หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 97 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


Empathy Society สร้างสังคมที่มองเห็น 'ใจ' และเข้า (ถึง) ใจกัน... พิมพ์
Monday, 16 January 2023

Image

วารสารผู้ไถ่
ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๑๒๐ ก.ย. - ธ.ค. ๒๕๖๕


Empathy Society
สร้างสังคมที่มองเห็น 'ใจ' และเข้า (ถึง) ใจกัน

"เข้าใจไม่พอ ต้องเห็นอกเห็นใจกันและกันด้วย"
คุยกับ ดร.กุลวดี ทองไพบูลย์ อาจารย์นักจิตวิทยาคลีนิก

ธัญลักษณ์ นวลักษณกวี สัมภาษณ์
 

Image 

โศกนาฏกรรม ‘กราดยิงที่หนองบัวลำภู'[๑] ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ทำร้ายจิตใจคนไทยและผู้คนทั้งโลก และอีกหลายเหตุการณ์ความรุนแรงในสังคมไทยที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า นอกจากมีผู้บาดเจ็บทางกายที่ต้องรักษาฟื้นฟูเยียวยาแล้ว ยังมีผู้มีบาดแผลทางใจ (Trauma) อีกจำนวนมากที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป หรือต้องเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญ สภาวะความเครียด ความกลัว ความกดดัน จากการอยู่ร่วมในสถานการณ์ความรุนแรงนั้น และยังมีภาพจำจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นติดอยู่ในความทรงจำอย่างยากจะลืมเลือน ส่งผลให้เกิดบาดแผลทางใจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูเยียวยาไม่ต่างจากบาดแผลทางกาย

หลายเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เราได้เห็นการนำเสนอข่าวของสื่อสารมวลชนที่ให้ความสำคัญกับการนำจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา มาร่วมวิเคราะห์ถึงสาเหตุ และสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดที่เป็นปมของผู้ก่อเหตุ เพื่อเข้าใจที่มาที่ไปของเหตุการณ์ที่ลึกลงไปกว่าที่เราจะตัดสินผู้ก่อเหตุเพียงแค่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น ทั้งยังให้ความสำคัญต่อการเยียวยาสภาวะจิตใจของครอบครัวผู้เสียชีวิตโดยกรมสุขภาพจิตลงพื้นที่เพื่อให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงการโพสต์ขอความร่วมมือชาวโซเชียลให้หยุดเสนอและส่งต่อภาพความรุนแรงและภาพผู้เสียชีวิต พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลและเยียวยาจิตใจแก่ประชาชนที่เสพข่าวความรุนแรงมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อจิตใจ

ใช่เพียงเท่านั้น จากสภาพสังคม และเศรษฐกิจที่ถดถอยจากโรคระบาดโควิด-๑๙ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลก ทุกระดับชนชั้น และทุกเพศทุกวัย คนวัยทำงานที่ต้องเผชิญกับปัญหาธุรกิจปิดกิจการ ตกงาน ภาวะหนี้สินที่ยากจะปลดเปลื้อง เด็กและเยาวชนวัยเรียนที่ต้องเผชิญกับปัญหาการเรียนออนไลน์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบสมองที่มีผลต่อการเรียนรู้ สภาวะจิตใจ และพัฒนาการถดถอยจากการเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านเป็นเวลานาน รวมไปถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้โซเชียลมีเดีย สื่อสังคมออนไลน์ที่กลายเป็นภัยมืดนำอันตรายมาสู่ชีวิตเด็กและเยาวชนได้เพราะไม่รู้เท่าทัน เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้คนในสังคม สังคมเราจึงมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น มีจำนวนคนที่เลือกจบชีวิตตัวเองเพิ่มขึ้นทุกขณะ

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO[๒] ระบุว่า ๑ ใน ๘ ของประชากรโลกกำลังเผชิญปัญหาด้านสุขภาพจิต ในทุกการเสียชีวิต ๑๐๐ ครั้ง จะมีอย่างน้อย ๑ ครั้งที่เป็นการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาวช่วงอายุ ๑๕-๒๙ ปี ทุกการเสียชีวิต ๑๐๐ ครั้ง จะมีถึง ๘ ครั้งที่เป็นการฆ่าตัวตาย และในภาพรวม ทุก ๑ การเสียชีวิตที่มาจากการฆ่าตัวตาย เป็นการพยายามฆ่าตัวตายไม่ต่ำกว่า ๒๐ ครั้ง

จากสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จก็พบว่ามีอัตราสูงขึ้น จาก ๖.๐๘ ราย ต่อประชากรแสนคน ในปี ๒๕๕๖ เพิ่มเป็น ๗.๓๗ รายต่อประชากรแสนคน ในปี ๒๕๖๓ และเพิ่มเป็น ๗.๘ รายต่อประชากรแสนคน ใน ๒๕๖๔ ที่เกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด ๑๙ นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอีกราว ๑.๓๕ ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในรอบสิบปีที่ผ่านมา

สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลจากคลังข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข[๓] ระบุว่า ระหว่างปี ๒๕๕๘-๒๕๖๔ ประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเพิ่มขึ้นเกือบ ๒ เท่า จาก ๑.๓ ล้านคน เป็น ๒.๓ ล้านคน ในปี ๒๕๖๔ โรคจิตเวชที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากที่สุดคือ ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เสพสุรา และสูบบุหรี่ ดังที่เราได้เห็นผู้ป่วยจิตเวชหลายต่อหลายราย ออกมาก่อเหตุทำร้ายร่างกาย ทุบทำลายรถยนต์ และข้าวของของประชาชนตามสถานที่ต่างๆ กลายเป็นภัยอันตรายที่น่าหวาดกลัวที่ทำให้ผู้คนในสังคมต้องอยู่กันอย่างหวาดระแวง

เห็นได้ว่าวิชาชีพจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักจิตบำบัด มีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญยิ่งต่อสังคมที่ผู้คนต่างก็มีสภาวะเปราะบางทางจิตใจกันยิ่งขึ้น ที่จะช่วยเยียวยาจิตใจของผู้คนในสังคมที่ต่างก็มีบาดแผลทางใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ

"ผู้ไถ่" ฉบับนี้ ชวนคุยกับ ดร.กุลวดี ทองไพบูลย์ นักจิตวิทยาคลินิก อาจารย์ประจำสาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การได้รับฟังมุมมองจากนักจิตวิทยา ต่อปัญหาความรุนแรงในสังคม และปัญหาสุขภาพจิตในสังคมไทย จากนักจิตวิทยาซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญต่อการรับมือกับผู้ป่วยจิตเวช ไม่แพ้จิตแพทย์ เพื่อเป็นหนึ่งในการสร้างความตระหนักรู้ต่อปัญหาสุขภาพจิตของคนในสังคม และเพื่อร่วมกันหาแนวทางที่จะช่วยให้สังคมมี Empathy เพื่อที่เราจะสร้างสังคมที่มองเห็นใจกัน มีความเข้าอกเข้าใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา กันให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาเหล่านี้

ทำความรู้จักกับ ดร.กุลวดี ทองไพบูลย์

      ดร.กุลวดี ทองไพบูลย์ ที่คนในแวดวงเรียกกันว่า ‘อาจารย์เอ๋'  ‘ครูเอ๋' นักจิตวิทยาคลินิก และอาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบปริญญาเอก ดุษฎีบัณฑิต (จิตวิทยา) จากสถาบัน "The Wright Institute, Berkeley" ประเทศสหรัฐอเมริกา วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (จิตวิทยาการปรึกษา) จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นนักจิตวิทยาคลินิกประจำโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ เปิดคลินิก ‘มีรักคลินิก'[๔] ให้คำปรึกษาผู้ปกครองที่มีเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ อาจารย์เอ๋ยังทำเพจเฟซบุ๊ก being Human เพราะเราคือมนุษย์ เป็นพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนให้ความรู้เรื่องจิตวิทยาและการดูแลสุขภาพใจ ทำพอดแคสต์เกี่ยวกับจิตวิทยาชื่อ ไซไฟพอดแคสต์ (Psy-Fi Podcast)[๕] ที่ชวนฟังและพูดคุยประเด็นทางจิตวิทยา ผ่านภาพยนตร์ และดนตรี และยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดและการศึกษา

      ด้วยจุดเปลี่ยนจากเหตุการณ์สึนามิในไทยเมื่อปี ๒๕๔๗ ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของ ดร.กุลวดี จนทำให้เธออยากมีส่วนในการช่วยเยียวยาจิตใจเพื่อนมนุษย์ที่มีความทุกข์ ประกอบกับตั้งแต่เด็กจนโตมามีโอกาสได้ติดตามคุณพ่อซึ่งเป็นจิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา[๖] เธอจึงมีความคุ้นเคยกับวิชาชีพนี้ของคุณพ่อ โดยเฉพาะความชอบส่วนตัวที่สนใจศาสตร์เกี่ยวกับจิตใจของมนุษย์ อยากเข้าใจความซับซ้อนของมนุษย์ ดร.กุลวดีซึ่งจบปริญญาตรีด้านกฎหมาย และการบริหารงานโรงแรม จากประเทศสหรัฐอเมริกา จากทนายความในแวดวงด้านสื่อบันเทิง เธอเบนเข็มทิศชีวิต มุ่งมาเรียนเฉพาะทางด้านจิตวิทยา ระดับปริญญาโท สาขาวิชาจิตวิทยาการให้คำปรึกษา ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบค และไปต่อปริญญาเอกด้านจิตวิทยาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

      สถาบันที่ ดร.กุลวดีเลือกเรียนต่อปริญญาเอก คือ The Wright Institute ซึ่งมีม็อตโตว่า ‘Educating Clinicians to Society' มุ่งผลักดันให้นักศึกษาจบออกไปทำงานเพื่อสังคม สถาบันที่สอนเธอว่า "นักจิตวิทยาไม่สมควรแค่นั่งทำงานในห้องและทำเฉพาะเคสอย่างเดียว เราต้องออกไปข้างนอก เราต้องออกไปส่งเสียง เราต้องออกไปมีส่วนร่วม (Advocate) เราต้องออกไปทำให้คนอื่นรู้ว่า จิตวิทยา ศาสตร์ของเราเอาไปทำอย่างไรได้บ้าง แล้วมันกว้างกว่าการอยู่แค่ห้องบำบัดอย่างเดียว เราต้องทำให้มันกว้างขึ้น ให้มันเห็นได้ชัดขึ้น แล้วก็เอาศาสตร์ของเราไปใช้ประโยชน์ตรงนั้นให้มากขึ้น"

      ดร.กุลวดี เล่าถึงความประทับใจต่อสถาบันนี้ที่บ่มเพาะความคิดเชิงสังคมให้แก่เธอและเพื่อนนักศึกษาทุกรุ่นได้เติบโตทางความคิด ความเชื่อ การเปิดกว้างในเรื่องของมุมมอง ซึ่งเธอเชื่อว่า การเติบโตขึ้นมาเป็นมนุษย์ จะต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้เราได้เติบโต ได้งอกงามในความเป็นมนุษย์

      "ประทับใจมากๆ กับการเรียนการสอนที่มีความเปิดกว้างในเชิงความคิด ตอนที่เรียน เรารู้สึกว่าเราเปลี่ยน เพราะว่ามันเป็นการพัฒนาตัวเรา มันไม่ใช่แค่เรียนเพื่อความรู้ แต่เราต้องเรียนศาสตร์อื่นๆ ที่ควบคู่ไปกับองค์ความรู้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นทักษะ การรู้จักตัวเองที่ดียิ่งขึ้น ที่นู่นเขาส่งเสริมว่าคนที่เรียนจิตวิทยาต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัด หมายถึงเราลองเป็นเคสเพื่อให้รู้ว่า เรารู้สึกอย่างไร แล้วเอามาปรับใช้งานกับเราเวลาเราเป็นนักบำบัดได้ คือมันจะมีการเติบโตของเราเอง มีวิชาหนึ่งชื่อ Multi Cultural Awareness ความตระหนักรู้ทางวัฒนธรรม เป็นวิชาที่ให้เราได้เรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม การที่ต้องอยู่กับคนที่ต่างจากเรามาก คนที่อาจจะคิดไม่เหมือนเราเลย คนที่มาจากแบ็กกราวน์ไม่เหมือนกับเราเลย คนที่อาจจะคิดตรงข้ามกับเราเลย มันก็ทำให้เราเซนส์ซิทีฟต่อความหลากหลายพวกนี้มากขึ้น มันเป็นการพัฒนาตัวตนเลย ไม่ใช่แค่เรียนในเรื่ององค์ความรู้ เห็นได้ชัดเลย ๔ ปีที่ไปเรียน เราเติบโตทั้งความคิด ความเชื่อ การเปิดกว้างในเรื่องของมุมมอง"

      "ความประทับใจอีกเรื่องคือ มีคลาสชื่อ Advocacy กับ Public Policy เป็นคลาสที่เขาจะพาเราไปล็อบบี้ คือจะมีออกกฎหมายใหม่อะไรก็แล้วแต่ที่มีปัจจัยทางจิตวิทยาที่ต้องคำนึงถึง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับผู้ต้องขัง เราก็จะไปให้ข้อมูลแก่วุฒิสมาชิก ล็อบบี้ให้กฎหมายที่ออกมามีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น จะมี ๑ วันที่เราไปเมืองสะคราเมนโต เมืองหลวงของรัฐแคลิฟอร์เนีย ไปล็อบบี้ ไปหาวุฒิสมาชิกเลย ไปอธิบายให้ฟังว่า กฎหมายนี้จะส่งผลกระทบอะไร อย่างไร และทางออกที่ดีกว่าน่าจะเป็นอย่างไร ไปขอให้เขาช่วยล็อบบี้แทนเรา นี่คือมุมมองทางจิตวิทยาทำอะไรได้บ้าง ที่ออกนอกห้องให้คำปรึกษา (Consulting Room) เห็นได้ว่าเรายังทำอะไรได้อีกเยอะแยะมากมาย ในระดับกฎหมาย และเราควรทำงานหลายๆ ศาสตร์ ไม่ควรอยู่แค่ในโลกของเราเอง ทุกวันนี้เราควรจับมือกัน ต้องทำงานร่วมกับหลายๆ ศาสตร์ และบูรณาการมันขึ้นมา"

      เมื่อจบการศึกษา แม้จะมีโอกาสได้ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) สามารถทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกาได้อย่างถาวร แต่ ดร.กุลวดี ตัดสินใจอยู่เมืองไทย เป็นอาจารย์สอนนักศึกษามหาวิทยาลัย โดยเริ่มสอนที่แรกคือ ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ดร.กุลวดีให้แง่คิดที่น่าประทับใจว่า "เราอยู่ที่นี่เราทำประโยชน์ได้มากกว่าอยู่ที่นั่น อยู่ที่นั่นเราเป็น ‘ปลาตัวเล็กในบึงใหญ่' แต่อยู่ที่นี่เราเป็น ‘ปลาตัวใหญ่ในบึงเล็ก' คือตัวเองตระหนักรู้มาตลอดว่า เราเป็นคนที่มีอภิสิทธิ์ (Privilege) เป็นคนที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่นที่ได้ทำในสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องใช้โอกาสของเราให้เป็นประโยชน์" 

      ด้านชีวิตครอบครัว ดร.กุลวดี กล่าวอย่างภูมิใจว่า "มีลูก ๒ คนที่เติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่น่ารักทั้งคู่ เราก็รู้สึกว่าชีวิตของเราเต็มแล้ว เราพึงพอใจกับชีวิตที่เรามาถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่นี้ต่อไป ทุกอย่างเป็นโบนัสหมดค่ะ โอกาสที่เราได้รู้จักคน โอกาสที่ได้ทำงานใหม่ๆ ได้สร้างงานใหม่ๆ มันก็เลยกลายเป็นว่าเราไม่ได้ถูกจำกัดด้วยเรื่องของเวลา ตัวเองอายุก็ค่อนข้างเยอะแล้ว ปีหน้าก็ว่าจะเตรียมรีไทร์ (เกษียณ) แล้ว อาจไม่ได้ทำงานหนักเหมือนเดิม ก็จะเริ่มท่องเที่ยวบ้าง และพอตัวเอง Set my Retire แล้ว อาจจะเบนเข็มมาทำในเชิงโครงสร้างทางสังคมมากขึ้น อย่างสร้างการเรียนรู้ทักษะทางสังคม (Social Skill Learning) อยากทำเป็นหลักสูตรออกมา พวกการประเมินผู้ได้รับผลกระทบ มีบาดแผลทางใจ (Trauma Informed)  ที่เราไปสอน จริงๆ อยากกระตุ้นให้สื่อเห็นความสำคัญอยากผลักดันโครงสร้างทางสังคม อย่างที่ SHero[๗]ทำ ลักษณะสนับสนุน (Advocacy) ประเด็น อยากทำงานในเชิงระบบมากขึ้นเพราะว่าจิตวิทยามันอยู่ตั้งแต่ในระดับปัจเจก ระดับชุมชน ระดับโครงสร้างสังคม เพราะฉะนั้น ศาสตร์ทางจิตวิทยาสามารถนำไปใช้ในการทำความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง"

 

ทัศนคติของสังคมไทยที่มองว่าการไปคุยกับจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา คือการยอมรับว่าตนเองมีปัญหาทางจิต หรือ เธอท่าจะบ้าแล้ว  ตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนคะ

ยังมีการตีตรากันอยู่ มันเป็น Stigma เป็นการตีตราว่าไปหาจิตแพทย์ คือป่วยทางจิต ไม่ปกติ ถามว่ายังมีอยู่ไหม ก็ยังมีอยู่นะคะ ตัวเองทำงานในระดับมหาวิทยาลัย คือช่วงที่เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ก่อนที่จะมาสอนที่ ม.ธรรมศาสตร์) ก็จะรับผิดชอบ ‘บ้านหลังที่สอง'[๘] ศูนย์ให้คำปรึกษา ของภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็จะบรรยายเรื่องพวกนี้ค่อนข้างเยอะ ในภาพรวม ตัวเลขจะดีขึ้นในเชิงของนักศึกษาที่มาขอความช่วยเหลือ นักศึกษากล้าที่จะเดินเข้ามาขอความช่วยเหลือมากขึ้น แต่เราก็ยังมองว่าไม่ใช่ทั้งหมด เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะว่าสังคมก็ยังมีความเชื่อว่าถ้าเข้ามาก็คือว่าคุณต้องมีความผิดปกติ แล้วหลายคนก็ไม่อยากที่จะเข้ามาด้วยเหตุนี้ ไม่อยากจะถูกตีตราจากสังคม

แต่ถามว่าดีขึ้นไหม ส่วนตัวจากประสบการณ์ของตัวเองรู้สึกว่า การที่น้องๆ วัยรุ่นเข้ามาขอการช่วยเหลือ การที่น้องๆ เยาวชนเขาผลักดันให้เด็กและเยาวชนสามารถเดินเข้าไปหานักจิตวิทยาได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองให้ความยินยอม (Consent) ก็ได้[๙] ปัจจุบันเด็กเยาวชนที่อายุต่ำกว่า ๑๘ ปี สามารถเดินเข้ามาขอรับการช่วยเหลือได้เอง หมายความว่าถ้าไปพบนักจิตวิทยาก็เป็นการพูดคุย แต่ถ้าต้องใช้ยาต้องมีผู้ปกครองเซ็นยินยอมให้ ถ้าจะพบจิตแพทย์ น้องๆ วัยรุ่นสามารถเข้ามาได้ก่อน ซึ่งเราก็มองว่าเป็นทิศทางที่ดีค่ะ มันเปิดกว้างมากขึ้น และเขาเองก็ตระหนักรู้ถึงประเด็นเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น

 

อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร ที่ว่าต้นตอของปัญหาสุขภาพจิต มันไม่ใช่แค่เรื่องของสารเคมีในสมอง แต่เป็นผลพวงมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหาการถูกล่วงละเมิดและความรุนแรงในครอบครัว สถานศึกษา และที่ทำงาน การเข้าไม่ถึงการศึกษาและระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ปัญหาเรื่องยาเสพติดในชุมชน ฯลฯ

เวลาเรามองเรื่องภาวะทางจิตเวช หรือความผิดปกติทางจิตใจ หรืออาจจะเป็นภาวะ ยังไม่ถึงขั้นเป็นโรคก็ได้ เราก็จะมองอย่างนี้ค่ะ ไบโอไซโคโซเชียล (Biopsychosocial ชีวจิตสังคม หรือภาวะจิตสังคมของการเจ็บป่วย) จะมีบางคนในวงการเราที่ไม่เห็นด้วย บางคนก็เห็นว่าควรจะเน้นไปทางไบโอ Bio มากหน่อย ส่วนตัวเชื่อเสมอ และก็มองว่า ไบโอไซโคโซเชียล  ไบโอ (Bio) ก็คือปัจจัยด้านกายภาพ อย่างเช่น สารเคมีในสมองไม่สมดุล (Imbalance) หรือฮอร์โมนที่มันผิดปกติแล้วทำให้เราเกิดอารมณ์อะไรบางอย่าง เป็นเรื่องของร่างกาย เป็นไบโอไป ส่วนไซโค (Psycho) คือประเด็นทางด้านจิตใจ เช่น อาจจะมีความเปราะบางทางอารมณ์มาตั้งแต่เกิด มีทรอม่า (Trauma) ในอดีต มีบาดแผลทางใจ ก็เป็นเรื่องของจิตใจ แล้วก็เรื่องของโซเชียล เรื่องทางสังคม สิ่งแวดล้อม อยู่ในครอบครัว การเลี้ยงดูเป็นยังไง ไปโรงเรียนถูกเพื่อนบูลลี่ไหม มันทุกระดับเลยค่ะ ถ้าพูดถึงเชิงสังคม ระดับย่อยที่สุดก็คือ ครอบครัว ขึ้นมาก็ระดับโรงเรียน ชุมชน ถึงระดับประเทศเลย ปัจจัยทางสังคมจึงมีส่วนในประเด็นเรื่องของสุขภาพจิต

 

มองปรากฏการณ์สังคมไทยใช้ความรุนแรงเป็นทางออก เป็นคำตอบในการจัดการปัญหากันมากขึ้น มันสะท้อนอะไรบ้างในมุมของนักจิตวิทยา

สะท้อนหลายอย่างมากเลยค่ะ โอ้โหมันเยอะแยะมากมาย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองจากมุมมองไหน ถ้ามองจากประเด็นเรื่อง Empathy เรื่องความเห็นอกเห็นใจกัน มันต้องมาเป็นอันดับหนึ่งเลย ตัวเองจะพูดอยู่เสมอว่าตอนนี้รู้สึกว่าเราอยู่ในสังคมที่มีความบกพร่อง มีความพร่องเรื่อง Empathy

คำว่า Empathy เอ็มพาธี ภาษาไทยแปลได้หลายอย่าง บางทีเราก็ใช้ ‘ความเห็นอกเห็นใจ' ส่วนตัวจะใช้คำว่า ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา' ‘ใจเขาใจเรา' ความจริงสังคมมันเป็นมาตั้งนานแล้ว สังคมพร่องเรื่อง Empathy การเอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่างการบูลลี่เป็นอันที่เห็นได้เด่นมากๆ เลยว่า ถ้ามองปัจจัยเรื่องของสังคมด้วย อย่างสมัยเป็นเด็กอยู่ในครอบครัวซึ่งเป็นสังคมหน่วยที่เล็กที่สุด ในครอบครัวจะมีกรณีที่พ่อแหย่ลูก หรือญาติพี่น้องแหย่เด็ก อย่างเด็กเล่นของเล่นก็ดึงออกมา ช่วงแรกเด็กก็อาจจะสนุกๆ มีคนเล่นด้วย แต่พอไปสักพักหนึ่งเด็กไม่สนุกด้วยแล้ว พอเด็กไม่สนุก เด็กก็ไม่เอา ไม่อยากเล่นด้วยแล้ว แต่ผู้ปกครอง ญาติพี่น้องก็จะบอกว่า อะไรกัน เล่นด้วยนิดเดียว เรื่องแค่นี้เองทำไมต้องอารมณ์เสียด้วย ต้องน้อยใจด้วย คือรับรู้ว่าเด็กน้อยใจ เด็กไม่พอใจ แต่ไม่เห็นว่าอารมณ์ของเด็กสำคัญ ไม่ได้รับการทำให้มีเหตุมีผล (Validate) ว่าเขาอยู่ในอารมณ์ที่ไม่พอใจ แต่ผู้ปกครองกลับปัดทิ้งเสียอีกว่า เรื่องแค่นี้ทำไมต้องร้องห่มร้องไห้ แนวนี้เราเห็นเยอะมากเลย

ทีนี้ถ้าเราคิดว่ามันเกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก เด็กก็จะเกิดความสับสนว่ามันคืออะไร การแสดงออกของเขา อันนี้คือมองเรื่อง Empathy เลยค่ะ ใจเขาใจเราน่ะ ถ้าเราอยู่ตรงโมเมนท์นั้น ถ้าเรามี Empathy คือ การที่เราใส่แว่นของคนอื่น มองโลกนี้ผ่านสายตาของเขา หรืออีกอันหนึ่งคือ Walking in someone else' s shoes คือ ใส่รองเท้าของเขาแล้วเดินบนโลกนี้ โลกนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าเราเอาตัวเราไปเป็นน้อง เราจะรู้ว่าน้องเขาไม่โอเคแล้ว ควรหยุดพฤติกรรมแบบนี้

แล้วพอโตขึ้นมาก็เป็นการบูลลี่ในโรงเรียน บูลลี่ก็เป็นเรื่องของอำนาจด้วยนะคะ โครงสร้างทางสังคมก็มีเรื่องของอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง power ที่ไม่เหมือนกัน ไม่เท่าเทียมกันอยู่แล้ว ก็ใจเขาใจเราแหละ ถ้าคุณไม่อยากโดนทำอย่างนี้ คุณก็ไม่สมควรไปทำอย่างนี้กับคนอื่น มันเป็นเรื่องของการขาด Empathy สะท้อนในมุมมองของสังคมก็ได้นะคะ เรื่องของการใช้ความรุนแรง มันเหมือนโครงสร้างทางสังคมที่คนหลายคนอาจรู้สึกว่าตอนนี้มันไม่มีทางออก มันต้องเอาอารมณ์หรือความโกรธออกมาเป็นในเชิงของความรุนแรง ทำไปอย่างไรเราก็ไม่รู้ บอกยาก บางคนทำไปเพื่อแสดงให้เห็นอะไรบางอย่างหรือเปล่า หรือเป็นการระบายอารมณ์ หลายๆ คนก็ใช้วิธีการระบายอารมณ์ด้วยความรุนแรง มันอาจจะมีหลายๆ เหตุผล แต่ตัวเองเชื่อว่าโครงสร้างทางสังคมมีส่วนทำให้คนแสดงออกด้วยความรุนแรง หลายๆ ครั้งจะอยู่ในสภาวะที่หาทางออกไม่ได้ ไม่มีทางออก หรือว่าปัจจัยส่วนบุคคล ก็อาจจะเป็นเรื่องของความบกพร่องในการจัดการกับอารมณ์ ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ได้ด้วยวิธีที่เหมาะสม ก็ใช้ความรุนแรง อาจจะเห็นครอบครัวใช้ความรุนแรงมา ได้แบบอย่าง (Modeling) มาจากครอบครัว มีต้นแบบที่เป็นการใช้ความรุนแรงมาก่อน พวกนี้มันสะท้อนได้หลากหลายมากในเรื่องมุมมองของความรุนแรง

 

แล้วการจะทำให้สังคมเรา มี Empathy ต่อกัน ทำได้อย่างไรบ้าง

โดยส่วนตัวมองว่า Empathy เป็นทักษะ โมเดลของ Empathy มีหลายโมเดล แต่โมเดลที่ตัวเองมักจะทำความเข้าใจ Empathy มี ๒ ด้าน ด้านหนึ่งเรียกว่า Cognitive Empathy อีกด้านหนึ่งเรียกว่า Affective Empathy  Cognitive เป็นเรื่องของความคิด อย่างเช่น เราเห็นเพื่อนล้ม เราอาจจะคิดว่าเพื่อนเจ็บ เราก็พูดปลอบใจ อันนี้เป็นทักษะที่ฝึกได้ Affective Empathy  Affect ก็มาจากอารมณ์ เราก็สร้าง (Build) ความรู้สึกร่วม คือเหมือนเข้าใจความรู้สึกของเขา

Empathy จะต่างจาก Sympathy เป็นคำ ๒ คำที่มาคู่กันอยู่ เวลาเราเรียนว่ามันเป็น Empathy หรือ Sympathy  Sympathy ในภาษาไทยบางทีเราแปลว่า ความสงสาร แต่ถ้าให้ตัวเองเปรียบเทียบ มีคลิปหนึ่งของ เบรเน่ บราวน์[๑๐] เห็นชัดมากเลย เขาพูดเรื่อง Empathy ในคลิปเป็นตัวการ์ตูนตกลงไปในหลุมดำ Empathy ก็คือเราเดินลงไปในหลุมดำ แล้วเราก็ไปอยู่ข้างๆ เขา คือ มีอะไรเราจะช่วย เราจะเดินไปคู่กับคุณ แต่ Sympathy คุณไม่ได้ลงไปในหลุมดำ คุณอยู่ข้างบนแล้วคุณมองลงมา แล้วเหมือน "รู้สึกแย่จังเลยนะ เดี๋ยวเราส่งข้าวไปให้แล้วกัน" แต่เราไม่ได้เดินไปคู่กันกับเขา เราเห็น เราเข้าใจในเชิงความรู้สึกของเขาว่า เขาน่าจะรู้สึกแบบนี้แหละ แต่ Sympathy มันไม่ได้มีความพยายามที่จะเข้าใจที่มาที่ไป ไม่ได้พยายามที่จะไปยืนอยู่ในมุมของเขา ในที่ของเขา แล้วเข้าใจโลกในสายตาของเขา แต่ Empathy มันปรารถนา (Require) ให้เราต้องพยายามมองจากมุมมองของคนอื่นค่ะ

แล้วก็จะมีเรื่องของการมองจากมุมของผู้อื่น (Perspective Taking) ทำอย่างไรให้เราสามารถมองจากมุมมองที่หลากหลายได้ ซึ่งนี่ก็โยงเข้าประเด็นในเชิงความหลากหลายทางความคิด ซึ่งเดี๋ยวนี้มันเป็นเรื่องของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางเพศ ความหลากหลายในเชิงความคิด ทุกด้านที่เป็นประเด็นเรื่องวัฒนธรรมก็เป็นความหลากหลายทั้งหมด สามารถมองจากมุมมองที่แตกต่างจากเราได้  ดังนั้นจึงเป็นทักษะที่เราฝึกได้ ขยายอย่างไรให้สามารถมองจากมุมมองที่แตกต่างจากคนอื่นได้

เรื่องของความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นก็เป็นทักษะที่ฝึกได้เหมือนกัน พอดีทำงานกับน้องๆ ที่เป็นเด็กพิเศษ เด็กออทิสติก บางครั้งเด็กเขาอาจไม่ได้รับรู้ คือไม่เข้าใจเรื่อง Empathy หรือไม่สามารถแสดงออกได้อย่างเหมาะสม ในส่วนที่เป็น Affective ที่เป็นเรื่องของอารมณ์มันอาจจะตามมาทีหลัง แต่เรื่องของ Cognitive คือ ถ้าเพื่อนล้มนะ เราต้องเข้าไปพูดว่า "เป็นยังไงบ้าง" เพื่อแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจของเรา อย่างนี้ฝึกได้ แต่จริงๆ อยากให้ลึกกว่านั้น คือให้มันมาจากข้างในของเรา ให้เราพยายามจะเข้าใจ พยายามจะมองจากมุมมองของเขา เราไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เขาทำมันถูกต้อง แต่เราจะเข้าใจเขามากยิ่งขึ้น เราจะเห็นว่ามันมีที่มาที่ไปนะ ชีวิตของทุกคนมันมีที่มาที่ไปค่ะ

นึกถึงตัวอย่าง มีหลายเคสที่บางครั้งเราไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำ แต่พอเราเห็นที่มาที่ไปของเขาแล้ว เราพอที่จะทำงานกับเขาได้ เหมือนชะลอการตีตราอะไรบางอย่าง แม้กระทั่งกับคนไข้ซึมเศร้า  (Depression) มีช่วงหนึ่งที่เรารณรงค์กันมากเลยว่า ไม่ใช้คำว่า "สู้ๆ นะ" เพราะว่า คำว่า "สู้ๆ นะ" มันมีอะไรบางอย่าง แล้วหลายคนก็ตั้งคำถามว่าทำไมใช้คำว่า "สู้ๆ นะ" ไม่ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องของ Empathy ค่ะ ถ้าเราอยู่ในมุมของเขา ถ้าเราเอาตัวเราเองไปอยู่กับเขาแล้ว เราก็จะรู้ว่าเขาสู้มาจนไม่รู้จะสู้ยังไงแล้ว คือกว่าเขาจะมาถึงจุดนี้ที่นั่งอยู่ข้างหน้าเรา เขาพยายามแล้ว ไม่มีใครอยากอยู่ในภาวะแบบนั้นค่ะ หลายๆ คนก็พยายามมาทุกวิถีทางแล้วที่จะเอาตัวเองออกจากภาวะตรงนั้นน่ะ แต่ด้วยอะไรก็แล้วแต่ วันที่เขามาหาเรา ก็คือเขามาจนสุดทางแล้ว และเขาทำด้วยตัวเองไม่ได้ เขาถึงต้องหาทางขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ทีนี้บางครั้งที่เราบอก "เฮ้ย สู้ๆ นะ" ผู้รับสารเขาจะรู้สึกว่า คุณไม่เข้าใจฉันเลยน่ะ ฉันสู้มาขนาดไหน ฉันสู้จนไม่มีแรงจะสู้แล้ว ณ วันนี้คุณยังมาบอกให้เราสู้ๆ อีก

หรือในกรณีพ่อแม่ กับเด็กในสังคม จะช่วยอย่างไร ครอบครัวเป็นสิ่งแรกๆ เลยที่เราปลูกฝังเรื่องพวกนี้ได้ พ่อแม่ก็เหมือนกัน ลูกเข้ามาจะเล่านู่นเล่านี่ให้ฟัง ความเป็นพ่อแม่คือเจตนาดีทั้งนั้นเลยนะคะ แม้กับเพื่อน กับคำว่า สู้ๆ นะก็เหมือนกัน มันมาด้วยเจตนาดีทั้งนั้นค่ะ แต่เราอาจจะลืมไปนิดหนึ่งว่าถ้าเราเอาตัวเองไปอยู่ในฐานะของเขา ในมุมมองของเขาน่ะ คำๆ นี้มันอาจไม่ได้ดีที่สุด มันมีคำอื่นๆ ที่ใช้ได้ หรือกับคนเป็นซึมเศร้า เราอาจบอกว่า "เราพร้อมจะอยู่ข้างๆ นะ พร้อมเมื่อไหร่ค่อยคุย เราพร้อมจะรับฟัง" แต่ไม่ได้บอกให้เขาทำนู่นทำนี่

อย่างครอบครัว ลูกเข้ามาเล่านู่นเล่านี่ให้ฟัง ผู้ปกครองหลายๆ ท่านมักจะมุ่งไปที่การแก้ปัญหา "ลองทำนั่นสิ ลองทำนั่นสิ" "ได้ทำนี่หรือยัง" แล้วคำพูดที่เป็นคำท็อปฮิตเลยของน้องๆ วัยรุ่นที่เข้ามาหาตัวเอง คำพูดที่ได้ยินมากที่สุดคือ "พ่อแม่ไม่เข้าใจฉัน" ที่ไม่เข้าใจคือ เขาไม่รับรู้ได้ถึง Empathy ค่ะ Empathy คือส่วนหนึ่งในการทำให้อีกคนเขารู้สึกว่าเราเข้าใจสถานการณ์ของเขา เราเข้าใจภาวะที่เขาอยู่ เราเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของเขา

มันก็จะมีทักษะที่ช่วยให้อีกฝ่ายเขารับรู้ได้ถึง Empathy ที่เรามี เช่น การสะท้อนความรู้สึก อย่างน้องๆ เข้ามาเล่านู่นเล่านี่ให้ฟัง เล่าว่าเพื่อนแย่งกระเป๋าไป คุณพ่อคุณแม่บางคนก็จะมุ่งไปสู่การแก้ปัญหาเลย "บอกครูหรือยัง" แต่สิ่งแรกที่ตัวเองแนะนำให้ทำก็คือ สะท้อนความรู้สึก เหมือนสะท้อนความรู้สึกของลูกกลับไปว่า "ฟังดูแล้วลูกน่าจะรู้สึกโกรธใช่ไหม ที่เพื่อนเอากระเป๋าไป" อันนี้คือการสะท้อนความรู้สึก เป็นเสียงแรกที่ทำให้อีกฝั่งหนึ่งเขารู้ว่าเราเห็นความรู้สึกของเขานะ เข้าใจความรู้สึกเขาน่ะค่ะ

เพราะฉะนั้น สิ่งพวกนี้เราฝึกได้ เริ่มจากหน่วยเล็กที่สุด คือ ครอบครัว แล้วก็ไปสู่ทุกระดับ โดยส่วนตัวคิดว่ามันต้องไปพร้อมกันทุกระดับด้วย อย่างตัวเองที่มีความคับข้องใจมากๆ เลย คือ เวลาน้องๆ ที่ถูกบูลลี่แล้วมาหาเรา อันนี้คือน้องๆ ที่ถูกกระทำ เวลาที่เขามีบาดแผลทางใจ (Trauma) กว่าเขาจะเดินมาหาเรา มันปลายทางแล้วค่ะ สิ่งที่เราต้องทำก็คือ การป้องกัน ส่งเสริม (Prevention) ต้องมา โมเดลสุขภาพจิตในเชิงป้องกันส่งเสริมต้องมา ซึ่งกรมสุขภาพจิตเขาก็พยายามทำตรงนี้อยู่แล้ว รณรงค์ให้มีทางนี้เพิ่มขึ้น แต่ว่าทรัพยากรของเราไม่พอค่ะ ไม่มีนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์มากมายพอที่จะรองรับทุกอย่าง เดี๋ยวนี้เคสมันก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ ทีนี้เราก็ต้องทำงานเชิงรุก ก็ต้องให้ทักษะ อะไรก็แล้วแต่ที่จะทำให้เขามีทักษะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น ให้ทักษะแก่พ่อแม่ Empathy อย่างไร สามารถมองจากมุมมองที่แตกต่างได้อย่างไร

ในวัยเรียนก็เช่นกัน โรงเรียนก็มีส่วนช่วยได้ มีกิจกรรมเยอะแยะเลยที่อยากให้โรงเรียนทำ แต่ก็ต้องเข้าใจ ครูก็ภาระเยอะ หน้าที่งานของครู ซึ่งต้องบอกว่าไม่ใช่แก้ไขที่ตัวงานที่เราทำเท่านั้น มันต้องแก้ไขที่โครงสร้างเลยค่ะ มันต้องรื้อทั้งโครงสร้าง อย่างโรงเรียนหลายโรงเรียนจะบอกว่า เรามีนโยบาย Anti-Bulyling Policy แต่ถึงเวลา คุณนำมาให้จับต้อง (Implement) ได้ไหม กับนโยบายพวกนี้ หลายๆ โรงเรียนบอกว่ามี แต่พอถึงภาคปฏิบัติ เราไม่มีภาคปฏิบัติที่มันไปคู่กับนโยบายที่เขามี เมื่อเด็กถูกบูลลี่แล้วคุณทำยังไง เราต้องให้ทักษะเด็กตั้งแต่เล็กเลยค่ะ เรื่องการเอาใจเขามาใส่ใจเรา การมองจากมุมมองที่หลากหลาย ว่ามองอย่างไรจะเห็นมุมมองที่แตกต่าง ทำอย่างไรให้มีความยืดหยุ่นทางความคิดยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้ในต่างประเทศเขาฝึก SEL: Social Emotional Learning คือทักษะที่เขาให้เด็กตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียน ตั้งแต่อนุบาลก็ฝึกทักษะนี้ให้แล้ว และให้ทุกปีๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะในแต่ละช่วงวัย สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป ทักษะบางอย่างก็ต้องเรียนรู้ตามวัย ทักษะพวกนี้จำเป็นต้องมี ในเรื่องการให้ทักษะในการป้องกันส่งเสริม

 

รูปแบบที่เป็นไปได้ ที่โรงเรียนจะนำทักษะนี้ไปสอดแทรกในหลักสูตรการเรียนการสอนได้อย่างไรบ้างคะ

ถ้าเราดูทักษะที่จำเป็น มันจะมีวงล้อของ Social Emotional Learning หรือ SEL ซึ่งจะมีทักษะที่หลากหลายมาก เช่น Self Awareness การตระหนักรู้ในตัวเอง การตระหนักรู้ในผู้อื่น ทักษะในการสื่อสาร Empathy ก็เป็นหนึ่งในทักษะที่ต้องเรียน ทักษะในการจัดการกับความขัดแย้ง (Conflict) มีข้อขัดแย้งเราจัดการอย่างไร การพูดคุยกันอย่างไร ทักษะในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น การตั้งเป้าหมาย

โรงเรียนควรต้องแทรกทักษะเหล่านี้ ทำอย่างไร มีหลายวิธี จะทำเป็น Class ก็ได้ จะทำเป็นกิจกรรมนอกชั้นเรียนก็ได้ ไอเดียสำหรับตัวเองที่คิดว่าเป็นไปได้คือ ครูทุกคนต้องได้รับการอบรมก่อน คือครูต้องทำให้เป็นน่ะค่ะ แล้วครูถึงจะไปเป็นตัวอย่างให้น้องๆ ได้ เพราะอย่างตอนนี้ได้ยินข่าว ครูขว้างของใส่นักเรียนบ้าง ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่บ้าง พวกทักษะการจัดการอารมณ์เป็นทักษะพื้นฐานเลยนะคะ Empathy จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราต้องรู้จักอารมณ์ตัวเราเองก่อน เมื่อเรารู้จักอารมณ์ตัวเราเองแล้ว เราถึงจะสามารถเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นได้ พวกทักษะในโซนอารมณ์ต้องมา ทีนี้ถ้าผู้ใหญ่ยังทำไม่ได้เลย แล้วเราจะไปคาดหวังให้ผู้ใหญ่ส่งต่อไปถึงเด็กได้อย่างไร คือผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี พ่อแม่ก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก ครูก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้นักเรียน อาจารย์ก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักศึกษา แต่ถ้าเราฟังข่าวน่ะ มันมีทุกช่วงวัยเลยค่ะ อาจารย์มหาวิทยาลัยก็มีเหวี่ยง มีเขวี้ยง กระแนะกระแหนนี่เห็นประจำ คือคำพูด เช่น "เธอมันโง่" อันนี้ได้ยินบ่อยเลย

คือ แบบอย่าง หรือต้นแบบ Role Model มันต้องมี เพราะฉะนั้นจึงมองว่าครูต้องได้รับการอบรมก่อน แล้วครูต้องทำให้เป็นก่อน ในต่างประเทศเขาอบรมระบบการศึกษาทั้งระบบเลย อย่างเช่น โรงเรียนในพื้นที่นี้เขาก็จะอบรมให้ระดับผู้บริหารของโรงเรียนด้วย มันต้องมาจากทุกระดับ พอดีทำงานกับชุมชนด้วย เข้าชุมชนบ่อย เวลาทำงานกับชุมชน มันมีทั้ง Bottom Up และ Top Down Bottom Up คือทำจาก รากขึ้นไป (Grass Root) ทำจากตัวโรงเรียน สร้าง (Built) ขึ้นมา Top Down นี่คือจากนโยบายลงมา มันต้องทำทั้งคู่ ฝั่งนโยบายต้องเห็นความสำคัญ ไม่งั้นเราคนตัวเล็กๆ ทำไปๆ เราทำในสิ่งที่เราทำได้ มันก็เปลี่ยนแหละ ความเปลี่ยนแปลงมันก็มี แต่ก็จะเห็นทีละก้าวเล็กๆ แต่นโยบายมันต้องมา คือผู้ใหญ่ต้องเห็นประโยชน์ ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจว่าทำไมถึงจำเป็น แล้วผู้ใหญ่ต้องสนับสนุน (Implement) อย่างจริงจัง ไม่ใช่คำพูดว่า "เราจะสนับสนุนนะ" แล้วคำว่าสนับสนุนของคุณมันถอดออกมาเป็นพฤติกรรม มันถอดออกมาเป็น Action Plan มีหลายวงมากที่ตัวเองได้มีโอกาสเข้าไปนั่งฟัง นั่งพูดคุย โอเค นโยบายนะ สวยหรู แต่พอถอดออกมาในเชิงปฏิบัติมันไม่ได้กระจายเข้าสู่ทุกพื้นที่ ไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่มีมาตรฐานเดียวกัน คือมันจะมีความลักลั่นในหลายๆ เรื่อง คือเรื่องนี้มองว่ามันเป็นเรื่องของระบบ ระบบมันเป็นอะไรที่เราเข้าไม่ถึง

 

อย่างที่อาจารย์บอก การไปแก้ที่โครงสร้างมันก็ยาก ทีนี้เรื่องของปัจเจกบุคคล การมีส่วนร่วม  อาจารย์ลงไปช่วยชุมชนทำอะไรบ้างคะ

เมื่อก่อนจะมีสอนวิชาจิตวิทยาชุมชน ก็ต้องพานักศึกษา เพื่อปลูกฝัง ความจริงปลูกฝังได้ทุกระดับเลย สิ่งหนึ่งของความเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่รู้สึกว่าเป็นบทบาทที่สำคัญ คือมีอิทธิพลต่อความคิดของเด็ก เราสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เขาได้ว่า เติบโตขึ้นมา เขาจะคิดอย่างไร เขาจะเห็นมุมมองอะไรในโลกนี้บ้าง ก็พานักศึกษาเข้าชุมชน ทำกิจกรรมกับน้องๆ กับเด็กๆ ในโรงเรียน กับเด็กด้อยโอกาส เราก็ให้ทักษะการสื่อสาร ทักษะการแก้ไขข้อขัดแย้ง กับน้องๆ ในโรงเรียนก็ไปจัดอบรมให้ตามที่เขาเชิญมา อบรมให้โรงเรียน มีโรงเรียนที่เขาทำโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ที่เขาจะจัดอบรมน้องๆ เป็นเหมือนเพื่อนช่วยเพื่อน แต่ยังไม่ถึงกับเป็น Counselor ให้คำปรึกษา อันนั้นควบคู่กันไป ก็คือการให้ทักษะที่น้องๆ อาจนำไปใช้ได้ในระดับโรงเรียน งานพวกนี้ค่ะที่เราสามารถเข้าถึงได้ ที่สามารถทำได้บ้าง โรงเรียนที่สนใจที่ให้ความสำคัญเท่านั้นค่ะ เขาถึงจะเชิญเราไป แต่ความท้าทายก็คือ แล้วคนที่ไม่เห็นความสำคัญ เราไม่เคยได้เจอเขาเลยค่ะ เพราะเขาไม่เชิญเราเข้าไป เขาไม่คิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปลูกฝัง แต่สิ่งที่ตัวเองทำเยอะก็คือ พูด พูดเยอะ พูดซ้ำไปซ้ำมา แล้วเดี๋ยวจะมีคนได้ยิน อย่างวันนี้ ได้ยินแล้วเดี๋ยวก็เอาไปเผยแพร่ต่อ เดี๋ยวก็จะมีคนที่เห็น และเห็นด้วยกับเรา แล้วยกมาคุยว่า มันมีทางไปนะ น่าจะลองทำโครงการนำร่อง ทำวิจัยนะ ลองทำโปรแกรมนี้ไหม

จริงๆ ตอนที่ออกมาจาก มช. ช่วงนั้นฝันมากเลยค่ะว่า อยากทำหลักสูตรที่เป็นเรื่องของทักษะพวก SELทำเป็นหลักสูตร และเปิดเป็นศูนย์ให้บริการ ให้การอบรม และงานวิจัยรองรับด้วย ว่างานที่เราทำได้ผลหรือไม่ แต่มาเจอช่วงโควิด พอโควิดมาเราก็พักทุกอย่างเลย ตอนนี้ไฟมันเริ่มกลับมาอีกครั้ง เมื่อโควิดผ่านไป ก็เริ่มมีความคิดว่า เราจะต้องสร้างหลักสูตรขึ้นมาก่อน แล้วเราก็กระจายหลักสูตรนี้ไปสู่โรงเรียนที่เขาต้องการ เพราะถ้ารอรัฐบาล ด้วยระบบ ใครขึ้นมาเป็นรัฐบาล ระบบมันเป็นแบบนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างมันใช้เวลาหมด บ้านเรา มันไม่ได้เข้าถึงได้เลยทันที

ถ้ามองนะคะ เราใกล้วิกฤติแล้ว สังคมที่มันขาด Empathy ขนาดนี้ มันไม่ใช่สังคมที่น่าอยู่น่ะ ตั้งแต่ช่วงโควิดมา เห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของนักศึกษา เรื่องของความกังวลใจบางอย่าง ความรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ค่อยปลอดภัย เราจะเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ เคสในโรงพยาบาล คลินิกที่ตัวเองทำงานอยู่ ก็จะเห็นเรื่องพวกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และความรุนแรงที่เราเห็นในสื่อในข่าวที่มันเกิดขึ้นจริง เพราะฉะนั้น มันต้องเยียวยาค่ะ เยียวยาทั้งสังคม ไม่ใช่แค่สิ่งที่เราทำแต่ละคนๆ

 

ต่างประเทศที่ให้ความสนใจเรื่อง Empathy มากขึ้น มีการบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอน ทำให้เห็นว่า คนขาด Empathy กันทั่วโลกเลยใช่ไหมคะ

ค่ะ เป็นทั่วโลกจริงๆ ถ้าเราดูเรื่องเจเนอเรชั่น (Generation) เจนเอ็กซ์ (Gen X), เจนวาย (Gen Y), เจนซี (Gen C), เจนอัลฟา (Gen Alpha) ข้อสังเกตของตัวเองก็คือ Empathy มันลดลงเรื่อยๆ ในทุกเจน จะบอกว่าผิดหรือถูกไม่ได้ เพราะสังคมของน้องๆ เจนนี้ กับเจนเรา มันต่างกันมาก เขาไม่ได้เกิดมาในสังคมเหมือนที่เราเคยอยู่ สิ่งที่เขาเชื่อ สิ่งที่เขาให้ความสำคัญมันก็เปลี่ยนไป ไม่ได้ผิดไม่ได้ถูก เพียงแต่ว่าบางสิ่งบางอย่างสามารถทำให้ดีขึ้นได้ พัฒนาให้ดีขึ้นได้ เรื่องของความเป็นปัจเจกมากๆ จนเกินพอดี การโฟกัสไปที่ตัวเอง เมื่อหลายปีมาแล้วที่มีหน้าปก Time Magazine ตอนนั้นเป็น เจนวาย แล้วลงว่า Me Me Me Generation คือทุกอย่างโฟกัสที่ me เท่านั้น ทำให้เราไม่มองคนอื่น แล้วข้อ สังเกตนั้นก็มา ถ้าใครอ่านเรื่องเจนต่างๆ เราก็จะเห็นรายละเอียดพวกนี้ ช่วงความสนใจ (Attention Span) ที่มันกั้นเรา อย่างเจนซี ช่วงความสนใจก็จะสั้นลง พอช่วงความสนใจสั้นลง ก็จะไม่โฟกัสกับสิ่งอื่น จะโฟกัสกับสิ่งที่มันฉับพลันทันที (Immediate) สิ่งที่มันเร็วที่สุด ทันทีที่สุด การรอคอยจะน้อยลง เพราะทุกอย่างมันเข้าถึงได้ กูเกิ้ลปุ๊บ คุณมีทุกอย่าง

อย่างตัวเองเป็นคนเจนเอ็กซ์ คนเจนเอ็กซ์ถูกปลูกฝังให้รอคอย เราต้องค่อยๆ เวิร์ค ค่อยๆ ไต่ ค่อยๆ ทำงานไปเรื่อยๆ แล้วโปรโมทไป แล้วก็จะดีขึ้น แต่เจนหลังๆ ไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ ไม่ใช่ว่าเขาไม่รอคอย แต่ลำดับความสำคัญ (Priority) เขาต่างจากเรา เขาให้ความสำคัญในสิ่งที่ต่างจากเรา ของเขาจะเรียกว่า สุขนิยม ก็ไม่เชิง คือเขาเห็นว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญสำหรับเขา เขาก็จะมุ่งไปตรงนั้นก่อน อะไรที่เขารู้สึกว่ามันไม่ได้ดีสำหรับเขา เขาจะออก ซึ่งมันก็ไม่ผิด ก็เลยทำให้เหมือนว่าคนเจนนี้ดูไม่อดทน

อย่างเจนเก่าๆ ที่อายุเยอะแล้วมาพูด "อุ๊ย เด็กรุ่นนี้ไม่อดทน อะไรนิดก็ท้อแท้ง่าย" ซึ่งถ้าถามน้องๆ เจนนี้ เขาบอกว่า เขาไม่ใช่ไม่อดทนนะ เขาก็อดทนได้กับสิ่งที่เขาอยากจะอดทน แต่สิ่งพวกนั้นน่ะไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากจะทำ แล้วเขาจะอยู่ทำไม ถ้าสิ่งที่เป็นเป้าหมายในชีวิตเขาไม่ใช่ตรงนี้ มุมมองมันต่างกันน่ะค่ะ นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่บอกได้ว่า คุณต้องมองได้จากมุมมองที่หลากหลาย Empathy ถ้าเราเข้าใจเขาว่าบริบทเขามาอย่างนี้ เราก็จะเข้าใจที่มาที่ไปของเขาว่า อ๋อ! ทำไมเขาเปลี่ยนงานบ่อย ทำไมเขาถึงเป็นอย่างนี้

ในขณะเดียวกัน น้องเจนนี้ก็ต้องพยายามมองจากมุมมองของคนอื่นได้ เป็นเรื่องการมองจากมุมของผู้อื่น (Perspective Taking) ว่าเราสามารถมองจากมุมมองที่หลากหลายได้มากขึ้น ตัวเองเชื่อว่า ถ้าเราสามารถมองจากมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น เราจะยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นได้มากขึ้น ยอมรับในลักษณะเข้าใจที่มาที่ไปนะคะ แต่ไม่ได้ยอมรับว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้อง อย่างกรณีผู้ร้ายทั้งหลาย บางคนเขาอาจมีที่มาที่ไป เช่น มีทรอม่าจัดๆ ในอดีต ซึ่งเราอาจจะไม่เคยได้รู้ ถ้าเรารู้เราอาจจะเข้าใจว่าเพราะอะไรเขาถึงทำแบบนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เขาทำมันถูกต้อง มันต้องมีทางออกที่ดีกว่า ไม่ใช่แบบนี้

ถ้าเราเข้าใจว่าชีวิตมันมีที่มาที่ไป เราจะอ่อนโยนมากขึ้นค่ะ ทำให้เราหยุดนิดหนึ่ง หยุดก่อนที่จะตัดสินคนอื่น เพราะสังคมปัจจุบันนี้ตัดสินกันง่ายมาก ทุกอย่างตัดสินกันหมดเลย นี่คือสังคมที่มันเปลี่ยนไปแล้ว ความที่เราสามารถเป็นใครก็ได้ สังคมพวกนักเลงคีย์บอร์ด เราก็จะตัดสินทุกอย่างที่เกิดขึ้น อะไรนิดอะไรหน่อย จะมีคอมเมนท์มาแล้ว ตัดสิน ไอ้นู่นดี ไอ้นี่ไม่ดี ถ้าพูดในเชิงจิตวิทยาก็คือ มันทำให้โลกอยู่กับการตัดสิน แล้วการตัดสินคือการที่เราไม่ได้พยายามมี Empathy ก่อน ถ้ามี Empathy จะทำให้เราอ่อนโยนมากขึ้น เราจะไม่ไวกับการตัดสินคนอื่นอย่างรวดเร็ว อย่างน้อยชะงักนิดหนึ่ง แล้วลองมองจากมุมมองของเขาก่อน แล้วเราอาจจะ "โอเค เข้าใจนะ" แต่คุณก็ยังทำผิดอยู่ดี ก็ต้องว่าไปตามความผิด

 

ฟังจากอาจารย์ก็จะเห็นปัญหาเรื่องความแตกต่างทางเจเนอเรชั่น และในยุคของเด็กเกิดใหม่น้อย เป็นสังคมผู้สูงอายุ คนมีลูกน้อย เด็กก็เลยเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายรุมเอาใจ มองปัญหานี้ และมีทางแก้อย่างไร

อันนี้เป็นเรื่องของการเลี้ยงดูลูก (Parenting) เลยค่ะ มี ๓ ปัจจัยที่ทำให้เกิดรูปแบบ (Shape) ในแต่ละเจเนอเรชั่น ทุกคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันจะมีพฤติกรรมหรือคาแรกเตอร์เดียวกันหรือเปล่า ก็ไม่ใช่นะคะ ทุกคนมีความเป็นปัจเจกกันหมดแหละ แต่ถ้ามองในภาพรวม มันจะมีอะไรที่คล้ายกันอยู่ สมัยก่อนเราจะคิดว่าตะวันตก ตะวันออก ไม่เหมือนกัน แต่ตอนนี้โลกมันเชื่อมถึงกันได้ง่ายขึ้น เราจะเห็นพฤติกรรมที่เป็นแพทเทิร์นทั้งสองฝั่ง ไม่ว่าฝั่งไหนของโลกก็ตาม

ทีนี้ปัจจัย ๓ อย่างที่ส่งผลต่อสิ่งที่พัฒนาขึ้นมาเป็นคาแรกเตอร์ของแต่ละเจน ก็จะมีเรื่องของเทคโนโลยี การใช้เทคโนโลยีมากน้อยแค่ไหน มันพัฒนาไปถึงไหนแล้ว เรื่องของเศรษฐกิจ กระทบแน่ และเรื่องของ Parenting คือการเลี้ยงดูที่มีผลมากๆ เลย การเลี้ยงดูจะมีหลายรูปแบบ สิ่งที่ต้องให้ก็คือ ทักษะการเลี้ยงดู (Parenting Skills) ต้องให้ คือเรามองเป็นรุ่น อย่างน้องๆ เจนซี พ่อแม่ก็จะเป็นเจนเอ็กซ์หรือเจนวาย มันก็มีที่มาที่ไปว่าทำไมเขาเลี้ยงลูกแบบนี้ อย่างคนเจนเอ็กซ์ เราๆ น่ะ ลำบากมาก่อน เพราะฉะนั้น เราก็อยากให้ลูกสบาย พยายามทำทุกอย่างให้ลูก ลูกก็จะขาดความยืดหยุ่น (Resililence)  การล้มแล้วลุกเร็ว ความที่ล้มแล้วลุกได้ง่ายด้วยตัวเองมันก็อาจจะลดน้อยลงไปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน ก็แล้วแต่คนด้วย สิ่งเหล่านี้ก็มีผลต่อการเลี้ยงดู เช่น มีลักษณะการเลี้ยงดูแบบเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Parenting) หมายถึงว่า เฮลิคอปเตอร์จะบินอยู่บนหัว คือเป็นพ่อแม่ที่ควบคุมกำกับดูแลทุกอย่าง ทำให้ทุกอย่าง ลูกไม่ต้องคิดเอง พ่อแม่จัดให้ เดี๋ยวเสาร์อาทิตย์หนูต้องเรียนพิเศษอะไรบ้าง หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า เดี๋ยวหนูต้องทำอะไรบ้าง พ่อแม่ทำให้หมดเลย พวกนี้คือ พ่อแม่เฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Parent)

จากการเลี้ยงดูแบบเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Parent) ก็เข้าสู่การเลี้ยงดูแบบโดรน (Drone Parenting) โดรน[๑๑]ก็คือ มองจากไกลๆ แต่พร้อมจะพุ่งเข้าโจมตี (Attact) ตลอดเวลา พ่อแม่ลักษณะนี้เขาไม่ได้เหมือนกับเฮลิคอปเตอร์ที่ยุ่งทุกอย่าง เขาจะยุ่งเป็นบางเรื่อง แต่สายตาดูอยู่ตลอด และพ่อแม่รุ่นโดรนพร้อมจะเข้าไปโจมตี ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกทำไม่ได้ พ่อแม่จะพุ่งไปหาครูเลย พุ่งไปแบบ ต้องจัดการอย่างนี้ๆ จัดการให้ลูกเลย

แล้วก็มีการเลี้ยงดูแบบอื่นๆ อีก เช่น Snow Crown Parenting สโนว์คราว คือ ที่ขุดหิมะ พ่อแม่ลักษณะแบบนี้คือ เอาอุปสรรคทุกอย่างที่ขวางลูกออกให้หมด ลูกไม่ต้องคิดไม่ต้องทำอะไร เดี๋ยวพ่อแม่จัดการให้ อุปสรรคหายไปจากลูกเลย ซึ่งลักษณะการเลี้ยงดูแบบนี้ทำให้เด็กไม่มีทักษะที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ คิดด้วยตัวเองได้ อย่างเด็กบางคน หลังๆ ได้ยินคำว่า ไม่มีแพสชั่น (Passion)[๑๒] ไม่รู้ว่าโตมาแล้วตัวเองจะเป็นอะไร เพราะว่าน้องไม่เคยต้องคิด อันนี้ไม่ได้พูดเหมารวมนะคะ แต่ว่าเราเห็นกรณีนี้ค่ะ เพราะว่าบางคนไม่เคยต้องคิด พ่อแม่วางแผนให้ตลอดชีวิตเลย คุณไม่เคยต้องคิดว่าคุณต้องทำอะไร อาจจะเรียนด้านไหน พ่อแม่บอกว่าเรียนด้านนี้ดี เราว่าเราเรียนได้ก็เรียนไป ถามว่าอยากเป็นตรงนี้ไหม ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเองจบไปแล้วตัวเองอยากจะทำตรงนี้หรือเปล่า ก็จะมีลักษณะแบบนี้ค่ะ ในเรื่องของ Parenting จึงสำคัญ 

พ่อแม่บางคนที่เลี้ยงลูกให้เป็น ฮ่องเต้ซินโดรม สตรอเบอรีซินโดรม ฮ่องเต้ซินโดรม ก็คือ เป็นฮ่องเต้เลยค่ะ ลูกสั่งทุกอย่าง ลูกคือพระเจ้า ลูกควบคุมทุกอย่างในครอบครัว ลูกอยากได้อะไร พ่อแม่ประเคนให้ถึงเลย ขอให้ลูกอ่านหนังสือ ขอให้ลูกเรียนอย่างเดียว เรื่องอื่นพ่อแม่จัดการให้หมด คือจากความเห็นของพ่อแม่ อยากให้ลูกโฟกัสเรื่องเรียน เพราะเรียนเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่อยากให้ลูกตั้งใจที่สุด แต่โดยส่วนตัวคิดว่า เด็กต้องเป็นองค์รวม ไม่ใช่แค่เรียนดีด้านเดียว แต่เรื่องทักษะอื่นๆ เขาต้องมีทักษะชีวิต ทักษะ SEL ถ้าน้องๆ มุ่งแต่เรียนอย่างเดียว น้องๆ ไม่ได้พัฒนาทักษะอื่นๆ เลย น้องจะไม่มีทักษะพวกนั้น มันก็จะโยงมาเรื่องทักษะการคิด[๑๓] (Executive Function) ที่ว่าทำไมหลังๆ ไม่รู้จะทำอย่างไรให้เด็กมีทักษะการคิด สิ่งที่ง่ายที่สุดที่จะสร้างทักษะการคิดคือ ทำงานบ้าน เพราะว่างานบ้าน คุณต้องคิด ต้องวางแผน ต้องใช้ความจำ มันก็คือกระตุ้นทักษะการคิดหมดเลย แต่ปัจจุบันพ่อแม่หลายคน ลูกไม่ต้องทำ ลูกอ่านหนังสืออย่างเดียว เดี๋ยวพ่อแม่ทำทุกอย่างให้ เด็กก็จะขาดตรงนี้ เด็กไม่ได้ฝึกตรงนี้

หรือการเล่น อันนี้ก็คือสิ่งที่หายไปในสังคม ซึ่งเราต้องเสริม ถ้าไม่เสริมก็จะหายไปเลย การเล่น อย่างสมัยเราเป็นเด็ก การวิ่งออกไปเล่นนอกบ้านเป็นเรื่องปกติมาก เล่นนอกบ้าน เราก็เล่นกับเพื่อนบ้าน เด็กคนอื่นก็มาเล่นกับเรา เราก็เรียนรู้กันเอง เดี๋ยวรอนะ เดี๋ยวตาเธอ ตาฉัน เราอยากเล่นชิงช้าตัวเดียวกัน เราคุยกันยังไง คือสิ่งพวกนี้มันมาจากการที่เราได้เล่น ได้อยู่กับเด็กคนอื่น ได้มีสังคมที่เราเล่นด้วยกัน แต่เด็กเจนหลังๆ โอกาสตรงนี้เขาจะน้อยลง เพราะว่าอย่างแรกเลย ไม่มีแล้วออกไปเล่นนอกบ้าน ยิ่งกรุงเทพฯ ยิ่งไม่มีเลย สังคมกรุงเทพฯ ไม่ปลอดภัย จะปล่อยเด็กออกไปวิ่งไม่ได้ เด็กต้องไปเรียนพิเศษ พอตรงนี้มันหายไป โอกาสที่เขาจะพัฒนาทักษะจากการเล่น จากการอยู่กับคนอื่นก็น้อยลง เราต้องตั้งใจให้เขาเลย เป็นทักษะที่ก่อนหน้านั้นมันอาจจะมาจากประสบการณ์ พอประสบการณ์มันน้อยลงไป ก็ต้องให้โอกาสเขาได้สร้างทักษะพวกนี้

มันก็พัวพันกันไปหมดทั้งเรื่องการเลี้ยงดู แล้วทักษะผู้ปกครองก็น้อยลง อย่างตัวเองรับเคส มีพ่อแม่ที่บอกว่า ครูเอ๋ช่วยคุยกับน้องให้หน่อยนะ เราคุยกับเขาไม่ได้ จริงๆ พ่อแม่ต้องสามารถที่จะมีความเป็นพ่อแม่ พ่อแม่บางคนอาจรู้สึกผิดที่ไม่มีเวลาให้ลูก ทำงานหนัก พออยู่กับลูก ลูกอยากได้อะไรให้หมดเลย ไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน ไม่ได้แสดงความเป็นผู้ปกครอง ในที่สุดเราก็ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด หรือตัดสินใจอะไรบางอย่าง ซึ่งบางทีเด็กอาจไม่ชอบทั้งหมดก็ได้ แต่นั่นคือความเป็นผู้ปกครอง เราก็ต้องดูแลเขาในส่วนนั้นด้วย มีพ่อแม่หลายคู่ที่เข้ามาแล้วบอกว่า คุยกับลูกไม่ได้ เล่นกับลูกไม่เป็น ไม่รู้จะเล่นกับลูกยังไง ซึ่งตรงนี้มันขาดหายไป ต้องเสริมตรงนี้ให้คุณพ่อคุณแม่ด้วย ก็จะมีห้องเรียนผู้ปกครอง ห้องเรียนพ่อแม่ ที่ทำอย่างไรให้พ่อแม่ปฏิสัมพันธ์กับลูกมากขึ้น อย่างที่บอกว่า สังคมที่เล็กที่สุดคือครอบครัว ตัวเองก็ยังเชื่อเสมอว่า ถ้าพื้นฐานครอบครัวดี เด็กจะมีหลักให้ยึด ไม่ว่าจะเกิดอะไรก็แล้วแต่ เด็กจะกลับไปที่นั่นได้ เขาจะไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง เขาจะไปขอความช่วยเหลือได้ เพราฉะนั้นพื้นฐานครอบครัวจึงสำคัญ

 

เคสที่มาขอคำปรึกษาที่พบมาก

ทำงานหลายที่ มีรักคลินิก, โรงพยาบาลสมิติเวช เคสมีความหลากหลายมาก ตัวเองทำงานกับเด็กพิเศษ ก็จะเห็นกลุ่มเด็กพิเศษเยอะ ออทิสติก, LD,[๑๔]  สมาธิสั้น (ADHD)[๑๕] เด็กมีปัญหาเรื่องของอารมณ์ เด็กที่มีความวิตกกังวลสูง ก่อนหน้านั้น ภาวะซึมเศร้า (Depression) สูงกว่า หลังๆ มาอาการวิตกกังวลมีจำนวนมากขึ้น เดี๋ยวนี้สูสีกันเลย ความกังวลของเขา บุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) คือคนอื่นจะมองเขาว่ายังไง เขาจะหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม ไม่อยากอยู่กับคนเยอะ ไม่อยากอยู่ในสังคม รู้สึกกระวนกระวายใจ พวกโรคกลัวสังคม (Social Anxiety Disorder) เด็กบางคนเป็น Selective Mutism (ไม่พูดในบางสถานการณ์) คือ ไม่พูดเลย ไม่กล้าเข้าสังคม ในช่วงโควิดตอนที่กลับจากเรียนออนไลน์เข้าไปเรียนแบบปกติ (On Site) เด็ก วัยรุ่น และแม้กระทั่งนักศึกษา ก็มีความกังวลว่า กลับไปเรียนออนไซท์แล้วจะคุยกับเพื่อนยังไง จะสร้างความสัมพันธ์ยังไง มันร้างราไปนาน เริ่มสงสัยตัวเองว่าทำได้ ทำไม่ได้ ก็มีความกังวล หรือความกังวลเรื่องการเรียน ความคาดหวังว่าจะเรียนได้ เรียนไม่ได้ เรื่องของความสัมพันธ์กับผู้อื่น ถ้าเป็นเด็ก ก็เรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อน ถ้าเด็กโตหน่อย ก็เรื่องถูกกันออกจากกลุ่มบ้าง อยู่ดีๆ เพื่อนไม่คุยด้วย หรือเพื่อนไปคุยกับคนอื่น ถ้าเป็นเรื่องของการเรียน ก็เรียนเป็นยังไง เรียนดี เรียนไม่ดียังไง กังวลเรื่องสอบ ถ้าเป็นเรื่องกับพ่อแม่ก็มี เป็นเรื่องของครอบครัว มันหลากหลายมาก

 

อาจารย์สอนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย ส่วนมากมาขอรับคำปรึกษาเรื่องอะไร

เหมือนกันเลยค่ะ ถ้าตามสถิติที่มีการเก็บทั่วโลก ของสหรัฐอเมริกา ของไทยก็เหมือนกัน ของไทยไม่รู้ว่าเรามีการเก็บสถิติมากน้อยแค่ไหนในเชิงทุกมหาวิทยาลัย แต่ถ้าดูในภาพรวมของต่างประเทศ และบ้านเราด้วย จากประสบการณ์ก็คือ ซึมเศร้า (Depression) กับ ความวิตกกังวล (Anciety) เป็นสองตัวหลักๆ ที่เข้ามา แต่ระดับความรุนแรงมากน้อยต่างกัน แต่บางครั้งก็ไม่ถึงขั้นเป็นโรค แต่เป็นความวิตกกังวล เป็นภาวะเศร้า มันมาจากความสัมพันธ์ กับเพื่อน ครู กับพ่อแม่ พี่น้อง ประเด็นความสัมพันธ์ การเรียน ความเครียดเข้ามาเยอะ เครียดจากการเรียน บางคนมีหมดไฟ (เบิร์นเอาท์ Burn out[๑๖]) ด้วยนะ นักศึกษาที่เห็นบ่อยๆ ก็ไม่หนี ๒ เรื่องนี้

 

เรื่องภูมิคุ้มกันทางใจของเด็กรุ่นใหม่ เขาเปราะบางทางอารมณ์กันมากขึ้นไหม ที่เราจะต้องเสริมเรื่องนี้

ความที่ตัวเองเห็นแต่เคส เราก็จะเห็นแต่คนที่เขาต้องการความช่วยเหลือ เห็นว่าเขามีความเปราะบางทางอารมณ์ ถ้าให้ตัวเองมอง สมัยก่อน เทียบ ๘ ปีหลังตั้งแต่กลับมาเมืองไทย ปีแรกๆ เวลาเราทำงานกับนักศึกษา เรารู้สึกว่าเขาดูเหมือนตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง คือสมัยเราจบการศึกษา ป.ตรี เรารู้สึกว่าเราเป็นผู้ใหญ่ เราตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง แต่สมัยนี้ เรามองนักศึกษา น้องจบ ป.ตรี แต่เรารู้สึกเหมือนน้องจบมัธยม รู้สึกว่าน้องยังไม่ค่อยมีวุฒิภาวะเท่าไหร่ในเรื่องการใช้ชีวิต มันจะมีคำพูดว่า "เด็กสมัยนี้เก่งนะ" เก่งค่ะ เด็กสมัยนี้เก่ง คือรู้เรื่องเทคโนโลยี ความรู้เขาเต็มมาก เต็มกว่าเรามากมายเลย เขาเก่ง แต่ว่าทักษะชีวิตเขาไม่มี ทักษะในการจะใช้ชีวิตด้วยตัวเอง จากเด็กมหาวิทยาลัยที่จะก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ตอนต้น

ตอนนี้เรามองว่า วัยรุ่นคือ วัยตั้งแต่เด็กจนอายุถึง ๒๔ ปี เพราะกว่าสมองส่วนหน้าจะพัฒนาได้เต็มที่ก็ประมาณอายุ ๒๓-๒๔ ปี ถ้าอย่างนั้นวัยรุ่น เราลากไปให้ถึง ๒๔ ปีแล้วกัน ที่จะก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น แต่น้องๆ หลายคน พอจบมหาวิทยาลัย เราไม่รู้สึกว่าเขามีวุฒิภาวะในการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง (Living Independently) เขายังไม่มี จะมีอะไรบางอย่างที่ไม่มั่นใจในตัวเอง ความวิตกกังวลสูง ไอ้ความเปราะบางทางจิตใจเราก็เห็น บางคนก็จะบอกว่า น้องน่ะ เหมือนแตะนิดหนึ่ง ล้มแล้ว จากประสบการณ์ของตัวเองนะคะ บางทีอะไรมากระทบจิตใจนิดหนึ่ง น้องล้มเลย น้องไม่มีความเข้มแข็งทางใจ มีความเปราะบางในเชิงอารมณ์ เราต้องให้ทักษะเชิงป้องกันส่งเสริม ต้องให้ทักษะการจัดการกับอารมณ์ การรับมือกับอารมณ์ (Self-Care) ต้องให้เขาก่อนที่เขาจะล้ม ถ้าเขาล้มแล้ว สิ่งที่เราทำได้คือการเยียวยา แต่เราไม่อยากให้เขาล้ม เพราะถ้าเขาล้มแล้ว มันต้องใช้บุคลากรเยอะ มันมีต้นทุนในการที่จะเยียวยา ถ้าเราให้การป้องกันส่งเสริมไปก่อน อย่างน้อยมีอะไรมาเติมเขา เขาจะไม่ล้ม เขาจะดูแลตัวเองได้ประมาณหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ที่บอกว่าดราม่าๆ กันเยอะๆ เขาก็จะมองว่าคุณไม่เข้าใจเขาน่ะ ที่มาที่ไปเขาเป็นแบบนี้ไง เขาจึงเป็นแบบนี้ เขาถึงต้องมีความรู้สึกแบบนี้ นั่นก็เป็นเรื่องของ Empathy คือสองอย่างมันอยู่คู่กันได้นะคะ ไม่จำเป็นต้องเลือกด้านใดด้านหนึ่ง ถ้าเรารู้ว่าเขามีความเปราะบางทางอารมณ์ Empathy มันก็ต้องมี เราต้องให้ทักษะเขาตรงนั้นล่ะค่ะ ถ้าเผื่อเรารู้ว่าเขายังขาดทักษะนี้อยู่ เราก็เพิ่มทักษะนี้ให้เขา ให้เขาได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น แล้วมันก็จะลดจำนวนคนที่เข้าสู่ระบบการช่วยเหลือ แล้วเราก็จะได้รับมือได้ทัน เพราะตอนนี้เรารับมือไม่ทันค่ะ เราไม่ต้องรอรับมืออย่างเดียว เราไปกระจายในเชิงรุก (Proactive) ให้มากขึ้น

 

Empathy จากการอ่าน เช่น อ่านนวนิยาย ดูหนังที่มีมุมให้แง่คิด มีส่วนที่จะช่วยปลูกฝังให้เด็กโตขึ้นมามี Empathy ต่อกัน ให้เด็กมีจิตใจอ่อนโยนยิ่งขึ้นไหมคะ

ใช้ได้หมดเลยนะคะ ตัวเองเวลาฝึก Empathy กับเด็ก ก็จะแนะนำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกหนัง อย่าง Inside Out ก็จะรู้เรื่องของอารมณ์ ชวนเด็กสำรวจ ไม่ได้ให้คำตอบเขาทุกอย่างนะคะ ไม่ได้ให้คำตอบเด็กทันที ถามเด็กก่อนว่า คุณเห็นเขาเป็นแบบนี้ เขาน่าจะมีอารมณ์แบบไหน แล้วถ้าเป็นเรา เราน่าจะรู้สึกยังไง คำถามพวกนี้ค่ะที่เราต้องใช้สื่อ ใช้หนัง ใช้ละคร สิ่งรอบตัวมาตั้งคำถามได้ ให้เด็กได้แชร์ ได้ลองคิด ลองพาตัวเองไปอยู่ในประสบการณ์นั้น จะค่อยๆ เสริมสร้าง Empathy ให้กับน้องๆ ได้

 

ช่วยให้ทักษะพื้นฐานเบื้องต้นของ Empathy ที่ให้เรานำไปใช้ได้

คือพยายามมองจากมุมมองของคนอื่น ถ้าเราเป็นเขา เราจะรู้สึกยังไงบ้าง พ่อแม่ก็ช่วยเสริมให้เด็กได้ เอาหนัง การ์ตูน มาชวนเด็กสำรวจได้ว่าต้องคิดยังไง หรือเริ่มจากภาพบางภาพ การฝึกให้เกิดการตระหนักรู้ ภาพที่ซ้อนกันหลายๆ อย่าง ภาพที่สามารถมองเห็นได้จากหลายๆ มุม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งเร้าที่นำมาเป็นจุดตั้งต้นในการพูดคุยได้ ว่าคนเรามีความหลากหลายนะ แต่ถามว่าจริงๆ แล้วอะไรที่เราต้องทำ อย่างแรกคือ การตระหนักรู้ในตัวเอง (Self Awareness) ต้องมา เพราะเราต้องรู้ว่าตอนนี้เราคิดอะไรอยู่ เรากำลังตัดสินเขาอยู่หรือเปล่า ไม่เช่นนั้นเหมือนเราตอกย้ำเขา โดยที่เรายังไม่รู้ที่มาที่ไปของชีวิตเขาเลย เรากำลังเอามาตรฐานของเราไปสวมให้เขาหรือเปล่า คือการตระหนักรู้ในตัวเองต้องมี กับกระบวนการภายในของเรา จากนั้นก็คือ ลดการตัดสินผู้อื่น ใจดีกับคนอื่นบ้าง และใจดีกับตัวเองด้วย นี่ก็เป็นทักษะที่จะนำไปสู่สังคมที่มันอ่อนโยนมากขึ้นค่ะ

 

อาจารย์มองถึงสังคมที่เรามี Empathy ต่อกัน ได้อย่างไรบ้าง

ตอนนี้สังคมเรามีความพร่องเรื่อง Empathy ถ้าเราสามารถเอาทักษะ Empathy ไปใช้ได้ คือเอาใจเขามาใส่ใจเรา พาตัวเองไปมองในมุมมอง ในสายตา ในโลกของเขา แล้วเข้าใจโลกของเขาว่าเป็นอย่างนี้ คิดว่ามันจะนำไปสู่สังคมที่อ่อนโยนมากขึ้น ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมากขึ้น อยู่ร่วมกันได้ดีขึ้น แล้วก็ทำงานร่วมกันได้มากขึ้นด้วย



[๑] สรุปเหตุกราดยิงหนองบัวลำภูที่พรากชีวิตคนไปอย่างน้อย ๓๖ ราย สู่คำถามต่อความปลอดภัยของ ปชช.
ที่มา https://thematter.co/brief/187342/187342

[๒] World Mental Health Report Transforming mental health for all  ที่มา: https://www.who.int/

[๓] Rocket Media Lab: สำรวจข้อมูลผู้ป่วยจิตเวชและบุคลากรสาธารณสุขด้านจิตเวชของไทย, ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๕
https://www.tcijthai.com/news/2022/10/scoop/12594

[๔] มีรักคลินิก คลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่นโดยมีการทำงานร่วมกันของทีมสหวิชาชีพ สำหรับเด็กและวัยรุ่นที่ต้องการความช่วยเหลือด้านการเรียนรู้ อารมณ์ พัฒนาการ และการปรับตัว รวมทั้งอาการอื่นๆ อาทิ สมาธิสั้น โรคอารมณ์สองขั้ว การเลือกพูดในบางสถานการณ์อันเนื่องจากปัญหาอารมณ์ ซึมเศร้า วิตกกังวล และปัญหาพฤติกรรม เช่น ความก้าวร้าว ต่อต้าน และพฤติกรรมไม่เหมาะสม

[๕] Podcast คือไฟล์เสียงออดิโอดิจิทัล ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต มักจะเป็นเรื่องราวการพูดคุยหัวข้อต่างๆ คล้ายกับการจัดรายการวิทยุ

[๖] โรงพยาบาลจิตเวชในกรุงเทพมหานคร ให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช ประสาทวิทยา ประสาทศัลยศาสตร์ ประสาทจิตเวชศาสตร์ เป็นสถาบันฝึกอบรมทางด้านจิตเวชศาสตร์ สุขภาพจิต และศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในระดับก่อนและหลังปริญญา พัฒนางานวิชาการด้านจิตเวชศาสตร์ สุขภาพจิต ประสาทวิทยา ประสาทศัลยศาสตร์ ประสาทจิตเวชศาสตร์ และเพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ในปี พ.ศ.๒๕๔๕

[๗] องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัว และคำปรึกษาและอบรมนักกฎหมายรุ่นใหม่เพื่อช่วยเหลือคดีความรุนแรงในครอบครัว

[๘] บ้านหลังที่สอง (คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) บริการการปรึกษาทางจิตวิทยา สำหรับนักศึกษาและบุคลากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

[๙] ประธานสภาเด็กและเยาวชนเขตบางกะปิ ร่วมมือกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (p2h) ขับเคลื่อนการแก้ไขมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพจิตแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๑ ให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี เข้ารับการรักษาบำบัดได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง
อ้างอิงจาก : Mental Me ของปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา วัย ๑๗ ปี ผู้ขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตวัยรุ่นทุกมิติมาตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี
ที่มา https://readthecloud.co/prachaya-mental-me/

[๑๐] ดร.เบรเน่ บราวน์ (Dr.Brené Brown) นักสังคมสงเคราะห์คลินิก ศาสตราจารย์วิจัยจากมหาวิทยาลัยฮิวสตัน ผู้พูด TED Talk ติดอันดับ ๕ ของโลก ในหัวข้อ ‘พลังของความเปราะบางทางใจ' (The Power of Vulnerability) เบรเน่ บราวน์ ศึกษาด้านความสัมพันธ์ของมนุษย์ เช่น ความสามารถที่จะรู้สึกเห็นใจ รู้สึกผูกพัน และรู้สึกรัก ผ่านการบรรยายที่ตลกและสะเทือนอารมณ์ เธอแบ่งปันเรื่องราวจากงานวิจัยของเธอ ที่ทำให้เธอเริ่มการเดินทางเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับตัวเองและมนุษยชาติ

[๑๑] โดรน Drone คือ อากาศยานไร้คนขับ

[๑๒] ความหลงใหล, การมีใจรักในอะไรสักอย่าง

[๑๓] EF หรือ Executive Function คือ ความสามารถที่เกิดจากการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ช่วยให้คนเราสามารถควบคุม ความคิด อารมณ์ พฤติกรรม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตนต้องการสำเร็จ โดยมีชื่อเรียกในภาษาไทยได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น "ความสามารถในการจัดการ" "ทักษะที่จำเป็นในการทำกิจที่มีเป้าหมาย" หรือ "ทักษะการคิด"

[๑๔] โรคการเรียนรู้บกพร่อง (LD : learning disorder) เป็นความผิดปกติของกระบวนการเรียนรู้ที่แสดงออกทางด้านการอ่าน การเขียนสะกดคำ การคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ทำให้ผลการเรียนของเด็กต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง โดยที่เด็กมีสติปัญญาอยู่ในระดับปกติและมีความสามารถด้านอื่นๆ ปกติดี

[๑๕] โรคสมาธิสั้น (ADHD , Attention Deficit Hyperactivity Disorder) เกิดจากความบกพร่องในการทำหน้าที่ของสมอง มีอาการหลักเป็นความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมได้แก่ ขาดสมาธิ ซนอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น ขาดการยับยั้งชั่งใจ ที่เป็นมากกว่าพฤติกรรมตามปกติของเด็กในระดับพัฒนาการเดียวกัน

[๑๖] เบิร์นเอาท์ ซินโดรม (Burnout Syndrome) ภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจที่เป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงานและไม่ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >