หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow เยซูและอลินสกี ถอดความโดย กล้วยกัทลี
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 117 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

เยซูและอลินสกี ถอดความโดย กล้วยกัทลี พิมพ์
Monday, 19 June 2006
เยซูและอลินสกี*

โดย วอลเตอร์ วิงค์
จาก CommonDream.org 16 ธันวาคม 2547

ภาพจาก www.catholic.or.thถอดความโดย กล้วยกัทล


ท่านคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” แต่เราขอบอกว่า จงอย่าต่อต้านผู้ที่ชั่วร้ายเลย หากใครตบแก้มขวาของท่าน จงยื่นแก้มซ้ายให้เขาด้วย หากใครฟ้องร้องเพื่อเรียกเอาเสื้อของท่าน จงแถมเสื้อคลุมให้แก่เขา และหากใครบังคับท่านให้เดินหนึ่งไมล์ จงเดินไปกับเขาสองไมล์เถิด (คำกล่าวของพระเยซูจากคำบอกเล่าของนักบุญแมททิว บทที่ห้า ข้อ 38-41)



เป็นที่น่าเสียดายว่า คนจำนวนมากซึ่งอุทิศชีวิตให้งานเพื่อการเปลี่ยนแปลงและเพื่อความยุติธรรมในโลก กลับมองว่าคำสอนของเยซูในเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงดังกล่าวข้างต้น เป็นอุดมคติที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ยิ่งกว่านั้น พวกเขายังให้เหตุผลอันน่าเชื่อว่า “การยื่นแก้มซ้ายให้ด้วย” นั้น แสดงถึงการยอมรับโดยปริยาย ซึ่งเป็นคุณสมบัติของคริสตชนที่ไม่นิยมการเอาเรื่องผู้อื่น และนี่เป็นเหตุให้คริสตชนจำนวนมากขลาดกลัวที่จะเผชิญหน้ากับความอยุติธรรม ถ้อยคำที่ว่า “อย่าต่อต้านความชั่ว” ดูเหมือนว่าจะทำให้งานสำคัญของการอยูตรงข้ามความชั่วกลายเป็นเรื่องยอมๆ กันไป คำกล่าวที่ว่า “เดินไปสองไมล์เถิด” กลายเป็นเพียงคำพูดที่ดูดีแต่มีความหมายเพียงแค่การ “ช่วยๆ กันไป” ทรรศนะดังกล่าวนี้แทนที่จะมุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง กลับส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือกับผู้กดขี่เสียนี่

เยซูไม่เคยทำเช่นนั้น ไม่ว่าความเข้าใจผิดเช่นนี้จะเกิดจากเหตุใดก็ตาม มันย่อมไม่ได้เกิดขึ้นจากเยซูและคำสอนของท่าน ซึ่งหากได้ฟังคำอธิบายจากบริบททางสังคมในยุคสมัยนั้น ก็อาจเป็นที่ถกถียงได้ว่า คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในถ้อยแถลงทางการเมืองเท่าที่เคยมีมาในยุคนั้น

เมื่อผู้ที่ทำงานแปลในศาลซึ่งถูกว่าจ้างโดยกษัตริย์เจมส์เลือกที่จะแปลคำว่า “antistenai” (anti = ต้าน stenai = ยืน) ว่า “จงอย่าต่อต้านความชั่ว” นั้น พวกเขาไม่เพียงแต่แปลภาษากรีกเป็นอังกฤษเท่านั้น แต่พวกเขายังแปลการต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรง เป็นการยอมตามอย่างว่าง่ายอีกด้วย คำในภาษากรีกนี้มีความหมายมากไปกว่าการ “ยืนต้าน” หรือ “ต้านทาน” แต่มันหมายถึงการต่อต้านอย่างรุนแรง การปฏิวัติ การกบฏ หรือการมีส่วนร่วมในการต่อต้าน เยซูไม่ได้กล่าวแก่ผู้ถูกกดขี่ที่ฟังท่านอยู่ว่า จงอย่างต่อต้านความชั่ว ภารกิจทั้งสิ้นของท่านไปด้วยกันไม่ได้กับความคิดอันไม่มีเหตุผลเหล่านั้น ทว่าท่านกลับเตือนเรื่องการสนองตอบความชั่วร้ายด้วยการยินยอมโดยปริยายให้ผู้กดขี่กำหนดเงื่อนไขในการต่อต้านของเรา

การแปลคำสอนของเยซูที่เหมาะสมจึงควรเป็นดังนี้ “จงอย่าตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง” เยซูอุทิศตนในการต่อต้านความชั่วไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านักสู้เพื่อต่อต้านพวกโรมัน เช่น บาราบัส แต่ความแตกต่างกลับอยู่ที่วิธีการที่ใช้

การตอบโต้ความชั่วโดยทั่วๆ ไป มีสามแนวทาง (1) การต่อต้านด้วยความรุนแรง (2) การนิ่งเฉย และ (3) การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงซึ่งเยซูได้กล่าวไว้อย่างชัดแจ้ง แต่วิวัฒนาการของมนุษย์ได้สร้างเงื่อนไขให้เราใช้เพียงแนวทางที่หนึ่งและสองเท่านั้น คือ สู้ หรือ หน

การต่อสู้ได้กลายเป็นเสียงร่ำไห้ของชาวกาลิลีที่ลุกขึ้นต่อต้านโรมันอย่างไร้ผล ในช่วงสองทศวรรษก่อนเยซูได้กล่าวถึงแนวทางที่สามนี้ เยซูและบรรดาผู้ที่ได้ฟังท่านอาจได้เห็นคนชาติเดียวกันกว่าสองพันคนต้องถูกพวกโรมันจับตรึงบนกางเขนตลอดสองข้างถนน พวกเขาอาจรู้จักบางคนที่อาศัยอยู่ในเมืองเซ็ปโปริส (ห่างไปสามไมล์ทางตอนเหนือของเมืองนาซาเร็ท) ซึ่งถูกขายเป็นทาส เพราะให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธในการโจมตีของพวกก่อการจลาจลที่เมืองนั้น บางคนอาจมีชีวิตอยู่และมีประสบการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวในสงครามต่อต้านโรมันในช่วงปี 66 ถึง 67 ของศตวรรษแรก ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ที่น่าหวาดกลัวเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ หากการต่อสู้ไม่ใช้สิ่งพึงกระทำสำหรับพวกเขา ทางเลือกเดียวที่มีอยู่ก็คือ หนี – เฉยเสีย ยินยอมแต่โดยดี หรืออย่างดีที่สุดก็แค่ดื้อแพ่งต่อการทำตามคำสั่งจะโดยการนิ่งเฉยหรือก้าวร้าวก็ตาม – สำหรับพวกเขาแล้ว ทางเลือกที่สามไม่เคยมีอยู่

ขณะนี้เราอยู่ในฐานะที่ดีกว่าที่จะเข้าใจว่าทำไมคนของกษัตริย์เจมส์จึงแปล antistenai ว่า “จงอย่าต่อต้าน” กษัตริย์ทรงไม่ต้องการให้ประชาชนสรุปว่าพวกเขามีหนทางที่จะต่อต้านพระองค์หรือต่อต้านนโยบายที่ไม่ยุติธรรมของพระอาณาจักร ดังนั้น หากเป็นไปตามนัยของการแปลโดยคนของกษัตริย์ เยซูจึงสั่งให้เราจงอย่าต่อต้าน เยซูดูเหมือนจะกล่าวด้วยว่า การยินยอมต่ออำนาจสูงสุดของพระมหากษัตริย์เป็นน้ำพระทัยของพระเจ้า โดยส่วนใหญ่ การตีความสมัยใหม่ดูไม่ต่างจากแนวทางที่กษัตริย์เจมส์ได้วางไว้

ทางเลือกที่ให้หนีหรือสู้ ไม่ใช่ทางที่เยซูเสนอ เยซูรังเกียจการตอบโต้ความชั่วด้วยความเมินเฉยและความรุนแรง ทางที่สามของเยซูไม่ได้อยู่ในทางเลือกเหล่านี้ นักการศึกษาได้ให้คำแปล Antistenai ไว้อย่างหลักแหลมว่า “จงอย่าปฏิบัติต่อผู้ที่ทำชั่วด้วยความรุนแรง”

ภาพจาก www.catholic.or.thเยซูอธิบายความหมายของท่านต่อแนวทางที่สามนี้ด้วยตัวอย่างสั้นๆ สามเรื่อง “หากใครตบแก้มขวาของท่าน จงยื่นแก้มซ้ายให้เขาด้วย” ทำไมต้องแก้มขวา? คนเราจะตบหน้าผู้อื่นที่แก้มด้านขวาได้อย่างไร? ลองดูสิ... การตบด้วยมือขวาของคนถนัดขวาย่อมกระทบลงบนแก้มซ้ายของฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นจะต้องใช้มือซ้ายจึงจะตบแก้มขวาได้ แต่ในสังคมสมัยนั้น มือซ้ายส่วนใหญ่มีไว้ใช้ในงานที่สกปรกเท่านั้น ตามที่ระบุในกระดาษม้วนแห่งทะเลตาย หากแสดงท่าทางโดยใช้มือซ้ายที่คุมราน (Qumran เมืองในบริเวณที่ราบสูงแห้งแล้ง ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลตายในอิสราเอล ราว 150-180 ปีก่อนคริสตกาล - ผู้แปล) จะมีโทษให้ต้องชำระถึงสิบวัน ดังนั้น ทางเดียวที่จะตบแก้มขวาได้ด้วยมือขวา คือต้องใช้หลังมือตบนั่นเอง

สิ่งซึ่งเรากำลังเผชิญอยู่นี้ย่อมไม่ใช่การตบหน้ากันอย่างธรรมดา และจะเป็นสิ่งอื่นใดไปไม่ได้นอกเสียจากการสบประมาท เป้าหมายหลักของการตบไม่ใช่เพื่อให้เจ็บ แต่ให้รู้สึกต่ำต้อย เป็นการทำให้ผู้ถูกตบได้ตระหนักในฐานะของตนเอง โดยทั่วไปคนจะไม่ตบเพื่อนด้วยหลังมือ และหากกระทำเช่นนั้น ก็จะถูกปรับด้วยค่าปรับที่แพงลิ่ว (สี่ ซูซ – เหรียญเงินของชาวฮีบรู - คือค่าปรับหากตบเพื่อนด้วยมือ และ 400 ซูซ เมื่อใช้หลังมือตบ แต่หากตบลูกน้อง ก็ไม่ต้องเสียค่าปรับ) โดยส่วนใหญ่แล้วการตบด้วยหลังมือเป็นการตักเตือน ว่ากล่าว ผู้ที่ต่ำกว่า เจ้านายมักตบทาสด้วยหลังมือ สามีตบภรรยา พ่อแม่ตบลูก ผู้ชายตบผู้หญิง ชาวโรมันตบชาวยิว เป็นต้น

จะเห็นได้ว่ามีความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันปรากฏอยู่ หากผู้ที่ด้อยกว่าในแต่ละคู่ความสัมพันธ์อาจหาญตอบโต้ อาจกลายเป็นการฆ่าตัวตาย ดังนั้นทางเดียวที่ทำได้คือท่าทางยอมจำนนด้วยความหวาดกลัว เราจึงต้องถามคำถามสำคัญที่ว่า ใครกันที่เป็นผู้ฟังคำสอนของเยซู คำตอบที่ได้ในทุกสถานการณ์คือ ผู้ที่ฟังเยซูไม่ใช่ผู้ที่ตบ ซึ่งก็คือ ผู้ดำเนินคดีความ หรือผู้บังคับใช้แรงงาน ในทางตรงข้าม เยซูพูดกับบรรดาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ประชาชนที่เป็นเป้าของการสบประมาท พวกเขาถูกบังคับให้อดกลั้นต่อความโกรธแค้นที่มีอยู่ภายใน ซึ่งเกิดจากการกระทำที่ทำลายความเป็นมนุษย์ของพวกเขา กระทำต่อพวกเขาโดยลำดับชั้นของอำนาจซึ่งเป็นระบบที่แบ่งแยกวรรณะ ชนชั้น เชื้อชาติ เพศ อายุ สถานภาพ และโดยผู้ที่ปกครองดูแลพวกเขาในนามของผู้รุกราน

แล้วทำไมเยซูจึงแนะนำคนซึ่งถูกสบประมาทเหล่านี้ให้ยื่นแก้มอีกข้างหนึ่งเล่า? การกระทำเช่นนี้เป็นการยึดอำนาจจากผู้กดขี่ ทำให้ไม่สามารถสบประมาทพวกเขาได้ คนที่ยื่นแก้มอีกข้างหนึ่งให้ เสมือนกล่าวว่า“ลองอีกทีซิ การตบครั้งแรกของคุณดูเหมือนจะไม่เป็นไปตามความตั้งใจ คุณไม่มีอำนาจที่จะสบประมาทฉัน ฉันก็เป็นมนุษย์เหมือนอย่างคุณ สถานภาพ (เพศ เชื้อชาติ อายุ ความมั่งคั่ง) ของคุณไม่ทำให้ความเป็นมนุษย์ของเราเปลี่ยนแปลงไป คุณจะดูถูกฉันไม่ได้” การโต้ตอบเช่นนี้จะสร้างความลำบากใจอย่างใหญ่หลวงให้แก่ผู้ที่ตบ โดยตรรกะ ผู้ตบจะตบแก้มอีกข้างหนึ่งได้อย่างไร? เขาไม่สามารถใช้หลังมือขวา (ตบแก้มซ้าย) ได้ ถ้าเขาตบด้วยหน้ามือ (ขวา) ก็เท่ากับว่าเขาลดตัวลงให้เท่ากับผู้ที่ถูกตบ และยอมรับผู้ถูกตบว่ามีสถานะเท่าเขา ประเด็นหลักในเรื่องหลังมือนี้ สะท้อนให้เห็นความพยายามที่จะทำให้ระบบวรรณะเข็มแข็งและธำรงไว้ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

ตัวอย่างที่สองนั้น เยซูดำเนินเรื่องในโรงศาล ใครคนหนึ่งถูกฟ้องเอาเสื้อชั้นนอก ใครกันที่ฟ้องเช่นนั้นและด้วยสาเหตุใด? จะมีก็เพียงคนยากจนที่สุดเท่านั้นที่ไม่มีสิ่งใดในตัวเลย ยกเว้นเสื้อชั้นนอกเพียงตัวเดียว ที่พอจะนำไปเป็นของค้ำประกันเงินกู้ได้ กฎของชาวยิวนั้นเข้มงวดยิ่งนัก เสื้อชั้นนอกที่ถูกยึดนั้นจะต้องส่งคืนเจ้าของในทุกวันหลังพระอาทิตย์ตกดิน เพราะนั่นเป็นสิ่งเดียวที่คนจนมีไว้เพื่อใช้ในยามนอน สถานการณ์ที่เยซูพาดพิงถึงนี้เป็นเรื่องอันคุ้นเคยในหมู่ผู้ที่ติดตามฟังท่าน ลูกหนี้ที่น่าสงสารถลำลึกในความยากจน หนี้สินก็ไม่มีจะชดใช้ แล้วเจ้าหนี้ยังลากไปศาลเพื่อบีบให้เขาจ่าย

ในศตวรรษแรกของประวัติศาสตร์ชาติปาเลสไตน์นั้น หนี้สินนับเป็นปัญหาสังคมที่รุนแรงที่สุด นิทานเปรียบเทียบของเยซูมักจะเต็มไปด้วยเรื่องราวการดิ้นรนเอาชีวิตรอดของบรรดาผู้ที่มีหนี้สิน เยซูพูดในบริบทนี้ ผู้ที่ติดตามฟังท่านคือคนจน (“หากใครจะฟ้องร้องท่าน”) พวกเขาต่างก็มีความปวดร้าวอันเนื่องมาจากความเกลียดชังระบบที่ทำให้พวกเขาต่ำต้อย ระบบที่แย่งเอาที่ดินไปจากเขา ทรัพย์สิ่งของของเขา หรือแม้แต่เสื้อชั้นนอกของพวกเขา แล้วทำไมเยซูจึงแนะนำให้พวกเขายกเสื้อชั้นในแก่เจ้าหนี้ด้วยเล่า? นี่ย่อมหมายถึงการถอดเสื้อผ้าทิ้งหมดและเดินออกจากโรงศาลตัวเปล่า! ลองนึกว่าตัวของคุณเป็นลูกหนี้ คิดดูสิว่าเสียงหัวเราะที่เกิดจากคำพูดนี้จะก่อให้เกิดอะไรขึ้น แล้วเจ้าหนี้ที่ยืนอยู่นั้นเล่า คงจะหน้าแดงด้วยความอับอาย มือหนึ่งถือเสื้อชั้นนอกของคุณ และอีกมือมีเสื้อชั้นใน คุณทำให้เจ้าหนี้ตกเป็นรองในสถานการณ์นี้ คุณไม่มีหวังที่จะชนะคดี กฎหมายอยู่ข้างเจ้าหนี้คุณ แต่คุณปฏิเสธที่จะถูกทำให้อับอาย ขณะเดียวกันคุณก็ได้แสดงการประท้วงอันน่าตกตะลึงต่อระบบที่ยอมให้ใช้หนี้ในลักษณะนี้ อันที่จริงคุณได้กล่าวว่า “ท่านต้องการเชือกผูกเอวไหม? นี่ไง เอาไปทุกสิ่งเถิด เวลานี้ท่านได้ทุกสิ่งที่ฉันมีแล้ว เว้นแต่ตัวของฉัน หรือว่าท่านต้องการมันด้วย?”

การเปลือยเปล่าเป็นข้อห้ามในศาสนายิว ความอับอายมิได้ตกอยู่กับคนที่เปลือยเปล่า แต่จะตกอยู่กับคนที่มองดูหรือเป็นเหตุให้เกิดขึ้น (ปฐมกาล 9:20-27) เมื่อเปลื้องผ้าออก คุณได้ทำให้เจ้าหนี้ตกอยู่ในข้อห้ามอันเดียวกันที่ได้นำพาชาวคานาอันไปสู่คำสาปแช่ง เมื่อคุณยกขบวนออกไปยังท้องถนน เพื่อนและเพื่อนบ้านของคุณก็จะตกอกตกใจ ขวัญหนีดีฝ่อ และไต่ถามถึงเหตุที่เกิดขึ้น คุณก็จะอธิบาย แล้วพวกเขาก็จะเข้าร่วมทำให้ขบวนของคุณขยายใหญ่ขึ้น และกลายเป็นขบวนเฉลิมฉลองชัยชนะไปเสียแล้ว ระบบกดขี่ลูกหนี้ทั้งระบบก็ถูกตีแผ่ในที่สาธารณะ เจ้าหนี้ไม่ใช่ผู้ให้ยืมเงินที่ “น่านับถือ” อีกต่อไป แต่กลายเป็นฝ่ายที่ทำให้ชนชั้นหนึ่งในสังคมกลายเป็นคนไร้ที่ดินและสิ้นเนื้อประดาตัว การตีแผ่นี้ไม่ใช่แค่การลงโทษ อย่างไรก็ตาม มันยังเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ได้มองเห็น บางทีอาจเป็นครั้งแรกในชีวิต ว่าการกระทำของเขาได้ก่อให้เกิดอะไรขึ้นในสังคม และเขาควรสำนึกผิด

ภาพจาก www.catholic.or.thอันที่จริงเยซูส่งเสริมเรื่องตลกขบขัน ท่านแสดงตนว่าเป็นยิวด้วยการทำเช่นนั้น ข้อความในตอนท้ายๆ ของทัลมุด (เป็นชุดเอกสารชุดใหญ่ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติและกฎหมายของชาวยิว - ผู้ถอดความ) เขียนว่า “หากเพื่อนบ้านเรียกท่านว่าลา จงวางอานไว้บนหลังของท่านเสีย” หากจะอ่านตามตัวอักษรแล้วละก็ “อำนาจที่มีอยู่” วางอยู่บนศักดิ์ศรีของตัวมันเอง ไม่มีอะไรสามารถถอดถอนพลังอำนาจได้รวดเร็วเท่าความเชี่ยวชาญในการถากถาง การปฏิเสธความน่าเกรงขามของอำนาจ ทำให้ผู้ไร้ซึ่งอำนาจมีความกล้าที่จะยึดอำนาจคืน แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมจะเป็นไปไม่ได้ก็ตาม ข้อความนี้ห่างไกลจากการเป็นเพียงคำแนะนำอันดีเลิศที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ในชีวิตนี้ แต่เป็นแนวปฏิบัติ เป็นยุทธวิธีในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ถูกกดขี่ ข้อความนี้บอกเป็นนัยถึงการที่จะตีแผ่ความโหดร้ายซึ่งเป็นสาระสำคัญของระบบทั้งหมด และให้ภาพอันน่าขบขันต่อการเสแสร้งให้มีความยุติธรรม มีกฎหมายและระเบียบแบบแผน

ตัวอย่างที่สามของเยซูว่าด้วยเรื่องเดินไปสองไมล์นั้น เป็นความคิดที่เกิดขึ้นจากข้อจำกัดของทหารโรมันในการบังคับใช้แรงงานแก่ประชาชนที่เป็นเป้าหมาย ทหารสามารถสั่งให้ประชาชนแบกสัมภาระไปได้ไกลแค่ไมล์เดียว การบังคับให้ประชาชนแบกไปไกลกว่านั้นย่อมได้รับโทษภายใต้กฎของกองทัพการทำเช่นนี้ทำให้จักรวรรดิโรมันสามารถระงับความโกรธเคืองของประชาชนที่อยู่ภายใต้การยึดครองลงได้ และสามารถทำให้กองทัพของตนเคลื่อนขบวนอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ดี การบังคับใช้แรงงานนี้ยังคงเป็นเครื่องเตือนใจที่ขมขื่นสำหรับชาวยิว ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของการกดขี่แม้ในดินแดนแห่งพันธสัญญาก็ตาม

สำหรับพวกยิวที่มีความหยิ่งในตนเองแต่ต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้นั้น เยซูไม่ได้แนะนำให้ลุกขึ้นประท้วง เราไม่ควรแกล้งทำเป็นมิตรกับทหาร หลอกให้เดินไปกับเรา แล้วจ้วงแทงเขาที่สีข้าง เยซูรู้ดีว่าไม่มีความสำเร็จรออยู่หากพยายามใช้อาวุธต่อสู้กับจักรวรรดิโรมันอันทรงพลัง เยซูไม่กล่าวถึงการลุกขึ้นสู้แม้ว่าการพูดเช่นนั้นจะทำให้ท่านได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ประท้วงก็ตาม

แต่ทำไมต้องเดินไปสองไมล์เล่า? หรือนี่เป็นการตอกกลับอย่างสุดโต่ง – ไม่สู้ก็ร่วมมือกับศัตรูเสียเลย? แต่หาเป็นเช่นที่เราคิดไม่ ทำนองเดียวกับสองตัวอย่างที่กล่าวแล้ว คำถามจึงอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้ผู้ถูกกดขี่ได้เริ่มรุก (มากกว่าตั้งรับ) ทำอย่างไรให้พวกเขาแสดงให้เห็นศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในขณะนั้น กฎเป็นของซีซาร์ (กษัตริย์ชาวโรมัน - ผู้ถอดความ) แต่การปฏิบัติตามกฎเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล การปฏิบัติตามกฎเป็นเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า และซีซาร์ไม่มีอำนาจเหนือพระองค์

ลองวาดภาพทหารโรมันตกตะลึงเมื่อถึงหลักไมล์ถัดไป ขณะที่ทหารไม่ค่อยเต็มใจจะเอื้อมมือไปหยิบสัมภาระของตน (ซึ่งหนักประมาณ 65-80 ปอนด์) คุณกลับพูดว่า“ไม่เป็นไร ให้ฉันช่วยแบกไปอีกสักไมล์เถิด” โดยทั่วไป ทหารต้องบังคับให้ญาติของคุณแบกสัมภาระของเขา แต่ขณะนี้คุณกลับรับที่จะทำหน้าที่นั้นอย่างหน้าชื่นตาบานและไม่คิดจะหยุดพัก นี่เป็นการยั่วให้โมโหหรือเปล่า? หรือกำลังดูถูกพลกำลังของทหารผู้นี้? หรือแค่แสดงความมีน้ำใจ? หรือบอกให้ทหารปฎิบัติตามกฎเพราะดูเหมือนว่ากำลังจะบังคับให้คุณเดินมากกว่าที่ควรเดิน? หรือว่าคุณคิดจะร้องเรียน? คุณกำลังจะสร้างปัญหาหรือ?

จากสภาพการถูกเกณฑ์ให้เป็นผู้รับใช้ คุณกลับได้ยึดกุมเกมส์รุกอีกครั้งหนึ่ง คุณได้อำนาจในการเลือกกลับคืนมา เพราะคุณทำให้ทหารตั้งตัวไม่ติดเพราะนึกไม่ถึงว่าคุณจะตอบโต้เช่นนี้ ลองคิดถึงภาพตลกขบขันที่ทหารในกองทัพโรมันกำลังอ้อนวอนชาวยิว “น่า ขอร้องละ เอาสัมภาระของฉันคืนมา” ภาพน่าขันของเหตุการณ์นี้อาจเล็ดลอดสายตาของผู้ที่คิดว่าตนมีมโนธรรมสูงกว่าผู้อื่น แต่มันยากที่จะหลุดรอดไปจากสายตาของผู้ที่ติดตามฟังเยซู พวกเขาเหล่านั้นคงจะยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นว่าผู้กดขี่รู้สึกอึดอัดใจไม่น้อย

ผู้อ่านบางท่านอาจไม่เห็นด้วยกับความคิดที่จะทำให้ทหารรู้สึกอึดอัดใจ หรือผู้ให้กู้เสียหน้า แต่จะมีหนทางใดเล่าที่จะทำให้ผู้ที่กดขี่ผู้อื่นได้สำนึกผิด นอกเสียจากทำให้เขารู้สึกอึดอัดใจต่อการกระทำของเขาเอง อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าในด้านหนึ่งการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นกลยุทธ์เพื่อแก้เผ็ดหรือสร้างความอับอายนั้น มีอันตรายอยู่เช่นกัน แต่ในด้านตรงกันข้าม การใช้อารมณ์ความรู้สึกและความอ่อนโยน อาจทำให้เข้าใจผิดว่าความรักอย่างไม่มีข้อแม้ของเยซู เป็นเพียงการเสแสร้งทำดี การเผชิญหน้าด้วยความรักจะช่วยปลดปล่อยทั้งผู้ถูกกดขี่ออกจากความว่าง่ายและผู้กดขี่ออกจากบาป

หากว่าวิธีการไม่ใช้ความรุนแรงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจของผู้กดขี่ได้ในทันทีทันใด มันก็จะส่งผลต่อบรรดาผู้ที่มุ่งมั่นในวิธีการนี้ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ได้เป็นพยานให้เห็นว่า วิธีการนี้ช่วยให้พวกเขาได้เกิดความเคารพในตนเองและเกิดความเข้มแข็งและความกล้าซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีอยู่ในแต่ละคน สำหรับผู้ที่มีอำนาจแล้ว คำแนะนำที่เยซูมีให้แก่ผู้ที่ไร้ซึ่งอำนาจอาจดูเป็นเรื่องไร้สาระ แต่สำหรับผู้ที่มีชีวิตในกรอบที่กำหนดให้ต้องกุมมือและก้มหัวต่อหน้าเจ้านายตลอดเวลา หรือต้องยอมรับชะตาชีวิตว่าตนด้อยกว่าอยู่เสมอแล้ว ก้าวย่างเล็กๆ นี้สำคัญยิ่ง

แนวทางที่สาม

ยึดกุมความริเริ่มทางศีลธรรม
ค้นหาแนวทางสร้างสรรค์แทนที่ความรุนแรง
เผชิญกับกำลังบังคับด้วยด้วยการล้อเลียนและอารมณ์ขัน
ตัดวงจรการดูหมิ่นเหยียดหยาม
ปฏิเสธการจำยอมหรือยอมรับสภาพที่ต่ำต้อยกว่า
แฉ่ระบบอันอยุติธรรม
ควบคุมความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของอำนาจ
ทำให้ผู้กดขี่ได้อับอายและสำนึกผิด
ยืนหยัดในจุดยืนของตน
บังคับผู้มีอำนาจให้จำต้องตัดสินใจในสิ่งที่ไม่ทันได้ตระเตรียม
ตระหนักในพลังอำนาจของตนเอง
พร้อมที่จะทนทุกข์แทนการแก้แค้น
บังคับให้ผู้กดขี่มองเห็นเราในมุมมองใหม่
ปิดโอกาสผู้กดขี่ในสถานการณ์ที่การใช้กำลังบังคับจะเกิดผล
พร้อมที่จะรับโทษหากกระทำสิ่งที่ขัดกับกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม

ภาพจาก www.catholic.or.thเพราะการตอบโต้ในลักษณะข้างต้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติของเรา จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เยซูไม่ได้นำเสนออีกสัก 15 หรือ 20 ตัวอย่าง บางทีตัวอย่างจากประวัติศาสตร์การเมืองอาจช่วยเราให้แนวทางที่สามนี้หยั่งรากลึกลงในจิตใจของเรา

ในเมืองอลากามา ประเทศบราซิล มีกลุ่มชาวนาที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการต่อสู้อันยาวนาน เพื่ออนุรักษ์ผืนดินของตนจากความพยายามที่จะเวนคืนที่ดินของบริษัททั้งในประเทศและบรรษัทข้ามชาติ (ซึ่งได้รับความยินยอมจากนักการเมืองท้องถิ่นและทหาร) ชาวนาบางคนถูกจับและถูกขังที่คุกในเมือง พรรคพวกของเขาตัดสินใจร่วมกันว่าทุกคนมีความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้เท่าเทียมกัน ดังนั้นชาวนานับร้อยจึงเดินขบวนเข้าสู่เมือง พวกเขาไปเบียดเสียดอยู่ในบ้านของผู้พิพากษา และเรียกร้องให้กักขังพวกเขาเช่นเดียวกับผู้ที่ถูกจับ ในที่สุดผู้พิพากษาจำต้องส่งพวกเขากลับบ้าน รวมทั้งผู้ที่ถูกจับกุมก่อนหน้าด้วย

ในระหว่างสงครามเวียดนาม สตรีคนหนึ่งกล่าวอ้างในการเสียภาษีที่ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า เธอมีภาระต้องเลี้ยงดูคนอีกถึง 79 คน นั่นก็คือบรรดาเด็กๆในเวียดนามที่ต้องเป็นกำพร้าจากสงคราม ดังนั้น เธอจึงไม่ต้องเสียภาษี แต่ในทางกฎหมายเด็กๆ เหล่านี้ย่อมมิใช่ผู้ที่เธอต้องรับเลี้ยงดู ดังนั้นข้ออ้างดังกล่าวจึงตกไป แต่เธอยืนยันว่าเด็กๆ เหล่านั้นถูกทำให้เป็นกำพร้าเพราะการทิ้งระเบิดแบบปูพรมของสหรัฐ พวกเราจึงต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของพวกเขา เธอบังคับให้กรมสรรพากรนำเรื่องขึ้นศาล และนี่ทำให้เรื่องของเธอกลายเป็นที่รับรู้โดยกว้างขวาง เธอทำให้ระบบต้องต่อสู้กันเองและถอดหน้ากากศีลธรรมที่ระบบได้ก่อให้เกิดขึ้นโดยไม่สามารถจะแก้ตัวได้ ถึงแม้ว่าเธอจะแพ้คดี แต่เธอก็ได้ทำให้หัวใจของเรื่องนี้เป็นที่ประจักษ์

ในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเจ้าหน้าที่นาซียึดครองเดนมาร์กและออกข้อบังคับให้ชาวยิวทุกคนต้องสวมปลอกแขนสีเหลืองซึ่งมีรูปดาวแห่งดาวิด กษัตริย์เดนมาร์กจึงนำจุดนี้ไปใช้ในการเข้าร่วมในพิธีเฉลิมฉลองที่ศาสนสถานของชาวยิวในกรุงโคเปนเฮเกน พระมหากษัตริย์พร้อมด้วยประชาชนส่วนใหญ่ในโคเปนเฮเกนต่างก็สวมปลอกแขนสีเหลืองเช่นเดียวกัน จุดยืนของพระองค์นี้ได้รับการสนับสนุนจากพระสังฆราชจาแลนด์และบรรดานักบวชของนิกายลูเธอร์รัน ที่สุดพวกนาซีต้องล้มเลิกข้อบังคับนี้ไป

การเล่าเรื่องเหล่านี้ซ้ำๆ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้จะช่วยให้เราขยายจินตนาการออกไป เพื่อสร้างสรรแนวทางของการไม่ใช้ความรุนแรง เนื่องจากแนวทางนี้ไม่ใช่ธรรมชาติของเรา เราจึงต้องให้การศึกษาแก่ตัวเองในเรื่องดังกล่าว พร้อมกันนี้เราต้องฝึกซ้อมการไม่ใช้ความรุนแรงในชีวิตประจำวันของเรา หากเราหวังที่จะใช้วิธีการนี้ในสถานการณ์วิกฤต

การเปรียบเทียบคำสอนของเยซูกับหลักการชุมชนไม่นิยมความรุนแรง (กฎการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนราก) ของซาอูล อลินสกี้ (มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1909-1972) ผู้เป็นตำนานแห่งการจัดตั้งชุมชน อาจทำให้เรารับรู้ถึงการต่อสู้และความอดทนของท่านทั้งสองซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติได้ในยุคสมัยของเรา ในความพยายามที่จะจัดตั้งกลุ่มคนงานอเมริกันและชนกลุ่มน้อย อลินสกี้ได้พัฒนากฎต่างๆ ขึ้นมาดังนี้

1. อำนาจไม่ใช่สิ่งที่คุณมี แต่เป็นสิ่งที่ศัตรูคิดว่าคุณมี
2. จงใช้ประสบการณ์ซึ่งเป็นของประชาชนเท่านั้น
3. เมื่อใดที่ทำได้จงทำในสิ่งที่อยู่เหนือประสบการณ์ของศัตรู

เยซูก็เช่นเดียวกับอลินสกี้ ต่างก็แนะนำให้ใช้ประสบการณ์ที่เกิดจากการถูกทำให้รู้สึกต่ำต้อย ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือถูกยื้อแย่งเอาไป เพื่อหยุดความริเริ่มจากฝ่ายผู้กดขี่ ผู้ซึ่งเห็นว่าปฏิกิริยาแบบการเดินไปด้วยสองไมล์ การถอดผ้าจนเปลือยเปล่า หรือการหันแก้มอีกข้างให้ เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์ของพวกเขา การทำเช่นนี้เท่ากับบังคับให้ผู้กดขี่รู้ว่าคุณมีอำนาจอยู่จริง และบางทีอาจทำให้พวกเขาตระหนักในความเป็นมนุษย์ของคุณ

4. ทำให้ศัตรูต้องเล่นตามกฎที่พวกเขาบัญญัติขึ้น
5. การล้อเลียนเป็นเครื่องมืออันชะงัด
6. กลยุทธ์ที่ดีย่อมหมายถึงวิธีการที่ประชาชนชื่นชอบ
7. กลยุทธ์ที่ใช้อย่างยืดเยื้อจนเกินไปจะกลายเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ

ลูกหนี้ในตัวอย่างที่เยซูยกขึ้นมาเปรียบเปรยนั้นใช้กฎหมายเพื่อกลับไปเล่นงานเจ้าหนี้ของตน ด้วยการปฏิบัติตามตัวอักษรในกฎหมาย แล้วยังถอดเสื้อชั้นในยกให้อีกด้วย ความโลภของเจ้าหนี้ก็เป็นที่ประจักษ์เพราะการไร้ซึ่งความเมตตาของเขาเอง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นที่บันเทิงใจแก่บรรดาผู้ที่เห็นใจลูกหนี้ ซึ่งก็เป็นไปตามที่อลินสกี้เสนอแนะ สิ่งนี้ทำให้ผู้อื่นตลอดจนเจ้าหนี้ทั้งหลายได้รับบทเรียนและทำให้บรรดาลูกหนี้รับรู้ได้ถึงแนวทางใหม่ๆ ที่เป็นไปได้ และพร้อมจะใช้มัน อลินสกี้เสนอต่อไปว่า

8. กดดันอย่างต่อเนื่อง
9. เป็นเรื่องปกติที่คำข่มขู่จะน่าหวาดกลัวยิ่งกว่าเรื่องที่เรากำลังต่อสู้
10. เหตุผลหลักของยุทธวิธีคือการพัฒนาปฏิบัติการที่จะคงไว้ซึ่งความกดดันที่มีต่อฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่ลดละ

ตัวอย่างสามเรื่องที่เยซูกล่าวถึง มิได้วางหลักการพื้นฐานที่จะทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวยั่งยืน แต่ภารกิจตลอดชีวิตของท่านเองเป็นแบบอย่างของการต่อสู้ในสังคมอย่างยาวนานและคงไว้ซึ่งความกดดันอย่างไม่ลดละ นักบุญมาระโกอธิบายขบวนการเคลื่อนไหวของเยซูว่าเป็นการโจมตีแบบสายฟ้าแลบ คำสั่งสอนของเยซูทำให้บรรดาผู้มีอำนาจประหวั่นพรั่นพรึงได้อย่างทันทีทันใดและต่อเนื่อง สิ่งดีๆ ที่เยซูนำเสนอถูกเข้าใจว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย ผู้ที่ติดตามท่านถูกประเมินค่าไว้สูง วิธีการต่อสู้ของท่านถูกเข้าใจว่าเป็นการปลุกปั่น และการประกาศเรื่องแผ่นดินของพระเจ้าถูกเข้าใจว่าเป็นปรากฏการณ์ของการปฏิวัติ

เยซูผู้ปฏิเสธความรุนแรง ลุยเข้าสู่ความชิงชังในกรุงเยรูซาเล็มด้วยมือเปล่า เพื่อนำความจริงไปเผชิญหน้ากับการใช้กำลัง บรรดาผู้มีอำนาจซึ่งหวาดกลัวท่านและผู้ติดตามของท่านมีทางเลือกเดียวที่จะยับยั้งท่านได้ นั่นคือความตาย ด้วยทางเลือกนี้เอง พวกเขาได้ค้นพบว่าความตายนั้นไร้ซึ่งอำนาจ และเป็นพวกเขาเองที่ถูกเปิดโปง กางเขนอันน่ารังเกียจและน่าสยดสยองกลายเป็นเครื่องหมายของการปลดปล่อย ขบวนการเคลื่อนไหวที่น่าจะจบชีวิตไปกลับกลายเป็นศาสนาหนึ่งของโลก

อลินสกี้นำเสนอสามแนวทางสุดท้าย

11. หากเราผลักด้านตรงข้ามอย่างแรงและหนักหน่วง มันจะออกไปสู่อีกด้านหนึ่งได้
12. คุณค่าของการต่อสู้ที่ประสบความสำเร็จคือทางเลือกอันสร้างสรรค์
13. เลือกเป้าหมาย พิจารณามันอย่างจดจ่อ ด้วยสายตาใหม่ และโดดเดี่ยวมัน

ภาพจาก www.catholic.or.thอลินสกี้ปลาบปลื้มกับการเปิดเผยพฤติกรรมที่โหดร้ายรุนแรงของฝ่ายตรงข้ามเพื่อทำลายชื่อเสียงของคนเหล่านี้ เช่น การปล้นสำนักงานใหญ่ของขบวนการเคลื่อนไหว การหักหลังและข่มขู่ว่าจะเปิดเผยความลับ การพยายามฆ่าที่ล้มเหลว เป็นต้น คนเหล่านี้ได้แก่พวกเจ้าหน้าที่ซึ่งได้ตำแหน่งจากการเลือกตั้ง บรรษัทที่น่ายกย่อง และตำรวจที่น่าเชื่อถือ คนเหล่านี้ทำผิดกฎหมายเพื่อให้พวกของตนได้สิทธิพิเศษเหนือผู้อื่น

ในทำนองเดียวกัน เยซูก็เสนอแนะให้เล่าสู่กันฟังในวงกว้างเกี่ยวกับเรื่องความอยุติธรรม (หันแก้มอีกข้างหนึ่งให้ ถอดเสื้อในให้ และเดินไปด้วยอีกไมล์หนึ่ง) เพื่อเปิดเผยให้เห็นความผิดมหันต์ของการกดขี่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย แม้ว่ากฎหมายนั้นมีความ “เห็นใจ” จึงเรียกให้คืนเสื้อคลุมของลูกหนี้เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน แต่ในช่วงขณะแห่งความรู้แจ้งนั้น ศาสนายิวเองก็รู้ว่าระบบการกู้ยืมและการเป็นหนี้คือรากเหง้าของปัญหาความอยุติธรรม และไม่ควรได้รับการยอมรับ (อพยพ 22:25) แม้ว่ากฎข้อบังคับที่ให้แรงงานต้องแบกสัมภาระของทหารไปเพียงไมล์เดียว นับเป็นความก้าวหน้าเหนือการกดขี่ที่ไม่มีขีดจำกัด แต่กองกำลังทหารไม่มีสิทธิใดๆ ในการยกพลเข้ายึดครองดินแดนชาวยิวไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

เยซูมิได้พึงพอใจแต่เพียงการทำให้ผู้ไร้ซึ่งอำนาจได้มีอำนาจเท่านั้น ในข้อนี้คำสอนของเยซูเหนือกว่าของอลินสกี้ เยซูไม่ได้สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงเพื่อเป็นเทคนิคในการเอาชนะศัตรู แต่เป็นเครื่องมือในการต่อต้านศัตรูซึ่งอาจเปิดโอกาสให้ศัตรูได้หันกลับมาสู่ความยุติธรรมได้เช่นเดียวกัน

จากแนวทางที่อลินสกี้ได้กำหนดขึ้น ผู้เขียนขอเพิ่ม “กฎ” ของตัวเองอีกข้อหนึ่ง นั่นคือ อย่านำยุทธ์วิธีที่เราไม่ต้องการให้ศัตรูใช้กับเรามาปฏิบัติโดยเด็ดขาด ผู้เขียนคงไม่ปฏิเสธหากฝ่ายตรงข้ามนำวิธีการที่ปราศจากความรุนแรงมาใช้ หากวิธีการนั้นหมายถึงการที่พวกเขาต้องอุทิศตนให้กับการทนทุกข์แม้กระทั่งต้องตาย แต่จะไม่หันมาใช้ความรุนแรงกับผู้เขียน ซึ่งย่อมหมายความอีกว่า พวกเขาให้เกียรติแก่ความเป็นมนุษย์ของผู้เขียน เชื่อว่าพระเจ้าสามารถเปลี่ยนจิตใจผู้เขียน และปฏิบัติต่อผู้เขียนด้วยความเคารพและมีศักดิ์ศรี

ปัจจุบันเราสามารถแสดงให้เห็นประสบการณ์ที่สั่งสมมาในประวัติศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการต่อสู้ทางสังคมที่ปราศจากความรุนแรง เราจะเห็นได้ว่า จิตวิญญาณ แรงผลักดัน และการเพิ่มขึ้นของการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของจักรวาลนี้ เป็นสิ่งเดียวกับที่เราเห็นว่าดำรงอยู่ในเยซู คำสอนของท่านไม่ได้มีลักษณะเป็นข้อกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามทุกตัวอักษร แต่เป็นเสมือนคู่มือสำหรับการปฏิบัติเพื่อให้อำนาจแก่ผู้ไร้ซึ่งอำนาจ ให้สามารถยึดกุมการริเริ่มแม้ในสถานการณ์ที่ไม่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได

การเสี่ยงเผชิญหน้ากับอำนาจในสภาพของตัวตลกที่ไม่อาจต่อกรกับภยันตราย การยืนยันความเป็นมนุษย์ของเราและของผู้ที่เราต่อต้าน การกล้าที่จะไล่เบี้ยเอากับความชั่วร้ายต่างๆ ด้วยการดูดซับความชั่วไว้ ดูเหมือนว่าการกระทำเหล่านี้จะไม่ดึงดูดผู้ที่มีจิตใจไม่เข้มแข็งพอ แต่สำหรับผู้ที่ท้อแท้จากความอยุติธรรมอันเลวร้ายซึ่งบดขยี้เรา และจากการดื้อแพ่งของบรรดาผู้ที่อยู่ในตำแหน่งอันทรงอำนาจนั้น คำสอนของเยซูส่องแสงแห่งความหวังมานานนับศตวรรษ เราไม่จำเป็นต้องกลัว เราจะสามารถยืนยันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเรา เราจะยังคงครอบครองความเป็นไปได้อันสร้างสรรค์ซึ่งเป็นของเรา ไม่ว่าจะเป็นการล้อเลียนความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากกฎหมายซึ่งไม่เป็นธรรม หรือการบังคับให้ความชั่วปรากฎตัวออกจากที่ซ่อนบนเปลือกนอกของความถูกต้องตามตัวบทกฎหมาย

------------------------------

หมายเหตุ
- ดร. วอลเตอร์ วิงค์ เป็นศาสตราจารย์ที่ สามเณราลัยออเบิร์น และเป็นผู้แต่งหนังสือเรื่อง Engaging the Powers, Violence and Nonviolence in South Africa, และ The Powers That Be.

-เนื้อหาในบทความนี้นำมาพิมพ์ซ้ำจาก The Impossible Will Take a Little While: A Citizen’s Guide to Hope in a Time of Fear ซึ่งมี พอล โลบ เป็นบรรณาธิการ

----------------------------------------------------------------------------

* อลินสกี้ (Saul Alinsky) เป็นชาวอเมริกันมีชีวิตอยู่ในปี 1909 ถึง 1972 ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการจัดตั้งชุมชน และเป็นผู้เขียน “กฎแห่งการเปลี่ยนแปลงแบบถอนราก” (Rules for Radicals)

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >