หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 170 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


เยาวชนกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดย ฝ่ายเผยแพร่เพื่อการมีส่วนร่วม พิมพ์
Tuesday, 22 August 2006
  
ภาพจาก www.rangkids.comภาพจาก www.rangkids.comภาพจาก www.rangkids.com

เยาวชนกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง

โดย ฝ่ายเผยแพร่เพื่อการมีส่วนร่วม


แรงคิด - ต้นกล้าประชาธิปไตย

“เรามองว่าเยาวชนสนใจเรื่องบ้านเมืองน้อยมาก หลายคนเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัวมากๆ หรือคิดว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ จะมาทำทำไม โดยที่ไม่มองว่าเขาเองก็ต้องรับผลกระทบนี้ในอนาคตด้วย” 

ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย หรือ โน้ต เด็กหนุ่มวัย ๑๙ ปี นักศึกษาชั้นปีที่ ๒ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มแรงคิด บอกถึงจุดประสงค์ของการก่อตั้งกลุ่มแรงคิดซึ่งเป็นกลุ่มลูกหลานของคนเดือนตุลาฯ ที่มารวมตัวกันจัดกิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งสะท้อนแนวคิดด้านประชาธิปไตย รวมถึงปัญหาสังคม และเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชน อย่างเช่น โครงการสภากาแฟเยาวชนซึ่งเปิดเวทีให้เยาวชนได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อต่างๆ ซึ่งจะเป็นไปตามสถานการณ์สังคมในช่วงเวลานั้นๆ อาทิ ตามรอยไข้หวัดนก ผลกระทบสู่เยาวชนไทย, การแปรรูปรัฐวิสาหกิจและผลกระทบสู่สังคมไทย, อนาคตระบบการศึกษา จะเดินหน้า หรือถอยหลัง? ฯลฯ

ในช่วงที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อปี ๒๕๔๗ กลุ่มแรงคิดก็ได้คิดโครงการ “เยาวชนใช้สิทธิเกินร้อย” โดยจัดให้มีการเลือกตั้งจำลองในโรงเรียนมัธยมศึกษา ๙ แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร เปิดโอกาสให้เยาวชนได้ทดลองใช้สิทธิในการเลือกตั้ง “เลือกผู้ว่า กทม. ในใจของเยาวชน”ซึ่งเป็นการให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตย และให้เยาวชนเห็นความสำคัญของการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 

นับวันกิจกรรมของกลุ่มแรงคิดก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น และยิ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาใส่ใจในปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวมอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ว่าจะเป็นการทำป้ายประท้วงในหัวข้อต่างๆ เช่น เอฟทีเอ, ปัญหาไฟใต้, การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ, การขายหุ้นชินคอร์ป เป็นต้น

และเมื่อเกิดวิกฤติศรัทธาเรื่องของความชอบธรรมในตัวผู้นำประเทศ กลุ่มแรงคิดถึงกับไปยื่นจดหมายถามหาคำตอบจากนายกฯ ถึงวิธีแก้ไขปัญหาความไม่น่าเชื่อถือของรัฐบาลชุดนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๙ เลยทีเดียว สำหรับเรื่องนี้โน้ตบอกว่า

“แรงคิดอาจจะอ้างได้ว่าเป็นเยาวชนกลุ่มแรกที่ออกมาเลย เพราะเราไปยื่นหนังสือให้ท่านนายกฯ ก่อนแล้วตั้งแต่ต้นปี แต่ไม่มีใครสนใจ เราเริ่มมองเห็นปัญหาแล้วว่ามันจะเกิดเรื่องขึ้น ผมไม่อยากปล่อยให้ม็อบหัวหงอก คือ ผู้ใหญ่ ต่อสู้กันโดยลำพัง เพราะว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ก็กระทบกับเราในอนาคตอยู่แล้ว และสิ่งที่กลุ่มพันธมิตรฯ พยายามจะเรียกร้อง ยังไงโตขึ้น เราก็ต้องใช้ ผมเคยคุยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในพันธมิตรฯ  ท่านเคยบอกผมว่า ลุงไม่เคยคาดหวังว่าเยาวชนจะมานั่งอยู่ตรงนี้กับพวกลุง ลุงคาดหวังว่าเมื่อลุงทำสำเร็จ เมื่อเราได้ประชาธิปไตยเต็มใบขึ้นมาจริงๆ แล้วพวกเรารู้จักนำไปใช้ นั่นคือสิ่งที่เขาหวัง ผมก็เลยรู้สึกว่า เรายิ่งต้องออกมานะ เพราะเท่ากับเราเรียกร้องเพื่อตัวเราเอง ไม่ได้เรียกร้องให้คุณสนธิ ไม่ได้เรียกร้องให้พันธมิตรฯ แต่สิ่งที่เราออกมาคือ สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นมันจะมีผลกระทบกับเรา”

โน้ตบอกถึงเหตุผลที่กลุ่มแรงคิดออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลหลักคือ ขาดความชอบธรรมด้านคุณธรรม – จริยธรรม

“ผมว่า นายกฯ ไม่ชัดเจนในหลายๆ เรื่อง เช่น สื่อต้องอยู่ในมือของเอกชน แต่เขากลับครอบงำสื่อ แล้วก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ครอบงำ อย่างการถอดรายการลุงสนธิช่วงนั้นเห็นได้ชัดเลยว่า “ครอบงำ” พอถอดปุ๊บ ก็ฟ้องเขาปั๊บ ซึ่งรัฐบาลจริงๆ ควรจะยอมรับต่อคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นๆ ยอมรับในที่นี้หมายความว่า ฟัง และถ้าผิดจริงก็แก้ ถ้าไม่ผิดก็โชว์หลักฐานเลย แต่นี่เล่นไม่ทำอะไรเลย ทำเป็นใบ้ไปซะอย่างนั้น คนก็เลยสงสัยมาเรื่อยๆ ซิครับ ความชอบธรรมของเขาก็เลยหมดไป แทนที่จะทำอะไรให้มันชัดเจน”


เราถามโน้ตว่า เยาวชนส่วนใหญ่จะชื่นชอบนายกฯ คนนี้มาก เปรียบเสมือนเป็นฮีโร่ของคนรุ่นใหม่ที่อยากเดินรอยตามเลยทีเดียว แล้วตัวเขาเองล่ะเคยคิดแบบนี้ไหม

Image“ไม่ ผมเอะใจกับคำพูดของท่านคำหนึ่งว่า อีกหน่อยคนจนจะหมดไป แล้วมันก็จะหมดจริงๆ คือ ตายหมด เพราะว่าไม่มีอะไรจะกินแล้ว เขาใช้ระบบการปกครองแบบที่ไม่ค่อยเหมาะกับเมืองไทยเท่าไหร่ เรื่องทุนนิยม ประชานิยม ประเทศเราคล้ายอาร์เจนตินาเข้าไปทุกวันแล้ว  ถ้าดูดีๆ กองทุนหมู่บ้านเองก็คือการซื้อเสียงทางอ้อมเพราะนโยบายนี้ออกมาตอนจะเลือกตั้งรอบสอง วิธีการมันผิดน่ะ ไม่ใช่นโยบายไม่ดี นโยบายบางเรื่องของไทยรักไทยผมเห็นด้วยว่าดี เช่น นโยบาย ๓๐ บาท ถ้าได้มาตรฐานจริงก็ถือว่าโอเค กองทุนหมู่บ้านก็โอเค แต่ถามจริงๆ ว่าชาวบ้านได้เงินจริงหรือเปล่า แล้วเขาให้ความรู้กับชาวบ้านหรือเปล่าว่า เงินที่ให้นั้นเอาไปทำอะไร ไม่ใช่เอาไปซื้อหวย การพนัน อะไรสิ้นเปลือง”


แล้วเขาคิดอย่างไรกับเยาวชนอีกจำนวนมากที่ไม่สนใจปัญหาสังคมหรือการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง

“เพื่อนผมบางคนบอกว่า เขาโกงชาติ ไม่ได้โกงกู ผมก็คิดว่า เออ แล้วประเทศชาติไม่ใช่ของมึงเหรอ ผมก็อยากจะสวนเขาเหมือนกัน คือมันอยู่ที่จิตสำนึกเด็กส่วนหนึ่ง การปลูกฝังของพ่อแม่ส่วนหนึ่ง สถาบันการศึกษาก็มีส่วน ทุกอย่างมันหล่อหลอม สังคมมันหล่อหลอมให้เยาวชนวันนี้ไม่ตื่นตัวกับสถานการณ์ต่างๆ เท่าที่ควร ไม่อยากจะโทษใคร เพราะมีหลายส่วนที่บีบให้เยาวชนไทยเป็นอย่างนี้”

“พ่อแม่มีส่วนมากกับการตัดสินใจหรือการทำอะไรก็ตามของวัยรุ่นสมัยนี้ ต่างกับยุคพ่อแม่ผมที่บอกไปเลย ลุยเลย สมัยนั้นพ่อเล่าว่า มีโปสเตอร์ที่พ่อแม่ของนิสิตนักศึกษาเขียนเลยว่า สู้เถิดลูกเพื่ออนาคตของพวกเราเอง ซึ่งรุ่นนี้ไม่มีแล้ว นักศึกษาไม่ค่อยออกมา แล้วยิ่งตอนนี้เจอทุนนิยมวัตถุนิยมเข้ามาเบรค Say ‘No’ กันเป็นแถวเลย หลายคนบอกอยู่บ้านสบายดีกว่า ไม่ต้องออกมาร้อน ออกมาตากแดด”


เมื่อถามโน้ตถึงสถานการณ์ทางการเมืองหลังการชุมนุมยืดเยื้อผ่านพ้นไปซึ่งมีการพูดกันมากถึงการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ เขาคิดว่าเยาวชนควรจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง

“ผมก็อยากเสนอว่าให้มีเด็กและเยาวชนเข้าไปนั่งในคณะอนุกรรมการหรือกรรมการชุดต่างๆ  เพราะเด็กก็มีปัญหาของเด็ก และเด็กเองก็เป็นพลังที่บริสุทธิ์ เขาจะไม่มีเบื้องหลัง เช่น เรื่องเงิน เรื่องการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้ารับฟัง ผู้ใหญ่หลายคนจะได้อะไรมากกว่าที่คิด แต่ผู้ใหญ่อีกหลายคนยังไม่คิดว่า เด็กก็มีความคิด เพราะฉะนั้นถ้าทำได้ ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี และจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น”


และถ้าเขาสามารถเสนอประเด็นใดก็ได้ให้ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจหรือมีหน้าที่ในการปฏิรูปการเมืองล่ะ

Image“ควรให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนอย่างเท่าเทียมกันและทั่วถึง คือ สื่อสองด้านเลย ทั้งสื่อที่ต่อต้านรัฐและสื่อที่เห็นด้วยกับรัฐ ไม่ใช่ใส่ข่าวด้านเดียวตลอดเพื่อกรอกหูว่า ฉันทำดีนะ ฉันทำได้ ถ้าสื่อเข้าไปถึงทุกคนแล้ว ผมคิดว่า ปัญญาจะเกิดขึ้น ไม่อยากจะบอกว่า ให้ปฏิรูปการศึกษาให้เยอะๆ แต่ว่าเรื่องสื่อนี่ผมว่าเข้าถึงคนง่ายกว่า เอาง่ายๆ อย่างคนจบ ป.๔  ก็ดูทีวีได้ ไม่จำเป็นต้องมานั่งอ่านหนังสือ เพราะฉะนั้นถ้าทีวี-วิทยุไทย ให้ความรู้และให้ข่าวสารแก่ประชาชนอย่างจริงจังและครบถ้วนทุกด้าน ผมมองว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีว่าอนาคตประเทศชาติจะพัฒนาไปอย่างไร เพราะเมื่อคนเริ่มมีความรู้ กลไกต่างๆ จะเริ่มเดินไปโดยอัตโนมัติ แต่ตอนนี้มันไม่เดินเพราะว่า อย่างทีวี ช่วงไพรม์ไทม์ จะมีแต่ละครและเกมโชว์ คนก็ดูแต่ละคร ไม่มีความรู้มาเข้าหัวเลย ทำให้ประเทศชาติมันไปไม่ได้ มันเป็นเรื่องไร้สาระไปหมดเลย”


สนใจการเมืองมากอย่างนี้ คิดอยากเป็นนักการเมืองบ้างไหม

“ไม่เคยคิดครับ หลายคนก็แซวๆ ว่าใกล้แล้วล่ะ แต่ว่าไม่ค่อยอยาก “อาชีพนักการเมือง” ผมมองว่า ตอนนี้ประเทศไทยขาดนักการเมืองอาชีพนะ ไม่ใช่อาชีพนักการเมือง นักการเมืองอาชีพคือ ไม่ใช่เข้ามาโกง คุณต้องเสียสละเป็น คุณต้องรู้ว่าคุณจะทำอะไร ไม่ใช่เข้ามาแล้วโกง เข้ามาแล้วกินกัน อันนี้คือ อาชีพนักการเมือง เป็นอาชีพๆ หนึ่งที่เข้ามาหาผลประโยชน์ หาเงินแล้วก็ออกไป แต่นักการเมืองอาชีพ ดูอย่างประเทศฟินแลนด์ คอร์รัปชั่นน้อยที่สุดในโลก เพราะอาชีพนักการเมืองของเขา เขารู้ว่าเขาต้องทำอย่างไร ทำอะไร เพื่อใคร แต่เมืองไทยไม่ใช่อย่างนั้นไง นี่คือสิ่งที่ควรเกิดขึ้นในเมืองไทยในอนาคต”


เมื่อถามโน้ตว่า เขารู้สึกอย่างไรที่ในยุคสมัยของพ่อแม่เป็นนิสิตนักศึกษา ต้องออกมาต่อสู้คัดค้านเผด็จการ มาถึงยุคนี้ตัวเขาเองก็ต้องมาทำหน้าที่เช่นเดียวกับรุ่นพ่อแม่อีกครั้งหนึ่ง

“การต่อสู้ของรุ่นพ่อแม่ไม่เหมือนกับรุ่นเราแล้ว สมัยพ่อกับแม่อย่าลืมว่ามันเป็นเผด็จการแบบเห็นชัด มาเป็นทหารเลย ถือปืน เห็นชัดเลย แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แบบนั้น เขามาโดยถูกต้อง เขามาตามประชาธิปไตยแต่สิ่งที่เขาทำมันไม่ใช่ประชาธิปไตยเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นวิธีการต่อสู้มันยากกว่า ผมเคยคุยกับพ่อแม่ลุงป้าคนรุ่น ๑๔ ตุลา เขายังพูดเลยว่า ไล่คุณทักษิณ ยากกว่าไล่เผด็จการคนอื่น เพราะมันดึงมวลชนออกมาไม่ได้ เพราะไม่เห็นภาพชัดเจนเหมือนยุคก่อนๆ  และการออกมาเข้าร่วม เราเป็นเด็กเราอาจจะมาเป็นจุดเล็กๆ ของม็อบหัวหงอก แต่จุดเล็กๆ นี้ก็สำคัญ เพราะอีกหน่อยก็ต้องเข้ามานั่งทำแทนผู้ใหญ่ที่นั่งกันตอนนี้ ผมเคยพูดเสมอและเป็นคำติดปากของกลุ่มฯ เรา ผมให้สโลแกนว่า เยาวชนไม่ได้ขอเป็นแค่อนาคตของชาติ แต่เราขอเป็นปัจจุบันด้วย เพราะตอนนี้เราก็ต้องเข้ามาสู้แล้วล่ะ เพื่ออนาคตของเราด้วย”


แล้วสังคมแบบไหนกันล่ะที่เขาอยากให้เป็น

“อยากจะเห็นสังคมไทยเป็นไปในทิศทางที่คนทุกชนชั้นอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องถึงกับว่ารวยหมดทุกคน เพราะถ้าจะไม่ให้มีคนจนน่ะ เป็นไปไม่ได้ แต่ทำอย่างไรล่ะ ให้คนจนเขารู้จักใช้ชีวิต รู้จักอยู่อย่างพออยู่พอกิน หรือว่าคนรวยแล้วก็รู้จักใช้แล้วเผื่อแผ่ให้คนอื่นบ้าง เพื่อให้ทุกส่วนมันเฉลี่ยๆ กันไป ไม่ใช่ว่า คนรวยก็รวยไป คนจนก็จนเอา มันอยู่ที่การให้ความรู้ การแบ่งปันกัน การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งสังคมไทยตรงนี้มันหายไปเยอะมาก ไม่เหมือนเมื่อก่อนสมัยปู่ย่าตายายเรา กินอยู่กัน เนี่ยะ ฉันตกปลาได้ แกงกินกัน แล้วแบ่งบ้านนู้นบ้านนี้ บ้านนี้ทำผัดผักก็แบ่งกันมา สังคมไทยมันควรจะกลับมาอย่างนั้น เพราะฉะนั้นพระราชดำรัสของในหลวง เศรษฐกิจพอเพียง ผมมองว่า จะทำให้ประเทศอยู่ได้ แต่นโยบายของรัฐมันไม่ใช่อย่างนั้นซิ เศรษฐกิจพอเพียงในความหมายของผมอาจจะไม่ต้องถึงกับทำไร่ทำนาสวนผสมก็ได้ มีพออยู่พอกินก็พอ อย่างผมก็อาจจะไม่ต้องใช้ของแบรนด์เนม ใช้ของที่มีอยู่แล้วให้คุ้มค่า ไม่ใช่ต้องฟู่ฟ่า คือ เศรษฐกิจพอเพียงมันตีความได้หลายอย่าง ถ้าสังเกต กลุ่มผู้ใหญ่หรือคนรวยในสังคมน่ะ ใช้กระเป๋าใบละเป็นหมื่นเป็นแสน ซึ่งมันไม่ใช่การอยู่อย่างพออยู่พอกินน่ะ  เศรษฐกิจพอเพียงเป็นการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและรู้จักใช้อย่างคุ้มค่ามากกว่า”

อ่านมาถึงตรงนี้ คงเห็นแล้วว่าไม่เบาเลยสำหรับความคิดในวัยเพียงเท่านี้ ของ โน้ต -     ยุรชัฏ  ชาติสุทธิชัย หนึ่งในกลุ่มแรงคิด หนึ่งต้นกล้าประชาธิปไตย ลูกไม้ใต้ต้นคนเดือนตุลาที่ยังไม่เปลี่ยนไปตามกระแสโลกาภิวัตน์และทุนนิยมเสรีที่ไหลเชี่ยวกรากอยู่ ณ ปัจจุบันนี้


ศนศ. : คลื่นลูกใหม่ของพลังประชาชน

Imageเป็นที่ฮือฮากันไปทั้งประเทศ เมื่อนักเรียนมัธยมของสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศแห่งหนึ่งออกมาขอแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า พวกเขาเห็นว่านายกรัฐมนตรีหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศแล้ว พร้อมชี้แจงประเด็นการขาดความชอบธรรมของนายกฯ ออกมาเป็นข้อๆ ได้ตรงใจประชาชนทั้งหลายที่ต่างก็เห็นพ้องตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจนิยมแบบเบ็ดเสร็จ การใช้นโยบายประชานิยมกับคนรากหญ้า การขาดศีลธรรมจริยธรรม ฯลฯ นับได้ว่าพวกเขาเป็นต้นแบบที่ได้ปลุกกระแสหรืออาจจะเรียกได้ว่า ปลุกให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาอีกจำนวนมาก พาตัวเองออกมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการชุมนุม เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

และจากการชุมนุมครั้งนี้เองได้ส่งผลให้มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา พากันมาลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับกลุ่มแรงคิดที่ไปตั้งเต็นท์บริเวณท้องสนามหลวงเป็นจำนวนกว่า  ๑,๐๐๐  คน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์ประสานงานนักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือ ศนศ. เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสาร และปฏิบัติงานร่วมกันของกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา รวมถึงการจัดกิจกรรมกระตุ้นให้นักเรียนและนักศึกษา มีความตื่นตัวต่อสถานการณ์ในสังคมมากขึ้น

แม้ ศนศ. จะดูเหมือนเป็นน้องใหม่ในวงการ แต่สิ่งที่พวกเขามีอยู่เต็มเปี่ยมก็คือ พลังของเยาวชนที่พร้อมจะเรียนรู้ มีสำนึกต่อส่วนรวม และมุ่งหวังจะเห็นสังคมที่ดีที่พวกเขามีส่วนร่วมสร้าง ตัวแทนของ ศนศ. ๒ คนนี้เป็นตัวอย่างที่อยากแนะนำให้คุณได้รู้จักแง่มุมความคิดของพวกเขา

น้ำฝน อุตมะโภคิน หรือ แนน  อายุ ๒๐ ปี กำลังศึกษาอยู่ปี ๓ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา  แนนเปรียบเสมือนพี่เลี้ยงของน้องๆ ศนศ. ที่ยังเรียนอยู่ในระดับมัธยมฯ  แนนทำหน้าที่เป็นเหรัญญิก จัดระบบด้านการเงินการบัญชีของกลุ่ม ศนศ. คอยติดต่อประสานงานกับองค์กรต่างๆ  เมื่อ ศนศ. จะจัดกิจกรรม เช่น งานเสวนาเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย โดยเชิญนักวิชาการมาให้ความรู้และข้อมูลแก่น้องๆ เรียกได้ว่า เป็นการทำหน้าที่ของพี่สาวที่แสนดี ซึ่งคอยเอื้ออำนวยความสะดวกทุกอย่างให้กับน้องๆ อย่างเต็มที่และเต็มใจ

และอีกหนึ่งหนุ่มน้อย ศตวรรษ  อินทรายุธ หรือ ปรินซ์  อายุ ๑๙  ปี  ศึกษาอยู่ ปี ๒ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปรินซ์ก็เป็นอีกหนึ่งหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของ ศนศ. กำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนงานและกิจกรรมต่างๆ ให้เดินหน้า 


ความคิดเห็นต่อการเมืองไทย

แนน  ถ้าเป็นคนที่ไม่ค่อยสนใจการเมืองก็จะคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว คิดว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของเรา เราไม่ใช่นักการเมือง เราก็มีหน้าที่เลือกเข้าไป เขาก็ทำไป  แต่ก่อนหน้านี้ ช่วงการเมือง ยกตัวอย่างเช่น ช่วงตุลา ๓๐ กว่าปีก่อน นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมกับการเมืองมาก ทั้งองค์กรนักศึกษาที่ตั้งขึ้นหรือพวกซุ้มต่างๆ ในมหาวิทยาลัยจะมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวพันทั้งหมด แต่พอหลังจากยุคนั้น เช่น ยุค ๖ ตุลา หรือ ยุคปี ๒๕๒๒ นักศึกษาจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลย คือไม่ตื่นตัว และอีกอย่างคือ ทุนนิยมเข้ามาในประเทศเยอะมาก ทำให้นักศึกษาไม่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมือง หนูตอบในฐานะนักศึกษานะคะ คือ เขาสนใจกับโลกของทุนนิยมมากเกินไป เช่น การเรียนหนังสือ บางคนเท่าที่หนูคุยกับเพื่อน เขาเรียนเพื่อตัวเอง แต่ว่าเขาไม่สนใจอะไรที่นอกเหนือไปจากที่ถูกกำหนดมาให้เขาเรียน คือ หนูว่าเด็กสมัยนี้ถูกสอนมาให้รักตัวเองมาก จนเห็นแก่ตัว บางทีเขาเรียนไปเพื่อให้เขาเก่งที่สุด เพื่อเขาจะชนะคนอื่น และเพื่อให้เขาได้ทำงานที่ดีที่สุด และได้เงินมากที่สุดกว่าคนอื่น โดยที่เขาไม่คิดว่าการเรียนของเขามันไม่ได้ทำประโยชน์เพื่อคนอื่น คือ เรียนเอาความรู้เข้าหาตัวเอง  อย่างจบไปทำงาน เขาก็ไม่สนใจว่างานที่เขาทำจะมีประโยชน์กับคนอื่นแค่ไหน  แต่เพื่อให้ตัวเขาเองได้ผลประโยชน์มากที่สุด แต่ถ้าทั้งอาจารย์และผู้ปกครองส่งเสริมและเปิดทางให้นักศึกษานักเรียน ปลูกฝังให้เขาสนใจเรื่องราวของบ้านเมืองบ้าง เช่น ไม่ใช่เลือกคนมาทำงานโดยไม่สนใจเรื่องจริยธรรม การที่เราเลือกเขาให้เก่งอย่างเดียว คล้ายๆ กับเด็กสมัยนี้ ในเรื่องการเมือง ตัวผู้นำทางการเมืองเป็นภาพสะท้อนให้เห็นภาพรวมของประเทศว่า คนในประเทศเป็นอย่างไร ถ้านายกรัฐมนตรีเป็นคนที่ทุนนิยมจ๋าเลย เราก็เดาได้เลยว่าสังคมมันก็ต้องเอนไปทางนั้น เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุนนิยมมีอิทธิพลมาก ทุกประเทศต้องมีทุนนิยมเข้ามาเกี่ยวข้องตลอด บางทีในพื้นฐานของการใช้ชีวิตแบบไทยมันต้องประยุกต์เข้ากัน เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทุนนิยมไม่มาทำลายพื้นวิถีชีวิตคนไทย คือเอามาใช้ในแบบที่เหมาะสม เอาแต่ด้านดีมา เอาประโยชน์มาใช้

ปรินซ์  คนส่วนใหญ่กำลังคิดว่า รัฐบาลนี้ ถ้าเขาโกงจริง แล้วคนอื่นไม่โกงหรือไง ปัญหาคือ หลายๆ คนคิดแบบนี้ โกงแล้วมีผลงาน โกงแล้วประเทศชาติเจริญ คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งอันนี้อันตรายครับ และการคอร์รัปชั่นมันมีวิวัฒนาการให้ซับซ้อนขึ้น อันนี้ก็อันตรายเหมือนกัน


ทำไมถึงมีแนวคิดแบบนี้

แนน  ครอบครัวแนนปลูกฝังเรื่องการเมืองมาตั้งแต่เล็กๆ เลย คุณพ่อเคยเป็นนักศึกษายุค ๑๔ ตุลา ทางบ้านพ่อแม่จะให้ดูข่าวเยอะมาก แล้วบางทีเราก็ค่อนข้างจะแปลกกว่าเพื่อนในกลุ่มหรือเพื่อนส่วนใหญ่ที่รู้จัก คือ เราจะดูข่าว สนใจการเมือง แล้วพ่อเขาก็จะเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ หรือเรื่องเกี่ยวกับนายกฯ คนนั้นคนนี้ เขาจะคอยสอนเราตลอด เราก็เหมือนกับได้รับข้อมูลมาเยอะกว่าคนอื่น แล้วพอเราฟังหรือดูข่าวมาเยอะๆ เราจะเกิดความสงสัยว่า มันใช่เหรอ ไอ้สิ่งที่เขาให้เรารู้ มันจริงเหรอ เราก็พยายามค้นหาจากหลายๆ สื่อ ไม่ใช่เรารับด้านหนึ่งแล้วเราปิดอีกด้านหนึ่ง บางทีข่าวหนึ่งบอกอย่างนี้ แต่สังคมที่เราพบเจอจริงๆ มันไม่ใช่อย่างนี้ เราก็เริ่มหาอะไรที่มันแปลกไป เช่น หนังสือพิมพ์ หนังสือรายสัปดาห์ รายการทางเคเบิลทีวี เราก็จะดูแล้วชั่งน้ำหนักดูความน่าจะเป็นด้วย เพื่อนบางคนถามว่า ทำไมต้องไปทำอย่างนี้ ไม่กลัวเหรอ น้อยๆ หน่อย เราก็บอกว่า อย่างน้อยเราก็ภูมิใจว่าเราเป็นคนส่วนน้อย เป็นเด็กนักศึกษา เราอาจจะไม่ใช่เด็กที่ตั้งใจเรียนอย่างเดียว แต่อย่างน้อยเราก็มีอีกมุมที่คนอื่นเขาไม่ได้เป็นอย่างเรา และคิดว่า ไม่ว่าจะทำอะไรทุกอย่างทั้งสังคมการเมือง เราทำด้วยความอยากทำจริงๆ และมันเป็นประสบการณ์ที่ดีด้วย

ปรินซ์  ตั้งแต่ยังเด็กแล้ว เวลาอยู่บ้าน เวลามีเรื่องเกี่ยวกับการเมือง มีประชุมสภาฯ อะไรอย่างนี้ พ่อเขาชอบจับมานั่งดู แรกๆ ก็รู้สึกว่าน่าเบื่อ แต่หลังๆ ก็ชิน ดูบ่อยๆ ก็เริ่มถามพ่อว่า อย่างนั้นเป็นยังไง อย่างนี้เป็นยังไง ในเรื่องของการเมืองมาเรื่อยๆ จนมีรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ที่สวนลุม ก็ไปบ้าง ดูในเน็ตบ้าง เพราะเวลาไปดูคนเดียวบางทีมันก็น่าเบื่อ ก็เลยนั่งเปิดเน็ตดูอยู่ที่บ้าน พอมาเจอเพื่อนๆ ที่นี่ ก็เลยมาทุกวันเลย


คิดว่าปัญหาใหญ่ของสังคมที่ต้องแก้ไขคือปัญหาใด

ปรินซ์  คุณธรรมจริยธรรม ถ้าถามตอนนี้ทุกคนบอกอย่างนี้เหมือนกันหมด ถ้าตรงนี้ดีแล้วทุกอย่างก็จะดีไปเอง ถ้าใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี มาผู้นำบริหารประเทศ ถ้ามีคุณธรรมจริยธรรมแล้วเขาย่อมจะนำพาประเทศไปในทางที่ถูกต้องบริหารประเทศไปในทางที่ถูกต้อง น้อยคนนะ ผู้บริหารประเทศที่ผ่านๆ มา ที่เก่ง ผมว่าเขาเก่งมากๆ ครับนายกฯ คนนี้ ลองคิดดูว่าถ้าคนเก่งๆ แบบนี้แล้วบริหารตามแนวทางที่ถูกต้องจะทำให้ประเทศชาติเจริญมากขนาดไหน ผมว่าจะเจริญกว่านี้อีกเยอะเลย

แนน  หนูว่าเรื่องจริยธรรม เรื่องเกี่ยวกับกระบวนการคิด เพราะตอนนี้หนูรู้สึกว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปเยอะมาก หนูเคยคุยกับเพื่อนเรื่องการรับน้องว่า ทำไมเมื่อก่อนเขารับกันได้นะ ระบบโซตัส แต่ทำไมปัจจุบันนี้เขามาห้ามกัน หนูก็บอกเขาไปว่าบางทีเราก็ต้องยอมรับว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรแรงๆ มากขึ้นทำให้รัฐเข้ามาห้าม เราก็ต้องดูว่าที่เขาห้ามเพราะอะไร เพราะคุณภาพของคน คือรุ่นพี่ที่เขาเอาระบบจากเมืองนอกที่ดีๆ เขาเอามาใช้ในทางที่ผิด เหมือนเขาคิดน้อยไป คิดเอาแค่สนุก  ส่วนตัวรุ่นน้อง บางทีที่รุ่นน้องเป็นอะไรไป แบบ โอ๊ย รับน้องแรงไป รับไม่ได้  ฆ่าตัวตายดีกว่า หนูไม่โทษรุ่นพี่ แต่หนูโทษครอบครัว โทษสังคมเขา ว่าเขาเลี้ยงมาอย่างไร ทำไมถึงอ่อนแอได้แม้เรื่องแค่นี้ หนูรู้สึกว่า ผู้ใหญ่เดี๋ยวนี้ชอบหลอกเด็กว่า โลกนี้มันสวยงาม เหมือนขังเด็กให้อยู่ในห้อง แล้วตกแต่งให้สวยงาม ให้เห็นว่าโลกนี้มีแต่สิ่งสวยงาม แล้ววันหนึ่งเมื่อเด็กได้ออกไปเจอโลกแล้วรับไม่ได้น่ะ  หนูคิดว่าผู้ใหญ่มีส่วนสำคัญมากในการสอนให้เด็กได้เจอได้รู้ บางทีเราต้องสอนให้เด็กได้เจอเรื่องร้ายๆ บ้าง ผู้ใหญ่เดี๋ยวนี้เลี้ยงเด็กสปอยล์มาก เลี้ยงเด็กแบบหลอกเด็กน่ะ ให้เจอแต่ด้านดีๆ แต่วันหนึ่งถ้าเขาไปเดินในแหล่งชุมชนแออัดหรือเพื่อนหลอกไปเสพยาไปเข้าผับ เด็กก็เห็นว่า มีที่แบบนี้ในโลกด้วยเหรอ ผู้ใหญ่จึงมีส่วนสำคัญมากในการสอนเด็ก บางทีหนูเคยพูดกับเพื่อนว่า ถ้าเรามีลูกนะ เราจะไม่สอนแค่ให้เขาดี แต่เราจะสอนให้เขาคิด ให้เขารักพ่อแม่ รักตัวเอง พอเขาทำอะไรไปเขาก็จะคิดได้ว่า อะไรไม่ดี ไม่ควร แล้วเขาก็จะหยุดเอง แนนคิดว่าการทำให้สังคมดีขึ้นเริ่มจากครอบครัว


การออกมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองให้อะไรแก่เรา

ปรินซ์  อย่างแรกก็คือพื้นฐานเลย รู้จักคนเยอะขึ้น มีความกล้าแสดงออก ได้คิดอะไรใหม่ๆ ที่ผ่านมาถ้านึกย้อนไป ๕ เดือนก่อน เรายังแค่นักศึกษาธรรมดาอยู่เลย ไม่ได้มีส่วนร่วม เดินไปเดินมา เรียนเสร็จกลับบ้าน แต่วันนี้เราได้เข้ามามีส่วนร่วม อนาคตสิ่งที่เราเสนอไปอาจจะเป็นนโยบายของบ้านเมือง อาจเป็นสิ่งที่รัฐบาลนำไปปฏิบัติจริงๆ แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็เยอะสำหรับเด็กคนหนึ่งจะทำได้แล้ว


ได้เห็นถึงความแตกแยกทางความคิดจากการชุมนุมของทั้งสองฝ่าย เราคิดอย่างไร

Imageแนน  หนูว่าเรื่องความแตกแยกมันเป็นเรื่องปกติมากในสังคมประชาธิปไตย หนูไม่โทษคนที่เขาไม่รู้หรือคนละข้าง แต่เราโทษตัวผู้นำมากกว่า ว่าทำไมเขาไม่ให้ข้อมูลที่เป็นความจริง แล้วทำไมเขาไม่เลิกหลอกคนที่ไม่รู้ เหมือนอย่างเรื่องของตัวผู้นำที่เป็นการผิดจริยธรรมหรือทำความผิดเรื่องคอร์รัปชั่นอะไรต่างๆ แล้วคนในสังคมมักจะเห็นไปในทางเดียวกัน และออกมาแสดงความคิดเห็น ภาพมันชัดเจนกว่า แต่แบบนี้เหมือนเขาแทรกซึมทางความคิดน่ะค่ะ เขาค่อยๆ ปลูกฝัง ค่อยๆ ซื้อคน เอานโยบายเข้าไป แต่นโยบายเขาเป็นนโยบายที่ต้องการดึงคนมาน่ะ แล้วรู้สึกว่าเงินที่เขาเอาไปลงกับพวกนโยบายตรงนี้เป็นเงินที่เสียเปล่า โอเค คนที่เขาไม่มีเงิน เขาอยากจะมีเงินมาทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น มาลงทุน แต่คนจนบางกลุ่มเขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องเอาเงินส่วนนี้ไปใช้ยังไง เขาก็ไปซื้อสิ่งอำนวยความสะดวก ซื้อมือถือ ซื้ออะไร แล้วเงินที่เสียไปมันเป็นเงินของทั้งประเทศ แต่เขากลับเอาไปให้คนกลุ่มนี้ใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ทั้งๆ ที่หนูคิดว่าสินค้าฟุ่มเฟือย ควรจะเป็นสิ่งที่เราหาได้จากแรงของเราเอง ไม่ใช่การไปยืมเงินคนอื่นมาเพื่อซื้อของแบบนี้

หนูรู้สึกว่าเขาสร้างค่านิยม ตอนนี้หนูถึงเห็นด้วยมากกับการล้มระบอบของเขาไปเลย เพราะเหมือนเขาอยู่มานานแล้วเขาแทรกซึมทุกอย่าง เขาไปปูพื้นฐานอะไรใหม่หมดเลย เขาทำนิสัยคนให้เปลี่ยนไปได้น่ะ เขาทำรากฐานสังคมให้เปลี่ยนไปได้ หนูรู้สึกว่า ไปได้แล้ว ถ้าสมมุติวันหนึ่งเขาไป อยากให้รัฐบาลใหม่ หรือใครที่มีอำนาจทำได้ ออกมาเปิดเผยสิ่งที่เขาทำไปทั้งหมดให้คนที่ไม่รู้ได้รู้ข้อมูลรู้ความจริงด้านลบของเขา คนก็ยังชื่นชมเขาไปหมดทุกเรื่อง บางทีเขาก็ดี เขาก็มีส่วนดี แต่เขาไม่เหมาะที่จะมาเป็นผู้นำประเทศเรา เพราะประเทศเรายังไม่พร้อมกับอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงไปแรงๆ มันต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ผสมผสานไป  เหมือนอย่างระบบเขาต้องการให้มันไฮเทค ให้มันโลกาภิวัตน์มากขึ้น แต่ว่าเขายังไม่พัฒนาตัวรากฐานคนก่อน เพราะหนูรู้สึกว่าสิ่งที่จะพัฒนาต้องเริ่มจากข้างล่าง ไม่ใช่เริ่มจากข้างบนลงมาข้างล่าง ต้องเริ่มจากคน พัฒนาการศึกษา ความรู้ ชีวิตความเป็นอยู่ ค่าครองชีพให้ดีขึ้นต้องกระจายไป ไม่ใช่ว่าคนที่รวยที่สุด ก็รวยขึ้นไปถึงระดับโลก แต่คนจนก็ยังจนอยู่เหมือนเดิมไม่มีอะไรดีขึ้น


การเมืองแบบไหนที่เราอยากให้เป็น

ปรินซ์  ในอุดมคติเลยก็คือ ไม่มีการคอร์รัปชั่น ซึ่งยากมากๆ ทุกคนคงอยากให้การเมืองบริสุทธิ์ยุติธรรม ที่สำคัญคือ ถ้ารัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของนักวิชาการ ไม่ใช่ออกมาบอกว่า เป็นขาประจำ และต้องให้เสรีภาพกับสื่อมวลชนที่จะแสดงความคิด


คิดว่าวิธีที่เยาวชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองทำได้อย่างไรบ้าง

ปรินซ์  คงไม่ต้องเหมือนอดีตที่ต้องไปเดินขบวน รวมตัวกันเป็นหมื่นๆ มีอะไรรุนแรง คงไม่ต้องถึงขั้นนั้นแล้ว  ถ้าเราสนใจก็ไปบอกเพื่อนๆ ชักชวนให้เขาเข้ามาสนใจ เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่ปล่อยว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เป็นเรื่องไกลตัว เด็กๆ หลายคนคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งจริงๆ แล้วถ้ามองดีๆ มันไม่ใช่ เพราะตื่นลืมตามาปุ๊บ เปิดไฟก็เป็นเรื่องการเมืองแล้ว การไฟฟ้าฯ จะถูกขายไป ค่าไฟแพง นี่ยังไม่กระทบอีกเหรอ นั่งรถไปโรงเรียน ค่าน้ำมันแพง ค่ารถก็ขึ้น นี่ก็กระทบอีกแล้ว แต่ถ้ามองเผินๆ มันก็ไม่เกี่ยว จริงๆ แล้วในชีวิตประจำวันทุกอย่างมันล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองหมด ผมคิดว่าถ้าเยาวชนออกมาเคลื่อนไหว มันมีปัจจัยหลายอย่างซึ่งมีพลังมากกว่าผู้ใหญ่ด้วยซ้ำไป เพราะเด็กออกมาไม่ได้มีผลประโยชน์ซ่อนเร้น และก็จัดเสวนาให้เด็กมาคุยกันแล้วมีข้อเสนอให้ผู้ใหญ่ ผมว่าน่าจะมีความคิดเห็นที่ริเริ่มสร้างสรรค์

แนน  หนึ่งก็คือ การเข้าไปเรียกร้องสิทธิที่ตัวเองสามารถทำได้  การเสนออะไรเข้าไป มีน้องคนหนึ่งเขาพูดว่า “ก่อนที่จะให้เยาวชนสนใจการเมือง ควรเห็นความสำคัญของเราบ้าง” หนูยอมรับเลยว่าเรื่องการศึกษา ประเทศไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญนะ หนูว่าเขาพยายามจะพูดเอามาหาเสียงว่าเขาจะเน้นเรื่องการปฏิรูปการศึกษา พัฒนาการศึกษา แต่หนูรู้สึกว่า ครูเดี๋ยวนี้คุณภาพแย่  คือ บางทีครูยังรู้ไม่เท่าเด็กน่ะ คือเราไม่รู้ว่าเด็กมันแก่แดดหรือเปล่า จริงๆ ก่อนที่จะพัฒนาการศึกษา ก็ต้องพัฒนาครูก่อน และต้องให้ความรู้ครู และไม่ใช่เพียงให้ความรู้แต่ในเรื่องการศึกษา แต่ต้องให้ความรู้ในเรื่องจริยธรรม เป็นครูต้องมีจรรยาบรรณสอนเด็ก


อยากเสนออะไรเข้าไปในการปฏิรูปการเมืองรอบใหม่

ปรินซ์  คงไม่พ้นเรื่องการศึกษา เพราะตอนนี้ที่บอกว่าปฏิรูปการศึกษา มันไม่ได้ปฏิรูปที่การศึกษา แต่เป็นแค่ปฏิรูปการทำงานของครู ปฏิรูประบบราชการมากกว่า แต่ไม่ได้ลงไปที่เด็ก อย่าง Child Center ตอนนี้เน้นเด็กทำงาน แต่ในความเป็นจริง สมมุติห้องหนึ่งมีนักเรียน ๕๐ คน ครูสั่งงานอย่างเดียว และใน ๕๐ คน มีคนทำงานจริงไม่ถึง ๑๐ คนหรอก ที่เหลือก็ลอก ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร หนักเข้าไปกว่าเดิมอีก แล้วครูก็สบาย สั่งเด็กอย่างเดียว เด็กก็ต้องใช้เงินทำรายงาน ผู้ปกครองยังบอกว่า อะไรมีแต่ทำรายงาน ใช้แต่เงิน ทุกอย่างใช้เงินหมดเลย แต่เด็กที่บ้านไม่มีเงิน แล้วเขาจะทำอย่างไร  มันทำให้ช่องว่างระหว่างสังคมมันห่างกว่าเดิมอีก

แนน  อย่างนโยบายการศึกษาพื้นฐานที่บอกว่าเรียนฟรี ๑๒ ปี ความจริงแล้วไม่ฟรีหรอก ค่าประกัน ค่าอุปกรณ์การศึกษา ค่าไฟค่าน้ำ ฯลฯ ทั้งๆ ที่ค่าเทอมเองจริงๆ แล้ว ไม่เท่าไรหรอก แต่ค่าอย่างอื่นซิ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และเด็กเดี๋ยวนี้ถือว่า โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์การเรียนไปแล้ว

ปรินซ์  เด็กอนุบาลมีโทรศัพท์มือถือห้อยคอน่ะ แล้วรุ่นดีกว่าที่เราใช้อีกน่ะ

แนน  คือ ระบบมันไปแล้วน่ะ เมื่อก่อนเราไม่เห็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือเลย ทำไมเรายังอยู่ได้

ปรินซ์  เทคโนโลยีมันพัฒนาไปเร็วน่ะดีแล้ว แต่ว่าสภาพพื้นฐานสังคมมันต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เทคโนโลยีกับจริยธรรมมันต้องไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่เทคโนโลยีไปแล้ว ศีลธรรมจริยธรรมยังต่ำๆ ทำให้อะไรเลวร้ายเกิดขึ้นเยอะมากกว่าเดิม


สังคมที่อยากจะเห็นเป็นอย่างไร

แนน  อาจจะยากนะคะ แต่หนูอยากให้คนรากหญ้ามีความสุขกับสิ่งที่เขาทำ เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เราขาดคนตรงนี้ไม่ได้ เราอยากให้เขาทำตรงนี้ต่อไป ไม่ใช่ว่าพอประเทศเป็นทุนนิยมแล้ว เขาต้องขายนาขายวัวขายควายมาทำงานกรุงเทพฯ มาเป็นสาวโรงงาน หนูรู้สึกว่า ให้เขาทำตรงนั้น แล้วคนที่มีอำนาจ ให้ทุน ให้ที่ดิน ให้เขามีโอกาสทำอย่างมีความสุขในสิ่งที่เขาได้ทำ เขาก็ยังจะเป็นคนรากหญ้า แต่ให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับสังคมเมือง หนูอยากให้เด็กคิดไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่คิดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อสังคม มีจริยธรรม 

Imageปรินซ์  ผมได้ยินคนถามคำถามนี้กับคนอื่นแล้วบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียงน่ะดี แต่ผมคิดว่าในความเป็นจริงเราต้องนำมาประยุกต์ใช้มากกว่า นำโลกาภิวัตน์กับพื้นฐานของไทยคือ วัฒนธรรม นำสองอย่างมารวมกัน ให้มีทางสายกลาง และการศึกษานี่สำคัญมากๆ ทั้งจริยธรรมและเรื่องอื่นๆ ที่เป็นปัญหาของสังคมในขณะนี้ ผมว่าพื้นฐานก็มาจากการศึกษาอยู่ดี ระบบการศึกษาต้องปฏิรูปกันอย่างจริงๆ จัง และปฏิรูปคนด้วยไม่ใช่ปฏิรูประบบอย่างเดียว ปลูกฝังเรื่องจริยธรรมคุณธรรมตั้งแต่เด็ก จัดระบบการเรียนการสอนใหม่หมดเลยดีกว่า เพราะตอนนี้ครูเอง จะไปโทษครูอย่างเดียวไม่ได้ เพราะครูก็เงินเดือนนิดเดียว เทียบกับอาชีพอื่นๆ แล้วไม่เยอะเลย ภาระหน้าที่รับผิดชอบก็เยอะมากๆ อะไรก็โยนไปให้ครูหมด เด็กกวดวิชามากก็บอกว่าครูในห้องสอนไม่ดีหรือเปล่า ครูต้องรับบทบาทด้านการศึกษาค่อนข้างหนัก ถ้ายังเป็นอย่างนี้อยู่ ต้องเริ่มจากให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้

ในขณะที่ผู้ใหญ่ผู้ใส่ใจสังคมเฝ้ามองความเป็นไปของเยาวชนยุคนี้อยู่ด้วยสายตาเป็นห่วงเป็นใยกับความล่อแหลมและความเสี่ยงต่อสิ่งยั่วยวนใจในสังคมที่ทุนนิยมบริโภคนิยมครอบงำ และสังคมปัจเจกนิยมซึ่งบุคคลล้วนมุ่งสู่การแสวงหาความเป็นหนึ่งในหน้าที่ การเรียน การงาน นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่เรายังได้เห็นพลังของเยาวชนอีกส่วนหนึ่งที่ออกมาขับเคลื่อนและมีส่วนร่วมต่อปัญหาสังคมมากขึ้น และหวังว่าคงจะยิ่งมากขึ้นอีกนับจากนี้ไป



เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการ โดยมีองค์กรนิสิตนักศึกษาเป็นแกนนำของกลุ่มคนในสังคมเข้าร่วมต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยคืนมาจากรัฐบาลเผด็จการทหารในยุคนั้น

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >