หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow เรื่องเล่านอกกะลา : สมสกุล เผ่าจินดามุข
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 93 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

เรื่องเล่านอกกะลา : สมสกุล เผ่าจินดามุข พิมพ์
Wednesday, 17 August 2011

Life Style

วันที่ 21 กรกฎาคม 2554


เรื่องเล่านอกกะลา

โดย : สมสกุล เผ่าจินดามุข


บรรยากาศการเรียน


โรงเรียนนี้ไม่มีการสอบ ไม่มีค่าแป๊ะเจี๊ยะ ไม่มีแบบเรียน ไม่มีการท่องสูตรคูณ และเป็นโรงเรียนที่ไม่ยอมให้เด็กล้มเหลวแม้แต่คนเดียว

- 4 -


หน้าเสาธง โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา มีแท่งปูนสี่เหลี่ยมสูงราวหนึ่งเมตร แต่ละด้านสลักเป็นปริศนาว่า

"ในน้ำต้องเลี้ยงปลา
ในนาต้องปลูกข้าว"

พรรณทิพย์พา ทองมี หรือที่นักเรียนมักเรียกกันว่า ครูต๋อย หนึ่งในกลุ่มครูผู้บุกเบิกโรงเรียนลำปลายมาศ โรงเรียนที่ถือว่าเป็นต้นแบบของโรงเรียนทางเลือกขยายความให้ฟังว่า


"ทุกวันนี้โลกเปลี่ยน ปลาไม่ต้องเลี้ยงแล้ว แต่ต้องรู้วิธีให้ได้มาซึ่งอาหาร เรารอธรรมชาติไม่ได้แล้ว ตรงนี้อยากบอกว่า ไม่ใช่แค่รอให้มันมาหาเรา แต่บางอย่างต้องสร้างขึ้นมาเอง สร้างโอกาสขึ้นมา"


บ้านเกิดของครูต๋อยอยู่ร้อยเอ็ด เธออยากเป็นครูสอนเด็กประถมวัยตั้งแต่เริ่มจำความได้ อาจเป็นเพราะได้แรงบันดาลใจจากพ่อและแม่ ซึ่งเป็นครูทั้งคู่


พอเรียนจบเธอสอบเข้าบรรจุเป็นครูได้สมใจหลังสอบผ่านรอขึ้นบัญชีเรียกบรรจุ 3 แห่งด้วยกัน


ระหว่างรอเรียกบรรจุ เธอเห็นโฆษณาประกาศรับสมัครครูสำหรับโรงเรียนใหม่ของอำเภอลำปลายมาศ จึงตัดสินใจสมัครและสัมภาษณ์ร่วมเป็นครูบุกเบิกตั้งแต่ยุคที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนายังเป็นที่โล่ง อาคารยังสร้างไม่เสร็จ ดินยังไม่ถม เสาธงไม่มี อาคารยังไม่ก่อ


ผ่านมาหนึ่งปี ครูต๋อยได้รับจดหมายเรียกตัวให้ไปบรรจุเป็นครูรัฐบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี แต่เธอตัดสินใจอยู่ลำปลายมาศต่อ แม้จะมีเสียงไม่พอใจจากพ่อแม่ก็ตาม


เธอผัดผ่อนพ่อแม่ที่คะยั้นคะยอให้เข้าบรรจุโรงเรียนรัฐมาตลอด จนสุดท้ายมีจดหมายเรียกบรรจุเข้าโรงเรียนในกรุงเทพฯ ซึ่งดูเหมือนเธอจะหมดทางผัดผ่อนแล้ว เธอเล่าว่าวันนั้นร้องไห้ทั้งคืน พยายามบอกพ่อแม่ว่าไม่อยากไป เพราะรักและผูกพันกับโรงเรียนลำปลายมาศ และเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ทำให้เป็นโรงเรียนตัวอย่างที่หลายแห่งเริ่มเอาอย่าง สุดท้าย ถึงแม้จะนั่งรถมาถึงหน้าโรงเรียนที่กรุงเทพฯแล้ว เธอเปลี่ยนใจไม่ลงจากรถ และโทรอ้อนวอนพ่อแม่อีกครั้ง ขอกลับมาเป็นครูต๋อยของนักเรียนลำปลายมาศ และรับผิดชอบกับการตัดสินใจสำคัญของตัวเอง

"เรามีอำนาจในการเลือก ชีวิตเป็นของเรา" ครูต๋อยบอก

 

 

- 3 -


ย้อนกลับไป 9 ปีที่แล้ว มันเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งสำหรับข้าราชการวัย 32 ปีที่กำลังเติบโตในสายงานได้ดี และไต่ระดับขึ้นมาเป็นผู้บริหารโรงเรียนรัฐเพื่อมาร่วมปั้นฝันสร้างโรงเรียนทางเลือกที่เขาเรียกว่า โรงเรียนนอกกะลา


วิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่โรงเรียนลำปลายมาศเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการสร้างโรงเรียนแนวใหม่มาจากเจตนารมณ์ของชาวอังกฤษหนุ่มคนหนึ่ง เจมส์ คลาร์ก ที่มาอยู่เมืองไทยและหลงรักประเทศนี้ เจมส์ คลาร์ก คนนี้ยังเป็นคนเดียวที่ช่วยส่งเสริมซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส สุริยัน / จันทรา ระบบปฏิบัติการและโปรแกรมประยุกต์ เพื่อเป็นทางเลือกแทนการซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ และติดตั้งซอฟต์แวร์เถื่อน


เขาและมูลนิธิ เจมส์ คลาร์ก ได้มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนภาคอีสานอยู่หลายปี จนเมื่อผ่านไประยะหนึ่งจึงเริ่มปรับแนวทางใหม่ โดยเห็นว่าหากต้องการส่งเสริมการศึกษาให้ยั่งยืน น่าจะมีโรงเรียนตัวอย่างขึ้นมาสักแห่ง


ก่อนมีโรงเรียนก็ต้องมีครูใหญ่ เป็นผู้บริหารโรงเรียนและหลักสูตร เจมส์ จึงมองหาอาสาสมัครและคนร่วมอุดมการณ์เพื่อสร้างโรงเรียนทางเลือก โดยรับบทบาทเป็นผู้สัมภาษณ์งานด้วยตัวเอง สัมภาษณ์ไปจนถึงรอบสามถึงได้ครูใหญ่ชื่อ วิเชียร ไชยบัง มาช่วยกันปั้นโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา


"ตอนนั้น ที่ดินโล่งเปล่า มีต้นยางใหญ่สองต้นยืนอยู่ พอเจมส์เขารับผมเข้าทำโครงการ ผมกับเจมส์ทำข้อตกลงกันวันแรกว่า เขาสามารถไล่ผมออกทุกเวลา แต่เขาต้องให้อิสระผมทำงาน ซึ่งเจมส์ตอบตกลง และบอกว่าเขาไม่รู้เรื่องการศึกษา แต่ต้องการโรงเรียนที่ดีที่สุด" ครูใหญ่โรงเรียนนอกกะลา เล่าต้นเรื่อง


ช่วงปีแรกเป็นช่วงท้าทายมาก เพราะเขาต้องเริ่มหลายอย่างพร้อมกัน ตั้งแต่การออกแบบสร้างอาคาร รับสมัครครู และถ่ายทอดปรัชญาการศึกษาตามที่เขาออกแบบ ซึ่งใช้เวลาราว 6 เดือน ก่อนเปิดรับนักเรียนรุ่นแรก ค่อยๆ ถ่ายทอดปรัชญาความรู้ให้จนสุดท้ายหล่อหลอมครูต้นแบบสำเร็จตามที่วิเชียรมองหา


"พอโรงเรียนเป็นรูปร่างก็มาดูว่าเราต้องการบรรยากาศแบบไหน เราต้องการให้ครูมีท่าทีอย่างไร เราต้องการกิจกรรมอย่างไร ต้องการหลักสูตรแบบไหน ค่อนข้างชัดขึ้นในช่วง 2-3 ปี พอปีที่ 4 เริ่มมีการประเมินภายนอก มาจากสองที่ ได้แก่ สมส. เป็นส่วนของประเทศไทย การประเมินครั้งนั้นเขามาประเมินปกติ ปรากฏเขาให้เราดีมาก 13 ข้อ และดี 1 ข้อ ซึ่งไม่มีที่ไหนได้"


ต่อมา ยังได้รับการประเมินจากหน่วยงานการศึกษาต่างประเทศ โดยมหาวิทยาลัย ทัสมาเนีย โดยเจ้าหน้าที่มาอยู่โรงเรียน 10 วัน เขียนรายงานยาว บรรทัดสุดท้ายของรายงานระบุว่า "นี่คือโรงเรียนระดับ World class"

แรกก้าวเข้ามาโรงเรียนลำปลายมาศ สิ่งที่แทบมองไม่เห็นเลยคืออาคารเรียนที่ซ่อนตัวอย่างกลมกลืนกับร่มไม้ และบรรยากาศร่มรื่นที่ถูกจัดสภาพแวดล้อมอย่างเหมาะสม


ชุดนักเรียนของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาออกจะแตกต่างจากโรงเรียนละแวกนี้ มีกลิ่นอายกระเดียดไปทางโรงเรียนนานาชาติด้วยซ้ำด้วยเสื้อผ้าลายสก็อตแบบพื้นบ้านชาวอีสานที่ตัดเย็บโดยพ่อแม่ของนักเรียนเอง เสื้อนักเรียนหญิงมีให้เลือกทั้งคอบัว และคอปก เหตุที่ใช้ผ้าลายพื้นบ้านตัดเย็บเป็นเสื้อนักเรียนแทนเสื้อสีขาวก็เพราะจะดูไม่ออกว่านักเรียนคนไหนเสื้อขาวกว่า ใหญ่กว่า รวยหรือจนกว่า


โรงเรียนนอกกะลาของครูนอกกะลามีเสาธงอยู่หน้าอาคาร แต่ไม่ได้เป็นจุดรวมพลที่ทุกเช้านักเรียนต้องมาเข้าแถวเคารพธงชาติ และฟังครูอบรมปากเปียกปากแฉะ


โรงเรียนนอกกะลาไม่ได้ใช้ตำราเรียนของกระทรวงศึกษา แต่ยังอิงอยู่กับหลักสูตรของกระทรวงศึกษา


โรงเรียนนี้ไม่มีสอบเข้า ไม่มีค่าแป๊ะเจี๊ยะ แต่ใช้การจับฉลากเข้าตามหลักการสุ่ม


โรงเรียนนี้นักเรียนเรียนฟรี และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ


โรงเรียนนี้ไม่ยอมให้เด็กล้มเหลวแม้แต่คนเดียว


"หลักสูตรเราอิงกับหลักสูตรกระทรวงศึกษา แต่ไม่ใช้แบบเรียนของกระทรวงศึกษา กิจกรรมต่างๆ ไม่มีอบรมหน้าเสาธง เพราะจะทำอะไรสักอย่างต้องมีเหตุผล เราต้องการสอนคนให้มีเหตุผล เราไม่เชื่อว่าการเข้าแถวเคารพธงชาติทำให้คนรักชาติมากขึ้น แต่มันเป็นพิธีกรรมสำหรับการเริ่มต้นที่ดี ความนอบน้อม ความเคารพต่ออะไรสักอย่างเท่านั้นเอง ไม่มีบทที่ต้องมาว้ากกัน" ครูใหญ่ ช่วยเติมคำให้ช่องว่างของคำถาม


รูปแบบที่นอกกรอบ นอกกะลา นอกขนบทำให้เปิดเรียนปีแรกผู้ปกครองบางคนถึงกับช็อค เพราะส่งนักเรียนเข้าเรียนอนุบาล ต่างเข้าใจกันโดยปริยายว่า นักเรียนต้องได้เขียน ก. ไก่ ตามรอยประ


วิเชียร บอกว่า นอกจากเด็กนักเรียนเรียนรู้ ผู้ปกครองต้องเรียนรู้ด้วย เมื่อผู้ปกครองเรียนรู้แล้วจะเข้าใจและเห็นเป้าหมายของเด็ก ไม่กดดันเด็ก


"เขาจะรู้ว่าความงอกงามของคนมีหลายด้าน ลูกเขาก็งอกงาม"

 

 

- 2 -


ชื่อเสียงของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาถูกพูดถึงอย่างมากในฐานะโรงเรียนทางเลือก มีผู้บริหารและครูจากโรงเรียนหลายแห่งเข้าเยี่ยมชมการเรียนการสอน หลายคนมักมาพร้อมกับคำถามถึงหลักการที่ประกาศว่า "ไม่ละทิ้งเด็กแม้แต่คนเดียว " ว่าเป็นจริงได้แค่ไหน


ครูวิเชียร อธิบายว่า ระบบการวัดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันค่อนข้างบิดเบี้ยว และไม่สามารถใช้วัดความเป็นมนุษย์ได้ เนื่องจากถูกออกแบบให้โฟกัสที่ความรู้มากเกินไป ระบบดังกล่าวเขามองว่าไม่ใช่ความผิดสำหรับยุค 100-200 ปี ซึ่งเป็นยุคที่มนุษย์จำเป็นต้องแสวงหาความรู้


"ดูเหมือนการแสวงหาความรู้ของมนุษย์จะไม่มีวันสิ้นสุด แต่พอหาแล้วกลายเป็นว่ามนุษย์ตีกรอบความคิดลึกลงถึงยีนมนุษย์ และรู้สึกว่ายังต้องแสวงหาอยู่ ทั้งที่ความรู้ล้นเหลือไปแล้ว กรอบมันยังสลัดไม่ออก ผู้ปกครองทุกคนก็ยังมีกรอบติดอยู่กับความเชื่อว่า ความรู้ฉันมีน้อย เราอาจอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายจากกรอบนี้ไปสู่อีกกรอบหนึ่ง การสลัดให้ได้ การช่วยให้คนสลัดจากสิ่งนี้ให้ได้คือความหวัง " มุมมองของครูใหญ่


เขาเสนอให้คนหลุดจากกรอบเดิมในการมองเป้าหมายของการศึกษาไปสู่กรอบใหม่ เป็นกรอบที่ ผู้ให้การศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียนร่วมตั้งคำถามกันว่า มนุษย์ควรมีชีวิตอย่างไรให้มีความสุข กรอบใหม่ไม่ใช่แค่เรียนหนังสือสอบเอนทรานซ์ได้ และมีงานทำ เขาชวนเชิญให้ตั้งคำถามว่า มนุษย์จะมีความสุขได้อย่างไร จะพอใจบางอย่างง่ายๆ ได้อย่างไร จะจัดการความสัมพันธ์ที่ยุ่งเหยิงอย่างนี้ได้อย่างไร จะบริหารอารมณ์ตัวเองได้อย่างไร หากได้คำตอบเมื่อนั้น คนนั้นจะเข้าใจว่าอยู่มาเพื่ออะไร


แนวคิดการสร้างโรงเรียนตัวอย่างของครูวิเชียรถูกถ่ายทอดลงในหนังสือโรงเรียนนอกกะลาที่เขาจัดทำเมื่อปี 2550 เนื้อความหนึ่งกล่าวถึงโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาว่า เป็นโรงเรียนที่ไม่มีการสอบ โรงเรียนที่ไม่มีเสียงออด เสียงระฆัง โรงเรียนที่ไม่มีแบบเรียน โรงเรียนที่ครูส่งเสียงสอนเบาที่สุด ซึ่งล้วนขัดกับสิ่งที่ทุกคนพบเห็น และทุกคนก็พยายามหาว่า มันคืออะไร เมื่อได้มาเห็นจริง ต่างเข้าอกเข้าใจกันดีว่า รูปแบบของโรงเรียนนอกกะลาไม่ได้หนีไปจากความปรารถนาของการศึกษา แต่อยู่กับเป้าหมายของพรบ. อยู่ในความต้องการของหลักสูตร เป็นเป้าหมายเดียวกัน แต่วิธีต่างกัน


เรื่องท้าทายที่สุดในตลอด 9-10 ปี ของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาคือการเดินสู่เป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่แรกคือ การเป็นโรงเรียนตัวอย่าง ที่ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ ไม่ใช่แค่บุรีรัมย์ และเป็นสิ่งที่กดดันให้คณะครูต้องทำกิจกรรมถ่ายทอดแนวทางให้กระจายออกไปให้เร็วที่สุด


"ลมหายใจเราก็สั้น คำว่าลมหายใจหมายถึง ทุนเราไม่ได้ยาว ช่วงเวลาที่มีอยู่ นอกจากทำที่นี่ให้ดีที่สุด ทำให้เด็กดีที่สุด ต้องให้ผลขยายออกไปให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดมวลวิกฤติพอที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้กระทบทั้งข้างบน และข้างล่าง"


เพื่อสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้น โรงเรียนได้เปิดประตูรับคณะครู และเจ้าหน้าที่การศึกษาจากทั่วประเทศให้เดินทางมาเยี่ยมชมโรงเรียน หรือที่เรียกว่า "ดูงาน" และยังจัดทำคอร์สอบรมระยะสั้นที่โรงเรียนด้วย อย่างไรก็ตาม ระยะหลังโรงเรียนลดระดับของการดูงานน้อยลง และเพิ่มน้ำหนักการอบรมมากขึ้น


"แต่ก่อนมาดูงาน 100 คน อาจมีแรงบันดาลใจ 2 คนออกไปทำ ซึ่งประโยชน์ที่ได้ทันทีคือ เด็กที่อยู่ในห้องเขา และถ้าเขาคลิกเปลี่ยน ครูคนนั้นเปลี่ยนคนเดียว ไม่รู้เด็กกี่คนกว่าที่เขาจะเกษียณจะผ่าน และเด็กพวกนั้นได้ประโยชน์ไหม" ครูใหญ่ตั้งคำถาม


เมื่อมองดูรายชื่อโรงเรียนที่มาดูงาน และอบรมเพื่อนำโมเดลของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาไปขยายผลพบว่า โรงเรียนในภาคอีสานและภาคตะวันออกทุกจังหวัดที่ได้มาสัมผัสด้วยตา และรับแนวทางไปปรับใช้กับโรงเรียนของตน หลายโรงเรียนสามารถยกระดับเป็นต้นแบบ อาทิ โรงเรียนในศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น และภูเก็ต ซึ่งสามารถเป็นศูนย์อบรมแทนโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้


วิเชียรยอมรับว่า วิธีการที่พวกเขาทำอยู่ ยากที่จะเปลี่ยนแปลงครู หรือสร้างแรงบันดาลใจให้ครูจากโรงเรียนอื่นนำไปใช้ แต่อย่างน้อยเขาคิดว่าการทำงานของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้เปลี่ยนมุมมองและวิธีจัดการเด็ก เปลี่ยนครูบางคนที่เคยเข้าใจว่าเป็นครูที่สอนเด็กได้เก่งที่สุดให้มองเห็นอีกด้านหนึ่งของเด็กด้วย


"บางคนมาดูงาน กลับไปเขียนลงเฟซบุ๊คว่า ตลอดชีวิตที่ทำมาอีกสองปี รู้สึกว่าทำผิดมาตลอด"

 

 

-1-


แม้เด็กที่จบระดับประถมศึกษาด้วยแนวทางการเรียนการสอนแบบใหม่จะกลับเข้าสู่โรงเรียนมัธยมในกะลาอีกครั้ง ครูวิเชียรมองว่า สิ่งที่นักเรียนได้ไปตลอดช่วง 6 ปีที่เรียนอยู่ลำปลายมาศพัฒนาช่วยให้เด็กจัดการกับชีวิตตัวเองได้ง่ายขึ้น


"เขาจัดการตัวเองได้ง่าย ไปสอบไปแข่งก็ติด คะแนนก็ใช้ได้ เราไม่ได้แบ่งเป็นโลกใหม่หรือโลกเก่า จริงๆ แล้วเราให้เวลาเขาอยู่ในชุมชนและครอบครัวมากกว่าอยู่โรงเรียน แบบจำลองของเราเป็นแบบนี้ คุณอยู่ห่างไกลจากสิ่งรบกวน คุณอยู่กับชุมชนและคนที่เอื้ออาทรต่อคุณ ให้ความรักและโอกาสคุณตลอดเวลา สุดท้ายเขาจะเป็นคนเลือก เวลาเขาออกนอกสังคมเขาจะเลือกแบบไหน เราเลือกให้เขาไม่ได้ สุดท้ายเขาต้องเลือกเองว่า ฉันชอบแบบนี้ เราจะสร้างสังคมเราแบบนี้ ฉันจะเป็นอย่างนี้ " วิเชียรพูดถึงผลผลิต


ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนในช่วงชั้นไหน และวิชาไหน พื้นฐานหลักของการสอนของครูโรงเรียนลำปลายมาศประกอบด้วย 3 ส่วนหลักได้แก่ หลัก 3 ช.


ชง - เชื่อม - ใช้


ชง คือกระบวนการที่ครูให้เด็กแต่ละคนปะทะกับข้อมูลปฐมภูมิ ทุติยภูมิ หรืออะไรก็ตาม และให้นักเรียนแสวงหาค้นหาคำตอบเอง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง


เชื่อม คือกระบวนการเข้าไปดูว่านักเรียนแต่ละคนค้นคว้าและหาคำตอบอะไรมา ทุกคนจะเห็นว่าคำตอบของบางคนไม่เหมือนกัน กระบวนการเชื่อมจะทำให้โครงสร้างของความรู้คมชัด แต่เป็นโครงสร้างที่ใหญ่ขึ้น และเห็นข้อเท็จจริงมากขึ้นกว่าเดิม กระบวนการเชื่อมยังทำให้เกิดโครงสร้างองค์ความรู้ในสมอง เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าสิ่งที่รู้มาผิดหรือถูก โดยเปรียบเทียบจากคนอื่น


ใช้ เป็นกระบวนการนำเอาสิ่งเร้าใหม่ใส่เข้าไป อาทิ ใบงาน แบบฝึกหัดเพื่อดูว่านักเรียนสามารถนำโครงสร้างองค์ความรู้ใช้ได้จริงหรือไม่


"ในอนาคตเราหวังว่ากระบวนการนี้จะแข็ง แล้วไม่ทำให้คนอหังการ สิ่งที่ฉันรู้ยังไม่พอ อ่านหนังสือมาหมด ยังไม่พอ เพื่อนค้นอินเทอร์เน็ตได้มากกว่า เข้าใจมากกว่า เพื่อนไปถามครู มาเล่า ถามพ่อแม่มาเล่า หรือฉันได้ลองทำเอง มันได้ผลแบบนี้"


ที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนายังไม่มีเสียงนักเรียนท่องสูตรคูณแม่ต่างๆ เหมือนหลายโรงเรียนที่ถูกบังคับให้ท่องก่อนเลิกเรียน


ครูวิเชียรเล่าอย่างขบขันว่า หลักสูตรคณิตศาสตร์ในประเทศไทยตลกมากเรื่องจำนวน และตัวเลข นักเรียนประถม 1 และ 2. ห้ามบวกลบเกิน 100 นักเรียนประถม 3 ห้ามบวกลบเกิน 1,000 สำหรับโรงเรียนนอกกะลา ไม่ว่า ป.1 หรือ ป2. ครูจะทำตัวเลขให้น้อย แต่มุ่งให้นักเรียนเข้าใจ


"ถ้าเราเข้าใจกระบวนการของการนับเพิ่มหรือ การคูณ โดยไม่ต้องท่อง ถ้าเราเข้าใจมันเราสามารถสร้างแม่สูตรคูณได้โดยไม่ต้องท่อง แม่ไหนก็ได้ แต่ถ้าท่อง สมองควรจำส่วนที่มีค่า เวลาเราสอนเนื้อหาอะไรก็ตาม เราเน้นความเข้าใจ สุดท้ายแล้วความเข้าใจจะนำไปสู่การเห็นความสัมพันธ์ พอเห็นความสัมพันธ์ถึงจะรู้ว่า ผมกินองุ่น องุ่นกลายเป็นผม ถ้าเข้าใจจะเห็นความสัมพันธ์ พอเห็นความสัมพันธ์ก็จะเห็นคุณค่าของมัน พอเห็นคุณค่าของมัน จะพอใจที่มันเป็น พอใจแล้วก็จะยินดี"


โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ซึ่งดูแลบริหารงานโดย 2 มูลนิธิได้แก่ มูลนิธิ เจมส์ คลาร์ก และมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา ยังได้เปิดสอนระดับมัธยมต้นเป็นปีแรก หลังจากเปิดสอนเฉพาะระดับประถมมา 9 ปี เหตุผลที่ครูวิเชียร เพิ่มระดับชั้นมาจากเขามองเห็นปรากฏการณ์บางอย่างที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทั่วประเทศ


"มัธยมทั่วประเทศเหมือนกันคือ ทิ้งเด็กบางกลุ่ม ใครที่อ่อนใครพฤติกรรมไม่ดี ถูกทิ้ง โดยไม่เข้าใจพฤติกรรมเขา เพราะเราเอาเกณฑ์เราไปวัด ฮอร์โมนแบบนั้นเราไม่ได้หลั่งแล้ว เราควบคุมตัวเองได้แล้ว เราคิดว่าเขาควบคุมตัวเองได้เหมือนเรา ใครที่เรียนไม่เก่ง ใครที่พฤติกรรมไม่ดีก็ทิ้ง ครึ่งหนึ่งของประเทศไทยเป็นแบบนั้น เด็กติด ศูนย์ ติด "ร" มากที่สุดถูกละทิ้ง"


ครูวิเชียรมองไปที่อาคารเรียนระดับมัธยมซึ่งปลูกเป็นเรือนไม้สองชั้นที่ได้ไม้มาจากวัดที่รื้อทิ้ง ก่อนหันมาบอกว่า


"ผมจะทำให้ดูว่า มัธยมที่ไม่ทิ้งใครเลยเป็นอย่างไร"

 

----------------------

ที่มา...กรุงเทพธุรกิจ : http://www.bangkokbiznews.com


 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >