หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow จากใต้เงาแห่งความกลัวสู่มือแห่งความรัก : ปรีดา เรืองวิชาธร
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 87 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

จากใต้เงาแห่งความกลัวสู่มือแห่งความรัก : ปรีดา เรืองวิชาธร พิมพ์
Wednesday, 03 November 2010

จากใต้เงาแห่งความกลัวสู่มือแห่งความรัก


โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม 2553

ในหนังเชิงสารคดีเรื่อง "From Mao to Mozart: Isaac Stern in China" นักไวโอลิน Isaac Stern ได้เดินทางเข้าไปสอนดนตรีคลาสสิกให้เหล่านักเรียนจีนเพื่อให้พวกเขาสามารถเล่นดนตรีได้อย่างเข้าถึงแก่นแท้และแง่งามของดนตรี ซึ่งไม่ใช่ฝึกฝนให้เกิดเพียงทักษะการเล่นเท่านั้น แต่สามารถเล่นออกมาจากแรงขับของอารมณ์ความรู้สึกภายใน สามารถอ่านและเล่นตามตัวโน้ตได้อย่างเข้าถึงจิตวิญญาณของผู้ประพันธ์ เทคนิคในการโค้ชของ Stern น่าสนใจหลายอย่าง ที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ เขาจะคอยปลุกปลอบกำลังใจนักเรียนได้ลองเล่นออกมาให้เห็นเพื่อที่เขาจะได้ช่วยชี้จุดบกพร่องและปรับแก้ให้ หลายครั้งนักเรียนจะทั้งกลัว เกร็ง และเขินอายที่จะเล่นออกมาต่อหน้าครูซึ่งเป็นนักไวโอลินระดับพระกาฬ แต่เขาจะใช้อารมณ์ขันและความตั้งใจจริงกระตุ้นให้นักเรียนของเขาปลดปล่อยความสามารถที่แท้จริงออกมา ช่วงไหนเล่นได้ดีก็ชม ช่วงที่ควรปรับก็บอกตามตรง แรกๆ ก็ฝืดอยู่บ้างแต่ภายหลังที่เหล่านักเรียนเริ่มข้ามพ้นพรมแดนแห่งความกลัวภายในบางอย่าง ศักยภาพที่แท้จริงก็ปรากฏออกมาอย่างน่าทึ่ง

จากหนังเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงประสบการณ์การเรียนในระบบการศึกษาไทยตั้งแต่ประถมจนถึงอุดมศึกษา เพื่อนๆ กับผมเรียนหนังสือภายใต้เงาของความกลัวภายในบางอย่าง ไล่เรียงตั้งแต่เวลาครูถามในห้องก็กลัวตอบคำถามได้ไม่ถูกต้องหรือดูไม่ฉลาด ซึ่งจะเป็นการแสดงความโง่ออกมาให้เห็น กลัวเลยไปถึงว่าคำตอบหรือการแสดงความรู้ความสามารถออกมาจะถูกตีตราว่าตัวเรา มีราคาค่างวดทางความรู้ความสามารถต่ำ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังรอบข้างจากครูกับเพื่อนบางคนมักทำให้ผมกับเพื่อน หลายคนไม่อยากตอบคำถาม ไม่อยากแสดงออกใดๆ ไม่อยากคิดสร้างสรรค์ออกมาดังๆ ให้ตัวเองและคนอื่นได้ประจักษ์รับรู้ เพราะอายที่จะต้องแสดงความหน้าโง่ออกมา

ผลของการเรียนรู้ภายใต้ความกลัวแบบนี้มักจะทำให้ศักยภาพที่แท้จริงถูกกักขังให้กระจุกตัวอยู่ภายใน ปลดปล่อยออกมาให้เห็นได้ยาก ขณะเดียวกันหากบางครั้งบางคราวมีโอกาสได้เรียนรู้ร่วมกับครูอาจารย์ที่ต้องการช่วยเหลือสนับสนุนอย่างแท้จริง เราก็จะพลาดโอกาสอันสำคัญนั้นไป เพราะไม่กล้าที่จะแสดงออกมาให้ครูอาจารย์ได้รู้ได้เห็นเพื่อที่ท่านจะได้ ช่วยชี้ช่องทางพัฒนาการเรียนรู้ได้เหมาะสมสอดคล้องกับเรา เพื่อนรอบข้างที่ต้องการให้กำลังใจและช่วยเหลือก็พลอยเข้ามาได้ไม่ถนัดตามที่ควรจะเป็น หรือแม้ตัวเราเองก็ไม่รู้จะปลดปล่อยศักยภาพที่แท้จริงออกมาได้อย่างไร ไม่รู้ว่าจะเยียวยาความรู้สึกด้อยให้คลี่คลายบรรเทาได้อย่างไร

ปัจจัยที่ทำให้เราสร้างกรงขังอิสรภาพแห่งความรู้ความสามารถมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยภายในของบุคคลได้แก่ การไม่เปิดโอกาสรวมถึงไม่ขวนขวายผลักดันให้ตัวเองได้คิดได้ทำได้แสดงออกมาอย่างเต็มที่ ไม่อยากเรียนรู้ชนิดที่ท้าทายความสามารถและตรงกับใจรัก หรือเรียนแบบไม่ใฝ่สัมฤทธิ์จึงชอบเรียนแบบเซื่องๆ ไปตามกระแสกล่าวคือ เอาแค่พอสอบผ่านหรือแค่จบมีดีกรีสูงๆ เป็นใบผ่านทางเพื่อประกอบอาชีพพอที่จะเรียกค่าตัวได้สูง ปัจจัยภายในอีกเรื่องที่สำคัญก็คือ การติดเปรียบเทียบแข่งขัน ชอบเปรียบเขาเปรียบเราว่าใครจะเก่งหรือเหนือกว่ากัน ดังเช่นหากเรียนรู้แล้วถูกเปรียบเทียบตัดสินตายตัวว่าเราไม่เก่งไม่ฉลาดก็มักจะผูกเป็นปมด้อยในใจ หรือเคยเรียนเป็นที่หนึ่งหรืออยู่แถวหน้ามาตลอด แต่หากพลาดพลั้งไม่เหมือนเดิมก็มักสูญเสียความมั่นใจไปเลย เป็นต้น ดังนั้นการเรียนรู้ด้วยบรรยากาศเปรียบเทียบแข่งขันว่า เรากับเพื่อนร่วมห้องใครจะเหนือกว่ากันจึงมีโทษมากกว่าคุณ แทนที่จะมุ่งเรียนรู้เพื่อร่วมกันเข้าถึงแก่นของเรื่องที่เราเรียน เรียนเพื่อที่จะรู้และพัฒนาความสามารถรวมถึงการเติบโตทางด้านในของชีวิตให้งอกงามจนสามารถประยุกต์มาใช้แก้ปัญหาในระดับต่างๆ ของชีวิตและสังคม รวมถึงสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยดีในสังคมที่เต็มไปด้วยความสับสนยุ่งเหยิง

ส่วนปัจจัยภายนอกที่ส่งเสริมให้เรากักขังอิสรภาพแห่งการเรียนรู้ก็คือ ระบบและบรรยากาศการเรียนรู้ที่ลดทอนความสามารถของมนุษย์ซึ่งมีหลายตัวอย่าง ดังเช่น การเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนจำมากกว่ากระตุ้นให้คิดเองหรือเน้นให้คิดเป็นทางเดียว มีคำตอบเดียวที่ตายตัวซึ่งต้องตอบให้เหมือนกับคำตอบเดียวในใจของครู รวมถึงการค้นคว้าเรียนรู้ที่เร่งรีบเกินไปจนไม่มีเวลามากพอที่จะใคร่ครวญ หรือคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ออกมา เวลาที่จำกัดเร่งรีบเกินไปจึงมักทำให้ความคิดสร้างสรรค์ถูกปิดกั้นจนลดน้อยถอยลงไปอย่างน่าเสียดาย

อีกประการหนึ่งที่พบเสมอก็คือ บรรยากาศที่ด่วนสรุปตัดสินเร็วเกินไปต่อชุดความรู้ความเชื่อที่ผิดแผกแตกต่างไปจากบทเรียนที่อยู่ในคู่มือการสอนของครู ทั้งยังรวมถึงการแสดงความดูถูกดูแคลนคำตอบกับการแสดงความคิดเห็น โดยปราศจากความรักความเมตตาที่จะช่วยเหลือสนับสนุนกัน การดูถูกดูแคลนมักจะนำไปสู่การแบ่งแยกเปรียบเทียบให้เกิดชนชั้นแห่งความสามารถ ซึ่งมักจะทำให้บางคนมีทิฏฐิมานะเข้มข้นขึ้นขณะที่อีกฝ่ายก็รู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าลง ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายในแง่นี้ก็คือ เวลาที่อยู่ร่วมกับคนบางกลุ่มที่เรารู้สึกว่าเขาเหนือกว่า เราจะรู้สึกด้อยขึ้นมาทันที รัศมีของเราถูกบดบังครอบงำจนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นใดๆ ออกมา ในขณะเดียวกันคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีอะไรเหนือกว่าคนอื่นก็มักจะพูดหรือแสดงอะไรออกมาข่มให้คนอื่นรู้สึกเกรงกลัวหรือด้อยโดยแสดงออกอย่างไม่รู้สึกตัว เป็นต้น

ประเด็นสุดท้ายในที่นี้ก็คือ ระบบการยกย่องเชิดชูบางศาสตร์บางคณะให้รู้สึกเหนือกว่าศาสตร์หรือคณะอื่น ยกย่องเชิดชูสถาบันตัวเองให้เด่นเหนือกว่าสถาบันอื่น รวมถึงยกย่องเชิดชูคนจบดีกรีสูงให้รู้สึกเหนือกว่าคนจบดีกรีต่ำ การเน้นยกย่องเชิดชูไปที่เปลือกกระพี้ของสิ่งเหล่านี้ด้วยการสร้างคุณค่า ความหมาย(วาทกรรม)ให้คนในสังคมติดยึดเปลือกนอกอันผิวเผินมากกว่าแก่นแท้ของ การเรียนรู้ มักจะทำให้เราหลงละเมอไปกับคุณค่าของเปลือกนอกซึ่งเป็นของเทียมจนทำให้เราหยุดการเรียนรู้ที่แท้จริง และไม่สามารถร่วมมือช่วยเหลือกันและกันทางสติปัญญาได้ตามที่ควรจะเป็น

ด้วยเหตุนี้จะดีกว่าไหมหากเราช่วยกันปรับเปลี่ยนระบบและบรรยากาศการเรียน จากภายใต้เงาของความขลาดกลัวมาอยู่ในมือของความรักแทน ด้วยการสร้างสรรค์ระบบและบรรยากาศการเรียนที่ดึงเอาเมล็ดพันธุ์ด้านดีของมนุษย์มาเป็นแรงจูงใจ ให้ทุกคนใฝ่เรียนรู้และมีสำนึกของการแสวงหาความเป็นเลิศ ดังเช่น ใช้ความรัก ให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจกัน เปิดพื้นที่ให้โอกาสตลอดจนให้กำลังใจและสนับสนุนช่วยเหลือกัน แทนที่จะใช้ปัจจัยด้านลบต่างๆ ที่กล่าวมา การส่งเสริมปัจจัยทางบวกเหล่านี้จะเป็นแรงจูงใจให้เราข้ามพ้นพรมแดนเส้นแบ่ง ที่แบ่งแยกพวกเราออกเป็นฝักเป็นฝ่ายที่มีความเหลื่อมล้ำแปลกแยกต่อกัน ช่วยลดความยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิและการถือตัวถือตน มิเพียงเท่านี้การเรียนรู้ร่วมกันด้วยพลังแห่งรักนี้ยังทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆได้อย่างไม่หยุดนิ่งตายตัว ถือเป็นการเติบโตงอกงามทางสติปัญญาของบุคคลและสังคมโดยแท้

 

โดย.....ปรีดา เรืองวิชาธร

ที่มา คอลัมน์ มองย้อนศร : http://www.budnet.org/

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >