หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow ข่าวร้ายที่เงียบสนิท : ปกรณ์ พึ่งเนตร
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 94 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

ข่าวร้ายที่เงียบสนิท : ปกรณ์ พึ่งเนตร พิมพ์
Wednesday, 11 November 2009

ข่าวร้ายที่เงียบสนิท

โดย : ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

 

อายุของข่าวเฉลี่ยคือ 1 วัน หรือมากกว่านั้นกรณีข่าวใหญ่ เช่นเดียวกับใบไม้ร่วงรายวันในจังหวัดชายแดนใต้ ที่สลดใจไม่กี่วัน ก่อนจะเงียบหาย

เหตุการณ์สังหารโหดครูไทยพุทธ ซึ่งกำลังตั้งครรภ์ได้ 8 เดือน ที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ตามด้วยเหตุการณ์สังหารหมู่ 10 ศพถึงในมัสยิด ที่บ้านไอปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จังหวัดเดียวกัน และเหตุการณ์กราดยิงพระภิกษุมรณภาพ 1 รูป ที่ จ.ยะลา ในอีกไม่กี่วันถัดมา กระตุกสังคมไทยให้ตื่นขึ้นมาตระหนกกับไฟใต้ที่คุโชนรอบใหม่ หลังจากที่ข่าวร้ายจากปลายด้ามขวานเงียบหายไประยะหนึ่ง

หลายคนประเมินว่า ความพยายามจุดชนวน "สงครามศาสนา" ได้เกิดขึ้นแล้ว!

แม้ พล.ท.กสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (ผบ.พตท.) ซึ่งรับผิดชอบหน่วยกำลังทั้งหมดในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะยืนยันอย่างหนักแน่นว่า สถานการณ์ที่แท้จริงยังไม่บานปลายถึงขนาดนั้น

แต่สิ่งหนึ่งที่ ผบ.พตท.ไม่อาจปฏิเสธก็คือ ความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจกันระหว่างพี่น้องไทยพุทธกับมุสลิม ที่ปรากฏเค้าลางมานานปี ถึงวันนี้ได้ขยายเป็นรอยปริร้าวในระดับชุมชนที่รุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ปลายทางที่ไอปาแย

หลังเกิดเหตุการณ์คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธสงครามบุกยิงพี่น้องไทยมุสลิมขณะกำลังละหมาดอยู่ในมัสยิดบ้านไอปาแย เมื่อค่ำวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา นับจากวันนั้นถนนทุกสายก็มุ่งสู่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้

ผู้คนจากทุกสารทิศ โดยเฉพาะตัวแทนจากรัฐบาล รัฐสภา และส่วนราชการ หนุนเนื่องไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านไม่เว้นแต่ละวัน ถึงขั้นที่ชาวบ้านต้องตั้งเต็นท์ขนาดย่อม 2 หลัง เอาไว้หน้ามัสยิดเพื่อต้อนรับผู้มาเยือน

แม้ปรากฏการณ์ "ตามแห่ช่วยเหลือ" จะเคยเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ในสังคมไทย แต่พฤติการณ์ลักษณะนี้ที่ปลายด้ามขวานดูจะไม่สร้างความประทับใจให้แก่ชาวบ้านมากนัก หลายคนบ่นว่าต้องมาคอยต้อนรับคนจากกรุงเทพฯ ทำให้ไม่ได้กรีดยาง ทำงานอื่นไม่ได้เลย

"ตอนไม่มีเหตุไม่มีใครเคยมา แบบนี้จะให้ชาวบ้านคิดอย่างไร" ผู้เฒ่าเครายาวสวมหมวกกะปิเยาะห์ กล่าวไว้ให้คิด

ที่สำคัญ...ร่องรอยความหวาดระแวง หวาดภัย ยังปรากฏบนใบหน้าของชาวบ้านทุกคน แม้ในยามที่ถูกเกณฑ์มานั่งในเต็นท์ และคอยตอบคำถามซ้ำๆ ของผู้มาเยือน

ความจริงต่างมุม

เส้นทางสู่ไอปาแยเป็นถนนสายแคบและเปลี่ยว หมู่บ้านแห่งนี้อยู่ระหว่างตัวอำเภอเจาะไอร้อง กับ ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส

ที่ดุซงญอ เคยเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างชาวบ้านหลายร้อยคนกับเจ้าหน้าที่รัฐจนบาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่ายเมื่อปี 2491 ซึ่งต่อมาฝ่ายรัฐเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์อธิบายเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่าเป็น "กบฏดุซงญอ"

ห่างจากมัสยิดบ้านไอปาแยราว 1 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสัมพันธ์วิทยา โรงเรียนที่ มะแซ อุเซ็ง เคยสอน

มะแซ อุเซ็ง คือผู้ที่ฝ่ายความมั่นคงระบุว่าเป็นแกนนำขบวนการก่อความไม่สงบ และเป็นผู้นำในการก่อเหตุปล้นปืน 413 กระบอกจากค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 ต.ปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง เมื่อต้นปี พ.ศ.2547 โดยค่ายปิเหล็งอยู่ห่างจากจุดนี้ไม่กี่สิบกิโล

เมื่อมัสยิดที่เกิดเหตุรายล้อมไปด้วยสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของการต่อต้านรัฐไทยในการรับรู้ของรัฐ จึงไม่แปลกที่รัฐจะสรุปว่าเหตุการณ์ยิงคนขณะละหมาดคือการสร้างสถานการณ์ของฝ่ายก่อความไม่สงบเอง เพื่อยกระดับสถานการณ์ให้ใหญ่โตน่ากลัว และป้ายสีรัฐว่ากำลังรุกรานพี่น้องมุสลิมถึงในศาสนสถาน

หลังเกิดเหตุใหม่ๆ มีนักวิชาการในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันผันตัวเองมาสู่เวทีการเมือง ตั้งข้อสังเกตว่า ถนนเล็กๆ ในป่าด้านหลังมัสยิดคือเส้นทางที่คนร้ายใช้บุกเข้ามากราดยิงและหลบหนี ปลายทางคดเคี้ยวผ่านป่ายางสายนี้เป็นที่ตั้งของ "แคมป์" แห่งหนึ่ง

แม้คนเล่าไม่ได้บอกชัดว่าเป็นแคมป์อะไร แต่ก็สื่อเป็นนัยๆ ว่า น่าจะเป็นแคมป์ของเจ้าหน้าที่ หรือกลุ่มพี่น้องไทยพุทธติดอาวุธซึ่งได้รับการจัดตั้งจากรัฐ

แต่นายทหารวัยกลางคนจาก พล.ร.15 ที่ดวงตาแดงช้ำคล้ายอดนอนมานานหลายคืน ให้ข้อมูลที่ต่างออกไปว่า คนที่เข้าออกโดยใช้เส้นทางนี้ต้องชำนาญพื้นที่อย่างมาก เพราะต้นไม้เล็กๆ ที่แน่นขนัดอยู่ตลอดสองข้างทางไม่มีหักราบเลยแม้แต่ต้นเดียว

"ปลายทางไม่มีฐานทหาร เอาที่ไหนมาพูด ถนนสายนี้ออกไปเชื่อมกับอีกหมู่บ้านหนึ่ง ถ้าใช้ถนนใหญ่ต้องอ้อมเป็นกิโล แต่ถ้าใช้ทางในป่าจะย่นระยะทางได้เยอะ แถวนี้ไม่มีคนแปลกหน้าผ่านเข้ามาหรอก ผมอยู่ในพื้นที่มาหลายปี เดินตอนกลางคืนยังหลง ถ้าตอนกลางวันพอไหว คนไทยพุทธที่บางครั้งมายิงกระรอกก็ยังหลงทางอยู่บ่อยๆ"

ในฐานะเป็นทหารในพื้นที่ เขายอมรับว่าข่าวที่บอกว่าคนไทยพุทธคือผู้ก่อเหตุที่ไอปาแยไม่ใช่แค่ข่าวลือ แต่เป็นความเชื่อของคนส่วนใหญ่ที่นี่

"ผมคุยเปิดใจกับชาวบ้าน เขาก็กล้าพูดตรงๆ นะ บอกว่าคนพุทธทำ แต่ผมบอกได้เลยว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะคนพุทธในพื้นที่แค่ดูแลตัวเองก็จะแย่อยู่แล้ว ในเจาะไอร้องมีชุมชนพุทธอยู่ไม่กี่ชุมชน ที่ใกล้ไอปาแยที่สุดคือชุมชนวัดเจาะไอร้อง อีกที่คือปิเหล็ง แต่ก็ไกลออกไปเยอะ นอกนั้นก็คือบ้านป่าไผ่ แต่ขึ้นกับ อ.ระแงะ ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือคนในหมู่บ้านนั่นแหละพาคนนอกเข้ามายิง"

นายทหารคนเดิม บอกด้วยว่า พื้นที่นี้ไม่เคยเกิดเหตุรุนแรงเลย มีเพียงครั้งเดียวคือเหตุซุ่มยิงชุดลาดตระเวนเมื่อปี 2549 แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเป็นหมู่บ้านสันติสุข

"เขาไม่ทำในบ้านตัวเอง" นายทหารหนุ่มใหญ่อธิบาย "พื้นที่นี้เป็นคนของเขาหมด ทหารขยับไปไหนเขารู้ทันที เวลาเราจะเข้าปิดล้อมตรวจค้น แค่ผ่านปากทางก็โทร.บอกกันเรียบร้อยแล้ว เราไม่เคยตามจับใครได้ ทั้งๆ ที่เหตุร้ายเกิดมากในพื้นที่รอบๆ ตรงนี้ นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ยืนยันว่าเหตุยิงในมัสยิดไม่ใช่ฝีมือทหารแน่นอน"

วงล้อมความรุนแรง

บ้านป่าไผ่ที่ทหารพูดถึง แม้จะอยู่อีกอำเภอหนึ่งคือ อ.ระแงะ แต่ก็เป็นเขตติดต่อกับไอปาแย โดยเฉพาะหากใช้เส้นทางในป่ายาง...

บ้านป่าไผ่ที่ว่านี้คือส่วนหนึ่งของ "ทฤษฎีล้างแค้น" ในหมู่คน ที่เชื่อว่าเหตุการณ์ยิงในมัสยิดเป็นฝีมือคนไทยพุทธ เพราะช่วงเช้ามืดวันที่ 8 มิถุนายน มีชาวไทยพุทธถูกยิงเสียชีวิตอย่างอนาถคาสวนยางพาราที่บ้านป่าไผ่ และหลังจากนั้นอีกสิบกว่าชั่วโมงก็มีมือมืดบุกสังหารหมู่พี่น้องมุสลิม

แต่บ้านป่าไผ่ไม่ใช่หมู่บ้านของพี่น้องไทยพุทธที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุ เพียงแต่เป็นที่ตั้งของสวนยางพาราที่คนไทยอีสานจากหมู่บ้านน็อคดาวน์ของทางราชการไปรับจ้างกรีดยางอยู่เท่านั้น

หมู่บ้านน็อคดาวน์อยู่ในพื้นที่บ้านไอปาเซ เป็นหมู่บ้านจัดตั้งที่พาคนอีสานยากจนไร้ที่ดินทำกินมาอยู่อาศัย โดยทางราชการมอบสวนยางและปลูกบ้านให้ทุกครอบครัว ทั้งหมู่บ้านมีอยู่ 19 ครอบครัวเท่านั้น

ทั้งบ้านป่าไผ่ และไอปาเซ อยู่ในท้องที่ ต.ตันหยงลิมอ ที่เคยเกิดเหตุสังหารโหดสองนาวิกโยธินเมื่อปลายปี 2548 ทุกพื้นที่ดูจะมีประวัติศาสตร์ความรุนแรงกำกับอยู่ทั้งสิ้น...

เส้นทางสู่บ้านไอปาเซเงียบสงัด แม้เวลากลางวัน หน้าหมู่บ้านมีป้อมรักษาการณ์พร้อม ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) และอาวุธครบมือ

ที่บ้านหลังเกือบสุดท้าย จิราภรณ์ คำขึ้น ภรรยาของ นายช่วย นาดี หนุ่มวัย 37 ปี ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตที่บ้านป่าไผ่ กำลังกระเตงลูกชาย 2 คน ลงบันไดมายังใต้ถุนบ้านน็อคดาวน์ที่ปลูกสร้างอย่างง่ายๆ กลางสวนยางทึบทะมึน

"ฉันกับเพื่อนบ้านอีก 18 ครอบครัวจะไปทำอะไรใครได้ ไม่น่าจะไปพูดออกข่าวซ้ำเติมครอบครัวฉันเลย" จิราภรณ์ เอ่ยขึ้นอย่างอัดอั้น เมื่อถูกถามถึงข่าวลือเรื่องไทยพุทธยิงมัสยิด โดยมีสาเหตุมาจากการเสียชีวิตของสามีเธอ

"ลูกชายคนเล็กยังไม่รู้ความ เขาไม่รู้ว่าพ่อตายแล้ว ยังถามตลอดว่าทำไมพ่อนอนหลับนาน พ่อจะตื่นตอนไหน ฉันตอบลูกได้เพียงว่าพ่อไปอยู่ที่สบายแล้ว" เธอบอกพร้อมกับร้องไห้ออกมา

เพชรสมบัติ หอมแม้น เพื่อนบ้านของจิราภรณ์ ซึ่งสะพายปืนลูกซองเกือบตลอดเวลา บอกว่า พอมีข่าวพวกไทยพุทธไปแก้แค้น ยิ่งสร้างความไม่สบายใจให้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้าน เดิมคนมุสลิมที่รู้จักกันและทักทายกันเป็นประจำเวลาไปกรีดยางหรือไปเจอกันระหว่างทาง ทุกวันนี้รอยยิ้มจากคนเหล่านั้นหายไปหมดเลย เหมือนกับเชื่อข่าวที่ออกมา

"เราจะเอากำลังที่ไหนไปทำอย่างนั้น หลังจากนายช่วยตาย ก็นำศพไปตั้งสวดที่วัด ในหมู่บ้านน็อคดาวน์มีผู้ชายเหลืออยู่ 18 คน ก็ไปอยู่กันที่งานศพของนายช่วย แล้วในหมู่บ้านมีปืนลูกซองที่ทางการให้ไว้เพียงไม่กี่กระบอก แล้วจะเอาเอ็ม 16 ที่ไหนไปถล่มมัสยิด ปืนนี่ก็ใช้กันไม่ค่อยเป็น เพราะเวลาจะซ้อมยิงกันที คนมุสลิมที่อยู่ใกล้ๆ เขาก็มาห้าม บอกว่ากลัวเสียงปืน"

ถนนสายมรณะ

จากบ้านไอปาเซ ลัดเลาะไปตามถนนสองช่องจราจรเลียบทางรถไฟ จะผ่านบ้านตันหยงลิมอ และศาลาประชาคมจุดเกิดเหตุสังหารสองนาวิกโยธินเมื่อหลายปีก่อน ถัดจากนั้นไม่ไกลจะเข้าเขตบ้านป่าไผ่ จุดที่นายช่วยมากรีดยางเป็นครั้งสุดท้าย

ตลอดเส้นทางมีแยกเล็กๆ หลายแยก มีอยู่แยกหนึ่งทะลุไปออกถนนใหญ่ทางที่จะไป อ.สุไหงปาดี และ อ.สุไหงโก-ลก แน่นอนว่าถนนสายใหญ่ย่อมปลอดภัยกว่าสายเลียบทางรถไฟ แต่การจะไปถึงตรงนั้นต้องผ่านถนนเส้นทางเปลี่ยวที่เรียกกันว่า "สายมรณะ" คือถนนสายบ้านตอหลัง-ตันหยงลิมอ

บ้านตอหลังมีวัดและชุมชนไทยพุทธขนาดใหญ่ หนึ่งในนั้นคือบ้านของ ครูอัจฉราพร เทพษร ครูท้อง 8 เดือน ที่ถูกสังหารโหดคารถปิกอัพขณะเดินทางกลับบ้านเมื่อต้นเดือนมิถุนายน

ก่อนถึงบ้านครูอัจฉราพร คนพุทธกลุ่มใหญ่เป็นผู้หญิงล้วนหลากวัยกำลังจับกลุ่มกันอยู่ คำถามแรกที่ถูกถามก่อนจะเริ่มพูดคุยก็คือ ในหมู่ของพวกเรา (ทีมงานจุดประกาย) มีมุสลิมมาด้วยหรือเปล่า...พอบอกว่าไม่มี ทุกอย่างก็พรั่งพรู

"เครียดไปหมด ปวดหัวไปหมด ไปไหนไม่ได้เลย ไปคนเดียวก็ไม่กล้า ไปเป็นกลุ่มยังไม่ค่อยจะกล้า จะอยู่กันไม่ไหวแล้ว" หญิงร่างท้วมคนหนึ่งพูดขึ้นด้วยน้ำเสียงอัดอั้น น้ำตาคลอ

ที่บ้านครูอัจฉราพร ป้าบุญพา เทพษร วัย 63 ปี ซึ่งมีศักดิ์เป็นยาย กำลังนั่งอย่างหมดอาลัยตายอยากอยู่หน้าบ้าน เธอเล่าว่าลูกชายเป็นสมาชิก อบต.ตันหยงลิมอ แต่ อบต.นี้ถูกยิงกันไปหลายคนแล้ว แม้แต่ปลัดยังถูกยิง ทุกวันจึงได้แต่นั่งผวา เครียดและกลัวไปหมดทุกอย่าง

ถนนที่ผ่านหน้าบ้านครูอัจฉราพร ชาวบ้านเรียกกันเองว่า "ถนนสายมรณะ" เพราะเกิดเหตุร้ายกับผู้ที่สัญจรผ่านไปมาบ่อยมากตั้งแต่ปี 2547 เมื่อครั้งที่ข่าวคราวจากแดนใต้ไม่โด่งดังเช่นทุกวันนี้ กระทั่งมีคนรู้จักถนนสายนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์สังหารสองนาวิกโยธิน

ป้าสมบูรณ์ เทพษร วัย 62 ปี แม่สามีของคุณครูอัจฉราพร เล่าว่า การเสียชีวิตของลูกสะใภ้กระทบกับอีกหลายชีวิต ไม่นับชีวิตน้อยๆ ในครรภ์ ก็ยังมีชีวิตพ่อแม่ของครูที่ป่วยหนัก เป็นอัมพาต ซึ่งครูอัจฉราพรกับน้องๆ กัดฟันส่งเสียดูแลอยู่ แม้จะมีรายได้น้อยนิดต่อเดือน

แต่ที่หนักหนาสาหัสยิ่งกว่าดูจะเป็นชีวิตของป้าสมบูรณ์เอง...

"ลูกสะใภ้คนนี้เป็นคนที่ 4 แล้วที่ต้องเสียไป ครอบครัวป้าเสียไปแล้วถึง 3 คน ตั้งแต่ปี 2547 คือหลานที่ทำงานแบงก์ ถัดมาอีกปีน้องชายสองคนก็ถูกยิงตอนไปกรีดยาง ครูอัจฉราพรคือคนที่ 4 ถ้านับหลานในท้องด้วยก็คือคนที่ 5"

สุขสงบอยู่ที่ใจ

อันตรายที่แฝงตัวอยู่ทุกหย่อมหญ้าโดยที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่สามารถดูแลความปลอดภัยให้ได้ ทำให้ผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เหลือเพียง "ศาสนา" เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ

เมื่อได้ลองพูดคุยอย่างใกล้ชิดกับชาวบ้านในพื้นที่ทั้งไทยพุทธและมุสลิม จะพบว่าทุกคนล้วนมีเป้าหมายในชีวิตอย่างเดียวกันคือ สงบ สันติ และพอเพียง ไม่มีใครอยากรวยล้นฟ้า ไม่มีใครอยากเป็นดารา ขอแค่ให้ที่บ้านสงบ ออกไปกรีดยาง เก็บผลไม้ ได้สะดวกก็เพียงพอแล้ว

กับความสูญเสียที่ต้องเผชิญซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชาวบ้านมีวิธีบรรเทาด้วยคำสอนขององค์ศาสดาที่ตนเองนับถือและศรัทธา

ป้าสมบูรณ์ เทพษร ที่เสียคนในครอบครัวไปแล้วถึง 5 คน บอกว่า ทุกวันนี้ได้แต่ทำใจ สวดมนต์ และขอพรจากพระ

"เวลาออกจากบ้านก็ได้แต่คิดว่า ถ้าได้กลับมาก็เป็นบุญของเรา" เธอบอก

ส่วน อิบราฮิม บินมูฮับ วัย 68 ปี ซึ่งเสียลูกชายไปในเหตุการณ์กราดยิงที่มัสยิดบ้านไอปาแย เผยความรู้สึกว่า "ผมเสียใจ แต่ในขณะเดียวกันก็อิ่มใจที่ลูกตายใกล้ชิดพระเจ้า ได้ตายในบ้านของพระเจ้า"

เป็นคำบอกเล่าด้วยสีหน้ายิ้มน้อยๆ เป็นยิ้มแห่งความเข้าใจ...เข้าใจในความเป็นไปของชีวิต


ที่มา www.bangkokbiznews.com - กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์

 

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >