หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 87 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ปฏิรูปการเมือง กับ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กองบรรณาธิการ เรียบเรียง พิมพ์
Tuesday, 22 August 2006
  
Image

ปฏิรูปการเมือง กับ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

กองบรรณาธิการ เรียบเรียง

“ประชาธิปไตยไม่ใช่เป้าหมายของผม”

หากยังจำกันได้กับอีกหนึ่งวรรคทองแห่งยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  ผู้ให้คุณค่ากับประชาธิปไตยเพียงเป็นเครื่องมือหรือหนทางนำไปสู่เป้าหมาย เราจึงได้เห็นว่าเป้าหมายของเขากลับมิใช่เป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขโดยรวมแก่ประชาชนและประเทศชาติ แต่เป็นเป้าหมายมุ่งสู่ความร่ำรวยเฉพาะตนและพวกพ้อง ดังประจักษ์พยานจากตัวเลขมูลค่า ๗๓,๐๐๐ ล้านบาท จากการขายชินคอร์ป – ธุรกิจของตนให้กับทุนเทมาเสกของสิงคโปร์  การยึดศูนย์รวมอำนาจไว้กับตนและใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือนั้นทั้งละเมิดรัฐธรรมนูญและทำลายกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลของระบบรัฐสภา องค์กรอิสระต่างๆ ตลอดจนแทรกแซงและครอบงำสื่อ แล้วคุมฝ่ายบริหารให้ดำเนินตามแนวทางและอุดมการณ์ที่ตนเองสร้างขึ้นใหม่ สามารถบงการให้เกิดนโยบายและโครงการต่างๆ ที่เอื้ออำนวยผลประโยชน์ทางธุรกิจแก่ตนเองและพวกพ้อง โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ อีกด้านหนึ่งก็ใช้นโยบายการตลาด นโยบายประชานิยม โปรยหว่านให้คนรากหญ้าเชื่อว่าทักษิณเท่านั้นจะทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากความยากจน  ซึ่งแท้จริงแล้วกลับยิ่งเป็นการเพิ่มหนี้สินในครัวเรือนมากขึ้น ทั้งยังสร้างระบบอุปถัมภ์ให้ประชาชนติดนิสัยการรอรับความช่วยเหลือโดยไม่พึ่งพิงตนเอง มิหนำซ้ำยังทำลายมาตรฐานทางศีลธรรมของสังคมให้เห็นว่าการโกงเป็นสิ่งไม่ผิด การไม่จ่ายภาษีก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้   แต่ในเมื่อสังคมโดยรวมยังให้ค่าเห็นความสำคัญต่อหลักศีลธรรมที่ควรมีกำกับเป็นคุณธรรมประจำใจของทุกคน โดยเฉพาะหากยิ่งเป็นผู้นำประเทศด้วยแล้วยิ่งจำเป็นต้องประพฤติเป็นแบบอย่าง ด้วยเหตุนี้สถานการณ์ทางการเมืองจึงเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะต้องมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้ง

ภาพจาก www.mthai.comเมื่อผมมาตามระบอบประชาธิปไตย ถ้าจะให้ไป ก็ต้องไปตามระบอบประชาธิปไตยไม่อยากให้คนกลุ่มหนึ่งมาแบล็กเมล์รัฐบาลทุกสมัย  ถึงได้ให้มีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่  ถ้าไม่ชนะก็ไม่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องรักษาประชาธิปไตยไว้ให้ดีที่สุด  รักษาประชาธิปไตยให้ยั่งยืน”  

การประกาศยุบสภาเพื่อหนีการตรวจสอบ โดยอ้างว่าต้องยึดกติกาเพื่อรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตย แท้จริงแล้วนั่นคือการฟอกตัวให้สะอาดบริสุทธิ์ โดยใช้คะแนนเสียงจากประชาชนสร้างความชอบธรรมในการหวนคืนสู่ตำแหน่งอีกครั้ง กับการเลือกตั้งที่ต้องใช้งบประมาณ ๒,๒๐๐ ล้านบาทจากเงินภาษีของประชาชน แต่เมื่อการณ์ไม่เป็นไปตามคาด เมื่อประชาชนร่วมกันสร้างปรากฏการณ์เสมือนตบหน้าสั่งสอนแสดงให้รู้กันว่าพวกเขาไม่ต้องการผู้นำที่ขาดศีลธรรมจริยธรรม ด้วยการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งโดยกาช่องไม่ประสงค์จะเลือกใคร หรือ No Vote กันอย่างท่วมท้น รวมถึงการตั้งใจทำให้บัตรเลือกตั้งเสียจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้ ๑๖ ล้านเสียงที่ได้มาไม่สามารถนำมาอ้างได้อย่างภาคภูมิใจเช่นเคย การหาทางลงโดยประกาศเว้นวรรคทางการเมืองไม่ขอรับตำแหน่งนายกฯ จนกว่ากระบวนการสรรหาในสภาฯ จะแล้วเสร็จ ทั้งจะเดินหน้าปฏิรูปการเมืองรอบสองตามที่ภาคประชาชนต้องการ จึงถูกนำมาใช้เป็นทางออกในการสร้างความสง่างามให้กับตนเอง


ล้างบางระบอบทักษิณ เดินหน้าปฏิรูปการเมือง สร้างสังคมที่เป็นธรรม


ภาพจาก www.manager.co.th

๔ วิกฤติ จากระบอบทักษิณ

๑. ระบอบทักษิณ... ยักยอกรัฐธรรมนูญ  ยึดครองระบอบประชาธิปไตย
๒. ระบอบทักษิณ... หลงใหลทุนนิยมใหม่ จนลืมประเทศชาติ
๓. ระบอบทักษิณ... โกงกินชาติ บ้านเมือง
๔. ระบอบทักษิณ... ทำให้บ้านเมืองสิ้นความสงบสุข 

           
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ  วะสี    บอกไว้ว่า “คุณูปการของ "ระบอบทักษิณ" คือ ทำให้คนไทยตื่นตัวครั้งใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน คนไทยจำนวนแสน จำนวนล้าน ได้เรียนรู้เรื่องระบบการเมือง เรื่องคอร์รัปชัน เรื่องขายรัฐวิสาหกิจ เรื่องขายหุ้นให้ต่างชาติ ฯลฯ จึงเป็นความตื่นตัวทางศีลธรรมจริยธรรมของ ภาคประชาชน และถือเป็นการสร้างทุนทางจิตสำนึก ทุนทางสังคม และทุนทางปัญญาอย่างมหาศาล ซึ่งการเมืองภาคประชาชนจะต้องทำให้ทุนเหล่านี้เพิ่มพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง” 

ผู้มีความห่วงใยต่อบ้านเมืองต่างล้วนหวั่นเกรงพิษภัยของระบอบทักษิณซึ่งเริ่มแพร่กระจายไปทุกหย่อมหญ้า และรังแต่จะยิ่งสร้างความแตกแยกระหว่างผู้คนในสังคมไทยดังที่ปรากฏในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แม้กระทั่งบัดนี้ เสียงเรียกร้องจากสังคมให้ปฏิรูปการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการใช้ข้อได้เปรียบทางการเมือง ทำลายเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ และปิดกั้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมถึงปัญหาภาวะวิกฤติจริยธรรมของผู้นำรัฐบาล จึงดังขึ้นอย่างที่รัฐไม่อาจเพิกเฉยได้ แต่ทว่าแม้รัฐบาลพรรคไทยรักไทยจะแสดงตัวเป็นเจ้าภาพเดินหน้าปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าจะมีคนกลางมาดำเนินการในเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จภายในเวลา ๑ ปีเศษ ก็ตาม แต่เสียงจากภาคสังคมยังไม่ยอมรับและไม่ไว้วางใจด้วยเห็นว่ารัฐยังคงกุมกลไกและอำนาจต่างๆ ไว้ในมือ จึงเป็นเรื่องยากที่การปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหม่นี้จะปราศจากการแทรกแซงใดๆ

ด้วยเหตุนี้จึงมีการรวมตัวกันครั้งใหญ่ของภาคประชาชนเพื่อร่วมกันผลักดันให้มีการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนจากทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมเสนอแนะ กำหนดแนวทาง และจังหวะก้าวในการเคลื่อนไหวปฏิรูปการเมืองให้เป็นไปอย่างเข้มแข็งและมีพลัง จนกระทั่งสามารถจัดตั้งเป็นเครือข่ายองค์กรประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองและสังคม  ๒๖ เครือข่าย ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายนักวิชาการ อาทิ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย ฯลฯ เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน อาทิ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คณะกรรมการประสาน งานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์/HIVประเทศไทย  สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคม  เครือข่ายสลัมสี่ภาค สมัชชาคนจน กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)  สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ ศูนย์ประสานงานนักเรียนนิสิตนักศึกษา ฯลฯ เป็นต้น

สำหรับการปฏิรูปการเมืองที่ภาคประชาชนมุ่งหวังนั้นก็คือ ต้องการให้เกิดการเมืองที่มีหลักคุณธรรมและจริยธรรมเป็นจุดขับเคลื่อน ไม่ใช่เพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่เป้าหมายหลักต้องอยู่ที่การสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และตอบสนองต่อปัญหาของประชาชน ต้องให้อำนาจแก่ประชาชนในการเข้าถึงและใช้อำนาจได้อย่างเท่าเทียม ต้องสร้างกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพโดยสังคม ต้องมุ่งสร้างความเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชนอันเป็นรากฐานสำคัญยิ่งในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพ บทบาทหน้าที่ในการร่วมพัฒนาบ้านเมือง และตรวจสอบถ่วงดุลการเมืองในระบบรัฐสภาและระบบพรรคการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การปฏิรูปการเมืองจะต้องปฏิรูปสังคมไปพร้อมๆ กันด้วย  โดยจะต้องครอบคลุมประเด็นที่เป็นปัญหาหลักของสังคมไทย ได้แก่ การจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า พลังงาน ความหลากหลายทางชีวภาพ  การสร้างความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ  การกำหนดนโยบายสาธารณะขั้นพื้นฐาน  ปฏิรูปสื่อสาธารณะ  กระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นและชุมชน ที่สำคัญการปฏิรูปการเมืองต้องนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในระดับรากหญ้า ความยั่งยืนของฐานทรัพยากร หลุดพ้นจากโครงสร้างความขัดแย้ง คุ้มครองสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนในมิติต่างๆ และเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน ๕     

ธงปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่โดยภาคประชาชนจึงถูกนำมาออกมาปักเคียงคู่ไปกับธงปฏิรูปฯ ของภาครัฐ เพื่อนำข้อเสนอและประเด็นต่างๆ ที่เป็นเสียงและความต้องการของประชาชนจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ดังมาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดไว้ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ได้อย่างแท้จริง 


หลากหลายข้อเสนอต่อการปฏิรูปการเมืองรอบสอง

พระไพศาล วิสาโล  เจ้าอาวาสวัดป่ามหาวัน จ.ชัยภูมิ : การปฏิรูปการเมืองอย่าจำกัดเฉพาะคำว่า คนดี ระบบดีเท่านั้นแต่ต้องทำไปพร้อมกันทั้งสามเส้า  คือ การเขียนกฎหมายที่ดี สร้างสังคมที่ดีงาม และการทำให้คนในสังคมมีคุณธรรม จริยธรรมและเป็นคนที่มีคุณภาพ  สามารถตรวจสอบระบอบการเมืองไม่ให้คนชั่วมีโอกาสเข้ามาทำให้ระบอบการเมืองที่ดีอยู่แล้วนั้นเสียหาย  นั่นคือต้องกระจายอำนาจลงสู่ภาคประชาชนมากขึ้นและต้องทำอย่างจริงใจมากกว่าที่ผ่านมา  ด้านการศึกษาต้องส่งเสริมให้เกิดการสร้างสังคมที่ดีงาม สื่อต่างๆ ต้องสร้างวัฒนธรรมในการตรวจสอบระบบการเมือง  ทำอย่างไรให้กลไกมันเดินไปได้ด้วยดี

อ.จอน  อึ้งภากรณ์ รักษาการณ์สมาชิกวุฒิสภา กทม. : ภารกิจในการปฏิรูปการเมือง เรื่องแรก กลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ อันนี้อาจจะเน้นที่รัฐธรรมนูญก็ได้ เป็นเรื่องของการคิดใหม่ในเรื่ององค์กรอิสระ เพราะว่าทำไมองค์กรอิสระใน รัฐธรรมนูญปี ๔๐ คิดว่ามันจะอิสระ แต่จริงๆ แล้วไม่อิสระเลย วุฒิสภาก็ไม่อิสระ องค์กร กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่อิสระ ถูกแทรกแซงหมด และก็เลวร้ายทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็ต้องคิดใมห่เรื่องระบบการตรวจสอบถ่วงดุลกันไม่ให้มีอำนาจ  เรื่องที่สอง การมีส่วนร่วมของประชาชนหรือการที่ประชาชนมีสิทธิและอำนาจของชุมชน ต้องพัฒนาให้ได้ และการมีส่วนร่วมก็คือ การเมืองของภาคประชาชน การตรวจสอบนโยบายต่างๆ การมีสิทธิมีเสียงของชุมชนที่จะบอกว่าโครงการอะไรที่จะให้ทำหรือไม่ให้ทำในชุมชน สิ่งเหล่านี้ต้องทำให้เป็นจริง  เรื่องที่สาม การสร้างสังคมให้เป็นธรรม คือ การปฏิรูประบบเศรษฐกิจ การนำระบบการเก็บภาษีก้าวหน้าในลักษณะที่จะนำระบบสวัสดิการสังคมหรือรัฐสวัสดิการ ทุกคนต้องเข้าถึงระบบการศึกษาได้ ทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพได้จริงจัง ต้องมีความมั่นคงในชีวิตในที่ดินต้องปฏิรูปที่ดิน

ทิชา ณ  นคร เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ : สิ่งที่องค์กรผู้หญิงอยากเห็นภายใต้การปฏิรูปการเมืองก็คือ ความเสมอภาคในกฎหมายและความเสมอภาคในทางโอกาส การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๓๐ วรรค ๓ บอกเอาไว้ปรากฏอยู่ เพราะว่าเรื่องนี้เป็นรากเหง้าเป็นปัญหาเชิงทัศนคติ และการปฏิรูปการเมืองในมิติทางการศึกษา จะต้องไม่ลืมเนื้อหาของหลักสูตรการศึกษาที่จะต้องตอบโจทย์สังคมไทยได้บ้าง เพื่อที่จะให้เด็กไทยได้วิเคราะห์วิจารณ์ ได้สังเคราะห์ ได้ทำอะไรก็แล้วแต่ที่มันเป็นต้นทุนที่จะนำมาสู่ เป็นประชาชนผู้ไม่พ่ายแพ้ง่าย  

อ.สมชาย  ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ : ข้อที่หนึ่ง การปฏิรูปการเมืองต้องไม่ใช่การปฏิรูปการเมืองโดยคนชั้นนำ ต้องเป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมโดยคนในสังคม โดยองค์กรกลุ่มต่างๆ มากมายอย่างกว้างขวาง ข้อที่สอง เนื้อหาที่จะเข้าไปต้องไม่เน้นเฉพาะการปฏิรูปการเมืองของนักการเมือง ตอนนี้ถ้าพูดถึงการปฏิรูปการเมืองชอบพูดถึง การปลดล็อค ๕๐ วัน ส.ส.ต้องลงสมัครได้โดยไม่สังกัดพรรคการเมือง ๙๐ วัน แบบนี้มันเป็นการปฏิรูปด้วยชนชั้นนำและนักการเมือง สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้สังคมมีพลังในการกำกับรัฐ เช่น หนึ่งแสนชื่ออภิปรายนายกฯ ได้ หรือการกำหนดนโยบายสำคัญของรัฐต้องผ่านประชามติ  

ดร.ฉลาดชาย รมิตานนท์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ : ประเด็นปฏิรูปการเมืองนั้น ผมคิดว่าการปฏิรูปการเมืองต้องลึกซึ้ง ละเอียด มองกลับไปที่ปัญหารากเหง้า ไม่ใช่มองแค่มาตรา ๓๑๓ ที่ทักษิณเสนอว่าหากจะปฏิรูปการเมืองต้องปลดล็อคมาตรา ๓๑๓ ก่อน ซึ่งผมมองว่ามันตื้นเกินไป ระบบในที่นี้ผมอยากให้มองว่าเราต้องการสร้างสังคมแบบไหน สร้างชีวิตแบบไหนให้ประชาชน เราต้องการสังคมที่มั่งคั่งร่ำรวยแต่ขณะเดียวกันก็มีความเป็นธรรม  ไม่สร้างปัญหาช่องว่างระหว่างชนชั้นคนรวยคนจนที่ห่างออกไปเรื่อยๆ ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เราต้องการสังคมที่ยังมีศีลธรรมจริยธรรม ไม่ถูกครอบงำด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เราต้องการสังคมที่เคารพในสิทธิมนุษยชน มันต้องคิดให้ลึกถึงระดับนี้ ไม่ใช่คิดเพียงว่าจะปลดล็อคการเมืองโดยปรับแก้มาตราใดมาตราหนึ่งเท่านั้น ๑๐

นายคำเดื่อง  ภาษี  ปราชญ์ชาวบ้าน จ.บุรีรัมย์ : การเขียนรัฐธรรมนูญต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกสาขาอาชีพเข้ามาระดมความคิดเห็น อย่าบอกว่า พระไม่เกี่ยวกับการเมือง ถือว่าทุกคนที่เป็นคนไทยเกี่ยวข้องหมด ไม่ว่าเด็ก คนพิการ ต้องมีส่วนร่วม และอย่าไปยึดติดว่าคนร่างรัฐธรรมนูญต้อง ๙๙ หรือ ๑๐๐ คน  เอามาเป็น ๕๐๐ เป็น ๑,๐๐๐ คนมาช่วยกัน เวลาในการร่างก็อย่าจำกัดแค่ ๑ – ๒  ปี ต้องร่างกันยาวๆ เฉพาะหน้าอาจร่างฉบับบังคับใช้ชั่วคราวก่อน ส่วนฉบับจริงอาจจะต้องใช้เวลาร่าง ๘ - ๑๐ ปี ก็ต้องทำเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด ให้เป็นรัฐธรรมนูญสายพันธุ์ไทยแท้ๆ อย่าไปคิดว่าต้องเอาตัวอย่างจากอเมริกาเท่านั้นถึงจะถือว่าเป็นที่สุดของโลก แต่เราต้องร่างของเราขึ้นมาให้เป็นที่สุดของโลก  ใครไม่เอากับเราก็ช่างเขา ขอให้เป็นความภูมิใจของเราเอง ๑๑

.......................................................................


ข้อเสนอการปฏิรูปการเมือง ของ สมัชชาคนจน
“สร้างประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน”
๑๒ 

เป้าหมายและหัวใจสำคัญต่อการปฏิรูปการเมือง

๑. ต้องเอาความจริง ความยุติธรรม และจารีตประเพณีเป็นที่ตั้ง และสำคัญกว่ากฎหมาย
๒. ประชาชนต้องกำหนดอนาคตตนเอง ต้องพึ่งตนเอง และเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองนำเสนอ
๓. กฎหมายที่เกิดขึ้นต้องเป็นกฎหมายที่รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง
๔. รัฐธรรมนูญต้องมีชีวิต มีจิตวิญญาณ กินได้ และจับต้องได้

...................................................................................


เครือข่ายสลัม ๔ ภาค และเครือข่ายการปฏิรูปที่ดิน ๑๓ 

ที่ดินทางการเกษตรถูกรุกโดยอุตสาหกรรม  เกษตรล่มสลายแล้วเข้ามาอยู่ในเมือง แออัดในสลัมซึ่งเป็นที่ดินรัฐ  การเข้าถึงที่ดินเป็นองค์ประกอบสำคัญของความมั่นคงทางอาหารและวัฒนธรรม ศักดิ์ศรีของชุมชน

  • การกำหนดนโยบายสาธารณะ (เช่น  การแปรรูป , FTA , การประกาศสงคราม) ที่ส่งผลต่อคนทั้งประเทศต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยผ่านประชามติ
  • การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลต้องดูแลสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จะขายออกไปไม่ได้
  • การกำหนดนโยบายสาธารณะ โครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อประชาชน ต้องทำประชาพิจารณ์ และสอบถามประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่การแจ้งให้ทราบ
  • การตรวจสอบ  การถอดถอน ส.ว.  ส.ส.  ผ่าน ปปช. ให้มีการตรวจสอบหลายๆ ช่องทาง  ประชาชนสามารถยื่นต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาทางการเมืองได้
  • การเปิดอภิปรายนายกฯ ในสภาให้ลดจำนวน ส.ส.ลงเหลือ ๑ ใน ๕ ของสภาผู้แทนราษฎร
  • กระจายการถือครองที่ดิน  เก็บภาษีอัตราก้าวหน้าในพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จัดสรรพื้นที่เหล่านี้ให้คนจนได้มีที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชีวิต  ไม่ใช่ไร่รื้อ
  • การศึกษา  การศึกษาฟรี ๑๒ ปี ที่ไม่เสียค่าเทอม แต่กลับมีรายจ่ายอื่นแฝงซึ่งมากกว่าค่าเทอม  รัฐต้องสนับสนุนการศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา
  • รัฐวิสาหกิจพื้นฐานที่จำเป็น ต้องไม่ขาย / แปรรูป ให้เอกชนดำเนินการ

..........................................................................


ข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองภาคประชาชนกับการแก้ไขปัญหาความยากจน
เชิงโครงสร้าง เศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง

(ข้อเสนอจากกลุ่ม ๒ ประกอบด้วย สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้, เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน, เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ) ๑๔ 


แนวคิดการปฏิรูปการเมืองภาคประชาชน

  • เป็นขบวนการสร้างการเรียนรู้และสร้างอำนาจของภาคประชาชน ลดอำนาจรัฐและนำไปสู่การกำหนดอนาคตของตัวเอง การปฏิรูปการเมืองจะต้องมีการปฏิรูปกฎหมายควบคู่กันไปด้วย เพราะกฎหมายหลายๆ ส่วนเป็นปัญหาและทำให้ภาคประชาชนไม่สามารถเข้าถึง หรือสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมได้ เช่น กฎหมาย ๑๑ ฉบับ, กฎหมายลูกภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ
  • สร้างความสมานฉันท์ของคนในสังคมท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แนวทางปฏิรูปการเมืองที่จะนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์ สร้างสังคมที่ดีร่วมกัน และอยู่บนฐานของจารีตและวัฒนธรรมของชุมชน  


แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง

  • สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน  ต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์  รวมถึงความหลากหลายทางภูมิประเทศในแต่ละพื้นที่
  • สิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน  น้ำ ป่า ชายฝั่งทะเล และทรัพยากรชีวภาพ
  • สิทธิและอำนาจของประชาชนในการมีส่วนร่วมพิจารณา และตัดสินใจต่อโครงการขนาดใหญ่ ตามนโยบายของรัฐ   อาทิ  ข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ  (FTA / WTO) หรือการกำหนดพื้นที่ใดๆ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ  เป็นต้น
  • สิทธิและการมีส่วนร่วมของชุมชนในท้องถิ่น ต่อกรณีการจัดการศึกษาทางเลือก และกระบวนการในการสรรหาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • สิทธิในที่อยู่อาศัย กรณีขอบเขตและกรรมสิทธิ์ของกลุ่มชุมชนแออัด  ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปี ๒๕๔๒ ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการเว้นวรรคพื้นที่ / เว้นที่ว่าง
  • การปฏิรูปสื่อ ให้มีความอิสระในการนำเสนอ  และให้กระจายไปสู่ท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึงจริง   เพื่อเป็นกลไกกลางในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมของคนในสังคม 
  • สิทธิของผู้บริโภค ในมาตรา ๕๗  และกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ ที่ควรแก้ไขให้มีความเป็นอิสระจริง ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมโดย สคบ.
  • การตรวจสอบอำนาจรัฐ และการถ่วงดุลอำนาจ
  • การจำกัดคุณวุฒิของผู้ลงสมัคร ส.ส. และ ส.ว. ควรแก้ไขระเบียบการกำหนดวุฒิการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรี ด้วยเป็นการกีดกันประชาชนกลุ่มต่างๆ ผู้ไม่ได้รับหรือด้อยโอกาสทางการศึกษาในทางอ้อม เสนอให้ระบุเรื่องคุณสมบัติเป็นเกณฑ์ในการรับสมัคร เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคแรงงานเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น
  • การระบุคุณสมบัติ  หรือเกณฑ์ในการวัดจริยธรรมของนักการเมือง
  • การพัฒนาการรับรู้ทางการเมืองของประชาชน  เช่น การสร้างองค์ความรู้เฉพาะ สนับสนุนการสร้างโรงเรียนการเมือง รวมถึงการสร้างกลไกการเรียนรู้ผ่านระบบสื่อพร้อม
  • กลไกการดำเนินงาน และกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ  ต้องมีภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ และองค์กรอิสระนี้ต้องมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง
  • การสร้างโอกาส หรือช่องทางในการผลักดันให้กลุ่มเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง
  • กระบวนการสรรหาตัวแทนในระบบการเลือกตั้ง ชุมชนและประชาชนควรเป็นผู้กำหนดและตัดสินใจร่วมว่า  ภาครัฐควรดำเนินการจัดเลือกตั้งหรือไม่ 
  • การบริหารราชการแผ่นดิน ทีมผู้บริหารประเทศต้องให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ  และการใช้อุดมคติในการบริหารงานมากกว่าการยึดมั่นแบบฉบับ CEO 


แนวทาง และจังหวะก้าวในการดำเนินงานในอนาคต

หลักการทำงาน  
กระบวนการปฏิรูปจะต้องสร้างการเรียนรู้ในมิติทางการเมืองภาคประชาชน   และต้องสร้างกระบวน การมีส่วนร่วมจากประชาชนที่เป็นรากหญ้า หรือจากฐานของชุมชนอย่างแท้จริง

กระบวนการ
๑. การสร้างกลุ่ม / สร้างทีม เพื่อเสริมการเรียนรู้ การเติมเต็มข้อมูลในระดับพื้นที่ โดย จัดกลุ่ม  จัดเวที เพื่อรณรงค์ข้อมูล  การวิเคราะห์ภาพรวม และลงรายละเอียดในแต่ละประเด็น ซึ่งประกอบด้วย ผลกระทบของประชาชนจากระบอบทักษิณ การใช้ช่องว่างของตัวกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ  ในการตักตวงผลประโยชน์ของกลุ่มนักการเมือง กลุ่มนายทุน  หรือกลุ่มเครือญาตินักการเมือง การเมืองของชุมชน  หรือประชาธิปไตยของชุมชนกับประสบการณ์ที่ผ่านมา  และนำไปสู่การวิเคราะห์ภาพกว้างขึ้น การแลกเปลี่ยนประเด็น  และดึงเป็นข้อเสนอร่วม

๒. รวบรวม และประมวลข้อเสนอจากชุมชน / รากหญ้า

กลไกในการดำเนินงาน
๑. กลไกระดับจังหวัด : มีบทบาทในการเชื่อมประสานกลุ่ม เครือข่ายภาคประชาชน  และพันธมิตรในจังหวัด  เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และระดมข้อเสนอในภาพรวม ทั้งนี้ ระบุสร้างข่ายประเด็นต่างๆ ด้วย เช่น แรงาน  เกษตร หรือ สลัม เป็นต้น
๒. กลไกระดับพื้นที่  :  การรณรงค์ความรู้ และข้อมูลให้เข้าถึงกลุ่มรากหญ้า
๓. กลไกระดับภาค และส่วนกลาง  :  สนับสนุนข้อมูล องค์ความรู้ วิทยากร   และเป็นตัวเชื่อมประสานกลางในแต่ละส่วน  

....................................................................................  


นโยบายพรรคการเมืองต่างๆ ต่อการปฏิรูปการเมือง ๑๕

พรรคไทยรักไทย
ข้อเสนอของ "โภคิน พลกุล" รองหัวหน้าพรรค เริ่มจากแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๑๓ เพื่อให้คณะบุคคลที่เป็นกลางและมาจากทุกภาคส่วนของสังคม รวม ๑๒๐ คน ใช้ชื่อว่า "สภาปฏิรูปการเมือง" เข้ามาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนลงประชามติ เมื่อเสร็จแล้วก็ให้สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงภายใน ๓๐ วัน แล้วเลือกตั้งใหม่ ทั้งหมดนี้ใช้เวลา ๑ ปี

พรรคประชาธิปัตย์
เสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๑๓ เช่นกัน เพื่อให้บุคคลที่มีความเป็นกลางทางการเมือง มีที่มาหลากหลาย และต้องมีส่วนร่วมจากประชาชน ยกร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นนำเข้าสู่รัฐสภา โดยสภาทำหน้าที่เห็นชอบหรือไม่เท่านั้น หากไม่เห็นชอบก็ให้ทำประชามติ ประเด็นที่ต้องการแก้ไขคือ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทั้งจากองค์กรอิสระ ฝ่ายนิติบัญญัติ และภาคประชาชน เรื่องคุณสมบัติผู้สมัครในเรื่องวุฒิการศึกษา เมื่อยกร่างเสร็จแล้วก็ยุบสภาแล้วให้เลือกตั้งใหม่

พรรคชาติไทย
เริ่มจากแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๑๓ เพื่อให้ประชาชนหรือคนกลางเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข โดยจะแก้เรื่องการสรรหาองค์กรอิสระให้ปราศจากการแทรกแซง แก้ไขสัดส่วนบัญชีรายชื่อ จากอย่างน้อยร้อยละ ๕ เป็นร้อยละ ๑ ได้ ส.ส. ๑ ที่นั่ง คุณสมบัติผู้สมัคร และกระบวนการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ซึ่ง "บรรหาร ศิลปอาชา" หัวหน้าพรรค บอกว่าใช้เวลา ๖ เดือน

พรรคมหาชน
แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๑๓ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ให้รัฐสภาต้องหยิบยกกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนมาพิจารณา ลดจำนวน ส.ส. ให้สามารถตรวจสอบนายกรัฐมนตรีได้ง่ายขึ้น (จากเดิมใช้เสียง ๒๐๐ เสียงขึ้นไป) และให้มีองค์กรภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมาธิการในสภาได้

มาตรา ๓๑๓ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะกระทำได้ก็แต่โดยหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้ ๑) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีของสภาฯ หรือจากสมาชิก ส.ส.และ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ส.ส.จะเสนอหรือร่วมเสนอญัตติดังกล่าวได้เมื่อพรรคการเมืองที่ ส.ส.นั้นสังกัดมีมติให้เสนอได้ ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้ ...



 “ประชาธิปไตยไม่ใช่เป้าหมายของผม ประชาธิปไตยเป็นเพียงยานพาหนะ ซึ่งเราไม่สามารถขับรถยนต์โรสรอยซ์เข้าไปแก้ไขปัญหาชาวบ้านในชนบทได้ แต่รถกระบะหรือรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อต่างหากที่จะสามารถทำอย่างนั้นได้ ดังนั้นเราจะต้องคิดให้รอบคอบและเลือกในสิ่งที่เหมาะสม”  พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตรกล่าวไว้เกี่ยวกับการขจัดความยากจน  (น.ส.พ.เดอะเนชั่น วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๖)

 พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร กล่าวไว้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๙  เมื่อมีการเรียกรัองให้ลาออกจากตำแหน่ง  ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๙ ( น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๙)

 บทความเรื่อง การเมืองภาคประชาชน กับภารกิจ ๘ ประการ โดย ศ.นพ.ประเวศ  วะสี  จาก Manager Online  วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๙ 

 แถลงการณ์ผ่าทางตัน เว้นวรรคทักษิณ ปฏิรูปการเมือง โดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและนักวิชาการทั่วประเทศ จาก http://www.prachathai.com/  วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๙

 แถลงการณ์เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนเพื่อปฏิรูปการเมืองและสังคม ๒๖ เครือข่าย

สัมมนาการปฏิรูปการเมืองไทย วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๔๙ ณ ห้องประชุม ๑๐๑ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้

 สัมมนาการปฏิรูปการเมืองไทย วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๔๙ ณ ห้องประชุม ๑๐๑ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 เวทีอภิปรายปฏิรูปการเมือง ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๙ ณ อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา

๑๐ มองสังคมไทยหลังเลือกตั้ง  จาก สำนักข่าวประชาธรรม

๑๑ มองสังคมไทยหลังเลือกตั้ง จาก สำนักข่าวประชาธรรม

๑๒ เอกสารประกอบ สัมมนาการปฏิรูปการเมืองไทย วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๔๙ ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

๑๓ ข้อเสนอเครือข่ายสลัม ๔ ภาค และเครือข่ายการปฏิรูปที่ดิน ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒

๑๔ การประชุมเชิงปฏิบัติการ ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการเมืองไทยครั้งที่ ๒  วันที่  ๒๖  เมษายน ๒๕๔๙  ณ ห้องประชุมเปรมปุรฉัตร   สถาบันภาษา    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยเครือข่ายองค์กรประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองและสังคม ๒๖ เครือข่าย และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 

๑๕ เทียบนโยบาย "ปฏิรูปการเมือง" จุดขาย" ของทุกพรรค  จาก น.ส.พ.มติชนรายวัน วันที่ ๑๐  พฤษภาคม  ๒๕๔๙ 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >