หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow รำลึกถึงนิโคลัส เบนเนตต์ : พระไพศาล วิสาโล
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 79 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

รำลึกถึงนิโคลัส เบนเนตต์ : พระไพศาล วิสาโล พิมพ์
Tuesday, 30 March 2010
รำลึกถึงนิโคลัส เบนเนตต์ ครูผู้สอนถึงชีวิต การต่อสู้ และอหิงสธรรม

คมชัดลึก วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ย้อนหลังไปเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน ข้าพเจ้าก็เช่นเดียวกับนักศึกษาธรรมศาสตร์อีกหลายคนที่เข้าห้องเรียนน้อยมาก ตลอด 4 ปีครึ่งในมหาวิทยาลัย ข้าพเจ้ามีสมุดจดคำบรรยายเพียงเล่มเดียวเท่านั้นสำหรับทุกวิชาที่เข้าเรียน การเรียนรู้ที่สำคัญส่วนใหญ่เกิดขึ้นนอกรั้วมหาวิทยาลัย ในช่วงนั้นเองมีบุคคลผู้หนึ่งที่ข้าพเจ้านับถือว่าเป็นครูได้อย่างสนิทใจ บุคคลผู้นั้นคือนิโคลัส เบนเนตต์

นิโคลัส เบนเนตต์ เป็นชาวอังกฤษ เข้ามาเมืองไทยตั้งแต่ปี 2513 ในฐานะผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ โดยมาทำงานเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง ๆ ที่อายุเพียง 28 ปี อีกทั้งเรียนจบมาทางเศรษฐศาสตร์ แต่เขามีประสบการณ์ทางด้านการศึกษามาไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้ว โดยทำงานในประเทศอูกันดาในสมัยอีดีอามิน

ในชั่วเวลาไม่ถึง 2 ปีที่อยู่เมืองไทย เขาได้รับการยกย่องในหมู่นักวิชาการและนักศึกษาหัวก้าวหน้าว่าเป็นผู้ที่มี ความคิดเฉียบคมด้านการศึกษา ใช่แต่เท่านั้นเขายังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูป การศึกษาอย่างจริงจัง งานเขียนของเขาหลายชิ้นตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องในวารสารชั้นนำหลายฉบับ เช่น ศูนย์ศึกษา ปาจารยสาร วิทยาสาร ซึ่งเป็นเวทีที่สร้างกระแสการวิพากษ์วิจารณ์การศึกษาไทยอย่างไม่เคยปรากฏมา ก่อน ในช่วงเดียวกันกับที่ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ได้ปลุกสำนึกปัญญาชนให้เกิดความตื่นตัวทางการเมืองขนานใหญ่ ก่อนจะนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ในเวลาต่อมา

ช่วงนั้นเองที่ข้าพเจ้าได้รู้จักนิโคลัสผ่านงานเขียนดังกล่าว ตอนนั้นยังเข้าใจไปด้วยซ้ำว่าเขาทำงานในต่างประเทศ นิโคลัสเขียนหนังสือได้น่าอ่าน ชัดเจน เป็นระบบ และวิพากษ์วิจารณ์การศึกษาไทยอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็เสนอทางออกที่น่าสนใจ งานเขียนดังกล่าวทำให้ข้าพเจ้าเริ่มตั้งคำถามกับระบบการศึกษาตั้งแต่ยังเป็น นักเรียน

หลัง 14 ตุลาฯ ประชาธิปไตยเบ่งบานเต็มที่ การปฏิรูปเกิดขึ้นในหลายวงการรวมทั้งวงการศึกษา รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติขึ้นมา แต่ในทางการเมืองนั้นนักศึกษาปัญญาชนจำนวนไม่น้อยเรียกร้องการปฏิวัติโดยมี สังคมนิยมแบบจีนเป็นแม่แบบ การจับอาวุธเพื่อ "โค่นล้ม นายทุน ขุนศึก ศักดินา" และ "ขับไล่จักรพรรดินิยมอเมริกัน" เป็นคำตอบสำหรับคนหนุ่มสาวจำนวนมาก

ข้าพเจ้าเองก็คิดไม่ต่างจากคนหนุ่มสาวเหล่านั้น จนกระทั่งปลายปี 2517 ข้าพเจ้าก็หันมาตั้งคำถามกับความรุนแรง นอกจากอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์แล้ว นิโคลัสเป็นอีกผู้หนึ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าหันมาสมาทานสันติวิธี แม้เขามีความใกล้ชิดกับผู้นำนักศึกษาหลายคนในเวลานั้น แต่ในเรื่องนี้เขาเห็นต่างอย่างสิ้นเชิง เขาเห็นว่าวิธีการกับเป้าหมายต้องไปด้วยกัน สันติสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยสันติวิธีเท่านั้น

ข้าพเจ้ารู้ในเวลาต่อมาว่า เขาเคยเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสันติวิธีที่เจนจัดมากเมื่อครั้งเป็นนักศึกษา ออกซฟอร์ด อีกทั้งยังติดตามงานเขียนใหม่ๆ ด้านสันติวิธีอยู่เสมอ จึงมีความรู้ลึกซึ้งในด้านสันติวิธีทั้งในด้านทฤษฎีและประสบการณ์ในนานา ประเทศ ช่วงนั้นวิศิษฐ์ วังวิญญู ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มอหิงสา คลุกคลีตีโมงอยู่กับนิโคลัส จึงเป็นสะพานเชื่อมให้ข้าพเจ้าได้รู้จักนิโคลัส ต่อมาก็มีโอกาสสนทนากับเขาหลายครั้ง จนค้างคืนที่บ้านเขาก็บ่อย อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าไม่เคยคิดว่าจะได้มาทำงานกับเขาจนกระทั่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

ตอนนั้นมีนักศึกษาประชาชนกว่าสามพันคนถูกจับด้วยข้อหาร้ายแรงจาก เหตุการณ์นองเลือดที่ธรรมศาสตร์ อีกทั้งยังมีการกวาดล้างคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างจากรัฐบาลอีกหลาย พันคนทั่วประเทศด้วยข้อหาภัยสังคม ขณะที่อีกหลายพันหนีเข้าป่าเพื่อจับอาวุธสู้กับรัฐบาล ข้าพเจ้ากับเพื่อนหลายคนทั้งพระและฆราวาสซึ่งห่วงใยในบ้านเมืองว่าจะเกิด สงครามกลางเมืองขึ้น จึงได้ช่วยกันฟื้นฟูกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคมหรือกศส. (ซึ่งตั้งในปี 2519 แต่ก็เหมือนยุบไปหลัง 6 ตุลาฯ) โดยได้รับความสนับสนุนจากผู้ใหญ่หลายท่านทั้งในวงการศาสนาและสิทธิมนุษยชน (เช่น สังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ อาจารย์โกศล ศรีสังข์ และอาจารย์โคทม อารียา) ทั้งนี้โดยเน้นหนักเรื่องการรณรงค์เพื่อนิรโทษกรรมนักโทษ 6 ตุลาฯ และการปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะเราเชื่อว่ายิ่งมีการกดขี่เบียดเบียนประชาชนน้อยเท่าไร การสมานไมตรีภายในชาติก็มีโอกาสเกิดขึ้นมากเท่านั้น

ประชา หุตานุวัตรซึ่งตอนนั้นบวชพระอยู่ รู้จักกับนิโคลัสดี ได้ชักชวนนิโคลัสให้มาเป็นกรรมการกศส.ด้วย นิโคลัสไม่ได้เป็นกรรมการแต่ในนาม แต่ยังเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ปฏิบัติงานกศส.ซึ่งมีข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในนั้น พวกเราทำงานกันเต็มเวลาก็ว่าได้โดยอาศัยบ้านพักของนิโคลัสเป็นที่ประชุมทุกอาทิตย์ (ส่วนสำนักงานตั้งอยู่แถวสีลม) ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การติดตามสอดส่องจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างใกล้ชิด

ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลในตอนนั้น แม้นายกรัฐมนตรีเป็นพลเรือน แต่มีทหารเป็นเกราะกำบัง(เสมือน "เปลือกหอย") จึงเป็นเผด็จการเต็มที่ ไม่ยอมให้มีใครคิดต่างจากตน สื่อมวลชนถูกปิดปากเป็นประจำ การคัดค้านรัฐบาลทำได้ยากอย่างยิ่ง ในบรรยากาศเช่นนี้ กศส.ซึ่งคอยจับตาการทำงานของรัฐบาล และเรียกร้องรัฐบาลให้เคารพสิทธิมนุษยชน จึงเสี่ยงที่จะถูกป้ายสีจากรัฐบาลว่าเป็นแนวร่วมคอมมิวนิสต์ และถูกจับเข้าคุกได้ง่ายมาก แต่พวกเราได้ตกลงกันว่าจะทำงานโดยยึดหลักสันติวิธี คือทำงานอย่างเปิดเผย ไม่สนับสนุนการใช้อาวุธโดยฝ่ายใดทั้งสิ้น

ประสบการณ์ในช่วงนั้นนับว่ามีคุณค่ามาก ส่วนหนึ่งก็เพราะข้าพเจ้าได้เรียนรู้จากนิโคลัสหลายอย่าง ทั้งในด้านชีวิตและการทำงาน นิโคลัสเป็นคนที่ฉลาดมาก จับประเด็นเร็ว และคิดชัด (อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยกล่าวว่าในเมืองไทยคนที่มีสติปัญญาเฉียบคมจับประเด็นไวที่น่ายกย่องมี เพียง 3 คนเท่านั้น คือ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตโต และนิโคลัส) แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็เป็นคนที่สุภาพ อ่อนโยน มีเมตตา แถมยังมีความกล้าหาญอย่างมาก คนที่จะมีคุณสมบัติพร้อมทั้ง 3 ประการ (ฉลาด สุภาพ และกล้าหาญ)อย่างเขานั้นหาน้อยมาก

นิโคลัสเป็นที่ปรึกษารัฐบาล แต่เขาเคยไม่กลัวภัยใดๆ จากรัฐบาล ความที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสันติวิธีมาก่อน เขาจึงเป็นเสมือนมันสมองให้กับพวกเราในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นธรรมดาที่ต้องคัดง้างกับรัฐ ตลอด 3 ปีที่เราทำงานภายใต้รัฐบาลเผด็จการและกึ่งเผด็จการ พวกเรามีโอกาสติดคุกตลอดเวลา เช่นเดียวกับนิโคลัสที่มีโอกาสถูกไล่ออกนอกประเทศ แต่การได้อยู่ใกล้ชิดกับนิโคลัสซึ่งเป็นคนที่ไม่หวั่นเกรงอำนาจรัฐ ทำให้พวกเรากล้าที่จะทำงานเสี่ยงคุกตะราง

ช่วงนั้นนิโคลัสทำงานทั้งวันและทั้งคืน กลางวันเขาทำงานให้กับกระทรวงศึกษาธิการ ตกกลางคืนเขาทำงานให้กับกศส. โดยติดต่อต่างประเทศ และทำรายงานสิทธิมนุษยชนเมืองไทยราย 2 เดือนเป็นภาษาอังกฤษ เผยแพร่ทั่วโลก หลัง 6 ตุลาฯ รายงานของกศส.เป็นแหล่งข้อมูลเดียวก็ว่าได้ที่ต่างประเทศให้ความเชื่อถือ เพราะข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจากภาคสนามโดยเจ้าหน้าที่ของกศส.เอง (ซึ่งต่อมาบางคนถูกจับข้อหาคอมมิวนิสต์ระหว่างลงพื้นที่หาข้อมูล)

ในชั่วเวลาแค่ปีเดียวนิโคลัสได้สร้างเครือข่ายกับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าส.ส. นักหนังสือพิมพ์ องค์กรสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น หลายคนได้มาเยือนพวกเราถึงสำนักงาน ทำให้กศส.เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมาก นี้คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้กศส. ไม่ถูกรัฐบาลเล่นงาน

ควรกล่าวด้วยว่านิโคลัสยังเป็นสื่อกลางระหว่างกศส.กับอาจารย์ป๋วยและ มูลนิธิมิตรไทยที่ประเทศอังกฤษ อาจารย์ป๋วยเป็นคนไทยที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดในการรณรงค์ต่างประเทศเพื่อปก ป้องสิทธิมนุษยชนในเมืองไทย ก่อนที่จะล้มป่วยเป็นอัมพาตในเดือนกันยายน 2520 คำแนะนำของอาจารย์ป๋วยผ่านนิโคลัส (ซึ่งส่วนใหญ่เขียนเป็นจดหมายจากลอนดอนโดยใช้นามว่า Richard Evans) เป็นทั้งกำลังใจและเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของพวกเรามาก

แรงกดดันจากนานาประเทศทั่วโลกอย่างต่อเนื่องร่วม 2 ปี ทำให้ในที่สุดรัฐบาลไทยต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษคดี 6 ตุลาฯ ในเดือนกันยายน 2521 และหลังจากที่บ้านเมืองเปิดกว้างมากขึ้น การเรียกร้องของคนในประเทศร่วมกับแรงกดดันจากต่างประเทศ ก็ทำให้รัฐบาลต้องยกเลิกกฎหมายภัยสังคม ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่จับกุมคนอย่างไม่มีกำหนดโดยไม่ต้องขึ้นศาล ทั้งหมดนี้ต้องถือว่านิโคลัสมีส่วนอย่างสำคัญ การผ่อนคลายในทางการเมือง โดยเป็นเผด็จการน้อยลง มีส่วนทำให้ในเวลาต่อมาผู้ที่เข้าป่าได้วางอาวุธกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศไทยไม่เกิดสงครามกลางเมืองอย่างเพื่อนบ้าน

นิโคลัสอายุมากกว่าข้าพเจ้า 15 ปี แต่เขาปฏิบัติกับพวกเราเหมือนเพื่อนยิ่งกว่า "ผู้ใหญ่"อีกทั้งยังรับฟังความคิดของเรา และพร้อมรับคำติติง เขาจึงเป็นเสมือนครูที่ส่งเสริมให้พวกเรากล้าคิดกล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันมีอุบายในการกระตุ้นให้เราเอาชนะความกลัว เขาพยายามผลักดันให้เราก้าวไปให้ไกลที่สุดจนกว่าจะถึงขีดจำกัดของตัวเอง ซึ่งทำให้พวกเราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น จะว่าไปแล้วสถานการณ์บ้านเมืองตอนนั้นก็เป็นใจ แม้ความกดดันจะมีมากแต่มันก็ได้รีดเค้นเอาส่วนที่ดี ๆ ของเราออกมามิใช่น้อย โดยเฉพาะการคิดถึงส่วนรวมมากกว่าตัวเอง พวกเราหลายคนไม่กลัวติดคุกเพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบ กับเคราะห์กรรมที่ผู้อื่นประสบอย่างหนักหนาสาหัสในเวลานั้น

อีกประการหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนจากนิโคลัสคือ อหิงสธรรม แม้เขาจะเป็นนักยุทธวิธีด้านสันติวิธีตัวฉกาจ แต่วิถีชีวิตของเขาก็เป็นไปในทางสันติด้วย เขาใช้ชีวิตอย่างสมถะ ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความสุภาพ จริงใจ และยุติธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ เขาเป็นคนที่เห็นใจเพื่อนมนุษย์มาก (แต่ก็ไม่ใจอ่อนจนตามใจเขา) เขาปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไม่ถือชั้นวรรณะหรือสถานะการศึกษา ทำให้ผู้อื่นสามารถคบกับเขาได้อย่างสนิทใจ

เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น ปี 2522 นิโคลัสได้ย้ายไปทำงานที่ประเทศเนปาล ที่นั่นเขาได้สร้างคนรุ่นใหม่หลายคน เขาพาคนเหล่านี้ขึ้นเขาไปตามหมู่บ้านกันดารเพื่อช่วยพัฒนาการศึกษาควบคู่กับ การสร้างจิตสำนึก เขาไม่เหมือน "ผู้เชี่ยวชาญชาวตะวันตก"ทั่วไป เพราะเขาไม่ชอบนั่งวางแผนในห้องแอร์ แต่จะต้องลงพื้นที่และไปอยู่กินกับชาวบ้าน เขาเป็นคนที่อดทนและแข็งแรง สามารถเดินข้ามเขาเป็นลูก ๆ เป็นเวลาหลายวัน พร้อมกับพาเจ้าหน้าที่พื้นเมืองไปด้วย ทราบว่าหลายคนต่อมาได้เป็นแกนนำในขบวนการต่อต้านรัฐบาลเนปาล

หลังจากอยู่เนปาล 5 ปี นิโคลัสกลับไปทำงานในแอฟริกาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ไม่ว่าที่กานา คาเมรูน หรือเอธิโอเปีย งานที่เขากัดไม่ปล่อยคือการศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท เช่นเดียวกับที่เนปาล เขาอยู่ในสำนักงานหรือเมืองหลวงน้อยมาก แต่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการลงพื้นที่ เพื่อทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่พื้นเมืองและชาวบ้าน โดยใช้ชีวิตแตกต่างกับเขาน้อยมาก

นิโคลัสเป็นนักมนุษยนิยมที่อุทิศตนเพื่อเพื่อนมนุษย์อย่างแข็งขันที่สุด เท่าที่ข้าพเจ้าเคยรู้จัก
ในฐานะเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การสหประชาชาติ เขาสามารถที่จะใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายได้ แต่เขากลับเห็นเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวบ้านเพื่อ ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก ในระยะหลังเขาออกจะเบื่อหน่ายวัฒนธรรมปัญญาชน ที่เอาแต่อ่าน คิด และเขียน แต่ไม่ลงมือปฏิบัติ ดังนั้นเขาจึงหันมาใช้ชีวิตแทบจะตรงกันข้าม เขาอ่านหนังสือน้อยลงและแทบไม่มีงานเขียนออกมาเลย ทั้งๆ ที่เขาเคยเป็นนักอ่านตัวยงและเป็นนักเขียนที่เก่งมาก ทั้งนี้เพื่อทุ่มเทให้กับการทำงานที่ส่งผลถึงชาวบ้านจริงๆ แต่ก็ยังดีที่เขาได้เขียนอัตชีวประวัติเอาไว้เล่มหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวและประสบการณ์ที่น่าสนใจ เพราะชีวิตของเขานั้นโลดโผนและมีสีสันมาก ยากจะมีใครที่มีประสบการณ์ต่อสู้คัดง้างรัฐบาลเผด็จการในนานาประเทศอย่างต่อ เนื่องร่วม 40 ปีอย่างเขา

นิโคลัสเป็นคนที่ต่อต้านระบบ ไม่เชื่อในอำนาจรัฐและไม่ศรัทธาในสถาบันขนาดใหญ่ (เขาเคยพูดถึงตัวเองว่าเป็น authoritarian anarchist) แต่เกือบสองในสามของชีวิตเขาทำงานให้กับองค์กรระดับโลก คือสหประชาชาติ โดยประพฤติตัวเหมือน "ขบถ" ในนั้นโดยตลอด อาจเป็นเพราะเขาต้องการใช้ทรัพยากรขององค์กรเหล่านั้นเพื่อประโยชน์ของผู้ ทุกข์ยาก น่านับถือที่เขาไม่ถูกกลืนโดยวัฒนธรรมองค์กรเหล่านั้นเลย แต่ในเวลาเดียวกันเขาคงรู้สึกแปลกแยกกับผู้คนในองค์กรเหล่านั้นมิใช่น้อย นี้อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาไม่ยอมปักหลักอยู่ในสำนักงานเลย แม้ต่อมาเขาย้ายไปทำงานที่ธนาคารโลก แต่เขาก็ไม่ยอมอยู่กรุงวอชิงตัน อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ แต่ลงไปทำงานในแอฟริกาเช่นเดิม

นิโคลัสใช้ชีวิตแบบสมบุกสมบันมาตลอด จนกระทั่งเริ่มมีอาการเจ็บป่วยทางประสาทกล้ามเนื้อที่เป็นกรรมพันธุ์ พี่ชายเขาเสียชีวิตด้วยโรคนี้หลังจากล้มป่วยไม่นาน แต่นิโคลัสได้ประคองและดูแลรักษาตัวจนสามารถอยู่ได้นานเกือบ 10 ปี

นิโคลัสนับถือพุทธศาสนา เขาเป็นผู้หนึ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าศรัทธามั่นคงในพระศาสนาและภูมิปัญญาตะวัน ออก รวมทั้งสันติวิธี ภรรยาของเขาคือมองตาเน็ตก็เป็นครูโยคะคนแรกของข้าพเจ้าตั้งแต่ปี 2518 แม้เขาไม่ค่อยสนใจประเพณีพิธีกรรมและการภาวนาในรูปแบบ แต่เขาก็เป็นชาวพุทธที่แท้ที่มั่นคงในหลักการ เขาเตรียมพร้อมรับมือความตายอยู่ทุกขณะ เขามีอาการหนักจนโคม่าเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ และสิ้นลมเมื่อตี 2 ของวันถัดมา สิริรวมอายุได้ 68 ปี

ในหนังสือเรื่อง "สร้างสันติด้วยมือเรา" ที่ตีพิมพ์ในปี 2534 ข้าพเจ้าได้เขียนคำอุทิศว่า
"แด่ นิโคลัส เบนเนตต์ ครูผู้สอนถึงชีวิต การต่อสู้ และอหิงสธรรม" จนถึงวันนี้ข้าพเจ้าก็ยังซาบซึ้งในบุญคุณของครูผู้นี้ และจะระลึกถึงตราบจนชีวิตจะหาไม่

โดย... พระไพศาล วิสาโล

ที่มา คอลัมน์ ชวนสังคมคิด : http://www.budnet.org/

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >