หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow ไฟสร้างฝัน : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 603 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 124: เรียนรู้โลกยุคใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ชีวิต จิตวิญญาณ!?
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 124


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

ไฟสร้างฝัน : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี พิมพ์
Wednesday, 05 February 2014

Life Style

วันที่ 22 มกราคม 2557

ไฟสร้างฝัน

โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี


ทศวรรษที่โชนไฟความรุนแรงคุกรุน ปลายด้ามขวาน กลายเป็นเชื้อไฟให้เด็กๆ ที่นั่นรวมตัวลุกขึ้นมาแก้ปัญหาในบ้านเขา

ถึงจะมีเสียงตัดพ้อถึงความฝัน และความหวังในสันติสุขที่จะเกิดความสงบบนแผ่นดิน 3 จังหวัดชายแดนใต้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ยอดผู้เสียชีวิตเรือนหมื่น (และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด) ความรุนแรงของสถานการณ์หนักข้อขึ้นทุกวัน เมื่อเทียบกับงบประมาณที่เฮโลลงไปเพื่อจะอุดช่องว่างให้เกิดสันติ จนทำให้เกิดคำถามถึงเม็ดเงินที่ลงมานั้นมันคือการ "ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ" หรือเป็นช่องทางทำกินของ "พ่อค้าความรุนแรง" กันแน่

ภาพสะท้อนหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ การก้าวออกมาเรียกร้องของเด็ก และเยาวชนถึงความสงบสุขในบ้านของพวกเขา อย่างภายในงานมหกรรมสันติภาพ "Voices from Thailand's Deep South : เสียงเรียกจากเยาวชนจังหวัดชายแดนใต้" เมื่อปลายปีพ.ศ.2556 ถึงบรรดาผู้ใหญ่ในประเทศ

ไม่ว่าจะเป็น...

การปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงานด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่ สนับสนุนงบประมาณกับเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง การส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งใน-นอกระบบ ส่งเสริมสังคมการอยู่ร่วมกันระหว่างเด็กต่างศาสนา รวมทั้งเปิดพื้นที่เสรีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของพวกเขา

นอกจากตัวแทนคาราวานเยาวชนกว่า 120 ชีวิต จากปัตตานี ยะลา และนราธิวาสในวันนั้นแล้ว ล่าสุดยังมีการประกาศเจตนารมณ์ของเด็ก และเยาวชนภายในงาน "มหกรรมเยาวชนหัวกะทิชายแดนใต้" ที่จัดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านอีกด้วย

ทั้งหมดเพื่อเป็นการตอกย้ำ และยืนยันว่า ตั้งแต่วันนี้ เยาวชนจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ "กลุ่มเป้าหมาย" ของโครงการต่างๆ อีกต่อไป แต่พวกเขาจะเข้ามาช่วยนำความสุขกลับคืนบ้านอีกแรงหนึ่ง

กร่อน และกลวง

ไม่ว่ารายงานผลการวิเคราะห์สถานการณ์ของสตรีและเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยองค์การยูนิเซฟทั้งปี 2548 และ 2556 ตัวเลขจะต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ตารางบอกเอาไว้ก็ยังคงขีดเส้นใต้ความท้าทายของเด็กและสตรีในพื้นที่ทั้งพุทธและมุสลิมอยู่เสมอมา

การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก สภาพเศรษฐกิจ สังคม สภาพร่างกายและจิตใจที่ถูกบั่นทอนมาโดยตลอดซึ่งเป็นปัญหาทางตรง กับคลื่นใต้น้ำที่ "ซุก" ไปกับสถานการณ์ รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า ปัญหายาเสพติดจัดเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เหล่านักเรียนขาสั้นคอซองกว่า 53 เปอร์เซ็นต์ต้องไปจบอนาคตตัวเองอยู่ในห้องขัง ยิ่งไปกว่านั้น ในกลุ่มเดียวกันนี้ยังถูกรวบเข้าไปอยู่ใต้ร่มของคดีความมั่นคงโดยไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสำหรับพวกเขาก็ยังถือว่าเป็นปัญหาสำคัญ

ยังไม่นับเรื่องคุณภาพชีวิตกับเด็กโดยตรงที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ อาทิ การมีเด็กเกือบครึ่งแสนอยู่นอกระบบการศึกษา ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว หรือแม้แต่สวัสดิการที่จะช่วยสนับสนุนกลุ่มเด็กพิการก็ไม่ได้มีนโยบาย กระทั่งภาพปฏิบัติที่ชัดเจน

ยิ่งไปกว่านั้น งานด้านการส่งเสริม หรือพัฒนาเด็กในพื้นที่หลายๆ โครงการกลับถูก "เว้น" ไว้อย่างน่าเสียดาย ด้วยเหตุผลที่ผูกโยงกับความปลอดภัย และความอ่อนไหวของสถานการณ์ในพื้นที่

"หลายโครงการของหลายหน่วยงาน เวลามีโครงการทำนองนี้ออกมาก็มักจะเว้นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไป หรือคนจากส่วนกลางเองไม่กล้าลงมาติดตามนิเทศเขาก็เลยงด" ผู้สันทัดกรณีที่ทำงานด้านเยาวชนในพื้นที่บางคนให้ความเห็น

ยังไม่นับกรณี "คอร์รัปชั่น" ในโครงการต่างๆ ที่พากันเอามาลงในพื้นที่ ซึ่งกลายเป็นข้อสังเกต "คลาสสิค" ของคนทำงานไปแล้ว

"ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน หน่วยงานระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานธุรกิจ เพื่อที่จะทำกิจกรรมช่วยเหลือเด็ก และเยาวชนในหลายๆ ส่วน ...แต่มันก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใบเสร็จน่ะ แต่เราก็รู้ว่าหน่วยงานหนึ่งได้เงินทำโครงการมา 30-40 ล้าน แต่พอทำงานออกมาจริงๆ มันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น"

ส่วนหนึ่งของปัญหานี้ก็มาจากทัศนคติต่อความไม่สงบในพื้นที่เช่นกัน ทำให้เกิดกรณีตัวคนอยากช่วย แต่ไม่กล้าเสี่ยงลงพื้นที่ จึงส่งเงินมาแทน แต่ก็ไม่มีคนติดตามเรื่องการใช้ทุน หรือกรณีของการ "จัดฉาก" ประกอบรายงานติดตามผล

ที่สำคัญ ไม่ว่าจะโครงการให้ทุนการศึกษา ช่วยเหลืออุปถัมภ์ สงเคราะห์ ไปจนถึงโครงการพัฒนาศักยภาพในระดับแกนนำล้วน "เข้าข่าย" ทั้งสิ้น

"เรื่องเหล่านี้ก็ส่งผลกระทบกับคนทำงานในพื้นที่จริงๆ เหมือนกันนะ เพราะอาจทำให้ผู้ให้การสนับสนุนหลอนได้" ใครคนนั้นมองถึงเรื่องตลกร้ายของเหรียญอีกด้าน

ทั้งหมดก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็ก และเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนเกือบร้อยละ 50 ของประชากรทั้งหมดในพื้นที่

เสียงเล็กๆ ในความอ่อนไหว

ตัวเลขของเด็กที่มีจำนวน "เกือบครึ่ง" ของผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น สำหรับ ทศพล กฤษณบุตร หนึ่งในคณะทำงานของกลุ่มลูกเหรียงถือว่ามีนัยยะสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยจำนวนดังกล่าว ทำให้เวลาพวกเขาขยับตัวทำอะไรก็มักจะเป็นที่จับตามองของทุกฝ่าย

"เมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขาตื่นตัวขึ้นมามักจะถูกจับตามองจากทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่ผู้ก่อการเท่านั้น ทหาร ตำรวจ ความมั่นคง หรือภาครัฐเองก็มีข้อสงสัยอยู่ เพราะตอนนี้ที่นี่มีเรื่องของการทำมวลชนกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน หรือคิดอย่างไรก็ตาม พอเด็กเริ่มมีศักยภาพมากขึ้นก็จะเป็นที่จับตา และตั้งคำถามเสมอว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขานั้น เกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า รับใช้ฝ่ายไหน แล้วมันก็มีกลุ่มที่บางทีนะ อ๋อ เราไม่ได้เทคไซด์ฝ่ายรัฐ ถ้าฝ่ายรัฐทำไม่ดี เราก็ว่า หรือเราไม่ได้อยู่ฝ่ายขบวนการนะ มันไม่มีหรอกพวกที่จะอยู่ตรงกลาง ต้องเอียงซักนิดสิ นี่คือสิ่งที่พวกเขาพยายามแปะให้กับเยาวชนมาโดยตลอด" เขาแบ่งปันถึง "นัยยะ" ดังกล่าว

สิ่งที่ยากอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องของการบริหารความรู้สึก

"สมมติว่าถ้าหน่วยงานภาครัฐรู้สึกว่ากลุ่มนี้น่าจะเอียงไปอยู่อีกฝ่ายก็จะถูกจับตา ไม่ก็เข้าไปป้วนเปี้ยนใกล้ๆ หรือบางทีก็จะมีการจับกุมตรวจค้น หรือถ้ากลุ่มนี้มีโอกาสไปทางรัฐก็จะถูกส่งสัญญาณเหมือนกันว่า ไม่ควรจะเข้าข้างฟากรัฐมากเกินไป" ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็น "พื้นที่อ่อนไหว" ที่พวกเขาต้องเผชิญแทบทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะด้วยโอกาส หรือสถานะบนหน้ากระดาษซึ่งเวลาเขียนโครงการพวกเขามักเป็นเพียง "กลุ่มเป้าหมาย" ที่คอยรอรับแต่ความช่วยเหลือเพียงฝ่ายเดียว กลับกลายเป็นข้อสังเกตสำคัญในการกำหนดท่าทีของตัวเองบนพื้นที่สังคม อย่าง ไวไว - สุไวบะฮ์ บากา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกเศรษฐศาสตร์พัฒนาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่มองความสูญเสียตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเพื่อแลกกับอำนาจ หรือผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มนั้น ที่สุดแล้วความยุติธรรมอยู่ที่ไหน

"เป็นเรื่องยากเหมือนกันนะคะ มันหนักใจ ขมขื่น ที่ต้องถูกปิดหูปิดตาในการทำงานในพื้นที่ สถานการณ์การทำงานเกี่ยวกับเด็ก และเยาวชนก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย ซึ่งเด็กและเยาวชนในพื้นที่บ้านเราก็ยังเป็นแค่เครื่องมือในการทดลองโครงการต่างๆ ตามที่ผู้ใหญ่ต้องการในบางเวลาเท่านั้น เด็กก็ยังคงต้องทำตามผู้ใหญ่"

ทั้งๆ เธอมั่นใจว่า เด็ก และเยาวชนในพื้นที่มี "ดี" มากกว่านั้น

"เราอยากให้ผู้ใหญ่มองเราเป็นหุ้นส่วนทางสังคมที่ขับเคลื่อนไปด้วยกัน เดินไปพร้อมๆ กัน และอยากให้ผู้ใหญ่มองเห็นว่าพลังของเราสำคัญมากแค่ไหนในการเปลี่ยนแปลงบ้านเรา"

สิ่งที่ไวไวยืนยันก็คือ บทบาทในสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดยะลา ที่เธอและเพื่อนๆ พยายามขับเคลื่อนสร้างเครือข่ายในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสภาตำบลที่พัฒนาศักยภาพเยาวชนให้เข้าถึงโอกาส และสร้างทัศนคติที่ดีให้กับตัวเอง เพื่อที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนต่อไปในอนาคต

"หนูก็พยายามจะทำงานร่วมกับน้องๆ ให้ได้มากที่สุดน่ะค่ะ" ไวไวเล่าถึงเวลาของรุ่นใหญ่ในสภาเด็กฯ ที่กำลังจะหมดวาระลงในไม่ช้าอย่างด้วยรอยยิ้ม

ใต้น่าอยู่ด้วยมือเรา

ตัวของไวไวอาจเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของความพยายามในการแก้ปัญหาบ้านเกิดด้วยมือของตัวเอง เหมือนอย่างคำประกาศเจตนารมณ์และข้อเสนอเพื่อการพัฒนาในนามกลุ่มหัวกะทิชายแดนใต้ที่ยืนยันถึงความพร้อมในการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา และสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน แต่ต้องอยู่ภายใต้การพัฒนาเยาวชน และการมีส่วนร่วมของเยาวชนอย่างจริงจังด้วย

ตีตี้-อนิส แมะยะ นักศึกษาในวิทยาลัยชุมชนยะลา สมาชิกศูนย์ฟ้าใสเล่าถึงงานที่เธอและเพื่อนๆ ในเครือข่ายรับผิดชอบว่า ส่วนใหญ่เป็นงานที่ส่งเสริมจิตสาธารณะให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ ที่นี่ โดยจะมีงานวันเด็กแห่งชาติที่จัดร่วมกับเทศบาลถือเป็นงานประจำปีของพวกเธอ นอกจากนั้นก็ยังมีคลื่นวิทยุชุมชนเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนในพื้นที่ได้แสดงออกทางความคิดด้วย

"เพราะพื้นที่ 3 จังหวัด เด็ก และเยาวชนยังไม่ค่อยมีโอกาส กิจกรรมบางอย่างเราก็อยากปลูกฝังให้เด็กๆ มีจิตอาสา มีจิตสาธารณะ พอเราลองทำ เขาก็จะเห็นว่ายังมีคนที่ด้อยโอกาสกว่า" ตีตี้เผยความตั้งใจ

หรืออย่าง อาลิซ่า สาเมาะ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากรั้วราชภัฏยะลา ที่เข้ามาร่วมงานกับกลุ่มหัวกะทิชายแดนใต้ เพราะสนใจทำงานให้กับน้องเยาวชนทั้งในแง่ของกระบวนการทำงาน ซึ่งทำให้เธอได้ทำเรื่องของการสร้างสรรค์สื่อเพื่อถ่ายทอดประเด็นสาธารณะให้เกิดอาสาสมัครเพื่อไปทำงานต่อ ตรงนี้โดยส่วนตัวเธอรู้สึกว่า นี่คือส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดสิ่งดีๆ และสร้างทัศนคติที่ดีให้กับเพื่อนๆ ในพื้นที่

"อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เขารู้ว่ายังมีคนที่คอยเป็นห่วงเป็นใยเขา ไม่ได้ทอดทิ้งให้เขาอยู่ตามลำพัง"

ทัศนคติเชิงบวกเหล่านี้ ทศพล คิดว่าถือเป็นสิ่งสำคัญ และมีผลต่อสังคมในพื้นที่โดยตรง

"จากการทำกิจกรรมในช่วงที่ผ่านมาเราจะพบว่า เด็กๆ มีการตื่นตัวด้านกิจกรรมมากขึ้น เมื่อพวกเขาได้ผ่านกระบวนการต่างๆ ที่มีการชวนให้คิด ชวนให้วางแผน และร่วมงาน ซึ่งทุกคนตอนแรกๆ ก็เริ่มจากกลุ่มเป้าหมายนั่นแหละ จากนั้นก็พัฒนาตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ จนตอนนี้ เรากล้าพูดได้ว่าเด็ก และเยาวชนที่นี่มีศักยภาพเทียบเท่ากับเยาวชนที่มาจากภาคเหนือ ภาคกลาง หรือภาคอีสานเลย" เขาให้คำตอบจากประสบการณ์ที่เคยได้พากลุ่มเยาวชนขึ้นมาร่วมแลกเปลี่ยนกับเยาวชนจากภาคอื่นๆ

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในความรู้สึกของเขาก็คือ ปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นของเยาวชนที่เข้ามาร่วมงานทุกปี

"ที่อยากทำอย่างหนึ่งคือ การทำสำรวจกลุ่มเยาวชนใน 3 จังหวัด เพราะผมเชื่อว่าตอนนี้กลุ่มเยาวชนในระดับชุมชนเกิดขึ้นมาก และทำกิจกรรมเพื่อตอบสนองปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชน ในมิติที่เขาเห็นว่าเป็นปัญหาที่สำคัญ"

เหมือนอย่างที่ ไวไว คิดว่า ประเด็นการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาสูงขึ้นสวนทางกับสถานการณ์ ขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ กระทั่งยาเสพติดก็ยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลง ขณะที่ อาลิซ่า ยืนยันว่า แนวคิดเรื่องความขัดแย้งเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดน หรือแง่มุมทางศาสนาก็ยังมีอยู่ และยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร

กระทั่งความไม่เข้าใจในบทบาทของโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามหรือปอเนาะ ที่ถูกยัดข้อหา "ซ่องโจร" สำหรับ เลาะ - อับดุลเลาะ ดือราแม นั่นนอกจากส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคมพุทธ-มุสลิมแล้ว การขาดครูที่ตรงสายการสอนก็กลายเป็นปัญหาสำรับนักเรียนอย่างพวกเขาด้วย

แน่นอนว่า การมองเห็นปัญหา และความกระตือรือล้นเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมีต้นทุนมาจากการร่วมกิจกรรม และการเปิดพื้นที่ทางความคิด จนที่สุดกระบวนการต่างๆ ก็ช่วยหล่อหลอมพวกเขาให้ลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ ให้เกิดกับบ้านเกิดตัวเอง และจะเป็นรากฐานอันมั่นคง และนำมาสู่ความสงบสุขต่อไปในอนาคต

เมื่อ ปุ๋ยดี ดินดี อากาศดี ไม้ต้นนี้ก็เติบใหญ่อย่างมั่นคง และแข็งแรงได้ไม่ยาก ...จริงไหม

 

 ----------------------

ที่มา...กรุงเทพธุรกิจ : http://www.bangkokbiznews.com

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >