หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow รักเพศเดียวกันบาปจริงหรือ : ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ เรียบเรียง
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 268 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

รักเพศเดียวกันบาปจริงหรือ : ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ เรียบเรียง พิมพ์
Thursday, 08 June 2006
รักเพศเดียวกันบาปจริงหรือ : มองพระคัมภีร์ด้วยแนวคิดใหม

ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ เรียบเรียง

Image
เรื่องราวของเมืองโสโดมและบางตอนจากบทจดหมายนักบุญเปาโลถูกนำมาอ้างอิงและพร่ำสอนครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าการรักเพศเดียวกัน* นั้นเป็นบาปอันชั่วช้า คำสอนเช่นนี้ถูกสืบทอดกันมาเป็นเวลากว่าพันปี โดยมิได้มีการตรวจสอบอย่างลึกซึ้ง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอคติต่อคนรักเพศเดียวกัน อคตินี้สั่งสมกันมาอย่างต่อเนื่อง จนก่อตัวเป็นความรุนแรงรูปแบบต่างๆ มากมาย


ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง คนรักเพศเดียวกันตกเป็นเหยื่อค่ายนรกและการทดลองอันโหดร้ายของนาซี เช่นเดียวกับชาวยิวและชาวยิปซี ในสหรัฐอเมริกา เพียงแค่ช่วงเวลาระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน ปี 2542 หญิง-ชายทั้งหมด 49 คน ถูกฆาตกรรม โดยมีสาเหตุมาจากการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (Homophobia) คดีที่โหดร้ายมากนอกจาก 49 คนนี้คือ คดีของแมทธิว เชฟเพิร์ด เด็กหนุ่มเกย์อายุ 21 ปี ที่ถูกตีด้วยกระบอกปืน และจับตรึงกางเขนกับลวดหนามจนเสียชีวิต ผู้หญิงหลายรายถูกผู้ชายหรือคนในครอบครัวตัวเองข่มขืนเพื่อ “เปลี่ยน” ความรักของพวกเธอให้เป็น ”ปกติ”

คนรักเพศเดียวกันจำนวนมากถูกปฏิเสธจากสังคมศาสนา หรือถ้าจะเลือกอยู่ในศาสนาก็ต้องกดทับความรู้สึกที่ถูกประนามว่าเป็น “บาป” และ “เลวร้าย” การปฏิเสธตัวเองเช่นนี้ ก่อให้เกิดความแปลกแยกกับตนเอง จนไม่สามารถดำเนินชีวิตเป็นมนุษย์อย่างมีศักดิ์ศรีแห่งการเป็นบุตรพระเจ้าเท่าเทียมกับผู้อื่น

แก่นของศาสนาคริสต์นั้นคือความรัก พระบัญญัติหลักที่พระเยซูมอบไว้ก็คือ “จงรักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง” ความเกลียดกลัวและการกระทำรุนแรงต่อคนรักเพศเดียวกันดังตัวอย่างข้างต้น ดูจะตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับคำสอนขององค์พระคริสต์

ตลอดระยะเวลา 25-30 ปีที่ผ่านมา นักพระคัมภีร์ นักเทววิทยา นักประวัติศาสตร์ ผู้มีข้อสงสัยนี้อยู่ในใจ ต่างพากันศึกษาพระคัมภีร์และบริบทของสังคมในสมัยนั้นอย่างละเอียดลออ เพื่อพิสูจน์ว่า พระคัมภีร์นั้นกล่าวประนามคนรักเพศเดียวกันจริงหรือ

การศึกษาเหล่านี้ เรียกได้ว่าเป็นการเปิดประตูบานใหม่ ที่จะช่วยให้ชาวคริสต์ทั่วไปพิจารณาพระคัมภีร์ในแง่เกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกันด้วยมุมมองที่ต่างไปจากคำสอนเดิมที่ยึดถือกันมา ทั้งช่วยให้คนในศาสนาอื่นเข้าใจว่า แท้จริงแล้วพระคัมภีร์ของศาสนาคริสต์ มิได้เป็นต้นเหตุแห่งอคติและความรุนแรงต่อคนรักเพศเดียวกันแต่อย่างใด และสำหรับคนรักเพศเดียวกัน นี่คือประตูที่นำไปสู่การรักและยอมรับตัวเองอย่างแท้จริง

บทความนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลบางส่วนจากการศึกษาเหล่านั้น


เกิดอะไรขึ้นในเมืองโสโดม

1ฝ่ายทูตสวรรค์สององค์นั้นมาถึงเมืองโสโดมในเวลาเย็น โลทกำลังนั่งอยู่ที่ประตูเมืองโสโดม เมื่อโลทเห็นท่านทั้งสองเขาก็ลุกขึ้นไปต้อนรับและกราบลงถึงดิน 2กล่าวว่า “เจ้านายของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านแวะไปบ้านข้าพเจ้าผู้รับใช้ของท่านค้างสักคืนหนึ่ง ล้างเท้าของท่าน แล้วค่อยลุกขึ้นแต่เช้าเดินทางต่อไป” ท่านทั้งสองตอบว่า “อย่าเลยเราจะค้างคืนที่ลานเมือง” 3แต่โลทก็รบเร้าชักชวนท่านทั้งสอง ท่านจึงไปกับเขาเข้าไปในบ้านของเขา โลทก็จัดการเลี้ยง ปิ้งขนมไร้เชื้อ ท่านทั้งสองก็รับประทาน 4ท่านทั้งสองยังไม่ทันเข้านอน พวกผู้ชายเมืองนั้น คือชายชาวเมืองโสโดมทั้งหนุ่มและแก่หมดทั้งเมืองจนถึงคนสุดท้ายพากันมาล้อมเรือนนั้นไว้ 5พวกเขาร้องเรียกโลทว่า “ชายที่เข้ามาหาเจ้าคืนนี้อยู่ที่ไหน จงนำเขาออกมาให้เรา เราจะได้สมสู่กับเขา” 6โลทก็ออกทางประตูไปหาชายเหล่านั้น แล้วปิดประตูเสีย 7กล่าวว่า “พี่น้องของข้าเอ๋ย ข้าขอเสียทีเถอะ อย่ากระทำการโหดร้ายเช่นนี้เลย 8ดูเถิด ข้ามีลูกสาวสองคน ยังไม่เคยสมสู่กับชายเลย ข้าจะนำออกมาให้ท่าน ท่านจะทำแก่เขาอย่างไรก็ได้ตามใจชอบเถิด แต่ขออย่าทำอะไรกับชายเหล่านี้เลย เพราะเขามาอยู่ใต้ร่มชายคาของข้าแล้ว” 9แต่พวกนั้นร้องว่า “ถอยไป” และขู่ว่า “เจ้าคนนี้มาขออาศัยอยู่ แล้วยังมาตั้งตัวเป็นตุลาการ เราจะทำกับเจ้าให้เจ็บเสียยิ่งกว่าทำแก่คนเหล่านั้นอีก” พวกนั้นผลักโลทโดยแรง และเข้ามาใกล้จะพังประตู 10แต่แขกทั้งสองนั้นยื่นมือออกไปดึงตัวโลทเข้ามาในบ้านแล้วปิดประตูเสีย 11ท่านทั้งสองทำให้พวกคนที่อยู่หน้าประตูบ้านนั้นตาบอดหมดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็เที่ยวคลำหาประตูจนอ่อนใจ” (ปฐมกาล 19: 1-11)

แล้วทูตสวรรค์ทั้งสองจึงเตือนโลทว่าให้พาครอบครัวออกจากเมืองนี้ เพราะพระเจ้าจะทำลายเมืองที่ทำผิดบาปนี้เสีย เมื่อโลทและครอบครัวหนีออกจากเมืองแล้ว “พระเจ้าทรงให้กำมะถันและไฟจากพระเจ้าตกลงจากฟ้าลงมาบนเมืองโสโดมและเมืองโกโมราห์” (ปฐมกาล 19:24)

เรื่องราวของเมืองโสโดมถูกนำมาใช้ตัดสินคนรักเพศเดียวกันมากที่สุด จนไม่ว่าใครเมื่อนึกถึงเมืองโสโดมก็จะนึกถึงบาปของคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งร้ายแรงมากจนพระเจ้าต้องทำลายเมืองทั้งเมือง

แน่นอนว่าชาวเมืองโสโดมได้กระทำบาป แต่บาปของพวกเขาคือการเป็นคนรักเพศเดียวกันจริงหรือ?

ความคิดที่ว่าบาปของเมืองโสโดมเป็นบาปของการรักเพศเดียวกันนั้นเพิ่งจะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 12 โดยมีการใช้คำว่า “โสโดมไมท์” (Sodomite) เพื่อเรียกผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย จนกระทั่งถึงปัจจุบัน คำๆ นี้ใช้เรียกหมายรวมถึงทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

แต่ก่อนหน้านั้นรวมทั้งในพระคัมภีร์และพระเยซูเอง ไม่มีใครคิดว่า บาปของเมืองโสโดมคือการรักเพศเดียวกัน ในพระคัมภีร์มีการอ้างถึงเมืองโสโดม โดยพูดถึงบาปที่ต่างกันไป เช่น เป็นความอยุติธรรม การปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ตกยาก การไม่ต้อนรับผู้มาเยือน การกดขี่ ความหยิ่งยโส การล่วงประเวณี ความลำเอียง การโกหก การส่งเสริมความชั่วร้าย (เช่น ในอิสยาห์ 1:9 และ 3:9, เยเรมีย์ 23:14, เอเสเคียล 16 : 46-52, เศฟันยาห์ 2:8-11) พระเยซูกล่าวถึงเมืองโสโดมในแง่ของการปฏิเสธผู้นำสารของพระเจ้า (มัทธิว10:5-15)

นักพระคัมภีร์ตีความเรื่องนี้ไปได้สองทาง คือ
1 สิ่งที่ชาวเมืองโสโดมต้องการนั้นไม่ใช่การมีเพศสัมพันธ์
2 หรือถ้าเป็นเรื่องเพศจริง บาปของเมืองโสโดมนั้นไม่ใช่การรักเพศเดียวกัน

ในกรณีที่ 1 เมื่อศึกษาดูรากศัพท์ของคำว่า ”สมสู่” ในภาษาฮีบรู พบว่าคำนี้มีความหมายอื่นได้ คำนี้แปลตรงตัวได้ว่า “รู้จัก” พบปรากฎอยู่ในพระคัมภีร์เก่า 943 ครั้ง มีเพียง 10 ครั้งเท่านั้นที่มีนัยถึงเรื่องเพศ

ถ้าเราพิจารณาในความหมายว่ารู้จักธรรมดา อาจคิดได้ว่า โลทนั้นเป็นชาวต่างถิ่นที่เดินทางมาค้างในเมือง แล้วยังต้อนรับชายแปลกหน้า 2 คน มาพักในเวลาค่ำคืนอีก ชาวเมืองอาจเกิดความสงสัย จึงมาเคาะประตูเรียกโลท เพื่อตรวจสอบชาย 2 คนนั้น เมื่อโลทไม่ยอมส่งชายทั้งสองออกไป จึงทำให้ชาวเมืองผู้มีใจอธรรมอยู่แล้วโกรธแค้น

ในพระคัมภีร์มีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งคล้ายคลึงกับเรื่องเมืองโสโดมมาก เราอาจนำมาเทียบเคียงหาความเป็นไปได้ของข้อสันนิษฐานนี้ ในผู้วินิจฉัย 19 พูดถึงเรื่องของเมืองกิเบอาห์ เรื่องมีอยู่ว่า เลวีคนหนึ่ง เดินทางพร้อมกับคนรับใช้และภรรยาน้อย เมื่อเดินทางมาถึงเมืองกิเบอาห์ก็เป็นเวลาค่ำคืนแล้ว ไม่มีชาวเมืองคนใดให้ที่พักแก่เขา ยกเว้นชาวต่างเมืองคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้น เมื่อทุกคนเข้าไปในบ้านพักของเจ้าบ้านแล้ว ผู้ชายในเมืองต่างพากันมาล้อมบ้าน หมายจะ”รู้จัก”ผู้มาใหม่ เช่นเดียวกับโลท เจ้าของบ้านปฏิเสธที่จะส่งแขกออกไป และเสนอจะส่งลูกสาวพรหมจรรย์ออกไปแทน แต่ชาวเมืองไม่ต้องการเธอ เลวีจึงผลักภรรยาน้อยของตนออกไป ชาวเมืองข่มขืน (รู้จัก) เธอทั้งคืน จนเช้าเลวีจึงพบว่าเธอนอนตายอยู่หน้าประตูบ้าน เพื่อเป็นการแก้แค้น เผ่าพันธุ์อิสราเอลทั้งหมดจึงรวบรวมกำลังพลมาทำลายเมืองกิเบอาห์

ในกรณีนี้ พระคัมภีร์เขียนไว้ว่าชาวเมืองนั้นต้องการจะฆ่าเลวี (ผู้วินิจฉัย 20:5) ไม่ใช่ต้องการจะมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น “รู้จัก” คำนี้จึงไม่ได้มีนัยทางเพศ เมื่อนำมาเทียบเคียงกับเรื่องของเมืองโสโดมจึงพอสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่าชาวเมืองไม่ได้ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับชายทั้งสอง

หรือถ้าตามกรณีที่สองว่าชาวเมืองต้องการมีเพศสัมพันธ์กับชายแปลกหน้าสองคนจริง ดูให้ดีแล้วจะเห็นว่านี่ไม่ใช่การมีเพศสัมพันธ์ตามธรรมดา แต่นี่คือการพยายามข่มขืนหมู่ และการที่โลทเสนอลูกสาวของตนออกไปแทน ทำให้เห็นได้ว่า จริงๆแล้วชาวเมืองนั้นเป็นคนรักต่างเพศ (Heterosexual) มิฉะนั้น โลทคงไม่ส่งผู้หญิงออกไปให้กับผู้ชายที่รักเพศเดียวกัน เมื่อนำทั้งสองประเด็นนี้มารวมกันสามารถสรุปได้ว่า ชายเมืองโสโดมเป็นชายรักต่างเพศที่พยายามจะใช้กำลังข่มขืนผู้ชาย

ในตะวันออกกลางมีพฤติกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นจริง ซึ่งเหตุผลที่ทำนั้นไม่ใช่เพื่อความพอใจทางเพศ แต่เป็นการกระทำเพื่อดูถูกเหยียดหยามผู้ชายอีกเผ่าหนึ่ง วิธีการดูถูกก็คือ บังคับให้ผู้ชายคนนั้นเล่นบทของผู้หญิงในการมีเพศสัมพันธ์ ผู้ชายที่ตกเป็นเหยื่อจะรู้สึกถูกดูถูกเหยียดหยาม คนที่ข่มขืนจะรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจเหนือกว่าชายอีกเผ่า ทั้งกรณีของเมืองโสโดมและกิเบอาห์ตรงกับข้อมูลนี้ ทั้งโลทและเลวีต่างก็เป็นชายต่างเผ่า ที่เข้ามาอาศัยพักพิงในเมืองของอีกเผ่า ความปลอดภัยของโลทและเลวีขึ้นอยู่กับชาวเมืองอย่างสิ้นเชิง ชาวเมืองจะเลือกทำอะไรกับพวกเขาก็ได้

ดังนั้น เมื่อเป็นการข่มขืน ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ก็ถือว่าเป็นความอยุติธรรม การกดขี่ข่มเหงและเป็นความชั่วร้ายด้วยกันทั้งนั้น

และแม้จะเป็นบาปที่พระคัมภีร์บางตอนบอกว่าเป็นการล่วงประเวณี ในสายตาของชาวยิวโบราณ บาปของการล่วงประเวณีไม่ได้พุ่งประเด็นไปที่เรื่องเพศและไม่ได้เป็นการละเมิดในตัวผู้หญิง การล่วงประเวณีถือเป็นความผิดเพราะเป็นการละเมิดทรัพย์สิน (ซึ่งรวมทั้งผู้หญิง)ของผู้ชาย นี่เองที่ถือว่าเป็นความอยุติธรรมในสมัยนั้น

คุณไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ : ภาพจาก www.skyd.orgประเด็นสำคัญที่พระเยซูและพระคัมภีร์บางตอนพูดถึงก็คือ เรื่องการไม่ต้อนรับผู้มาเยือน การไม่ช่วยเหลือผู้ตกยาก และการปฏิเสธผู้นำสารของพระเจ้า ประเด็นนี้เราต้องมาพิจารณาดูบริบททางวัฒนธรรมในสมัยนั้น เมืองโสโดมอยู่ในเขตทะเลทราย ซึ่งมีกฎอยู่ว่า เจ้าบ้านจะต้องต้อนรับแขกผู้มาเยือนและหาที่พักอาศัยให้ เพราะว่าทะเลทรายยามกลางคืนนั้นหนาวเหน็บมาก การไม่มีที่พักอาจหมายถึงอันตรายถึงชีวิต นี่เป็นกฎทะเลทรายที่สำคัญมาก เมื่อชาวเมืองโสโดมผู้เป็นเจ้าบ้านไม่ต้อนรับซ้ำยังกระทำรุนแรงกับผู้มาเยือน จึงเป็นความผิดอย่างฉกรรจ์ โลทเองต้องมีหน้าที่ปกป้องแขกของตน และเพราะสังคมของโลทเห็นผู้หญิงเป็นเพียงทรัพย์สมบัติของผู้ชายและเธอต้องทำทุกอย่างแม้แต่สละชีวิตของตนเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของผู้ชาย เช่นเดียวกับเลวี โลทจึงเสนอลูกสาวพรหมจารีของตนออกไปแทน ให้ชาวเมืองทำอะไรกับเธอก็ได้ เพื่อเป็นการปกป้องแขกผู้ชายและตนเอง

จุดนี้เป็นอีกตอนที่ย้ำให้เห็นว่าพระคัมภีร์ตอนนี้ไม่ได้พูดถึงศีลธรรมด้านเพศเลย ไม่เช่นนั้นคงไม่สื่อให้เห็นภาพของโลทผู้เป็นคนยุติธรรมในสายตาพระเจ้า ส่งลูกสาวพรหมจารีของตนออกไปให้ชาวเมือง หรือเมื่อดูต่อไป หลังจากที่โลทและครอบครัวหนีออกมาแล้ว ภรรยาของโลทหันกลับไปมองเมืองโสโดม นางจึงกลายเป็นเสาเกลือ เหลือเพียงโลทและลูกสาวทั้งสอง ลูกทั้งสองเกรงว่าจะไม่มีใครสืบเผ่าพันธุ์ จึงมอมเหล้าโลทและหลับนอนกับพ่อของตน จนเกิดบุตรชายสองคนซึ่งเป็นต้นตระกูลของคนโมอับและอัมโมน นี่คงไม่ใช่สิ่งที่เราจะเรียกได้ว่าเป็นการสอนศีลธรรมทางเพศได้เช่นกัน

จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เห็นได้ว่าบาปของเมืองโสโดมคือการกดขี่ข่มเหง การไม่ต้อนรับผู้มาเยือน ความอยุติธรรม ซึ่งไม่ใช่ประเด็นเรื่องการประพฤติผิดทางเพศ และไม่ได้กล่าวถึงคนรักเพศเดียวกันเลยสักนิดเดียว ดังนั้นการเข้าใจว่าบาปของเมืองโสโดมคือการรักเพศเดียวกันนั้นจึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเป็นอันมาก


นักบุญเปาโลคิดอะไร

ในบทจดหมายของนักบุญเปาโลมีอยู่สามจุดที่ดูเหมือนว่าจะกล่าวประณามคนรักเพศเดียวกัน สามจุดนี้คือ โรมัน 1: 26-27, 1 โครินทร์ 6: 9-10 และ 1 ทิโมธี 1: 9-10

โรมัน 1: 26-27
26เพราะเหตุนี้ พระเจ้าจึงทรงปล่อยให้เขามีกิเลสตัณหาอันน่าอัปยศ (atimias) พวกผู้หญิงของเขาก็เปลี่ยนจากการสัมพันธ์ตามธรรมชาติ (physiken) ให้ผิดธรรมชาติ (para physin)ไป 27ฝ่ายผู้ชายก็เลิกการสัมพันธ์กับผู้หญิงให้ถูกตามธรรมชาติ (physiken)เช่นกัน และเร่าร้อนไปด้วยไฟแห่งราคะตัณหาที่มีต่อกัน ผู้ชายกับผู้ชายด้วยกันประกอบกิจอันชั่วช้าอย่างน่าละอาย (aschemosyne) เขาจึงได้รับผลกรรมอันสมควรแก่ความผิดของเขา

28 และเพราะเขาไม่เห็นสมควรที่จะรู้จักพระเจ้า พระองค์จึงทรงปล่อยให้เขามีใจชั่วและประพฤติสิ่งที่ไม่เหมาะสม 29 พวกเขาเต็มไปด้วย (pepleromenous) สรรพการอธรรม (adikia) ความชั่วร้าย ความโลภ ความมุ่งร้าย ความอิจฉาริษยา การฆ่าฟัน การวิวาท การล่อลวง การคิดร้าย พูดนินทา 30ส่อเสียด เกลียดชังพระเจ้า เย่อหยิ่ง จองหอง อวดตัว ริทำชั่วแปลกๆ ไม่เชื่อฟังบิดามารดา 31โง่เขลา กลับสัตย์ ไม่มีความรักกัน ไร้ความปรานี 32แม้เขาจะรู้พระบัญญัติของพระเจ้า ที่ว่าคนทั้งปวงที่ประพฤติเช่นนั้นสมควรจะตาย เขาก็ไม่เพียงประพฤติเท่านั้น แต่ยังเห็นดีกับคนอื่นที่ประพฤติเช่นนั้นด้วย”

แน่นอนว่าถ้าเราอ่านข้อความเหล่านี้แต่เพียงผิวเผิน เราจะตีความได้ว่านักบุญเปาโลประณามพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน แต่เมื่อนักพระคัมภีร์ศึกษาลึกลงไป พวกเขาพบความเป็นไปได้อื่นๆ

ประเด็นแรกที่เราต้องพิจารณาคือ คำว่า”ผิดธรรมชาติ” ในภาษากรีกใช้คำว่า “para physin”
physin มาจาก physis ซึ่งแปลว่า ธรรมชาติ
para แปลว่า นอกจาก มากกว่า เหนือ ไปเกินกว่า

ความหมายของคำว่าธรรมชาติที่นักบุญเปาโลใช้นั้น ไม่ใช่ธรรมชาติในแง่ของกฎธรรมชาติตามที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน ดูได้จากการใช้คำนี้ในที่อื่นๆ เช่น ใน 1 โครินทร์ 11:14 นักบุญเปาโลเขียนว่า “ธรรมชาติไม่ได้สอนท่านหรือว่าถ้าผู้ชายไว้ผมยาวก็เป็นสิ่งที่น่าละอาย” ในโรม 2:27 นักบุญเปาโลพูดถึงผู้ที่เป็นคนต่างชาติโดยธรรมชาติ

ความหมายของคำว่าธรรมชาติที่นักบุญเปาโลใช้ก็คือคุณลักษณะทั่วไป หรือมาตรฐานทั่วไปที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถือปฏิบัติกัน เช่นเป็นผู้ชายต้องไม่ไว้ผมยาว หรือเป็นคนต่างชาติก็ไม่ได้เข้าสุหนัต นี่ไม่ใช่มีความหมายถึงกฎธรรมชาติอย่างแน่นอน

เมื่อใส่คำว่า para เข้าไปข้างหน้า จึงมีความหมายว่า คนๆนั้นกระทำหรือแสดงออกต่างไปจากคนอื่นๆในกลุ่ม การกระทำเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าผิดบาปหรือผิดศีลธรรม ดูได้จาก โรม 11:24 นักบุญเปาโลใช้คำเดียวกันนี้บอกว่าพระเจ้าทำผิดธรรมชาติ ซึ่งความหมายก็คือพระองค์ทรงทำต่างไปจากที่เคย

ดังนั้นความตอนนี้จึงไม่ได้กล่าวตัดสินว่าการมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันเป็นบาปหรือผิดศีลธรรม หากหมายถึงการกระทำที่ต่างไปจากสังคมทั่วไป


ภาพจาก sarakadee.netประเด็นที่สอง เกี่ยวกับผู้หญิงที่เปาโลเอ่ยถึงในข้อ 26 “พวกผู้หญิงของเขาก็เปลี่ยนจากการสัมพันธ์ตามธรรมชาติให้ผิดธรรมชาติไป” ดูเผินๆอาจคิดว่านักบุญเปาโลหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง ถ้าดูความหมายของธรรมชาติดังที่กล่าวไว้ในประเด็นที่หนึ่ง ประกอบกับเหตุผลทางวัฒนธรรม การมีเพศสัมพันธ์ของผู้หญิงที่ถือว่าต่างไปจากมาตรฐานทั่วไปของชาวยิวในสมัยนั้น สามารถหมายถึงสิ่งต่างๆได้มากมาย เช่น การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงมีประจำเดือน การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่ไม่ได้เข้าสุหนัต เพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก เพศสัมพันธ์ทางทวารหนักกับผู้ชาย

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คิดว่านักบุญเปาโลหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงก็เพราะข้อ 27 มีคำเชื่อมว่า “เช่นกัน” ซึ่งหมายถึงผู้หญิงทำเช่นเดียวกับผู้ชาย แต่คำเชื่อมนี้สามารถหมายความว่า ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างก็มีเพศสัมพันธ์ที่ต่างจากคนทั่วไปในสังคม ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง

หรือถ้าเราคิดว่าข้อ 26 นี้หมายถึงเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิง นักพระคัมภีร์เองยังไม่สามารถหาเหตุผลมาสนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้ได้ เพราะทั้งในพระคัมภีร์เก่าและพระคัมภีร์ใหม่ไม่มีที่ใดอีกเลยที่กล่าวถึงเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิง แล้วเพราะเหตุใดนักบุญเปาโลจึงนำเรื่องนี้ขึ้นมาพูด แล้วถ้าเป็นเรื่องสำคัญจริงเหตุใดจึงไม่มีการกล่าวถึงอีก

เมื่อพิจารณาดูแล้ว บทจดหมายในตอนนี้นักบุญเปาโลกำลังกล่าวอ้างถึงกฎเรื่องความบริสุทธิ์ของชาวยิวและการกระทำที่ละเมิดกฎนั้น ซึ่งกฎเหล่านี้ไม่เคยกล่าวถึงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงเลย ดังนั้นเราสามารถกล่าวได้ว่าไม่มีตอนใดในพระคัมภีร์ที่ประณามหรือแม้แต่จะกล่าวถึงเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิง


ประเด็นที่สาม สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือคำสองคำที่ปรากฏอยู่ในข้อ 26 และ 27 คือ “น่าอัปยศ” และ “ชั่วช้าน่าละอาย”
คำว่า น่าอัปยศ ภาษากรีกคือ atimias
คำว่า ชั่วช้าน่าละอาย ภาษากรีกคือ aschemosyne

คำว่า atimias ไม่ได้มีความหมายเชิงผิดบาปหรือผิดศีลธรรม ความหมายที่แท้จริงคือ ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ไม่ได้รับคุณค่า ไม่เห็นว่ามีเกียรติ ไม่ได้รับการเคารพ นักบุญเปาโลใช้คำนี้อธิบายถึงตัวเองใน 2 โครินธ์ 6:8 และ 11:21 ใน 1 โครินธ์ 11:14 นักบุญเปาโลใช้คำนี้เพื่อบอกว่าผู้ชายไว้ผมยาวเป็นสิ่งที่น่าละอาย และใช้คำนี้ใน 1 โครินธ์ 15:43 เพื่อพูดถึงร่างกายที่ฝังลงในดินว่าเป็นสิ่งที่ไร้เกียรติ ในโรม 9:21 คำนี้ใช้กล่าวถึงภาชนะที่เป็นเพียงภาชนะ “ใช้สอย” นักบุญเปาโลใช้คำว่า atimias ทั้งหมดเพียงเท่านี้ ไม่มีที่ใดที่แสดงถึงการตัดสินทางศีลธรรม

เช่นเดียวกับคำว่า aschemosyne ซึ่งแปลตรงตัวว่า ไม่เป็นตามรูปแบบ
1 โครินธ์ 12:23 คำนี้ถูกใช้เพื่อกล่าวถึงอวัยวะที่ “ไม่น่าดู” 1 โครินธ์ 13:5 ใช้เพื่อพูดถึงความรักที่ไม่ “หยาบคาย” 1 โครินธ์ 7 ใช้เพื่อพูดถึงผู้ชายที่รู้ว่าจะปฏิบัติต่อคู่หมั้น “อย่างสมควรไม่ได้” นักบุญเปาโลใช้ aschemosyne ทั้งหมดเท่านี้ เช่นเดียวกับ atimias ไม่มีที่ใดเลยที่เป็นการตัดสินทางศีลธรรม

ดังนั้นทั้งในข้อ 26 และ 27 ไม่ใช่การตัดสินทางศีลธรรม เพียงชี้ให้เห็นว่านี่เป็นการกระทำที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมในสมัยนั้น

ในข้อ 29 นักบุญเปาโลใช้คำว่า adikia ซึ่งมีความหมายว่าผิดศีลธรรมหรือเป็นบาป เพื่อเอ่ยถึงสิ่งทั้งหลายที่เป็นบาป ในจำนวนสิ่งต่างๆนั้น ไม่มีบาปที่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์อยู่เลย เห็นได้ว่า นักบุญเปาโล มีคำศัพท์เพื่อเรียกถึงสิ่งที่เป็นบาปผิดศีลธรรมอยู่แล้วในขณะนั้น แต่ไม่ใช้ศัพท์เหล่านี้เมื่อกล่าวถึงเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน


ประเด็นสุดท้าย เมื่อประเด็นเรื่องความผิดบาปตกไป เรามาดูถึงเรื่องการไม่เป็นที่ยอมรับจากสังคม เรื่องนี้เราต้องตระหนักว่าสังคมวัฒนธรรมของนักบุญเปาโลและของเรานั้นห่างกันถึงสองพันปีและมีความต่างกันอย่างมากมาย

ลองดูความคิดด้านอื่นๆของนักบุญเปาโลเป็นตัวอย่าง
เช่น ความคิดเรื่องผู้หญิงและผู้ชาย 1 โครินธ์ 14:34-35 นักบุญเปาโลบอกว่าชายเป็นศีรษะของหญิง ถ้าผู้หญิงที่อธิษฐานหรือเผยพระวจนะไม่มีผ้าคลุมศีรษะก็ทำความอัปยศแก่ศีรษะ หรือผู้ชายเป็นพระฉายาและพระสิริของพระเจ้า ส่วนผู้หญิงเป็นเพียงศักดิ์ศรีของผู้ชาย

1 โครินธ์ 14:34-35 นักบุญเปาโลแนะนำว่าผู้หญิงไม่ควรได้รับอนุญาตให้พูดในที่ประชุม แต่ให้อยู่ใต้บังคับบัญชา เพราะการที่ผู้หญิงจะพูดในที่ประชุมเป็นสิ่งที่น่าละอาย ถ้าผู้หญิงอยากรู้สิ่งใดให้ไปถามสามีที่บ้าน 1 ทิโมธี 2:11-15 กล่าวว่า “ให้ผู้หญิงเรียนอย่างเงียบๆ ด้วยความนบนอบ ข้าพเจ้าไม่ยอมให้ผู้หญิงสั่งสอนหรือใช้อำนาจกับผู้ชาย”

ความคิดเช่นนี้นั้นในปัจจุบันถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและกดขี่ผู้หญิง

เรื่องทาสก็เช่นกัน สมัยนี้ถือว่าการใช้ทาสเป็นการกระทำที่ผิดมนุษยธรรม นักบุญเปาโลแม้จะพูดถึงบาปนานาประการ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าผู้ที่เชื่อในพระคริสต์ควรปลดปล่อยทาส เพียงแต่แนะนำว่านายควรปฏิบัติต่อทาสอย่างยุติธรรม ทาสควรเชื่อฟังนายและไม่ควรแสวงหาอิสรภาพ (โคโลสี 3:22 – 4:1 เอเฟซัส 6:5-9 1 ทิโมธี 6:1-2 ทิตัส 2:9-10 และฟีโลโมน)

เมื่อเวลาเปลี่ยนไปคุณค่าในสังคมก็เปลี่ยนตาม สังคมปัจจุบันมีความเข้าใจความรักระหว่างคนเพศเดียวกันที่ต่างไปจากสังคมผู้เชื่อในพระคริสต์เมื่อสองพันปีก่อน การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ต่างชี้ให้เห็นว่า การมีความรักกับคนเพศเดียวกันเป็นความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ เช่นเดียวกับการที่มนุษย์มีสีผม สีผิว หรือดวงตาสีต่างๆกันไป ในทางการแพทย์เองก็มีข้อสรุปเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการที่องค์กรอนามัยโลกประกาศตั้งแต่เมื่อปี 2519 ว่าการรักเพศเดียวกันมิใช่ความผิดปกติทางจิตแต่อย่างใด กรมสุขภาพจิตของไทยเราก็ประกาศเช่นเดียวกันเมื่อปี 2545 ที่ผ่านมานี้ องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศต่างสนับสนุนและเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน พร้อมกับพยายามขจัดการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงที่มีต่อคนรักเพศเดียวกัน

นักบุญเปาโลมิได้มีความเข้าใจดังเช่นในปัจจุบัน ฉะนั้นเราจึงไม่สามารถใช้ข้อความใน โรมัน 1:26-27 มาตัดสินคนรักเพศเดียวกันได้

1 โครินธ์ 6:9-10 และ 1 ทิโมธี 1:9-10
9ท่านไม่รู้หรือว่าคนอธรรมจะไม่มีส่วนในแผ่นดินของพระเจ้า อย่าหลงเลย คนล่วงประเวณี คนถือรูปเคารพ คนผิดผัวผิดเมียเขา ลูกสวาทหรือชายเล่นลูกสวาท (oute malakoi oute arsenokoitai) 10คนขโมย คนโลภ คนขี้เมา คนปากร้าย คนฉ้อโกง จะไม่ได้รับส่วนในแผ่นดินของพระเจ้า” 1 โครินธ์ 6:9-10

9คือโดยรู้ว่าธรรมบัญญัตินั้น มิได้ทรงบัญญัติไว้สำหรับคนอธรรมและคนดื้อด้าน คนผิดและคนบาป คนไม่นับถือพระเจ้าและคนหมิ่นประมาท คนฆ่าพ่อ คนฆ่าแม่ คนฆ่าคน 10คนล่วงประเวณี ชายเล่นลูกสวาท (arsenokoitai) ผู้ร้ายลักคน คนโกหก คนทวนสบถ และอะไรๆที่ขัดกับคำสอน” 1 ทิโมธี 1:9-10

ทั้งคำว่า malakoi และ arsenokoitai นั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่านักบุญเปาโลใช้เพื่อหมายถึงอะไร ซึ่งทั้งสองคำที่ใช้ก็ไม่มีคำอธิบายประกอบ

ในกรีกสมัยนั้นมีคำทั่วไปที่ใช้เรียกการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนรักเพศเดียวกัน พวกเขาอาจเป็นคนรักต่างเพศที่แต่งงานแล้ว แต่มีความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันไปด้วย) คำเหล่านี้ก็เช่น paiderastes palakos kinaidos arrenomanes และ paidophthoros ถ้านักบุญเปาโลต้องการหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันน่าจะใช้คำเหล่านี้

การแปลคำทั้งสองในพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษแต่ละฉบับก็แตกต่างกันไป malakoi เคยถูกแปลว่า เด็กชายที่ใช้ในการร่วมเพศระหว่างผู้ชาย ลักษณะที่เหมือนผู้หญิง หมกมุ่นกับตัวเอง ชายที่เหมือนผู้หญิง จนถึงศตวรรษที่ 20 ศาสนจักรคาทอลิกแปลคำนี้ว่า ผู้สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง

arsenokotai ถูกแปลว่ารักร่วมเพศ โสโดมไมท์ ชายที่ชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก วิปริต วิปริตทางเพศ หรือคนที่มีนิสัยน่ารังเกียจ

คำว่า malakos (พหูพจน์คือ malakoi) แปลตรงตัวได้ว่า “อ่อนนุ่ม” บางครั้งใช้คำนี้เพื่อดูถูกผู้ชายที่มีลักษณะเหมือนผู้หญิง นักประวัติศาสตร์ที่ชื่อ John Boswell แนะนำว่า เมื่อนำคำนี้มาเชื่อมโยงกับศีลธรรม แปลได้ว่า คนที่มีศีลธรรมอ่อนแอ หละหลวม โดยไม่มีนัยทางเพศ นักพระคัมภีร์ Robin Scroggs ให้ความหมายที่ต่างออกไป เขาชี้ว่าคำนี้หมายถึงเด็กชายที่ขายบริการทางเพศให้กับผู้ชาย ซึ่งพบได้ทั่วไปในกรีกสมัยนั้น เด็กเหล่านี้ขายตัวเองเพื่อแลกกับเงินและความตื่นเต้น สิ่งนี้เป็นเรื่องที่โต้แย้งกันอย่างหนักในสมัยนั้นว่าถูกต้องหรือไม่ นักบุญเปาโลอาจต้องการสื่อกับผู้อ่านในเรื่องนี้ก็เป็นได้

ส่วนคำว่า arsenokoitai นั้นมาจากรากศัพท์สองคำคือ
arseno แปลว่า ผู้ชาย
koitai แปลว่า เตียง ห้องนอน การนอน การมีเพศสัมพันธ์
การแปลคำๆนี้มีปัญหามากเพราะยังไม่พบในข้อเขียนกรีกอื่นใด เราจึงไม่สามารถเทียบเคียงกับบริบททางวัฒนธรรมได้

John Boswell ให้ความเห็นว่า คำว่าผู้ชาย หรือ arseno เป็นประธานของคำ คำนี้จึงแปลว่าชายขายบริการ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะคนที่ขายบริการให้คนเพศเดียวกันเท่านั้น ถ้าถือตามนี้ 1 โครินธ์ 6 และ 1 ทิโมธี 1 ไม่ได้หมายถึงคนรักเพศเดียวกันเลย

อย่างไรก็ตาม Robin Scroggs มีความเห็นที่ต่างออกไป Scroggs คิดว่าคำๆนี้ไม่ปรากฏอยู่ที่อื่นใดในข้อเขียนกรีก เพราะคำนี้แปลมาจากภาษาฮีบรูคำว่า mishkav zakur ซึ่งแปลว่า นอนกับผู้ชาย ดังนั้นจึงมีแต่ชาวยิวที่พูดภาษากรีกเท่านั้นที่ใช้คำนี้

ดังนั้น ผู้ชายในที่นี้จะเป็นกรรม ซึ่งหมายถึงผู้ชายที่ซื้อบริการจากเด็กชาย ดังนั้น malakoi และ arsenokoitai จึงหมายถึงทั้งเด็กขายบริการและชายที่ซื้อบริการ

เมื่อดูบริบททางวัฒนธรรม จะทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้น ในกรีกนั้นความรักระหว่างผู้ชายถือว่าเป็นรูปแบบของความรักขั้นสูงสุด ความสัมพันธ์ระหว่างชายสองคนจะเต็มไปด้วยความรัก ความห่วงใย มิตรภาพ คุณค่าที่คล้ายคลึงกัน และการอุทิศตัวทำงานบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน เรื่องเพศไม่ใช่หัวใจของความสัมพันธ์ หากอยู่ที่คุณงามความดี แต่ในจักรวรรดิโรมันในศตวรรษที่ 1 เกิดความเสื่อมถอยทางศีลธรรมมากมาย ผู้ชายหมกมุ่นในเรื่องเพศและซื้อบริการทางเพศกันมากขึ้น ผู้ชายบางคนข่มขืนกักกันทาสของตน เด็กหญิงและเด็กชายที่หน้าตาดีถูกลักพาตัวขายไปเป็นทาสทางเพศ ซึ่งนี่อาจเป็นสาเหตุว่าทำไม ผู้ร้ายลักคนจึงปรากฏต่อท้ายจาก arsenokoitai ใน 1 ทิโมธี 1:10 ดังนั้นเมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชาย นักวิจารณ์สังคมในสมัยนั้นจึงเห็นว่าเป็นความสัมพันธ์ที่เอารัดเอาเปรียบ ไม่เท่าเทียม เต็มไปด้วยราคะตัณหาและความรุนแรง ความสัมพันธ์เช่นนี้เองที่นักบุญเปาโลถือว่าเป็นความผิดบาป

พระคัมภีร์นั้นต่อต้านการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างหญิง-ชายที่อยุติธรรม เอารัดเอาเปรียบ ใช้ความรุนแรง แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าพระคัมภีร์ห้ามการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างหญิง-ชาย เช่นเดียวกัน เมื่อนักบุญเปาโลพูดถึงเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายที่เป็นความอยุติธรรม เอารัดเอาเปรียบ ใช้ความรุนแรง ทารุณโหดร้าย เราคงไม่สามารถพูดได้ว่านักบุญเปาโลห้ามการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ชาย

ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนเพศใด ถ้าความสัมพันธ์เต็มไปด้วยความอยุติธรรม ความโหดร้ายทารุณ พระคัมภีร์ถือว่าเป็นบาปด้วยกันทั้งสิ้น


ก้าวย่างสู่อนาคต

การศึกษาใหม่ๆ เช่นนี้คงเป็นพื้นฐานอันดีที่จะช่วยให้เราเข้าใจพระคัมภีร์และคนรักเพศเดียวกันมากขึ้น นักเทววิทยา Dr. Janet Ruffing, RSM กล่าวไว้ว่า “คนรักเพศเดียวกันนั้นถูกตัดสินตั้งแต่เขายังไม่รู้ว่าตัวเองรักเพศใดกันแน่” สังคมเราเต็มไปด้วยอคติและความรุนแรงต่อคนรักเพศเดียวกันมากมายเพียงพออยู่แล้ว แทนที่จะใช้พระคัมภีร์เป็นเครื่องมือสร้างอคติและความรุนแรงให้ทวีขึ้น ขอให้เราใช้พระคัมภีร์เพื่อช่วยปลดปล่อยคนที่ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ

เพื่อให้ศาสนาของเราเป็นศาสนาแห่งการ “รักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง” อย่างแท้จริง

-----------------------------------------------------------------

เอกสารประกอบการเขียน

Barnett, Walter. “Homosexuality and the Bible: An Interpretation.” Wallingford, PA: Pendle Hill Publications. 1990.

Helminiak, Daniel A. “What the Bible Really Says about Homosexuality.” Tajique, NM: Alamo Square Press. 2001.

Spong, John Shelby. “Living in Sin?: A Bishop Rethinks Human Sexuality.” New York: HarperCollins. 1990.

“Catholicism, Homosexuality and Dignity: Questions & Answers about being lesbian, gay, bisexual, or transgendered and catholic.” 1996. แผ่นพับของกลุ่ม Dignity/ USA


กลุ่ม/องค์กร Website คนรักเพศเดียวกัน ในศาสนาคริสต์

- Dignity/USA 1500 Massachusettes Ave., N.W. Suite 11 Washington, D.C. 20005 email: www.dignityusa.org

- www.catholiclesbians.org

- www.questgaycatholic.org.uk


* ปัจจุบันวงวิชาการและสิทธิมนุษยชนใช้คำนี้แทนคำว่า “รักร่วมเพศ” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเชิงอคติ เพราะจำกัดความหมายของคนกลุ่มหนึ่งให้อยู่แค่เพียงการร่วมเพศเท่านั้น การใช้คำว่าคนรักเพศเดียวกัน ทำให้เห็นว่า ความรักระหว่างคนเพศเดียวกันนั้นมีความหมายมากไปกว่าเพียงการร่วมเพศ

ความคิดเห็น
การปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างไร
เขียนโดย มานีรัตน์ สมาน เปิด 2011-06-12 12:14:56
ช่วยตอบให้หน่อยค่า :x
ท่าทีคริสตชน ?
เขียนโดย ชลาธิป เปิด 2010-04-16 14:19:18
ในพระคัมภีร์ไม่ได้พูดถึงเรื่องที่เข้าข่ายผิดศีลธรรมหรือบาปอี กหลายอย่าง เช่น การทำแท้ง การเมาสุรา การขับรถด้วยความประมาท การทำธุรกิจอย่างเห็นแก่ตัว การสร้างเขื่อน การทำลายป่า ฯลฯ เท่าที่ผมเรียนรู้มา บาปคือการทำผิดต่อพระเป็นเจ้า ผิดต่อเพื่อนพี่น้อง ผิดต่อตนเอง พระคัมภีร์เป็นดังไกด์ไลน์สำหรับเราคริสตชนเพื่อใช้เตือนสติในก ารดำรงชีวิต ซึ่งแน่นอนว่า พระคัมภีร์ไม่ได้บอกเราทุกอย่าง ทุกกรณี เราจึงไม่ได้เชื่อพระคัมภีร์ตามตัวอักษร แต่ศึกษาถึงแนวคิดและจิตตารมณ์ของผู้เขียนด้วย 
 
พระเยซูเจ้าได้เคยสอนเราไว้ว่าแค่คิด(จิตใจหมกมุ่น)กับการมีเพศ สัมพันธ์กับหญิงอื่นที่มิใช่ภรรยาของตนก็เป็นบาปแล้ว แต่พระองค์ก็ทรงเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความอ่อนแอฝ่ายเนื ้อหนัง โดยทรงเป็นแบบอย่างและสอนให้เรารู้จักอภัยและอยู่ร่วมกันได้โดย อาศัยพื้นฐานแห่งความรักและการให้อภัย โดยตัวอย่างที่ดีที่สุดก็คือการที่พระองค์ทรงอยู่ร่วม ดื่มกิน กับคนที่สังคมคิดว่าเป็นคนบาป (ในสมัยนั้น เช่น คนเก็บภาษี หญิงโสเภณี)และทรงทำให้เขาเหล่านั้นเปลี่ยนไป (กลับใจ หรืออาจจะเรียกว่า เข้าใจในชีวิตของตน ก็คงได้) ผมคิดว่าท่าทีที่ถูกต้องของคริสตชนก็คือดำเนินตามที่พระเยซูเจ้ าได้ทรงเป็นแบบอย่าง สำหรับในกรณีนี้ เราไม่ควรประณามหยามเหยียด หรือตำหนิ ผู้ที่มีจิตใจรักเพศเดียวกัน แต่ทำนองเดียวกันก็ไม่ควรสนับสนุนการมีเพศสัมพันธ์ดังกล่าว เพราะถ้าจะให้ผมเลือกตอบว่าเป็นบาปอย่างไร ผมคงโยงเข้ากับบาปที่เกิดจากความอ่อนแอฝ่ายเนื้อหนัง ดังเช่นกับการทำลายป่าที่น่าจะโยงเข้ากับการขาดความยุติธรรม และโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เป็นคาทอลิก คงจะทราบดีว่า พระเยซูเจ้าคงจะทรงเล็งเห็นว่าบาปก็มีการพัฒนาไปตามกาลเวลาจึงไ ด้ตรัสกับ น.เปโตร ผู้เป็นพระสันตะปาปาองค์แรกของเราว่า สิ่งใดที่ท่านผูก ในสวรรค์ก็จะผูก สิ่งใดที่ท่านแก้ ในสวรรค์ก็จะแก้ และสิทธิ์นี้ก็ได้รับการถ่ายทอดมาจนถึงพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบั น ดังนั้น ไม่ใช่หน้าที่และอำนาจของเราคริสตชนทั่วไปที่จะระบุว่าสิ่งใดเป ็นบาปหรือไม่ หน้าที่ของทุกคนที่นับถือศาสนาคือพยายามกลับใจและแก้ไข ให้อภัย ยอมรับและให้โอกาสซึ่งกันและกัน แม้จะเห็นต่าง อย่ามองว่าศาสนาเป็นสิ่งที่กีดกันหรือกดขี่คนบาปนะครับ เพราะมนุษย์ทุกคนแม้แต่คนในศาสนาก็ย่อมทำผิดบาปไม่มากก็น้อย ถ้าศึกษาด้วยทัศนคติบวก ข้อห้ามทางศาสนาก็เป็นข้อดี ถ้าด้วยทัศนคติลบ ข้อห้ามก็กลับกลายเป็นข้อด้อย 
 
ทั้งนี้ผมไม่ได้ต่อต้านการเรียกร้องสิทธิของผู้รักเพศเดียวกัน เพราะผมเชื่อว่ายังมีการกดขี่ที่เกิดจากมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่ใช่ศาสนา (แต่ก็อาจเกิดจากบุคลากรทางศาสนา) และการยอมรับผู้ที่มีรสนิยมที่ผิดแผกจากผม ไม่ว่าจะเรื่องใด ไม่ได้หมายความว่าผมต้องตัดสินใจได้ก่อนว่าคนเหล่านี้ไม่ได้ทำบ าปหรือผิดต่อข้อความเชื่อทางศาสนาของผม (ผมยอมรับเขา ไม่ได้ยอมรับข้อความเชื่อหรือการกระทำของเขา) 
 
ถ้ามนุษย์เรายอมรับอย่างจริงใจว่าเราเป็นคนบาป ผิดต่อพระเป็นเจ้าและเพื่อนพี่น้อง และยังคงวนเวียนอยู่กับความบาปเหล่านี้เพราะความอ่อนแอ เราก็คงพบสันติและหนทางแห่งการคืนดีได้ในที่สุด ผมเห็นด้วยกับผู้เรียบเรียงว่าไม่ควรใช้พระคัมภีร์เป็นเครื่องม ือในการกดขี่ แต่ก็กลัวว่าจะเกิดการใช้พระคัมภีร์ในการเป็นข้ออ้างในการทำบาป นะครับ
ตอบคำถาม ของพวกออมชอม
เขียนโดย kaland เปิด 2006-10-25 11:16:22
ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นมาเถียงกันว่ารักเพศเดียวกันบาปหรือไม่ ชิงสุขก่อนห่ามผิดบาปหรือไม่ ช่วยตัวเองผิดหรือไม่ เราไม่ใช่พระเจ้าที่จะไปตัดสิน แต่...ฟังให้ดีนะครับ เพราะเจ้าใส่ไว้ในหัวของเราแล้วล่ะ พระเจ้าใส่สิ่งหนึ่งไว้ในหัวของเราคือ ความรู้ดีรู้ชั่ว ให้เราแยกแยะผิดถูกได้ ยังไม่พอ มีในพระคัมภีร์อีก ตัวอย่างมีให้ศึกษา เพราะเกรงว่ามนุษย์นี้จะมั่วส์ สุดท้ายก็มั่วส์อย่างที่พระองค์ทรงมองเห็นไว้ก่อน จึงมีพระคัมภีร์ไว้อ้าง แต่ในที่นี้ผมจะไม่อ้างถึง เพราะอ้างไปบางคนก็ขี้เกียจอ่านทั้ง ๆ ที่มันก็เป็นหลักฐานยืนยันความบาปของเราอยู่เเจ่มแจ้งแดงแจ๋ถ้า ว่าบาปไหม ? จิตสำนึกเราบอกทั้นทีว่าบาป ... แล้วทำไมบางคนถึงว่าไม่บาป เพราะว่าบางที่เค้าอาจคิดว่า ไฟมันเย็นก็ได้ เลยกะจะเอามือไปจับดู ทั้ง ๆ ที่มือมันช้า (จิตวิญญาณมันชา) แล้วมันจะไปรู้สึกอะไร ต่อให้มือมันเกรียมไปแล้ว มันก็ยังไม่รู้สึก เพราะว่า มือมันตายแล้ว (จิตวิญญาณมันตายด้าน) สรุปเลย มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน บาป ชิงสุขก่อนห่ามบาป ช่วยตัวเองบาป จบ แล้วถามว่ารอดไหม? "ถามพระเจ้าดูสิครับตอนพระองค์มาน่ะ" ดูว่ามันบาปก่อนหรือบาปหลัง การกลับใจของเค้า (ไม่ใช่คำว่าคุณ) บาปหลังเตรียมตัวไปอยู่กับซาตาน บาปก่อนกลับใจ รอดร้อย เปอร์เซ็นต์ (ถ้ากลับใจจริง ๆ อธิบายเรื่องการกลับใจเพราะไม่ได้มาเทศนา และไม่ได้จบพระคัมภีร์ แต่เฝ้าเดี่ยวเป็นประจำแค่นั้น) ถามว่าไอ้นั้นก็ทำ ไอ้นี้ก็ทำ ยังไม่เห็นเป็นไรเลย ถามว่านั้นมันเป็นแบบอย่างที่ดีไหม อยากทำเหมือนมันไหมล่ะ? อยากทำก็ทำไปเพราะผมไม่ใช่มิชชั่นนารี ที่จะสอนให้ใครกลับใจ แต่ถ้าหากรู้แล้วไม่กลับใจ วิบัติจะเกิดขึ้นกับคน ๆ นั้น ถามว่าอาดัมรู้ไหมว่าผลไม้ที่เอวายื่นมาให้คือผลอะไร ตอบ รู้ !! แต่ไม่ทำ.. แล้วพูดถึงเรื่อง คนนั้นยังทำ เป็นคนใหญ่คนโต เป็นคริสเตียนคริสตัง ผมจะถามต่อไปว่า คุณเชื่อมันหรือเชื่อพระเยซู แบบอย่างคือมันหรือว่าแบบอย่างคือพระเยซูคริสต์ชาวนาซาเร็ท เพราะฉะนั้นหวังว่าคริสเตียนคงจะรู้ดีว่าแบบอย่างของเราคือใคร และควรทำตามใคร ถ้าหากว่ายังไม่รู้จักพระเยซูคริสต์ ศึกษาครับ ศึกษาสิครับ มีอะไรให้คุณศึกษาเกี่ยวกับพระองค์ตั้งมากมายถ้าคุณศึกษาแล้วคุ ณจะเชื่อว่าพระเยซู หรือชายคนเนี้ย คือพระเจ้า
งงครับ
เขียนโดย สับสนอลม่าน เปิด 2006-06-17 01:41:03
แต่จะว่าไป ในทางคริสตศาสนา การมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสทั้งหมดก็เป็นบาปทั้งสิ้น ถ้าบทสรุปของบทความนี้จะบอกว่า คนที่เพียงแต่มีจิตใจรักชอบเพศเดียวกัน แต่ไม่ไปมีเพศสัมพันธ์กับใคร ไม่บาป ก็น่าจะยอมรับได้ แต่ถ้าถึงขนาดว่าการร่วมเพศกับเพศเดียวกันยังไม่บาป ผมก็สงสัยว่า มันจะต่างกับการชิงสุกก่อนห่ามของชายกับหญิง หรือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่แต่งงานของชายกับหญิง(ที่เป็นบาปการ ล่วงประเวณีแน่นอน)ตรงไหน เพราะจัดเป็นการมีเพศสัมพันธ์ กับผู้ไม่ใช่สามีหรือภรรยาของตนทั้งนั้น ดังนี้แล้วบรรทัดฐานการยอมรับน่าจะอยู่ตรงไหน และระดับไหน เพราะบทความนี้เหมือนจะตีความว่า พระคัมภีร์ไม่ได้ด่าทอพวกรักเพศเดียวกันเป้นพิเศษ แต่ทว่าในอีกแง่หนึ่ง แม้แต่การช่วยตัวเองยังอยู่ในข้อถกเถียงทางคริสตศาสนาเลยว่าตกล งบาปหรือไม่ ถ้าสรุปว่าช่วยตัวเองบาป การมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถแต่งงานก ันได้ ย่อมนับเป็นการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสและบาปอยู่หรือไม่ 
 
อย่างไรก็ดี น่าสนใจที่ทางแอลกลีกัน เมื่อเร็วๆนี้ ได้แต่งตั้งบิชอปที่เป็นชายรักชายและยังใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนช ายของตน(นักบวชแองกลีกันแต่งงานได้) ซึ่งได้รับการประท้วงถึง1ใน3ว่า บิชอปไม่ควรเป็นพวกรักเพศเดียวกัน แต่ฝ่ายโหวตให้ผ่านก็ชนะในที่สุด

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >