หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 176 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


แปรรูป กฟผ. ...แปรรูปประเทศไทย? พิมพ์
Thursday, 01 June 2006


แปรรูป กฟผ. ...แปรรูปประเทศไทย?

โดย กองบรรณาธิการ


ภาพจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ถ้าประชาชนมีบ้านสักหลัง แล้วเราเลือกหัวหน้าคนใช้ไปดูแล ดังนั้นเขาจะเอาตู้เย็น ทีวีของบ้านไปขาย ไม่ได้นะครับ ไม่ใช่ว่าได้รับเลือกจากเสียงส่วนใหญ่ของเจ้าของบ้านแล้วคุณจะไปเอาทีวี ตู้เย็น รถยนต์ในบ้านไปขาย ไม่มีสิทธิ เข้าใจผิดแล้ว หรือคนใช้จะเอาทรัพย์สินมาเอื้ออาทรกับเจ้าของบ้าน ผมว่าท่านเข้าใจผิดแล้วเช่นกัน ดังนั้นทำอะไรต้องถามเจ้าของบ้าน ถ้าจะขายสมบัติที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน”

 

เคยมีผู้เปรียบเปรยไว้อย่างค่อนข้างจะเห็นภาพ เมื่อครั้งที่ประเด็นการแปรรูป กฟผ.ถูกจุดเชื้อโดยรัฐบาลไทยรักไทยซึ่งต้องการจะเปลี่ยนสภาพของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจให้กลายสภาพเป็นบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) เพื่อทำการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.๒๕๔๗ แต่เนื่องจากในห้วงเวลานั้นด้วยความเข้มแข็งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสหภาพแรงงานพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.)ในฐานะหัวหอก พร้อมพันธมิตรอย่างการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค รวมไปถึงสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจซึ่งประกอบด้วยสมาชิกกว่า 40 สหภาพแรงงาน และยังมีแนวร่วมซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชน นักวิชาการและปัญญาชนซึ่งเป็นที่นับถือของสาธารณชน ได้ร่วมผนึกกำลังกันคัดค้านการแปรรูป กฟผ.กันอย่างคึกคัก จนส่งผลสะเทือนทำให้ในที่สุดนายกฯ ทักษิณ ถึงกับต้องเปลี่ยนท่าทีการรุกใหม่ โดยปรับเปลี่ยนทั้งบอร์ด กฟผ. และผู้ว่า กฟผ. พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่นำกฟผ. เข้าตลาดหลักทรัพย์จนกว่าจะได้ทางออกที่ทุกฝ่ายพอใจ จึงลดกระแสความไม่พอใจของสาธารณชนลงได้ในขณะนั้น

ไม่ทันมีใครคาดคิดว่ารัฐบาลจะมีแผนรุกที่แยบยลอย่างยิ่ง โดยการให้ผู้บริหารการไฟฟ้าฯ คนใหม่เข้าไปทำความเข้าใจกับพนักงาน กฟผ.อย่างเป็นกระบวนการ ทั้งการปรับเพิ่มเงินเดือนและผลประโยชน์ การเสนอให้สิทธิประโยชน์ในฐานะพนักงานที่เหนือกว่าคนนอก ได้ทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดระหว่างพนักงาน กฟผ.ด้วยกันเอง จนในที่สุดสามารถแยกสลายพลังของ สร.กฟผ.ได้สำเร็จ ส่งผลให้ สร.กฟผ.ไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวได้เหมือนเคยด้วยภาพที่ปรากฏต่อสาธารณชนว่าพนักงานกฟผ.สานผลประโยชน์ส่วนตนได้ลงตัวแล้ว หลังจากนั้นรัฐบาลจึงสามารถเดินหน้าแปรรูปได้อย่างราบรื่นโดยไร้แรงต้านใดๆ

ภาพจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคต่อมา เมื่อมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๘ เห็นชอบในการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยให้จัดตั้งเป็นบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ได้ภายในเดือนพฤษภาคม เพื่อจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในเดือนพฤศจิกายน กระแสการคัดค้านการแปรรูปฯ จึงปะทุขึ้นมาอีกครั้ง โดยกลุ่ม สร.กฟผ.นำโดย นายศิริชัย ไม้งาม อดีตประธาน สร.กฟผ. พร้อมด้วยพนักงาน กฟผ. กลุ่มหนึ่งซึ่งยังคงยืนหยัดคัดค้านการแปรรูปฯ โดยปฏิเสธผลประโยชน์ที่ผู้บริหาร กฟผ.เสนอให้เช่นพนักงานคนอื่นๆ ซึ่งนั่นก็คือ การได้สิทธิจองซื้อหุ้น กฟผ.ก่อนใคร

แต่หากจะบอกว่าพลังที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการคัดค้านการแปรรูป กฟผ. ในครั้งนี้กลับกลายเป็นเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนซึ่งนำโดยสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิผู้บริโภค กลุ่มพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต กลุ่มเอฟทีเอ วอทช์ เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก นักกฎหมาย นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวทางสังคม

Imageความพยายามเคลื่อนไหวคัดค้านและยับยั้งการเดินหน้ากระจายหุ้น กฟผ. ของกลุ่มองค์กรภาคประชาชน อย่างที่เรียกได้ว่า พยายามทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลผลกระทบต่อประชาชนหากมีการแปรรูป กฟผ. อย่างรอบด้าน การรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้คัดค้านการแปรรูป กฟผ. ส่งถึงนายกรัฐมนตรี การให้ประชาชนร่วมฟ้องศาลปกครอง ตลอดจนการชุมนุมประท้วงโดยสันติของกลุ่มผู้คัดค้าน และที่สำคัญยิ่งคือ การออกมาให้ข้อมูลเชิงลึกของสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและผู้จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ พร้อมประกาศตัวคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างถึงที่สุด นับได้ว่าเป็นการส่งต่อข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

ทางด้านฝ่ายรัฐบาลและผู้บริหาร บริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) ก็พยายามเช่นกันที่จะหาความชอบธรรมในการเดินหน้ากระจายหุ้น กฟผ.ในตลาดหลักทรัพย์ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยการชี้แจงถึงความจำเป็นที่จะต้องแปรรูป กฟผ. เพื่อมิให้กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของตลาดหุ้นที่จะขาดความน่าเชื่อถือต่อนักลงทุนต่างชาติ พร้อมกันนั้นยังได้กำหนดวันที่รัฐบาลจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถจองซื้อหุ้นได้ในวันที่ ๑๖ -๑๗ พฤศจิกายน

แต่แล้วสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งระงับซื้อขายหุ้นของบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) ไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษา ตามที่กลุ่มองค์กรภาคประชาชนโดยการนำของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิผู้บริโภค กลุ่มพลังงานทางเลือก และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ไปเมื่อวันที่ ๘ - ๙ พฤศจิกายน กระบวนการตัดสินของศาลที่สั่งระงับชั่วคราวซึ่งยังไม่ถือเป็นที่สุด จึงยังเปิดทางให้ฝ่ายรัฐสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไปได้ ก่อนจะมีการพิพากษาอีกครั้ง ฝ่ายองค์กรภาคประชาชนจึงยังคงต้องทำงานหนักในการทัดทานคัดค้านคำให้การของฝ่าย กฟผ. อย่างสุดความสามารถ

ภาพจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่ว่าปลายทางของ กฟผ.จะเป็นเช่นไร อย่างน้อยประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของประเทศไทยจะมีหลักฐานบันทึกไว้ว่า มีความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่นิ่งดูดายปล่อยให้สาธารณสมบัติของชาติถูกแปรรูปเปลี่ยนมือให้กลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่งใช้เพื่อกอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนทั้งประเทศ
หากหัวหน้าคนรับใช้นำทรัพย์สินของคุณไปขายโดยไม่บอกให้คุณรู้ เมื่อคุณรู้แล้ว คุณจะทำเช่นไร ?ปล่อยให้เขาทำเช่นนั้น และกลับมานำสิ่งอื่นไปขายเพิ่มอีก ? หรือคุณจะออกมาปกป้องทรัพย์สินนั้น

อนาคตของประเทศชาติก็เช่นกัน ขึ้นอยู่กับคุณทุกคน ...

ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการคัดค้านแปรรูป กฟผ. ได้จาก
- www.luegat.com (คัดค้านการขายไฟฟ้า – ประปา)
- www.consumerthai.org มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
- มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
- สถาบันสหัสวรรษ
- www.ftawatch.org


ดร.ณรงค์ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหารกลุ่มแพน ในเครือบริษัทสหพัฒน พิบูลย์ จำกัด (มหาชน) นักธุรกิจชั้นแนวหน้าของเมืองไทย กล่าวไว้ในงานสัมมนาเรื่อง”ขายรัฐวิสาหกิจ...เพื่อใคร?” เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๗ ณ โรงแรมฟอร์จูน

 

ลำดับสถานการณ์การแปรรูปกิจการไฟฟ้า

๒๕๓๕ - รัฐบาลส่งเสริมให้เอกชนมีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า โดยเห็นชอบระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (เอสพีพี) และรายใหญ่ (ไอพีพี)

๕ มีนาคม ๒๕๓๙ - มีการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างและแปรรูปกิจการไฟฟ้า และมีการเสนอให้แยกกิจการไฟฟ้าออกเป็นหลายๆ ส่วน แล้วจึงแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์

๑ กันยายน ๒๕๔๑ และ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๒ - มีการเสนอให้จัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระ สาขาพลังงาน

๒๕๔๒ - พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ (หนึ่งในกฎหมาย ๑๑ ฉบับ) เกิดขึ้นตามเงื่อนไขของเจ้าหนี้ต่างประเทศ คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ให้ประเทศไทยในฐานะประเทศลูกหนี้ต้องขายรัฐวิสาหกิจ

๒๕ กรกฎาคม และ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๓ - มติครม. อนุมัติเรื่องการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและจัดตั้งตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า (พาวเวอร์พูล) รวมทั้งให้มีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระ สาขาพลังงาน

๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๖ - นายสิทธิพร รัตโนภาส ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อดำเนินการแปรรูป กฟผ. ให้เป็นบริษัทจำกัดภายในสิ้นปี ๒๕๔๖ และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในเดือนมีนาคม ๒๕๔๗ โดย กฟผ. จะขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ คือประมาณ ๖ หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะกลายเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ใหญ่ที่สุดในตลาด เพราะมีมูลค่าหุ้นสูงถึง ๒ แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะยังถือหุ้นใน กฟผ. ๕๑ เปอร์เซ็นต์ และกล่าวว่าจะมีการโรดโชว์หุ้นเพื่อขายให้นักลงทุนในต่างประเทศด้วย

สิงหาคม ๒๕๔๖ - ผู้ว่า กฟผ. ให้สัมภาษณ์ว่า จากนี้ไปจนถึงปี ๒๕๔๙ กฟผ. จะไม่ขึ้นราคาค่าไฟฟ้า และจะลดราคาให้ด้วย

๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ - ผู้ว่า กฟผ. เปิดเผยว่า ถึงตอนนี้ไม่มั่นใจแล้วว่า ราคาค่าไฟฟ้าหลังจากที่ กฟผ. แปรรูปเป็นบริษัทเอกชนจะถูกลง หรือไม่แพงขึ้นตามที่เคยพูดได้ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าที่กระทรวงพลังงานจะตั้งขึ้นว่าจะกำหนดกติกา โครงสร้างราคาค่าไฟฟ้า และกติกาการเปิดให้เอกชนประกวดราคาผลิตไฟฟ้าแข่งกับ กฟผ.ให้เป็นรูปแบบใด หากไม่มีความชัดเจนและไม่เป็นธรรม จะมีผลต่อราคาค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายและยังมีผลต่อการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของ กฟผ. เพราะหากไม่สามารถตอบคำถามนักลงทุนได้ ก็จะทำให้มูลค่าหุ้นของ กฟผ. ตกต่ำ

๙ กันยายน ๒๕๔๖ - ครม. มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้ยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ และ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๓ เรื่องการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและจัดตั้งตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า (พาวเวอร์พูล) โดยกระทรวงพลังงานจะนำเสนอโครงสร้างกิจการไฟฟ้าที่เหมาะสมต่อไป และเห็นชอบในหลักการให้ กฟผ. แปลงสภาพเป็นบริษัททั้งองค์กร โดยใช้พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒

๙ ธันวาคม ๒๕๔๖ - ครม. ให้ความเห็นชอบโครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบผู้ซื้อไฟฟ้ารายเดียว (Enhanced Single Buyer) รวมถึงการใช้ผลตอบแทนการลงทุน ๙ เปอร์เซ็นต์ ตามที่บริษัทที่ปรึกษา ชื่อ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊พ (ประเทศไทย) ทำการศึกษา

มกราคม ๒๕๔๗ - กฟผ. ทำการวิเคราะห์ฐานะทางการเงินขององค์กร และพบว่าหากรัฐบาลไม่ขึ้นค่าไฟฟ้า ผลตอบแทนการลงทุนของ กฟผ. ในปี ๒๕๔๗ - ๒๕๕๑ จะอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนในตลาดหุ้นได้

มกราคม ๒๕๔๗ - กฟผ. เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการแปลงสภาพเป็นบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) โดยเวียนไปตามภาคต่างๆ (๖ ม.ค.- กรุงเทพฯ, ๑๑ ม.ค.- ลำปาง, ๑๘ ม.ค.- กระบี่, ๒๕ ม.ค.- กรุงเทพฯ, ๑ ก.พ.- ขอนแก่น)

๒๓ มกราคม ๒๕๔๗ - สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และองค์กรพันธมิตรอีก ๑๒ องค์กร ส่งหนังสือถึงประธานคณะกรรมการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยชี้แจงว่า การแปรสภาพดังกล่าวมีความขัดแย้งกับแนวนโยบายของรัฐบาล เนื่องจาก (๑) บริษัท กฟผ. มหาชน ในอนาคต จะยังได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ ที่เหนือผู้ประกอบการรายอื่น และจะเป็นผู้ผูกขาดธุรกิจไฟฟ้ารายเดียว (๒) มีการโอนสิทธิที่ควรเป็นของรัฐให้เป็นของบริษัท กฟผ. (๓) ไม่มีการแยกบทบาทที่ชัดเจนระหว่างผู้ประกอบการและผู้กำหนดกฎเกณฑ์ ทำให้อาจมีการใช้อำนาจในทางมิชอบได้

๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ - รัฐบาลประกาศขึ้นค่าเอฟที ๑๒.๑๖ สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ๔.๘ เปอร์เซ็นต์ โดยอ้างว่าต้นทุนสูงขึ้น เพราะเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากก๊าซไปเป็นน้ำมันเตา ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานออกมาให้นโยบายแล้วว่า จะให้ กฟผ. และ ปตท. รับภาระส่วนนี้ไป โดยต้องไปหาทางลดต้นทุนเอาเอง

๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ - ครม. ได้อนุมัติการแปรสภาพ กฟผ. ให้เป็นบริษัทมหาชน ภายใต้ชื่อ บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) โดยให้ดำเนินการจดทะเบียนตั้งบริษัทวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๗ และเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ภายในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๗

๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ - กฟผ. และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานออกมาเตือนว่า ค่าเอฟทีในงวดต่อไปจะเพิ่มขึ้นอีก ๕ สตางค์/หน่วย

๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ - พนักงาน กฟผ. และตัวแทนพนักงานรัฐวิสาหกิจรวมตัวชุมนุมคัดค้านการแปรรูปกิจการไฟฟ้า และรัฐวิสาหกิจ

๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๗ - สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ประมาณ ๒๐๐ คน เดินทางมายังทำเนียบฯ เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งสุดท้ายในการเรียกร้องให้ยุติการแปรรูป กฟผ.

๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗ - พนักงานรัฐวิสาหกิจของเครือข่ายปกป้องกิจการไฟฟ้าและประปา ประกอบด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.), การประปานครหลวง (กปน.), และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กว่า ๑๐,๐๐๐ คนได้รวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อเดินเท้าไปถวายฎีกาที่สำนักราชเลขาธิการ

๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๘ - มติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบในการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยให้จัดตั้งเป็นบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ได้ภายในเดือนพฤษภาคม เพื่อจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในเดือนพฤศจิกายน

๘ - ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ - สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิผู้บริโภค กลุ่มพลังงานทางเลือก และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้ระงับการนำหุ้น กฟผ. เข้าตลาดหลักทรัพย์

๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ - ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งระงับซื้อขายหุ้นของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษา

๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ - ผู้ถูกฟ้องคดีได้ส่งคำให้การมาให้ศาลปกครองสูงสุด เพื่อแก้คำฟ้องของฝ่ายผู้ฟ้องคดี

๒๖ มกราคม ๒๕๔๘ - ประชาชนทั่วไปกว่า ๒,๐๐๐ คน มอบอำนาจให้ทนายขอเข้าเป็นผู้ร่วมฟ้องคดีด้วย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ฟ้องคดี กฟผ. รวม ๒,๐๓๖ คน

๓๑ มกราคม ๒๕๔๙ - ผู้ฟ้องคดีนำโดยนางสาวรสนา โตสิตระกูล, นางสาวสารี อ๋องสมหวัง, นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน และทนายผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดี นายนคร ชมพูชาติ และนายนิติธร ล้ำเหลือ ได้เดินทางมายื่นคำคัดค้านคำให้การของฝ่ายผู้ถูกฟ้อง ต่อศาลปกครองสูงสุด

๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ - นายชัยอนันต์ สมุทวณิช ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการ บริษัท กฟผ. ด้วยความกังวลว่าในอนาคตรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะดำเนินการอย่างเดียวกับบริษัท ชินวัตร ที่ได้สัมปทานจากรัฐแล้วให้บริษัทต่างชาติ  โดยกล่าวว่า “ไม่เห็นด้วยกับการใดๆ อันจะนำไปสู่การเข้ามาครอบงำกิจการสาธารณูปโภคโดยทุนต่างชาติ”

(ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๙)

 

กฎหมายที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นกฎหมาย "ขายชาติ"
และถูกเรียกร้องให้มีการยกเลิก หรือปรับปรุงแก้ไขประกอบด้วย

๑) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.๒๕๔๒
๒) พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่๕) พ.ศ.๒๕๔๒
๓) พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒
๔) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ.๒๕๔๒ (คดีมโนสาเร่)
๕) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ.๒๕๔๒ (การบังคับคดีตามคำพิพากษา)
๖) พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒
๗) พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๒
๘) พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม
๙) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๘) พ.ศ.๒๕๔๒
๑๐) พระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๒
๑๑) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ.๒๕๔๓ (ขาดนัดพิจารณา)

Imageกฎหมายทั้ง ๑๑ ฉบับ ออกมาบังคับใช้สมัยที่รัฐบาล ชวน หลีกภัย บริหารประเทศ ในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม ๒๕๔๒ โดยกฎหมายฉบับที่ ๑ และ ๒ ถูกระบุถึง "ปัญหา" ว่า ทำให้ประชาชนคนไทยที่เป็นเจ้าของกิจการที่พลาดพลั้งต้องถูกบีบบังคับให้ล้มละลาย ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด สร้างความได้เปรียบให้กับเจ้าหนี้

ส่วนกฎหมายฉบับที่ ๓ เป็นการบังคับให้ขายรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นสมบัติ "ของชาติ" โดยอ้างว่า เป็นการเปลี่ยนโฉมเป็นบริษัทจำกัดแล้วนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาฮุบกิจการนั่นเอง

Imageสำหรับกฎหมายฉบับที่ ๔, ๕ และ ๑๑ ที่แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เกี่ยวกับคดีมโนสาเร่ การบังคับคดีตามคำพิพากษา และการขาดนัดพิจารณานั้น ถูกระบุว่าเป็นการแก้ไขกฎหมายที่ทำให้การพิจารณาเร็วขึ้น โดยเฉพาะจะทำให้การพิจารณาคดีการล้มละลายเร็วมากยิ่งขึ้น เป็นการซ้ำเติมลูกหนี้ยิ่งขึ้นไปอีกอย่างกฎหมายว่าด้วยการขาดนัด กำหนดว่า หากยื่นฟ้องศาลแล้วคู่ความไม่มาตามนัดให้ศาลพิพากษาได้เลย ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ที่เกินกว่าเหตุ และไม่มีประโยชน์เพราะลูกหนี้ยังสามารถอุทธรณ์ได้

สำหรับกฎหมายคดีมโนสาเร่นั้น แม้มีเจตนาต้องการให้พิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายของคู่ความ แต่กลับไปเพิ่มวงเงินประกันในแต่ละคดีให้มีสูงขึ้น เมื่อมีการเร่งรัดให้พิจารณาโดยเร็วจึงทำให้เกิดความไม่รอบคอบ รวมถึงกฎหมายการบังคับคดี เป็นกฎหมายสร้างความไม่เป็นธรรมกับประชาชน เพราะไม่มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนดำเนินการยื่นฎีกาได้ เหล่านี้ทำให้ลูกหนี้เสียเปรียบ และบางครั้งไม่ได้รับความเป็นธรรม

ในส่วนกฎหมายฉบับที่ ๖ เรื่องการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ถูกระบุว่า เป็นการเปิดทางให้คนต่างด้าวเข้ามาแย่งอาชีพของคนไทยได้ทุกชนิด และที่กำลังเป็นปัญหาหนักขณะนี้คือการรุกคืบของธุรกิจสะดวกซื้อหรือดิสเคานต์สโตร์ ที่ส่งผลต่อธุรกิจค้าปลีกของไทยอย่างรุนแรง
ด้านกฎหมายฉบับที่ ๗ ที่เกี่ยวกับประกันสังคมนั้น ถูกมองว่าสร้างภาระในเรื่องอัตราการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และในตอนหลังมีประเด็นการรวมกองทุนเงินประกันสังคมเข้ากับกองทุนเพื่อสุขภาพ ซึ่งผู้ใช้แรงงานเห็นว่าเป็นการเบียดบังผลประโยชน์ของตนเองไป
ส่วนกฎหมายฉบับที่ ๘, ๙ และ ๑๐ ที่เกี่ยวข้องกับการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม, การเช่าและซื้อที่ดินและอาคารชุดนั้น เห็นว่าเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาติเช่าอาคารชุดและที่ดิน ได้ถึงเกือบ ๑๐๐ ปี

 

ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๑๕๙ วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๕

 

 

บัญชีกลุ่มรัฐวิสาหกิจ


บัญชีหนึ่ง

คือ กลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ยังเป็นของรัฐแต่เพียงผู้เดียว เป็นกิจการที่มีความสำคัญต่ออธิปไตยความมั่นคง และหลักประกันความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของประชาชนในรัฐ จึงต้องคงความเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือหากจัดรูปแบบเป็นบริษัท รัฐต้องเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ ๑๐๐ ประกอบด้วยรัฐวิสาหกิจดังต่อไปนี้

๑. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สามารถร่วมทุนกับเอกชนในการผลิตไฟฟ้า แต่ทรัพย์สินที่สำคัญ เช่น เขื่อน สายส่ง ยังเป็นของรัฐทั้งหมด)
๒. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
๓. การไฟฟ้านครหลวง
๔. การประปาส่วนภูมิภาค (สามารถร่วมทุนกับเอกชนในการผลิตน้ำประปา ภายหลังที่มีองค์กรกำกับรายสาขาที่ชัดเจน อาจพิจารณาเข้าเป็นบัญชีสอง)
๕. การประปานครหลวง (เช่นเดียวกับ การประปาส่วนภูมิภาค)
๖. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
๗. การรถไฟแห่งประเทศไทย (เป็นไปตาม พ.ร.บ.รถไฟฯ ที่สามารถตั้งบริษัทลูกให้มาบริหารจัดการทรัพย์สินต่างหากได้)
๘. การท่าเรือแห่งประเทศไทย (อาจพิจารณาแยกทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นของบริษัทที่รัฐถือหุ้นร้อยละ ๑๐๐ และแยกการบริหารจัดการท่าเรือมาจัดตั้งเป็นบริษัทที่รัฐถือหุ้น ๗๕ เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปตามบัญชีสอง เพื่อส่งเสริมให้เอกชนมีทางเลือกให้บริการมากขึ้น)
๙. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
๑๐. องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก
๑๑. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
๑๒. โรงงานยาสูบ
๑๓. ธนาคารออมสิน
๑๔. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้มากขึ้น)
๑๕. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
๑๖. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าประเทศไทย
๑๗. บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
๑๘. บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม
๑๙. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
๒๐. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
๒๑. การกีฬาแห่งประเทศไทย
๒๒. องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
๒๓. องค์การสวนยาง
๒๔. สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง
๒๕. องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร
๒๖. องค์การสวนสัตว์
๒๗. องค์การสวนพฤกษศาสตร์
๒๘. องค์การกำจัดน้ำเสีย (อาจแบ่งส่วนวางแผนกำกับนโยบายให้เป็นของรัฐ และส่วนดำเนินการภาคปฏิบัติการอาจพิจารณาเข้าเป็นกลุ่มบัญชีสาม)
๒๙. องค์การคลังสินค้า
๓๐. การเคหะแห่งชาติ
๓๑. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ฯ
๓๒. องค์การเภสัชกรรม
๓๓. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (อาจแบ่งส่วนวางแผนกำกับนโยบายให้เป็นของรัฐและส่วนดำเนินการภาคปฏิบัติพิจารณาเป็นกลุ่มบัญชีสาม)
๓๔. บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน

 

บัญชีสอง

คือ กลุ่มรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้นร้อยละ ๗๕ ขึ้นไป เป็นกิจการที่ควรให้เอกชนเข้ามาร่วมจัดการ และถือหุ้นเพียงบางส่วน เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐและจัดเป็นองค์กรธุรกิจสมัยใหม่ แต่อย่างไรก็ดี กรณีที่มีความจำเป็นฉุกเฉินรีบด่วนเพื่อเอกราชความมั่นคงอธิปไตยของรัฐ และประกันชีวิตความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของประชาชน รัฐยังคงสามารถที่จะตัดสินใจเพื่อการดังกล่าวได้ ประกอบด้วยรัฐวิสาหกิจ ดังต่อไปนี้

๑. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
๒. บริษัท การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด
๓. บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด
๔. บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด
๕. องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
๖. การสื่อสารแห่งประเทศไทย
๗. บริษัท ทศท. คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
๘. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
๙. องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (แยกเป็น ๒ ส่วน หากเป็นการวางแผนกำกับนโยบายต้องเป็นกลุ่มบัญชีสอง และส่วนธุรกิจขายนมอาจจะเป็นกลุ่มบัญชีสาม)
๑๐. บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
๑๑. บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด

 

บัญชีสาม

คือ กลุ่มรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้นน้อยกว่าร้อยละ ๗๕ เพราะเป็นส่วนที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง เอกราชอธิปไตยของชาติและหลักประกันชีวิตความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของประชาชนในรัฐ ประกอบกับกิจการของเอกราช ในปัจจุบันได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนน่าจะอนุญาตให้เอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมข้างมาก หรือเป็นของเอกชนโดยสมบูรณ์ ประกอบด้วย รัฐวิสาหกิจ ดังต่อไปนี้

๑. องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (รัฐควรถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ ๕๑ และลดการผูกขาดในการให้บริการเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น)
๒. บริษัท ขนส่ง จำกัด
๓. องค์การแบตเตอรี่
๔. องค์การฟอกหนัง
๕. องค์การสุรา
๖. โรงงานไพ่
๗. บริษัท ไม้อัดไทย จำกัด
๘. การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
๙. บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด
๑๐. โรงพิมพ์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
๑๑. บริษัท สหกรณ์โรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด

จาก น.ส.พ. ผู้จัดการรายวัน วันจันทร์ที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๗


ประสบภาวะขาดทุนมหาศาลเนื่องจากปัญหาในการบริหารจัดการ
ประสบภาวะขาดทุนเนื่องจากธุรกิจการเมืองเข้าแทรก
มติครม.เมื่อ ๒๐ ม.ค. ๒๕๔๗ ให้ดำเนินการแปลงสภาพ อสมท.เป็นบริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน)
กสท.ยังมีปัญหาเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม (กทช.)
รัฐบาลแปลงสภาพ ทศท. ให้กลายเป็นบริษัทเอกชนไปแล้วเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๕
มติ ครม. วันที่ ๑๕ พ.ย. ๒๕๔๘ อนุมัติให้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ระหว่าง บทด. กับ กลุ่มบริษัทเจ้าของเรือไทย จำนวน ๒๓ บริษัท โดยให้มีสัดส่วนการร่วมทุนของ บทด. และกลุ่มบริษัทเจ้าของเรือไทยเป็นร้อยละ ๓๐ และ ๗๐ ตามลำดับ
ครม. มีมติเมื่อวันที่ ๒๗ ธ.ค. ๒๕๔๘ ให้ยุบเลิกกิจการของ ร.ส.พ. 
กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๔

(ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม ๒๕๔๘)

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >