หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 488 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 124: เรียนรู้โลกยุคใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ชีวิต จิตวิญญาณ!?
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 124


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ปูมชีวิตพระคุณเจ้าบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ พิมพ์
Tuesday, 11 January 2011

ปูมชีวิตพระคุณเจ้าบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์

: จุดเริ่มต้นการหล่อหลอม และการยืนยัน "อยู่กับปวงประชา"


อยู่กับปวงประชา (Omnia Omnibus) คติพจน์ที่พระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ได้เลือกและเป็นสักขีพยานด้วยการดำเนินชีวิต และการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองตลอดชีวิตของการเป็นสงฆ์ผู้รับใช้


ก่อเกิดหน่อเนื้อทางสังคม : ชีวิตวัยเด็กเริ่มต้นปี พ.ศ. 2472

เด็กชายบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ เป็นลูกชายคนโตของพี่น้อง 10 คน ของนายบุญรอด และนางทองหยด หมั้นทรัพย์ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2472 ในชุมชนคาทอลิก วัดพระหฤทัย ต.วัดเพลง อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี วัดที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในพระศาสนจักรคาทอลิกไทย บิดามีอาชีพเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลประชาชนตั้ง ซึ่งเป็นชื่อโรงเรียนวัดพระหฤทัย (วัดเพลง) และขณะเดียวกันก็เป็นครูคำสอนด้วย โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงินเดือนละ 15 บาท และไม่มีสวัสดิการใดๆ แต่โชคดีที่คุณพ่อเจ้าวัดในสมัยนั้นสงสาร ได้แบ่งที่ดินของวัดให้แก่ครอบครัวหมั้นทรัพย์ ซึ่งบิดาและมารดาก็ทำสวนผลไม้จากผืนดินนี้ และนำผลผลิตจากสวนไปแลกข้าว และสิ่งของที่จำเป็นต่างๆ จากเพื่อนบ้านมาใช้ในครัวเรือน

เมื่อมีจำนวนน้องๆ เพิ่มขึ้นคนแล้วคนเล่า เด็กชายบุญเลื่อน ก็ได้เห็นถึงความยากลำบาก การดิ้นรน ด้วยความอดทนของแม่ ที่ทำงานหนักโดยมิได้ปริปากแม้แต่น้อย บางครั้งแม่ต้องพายเรือไปตามคลองวัดประดู่เพื่อเอาผลไม้ไปแลกข้าวจากหมู่บ้านอื่นที่ห่างไกลออกไป นอกจากนี้ ยังขวนขวายทำขนม เพื่อขายเป็นรายได้จุนเจือครอบครัว "สิ่งที่พ่อเห็นคือ ทั้งเตี่ยและแม่ทำงานตัวเป็นเกลียว เตี่ยเองก็ไม่เคยปริปากบ่นว่าเงินเดือนน้อย ด้วยความสำนึกว่าตนเป็นคนของวัด ที่คุณพ่อเจ้าวัดเคยช่วยเหลืออุปถัมภ์มาก่อน"


ใกล้ชิดศาสนาเมื่อ 2481

ด้วยการที่มีพ่อแม่ที่ศรัทธา เด็กชายบุญเลื่อน ก็ได้รับการสนับสนุนให้ไปวัดเพื่อร่วมพิธีมิสซาทุกๆ เช้า สิ่งที่ได้ทำเป็นนิจสินคือ การเป็นเด็กช่วยมิสซา หลังจากจบชั้นประถม 4 เมื่ออายุ 9 ขวบ ก็เข้าบ้านเณรเล็กที่บางนกแขวก และจากการที่มีช่วงเวลาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวเพียงวัยเด็ก ดังนั้นประสบการณ์ในเรื่องความสัมพันธ์กับครอบครัวจึงมีน้อยมาก บ้านหลังใหญ่คือ บ้านเณร

ปีแรกในบ้านเณร เด็กชายบุญเลื่อน เกิดอุบัติเหตุหกล้มและแขนหัก ภาพที่ประทับใจคือ เห็นพ่อและแม่พายเรือหลายชั่วโมงจากบ้านที่วัดเพลง มาเยี่ยมที่บ้านเณรบางนกแขวก "พ่อ (พระคุณเจ้า) รู้ได้ถึงความรักที่เตี่ยและแม่มีต่อตัวพ่อมาก"

ช่วงจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 4 ทางบ้านเณรขออนุญาตให้เณรกลับบ้านได้ 1 อาทิตย์ พ่อก็จะให้ไปช่วยดายหญ้าในสวน เพื่อให้ลูกได้มีประสบการณ์ของการเป็นลูกชาวสวน เช่นเดียวกับการสอนลูกให้รู้จักหาข้าวหาปลากินเป็นเองด้วย เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สองพ่อลูกออกไปทอดแหหาปลา "พ่อจำได้ว่าเตี่ยได้พูดระหว่างพายเรือไปด้วยกันว่า อ้ายหนู อีกหน่อยเอ็งเป็นพระสงฆ์แล้ว เอ็งก็ต้องรู้จักทอดแหเป็น" ทั้งนี้ผู้เป็นพ่อได้ดูตัวอย่างจากพระสังฆราชแจง เกิดสว่าง ที่รู้จักทอดแหหากินเอง และต้องการสอนลูกชายว่า หากเป็นพระสงฆ์ต้องช่วยตัวเองในเรื่องการกินอยู่ อย่ารอให้คนอื่นหามาให้กิน

บทสะท้อนนี้ มาจากการสังเกตของผู้สูงวัยกว่า ที่เห็นความแตกต่างระหว่างพระสงฆ์ในขณะนั้น "เตี่ยได้เตือนเสมอๆ ว่า อ้ายหนู เอ็งเป็นพระสงฆ์ เอ็งต้องติดดิน ต้องรู้จักทำมาหากินนะ"

เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เด็กชายบุญเลื่อน มีความคิดที่จะออกจากบ้านเณร เพราะเห็นทั้งพ่อและแม่ลำบากมาก ไม่มีใครช่วยบุพการีทั้งสอง จึงเข้าไปหาคุณพ่ออธิการ ซึ่งในขณะนั้นคือ คุณพ่อ Proverar เพื่อไปขอลาออก แต่กลับถูกคุณพ่ออธิการถามว่า "จะออกไปช่วยเตี่ย หรือไปทำให้เตี่ยมีความลำบากมากขึ้น" หลังจากใช้เวลาตัดสินใจ ประกอบกับการสวดภาวนาเพื่อขอการตัดสินใจ ในที่สุดก็กลับไปบอกกับคุณพ่ออธิการ เพื่อยืนยันที่จะเป็นเณรต่อไป

ในระหว่างเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็พบเห็นความยากลำบากของครอบครัวมากขึ้น ทั้งนี้เพราะน้องๆ ที่เติบโตขึ้นหลายคน แม่ต้องพายเรือไปแลกข้าว และนุ่งผ้าโสร่งขาด ส่วนเตี่ยนั้นเริ่มติดเหล้า แต่ก็พยายามไปสอนเรียน ซึ่งเมื่อเมาเหล้าก็บกพร่องในอาชีพครูมาก สำหรับแม่แล้วความเข้มแข็งของแม่ เป็นเงื่อนไขสำคัญของการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวของสามเณรบุญเลื่อน โดยเฉพาะในช่วงเวลาศึกษาต่อทางปรัชญาเป็นเวลา 3 ปี (2489-2491)

เดือนสิงหาคม ปี 2491 เมื่อจบทางปรัชญาแล้ว คุณพ่อ Proverar เรียกไปบอกว่า พระสังฆราชจะส่งสามเณรบุญเลื่อนไปเรียนต่อที่กรุงโรม สาขาเทววิทยา ส่วนทางครอบครัว ทั้งพ่อและแม่ดีใจมากที่ลูกจะไปเรียนต่อ แต่ทว่าครอบครัวไม่มีเงินเลย บุพการีทั้งสองท่านก็ไปขอทานเงินจากบรรดาผู้ที่เป็นลูกทูนหัว ได้เงินมาประมาณ 1,000 บาท จึงนำเงินมาให้อธิการบ้านเณร เพื่อเป็นเงินช่วยแก่พระสังฆราช ปาซอตตี (Pasotti)

วันที่จะออกเดินทางไปกรุงโรม บิดากับน้องชายอีกคนหนึ่งพยายามที่จะไปส่งที่สนามบิน แต่ว่ารถบริการของบริษัท KLM จะรับส่งเฉพาะผู้โดยสารของสายการบินเท่านั้น ทำให้พลาดโอกาสที่จะไปส่ง ในระหว่างศึกษาที่กรุงโรม สามเณรบุญเลื่อนก็พยายามตั้งใจเรียน และด้วยการที่เป็นคนชอบทางดนตรี ก็ได้มีโอกาสเป็นหัวหน้าวงนักขับร้องและตั้งวงแตรน้อยๆ ขึ้นใน Propagand Fide ส่วนข่าวความเคลื่อนไหวของครอบครัว แม้ว่าพระคุณเจ้า ป.คาเร็ตโต (พระสังฆราชองค์ถัดจากท่านปาซอตตี) จะปิดข่าว แต่ก็ได้ทราบเป็นระยะๆ ว่าลำบากมาก น้องๆ บางคน เช่น คนที่ 4 ต้องพายเรือจากบ้านไปเรียนที่บางนกแขวกทุกเช้าเย็น ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง หากเป็นช่วงหน้าแล้งก็ต้องเดินไปกลับทุกวัน ส่วนน้องสาวคนถัดจากพ่อต้องอยู่บ้านเป็นกำลังสำคัญ ช่วยพ่อแม่ทำงาน ซึ่งในช่วงเวลานั้น บิดาเองก็ติดเหล้ามาก และเครียดมาก ยิ่งกว่านั้น ก็ต้องกลุ้มใจหนัก เมื่อทราบว่าลูกชายกำลังจะได้บวช และอีกไม่นานจะกลับเมืองไทย

วันที่ 21 ธันวาคม 2494 คุณพ่อบุญเลื่อน ได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ที่กรุงโรม และเดือนสิงหาคม 2495 ก็เดินทางกลับเมืองไทย ภาพที่ได้พบเห็นและสะเทือนใจมากคือ สภาพบ้านอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก และพี่น้องทุกคนในครอบครัวต้องทำงานหนัก ทั้งๆ ที่ไม่มีเงินเลยทางบ้านก็พยายามจัดงานเพื่อพิธีมิสซาแรกของลูกชาย ในวันที่ 14 สิงหาคม 2495 "การได้เห็นครอบครัวที่ย่ำแย่เช่นนั้น พ่อได้คิดว่า นี่เป็นการจัดการของพระ เพราะปกติคนที่จบจากโรมมา จะต้องมีการต้อนรับใหญ่โต นี่เหมือนกับพระเตือนว่า อย่าจองหอง"

พระคุณเจ้าผู้ย้อนอดีตของตนเอง ยังกล่าวต่ออีกว่า แม้ว่าพ่อได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ที่บ้านเณรบางนกแขวกทันทีที่กลับมา (2495) แต่ "เหตุการณ์ของครอบครัวเป็นเครื่องมือของพระที่เตือนพ่อให้เป็นคนไม่ทะเยอทะยาน ติดดิน เรียบง่าย (Keep low profile) นับจากสภาพครอบครัวที่ลำบาก การได้เห็นความเชื่อมั่นคงและอดทนของแม่ ส่วนเตี่ย กลายเป็นคนขี้เหล้า แต่ในเวลาปกติก็เป็นคนศรัทธา และทุกๆ วันเสาร์ที่พ่อไปช่วยทำมิสซาที่วัดเพลง เตี่ยก็จะมาแก้บาปกับพ่อ"

2 ปี หลังจากการเป็นพระสงฆ์ ครอบครัวหมั้นทรัพย์ ก็ได้สูญเสียมารดา เนื่องจากถูกสุนัขที่เลี้ยงไว้เป็นบ้า กัดเข้าที่แก้ม "แม่เสียชีวิตภายใน 1 อาทิตย์ถัดมา ครอบครัวในช่วงนั้นได้น้องสาวคนถัดจากพ่อ เป็นผู้ดูแลรับภาระเลี้ยงน้องๆ อย่างไรก็ตาม ในสภาพที่ขาดแม่นี้ พ่อก็ยังพบว่า สมาชิกในครอบครัวทุกคนยังมีความศรัทธา"


จุดเริ่มต้นแห่งการมีสำนึกทางสังคม

เมื่อคุณพ่อบุญเลื่อนได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานที่โรงเรียนดรุณาราชบุรี ในปี พ.ศ. 2500 แม้ว่าท่านจะรับผิดชอบงานสอนวิชาภาษาอังกฤษ และยังได้ตั้งวงดนตรี (วงแตร) ของโรงเรียน แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่ในความสำนึกและการไตร่ตรองของคุณพ่อเสมอ คือ ประสบการณ์ที่เรียนรู้จากพ่อผู้เคยเป็นครูของวัด ผู้มีความยากลำบากมาก เมื่อมาเห็นชีวิตครูในโรงเรียนดรุณาราชบุรีก็ไม่แตกต่างจากชีวิตที่บิดาเคยประสบ เงินเดือนที่ได้รับช่างน้อยนิด และอยู่ต่ำกว่าเส้นพอยังชีพ (Subsistence Line) ท่านได้พยายามหาวิธี และทางออกเพื่อช่วยเหลือด้านสวัสดิการให้ครูในโรงเรียน "ในระยะแรกพ่อศึกษาเกี่ยวกับสหกรณ์ออมทรัพย์ แต่ยังไม่ค่อยชอบ ในที่สุด ได้พบวิธีการของเครดิตยูเนี่ยน นั่นหมายถึง พ่อได้พบกับคุณพ่ออัลเฟรด บอนแนงค์, เอส.เจ. (Rev. Alfred Bonningue, S.J.) สงฆ์คณะเยสุอิต ผู้บุกเบิกการทำงานกับคนยากจนในสลัมดินแดง และห้วยขวางเมื่อประมาณปี 2505-2506"

ปี 2508 ถือเป็นเวลาที่คุณพ่อบุญเลื่อน ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานเครดิตยูเนี่ยนอย่างเต็มตัว โดยได้รับการสนับสนุนจากพระคุณเจ้า ป.คาเร็ตโต ที่อนุญาตให้คุณพ่อบุญเลื่อน ไปร่วมสัมมนา Priest's Institute for Social Action (PISA) ที่ฮ่องกง เป็นเวลา 1 เดือน (ตุลาคม) ที่จัดการประชุมคู่ขนานไปกับสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ที่กำลังจัดประชุมเพื่อออกสมณสาสน์ว่าด้วยพระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ (Gaudium et Spes) แนวคิดที่สำคัญจากการประชุม PISA คือ ทำอย่างไรที่เครดิตยูเนี่ยนจะเป็นเครื่องมือที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในเอเชีย และการที่พระศาสนจักรในเอเชียต้องเกี่ยวข้องกับสังคมในงานพัฒนาคน ตามที่สมณสาสน์การพัฒนาประชาชาติ (Populorum Progressio) (ที่ออกมาในปี 2510) ได้มุ่งนำเสนอสาระสำคัญดังกล่าว

ในปีเดียวกัน (2508) หลังกลับจากการสัมมนาที่ฮ่องกง คุณพ่อบุญเลื่อนยังได้เข้าร่วมสัมมนาผู้นำเครดิตยูเนี่ยนระดับโลก ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพยายามดำเนินการก่อตั้งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่โรงเรียนดรุณาราชบุรี จนสำเร็จในเดือนกันยายน 2509 ด้วยความช่วยเหลือจากคุณพ่อบอนแนงค์ เพื่อแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเพื่อนครูในโรงเรียนดังกล่าว และนี่ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของคุณพ่อบุญเลื่อน ในงานพัฒนาสังคม

ต่อจากนั้นคุณพ่อบุญเลื่อน ร่วมกับกลุ่มอาสาสมัครของศูนย์กลางเทวา ทำการขยายแนวคิดงานพัฒนา โดยอาศัยเครดิตยูเนี่ยนเป็นเครื่องมือไปยังที่ต่างๆ จนกิจกรรมเครดิตยูเนี่ยนเป็นที่แพร่หลายไประดับหนึ่ง จนมีคณะทำงานที่เรียกว่า "คณะอาสาสมัครเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย" ในปี 2511 ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อและก่อตั้งอย่างเป็นทางการว่า "ศูนย์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย" ในปี 2512 อย่างไรก็ตามเมื่อทำงานไปได้สักพักหนึ่ง คุณพ่อบุญเลื่อนก็ถูกติดตามผลงานจากพระคุณเจ้า ป.คาเร็ตโต ผู้ตั้งคำถามที่เป็นการท้าทายพระสงฆ์รุ่นเยาว์ว่าไปร่วม PISA มาแล้วไม่เห็นทำอะไรเลย ทั้งนี้เพราะพระคุณเจ้า ป.คาเร็ตโต ได้เห็นความก้าวหน้าของอีกงานหนึ่งที่เกิดขึ้นในมิสซังในช่วงเวลาเดียวกันนั่นคือ งานเกษตรที่วัดโคกมดตะนอย "นี่ พ่อถือว่าเป็นงานท้าทายมาก ทั้งนี้พบว่า ในภายหลังกลุ่มเกษตรกรในที่อื่นๆ ก็ต้องล้มเลิกไป ในขณะที่งานเครดิตยูเนี่ยน ยังดำเนินต่อไปได้ และสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน... นี่เป็นอีกเครื่องหมายแห่งกาลเวลา ที่เตือนพ่อให้เป็นคนติดดิน (Keep low Profile) นั่นคือ แม้จะทำงานได้ผลสำเร็จต่างๆ ก็ไม่ต้องโอ้อวด"

การเกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านสังคมของพระศาสนจักรไทย ได้ก่อตั้งคณะกรรมการคาทอลิกสงเคราะห์และพัฒนา โดยมีพระคุณเจ้าคลาเรนต์ ย. ดูฮาร์ต CSs R. เป็นประธาน และมีคุณหมอชวลิต จิตรานุเคราะห์ เป็นเลขาธิการท่านแรก หลังจากรับตำแหน่งไประยะหนึ่ง คุณหมอชวลิตมีความคิดเห็นว่า ควรที่จะหาพระสงฆ์ที่สนใจงานเครดิตยูเนี่ยนมาทำงานเต็มเวลาให้แก่คณะกรรมการฯ คุณหมอจึงไปขออนุญาตพระคุณเจ้า ป.คาเร็ตโต เพื่อให้คุณพ่อบุญเลื่อนมาช่วยทำงาน แต่กลับได้คำปฏิเสธจากพระคุณเจ้า ป.คาเร็ตโต

ต่อมาในปี 2512 เมื่อพระคุณเจ้า ป.คาเร็ตโต ต้องย้ายไปทำงานในสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี และมีพระสังฆราชใหม่คือ พระคุณเจ้ารัตน์ บำรุงตระกูล ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบสูงสุดของมิสซังราชบุรี คุณหมอชวลิตได้รีบไปทาบทามขอคุณพ่อบุญเลื่อนไปร่วมงานกับคณะกรรมการฯ จากพระคุณเจ้ารัตน์อีกครั้ง ซึ่งท่านก็ไม่ขัดขวาง เมื่อได้รับคำตอบเช่นนี้ คุณพ่อบุญเลื่อนที่กำลังเป็นเจ้าอาวาสวัดแม่กลอง กอปรกับหน้าที่และความรับผิดชอบใหม่ในฐานะเลขาธิการของคณะกรรมการฯ คุณพ่อมีความคิดว่า ตนเองยังมีความรู้ด้านการพัฒนาไม่เพียงพอ จึงขอไปศึกษาต่อที่ Institute of Social Order (ISO) ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นเวลา 3 เดือน

ปี 2531 ภายหลังจากการรับการอบรมที่ ISO คุณพ่อก็ได้ลุยงานพัฒนาเต็มที่ ควบคู่ไปกับงานอภิบาลในฐานะเจ้าอาวาสวัดที่ยังเป็นอยู่ ต่อมาพระคุณเจ้ารัตน์เห็นว่า ควรจะให้คุณพ่อบุญเลื่อน มุ่งไปในการทำงานพัฒนา จึงอนุญาตให้ไปทำงานเต็มเวลาในที่สุด อย่างไรก็ตาม การเข้ามาทำงานในฐานะเลขาธิการของคณะกรรมการคาทอลิกสงเคราะห์และพัฒนานั้น ควบคู่ไปกับการรับตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทยก็มีอุปสรรคไม่น้อย เช่น มีคนเข้าใจผิดเมื่อครั้งคุณพ่อและเจ้าหน้าที่สตรีลงไปทำงานในพื้นที่ที่ราชบุรี "ซึ่งการถูกกล่าวหาในเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานผู้หญิงนี้ พ่อถือว่าเป็นการเตือนของพระให้ดำเนินชีวิตอย่างสุภาพ เรียบง่าย เพราะในการทำงานเราคงหลีกเลี่ยงเรื่องการเข้าใจผิดจากคนอื่นๆ ไม่ได้"


สู่การทำงานในระดับภูมิภาค

จากการทำงานระดับชาติ ทำให้คุณพ่อต้องออกไปประสานงานระดับนานาชาติ และในขณะนั้น พระศาสนจักรระดับเอเชีย ได้เริ่มการก่อตั้งสหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย (Federation of Asian Bishops' Conferences / FABC) เมื่อปี 2513 ที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในโอกาสที่พระสันตะปาปา ปอล ที่ 6 เสด็จเยือนประเทศดังกล่าว จากการประชุมสหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย พระศาสนจักรระดับทวีปเห็นความสำคัญให้มีการทำงานพัฒนาอย่างจริงจัง จึงได้มีความพยายามก่อตั้งสำนักงานเพื่อปฏิบัติงาน โดยมีพระสังฆราชและพระสงฆ์ที่ทำงานด้านสังคมกลุ่มเล็กๆ ได้ร่วมกันผลักดัน และที่สุดสำนักงานเพื่อการพัฒนามนุษย์ (Office for Human Development / OHD) ได้รับการก่อตั้งในปี 2514 โดยมีประธานคณะกรรมการบริหารคนแรกคือ พระสังฆราช Julio Xavier Labayen แห่งสังฆมณฑลอินฟันตา (Infanta Diocese) ประเทศฟิลิปปินส์ และมีเลขาธิการ (Executive Secretary) และผู้อำนวยการสำนักงานคนแรกคือคุณพ่อ Roetenberg, CICM. พระสงฆ์ชาวดัชท์ เมื่อสำนักงานเพื่อการพัฒนามนุษย์ก่อรูปอย่างชัดเจน และต้องพัฒนากิจกรรมด้านงานพัฒนาของพระศาสนจักรในเอเชีย คุณพ่อ Roetenberg, CICM. มีความคิดเห็นว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาผู้ที่จะมาทำหน้าที่เลขาธิการคนใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องเป็นพระสงฆ์ชาวเอเชีย

จากการที่คุณพ่อบุญเลื่อนได้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาในระดับเอเชียอยู่บ่อยๆ ทำให้คุณพ่อถูกทาบทามให้เข้าไปทำงานในระดับเอเชีย โดยคุณพ่อ Roetenberg, CICM. ได้เสนอชื่อคุณพ่อบุญเลื่อนเป็นเลขาธิการ และผู้อำนวยการสำนักงานเพื่อการพัฒนามนุษย์ของสหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย ซึ่งเบื้องหลังของการสรรหานี้ใช้เวลานานพอสมควร เพราะมีการกำหนดคุณสมบัติไว้หลายอย่าง เช่น ต้องเป็นผู้สนใจเรื่องความจริงในสังคม ต้องมีความรู้เรื่องคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร และต้องมีพื้นฐานทางด้านเทววิทยาที่ชัดเจน "ซึ่งสำหรับพ่อแล้ว คุณสมบัติที่ 1 และ 2 ของพ่อนั้น นับว่าใช้ได้เพราะพ่อสนใจ ส่วนข้อ 3 นั้นพ่อไม่มีใบปริญญา มีเพียงแต่ประกาศนียบัตรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม พ่อก็ถูกเลือกให้เข้าไปทำงานในตำแหน่งนั้น แม้ว่าจะอยู่ในอันดับที่ 3 หรือ 4" พระคุณเจ้าบุญเลื่อน ดำรงตำแหน่งเลขาธิการบริหารดังกล่าว เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2517 - 2519 ที่ประเทศฟิลิปปินส์"


ความรับผิดชอบระดับภูมิภาคส่งเสริมให้บทบาทในระดับประเทศเข้มข้น

การที่คุณพ่อต้องเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทยและฟิลิปปินส์ ทำให้การเข้าใจสภาพความเป็นจริงของสังคมเอเชีย โดยเฉพาะปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางลัทธิอุดมการณ์ ซึ่งคุณพ่อเองได้คาดการณ์สังคมไทยในช่วงเวลาดังกล่าวว่า น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 "จากจุดนี้เอง เวลาที่พ่อไปพูดที่ไหน พ่อก็จะบอกเสมอว่า สถานการณ์บ้านเมืองกำลังน่าเป็นห่วง และพ่อมีความคิดว่า จำเป็นที่พระศาสนจักรจะต้องทำงานในประเด็นด้านสังคมและการเมืองด้วย จึงริเริ่มให้มีกิจกรรมส่งเสริมความยุติธรรมและสันติ ในสำนักงานคณะกรรมการสงเคราะห์และพัฒนาขึ้น" นอกจากนี้ในการจัดสัมมนาเพื่อส่งเสริมความรู้ตามที่ต่างๆ คุณพ่อบุญเลื่อนได้ใช้วิธีการวิเคราะห์โครงสร้างสังคมแบบลัทธิมาร์ก เชื่อมโยงไปสู่เรื่องความยุติธรรม ศักดิ์ศรีของมนุษย์ คนยากจนและปัญหาสังคม และอีกหลายๆ ครั้ง ก็ได้เชิญวิทยากรจากฟิลิปปินส์ มาช่วยอบรมเรื่องการวิเคราะห์สังคม ให้แก่ศาสนิกผู้สนใจสถานการณ์สังคม / การเมือง ทั้งที่เป็นฆราวาส พระสงฆ์คาทอลิก และพระภิกษุ

ปี 2519 ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอีกครั้งของชีวิตสงฆ์ของคุณพ่อ คุณพ่อได้รับการแต่งตั้งจากสันตะสำนักวาติกัน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ให้เป็นพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลอุบลราชธานี คุณพ่อได้แบ่งปันถึงความรู้สึกกังวลกับฆราวาสเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิด ในครั้งแรกที่ได้รับทราบคำเสนอจากกรุงโรม ทั้งๆ ที่ในความคิดของคนอื่นๆ ถือเป็นสุดยอดของการรับรู้ที่พระศาสนจักรมอบให้ ซึ่งเพื่อนร่วมงานได้ให้กำลังใจว่า "นี่เป็นการแสดงการรับรู้ และความชื่นชม ที่พระให้แก่พ่อในงานส่วนรวมของพระศาสนจักร" พิธีอภิเษกแห่งการเป็นพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลอุบลราชธานี มีขึ้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ของปีเดียวกัน โดยพระคุณเจ้าเลือกคติพจน์ว่า "อยู่กับปวงประชา" (Omnia Omnibus)

อย่างไรก็ตาม บทบาทการเข้าไปมีส่วนในการเป็นมโนธรรมสังคมของพระสังฆราชคนใหม่ ในภาวะที่บ้านเมืองกำลังตกอยู่ในวิกฤตความขัดแย้งทางอุดมการณ์ที่รุนแรงก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างหนักแน่น ช่วงเหตุการณ์หลัง 6 ตุลาคม 2519 พระคุณเจ้าบุญเลื่อนถูกซักฟอกจากสมาคมคาทอลิก และกลุ่มนวพล "ตรงนี้ พ่อถือว่าเป็นเครื่องหมายที่พระได้เตือนว่า อย่าวิ่งเร็วเกินไป หรืออย่าทำตัวเด่นดัง (High Profile) เพราะยังมีพี่น้องคาทอลิกอีกจำนวนมากที่ตามไม่ทัน" เมื่อผ่านวิกฤตของความไม่เข้าใจจากสมาชิกของพระศาสนจักร พระคุณเจ้าบุญเลื่อน ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานของกรรมาธิการฝ่ายสังคม ของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2520 สืบต่อพระคุณเจ้าเอก ทับปิง


สร้างพันธมิตร

เพื่อที่จะทำให้แนวคิดงานพัฒนาที่ก่อตัวในช่วงเวลาที่ต้องการนำไปปฏิบัติจริงนั้น เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างพันธมิตร และต้องมีการเสวนาระหว่างศาสนิกต่างความเชื่อ แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน พระคุณเจ้าบุญเลื่อนได้มีโอกาสรู้จักกับผู้นำปัญญาชน ผู้มีบทบาทต่อสังคมการเมืองไทยในช่วงเวลานั้น ท่านแรกคือ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ "พ่อได้มีโอกาสรู้จักกับอาจารย์สุลักษณ์ เมื่อปี 2514 ในโอกาสที่ไปร่วมประชุม Education Social Workshop หรือ ESAW ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งอาจารย์สมาน แสงมะลิ ในฐานะผู้แทนระดับสูงจากกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับอาจารย์สุลักษณ์นั้น ท่านเป็นตัวแทนของมูลนิธิโกมลคีมทอง" การไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ ESAW ทำให้พระคุณเจ้าบุญเลื่อน ได้เรียนรู้ว่า ในระบบการศึกษา ต้องมีการตื่นตัว และเข้าใจสังคม (Social Awareness) และพระคุณเจ้าได้มีโอกาสบรรยายเรื่อง เครดิตยูเนี่ยนกับการพัฒนา ให้แก่ผู้ร่วมประชุมสัมมนาดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการสร้างสำนึกทางสังคม

ผลของการรู้จักอาจารย์สุลักษณ์ ได้นำไปสู่เส้นทางแห่งความร่วมมือกันต่อมา โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ ตุลาวิปโยค 2519 ได้มีการก่อตั้งองค์กรที่เป็นมโนธรรมของสังคมขึ้น คือ กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) ซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมือของศาสนิกต่างความเชื่อที่ปรารถนาจะทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้แก่สังคม จากจุดยืนของศาสนาในช่วงวิกฤตของบ้านเมือง คณะผู้ร่วมก่อตั้ง กศส. ประกอบด้วย อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (พุทธ) พระคุณเจ้าบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ (คาทอลิก) และอาจารย์โกศล ศรีสังข์ (โปรแตสแตนท์)

บุคคลที่สำคัญท่านที่สองที่พระคุณเจ้าบุญเลื่อนได้มีประสบการณ์ทำงานด้วยคือ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ "พ่อได้มีโอกาสรู้จักอาจารย์ป๋วย จากการแนะนำของอาจารย์สุลักษณ์ ในปี 2515 ในช่วงเวลาที่อาจารย์ป๋วยได้ก่อตั้ง มูลนิธิบูรณะชนบท โดยการเรียนรู้จาก Movement ในประเทศไต้หวัน ตัวพ่อเอง มักจะได้รับเชิญจากอาจารย์ป๋วย ให้ไปร่วมบรรยายเรื่อง เครดิตยูเนี่ยน ในโอกาสจัดอบรมสัมมนาแก่ผู้นำของชนบทของมูลนิธิฯ ในที่ต่างๆ"

พระคุณเจ้าบุญเลื่อนมีความประทับใจต่ออาจารย์ป๋วย และได้ประยุกต์เอาแนวคิดและเทคนิคการทำงานบางอย่างมา เพราะเห็นว่า ท่านเป็นคนจริงใจ ทำงานจริง และสนใจที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในภาคชนบท "สิ่งที่พ่อได้เรียนรู้จากอาจารย์ป๋วยก็คือ (1) อาจารย์ป๋วยมักจะแสดงความคิดเห็นเสมอว่า เราเห็นพ้องต้องกันว่า ทางรอดของภาคเศรษฐกิจในสังคมไทยอยู่ที่ชนบท หรือเกษตรกร ดังนั้น ต้องสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นองค์กร และรู้จักบริหารกิจการของเขา (2) ท่านเป็นผู้นำที่ทำงานด้วยหัวใจและสมอง สมองในที่นี้คือ ทฤษฎีทางเศรษฐกิจและการเงิน และในการทำงานพัฒนานั้นใช้แต่หัวใจไม่พอ เราต้องการสมองด้วย (3) เวลาที่พักผ่อน ท่านก็จะให้เพื่อนร่วมงานและตัวท่านได้พักผ่อนจริงๆ โดยท่านถือว่าช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน เป็นช่วงเวลาแห่งการแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างเอกภาพของคนทำงาน"

พระคุณเจ้าบุญเลื่อน ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมงานพัฒนากับอาจารย์ป๋วย ในช่วงสุดท้ายของการใช้ชีวิตในเมืองไทยของอาจารย์ป๋วย ซึ่งอาจารย์ป๋วยก็เกี่ยวข้องกับขบวนการนักศึกษาและขบวนการงานพัฒนาชนบท "จากความสัมพันธ์ในสายงานดังกล่าว ตัวพ่อเองก็ถูกคุณพ่อบุญเลิศ ธาราฉัตร และกลุ่มนวพลซักฟอก และสอบถามว่าไปพบกับอาจารย์ป๋วยมาใช่หรือไม่".... ในส่วนของอาจารย์ป๋วย ท่านสนใจทางการเมือง ก็ไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อส่วนรวม" การถูกกล่าวหาจากสมาคมคาทอลิก และผู้ที่เป็นเพื่อนพระสงฆ์ด้วยกัน พระคุณเจ้าบุญเลื่อนตระหนักดีว่า นั่นเป็นสัญญาณที่เตือนสติตัวท่านเองว่า ต้องติดดิน และสุภาพอย่างที่สุด

บุคคลสำคัญท่านที่สามที่พระคุณเจ้าบุญเลื่อนมีโอกาสรู้จักและได้เข้าพบเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันคือ ท่านรัฐบุรุษปรีดี พนมยงค์ "ภายหลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแล้ว พ่อได้มีโอกาสไปเยี่ยมท่านอาจารย์ปรีดี ที่ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2520 ท่านอาจารย์ได้ให้กำลังใจแก่พ่อ และกล่าวเตือนให้ทำงานด้วยความรอบคอบต่อสถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนั้น ทั้งนี้ พ่อ และเพื่อนๆ จาก กศส. กำลังรณรงค์ช่วยเหลือกลุ่มนักศึกษาที่เป็นกลุ่มแกนนำ และถูกจับในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม"


ก่อตั้งหน่วยงานต่างๆ ด้านสังคม

เพื่อที่จะให้งานพัฒนาของพระศาสนจักรสามารถก่อรูปอย่างจริงจังขึ้นมา พระคุณเจ้าบุญเลื่อนได้ทำงานด้านเผยแพร่ความคิดอย่างไม่ย่อท้อ โดยอาศัยกิจกรรมอบรมสัมมนาที่จัดขึ้น พร้อมกับกระตุ้นให้เกิดทีมผู้สนใจร่วมงานพัฒนาขึ้นมา ในเวลาเดียวกัน พระคุณเจ้าบุญเลื่อน ก็ติดตามกระแสของสังคมบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด และผลักดันให้เกิดกิจกรรมเพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่เป็นอยู่ ดังจะเห็นได้จาก ลำดับงานของพระศาสนจักรในปัจจุบัน ที่เริ่มจากการผลักดันทั้งโดยตรง และโดยอ้อม ด้วยการสนับสนุนของพระคุณเจ้าบุญเลื่อน นั่นคือ จากงานพัฒนาชาวบ้าน และองค์กรชุมชน ของ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนา ไปสู่งานสงเคราะห์ผู้ลี้ภัย ที่กลายเป็นคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อผู้ลี้ภัยและประสบภัย (โคเออร์) งานฝึกอบรมเรื่องชีวิตครอบครัว คือ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อส่งเสริมชีวิตครอบครัว งานส่งเสริมความยุติธรรมและสันติ ที่เป็นคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ และงานส่งเสริมศักดิศรีและสิทธิของชนกลุ่มน้อย ในปัจจุบันคือ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ และล่าสุดคือ งานส่งเสริมศักดิ์ศรีสตรี ที่กลายเป็นคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสตรี

ไม่เพียงแต่การมีบทบาทสำคัญภายใน และเพื่อพระศาสนจักรคาทอลิกเท่านั้น พระคุณเจ้าบุญเลื่อนยังเข้าไปร่วมทำงานกับกลุ่มกัลยาณมิตรต่างศาสนา ในการก่อตั้งกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) และคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา (ศพพ.) ทั้งสองหน่วยงานนี้ ถูกตั้งขึ้นมาในช่วงเหตุการณ์วิกฤตทางการเมือง ระหว่างปี 2516 - 2519 เพื่อทำงานรณรงค์เรียกร้องให้ฝ่ายปกครองได้ปล่อยบรรดานักศึกษาที่ถูกจับในข้อกล่าวหาว่า ต่อต้านรัฐบาลและฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ รวมทั้งนักโทษการเมือง โดยที่ทั้งสองหน่วยงานมีจุดยืนทางศาสนา ที่จะคัดค้านและต่อต้านทุกรูปแบบของความรุนแรง ที่สร้างผลกระทบต่อศักด์ศรีและสิทธิของประชาชน


บทบาทของผู้กระตุ้นและผลักดัน

พระคุณเจ้าบุญเลื่อน เป็นบุคคลที่จับกระแสความเคลื่อนไหวของสังคมอยู่ตลอดเวลา และถือว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณแห่งกาลเวลา ที่กำลังบอกถึงการเปลี่ยนแปลงในสังคม ท่านตระหนักดีว่า พระศาสนจักรไทยยังไม่สามารถเป็นพระศาสนจักรที่กระฉับกระเฉง ตื่นตัวและอยู่กับความเป็นจริงเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี งานของพระศาสนจักรที่มีอยู่ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคม ควรจะเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่อง และเต็มไปด้วยประสิทธิภาพ โดยผ่านการทำงานที่ใช้ประเด็นปัญหามาพัฒนาเป็นกิจกรรม หรือแผนงาน "นี่เป็นหน้าที่ของผู้นำในพระศาสนจักร ที่จะติดตามและกลั่นกรองสถานการณ์สังคมที่กำลังเกิดขึ้น และกระตุ้นให้บุคคลที่เกี่ยวข้องในพระศาสนจักรได้มีสำนึกและร่วมในกิจกรรมตอบสนองต่อปัญหาที่เป็นอยู่ให้มากขึ้น" ดังตัวอย่างในอดีตที่พระคุณเจ้าบุญเลื่อนได้มีส่วนผลักดันให้มีกิจกรรม เพื่อเป็นกระบอกเสียงต่อปัญหาความอยุติธรรม และความรุนแรงในสังคม ซึ่งได้พัฒนาเป็นหน่วยงานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ และในระยะหลัง ท่านได้ผลักดันให้สมาชิกพระศาสนจักรมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 การจัดเวทีสัมมนาในหมู่คริสตชนเพื่อนำเสนอความคิดเห็นในการจัดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อปี 2539 จนถึง ต้นปี 2540 และการร่วมมือของศาสนิกต่อวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2540 เช่นกัน

พระคุณเจ้าบุญเลื่อนมียุทธวิธีในการทำงาน โดยให้ความสำคัญและสนับสนุนหน่วยงานที่เป็นแขนขาด้านงานพัฒนาสังคมของพระศาสนจักรได้ลงมือกระทำก่อน หากมีความขัดข้อง เช่น การทำงานของหน่วยงานซึ่งเป็นตัวแทนของพระศาสนจักรไทย จะส่งผลกระทบกลับมาสู่ภาพรวมของพระศาสนจักร ซึ่งเป็นเสมือนชนกลุ่มน้อยของประเทศ โดยเฉพาะในกรณีความอ่อนไหวทางการเมืองหรือการละเมิดสิทธิ พระคุณเจ้าบุญเลื่อนจะผลักดันให้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกพระศาสนจักรเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพลังสังคมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ พระคุณเจ้าบุญเลื่อน ยังได้สนับสนุนบรรดาพระสงฆ์ที่สนใจงานพัฒนา เข้ารับการอบรมหลักสูตรงานพัฒนา (Ecumenical Institute for the Development of People 2 INODEP) ที่ประเทศฝรั่งเศส รวมทั้ง ยังให้มีการจัดอบรมในหลักสูตรเดียวกันที่ประเทศไทย เพื่อให้บรรดานักพัฒนาสังคมของพระศาสนจักรในอดีต ได้เพิ่มพูนทักษะในการวิเคราะห์สถานการณ์สังคม และการวางแผนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

บรรยากาศการพัฒนาองค์ความรู้ด้านงานพัฒนาที่เฟื่องฟู หากศึกษาประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรเอเชีย พบว่า ช่วงเวลานั้น ยังเป็นช่วงสมัยที่พระคุณเจ้าบุญเลื่อน มีตำแหน่งหน้าที่ในฐานะประธานของคณะกรรมการบริหาร สำนักงานเพื่อการพัฒนามนุษย์ของสหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย ระหว่างปี 2521 - 2527 (1978 - 1984) และถือได้ว่า ทศวรรษที่ 80 เป็นช่วงที่งานพัฒนามีความชัดเจนมาก 2 ด้านคือ งานด้านความยุติธรรมและสันติ ซึ่งมิติด้านความยุติธรรมและสันติถือเป็นชีวิตจิตที่แท้ของงานพัฒนาโดยรวม งานที่สองที่พระคุณเจ้าบุญเลื่อนได้พยายามผลักดันให้พระศาสนจักรในเอเชียนำเอาไปปฏิบัติคือ การรับเอางานส่งเสริมคุณค่าศาสนาและวัฒนธรรมไปเป็นแผนปฏิบัติงานอภิบาล ระดับทวีป ตั้งแต่เอเชียตะวันออกจรดเอเชียใต้


ผู้ให้แรงบันดาลใจในปัจจุบัน

เมื่อถามถึง ทุกวันนี้ พระคุณเจ้าบุญเลื่อน ทำหน้าที่ของผู้ให้แรงบันดาลใจอย่างไร พระคุณเจ้าบุญเลื่อน ในวัย 71 ปี (ปี 2543 เวลาที่ทำการศึกษา) ได้สะท้อนกับว่า "ทุกวันนี้ หน้าที่หลักของพ่อคือ การพูด และต้องพูด เพราะโดยวัยแล้ว พ่อไม่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงในส่วนของการปฏิบัติงาน แต่พ่อทำหน้าที่เสนอความคิด ให้แรงบันดาลใจแก่ทุกคน ให้ความหวัง และเป็นปากเสียงแทนผู้ที่เสียงของเขาไม่มีใครได้ยิน" คำตอบที่สอง ซึ่งดูเหมือนมีความสำคัญมาก คือ โดยการดำเนินชีวิต "พ่อเห็นว่า เมื่อเราแน่ใจในความคิดว่า หนทางที่ถูกต้องคือ ต้องทวนกระแส ฉะนั้น การดำเนินชีวิตเพื่อเป็นพยาน ต้องทวนกระแสด้วย นั่นคือ การมีชีวิตอยู่อย่างสมถะ เรียบง่าย"


ความสำเร็จในชีวิต

พระคุณเจ้าบุญเลื่อน ตระหนักดีว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตในเส้นทางแห่งการพัฒนา มาจากการจัดการของพระ นี่เป็นการแสดงออกถึงการมีชีวิตภายในที่ลึกซึ้ง วิสัยทัศน์ของพระคุณเจ้าต่องานพัฒนามนุษย์ไม่เคยเปลี่ยนแปลงจนถึงทุกวันนี้ ในการพูดเวทีต่างๆ หรือจากงานเขียน ท่านได้แสดงจุดยืนว่า บุคคลมนุษย์เป็นหัวใจของการพัฒนา และต้องมาก่อนการพัฒนาด้านอื่นๆ บ่อยครั้งที่แนวคิดของท่านไม่เป็นที่ยอมรับจาก สมาชิกของพระศาสนจักร แต่กลับได้รับความสนใจจากกลุ่มเพื่อนศาสนิกชนอื่นๆ "สิ่งที่พ่อได้พูดมานานคือ การทำงานพัฒนาคนทั้งครบ (Integral Human Development) แต่ไม่ค่อยมีผู้ใดรับฟัง บัดนี้เริ่มเป็นที่ยอมรับจากสังคม เห็นได้จากแผนพัฒน์ฯ ฉบับที่ 8 พ่อถือว่า กระแสสังคมได้กลับมาในแนวทางของเรา"


อุปสรรคที่ตระหนักในฐานะผู้นำ

ในฐานะที่เป็นผู้นำ ทั้งในระดับประเทศ และระดับทวีป โดยเฉพาะในประเด็นหลัง พระคุณเจ้าบุญเลื่อนมีความเห็นว่า ในยุคปัจจุบัน ภาพงานพัฒนามนุษย์โดยรวม จากการทำงานของสำนักงานเพื่อการพัฒนามนุษย์ของสหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย (Office for Human Development) นั้นอ่อนลง ส่งผลให้การเข้าใจทิศทาง และเป้าหมายของงานพัฒนาในเอเชียก็ขาดความชัดเจนไปด้วย "สำนักงานพัฒนามนุษย์ไม่สามารถทำบทบาทการเป็นผู้นำด้านความคิดงานพัฒนาเช่นอดีต แม้ว่าโดยหลักการยังดีอยู่ แต่น่าเสียดายที่พระศาสนจักรเอเชียขาดบุคลากรที่จะเข้ามาสืบทอดงานพัฒนา"

ปัญหาเช่นนี้ เป็นปัญหาที่สำคัญในพระศาสนจักรไทยเช่นกัน "พระศาสนจักรเรากำลังถูกพัดพาไปในกระแสของความทันสมัย จากโลกาภิวัตน์ จึงทำให้ผู้ที่ร่วมงานสังคมพัฒนาในขณะนี้ ยังไม่สามารถเป็นผู้นำด้านความคิดเพื่อถ่ายทอดความจริง และความเข้าใจว่าในเวลานี้ เรากำลังอยู่ที่ไหน... ตัวพ่อเองกังวลว่าในขณะที่ตนเองกำลังวางมือ แต่กลับมองไม่เห็นผู้ที่จะมาสานต่อแนวคิดด้านงานพัฒนาสังคม ลงไปสู่ภาคปฏิบัติจริงๆ ทั้งในส่วนของพระสังฆราชและพระสงฆ์ ดังนั้นควรจะมีกระบวนการที่จะพัฒนาและสืบทอดบุคลากรอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นผู้นำด้านงานพัฒนาสังคม"


ความคาดหวังต่องานพัฒนาสังคม

พระคุณเจ้าบุญเลื่อน ไม่เคยล้มเลิกความคิดและยุทธวิธีในการทำงานพัฒนาเลย ท่านมีความหวังอยู่ตลอดเวลาว่า งานพัฒนาสังคมจะเป็นงานที่ทำให้แนวคิดเรื่องการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เป็นจริงโดยการปฏิบัติในวิถีชีวิตของคนทุกชนชั้น กิจกรรมเช่นกลุ่มออมทรัพย์เป็นตัวอย่างของกิจกรรมงานพัฒนาที่เริ่มจากงานเครดิตยูเนี่ยน ที่พระคุณเจ้าได้มีบทบาทสำคัญในอดีต บัดนี้ได้กลายเป็นที่ยอมรับในสังคมใหญ่ ว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และยังได้รับการสนับสนุนจากประมุขของประเทศ ในปี 2540 ที่ทรงต้องการให้คนในประเทศ ใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง มาแก้ไขความล้มเหลวของภาคเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามแม้กิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์ไม่ใช่งานใหม่ในสังคมยุคพันปีที่สาม แต่กลับกลายเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสำหรับกลุ่มต่างๆ ในชุมชนได้แสดงออกซึ่งความรับผิดชอบร่วมกัน และนำไปสู่การบรรลุจุดมุ่งหมายที่สำคัญในการพัฒนา นั่นคือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรประชาชน ต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและการเมืองของประเทศ

ในบริบทของงานพัฒนา พระคุณเจ้าบุญเลื่อนคาดหวังว่า การเสริมสร้างความเข้มแข็งจะเกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มชาวบ้าน หรือ คนในชุมชน และกลุ่มพระสงฆ์นักบวช "สำหรับกลุ่มชาวบ้าน พ่อหวังว่า งานพัฒนาของเรา ควรช่วยให้เขาสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในงานบริหารส่วนท้องถิ่น การร่วมกำหนดนโยบาย และการช่วยให้เขาได้จัดการเกี่ยวกับชีวิตและชุมชนของตนได้ (Self - determination) เช่นนี้ ถือว่า เป็นการเสริมความเข้มแข็งจากพื้นฐานความเป็นจริงของชุมชน... ส่วน กลุ่มนักบวช ควรได้รับการส่งเสริมโดยอาศัยกระบวนการปลุกจิตสำนึก เพื่อให้มีการตระหนักรับรู้ต่อปัญหาสังคมมากขึ้น" ยิ่งกว่านั้นบรรดาคณะนักบวช รวมทั้งพระสงฆ์ ควรเคารพในจิตตารมณ์ของคณะ "แต่ดูเหมือนว่า นักบวชและพระสงฆ์ส่วนใหญ่ กำลังใช้จิตตารมณ์ของผู้ก่อตั้ง-ที่ส่วนใหญ่มุ่งเพื่อช่วยคนยากไร้ คนที่อยู่ชายขอบ-ไปเพื่อตนเอง และสร้างสถาบันของตนให้เข้มแข็ง โดยที่บอกว่า จะต้องทำให้ตนเองเข้มแข็งก่อน แล้วถึงจะไปช่วยผู้อื่น ดังนี้ ในกระบวนการที่ทำให้สถาบันของตนเองเข้มแข็งก่อนได้ไปทำลายคนรอบข้าง หรือแม้แต่พระศาสนจักรเอง นี่คือ ข้อบกพร่อง" อย่างไรก็ตาม ผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ท่านนี้ ยังเห็นสัญญาณแห่งความพยายามของคณะนักบวชบางคณะที่พยายามทบทวน และค้นหาจิตตารมณ์ที่แท้จริงของตนเอง แม้ว่าต้องใช้เวลา เนื่องจากการตกอยู่ในกระแสสังคมร่วมสมัยมาหลายปี


สิ่งที่ได้ประจักษ์ในการทำงานตลอดเวลา 3 ทศวรรษ

ทุกวันนี้ ทัศนคติของสมาชิกของพระศาสนจักรต่องานพัฒนาสังคมกำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น บางกลุ่ม บางคณะได้รับเอาแนวคิดงานพัฒนาไปสู่งานของตนโดยเฉพาะการบูรณาการเข้าไปในงานอภิบาล อย่างไรก็ตาม พระคุณเจ้าบุญเลื่อน ได้แสดงความกังวลใจว่า "แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่เปิดกว้างมากขึ้น แต่กรอบความคิดของพระศาสนจักรที่เป็นสถาบัน ยังติดอยู่กับเรื่องการเพิ่มจำนวนคาทอลิกมากกว่าการคำนึงถึงเรื่องคุณภาพของประชาชน - ทั้งคาทอลิก และศาสนิกชนอื่นๆ"

พระศาสนจักรต้องตระหนักว่า ควรทำอย่างไรที่จะเป็นแสงสว่างของโลก (มธ 5:14) และการที่เป็นพระศาสนจักรชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย พระศาสนจักรควรจะผสานตัวเองเข้าไปสู่วัฒนธรรมและความเป็นจริงของสังคมไทยเพื่อที่จะสร้างความสันติสุข การประกาศข่าวดีในโลกสมัยใหม่นั้นไม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นที่จะเพิ่มจำนวนคาทอลิก แต่ทำอย่างไรที่ภาพลักษณ์ของงานพัฒนาสังคมจะขยายพระอาณาจักรของพระเจ้าในสังคม โดยการช่วยให้สมาชิกในชุมชน หรือสังคมต่างๆ ได้ค้นพบคุณค่าของพระวรสารในความเชื่อที่คนต่างๆ เหล่านั้นนับถืออยู่ และประยุกต์หรือนำมาปฏิบัติในบริบทของตน "คุณค่าของงานพัฒนาควรช่วยให้พันธกิจ งานอภิบาลได้นำไปสู่การค้นพบ หรือการตอกย้ำชีวิตฝ่ายจิตของแต่ละบุคคลและเกิดการปรับเปลี่ยนในภาคปฏิบัติของชีวิตประจำวัน ดูตัวอย่างของอาจารย์ป๋วย แม้ท่านไม่ได้รับศีลล้างบาป แต่ท่านมีคุณค่าของพระวรสารท่านได้ประกาศและปฏิบัติคุณค่าพระวรสาร นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แม้มิชชันนารีเข้ามาทำงานหลายร้อยปีแล้ว แต่จำนวนประชากรคาทอลิกถือเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ของประเทศเท่านั้น"

พระคุณเจ้าบุญเลื่อน ยังได้แบ่งปันถึงสิ่งที่ได้ประจักษ์โดยตัวท่านเอง คือ กระบวนการคัดเลือกและการอบรมสั่งสอนบุคลากรของพระศาสนจักรว่า เป็นสิ่งจำเป็นทีเดียวที่พระศาสนจักรต้องทบทวนความหมายของพระสงฆ์ นักบวช และคริสตชนที่มีคุณภาพ ขณะนี้ บุคลากรของพระศาสนจักรไทย มีแนวโน้มที่คำนึงถึงแต่ตนเอง หรือปัจเจกนิยม และสถาบันนิยมอยู่มาก "เราต้องมาศึกษาอีกครั้งว่า ชีวิตของการเป็นพระสงฆ์ นักบวช และคริสตชน มีความหมายอย่างไร ดังนี้แล้วคุณภาพจึงตามมา... คนไทยยังมีความคิดว่า บวชแล้วสบาย ไม่ลำบาก พ่อแม่ผู้ปกครองบางท่านยังมีความคาดหวังว่า หากลูกชายได้บวชแล้วจะสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ ช่วยให้ครอบครัวมีเกียรติต่อหน้าสังคมคาทอลิก... พระสงฆ์ นักบวชเอง ควรต้องสำรวจข้อตั้งใจของตนเองว่า ตนเองเมื่อบวชไปแล้ว ทำงานเพื่อสถาบัน หรือเพื่อพระอาณาจักร" กว่าสามสิบปีที่พระศาสนจักรมีภารกิจด้านงานพัฒนาสังคม และมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่คนระดับรากหญ้า ปัจจุบัน พระศาสนจักรต้องหันกลับมารับผิดชอบ / ทำงานกับบุคลากรของพระศาสนจักรเอง ประเด็นนี้ถือว่า เป็นการท้าทายต่องานประกาศข่าวดีของพระศาสนจักร

การมีส่วนร่วมของฆราวาส ถือเป็นกระแสที่กำลังปรากฏออกมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา เกิดกลุ่มผู้สนใจงานด้านสังคมขึ้นมาจากการผลักดันของหน่วยงานด้านพัฒนาสังคมของพระศาสนจักร และ "ผู้มีน้ำใจดีและเสียสละเหล่านี้ ยังคงทำงานอย่างกระตือรือร้น และดูเหมือนว่า จะก้าวหน้ากว่าบรรดาผู้ที่เป็นบุคลากร (พระสงฆ์ นักบวช) ของพระศาสนจักร และหากฝ่ายหลังได้รับการปลุกจิตสำนึกทางด้านสังคม และใช้สถานภาพของพวกเขาในการส่งเสริมสนับสนุนการทำงานของฆราวาส เชื่อว่า ภาพงานพัฒนาของพระศาสนจักร จะผสานกลมกลืนอย่างงดงามที่สุดในงานอภิบาล และพ่อปรารถนาที่อยากจะเห็นเช่นนั้นจริงๆ" และนี่เป็นแนวคิดงานพัฒนาแบบองค์รวม ที่ควรจะได้รับการปฏิบัติให้เป็นจริงอย่างแท้จริง

พระศาสนจักรท้องถิ่น ควรรับเอาแนวคิดงานพัฒนาสังคมเข้าไปสู่บริบทของตนเอง พระคุณเจ้าเรียกร้อง และเชิญชวนว่า "เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่พระศาสนจักรต้องเปลี่ยนตนเอง และพร้อมที่จะเผชิญความไม่มั่นคงปลอดภัย ยอมรับสภาพแห่งความเจ็บปวด การถูกต่อต้าน หรือแม้กระทั่งความตาย เพื่อให้เป็นพระศาสนจักรแบบมีส่วนร่วม นั่นคือ ต้องให้ความสนใจต่อประชาชน - คริสตชน และผู้มีความเชื่ออื่นๆ - และส่งเสริมพวกเขาในทุกระดับ ให้มีโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้าไปมีส่วนและร่วมรับผิดชอบในทุกๆ เรื่อง ทุกๆ กิจการของพระศาสนจักร ชุมชน และสังคม"

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักพัฒนาเองนั้น ผู้บุกเบิกงานพัฒนาท่านนี้กล่าวว่า "ถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนา ทั้งนี้ เพราะกระแสโลกาภิวัตน์ ได้ดึงเอาหรือเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ที่ทำงานออกไปจากสำนึกทางสังคม" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เข้ามาใหม่ ที่ถือว่าการเข้ามาร่วมงานพัฒนา เป็นทางเลือกใหม่อีกงานหนึ่งที่จะโต้กลับกระแสหลัก ซึ่งกิจกรรมเพื่อพัฒนาบุคลากรนี้ ต้องเพิ่มพูนทักษะ ในงานอ่านและวิเคราะห์สัญญาณแห่งกาลเวลา และการดำเนินกิจกรรมอย่างมีประสิทธิผล

จากสิ่งที่ได้ประจักษ์ต่างๆ เหล่านี้ พระคุณเจ้าบุญเลื่อน ได้เรียกร้องให้ผู้ที่อยู่ในโครงสร้างของพระศาสนจักร ทำงานทบทวนทิศทางของพระศาสนจักรที่มีต่องานพัฒนาสังคมในรอบพันปีที่สามว่า ควรจะเป็นพระศาสนจักรที่เดินตามกระแสเศรษฐกิจ สังคม แบบทันสมัย หรือจะอยู่กับปวงประชาเพื่อทำหน้าที่ของพระศาสนจักรของคนยากไร้


---------------

ที่มา : จากหนังสือ "ก้าวย่างแห่งงานพัฒนา" 2544

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >