หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow สุขได้แม้ในยามวิกฤต : พระไพศาล วิสาโล
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 1258 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

สุขได้แม้ในยามวิกฤต : พระไพศาล วิสาโล พิมพ์
Wednesday, 16 September 2009

สุขได้แม้ในยามวิกฤต

สารคดี ฉบับเดือน มีนาคม 2552

ในหนังสือเรื่อง The Last Lecture ซึ่งแรนดี เพาช์เขียนเสร็จไม่กี่เดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในวัย ๔๘ มีตอนหนึ่งเขาพูดถึงความรู้สึกที่ย่ำแย่มากในระหว่างเรียนปริญญาเอก เมื่อเขาระบายความทุกข์ให้แม่ฟัง แม่ได้โน้มตัวเข้ามาหาเขา และพูดว่า "ลูกรัก เราเข้าใจดีว่าลูกรู้สึกอย่างไร แต่ลูกจำให้ดีนะจ๊ะว่า ตอนที่พ่ออายุเท่ากับลูกนั้น ท่านรบกับเยอรมันอยู่"

น่าคิดว่าถ้าเป็นที่เมืองไทย หากมีคนอายุใกล้ ๕๐ บ่นระบายให้แม่ฟังถึงความยากลำบากเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำเวลานี้ แม่จะตอบว่าอย่างไร คงมีสักคนที่จะตอบว่า "แม่เข้าใจว่าลูกรู้สึกอย่างไร แต่ลูกจำให้ดีนะจ๊ะ ตอนที่พ่อแม่ยังเด็ก หนังสือก็ไม่ได้เรียน บ้านก็ต้องย้ายเพราะหนีภัยสงคราม ทุกอย่างขาดแคลนไปหมด แม้แต่กระดาษหรือสบู่ก็ไม่มีใช้ ส่วนน้ำมันไม่ต้องพูดถึง รอดตายจากระเบิดได้ก็นับเป็นบุญแล้ว"

เทียบกับเหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ความยากลำบากที่ผู้คนประสบเวลานี้กลายเป็นเล็กน้อยไปเลย ถึงแม้บางคนจะตกงาน แต่ปัจจัยสี่ก็ไม่ขาดแคลน แถมมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมาย โอกาสในการหางานใหม่ แม้ว่าจะยาก แต่ก็ใช่ว่าจะหมดสิ้นหนทาง ประสบการณ์ของหลายคนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี ๔๐ ได้ยืนยันว่าทางออกนั้นมีเสมอ ขอเพียงแต่ไม่สิ้นหวังหรือจมอยู่กับทุกข์

ถึงแม้จะมีหนี้สินเป็นสิบเป็นร้อยล้าน แต่หากพร้อมเดินหน้าสู้กับปัญหา อนาคตอันสดใส่ย่อมมาถึงไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้คนไม่สามารถเดินหน้าได้ ก็คือการไม่ยอมรับความจริง เอาแต่ก่นด่าชะตากรรมหรือตีโพยตีพายไม่หยุดหย่อน แต่ไม่ว่าจะก่นด่าหรือโวยวายเพียงใด ก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้นได้ กลับจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม เพราะนอกจากจะทำให้ตนเองทุกข์หนักขึ้นแล้ว โอกาสที่จะเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีมีแต่จะหลุดลอยไปไกลขึ้น

คนเราไม่สามารถยอมรับความจริงอันเจ็บปวดได้ก็เพราะยังยึดติดอยู่กับอดีต อันสวยสดงดงาม อาทิ ชีวิตที่หรูหราสะดวกสบาย ฐานะการงานที่มั่นคง ยศศักดิ์อัครฐานที่สูงเด่น ตลอดจนบ้านหลังใหญ่ รถราคาแพง ต่อเมื่อปล่อยวางอดีตเหล่านั้นไปได้ จึงสามารถทำใจยอมรับปัจจุบัน และพร้อมจะมองไปข้างหน้าได้

จริงอยู่ในความรู้สึกของหลายคน สภาพปัจจุบันใช่ว่าจะเป็นสิ่งยอมรับได้ง่ายๆ เพราะนอกจากสิ่งอันเป็นที่รักจะหายลับดับสูญไปแล้ว ยังมีภาระอย่างหนึ่งเกิดขึ้นตามมา ได้แก่ หนี้สิน แต่หากไม่ปล่อยใจไปกังวลกับอนาคตมากจนเกินไป (อีกกี่สิบปีหนี้จะหมด จะอยู่เป็นผู้เป็นคนอย่างไรหากยังใช้ไม่หมด) ไม่นานก็ย่อมทำใจกับหนี้สินได้

"สักวันเราจะชินและรับได้ว่าเราเป็นหนี้" สุนันท์ ศรีจันทราพูดถึงประสบการณ์ของเขาภายหลังจากธุรกิจของตนขาดทุนนับร้อยล้าน ตามมาด้วยหนี้สิน ๓๔ ล้านบาท "ตอนที่ล้ม ทั้งบ้านผมเหลือเงินสดอยู่หนึ่งหมื่นบาท....หนึ่งหมื่นบาทเท่านั้น นอกนั้นคือหนี้" แน่นอนตอนนั้นเขามีความทุกข์มาก เครียด มืดมน และกดดันมากที่สุดในชีวิต แต่ไม่นานก็ตั้งหลักได้ "ตอนนั้นรู้อย่างเดียวคือ ต้องทำงาน จะมานั่งช้ำใจ เสียใจ กับความล่มสลายของตัวเองอยู่ก็ไม่ได้" เมื่อทุ่มเทให้กับการงานใหม่ ก็ไม่มีเวลาให้กับความเสียใจ ไม่นานก็คุ้นชินกับการเป็นหนี้

มนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะปรับตัวปรับใจได้ในแทบทุกสถานการณ์ ไม่ว่าเจ็บป่วย พิการ สูญเสียคนรัก หรือแม้แต่ติดคุก ทั้งๆ ที่เป็นทุกข์อย่างยิ่งตอนประสบเภทภัยใหม่ ๆ แต่หากไม่ตีอกชกหัวตัวเอง ไม่มัวอาลัยอดีตหรือกังวลกับอนาคต ไม่ช้าก็เร็วย่อมยอมรับและทำใจได้กับความเปลี่ยนแปลง บางคนกลับมีความสุขยิ่งกว่าตอนเกิดเหตุการณ์ด้วยซ้ำ

สตีเฟน ฮอว์กิง นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะที่พิการทั้งตัว ต้องใช้ชีวิตอยู่ในรถเข็นค่อนชีวิต โดยขยับปากและแขนขาไม่ได้เลย สื่อสารได้ก็ด้วยเครื่องสังเคราะห์เสียง เคยให้สัมภาษณ์ว่า "จริงๆ แล้วผมมีความสุขมากกว่าก่อนที่จะเป็นโรคนี้เสียอีก ผมไม่ได้บอกว่าโรคนี้ส่งผลดี แต่ผมโชคดีที่มันไม่ได้เป็นข้อเสียอย่างที่มันอาจจะเป็น"

หินหนักต่อเมื่อเราอุ้ม ฉันใดก็ฉันนั้น หนี้สินเป็นภาระหนักอึ้งก็ต่อเมื่อใจเราไปแบกเอาไว้ ใช่หรือไม่ว่าเราทุกข์เมื่อครุ่นคิดถึงมัน แต่เมื่อใดที่ไม่นึกถึงมัน ใจก็โปร่งเบา แน่นอนหนี้สินเป็นสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบ แต่ความรับผิดชอบไม่ได้หมายถึงการแบกมันไว้ตลอดเวลา เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะทำงานใช้หนี้ ครั้นถึงเวลาลงมือทำงานก็ไม่จำเป็นต้องนึกถึงหนี้ก้อนโตอีกต่อไป อย่างเดียวที่ควรทำและสิ่งเดียวที่จะส่งผลดีอย่างแท้จริง คือทำงานนั้นให้เต็มที่ แต่จะทำงานให้เต็มที่ได้อย่างไร หากใจยังกังวลถึงหนี้สิน ไม่ดีกว่าหรือหากเราจะวางมันลง แล้วน้อมใจจดจ่ออยู่กับงานนั้น ในทำนองเดียวกัน เมื่อถึงคราวพักผ่อน ก็ควรพักให้เต็มที่ พร้อมกับวางหนี้สินออกไปจากใจ

อยู่กับปัจจุบันให้ได้และอยู่ให้ดีที่สุด คือเคล็ดลับสำคัญในการเอาชนะปัญหาและอุปสรรคทั้งปวง งานแม้จะใหญ่ ภาระแม้จะมาก แต่จะสำเร็จหรือปลดเปลื้องได้ก็ต่อเมื่อเราทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพราะวันนี้เป็นวันเดียวเท่านั้นที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ไม่ใช่เมื่อวานหรือวันพรุ่งนี้ แต่จะว่าไปแล้ว ช่วงเวลาเดียวเท่านั้นที่เราสามารถทำสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นได้ คือ วินาทีนี้ หรือขณะนี้เท่านั้น เพราะแม้แต่วินาทีหน้า นาทีหน้า หรือชั่วโมงหน้าก็ยังเป็นอนาคตอยู่ ไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะทำอะไรได้

การอยู่กับปัจจุบันให้ดีที่สุดจึงหมายถึงการทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ในแต่ละขณะให้ดีที่สุด ด้วยใจที่จดจ่อเต็มร้อย ไม่กังวลกับสิ่งอื่นใดนอกจากที่กำลังทำอยู่ ทั้งไม่พะวงกับอดีตหรืออนาคต พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรวางแผน การวางแผนเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่เมื่อวางแผนไว้แล้วว่าวันนี้ควรทำอะไร ก็ควรจดจ่ออยู่กับงานของวันนี้ ยกงานของวันหน้าให้เป็นเรื่องของอนาคต ไม่ควรเอามาครุ่นคิดให้หนักใจเปล่า ๆ ต่อเมื่อวันหน้ามาถึงจึงค่อยลงมือปลุกปล้ำกับงานส่วนนั้น

งานแม้จะมาก ปัญหาแม้จะเยอะ แต่หากแยกงานหรือปัญหานั้นเป็นเรื่องๆ แล้วทำทีละเรื่อง ขณะเดียวกันก็ซอยแต่ละเรื่องเป็นส่วน ๆ โดยทำทีละส่วน งานก็จะเสร็จได้เร็ว ปัญหาก็จะหมดไปได้ไม่นาน อย่าลืมว่าเวลากินเลี้ยงโต๊ะจีน แม้อาหารจะมีหลายอย่าง เราก็ต้องกินทีละอย่าง แม้ขนมเค้กหรือพิซซ่าจะอร่อยแสนอร่อย แต่เราก็ต้องตัดแบ่งและกินเป็นคำ ๆ มิใช่หรือ ไม่มีใครที่สวาปามทั้งจานได้ในคราวเดียว แม้แต่ของที่เอร็ดอร่อยเรายังต้องจัดการทีละอย่างทีละส่วน นับประสาอะไรกับสิ่งที่เป็นเสมือนยาขมอย่างงานการและปัญหา เรายิ่งจำเป็นต้องซอยให้เล็กลง และจัดการทีละส่วนๆ

หากจดจ่อใส่ใจกับงานที่กำลังทำอยู่ โดยไม่พะว้าพะวงถึงสิ่งอื่น นอกจากงานจะได้ผลดีแล้ว คนทำก็ยังมีความสุขอีกด้วย อย่างน้อยก็ไม่ทุกข์เหมือนเดิม ทั้งนี้เพราะจิตใจโปร่งเบาขึ้น ไม่มีความกังวลมารบกวน การทำงานอย่างมีความสุขจึงมิใช่เรื่องยาก ทั้งๆ ที่ยังมีปัญหาและภาระให้ต้องสะสางอีกมากก็ตาม

ไม่เพียงจะหาความสุขได้จากงานเท่านั้น หากอยู่กับปัจจุบันอย่างดีที่สุด ก็ไม่ยากที่จะหาความสุขได้จากที่นี่และเดี๋ยวนี้ ในยุคเศรษฐกิจถดถอย แม้ทรัพย์สมบัติจะหดหายไปมาก แต่สิ่งที่เหลืออยู่ก็ยังสามารถให้ความสุขแก่เราได้ อาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ขอเพียงแต่เรารู้จักชื่นชมสิ่งเหล่านั้นบ้าง

การอยู่กับปัจจุบันอย่างดีที่สุดมีความหมายอีกแง่หนึ่ง คือการชื่นชมกับสิ่งที่มีอยู่และเป็นอยู่ในปัจจุบัน ทุกวันนี้แม้ผู้คนจะมีสมบัติมากมาย แต่ก็ไม่ค่อยมีความสุข ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพราะไปจดจ่อใส่ใจกับสิ่งที่ตัวเองยังไม่มี (เช่น โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ที่เพิ่งวางขาย หรือที่เพื่อนเพิ่งซื้อมา) จะมีความสุขก็ต่อเมื่อได้สิ่งเหล่านั้นมาในครอบครอง แต่ไม่นานความสุขก็จืดจาง กลับมีความทุกข์มาแทนที่เพราะอยากได้ของที่ใหม่กว่าดีกว่า เศรษฐกิจถดถอยทำให้ผู้คนมีความทุกข์เพราะไม่สามารถคว้าสิ่งเหล่านั้นมาได้ เหมือนก่อน ขณะเดียวกันก็เป็นทุกข์กับการสูญเสียสิ่งเดิม ๆ ที่เคยมี

น่าสังเกตว่าคนเรามักให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ ต่อเมื่อ ๑) มันยังไม่ได้เป็นของเรา และ ๒) เมื่อเราสูญมันไป นาฬิกา แว่นตา ที่อยู่กับเรามานาน เราไม่ค่อยเห็นคุณค่าของมัน จนเมื่อมันหายไป เราถึงตระหนักว่ามันมีความสำคัญกับเราเพียงใด คำถามก็คือทำไมต้องรอให้มันหายเสียก่อน เราถึงจะเห็นคุณค่าของมัน ทำไมไม่รู้จักชื่นชมมันเสียแต่วันนี้ โดยไม่ต้องใส่ใจกับอันใหม่ที่ดีกว่าสวยกว่าที่วางขายในห้าง

เพียงแค่หยุดคิดสักนิด ก็จะพบว่าเรามีสิ่งดีๆ มากมายที่ให้ความสุขแก่เราอยู่แล้วทุกขณะ ไม่ว่า สุขภาพที่ไร้โรคภัยคุกคาม ครอบครัวและมิตรสหายที่ให้ความอบอุ่นใจ ทรัพย์สมบัติที่ยังทำให้กินอิ่มนอนอุ่นอยู่ได้ เป็นต้น ไม่สำคัญเลยว่าเรามีน้อยหรือมาก ไม่สำคัญด้วยซ้ำว่าเราสูญเสียไปมากเพียงใด แต่ตราบใดที่ยังพอใจสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้ เราก็เป็นสุขในทุกสถานการณ์ ถึงที่สุดแล้วมีอะไรหรือเท่าไร ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรารู้สึกกับมันอย่างไร โอโตทาเกะ ฮิโรทาดะ พิการตั้งแต่เกิด เขาไม่มีทั้งขาและแขน เคลื่อนไหวได้ด้วยเก้าอี้ล้อเท่านั้น แต่เขาภูมิใจที่จะบอกคนทั้งโลกว่า "ผมเกิดมาพิการ แต่ผมก็มีความสุข สนุกทุกวัน" เขามีความสุขเพราะพอใจกับร่างกายที่ได้มา และสามารถเข้าถึงความสุขได้ในทุกขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

ความสุขไม่ได้เกิดจากการมีสิ่งเสพสิ่งบริโภคเท่านั้น ยังมีความสุขอีกมากมายที่เราสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องพึ่งวัตถุ เช่น ความสุขจากสัมพันธภาพอันอบอุ่นในครอบครัว ความสุขจากการสังสรรค์ในหมู่มิตรสหาย ความสุขจากการทำงานอดิเรก ความสุขจากการทำสิ่งยากให้สำเร็จความสุขจากการช่วยเหลือผู้อื่น ความสุขจากการทำสมาธิภาวนา ฯลฯ ความสุขเหล่านี้สามารถบำรุงใจของเราให้ชื่นบานได้โดยไม่ต้องอาศัยเงินเลย ดังนั้นแม้เราจะมีเงินในกระเป๋าน้อยลง เที่ยวห้างได้ไม่บ่อยเหมือนก่อน เราก็ยังสามารถมีความสุขได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่าเดิม และหากเราสามารถเข้าถึงความสุขด้วยวิธีการดังกล่าวได้ เราจะพบว่ามีความสุขมากมายที่ประณีตลึกซึ้งกว่าความสุขจากวัตถุ และสามารถเติมเต็มชีวิตของเราได้อย่างแท้จริง

วิกฤตเศรษฐกิจไม่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของเราตกต่ำลงเลย หากเรารู้จักแสวงหาความสุขที่ประณีต เรียบง่าย ซึ่งมีอยู่แล้วรอบตัว หรือสามารถบันดาลให้เกิดขึ้นได้ไม่ยาก จะว่าไปแล้วการที่เรามีเงินน้อยลงกลับจะเป็นข้อดีเสียอีก ตรงที่กระตุ้นให้เราพยายามแสวงหาความสุขชนิดที่ไม่ต้องพึ่งพาเงินทองมาก ตราบใดที่เรายังมีเงินใช้จ่ายมากมาย ไปเที่ยวที่ไหนก็ได้ตามใจปรารถนา ย่อมเป็นไปได้ยากที่เราจะรู้จักความสุขจากการมีเวลาอยู่กับครอบครัว จากการทำสวน ทำงานอดิเรก หรือการนั่งสมาธิ เพราะความสุขจากวัตถุนั้นหามาได้ง่าย รวดเร็วทันใจ (แต่ก็เลือนหายได้ง่ายเช่นกัน)

ดังนั้นวิกฤตเศรษฐกิจจึงไม่ได้มีแต่ข้อเสียอย่างเดียว หากมองให้ดีก็เห็นประโยชน์มากมาย สำหรับหลายคน การมีรายได้ลดลงทำให้เขากลับมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และพบว่าชีวิตเรียบง่ายนั้นแฝงด้วยความสุขที่ไม่เคยพบมาก่อน สำหรับบางคน การตกงานทำให้เขามีเวลากลับไปดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า มีอีกไม่น้อยที่ถูกภาวะล้มละลายผลักดันให้หันมาสนใจการปฏิบัติกรรมฐานจนพบ ชีวิตใหม่อย่างไม่นึกฝัน

วิกฤตเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกับวิกฤตอื่นๆ มันทำให้ชีวิตถึงทางตันก็จริง แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็บังคับให้เราค้นหาทางออกใหม่ ๆ ที่ไม่เคยนึกคิดมาก่อน ไม่มีวิกฤตใดที่ทำให้ชีวิตจนตรอกอย่างสิ้นเชิง มันยังเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้แก่เรา วิกฤตปี ๔๐ ได้ทำให้หลายคนต้องปิดฉากชีวิตนักบริหารธุรกิจพันล้าน แต่มันก็ทำให้พวกเขาค้นพบเส้นทางชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม วันนี้สุนันท์ ได้กลายเป็นนักเขียนและนักจัดรายการอิสระ เขาพบว่านี้เป็นชีวิตที่สุขสบายกว่าตอนเป็นผู้บริหารธุรกิจสิ่งพิมพ์เสียอีก แม้ยังมีหนี้นับล้านที่ยังชำระไม่หมดก็ตาม "ที่เป็นอยู่ตอนนี้ผมถือว่ามันเกินกว่าฝัน แล้วก็ดีกว่าเก่าเสียด้วยซ้ำไป เพราะไม่ต้องเหนื่อยเท่าตอนหนังสือพิมพ์ยังไม่เจ๊ง" เขาเล่าว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันหลายคนพากันอิจฉาชีวิตของเขาในขณะนี้

ถึงแม้จะตกงาน บ้านถูกยึด ธุรกิจล้มละลาย มีหนี้กองโต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตเราจะจบสิ้นไปด้วย อย่างมากก็เพียงแค่วิถีชีวิตเดิม ๆ เท่านั้นที่จบสิ้น หากปล่อยวางชีวิตเก่าเสียได้ ชีวิตใหม่ก็พร้อมจะเกิดขึ้น หลายคนพบว่าตน "เกิดใหม่" อีกครั้งหลังวิกฤตปี ๔๐ ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ เป็นเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องปิดกิจการเพราะเป็นหนี้ ๗,๐๐๐ ล้านบาท จนกลายเป็นบุคคล้มละลาย และต้องยังชีพด้วยการยืนขายแซนด์วิชตามโรงพยาบาล แต่วันนี้เขากลับมาเติบโตอีกครั้งด้วยกิจการใหม่คือธุรกิจอาหาร เขาเคยพูดว่า "ผมเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งตอนอายุ ๔๘" เป็นชีวิตใหม่ที่เขาภาคภูมิใจ เพราะ "ผมคิดว่าชีวิตผมเข้มแข็งกว่าทุกคนเยอะ และรู้คุณค่าของชีวิตมากขึ้น"

คนเราสามารถเกิดใหม่ได้เสมอ ตราบใดที่ไม่อาลัยอาวรณ์ในชีวิตเดิมที่สูญสิ้นไป และหากรู้จักสรุปบทเรียน นำประสบการณ์อันยากลำบากมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็แน่ใจได้ว่าชีวิตใหม่นั้นย่อมดีกว่าเดิม ถึงตอนนั้นเราย่อมอดไม่ได้ที่จะขอบคุณภาวะวิกฤตและอุปสรรคทั้งหลาย ที่ทำให้เรามีชีวิตใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ศิริวัฒน์ จะพูดว่า "ผมอยากจะกลับไปขอบคุณเหตุการณ์เมื่อปี ๔๐ ที่ทำให้ผมมีชีวิตในวันนี้ได้อีกครั้ง"

วิกฤตปี ๕๒ อาจจะหนักหรือเบากว่าปี ๔๐ ก็ได้ทั้งนั้น แต่อย่าลืมว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรามีท่าทีกับมันอย่างไร เหตุร้ายจะผ่อนเบา หรือกลายเป็นดีได้ หากเราพร้อมจะยอมรับความเป็นจริง โดยไม่ตีโพยตีพายหรือยอมจำนนกับมัน อยู่กับปัจจุบันและทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ไม่หวนอาลัยอดีตหรือมัวกังวลกับอนาคต หาความสุขจากที่นี่และเดี๋ยวนี้ ด้วยการชื่นชมสิ่งที่มีอยู่และเป็นอยู่ ไม่จดจ่อใส่ใจกับสิ่งที่คนอื่นมีกัน ขณะเดียวกันก็ฉลาดในการแสวงหาความสุขที่ไม่อิงวัตถุ และมองให้เห็นข้อดีจากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมค้นหาและหยิบฉวยโอกาสใหม่ ๆ ที่แฝงอยู่ในวิกฤต

ถึงที่สุดแล้วอย่าลืมบทเรียนสำคัญที่วิกฤตครั้งนี้สอนเรา นั่นคือ ความไม่เที่ยง ไม่มีอะไรแน่นอนหรือยั่งยืน รวยแค่ไหนก็จนได้ ยิ่งใหญ่เพียงใดก็ล้มละลายได้ เจริญกับเสื่อมเป็นของคู่กัน วิกฤตเศรษฐกิจไม่ว่าครั้งไหนเกิดขึ้นได้ก็เพราะความประมาทว่าทุกอย่างควบคุม ได้ จัดการได้ รวมทั้งไม่เผื่อใจไว้ว่าสถานการณ์อาจผันแปรได้ เมื่อไม่เตรียมใจรับมือกับความตกต่ำ จึงเป็นทุกข์กับมันเมื่อภาวะตกต่ำเกิดขึ้น เป็นเพราะปล่อยใจเพลิดเพลินในยามรุ่งเรือง เมื่อถึงคราวตกต่ำจึงร่ำไห้ ต่อเมื่อไม่เหลิงยามเจริญ ยามเสื่อมจึงไม่เศร้า

หากระลึกถึงสัจธรรมข้อนี้อยู่เสมอ เราจะทำใจกับความล้มเหลวในวันนี้ได้มากขึ้น และไม่เหลิงไปกับความสำเร็จในวันพรุ่งนี้ ไม่ว่าชีวิตและโลกจะผันผวนปรวนแปรเพียงใด ก็ยังรักษาใจให้ปกติสุขได้

โดย... พระไพศาล วิสาโล

ที่มา คอลัมน์ ชวนสังคมคิด : http://www.budnet.org/

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >