หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow เส้นทางค้ามนุษย์ ธุรกิจบนหยดเลือดและหยาดน้ำตา
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 622 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

เส้นทางค้ามนุษย์ ธุรกิจบนหยดเลือดและหยาดน้ำตา พิมพ์
Wednesday, 23 July 2008


เส้นทางค้ามนุษย์ ธุรกิจบนหยดเลือดและหยาดน้ำตา 

Link: http://www.blogth.com/blog/Talk/Local/6441.html

 

"ลากเร็วๆ เข้าพวกมึง ชักช้าเดี๋ยวกูถีบทิ้งลงกลางทะเลนี่หรอก!"    

ชายร่างใหญ่ ผิวเกรียมแดดขู่ตะคอกใส่ลูกเรือประมงที่กำลังลากอวนหนักอึ้งขึ้นจากน้ำ หนึ่งในนั้นกลัวจนตัวสั่นเพราะรู้ว่าอีกฝ่ายทำได้อย่างที่พูดจริง ไม่ใช่แค่ขู่ หากแต่ยังไม่ใช่ตอนนี้หรอก... ตราบใดที่เขายังมีเรี่ยวแรงตื่นขึ้นมาทำงานตั้งแต่เช้ามืดจนถึงดึกดื่นไม่เลือกเวลาได้ทุกวัน ตราบใดที่เขายังไม่ถูกพิษแดดเผาจนเป็นไข้ล้มหมอนนอนเสื่อไปเสียก่อน ตราบนั้น...เขายังมีความหมายในฐานะแรงงานทาสบนเรือลำนี้  

คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล... มองไปทางไหนมีแต่น้ำกับฟ้า ถึงคิดหนีจะไปไหนพ้น...

แดดร้อนเปรี้ยง เนื้อตัวเขาที่เปียกน้ำทะเลถูกแดดเผาจนแห้ง หากอีกไม่นานก็กลับมาเปียกอีกครั้ง เสื้อผ้าเพียงไม่กี่ชุดที่พกมาจากบ้าน ถูกใส่ซ้ำจนด้ายเปื่อยมีสภาพไม่ต่างจากผ้าขี้ริ้ว อนาคตที่เคยวาดหวังไว้พร้อมกับกระเป๋าเสื้อผ้าหนึ่งใบ ขณะเขาก้มลงกราบพ่อใหญ่กับแม่เฒ่าก่อนเดินทางจากบ้านเกิดแห่งที่ราบสูงมา หวังใช้แรงกายทดแทนวุฒิการศึกษาที่มีเพียงชั้นภาคบังคับ ดุ่มหน้าเข้ามาเผชิญโชคในเมืองหลวง กลับมาจบลงกลางทะเลลึกที่เรือประมงลำนี้     

เด็กหนุ่มก้มลงมองนิ้วที่ถูกน้ำเค็มกัด และฝ่ามือที่เต็มไปด้วยริ้วรอยบาดแผลที่ถูกเชือกอวนเสียดสีจนเลือดไหลซึม พลางนึกย้อนไปถึงวันที่เขากับเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกหลายคนถูกพามาที่นี่ คิดถึงกรุงเทพฯ ที่เขามีโอกาสเห็นเพียงแค่สถานีขนส่งหมอชิต จากนั้นชายแปลกหน้าคนหนึ่งก็เข้ามาตีสนิท ชักชวนว่าจะพาไปทำงาน พวกมันคงสังเกตเห็นความเคว้งคว้างในสีหน้าและแววตาของเขา เช่นเดียวกับเด็กหนุ่มที่เข้ามาหางานทำจากต่างจังหวัดอีกหลายคน

เขาหลับๆ ตื่นๆ มาบนรถของคนแปลกหน้า จนพบว่าจุดหมายที่ถูกพามาไม่ใช่โรงงานอย่างที่โดนหลอก หากแต่เป็นท่าเรือประมงในจังหวัดริมชายฝั่งทะเลแห่งหนึ่งแทน สายไปเสียแล้วที่จะหันหลังกลับ...แววตาเหี้ยมโหดและอาวุธในมือของพวกมัน ผลักดันให้เขาก้าวลงเรือ

ลูกอีสานอย่างเขามีโอกาสเห็นทะเลเป็นครั้งแรกในชีวิต แต่อาจเป็นครั้งสุดท้าย...ที่เขาจะมีโอกาสเห็นชายฝั่งอีกครั้ง

Image



แกะรอยเส้นทางลำเลียงสินค้ามนุษย์

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียและประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการค้ามนุษย์ และยิ่งได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ได้ใช้ประเทศไทยเป็นที่แสวงหาผลประโยชน์จำนวนมหาศาลจากการค้ามนุษย์ ซึ่งทำรายได้เป็นรองจากการค้ายาเสพติดและอาวุธเท่านั้น ปัจจุบันคาดว่าวงเงินการค้ามนุษย์ทั่วโลกสูงกว่า 7,000-10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศไทยถูกใช้ใน 3 สถานะคือ เป็นประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน และประเทศปลายทางของเหยื่อจากการค้ามนุษย์ จนครั้งหนึ่งสหรัฐอเมริกาได้จัดให้ไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์อยู่ในระดับ 2+ (จากสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในระดับ 3)

การที่ประเทศไทยมีฐานะทางเศรษฐกิจและความมั่นคงที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ประชากรทั้งชาย หญิง และเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านอพยพเข้ามาประเทศไทยเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า ในจำนวนนี้หลายคนมาทำงานอย่างถูกต้องตามและผิดกฎหมายในภาคแรงงาน ตั้งแต่ทำงานบ้าน เกษตร ประมง ไปจนถึงธุรกิจการขายบริการทางเพศ ภาคแรงงานเหล่านี้ต้องการจ้างแรงงานที่มีราคาถูกและง่ายต่อการแสวงหาประโยชน์ ซึ่งตลาดแรงงานไทยไม่สามารถเติมเต็มความต้องการนี้ได้

เส้นทางของแรงงานต่างด้าวเหล่านี้จะมีหลากหลาย ทั้งการลักลอบเข้าทางฝั่งย่างกุ้ง เมียววดีของพม่าเข้าทางชายแดนแม่สอด จ.ตาก หรือเหนือขึ้นไปทางมันดาเล-ตองยี-เชียงตุง-เมืองยอน ข้ามทางด่านท่าขี้เหล็กเข้าสู่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เส้นทางเชียงตุงนี้ยังเป็นเส้นทางที่ขบวนการค้ามนุษย์นำเหยื่อจากคุนหมิง ประเทศจีน ผ่านมาทางหลานชางเข้าสู่ประเทศไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย บางครั้งก็จะลักลอบมากับรถขนผักหรือขนข้าวสารเข้ากรุงเทพฯ

ฝั่งภาคตะวันออกของประเทศไทยมีภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชาทั้งทางบกและทางทะเล ไม่มีแนวกั้นเขตแดนชัดเจน แตกต่างจากภาคอื่น ทำให้มีการเดินทางเข้าออกได้โดยง่าย อีกทั้งภาคตะวันออกยังเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การประมง และการท่องเที่ยว ทำให้พื้นที่ภาคตะวันออกมีปัญหาทั้ง 3 สถานะ คือ เป็นต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางในการค้ามนุษย์

จังหวัดจันทบุรีและสระแก้วเป็นเส้นทางผ่านในการค้ามนุษย์ที่สำคัญในภาคตะวันออก เนื่องจากมีเขตพื้นที่ติดต่อราชอาณาจักรกัมพูชา และยังมีจุดผ่อนปรนถาวร และจุดผ่อนปรนชั่วคราว ทำให้ประชาชนทั้งสองประเทศสามารถเดินทางเข้าเมืองทั้งถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภูมิภาคอื่น ในกิจการรับจ้างประมงและทำสวนผลไม้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจ้างแรงงงาน การเข้ามาขอทานของเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นคนต่างด้าว อันนำมาสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ที่ตามมาเป็นลูกโซ่

ทางด้านภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่ตั้งของจังหวัดชุมพรที่มีอาณาเขตติดต่อกับสหภาพพม่าและติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยเป็นแนวยาวทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นเส้นทางติดต่อคมนาคมกับจังหวัดทั้งภาคกลางและภาคใต้ จรดไปจนถึงประเทศมาเลเซีย ผนวกกับความต้องการแรงงานลูกเรือประมง ทำสวนผลไม้, ยางพาราและสวนปาล์มเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดการอพยพเข้ามาหางานทำของแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะชาวพม่า และเกิดขบวนการค้าประเวณีในชุมชนที่มีแรงงานต่างด้าวหนาแน่นตามมา ดังปรากฏการณ์บุกทลายสถานบริการเพื่อช่วยเหลือหญิงและเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ถูกนำมาค้าประเวณี ในปี 2548 ดังนั้น จึงจัดได้ว่า จังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดที่ต้องมีการเฝ้าระวังปัญหาการค้ามนุษย์ในทุกมิติ เนื่องจากมีสถานะเป็นจังหวัดทางผ่าน

ขณะที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็มีสถานะเป็นทางผ่านของขบวนการค้ามนุษย์ หรือเป็นจุดพักเพื่อรอการย้ายถิ่นไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่มีความต้องการแรงงานเช่นกัน รวมทั้งยังเป็นปลายทาง คือ มีการนำเด็กและผู้หญิงทั้งชาวไทยและต่างด้าวมาบังคับใช้แรงงาน แสวงหาผลประโยชน์ทางเพศในสถานบริการ แต่จังหวัดที่นับเป็นศูนย์กลางขบวนการค้ามนุษย์ในภาคใต้คือ สงขลา ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับรัฐเคดาห์ของประเทศมาเลเซีย สงขลาเป็นศูนย์กลางความเจริญ แหล่งรวมสถานบันเทิงต่างๆ เป็นเมืองท่าและเมืองชายทะเลที่สำคัญ สถานการณ์การค้ามนุษย์ในจังหวัดสงขลาจึงมีสถานะเป็นต้นทาง มีการส่งเด็กและหญิงไปค้าในต่างประเทศ และเป็นเส้นทางผ่านของการนำเด็กและหญิงไทย รวมทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า กัมพูชา ฯลฯ ไปค้าประเวณีในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ รวมทั้งเป็นจังหวัดปลายทาง นำเด็กและหญิงมาค้าหรือแสวงผลประโยชน์และล่วงละเมิดสิทธิ โดยการบังคับให้ค้าประเวณีและใช้แรงงาน นอกจากนั้นยังพบปัญหาการใช้แรงงานในภาคประมงอีกด้วย

ทางด้านพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นราธิวาสที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย มีด่านตรวจคนเข้าเมืองแบบถาวร 2 ด่าน คือ ด่านฯ สุไหงโก-ลก และตากใบ ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนถาวรที่ประชาชนสามารถผ่านเข้าออกได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทางด่านอำเภอสุไหงโก-ลก เป็นอำเภอที่มีแหล่งธุรกิจการค้าและสถานบันเทิงจำนวนมาก จากสภาพพื้นที่ดังกล่าว ทำให้นราธิวาสมีสถานะเป็นทางผ่านของชาวต่างชาติ เช่น ลาว พม่า และกัมพูชา เดินทางไปทำงานในมาเลเซีย ส่งผลให้นราธิวาสกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงที่ต้องมีการเฝ้าระวังขบวนการการค้ามนุษย์


ดอกไม้เมืองเหนือ-พฤติกรรมตกเขียวที่ยังไม่สูญพันธุ์

หากย้อนไปเมื่ออดีต 20-30 ปีที่ผ่านมา จังหวัดเล็กๆ ในภาคเหนืออย่าง จ.พะเยา เคยได้ชื่อว่าเป็นดินแดน 'ตกเขียว' แหล่งใหญ่ของประเทศไทย อีกทั้งยังมีกระแสค่านิยม ผู้คนละทิ้งอาชีพภาคการเกษตรหลั่งไหลไปเป็นแรงงานต่างประเทศ โดยมีปลายทางคือ สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เยอรมนี และออสเตรเลีย แต่ปัจจุบันนี้ปัญหายิ่งทวีความรุนแรงตามสภาพสังคม เมื่อพบสถิติว่า จังหวัดพะเยาเป็นลำดับหนึ่งในภาคเหนือที่มีจำนวนเด็กและผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อในการค้ามนุษย์ถูกส่งตัวกลับประเทศอย่างเป็นทางการมากที่สุดในช่วงปี พ.ศ.2546-2549

แต่ที่ต่างออกไปในปี 2550 คือ ค่านิยมการตกเขียว เปลี่ยนเป้าหมายจากเด็กหญิง มาเป็นเด็กผู้ชายแทน

"ปัญหานี้ส่วนหนึ่งเกิดจากทัศนคติของคนในสังคม โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่กลายเป็นแหล่งที่มีชื่อเสียงทางด้านนี้ ทัศนคติเรื่องพรหมจรรย์ของเพศชายในสังคมไทยไม่เหมือนเพศหญิง เด็กชายที่ถูกล่อลวงทางเพศมองที่ทรัพย์สินที่เขาจะได้มาแลกกับการเสียตัวว่ามีค่ามากกว่า เขาจึงไม่ได้รู้สึกว่าถูกกระทำ" สุริยา เกษมศิริสวัสดิ์ ผู้จัดการโครงการหน่วยประสานงานเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ภาคเหนือตอนบน ประเทศไทย (TRAFCORD) กล่าว

สถานการณ์การค้ามนุษย์ในพื้นที่ภาคเหนือในปัจจุบันยังคงมีอยู่หลายรูปแบบ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงและรุนแรงขึ้น อาทิ การบังคับใช้แรงงาน ล่อลวงให้ค้าประเวณีและขอทาน อีกทั้งพื้นที่ภาคเหนือยังตกอยู่ใน 3 สถานะคือ เป็นพื้นที่ต้นทางในการส่งเด็กหญิงจากภาคเหนือไปภายในประเทศ เช่น กรุงเทพฯ หาดใหญ่ หรือต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น บรูไน ฯลฯ ในรูปแบบการค้าประเวณี การนวดแผนโบราณ การใช้แรงงาน ไปจนถึงการแต่งงาน

นอกจากนี้ภาคเหนือยังเป็นพื้นที่ทางผ่าน มีการลักลอบนำเด็กหญิงจากต่างประเทศ เช่น พม่า ลาว จีน เกาหลี ผ่านเข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือแล้วส่งไปยังจังหวัดอื่นๆ หรือต่างประเทศ และเป็นพื้นที่ปลายทาง นำเด็กหญิงจากภาคอื่นๆ มาแสวงหาผลประโยชน์ในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น การขอทาน ขายดอกไม้ ขายพวงมาลัย

รสสุคนธ์ ทาริยะ นักสังคมสงเคราะห์ 7 ว. สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์การค้ามนุษย์ในจังหวัดเชียงใหม่ว่า 6 อำเภอชายแดน อาทิ ฝาง, แม่อาย ฯลฯ คือพื้นที่ที่ขบวนการค้ามนุษย์ใช้ในการลักลอบผ่านแดน ก่อนส่งตัวเหยื่อไปยังปลายทางอย่างประเทศมาเลเซีย ขณะนี้ประมาณการณ์ว่ามีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนในเชียงใหม่ประมาณกว่า 3 หมื่นคน ปีที่ผ่านมาศูนย์ประสานงานเพื่อพิทักษ์สิทธิเด็ก จ.เชียงใหม่ ร่วมกับทางตำรวจสามารถช่วยเหลือเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ได้ 114 ราย โดยการสุ่มตรวจตามเขตพื้นที่สีแดง อาทิ ตามสี่แยกจราจร, ร้านอาหารและสถานบันเทิงต่างๆ ที่คิดว่ามีความเสี่ยง โดยปฏิการมีทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว เนื่องจากมีข่าวรั่วไหล ทำให้ขบวนการผู้ค้ามนุษย์ไหวตัวทัน

"สังคมไทยส่วนใหญ่พากันคิดว่า คนที่มีปัจจัยเสี่ยงในการค้ามนุษย์ไม่ใช่คนไทย จึงมองว่าเป็นปัญหาที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวเอง แต่ตอนนี้การค้ามนุษย์ได้เข้าไปสู่ระบบโรงเรียนและสถานศึกษาแล้ว จากเดิมเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนหรือออกจากโรงเรียนกลางคันเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและตกเป็นเป้าหมายหลักของแก๊งค์ค้ามนุษย์ แต่ทุกวันนี้ทุกคนมีความเสี่ยงเหมือนกันหมด"

ดร.สายสุรี จุติกุล ประธานคณะอนุกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาการค้าเด็กและหญิง กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าผู้หญิงและเด็กมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 แต่ต่อมาการค้ามนุษย์ขยายขอบเขตครอบคลุมทุกเพศ จึงเปลี่ยนมาเรียกว่าการค้ามนุษย์ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังเสนอจะเปลี่ยน พรบ. การค้าหญิงและเด็ก ปี 2540 ให้เป็น พรบ.การค้ามนุษย์ตามนิยามและมาตรฐานสากล

ดร.สายสุรียังกล่าวถึง กรณีที่สหรัฐอเมริกาเพิ่มอันดับให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์ค่อนข้างรุนแรงว่า "เราทำทุกอย่างไม่ใช่เพื่อให้เขาประเมิน แต่เราทำเพื่อเด็กและผู้หญิง รวมทั้งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์"

การค้ามนุษย์ในปัจจุบันนี้มีหลากหลายรูปแบบ ชายฉกรรจ์ทั้งชาวไทยและต่างด้าวถูกหลอกให้ไปใช้แรงงานอยู่บนเรือประมง พื้นที่ที่ขบวนการค้ามนุษย์มักจะปฏิบัติการล่อลวงเหยื่อไปใช้แรงงานในเรือประมง คือ สถานีขนส่งหมอชิต สายใต้ หัวลำโพง และสนามหลวง โดยเหยื่อจะถูกบังคับให้ทำงานโดยไม่ได้ค่าจ้าง ถ้าไม่ทำจะถูกทำร้ายหรือฆ่าโยนทะเล ทั้งนี้เด็กและแรงงานบนเรือทั้งคนไทยและต่างด้าวที่ถูกหลอกมาทำงานจะถูกขายต่อให้เรือประมงเป็นทอดๆ หลายลำ ต้องทำงานอยู่ในทะเล 6 เดือน-1 ปี


'เหยื่อ' ถึงไม่ใช่คนไทย แต่ก็เป็น 'คน'

นายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า การค้ามนุษย์เป็นปัญหาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และนับวันยิ่งจะทวีความสลับซับซ้อนมากขึ้น รัฐบาลไทยได้ประกาศให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมจัดสรรงบประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินการช่วยเหลือเหยื่อในรูปแบบต่างๆ ครม.ได้มีมติให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ซึ่งตั้งอยู่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ระดับจังหวัดอยู่ที่ศาลากลางทุกจังหวัด และที่สถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ เพื่อให้สามารถปฏิบัติการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ โดยมีทีมสหวิชาชีพจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ, อัยการ, เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง, แพทย์และพยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยา เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อ โดยมีการฟื้นฟูและส่งกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้ และไม่ตกเป็นเหยื่อซ้ำอีก

พรศรี บุญชนสถิตย์ นักจิตวิทยาที่เคยทำงานในชุดช่วยเหลือการค้ามนุษย์ถ่ายทอดประสบการณ์ที่เธอได้สัมผัสให้ฟังกรณีหนึ่งว่า หญิงสาวชาวพม่าถูกล่อลวงจากบ้านเกิดมาบังคับให้ขายประเวณีจนสติฟั่นเฟือน หนำซ้ำหลังจากเธอหนีออกมาขอความช่วยเหลือโดยยอมถูกตำรวจจับก็ถูกผลักดันออกนอกประเทศกลับไปฝั่งพม่าทางด่านกาญจนบุรี ระหว่างทางเธอต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ ทหารพม่าและกองกำลังที่กำลังสู้รบกันตลอดทาง ในที่สุดก็เล็ดรอดกลับเข้ามาฝั่งไทยได้อีกครั้ง ทุกวันนี้เธออยู่ที่ศูนย์ฯ จ.เชียงใหม่ด้วยความหวาดผวาถึงประสบการณ์ร้ายๆ ในอดีตที่ตามหลอกหลอน

ใครจะรู้ว่าระหว่างเส้นทางจากด่านเจดีย์สามองค์จนถึงเชียงใหม่ ผู้หญิงคนหนึ่งต้องเผชิญอะไรมาบ้าง? เธอจึงเป็นเหยื่อที่ถูกกฎหมายกระทำซ้ำอีก ในการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยแนวทางการค้ามนุษย์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ พ.ศ.2550 จึงขยายนิยามเหยื่อจากการค้ามนุษย์ โดยรวมถึงเหยื่อที่มิใช่คนไทยและคนไร้สัญชาติด้วย ซึ่งในการลงนามครั้งนี้มีผู้แทนจาก พม., องค์กรยูนิเซฟประจำประเทศไทย และองค์การแพลนประเทศไทย ร่วมลงนามเป็นสักขีพยานด้วย

นายแพทย์มาโนช โชคแจ่มใส แห่งภาควิชานิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชมหานครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสมาชิกชุดปฏิบัติการช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ในรูปแบบสหวิชาชีพ โดยทำหน้าที่ตรวจร่างกายและระบุอายุเด็กที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนการตรวจสอบและคัดแยกเหยื่อที่เป็นเด็กออกจากเหยื่ออื่นๆ เนื่องจากโทษของการค้ามนุษย์ที่เป็นเด็กกับผู้ใหญ่นั้นแตกต่างกัน

"เราบอกว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ เราไม่ได้ทำกับเด็กอย่างนี้หรอก แล้วสิบปีต่อมาเราก็ทำกับเด็กทุกอย่างเท่าที่สามารถทำได้ เราตามหลังอเมริกาทุกอย่าง" หมอมาโนชระบายความรู้สึกอย่างอัดอั้น ก่อนกล่าวต่อไปว่าเชียงใหม่มีลักษณะต่างจากเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ เพราะหญิงค้าบริการไม่ใช่คนไทย แต่เป็นคนพม่า ลาว จีน คนส่วนใหญ่จึงรู้สึกว่าการค้ามนุษย์ไม่ใช่เรื่องของตนเอง จึงต้องหาทางจี้เตือนให้คนในสังคมไทยตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหานี้ เขากล่าวว่า ตอนที่สหรัฐอเมริกาพยายามลดเกรดให้ประเทศไทยมีปัญหาการค้ามนุษย์เทียบเท่ากัมพูชา ทางภาครัฐก็เคยออกมารณรงค์เคลื่อนไหวอยู่เพียงพักเดียว พอกรณีนั้นจบ กฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ก็หยุดนิ่ง

"ตอนนี้ที่ไนท์บาซาร์มีแต่คนไทยใหญ่ เมืองเชียงใหม่กำลังมีปัญหาคล้ายกับเขตชายแดนของเม็กซิโก คนไทยจะรู้สึก Priority ต่ำ เพราะคนที่เดือดร้อนไม่ใช่คนไทย คนทุกคนก็เป็นคนเหมือนกัน ถึงเขาจะไม่ใช่คนไทย มีบัตรประชาชนไทย แต่เขาก็เป็นคน" หมอมาโนชกล่าว พร้อมบอกว่า จากประสบการณ์ในการช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ของเขา เชื่อว่าทุกคนจะมีช่วงเวลาที่เรียกว่า Golden Period หรือช่วงเวลาทองอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งหากไม่สามารถช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อออกมาได้ภายในช่วงนั้นแล้ว ก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้เลยตลอดกาล

เพราะบาดแผลใดจะสาหัสเท่าบาดแผลที่เกิดจากความบอบช้ำในจิตใจ ซึ่งหากสายเกินไป...อิสรภาพและความหวังใดๆ ก็ไม่อาจเยียวยาได้ 

ถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยจะหันมาตระหนักและเอาใจใส่ภัยที่เกิดจากการค้ามนุษย์ให้มากยิ่งขึ้น มิใช่แสร้งทำเป็นเมินและมองไม่เห็นเช่นที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน


 Image

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >