หน้าหลัก arrow หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 468 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

บทสัมภาษณ์ จักรชัย โฉมทองดี คุณพ่อนักเคลื่อนไหวทางสังคม กับ มุมครุ่นคิดต่อการเลี้ยงลูก พิมพ์
Wednesday, 07 September 2022

Image


วารสารผู้ไถ่
ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๑๑๙ พ.ค. - ส.ค. ๒๕๖๕


บทสัมภาษณ์ จักรชัย โฉมทองดี
คุณพ่อนักเคลื่อนไหวทางสังคม
กับ มุมครุ่นคิดต่อการเลี้ยงลูก

ธัญลักษณ์ นวลักษณกวี สัมภาษณ์


Image 

"ผมสะดุ้งตื่นขึ้น พร้อมกับเห็นหน้าคนรักอยู่ห่างออกไปเพียงแค่มือเอื้อม ขณะน้ำตาที่คลออยู่ค่อยๆ ไหลลงมาบนแก้ม เธอบอกข่าวสำคัญกับผม ผมแทบไม่เชื่อหูตัวเองแต่มันก็เป็นความจริง บทใหม่ในชีวิตของทั้งเธอและผมกำลังจะเริ่มขึ้นในเวลาไม่นานข้างหน้า บางคนกล่าวว่า นี่แหละคือเป้าหมายของชีวิต คนอีกจำนวนมากมองว่า นี่เป็นพรของพระเจ้า หลายคนอีกเช่นกันมองว่า สิ่งนี้คือกรรม หรือแม้กระทั่งห่วงเหนี่ยวรั้งมนุษย์ในการก้าวไปถึงจุดหมายที่สูงกว่า ผมเองไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคืออะไร คงต้องรอให้เรื่องราวค่อยๆ คลี่คลายไปตามกาลเวลา..."

จากบท ‘บันทึก...การก่อเกิด' [๑] ที่เขียนโดย คุณจักรชัย โฉมทองดี [๒] ที่ปรึกษากองบรรณาธิการ วารสาร "ผู้ไถ่" เมื่อ ๑๕ ปีที่แล้วถูกนำกลับมาเปิดอ่านซ้ำ เรื่องราวการอยู่เคียงข้างภรรยาในวันแรกแห่งการรับรู้ ห้วงยามของการรอคอย ถึงฉากชีวิตของการให้กำเนิด การดิ้นรนเอาชีวิตรอดของชีวิตน้อยๆ... ท้ายบทความ คุณพ่อมือใหม่ได้สรุปถึงการมีลูกว่า

"ผมรู้สึกว่าทุกคนพูดถูก ลูกคือกรรม ลูกคือพรของพระ ลูกคือห่วง ลูกคือความหมายของการมีชีวิต ฯลฯ แต่สำหรับผม ทั้งหมดนี้คือส่วนผสมของสิ่งที่ขอเรียกว่า ‘ความรัก' เป็นความรักที่หากไม่ใช่เพราะเธอสองคน ผมคงไม่มีวันเข้าใจ"

ด้วยความเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม มีอุดมคติและอุดมการณ์ที่อยากเห็นสังคมและโลกใบนี้น่าอยู่สำหรับมนุษย์ทุกผู้คน ไม่ว่ายากดีมีจน หลากเพศสีผิว หรือเผ่าพันธุ์ใด มีความเท่าเทียมกัน และได้รับความเป็นธรรม ผ่านการงานด้านสังคม [๓] ที่เขาเลือกทางเดินชีวิตอย่างชัดเจนตั้งแต่เรียนจบและเข้าสู่วัยทำงาน มาจนกระทั่งเข้าสู่วัยคุณพ่อที่มีลูกกำลังเริ่มวัยรุ่นแล้วก็ตาม

ความเป็นคนครุ่นคิด ทำให้เขามีมุมมองเชิงวิพากษ์สังคมที่มักจะตั้งคำถามต่อสิ่งรอบตัวอยู่เสมอ ฉะนั้น การมีครอบครัว การมีสมาชิกใหม่ที่ก่อเกิดมาจากตัวเขาเองและคนรัก ย่อมผ่านการตั้งคำถามและค้นหาคำตอบในการเดินไปข้างหน้าในแบบที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น ต่อโลกใบนี้ให้น้อยที่สุด

ณ วันนี้ คุณจักรชัย มีครอบครัวที่น่ารัก ประกอบด้วย ภรรยา ลูกชายวัย ๑๓ ปี และลูกสาววัย ๑๑ ปี ที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มวัยรุ่น การรับมือกับลูกๆ วัยรุ่นในยุคสังคมโลกโซเชียลของคุณพ่อนักเคลื่อนไหวทางสังคมท่านนี้จะมีมุมมองอย่างไร การมีลูกคือคำตอบของชีวิตไหม ความสุขของคนเป็นพ่อเป็นแม่คืออะไร? ความห่วงใยต่อลูกๆ ที่ต้องอยู่ในสังคมทุกวันนี้ที่เต็มไปด้วยทั้งโอกาสและความท้าทายรอบด้าน เป็นอย่างไร กับบางคำถาม ที่ "ผู้ไถ่" ตั้งคำถามไว้ ในวันนี้ที่หนุ่มสาวคู่รักจำนวนมากเลือกที่จะดำเนินชีวิตโดยไร้พยานรัก เลือกที่จะมีอนาคตโดยไม่มีลูกไว้ดูแลยามแก่เฒ่า

แม้คุณจักรชัยจะเน้นย้ำว่า "การจะมีลูกหรือไม่มีลูก มันไม่มีคำตอบที่ถูก และไม่มีคำตอบที่ผิด มันอยู่ที่ว่าคุณเลือกเดินชีวิตแบบไหน"

แต่นี่คือบทสัมภาษณ์ จากคำถามอันแสนธรรมดา แต่กลับได้คำตอบที่เต็มไปด้วยแง่คิดดีๆ มากมาย ให้คุณผู้อ่านได้พลังบวก มองเห็นความหวังต่อสังคม ต่อโลกในวันข้างหน้า รวมไปถึงคนหนุ่มคนสาวที่กำลังคิดชั่งใจอยู่ว่าจะมีลูกหรือไม่มีลูกดี? จะได้นำไปประกอบการพิจารณาตัดสินใจว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มจำนวนประชากรของประเทศในวันที่สังคมไทยเข้าสู่ยุคเด็กเกิดน้อย และเข้าสู่สังคมสูงวัย เพื่อสืบทอดความหวังต่ออนาคต ผ่านเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ที่จะลืมตามาดูโลกกันต่อไป!

 

‘ลูก' "เขาไม่ใช่เราที่ตัวเล็กกว่า เขาไม่ใช่ตัวแทนเรา เขาคือตัวเขา เราคือตัวเรา

เป็นสองชีวิต สามชีวิต หรือมากกว่านั้น ที่มาอยู่ด้วยกัน

ความสุขของเราหรือของเขา มันอยู่ที่ว่าเราจัดความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขาอย่างไร"

จักรชัย โฉมทองดี

 

คุณจักรเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะมีลูกหรือไม่มีลูก ที่จะต้องตอบโจทย์ตัวเอง คนรัก คนรอบข้าง ครอบครัว และสังคม ว่าอย่างไร

 ผมจำได้ว่าตอนที่คิดโจทย์นี้ ซึ่งคิดจริงจังด้วย มันน่าจะประมาณสัก ๑๖ - ๑๗ ปีก่อน เป็นโจทย์ใหญ่ที่ผมคิดอยู่นาน ถึงขั้นเขียนเป็นบทความลงผู้ไถ่นี่แหละ บทความชื่อว่า "กอดลูก หรือกอดโลก ห้วงคำนึงและคำถาม" [๔] ที่จริงเวลานั้นเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะประเด็นโลกร้อน ยังไม่ชัดเท่าวันนี้ ประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาก็ยังไม่ชัดเท่าวันนี้ อีกทั้งผมไม่ได้รู้สึกล้ากับสภาพสังคมการเมืองไทยสักเท่าไหร่ในวันนั้น

ตำถามที่มีอยู่มันจึงมุ่งไปว่า เราจะมีลูกไปทำไม เรามีลูกไปเพื่อใคร มันตอบสนองอัตตาของตัวเอง หรือผู้ที่มาก่อนเท่านั้นหรือเปล่า ในวันนั้น ที่ผมจำได้นะ มันก็มีอยู่ว่า เพื่อสืบสกุล เพื่อเป็นโซ่ทองคล้องใจสามีภรรยา เพื่อช่วยสร้างชาติ แต่ทั้งหมดมันเป็นโจทย์ของคนอื่น ไม่ใช่ของผู้ที่จะเกิดมา

แต่การมาถึงของเขา มันกลับเป็นตัวช่วยให้เราได้คำตอบ มันไม่ใช่ว่าเราจะมีลูกไปทำไม แต่หมายความว่าถ้าเรามีลูกแล้ว เราจะจัดความสัมพันธ์กับเขา และกับสิ่งอื่นๆ รอบตัวเราอย่างไร ที่จะช่วยทำให้เรากับเขาสามารถเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเชิงบวกกับสังคม

คือมีลูกเนี่ย หลายครั้งมักเป็นการตอบโจทย์ของคนอื่นที่มาก่อน มันไม่ได้เป็นโจทย์ของตัวเขาเองเลย เขาจะเลือกแบบไหน เรายังไม่รู้ แต่เราเอาโจทย์ของคนอื่นไปตอบสิ่งที่ตัวลูกเองไม่ได้มีส่วนร่วม ซึ่งผมว่ามันไม่แฟร์

แต่อย่างที่บอกนะ ผมก็ไม่ได้คำตอบหรอกนะก่อนที่ลูกคนแรกจะมาถึง เพราะว่าการมีลูกมันก็เดินหน้าของมันไป ลูกเกิดขึ้นมาแล้วผมก็ค่อยได้มาคิดต่ออีกครั้งว่า จริงๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดแล้วก็คือ เราจะปฏิบัติความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขาอย่างไร

 

ก่อนที่จะมีลูก มีการเตรียมความพร้อมอย่างไร

ตอนคนแรกก็อย่างที่บอกน่ะ คิดอยู่แรมปี ส่วนเรื่องการเตรียมความพร้อมอย่างอื่นคงเป็นเรื่องพื้นฐานทั่วไป ที่อยู่อาศัย อาชีพ เวลาของเราในการที่จะดูแล ทำหน้าที่ของผู้ให้กำเนิดโดยที่ไม่ต้องคิดว่าจะต้องเป็นหน้าที่ของฝ่ายใด แต่เราจะมีส่วนร่วมกันสองคนได้มากที่สุดขนาดไหน

ผมเองแต่งงานมาหลายปี ก่อนจะเริ่มกระบวนการว่าเอาละ เดี๋ยวเราจะมีลูกกัน แม้ว่าผมกับภรรยา เราจะรู้จักคบหากันมา ๑๐ ปี ก่อนที่จะแต่งงาน พออยู่ด้วยกันแล้ว ก็ยังไม่มีลูกอยู่สักพักใหญ่ ในกรณีของคนแรก พอเขาเกิดมาปุ๊บ เราก็มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องว่าเราจะดูแล มีเวลาอยู่กับเขาอย่างไรได้บ้าง

 

การเป็นคนทำงานทั้งคู่ เราแบ่งความรับผิดชอบอย่างไร ในการเลี้ยงดูลูก

สำหรับผมนะ ไม่ว่าจะเตรียมการอย่างไรก็แล้วแต่ พอเขามาถึงวินาทีแรกเนี่ย ความโกลาหลมันเกิดขึ้นทันที สำหรับคนที่ยังไม่มีลูก ถ้าจะฝึกอะไร ฝึกเตรียมรับความโกลาหลไว้ (หัวเราะ) อันนี้น่าจะเหมาะสุด เพราะมันจะมีอะไรที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ และเกิดขึ้นเกือบตลอดเวลา ตั้งแต่วินาทีที่หนึ่งเลย อันนี้อันที่หนึ่ง อันที่สองก็คือว่า ในช่วงเริ่มแรก อย่างที่บอกว่า เราก็ต้องคุยกับที่ทำงาน ที่ทำงานมีสวัสดิการในเรื่องให้ลาหยุดได้ในฐานะแม่ ในฐานะพ่อ ได้ขนาดไหน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพยายามให้มั่นใจว่าเราสามารถช่วยกันได้อย่างไร ผมในฐานะผู้ชาย ลูกไม่ได้ออกมาจากตัวผม ผมย่อมบอบช้ำทางร่างกายและเหนื่อยน้อยกว่าคนตั้งครรภ์บวกกับคลอดลูก เราจะมีบทบาทตรงนั้นได้อย่างไร โชคดีว่าที่ทำงานมีนโยบายให้ผู้เป็นพ่อสามารถจะหยุดงานได้ ๑ เดือนเพื่อช่วยดูแลลูก ดังนั้นเราก็ถือโอกาสนั้นเป็นโอกาสสำคัญในการที่จะช่วยกันดูในระยะเริ่มแรก

ผมไม่ได้มีลูกคนเดียว คือลูกคนเดียวนี่ บางทีแม่หรือพ่อยังพอเอาอยู่ แต่พอมีลูก ๒ คน มันก็จะวุ่นวายมากขึ้น ผมคิดว่าในครอบครัวยุคใหม่ ที่เราอาจจะไม่ได้อยู่ร่วมกับปู่ย่าตายายใกล้ชิดขนาดนั้น หรือเขาจะช่วยได้ตลอดเวลา หรือบางคนไม่มีใครมาช่วยเลย การเป็นหนึ่งเดียวกันของคนเป็นพ่อเป็นแม่หรือคู่ชีวิตใดๆ ที่ดูแลเด็กจึงสำคัญมากๆ ผมโชคดีที่ทำงานกันเป็นทีมกับภรรยาซึ่งผมรู้สึกชื่นชมเขาจริงๆ  ประสบการณ์นี้ยิ่งทำให้เราก็ชื่นชมคนที่อาจต้องเลี้ยงเดี่ยวหรือไม่มีการซัพพอร์ตแบบที่เราได้รับ

 

ในการเลี้ยงลูก มีใครมาช่วยแบ่งเบาในการดูแลบ้าง

ในกระบวนการมีลูกของผม มันไม่ถึงกับตรงไปตรงมา เรื่องมันไม่ได้เป็นเส้นตรงสักทีเดียว มันก็เลยทำให้ ไม่ใช่ว่าทุกคู่จะมีประสบการณ์เหมือนผม คือแต่ละคนมีความท้าทายแตกต่างกันไป ของผมก็จะมีความท้าทายอันหนึ่งคือ ลูกคนแรกของผมเสียชีวิตตอนประมาณขวบครึ่ง แล้วตอนนั้นเราเพิ่งมีลูกคนเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้น มันเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนการเตรียมการ มันเปลี่ยนเราไปมาก เพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่และต้องใช้เวลาอยู่นานในการที่จะปรับสภาพจิตใจ เป็นเหตุที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน จากผู้เลี้ยงเด็กที่ขาดประสบการณ์และการฝึกรับมือจากสภาวะฉุกเฉิน หลังเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น แล้วเรามีลูกคนถัดมา เราก็เปลี่ยนวิธีเลี้ยงคือเราไปฝากเขาไว้ที่สถานรับเลี้ยงเพราะว่าเป็นสถาบันที่เราไว้ใจกว่า ว่าเรื่องของอุบัติเหตุ เรื่องของความเสี่ยง น่าจะเกิดขึ้นได้น้อยกว่าอย่างนี้เป็นต้น

เมื่อไปที่นั่นก็เกิดโจทย์ใหม่ขึ้นมาคือ ป่วยบ่อย ป่วยหนักมาก เช่นลูกสาวคนเล็กของผมป่วยขนาดที่เสมือนอยู่ห้องไอซียูไป ๑๑ วัน หลังจากนั้นหมอสั่งว่าจะต้องอยู่บ้านอย่างเดียวเป็นแรมปีเพราะว่าไม่ควรจะไปรับเชื้ออะไรมาอีกแล้วเพราะเขาจะไม่ไหว เมื่อเป็นอย่างนั้น ความเป็นหนึ่งเดียวกันของครอบครัวต้องกลับมาใหม่ ทั้งคุณปู่ คุณตาคุณยาย คุณป้า ทั้งภรรยาผมและผมเอง ทุกคนเวลานี้ก็คือ ลงแขกกันละครับ ผลัดเวียนกันมาดู จัดตารางชีวิตกันใหม่หมดเพื่อที่จะดูแลเขา ให้เขาอยู่บ้านในลักษณะที่ปลอดภัยหรือมีคนที่ดูแลเขาได้

เพราะฉะนั้น มันก็มีช่วงทั้งเวลาที่เราดูแลกันแค่สองคน แล้วก็มีช่วงเวลาที่ทั้งครอบครัวระดมแรงระดมใจเพื่อที่จะช่วยกัน ก็ยังโชคดีที่ตอนนั้นคุณปู่ คุณตาคุณยายก็ยังกระฉับกระเฉงเดินทางข้ามเมืองมาดูแลได้ ผลัดกันดู คุณป้าเดินทางไกลมาอยู่ ลางานมาช่วยกัน

มันก็เป็นสิ่งที่เราเห็นคุณค่าว่า สถาบันครอบครัวยังมีความจำเป็นอยู่มาก แต่ว่าคนอื่นที่เขาไม่มีครอบครัวใกล้ชิดเหมือนเรา เมื่อระบบสวัสดิการทางสังคมก็ยังไม่พร้อมเนี่ยจึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ทำให้เราตระหนักตอนนั้นเลยว่า รัฐสวัสดิการหรือระบบที่จะช่วยรองรับมีความสำคัญสำหรับครอบครัวจำนวนมากอย่างไร พอดีว่าของเราโชคดี ถ้าไม่มีครอบครัวที่พร้อมเหมือนตอนนั้น ผมก็ยังนึกภาพไม่ออก คงถึงขั้นว่าจะต้องออกจากงานคนใดคนหนึ่งเพื่อที่จะมาดูลูก เพียงแต่ว่าพอเรามาช่วยกันแบบนั้นได้ มันก็ประคับประคอง ถือว่ายังโชคดีอยู่ว่าเราไม่ต้องออกจากงาน แล้วก็ผ่านช่วงวิกฤตินั้นมาได้ครับ

 

เรื่องของเศรษฐกิจ รายได้ของครอบครัว มีส่วนต่อการเลี้ยงดูลูกแค่ไหน เพราะจำได้ว่าคุณจักรบอกว่าทำงานแบบนี้เงินเดือนก็ไม่ได้สูงอะไรมาก

อืม ใช่ ผมคิดว่ามีมาก พูดตรงๆ เรื่องเศรษฐกิจตอนนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของผมเลยนะ แล้วผมคิดว่า คนจำนวนอีกมากหนักใจเรื่องนี้ คงเครียดเรื่องนี้มากกว่าผมและภรรยาด้วยซ้ำ ก่อนอื่นคงต้องบอกว่า ผมให้คำตอบแทนครอบครัวอื่นไม่ได้ หรือแม้แต่จะตอบแทนทุกคนในครอบครัวผมเองก็ไม่ได้ด้วย ผมไม่รู้ว่าลูกคิดเหมือนผมหรือเปล่า แต่ว่าสำหรับผม สิ่งที่หนักที่สุดก็คือ ราคาของการที่เราจะต้องลงทุนเพื่อปลดแอกออกจากระบบการศึกษาที่กดทับความคิดและจินตนาการของเด็ก ผมคิดแบบนี้เลยนะ มันมีราคาสูงมาก โจทย์นี้ไม่ใช่โจทย์ที่เกิดขึ้นตอนที่ผมเป็นเด็ก ไม่ใช่โจทย์ที่ผมมีตอนผมเป็นวัยรุ่น ผมไม่เคยรู้สึกเลย ซึ่งคงเพราะผมเกิดและโตมาในโครงสร้างแบบนั้น แล้วจริงๆ มันก็ไม่ใช่โจทย์ที่ผมมีตอนที่ผมจะมีลูกด้วยนะ แต่พอตัวลูกเขาเข้าโรงเรียนไปแล้ว แล้วเรารู้สึกได้ แล้วเราก็มีความรู้สึกว่ามันไม่แฟร์สำหรับเขา

ผมคิดว่าสำหรับเด็กไทย หรือเด็กอีกเป็นจำนวนมากที่อยู่ในระบบการศึกษาแบบนี้ ผมไม่ได้หมายความว่าระบบการศึกษาไทยจะเลวร้ายไปเสียทั้งหมด คือว่าครูไทยจำนวนมาก ส่วนใหญ่เลยด้วยซ้ำที่มีความตั้งใจดี แต่ตัวระบบและวิธีคิดมันเหนี่ยวรั้ง และทำให้เด็กไม่มีพื้นที่ทางความคิด เด็กไม่มีการพัฒนาวิธีคิดเชิงวิเคราะห์ มองมุมกว้าง เร้าจินตนาการ เราจึงมีความรู้สึกว่า เราจะพยายามทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อให้เขาไม่ต้องเจอสภาพแบบนั้น ซึ่งคำตอบเดียวที่เราได้ในมุมของเรา คนอื่นอาจจะมีคำตอบมากกว่านี้ คือ เราต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เมื่อเราต้องจ่ายเพิ่มขึ้นมันก็กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญของบ้าน ก็คือ ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของครอบครัว ส่วนใหญ่นี่คือส่วนใหญ่มากเลยด้วยนะ

ผมคิดว่าเรื่องของเศรษฐกิจนี่สำคัญมากๆ แล้วทำให้คิดว่าสวัสดิการ หรือการปฏิรูปการศึกษา การมีทางเลือกให้กับสังคม น่าจะเป็นโจทย์ที่สำคัญ เดาเอาเองว่าผมไม่ใช่คนเดียวที่คิดแบบนี้ คนจำนวนมากก็อาจจะหนักใจ เช่นนี้แล้วจะมีลูกได้ยังไงเมื่อค่าเล่าเรียนในโรงเรียนที่เราอยากให้เรียนมันแพง อันนี้เรายังไม่ต้องพูดถึงโรงเรียนที่มีหลักสูตรสากล หรือที่เรียกว่า International School นะ เอาแค่โรงเรียนทางเลือกก็แพงแล้ว ทำไมมันต้องเป็นแบบนั้นด้วย ผมไม่ใช่นักการศึกษา เพราะฉะนั้นผมตอบไม่ได้

แล้วเผอิญเราได้มีโอกาสรับผิดชอบการสัมภาษณ์เด็กเพื่อเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาต่อเนื่องหลายปี นอกจากนั้นเราเองก็รับสมัครคนเข้ามาทำงาน และเราก็ทำงานกับคนต่างชาติอยู่เยอะมาก เราจึงเห็นความแตกต่างค่อนข้างชัดเจน คือเราเห็นความตั้งใจของเด็กไทย เราเห็นความแน่นทางวิชาการ เราเห็นหลายอย่าง แต่สิ่งที่ผมไม่เห็นก็คือสิ่งที่พูดไปตอนต้นน่ะ [๕]

แล้วตรงนี้มันเป็นทักษะ (Skill) ที่สำคัญมากๆ มาตลอดกาลแหละ แต่ผมคิดว่ามันจะสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วการศึกษาไทยถ้าไม่สามารถให้ได้ เราก็ต้องขวนขวาย จริงอยู่พื้นที่การเรียนรู้นั้นกว้างไกลกว่าโรงเรียนมาก รวมถึงที่บ้านเองด้วย แต่สำหรับผม เวลาจำนวนมากเหลือเกินที่เด็กจะต้องอยู่ที่โรงเรียน อีกทั้งเติบโตทั้งด้านความคิดและสังคม ถ้าเรานึกย้อนกลับไปแล้วเจอโจทย์นี้ก่อนจะมีลูก ผมว่าอาจคิดหนักเลยนะ ก็เลยเข้าใจคนรุ่นน้องๆ ที่อาจจะคิดไว้ว่าจะมีลูกดีไหม เพราะว่าราคาของการศึกษาแบบที่เราหวังมันแพงมาก อย่างที่บอก มองย้อนกลับไปก็ทำให้เข้าใจหลายคน

 

มีหลักเกณฑ์ในการเลือกโรงเรียนให้ลูกโดยมีเหตุผลและปัจจัยอะไรบ้าง

ในตอนแรก ลูกผมเรียนโรงเรียนในระดับอนุบาลแบบปกติทั่วไปซึ่งเน้นไปด้านวิชาการ เพื่อเตรียมแข่งขันเข้าโรงเรียน สำหรับลูกผม เขาเหมือนดอกไม้ที่โดนแดดแรงๆ ในยามบ่าย เราสัมผัสได้ถึงความเครียดของเขา ถึงเวลาสอบเขาก็ปวดหัวมาก แพทย์บอกเขาเป็นไมเกรนจากความเครียด มันเชื่อมโยงจากการเร่งเรียนอัดวิชาการ เพื่อจะพร้อมในการสอบแข่งขันบรรลุความสำเร็จในทางวิชาการ ครูประจำชั้นในโรงเรียนนั้นเองก็บอกเราว่าเขาเห็นศักยภาพในตัวของเด็กนะ แต่คิดว่าเรียนแบบนี้ไม่น่าจะเหมาะ ต้องเน้นว่าเด็กแต่ละคนก็คงไม่ได้เหมือนกัน คงไม่เหมาะที่จะเหมารวม แต่นี่คือประสบการณ์ของเรา

พอเราไปหาโรงเรียนที่เน้นการเรียนรู้ทำความเข้าใจแบบองค์รวมมากขึ้น ไม่ได้เน้นท่องจำอัดเพื่อการสอบ พอเปลี่ยนโรงเรียนเราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันเลยนะครับ เขาเบ่งบานขึ้น เขาเป็นตัวเองได้ดีขึ้น แล้วผลการเรียนของเขามาอยู่ในระดับที่ดี เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี เขาเป็นเด็กที่ได้เป็นตัวแทนโรงเรียนทั้งด้านวิชาการและกีฬา ผมยังบอกไม่ได้ว่าเมื่อลูกโตไปกว่านี้แล้วจะเป็นอย่างไร แต่เท่าที่ผ่านมาเราเห็นว่าความหลากหลายในการรองรับเด็กมันมีจำกัดมากๆ  

ที่ถามว่าผมมีหลักในการเลือกโรงเรียนแบบไหน ที่ผมคิดคือ หนึ่ง เป็นพื้นที่ที่เขาสามารถมีความเป็นตัวของตัวเอง สามารถที่จะทำให้เขาใช้ความคิดของเขา ความเป็นตัวตนของเขา เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ไม่ตีกรอบทางความคิด ไม่ได้เน้นบันทึกข้อมูลเข้าสมองตามที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้นสร้างความเข้าใจ เห็นโลกกว้าง และเห็นในระบบคุณค่าที่หลากหลาย ไม่ใช่อัดเข้าไปว่าสังคมจะต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงมองหาโรงเรียนในลักษณะแบบนั้น

และอย่างที่บอก เรามีโจทย์ในทางเศรษฐกิจด้วย เราจึงเลือกมากเกินไปก็ไม่ได้ แล้วมันก็ไม่มีอะไรที่ลงตัว เพราะเรามีความรู้สึกว่าบางครั้งเรามาจ่ายค่าการศึกษาระดับแพงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กที่มาอยู่ในสังคมย่อยของโรงเรียนนั้นๆ ก็จะมีเพียงเด็กที่ผู้ปกครองสามารถจ่ายได้ ดังนั้นชุดประสบการณ์และความคิดของเด็กในโรงเรียนนั้น ก็จะมาจากกลุ่มสถานะทางเศรษฐกิจระดับหนึ่ง มีความเป็นจริงของโลกชุดหนึ่งสำหรับเขา ซึ่งมันไม่ใช่ความเป็นจริงของโลกทั้งหมด มันไม่ได้มีความหลากหลาย จะว่าไป  แม้คุณจะมีตังค์จ่ายค่าการศึกษาแพงๆ คุณก็ไม่สามารถที่จะจัดเตรียมการศึกษา หรือสิ่งแวดล้อมที่คิดว่าอยากจะให้เป็นกับลูกได้อยู่ดี เพราะว่าคุณจ่ายแพงคุณก็จะอยู่กับเด็กที่มีสถานะทางเศรษฐกิจดี แล้วเขาก็จะมีค่านิยม มีวิธีคิดแบบหนึ่งซึ่งก็ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ เพียงแต่ว่ามันไม่มีความหลากหลาย เขาไม่ได้เห็น เขาอาจไม่ได้เข้าใจความลำบากของคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจน้อยกว่าเขา

อย่างหนึ่งที่ผมคิดออกก็คือว่า ต้องปฏิรูปการศึกษาไทยที่ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงการศึกษาที่หลากหลาย ไม่ได้บอกว่าจะต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่งอย่างเดียวนะ อาจจะมีโรงเรียนที่เน้นวิชาการ มีเด็กที่แบบว่าซุปเปอร์เนิร์ด [๖] (Super Nerd) ชอบแบบนี้ก็เรียนแบบนี้ได้ หรือมีโรงเรียนที่มีพื้นที่ที่หลากหลาย เพราะว่าเราก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางข้ามอำเภอข้ามเขตเพื่อจะไปเรียน ณ ตอนนี้เราไม่เห็นว่ามีสิ่งนั้น

 

ช่วงวัยไหนของลูกที่พ่อแม่รู้สึกว่ารับมือยาก เป็นเรื่องอะไรบ้าง

มันยากแตกต่างกันออกไปนะ ในวัยเด็กโดยทั่วไปก็จะมักจะเป็นเรื่องสุขภาพอย่างที่ผมเล่าไป มันก็นำพามาซึ่งความเครียด และความกลัว ต่อความเสี่ยงด้านสุขภาพ อันนี้พูดเป็นค่าเฉลี่ยที่ผมเจอนะ บางคนเขาอาจไม่เจอด้านสุขภาพแบบนั้น หรือบางคนเจอเรื่องสุขภาพตอนโตก็ได้ พอในวัยที่โตขึ้น ตอนนี้สิ่งที่ผมเจออยู่ก็คือ ความเป็นวัยรุ่น (Teenager) ซึ่งมันก็เป็นเรื่องของจิตใจ เรื่องของความสัมพันธ์ในวัยที่เขาก่อร่างสร้างตัว มีบุคลิกภาพมีความต้องการที่ชัดเจนขึ้น  แล้วเราจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไร อันนี้ผมคิดว่าเป็นโจทย์ที่ยากที่สุด เราเรียนรู้ได้จากผู้ที่มาก่อนหน้าได้แค่ระดับหนึ่ง เพราะว่าสังคม สิ่งแวดล้อม ทัศนคติ มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราจะไปปรึกษาพ่อแม่เรา แล้วเอามาใช้กับลูกเราเลย ผมว่าคงได้แค่บางส่วน หลายอย่างต้องด้นสดเพราะว่ามันเป็นยุคสมัยที่แตกต่างกันออกไป

แต่ในขณะเดียวกัน ผมว่าโจทย์ที่สำคัญก็คือว่า มันไม่ใช่แค่เราจะมองว่าเราจะรับมือเขาอย่างไร เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเขาก็คงคิดว่า เขาจะรับมือกับเราอย่างไร เขาจะรับมือกับสองแก่ที่บ้านนี้อย่างไร สองคนนี้จะเข้าใจเขาขนาดไหน เขาจะมาพูดหรือจะไม่พูดอะไรกับเรา พ่อแม่หลายคนพอลูกเข้าสู่การโตเต็มวัย ตัวเองก็เข้าสู่วัยทอง ซึ่งผมว่าก็มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนไม่ต่างจากที่ลูกเปลี่ยนเหมือนกันแหละ เพราะฉะนั้นก็ต้องระวังว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงอารมณ์ ความหดหู่ ความเบิกบาน สะบัดร้อนสะบัดหนาว ไม่ว่าหญิงหรือชาย เราควรเข้าใจด้วยว่าเขาต้องรับมือกับเราเหมือนกัน ในมุมเรา อาจจะมองเขาเป็นตัวประหลาด อยู่ดีๆ เขาเคยน่ารักวิ่งเล่นไปมา วันนี้ทำไมทำตัวแบบนี้ ในมุมเขา อาจรู้สึกว่าแต่ก่อนเราเคยโอ๋เขา กอดเขาอยู่ตลอดเวลา แต่ทำไมวันนี้เราด่าเช้าด่าเย็น ผมคิดว่ามันเป็นการรับมือทั้งสองฝ่ายนะ แล้วที่สำคัญ แต่ละฝ่ายต้องพยายามนึกถึงอีกฝ่ายหนึ่ง คือเราก็ต้องนึกถึงเขา และหวังว่าเขาจะเข้าใจด้วยว่าเราก็ต้องรับมือเขา

สำหรับเขาการเรียนรู้จากภายนอก จากสังคม จากโรงเรียนก็ช่วยประคับประคองและสร้างความเข้าใจได้ ที่โรงเรียนครูก็สอน เขาก็รู้ว่าเขาอยู่ในวัยเปลี่ยนผ่าน ฮอร์โมนเขาพลุ่งพล่าน เขาก็รู้ตัวในระดับหนึ่ง ถึงแม้เขาจะคุมตัวเองไม่ได้ตลอดเวลา ซึ่งก็ไม่จำเป็นจะต้องคุมได้หรอก เป็นวัยรุ่นน่ะ ก็ไม่เคยจะมีใครมาคุมเราได้ตลอดเวลา การที่เขาเข้าสู่วัยรุ่น แล้วเขาก็สถาปนาตัวเขาเอง  ผมคิดว่ามันก็เป็นสีสันของชีวิต บางคนเหนื่อยมากหน่อย บางคนเหนื่อยน้อยหน่อย ผมเองไม่กล้าจะไปแนะนำใครเพราะผมรู้สึกว่าผมก็ไม่ได้ทำได้ดีอะไร เราก็ยังถกเถียงหรือทะเลาะกับลูกไม่เว้นแต่ละวันละครับ

 

การที่พ่อเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม ลูกๆ เขารู้ไหมว่าพ่อทำงานอะไร แล้วเขามีส่วนได้ซึมซับอะไรบ้างไหม

ผมเข้าใจว่าไม่ว่าจะมีอาชีพอะไร สิ่งที่สำคัญคือมันไม่ใช่ว่าเราไปกำหนด หรือยัดเยียดความเป็นตัวเราไปใส่ตัวเขา มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ใช่เอาชุดความคิด หรือเอาสิ่งที่เราชอบไปวางทับบนเขา เขาจะให้ความสำคัญแค่ไหน ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของเขา แต่ผมก็รู้สึกดีอย่างหนึ่งน่ะ เขาก็ไม่เคยบอกเรา หรือมากดดันให้เราทำงานอย่างอื่นที่มีรายได้มากกว่านี้ ที่รับรู้ได้คือเขาให้เกียรติในการตัดสินใจของพ่อแม่ ถ้าเลือกได้ตามที่เคยได้ฟังจากเขา เขาก็อยากให้เราทำในสิ่งที่ทำให้เราสามารถมีเวลาอยู่กับเขาได้เยอะๆ

ผมคิดว่างานหรืออาชีพไม่สำคัญเท่าเราแสดงให้เขาเห็นอะไรจากความเป็นพ่อเป็นแม่ บางคน โอ้โห ไปช่วยเหลือสังคม ทำอะไรนอกบ้าน สุดยอดเลย ทุกคนแซ่ซ้องยินดี แต่กลับมาบ้านเนี่ย เตะลูกเช้าเย็น ผมว่ามันก็ไม่เวิร์กนะ คุณจะทำอะไรก็ได้น่ะ นอกบ้าน แน่นอนคืออยู่ในที่ที่ไม่ไปโกงใครเขา ไม่เอาเปรียบสังคม จะค้าขายหรือทำงานบริษัท ผมว่าแล้วแต่เลยนะ แต่ถ้าวันนี้เราคุยเรื่องการเป็นพ่อเป็นแม่เนี่ย ผมรู้สึกว่าเราแสดงให้เขาเห็นอะไรจากความที่เราเป็นพ่อเป็นแม่ เราให้ค่ากับอะไร ระบบคุณค่าอะไรที่เรายึดถือ อันนี้ผมว่าสำคัญที่สุด แล้วเราทำสิ่งนั้นไปเถอะ เขาเห็นเอง

แต่อย่าไปวางแล้วบังคับว่าเขาจะต้องคิดเหมือนเรา เราอาจจะเสียใจ เขาก็จะเสียใจด้วย ไม่มีใครแฮปปี้ ถ้าเผอิญเขามีความคิดเหมือนเรา คุณก็อาจดีใจอยู่ในใจ เขาก็อาจดีใจ เพราะไม่มีลูกที่ไม่อยากเหมือนพ่อแม่หรอกถ้าเขาชื่นชมพ่อแม่อ่ะนะ แต่บางทีคนเรามันไม่เหมือนกันน่ะ พี่น้องยังไม่เหมือนกัน ถ้าพี่น้องไม่เหมือนกัน ก็ต้องลูกสักคนที่ไม่เหมือนพ่อแม่ล่ะ แล้วลูกคนนั้นจะรู้สึกไม่ดีเหรอ ผมว่ามันไม่ใช่

แต่สิ่งที่อยากชวนให้คิดอีกอย่างก็คือ ในปัจจุบัน มันยิ่งกว่าในยุคใดๆ นะ ข้อมูลที่เขาได้รับจากภายนอกบ้าน มันมีปริมาณมหาศาล ดังนั้นการซึมซับมันจึงมาจากแหล่งอื่นอีกมากมาย ไม่ใช่เพียงในบ้าน ถ้าเป็นสมัยก่อน เขาคุยกับคนในบ้าน เขาก็ได้รับชุดข้อมูลในบ้าน พ่อแม่เปิดข่าว ทุกช่องข่าวมันก็เหมือนกันหมด มันไม่มีชุดความคิดที่แตกต่าง มันแห้งมาก คุณดูละครเรื่องไหน เขาก็ดูตามคุณ ไม่มากก็น้อยแหละนะ

แต่ทุกวันนี้ ความคิดและข้อมูลมันกว้างมากๆ ในขณะที่คุณอาจจะนั่งเลคเชอร์เขาอยู่เนี่ย หลังจากนั้นนาทีเดียว เขาไปกดอะไรดูบนออนไลน์แล้วเป็นสิ่งตรงข้ามกับที่คุณพูดก็ได้ แล้วคุณก็ทำอะไรไม่ได้ สำหรับผมเห็นว่าสิ่งนั้นสวยงาม ฉะนั้น มันเป็นสิ่งที่เราควรจะต้องโอบรับในความเป็นเขา แล้วไม่ต้องไปยึดถือว่า ฉันเป็นข้าราชการที่ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นลูกจะต้องเป็นแบบนี้ ฉันเป็นวิศวกรผู้ทำอะไรใหญ่โต หรือฉันเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม ลูกจะต้องเห็นด้วยหรือทำตาม ผมว่าไม่น่าใช่ คุณอาจจะเสียใจ สำหรับผมความสำคัญน่าจะอยู่ที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ยอมรับซึ่งกันและกัน

 

สังคมทุกวันนี้ที่ให้คุณค่ากับความเท่าเทียม ความยุติธรรม ความหลากหลายทางเพศ ความเหลื่อมล้ำ คนรวยคนจนอะไรต่างๆ คุณจักรมีส่วนช่วยชี้แนะ ตอบคำถามลูกในเรื่องเหล่านี้อย่างไร

เรื่องแบบนี้ หลายครั้งไม่ได้มาจากเรา ผมมีเพื่อนรุ่นน้อง นักเคลื่อนไหวทางสังคมคนหนึ่งซึ่งเราสนิทกันทำกิจกรรมด้วยกัน ผมจำได้ว่าวันหนึ่ง เขาก็ชวนเจ้าลูกผม ตอนนั้นยังเด็กอยู่ มาคุยเล่น เขากระซิบว่า "มีอะไรจะบอกอย่างหนึ่ง สำคัญมากเลยนะ เป็นกุญแจไขจักรวาลเลย" เจ้าลูกผมนี่ก็ตื่นเต้นมากถามว่า "อะไรๆ" ผมก็แอบฟังอยู่ด้วย เพื่อนรุ่นน้องคนนี้เขาบอก "มีอยู่ ๓ คำที่สำคัญมาก" "ไม่ว่าใครจะพูดอะไรนะ อันนี้คือกุญแจ" แล้วก็กระซิบว่า "คน เท่า กัน" เขาพูดเท่านี้ ลูกผมนี่ ตาโตเลยนะ อาจจะแบบงงๆ อ่ะนะ

ผมมีความรู้สึกว่า ไอ้เรานะ บอกทุกวัน แล้วพยายามสอนอะไรแบบนี้ ก็ไม่เห็นสนใจเลย (หัวเราะขำๆ) คือต้องเข้าใจนะ ความเป็นพ่อเป็นแม่เนี่ย มันสอนลูกยาก มันแสดงให้ลูกดูได้ แต่สอนไม่ได้ง่ายๆ การสอนเนี่ย ลูกไม่เอาหรอก เขาบอก เอาอีกแล้ว เลคเชอร์อีกแล้ว

แค่คุณแสดงให้ดู ถ้าคุณปฏิบัติกับคนอื่นเท่ากัน คุณปฏิบัติกับคนอื่นว่ามีความเท่าเทียม ไม่ใช่ไปเจอผู้หลักผู้ใหญ่ แล้วมือคุณก็กุมเป้า ได้ครับผม ดีครับนาย แต่เวลาไปเจอคนอื่นกลับไปพูดไม่ดีใส่เขา เพียงเพราะเขาอายุหรืออำนาจน้อยกว่าคุณ ผมคิดว่าการกระทำของเราน่ะสำคัญมาก นอกจากนี้ผมมีความรู้สึกว่าในหลายครั้งเขาสอนเรามากกว่าเราสอนเขาเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาเริ่มโตขึ้น ตอนนี้เขาอายุ ๑๒ - ๑๓ ปี ผมก็เรียนจากเขานี่แหละ เขาไม่ได้มานั่งสอน แต่เขาเองก็แสดงให้เราเห็น

เดี๋ยวนี้บางทีก่อนที่เขาจะพูดอะไร เขาจะต้องมีข้อความบางอย่างนำมาก่อน เช่น ที่เขาพูดแบบนี้ เขาไม่ได้มีอคติทางเพศ (Sexist [๗]) นะ เขาจะต้องออกตัวไว้ก่อน (Disclaimer [๘]) หรือการเตือนว่าเอาลักษณะบางอย่างของคนมากำหนดเพศสภาพแล้วมากำหนดข้อจำกัดของคนไม่ได้ ซึ่งผมคิดว่า นี่มันเป็นจริตซึ่งคนรุ่นผม ไม่เห็นมีเลยนะ สำหรับเรา แต่ก่อนไม่ต้องมีการออกตัวกันไว้ก่อนเลยนะ การที่คุณมีออกตัวไว้ก่อนแสดงว่าคุณตระหนักถึงความหลากหลายทางความคิด ตระหนักถึงเรื่องที่มันละเอียดอ่อน แล้วเมื่อคุณรู้ว่ามันละเอียดอ่อน แสดงว่าคุณเคารพและคุณแคร์คนอื่น ผมคิดว่านี่เป็นระบบคุณค่าที่สังคมให้เรา และผมคิดว่าสังคมเดินไปข้างหน้า ซึ่งสะท้อนผ่านตัวเด็กออกมา

บางทีผมก็หมดหวังหลายอย่าง แต่ปัจจุบันเริ่มรู้สึกว่าสังคมเดินไปข้างหน้าจากคนรุ่นใหม่ จากคนเจนใหม่ มากกว่าคนเจนเรา หรือคนเจนเก่ากว่าเรา โดยเฉลี่ยนะ แน่นอน คนรุ่นผม คนรุ่นโต กว่าผม คนอายุมากๆ ผู้สูงอายุ ยังมีประโยชน์แน่นอน นี่เห็นไหม ผมก็มี Disclaimer เรียนจากลูก แต่ก่อนพอเรามีชุดข้อมูลอะไร เราคิดว่ามันเป็นความจริงแท้ ต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น ซึ่งผมคิดว่าเราเรียนรู้จากเขา สรุปสั้นๆ ก็คือว่าเรื่อง ความเท่าเทียม หรือความเป็นธรรม ผมมีความรู้สึกว่าเราจะต้องพร้อมแสดงและทำจริง และเรียนรู้จากเขามากกว่าที่ตั้งใจจะไปสอนเขา

 

ความห่วงกังวลของพ่อแม่ต่อสังคมภายนอกที่มีอันตรายอยู่รอบด้าน เป็นอย่างไร

ห่วงมากๆ และยังหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ คือบางทีเราก็ต้องสลับกันไปรับ เมื่อวานผมนั่งทำงานอยู่ ฝนตก ผมก็ต้องเรียกมอเตอร์ไซค์ออกไป แล้วเดินกันกลับมา คือห่วงอ่ะนะ พูดตามตรง  ในด้านหนึ่ง เราก็ต้องฝึกทักษะชีวิต (Life Skill) ของลูกเรา ทักษะการมีชีวิตรอดของลูก อย่างที่บอกไปตอนต้น เราเคยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น คือถึงขั้น เราเสียลูกไปเลย เพราะฉะนั้น ผมไม่อยู่ในสภาพจิตใจที่จะคุยในพื้นที่สาธารณะได้ว่า เฮ้ย มันต้องทำอะไรแบบไหน จุดสมดุลระหว่างการปกป้องดูแลกับการให้เขาออกไปเผชิญ เรียนรู้ด้วยตัวเองควรอยู่ตรงไหน เพราะว่าจิตใต้สำนึกของผมและภรรยา เมื่อเวลามันเกิดอะไรขึ้นเนี่ย มันคือการสูญเสียขั้นสุด แล้วฝันร้ายนั้นมันยังอยู่กับเราทุกเมื่อเชื่อวัน แม้ว่าผ่านไปนานแล้วก็ตาม เพราะฉะนั้น ด้วยเหตุและผลทั่วๆ ไป เราคงต้องช่วยฝึกเขา ให้เขามีทักษะ แล้วเขาห่วงตัวเอง ระวังตัวเอง เท่าที่เราจะทำได้

 

มาถึงวันนี้ การมีลูกคือคำตอบที่ถูกต้องแล้วไหม

ผมว่ามันเป็นการเดินทางของความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขา และระหว่างเรา เขา และสังคม มันอยู่ที่ว่าเราไปเจออะไรระหว่างทาง เราสร้างสะพานอย่างไรในการข้ามแม่น้ำ เรื่องราวของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมเคยพูดกับเพื่อนหรือรุ่นน้องหลายคนว่า สำหรับผม มันไม่มีคำตอบที่ถูกหรือที่ผิดหรอก มันอยู่ที่ว่าคุณเลือกเดินชีวิตแบบไหน บางคนเลือกเดินชีวิตแบบที่ไม่มีลูก บางคนเลือกแบบที่มี

สำคัญ เมื่อเลือกเดินชีวิตแบบที่จะมีลูกแล้ว ลองคิดเผื่อไปด้วยแล้วกันว่า เราจะจัดวางความสัมพันธ์กับเขาอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรคิดคือ เขาไม่ใช่เราที่ตัวเล็กกว่า เขาไม่ใช่ตัวแทนเรา ผมคิดว่าจะสบายใจขึ้น เขาคือตัวเขา เราคือตัวเรา เป็นสองชีวิต สามชีวิต หรือมากกว่านั้น ที่มาอยู่ด้วยกัน ความสุขของเราหรือของเขามันอยู่ที่ว่า เราจัดความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขาอย่างไร ผมว่าอันนี้สำคัญที่สุด แล้วผมก็ไม่ได้ทำได้ดีอะไรหรอกนะ เพียงแต่เป็นสิ่งที่คิดอยู่ตลอด

 

ความสุขของคนเป็นพ่อคืออะไร

พื้นฐานที่สุดก็คือว่า เราเห็นเขามีความสุขที่ไม่ได้วางอยู่บนความทุกข์หรือความเดือดร้อนของคนอื่น อันนี้แหละ ถ้าวันที่เขามีความสุขโดยที่เขาไม่ไปเอาเปรียบสังคม สิ่งแวดล้อม มนุษย์ ผู้อื่น ผมคิดว่าผมแฮปปี้มากๆ ผมเห็นเขาลุกขึ้นมาทำอะไรสำหรับคนอื่น ลุกขึ้นมาแคร์คนอื่น เขาแคร์คนที่อยู่รอบตัวเขา วันนั้นก็จะเป็นวันที่ผมมีความสุขมาก อันนี้ส่วนตัวของผมนะ

สังคมเราบางทีก็มีแต่เรื่องน่าหดหู่ หลายคนก็ไม่อยากอยู่ในสังคมแบบปัจจุบันนี้ ซึ่งเข้าใจได้ ผมจึงไม่แปลกใจที่หลายคนไม่ต้องการจะมีลูก คือสำหรับคนจำนวนมาก สังคมปัจจุบันมันไม่ได้น่าอยู่ ในเมื่อตัวเองยังไม่อยากอยู่ แล้วจะไปนำคนมาอยู่เพิ่มอีกทำไม คือไม่ใช่ว่าไม่รักชาติ หรือชังชาตินะ (หัวเราะ) ก็มันไม่น่าอยู่น่ะ แน่นอนเราก็ต้องพยายามแก้ไขเพื่อช่วยกันไป ซึ่งเราก็ทำกันอยู่ แต่ว่าสิ่งที่เห็น หลายครั้งมันไม่น่าชื่นมื่นเท่าไหร่ ซึ่งผมเข้าใจเลยนะ แต่ในฐานะคนมีลูกแล้ว ความสุขของเราก็คือ ได้เห็นเขาร่วมเป็นกลไกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสังคม เป็นมือเป็นไม้หนึ่ง แล้วเขามีความสุขในการทำสิ่งนั้น สิ่งนี้จึงเป็นมุมความสุขของผมในฐานะผู้ให้กำเนิด

ในขณะนี้ผมมีลูก ๒ คน อันนี้ยกตัวอย่าง เมื่อไม่นานมานี้ เจ้าลูกคนหนึ่งตอนที่อยู่ชั้นประถมปลาย เขากับเพื่อนๆ รู้สึกว่า ครูประจำชั้นปฏิบัติไม่เหมาะสม รวมถึงละเมิดสิทธิของเด็กบางประการ ซึ่งสิทธิของเด็กสมัยนี้ก็ไม่เหมือนสมัยเรานะ สมัยเราอาจมองเป็นเรื่องปกติ เขาก็ลุกขึ้น เขาไม่ยอม แล้วเขาก็นำพาเพื่อนๆ ไปพบกับครูใหญ่เพื่อไปคุย แล้วก็คอยผลักดัน (Mobilize) เพราะเพื่อนหลายๆ คนก็กลัว เขาก็พยายามที่จะสนับสนุนให้เพื่อนไม่กลัว โดยที่เขาไม่ได้ปรึกษาเรา กลับมาบ้านเขาก็ไม่ได้บอก เรามารู้จากทางอื่น อย่าว่าอวดลูกอวดอะไรเลยนะ แต่ในความเป็นพ่อ  มันเป็นช่วงลมหายใจที่เรามีความสุขครั้งหนึ่งในชีวิต

ในขณะเดียวกัน เจ้าลูกอีกคนซึ่งเป็นคนที่มีความละเอียด ซับซ้อน เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ที่เขารู้ว่าพ่อเขาจะไปพูดแล้วทำให้คนอื่นเสียใจ หรือสุดท้ายตัวพ่อเองก็เสียใจเนี่ย เขาก็จะรีบเข้ามาเป็นคนกลาง (Intervene) ทันที เขาจะเบรกเรา  เอามือมาเขี่ยเรา กระซิบบอกเรา แล้วสอนเราทันทีว่า หยุดนะ คุณจะไปทำให้คนอื่นเสียใจ แล้วสุดท้ายคือทุกคนก็จะเสียใจ ผมมีความรู้สึกว่า ไม่ใช่ว่าเขาแคร์ตัวเอง แต่เป็นเพราะว่าเขาแคร์คนอื่น แล้วก็แคร์ว่าพ่อคนที่เขาชื่นชม จะไปทำอะไรไม่เข้าท่า เรารู้เลยว่าถึงเวลาแล้วที่ลูกได้กลายเป็นครู ผมคิดเอาเองนะว่าลูกทุกคนก็เป็นครูทั้งนั้น อยู่ที่ว่าพ่อแม่พร้อมเป็นลูกศิษย์แค่ไหน

เราก็มีความรู้สึกว่า เฮ้ย อันนี้เป็นสิ่งที่เรามีความสุขเพราะเรามีความรู้สึกว่า ถึงที่สุดแล้ว เขาก็เกิดมาจากเรา ก็ได้แต่หวังว่าเขาจะไม่เป็นปัจจัยลบต่อสังคม เวลามีตัวชี้วัดแบบนี้ มันเหมือนกับว่าเขามีโอกาสที่จะเป็นปัจจัยบวกของสังคม แต่ที่สำคัญ มันไม่ใช่สำหรับลูกเท่านั้น คือตัวเราเองด้วย เมื่อเราเป็นพ่อ เราเป็นปัจจัยลบต่อสังคมหรือเปล่า เราไปแย่งชิงทรัพยากรอะไรมาเพื่อทำให้ลูกเรา เพื่อเติมเต็มให้ลูก แล้วไปแย่งคนอื่นเขามาหรือเปล่า ไปทำให้โลกมันแย่ลงหรือเปล่า ถ้าเราทำแบบนั้นนะ ก็คงจะเสียใจที่มีลูก



[๑] "บันทึกการก่อเกิด" วารสาร "ผู้ไถ่" ฉบับที่ ๗๓ มกราคม-เมษายน ๒๕๕๐ "คุณธรรม นำความรู้ สู่ความสุข"

[๒] คุณจักรชัย โฉมทองดี ผู้จัดการด้านงานนโยบายและการรณรงค์ ขององค์กรออกซ์แฟม อินเตอร์เนชั่นแนล (Oxfam International) องค์กรการกุศลของประเทศอังกฤษที่มุ่งเน้นการบรรเทาความยากจนทั่วโลก โดยทำงานร่วมกับคนรากหญ้าในกว่า ๙๐ ประเทศทั่วโลกเพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม

[๓] การงานด้านสังคม ในแวดวงเอ็นจีโอ และนักเคลื่อนไหวทางสังคม โดยเฉพาะการขับเคลื่อนประเด็นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสังคม การคัดค้านการจัดตั้งเขตการค้าเสรี การแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน และการแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน การปฏิรูปที่ดิน โดยนำพื้นที่รกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาทำให้เห็นเป็นรูปธรรมตัวอย่าง โดยการเปิด ‘สวนผักคนเมือง' หรือ Root Garden กลางซอยทองหล่อ เป็นพื้นที่สาธารณะให้คนมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งแม้จะปิดตัวไปแล้วแต่ได้รับการตอบรับและเสียงชื่นชมเป็นอย่างดี

[๔] บทความ "กอดลูก หรือกอดโลก ห้วงคำนึงและคำถาม" วารสาร "ผู้ไถ่" ฉบับที่ ๗๖ มกราคม-เมษายน ๒๕๕๑ "มนุษย์ในอ้อมกอดของธรรมชาติ หรือธรรมชาติในกำมือมนุษย์"

[๕] เด็กจำนวนมากขาดพื้นที่ทางความคิด เด็กไม่มีการพัฒนาวิธีคิดเชิงวิเคราะห์ เชิงมุมกว้าง เชิงจินตนาการ

[๖] Super Nerd กลุ่มบุคคลที่มีระดับสติปัญญาสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน สนใจสิ่งที่สังคมทั่วไปไม่สนใจกัน

[๗] Sexist  หมายความว่า การกีดกันทางเพศ หรืออคติทางเพศ เป็นอคติที่ใครคนใดคนหนึ่งให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

[๘] Disclaimer คำปฏิเสธข้อเรียกร้องของความรับผิดชอบใดๆ ไว้ล่วงหน้าเพื่อปกป้องในกรณีที่อาจถูกเรียกร้องให้รับผิดชอบกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด

 


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >