หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 132 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


“ไร่ส้มวิทยา” การศึกษาทางเลือก บนหนทางอยู่รอดและความหวัง ของเด็กชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ พิมพ์
Wednesday, 19 April 2023

Image


วารสารผู้ไถ่
ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๑๒๑ ม.ค. - เม.ย. ๒๕๖๖


"ไร่ส้มวิทยา"
การศึกษาทางเลือก
บนหนทางอยู่รอดและความหวัง
ของเด็กชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ

องอาจ  เดชา เรื่อง/สัมภาษณ์
 

Image 

เราเดินทางไปถึงในช่วงใกล้เที่ยง ฉากแรกที่เราพบเห็น เด็กๆ ภายในศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา คือเสียงหัวเราะ ร่าเริง วิ่งเล่นกันไปมา กลุ่มหนึ่งกำลังเล่นดีดลูกแก้ว อีกกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นกระโดดหนังยาง เด็กเล็กๆ หลายคนกำลังหัดปีนป่ายวงล้อยางรถยนต์เหมือนพยายามป่ายปีนไปให้สูงที่สุดเท่าที่ตัวเองจะทำได้ สีหน้าแววตาของเด็กทุกคนที่นี่มีความสุขและเบิกบาน

เมื่อเดินเข้ามาภายในโรงอาหาร เรามองเห็นเด็กตัวโตอีกกลุ่มหนึ่ง กำลังสาละวนทำอาหารกลางวัน ร่วมกับครูอาสา และพี่ๆ นักศึกษาฝึกงาน ช่วยกันเตรียมอาหารมื้อเที่ยงให้กับทุกคน

ภาพการเข้าแถว มือถือถาดหลุม ยื่นให้ครูอาสา นักศึกษาฝึกงาน นักเรียนคนโตช่วยตักข้าว ผัดกะหล่ำใส่หมู ให้เด็กๆ ทุกคนไปนั่งทานกัน ดูอบอุ่นและอิ่มเอมยิ่งนัก

เช้าเช้า นั่งเรียนในห้องเรียน วิชาสามัญพื้นฐาน

ใกล้เที่ยงแล้ว ช่วยกันเก็บผัก ทำอาหาร เลี้ยงกัน

บ่ายบ่าย เด็กๆ เริงร่าดีใจ เลือกวิชาทักษะชีวิตที่แต่ละคนสนใจ

ค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบและเรียนรู้ลงมือทำ

 

ภาคบ่าย ถือว่าเป็นการเรียนรู้ตามความสมัครใจ หรือเรียนรู้ตามอัธยาศัย ที่นี่เรียกกันว่า ชมรม เราก็จะมองเห็นเด็กๆ พากันเรียนตามชมรมต่างๆ ภายในศูนย์การเรียน และบ้านพักครู เช่น กลุ่มหนึ่ง สนใจเรียนรู้การทำเบเกอรี่ ขนมปังและแยมส้ม อีกกลุ่มหนึ่งสนใจศิลปะการถ่ายรูป อีกกลุ่มสนใจเรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ อีกกลุ่มหนึ่งสนใจเรียนรู้เรื่องการถ่ายทำวิดีโอและการตัดต่อ เพื่อทำหนังสั้นและเป็นยูทูปเบอร์ เป็นต้น

แม้ว่าเด็กๆ จะดูมีความสุข ใบหน้าเปื้อนยิ้ม แต่จ้องมองลึกๆ ลงไป เราจะมองเห็นความเศร้าและความหวาดวิตกซุกซ่อนเอาไว้อยู่ แน่นอน เพราะชีวิตหลายคนที่ผ่านมานั้นต้องเผชิญกับปัญหามาต่างๆ นานา บางคน ต้องหนีตาย เสี่ยงภัย เดินทางข้ามน้ำ ข้ามป่าข้ามดอย ข้ามประเทศมาจนถึงที่นี่

ครูเอ๋ - ฐิตินันท์ ติณตกานนท์ ครูศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา บอกเล่าให้ฟังว่า จริงๆ เด็กกลุ่มนี้ก็คือเด็กผู้ลี้ภัย หรือเด็กแรงงานข้ามชาติ สาเหตุหลักๆ ที่เด็กๆ และผู้ปกครองกลุ่มนี้ ต้องอพยพ ลี้ภัยเข้ามาทำงานรับจ้างตามไร่ส้มในฝั่งไทย ก็เนื่องจากที่ประเทศพม่า มีสถานการณ์การสู้รบกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ทหารไทใหญ่กับทหารพม่า หรือทหารพม่ากับทหารว้า จนทำให้มีการกวาดต้อนชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มชาวไทใหญ่ ผู้ชายถูกกวาดต้อนไปเป็นทหารตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี ส่วนผู้หญิงถูกจับไปใช้แรงงานในค่าย บางรายนั้นถูกกดขี่ มีการข่มขืน... ซึ่งทำให้เด็กๆ ทั้งชาย-หญิงอยู่กันอย่างหวาดหวั่น สุดท้าย ก็พากันหนีข้ามมายังฝั่งไทยกันอย่างต่อเนื่อง การลี้ภัยหนีเข้ามา ถ้าผ่านนายหน้า ส่วนใหญ่มักจะไม่รอด สุดท้ายก็จะถูกจับตัวและผลักดันออกนอกประเทศ แต่กลุ่มที่พากันแอบหนีเล็ดลอดเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ ส่วนใหญ่ก็จะรอด และอาศัยเป็นแรงงานในสถานที่ต่างๆ หรือตามไร่ส้มแถบนี้

"ยกตัวอย่าง ปีที่ผ่านมา ตนได้ไปลงพื้นที่ทำข้อมูลผู้ลี้ภัย เนื่องจากสถานการณ์การเมืองภายในของประเทศพม่า ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐบาลพม่า จึงทำให้มีผู้ลี้ภัยหลบหนีเข้าเมืองเข้ามาฝั่งไทยมีจำนวนเยอะมาก ตม.จับ แต่ไม่มีที่ขัง ก็ไปฝากตามห้องขังในโรงพัก พอเราไปดูจึงเห็นว่า ห้องขังมันเล็กมาก แต่มีผู้ลี้ภัยที่ถูกจับไปแออัดอยู่ในห้องขัง ๒๐๐ กว่าคน ทำให้อากาศไม่พอหายใจ ไหนจะกลิ่นฉี่กลิ่นอะไรอีก จนทำให้หลายคนทรุด ต้องเรียกกู้ภัยมาช่วยเหลือกันเลย เพราะฉะนั้น ก็ต้องหาทางช่วยเหลือกันเบื้องต้น ซึ่งตามหลักสากล เราก็เข้าใจว่า ทาง ตม.ก็ต้องผลักดันออกนอกประเทศ แต่ละครั้งก็ต้องมีค่าใช้จ่าย เพราะบางคนรอผลักดัน ต้องใช้เวลาเป็น ๓๐ วันเลยนะ ทางมูลนิธิกระจกเงา ก็ได้นำสิ่งของข้าวปลาอาหาร เครื่องยังชีพเอาไปให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ที่ถูกผลักดันออกไป ตรงช่องทางธรรมชาติ ก็ได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่เมื่อเราและคณะเดินทางมาถึงฝาง ก็พบว่า ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ ได้เดินทางย้อนกลับเข้ามาฝั่งไทยอีกเหมือนเดิม นั่นทำให้จำนวนประชากรของกลุ่มผู้ลี้ภัย และแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นว่า นโยบายการผลักดันกลุ่มผู้ลี้ภัยออกนอกประเทศนั้น ไม่มีผลอะไรมากเลย เพราะถึงยังไง พวกเขาก็ยังเล็ดลอดเข้ามาได้เรื่อยๆ อยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ ก็จะมีคนอยู่สองกลุ่มหลักๆ ที่เข้ามา คือกลุ่มที่มีญาติอาศัยอยู่ในเมืองไทยอยู่แล้ว กับกลุ่มที่ไม่มีญาติในเมืองไทยเลย หรือมีกลุ่มคนที่เคยเข้ามาทำงานในเมืองไทยแล้วกลับบ้านไป แล้วแนะนำให้คนกลุ่มใหม่เดินทางเข้ามาฝั่งไทย แล้วมารับจ้างอยู่ตามไร่ส้ม แบบนี้ก็มีหลายราย ที่หิ้วเอาลูกเอาหลานพากันเข้ามาทำงานในไร่ส้มกัน"

 

ปัจจุบัน ส่วนใหญ่ประมาณ ๙๐% เด็กนักเรียนในศูนย์การเรียนฯ จะมีที่พักอยู่กับครอบครัวภายในไร่ส้ม อีกส่วนหนึ่ง ประมาณ ๑๐% พ่อแม่ได้ย้ายออกจากสวน มาตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในหมู่บ้านใกล้ๆ กับศูนย์การเรียน ก็จะเป็นครอบครัวที่อยู่มานาน มาทำงานกันนานแล้ว จนพอเก็บเงินสร้างบ้านในชุมชนได้  

"เมื่อเราถามพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กนักเรียน ส่วนมากพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อได้มาทำงานอยู่ในฝั่งไทยแล้ว ก็ไม่มีใครอยากกลับไปพม่ากันอีกเลย นอกเสียจากว่า จะกลับไปหาพ่อแม่ญาติพี่น้องที่ยังอยู่ฝั่งโน้น เอาเงินไปให้พ่อแม่ แล้วก็กลับมาทำงานกันต่อ หรือบางครั้งก็ชวนกันเข้ามาทำงานในฝั่งไทยกัน เพราะถึงแม้จะมาอยู่อย่างผิดกฎหมาย แต่ก็รู้สึกปลอดภัยกว่าอยู่ที่ฝั่งพม่า ซึ่งถ้ายังอยู่ก็จะถูกกวาดต้อนไปเป็นทหาร หรือไปเป็นแรงงานในค่าย"

เหมือนกับที่ จายส่า วัย ๑๖ ปี เด็กนักเรียนศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ที่บอกเล่าให้เราฟังด้วยสีหน้ายังหวาดหวั่นอยู่

"ตอนนั้นผมอายุได้ ๘ ปี แต่ตัดสินใจหนีออกจากหมู่บ้าน ข้ามมาฝั่งไทยกับพี่ชายอีกคนหนึ่ง ส่วนพ่อกับแม่ยังอยู่ที่โน่น ต้องหนีมา เพราะรู้ดีว่า ถ้าอายุครบ ๑๒ ปี เขาจะมาจับตัวไปเป็นทหารอยู่ในค่าย ก็เลยเหมารถให้เขามาส่งท่าน้ำใกล้ชายแดน แล้วล่องเรือข้ามน้ำกก บริเวณแถวท่าตอน อำเภอแม่อาย จนมาอาศัยอยู่และรับจ้างอยู่ในไร่ส้มแถวแม่อาย อยู่ได้ ๓-๔ ปี พอรู้ข่าวว่า เขามีโรงเรียน มีศูนย์การเรียนไร่ส้มที่ฝาง ก็เลยมาสมัครเรียน จนถึงตอนนี้ ผมอยู่ชั้น ป.๕ แล้วครับ"

ทุกวันนี้ จายส่า พักอาศัยอยู่ในสวนส้ม บนเนินเขาใกล้ๆ กับศูนย์การเรียน ลักษณะเป็นห้องแถวอยู่กันหลายครอบครัว

เมื่อถามถึงความฝัน ความหวังของจายส่า ในอนาคตอันใกล้ เขาบอกว่า "ขอเรียนให้จบ ป.๖ ที่ศูนย์การเรียนไร่ส้ม หลังจากนั้น วางแผนจะเรียนต่อ กศน. ให้จบชั้น ม.ต้น จากนั้นก็จะหางานทำครับ"

 

ครูสายลม - พลวัฒน์ ล้วนศรี ครูประจำศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา บอกเล่าให้ฟังว่า เริ่มแรก เราทำในนามของมูลนิธิกระจกเงา โดยได้เข้ามาทำงานในเรื่องของแรงงานข้ามชาติ เรื่องสิทธิ แล้วเรามีความเชื่อในเรื่องของการศึกษา ว่าจะช่วยให้เขาเรียนรู้ และสามารถเอาตัวรอดได้ในสังคม เอาตัวรอดปลอดภัยได้ในประเทศไทย อย่างน้อย การศึกษาน่าจะตอบโจทย์สำหรับเด็กกลุ่มนี้ได้ ก็พยายามหารูปแบบกัน

"โดยก่อนหน้านั้น ก่อนจะมาเป็นศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา มีจุดเริ่มต้นจาก ครูแสงดาว วงปา ซึ่งเป็นหญิงสาวชาวไทใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอฝาง มีจิตอาสาไปสอนหนังสือเด็กๆ ตามสวนส้ม ตามใต้ต้นไม้ จนกระทั่งเด็กที่มาเรียนเริ่มมีจำนวนมากขึ้นๆ ครูแสงดาวจึงคิดว่า ควรนำเด็กเหล่านี้เข้าไปอยู่ในระบบของกระทรวงศึกษาธิการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็เริ่มค้นหาทางออกกัน พอดี ครูโอ๊ต วีระ อยู่รัมย์ แกพอมีข้อมูลเรื่องนี้อยู่บ้าง เพราะเคยเป็นอนุกรรมการ กสม. ก็เลยมาปรึกษากัน จนกระทั่งขอจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนฯ ตามมาตรา ๑๒ ของ พ.ร.บ.การศึกษาฯ ซึ่งเป็นช่องทางให้เราขอจดเป็นศูนย์การเรียนในรูปแบบนี้ได้"

ครูโอ๊ต -วีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา สำนักงานฝาง และเป็นผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา บอกเล่าว่า อย่างที่รู้กันนั่นแหละว่า เราเริ่มจากจุดเล็กๆ เป็นโครงการเล็กๆ คือมีการจัดการศึกษาให้กับกลุ่มเด็กที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ในไร่ส้ม ที่ไม่ได้ไปเรียนหนังสือในโรงเรียน โดยการจ้างครูไปสอนตามสวนส้มในช่วงเวลาเย็นๆ วันละหนึ่งชั่วโมง โดยกระจายอยู่ในพื้นที่ฝาง แม่อาย ไชยปราการ แต่พอทำมาได้เป็นสิบปี มันไม่ค่อยเห็นผลในระยะยาว โดยตอนแรกนั้นเราจะเน้นให้เด็กอ่านออกเขียนได้ สุดท้ายมันก็หายไป บวกกับงบประมาณที่เราทำตอนนั้นมันหมดพอดี

"เราก็เลยมาคิดกันว่า น่าจะทำเป็นรูปแบบโรงเรียนให้เป็นเรื่องเป็นราวไปเลยดีกว่า ให้เด็กๆ มีพื้นที่เรียนเป็นรูปธรรม สามารถออกวุฒิการศึกษาให้ได้ และสามารถให้เป็นพื้นที่ต้นแบบได้ ก็เลยมาเลือกเปิดในพื้นที่อำเภอฝาง เนื่องจากมีการสำรวจข้อมูลเด็กแรงงานข้ามชาติในพื้นที่อำเภอฝางและใกล้เคียงเยอะมาก"

ครั้งแรก มีเด็กมาเรียนที่ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา จำนวน ๔๐ คน ซึ่งเป็นเด็กเก่าที่ครูแสงดาวเคยตระเวนไปสอนตามสวนส้มต่างๆ หลังจากนั้น จำนวนเด็กนักเรียนก็เพิ่มขึ้นทุกปี ปีละประมาณ ๔๐-๕๐ คน จนถึงปัจจุบันนี้ ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา มีจำนวนเด็กนักเรียนทั้งหมด ๑๖๘ คนด้วยกัน

อาจเป็นเพราะว่า ศูนย์การเรียนฯ ไม่ได้แค่ดูเรื่องการศึกษาอย่างเดียว แต่ต้องไปดูหลังบ้านเขาด้วย ว่าแต่ละครอบครัวของเด็กเป็นอย่างไรบ้าง เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ การรักษาพยาบาล เพราะทุกคนนั้นไม่มีบัตร ไม่มีสัญชาติ จนทำให้มีคนบอกเล่าบอกต่อ ปากต่อปากว่าศูนย์การเรียนที่นี่เป็นมากกว่าโรงเรียน เป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยของเด็กๆ จึงทำให้มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

"ศูนย์การเรียนที่นี่ไม่ได้สนใจว่าเด็กมาจากไหน และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ก็บอกไว้ชัดเจนว่าต้องจัดการศึกษาให้เด็กทุกคนในประเทศ เด็กๆ กลุ่มนี้มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ติดตามครอบครัวเข้ามาทำงานอยู่ในไร่ส้ม เป็นเด็กที่เคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่ชายแดน ดังนั้น เราควรหาช่องทางให้พวกเขาได้เรียน เพราะพวกเขาคืออนาคต" ครูโอ๊ต วีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา บอกถึงภารกิจในการจัดการศึกษาให้เด็กกลุ่มนี้

 

ค้นหารูปแบบการเรียนรู้ที่เด็กนักเรียนสนใจ ผ่าน Project-based Learning

จุดเด่น ของศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยาก็คือ การเรียนรู้ที่เด็กนักเรียนสนใจ โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ช่วยพัฒนาผู้เรียนให้ได้รับความรู้โดยผ่านการทำงานที่มีการค้นคว้าอย่างเป็นขั้นตอน มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การสืบค้นข้อมูลและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ร่วมกับการแก้ปัญหาได้ ช่วยเพิ่มทักษะการใช้ความรู้ในชีวิตจริง สร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานหรือชิ้นงานด้วยตัวผู้เรียนเอง พัฒนาและแสดงออกถึงความสามารถของการทำงานตามที่ผู้เรียนต้องการนำเสนอ

ครูสายลม บอกเล่าว่า เราพยายามค้นหารูปแบบในการจัดการเรียนการสอน ปีแรกๆ เราพยายามทำแบบ โปรเจกต์ เลิร์นนิ่ง คือให้เด็กได้เรียนรู้ได้หลากหลายรูปแบบ โดยในช่วงเช้าให้เด็กเรียนตามวิชาพื้นฐานทั่วไป เช่น ภาษาไทย อังกฤษ คณิตศาสตร์ ที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน บ่ายเป็นทักษะชีวิต เป็นการบูรณาการวิชาอื่นๆ ผ่านกิจกรรมชมรม เลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองอยากเรียน ที่ชอบและสนใจ ซึ่งเรากำลังคิดว่า การเรียนในลักษณะโปรเจกต์ เลิร์นนิ่ง น่าจะเหมาะสมกับเด็กๆ ที่นี่มากกว่า

"อย่างวันนี้ เด็กๆ จะรวมตัวกันทำเบเกอรี่ มีการอบขนมปัง การทำแยมส้ม นอกจากนั้นก็จะมีชมรมที่เด็กๆ สนใจกันก็คือ ชมรมไร่ส้มชาแนล เพราะว่าในยุคนี้เรื่องของสื่อเทคโนโลยีมันไปไกล และมีเด็กค่อนข้างสนใจกันเยอะ เราก็มาทำเป็นชมรมเรื่องไอที มีการผลิตสื่อ การใช้สื่อ การรู้และเท่าทันสื่ออย่างปลอดภัย เราก็พยายามสอนให้เด็กได้เรียนรู้ จนตอนนี้ เด็กๆ มีช่องยูทูป มีช่องติ๊กต็อกเป็นของตัวเอง รวมไปถึงการใช้คอมพิวเตอร์ หรือกระทั่งเรื่องการทำอาหาร เด็กๆ ก็มีความสนใจกัน โดยช่วงก่อน เราจะให้เด็กๆ หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปมีส่วนร่วมในการทำอาหารกลางวัน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ วิธีการทำอาหาร หรือการทำขนมได้คล่องมากยิ่งขึ้น  ซึ่งจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนรูปแบบนี้ ทำให้เรารู้ว่า เด็กๆ แต่ละคนนั้นมีทักษะการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน เด็กคนหนึ่งอาจชอบเรียนภาษาไทย อีกคนเก่งคณิตศาสตร์ บางคนจะเก่งศิลปะ สามารถนั่งวาดแรเงาภาพเหมือนได้สวยมาก ซึ่งทำให้เรามองไปถึงระบบการศึกษาไทย ว่าอยากให้ความสำคัญในเรื่องนี้ให้มากกว่าโครงสร้าง หลักสูตรที่ส่วนกลางพยายามวางกรอบไว้ให้เหมือนกัน อย่างเดียวกันทั้งประเทศแบบนั้น  ซึ่งตนเองเชื่อว่า ถ้าเราใส่ใจ และให้ความสำคัญกับเด็กว่าเด็กนั้นมีความพิเศษ มีความสนใจไม่เหมือนกันแบบนี้ ผมว่าฟินแลนด์ก็ฟินแลนด์เถอะ เด็กไทยเราก็สู้ได้เหมือนกันแหละ ก็เลยสนุกที่จะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับพวกเขา"

ที่สำคัญ ให้เด็กๆ มีเสรีภาพในการเรียนรู้

"บางที เราจะปล่อยให้เด็กไปเรียนรู้ตามความชอบความสนใจ กว้างๆ สามารถพลิกแพลงได้ เสร็จแล้วค่อยกลับมาสรุปร่วมกันว่า ได้เรียนรู้อะไรกันอยู่ หรือกระทั่งสามารถให้พี่สอนน้องได้ ดูแลน้องได้ เด็กทุกคนช่วยเหลือดูแลกัน ซึ่งการจัดการศึกษาแบบนี้ เราถือว่าไม่ได้เป็นการปล่อยทิ้งใครไว้ข้างหลังจริงๆ ยกตัวอย่าง เด็กคนหนึ่ง ถูกเพื่อนล้อว่าโง่เรียนภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่เราจะให้กำลังใจว่า เดี๋ยวๆ ไม่เป็นไร ตอนบ่ายนี้ครูจะให้แข่งซิทอัพกันดู ซึ่งเด็กคนนี้สามารถซิทอัพ วิดพื้นได้ดีกว่าทุกคนเลย ทำให้เด็กคนนี้ดีใจใหญ่เลย และสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ได้ไม่มีปัญหาอะไรเลย ถือว่าเป็นการเติมพลังให้กัน ซึ่งการจัดการศึกษาในลักษณะนี้ มันทำให้เด็กรู้จักตนเองได้ไวขึ้น ว่าชอบอะไร ถนัดเรื่องไหน"

 

เช่นเดียวกับ ครูโอ๊ต ก็บอกว่า ที่ผ่านมา เราเลือกรูปแบบศูนย์การเรียน มีการทำแผนการเรียนการสอนยื่นให้กับทาง สพฐ. เชียงใหม่ เขต ๓ แต่ในกระบวนการจัดการเรียนการสอน เราก็มาปรับเอาว่าจะจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับเรา ในฐานะศูนย์การเรียนฯ จะดำเนินการอย่างไร 

"ซึ่งจริงๆ แล้ว ๘ สาระการเรียนรู้ที่ทาง สพฐ. ทำกันมา มันก็อิงได้หมดเลย เพียงแต่เราไม่จำเป็นต้องสอนให้เหมือนโรงเรียนทั่วไป ที่จะต้องเป็นคาบวิชา รายวิชา แต่เราพยายามจะจัดการเรียนการสอนโดยประยุกต์เอาว่า สอนอย่างไรถึงจะทำให้เด็กไม่เครียด ตอนเช้า ก็จะเน้นวิชาการ พอตอนบ่าย ก็จะเน้นกิจกรรมที่สนใจเป็นหลัก ซึ่งจะเห็นได้ว่าเด็กๆ มีความสุขกับการเรียนรู้กันมากขึ้น เราเพิ่งทำรูปแบบนี้มาได้ ๔ ปี เข้าปีที่ ๕ แล้ว ซึ่งตนคิดว่า มันต้องรอให้เด็กเรียนจบ ป.๖ สักรุ่นหนึ่งก่อน เราจึงจะประเมินได้ว่าผลมันเป็นอย่างไรบ้าง โดยเราจะทำการประเมินผลทั้งตัวเด็ก ครู และผู้ปกครองร่วมกันด้วย ซึ่ง ณ เวลานี้ ถ้ามีการประเมินจากสายตาคนข้างนอกเข้ามาสัมผัสในศูนย์การเรียนฯ ตอนนี้ ก็จะเห็นว่า เด็กๆ ที่นี่จะมีความสดใส ร่าเริง มีความสุขกันมากกับการเรียนหนังสือที่นี่ จะไม่มีความเครียดเหมือนกับไปโรงเรียนทั่วไปเลย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าเด็กไร่ส้มนั้นมีอิสระที่จะเล่นที่จะเรียนรู้มากกว่าโรงเรียนปกติทั่วไปหรือเปล่า"

ล่าสุด ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา เด็กนักเรียนกลุ่มนี้ และคณะครู ได้เดินทางลงไปกรุงเทพฯ ไปร่วมงาน "นับเราด้วยคน" ณ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี ในงานนี้ได้นำเอาผลิตภัณฑ์แบรนด์ "เด็กไร่ส้ม" อาทิ ขนมปัง แยมส้ม ส้มอบแห้ง ซึ่งเด็กๆ ร่วมกันทำขึ้นภายในศูนย์การเรียนไปเปิดตัวด้วย ซึ่งทำให้คนที่ไปร่วมงานให้ความสนใจกันอย่างล้นหลาม

 

สร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร คือหนทางการอยู่รอด

หลังเกิดวิกฤติเรื่องสถานการณ์โควิด-๑๙ ทำให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน พยายามปรับตัวและค้นหาทางออกร่วมกัน ว่าทำอย่างไรถึงจะให้เด็กนักเรียนภายในศูนย์ฯ นั้นอยู่รอดปลอดภัย และดำรงชีวิตอยู่ได้ต่อไปอย่างยั่งยืน

จนกลายมาเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจ ก็คือ การทำนา ปลูกข้าว และพืชผักสวนครัว เพื่อเป็นการสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร

"เนื่องจากที่ผ่านมา ในช่วงเวลา ๑ ปี เราต้องใช้ข้าวประมาณ ๔ ตันครึ่ง ในการเลี้ยงดูเด็กๆ ในศูนย์การเรียน รวมทั้งบุคลากรครูด้วย ซึ่งก่อนหน้านั้น เราได้อาศัยการบริจาค ๑๐๐% เลย ต่อมาทุกคนเริ่มมองในเรื่องของความมั่นคง ความยั่งยืนทางอาหาร แต่ถ้าเราไปรอรับบริจาคอย่างเดียวมันอาจไม่มีความยั่งยืนตลอดไป ยิ่งในช่วงที่เราเจอกับสถานการณ์โควิด-๑๙ ซึ่งมันส่งผลกระทบกันไปหมด คนบริจาคก็ได้รับผลกระทบ ล่มกันไปหมดเหมือนๆ กัน ดังนั้น เราจึงมานั่งคุยกันว่า เราต้องช่วยเหลือตนเองภายในศูนย์การเรียนไร่ส้ม แล้วมาคุยกันว่า ใครจะมาหนุนช่วยเราได้ดีที่สุด ซึ่งก็คือพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนนั่นเอง เนื่องจากพ่อแม่ทุกคนนั้นเป็นแรงงานภาคเกษตรอยู่แล้ว และถือว่าพ่อแม่นั้นเป็นครูที่ดีที่สุดให้กับลูกหลานตัวเองอยู่แล้ว ก็เลยยกระดับพ่อแม่ให้มาเป็นครู โดยได้จัดกิจกรรมการดำนาปลูกข้าว ปลูกพืชผักสวนครัว ขึ้นมาในรอบปีที่ผ่านมา โดยนำกิจกรรมตรงนี้ ไปบูรณาการกับการเรียนได้ ทำให้เด็กได้เรียนรู้ และสุดท้ายทุกคนก็มีข้าวปลาพืชผักมาเป็นอาหารเลี้ยงดูตนเองได้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นอย่างดีเลย ยกตัวอย่าง การดำนา เกี่ยวข้าว พ่อแม่เด็กมาช่วยกันเยอะมาก ๒๐๐ กว่าคน ลงมือทำแป๊บเดียว ชั่วโมงเดียวก็เสร็จแล้ว จากนั้นก็ไปช่วยกันขึ้นแปลงปลูกผักสวนครัวกันต่อเลย ถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ไปพร้อมๆกัน และเป็นการสร้างแหล่งอาหารขึ้นมาด้วย" ครูสายลม บอกเล่าให้ฟัง

 

 Image

ความหวัง และความฝัน ของเด็กๆ ไร่ส้ม

ครูเอ๋ - ฐิตินันท์ เล่าให้ฟังว่า เราเคยมีการถอดกระบวนการของเด็กๆ ไร่ส้ม พบว่า ทุกคนไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย เด็กกลุ่มนี้ ไม่เคยคิดฝันว่าจะไปเป็นตำรวจ ทหาร  ส่วนใหญ่จะบอกว่า ต้องการมีบ้าน มีที่ดินไว้ให้พ่อแม่ ให้มีความมั่นคงแค่นี้ก็เพียงพอแล้วในเวลานี้

"เพราะที่ผ่านมา ยังไม่มีความเท่าเทียม ซึ่งจริงๆ แล้ว บรรทัดฐานของคำว่า แรงงาน  ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติหรือแรงงานคนไทยทั่วไป น่าจะมีค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน มันไม่ควรแบ่งแยกว่า คนไทยมีค่าแรงวันละ ๓๔๐ บาทต่อวัน ในขณะที่แรงงานข้ามชาติ แรงงานต่างด้าว ให้เขาวันละ ๑๕๐ บาท ซึ่งมาตรฐานความเป็นมนุษย์มันอยู่ตรงไหน ทั้งๆ ที่ พวกเขาอาจทำงานหนักกว่าคนไทยด้วยซ้ำ ทำให้พวกเขารู้สึกว่ากำลังถูกกดขี่ กำลังถูกรังแกจากนายจ้างหรือพ่อเลี้ยงของเขา ซึ่งมุมมองของเด็กๆ สะท้อนออกมาว่า พวกเขาไม่ควรจะเหนื่อยเหมือนพ่อแม่ที่เป็นมาแบบนี้ นั่นทำให้เด็กทุกคน  เลือกจะเข้ามาเรียนที่ศูนย์การเรียนฯ แห่งนี้ ทั้งๆ ที่มีหลายคน มีอายุเกินเกณฑ์แล้ว บางคนอายุ ๑๕-๑๖ ปี ซึ่งจริงๆ พวกเขาควรต้องออกไปใช้ชีวิตข้างนอกแล้ว แต่ก็ต้องมาเรียน"

ทางศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา จึงพยายามหาทางออกให้กับเด็กๆ กลุ่มนี้ พยายามหากระบวนการต่างๆ ว่าทำอย่างไรจะให้เด็กกลุ่มนี้เรียนจบออกไป และใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ไปทำงานหรือไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้

 "คือที่ผ่านมา เราจะพาคนจากข้างนอกเข้ามาในศูนย์การเรียนฯ และก็จะพาเด็กออกไปเรียนรู้จากโลกข้างนอกเยอะพอสมควร ดังนั้น ทำให้ความหวัง ความฝันของเด็กไร่ส้ม เริ่มมีมากขึ้น ว่าอยากจะเป็นอะไร อยากจะทำอะไรมากขึ้น ยกตัวอย่าง บางคนอยากเป็นช่างเสริมสวย บางคนอยากทำเบเกอรี่ขาย บางคนอยากเป็นช่างซ่อมรถ คือตอนนี้เด็กๆ มีความฝันเพิ่มมากขึ้น มากกว่าจะอยากไปทำสวนส้ม ในไร่ส้มเหมือนกับพ่อแม่ของเขา" ครูโอ๊ต บอกย้ำ

เหมือนกับ หอมเครือ วัย ๑๒ ปี เด็กหญิงไทใหญ่ นักเรียนศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ที่เธอจะชื่นชอบเรียนทำขนมปัง เบเกอรี่เป็นพิเศษ บอกด้วยสีหน้าอิ่มเอิบว่า "ถ้าจบจากศูนย์การเรียนไร่ส้ม หนูก็อยากเรียน กศน.ต่อเลย ความฝันของหนู คือ อยากเปิดร้านขายของเป็นของตนเอง"

ครูสายลม เล่าให้เห็นภาพชัดเจนเลยว่า จริงๆ ความฝันของเด็กงดงามมาก ไม่ได้เหมือนเด็กในยุคก่อน ยุคของเรา ที่มักจะตีความจำกัดความฝันกันได้แค่ อยากเป็นทหาร ตำรวจ เท่านั้น แต่เด็กไร่ส้มที่นี่ บางคนฝันอยากจะเป็นยูทูปเบอร์ หลังจากที่เราหาผู้เชี่ยวชาญเรื่องยูทูปเบอร์ การผลิตสื่อมาสอนเด็กๆ หลังจากนั้น เราได้ให้เด็กทดลอง ลงมือทำ โดยให้ไปเขียนโครงเรื่องมา ว่าจะนำเสนอบอกเล่าความเป็นมาของเด็กไร่ส้ม ว่าอพยพเดินทางข้ามมาฝั่งไทยยังไง แล้วให้อีกทีมหนึ่งมาสอนเรื่องการตัดต่อ  สุดท้าย ก็กลายมาเป็นหนังสั้นเล็กๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวของตนเองได้ หรืออีกกลุ่มหนึ่ง ไปเรียนวิชาละครชุมชนกับกลุ่มละครกั๊บไฟ กลับมาแสดงละครเรื่องราวของตนเอง ผ่านคำบอกเล่า เรียกร้องให้รัฐบาลลงมาช่วยดูแลในด้านสวัสดิการ การรักษาพยาบาลให้คนทุกกลุ่มทุกชาติพันธุ์ ไม่ใช่แค่คนที่มีสัญชาติไทย หรือคนที่มีสถานะหมายเลข ๐ แต่ให้รวมไปถึงคนทุกกลุ่มที่ไม่มีสถานะแต่อาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วย ที่รัฐจะต้องเข้ามาดูแลในเรื่องของสาธารณสุข เพราะว่าโรคภัยไข้เจ็บนั้น มันไม่ได้เลือกสัญชาติ ไม่ว่าคุณจะเป็นพม่าหรือชาติอื่นจะไม่รักษาไม่ได้ เพราะอยู่ในประเทศไทย หรือจะอยู่ที่ไหนก็ต้องได้รับการรักษาในฐานะพลเมืองของโลก ซึ่งเด็กๆ แสดงได้ดีมาก ดูจากสีหน้าแววตาของเด็กๆ ที่แสดงนั้นมาจากเรื่องจริงที่พวกเขาเผชิญอยู่ ซึ่งผลงานเหล่านี้ จะอยู่ในช่องยูทูป RaisomChannel ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา

"คือเรากำลังทำในสิ่งที่คนมองไม่เห็น ได้มองเห็นในสิ่งที่มองไม่เห็นนั่นแหละว่า การทำเรื่องการศึกษา มันไม่ได้ตีกรอบเพียงแค่หลักสูตรกระทรวงปีโน้นปีนี้  แต่การศึกษามันควรเกิดจากการเรียนรู้จากทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวหรือใกล้ตัว และกลั่นออกมาเป็นตัวองค์ความรู้ อีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกคือ ความเป็นครูนั้นมีอยู่ในตัวของทุกคน ครูบางคนไม่จำเป็นต้องมีวุฒิครูก็ได้ แต่สามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณ องค์ความรู้ที่มีอยู่ให้กับเด็กๆ ได้เกิดแรงบันดาลใจ นำไปใช้ต่อในชีวิตประจำวัน ในอนาคตได้"  ครูสายลม บอกย้ำและยืนยัน

 

ปัญหาที่ยังรอการแก้ไข
กับทางออกที่อยากให้มีการเยียวยา

ผ่านมากี่ยุคกี่สมัย สายตาของรัฐส่วนใหญ่ ยังมองเด็กชายขอบ เด็กแรงงานข้ามชาติ เด็กไร้สัญชาติ คือตัวปัญหา

กระนั้น เมื่อเรามองอีกมุมหนึ่ง ก็จะรับรู้ได้ว่า เด็กกลุ่มนี้ก็ยังไม่ได้รับสิทธิเท่าที่พึงมี ยังเจอกับปัญหาเรื่องสิทธิเด็ก ความไม่เท่าเทียม เนื่องจากยังเป็นเด็กไร้สัญชาติ เป็นเด็กแรงงานข้ามชาติกันอยู่

ครูเอ๋ ฐิตินันท์ เล่าให้เห็นภาพวิถีของเด็กๆ ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ กรณีเกิดอุบัติเหตุ ล้มป่วย แต่ไม่กล้าไปโรงพยาบาล กลับมาให้ครูที่ศูนย์การเรียนฯ ช่วยดูแลรักษา ล้างแผลให้

"บางวัน เด็กขับมอเตอร์ไซค์ชนกันตรงทางโค้ง รถแฉลบ บาดเจ็บ เลือดอาบ แต่ก็ไม่กล้าไปรักษาที่โรงพยาบาล ก็กลับมารักษาตัวที่บ้าน ให้หมอผีรักษาบ้าง เด็กบางคนรถแฉลบ ก็กลับมาที่ศูนย์การเรียนฯ มาให้ครูทำแผล แม้กระทั่ง ถ้าเด็กป่วย ถ้าครูไม่พาไป ก็ไม่กล้าไปโรงพยาบาล ซึ่งสิ่งที่เราเห็นก็คือ ทางโรงพยาบาลไม่ได้ปฏิเสธการรักษาพยาบาลนะ  แต่เมื่อไปโรงพยาบาล ก็มักจะเรียกเงินมัดจำค่ารักษาพยาบาลอยู่ ถ้าเป็นเคสที่ป่วยหนัก จนทางครูศูนย์การเรียนฯ ต้องไปเซ็นรับสภาพหนี้ให้ ซึ่งถ้ามาดูสถิติข้อมูล ก็จะรู้ว่าในรอบหนึ่งปี ทางศูนย์การเรียนฯ เข้าไปเซ็นรับสภาพหนี้ให้กับลูกหลานแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนเงินมากเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ในอนาคตตนคิดว่าเราควรจะเข้าไปดูไปแก้ไขกฎหมายตัวไหนกันได้บ้าง"

ทุกวันนี้ เด็กทุกคนรู้ดีว่า ศูนย์การเรียนฯ คือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา

แต่ถ้าเด็กกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษาเมื่อไหร่ อนาคตของพวกเขาจะอยู่ตรงไหน?!

"ถ้าประตูโรงเรียนปิดเมื่อไหร่ ประตูคุกก็จะเปิดเมื่อนั้น คือถ้าไม่ติดคุก ก็ติดยา" ครูเอ๋ ย้ำให้เห็นภาพชัดเจน

ดังนั้น ทางศูนย์การเรียนฯ จึงพยายามหาทางออกให้กับเด็กๆ กลุ่มนี้ ว่าทำอย่างไรถึงจะให้ชีวิตของพวกเขามีความปลอดภัย มีความมั่นคงในชีวิต และสามารถใช้ชีวิตเหมือนกับปกติทั่วไปได้

นอกจากนั้น ทางศูนย์การเรียนฯ จะเน้นกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องสิทธิเด็ก ให้พวกเขาได้เรียนรู้สิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ว่ามีอะไรบ้าง ที่พวกเขาสามารถเรียกร้องสิทธิที่พึงจะมีในชีวิต

"ยกตัวอย่าง เด็กนักเรียนของเรา เดินทางจะไปเชียงใหม่กับญาติของเขา แต่พอไปถึงด่านแก่งปันเต๊าที่เชียงดาว ก็ถูกจับ ถูกกักตัวไว้ แต่ญาติของเด็กเดินทางต่อไปได้ สุดท้าย ครูก็รีบขับรถไปเจรจากับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยืนยันสิทธิบอกว่า นี่คือเด็กนักเรียนศูนย์การเรียนฯ ของมูลนิธิกระจกเงา มีชื่อมีหลักฐานการขึ้นทะเบียนนักเรียนถูกต้อง สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็ปล่อยตัว ซึ่งกรณีแบบนี้ ก็จะทำให้เด็กๆ รู้จักปกป้องรักษาสิทธิของตนเองได้"

ปัญหาเด็กอายุเกินเกณฑ์ ทำให้ต้องออกนอกระบบการศึกษา จนเกิดช่องว่างทางการศึกษา ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง จนทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา

"มีเด็กบางคน ออกกลางคัน ไปทำงานที่อื่น แล้วไปไม่รอด ซึ่งก็เจอปัญหาในหลายๆ เรื่อง ได้กลับมาบ่นกับครูว่า รู้อย่างนี้ เรียนหนังสือให้จบยังดีกว่า เพราะครูก็บอกแต่แรกแล้วว่า ไปทำงานที่ไหนก็ยากลำบาก ไม่มีใครที่ไหนจะรับเข้าทำงานหรอก เพราะอายุยังไม่ถึง ๑๘ ปี นายจ้างอาจโดนข้อหาใช้แรงงานเด็กได้ หรือถ้าได้ทำงาน ก็จะถูกกดขี่ค่าแรงอีก ดังนั้น เราก็จะบอกย้ำกับเด็กๆ ทุกคนว่า การศึกษานั้นมีความสำคัญกับเด็กๆ ทุกคนนะ"

ปกติ เด็กนักเรียนที่จะมาเรียนในศูนย์การเรียนฯ นี้ จะมีช่วงชั้นอายุอยู่ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับประถมศึกษา ซึ่งจะมีอายุมากสุดประมาณ ๑๔-๑๕ ปี พออายุ ๑๖ ปี พ่อแม่ของเด็กก็มักจะให้เด็กไปทำงานรับจ้างในสวนส้มกันแล้ว แต่ในข้อเท็จจริง กฎหมายแรงงานในประเทศไทยนั้นทำไม่ได้ เพราะระบุว่าต้องอายุ ๑๘ ปีถึงจะทำงานได้ ถ้าต่ำกว่า ๑๘ ปี ถือว่าละเมิดสิทธิเด็ก ใช้แรงงานเด็ก เป็นต้น

"ซึ่งพ่อแม่ไม่เข้าใจตรงนี้ แต่เราก็พยายามหาทางออกให้กับเด็กกลุ่มนี้ เด็กโตอายุเกินเกณฑ์ที่จะเรียนในรูปแบบโรงเรียนหรือศูนย์การเรียน  เราก็พยายามหาทางออกให้ โดยมีการทำบันทึกข้อตกลง MOU กับ กศน. ฝาง  โดยร่วมกับ ศศช. บ้านห้วยเดื่อ ที่อยู่ในชุมชนแห่งนี้ โดยจะมีการเปิดห้องเรียนพิเศษที่ศูนย์การเรียนฯ นี้ทุกวันอังคาร แล้วก็พาไปสอบ ตอนนี้ก็ใกล้จะจบในระดับประถมศึกษา แล้วยังสามารถเรียนต่อกับทาง กศน. ในระดับ ม.ต้น ม.ปลาย อย่างน้อยถ้าเรียนจบ กศน. พวกเขาก็ยังไปทำงานอื่นๆ เช่น ทำงานที่ปั๊ม หรืออู่ซ่อมรถอะไรก็ได้ ซึ่งถือว่าเป็นทางออกให้เขา เพราะถ้าเราไม่ช่วยตรงนี้ สุดท้ายเด็กกลุ่มนี้ก็จะกลับไปสู่วังวนเดิมๆ กับพ่อแม่ กลับไปทำงานอยู่ในสวนส้มเหมือนเดิม" ครูเอ๋ เล่าถึงทางออกร่วมกัน

 

การผลักดันเพื่อให้เด็กๆ ได้รับสัญชาติ ก็เป็นอีกภารกิจหนึ่งของศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยาและมูลนิธิกระจกเงา

ครูเอ๋ บอกว่า ทุกวันนี้ เด็กๆ ที่เข้าเรียนในศูนย์การเรียนฯ ก็จะมีการทำทะเบียนผู้เรียน ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ.๒๕๔๒ ส่วนเด็กคนไหนที่เกิดในไทยและเข้าเกณฑ์การพิจารณา ก็ต้องมีการผลักดันให้ได้รับสัญชาติไทย

"ยกตัวอย่าง มีเด็กดาวน์ซินโดรมคนหนึ่ง ซึ่งเกิดในไทย ก็พาไปขึ้นทะเบียนจนได้รับสัญชาติไทย ประเด็นแบบนี้ กรณีที่เด็กเกิดในไทย เราก็จะต้องให้เขาได้รู้สิทธิของตนเองที่จะต้องได้รับสัญชาติไทย ซึ่งที่ผ่านมา เราต้องพาไป ถ้าครูไม่พาไป พวกเขาก็ไม่กล้าหรอก ซึ่งการต่อสู้ในเรื่องสัญชาติ เรื่องสถานะของเด็กไร่ส้ม ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ เนื่องจากเด็กมีการอพยพเข้ามาจริง ตามหลักนั้นก็ผิดกฎหมาย ฉะนั้น เรื่องในอนาคตที่เราต้องทำกันต่อ ก็คือการผลักดันให้เด็กๆ กลุ่มนี้ได้รับสิทธิ เพราะว่าตอนนี้ เด็กๆ ยังไม่มีสถานะใดๆ เลย อย่างน้อยเราก็อยากผลักดันให้เด็กมีสถานะ ได้ทำบัตรเลข ๐ เพื่อจะพัฒนาไปสู่กระบวนการขอใช้สิทธิที่จะอยู่ในพื้นที่ถาวรอย่างถูกกฎหมายเหมือนกับคนไทยทั่วไปได้ เพียงแต่ยังไม่มีสัญชาติ และต่อไปก็อาจนำไปสู่การยื่นขอแปลงสัญชาติ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลา ๑๐-๑๕ ปี"

"ใช่ เด็กนักเรียนที่นี่ ถือว่าเป็นเด็กอพยพ เด็กแรงงานข้ามชาติทั้งหมด มีเพียง ๓ คนเท่านั้น ที่เรายื่นเรื่องขอสัญชาติไทย เนื่องจากเกิดในไทย ก็ต้องได้รับสิทธิ ได้สัญชาติไทยตามกฎหมาย และเราพยายามผลักดันไปในหลายช่องทางที่จะทำได้ เพื่อให้เด็กได้รับสิทธิของตนเอง เช่น ถ้าผลักดันให้เด็กได้บัตรเลข ๐ ก็จะช่วยให้เด็กเข้าถึงสิทธิในเรื่องของการรักษาพยาบาลหรือการเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น" ครูโอ๊ต วีระ กล่าว

 

ทำไมเด็กไร่ส้ม ไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัว?!
คือคำถามดังก้องถึงความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม
?!

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญและเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ นั่นคือทุกวันนี้ เด็กนักเรียนศูนย์การเรียนฯ ยังไม่ได้รับสิทธิในการรับเงินอุดหนุนงบประมาณรายหัว เงินอุดหนุนอาหารกลางวันและอาหารเสริมแก่เด็ก เยาวชนในศูนย์การเรียน ตามพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งแน่นอนว่า ส่งผลกระทบต่อชีวิตการกินการอยู่ของเด็กๆ ที่นี่เป็นอย่างมาก

ครูสายลม บอกว่า มันเป็นเรื่องของการตีความของกระทรวงศึกษาธิการ ตาม พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ.๒๕๔๒  ที่ในวรรคท้าย เขาระบุเอาไว้ว่า อาจจะให้หรือไม่ให้ ซึ่งสุดท้ายเขาก็ไม่ได้ให้เงินอุดหนุนเด็กนักเรียนศูนย์การเรียนฯ

"แต่พอปัญหามันล่วงเลยมาระยะหนึ่ง จึงทำให้เรารู้ว่า แล้วทำไมศูนย์การเรียนของปัญญาภิวัฒน์ ที่จดทะเบียนโดยบริษัทยังได้งบอุดหนุน ทั้งที่มีงบประมาณขององค์กรบริษัทสนับสนุนมากมาย แต่ทำไมเด็กนักเรียนของศูนย์การเรียนฯ ซึ่งจัดโดยองค์กรเอกชนและชุมชนช่วยกันทำ กลับไม่ได้รับงบอุดหนุนตรงนี้ ซึ่งตนมองว่า มันแย่มากๆ ทำให้เรามองเห็นว่ามันมีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นแล้ว"

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ตัวแทนครู นักเรียน ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา กว่า ๒๐ คน พากันเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่าด้วยเรื่องการจัดการสิทธิในการรับเงินอุดหนุนงบประมาณรายหัว เงินอุดหนุนอาหารกลางวันและอาหารเสริมแก่เด็ก เยาวชน ในศูนย์การเรียน ตามพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๒ ให้ทาง กสม.ช่วยตีความว่าการไม่ให้เงินอุดหนุนแก่เด็กในศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยานั้น ทำถูกต้องหรือไม่ หรือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กกลุ่มนี้หรือไม่อย่างไร? โดยมีนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางปรีดา คงแป้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มารับฟังเสียงของเด็กและรับปากว่าจะดำเนินการแก้ปัญหาสิทธิให้แก่เด็กต่อไป

"ที่เราพาเด็กมายื่นหนังสือร้องเรียนกับทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ในเรื่องของการไม่ได้รับงบอุดหนุนค่าหัวของนักเรียนของศูนย์การเรียนฯ ซึ่งในขณะที่เด็กในโรงเรียนทั่วไป หรือในรูปแบบบ้านเรียนหรือโฮมสคูล นั้นจะได้รับเงินอุดหนุนค่าหัวจากรัฐอยู่แล้ว หรือกรณีอย่างศูนย์การเรียนที่จดทะเบียนขึ้นโดยเอกชน เช่น ศูนย์ปัญญาภิวัฒน์ ก็ยังได้รับเงินอุดหนุนค่าหัว หรือโรงเรียนปริยัติธรรม ที่จดทะเบียนกับทางกรมการศาสนา ก็ยังได้รับเงินอุดหนุนค่าหัวจากรัฐ แต่ทำไมศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ซึ่งจัดโดยองค์กรเอกชนและคนในชุมชน ทำไมไม่ได้รับเงินอุดหนุนตรงนี้ ซึ่งตนมองว่าอย่างนี้เป็นการละเมิดสิทธิเด็กอย่างหนึ่งเลยนะ" ครูโอ๊ต สะท้อนถึงภาพความเหลื่อมล้ำชัดเจน

 

ย้ำสังคมไทย รัฐไทย ควรมองเด็กคือพลเมืองของโลก ที่เสมอภาคและเท่าเทียม

"ทุกวันนี้ ตนคิดว่าเรากำลังทำงานอยู่กับเด็กชายขอบ ขอบของการพัฒนาที่หลายคนมองไม่เห็น และพยายามผลักดันให้พวกเขาได้กลับคืนมาสู่ความเท่าเทียม ซึ่งมันอาจไม่ได้เห็นผลชัดในวันนี้ แต่ถ้าทุกคนร่วมด้วยช่วยกันเป็นกระบอกเสียง ช่วยกันในเรื่องของการอุดหนุนเงินค่ารายหัว ให้เด็กมีอาหารกลางวัน ช่วยกันเสริมสร้างพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ร่วมกัน ผมว่าวันหนึ่งเด็กๆ กลุ่มนี้ก็จะสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเท่าเทียมและมีความสุข" ครูสายลม บอกกับเรา

เช่นเดียวกับ ครูโอ๊ต ที่กล่าวย้ำๆ หนักแน่นและจริงจัง

"อยากให้มองเด็กๆ กลุ่มนี้ ว่าเป็นคนเหมือนกันก่อน แล้วเราถึงจะช่วยแก้ปัญหานี้กันได้ถูกจุด ถ้ามองว่าเป็นเขาเป็นเราเมื่อไหร่ มันก็จะทำงานด้วยกันยากมาก อย่างแรกเลยก็คือ ต้องมองว่าเด็กเป็นเหมือนกันทั่วโลก ต้องได้รับความคุ้มครอง ได้รับการพัฒนาเหมือนๆ กัน เป็นหลัก เราถึงจะหาทางแก้ปัญหานี้ได้รวดเร็วขึ้นและดีขึ้นได้ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ยังมองเป็นเขาเป็นเรา มองว่าเด็กคือต่างด้าวเมื่อไหร่ มันก็เป็นเรื่องยากมากที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ถ้ามองว่าเด็กๆ นั้นเหมือนกันทั่วโลก ก็จะทำงานร่วมกันง่ายขึ้น"

ซึ่งสอดคล้องกับสารของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส โอกาสเฉลิมฉลองวันสันติสากล ครั้งที่ ๕๖ ใจความตอนหนึ่งว่า "...เปิดความคิดและหัวใจของเราสู่ความเป็นมนุษย์ที่เป็นพี่น้องกันในทางสากล เราไม่สามารถจดจ่อกับการปกป้องรักษาตัวเราเองได้อีกต่อไป ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องพยายามเยียวยาสังคมและโลกของเรา เพื่อวางรากฐานสำหรับโลกที่มีความยุติธรรมและสงบสุขมากยิ่งขึ้น และมุ่งมั่นอย่างจริงจัง ในการแสวงหาความดีที่เป็นของเราร่วมกันอย่างแท้จริง"

....ในเส้นทางใหม่แห่งการเยียวยาโลก มนุษย์ต้องทบทวนตนเอง โดยอาศัยพระเจ้า หรือหลักความเชื่อในศาสนาของตน  เพื่อปรับเปลี่ยนจิตใจของตนเอง เปลี่ยนวิธีคิด และเกณฑ์ที่เรายึดถือต่อการมองสังคมโลก  มนุษย์จะรอดไปด้วยกันได้ ก็มาจากการไม่คิดเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวหรือของชาติอีกต่อไป แต่คิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นอันดับแรก  เพราะเราแต่ละคน ต่างเป็นพี่น้องกัน และเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

...ในเส้นทางใหม่ที่เราต้องร่วมเดินไปด้วยกัน ยังมีประเด็นท้าทายอยู่ อาทิ เรื่อง หลักประกันด้านสุขภาพเป็นจริงสำหรับทุกคน การยุติความขัดแย้งและสงคราม  การดูแลสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นบ้านของทุกคน และสร้างความมั่นคงทางอาหาร  การช่วยให้คนมีงานทำ มีอาชีพที่เหมาะสม และนโยบายของประเทศ เพื่อต้อนรับผู้ย้ายถิ่น ผู้ลี้ภัย และผู้ที่สังคมทอดทิ้ง

 

__________________________________

ข้อมูลประกอบ

๑. เรียนรู้ "วาดฝัน" ของเด็กไร่ส้มวิทยา, สำนักข่าวชายขอบ, ๐๙/๑๒/๒๐๒๒


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >