หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 493 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 124: เรียนรู้โลกยุคใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ชีวิต จิตวิญญาณ!?
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 124


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ข้อคิดเห็นจากพระคุณเจ้าบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ พิมพ์
Tuesday, 11 January 2011

ข้อคิดเห็นจากพระคุณเจ้าบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์

พวกเรามาอยู่ ณ ที่นี้ ในฐานะที่เราเกี่ยวข้องอยู่ในวงการสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา ซึ่งเป็นองค์กรศาสนาที่ทำงานพัฒนา งานพัฒนาในที่นี้ หมายถึงงานทุกอย่างที่ทำให้มนุษย์เจริญงอกงามขึ้นในทุกๆ ด้าน อันนี้เป็นความเข้าใจของเรา ที่จริงในทางศาสนา การพัฒนามนุษย์มิได้หมายถึงการพัฒนาทางด้านจิตใจหรือจิตวิญญาณเท่านั้น แต่พัฒนามนุษย์ทั้งด้านสติปัญญา และด้านเศรษฐกิจด้วย ศาสนาคาทอลิกได้สนใจเกี่ยวกับเรื่องการอยู่ดีกินดีของประชาชนมาเป็นเวลานานแล้ว ตั้งแต่ศาสดาที่ได้เริ่มตั้ง นั่นก็คือ พระเยซูเจ้า


ปี ค.ศ. 1944 - 1945

เป็นปีที่สิ้นสุดสงครามโลก และหลังจากนั้นพระศาสนจักรได้มีส่วนช่วยฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ เป็นต้นในทวีปยุโรป โดยอาศัยความร่วมมือจากทวีปอเมริกา แคนาดา และกรุงวาติกัน ซึ่งเป็นศูนย์รวมของศาสนจักรโรมันคาทอลิก มีองค์กรเล็กๆ เกิดขึ้น ซึ่งเคยดำเนินงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัย เป็นต้นผู้ลี้ภัยที่เป็นชาวยิว ต่อมาองค์กรนี้ก็ได้พัฒนาตัวเองขึ้นเป็นองค์กรสงเคราะห์ และได้ชื่อว่า Caritas Internationalis เป็นองค์กรของพระสันตะปาปาเกี่ยวกับการสงเคราะห์


ปี ค.ศ. 1945 - 1950

เป็นช่วงที่ยุโรปกำลังฟื้นตัว พระศาสนจักรก็มีบทบาทมาก ภายในเวลาอันสั้นเพียงไม่กี่ปี แถบยุโรป เป็นต้นเยอรมัน ได้รับความช่วยเหลือในรูปสงเคราะห์จากต่างประเทศ ก็สามารถจะตั้งตัวได้ เริ่มมีการส่งออกสินค้า มีรายได้เป็นของตัวเอง


ปี ค.ศ. 1955

กรุงโรมได้บอกให้มีการปกครองตนเอง


ปี ค.ศ. 1955 -1955

พระศาสนจักรในประเทศไทยตั้งให้มีเขตมิสซังต่างๆ เพราะฉะนั้นพระศาสนจักรเอเชียก็เริ่มที่จะเป็นตัวของตัวเอง หมายความว่า มิได้อยู่ในอำนาจของมิสชันนารีต่างชาติ สำหรับเมืองไทย ช่วงนี้เป็นระยะเวลาของจอมพลแปลกพิบูลสงคราม กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และดูเหมือนจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีนี่เอง ที่ได้เริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก


ปี ค.ศ. 1960 - 1970

ระยะทศวรรษนี้ เรียกว่าเป็นทศวรรษแรกแห่งการพัฒนา ซึ่งองค์กรพัฒนาในทศวรรษนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะชักชวนประเทศต่างๆ ให้เพิ่มผลิตผลทั้งในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม เพราะเห็นตัวอย่างในทวีปยุโรป ที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งด้านวัตถุและด้านการเงินจากอเมริกา และแคนาดา เพียงไม่กี่ปีก็สามารถพึ่งตัวเองได้ จากความคิดนี้จึงมีความคิดว่า หากช่วยให้ประเทศที่ด้อยพัฒนาทั้งหลายเพิ่มผลผลิตทางด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมมากขึ้น คงจะช่วยแก้ปัญหาความอดอยาก ปัญหาการด้อยพัฒนาของโลก โลกก็จะได้มีความสุข มีสันติได้ ฉะนั้น ทศวรรษแรกของการพัฒนาจึงเน้นไปในทางเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร หรือทางอุตสาหกรรม ศาสนจักรก็สนับสนุนความคิดนี้ แต่บทบาทหนึ่งของศาสนจักรที่น่าสังเกตก็คือ ได้เตือนให้คนทั้งหลายระวังว่า การเพิ่มผลผลิตนี้ยังไม่พอ สังคมของเราต้องการอะไรมากกว่านั้นอีก เพื่อจะได้มีความสุขและความเจริญ สมกับที่เป็นสังคมมนุษย์จริงๆ

สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 อยู่ในปลายทศวรรษนี้ พระองค์ได้ออกสมณสาสน์ที่สำคัญ 2 ฉบับ ฉบับแรกเรียกว่า สมณสาสน์ แม่และครู (Mater et Magistra) กล่าวถึงเรื่องที่พระศาสนจักรสนใจความเป็นไปของโลก พระศาสนจักรเคยสอนอะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจและสังคม ต่อมาในปลายชีวิตของพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 ได้ออกสมณสาสน์อีกฉบับ หนึ่ง ชื่อว่า สมณสาสน์ว่าด้วยสันติภาพในโลก(Pacem in Terris) สมณสาสน์ฉบับนี้เน้นถึงเรื่องพระศาสนจักรสนใจต่อโลก และพระศาสนจักรคอยศึกษาดูเครื่องหมายแห่งกาลเวลา โดยอาศัยแสงสว่างของความเชื่อ เพื่อจะได้รู้ เพื่อจะได้ค้นหาถึงน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า และพยายามตอบสนองน้ำพระทัยของพระองค์ โดยทำกิจการใดกิจการหนึ่ง

ฉะนั้น ในเอกสารฉบับนี้มีวิธีเขียนที่ผิดแผกแตกต่างจากเอกสารฉบับเก่า ซึ่งเอกสารฉบับเก่าจะอ้างถึงพระคัมภีร์ก่อน และก็ความรู้ทางเทวศาสตร์หรือภาษาสมัยใหม่เรียกว่า Deductive คือ เอาทฤษฎี / หลักเกณฑ์มาก่อน ในสมณสาสน์ Pacem in Terris เริ่มจากโลก เหตุการณ์ในโลก ภาษาวิชาการเรียกว่า Inductive และหลังจากสมณสาสน์ Pacem in Terris เรื่อยมา เอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับสังคมจะออกมาในลักษณะนี้ และสิ่งที่น่าสังเกตคือ พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 เป็นผู้ที่เปิดประตูของพระศาสนจักร เพื่อพระศาสนจักรจะได้กระโจนไปในโลก เพื่อจะได้ทำการไถ่กู้โลกมนุษย์สืบต่อจากพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นภารกิจที่พระองค์ได้ทรงมอบให้

ในระยะ 10 ปีแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเอเชียมีปรากฏการณ์คือ หลายประเทศได้รับเอกราช และได้รับการพัฒนาแบบทวีปยุโรป โดยอาศัยอิทธิพลของความคิดแห่งทศวรรษแรกแห่งการพัฒนาที่สหประชาชาติตั้งขึ้น และพระศาสนจักรในระดับโลกสนับสนุน เพราะฉะนั้นในประเทศไทยของเราแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก เริ่มปี พ.ศ.2504 (ค.ศ.1961) ซึ่งเริ่มช้าไปกว่าประเทศอื่นๆ แต่อย่างไรก็ดี ประเทศต่างๆ หลายประเทศในเอเชียก็เริ่มพร้อมกันภายในทศวรรษแรก พระศาสนจักรในเอเชียช่วงนี้ ก็ยังไม่มีอะไรเคลื่อนไหวมากนัก เพราะฝ่ายพระศาสนจักรคาทอลิกในแต่ละประเทศยังไม่ได้ตั้งเป็นสถาบันที่มีระบบ

ในระดับโลก ได้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พระศาสนจักรสนับสนุนอันนี้ และในทศวรรษนี้สำหรับพระศาสนจักรสากลได้จัดให้มีการประชุมสภาสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง


ปี ค.ศ. 1962 - 1965

พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 ได้เริ่มสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ไปจนจบระยะแรกแล้วพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ ซึ่งก่อนสิ้นพระชนม์พระองค์ได้ออกสมณสาสน์ว่าด้วยสันติภาพในโลก และการอยู่ด้วยกันของมนุษย์ในโลก (Pacem in Terris) ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น สังคายนาวาติกันที่ 2 ทำให้ศาสนจักรกับโลกนี้เกี่ยวพันกันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น


ปี ค.ศ. 1963

ในเอเชียก็มีสิ่งที่น่าสนใจเช่นกัน คือ มีการจัดประชุมสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องเครดิตยูเนี่ยน ในระดับทวีปเอเชีย จัดโดยคณะกรรมการงานพัฒนาของคณะสงฆ์เยสุอิต (Social Economic Life in Asia - SELA) คณะกรรมการฯ นี้ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนงานพัฒนา โดยเอาเครดิตยูเนี่ยนเป็นจุดเริ่ม การประชุมครั้งนี้เป็นการอบรมพระสงฆ์ ผู้นำฆราวาสทั้งพุทธและคริสต์


ปี ค.ศ. 1965

ได้ออกเอกสารสำคัญฉบับหนึ่ง ชื่อ Gaudium et Spes (พระศาสนจักรในโลกปัจจุบัน) ในเอกสารได้กล่าวถึงทฤษฎีการพัฒนาที่ถูกต้องแท้จริงว่า ไม่ใช่พัฒนาแต่ในแง่ผลผลิตดังที่ทางฝ่ายโลกกำลังสนับสนุนอยู่ แต่ต้องเป็นการพัฒนาคนทั้งครบ พัฒนาคนทีละคน และกลุ่มชนทั้งหมดด้วย

จัดให้มีการประชุมพระสงฆ์/นักบวชเรื่องงานพัฒนา (PISA = Priests' Institute for Social Action) ที่ฮ่องกง โดยมีพระสงฆ์จากประเทศไทยเข้าร่วม 7 องค์ รวมทั้ง ฯพณฯ บุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ด้วย การประชุมครั้งนี้พูดถึงเรื่องที่พระศาสนจักรต้องสนใจต่อการพัฒนาพระศาสนจักรจะนิ่งเฉยต่อโลกไม่ได้ ต้องช่วยกันพัฒนาโลกให้ดีขึ้น แต่ "การพัฒนา" นั้น ในการประชุม PISA ก็เน้นหนักไปในทางความคิดด้านผลผลิต (production) อีกด้วย


ปี ค.ศ. 1967

ศาสนจักรสากลระดับโลก ได้มีเอกสารสำคัญฉบับหนึ่ง ซึ่งเราใช้กันบ่อยๆ นั่นก็คือ สมณสาสน์ว่าด้วยการพัฒนาประชาชาติ(Populorum Progressio) เอกสารนี้ย้ำถึงการพัฒนา ซึ่งต้องเป็นการพัฒนาคนและชุมชนให้ครบทุกๆ ด้าน


ปี ค.ศ. 1968

จัดให้มีการประชุมสัมมนาสำหรับพระสังฆราช ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยองค์กร MISEREOR ได้เรียกพระสังฆราชที่สนใจ และบางแห่งก็แต่งตั้งให้สังฆราชเป็นประธาน หัวหน้าคณะกรรมการสังคมพัฒนา หรือคณะกรรมการสังคมสงเคราะห์ทั่วทวีปเอเชียมาประชุมกัน ที่กล่าวถึงนี้เป็นด้านศาสนาของเอเชีย

สืบเนื่องจากการประชุมเครดิตยูเนี่ยนระดับทวีปเอเชียที่บ้านเซเวียร์ และการประชุม PISA ที่ฮ่องกง คณะกรรมการสังคมสงเคราะห์คาทอลิกของไทยก็เกิดขึ้น และได้มีการประชุมกันในเดือนมีนาคม ณ โรงเรียนดอนบอสโก คุณหมอชวลิต เป็นผู้แทนคนหนึ่งจากมิสซังราชบุรี ฯพณฯ บุญเลื่อน เข้าร่วมในฐานะวิทยากรรับเชิญ พูดเรื่องเกี่ยวกับเครดิตยูเนี่ยน


ปี ค.ศ. 1970 - 1980

เป็นทศวรรษที่ 2 แห่งการพัฒนา ได้ให้คณะกรรมการประเมินผลทศวรรษแรกแห่งการพัฒนา (Parson Commission) ของสหประชาชาติ ทำการประเมินผลในระดับโลก ผลปรากฏว่า ผลการผลิตซึ่งใช้ชื่อว่า Green Revolution (การปฏิวัติเขียว หรือ การปฏิวัติระบบการผลิตทางการเกษตร) ได้ผลเกินคาด แต่ปรากฏว่า รายได้จากผลผลิตต่างๆ เหล่านั้นส่วนใหญ่ตกอยู่กับคนส่วนน้อย (คนรวย) คนส่วนใหญ่ที่เป็นคนผลิต เช่น ชาวไร่ ชาวนา ยิ่งผลิตยิ่งจน เพราะมีบริษัทใหญ่ๆ เช่น บริษัทข้ามชาติ ฯลฯ ซึ่งเป็นตัวกลาง คอยดูดเอารายได้ไปแทบหมด เหลือเพียงนิดหน่อยสำหรับชาวไร่ ชาวนา ที่ต้องทำงานหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ฉะนั้น ในทศวรรษที่ 2 องค์การสหประชาชาติเน้นการพัฒนาเพื่อให้เกิดมีการกระจายรายได้ ไปสู่ชาวไร่ชาวนา

ในช่วงนี้ สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนาก็เกิดขึ้น


ปี ค.ศ. 1971

ศาสนาในระดับโลก มีการประชุมพระสังฆราชที่กรุงโรม และได้ออกเอกสารฉบับหนึ่ง ชื่อ ความยุติธรรมในโลก(Justice in the World) ตั้งแต่ปีแรกๆ ของทศวรรษนี้ พูดถึงความยุติธรรม คือ เราต้องการกระจายรายได้ แต่มีอิทธิพลที่เป็นความอยุติธรรมที่แฝงอยู่ในระบบสังคมเป็นตัวขัดขวางไม่ให้กระจายรายได้ และในโอกาสครบรอบ 80 ปี ของพระสมณสาสน์ Rerum Novarum (ซึ่งเป็นเอกสารของสมเด็จพระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13 ว่าด้วยคำสอนเกี่ยวกับระบบการผลิต และแรงงานซึ่งเป็นปัญหาของสังคมสมัยนั้น) สมเด็จพระสันตะปาปา ปอล ที่ 6 จึงได้ออกเอกสารฉบับหนึ่ง ชื่อ Octogesima Adveniens ในเอกสารฉบับนี้ นอกจากจะย้ำถึงความยุติธรรมในสังคมแล้ว ยังพูดถึงระบบการปกครองประเทศที่เป็นระบบทุนนิยม ระบบสังคมนิยมว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร

ในระดับเอเชีย ในทศวรรษนี้ปรากฏว่า ศาสนจักรในประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ตั้งระบบบริหารเป็นของตัวเองได้ครบทุกประเทศแล้ว เพราะฉะนั้น จึงเกิดมีสภาพระสังฆราชต่างๆ ในรอบ 10 ปีนี้ มีองค์การ SEATO (ทางแถบอินเดีย ปากีสถาน เรียก CENTO) และเริ่มมีความคิดรุนแรงเกี่ยวกับลัทธิชาตินิยม (Nationalism) ลัทธิชาตินิยมบวกกับลัทธิการพัฒนา เกิดมีลัทธิขึ้นอีกอันหนึ่ง คือ ลัทธิความมั่นคงแห่งชาติ

ฝ่ายศาสนจักรในเอเชีย แทบทุกประเทศมีสภาพระสังฆราช มีคณะกรรมการต่างๆ และมีการก่อตั้ง สหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย (Federation of Asian Bishops' Conferences = FABC) ได้จัดตั้งสำนักงานเพื่อการพัฒนามนุษย์ (Office for Human Development = OHD) ระดับเอเชียขึ้น โดยมีพระสังฆราชองค์แรกที่รับผิดชอบคือ ฯพณฯ จูลิโอ เซเวียร์ ลาบาเยน จนถึงปี ค.ศ. 1976


ปี ค.ศ. 1972

เครดิตยูเนี่ยนตั้งเป็นชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย


ปี ค.ศ. 1972 - 1973

สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา เข้าเป็นสมาชิกขององค์การ Caritas Internationalis


ปี ค.ศ. 1977 - 1985

ฯพณฯ บุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ เป็นผู้รับผิดชอบ OHD ต่อจากท่านลาบาเยน


ปี ค.ศ. 1978

สมัยนี้เป็นสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 พระองค์ได้เขียนเอกสารฉบับแรกมีชื่อว่า พระผู้ไถ่มนุษย์ (Redemptor Hominis) และมีเอกสารฉบับหนึ่งที่เกี่ยวกับแรงงาน มีชื่อภาษาลาตินว่า Laborem Exercens เอกสารทั้ง 2 ฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงแนวความคิด และแนวงานของสมเด็จพระสันตะปาปาที่เกี่ยวกับพระศาสนจักรกับโลก คือ พระองค์เห็นว่าในงานพัฒนามนุษย์ เราต้องเอาคนเป็นจุดศูนย์กลาง ในทุกด้าน ทุกมิติ ทุกระดับ คนไม่ใช่มีไว้เพื่องาน แต่งานมีไว้เพื่อคน


ปี ค.ศ. 1980 - 1990

เป็นทศวรรษที่ 3 แห่งการพัฒนา เมื่อจบทศวรรษที่ 2 เข้าทศวรรษที่ 3 เราก็จะต้องทำการประเมินผล โดยมีคณะกรรมการที่เรียกว่า Brandt Commission เป็นผู้ดำเนินการประเมินผล ความจริงปี 1970 - 1980 ได้ผลพอสมควร มีการกระจายรายได้บ้าง แต่ทำไม่ได้เต็มที่ จึงเสนอว่าจะต้องหาทางทำการกระจายรายได้ให้เต็มที่ ฉะนั้น ทศวรรษหน้า ซึ่งเรากำลังอยู่ในทศวรรษนี้ เรียกว่า เป็นทศวรรษแห่งการมีส่วนร่วม (Participation) หมายความว่า ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมทั้งในการศึกษา การวางแผน การดำเนินงานร่วมกัน และต้องมีส่วนร่วมในผลลัพธ์ด้วย

ทางด้านเอเชียเริ่มมีความแตกต่างระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ และประเทศที่กำลังพัฒนา อย่างเช่น ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเชีย และประเทศที่ยังยากจนอยู่ ได้แก่ พม่า ศรีลังกา บังคลาเทศ ฯลฯ เอเชียเริ่มมีการแบ่งแยกในด้านเศรษฐกิจและสังคม พูดถึงเรื่องในด้านการพัฒนา เพราะฉะนั้น เอเชียจะพยายามหาวิธีที่จะร่วมมือกัน เช่น ร่วมมือกันในระดับภาค ระดับทวีป เพื่อจะได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

สหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย (Federation of Asian Bishops' Conferences / FABC) ได้ตั้งสำนักงานต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งขณะนี้มี 5 สำนักงานด้วยกัน เพื่อจะได้ทำงานช่วยเหลืองานศาสนจักรในทวีปเอเชียเพื่อก้าวให้ทันโลก สำหรับในประเทศไทย หลังจากที่ล้มลุกคลุกคลาน เมื่อทศวรรษที่แล้ว ตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา เราก็เริ่มที่จะยึดหลัก รู้สึกว่ากำลังจะยืนมั่นคงแล้ว การพัฒนาไม่ได้มุ่งแต่เศรษฐกิจเท่านั้น แต่มุ่งไปในด้านสังคม และมุ่งให้ประชาชนมีส่วนร่วม


ปี ค.ศ. 1980

ทางด้านศาสนาคาทอลิกในเมืองไทย ก็มีองค์กรเพิ่มขึ้นอีกองค์กรหนึ่ง คือ สำนักงานคาทอลิกเพื่อสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย (COERR) เพื่อจะทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะ

นอกจากนั้นก็มีองค์กรอื่นๆ อีกคือ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการส่งเสริมชีวิตครอบครัว สภาเยาวชนคาทอลิกแห่งประเทศไทย

ที่เล่าประวัติศาสตร์ย่อๆ ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า โลกกับศาสนาเกี่ยวข้องกัน และมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน ความคิดทางโลกก็มีอิทธิพลในวงการศาสนา และตรงข้ามความคิดในวงการศาสนาก็มีอิทธิพลต่อวงการโลก ที่เห็นชัดก็ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และแม้แต่ในด้านการเมืองด้วย โลกกับศาสนาต้องเกี่ยวกันและมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน จากความจริงข้อนี้ ซึ่งในประวัติศาสตร์ไม่กี่สิบปี เราก็เห็นว่าโลกและศาสนาเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน และหากเรามีความสำนึกว่าเราเป็นลูกศิษย์ของพระคริสตเจ้าอย่างแท้จริง เราก็ยิ่งเกี่ยวกับทางโลก แต่ก่อนนี้บอกว่า เราต้องเกี่ยวข้องกับทางโลกโดยตรง แต่ว่านักบวชก็ต้องเกี่ยวข้องกับทางโลกทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แต่มีบทบาทที่ไม่เหมือนกัน จากประวัติศาสตร์อันนี้และจากที่เราได้ศึกษากันมา ก็ขอให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวโน้มต่อไปของความคิดและงานของสภาคาทอลิกฯ เพื่อการพัฒนาว่า ควรจะเป็นอย่างไร ควรจะไปทางไหน และควรเน้นอะไร ดังนี้คือ.-

1.สภาคาทอลิกฯ เพื่อการพัฒนา ต้องเน้นถึงความจริงหลักที่ว่า ศูนย์กลาง หรือจุดหมายหลักของงานของเราก็คือ มนุษย์ มนุษย์ในทุกๆ ด้าน และทุกกลุ่มชน ความคิดอันนี้ทำให้เราเข้าใจถึงงานไถ่กู้ เราต้องไถ่กู้โลกมนุษย์ และมนุษย์ที่อยู่ในโลก ซึ่งเป็นความเชื่อที่ได้รับการสืบทอดมาว่า เพื่อวิญญาณให้รอด ฉะนั้น ในคำสั่งสอนแบบนี้ของพระศาสนจักร เราถือว่า งานพัฒนาเป็นงานที่สืบทอดงานไถ่กู้ที่พระคริสตเจ้าได้ทำไว้ แล้วมอบให้เราทำต่อไปถึงสิ้นโลก

2.แนวคิดที่ว่า การพัฒนามนุษย์แบบทั้งครบนี้ เราควรจะทำแบบไหน เราจะต้องศึกษาและปฏิบัติในแบบที่เรียกว่า อยู่กับปวงประชา เรียนกับประชาชน ทำกับประชาชน ประชาชนในที่นี้หมายถึง ชาวบ้าน รวมความว่า เราต้องทำแบบเป็นปึกแผ่นกับประชาชน แนวคิดแบบนี้ได้นำเรามาถึงขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งเราเองก็ภูมิใจ คือ เราใช้แบบที่เป็นปึกแผ่นกับประชาชน คือ ถ้าเราอยู่กับเขา เราก็ต้องอยู่แบบเขา เพราะฉะนั้น ก็ทำให้เราเกิดความสนใจในด้านวัฒนธรรมและขนมธรรมเนียมประเพณี เรามาถึงขั้นนี้แล้ว แต่ก่อนนี้เราสนใจด้านเศรษฐกิจด้านสังคม คือพยายามสร้างสัมพันธ์อันดีในสังคม สนใจด้านจิตใจ สอนให้รักกัน เสียสละ และแบ่งปันให้แก่กันและกัน โดยอาศัยคำสอนของศาสนา เราถือเอาวัฒนธรรมเป็นเรื่องประกอบ เวลานี้เรากำลังไปลึกกว่านี้ คือ กำลังดื่มด่ำลงไปในด้านวัฒนธรรม เรามาเข้าใจว่าวัฒนธรรมมีอิทธิพลเหนือชีวิตมนุษย์อย่างมาก มีอิทธิพลเหนือความคิด การกระทำ การเจริญชีวิตมนุษย์อย่างมากทีเดียว ฉะนั้นเราจะทำอย่างไรจึงจะช่วยกันพัฒนา คำว่า ช่วยกันพัฒนานี้ เป็นคำศัพท์ใหม่ก็ว่าได้ แต่ก่อนนี้เราถือว่าเราเป็นนักพัฒนา เราไปพัฒนาพวกชาวบ้านที่ด้อยพัฒนาให้ชาวบ้านดีขึ้นมาให้ได้ เรามีความคิดว่า เราเป็นนักพัฒนาที่เจริญแล้ว พัฒนาแล้ว แต่พอเราไปอยู่กับชาวบ้านก็กลับกลายเป็นว่า ชาวบ้านมาพัฒนาเรา เรากลับมีความรู้สึกเช่นนี้แล้ว นักพัฒนาที่ดีต้องรู้สึกว่า เมื่อไปอยู่กับชาวบ้านแล้ว จะต้องเรียนรู้จากชาวบ้านอีกมาก ต้องศึกษาคุณค่า และรับคุณค่าที่ดีที่มีอยู่ในวัฒนธรรมของชาวบ้าน และแนวความคิดที่มาจากความคิดทางเทวศาสตร์ ซึ่งในเอกสารของพระศาสนจักรสอนว่า "ผู้ไปประกาศข่าวดีแก่คนอื่น จะต้องได้รับการประกาศข่าวดีจากคนอื่นด้วย" ฉะนั้น ในการที่เราหันมาสนใจวัฒนธรรม เราไม่ใช่แต่เรียนว่า วัฒนธรรมคืออะไร มีวัฒนธรรมอะไรบ้าง แล้วกลับไปเขียนรายงานออกมา อันนี้มิใช่นักพัฒนา แต่เป็นนักบรรยาย นักพัฒนาที่แท้จริงจะต้องออกไปอยู่ในวัฒนธรรมกับชาวบ้าน เรียนรู้พร้อมกับชาวบ้านและช่วยกันพัฒนา เรามาถึงขั้นนี้แล้ว

และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ขอพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างองค์การสมาชิก พนักงาน และผู้บริหารเนื่องจากเรามีความคิดถึงเรื่องการพัฒนาไม่ถูกต้องนัก มีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่ก็ยังมีส่วนผิดอยู่ คือ เราคิดว่าเราเป็นนักพัฒนาดังที่ยกตัวอย่างมาแล้ว เรามีอะไรดีๆ เราก็เข้าไปให้ชาวบ้าน ในเรื่องงานพัฒนาเราเคยมีความคิดแบบนี้ เหมือนความคิดของที่อื่นๆ เช่น แบบของรัฐ (คือ ผู้บริหารของรัฐวางนโยบายต่างๆ และให้ข้าราชการ ซึ่งเราเรียกว่าพนักงาน (นักพัฒนา) ไปพัฒนาชาวบ้าน (ชาวบ้านอยู่ล่าง) (Top-down) เนื่องจากเราได้รับอิทธิพลจากฝ่ายรัฐจากทางฝ่ายโลก เข้ามามีอิทธิพลในทางศาสนาของเราด้วย เราก็เลยทำคล้ายๆ กับที่รัฐทำ และเราหลายคนคงจะจำได้ ในอดีตที่ผ่านมา พวกเราหลายๆ คนก็มีคำถามว่า เราทำงานพัฒนาไปทำไม เราทำงานซ้ำซ้อนกับรัฐบาล งานดูเหมือนซ้ำซ้อนกัน แต่ที่จริงไม่ซ้ำซ้อนกัน ต่อไปนี้เราควรจะต้องทำแบบไหน

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหาร - นักวิชาการ - พนักงาน - ชาวบ้าน

Image

ต้องมีการแลกเปลี่ยน ปรึกษา เรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านด้วยอย่างเป็นปึกแผ่นกับชาวบ้าน

ฉะนั้น ผู้บริหาร นักวิชาการ พนักงาน ควรจะต้องมีการมาปรึกษากันบ่อยๆ เพื่อหาวิถีทางเรียนรู้และอยู่กับชาวบ้าน แบบที่เป็นปึกแผ่น คือ อยู่กับชาวบ้าน เรียนรู้กับชาวบ้าน และทำงานกับชาวบ้าน ซึ่งตรงกับหลักการทางศาสนา ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า Incarnation พระคริสตเจ้าซึ่งเป็นพระเจ้า ได้เสด็จมาเป็นมนุษย์ อยู่กับมนุษย์ เรียนรู้กับมนุษย์ และทำพร้อมกับมนุษย์ เราทำแบบเดียวกับพระคริสตเจ้า

3.ในงานพัฒนาของเรา ควรจะต้องยึดแนว เข้าใจความเป็นจริงในสังคม โดยอาศัยการวิเคราะห์สังคม ต้องทำแบบเข้าใจ แบบรู้ให้ทะลุปรุโปร่ง เพื่อเราจะได้รู้จุดยืนของเรา จะได้รู้ว่าเราอยู่จุดไหนในสังคมนั้น เพื่อจะได้รู้ล่วงหน้าว่าทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

4.ข้อนี้สำคัญ ในสภาคาทอลิกฯ เพื่อการพัฒนา เรามีธรรมเนียมที่ดีอยู่อย่างหนึ่ง คือ เรามีการศึกษากันบ่อยๆ ซึ่งแต่ก่อนนี้เราเคยมีการอบรมพระสงฆ์ในงานพัฒนา (Priests and Religious' Institute for Social Action / PRISA) การสัมมนาอบรมผู้นำชาวบ้าน ผู้นำเครดิตยูเนี่ยน เพราะเราเคยถือเอางานเครดิตยูเนี่ยนเป็นเครื่องมือสำหรับกระตุ้นชาวบ้าน ให้ตื่นตัวในงานพัฒนา ให้รวมกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่นับตั้งแต่ปี 1975 เป็นต้นมา จนถึงปี 1980 การสัมมนาศึกษาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในแนวทางการพัฒนาค่อยๆ หายไป เป็นเพราะว่าเรามุ่งทำงานด้านผู้อพยพ เราก็เลยเกือบลืมเรื่องการมาศึกษาร่วมกันในงานด้านพัฒนา แต่หลังจากที่ได้โอนงานอพยพให้กับสำนักงานคาทอลิกเพื่อสงเคราะห์ผู้ลี้ภัยและผู้ประสบภัย (โคเออร์) ไปแล้ว เราก็พยายามค้นหาตัวเองใหม่ เราต้องมีการเตือนสติและเจริญสติของเราอยู่เสมอ โดยอาศัยการสัมมนา ซึ่งในการสัมมนานี้ เราก็มีการศึกษา-วิเคราะห์ สังเคราะห์กัน

5.แนวทางของเรา ไม่ได้ออกมาขัดในข้อต่างๆ เหล่านี้ เรา ในที่นี้หมายถึง สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนาทั้งหมด ในพระศาสนจักรเราไม่ได้ทำงานพัฒนาคนเดียว ยังมีองค์กรอื่นๆ อีกหลายองค์กร เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรพัฒนาของรัฐ ซึ่งมีอีกมายมายที่เราทำงานอย่างเดียวกัน แต่ไม่ใช่แบบเดียวกันคือว่า พัฒนาลงไปสู่หมู่บ้านเดียวกัน ชุมชนเดียวกัน แต่พวกเราควรจะภูมิใจที่ว่า เรามีเอกลักษณ์พิเศษของเราที่จะไปร่วมมือกับเขา ให้เอกลักษณ์ของเราไปเสริมเติมสิ่งที่คนอื่นอาจจะขาด และในการที่เราไปร่วมมือกับคนอื่น ก็เป็นการที่เราเองจะได้มีโอกาสได้รับการเสริมเติมจากองค์กรอื่น หรือคนอื่นด้วย ในการร่วมมือเราจะต้องมีลักษณะพร้อมที่จะให้และรับด้วย การร่วมมือนี้มิใช่เป็นในแง่วิธีการ หรือในแง่ยุทธวิธี แต่การร่วมมือนี้มาจากเนื้อหาของงานพัฒนา เพราะว่าในการพัฒนาคนทั้งครบอย่างที่เราพูด เราต้องร่วมมือกับหลายฝ่าย ดังที่เราเห็นมาในประวัติศาสตร์ของเราแล้ว ทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรมเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน


----------------------

ที่มา : รายงานการสัมมนา "การศึกษาและวางแผนร่วมกันระดับชาติ" 26 - 30 พฤษภาคม 2529 ณ บ้านฟื้นฟูจิตใจ ซาเลเซียน หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >