หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow เรื่องส่วนตัว : พระไพศาล วิสาโล
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 92 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

เรื่องส่วนตัว : พระไพศาล วิสาโล พิมพ์
Wednesday, 08 December 2010












ปาจารยสาร ฉบับเล็ก ปลายฝน ๒๐๑๐

เรื่องส่วนตัว
พระไพศาล วิสาโล

 

-๑-

เขาเหม่อมองออกไปข้างหน้า ด้วยอาการครุ่นคิด ชั่วครู่ก็ถอนหายใจ แล้วสายตาของเขาก็ลดต่ำมาที่ขาทั้งสอง ซึ่งบัดนี้ยืดตรง แน่นิ่ง ไม่ไหวติงบนลานหญ้า ขาคู่นี้เคยรับใช้เขาทุกโอกาสและทุกสมรรถนะ เคยพาเขาวิ่งเล่นเป็นที่ครึกครื้นกับเพื่อนๆ เมื่อครั้งยังเล็กในสมัยวันคืนอันชื่นบาน ครั้นโตขึ้น เมื่อชีวิตที่สดใส กลับกลายเป็นชีวิตที่ต้องดิ้นรนแข่งขันประจัญบานกับผู้คนรอบข้าง อย่างไม่คิดชีวิต เพียงแม้แต่ขึ้นรถเมล์ทุกเช้า-เย็น ก็ต้องกรูวิ่งแข่งแย่งหาที่นั่ง แม้กระทั่งที่ยืน อย่างเอาเป็นเอาตาย แต่กระนั้นเขาก็ได้อาศัยขาคู่นี้แหละเอาตัวรอดมาได้โดยตลอด ขาทั้งสองข้างนี้เคยเป็นมิตรสนิทที่ซื่อสัตย์ต่อเขาอย่างยิ่ง คอยช่วยเหลือเกื้อกูลในทุกสถาน อย่างหาใดเทียบไม่ได้ โดยเฉพาะในสังคมปาก (ถูก) ถีบ ตีน (ถูก) กัด เยี่ยงกรุงเทพมหานครเมืองอมรแย้มฟ้านี้ แต่แล้ว...

มาบัดนี้ ขาแบบบางคู่นี้ ไม่อาจช่วยเขาได้ดังใจคิดอีกต่อไป ไม่อาจพาเขาวิ่งเล่นเหมือนเคย เขาไม่อาจแข่งขัน ยื้อแย่ง กับใครได้อีกต่อไป กลายเป็นผู้ปราชัยในการแข่งขันบนถนนชีวิตโดยสิ้นเชิง แม้กระทั่งจะขึ้นรถเมล์ เขาก็ไม่อาจวิ่งเบียดเสียดฝูงชนที่กรูหาที่นั่งที่ยืนได้อีก มีแต่ถูกปล่อยทิ้งไว้เบื้องหลัง มองรถคันแล้วคันเล่าแล่นผ่านไปโดยที่เขาได้แต่มองตาปริบๆ ด้วยความหวังว่า คันต่อไปเขาจะได้รับเมตตา หรือมีโอกาสขึ้นกับเขาสักที สังคมทุกวันนี้ เป็นสังคมของผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด มีอำนาจที่สุด และเสียเปรียบน้อยที่สุด นี่มิใช่สังคมสำหรับคนอย่างเขาในสภาพเยี่ยงนี้ เป็นความเจ็บปวดอย่างยิ่งที่พบว่า ความสามารถที่เคยมีอยู่ ที่เคยได้พึ่งพาอาศัย ได้ถูกลดทอนไปกลายเป็นข้อจำกัด สิ่งที่เคยทำได้ และทำได้ดี มาเดี๋ยวนี้กลับทำไม่ได้ และไม่ได้ทำ ได้แต่เฝ้าดูผู้อื่นเดินเหินวิ่งเต้น หาความสุขอย่างไม่มีขอบเขต สำหรับเขา นี่เป็นความพิการที่คนอื่นยากจะเข้าใจได้

เมื่อเงยหน้าขึ้นมา ภาพที่เห็นเบื้องหน้าก็ยิ่งตอกย้ำกระหน่ำความรู้สึกให้กินลึกถึงใจลงไปอีก ทั้งเด็กทั้งวัยรุ่น กำลังเล่นฟุตบอลอย่างสนุกสนาน ลูกหนังถูกเลี้ยงเลี้ยวลดอย่างชำนิชำนาญ และส่งต่ออย่างแม่นยำ เวลาหวดลูกหนังใส่ประตูแต่ละที เขาอดไม่ได้ที่จะลิงโลดระทึกใจไปกับเกมกีฬาด้วย มันเป็นศิลปะเท่าๆ กับเป็นกีฬาที่ต้องอาศัยความสมบูรณ์ครบครันของร่างกาย ชวนให้นึกถึงวันคืนในอดีต ที่เขาเคยคลุกง่วนอยู่กับลูกหนังไม่ว่าเช้าว่าเย็น จนความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายจมหายไปกับลีลาของการชิงชัย มีแต่ฟุตบอลที่เป็นเพื่อนแก้เหงาคลายเครียด แต่ความสุขและความดื่มด่ำเช่นนี้จะมีวันหวนกลับคืนมาได้อีกหรือ

"ตึง ? !!" เสียงลูกฟุตบอลกระแทกหน้าผากเขาถนัดถนี่ จนหงายหลังแผ่พังพาบกับพื้นหญ้า ความคิดฝันล่องลอยไปในอดีตสลายไปทันที กลับมาสู่ปัจจุบัน ซึ่งมีแต่ความเจ็บปวดและมึนงง เห็นดาวพราวพรายเต็มฟ้ามืดไปหมด แต่ถึงจะเจ็บเพียงใด ก็ไม่มากเท่ากับความแค้นเคือง แม้ความรู้สึกเจ็บจะหายไปในเวลาไม่นาน

แต่ความแค้นเคืองก็ยังไม่คลาย มันคุกรุ่นจนเขาต้องประทุ คำรามขึ้นมาในใจ หลังจากทรงตัวขึ้นมาได้ใหม่ว่า

"ฮึ่ม... สึกออกไปเมื่อไหร่ พ่อจะวิ่งให้เป็นม้าไปเลย ฟุตบง ฟุตบอลจะเตะให้กระจุยไปเลย รถเมล์ก็เหมือนกัน จะวิ่งแซงขึ้นรถก่อนใครหมด คอยดูก็แล้วกัน"

-๒-

ข้อความข้างต้นข้าพเจ้าเขียนไว้ประมาณปี ๒๕๒๗ หลังจากที่บวชมาได้ ๑ พรรษา โดยตั้งชื่อว่า "ใครเลยจะเข้าใจ" และใช้นามปากกาว่า "วินาศสันตะโร" พิมพ์ครั้งแรกและครั้งเดียวในเอกสารโรเนียวชื่อ "ระฆัง" ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มเพื่อนพ้องที่เคยมาปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสุคะโตช่วงปี ๒๕๒๖-๒๕๒๗

แม้เขียนแบบทีเล่นทีจริงโดยมี การเติมสีสันลงไปบ้างเพื่อให้อ่านสนุก แต่ก็สะท้อนความรู้สึกบางด้านของพระหนุ่มรูปหนึ่งได้ไม่น้อย นั่นคือความรู้สึกอึดอัดขัดข้องที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างที่เคยเป็นได้ จนบางครั้งรู้สึกเหมือนคนขาพิการ เพราะไม่สามารถวิ่งขึ้นรถเมล์หรือเล่นฟุตบอลเหมือนตอนเป็นฆราวาสได้ ความรู้สึกอึดอัดเช่นนี้คงไม่ได้เกิดกับข้าพเจ้าคนเดียวเท่านั้น เชื่อว่าพระหนุ่มเณรน้อยจำนวนมากก็คงรู้สึกเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเวลาอยู่ในกรุงเทพ ฯ แต่จะมีฆราวาสกี่คนที่เข้าใจ เพราะไม่ค่อยมีพระเณรพูดเรื่องนี้ให้ญาติโยมฟังเท่าไรนักนอกจากคนใกล้ชิด

อันที่จริง ๑ ปีในผ้าเหลืองก็มากพอที่จะทำให้ข้าพเจ้าปรับตัวได้กับข้อจำกัดดังกล่าวเมื่อต้องขึ้นรถเมล์ในกรุงเทพฯ แม้บางครั้งยังอดไม่ได้ที่จะรู้สึกเป็นคนนอกเวลาต้องหลบมาลงเดินบนไหล่ถนนเพราะทางเท้าเต็มไปด้วยผู้คนแน่นขนัด ซึ่งไม่สนใจจะเปิดช่องให้พระเดินได้สะดวก
แต่พอทำเป็นอาจิณ เรื่องแบบนี้ก็กลายเป็นธรรมดาไปในที่สุด

จะว่าไปแล้วข้าพเจ้าไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรไปเลยเมื่อไม่อาจวิ่งขึ้นรถเมล์ได้ แต่ที่รู้สึกขาดอะไรไปบางอย่างก็ตรงที่ไม่อาจเล่นฟุตบอลได้ ฟุตบอลเป็นกีฬาอย่างเดียวที่ข้าพเจ้าเล่นเป็น ได้เล่นคราใดใจก็ลืมอย่างอื่นไปหมด รวมทั้งปัญหาต่าง ๆ ที่แบกเอาไว้ เมื่อบวชพระแล้วจึงมีความอาลัยอยู่บ้าง แต่มาคิดดูอีกทีถึงแม้ตอนนั้นยังเป็นฆราวาสอยู่ ก็คงมีโอกาสเล่นฟุตบอลไม่มากนัก เพราะนอกจากงานการจะรัดตัวแล้ว สังขารยังไม่ค่อยเอื้ออำนวยอีกด้วย หลายปีก่อนบวชข้าพเจ้าเล่นฟุตบอลนับครั้งได้ แต่ละครั้งก็เล่นได้ไม่นาน แค่วิ่งติดต่อกันไม่ถึง ๑๐ นาทีก็เหนื่อยแล้วเพราะขาดการเล่นหรือฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง

-๓-

การครองเพศบรรพชิตทำให้ข้าพเจ้าต้องละทิ้งหลายสิ่งที่จัดว่าเป็นเครื่องผ่อนคลาย นอกจากการเล่นฟุตบอลแล้ว อีกอย่างหนึ่งก็ได้แก่การดูหนัง ก่อนบวชข้าพเจ้าเป็นคนที่ชอบดูหนัง (แต่ก็ไม่เคยดูหนังเกินเดือนละ ๓ เรื่อง เพราะกลัวว่าถ้ามากกว่านั้นจะติดจนไม่สนใจการผ่อนคลายวิธีอื่น) ตอนบวชใหม่ๆ ยังนึกเสียดายที่ไม่ได้ดูหนังบางเรื่อง และเมื่อบวชใกล้ครบสามเดือนซึ่งเป็นกำหนดสึก ก็เริ่มคิดแล้วว่าจะไปดูหนังเรื่องอะไรหากกลับไปเป็นฆราวาส แต่เมื่อตั้งใจบวชต่อเป็นระยะๆ แม้ไม่รู้สึกว่าหนังเป็นปลิโพธิเลย แต่บางคืนก็ฝันว่าแอบเข้าไปดูหนังในโรงทั้งๆ ที่เป็นพระ ในฝันยังรู้สึกกลัวด้วยซ้ำว่าคนอื่นจะรู้เมื่อไฟสว่างทั้งโรงหลังฉายหนังจบ

สิ่งผ่อนคลายที่ข้าพเจ้าใช้มาโดยตลอดตั้งแต่บวชคือการอ่านหนังสือ ข้าพเจ้าติดหนังสือมาก่อนจะสนใจฟุตบอลและหนังเสียอีก นี้คงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ข้าพเจ้าเล่นกีฬาแทบไม่เป็นและไม่สนใจเครื่องดนตรีเลย ข้าพเจ้าอ่านหนังสือมากมาตั้งแต่เล็ก แต่มาถึงจุดหนึ่งก็รู้ว่าหนังสือนั้นมีข้อจำกัดหลายอย่าง มีสิ่งสำคัญในชีวิตหลายอย่างที่หนังสือไม่ช่วยให้เข้าถึงได้ หรือช่วยได้แต่บางแง่เท่านั้น การปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและการหันมาสนใจศาสนธรรมทำให้เห็นถึงข้อจำกัดของหนังสือ รวมไปถึงความคิดและเหตุผล คนที่อ่านหนังสือมาก คิดเก่ง แต่มีพฤติกรรมย่ำแย่ และอมทุกข์ แก้ปัญหาชีวิตของตัวเองไม่ได้ มีให้เห็นทั่วไป บ่อยครั้งข้าพเจ้าก็พบว่าหนึ่งในคนเหล่านั้นคือข้าพเจ้านั่นเอง

ข้าพเจ้ายังพบอีกว่าโทษของหนังสืออีกอย่างหนึ่งคือมันทำให้เสพติดได้ บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าเป็นทุกข์เพราะไม่มีหนังสืออ่าน ไปไหนถ้าไม่มีหนังสืออ่าน พาลจะกระสับกระส่าย คงไม่ต่างจากคนติดบุหรี่เมื่อไม่มีบุหรี่สูบ ทำให้เป็นปัญหามากเวลาข้าพเจ้าไปเข้ากรรมฐานหลายวัน ที่จริงแค่วันเดียวก็แย่แล้วถ้าขาดหนังสือ เคยไปค้างแรมในหมู่บ้านหลายวัน ทั้งตอนเข้าค่ายและออกไปทำงาน พอเข้าเมืองจะรู้สึกกระชุ่มกระชวยมากเพราะแน่ใจว่าจะมีหนังสือพิมพ์ให้อ่าน

จะว่าไปแล้วการติดหนังสือเป็นผลมาจากความคิดที่หยุดนิ่งไม่ได้ จนไม่สามารถอยู่กับตัวเองเฉยๆ ได้ ดังนั้นถ้าอยู่ว่างเมื่อไรเป็นต้องหาหนังสือมาอ่าน เพื่อให้ความคิดมีงานทำ หาไม่มันจะวกมาเล่นงานตัวเอง ในอีกด้านหนึ่งการอ่านมากๆ ก็ทำให้ใช้ความคิดจนหยุดไม่ได้ ก็เลยต้องอ่านต่อไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่สมองเครียดแล้วแต่ก็วางหนังสือไม่ได้ สุขภาพกายและใจจึงแย่ลง เกิดวัฏจักรอย่างเดียวกับสิ่งเสพติด นี้เป็นอาการอย่างหนึ่งที่เกิดกับข้าพเจ้าก่อนบวช

ด้วยเหตุนี้เมื่อข้าพเจ้าเครียดและเสียศูนย์จนต้องขอลางานมาบวช จึงตั้งใจแน่วแน่ว่าจะหยุดอ่านหนังสือ เพื่อทำกรรมฐานอย่างเต็มที่ ใหม่ ๆ ก็รู้สึกขาดอะไรไปบางอย่าง แต่ก็ปรับใจได้ในเวลาไม่นาน สามารถปฏิบัติได้ทั้งวันแม้จะวางใจผิดเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อคลำทางได้ถูก ก็เห็นผล ได้เห็นความคิดของตนเองบ่อยขึ้น และรู้วิธีที่จะวางความคิดได้ ก่อนหน้านี้คิดเก่ง แต่หยุดคิดไม่ได้ จนนอนไม่หลับ แต่ถึงตอนนี้สามารถรู้ทันความคิดได้ดีขึ้น มันไม่สามารถเป็นนายที่คอยบงการข้าพเจ้าได้ตามอำเภอใจดังแต่ก่อน

เมื่อบวชและปฏิบัติแล้ว ข้าพเจ้าสามารถอยู่เฉยๆ ว่างๆ ได้โดยไม่หวนคิดถึงหนังสือ ใจไม่ได้กระเจิดกระเจิงหรือฟุ้งซ่านมากมายเหมือนก่อน แต่อยู่เป็นที่เป็นทางได้มากขึ้น คืออยู่กับกาย เช่น อิริยาบถ หรือนิ้วที่คลึงเบา ๆ ยามที่ใจเผลอคิด ก็รู้ทันได้ไวขึ้น ดังนั้นการโหยหาหนังสือเพื่อคุมใจไม่ให้ฟุ้งจึงเกิดขึ้นน้อยลง

อย่างไรก็ตามตลอดเวลาที่ผ่านมาหนังสือกับข้าพเจ้าก็แทบจะไม่ได้ห่างจากกันเลย แต่ระยะหลังหนักไปทางเขียนมากกว่าอ่าน และส่วนใหญ่ที่อ่านก็มิใช่เพื่อความผ่อนคลาย แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของงาน ทั้งงานเขียน งานบรรยาย และงานอบรม ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ กล่าวได้ว่าโอกาสที่จะได้อ่านหนังสือที่ชอบมีน้อยลง จะได้อ่านสบายๆ ก็ตอนเดินทาง หาไม่ก็ต้องเก็บตกระหว่างรอคน รอรถ หรือช่วงพัก

-๔-

พรรษาแรกนั้นข้าพเจ้ามีงานน้อยมาก แต่หลังจากนั้นก็มีงานเข้ามาเรื่อย ๆ ทั้งงานเขียน งานบรรยาย ต่อมาก็งานอบรม ยังไม่นับงานในวัด เช่น งานอนุรักษ์ป่า ตามมาด้วยงานบริหารวัด โดยได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อคำเขียนเมื่อข้าพเจ้ามีพรรษามากขึ้น งานเหล่านี้โดยเฉพาะงานนอกวัด มักเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าเดินทางอยู่เป็นประจำ จึงนับว่าเป็นผู้มีกิจวัตรแตกต่างจากคนอื่น
ในวัดซึ่งดูจะไม่มีกิจใดนอกจากการทำกรรมฐาน (ยกเว้นแม่ชีซึ่งมีงานอยู่ไม่น้อย รวมทั้งงานครัว)

เป็นเพราะบำเพ็ญตนแบบนี้ ข้าพเจ้าจึงมักได้ยินคนพูดเข้าหูอยู่หลายครั้งว่า ข้าพเจ้าไม่ค่อยปฏิบัติธรรม คำพูดเช่นนี้ข้าพเจ้าได้ยินมาตั้งแต่พรรษาแรกๆ เลยก็ว่าได้ จำได้ว่าตอนพรรษา ๗ มีพระรูปหนึ่ง(ซึ่งอ่อนพรรษากว่า)พูดตำหนิเช่นนี้ต่อหน้าข้าพเจ้า ท่านเห็นว่าพระวัดป่าต้องเคร่งครัดกับการทำกรรมฐาน ตัวท่านเองถึงกับหลีกเร้นไปอยู่ในกุฏิที่ไกลผู้คน ในช่วงเข้าพรรษา ท่านก็เก็บตัวอยู่ในกุฏิ ปฏิบัติแบบอุกฤษฏ์ ไม่สุงสิงผู้คน แต่พอออกพรรษาได้ไม่กี่วัน ท่านก็ลาสิกขา ไม่นานหลังจากนั้นก็มาขอแต่งงานกับสาวชาวบ้านที่อยู่ข้างวัด ซึ่งมาถวายจังหันเป็นประจำ ได้ทราบในเวลาต่อมาว่าช่วงที่ท่านอ้างว่าปฏิบัติแบบอุกฤษฏ์นั้น ท่านออกมาพบกับหญิงสาวในสวนริมป่าอยู่หลายครั้ง

น่าแปลกก็คือบรรดาท่านที่พูดว่าข้าพเจ้าไม่ค่อยปฏิบัติธรรม ส่วนใหญ่สึกหาลาเพศไปแล้ว และแทบทั้งหมดก็ละทิ้งการปฏิบัติอย่างที่ตนเองเคยทำ หันไปใช้ชีวิตอย่างฆราวาสทั่วไป ทำให้ข้าพเจ้าอดสงสัยไม่ได้ว่าเขาปฏิบัติธรรมอย่างไร เหตุใดจึงไม่มั่นคงในชีวิตพรหมจรรย์ พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าเป็นฆราวาสแล้วจะปฏิบัติธรรมไม่ได้ แต่ดูเหมือนว่าในความคิดของท่านเหล่านั้น การปฏิบัติธรรมคือการหลีกเร้นเก็บตัว และแสดงออกด้วยการเดินจงกรมและเคลื่อนไหวมือไปมา (สำนักของข้าพเจ้าใช้อิริยาบถดังกล่าวเป็นอารมณ์หรือฐานของการเจริญสติตาม แนวทางของหลวงพ่อเทียน) ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็แสดงว่าไม่ได้ปฏิบัติธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่งท่านมองการปฏิบัติธรรมแต่ในแง่รูปแบบหรืออากัปกิริยาภายนอก

บ่อยครั้งข้าพเจ้าอดคิดต่อไปไม่ได้ว่า ผู้ที่พูดเช่นนั้น ไม่เพียงให้ความสำคัญกับการปฏิบัติธรรมตามรูปแบบเท่านั้น หากยังเกิดความหลงตนเมื่อได้ทำตามรูปแบบดังกล่าว โดยคิดว่าตนเองเคร่งครัดในการปฏิบัติธรรม พลอยเกิดอาการยกตนข่มท่าน พูดตำหนิคนอื่นที่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างท่าน โดยหาได้ระมัดระวังไม่ว่า มานะที่เกิดขึ้นมานั้นในที่สุดได้ย้อนกลับมาเล่นงานท่าน ทำให้ท่านประมาท และพลั้งเผลอจนต้องลาสิกขาไป

ที่พูดมานี้ไม่ได้หมายความว่าข้าพเจ้าดีกว่าท่านเหล่านั้นจึงสามารถครองเพศบรรพชิตได้นานกว่า อายุพรรษานั้นไม่ได้เป็นเครื่องบ่งบอกถึงคุณภาพหรือความเข้มข้นของการปฏิบัติธรรม บวชนานกว่าไม่ได้แปลว่าปฏิบัติธรรมมากกว่าคนที่บวชไม่กี่ปี ในทำนองเดียวกันตัวอย่างเหล่านี้ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าที่ข้าพเจ้าทำ งานมากมายนั้นเป็นสิ่งที่ถูกแล้ว ข้าพเจ้าเพียงแต่อยากชี้ว่าการปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้อยู่ที่รูปแบบหรืออากัป กิริยาภายนอก เพียงแค่ดูจากกิริยาภายนอก เราไม่สามารถบอกได้ว่าใครปฏิบัติธรรมได้มากกว่าหรือน้อยกว่ากัน

-๕-

ก่อนบวชข้าพเจ้าเคยทำงานให้กับหน่วยงานภาคเอกชน(ที่ปัจจุบันเรียกว่า NGO) คือกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ บทเรียนอย่างหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ตลอด ๗ ปีที่ได้ทำงานที่นั้น (และจากการสังเกตผู้คนในแวดวงเดียวกัน) ก็คือ การทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น จะต้องทำควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงตนเองหรือการฝึกฝนพัฒนาตนด้วย ไม่เช่นนั้นการทำงานเพื่อสังคมอาจลงเอยด้วยการกระทำเพื่อสนองอัตตาตนเอง ซึ่งนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ตลอดจนการวิวาทบาดหมางกับผู้อื่นเพียงเพราะคิดไม่เหมือนตัว หรือเพราะอยู่คนละหน่วยงานกับตน ส่วนบางคนที่รักษาอุดมคติของตัวไว้ได้ ก็อาจมีปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือท้อแท้ผิดหวังที่งานไม่ได้ผล สังคมไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้ทำงานด้วยความทุกข์ และอยู่อย่างคนสิ้นเรี่ยวสิ้นแรง

ข้าพเจ้ายิ่งเห็นชัดจากประสบการณ์ของตนเองว่า ในการทำงานเพื่อสังคมเราจำเป็นต้องรู้เท่าทันตัวเองอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้อัตตาหรือความเห็นแก่ตัวครอบงำ ขณะเดียวกันก็ไม่ปล่อยให้จิตใจจมอยู่ในความทุกข์หรือความท้อแท้ผิดหวัง ข้าพเจ้าพบว่าการทำงานเพื่อสังคมจะได้ผลและเป็นไปอย่างต่อเนื่องหากเรามุ่ง ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสังคมไปด้วย การวางใจเช่นนี้จะช่วยให้เราตระหนักว่า ทุกวินาทีที่เราทุ่มเทไปกับงานนั้นไม่สูญเปล่า เพราะถึงแม้สังคมยังไม่เปลี่ยนแปลง ชาวบ้านยังไม่พ้นจากความลำบากยากจน แต่อย่างน้อยจิตใจของเราก็มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เช่น เห็นแก่ตัวน้อยลง ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคและความยากลำบาก ยึดติดกับยศ ทรัพย์ อำนาจ และคำสรรเสริญน้อยลง นั่นคือเป็นอิสระจากโลกธรรมมากขึ้น

คุณูปการสำคัญ ๒ ประการที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้จากการทำงานเพื่อสังคม ก็คือ กลัวอุปสรรคและความล้มเหลวน้อยลง ส่วนหนึ่งก็เพราะเจอสิ่งเหล่านั้นจนชิน อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ พบว่าอุปสรรคและความล้มเหลวสามารถให้อะไรแก่ตนเองได้มากมาย เช่น ให้บทเรียนและประสบการณ์ ทำให้ตนเองมีความเข้มแข็งในจิตใจมากขึ้น รวมทั้งช่วยลดอหังการ ไม่สำคัญตนว่าเก่งกล้าสามารถ ทำให้ไม่ประมาท

นอกจากนั้นการทำงานเพื่อสังคมยังสอนให้ข้าพเจ้าคิดถึงตัวเองน้อยลง นึกถึงส่วนรวมและผู้คนที่ลำบากกว่าตนได้มากขึ้น ข้าพเจ้าพบว่าเมื่อนึกถึงสังคม ประเทศชาติ หรือพระศาสนาแล้ว เราสามารถปล่อยวางหรือเสียสละอะไรต่ออะไรที่เป็นของเราได้มากขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ จนน่ากลัวว่าสงครามกลางเมืองจะเกิดขึ้นในเร็ววันอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน ข้าพเจ้าไม่ลังเลใจที่จะทำงานรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับกศส. ร่วมกับเพื่อนๆ อีกหลายคนและผู้ใหญ่อีกหลายท่าน เพื่อนำไปสู่การสมานไมตรีระหว่างคนในชาติ แม้จะต้องเสี่ยงกับการติดคุกก็ตาม เพราะงานที่ทำนั้นสวนทางกับรัฐบาลซึ่งเป็นเผด็จการอย่างเต็มที่ และสามารถจับคนเข้าคุกได้อย่างง่ายดายมาก ในตอนนั้นรู้สึกเลยว่ามีแต่ชีวิตเท่านั้นที่ยังหวงแหน ไม่กล้าพอที่จะสละให้ได้อย่างเต็มใจ แต่นอกเหนือจากนั้นแล้วพร้อมจะสูญเสียหากจำเป็น รวมทั้งอิสรภาพของตนด้วย

กล่าวโดยสรุป การทำงานเพื่อสังคมช่วยลดละขัดเกลาข้าพเจ้าได้มาก รวมทั้งทำให้มีความกล้ามากขึ้นที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง และห่วงน้อยลงว่าจะเกิดผลเสียอะไรกับตน (เพราะผลเสียเหล่านั้นก็คือเครื่องฝึกใจให้รู้จักปล่อยวางนั่นเอง) ที่จริงไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม จะเป็นงานเพื่อชุมชน เพื่อพระศาสนา ก็สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ ๒ ประการข้างต้นได้เป็นอย่างน้อย

อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าพบว่าการทำงานภายนอกนั้น แม้จะสำคัญเพียงใด ก็ควรจัดให้สมดุลกับงานด้านในด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งนอกจากทำงานเกี่ยวข้องกับโลกภายนอกแล้ว เราควรมีเวลาอยู่กับตัวเองเพื่อทำสมาธิภาวนาด้วย ในด้านหนึ่งก็เป็นการพักใจ ให้จิตได้ว่างจากการครุ่นคิด และปล่อยวางอารมณ์หมักหมมต่างๆ ออกไปจากใจ ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการฝึกสติและเจริญปัญญา เพื่อให้รู้ทันความรู้สึกคิดของตนได้ดีขึ้น และเพื่อดึงจิตให้กลับมาตระหนักถึงสัจธรรมของชีวิต อันได้แก่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หาไม่ก็จะหลงยึดติดถือมั่นกับสิ่งต่างๆ หรือจมอยู่ในโลกแห่งสมมติบัญญัติ รวมทั้งโลกธรรมทั้งหลาย สติและปัญญาที่เพิ่มพูนจากสมาธิภาวนาจะช่วยให้เราอยู่ในโลก(ผ่านการทำงาน)โดยไม่ติดกับโลกได้ หรือถึงจะเผลอติดจม ก็สามารถหลุดออกมาได้รวดเร็ว

คนที่ทำงานเพื่อสังคม หรืองานใดๆ ก็ตามที่เป็นประโยชน์ จึงควรสนใจสมาธิภาวนา โดยเฉพาะการเจริญสติ มิใช่เพื่อช่วยให้ทำงานอย่างมีความสุขแล้วเท่านั้น แต่ยังทำให้มีชีวิตที่โปร่งเบามากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะทำให้มีฐานที่มั่นคงในการแปรเปลี่ยนงานนั้นๆ ให้เป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วยในตัว กล่าวคือเจริญสติไปพร้อมกับการทำงาน เห็นความไม่เที่ยงของโลกธรรมในระหว่างที่ข้องเกี่ยวกับโลก เช่น เห็นว่าสรรเสริญกับนินทานั้นมาคู่กัน และผันแปรอย่างรวดเร็ว ใครที่ยึดติดกับสรรเสริญ ย่อมทุกข์เมื่อถูกตำหนิ เป็นต้น

-๖-

เป็นเพราะข้าพเจ้าเห็นว่าการทำงานนั้นสามารถเป็นอุปกรณ์แห่งการฝึกจิตและลดละขัดเกลาได้ตัวตนได้ ข้าพเจ้าจึงไม่ปฏิเสธการงาน ยิ่งตนเองมีโอกาสมาบำเพ็ญสมาธิภาวนามากกว่าคนส่วนใหญ่ โดยได้รับความเอื้อเฟื้อสนับสนุนจากผู้คนมากมาย จึงเห็นเป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะในด้านธรรมะ ซึ่งไม่ควรมีความหมายแต่เฉพาะการสอนคนให้มีศีลธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ และวางใจให้ถูกต้องสอดคล้องกับธรรมเท่านั้น หากยังรวมถึงการพยายามทำให้สังคมมีธรรมเป็นพื้นฐาน ไม่เป็นปฏิปักษ์กับความดี เช่น มีความเป็นธรรม เชิดชูธรรม เปี่ยมไปด้วยเมตตากรุณา มิใช่ส่งเสริมให้ผู้คนฝักใฝ่ในวัตถุนิยม เต็มไปด้วยความโกรธเกลียด หรือเบียดเบียนทำร้ายกัน

หลายเรื่องที่ผู้คนเห็นว่าเป็นเรื่องทางโลก แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นหน้าที่ทางธรรม เช่น การเตือนสติผู้คนไม่ให้ใช้ความรุนแรงต่อกัน อย่าให้ความโกรธเกลียดครอบงำจนเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นผักปลา หรือการกระตุ้นเตือนให้คนรวยไม่เอาเปรียบคนจน ไม่แย่งชิงป่าไม้ แหล่งน้ำ และที่ดินอันเป็นที่พึ่งพาอาศัยของชาวบ้าน เพื่อเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตน บนความพินาศของผู้อื่น

ข้าพเจ้าเห็นว่าชาวพุทธไม่ควรสนใจแค่การทำตนให้เป็นคนดีมีจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใสเท่านั้น แต่ควรช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น และส่งเสริมให้เกิดสังคมที่ดีงามหรือเป็นมิตรกับธรรมะด้วย คนดีที่คิดถึงแต่ความสงบสุขของตัวเองเท่านั้น จะเรียกว่าเป็นคนดีได้อย่างไร เมตตากรุณานั้นมิได้แสดงออกด้วยการแผ่เมตตาก่อนนอนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการลงมือกระทำตามหลักสังคหวัตถุ ๔ คือ ทาน ปิยวาจา อัตถจริย และสมานัตตา มิใช่หรือ

มีนักปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อยที่ปฏิเสธการงาน เพราะเกรงว่าจิตใจจะว้าวุ่น ไม่สงบ แต่หากจิตใจเราจะสงบได้ก็ต่อเมื่อไม่มีงานทำ ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่น เราจะแตกต่างจากคนอื่นที่ไม่ปฏิบัติธรรมตรงไหน เพราะคนธรรมดาๆ ก็สงบได้เวลาไม่มีงานทำหรืออยู่ในที่ๆ สงบ ไม่มีผู้คนคลาคล่ำ การปฏิบัติธรรมจะมีความหมายอะไรหากไม่สามารถทำให้ใจเราสงบได้แม้จะแวดล้อมด้วยผู้คน หรืออยู่ในสถานที่ที่วุ่นวาย และถ้าการปฏิบัติธรรมทำให้เราไม่มีความสุขกับการทำงาน หรือไม่สามารถอยู่กับผู้คนได้ นั่นมิหมายความดอกหรือว่าการปฏิบัติธรรมกลับทำให้เรามีจิตใจอ่อนแอมากขึ้น อ่อนไหวและถูกกระทบได้ง่าย ในขณะที่คนหาเช้ากินค่ำกลับไม่รู้สึกเช่นนั้นเลย

ถ้ายิ่งปฏิบัติธรรม ก็ยิ่งอยากหนีงาน อยากทิ้งความรับผิดชอบ ก็ควรตั้งข้อสงสัยไว้ได้เลยว่า นั่นไม่ใช่การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา เพราะผู้ที่ปฏิบัติธรรม ฝึกฝนจิตจนเจริญงอกงาม ตามคำสอนของพระพุทธองค์ ไม่เพียงเปี่ยมด้วยเมตตากรุณา อยากช่วยเหลือผู้อื่นเท่านั้น หากยังมีสติและปัญญาที่พัฒนาแล้ว จนสามารถมีความสุขในทุกงานและทุกสถาน

จริงอยู่สำหรับคนที่ยังไม่ก้าว หน้าการปฏิบัติ ควรมีโอกาสหลีกเร้น เพื่อฝึกฝนพัฒนาจิตอย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรให้ห่วงกังวล หรือดึงความสนใจออกจากการภาวนา แต่ก็ไม่ควรลืมว่าการทำงานนั้นก็สามารถเป็นอุปกรณ์แห่งการปฏิบัติธรรมได้ แม้การทำงานจะทำให้เราพบกับแรงเสียดทาน ประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ แต่ในเวลาเดียวกันมันก็เป็นการบ้านสำหรับการฝึกจิตให้มีสติฉับไว เพื่อปล่อยวางอารมณ์อกุศลได้อย่างรวดเร็ว เวลาถูกตำหนิหรือประสบอุปสรรค ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้เห็นตัวเองว่ามีความยึดติดกับโลกธรรมแค่ไหน ถ้าเรายังปรารถนาคำชื่นชม อยากให้คนสรรเสริญ ก็ย่อมเป็นทุกข์เมื่อถูกตำหนิ ถ้าเราเป็นทุกข์เพราะงานล้มเหลว นั่นเป็นเพราะเรายึดติดถือมั่นในตัวตนใช่หรือไม่ คือยึดติดถือมั่นว่างานนั้นเป็น "ตัวกู ของกู" งานล้มเหลวก็คือ "กู" ล้มเหลว หรือทำงานเพื่อหวังประกาศตัวตนว่า "กูเก่ง" จึงทนไม่ได้เมื่องานล้มเหลว

ยิ่งเป็นงานส่วนรวมด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นเครื่องทดสอบว่าเรามีความเห็นแก่ตัวมากน้อยเพียงใด ถ้าเราคำนึงแต่ความสุขของตนเอง โดยไม่สนใจประโยชน์สุขของส่วนรวม นั่นอาจเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเรายังมีความเห็นแก่ตัวอยู่มาก และยิ่งเห็นแก่ตัวมากเท่าไร อย่าว่าแต่เวลาทำงานเลย แม้ไม่ได้ทำอะไรก็ยังมีความทุกข์ แม้นั่งกินนอนกินอยู่เฉย ๆ ก็ยังรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง ข้อสำคัญก็คือ ความเห็นแก่ตัว หากยังหวงแหนถนอมรักษามันเอาไว้ จะทำให้เราก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมได้อย่างไร

มักมีคำพูดว่าเราต้องช่วยตัวเองก่อนที่จะไปช่วยใคร ข้าพเจ้าได้ยินคำกล่าวเช่นนี้มาตั้งแต่เป็นนักเรียนสมัยออกค่ายอาสาพัฒนา (ผู้พูดมักเป็นคนที่เอาแต่เรียนหนังสือ แต่ก็มีหลายคนที่ไม่สนใจเรียน และไม่สนใจคนยากคนจนด้วย) ข้ออ้างดังกล่าวแม้ดูมีเหตุผล แต่ถ้าพูดแบบไม่แยกแยะจะกลายเป็นการหนีปัญหาหรือเห็นแก่ตัว

ก่อนอื่นก็ต้องชัดเจนก่อนว่าจะไปช่วยใครเรื่องอะไร ถ้าจะไปช่วยให้คนอื่นเข้าถึงนิพพาน ก็สมควรที่เราจะต้องช่วยตัวเองให้ถึงนิพพานก่อน แต่ถ้าจะไปช่วยคนยากจนหายหิวโหย ปลอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ คำถามก็คือเรามีกินแล้วหรือยัง มีสุขภาพดีไหม ถ้ามีกินมีใช้สมบูรณ์ มีสุขภาพพลานามัยดีแล้ว ก็ควรลงมือไปช่วยเขาให้พ้นจากความหิวโหยและความเจ็บป่วย เช่น บริจาคอาหารและยาให้เขา ช่วยรักษาพยาบาลเขา หรือช่วยให้บ้านเมืองมีสวัสดิการสำหรับคนยากคนจน ในกรณีอย่างนี้ใครที่พอมีพอกินหรืออยู่ดีมีสุขแล้วแต่ยังบอกว่าฉันต้องช่วยตัวเองก่อนที่จะไปช่วยเด็กขาดอาหาร คำพูดเช่นนั้นย่อมแสดงถึงความเห็นแก่ตัวของเขาโดยแท้ เพราะตัวเองอยู่สบายกินสบายแล้ว ทำไมจะแบ่งปันช่วยเหลือเขาไม่ได้ ในกรณีอย่างนี้คงต้องถามว่าเขาจะรวยไปถึงไหน และรวยแค่ไหนถึงจะพอ

สำหรับคนที่มีฐานะทางสังคมดีอยู่แล้ว การช่วยเหลือให้คนอื่นได้ลืมตาอ้าปาก เป็นสิ่งที่สมควรทำอย่างยิ่ง จะถือว่าเป็นหน้าที่ก็ได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ ส่วนการฝึกฝนตนในทางจิตใจ ก็ควรทำไป และเป็นหน้าที่ที่พึงทำด้วย เราฝึกตนได้แค่ไหน ก็ช่วยคนอื่นแค่นั้น (หรือน้อยกว่านั้นก็ได้) ถึงแม้ยังไม่บรรลุมรรคผล แต่หากเราปฏิบัติธรรมได้ถึงจุดหนึ่งแล้ว เราก็สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ ไม่แต่ในทางโลก แต่รวมถึงในทางธรรมด้วย เหมือนกับนักศึกษาปริญญาเอก ย่อมมีความรู้มากพอที่จะไปสอนนักศึกษาปริญญาโทปริญญาตรีหรือนักเรียนชั้นมัธยมได้ ไม่ใช่ว่าต้องจบปริญญาเอกก่อนถึงจะไปสอนประถม มัธยม หรือปริญญาตรีได้ ถ้ามีใครบอกว่าตราบใดที่ฉันยังไม่จบปริญญาเอก ฉันจะไม่สอนใครเลย แม้แต่นักเรียนอนุบาล ประถม หรือมัธยม เพราะฉันต้องช่วยตัวเองก่อนที่จะไปช่วยใคร คำพูดเช่นนี้มีน้ำหนักหรือไม่

อย่าลืมว่าการไปช่วยสอนนักศึกษาปริญญาตรีหรือปริญญาโท ก็เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาปริญญาเอกได้ ทำให้มีความรู้แตกฉานในประเด็นที่ตนกำลังศึกษา และอาจเป็นประโยชน์ต่อการทำวิทยานิพนธ์ของตนได้ ฉันใดก็ฉันนั้น การช่วยเหลือผู้อื่น ก็เป็นประโยชน์ต่อนักปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกัน แม้การช่วยเหลือนั้นจะเป็นการช่วยเหลือในทาง "โลก"ก็ตาม เช่น การไปช่วยเด็กขาดอาหาร หรือคนยากคนจน ย่อมเป็นการช่วยฝึกฝนตนให้ลดละความเห็นแก่ตัวและยึดติดถือมั่น ไม่ใช่แค่ลดละความยึดติดในทรัพย์ แต่ยังสามารถช่วยลดละความยึดติดในสรรเสริญ เพราะเวลาไปช่วยคนอื่น เราอดไม่ได้ที่ต้องการคำชมหรือสร้างภาพพจน์ให้ดีขึ้น แต่ถ้าทำแล้วไม่มีใครชม แทนที่จะทุกข์ ควรมองว่านี้เป็นการทรมานอัตตาที่ได้ผลทีเดียว นอกจากนั้นยังเป็นการฝึกสติได้ด้วย ได้ดูใจที่กระเพื่อมขึ้นลง เวลาถูกกระทบหรือประสบปัญหา เป็นโอกาสที่เราจะเห็นกิเลสของตัว ใช่หรือไม่ว่าเวลาอยู่สบายๆ ใจก็มักสงบ จนบางทีอดคิดไม่ได้ว่ากิเลสเบาบาง แต่เมื่อเจอสิ่งไม่พอใจมากระทบ ก็จะได้เห็นว่ากิเลสเบาบางจริงหรือไม่ บ่อยครั้งแรงเสียดทานต่างๆ ก็ช่วยให้เราเห็นกิเลสภายในใจได้ชัดเจนขึ้น

ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวเสมอว่า "การทำงานคือการปฏิบัติธรรม" ท่านต้องการชี้ให้เห็นว่าโลกกับธรรม หรือ โลกียะกับโลกุตตระไม่ได้แยกจากกัน การทำงานในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการทำมาหากินเท่านั้น แต่รวมถึงการทำงานเพื่อสังคมด้วย ในเมื่อเรายังฝึกดูจิตขณะทำมาหากินได้ เหตุใดในระหว่างทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เราจะดูจิตตัวเองไม่ได้

การทำงานกับการปฏิบัติธรรมแยก จากกันไม่ได้ฉันใด การช่วยเหลือตนกับการช่วยเหลือผู้อื่นก็ไม่อาจแยกจากกันได้ฉันนั้น ดังมีพุทธพจน์ว่า "บุคคลเมื่อรักษาผู้อื่น ก็ชื่อว่ารักษาตน" ความข้อนี้เป็นข้อเตือนใจอย่างดีสำหรับผู้ที่มุ่งทำสมาธิภาวนาจนละเลยการช่วยเหลือสังคม แต่สำหรับผู้ที่ทำงานเพื่อสังคมมาก พึงระลึกถึงพุทธพจน์อีกตอนหนึ่งที่มาคู่กันว่า "บุคคลเมื่อรักษาตน ชื่อว่ารักษาผู้อื่น"

การรักษาตนโดยสารัตถะก็คือการรักษาจิตมิให้กิเลสหรืออกุศลครอบงำ หาไม่แล้วไม่ว่าจะทำอะไร ก็อาจกลายเป็นการสนองกิเลสมากกว่าอย่างอื่น ในทางตรงข้ามหากรักษาใจให้เป็นกุศล มีความตื่นรู้อยู่เสมอ เปี่ยมด้วยเมตตากรุณา ก็สามารถแผ่รัศมีอันสงบเย็นให้ผู้อื่นหายจากความรุ่มร้อน และกลับมามีสติได้ง่ายขึ้น

การทำงานเพื่อสังคมนั้น จักต้องเป็นไปอย่างมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ จึงจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง แม้กระนั้นหากทำมากไป ไม่รู้จักพักบ้าง กายและใจก็จะอ่อนล้า จิตจะหยาบกระด้างจนไม่อาจสัมผัสความสุขที่ประณีตได้ ทำให้โหยหาความสุขแบบหยาบ ๆ คือกามสุข ราคะครอบงำ และอาจถึงขั้นเสพติดกามสุขจนถอนตัวถอนใจได้ลำบาก ถึงตอนนั้นก็อาจพลัดสู่ทางที่ต่ำได้ ในทางตรงข้ามหากได้ทำสมาธิภาวนาสม่ำเสมอ แม้ปัญญาจะยังไม่เกิด แต่ก็ได้รับความสุขประณีต ซึ่งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจให้สดชื่น ทำให้ไม่โหยหากามสุข จึงสามารถรักษาใจให้เบิกบานแจ่มใสได้เสมอ และสามารถทำกิจเพื่อส่วนรวม ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ได้ต่อเนื่อง

สำหรับคนที่หนักไปในการทำงาน เพื่อสังคมอย่างข้าพเจ้า จึงจำเป็นต้องหมั่นทำสมาธิภาวนาอยู่เสมอ แน่ละบางครั้งก็ย่อหย่อน การติติงจากผู้อื่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อ ๒-๓ ปีก่อน มีฆราวาสผู้หนึ่งซึ่งมีบทบาทอย่างแข็งขันในการเผยแผ่พุทธศาสนาให้คนในเมือง ได้พูดผ่านมาถึงหูข้าพเจ้า ว่าข้าพเจ้าไม่ค่อยปฏิบัติธรรม ตอนที่ได้ยินครั้งแรก รู้สึกไม่พอใจ อดนึกตอบโต้ในใจไม่ได้ว่า แล้วคุณล่ะปฏิบัติธรรมมามากแค่ไหน? ปฏิบัติธรรมในความเข้าใจของคุณหมายถึงการหลีกเร้นหลับตาเท่านั้นหรือ? ว่าแล้วก็นึกไปถึงหลายคนที่พูดตำหนิข้าพเจ้าอย่างนี้แต่แล้วกลับแพ้ภัยตนเอง

แต่เมื่อตั้งสติได้ ก็หันมาดูตัวเอง เห็นใจที่กระเพื่อม เห็น "ตัวกู"ที่เป็นทุกข์ ก็รู้สึกว่าดีแล้วที่เขาพูดเช่นนั้น นอกจากจะได้เห็นอัตตาของตัวเองที่ยึดแน่นแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเตือนให้ตนหันมาทำสมาธิภาวนาให้มากขึ้น เขาจะพูดถูกหรือผิด ไม่สำคัญเท่ากับความจริงที่ว่าการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ไม่ควรปล่อยปละละเลย ไม่ว่าพระหรือฆราวาส แม้จะบวชมากว่า ๒๐ พรรษา ก็ยังต้องใส่ใจในเรื่องนี้อยู่

เมื่อทบทวนชีวิตที่ผ่านมา รู้สึกว่าตนได้เดินทางมาไกลพอสมควร วันที่รู้สึกอาวรณ์ในชีวิตฆราวาส(เพราะไม่ได้เล่นฟุตบอล) หรือรู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรไปบางอย่างเมื่อได้มาบวชพระนั้นได้ผ่านไปนานแล้ว มาถึงวันนี้รู้สึกว่าตนมีโชคอย่างมากที่ได้ครองเพศบรรพชิตมากว่าครึ่งชีวิต หาไม่แล้วจะต้องทุกข์มากกว่านี้อย่างแน่นอน แม้ทุกวันนี้ก็ยังมีสุขระคนทุกข์เยี่ยงปุถุชน เพราะยังไม่ถึงมรรคผล แต่ก็ได้รับความสุขจากชีวิตนี้อย่างที่น้อยคนจะได้รับ อย่างไรก็ตามจะพึงพอใจเพียงเท่านี้หาได้ไม่ ในเมื่อจุดหมายปลายทางยังอยู่อีกไกล ก็จำต้องก้าวเดินต่อไปไม่หยุด ต้องประคองตัวประคองใจไปให้ถึงจุดหมาย แต่หากมีเหตุให้มิอาจบรรลุถึง ก็ต้องไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้


------------------------------

จาก เว็บ

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >