หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 170 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


เส้นทางสิทธิมนุษยชนศึกษา พิมพ์
Tuesday, 31 October 2006


เส้นทางสิทธิมนุษยชนศึกษา

ปิดทศวรรษสิทธิมนุษยชนศึกษา 

รศ.ดร.วไล  ณ ป้อมเพชร
ประธานโครงการสิทธิมนุษยชนศึกษา


เมื่อองค์การสหประชาชาติประกาศ ทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชนศึกษา (ค.ศ.1995-2004)  ข้าพเจ้ายังทำงานในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการศึกษาเพื่อสิทธิมนุษยชนและสันติภาพขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของข้าพเจ้าที่จะชักชวน สนับสนุน และผลักดันให้ประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโก ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชนศึกษา           

ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ วันเวลาผ่านไปถึง 9 ปีแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจว่า สิทธิมนุษยชนศึกษาหมายถึงอะไร และเกี่ยวข้องกับตนเองอย่างไร           

การกำหนดทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชนศึกษา โดยองค์การสหประชาชาติ เป็นการกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ในโลกตระหนักถึงความจำเป็นในการถ่ายทอดความรู้ ให้การศึกษา และฝึกอบรมเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนแก่บุคคลทั่วไป โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้ คือ :         

สิทธิมนุษยชนศึกษา หมายถึง การฝึกอบรม การถ่ายทอด และการใช้ความพยายามในการให้ข้อมูล เพื่อมุ่งสร้างวัฒนธรรมสากลด้านสิทธิมนุษยชน โดยใช้กระบวนการให้ความรู้ ทักษะ และการหล่อหลอมทัศนคติเพื่อมุ่งให้เกิดสิ่งต่อไปนี้

1. เสริมสร้างการเคารพสิทธิมนุษยชน และรากฐานของสันติภาพให้เข้มแข็ง
2. พัฒนาศักยภาพ และบุคลิกภาพของมนุษย์ รวมทั้งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเต็มที่
3. ส่งเสริมความเข้าใจ ความเคารพ ความเท่าเทียม และมิตรภาพระหว่างชนทุกชาติ ทุกเชื้อชาติ สัญชาติ เผ่าพันธุ์ ทุกศาสนา และทุกกลุ่มภาษา
4. ให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพในสังคมที่เป็นอิสระ
5. ให้เกิดการพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้า และดำรงไว้ซึ่งสันติสุข

กล่าวโดยสรุปก็คือ สิทธิมนุษยชนศึกษาหมายถึง การเรียนรู้ทั้งหมด โดยอาศัยระบบการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ ตลอดจนการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ ค่านิยม และเสริมสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในสังคม เมื่อมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนร่วมกันแล้ว ก็คาดได้ว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนย่อมจะลดลง จึงกล่าวได้ว่า สิทธิมนุษยชนศึกษาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะนำไปสู่การปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทำให้คนในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ร่วมกัน           

สำหรับประเทศไทย ในระยะเวลา 5 – 6 ปีที่ผ่านมา สิทธิมนุษยชนได้มีการยอมรับและเข้าใจกันมากขึ้น คนไทยส่วนหนึ่งยอมรับว่า สิทธิมนุษยชนหมายความรวมถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค เสรีภาพ และอิสรภาพในชีวิตและร่างกายซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ และเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรอง หรือคุ้มครองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กระนั้นก็ดี คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่ตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจให้บุคคลทุกระดับในสังคมไทยมีความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนร่วมกัน เพื่อสังคมไทยจะได้เป็นสังคมที่ปลอดจากการเบียดเบียน บุคคลจะมีเสรีภาพและสิทธิขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกัน มีความ เสมอภาค และได้รับความยุติธรรม เกิดการเกื้อกูลกันอย่างมีเหตุผลบนพื้นฐานของคุณธรรม ไม่ละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน มีความเป็นประชาธิปไตย ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข   

การกำหนดทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชนศึกษาโดยองค์การสหประชาชาติ ทำให้สิทธิมนุษยชนศึกษากลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ที่กล่าวถึงกันมาก ทั้งภายในประเทศไทยและในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ข้าพเจ้าจำได้ว่าองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน ตลอดจนองค์กรภายในประเทศ ต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ ให้ร่วมมือกันให้ความรู้ ความเข้าใจ และหล่อหลอมทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน การจัดอบรมครู อาจารย์ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา การทำหลักสูตร และแผนการเรียนการสอนที่บูรณาการแนวคิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการจัดพิมพ์เอกสารและหนังสือที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนศึกษา ในช่วงระยะเวลา 5 – 6 ปีที่ผ่านมา นับเป็นความพยายามของนักวิชาการและนักการศึกษาที่จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษาให้สอดคล้องกับการกำหนดทศวรรษสิทธิมนุษยชนศึกษา

ในบรรดาโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษสิทธิมนุษยชนศึกษา ได้มีโครงการเล็กๆ ที่เริ่มขึ้นโดยกลุ่มบุคคลที่มีความเชื่อในหลักการสิทธิมนุษยชนสากล และปรารถนาจะนำหลักการดังกล่าวเข้าสู่สถานศึกษา โครงการนี้คือ โครงการสิทธิมนุษยชนศึกษา ซึ่งเริ่มขึ้นในคณะกรรมการยุติธรรมและสันติ (ยส.) ต่อมาได้รับการสนับสนุนโดยคณะกรรมการการศึกษาคาทอลิก จึงเป็นโครงการร่วมระหว่าง 2 หน่วยงาน เหตุที่โครงการสิทธิมนุษยชนศึกษาเน้นโรงเรียนเป็นสำคัญเพราะเห็นว่า โรงเรียนเป็นสถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ให้การศึกษาอบรม เสริมสร้างคุณธรรม พัฒนาความรู้ ทักษะ ค่านิยม เพื่อให้เด็กและเยาวชนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งด้านจิตวิญญาณ สติปัญญา อารมณ์ และร่างกาย  การนำคุณธรรมแห่งการเคารพศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชนเข้ามาสู่โรงเรียนจึงมีความสำคัญ สมควรได้รับการส่งเสริม  นอกจากนั้นยังเป็นกระบวนการที่ตอบสนองพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ซึ่งได้เน้นกระบวนการเรียนการสอนที่มุ่งสู่การปกป้องและส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษยชน และจุดมุ่งหมายที่จะให้คนไทยรู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข และยังสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งเน้น “การปฏิบัติตนตามสถานภาพ บทบาท สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ในฐานะพลเมืองดีของประเทศและสังคมโลก รวมทั้งมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตทั้งในสังคมไทยและสังคมโลกอย่างสันติสุข”

โครงการสิทธิมนุษยชนศึกษา ได้ดำเนินการนำคุณธรรมสิทธิมนุษยชนสากลเข้าสู่โรงเรียนอย่างเป็นขั้นตอน โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารโรงเรียน พอที่จะสรุปไว้โดยสังเขปดังนี้ :

สิทธิมนุษยชนในโรงเรียน หมายถึงการนำเอาหลักการสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  หรือคุณธรรมแห่งสิทธิมนุษยชนสากลเข้ามาเผยแพร่ในโรงเรียน ด้วยการ :

  • สร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ปลุกจิตสำนึกให้ตระหนักในศักดิ์ศรีของมนุษย์ และมีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
  • สร้างบรรยากาศเกี่ยวกับความเคารพ  ความรัก ความเอื้ออาทร  การเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีและสิทธิเท่าเทียมกัน  รวมถึงการไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นเสริมสร้างคุณธรรมสิทธิมนุษยชนสากลให้ซาบซึ้งในจิตใจของนักเรียน ครู  ผู้บริหาร  และบุคลากรในโรงเรียน และสะท้อนออกมาทางวาจาและการปฏิบัติ
  • เสริมสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน  กล่าวคือให้คุณธรรมแห่งสิทธิมนุษยชนเป็นวิถีชีวิตของนักเรียน ครู  อาจารย์  ตลอดจนบุคลากรของโรงเรียน 

กลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการฝึกอบรม  การถ่ายทอดความรู้และข้อมูล คือ ผู้บริหาร ครู  อาจารย์  บุคลากรในโรงเรียน  นักเรียน  ตลอดจนบิดามารดาหรือผู้ปกครองนักเรียน

นอกเหนือจากการฝึกอบรม  การจัดทำหลักสูตร  สาระและมาตรฐานการเรียนรู้  แผนการเรียนรู้  ตลอดจนคู่มือครู  ซึ่งเป็นกระบวนการนำสิทธิมนุษยชนเข้าสู่ชั้นเรียนแล้ว  การจัดกิจกรรมนอกห้องเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนนับว่ามีความสำคัญควบคู่กันไป กิจกรรมที่สมควรได้สนับสนุน มีอาทิ :

  • สร้างกลุ่มผู้สนใจสิทธิมนุษยชนในรูปของชมรม, Club ฯลฯ
  • รวบรวมข้อมูล  เอกสาร  หนังสือ ฯลฯ ตลอดจนจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนในมุมหนึ่งของห้องสมุดโรงเรียนหรือมีห้องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะ
  • ส่งเสริมโครงการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่แล้ว และเสริมสร้างโครงการใหม่ที่สนับสนุนคุณธรรมสิทธิมนุษยชน เช่น โครงการโรงเรียนพี่ - โรงเรียนน้อง โครงการสัมผัสผู้ด้อยโอกาส  โครงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
  • สนับสนุนให้มีกิจกรรมร่วมกับชุมชน  เพื่อให้เกิดความตระหนักในปัญหาสังคม  โดยเฉพาะปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  • จัดประชุมครู และนักเรียนเพื่อไตร่ตรอง  แบ่งปันประสบการณ์  ทบทวนกิจกรรมที่ทำไปแล้ว  และร่วมมือวางแผนงานที่จะทำต่อไป     

เมื่อดำเนินโครงการสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนไปได้ในระยะหนึ่ง  ควรมีการประเมินผล ว่าได้รับผลสำเร็จตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ การประเมินผลอาจดูจากสิ่งต่อไปนี้

  • ความเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรม  และทัศนคติของครู นักเรียน  และบุคลากรในโรงเรียน
  • ความตระหนักในศักดิ์ศรี และสิทธิมนุษยชน และความเข้าใจในการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
  • นักเรียนมีการพัฒนาบุคลิกภาพ  และศักยภาพอย่างเต็มที่หรือไม่
  • เกิดวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนหรือไม่
  • ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมีผลกระทบต่อชุมชนหรือไม่  อย่างไร      

โดยทั่วไปเมื่อมีการเรียนการสอนในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ผู้สอนมักจะมุ่งให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ  ในระดับโรงเรียน กระบวนการเรียนรู้มีความสำคัญมากกว่าองค์ความรู้  ทั้งนี้หมายความว่า  เพื่อจะให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน  ผู้บริหาร  และครู  ตลอดจนบุคลากรในโรงเรียน จะต้องร่วมมือกันปลุกจิตสำนึกในเรื่องศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษยชน โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ที่เป็นองค์รวม ที่บูรณาการและมีความหมายสำหรับผู้เรียน  เพื่อให้ผู้เรียนตระหนักในเรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์  สิทธิอันเท่าเทียมกัน  ความยุติธรรม  เสรีภาพ  ความสมานฉันท์และสันติภาพ และในที่สุดสนับสนุนให้ผู้เรียนแสดงออกด้วยการปฏิบัติตนต่อผู้อื่นอย่างมีคุณธรรมแห่งสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน  เพื่อให้เกิดผลดังกล่าวนี้คุณธรรมสิทธิมนุษยชนต้องแทรกซึมอยู่ในชีวิตของโรงเรียนทั้งการจัดการ  การจัดระเบียบ  การพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ เช่น ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องมีความเคารพ  และเห็นคุณค่าของสมาชิกทุกคนในโรงเรียน ต้องสนับสนุนความสัมพันธ์ ความร่วมมือ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของบรรดาสมาชิก และควรให้โอกาสนักเรียนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในกิจการของโรงเรียน  ทั้งนี้เพราะโรงเรียนคือชุมชนที่น่าจะเป็นตัวอย่างของการเคารพศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคล ให้นักเรียนได้เรียนรู้ว่า สมาชิกของชุมชนในโรงเรียนต่างก็ได้รับความเคารพในคุณค่า  และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  รวมทั้งได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง  ยุติธรรม และเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึง วัย วุฒิ เพศ สถานภาพทางสังคม ความเชื่อ และศาสนา               

นอกจากการสนับสนุนของผู้บริหารโรงเรียนแล้ว สิทธิมนุษยชนศึกษาจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่  ขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริง  คุณภาพ  ทักษะและทัศนคติของครูผู้สอนแต่ละคน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ  สิทธิมนุษยชนศึกษาในระดับโรงเรียนจะพัฒนาได้ก็ต่อเมื่อ ครูผู้สอนตระหนักในความสำคัญและความจำเป็นของการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน และเพื่อสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นครูจะต้องได้รับการอบรมพิเศษเกี่ยวกับวิธีการเรียนการสอนในเรื่องดังกล่าว  เพื่อจะได้มีความรู้ ความเข้าใจ และถ่ายทอดให้นักเรียนของตนได้  ครูที่ได้รับการฝึกอบรมมักจะได้รับแรงจูงใจให้คิดค้นโครงการที่ช่วยให้นักเรียนมีสำนึกในด้านสิทธิมนุษยชน  อย่างไรก็ตามครูจะต้องได้รับการเตือน  และเตือนตนเองอยู่เสมอว่า  วิธีจัดการเรียนการสอนที่จะได้ผล  จะต้องมุ่งพัฒนาที่ตัวผู้เรียน  โดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จะต้องไม่ใช่วิธีฟังครูพูด  จดบันทึก  และจำ  หากจะต้องเน้นความเข้าใจและสร้างจิตสำนึก  จากนั้นผู้เรียนก็จะเกิดความปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมในการปฏิบัติ  จะเห็นได้ว่าการเรียนการสอนเกี่ยวกับคุณธรรม  ไม่ว่าจะเป็นคุณธรรมสิทธิมนุษยชนก็ดี  การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติก็ดี  ถ้าเรียนจากหนังสือ  ตำรา  เรียนจากการฟังครูพูด  และจดจำภายในห้องเรียนเท่านั้นย่อมไม่ได้ผล เพื่อให้การเรียนการสอนได้ผลดี  ต้องเริ่มจากตัวนักเรียน จากเรื่องที่นักเรียนสนใจ  จากปัญหาสิทธิมนุษยชนในบ้าน ในชุมชน ในประเทศ  หรือในโลกที่นักเรียนได้พบเห็นหรือได้รับรู้และกระตุ้นความคิดและความรู้สึกในเรื่องคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์ ครูมีหน้าที่เพียงแนะนำและชักจูงให้นักเรียนแสวงหาความรู้ ความเข้าใจในประเด็นที่นักเรียนสนใจและสร้างจิตสำนึก  กล่าวโดยสรุปก็คือ  นำคุณธรรมสิทธิมนุษยชนเข้าสู่สมองและจิตใจของนักเรียนและเพื่อที่จะกระทำดังนี้ได้  ครูผู้สอนจะต้องมีคุณธรรมดังกล่าว จึงสามารถถ่ายทอดให้นักเรียนได้  ครูจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อสิทธิมนุษยชนให้แก่นักเรียน

การได้เรียนรู้ ได้สังเกต และได้พิจารณาถึงสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนรอบๆ ตัวในระดับต่างๆ  ทำให้นักเรียนสนใจเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชน  และเกิดความเห็นใจและเอื้ออาทรต่อผู้ถูกละเมิดสิทธิ์  ถ้าได้รับการแนะนำจากครูผู้สอนให้เข้าใจความหมายของคุณธรรมสิทธิมนุษยชนให้เกิดจิตสำนึกในคุณธรรมดังกล่าว ก็จะเป็นการปูหนทางให้นักเรียนเหล่านั้นกลายเป็นพลเมืองที่พร้อมจะมีส่วนร่วมในสังคมระดับชาติและระดับโลก อันที่จริงแล้วจุดมุ่งหมายของสิทธิมนุษยชนศึกษาคือ การเปลี่ยนทัศนคติของโลกปัจจุบันและการตระเตรียมเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน  ประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษย์จึงควรได้รับการเน้นให้เข้าใจและตระหนัก เช่น สิทธิทางเพศ นับเป็นโอกาสที่ดีที่เยาวชนหญิงชายในโรงเรียนได้เรียนรู้ร่วมกันในลักษณะที่มีการสนับสนุนให้ศักดิ์ศรี และสิทธิของเด็กหญิงได้รับการปกป้อง  โรงเรียนและครูผู้สอนไม่ควรละเลยที่จะเน้นว่าเด็กหญิง และสตรีมีสิทธิของพลเมือง สิทธิทางการเมือง สังคม  เศรษฐกิจและวัฒนธรรมเท่าเทียมกับเด็กชายและบุรุษ และสิทธิต่างๆ เหล่านั้นต้องได้รับการพิทักษ์โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษาในโรงเรียนจะสัมฤทธิ์ผล เมื่อมีการปลูกฝังค่านิยมที่สนับสนุนการเคารพสิทธิมนุษยชน ค่านิยมที่จะต้องปลูกฝังอาจเป็นค่านิยมดั้งเดิมที่สั่งสมกันมาในสังคมไทย  อันมีพื้นฐานมาจากพุทธศาสนา เช่น เมตตา กรุณา การเคารพในชีวิต ความมีน้ำใจ การแบ่งปัน สันโดษ และความปรองดอง  ซึ่งเป็นค่านิยมที่เสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน  นอกจากนั้นยังมีค่านิยมสากลที่สมควรปลูกฝัง เช่น  ความยุติธรรม  เสรีภาพ ความเสมอภาค ความรับผิดชอบ  การรักความถูกต้อง เป็นต้น  ค่านิยมดังกล่าวนี้จะต้องได้รับการปลูกฝังให้ซาบซึ้งเข้าไปในจิตใจและกลับออกมาในรูปของการปฏิบัติโดยเริ่มจากครอบครัว  โรงเรียน  และสถาบันการศึกษาอื่นๆ ตลอดจนสังคมโดยทั่วไป  การศึกษาที่ปลูกฝังค่านิยมจะต้องดำเนินเป็นกิจกรรมปกติธรรมดาที่ต่อเนื่องตลอดไป  ทั้งนี้เพราะค่านิยมเป็นสิ่งที่ไม่อาจยัดเยียดให้แก่กันได้ ถ้าครูใช้วิธีสอนค่านิยมด้วยการบังคับ นักเรียนก็จะมีปฏิกิริยาตอบโต้ไม่ยอมรับ เพราะค่านิยมจะต้องมีความหมายเชิงคุณค่าที่สื่อกับนักเรียนได้ และนักเรียนมีสิทธิ์เลือกรับและปฏิบัติด้วยตนเองอย่างมีอิสระเสรี สิ่งที่ครูและโรงเรียนพึงกระทำก็คือ ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีโอกาสแสดงพฤติกรรมแห่งค่านิยมและคุณธรรมที่นักเรียนมีส่วนในการกำหนดให้เป็นประจำทุกวัน  ด้วยการส่งเสริมให้นักเรียนรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น  สนับสนุนให้มีการอภิปราย ถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาในเรื่องค่านิยมและคุณธรรม  

การเน้นให้ความสำคัญกับมิติของการศึกษาด้านค่านิยมและคุณธรรม  เพื่อช่วยให้แต่ละคนได้รู้จักและเคารพคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น และได้เข้าใจพัฒนาการของโลกมนุษย์  ย่อมจะนำไปสู่ความสมัครสมาน  สอดคล้องบนพื้นฐานของความเข้าใจของมวลมนุษย์ได้  ความเข้าใจร่วมกันของมนุษยชาติ  การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างสันติวิธีและความปรองดองกัน  เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งของการอยู่รอดของมนุษย์  และเป็นสิ่งที่หายากที่สุดของโลกทุกวันนี้  การศึกษาจึงจะต้องยึดมั่นในอุดมการณ์อันสูงส่งที่จะชักนำให้ทั่วโลกมีความเข้าใจที่ดีต่อกัน มีความรับผิดชอบ และมีความสมานฉันท์กันมากยิ่งขึ้น โดยการยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีและสิทธิของกันและกัน ตลอดจนในความแตกต่างด้านคติธรรมและวัฒนธรรม 

โครงการสิทธิมนุษยชนศึกษา ได้ดำเนินการอบรมผู้บริหารโรงเรียน ครู อาจารย์ มาเป็นระยะเวลา 4 ปีแล้ว (เริ่มการสัมมนาผู้บริหารครั้งแรกที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544) ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้บริหาร ครู อาจารย์ ปรารถนาที่จะให้โรงเรียนเป็นเครื่องมือของการเคารพสิทธิมนุษยชน และสันติภาพ และด้วยความร่วมมือ และการสนับสนุนของผู้บริหารโรงเรียนหลายท่าน ตลอดจนสภาการศึกษาคาทอลิก โครงการสิทธิมนุษยชนศึกษาก็จะดำเนินการต่อไปด้วยความมุ่งมั่น 

เหลือเวลาอีกไม่ถึงปี ที่ทศวรรษสิทธิมนุษยชนศึกษาจะสิ้นสุดลง หวังว่าโครงการและกิจกรรมทั้งหลายที่เริ่มในช่วงทศวรรษยังคงดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับโครงการสิทธิมนุษยชนศึกษาของพวกเรา ที่ถือว่าทศวรรษสิทธิมนุษยชนศึกษา เป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้เกิดโครงการซึ่งจะต้องดำเนินต่อไปจนกว่าจะเกิดวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน และในสังคม 

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >