หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 97 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


‘ดอกไม้ปลายปืน’ ผู้กล้าขวางกลุ่มทุนฮุบ กฟผ. พิมพ์
Thursday, 01 June 2006


รสนา โตสิตระกูล

‘ดอกไม้ปลายปืน’ ผู้กล้าขวางกลุ่มทุนฮุบ กฟผ.


กองบรรณาธิการ : สัมภาษณ์


รสนา โตสิตระกูลพลันที่ศาลปกครองมีคำสั่งระงับการกระจายหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ของ บริษัท การไฟฟ้าฝ่ายผลิต จำกัด (มหาชน) หรือ กฟผ. ไว้ชั่วคราว ตามที่เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนยื่นฟ้องไปเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วนั้น คงทำให้เรารู้สึกโล่งอกโล่งใจไปได้บ้างถึงแม้ยังไม่รู้ผลที่จะออกมาในตอนต่อไป

ความสำเร็จขั้นแรกนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจากความพยายามของคนกลุ่มหนึ่ง อาทิ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, กลุ่มพลังงานทางเลือก, กลุ่มเอฟทีเอ วอทช์, เครือข่ายสลัมสี่ภาค, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, นักกฎหมายเพื่อประชาชน, นักเคลื่อนไหวทางสังคม ฯลฯ ที่ร่วมกันคิดหาช่องทางยับยั้งการแปรรูปฯ อย่างสุดความสามารถ

และหากจะกล่าวว่าคุณรสนา โตสิตระกูล ในฐานะกรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ประธานเครือข่าย ๓๐ องค์กรพัฒนาเอกชนต้านคอร์รัปชัน เป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวคัดค้านการแปรรูป กฟผ.ในครั้งนี้ก็ย่อมได้ หลังจากที่ผลงานปราบทุจริตการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ในกระทรวงสาธารณสุข กระทั่งศาลตัดสินจำคุก ๑๕ ปี รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงได้ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จขององค์กรภาคประชาชนที่สามารถใช้กลไกทางกฎหมายตามรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบการทำงานของคนในรัฐบาลที่ประพฤติมิชอบได้

ปลายปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนยกให้เธอเป็นหนึ่งในหญิงเหล็กแห่งปีระกา และหนึ่งในบุคคลแห่งปี ผู้เป็นดอกไม้ปลายปืน Switch off ทุนฮุบ กฟผ. หากยังมีผู้ข้องใจว่าทำไมประชาชนถึงต้องคัดค้านการแปรรูป กฟผ. เธอมีคำตอบอย่างชัดเจนให้แล้ว ณ บรรทัดถัดไปนี้

เหตุผลที่เข้ามาร่วมคัดค้านการแปรรูปกฟผ.

ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วเรื่อง กฟผ.เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะการที่จะเอาไปขายในตลาดหลักทรัพย์เท่ากับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของ กฟผ.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะรัฐวิสาหกิจเขาไม่ได้เน้นในเรื่องการหากำไร แต่เน้นในแง่ของการจัดบริการสาธารณะ ซึ่งบริการสาธารณะก็คือเรื่องจำเป็นพื้นฐานของชีวิตที่ทุกคนจะต้องใช้ คนยากดีมีจนก็ต้องใช้ไฟฟ้า น้ำประปา มันเป็นเส้นเลือดใหญ่ เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคน ถ้าหากว่ากิจการแบบนี้ไปแสวงหากำไร ก็จะเกิดปัญหาว่าคนยากคนจนต่อไปจะประสบกับความยากลำบากมากขึ้น ตัวอย่างเราเห็นได้จากกรณีของ ปตท. พอมีการแปรรูปขายเข้าตลาดหลักทรัพย์ บริษัทกำไรมากเลยนะ เมื่อเทียบกับสมัยก่อน ซึ่งถ้าเรามองแค่กำไรว่าเป็นความสำเร็จ แล้วบอกว่า โอ้โห! ปตท.พอแปรรูปแล้วได้กำไรมหาศาลเลย แสดงว่ามีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเรากลับมาย้อนถามว่าประสิทธิภาพตรงนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์เฉพาะผู้ถือหุ้นเท่านั้นหรือเปล่า หรือเป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่ เราจะตอบได้ว่ามันมีประสิทธิภาพที่เป็นไปเพื่อคนถือหุ้นในบริษัทนั้นเท่านั้น

ปตท.นี่ทำให้เกิดปัญหามากเลย เป็นบทเรียนที่สำคัญมากสำหรับผู้บริโภค เพราะฉะนั้นพอมาถึง กฟผ. ซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่า เพราะไฟฟ้าเป็นเรื่องที่เราไม่ใช้ไม่ได้ ยังไงก็ต้องใช้ ไม่พอใจ กฟผ. จะไปใช้ที่อื่นก็ไม่มีทางเลือก เพราะว่ามันเป็นกิจการที่ผูกขาด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คือไม่มีใครสามารถมาพาดเสาไฟฟ้าแข่งกับ กฟผ.ได้ เพราะฉะนั้นกิจการลักษณะแบบนี้เราเห็นว่าถ้าแปรรูปไปมันเกิดปัญหามาก แล้วมันไม่เป็นธรรมน่ะ เพราะคิดดูว่าเวลาที่พาดสายผ่านทั่วทุกท้องที่ในประเทศไทย ต้องไปรอนสิทธิชาวบ้าน ต้องไปพาดผ่านบ้านชาวบ้านเขา หรืออาจจะต้องไปเวนคืนที่ดินของเขา และก็เวนคืนในราคาถูกๆ เพราะว่ารัฐใช้อำนาจเข้าไปกระทำ ประชาชนอาจจะไม่พอใจ แต่ไม่สามารถต้านทานตรงนี้ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดเขาอาจจะให้เหตุผลกับตัวเองว่า การที่เรายอมให้รัฐมารอนสิทธิได้ แต่สิ่งนั้นต้องกลับมาเป็นประโยชน์ต่อเรา คือกลับมาในลักษณะที่เป็นบริการสาธารณะซึ่งไม่ใช่เรื่องการแสวงหากำไร แต่เวลานี้ปรัชญาตรงนี้กำลังจะเปลี่ยนไป ถ้านำเข้าไปขายในตลาดหลักทรัพย์ นี่คือข้อที่หนึ่ง

ข้อที่สอง การแปรรูปลักษณะแบบนี้มีความไม่โปร่งใส ถ้าไปดูในเรื่องการตีมูลค่าทรัพย์สินต่างๆ ไม่มีความโปร่งใสเลย มันตีขายแบบถูกมากจนเหมือนกับยึดทรัพย์ประชาชนไปขายทอดตลาด เวลาเขาอ้างว่า ต้องการกระจายหุ้นเพียง แค่ ๒๕เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเท่ากับ ๒,๐๐๐ล้านหุ้น รัฐบาลอนุมัติให้ขายหุ้นในราคาหุ้นละ ๒๕ - ๒๘ บาท ลองคูณดูซิ ๒,๐๐๐ ล้านหุ้น คูณกับ ๒๕ บาท เราจะได้เงินแค่ ๕๐,๐๐๐ ล้าน และถ้าคูณ ๒๘ บาท เราก็จะได้ ๕๖,๐๐๐ ล้าน เพราะฉะนั้น ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นเนื้อที่เราตัดออกไปขาย แต่ได้เงินมาสูงสุดไม่เกิน ๕๖,๐๐๐ ล้านน่ะ หรือถ้าเราคิดเล่นๆ ขายหมดเลยนะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ๘,๐๐๐ ล้านหุ้น คูณ ๒๕ บาท จะได้ ๒๐๐,๐๐๐ ล้าน ถ้าคูณ ๒๘ บาท จะได้ ๒๔๒,๐๐๐ ล้านบาท มูลค่ากิจการที่สามารถทำกำไรได้มหาศาล แต่เราขายราคาเต็มที่ได้แค่ ๒๔๒,๐๐๐ ล้านบาท งานวิจัยของ ดร. ภูรี สิรสุนทร นักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า กิจการที่ผูกขาดแบบผู้ขายรายเดียว อย่าง กฟผ. มูลค่ากิจการอยู่ที่ ๓.๗๙ ล้านล้านบาท แบบนี้ไม่เรียกว่าเป็นการยึดทรัพย์ประชาชนมาขายทอดตลาดละหรือ เป็นการขายหุ้นที่มีความไม่โปร่งใสน่ะ เพราะฉะนั้นตรงจุดนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่า ประชาชนไม่ควรยอม

กลุ่มขององค์กรผู้บริโภคบอกว่า ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องนี้ เมื่อก่อนเราต่อสู้เฉพาะเรื่องการขึ้นค่าไฟ ค่าเอฟที ว่าเป็นการขึ้นที่ไม่เป็นธรรม แต่ตอนนี้เห็นว่าการขาย กฟผ. ในตลาดหลักทรัพย์เป็นเรื่องใหญ่กว่ามาก จึงเห็นว่าไม่ได้แล้ว ต้องค้าน ไม่ให้มีการขายเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะถ้าขายเข้าตลาดฯ อย่าว่าแต่ค่าเอฟทีเลย ต่อไปแม้แต่ค่าไฟฐาน คุณก็จะไม่สามารถไปกำหนดหรือไปเรียกร้องอะไรได้ เพราะเขาก็อ้างว่าเขาเป็นบริษัท เขาไม่ฟังคุณหรอก ถึงแม้รัฐจะถือหุ้นใหญ่เราก็ไม่เชื่อ เพราะว่าสภาพที่ผ่านมาเราไม่ค่อยเห็นหรอกว่ารัฐจะช่วยเหลือประชาชนได้จริง อย่างกรณี ปตท. พอราคาเชื้อเพลิงขึ้น เราบอกว่าต้องลดลงมา รัฐกลับไม่สามารถไปแทรกแซงการกำหนดราคาของ ปตท.ได้ แต่ต้องมาตั้งกองทุนชดเชยราคาน้ำมันแทน ซึ่งก็กลายเป็นหนี้ในอนาคตของประชาชนเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นตรงจุดนี้เลยคิดว่า ไม่ได้หรอก ในฐานะของผู้บริโภค เราต้องถือว่าเราเป็นเจ้าของทรัพย์สินอันนี้นะ ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ กฟผ. รัฐบาลจะอ้างว่า เลือกตั้งมาโดยเสียง ๑๙ ล้านเสียง แล้วจะขายทอดตลาดทรัพย์สินของประชาชนอย่างนี้ ไม่ได้ ! นี่เป็นการแปลงทรัพย์สินของชาติให้กลายเป็นทุน แล้วไม่รู้ว่าทุนของใคร ตรงนี้จึงต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน ต้องลุกขึ้นมาคัดค้าน

ในช่วงแรก พวกเราพยายามรณรงค์ด้วยการเดินสายแจกแผ่นพับ เอกสารต่างๆ ให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ตื่นตัวและลุกขึ้นมาคัดค้านเรื่องนี้ แต่จะเห็นว่าสื่อไม่ค่อยลง เราตั้งข้อสังเกตว่า โดยปกติแล้ว สื่อในระบบทุนนิยม เขาก็ถูกระบบทุนนิยมกำกับและควบคุม อย่าง กฟผ.ซื้อหน้าโฆษณาในสื่อต่างๆ มาก ถ้าคุณขืนไปลงเรื่องที่ไม่เป็นผลดีกับเขา เขาอาจจะถอนโฆษณาก็ได้ ทำให้สื่อส่วนใหญ่เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะฉะนั้นข่าวของประชาชนที่คัดค้านเรื่องนี้จึงไม่ค่อยปรากฏในสื่อเท่าไร และเมื่อไม่ปรากฏ การส่งสารเหล่านี้ในประชาชนวงกว้างจึงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะว่าพวกเราเป็นคนกลุ่มไม่ใหญ่ การรณรงค์ก็อยู่ในพื้นที่ๆ จำกัด ถ้าหากไม่มีสื่อมวลชนช่วยกระจายข่าวนี้เพิ่มเติม ข้อมูลเหล่านี้จะไปถึงประชาชนวงกว้างย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราสามารถใช้ช่องทางของศาลปกครองได้ เราจึงเลือกใช้ และพบว่าเป็นกลไกที่สามารถใช้การได้เหมือนกันนะ อย่างน้อยที่สุดชัยชนะขั้นแรกที่ศาลมีคำสั่งให้ชะลอการกระจายหุ้นของ กฟผ. เข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยเกิดความรู้สึกมีความสุขในช่วงนั้นขึ้นมา

ไปเห็นช่องทางที่จะฟ้องถึงศาลปกครองได้อย่างไรคะ

ที่จริงต้องให้เครดิตกับคุณคณิน บุญสุวรรณ ตอนนั้นพวกเรารณรงค์กันจนเหนื่อย แบบ ตายแล้ว ! มันหมดหวังน่ะ เพราะว่ากำลังจะเข้าตลาดหุ้นในวันที่ ๑๕ - ๑๖ พฤศจิกายน ช่วงนั้นเกิดความรู้สึกว่า ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะการลงสื่อต่างๆ ก็ไม่มีทางแล้ว พอดีคุยกับคุณสุริยะใส กตะศิลา เขาถามว่าพี่สนใจไหม เขาเคยได้ยินคุณคณิน พูดว่า น่าจะใช้ช่องทางของศาลปกครองในการฟ้องได้ ตอนนั้นก็หูผึ่งทันทีเลยนะเพราะว่ามันหมดหนทางอย่างอื่นแล้ว เราก็ เอ๊ะ ! ถ้ามันมีช่องทางอะไรที่พอจะเป็นช่องให้เราเคลื่อนต่อได้ ก็สนใจทั้งนั้น จึงไปคุยกับคุณคณิน ท่านชี้ประเด็นให้ว่า ที่จริงน่าจะฟ้องศาลปกครองได้เพราะว่าพระราชกฤษฎีกา ๒ ฉบับที่รัฐออกมาน่าจะขัดกับกฎหมาย เราฟังดูมีเหตุผลน่าทำและไม่เสียหายอะไร ประชาชนไม่มีต้นทุนอยู่แล้ว เราทำไปมีแต่เสมอตัวกับกำไร ตรงจุดนั้นเลยคิดว่า ลองใช้ช่องทางนี้ดู คุณคณิน จึงช่วยร่างต้นฉบับแรกให้กับเรา และมีคุณนิติธร ล้ำเหลือ ซึ่งเป็นทนายของสภาทนายความ มาช่วยทำให้มันเป็นคำร้องที่มีข้อกฎหมายในการสนับสนุนมากขึ้น แล้วจึงยื่นต่อศาลปกครอง พอยื่นเสร็จ เราก็ขอให้ศาลมีการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราว หรือชะลอการนำหุ้น กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์ไปก่อน ซึ่งปรากฏว่าศาลรับไต่สวนฉุกเฉินจริงๆ และในที่สุดก็นำไปสู่การชะลอการนำหุ้น กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์ ส่วนช่วงนี้เป็นช่วงที่เรากำลังทำข้อมูลเพื่อยื่นเสนอเข้าไป เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าพระราชกฤษฎีกา ๒ ฉบับ ที่ทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคฟ้องว่าขัดต่อกฎหมาย เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

เรื่องของพระราชกฤษฎีกา ๒ ฉบับ นี้ไม่ชอบมาพากลอย่างไร

ภาพจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพระราชกฤษฎีกา ๒ ฉบับนี้ ฉบับหนึ่งเป็นพระราชกฤษฎีกาในการยกเลิก พ.ร.บ. รัฐวิสาหกิจ กฟผ. และอีกฉบับหนึ่งเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจสิทธิต่างๆ ของ กฟผ. ซึ่งเป็นพระราชกฤษฎีกาที่อ้างว่ามาจาก พ.ร.บ.ทุน
คือต้องบอกอย่างนี้ โยงไปถึงเรื่อง พ.ร.บ ทุนรัฐวิสาหกิจก่อน พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจนี่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ปี ๒๕๔๐ และรัฐบาลจะต้องไปกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ (IMF - International Monetary Fund หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ทีนี้ไอเอ็มเอฟก็มีเงื่อนไขกับผู้กู้ และข้อหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟคือ รัฐบาลจะต้อง Privatize คือการทำให้สิ่งที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือกิจการของรัฐเปลี่ยนสภาพให้เป็นของเอกชน ก็คือว่า สหรัฐอเมริกาเขาพยายามจัดระเบียบโลกใหม่ ว่าอย่างนั้นเถอะ จัดระเบียบโลกใหม่เพื่อให้ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาสามารถเข้าไปแสวงหาประโยชน์ได้ง่ายขึ้น คือมันเป็นอาณานิคมยุคใหม่น่ะ สมัยก่อนเขาอาจจะใช้ปืนมาข่มขู่เวลาเขาจะเข้าไปแสวงหาประโยชน์ในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย แต่เวลานี้เขาใช้กฎหมาย แต่ถ้าจำเป็นเขาก็พร้อมใช้อาวุธ อย่างในกรณีของอิรัก เป็นต้น

อีกประการหนึ่งคือ รัฐบาลตอนนั้นอาจจะไม่มีสตางค์ จึงจำเป็นต้องขายรัฐวิสาหกิจบางอย่างเพื่อเอาสตางค์เข้ามา จริงๆ แล้วสิ่งที่เป็นเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ คือ การแปรรูปกิจการของรัฐที่รัฐผูกขาดไว้ ต้องทำให้เป็นของเอกชนให้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเขาจึงออกกฎหมายที่เรียกว่า กฎหมายขายชาติ ๑๑ ฉบับ ซึ่งกฎหมาย ๑๑ ฉบับ นั้นก็กลายมาเป็น พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ แล้ว พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจนี้เหมือนกับเป็นการเขียนเช็คเปล่าให้กับฝ่ายบริหารน่ะ คือ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจเป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาก็จริง แต่ให้อำนาจกับฝ่ายบริหารคือรัฐบาล มันเหมือนกับการเซ็นเช็คเปล่าให้เขา เพื่อให้เขาสามารถจะเลือกรัฐวิสาหกิจอันไหนไปขายก็ได้ ซึ่งในต่างประเทศเขาจะไม่ใช้วิธีนี้ แต่ในเมืองไทยก็อย่างนี้นะ... กฎหมาย ถ้าผู้บริหารมีอำนาจทางการเมืองมาก เขาจะใช้กฎหมายในการแสวงหาผลประโยชน์

เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจนี้เป็นกฎหมายที่คนต่อต้านกันมาตลอด หลายกลุ่มเลยที่ต่อต้านกันมาก่อนองค์กรผู้บริโภค เขาต่อต้านกฎหมาย ๑๑ ฉบับ เพราะเขาถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เป็นกฎหมายที่จะทำลายประโยชน์ของประชาชน แต่กำลังมีน้อย เจรจาก็แล้ว รัฐบาลไทยรักไทยตอนเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๔ ตอนนั้นการที่คนหันมาเลือกไทยรักไทย ไม่เลือกประชาธิปัตย์สาเหตุหนึ่งเกิดจากเรื่องนี้ด้วยนะ ประชาธิปัตย์ล้มเหลวในการแก้ปัญหาแล้ว คนที่เคลื่อนไหวเขาเบื่อหน่ายประชาธิปัตย์ และเขาต้องการคัดค้านกฎหมาย ๑๑ ฉบับนี้ ตอนที่คุณทักษิณหาเสียงครั้งแรก แกบอกว่า ถ้ารัฐบาลไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิกกฎหมาย ๑๑ ฉบับ จะยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ อันนี้จริงๆ แล้วต้องบอกว่าเป็นสัญญาประชาคมนะ แต่ว่าเป็นสัญญาประชาคมที่นักการเมืองไม่ค่อยรักษา แล้วพวกเราฐานะประชาชน เราเองก็ไม่เคยเข้าไปทวงสัญญาอย่างจริงจัง หรือกำลังของเราอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาต้องรักษาสัญญานี้ เพราะประชาชนถึงแม้จะมีจำนวนมาก แต่เมื่อไม่มีการรวมตัวกันอย่างจริงจัง และบางทีสำนึกทางการเมืองยังน้อย จึงปล่อยให้นักการเมืองทำอะไรตามใจชอบ

เรื่องนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีพนักงาน กฟผ. ลุกขึ้นมาค้าน ที่ประท้วงตั้ง ๔๐๐ วัน จนในที่สุดต้องยุติไปชั่วคราวเพราะรัฐสู้ไม่ได้ เขาจึงยอมเจรจาว่าเขาจะยกเลิก พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ และจะไม่แปรรูปบริการสาธารณะ ไฟฟ้า น้ำประปา ถ้าแปลงสภาพเป็นบริษัทก็จะให้รัฐถือหุ้น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ นี่เป็นมติของ ค.ร.ม. เป็นสิ่งที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้ทั้งนั้น แต่พอมาถึงจุดที่มีการเลือกตั้งครั้งที่สองพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ๓๗๗ เสียง ปรากฏว่าพลิกเลย รัฐบาลกลับมาหยิบเรื่องนี้ทำเลย ซึ่งตรงจุดนี้คนจึงต่อต้าน

ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องรายละเอียดทางกฎหมายที่ต้องสู้กัน แล้วเป็นการสู้ในเรื่องเทคนิคด้วยนะ แต่ก็น่าสนใจ เป็นประเด็นที่ทำให้ประชาชนได้เรียนรู้มากขึ้นว่า ตอนที่เราต่อสู้ให้ได้รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ มา แต่พอได้มาแล้วประชาชนไม่ค่อยใช้ มีแต่ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลใช้ ประชาชนยังเดินขบวน ยังไม่มีโอกาสมาพัฒนากลไกตามกฎหมายที่ให้มาว่า ประชาชนจะใช้ได้อย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นตอนนี้อย่างน้อยที่สุด เรามี ๒ กรณีแล้วนะ กรณีทุจริตยาและกรณี กฟผ. เป็นกรณีที่ภาคประชาชนได้ใช้กลไกของกฎหมายเพื่อสู้กับอำนาจรัฐ ส่วนกรณี กฟผ. จะชนะหรือไม่ชนะก็ต้องรอดูกันต่อไป แต่อย่างน้อยที่สุดการที่เราทำให้การกระจายหุ้นถูกชะลอได้ก็เป็นชัยชนะขั้นที่หนึ่งของประชาชน

กลัวไหมคะว่า ศาลปกครองอาจถูกครอบงำโดยอำนาจรัฐ

ก็มีโอกาสทั้งนั้นนะ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจตอนที่ประธานตุลาการศาลปกครองออกมาแถลงตอนที่ให้มีการชะลอการเอาหุ้น กฟผ. เข้าตลาดหลักทรัพย์ สิ่งที่ท่านเริ่มต้นพูด ท่านบอกว่า ท่านขอทำความเข้าใจกันก่อนว่า ศาลปกครองไม่ใช่องค์กรอิสระ แต่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทำงานภายใต้พระปรมาภิไธย ซึ่งพี่รู้สึกว่ามีนัยยะสำคัญบางอย่างนะ ทำไมท่านต้องปฏิเสธว่าท่านไม่ใช่องค์กรอิสระ เพราะเดี๋ยวนี้องค์กรอิสระนี่ ประชาชนรู้สึกว่ามันไม่เป็นองค์กรอิสระแล้วใช่ไหม องค์กรอิสระถูกการเมืองแทรกแซงเกือบหมด การที่ศาลปกครองออกมาบอกว่าท่านไม่ใช่องค์กรอิสระ เป็นการส่งนัยยะสำคัญอะไรหรือเปล่า แต่ท่านบอกว่าท่านเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จริงๆ องค์กรอิสระต่างๆ ก็เป็นองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญนั่นแหละ และท่านบอกว่าท่านทำงานภายใต้พระปรมาภิไธย ยิ่งทำให้เรารู้สึกใจชื้นนะ เพราะว่าถ้าทำงานภายใต้พระปรมาภิไธย หมายถึงว่าท่านทำงานตามแนวทางของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และถ้าเรานึกถึงปฐมบรมราชโองการครั้งแรกตอนที่ในหลวงเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ ท่านตรัสไว้ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” (๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓) ตรงนี้น่าสนใจมากนะ เพราะถ้าหากว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญทำงานโดยยึดแนวทางของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เช่นนี้ พี่เชื่อว่าเราต้องชนะ

เวลานี้พี่ถือว่า เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เรากำลังพยายามใช้สิ่งที่เป็นกติกาของสังคมซึ่งเราได้ตกลงร่วมกันเอาไว้ แต่สิ่งที่พี่มองเห็นก็คือ รัฐบาลบางทีไม่ได้เคารพกติกาตรงนี้ หรือคนที่มีอำนาจทางการเมือง มีอำนาจทางทุนทรัพย์มากกว่า ไม่ค่อยเคารพกติกา เราจึงเห็นอย่างที่ถามว่า เอ๊ะ! ศาลปกครองจะมีการ... คือมีข่าวร่ำลือเยอะว่าองค์กรอิสระทั้งหลายถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง การที่ถูกครอบงำได้เพราะอะไร เพราะตัวเองใช้อำนาจได้มากกว่าใช่ไหม ตัวเองมีเงินใช่ไหม เพราะเมื่อไปแทรกแซง องค์กรอิสระเหล่านั้นก็ไม่สามารถทำหน้าที่ที่เป็นเรื่องถูกต้องได้ ทำให้ระบบทั้งระบบมันรวนไปหมด แต่ถ้ามีองค์กรอิสระที่อิสระอย่างแท้จริง เราจะกลัวอะไร ประชาชนไม่กลัวอยู่แล้วนะ แต่ที่ประชาชนเป็นห่วงก็คือ องค์กรอิสระเหล่านั้นมันไม่เป็นอิสระ กลไกต่างๆ ในสังคมที่ถูกวางขึ้นมาไม่ได้เป็นไปเพื่อคนส่วนรวม คือถ้าเราดูแค่กติกามันเป็นประโยชน์แก่ทุกคน แต่เมื่อเอามาใช้จริงมักจะใช้เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม แต่ประชาชนถูกทำลายสิทธิประโยชน์ ถ้าประชาชนไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ตรงนี้เราก็จะไม่มีความหวังเหมือนกัน

พี่ทำในเรื่องของการปราบคอร์รัปชั่น เห็นได้ว่าในยุคนี้มันยิ่งเลวร้ายมากขึ้น?

Imageคอร์รัปชั่นมันก็ซับซ้อนมากขึ้น และรัฐธรรมนูญเองถูกออกแบบมาก็เพื่อจะปราบคอร์รัปชั่นแบบเดิมๆ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างนักธุรกิจ นักการเมือง และข้าราชการ องค์ประกอบของการคอร์รัปชั่นก็คือ การที่นักการเมืองสามารถใช้อำนาจรัฐไปเอื้อประโยชน์ให้กับนักธุรกิจ นักธุรกิจก็เอื้อประโยชน์ในรูปของเงินทองให้กับนักการเมือง และอาศัยข้าราชการเป็นตัวทำงานหลบเลี่ยงระเบียบการควบคุมไปได้ แต่เวลานี้นักธุรกิจกลายเป็นนักการเมืองเสียเอง การตรวจสอบจึงยากขึ้น กฎหมายคอร์รัปชั่นของเราก็ไม่ทันสมัย เพราะว่ากฎหมายเหล่านี้ไปเน้นที่ต้องมีใบเสร็จ แล้วจะไปมีใบเสร็จได้อย่างไร ใช่ไหม มันยาก โดยเฉพาะคนที่เข้ามาดูแลหรือกุมระบบตรงนี้ย่อมไม่อยากให้มาตรวจสอบตัวเองอยู่แล้ว นักธุรกิจที่เข้ามาใช้อำนาจทางการเมืองมีทั้งเงินและอำนาจ ตรงจุดนี้อำนาจก็ยิ่งมากขึ้นเพราะพวกนี้ใช้เงินมายึดพื้นที่องค์กรอิสระ หรือแม้แต่ในวุฒิสภา พอยึดได้หมด คนเหล่านี้ซึ่งต้องใช้กลไกอย่างถูกต้องชอบธรรม ก็จะไม่ทำ พอไม่ทำจึงเกิดการเอาเปรียบ กลายเป็นว่าคนเหล่านี้ใช้กลไกเพื่อประโยชน์เฉพาะกลุ่มของตัวเองเท่านั้น ซึ่งพี่คิดว่าไม่ได้ต่างจากระบบอำนาจนิยมทหารนะ เพียงแต่รูปแบบมันเปลี่ยนไป แต่ว่าตลอดยุคสมัยของการต่อสู้ทางการเมืองเป็นการต่อสู้กับการเอารัดเอาเปรียบของคนกลุ่มที่มีอำนาจกับคนกลุ่มที่ไม่มีอำนาจ เพียงแต่แปรสภาพไป สมัยก่อนเขาอาจจะใช้อำนาจทางการทหาร ใช้อำนาจแบบความรุนแรงเข้ามาปราบ แต่เดี๋ยวนี้พอเป็นทุนนิยม อำนาจทหารก็เอาด้วยนะ ไม่ใช่ว่าไม่เอา อำนาจเงินนี่ โอ้โห “เหล็กแม้ว่าแข็ง ก็ง้างอ่อนได้ดังใจ” เพราะฉะนั้นก็ซื้อได้หมด สื่อทั้งหลายที่เข้ามาอยู่ในระบบก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะถ้าขืนไปเขียนด่าเขา เดี๋ยวเขาถอนโฆษณาก็เดือดร้อนอีก สิ่งเหล่านี้จึงเป็นประเด็นที่ยาก กฎหมายที่มีอยู่ก็ยากที่จะมาปราบคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นเรื่องของการทับซ้อนในผลประโยชน์ นักธุรกิจที่เข้ามาเป็นนักการเมืองจึงสามารถออกหลักเกณฑ์เพื่อคุ้มครองธุรกิจของตัวเอง หรือไปจนถึงตัวเองเป็นอินไซเดอร์ รู้ข้อมูลก่อนคนอื่น แล้วตัวเองก็มีธุรกิจอยู่ด้วย จึงได้เปรียบกว่าคนอื่น เวลาที่เขาจะมาเอาผิด ก็สามารถทำให้มันถูกระเบียบ ยิ่งกว่าสมัยก่อนนะ สมัยก่อนยังเป็นเรื่องการยัดเงินใต้โต๊ะ ต้องเลี่ยงระเบียบ แต่เดี๋ยวนี้ออกระเบียบได้เลย

อย่างการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย เป็นการออกระเบียบเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง โดยมาเอาประโยชน์จากประชาชน ซึ่งเรียกว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงขนานใหญ่ก็ได้ เพราะสมัยก่อนไม่ใช่ว่าไม่มีการคอร์รัปชั่นนะ เราอาจไม่เรียกว่าการคอร์รัปชั่น เราใช้คำว่า “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” “ฉ้อราษฎร์” คือ การฉ้อโกงประชาชน “บังหลวง” คือ การไปเบียดบังเอาเงินงบประมาณ การคอร์รัปชั่นไม่ใช่แค่การเอาเงินรัฐมาใช้เท่านั้น แต่การฉ้อราษฎร์ก็คือการคดโกงประชาชน การออกกฎหมายเพื่อเอาเปรียบประชาชนเป็นการฉ้อราษฎร์ด้วย เพราะฉะนั้นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะอย่าง กฟผ. ถือว่าเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงเพราะว่าเป็นการออกกฎหมายหรือเป็นการใช้กฎหมายเพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งมีสิทธิอำนาจพิเศษกว่าประชาชนทั่วไป ทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือก คุณจะไม่ใช้ไฟหรือเป็นไปไม่ได้ คุณก็ต้องควักเงินจ่าย เขาจะกำหนดเท่าไร คุณจะไปเถียงเขาได้อย่างไร สมัยก่อนถ้าเป็นหน่วยงานรัฐ เรายังด่าเขาได้นะ แต่พอเป็นเอกชน เขาบอก “ฉันเป็นเอกชน คุณจะมาด่าอะไรฉันล่ะ เอกชน ฉันก็ต้องเอื้อประโยชน์เพื่อผู้ถือหุ้นของฉันซิ” พวกนี้เวลาเขาพูดถึง “บรรษัทภิบาล” ต้องบอกว่า คือ การปกป้องคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายเล็กๆ ที่อยู่ในบรรษัทขนาดใหญ่ แต่ถ้าประชาชนไม่ได้อยู่ในบริษัทที่ถือหุ้น คุณอยู่นอกคำนิยามว่า “บรรษัทภิบาล” นะ เพราะว่าเขาไม่มีคำว่า “ประชาภิบาล”

เวลานี้ระบบการจัดระเบียบโลกสมัยใหม่ที่จะแปรรูปทุกอย่างให้เป็นเอกชน เอกชนไม่ใช่ประชาชนทั้งหมด เป็นแค่คนบางกลุ่มเท่านั้นเอง สิ่งที่เป็นสาธารณสมบัติของทุกคน เป็นบริการสาธารณะของทุกคน พอกลายเป็นของเอกชนคนเดียว คนส่วนใหญ่ก็ต้องถูกคนส่วนน้อยเอาเปรียบอยู่แล้ว แล้วยิ่งคนส่วนน้อยเหล่านี้มีเงินมีอำนาจทางการเมือง ประชาชนก็ตายอย่างเดียว แล้วกฎหมายเหล่านี้ไปให้สิทธิพวกนี้ และถ้าประชาชนไม่ตื่นตัวมาดูว่า ข้อตกลงไม่ใช่อย่างนี้นี่ อย่างนี้ไม่ได้ ต้องมาคุยกัน ต้องมาว่ากันใหม่ แต่ว่าตอนนี้มันใช้กลไกการเลือกตั้ง “ประชาชน ๑๙ ล้านเสียงเลือกผมแล้ว ให้ผมทำอะไรก็ได้ ถ้าคุณไม่พอใจเหรอ อีก ๔ ปีข้างหน้า คุณอย่าเลือกผม” ซึ่งไม่ทัน ผู้บริโภคบอกว่า รถคันนี้ห่วย คุณจะไปบอกว่า “อีก ๔ ปีข้างหน้าคุณอย่าเลือกซื้อรถผม คุณไปซื้อรถอย่างอื่น” เขาทำอย่างนั้นไหม เขาไม่ทำ เขาทุบรถเลย

ผู้บริโภคก็ต้องตื่นตัวไปถึงขั้นว่า ต่อไปในอนาคต นักการเมืองซึ่งเป็นสินค้าชนิดหนึ่งในตลาดการเมือง ถ้าไม่มีคุณภาพ เราต้องมีกลไก ต้องมีวิธีการส่งคืนสินค้าเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน นักการเมืองเป็นสินค้าที่หมดอายุเร็วนะ พอหลังเลือกตั้งปุ๊บ มันหมดอายุเลย คือ มันไม่ทำตามสิ่งที่ตัวเองโฆษณา เราไปดูซิ สินค้าที่เขาโฆษณาว่า ผงซักฟอกชนิดนี้ไม่ต้องขยี้เลย ซักแล้วสะอาด ถ้าเกิดไม่เป็นอย่างนั้นจริง เรายังฟ้อง สคบ. ได้นะ ไอ้นี่โฆษณาเกินจริง หรือยานี่ บอกว่ากินแล้วดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ปรากฏว่าไม่เป็นอย่างนั้น เกิดพิษภัยขึ้นมา เราก็ฟ้อง อย. ให้ถอนทะเบียนออกจากตลาดได้เลย แต่นักการเมืองที่ประกาศว่า ถ้าผมได้เป็นรัฐบาล ผมจะยกเลิกกฎหมายขายชาติ ๑๑ ฉบับ แต่เข้ามาแล้วใช้ประโยชน์เต็มที่เลย ประชาชนจะว่าอย่างไร มีแค่เพียงการรับผิดชอบทางการเมือง ก็คือ ๔ ปีข้างหน้าคุณอย่าเลือกผม แต่เมื่อผมแจกเงิน มีเรียลลิตี้โชว์ แจกเงินกันสะบั้นหั่นแหลกเลย เป็นการซื้อเสียงหรือเปล่า เป็นการซื้อใจชาวบ้านไว้หรือเปล่า เพราะต้องเลือกผมนะ ถ้าคุณอยากได้เงินอีก

สิ่งเหล่านี้เพราะเขาเข้าใจว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ตื่นตัว ถึงตื่นตัวก็ยังรวมกันไม่ได้ คนที่รู้ทันก็เป็นคนกลุ่มน้อย คนกลุ่มใหญ่ยังไม่รู้ทัน ยังไม่มีอำนาจจะไปต่อสู้กับเขา เขาจึงเป็นสินค้าที่ไม่ต้องมีคิวซี เป็นสินค้าที่ไม่ต้องรักษาคุณภาพตามที่โฆษณาไว้เพราะเขาคิดว่าประชาชนไม่มีทางเลือก ในอนาคตผู้บริโภคหรือประชาชนต้องตื่นตัวให้มากกว่านี้ ตื่นตัวจนต้องเข้ามาจัดการกับกติกาคือ กฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญว่าต้องมีหลักเกณฑ์ในการที่จะจัดการกับนักการเมืองที่ไม่ทำตามสัญญาประชาคม เพราะการที่เขาประกาศในการหาเสียงถือว่าเป็นสัญญาประชาคมนะ

การลงนามเอฟทีเอกับสหรัฐฯ ซึ่งครอบคลุมไปถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่ให้สิทธิเขามาลงทุนได้ ก็ยิ่งเข้าทางรัฐบาลที่จะอ้างว่า เราขัดข้อตกลงเอฟทีเอไม่ได้ ด้วยไหมคะ

ก็ต้องไม่เซ็นไง สาเหตุนี้ คนจึงต้องต่อสู้เพื่อไม่ให้ไปเซ็นเอฟทีเอโดยที่ประชาชนไม่รู้เลยว่าคุณเอาอะไรไปแลก เพราะว่านายกฯทักษิณ บอกว่า การเซ็นเอฟทีเอก็มีทั้ง give and take น่ะ แต่เราอยากจะรู้ว่า give อะไร แล้ว take อะไร สิ่งที่คุณ give คือผลประโยชน์ของคนเล็กคนน้อยทั้งหมดหรือเปล่า แล้วที่คุณ take คือ ผลประโยชน์ของพวกยานยนต์หรือพวกกิจการทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองหรือเปล่า ตรงนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องรู้ แต่ว่าถูกปิดเงียบ ไม่มีใครรู้ ทำอย่างนี้ไม่ได้ คุณเลือกตั้งมา ๑๙ ล้านเสียงก็จริง แต่ไม่ใช่ว่าประชาชนมอบให้คุณ ยกอนาคตทั้งอนาคตให้กับคุณน่ะ

นายกฯ ทักษิณ เขาอาจจะเคยตัวนะ กับการที่เขาได้สัมปทาน อย่างเช่น สัมปทานโทรศัพท์นี่ เวลารัฐบาลให้สัมปทานกับคุณ คุณได้สิทธิผูกขาดทำคนเดียว ได้อำนาจเต็มที่ แต่ในกรณีของการเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาล มันไม่เหมือนกันนะ เพราะว่าประชาชนไม่ได้ให้สัมปทานประเทศคุณ ใช่ไหม? นี่เกิดการเข้าใจผิดว่า เลือกมา ๑๙ ล้านเสียง แล้วยกให้คุณสัมปทานประเทศเลย โดยที่คุณไม่ฟังคนอื่น อันนี้ไม่ใช่ เป็นคนละเรื่องกัน ฉะนั้นการที่คุณจะไปเซ็นเอฟทีเอกับใครที่ทำให้ประชาชนต้องเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจ ต้องให้ประชาชนเจ้าของประเทศรู้กันทั้งหมด ต้องถามประชาชนว่า ฉันจะเอาประโยชน์ของคุณไปแลกนะ จะเอาไหม และเอฟทีเอเมื่อไปเซ็นแล้ว ต้องไปแก้กฎหมายตั้งมากมาย ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน เพราะฉะนั้นประชาชนมีข้อต่อสู้ตรงนี้ และในข้อต่อสู้ที่เราจะทำต่อไป ถ้ารัฐบาลจะไปเซ็นก็คือ มาตรา ๒๒๔ ระบุไว้เลยว่า พระมหากษัตริย์จะต้องทรงลงพระปรมาภิไธยในการทำสัญญาทุกอย่าง แต่ว่าในกรณีที่สัญญาเหล่านั้นนำไปสู่การต้องแก้กฎหมายภายในประเทศ อันนี้ต้องผ่านรัฐสภา ฉะนั้นบอกได้ว่ากฎหมายทุกอย่าง แม้แต่พระราชกฤษฎีกา พระราชกำหนดที่ออกโดยรัฐบาลเอง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ต้องทรงลงพระปรมาภิไธยก่อน อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่รัฐบาลชุดนี้กำลังทำขัดกับรัฐธรรมนูญที่ไม่เอาเรื่องข้อตกลงทั้งหลายมาให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ลงพระปรมาภิไธย แล้วยิ่งถ้าเกิดไปตกลงเอฟทีเอแล้วต้องไปแก้ไขกฎหมายอะไรทั้งหลายในประเทศนี้ ต้องเข้ารัฐสภาเลย ขนาดอเมริกาซึ่งเป็นระบบประธานาธิบดี เขาจะไปตกลงเอฟทีเอ เขาต้องเข้าสภาฯ นะ แต่ระบบการปกครองของประเทศเราเป็นระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งอาศัยระบบรัฐสภา ไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี แต่นายกรัฐมนตรีไม่เคารพหลักเกณฑ์ตรงนี้ว่าทุกอย่างต้องเข้ารัฐสภา กลัวอะไร คุณมีเสียงส่วนใหญ่ตั้งเยอะ ทำไมคุณไม่กล้าเข้า ซึ่งตรงจุดนี้เป็นสิ่งที่จะเกิดปัญหา

Imageแล้วเอฟทีเอนี่ที่เกี่ยวพันกับเรื่อง กฟผ.เพราะอะไร เวลารัฐบาลบอกว่าเขาขายหุ้น ๒๕เปอร์เซ็นต์ แล้วขายให้ต่างชาติได้ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เขาจะกำหนดไว้ว่าให้ขายต่างชาติได้แค่ ๓๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลือเป็นของคนไทยหมด แต่ถ้าเซ็นเอฟทีเอเมื่อไร จะมาบอกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นของคนไทย ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นของต่างชาติไม่ได้ คุณต้องเปิดทั้งหมดเพราะถือว่าเขาก็มีสิทธิซื้อได้เท่าๆ กับคุณนะ แล้วอีก ๗๕ เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ รัฐบาลจะรักษาไว้ได้หรือเปล่า เพราะว่า ปตท.ที่บอกว่ารัฐจะถือหุ้น ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เหลืออยู่ ๕๒ เปอร์เซ็นต์ แล้วคิดดูนะ เวลาเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เม็ดเงินต่างชาติเยอะกว่าเรามาก แล้วในระบบที่มันแปรผันเปลี่ยนแปลงไป ไปๆ มาๆ พอต้องการเงินมากขึ้นก็ขายหุ้นไปเรื่อยๆ แต่คุณขายไป ๔๙ เปอร์เซ็นต์ปุ๊บ ต่างชาติเกิดซื้อได้หมดเลย ๔๙ เปอร์เซ็นต์เนี่ยะ ไปดูซิ ตอนที่แกรมมี่จะเทคโอเวอร์มติชน เขาไม่ต้องถือ ๔๙ เปอร์เซ็นต์นะ เขาเกิน ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เขาก็มีสิทธิเข้ามาร่วมบริหารแล้ว และถ้าไปถึงจุดที่รัฐบาลเกิดถังแตกจริงๆ เขาสามารถขายหุ้นรัฐวิสาหกิจออกไปเกินกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วกลายเป็นวิสาหกิจของเอกชน จะมีใครรับประกันได้ว่ารัฐบาลจะไม่ทำแบบนั้นในยุคต่อไป ถ้าเกิดถังแตก ก็ต้องขายทรัพย์สิน เหมือนบ้านเราเป็นหนี้เป็นสินเยอะแยะไปหมดเลย ต้องเอาทรัพย์สินในบ้านออกไปขายน่ะ แล้วทรัพย์สินพวกนี้อยู่ในตลาดฯ อยู่แล้ว ก็ขายเพื่อเอาเงินเข้ามา พอขายเกิน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นธุรกิจของเอกชนได้นะ และเมื่อกลายเป็นธุรกิจของเอกชนแล้ว คุณไปเซ็นเอฟทีเอ ต่างชาติก็สามารถมาเทคฯ หมดได้เลย หรือเผลอๆ อาจเป็นของคนไทยด้วย เพราะว่าคนไทยเดี๋ยวนี้ไปทำนอมินี่ (Nominee - ตัวแทน) ต่างประเทศแล้วกลับเข้ามาซื้อหุ้นตัวเอง เราจะไปรู้ได้อย่างไรว่ามันจะไม่กลายเป็นเอกชนของนักการเมืองไทยที่ไปจดบริษัทในต่างประเทศแล้วกลับเข้ามาซื้อ นี่คือการใช้อำนาจรัฐผ่องถ่ายทรัพย์สินของชาติออกไป นี่คือการคอร์รัปชั่นแบบใหม่ซึ่งยังไม่มีกฎหมายไปจัดการกับคอร์รัปชั่นแบบนี้ได้

เพราะฉะนั้นเวลานี้สิ่งที่ประชาชนจะทำได้ก็ต้องต่อสู้ สกัดไม่ให้เปิดประตู เพราะถ้าเปิดประตูได้เมื่อไร ๒๕ เปอร์เซ็นต์ นี่แค่ข้ออ้าง คุณเปิด ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เมื่อไร คุณอย่าหวังเลยว่าจะรักษาอีก ๗๕ เปอร์เซ็นต์ไว้ได้

บทเรียนของอาร์เจนตินา ก็ไม่ใช่การตื่นตูม

ไม่ตื่นตูมหรอก พี่รู้สึกว่า นักการเมืองเวลานี้เหมือนไส้ศึกน่ะ ตอนเราเสียกรุงครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง ไม่ได้เกิดจากข้าศึกตีเข้ามา มันเกิดจากคนในที่เป็นพวกเสนาบดีทั้งหลาย ระดับเสนาบดี ซึ่งเวลานี้ถ้าจะแปลภาษาใหม่ก็คือพวกนักการเมืองนี่แหละ เป็นคนไปเข้ากับพวกข้าศึกนอกประเทศ แล้วไปเปิดประตูเมืองให้เขา โอกาสมันเป็นไปได้มาก ที่จะบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นนี่เป็นสิ่งที่ประชาชนจะต้องตระหนักรู้ และพี่ไม่คิดว่าเป็นเรื่องของการตื่นตูมนะ เพราะลองคิดดูซิว่า แค่การขายหุ้น กฟผ.นี่ การประเมินมูลค่าทรัพย์สินในราคาที่ต่ำมาก มันเป็นเรื่องที่น่าสงสัยใช่ไหม เพราะว่ามูลค่าทรัพย์สินที่นักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์เขาประเมินว่า มูลค่าของ กฟผ.จะสามารถทำกำไรหรือผลประโยชน์ได้สูงถึง ๓.๘ ล้านล้านบาท นี่เขาประเมินมูลค่าของกิจการนะ แต่คุณขายไป ๒ แสน ๔ หมื่นล้าน คิดดูซิ อย่าง กฟผ. คุณขาย คุณตัดเนื้อคุณขายไป ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ได้ ๕๖,๐๐๐ ล้านบาท สูงสุดนะ แต่ลองดู กฟผ. สมัยที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ปีหนึ่งเขาต้องส่งเงินเข้ารัฐ ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท ๒ ปี ๖๐,๐๐๐ ล้านบาท มากกว่า ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ของหุ้นที่ขายออกไป แล้วหุ้นที่ขายออกไป ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ที่อ้างว่าเป็นการระดมทุนที่ไม่ต้องมีดอกเบี้ย มีเงินปันผลไหม เงินปันผล ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ต้องจ่ายตลอดไปนะ แต่ถ้าหากเป็นเงินกู้ เราจ่ายหนี้หมดเราก็ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยอีก แต่ถ้าคุณขายหุ้นออกไป ๒๕ เปอร์เซ็นต์ หุ้นนั้น คุณต้องจ่ายเงินปันผลให้เขาตลอดไป

ภาพจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตรงจุดนี้ รัฐบาลทำให้ประชาชนเกิดความคลางแคลงใจว่า เขาจะรักษาผลประโยชน์ของชาติจริงหรือเปล่า เพราะว่าวิธีการคิดมูลค่าทรัพย์สินของเขาคิดตามมูลค่าบัญชี หมายความว่า สินทรัพย์ตัวหนึ่ง สมมุติรถคันหนึ่ง ๕ แสนบาท เวลาเราตัดมูลค่าทางบัญชีเราตัด ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ต่อปี พอ ๕ ปี รถคันนี้มีมูลค่าเท่ากับศูนย์ แต่ถ้าเราขายมันยังมีมูลค่าอยู่ใช่ไหม แต่เวลาเขาประเมินทรัพย์สิน เขาประเมินตามมูลค่าบัญชี ก็หมายความว่ามีทรัพย์สินจำนวนมากเลยใน กฟผ. ที่ในทางบัญชีไม่มีมูลค่าอีกแล้ว เขาทำอย่างไรบ้าง เขาประเมินมูลค่าอย่างไร เขาไม่เคยบอก พวกพี่ไปขอข้อมูล ก็ไม่บอก ไม่ให้ข้อมูล บอกว่าเป็นความลับ แล้วเราจะไว้ใจได้ไหม คนที่เรามอบหมายให้ทำหน้าที่แทนประชาชน ว่าจะรักษาผลประโยชน์ของเราน่ะ หรือว่าคนพวกนี้จะไปเปิดประตูเมืองให้ข้าศึกเข้ามาโจมตีเรา เพราะว่านักการเมืองเขาสามารถใช้อำนาจ เขาอาจจะบอกว่า ตอนนี้นะ ขายไปเลย หุ้นนี้ ขายไปเลย แล้วฉันก็ไปซื้อ ก็ย่อมทำได้ เขาเป็นอินไซเดอร์น่ะ

อย่าง ปตท. ที่เคยบอกว่ารัฐจะเก็บไว้ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เหลือ ๕๒ เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นออกมาพูดเลย แล้วเกิดวันดีคืนดี เรามารู้อีกที ปตท. ขายหุ้นออกไปหมดแล้ว รัฐถือหุ้นแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ขายไปหมดเลย ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เกิดอะไรขึ้นล่ะ เขาทำได้นะ กฟผ. ก็เหมือนกัน เราจะไปนั่งจับตามองเขาได้อย่างไรตลอดเวลา เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำได้ตอนนี้ก็คือ สกัดไม่ให้กิจการที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานถูกเอาไปขายแบบนี้

แต่ก็เหมือนกับมีแค่องค์กรภาคประชาชนซึ่งเป็นเอ็นจีโอออกมาต่อสู้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้ามาร่วมด้วยเท่าไรนัก

ก็ไม่เป็นไรหรอก โลกเปลี่ยนแปลงโดยคนกลุ่มน้อย (หัวเราะ) เราเชื่ออย่างนั้น แต่ว่าถ้าเราไปบอกว่าคนต้องมาเยอะๆ นี่ก็ไม่ได้ แต่ถ้าคนกลุ่มน้อยริเริ่มในสิ่งที่ถูกต้องนะ ต่อไปมันจะใหญ่ขึ้นมาได้เอง เราลองดูซิ ในธรรมชาติน่ะ แม่น้ำสายใหญ่ๆ ก็เกิดจากตาน้ำที่เล็กนิดเดียว ถ้าไปดูตาน้ำในภูเขา เราอาจแทบไม่เชื่อเลยนะ ว่ามันจะสามารถกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ๆ ได้ แต่ว่าตาน้ำที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง สามารถก่อให้เกิดแม่น้ำลำคลองขึ้นมาได้ เราก็ต้องเชื่ออย่างนั้นด้วยเหมือนกันว่า ในเรื่องที่มันมีความซับซ้อน คนส่วนใหญ่ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้ แต่ขอให้มีคนถึงแม้จะมีจำนวนน้อยที่มองเห็นสิ่งเหล่านี้ และทำต่อไปอย่างไม่ลดละ เราอาจจะเป็นตาน้ำที่ทำให้เกิดแม่น้ำสายใหญ่ขึ้นก็ได้ ที่จะเป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆ ประชาชนได้อาศัยดื่มกิน แต่ว่าทุกคนก็ต้องช่วยกันทำให้น้ำสะอาดด้วยนะ ไม่ใช่ไหลไปแล้วกลายเป็นน้ำเน่าไปหมด

เพราะฉะนั้นต้องไม่หมดความหวังกับเรื่องราวเหล่านี้ และถ้าเรามีความเชื่ออย่างนี้ สำหรับพี่เอง พี่คิดว่าภาษิตจีนอันนี้ใช้การได้ “ความพยายามเป็นของมนุษย์ ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า” เวลาทำอะไรไม่ต้องไปสนใจว่าเราจะชนะหรือเราจะแพ้ ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งถูกต้อง ให้ทำไปอย่างเต็มที่โดยไม่ย่อท้อ โดยไม่ท้อถอย แล้วไม่ต้องไปหมดกำลังใจว่าเราเป็นคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่ยังไม่ตื่นตัว เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เปลี่ยนแปลงเกิดจากคนส่วนน้อยทั้งนั้น เราลองดูซิ อย่าง ๑๔ ตุลา เกิดขึ้นจากคนเท่าไร ๑๓ คน เกิดจากจุดเล็กๆ เท่านั้น ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยแล้วถูกจับ เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมานะ อาจจะไม่ใช่ความตั้งใจของ ๑๓ คนที่จะทำให้คนออกมาเดินบนถนนกันเป็นแสนเป็นล้านคน แต่ว่า ๑๓ คนนั้นเห็นว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเมื่อเขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อไปถึงจุดๆ หนึ่งซึ่งเป็น the matter of time เป็นเรื่องของเงื่อนไขของเวลา เป็นเรื่องของความสุกงอมของสถานการณ์ คนห้าแสนคนที่ออกมาเดิน ใครจะไปจัดตั้งเขาได้

กฟผ. ก็เหมือนกัน พวกเราก็เป็นเพียงแค่เหตุปัจจัยตัวเล็กๆ หลายคนถามว่า ทำให้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เราบอก เราไปทำลายระบบใหญ่ๆ เขาไม่ได้หรอก ถ้าเปรียบไป เราก็เหมือนลูกแม็กซ์เล็กๆ ที่เผอิญหลุดเข้าไปในเครื่องถ่ายเอกสาร ทำให้ระบบมันรวนไปหมด ทำให้มันหยุดไปชั่วคราว แต่ว่าเราก็ไม่ลดละหรอกที่จะต้องทำต่อไป ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมกับคนส่วนใหญ่ เราก็ต้องต่อสู้ต่อไป และเมื่อการต่อสู้ของเราโดยไม่ลดละ ไม่ท้อถอย ไปถึงจุดหนึ่งที่มันเป็นความเหมาะสมของกาลเวลา ความเหมาะสมของสถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นได แต่ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นจากเราไปกำหนดอะไรนะ ต้องถือว่ามนุษย์เราเป็นเหตุปัจจัยตัวหนึ่งของสถานการณ์ทั้งหมด และถ้าเราเชื่อว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงโดยคนส่วนน้อยแล้ว เราจะมีกำลังใจว่าเราจะเป็นคนส่วนน้อยที่เป็นตัวจุดประกายของการเปลี่ยนแปลงอันนั้น แต่ไม่ใช่เราเป็นผู้ทำการเปลี่ยนแปลง

มนุษย์เราต้องไม่อหังการว่า เราเป็นผู้กุมการเปลี่ยนแปลงอันนั้น การเปลี่ยนแปลงอาจเป็นเรื่องของพระเจ้าก็ได้ เป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยทั้งหมด แต่เราเป็นเพียงเหตุปัจจัยตัวหนึ่ง แล้วเราทำเหตุปัจจัยของเราให้ดีที่สุด ชัยชนะนั้นไม่ใช่ชัยชนะที่เราทำ แต่เผอิญเราทำถูกต้องกับกาลเวลา กับสถานการณ์ แล้วมันเกิดชัยชนะขึ้นมาก็เป็นชัยชนะของทุกคน


พ.ร.บ. ๑๑ ฉบับ ที่รัฐบาลและรัฐสภาไทยได้ออกกฎหมายภายใต้การบังคับและครอบงำจาก IMF หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ถึงแม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ชดใช้เงินกู้จาก IMF หมดสิ้นแล้วก็ตาม แต่หลักการรุกรานยึดครองของต่างชาติโดยกฎหมาย พ.ร.บ. ๑๑ ฉบับก็ยังคงอยู่เช่นเดิม

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >