หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow ขอพื้นที่ให้เด็กบ้าง : พระไพศาล วิสาโล
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 178 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

ขอพื้นที่ให้เด็กบ้าง : พระไพศาล วิสาโล พิมพ์
Wednesday, 23 February 2011




ขอพื้นที่ให้เด็กบ้าง

พระไพศาล วิสาโล


เด็กไทยกำลังประสบปัญหาแทบทุกด้าน กล่าวคือ ในด้านกายภาพหรือสวัสดิภาพของชีวิต เป็นที่ปรากฏว่านับวันเด็กจะเป็นเหยื่อแห่งความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะจากคนใกล้ชิด ในด้านคุณธรรม ก็เป็นที่ยอมรับกันว่ามีแนวโน้มตกต่ำเป็นลำดับ ในด้านสติปัญญา ไม่ว่าจะวัดจากไอคิวหรือผลการเรียน ก็พบว่าคุณภาพน่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ

สาเหตุประการหนึ่งที่มีผู้พูดกันมากคือ สภาพแวดล้อม จากการวิจัยของโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด พบว่าปัจจุบันทั่วประเทศมีพื้นที่เสี่ยง (เช่น สถานเริงรมย์ต่างๆ) มากกว่าพื้นที่ดี (เช่น ลานกีฬา สนามกีฬา และลานกิจกรรม) เป็น ๓ เท่า และเมื่อแยกเป็นรายภาคหรือรายจังหวัด จะพบว่า สัดส่วนของพื้นที่เสี่ยงนั้นมีความสัมพันธ์อย่างมากกับสัดส่วนของเด็กที่มีปัญหา (เช่น เด็กที่เข้าสถานพินิจ) เช่น กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงมากที่สุด (๗๗.๓๕ แห่งต่อประชากรแสนคน) ปรากฏว่าเด็กที่เข้าสถานพินิจก็มีสัดส่วนมากที่สุดเช่นกัน (๙๕.๕ คนต่อประชากรแสนคน) ขณะที่ภาคอีสานซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงน้อยที่สุด (๑๒.๕๖ แห่งต่อประชากรแสนคน) เด็กที่เข้าสถานพินิจก็มีสัดส่วนน้อยที่สุดเช่นกัน (๒๖.๘๕ คนต่อประชากรแสนคน)

ดังนั้นการปรับปรุงคุณภาพเด็กไทยจะได้ผลก็ต่อเมื่อมีมีมาตรการลดพื้นที่เสี่ยงให้น้อยลง เช่น ควบคุมจำนวนหรือจำกัดเขตสถานเริงรมย์ ขณะเดียวกันก็เพิ่มพื้นที่ดีให้มากขึ้น เช่น เพิ่มสนามกีฬา ลานกิจกรรม และห้องสมุดให้มากขึ้น อันที่จริงมีพื้นที่ดีประเภทหนึ่งซึ่งมีมากมายในเมืองไทย แต่ยังใช้ประโยชน์ได้น้อย หรือยังไม่เข้าถึงเด็กมากนัก ได้แก่ วัด วัดนั้นนอกจากเป็นพื้นที่ในทางธรรม ที่เด็กได้มาเรียนรู้เรื่องศาสนาและจริยธรรมแล้ว ยังสามารถเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมด้านอื่นๆ ของเด็กได้ เช่น สนามกีฬา ลานกิจกรรม และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ลำพังพระสงฆ์เอง ส่วนใหญ่มีข้อจำกัดในการชักนำเด็กๆ ให้เข้าวัดหรือทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับเขา แต่หากมีหน่วยงานท้องถิ่น เช่น อบต. หรือเครือข่ายครอบครัว มาเป็นหลักในการจัดทำกิจกรรมให้แก่ลูกหลานของตน โดยอาศัยความร่วมมือกับวัด ก็น่าจะช่วยให้พื้นที่ดีในชุมชนนอกจากมีปริมาณเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีพลังในการบ่มเพาะคุณลักษณะที่ดีแก่เด็กและเยาวชนได้ด้วย

อันที่จริงพื้นที่เสี่ยง ไม่ได้หมายถึงสถานที่ที่อยู่กับที่เท่านั้น เวลานี้บ้านหรือแม้แต่ห้องนอนก็สามารถกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงได้ หากปล่อยให้สื่อที่เป็นพิษแพร่เข้ามา โทรทัศน์ วีซีดี อินเตอร์เน็ต หากไปถึงไหน มักทำให้ที่นั้นมีโอกาสเป็นพื้นที่เสี่ยงไปได้ง่ายๆ อย่างไรก็ตามทางออกไม่ได้อยู่ที่การควบคุมเนื้อหาในสื่อ (เช่น เซ็นเซอร์หรือบล็อกเว็บไซต์) หรือควบคุมการเข้าถึงสื่อและการใช้สื่อ (เช่น จำกัดเวลาของเด็กในการดูโทรทัศน์หรือใช้อินเตอร์เน็ต) เท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้นก็คือการฝึกให้เด็กมีวิจารณญาณในการใช้สื่อและกลั่นกรองเลือกสรรเนื้อหาด้วยตัวเอง คนที่จะช่วยเด็กในเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คือพ่อแม่ เพราะเด็กใช้เวลากับสื่อเหล่านี้มากขณะที่อยู่บ้าน (๓-๕ ชั่วโมงโดยเฉลี่ย)

จะทำเช่นนั้นได้พ่อแม่ต้องมีเวลาให้ลูก หรือพูดอีกอย่างคือเปิดให้ลูกเข้ามามีพื้นที่ในชีวิตของพ่อแม่มากขึ้น มิใช่เอาแต่ทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ครั้นกลับมาก็นั่งดูโทรทัศน์หรือพักผ่อนอยู่คนเดียวที่บ้าน พ่อแม่ควรใช้เวลาในบ้านร่วมกับลูก หากไม่สะดวกที่จะให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของพ่อแม่ พ่อแม่ก็ควรเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของลูก เช่น ดูโทรทัศน์ร่วมกับลูก (พร้อมกับแนะนำวิธีการดูไปด้วย) เล่นเกมต่างๆ กับลูก รวมทั้งวีดีโอเกม หรือเกมออนไลน์ (ซึ่งเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่จะรู้ว่าลูกเล่นอะไร และจะแนะนำลูกให้เล่นอย่างไรจึงจะเหมาะกับวัยของเขา)

นอกจากพื้นที่ที่เป็นสถานที่ และเวลา ดังกล่าวข้างต้นแล้ว พื้นที่อีกประเภทหนึ่งซึ่งเด็กควรมีก็คือ พื้นที่ในแง่ที่เป็นโอกาส คือโอกาสในการร่วมรับผิดชอบหรือทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง ความรับผิดชอบนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างวุฒิภาวะได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นการส่งเสริมคุณธรรมได้ด้วย เริ่มต้นได้แก่การรับผิดชอบเรื่องส่วนตัวในบ้าน เช่น การกินการอยู่ หรือข้าวของเครื่องใช้ของตน จากนั้นก็ขยายมาสู่การร่วมรับผิดชอบการงานในบ้าน ไม่ใช่แค่เป็นลูกมือ หรือลงแรงตามแต่พ่อแม่จะสั่งเท่านั้น แต่รวมถึงการคิดและตัดสินใจร่วมกับพ่อแม่ ในโรงเรียนเด็กก็ควรมีโอกาสเช่นนั้นด้วยเช่นกัน อาทิ การร่วมดูแลรับผิดชอบสภาพแวดล้อมในโรงเรียน หรือช่วยดูแลรุ่นน้อง การได้บริหารชมรมในโรงเรียนนับเป็นการขยายพื้นที่แห่งความรับผิดชอบของเด็กอีกประการหนึ่งที่ควรได้รับการส่งเสริม

อันที่จริงแม้แต่การแก้ปัญหาในบ้าน โรงเรียน หรือชุมชน เด็กก็ควรมีพื้นที่หรือโอกาสที่จะมีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับตัวเด็กเอง เช่น เด็กเกเร เป็นอันธพาล ที่แล้วมาผู้ใหญ่มักเป็นผู้กุมอำนาจในการตัดสินใจ โดยมองปัญหาจากมุมของตัวเท่านั้น ผู้ใหญ่ไม่ว่าครูหรือพ่อแม่ควรรับฟังความเห็นของเด็ก และให้เด็กมีส่วนร่วมในการแก้ไขด้วย เพราะเด็กอาจจะเห็นปัญหาได้ดีกว่าผู้ใหญ่ก็ได้ ในสหรัฐอเมริกา ได้มีการศึกษาพบว่าวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน ไม่ใช่การติดตั้งเครื่องตรวจจับโลหะ แต่กลับเป็นการนำนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหา นอกจากนั้นชุมชนหลายแห่งยังสามารถแก้ปัญหาวัยรุ่นตีกันได้ โดยการจัดทำโครงการบาสเกตบอลเที่ยงคืน กล่าวคือให้วัยรุ่นจัดการแข่งกีฬากันในตอนดึก ซึ่งเป็นช่วงที่มีอาชญากรรมวัยรุ่นมากที่สุด

การเปิดพื้นที่ให้วัยรุ่นแก้ปัญหาของวัยรุ่นด้วยกัน อาจช่วยลดปัญหาวัยรุ่นลงได้ ขณะเดียวกันการให้โอกาสแก่เด็กในการทำคุณประโยชน์หรือบริการสังคม อาจช่วยเยียวยาเด็กที่เป็นอันธพาลหรือเกเรได้ ในบางชุมชนของสหรัฐอเมริกา เด็กที่ถูกจับได้ว่าขโมยของ จะถูกตัดสินโดย "ลูกขุน" ซึ่งล้วนเป็นเด็กอายุระหว่าง ๑๐-๑๗ ปี บทลงโทษก็คือ ทำงานรับใช้ชุมชน ขอโทษร้านค้า และเขียนรายงานเกี่ยวกับผลกระทบของการขโมยที่มีต่อชุมชน นอกจากนั้นเขายังถูกสั่งให้ไปทำหน้าที่ลูกขุนเพื่อพิจารณาโทษของเด็กที่ก่อปัญหาในชุมชนสำหรับเด็กเหล่านี้นี้คือการเปิดโอกาสให้เขากลับตัวเป็นคนดี

การพัฒนาคุณธรรมในตัวเด็กนั้น ที่แล้วมามักเน้นการเทศน์ พูดและสอนศีลธรรม ให้เด็กเป็นคนดี แต่กลับไม่ค่อยสร้างโอกาสหรือพื้นที่ให้เด็กได้ทำความดี อันที่จริงความดีมีอยู่แล้วในตัวเด็ก (เช่นเดียวกับผู้ใหญ่) แต่ความดีนั้นไม่ค่อยมีพลัง เพราะไม่ถูกดึงออกมาใช้ (เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อ ถ้าไม่ถูกใช้งานก็ลีบได้) ขณะที่ความไม่ดีนั้นถูกดึงออกมาใช้เป็นประจำ เพราะสิ่งแวดล้อมอำนวย การที่เด็กคนหนึ่งจะเป็นคนดีได้นั้น หัวใจอยู่ที่การส่งเสริมให้ความดีในใจเขามีพลังจนเอาชนะความไม่ดีได้แน่นอน การสอนศีลธรรมเป็นของดี แต่ไม่ใช่ส่วนสำคัญที่สุด ส่วนสำคัญที่สุดก็คือการสร้างบรรยากาศที่เชิญชวนให้คนอยากทำความดี และเปิดโอกาสให้ความดีได้ถูกออกมาใช้ ทุกวันนี้ความชั่วดูเหมือนจะทำง่ายกว่าความดี เพราะปัจจัยแวดล้อมโน้มไปทางนั้น เราจึงควรขยายพื้นที่ คือสร้างสิ่งแวดล้อมและเพิ่มพูนโอกาสให้การทำความดีกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น ข้อสำคัญคือผู้ใหญ่ต้องไม่ติดกับรูปแบบ (เช่น คนดีต้องตัดผมสั้น พูดจาเรียบร้อย ไหว้พระสวดมนต์เป็นประจำ) รูปแบบเช่นนั้นอาจกลายเป็นกรอบกีดกันเด็กจำนวนไม่น้อยไม่ให้มีโอกาสที่จะทำสิ่งดีงามได้ การไม่ติดกับรูปแบบดังกล่าวก็คือการขยายพื้นที่อีกประเภทหนึ่งเพื่อให้เด็กทำความดีได้ง่ายเข้า

ด้วยการทำเช่นนี้ คุณธรรมจะขยับขยายในใจเด็ก จนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ความเห็นแก่ตัวได้อาศัยเลย


------------------------------

จาก เว็บ

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >