตัวต่อไปอย่างไรดี

และต่อไปนี้คือบางคำถามจากบรรดาญาติโยม และคำตอบของพระอาจารย์ฯ ประกอบกับสิ่งที่เรารวบรวมมาประกอบไว้ในตอนท้าย--บางส่วนมาจากข้อของพระอาจารย์ และคำให้สัมภาษณ์ของท่านกับสื่ออื่นๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานก่อนหน้านั้น

เราได้แต่หวังว่าจะมีคนได้อ่านสิ่งที่พวกเรารวบรวมเอาไว้ในครั้งนี้ให้มากๆ ทั้งคนที่เป็นกลาง หรือสังกัดอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็แล้วแต่ และหากโชคดีสิ่งที่พวกเราพยายามทำกันอยู่อาจจะเป็นส่วนเล็กๆ ในการช่วยกันส่งต่อประทีปจากพระอาจารย์ไปสู่สังคมและประเทศของพวกเราให้สามารถออกจากความมืดมิดสู่แสงสว่างได้อีกครั้ง...

ญาติโยม - ในสถานการณ์เช่นนี้บางคนบอกว่าต้องมีสติ อย่าโกรธ อย่าเกลียด แต่ในทางปฏิบัติเราควรจะเริ่มจากไหนก่อน เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะหยุดความโกรธความเกลียดนั้นได้คะ

"เริ่มจากมุมมองก่อน คือถ้ามองว่าอีกฝ่ายหนึ่งเลวก็ยากที่จะจัดการกับความโกรธความเกลียดในใจได้ แต่ถ้าเรามองว่าถึงเขาจะเลวแต่เขาก็มีส่วนที่ดี เขาก็มีเหตุผลของเขา มีความจำเป็นที่จะต้องทำอย่างนั้นก็จะเกิดความเข้าใจ แล้วก็ต้องไม่มองแบบเหมารวมด้วย เช่น หากเรามองแค่ว่าผู้ชุมนุมถูกจัดจ้างมาหรือเป็นพวกเดียวกับทักษิณ ก็ต้องเกลียดเขาแน่นอน คือคนแบบนี้อาจจะมีอยู่จริง แต่ถ้าเรามองแบบแยกแยะว่า มีคนอีกจำนวนมากที่มาด้วยอุดมการณ์ เพื่อต้องการเรียกร้องสังคมที่ดีงามและเขาก็ไม่ได้รับจ้างมานะ บางคนมาก็เพราะว่ามีความเดือดร้อน เมื่อแยกแยะได้เช่นนี้ก็จะไม่มีความรู้สึกเกลียด แต่จะมีความเข้าใจ

ความเข้าใจในที่นี้อาตมาหมายความว่าเข้าใจที่มาที่ไปหรือเข้าใจความทุกข์ของเขา ถ้ามองแบบนี้แม้แต่คนที่มาทำร้ายหรือด่าเรา เราก็สามารถที่จะให้อภัยเขาได้ คนที่ก่อความรุนแรงกับใคร เขาอาจจะเป็นผู้ที่เคยถูกกระทำมาก่อนก็ได้ หากเรามองอย่างนี้ เราก็อาจจะรู้สึกเห็นใจแม่ที่ทิ้งลูกในถังขยะได้เสียด้วยซ้ำ เพราะว่าเขาถูกทิ้งจากผู้ชายที่ไม่รับเป็นพ่อของเด็กในท้อง แล้วเขาจะอยู่อย่างไร เขายังต้องเรียนหนังสือ แล้วมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนก็พร้อมที่จะคัดชื่อของเขาออกจากการเป็นนักศึกษาหรือนักเรียนด้วยถ้าเกิดท้องมีลูกขึ้นมา เขาก็เลยอยู่ในสภาพจนตรอก คิดออกแค่ว่าจะต้องเอาลูกไปทิ้ง อาตมาไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เขาทำถูกหรือดีนะ แต่สังคมหรือคนรอบข้างก็มีส่วนผลักดันให้เขาต้องทำเช่นนั้น ถ้าเรามองแบบนี้เราก็จะเห็นใจในความทุกข์ของเขา หรือเห็นใจที่เขาต้องทำอย่างนั้น แม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม เราจะไม่โทษเขาอย่างเดียว แต่จะมองไปที่ผู้อำนวยการโรงเรียนว่าทำไมถึงปิดทางเลือกให้กับเด็ก หรืออย่างน้อยก็ต้องตำหนิผู้ชายที่ไม่รับเป็นพ่อของเด็ก ถ้าเรามองแบบนี้เราก็จะเกลียดเขาไม่ลง"

ญาติโยม - แล้วกับคนที่มีความคิดสุดโต่ง ที่แม้ว่าเราพยายามจะชักจูงเขาให้หันกลับมามองอะไรให้รอบด้าน มันจะพอมีทางไหมคะ คือถ้าเขามองในแบบของเขาแล้วเขาแล้วคิดว่านั่นคือความจริงไปแล้ว

"นั่นเพราะเขามองชั้นเดียวไง เขามองว่าคนที่ทำแบบนี้คือคนเลว สมควรถูกประณามหรือลงโทษ นี่เป็นอันตรายของคนที่ยึดติดในศีลธรรมจนมองอะไรแบบชั้นเดียว เช่น มองว่าคนที่ทำแท้งหรือทิ้งลูกคือคนเลว แต่อาตมาคิดว่าคนสมัยก่อนเขาไม่ได้มองอะไรตื้นๆ อย่างนั้น เขาพร้อมที่จะเข้าใจคนที่ทำเช่นนั้น

ในต่างจังหวัดอาตมาเจอหลายคนที่ท้องไม่มีมีพ่อแล้วกลับไปบ้าน แต่คนที่บ้านก็ไม่ได้ประนามเขา เขาก็อยู่ได้อย่างมีความสุข แต่ในสังคมเมืองมันต่างกัน ใครที่อยู่ในสถานการณ์แบบนั้นก็อาจจะอยู่ไม่ได้ เพราะคนในเมืองได้ตัดสินเขาไปแล้วว่าเป็นคนเลว ตรงนี้เป็นเรื่องของการศึกษาซึ่งหล่อหลอมทำให้คนมองอะไรแบบชั้นเดียว ไม่สามารถมองให้ลึกลงไปกว่านั้นได้ เพราะตัดสินเขาไปล่วงหน้าเสียแล้ว การมองแบบนี้ทำให้สุดโต่งได้ง่าย เพราะจะมองอะไรเป็นขาวเป็นดำอยู่ตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่ความจริงมันเป็นสีเทาเสียเยอะ

ญาติโยม - อย่างนี้ก็หมายความว่าเราจะต้องปล่อยเขาไปตามยถากรรมใช่ไหมคะ?

"ก็ไม่เชิงนะ คืออาตมาเชื่อมั่นในความดีของคน ว่าคนเรามีความเมตตา กรุณา ขอเพียงแค่เขารู้เท่าทันอคติของตนก็จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น การที่ผู้คนที่คิดแบบนี้กันก็เพราะเขายังติดกับกรอบบางอย่าง แต่ถ้าเราให้โอกาส ให้ข้อเท็จจริงเขา ให้เขาได้สัมผัสกับคนจริงๆ เขาจะเข้าใจคนอื่นได้รอบด้านมากขึ้น ปกติเวลาเราอ่านข่าวเราก็รับรู้เขาแค่แง่เดียว แต่หากเราลองได้สัมผัสกับเขา ได้พูดคุยกับเขา ก็จะเห็นเขาในแง่อื่นด้วย คนในเมืองบางคนที่ไม่เคยพบปะพูดคุยกันคนเสื้อแดง จะรู้สึกเกลียดเขา แต่เมื่อได้คุยกับเขาจริงๆ ก็อาจจะเห็นว่าเขาก็มีมุมที่น่ารักไม่ต่างจากคนอื่นที่เรารู้จัก

เพื่อนๆ ของอาตมาที่ทำงานในเครือข่ายสันติวิธีได้มีโอกาสไปเยี่ยมทหารและนปช.ที่บาดเจ็บจากเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ฝ่ายทหารก็บอกว่าผมเข้าใจคนเสื้อแดง ผมให้อภัยเขา พอเราไปถามคนเสื้อแดงที่บาดเจ็บเขาก็พูดอย่างเดียวกันว่าไม่ได้โทษทหารที่ยิงเขา เพราะเขาทำหน้าที่ของเขา ถ้าจะโทษก็ต้องโทษผู้บังคับบัญชา

บางคนบอกด้วยซ้ำว่าตอนที่หลบแก๊สน้ำตาเข้าไปในซอย ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร พอควันจางทั้งนปช.และทหารก็เห็นว่าตัวเองมาหลบอยู่ที่เดียวกันแล้วก็หัวเราะ หลังจากนั้นก็วิ่งกลับไปที่ถนน แยกกันไปอยู่คนละฝ่ายแล้วสู้กันต่อ เขาบอกว่ามันตลกน่ะ คือเราไม่รู้จักกันแต่มาทำร้ายกันได้อย่างไร พอเราไปคุยกับเขาก็พบว่าคนเสื้อแดงเขาไม่ได้โหดร้ายเลยนะ ถึงแม้พวกนี้จะปาระเบิดขวด จะปาอิฐหนอน เข้าใส่ทหาร แต่เมื่อได้มารู้จักกับเขาในฐานะมนุษย์ โดยไม่ผ่านสื่อ ก็จะเห็นเขาว่าเป็นมนุษย์เหมือนเรา การมองคนผ่านสื่อหรือเห็นแค่สีเสื้อของเขา บางครั้งทำให้เรามองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา ก็เหมือนกับแม่ที่ทิ้งลูก เธอก็ไม่ใช่คนเลวร้ายอะไร ต่อพออ่านเรื่องของเธอผ่านสื่อ เราก็อดโกรธเกลียดเธอไม่ได้ ฆาตกรบางคนก็อาจจะไม่ได้เป็นคนเลวสนิทอย่างที่เราเข้าใจ เขามีบางอย่างที่น่าเห็นใจ คืออาตมาอยากจะให้คนเราสัมพันธ์กันอย่างมนุษย์ต่อมนุษย์ โดยไม่มีสีเสื้อหรือยี่ห้อเข้ามาขวางกั้น"

ESQ : แล้วในทางกลับกันล่ะครับพระอาจารย์ คือกรณีของคือผมกับเพื่อนๆ อีกหลายคน เรารู้สึกเจ็บปวดที่คนรู้จักของพวกเราเป็นผู้สนับสนุนให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามกับกลุ่มผู้ชุมนุม จนบางคนถึงขั้นรู้สึกโกรธ และเกลียด ผิดใจ และทำให้เกิดหมดศรัทธากับคนที่เราเคยรู้จักเพราะไม่นึกว่าเขาจะเป็นคนแบบนั้น

"คนที่สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงนั้น สาเหตุสำคัญน่าจะเป็นเพราะเขาได้ข้อมูลมาเพียงด้านเดียว คือด้านลบ อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่มองคนแบบเหมารวม คือไม่แยกแยะว่าเสื้อแดงมีความหลากหลายมากพอๆ กับเสื้อเหลือง อันนี้ยังไม่พูดถึงการถูกปลุกกระตุ้นโดยสื่อบางชนิด ทำให้โกรธเกลียด ขาดสติ ลุแก่โทสะได้ง่าย ที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือคนไทยมีแนวโน้มจะมองว่า ‘คนผิดมีสิทธิเป็นศูนย์' คือใครก็ตามที่ทำผิดก็สมควรตาย อย่างที่เรามักจะเห็นชาวบ้านรุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาฆ่าข่มขืนจนตายคาเท้า ทัศนะแบบนี้ทำให้คนจำนวนมากสนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับตน

อาตมาคิดว่าหากเราเข้าใจเหตุปัจจัยเหล่านี้ เราก็จะเข้าใจความรู้สึกของคนที่สนับสนุนความรุนแรงได้มากขึ้น อีกอย่างหนึ่งคืออยากให้มองว่าแม้คนเหล่านั้นจะมีข้อบกพร่องในเรื่องนี้ แต่เขาก็มีข้อดีอีกหลายอย่าง ถ้าเรามองเห็นด้านดีของเขา ก็จะโกรธเกลียดหรือสิ้นศรัทธาในตัวเขาน้อยลง"

ESQ : พระอาจารย์มีคำแนะนำอะไรให้กับคนที่ต้องอยู่ร่วมกับคนที่มีแนวคิดตรงข้ามกับตัวเองไหมครับ คือหมายถึงว่าทุกวันนี้มีคนจำนวนไม่น้อยที่คนใกล้ตัวกัน อย่างสามีภรรยา ญาติ พี่น้อง หรือเพื่อนๆ ต่างก็ผิดใจกันเพราะสถานการณ์ทางการเมือง

"คนที่คิดต่างจากเรา เขาเพียงแค่ต่างจากเราในบางแง่เท่านั้น แต่ในเรื่องอื่นเขากับเราก็คิดเหมือนกันสังเกตให้ดีคนที่เรามองว่าอยู่ตรงข้ามกับเรา มีแค่ไม่กี่เรื่องที่เขาคิดต่างจากเรา แต่มีหลายเรื่องมากที่เรากับเขาคิดเหมือนกัน เช่น เขากับเราคิดต่างกันในเรื่องเสื้อเหลืองเสื้อแดง แต่ถ้าเรื่องเชียร์บอลแล้วเรากับเขาอาจจะเชียร์แมนยูฯ เหมือนกัน เห็นใจเด็กกำพร้าเหมือนกัน ถ้ามีฝรั่งมาด่าเมืองไทย ดูหมิ่นพระพุทธรูป เรากับเขาก็คงจะย้ายมาอยู่ฝ่ายเดียวกัน ก็เหมือนกับสามีภรรยาที่อยู่บ้านเดียวกัน แม้จะเห็นต่างกันเกี่ยวกับคุณทักษิณ แต่มีอีกมากมายที่เหมือนกัน เช่น รักลูกคนเดียวกัน ชอบอาหารมังสวิรัติเหมือนกัน ชอบทะเลเหมือนกัน รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรมเหมือนกัน คือเราต้องมองให้รอบด้าน อย่าไปติดเพียงบางแง่ที่เรามองเห็นต่างกัน อาตมาพูดอยู่เสมอว่าคนเรานี่เหมือนกันอยู่ 95 อย่าง และต่างกันแค่เพียง 5 อย่างเท่านั้น แต่ทำไมเราจึงเอา 5 อย่างที่ต่างกันมาเป็นเครื่องกีดขวาง ทำให้เราเป็นศัตรูกันในเมื่อเราเหมือนกันตั้ง 95 อย่าง

ธรรมชาติของคนเราจะว่าไปก็แปลกนะ เรามักจะมองเห็นความต่างมากกว่าความเหมือน อาตมามีเพื่อนอเมริกันที่แต่งงานกับคนญี่ปุ่นและมีลูกสาวชื่ออรุณา เวลาอรุณาอยู่ญี่ปุ่น เพื่อนๆ ที่โรงเรียน ก็บอกว่าอรุณานี่เหมือนฝรั่ง แต่เวลาอรุณาไปที่บ้านของพ่อที่อเมริกา ญาติๆ ทางฝั่งพ่อก็จะมองว่าอรุณาเป็นคนญี่ปุ่น แต่มองไม่เห็นความเป็นอเมริกันของอรุณาเลย เขาเห็นแต่ความเป็นญี่ปุ่นของเธอ ส่วนคนญี่ปุ่นเองก็มองไม่เห็นความเป็นญี่ปุ่นของอรุณา นั่นเป็นเพราะอะไร เพราะธรรมชาติของคนเรามักจะจดจ่ออยู่กับความแตกต่างของคนอื่น

นี่เองเป็นเหตุให้เพื่อนและผัวเมียทะเลาะกัน เพราะจับจ้องแต่ความต่างและละเลยความเหมือน คนที่คิดแตกต่างกันอยู่ด้วยกันได้ เพราะเราเหมือนกันตั้งหลายอย่าง แล้วเราจะมาโกรธแค้นกันทำไม เพราะแม้แต่ตัวเราเองบางทียังเห็นไม่เหมือนกันเลย เช่น ตอนเช้าเห็นอย่าง ตอนกลางคืนก็ยังเห็นอีกอย่างแล้ว"

ญาติโยม - ผมอยากเรียนถามเรื่องการเห็นแก่ตัวครับ คือการที่เรานึกถึงตัวเอง พยายามจัดการความทุกข์โศกของตัวเอง เพราะเราอยากให้ตัวเองมีความสุข อย่างในสถานการณ์นี้ที่เราพยายามถอยตัวเองออกมา โดยไม่เสพสื่อ ไม่ดูข่าว เพราะไม่อยากอินไปกับสถานการณ์ที่จะทำให้เราเครียดหรือเป็นทุกข์ เราเห็นแก่ตัวไหมครับพระอาจารย์?

"ถ้าหากเรานึกถึงแต่ตัวเองโดยไม่คำนึงถึงคนอื่นเลย อันนี้เรียกว่าเห็นแก่ตัว เพราะอาจนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นซึ่งไม่ถูกต้อง แต่หากเรารู้สึกว่าตัวเองแบกรับความทุกข์ไม่ไหวแล้วจึงถอยออกมา อันนี้อาตมาคิดว่ามันไม่ใช่ความเห็นแก่ตัวนะ มันจะกลายเป็นความเห็นแก่ตัวก็ต่อเมื่อคุณถอยออกมาโดยนิ่งดูดายต่อความทุกข์ของผู้อื่น หรือทำให้เขาต้องเดือดร้อน แต่สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายอย่างตอนนี้ ถ้าคุณถอยออกมาเพราะคิดว่าตัวเองไม่ไหวแล้ว อาตมาไม่เรียกว่าเห็นแก่ตัว บางครั้งอาจจะจำเป็นด้วยซ้ำ เพราะถ้าเราปล่อยใจให้ทุกข์ เต็มไปด้วยความโกรธเกลียด เราอาจจะกลายเป็นตัวก่อปัญหาเสียเอง เพราะทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น ในทางตรงข้ามถ้าหากเราถอยออกมาตั้งสติ จนใจสงบแล้วค่อยออกไปช่วยเหลือผู้อื่น อันนี้จะดีกว่า อาตมาคิดว่าการถอยมาตั้งหลักนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เหมือนกับเวลาเราทำงานเหนื่อย เราขอกลับมาพักผ่อนเอาแรง อันนี้จะเรียกว่าเห็นแก่ตัวได้อย่างไร

จะว่าไปมันก็เปรียบเหมือนกับเรากำลังช่วยเหลือชาวบ้านอยู่แล้วเกิดปวดท้องขึ้นมาอย่างกระทันหัน เราจำเป็นต้องเข้าห้องน้ำเพื่อปลดทุกข์ การเข้าห้องน้ำไม่ได้ถือเป็นการเห็นแก่ตัว ถึงแม้ว่าเราจะต้องวางมือชั่วคราวก็ตาม เพราะถ้าไม่เข้าห้องน้ำจะเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าคุณอยู่แต่ในห้องน้ำแล้วเพลินอยู่ในนั้น ไม่สนใจจะไปช่วยเหลือใคร อย่างนี้ก็แสดงว่าเห็นแก่ตัวแล้ว เห็นคนอื่นเขาเดือดร้อนแล้วไม่ทำอะไรนั่นก็เห็นแก่ตัว

อาตมาพูดอยู่เสมอนะว่าคนเราต้องรักตัวเอง ซึ่งในที่นี้หมายความว่าเราควรพัฒนาตน สร้างความดีงามให้กับตน อย่าปล่อยให้กิเลสหรือความเห็นแก่ตัวมีอำนาจครองใจได้ เพราะถ้าเห็นแก่ตัวเมื่อใดเราไม่ได้รักตัวเองนะ เราเห็นแก่กิเลสต่างหาก คนที่เห็นแก่กิเลสไม่เรียกว่ารักตัวเอง เพราะปล่อยให้กิเลสมันทำร้ายเรา ถ้าเรารักตัวเองก็ต้องต่อสู้กับกิเลส กิเลสมันบอกให้เราเสพสุขเยอะๆ หรือเอาเปรียบคนอื่น เราก็อย่ายอม เพราะท้ายที่สุดมันก็จะทำให้เราเป็นทุกข์ เราจะไม่มีวันพ้นจากความทุกข์ได้ เราต้องออกไปช่วยเหลือผู้อื่น เพราะการช่วยเหลือผู้อื่นจะทำให้เราเห็นแก่ตัวน้อยลง ทำให้กิเลสครอบงำเราไม่ได้ เมื่อเราเอาชนะกิเลส ไม่เห็นแก่กิเลส เมื่อนั้นเราก็จะมีความสุข"

ญาติโยม - แล้วเราจะปรองดองกันได้อย่างไรคะ ในเมื่อยังไม่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์ เรายังไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด คืออาจจะไม่ใช่ถูกผิดก็ได้ค่ะ แต่แค่บอกว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ตามความเป็นจริง มันเหมือนกับว่าพอเกิดอะไรขึ้นก็ปรองดองกันเถอะ อะไรแบบนี้ พระอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร หรือว่าก็ต้องแห่แหนปรองดองกันไป

"ถ้ามองในระดับบุคคล การปรองดองหรือกลับมาคืนดีกันมันเป็นโอกาสที่เราจะหันกลับมาใคร่ครวญเหตุการณ์ในอดีตได้ ถ้าจะเอาถูกเอาผิดกันในขณะที่ยังทะเลาะกันอยู่ มันไม่มีวันจบ เพราะอย่าว่าแต่ใครเลย แม้กระทั่งพี่ น้อง สามี ภรรยา ถ้าจะเอาถูกเอาผิดมันก็ไม่จบ แต่ถ้าเราคิดว่าที่ผิดก็แล้วกันไป เรากลับมาเริ่มต้นกันใหม่ กลับมาเป็นมิตรที่ดีต่อกันเหมือนเดิม ถึงตอนนี้เมื่อเรามองย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ในอดีต เราก็จะคุยกันรู้เรื่องมากขึ้น พอกลับมาคืนดีกันทุกคนก็จะเห็นเลยว่าตัวเองก็มีส่วนผิด แต่ตอนที่ทะเลาะกันนี่ไม่มีใครเห็นความผิดของตัวเองกันเลยนะ เห็นแต่คนอื่นผิดอย่างเดียว เมื่อมาปรองดองกัน พอบรรยากาศคลี่คลาย ก็จะเห็นความจริงด้วยใจที่เป็นกลางมากขึ้น จะทำให้เกิดการปรับปรุงตนเอง ไม่ทำความผิดซ้ำสอง

อาตมาว่าการปรองดองมันดีตรงนี้ นะ คือเป็นจุดเริ่มต้นของการสรุปบทเรียน และมองบทเรียนอย่างรอบด้าน แต่ถ้าไม่ปรองดองกันก็ไม่มีทางสรุปบทเรียนได้เลย มีแต่จะชี้นิ้วกล่าวโทษกัน ถ้าเราไม่กลับมามองเห็นความบกพร่องของตนเอง เอาแต่โทษคนอื่น มันก็ไม่จบ นี่อาตมามองในระดับบุคคลนะ

ส่วนในระดับสังคมอาตมาคิดว่ามันก็น่าจะเป็นอย่างนั้นได้นะ เพียงแต่ว่ามันยากกว่า อาตมาอยากให้สังคมไทยเดินทางมาถึงจุดที่เรามีวุฒิภาวะมากพอในระดับที่ทั้งสองฝ่ายสามารถหันกลับมามองตัวเองว่าได้ทำอะไรที่ผิดพลาดแล้วพยายามแก้ไขไม่ ให้ผิดพลาดซ้ำสอง ไม่ใช่ว่าปรองดองแล้วทำลืมนะ คนไทยมักจะพูดว่าเหตุการณ์ร้ายๆ นี่ถ้าเจ็บแล้วก็ให้ลืม แต่อาตมาเชื่อคนเราสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตได้ เช่นเดียวกับผู้ที่ถูกทำร้าย เมื่อนึกย้อนถึงเหตุการณ์ที่ถูกทำร้ายแล้ว ไม่รู้สึกเจ็บปวดคับแค้นใจอีก นั่นเป็นเพราะเขาสามารถให้อภัยคนที่ทำร้ายเขาได้ เขายังไม่ลืมเหตุการณ์นั้นแต่ก็ไม่เจ็บปวดแล้ว เพราะมีการคืนดีกัน"

ญาติโยม - มันน่าจะเป็นกระบวนการที่ยาวนาน

"เราต้องรู้จักถอนพิษความทรงจำ อย่างไรก็ตามสังคมไทยตอนนี้ การเยียวยาที่ได้ผลที่สุดคือต้องกลับมาจัดการกับโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมซึ่งมีปัญหามาก มันผลิตซ้ำความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับผู้คนมาโดยตลอดไม่จบไม่สิ้น จริงอยู่ คนรุ่นปู่รุ่นพ่ออาจะปล่อยวางทำใจได้ แต่พอถึงคนรุ่นลูกก็กลับรู้สึกเจ็บแค้นอีก เพราะสังคมยังไม่มีความยุติธรรม มันมีความเหลื่อมล้ำมาก ทำให้เกิดการเผชิญหน้าต่อสู้กันไม่จบไม่สิ้น

สามสิบกว่าปีก่อนคนที่เจ็บแค้นจากเจ้าหน้าที่เขาก็เข้าป่าจับอาวุธ เป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ถ้าเป็นสมัยนี้จะทำอย่างไร ก็ไปเป็นแนวร่วมกับคนเสื้อแดง ถ้าเป็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาทำอย่างไร ก็ไปเป็นแนวร่วมกับขบวนการ BRN หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดน ถ้าเราไม่แก้ปัญหานี้ ถึงแม้หมดนปช. ไม่นานก็มีกลุ่มอื่นเกิดขึ้นใหม่ ตัวละครหรือผู้เล่นก็แค่เปลี่ยนหน้าไป แต่เรื่องราวก็ยังคล้ายเดิมอยู่ คือสู้กันในเมือง ในป่า บนท้องถนน วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ สามสิบกว่าปีแล้วนะที่พล็อตแบบนี้ไม่เปลี่ยนไปเลย เพราะเราไม่ได้แก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง"

ESQ : ถ้าหากว่าธรรมมะข้อใดที่จะช่วยได้ในสถานการณ์นี้ พระอาจารย์คิดว่ามีธรรมมะข้อใดที่นปช. และรัฐบาลน่าจะนำไปใช้

"ธรรมะข้อเดียวที่อยากให้รัฐบาลกับนปช.เอาไปใช้ในตอนนี้ คือพุทธภาษิตที่ว่า "พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะความชั่วด้วยความดี พึงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนพูดเท็จด้วยคำสัตย์" เพราะตอนนี้ทั้งสองฝ่ายมีทั้งความโกรธเกลียด มีการแก้แค้นกัน ปล่อยข่าวลือสารพัด ตอนนี้อยู่ในแทรคเดียวกันทั้งสองฝ่ายเลยนะ คือตาต่อตาฟันต่อฟัน ใครเลวมาก็เลวไป แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะทำอะไรได้แนบเนียนกว่า

แต่สำหรับฝ่ายรัฐบาลอาตมาอยากให้นึกถึงธรรมะอีกหมวดหนึ่งคือสาราณียธรรม 6 ประการ อันได้แก่ เมตตามโนกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตากายกรรม คือเมตตาทั้งในด้านความคิด วาจา และการกระทำ จากนั้นก็จัดให้มีสาธารณโภคี หมายถึงการแบ่งปันทรัพยากรสาธารณะหรือผลประโยชน์ของแผ่นดินให้เท่าเทียมหรือทั่วถึง อีก ๒ ข้อสุดท้ายคือสีลสามัญญตา และทิฏฐิสามัญญตา คือมีความประพฤติที่ดีงามซื่อสัตย์สุจริต และมีความเห็นร่วมกันในหลักการที่ดีงาม ถ้ารัฐบาลทำทั้ง ๖ ประการให้เกิดขึ้นได้ในบ้านเมือง ผู้คนก็จะเกิดความความปรองดอง อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข จริงอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ผู้คนย่อมคิดแตกต่างกัน แต่ถ้าคนไทยสามารถมองไปในทิศทางเดียวกัน เช่น เห็นถึงความจำเป็นต้องปฏิรูปประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สร้างความเป็นธรรมในสังคม ความสงบสุขก็จะเกิดขึ้น นี่เป็นเรื่องที่อยากฝากให้รัฐบาลและคนไทยทุกคนช่วยกันผลักดัน เพราะถ้าไม่ผลักดันคนไทยก็ต้องตีกันต่อไปอีกในอนาคต"

-------------------------------------------------------

What Phra Paisan Has Learned
(ปรับและรวบรวมมาจากข้อเขียนบางตอนของท่านเอง และบทสัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ ในช่วงเวลาไม่นานมานี้ ขออภัยที่ไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้ครับ)

+ วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง...ได้ปลุกเร้าให้ผู้คนเป็นปฏิปักษ์ต่อ กัน เพียงเพราะมีความแตกต่างทางความเชื่อ ศาสนา อุดมการณ์ ชาติพันธุ์ รวมทั้งสถานะทางสังคม ความกลัวและความหวาดระแวงทำให้มองผู้ที่คิดต่างจากตนเป็นศัตรู ทุกวันนี้การแบ่งฝักฝ่ายขยายตัวจนกระทั่งมองเห็นคนที่ใส่เสื้อคนละสีกับตน เป็นคนเลว เพราะปักใจเชื่อล่วงหน้าเอาไว้แล้วว่ามีแต่คนเลว ไม่รักชาติ เหยียดหยามประชาชน อกตัญญูต่อสถาบันเท่านั้นที่สวมใส่เสื้อสีนั้น ๆ หรือสมาทานความเชื่อทางการเมืองที่ผูกติดกับสีนั้น ต่างฝ่ายต่างติดป้ายติดฉลากให้แก่กันจนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและ กัน ผลก็คือพร้อมที่จะห้ำหั่นประหัตประหารกัน

+ หากวัฒนธรรมแห่งความละโมบ...แวดล้อมอยู่ที่คำว่า กิน กาม เกียรติ วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง ก็รวมศูนย์อยู่ที่คำว่า โกรธ เกลียด กลัว ทั้ง ๖ ก.นี้กำลังบ่อนทำลายสังคมไทยและกัดกินจิตวิญญาณของผู้คนอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในสภาพเช่นนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันเสริมสร้างพลังทางจิตวิญญาณให้แก่ผู้คน

+ โทษของความยึดติดถือมั่นในอุดมการณ์...นอกจากทำให้จิตใจคับแคบแล้ว ยังทำให้เกิดทิฏฐิมานะหนาแน่น จนอัตตาครองใจ ไม่เพียงทำให้ตนมีความทุกข์เท่านั้น หากยังสามารถก่อความทุกข์นานัปการแก่ผู้อื่น

+ อยากให้คนไทยรับรู้ความทุกข์ของกันและกัน...ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ ตาม นี่เป็นเวลาที่เราควรเปิดใจ เมื่อเราเข้าใจความเจ็บปวด ความสูญเสีย อาตมาก็เชื่อว่า ตอนนี้ต้องตระหนักว่า การเข้าใจถึงความเจ็บปวด ความสูญเสียของกันและกันเป็นเรื่องสำคัญ พยายามหลีกเลี่ยงการเพ่งโทษ การกล่าวโจมตี หรือทับถมซึ่งกันและกัน อาตมาไม่ได้หมายความถึงเรื่องความผิด แล้วเราจะมองข้ามไป ไม่ใช่ อะไรที่ทำผิดกฎหมายบ้านเมืองก็ว่ากันไป

+ ความรุนแรงไม่เคยเป็นคุณกับใคร...ชัยชนะด้วยวิธีรุนแรงมักลงเอย ด้วยความพ่ายแพ้ในที่สุด

+ ปัญญาทำให้เห็นว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน...คนที่เกลียดโกรธกัน วันนี้ พรุ่งนี้อาจรักกัน คนที่เคยเข่นฆ่ากันเมื่อ 30 ปีที่แล้ว 6 ตุลา 19 ฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐ อีกฝ่ายคอมมิวนิสต์ วันนี้อยู่พรรคการเมืองเดียวกัน ถ้าเรามีปัญญาเห็นความจริงในมุมที่กว้างไกล รู้เท่าทัน ก็จะรู้ว่าจะเข่นฆ่ากันไปทำไม

+ คนไทยเราเคยผ่านเหตุการณ์ย่ำแย่อย่างนี้มาก่อน...อาตมาเคยผ่าน เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ซึ่งผู้คนรู้สึกว่าบ้านเมืองย่ำแย่เหลือเกิน หมดศรัทธาในมนุษย์ แต่ในที่สุดเราก็ผ่านพ้นมาได้ จึงอยากให้มีความหวัง เมื่อมีความหวังก็สามารถเกิดพลังสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามได้

+ คนเราชอบหลงลืมและทำซ้ำรอยอดีต...ไม่ถึง 20 ปีมีพฤษภาทมิฬ ไม่กี่ปีมีเหตุการณ์ 10 เมษา ถ้าเรามีทัศนะที่กว้างไกลเชิงประวัติศาสตร์ ก็เริ่มอนาคตที่สดใสได้

+ อย่าจมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือผ่านมาแล้ว เพราะจะไม่มีพลังทำอะไร เราสามารถเปลี่ยนความสูญเสียให้ดีขึ้นได้

+ หากปรารถนาสังคมที่สงบสุข...ก็จำเป็นต้องขับเคลื่อนให้มีการ เปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเสมอภาค ยุติธรรม และเป็นประชาธิปไตย แต่การเปลี่ยนแปลงสังคมมิได้มีแต่มิติด้านการเมืองเศรษฐกิจเท่านั้น มิติทางจิตวิญญาณก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

+ อยากให้พวกเราแผ่เมตตาแก่ผู้สูญเสีย...ไม่ว่านปช.หรือผู้บริสุทธิ์ พวกเขาทุกคนมีครอบครัว มีคนรัก เขาก็ก็รักชาติเหมือนเรา ฉะนั้นการที่เขาสูญเสียชีวิต จึงนับว่าเป็นความสูญเสียของคนไทยด้วยกัน ว่าที่จริงแล้วเหตุการณ์เมื่อวานนี้ทุกคนเป็นฝ่ายสูญเสียหมด ไม่มีใครเป็นผู้ชนะ เป็นผู้พ่ายแพ้กันหมด

+ ยังไม่สายที่เราจะมาตั้งหลักกันใหม่...ความสูญเสียเมื่อวานนี้แม้ จะมาก แต่ก็ยังมีโอกาสสูญเสียมากกว่านี้อีก แต่หากเราตั้งสติ เก็บเกี่ยวบทเรียน ทบทวนตัวเอง อย่าไปเพ่งโทษผู้อื่นหรือคิดแต่จะแก้แค้น เราก็จะมีทางหันหน้าเข้าหากัน และทิ้งความสูญเสียไว้เบื้องหลัง หรือไม่มีความสูญเสียมากไปกว่านี้ อาตมาคิดว่าวันนี้คือจุดเริ่มต้นที่เราจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไป


------------------------------

จาก เว็บ

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >