หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow ประชา หุตานุวัตร "ลึกๆ แล้วคนโหยหาศาสดา" : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 656 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 124: เรียนรู้โลกยุคใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ชีวิต จิตวิญญาณ!?
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 124


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

ประชา หุตานุวัตร "ลึกๆ แล้วคนโหยหาศาสดา" : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ พิมพ์
Wednesday, 31 July 2013

Life Style

วันที่ 23 กรกฎาคม 2556

ประชา หุตานุวัตร "ลึกๆ แล้วคนโหยหาศาสดา"

โดย : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ

 

                                                                                      (ภาพ : ธัชดล ปัญญาพานิชกุล)


วิกฤตในวงการพุทธที่เกิดขึ้น หลายคนมองไปที่ตัวบุคคล แต่นักคิดอิสระคนนี้มองไปที่ระบบสังคม และความไร้เดียงสาทางจิตวิญญาณ

"ขบถ"ตั้งแต่เรียน เคยเป็นมาร์กซิสต์ แต่ถอดถอนตัว เมื่อได้ศึกษาพุทธศาสนากับท่านอาจารย์พุทธทาส และชีวิตที่ผ่านมาทำงานเคลื่อนไหวสังคมมาโดยตลอด โดยใช้แนวทางสันติวิธีและพุทธศาสนา รวมถึงแนวคิดใหม่ๆ ของสังคม โดยทำงานเงียบๆ แม้ไม่พอใจสังคม แต่ไม่เคยออกมาประท้วง เพราะเชื่อในสิ่งที่ทำและหวังให้สังคมดีขึ้น

ประชา หุตานุวัตร คือ คนที่เราพูดถึง เป็นทั้งนักคิดอิสระ นักเขียน (มีผลงานหลายเล่ม อาทิ เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา, ศาสนธรรมสำหรับคนหนุ่มสาว การเมืองสีเขียว และจิตสำนึกใหม่ของเอเชีย ฯลฯ) นักแปล นักแสวงหา และเคยบวชเป็นภิกษุสงฆ์ เป็นศิษย์ใกล้ชิดท่านอาจารย์พุทธทาสกว่า 7 ปี จึงค้นพบว่า พุทธศาสนานำมาประยุกต์ใช้ในสังคมได้
ปัจจุบันเขาเป็นประธานคณะกรรมการชุมชนนิเวศเอเชีย และทำงานพัฒนาเยาวชนให้สถาบันยุวโพธิชน มูลนิธิสัมมาชีพ โดยลงไปทำงานอย่างต่อเนื่องในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ภูเวียง จ.ขอนแก่น รวมถึงทำงานอบรมพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ คนทำงานเพื่อสังคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ระหว่างการสนทนา ณ บ้านไทย กลางท้องนา เขาบอกว่า

"ถ้าคุณปฏิบัติ จนคำสอนของท่านนัท ฮันห์หรือท่านมิตซูโอะเป็นชีวิตจริงของคุณ คุณก็ไปติดท่านน้อยลง และต้องเข้าใจด้วยว่า ท่านนัท ฮันห์ หรือ ท่านมิตซูโอะ ก็คนธรรมดา.."
ถ้าเป็นเช่นนั้น "จริงหรือ...ที่สังคมโหยหาศาสดา"...

อยากให้ช่วยวิเคราะห์ภาพรวมศาสนาพุทธในเมืองไทยช่วงนี้ ?
คุณค่าของศาสนาพุทธสอนเรื่องการลดความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่สังคมโดยรวมส่งเสริมเรื่องความโลภ ความโกรธ ความหลง สังคมเราไม่ได้เป็นสังคมพุทธ ตัวแก่นสังคมเราเป็นมิจฉาทิฐิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งเสริมเรื่องโลภะจริต ในสังคมสมัยใหม่ ถ้าคุณไม่หาเงินเยอะๆ สร้างอำนาจ สร้างชื่อเสียง คุณไม่กอบโกย คุณเป็นคนตกขอบสังคม เขาไม่ถือว่าคุณมีค่าในสังคม ต้องรู้ว่าคุณค่าของสังคมตรงข้ามกับคุณค่าของหลักศาสนาพุทธ นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องเข้าใจ

ในส่วนของพระสงฆ์ คือ คณะสงฆ์ทั้งหมด ปัจจุบันอยู่ในขั้นวิกฤติ เพราะความขัดแย้งในเรื่องที่กล่าวมา ทั้งๆ ที่คณะสงฆ์ต้องเป็นสถาบันที่รักษาคุณค่าของการลดความโลภ ความหลง ความโกรธ แต่กลายเป็นว่า เรื่องเหล่านี้อยู่ในวัด และระบบการศึกษาคณะสงฆ์ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งหลาย การเรียนเน้นไปที่การไต่เต้าทางสังคม เพราะคนยากคนจนไม่สามารถเรียนในระบบปกติได้ บวชเป็นพระเพื่อเรียนหนังสือ เป็นทางเลือกของคนจนที่จะไต่เต้าขึ้นมาตามกระแสค่านิยมที่เป็นมิจฉาทิฐิ วัดวาศาสนาทั้งหมดจึงร่วงโรย พระที่มีคุณภาพจึงมีน้อย พระในกรุงเทพฯส่วนหนึ่ง ก็มาเรียนหนังสือและทำพิธีกรรมต่างๆ เพื่อหาทรัพย์ นี่คือภาพรวมๆ วิกฤตคณะสงฆ์ ต่างจากเมื่อก่อนคนบวชเรียน เพราะศรัทธา อยากสืบทอดศาสนา แต่ตอนนี้คนบวชพระน้อยมาก จนชาวบ้านต้องจ้างพระมาอยู่ เพราะต้องการทำบุญ

ในยุคที่ญาติโยมยึดติดกับพระที่มีชื่อเสียง จนเกิดการทำบุญที่ล้นเกิน นั่นเป็นการส่งเสริมความโลภหรือไม่
ผมมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมทุนนิยม เพราะคนในสังคมสมัยใหม่ ต้องการรวย มีชื่อเสียง มีอำนาจ ความต้องการแบบนี้ ทำให้คนขาดความมั่นคง เพราะฉะนั้นพระที่หลายคนมองว่า ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายก็ให้ความรู้สึกมั่นคงได้ เวลาคนอยากค้าขายให้ร่ำรวย ก็มีคาถาภาวนาหรือไม่ก็เจิมให้ ยิ่งสังคมไปทางโลภมากเท่าไหร่ คนก็ยิ่งเข้าหาพระ สังคมเราไม่ใช่สังคมพุทธ มันเป็นทุนนิยม บริโภคนิยม คนนึกว่าถวายของเยอะๆ จะได้ไปสวรรค์ ได้ผลประโยชน์เยอะๆ นั่นเป็นการคิดนอกกรอบศาสนาพุทธ ผมไม่โทษตัวบุคคล เพราะเราจัดสังคมแบบนี้ เราเลือกจะอยู่แบบทุนนิยม แล้วจะโทษใคร ศาสนาพุทธก็เป็นแค่เครื่องประดับเฉยๆ คนก็ ไม่ได้เอาจริงเอาจัง คนที่เอาจริงเอาจังก็มีน้อย

การยึดติดกับพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
อันนี้อีกเรื่อง เป็นปัญหาชนชั้นกลาง ยกตัวอย่างคนที่เป็นลูกศิษย์พระอาจารย์มิตซูโอะ หรือ ท่านติช นัท ฮันห์ รวมถึงสายสวนโมกข์ ต่างมีความศรัทธาที่พยายามหาแก่นแท้ของพุทธศาสนา ไม่ได้หาของศักดิ์สิทธิ์อะไร และไม่ใช่แค่เมืองไทย ทั่วโลกต่างโหยหาศาสดา ท่านติช นัท ฮันห์ เวลาไปปรากฏที่ไหน คนมาฟังธรรมเป็นพันเป็นหมื่น ลึกๆ แล้วคนโหยหาศาสดา เพราะพึ่งตัวเองไม่ได้ ทั้งๆ ที่ครูบาอาจารย์สอนให้พึ่งพาตัวเอง

ถ้าจะบอกว่า คนส่วนใหญ่พึ่งตัวเองไม่ได้ คุณมองในมิติไหน
คือโลกสมัยใหม่ มันเป็นโลกที่ยากจนมากในแง่ศาสนธรรม ในแง่จิตวิญญาณ ถ้ามีพระปฏิบัติเยอะ ชาวบ้านก็ปฏิบัติด้วย ท่านนัท ฮันห์ ก็ไม่ถึงกับวิเศษมาก ท่านมิตซูโอะก็ธรรมดา เป็นพระที่ดีหรือพระภาวนาองค์หนึ่ง ที่สามารถสอนด้วยภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจได้ แต่เพราะความยากจนของสังคมสมัยใหม่ในเรื่องจิตวิญญาณ หรือจะเรียกว่า คนสมัยใหม่ไร้เดียงสาทางจิตวิญญาณก็ได้

ไร้เดียงสาทางจิตวิญญาณ ?
ลองนึกถึงคนอดข้าวมาหลายวัน พอเห็นอาหารจะรู้สึกตื่นเต้น อยากกินมาก แต่ถ้าคนที่อิ่มหนำสำราญอยู่แล้ว เห็นอาหารจานอร่อย อาจดีใจนิดหน่อย คือคนเราขาดผู้นำทางจิตวิญญาณในตัวเอง ถ้าคนปฏิบัติธรรมเยอะๆ ก็จะรู้ว่า ตัวพระพุทธเจ้าอยู่ในตัวเรา ตัวท่านมิตซูโอะด้านดีๆ อยู่ในตัวเรา แต่คนไปติดตามพระดีๆ โดยหวังว่า "ชีวิตข้าพเจ้าจะมีใครยกให้สูงได้" แต่เข้าหาตัวเองน้อยไป การเข้าหาพระ เพื่อเรียนรู้ธรรม ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่การไปหลงใหล ไม่สามารถปฏิบัติด้วยตัวเองได้ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์อยู่ ผมมองว่าเป็นความอ่อนเยาว์ทางจิตวิญญาณ

การปฏิบัติธรรมต้องมีครูบาอาจารย์ ?
ถูกต้อง เราต้องมีครูบาอาจารย์ที่สู้รบตบมือกับเรา ไม่ใช่คนที่เราแค่บูชาไว้สูงๆ ครูบาอาจารย์เป็นคนที่ทะเลาะกับเราได้

ถ้าเข้าใจแก่นพุทธศาสนา ก็ไม่จำเป็นต้องยึดติดผู้นำทางจิตวิญญาณ ?
ผมเชื่ออย่างนั้น คำสอนพระอาจารย์มิตซูโอะ เป็นคำสอนที่เข้าถึงได้ง่าย พื้นๆ และน่ารัก เป็นพระที่พูดภาษาคนสมัยใหม่รู้เรื่อง เพราะพระส่วนใหญ่พูดภาษาคนสมัยใหม่ไม่รู้เรื่อง ที่ผิดหวังกันมากมายเพราะยึดติดตัวบุคคล กรณีนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่างไรก็ตาม ติดท่านมิตซูโอะยังดีกว่าติดพระที่คิดว่ามีอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์

แล้วจะทำอย่างไรคนถึงจะหันมาพึ่งพาตนเองทางจิตวิญญาณได้
ถ้าคุณปฏิบัติจนคำสอนของท่านนัท ฮันห์หรือท่านมิตซูโอะเป็นชีวิตจริงของคุณ คุณก็ไปติดท่านน้อยลง และต้องเข้าใจด้วยว่า ท่านนัท ฮันห์ หรือ ท่านมิตซูโอะ ก็คนธรรมดา เพราะคนหิว พอเห็นอาหารจานหนึ่ง ทั้งๆ ที่เป็นอาหารอร่อยธรรมดาๆ จานหนึ่ง ก็เห็นเป็นอาหารจานวิเศษ

นั่นเป็นการยึดติด ?
ใช่ แต่การยึดติดตัวบุคคล เป็นธรรมดาของมนุษย์ สมัยพระพุทธเจ้าก็มีคนหลงใหล เห็นพระพุทธเจ้าก็มีความสุข แต่เวลาเราศรัทธาบูชาครูบาอาจารย์ เราก็ควรเอาคำสอนมาปฏิบัติมากกว่าเอาข้าวของไปถวายมากๆ ท่านมิตซูโอะลาสิกขา ก็เป็นเรื่องธรรมดา คำสอนของท่านไม่ได้ผิด ถูกต้องตามธรรม นำไปปฏิบัติต่อได้ ท่านก็ลาสิกขาอย่างตรงไปตรงมา เรื่องสีกาหลอกหรือเรื่องอะไรก็ไม่ต้องปรุงแต่งมาก แต่ผมพูดในมิติที่ผมไม่ใช่คนที่อ่านหนังสือพิมพ์นะ

ผมไม่ได้มองที่ตัวบุคคล ผมมองว่า สังคมมีความเชื่อที่ผิด หมายถึง สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อทีวี การโฆษณาทำให้คนมีความอยากตลอดเวลา พวกนี้แหละคือตัวสร้างมิจฉาทิฐิ ระบบทุนนิยมที่บอกคนว่า ต้องรวยขึ้นเรื่อยๆ ขยายบริษัทตลอดเวลา ดังนั้นอย่าโทษว่าประชาชนไม่มีปัญญา ชนชั้นนำนี่แหละมอมเมาประชาชน เจ้าของบริษัท รัฐทั้งหลาย สร้างตัวไร้ปัญญา การศึกษาทั้งระบบเป็นแบบนี้ คุณสอนให้คนโกงตั้งแต่เรียนหนังสือ สอบโอเน็ต เอเน็ต หลอกกันทั้งนั้น ครูมาบอกข้อสอบเพื่อให้โรงเรียนที่ครูสอน ติดอันดับดีๆ หรือ การเรียนนักธรรมในวัดก็บอกข้อสอบกัน สอนให้โกหก ระบบไปถึงขั้นนี้ สังคมสมัยก่อน มิจฉาทิฐิน้อยกว่าสังคมปัจจุบัน แล้วคุณจะไม่ให้เกิดลักษณะที่ว่าคนไปถวายของพระมากมายหรือ พระก็โลภ เวลาพระไปไหน ก็อวดกันว่า นั่งรถยี่ห้อไหน ใช้มือถือ โน้ตบุ๊คแบบไหน ก็อยู่ในชะตากรรมเดียวกัน

ในยุคหนึ่ง แนวคิดคอมมิวนิสต์เชื่อว่า ศาสนาเป็นยาเสพติด คุณคิดเห็นอย่างไร
ถ้าถามว่า ศาสนาเป็นยาเสพติดหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องลึกซึ้ง สมัยผมเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย ผมเคยมาร์กซิสต์อยู่ช่วงหนึ่ง คนที่อยู่ในกระบวนการมาร์กซิสต์ เขาถือลัทธิมาร์กเป็นศาสนาเป็นยาเสพติดแบบหนึ่ง การถือศาสนาหรือลัทธิใดลัทธิหนึ่งเป็นยาเสพติด มันหมายถึงว่า เราไม่สามารถเข้าถึงแก่นแท้ศาสนานั้นได้ เราเอาแค่เปลือกของมัน และลึกๆ มนุษย์เชื่อว่า "ความเชื่อของฉันถูกที่สุด ศาสนาของฉันดีที่สุด" อันนี้เป็นกิเลสพื้นฐาน

ยิ่งไม่แปลกที่คนจะเห็นศาสนาพุทธเป็นยาเสพติด หรือมาร์กซิสต์จะเห็นลัทธิมาร์กเป็นยาเสพติด ปัจจุบันคนก็ใช้บริโภคนิยมเป็นยาเสพติด ไม่สบายใจก็ไปเดินชอปปิง ใส่เสื้อผ้าไม่มีแบรนด์ก็ไม่โก้ แล้วบริโภคนิยมก็เป็นยาเสพติด คุณหล่อหลอมเยาวชนให้หลงใหล พาเด็กเข้าห้างสรรพสินค้าฯ มีพื้นที่ให้เด็กเล่น กระบวนการก็หล่อหลอมให้คนเชื่อบริโภคนิยม มันก็เป็นยาเสพติดของคนยุคนี้

ชีวิตที่ผ่านมา ทั้งบวชเรียนและทำงานสังคมกับคนหลายชาติ คุณคิดว่า ศาสนาเป็นยาเสพติดไหม
ถ้าคุณจับผิด ทุกอย่างเป็นยาเสพติดหมด แต่ถ้าคุณจับถูก ทุกอย่างก็มีประโยชน์ได้ทั้งนั้น ถ้าคุณไปยึดที่กระพี้ แล้วไม่ปฏิบัติ ก็เป็นยาเสพติด ถ้าคุณใช้ปรมัตถธรรม (สภาพธรรมที่เป็นไปตามเหตุและผล) เป็นแอสไพริน มันก็เป็นยาเสพติด และทุกศาสนาเป็นยาเสพติดได้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่า คุณใช้มันถูกหรือเปล่า และทุกศาสนาเป็นทางให้เกิดปัญญา และทางให้เข้าถึงสิ่งสูงสุดของมนุษย์ได้ แม้กระทั่งลัทธิคอมมิวนิสต์ก็เป็นยาเสพติดได้ ถ้าใช้ผิด ติดยึดเป็นอุปาทานของตัวเอง หรือใช้เพื่อตอบสนองความพร่องที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพราะมนุษย์รู้สึกพร่องตลอด ก็เลยต้องยึดอะไรบางอย่าง เพื่อให้มั่นคงขึ้น ถ้าคุณยึดสิ่งที่ลึกซึ้งทางศาสนาได้ คุณก็สามารถแก้ความรู้สึกพร่องได้ ถ้าคุณแก้ความพร่องได้มาก คุณก็ใช้ศาสนาเป็นยาเสพติดน้อย

ถ้าไม่พร่อง ก็ไม่จำเป็นต้องมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ?
คนแบบนี้ไม่ค่อยมี หรือมีน้อยมาก คนที่บรรลุธรรมโดยไม่ฟังคำสอนใครเลย มีน้อยมาก ปุถุชนทั่วไปจำเป็นต้องมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ผมก็จำเป็นต้องมีศาสนา แต่คนที่ประกาศตัวว่าไม่มีศาสนา แล้วเป็นคนดีก็มีเยอะ ไม่ใช่ว่าคนไม่มีศาสนาแล้วต่ำต้อยกว่าเรา ไม่ใช่นะ

เคยเป็นมาร์กซิสต์ พอมาศึกษาบวชเรียนทางพุทธอย่างจริงจัง อะไรทำให้คุณเปลี่ยนวิธีคิดและการดำเนินชีวิต
คือ ท่านอาจารย์พุทธทาส เอาสิ่งที่ลึกซึ้งในศาสนาพุทธมาเปิดเผยให้คนธรรมดาอย่างผมเข้าใจได้ ผมว่าสำคัญมาก ธรรมดาคำสอนที่เป็นเนื้อลึกๆ คนจะบอกว่า ต้องเก็บไว้ให้พระเรียน แต่ท่านอาจารย์บอกว่า มันเป็นของทุกคน ศาสนาพุทธนี่แหละมีค่า เพราะคำสอนลึกๆ คือเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความไม่มีตัวตน นี่แหละสำคัญ

ทำให้ผมเห็นคุณค่าของศาสนาพุทธ และท่านอาจารย์พุทธทาสเคยบอกว่า ศาสนาพุทธควรใช้เป็นหลักในการจัดระเบียบสังคม ซึ่งต่างจากพระส่วนใหญ่ ท่านคิดชัด ท่านเห็นสังคมปัจจุบันเป็นสังคมมิจฉาทิฐิ มันผิดกฎธรรมชาติ ยิ่งคุณเพิ่มตัณหาให้คนในสังคม สังคมยิ่งมีความทุกข์ กฎธรรมชาติพื้นฐานที่ท่านบอกคือ อริยสัจ 4 เพราะสังคมเรา เพิ่มตัณหาตลอดเวลา เดี๋ยวนี้การคอร์รัปชันลงไปถึงหมู่บ้าน

ในยุคหนึ่งคุณก็ค้นหาครูบาอาจารย์ ไม่ต่างจากคนยุคนี้ ?
การหาครูบาอาจารย์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่คนต้องหา ผมอาจโชคดี ก่อนจะเป็นมาร์กซิสต์ ผมก็อ่านงานท่านอาจารย์พุทธทาส ทำให้ผมเห็นว่ามาร์กซิสต์ มันตัน ผมก็กลับมาหาศาสนาพุทธโดยเร็วก่อนหลายคน พอผมบวช ก็มีช่วงหนึ่งผมค้นหาครูบาอาจารย์ แต่ผมเลือกเรียนรู้จากท่านพุทธทาส เพราะท่านเข้าใจอะไรที่พระนักปฏิบัติในสังคมไทยไม่เข้าใจเยอะมาก ท่านบอกว่า คำสอนของศาสนาพุทธนำมาจัดระเบียบสังคมได้ ไม่มีพระองค์อื่นคิดเรื่องนี้ พระกรรมฐานก็ภาวนาอย่างเดียว

แต่ในที่สุด คุณก็ลาสิกขา ?
ผมเคยเขียนไว้ในหนังสืออยู่เรื่อยๆ ว่าผมไม่คิดจะบวชนาน ผมสึก เพราะแฟนผมกลับมาจากเมืองนอก ผมหลงรักสาว ก็เลยสึก เพราะผมบวชเพื่อแสวงหาความเข้าใจตัวเองและสังคม และผมก็มีความสุขกับการแสวงหาอยู่พักใหญ่ จนคนที่ผมเคยรักไปอยู่อเมริกาแล้วเธอกลับมา ผมก็หวั่นไหวมาก และเห็นความหวั่นไหวในตัวเอง เมื่อฐานเราไม่มั่นคง ก็ตัดสินใจสึก ซึ่งความหวั่นไหวเป็นเรื่องด้านใน ถ้าคุณควบคุมความหวั่นไหวไม่ได้ คุณก็ทำผิดได้

งานที่คุณทำอย่างต่อเนื่องคือ การนำธรรมะมาพัฒนาคนในหลายมิติ ทั้งการพัฒนาผู้นำ เยาวชน และคนทำงานเพื่อสังคม ?
ในชีวิตผม ผมไม่ได้หาแค่การหลุดพ้นส่วนตัว ตลอดเวลาผมหาทางออกให้สังคมด้วย ความคิดที่ว่าศาสนาพุทธมีคุณค่าทางสังคม ไม่ใช่ผมเป็นคนริเริ่ม นอกจากท่านอาจารย์แล้ว ยังมีกลุ่มที่แสวงหาจิตวิญญาณเพื่อสังคมทำงานตรงนี้อยู่ เมื่อผมสึกออกมา ผมก็อยู่ในแวดวงคนพวกนี้ ร่วมตั้งเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ ผมเคยเป็นเลขาธิการองค์กรสามปี คือ เอากรอบเรื่องศาสนามาจัดระเบียบสังคมโดยตรง ผมยังเชื่ออยู่ว่า ถ้านำมาใช้เป็นเรื่องเป็นราวจะเป็นประโยชน์

ระเบียบและระบบสังคมในปัจจุบัน ถ้ามองแบบพุทธ คือ ทำผิดกฎธรรมชาติ ถ้าคุณทำธุรกิจต้องขยายตลอดเวลา มันเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติ เอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ เป็นพื้นฐานตั้งแต่สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม ถ้าคุณผลิตของเยอะ ก็ต้องเร่งตัวความต้องการของคน มันไม่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ผลที่เกิดขึ้นปัจจุบัน ก็คือ สิ่งแวดล้อมฉิบหายวายวอด โลกร้อนเป็นเรื่องใหญ่ แต่คนไทยก็ยังซื้อรถใหม่ตลอดเวลา เผาผลาญพลังงานฟอสซิล โลกร้อนขึ้นแค่องศาเดียว ก็มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตมหาศาล ผมเคยไปเที่ยวหมู่เกาะสุรินทร์ เห็นปะการังตายเยอะมาก ซึ่งกระทบต่อวงจรอาหารของโลก นี่เป็นเรื่องเดียวที่เราเห็น แม้กระทั่งนมแม่ก็มีสารตะกั่ว

นอกจากทำลายธรรมชาติ คนก็ไม่มีความสุข คนส่วนใหญ่ตอนนี้ อยู่อย่างไม่พอใจตัวเอง ต้องหาให้มากขึ้นตลอดเวลา ถ้าคุณพอกินแล้ว พอใช้แล้ว ทำไมต้องหาเพิ่มตลอดเวลา ความไม่พอตลอดเวลาก็สร้างความแปลกแยกพื้นฐาน คุณก็เลยไม่มีโอกาสสัมผัสคุณงามความดีและความเมตตากรุณาที่มีอยู่ในตัวเอง ระบบสังคมไม่ได้ให้โอกาสเราพัฒนาเรื่องพวกนี้ กลายเป็นว่าทุกอย่างเป็นตัวเรา ไม่เห็นมุมที่ไม่ใช่ตัวเราหรือเห็นโลกตามเป็นจริง กลายเป็นคนไม่มีความสุข ครอบครัวแตกแยก ต่างคนต่างอยู่ ผมอยู่ในหลายประเทศก็เลยเห็นเรื่องพวกนี้

นั่นเป็นวิธีคิดที่คล้ายกันทั้งโลก ?
ระบบสังคมสมัยใหม่เข้าไปแตะตรงไหน ตรงนั้นเป็นหมด คุณเป็นคนธรรมดาสามัญไม่ได้ คุณใส่เสื้อธรรมดาๆ ใส่เสื้อเก่าๆ ไม่ได้ ระบบเศรษฐกิจเหล่านี้เป็นตัวขับ แล้วระบบนี้มันสร้างระบบการศึกษา ระบบสื่อมวลชนทั้งหลายให้เพิ่มโลภะจริต เด็กๆ ถูกสอนให้รู้สึกตั้งแต่อนุบาลแล้วว่า ตัวเขาดีไม่พอ ต้องแข่งกับเพื่อน อันนี้เป็นตัวพื้นฐานของความผิดปกติของระบบสังคมปัจจุบัน ดังนั้นการคิดเพื่อสร้างสังคมใหม่ จำเป็นมากสำหรับมนุษย์ มันไม่ใช่เพื่อตัวมนุษย์เอง แต่เพื่อระบบแวดล้อมและสรรพสัตว์ ศาสนาพุทธมีคำตอบเยอะมาก โดยเฉพาะหลักพื้นฐานกฎของธรรมชาติ ถ้าคุณจัดสังคมตามแบบอริยสัจ 4 ต้องไม่กระตุ้นความโลภ ส่งเสริมการเสียสละ เมตตากรุณาและปัญญาที่เห็นโลกตามเป็นจริง

ดูเป็นอุดมคติ ที่ทำได้ยาก ?
มันยาก แต่ต้องทำ ไม่อย่างนั้นมนุษย์จะไม่มีอนาคต สิ่งที่ขาดมากในสังคมตอนนี้คือ อุดมคติ บ้านเมืองเราถึงตกต่ำขนาดนี้ การฉ้อฉลลงมาถึงเยาวชน

นั่นเป็นจุดหนึ่งที่คุณนำธรรมะมาพัฒนาเยาวชน และเมื่อเด็กๆ เรียนรู้แล้ว เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
เยาวชนเป็นปัญหามหาศาล ตั้งแต่ในกรุงถึงบ้านนอก เรามีโครงการอยู่ที่ภูเวียง จ.ขอนแก่น บ้านนอกที่สุด แต่พอพวกเขาได้รับกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง มันแก้ปัญหาได้และเปลี่ยนได้ แต่ใช้เวลาเยอะ แหล่งทุนจะไม่ชอบ เพราะคุณจะให้คนคนหนึ่งเปลี่ยนวิธีคิดขั้นพื้นฐานและดำเนินชีวิตอีกแบบหนึ่ง มันต้องให้การศึกษาต่อเนื่อง มีเด็กคนหนึ่งบอกเราว่า อนาคตเขาจะไม่ไปอยู่กรุงเทพฯ จะอยู่เพื่อพัฒนาบ้านเกิด แม้จะสร้างคนที่คิดแบบนี้น้อยมาก แต่มันเป็นไปได้ ถ้าสังคมต้องการเปลี่ยน ตอนนี้ทั่วโลกในทุกๆ วันมีคนแปดแสนจากชนบทเข้าเมือง แล้วมันจะอยู่กันอย่างไร

ผมทำโครงการเล็กๆ ทุนน้อย แต่ผมทำให้เห็นว่า เป็นไปได้ การศึกษาที่ทำให้เด็กรักท้องถิ่น ภูมิใจในตัวเอง แม้จะเป็นชาวไร่ชาวนาก็ไม่ดูถูกตัวเอง แม้ผมจะไม่มีเงินตั้งโครงการร้อยล้านพันล้าน แต่ผมทำได้ ในการอุทิศให้หมู่บ้านนั้น พ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นหันมาทำเกษตรไม่ใช้สารเคมี เริ่มต้นกลุ่มออมทรัพย์ เพราะตอนนี้คนยากจน ทำงานเพื่อสนองความร่ำรวยของคนเมือง

คุณมองว่า นั่นเป็นความหวัง ?
เราก็ทำในสิ่งที่เราทำได้ ไม่ต้องไปประท้วงใคร เราทำเพราะเชื่อว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องและต้องทำ แม้เราจะเป็นคนกลุ่มน้อยตลอดไป เราก็ยินดีที่จะทำ อย่างพระอาจารย์สุบิน ปณิโต ที่จังหวัดตราด ทำเรื่องสัจจะออมทรัพย์ในหมู่บ้าน เพราะประชาชนทำงานเหนื่อยแทบตายแต่ส่งดอกเบี้ยให้ธนาคารมหาศาล จากการเก็บข้อมูลและศึกษา 11 หมู่บ้านที่เชียงใหม่ รวมๆ ส่งดอกเบี้ยให้ธนาคารปีละ 30 ล้านบาท ลองคิดดูถ้ามันอยู่ในตำบลนั้น ความร่ำรวยของชาวบ้านจะแค่ไหน แต่อยู่ในธนาคารในมือชนชั้นร่ำรวย 1 เปอร์เซ็นต์ กรณีวิธีคิดของพระครูสุบิน มีอยู่ทั่วประเทศและทั่วโลก ในเรื่องการสร้างชุมชนใหม่ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เห็นว่าทำได้

นอกจากทำงานด้านพัฒนาเยาวชนอย่างต่อเนื่องในหมู่บ้านเล็กๆ ยังมีบทบาทการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้นำรุ่นใหม่ในเอเชีย ?
มีหนุ่มสาวคนจีนที่ผมเจอ เมื่อจบมหาวิทยาลัยแล้ว ไม่อยากใช้ชีวิตแบบกระแสหลัก ต้องการหาทางออก ไม่ต้องการหาความร่ำรวย เราก็ไปจัดการเรียนรู้ให้ ตามแนวทางการสร้างชุมชนนิเวศ นอกจากนี้ในพม่า และสกอตแลนด์ ผมก็ไปช่วยอบรมผู้นำรุ่นใหม่ คนที่มาเรียนก็มีตั้งแต่คนหนุ่มสาวจนถึงอายุ 40-50 ซึ่งคนกลุ่มหลังต้องการค้นหาชีวิตที่มีความหมายและเพื่อน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในสังคมเมือง ช่วงที่เกิดวิกฤติในตะวันตก คนวัยกลางคนในสกอตแลนด์มาเรียนรู้เรื่องพวกนี้ สิ่งที่ขาดมากในสังคมสมัยใหม่ในทุกแห่งทั่วโลก คือ อภิปรัชญา ตัวที่ให้ความหมายกับชีวิต

นำแนวทางพุทธมาใช้ในคอร์สอบรมผู้นำรุ่นใหม่อย่างไร
ไม่จำเป็นต้องเอายี่ห้อพุทธไปใช้ก็ได้ แต่เอาเรื่องการเจริญสติ การภาวนา การเจริญปัญญา มาใช้ สำหรับผมแล้ว แนวทางพุทธสำคัญมาก เพราะเป็นการเปลี่ยนจิตสำนึก แทนที่จะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ก็เอาสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศเป็นศูนย์กลาง เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ทุกชีวิตมีคุณค่าในตัวเอง ไม่ใช่มีคุณค่าเฉพาะมนุษย์ พวกมด แมลง ยุงที่กัดเราก็มีคุณค่า เขามีสิทธิมีชีวิตเหมือนเรา

ตอนนี้พุทธศาสนาในประเทศเพื่อนบ้านและตะวันตกเป็นอย่างไรบ้าง
ศาสนาพุทธในพม่าเข้มแข็งกว่าเราเยอะ เพราะปิดประเทศในช่วงหลายปี ระบบทุนนิยมเข้าไปไม่ถึง แต่กำลังเข้าไปอย่างรุนแรง และครูบาอาจารย์ด้านกรรมฐานเก่งๆ เยอะกว่าเรา สายกรรมฐานต่างๆ ก็ยังดำรงอยู่เยอะ แต่สายกรรมฐานในเมืองไทยถูกทำลายไปเยอะ เพราะระบบปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนศรีลังกา พระสงฆ์ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และศาสนาพุทธไปผสมกับลัทธิชาตินิยม ศาสนาพุทธก็เลยเพี้ยนไปในการสนับสนุนความรุนแรง พม่าถ้าไม่ระวัง จะมีแนวโน้มถูกใช้ไปทางนั้นด้วย ส่วนพุทธในตะวันตกมีหลายรูปแบบ ที่เข้มแข็งที่สุดคือ สายทิเบต เพราะคนทิเบตถูกรังแกเยอะ แต่การปฏิบัติสมาธิภาวนาลึกซึ้งมาก รองลงมาก็คือ การนำการเจริญสติภาวนาไปใช้เยียวยารักษาคนที่มีปัญหาทางจิตใจ โดยไม่มียี่ห้อศาสนาพุทธเข้าไป พวกนี้เป็นกระแสใหญ่

ในอนาคตพุทธศาสนาบ้านเราจะมีแนวโน้มอย่างไร
เมื่อใดก็ตาม ทรัพยากรไม่มีให้เผาผลาญ น้ำมันแพงขึ้นเรื่อยๆ ทุนนิยมก็อยู่ไม่ได้ พระสงฆ์และคณะสงฆ์ก็จะมีบทบาทน้อยลง เพราะพระบางส่วนจะสื่อสารกับคนที่ต้องการทางจิตวิญญาณจริงๆ ไม่ได้ ในอนาคตกลุ่มที่สอนธรรมะแบบฆราวาสจะมีมากขึ้น เพราะปฏิบัติธรรมแล้วได้ใช้กับชีวิตจริง สื่อสารกับคนได้ หรือคนสมัยใหม่ไปบวชปฏิบัติได้ผล ก็มาสอนคน รวมถึงครูบาอาจารย์กรรมฐานที่ปฏิบัติจริงอยู่ในป่าในเขา พระเหล่านี้จะเป็นที่พึ่งในระยะยาวสำหรับคนที่ต้องการปฏิบัติจริงจัง

ที่สุดของการปฏิบัติธรรมตามแนวทางพุทธคือ นิพพาน คุณคิดเห็นอย่างไร
ผมยังไปไม่ถึง นิพพานคือ กิเลสมันไม่ฟื้น ดับไปถาวร ผมเชื่อว่ามี แต่ไม่ต้องสรุป หรือ ตีความ

วิกฤติหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทย คุณมองอย่างไร
ผมเห็นว่า วิกฤติในช่วงนี้ ทั้งการเมืองและพุทธศาสนาเป็นเรื่องดี ทำให้คนตั้งคำถาม เพราะการตั้งคำถามเป็นที่มาของสติปัญญา ไม่ว่าผิดบ้าง ถูกบ้าง คนก็จะหาคำตอบที่ถูกต้องได้เอง ผมเชื่ออย่างนั้น เพราะบ้านเมืองไทยไม่เคยทุกข์ยากมาก่อน ถ้าเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน เราทุกข์น้อยมาก

 

 ----------------------

ที่มา...กรุงเทพธุรกิจ : http://www.bangkokbiznews.com

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >