หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 125 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


สร้างพื้นที่เรียนรู้และสร้างสรรค์ เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว พิมพ์
Wednesday, 05 October 2022

Image


วารสารผู้ไถ่
ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๑๑๙ พ.ค. - ส.ค. ๒๕๖๕

 

สร้างพื้นที่เรียนรู้และสร้างสรรค์
เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว

วรพจน์ สิงหา สัมภาษณ์/เรียบเรียง


Image 

ทุกฝ่ายทราบดีว่าประเทศไทยในอนาคตจะเป็นเช่นใด ขึ้นอยู่กับว่าเราลงทุนสร้างสภาพแวดล้อมให้กับเด็กและเยาวชนอย่างไรในวันนี้ ซึ่งการเลี้ยงดูบุตรหลานในปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สถาบันครอบครัวไทยปัจจุบันเปราะบางแตกร้าวได้ง่ายอย่างที่ทุกคนรู้สึกได้ ความพยายามประคับประคองให้ครอบครัวสามารถดำเนินไปในทิศทางที่ควรจะเป็น จึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป

สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว หน่วยงานภายใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่พยายามให้เด็กไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งส่งเสริมครอบครัวและชุมชนให้เป็นพื้นที่ในการสร้างความสุขให้กับเด็กและเยาวชน โดยงานหลากหลายโครงการพยายามสนับสนุนส่งเสริมเด็ก เยาวชน และครอบครัว ให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและเป็นรากฐานของสังคมไทยที่ยั่งยืนในอนาคต

 

โครงสร้างครอบครัวไทยในปัจจุบัน

คุณณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ผู้ที่เริ่มทำงานด้านความเสมอภาคระหว่างเพศและสุขภาวะทางเพศมากว่า ๒๐ ปี กระทั่งมาทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว และเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้สังคมไทยหันมาสนใจประเด็นแม่วัยรุ่น กระทั่งเกิด พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.๒๕๕๙

คุณณัฐยา อธิบายว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมุ่งสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นจุดๆ เช่น ตามหัวเมืองใหญ่ เขตอุตสาหกรรม หรือเขตเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายคนวัยแรงงานจากภูมิลำเนาของตัวเอง เพื่อไปหางานทำในเขตเศรษฐกิจต่างๆ มีส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กๆ จำนวนไม่น้อยไม่ได้อยู่พร้อมหน้ากับพ่อแม่ แต่ถูกเลี้ยงดูโดยปู่ย่าตายาย เด็กบางส่วนได้อยู่กับพ่อแม่และปู่ย่าตายายที่ย้ายเข้าเมืองเพื่อไปเลี้ยงหลาน กลายเป็นครอบครัวขยายอยู่ในเมือง

"งานสำรวจและวิจัยจำนวนมาก พบว่าโครงสร้างครอบครัวมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิมสังคมไทยมีครอบครัวขยายค่อนข้างเยอะ ซึ่งเป็นครอบครัวที่อยู่กัน ๓ รุ่น คือ ปู่ย่าตายาย พ่อแม่และลูก ปัจจุบันครอบครัวแบบนี้มีแนวโน้มลดลง ส่วนครอบครัวเดี่ยว ที่อยู่กันแบบพ่อแม่ลูก เป็นครอบครัว ๒ รุ่น คือรุ่นพ่อแม่ กับรุ่นลูก ครอบครัวแบบนี้ก็มีแนวโน้มลดลง ส่วนที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นคือ ครอบครัวที่อยู่คนเดียว ครัวเรือนหนึ่งรุ่น ซึ่งก็คือไม่มีลูก และครอบครัวข้ามรุ่น คือครอบครัวที่ไม่มีคนรุ่นพ่อแม่เพราะย้ายถิ่นไปหางานทำ ในบ้านมีเด็กๆ คือรุ่นหลานอยู่กับปู่ย่าตายาย ครัวเรือนแบบนี้กำลังเพิ่มแบบก้าวกระโดด และพบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือ ภาคเหนือ"

โดยจากการวิจัยพบว่า ครัวเรือนข้ามรุ่น ที่พบมากในภาคอีสานและภาคเหนือ จากการศึกษาเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ พบว่าครัวเรือนแบบนี้คือครัวเรือนที่มีรายได้ต่อหัว น้อยที่สุด แต่ขณะเดียวกัน ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลน้อยที่สุด

อีกด้านหนึ่ง ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (Multiple Indicators Cluster Survey : MICS) พบเหมือนกันว่า "เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่แหว่งกลาง หรือครอบครัวข้ามรุ่น จะมีพัฒนาการ เรื่องของสุขภาวะในด้านต่างๆ ต่ำกว่าเด็กที่ได้อยู่กับพ่อแม่แบบพร้อมหน้า"

"อีกปัจจัยหนึ่งที่พบว่ามีผลต่อคุณภาพเด็ก คือระดับการศึกษาของผู้เลี้ยงดูหลัก คือถ้าผู้เลี้ยงดูหลัก ไม่ว่าจะเป็นแม่หรือพ่อ หรือตายายก็ตาม ถ้าผู้เลี้ยงดูหลักมีระดับของการศึกษาที่มากกว่า ม.๓ ขึ้นไป เมื่อเทียบกับที่ไม่ได้เรียนจบถึงระดับ ม.๓ พบว่าคุณภาพของเด็กต่างกัน อันนี้จะสอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลก สรุปว่า คุณภาพในการเลี้ยงดูเด็กค่อนข้างจะขึ้นอยู่กับ ๒ ปัจจัยนี้ คือ ฐานะครอบครัว กับระดับการศึกษาของผู้เลี้ยงดูหลัก"

 

นโยบายและมาตรการ
ควรออกแบบให้เหมาะสมกับครัวเรือนที่แตกต่างกัน

คุณณัฐยา อธิบายว่า ถ้าลองวิเคราะห์นโยบายและแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับสถาบันครอบครัว หรือวิเคราะห์ยุทธศาสตร์เรื่องการพัฒนาเด็ก "เราจะไม่เห็นมิติการวิเคราะห์เลยว่าเด็กในครัวเรือนที่มีโครงสร้างแตกต่างกัน ส่งผลต่อการเลี้ยงดูแตกต่างกัน จึงควรมีการกำหนดนโยบายและมาตรการที่แตกต่างกัน"

"แต่เราจะเห็นนโยบายมีมิติเดียว มิติแบนๆ เช่น ส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวโดยไม่มีมิติความเข้มแข็งที่แตกต่างกันไปตามความแตกต่างของโครงสร้างครอบครัวซึ่งต้องการการหนุนเสริม หรือสิทธิ สวัสดิการ ที่แตกต่างกัน คือเหมือนกับว่าเราแก้ปัญหาไม่ถูกจุดสักที กฎหมาย นโยบาย มาตรการมีพร้อมแต่เป็นแบบเหมายกเข่ง ตัวชี้วัดครอบครัวเข้มแข็งก็พบว่ามีปัญหาในมิติของสัมพันธภาพครอบครัว

อีกหนึ่งปัญหาที่เราพบคือ เรื่องโภชนาการของเด็ก เด็กไทยมีปัญหาด้านโภชนาการ ส่วนสูงและน้ำหนักที่ไม่ได้สัดส่วนที่เหมาะสม และไม่สมวัย มีปัญหาทั้งเรื่องน้ำหนักเกินและน้ำหนักน้อย เตี้ย แคระ แกร็น เป็นสิ่งที่พบบ่อย เรื่องน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กเป็นเรื่องสำคัญนะ  มีความเชื่อมโยงกับระดับสติปัญญา ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับเรื่องสูงดี สมส่วน คือเด็กเล็กต้องถูกเลี้ยงดูโดยโภชนาการที่ถูกต้อง ด้วยการให้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเหมาะสม เพื่อให้เด็กสูงดี สมส่วน และสมองที่ดีจะต่อยอดการเติบโตให้กับเด็ก พัฒนาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ และเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญมากในมิติของการพัฒนาเด็กเล็ก"

 

๓ แนวทางหลัก
เพื่อสนับสนุนเด็ก เยาวชน และครอบครัว

คุณณัฐยา อธิบายเพิ่มเติมถึง ๓ แนวทางหลักของ สสส. ที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็ก เยาวชน และครอบครัว สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างดีและมีคุณภาพ คือ หนึ่ง ส่งเสริมพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว สอง ส่งเสริมความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในการทำงานแบบบูรณาการโดยมุ่งประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ และสาม สนับสนุนการขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม ความรู้ การสื่อสารสาธารณะ การผลักดันนโยบายและการพัฒนาศักยภาพคนทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว

โดยในแนวทางที่หนึ่ง คุณณัฐยากล่าวว่า สสส. พยายามสนับสนุนให้มีพื้นที่เรียนรู้ในบ้านและใกล้บ้าน "สิ่งที่เรามองคือ หากมีพื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space) ที่ปลอดภัยและตอบโจทย์การทำกิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเรียนรู้ต่างๆ ของเด็กในแต่ละช่วงวัย หรือถ้าจะให้ดีมากกว่านั้นคือตอบโจทย์ไปถึงสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้ใหญ่ ให้ความรู้กับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เช่น วิธีจัดมุมเล่นในบ้าน เพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้  หรือวันหยุดมีกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เน้นให้เด็กคิดและลงมือทำ เป็นพื้นที่ที่ทำกิจกรรมของเด็กในหมู่บ้าน เด็กไม่ถูกทอดทิ้งให้มีเวลาว่างที่ไม่รู้จะทำอะไรดี เราเห็นว่าการที่มีพื้นที่เรียนรู้จะทำให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งการเรียนรู้ ทำให้ความรู้ใหม่ๆ กระจายเผยแพร่ออกไป อยากชวนภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุน เป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย"

"แนวทางที่สอง ความร่วมมือแบบบูรณาการ สสส. มีการสนับสนุนภาคีความร่วมมือหลายระดับที่มุ่งเป้าให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีของเด็ก เช่น โครงการระดับตำบล ประมาณ ๑๐๐ ตำบลทั่วประเทศ และการจับมือทำงานแบบเครือข่าย เราก็สนับสนุนเครือข่ายสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรกับครอบครัว ซึ่งคุณรัชดา ธราภาค เป็นผู้ประสานงานฯ คือ สสส. มีปีกงานหนึ่ง ทำโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สนับสนุนเรื่ององค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) ในสถานประกอบการ เราก็ไปชวนกันมาทำเรื่องครอบครัวสุขสันต์ (Happy Family) พบว่า หลายสถานประกอบการทำนโยบายที่เรียกว่าสนับสนุนพนักงานที่ดูแลครอบครัวได้ดีขึ้น เป็น Work Family Balance ร่วมกันเป็นเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และสร้างแรงบันดาลใจให้ที่อื่นๆ ทำบ้าง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นวิสาหกิจชุมชน สามารถเป็น Happy Family Workplace ได้หมดเลย ในอนาคต เราอยากผลักดันนโยบาย เวลาที่สถานประกอบการเอกชน ลุกขึ้นมาทำแบบนี้ เท่ากับเขาช่วยภาครัฐในการที่จะดูแลคุณภาพชีวิตของพลเมืองด้วย"

"ส่วนแนวทางที่สาม ซึ่งเป็นกลุ่มแผนงานใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีทั้งการสนับสนุนโครงการที่เป็นนวัตกรรม การจัดการและสื่อสารความรู้ใหม่ๆ การขับเคลื่อนบทเรียนที่ดีสู่การขยายผลระดับนโยบาย เช่น เรื่องปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่น เราพบว่าระบบบริการต่างๆ มีพอประมาณ แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึง สอง ความเป็นวัยรุ่นเอง เขาก็ไม่อยากเดินเข้าไปคุยกับหมอ พยาบาล หรือครู เขาค่อนข้างจะเชื่อเพื่อน ที่สำคัญคือเป็นกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีเก่งมาก เราไปพัฒนาตัวนวัตกรรมแบบเป็นแชทบอท (Chatbot [๑]) ที่เอาไว้คุยกับน้องๆ แบบเป็นกันเอง และลิงก์กับระบบบริการ

ในมิติของการจัดการความรู้และสื่อสารสังคม เราก็ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ทำศูนย์ความรู้นโยบายด้านเด็กและครอบครัวแห่งอนาคตขึ้นมา อันนี้เราอยากทำเรื่องจัดการและสื่อสารความรู้เพื่อมุ่งเป้าให้เกิดนโยบายแบบที่มองไปข้างหน้าว่า สังคมทุกวันนี้เป็น VUCA World [๒] คือสามารถจะเกิดเหตุฉุกเฉิน เหตุไม่คาดฝัน เกิดขึ้นได้ตลอด มีความไม่แน่นอนสูง เราจะเลี้ยงเด็กให้เติบโตเป็นคนแบบที่จะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลง รับมือกับเหตุฉุกเฉิน รับมือกับภัยพิบัติ เราจะต้องเลี้ยงเขาอย่างไร เขาถึงจะอยู่รอดปลอดภัย และเป็นคนที่มีคุณภาพ มีความสามารถมากกว่าคนรุ่นเรา เพราะเขาต้องพาสังคมสูงวัยแบบเราให้รอดด้วย เพราะฉะนั้น การทำงานเรื่องเด็ก คือการทำงานเพื่อตัวเอง เพื่ออนาคตของตัวเอง และเพื่ออนาคตของสังคม"

 

ปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่น
"ระเบิดเวลาในอนาคต"

เมื่อสอบถามถึงปัญหาที่น่าห่วงใยในวัยรุ่น คุณณัฐยาอธิบายถึงปัญหาใหญ่ที่น่ากังวลใจคือ ปัญหา ‘สุขภาพจิต' โดยเกี่ยวเนื่องมาจากความเครียดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ส่งผลกระทบต่อการเรียน การจำกัดการเดินทาง ทำให้วัยรุ่นขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะทางสังคม อารมณ์ และอื่นๆ โดยคุณณัฐยาระบุชัดเจนว่า ปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นนี้คือ "ระเบิดเวลา" ในอนาคต

"วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องอยู่กับเพื่อน เป็นวัยที่ต้องการการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์กัน เด็กทุกรุ่นจะเป็นแบบนี้ และความเครียดจากการเรียนออนไลน์ เรียนก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะครูเองก็ไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมให้จัดการศึกษาด้วยระบบออนไลน์ และครอบครัวได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิดเยอะมาก ยังไม่นับเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือการสูญเสีย ครอบครัวที่สูญเสียพ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็กต้องกำพร้า เป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องและกระหน่ำลงมา"

คุณณัฐยากล่าวว่า เวลาเรามองครอบครัว ถ้าครอบครัวนั้นมีเด็กอยู่ เด็กคือคนที่อยู่ล่างสุดในโครงสร้างอำนาจของครอบครัว  "แต่เขาสามารถซึมซับความเครียดรอบตัว วัยรุ่นก็เครียดกับปัญหาครอบครัว เด็กเล็กก็รับรู้ จริงๆ รับรู้ตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์แล้ว เขารับรู้ความเครียดได้หมด รับรู้บรรยากาศได้หมด แต่เขาพูดไม่ได้ บอกไม่ได้ ว่ากำลังเครียด ปัญหาสุขภาพจิตสำหรับเด็ก ไม่ว่าเด็กเล็กหรือเด็กวัยรุ่น ตอนนี้เป็นเรื่องใหญ่มากๆ และจะเป็นระเบิดเวลาในอนาคต"

"โรคโควิด-๑๙ มันยาวนาน และโดนซ้ำเติมจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่อง ไม่รู้กี่ปีจะฟื้น จึงกลายเป็นภาวะชีวิตแบบที่สร้างความเครียดเรื้อรัง ซึ่งกระทบที่สุดเลยก็คือ กระทบกับเด็ก ยิ่งเด็กอายุน้อยเท่าไหร่ ยิ่งถูกกระทบมากขึ้นเท่านั้น หมายถึงความเครียดเรื้อรังจะส่งผลกระทบแรงกว่าคนวัยอื่นๆ อันนี้เป็นระเบิดเวลา เป็นเรื่องที่อยากจะพูดในทุกช่องทางที่จะพูดได้ สื่อสารในทุกช่องทางว่า ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และคิดวิธีการที่จะรับมือกับมัน เราจะปรับตัวกันอย่างไร

อย่างภาคการศึกษา สถานการณ์เป็นแบบนี้ เด็กมี Learning Lost หมายถึง ระดับการเรียนรู้ถดถอยเยอะขนาดไหนแล้ว และในภาวะแบบนี้ ยังสอบวัดผลเด็ก ความคาดหวังแบบเดิมๆ ว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต้องมีเท่านั้นเท่านี้ จริงๆ เราควรลดระดับความคาดหวังต่างๆ ลงมา และเน้นการฟื้นฟูมากกว่ามั้ย ไม่ใช่ช่วงเวลาของการบอกว่าทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติแล้ว และวัดผลเชิงวิชาการในแบบเดิม"

คุณณัฐยากล่าวทิ้งท้ายว่า อยากเห็นการปฏิรูปตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงการปฏิบัติ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันบนฐานที่นำประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นตัวตั้ง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกับเด็กและเยาวชนอย่างถ้วนหน้า ซึ่งพวกเขาต้องดูแลอนาคตของสังคมสูงวัยของเรา

"อยากเห็นความตระหนักรู้ของผู้กำหนดนโยบายระดับสูง ไม่ว่าจะระดับประเทศหรือหน่วยงานระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เราตระหนักเรื่องสังคมสูงวัยแล้ว เด็กเกิดน้อยลงเรื่อยๆ ควรที่จะเร่งเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาคุณภาพเด็กให้ทั่วถึง แต่ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนวิธีที่จะออกนโยบาย เราทำแผนและสั่งการให้เกิดการปฏิบัติบนกลไกการทำงานที่แยกส่วนแบบเดิม แล้วเราจะคาดหวังผลลัพธ์ใหม่ๆ ได้อย่างไร"

 

งานดึงคนออกจากบ้าน
การพัฒนาที่ทำให้คนไม่ได้อยู่ด้วยกัน

คุณรัชดา ธราภาค ผู้ประสานงานเครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรต่อเด็กและครอบครัว สสส. (Family-Friendly Workplace) และสื่อมวลชนอิสระ อธิบายว่า ครอบครัวในปัจจุบัน ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ "งานดึงคนออกจากบ้าน การพัฒนาแบบบ้านเรา ทำให้คนไม่ได้อยู่ด้วยกัน"  ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นอีกในการมีสื่อแบบต่างๆ เด็กรุ่นใหม่รับรู้คุณค่าที่แตกต่างไปจากเดิม ทำให้มีความคิดและพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่อาจจะไม่เข้าใจ กลายเป็นว่าถึงจะอยู่บ้านเดียวกัน แต่ก็เหมือนไม่รู้จักกัน และวิธีการเลี้ยงดูสั่งสอนแบบเดิมก็ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป

"อันดับแรก ปัญหาครอบครัวกับงาน ไม่สมดุลกัน งานดึงคนออกจากการทำหน้าที่ของครอบครัว ในความหลากหลายของครอบครัวยุคใหม่ ไม่ใช่แค่พ่อแม่ลูก คนทำงานในระบบ ใช้เวลามหาศาลที่ทำงาน เกินครึ่งในแต่ละวันอยู่ในที่ทำงาน เขาจะดูแลครอบครัวกันอย่างไร บทบาทของที่ทำงานตรงนี้ จะสนับสนุนกันได้บ้างหรือไม่ คือถ้าคนทำงานไปกังวลกับครอบครัว งานก็เสียด้วย เพราะฉะนั้น ใครบ้างต้องเข้ามาประคองตรงนี้ เพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ครอบครัวก็ได้พัฒนา สังคมด้วย งานด้วย การดูแลเด็ก จะดูแลเด็กอย่างไร ในเมื่อพ่อแม่ไม่มีเวลา ในแง่องค์กรเอง เวลาสื่อสารกับเขา ถ้าพนักงานมาเลี้ยงลูก ดูแลพ่อแม่ เขาทำงานให้คุณไม่เต็มที่ วิธีที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายคืออะไร ก็คุยกับที่ทำงาน สถานประกอบการ รวมทั้งหน่วยงานนโยบายที่ดูแลสวัสดิการแรงงาน กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน"

คุณรัชดาอธิบายว่า เริ่มเข้ามาดูแลงานเครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรต่อเด็กและครอบครัว ซึ่งถือเป็นงานใหม่ โดยทาง สสส. เริ่มทำเมื่อปี ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙

"เริ่มจากสมมุติฐานว่าที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องครอบครัวอย่างไร ที่ทำงานจะช่วยเหลือ ประคับประคองคนทำงานในการดูแลครอบครัวได้อย่างไรบ้าง และในระดับนโยบายควรมีนโยบายอะไรที่เข้ามาดูแลสวัสดิการคนทำงาน เพื่อให้คนทำงานดูแลครอบครัวได้ดีขึ้น"

ด้วยเป็นงานที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย ทำให้ต้องใช้เวลาในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ "เริ่มจากการลองดูว่าที่ไหน ทำอะไรบ้าง ก็พอเห็นว่ามีที่ที่เขาไม่ได้เริ่มจากแนวคิด แต่เขาเริ่มจากปัญหา เช่น เรื่องห้องนมแม่ เป็นต้น เขาไม่ได้คิดเชิง Family-Friendly Workplace เลย ปัญหาคือลูกควรจะได้กินนมแม่ ก็มาจากมูลนิธินมแม่ หรือเรื่องวันหยุด วันลาต่างๆ กฎหมายก็เข้ามา แต่ก็ไม่ได้คิดในแง่ Family-Friendly Workplace เราก็มองในแง่ของกฎหมายสวัสดิการ จะมีอะไรที่เกี่ยวข้อง"

"บางออฟฟิศไม่เคยรู้ว่าพนักงานมีปัญหาอะไร ไม่เคยรู้ว่าพนักงานที่ประสิทธิภาพการทำงานลดลงเพราะเกิดจากที่พวกเขามีภาระเรื่องครอบครัวอยู่"

 

ภาระครอบครัวมักถูกมองเป็นเรื่องส่วนบุคคล

คุณรัชดาอธิบายไว้น่าสนใจว่า "เรื่องครอบครัวมักถูกมองเป็นเรื่องส่วนบุคคล" แต่ละคนก็จัดการปัญหาส่วนตัวของตัวเองไป โดยไม่ควรทำให้เสียงาน คำถามสำคัญคือจริงหรือเปล่าที่งานและภาระครอบครัวต้องแยกออกจากกัน ถ้าภาระครอบครัวได้รับการแบ่งเบาผ่อนคลาย ผลดีจากการทำงานจะดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน และส่งผลดีให้กับใคร

"พนักงานเองก็มีปัญหาครอบครัว บริษัทรู้ ถูกกาหัวว่าทำงานไม่เต็มที่ ประสิทธิภาพงานลดลง ก็ไม่ให้รู้ ก็เป็นเรื่องแบบตัวใครตัวมัน สิ่งที่เราทำคือพยายามยกระดับขึ้นมาว่าถ้ามีคนเจอแบบนี้เต็มไปหมด มันไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่งแล้ว มีแม่จำนวนมากที่ต้องส่งลูกกลับต่างจังหวัด มีคนทำงานจำนวนมากของเราต้องลาออก เพื่อดูแลพ่อแม่วัยสูงอายุ ไม่ใช่เรื่องตัวใครตัวมันแล้ว

ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยมีงานวิจัยที่พบว่า คนวัยทำงานของไทยออกจากตลาดแรงงานเร็วกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศ สาเหตุหลักอันหนึ่งก็คือ ความจำเป็นในการดูแลสมาชิกในครอบครัว หมายถึงคนวัยแรงงานจำนวนมากไปอยู่ในงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และปัญหานี้กระทบทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ธุรกิจ เศรษฐกิจ และภาพรวมของทั้งสังคม เพราะฉะนั้น ต้องมีอะไรที่เข้ามาดูแล ตั้งแต่เรื่องการทำงานไปจนถึงระดับนโยบาย"

"เราเริ่มจากการสำรวจองค์กรประมาณ ๒๐ แห่ง ทั้งองค์กรไทย องค์กรต่างชาติ โดยไปดูว่ามีการทำอะไรบ้างที่เป็นการสนับสนุนการดูแลครอบครัวให้กับคนทำงาน เขาทำอย่างไร ทำไมถึงทำ ทำแล้วได้ประโยชน์อย่างไร ก็พบว่ามีองค์กรที่จัดมุมนมแม่ เปิดเนิร์สเซอรี่สำหรับพนักงานที่มีลูก มีการเพิ่มวันลาสำหรับการดูแลสมาชิกในครอบครัว และอีกหลายอย่างที่น่าสนใจ"

 

องค์กรและพนักงาน
ผลประกอบการแห่งชีวิต

คุณรัชดาเล่าให้ฟังว่า จากการไปศึกษาดูงานที่สถานประกอบการหลายแห่ง พบสิ่งที่น่าประทับใจและน่าสนใจหลายอย่าง เช่น นโยบายเรื่องผู้ชายลาเลี้ยงลูก "ไปดูงานไทยพีบีเอส ผู้ชายลาคลอดได้ด้วย หรือองค์กรต่างประเทศ เช่น Microsoft มีหมด ผู้ชายลาเลี้ยงลูกได้ หรือ LGBT ลาเลี้ยงลูกได้ กรณีรับบุตรบุญธรรม ที่ไทยพีบีเอส มีชมรมคุณพ่อบ้านเลี้ยงลูก ปฐมนิเทศพนักงานบอกเลยว่าสนับสนุนนโยบายนี้ ลาคลอดได้ ภรรยาตั้งครรภ์มาแจ้งเลย ให้เห็นว่าสนับสนุนจริงๆ ต้องมีการสื่อสารภายในองค์กรเพื่อให้เข้าใจว่าเรื่องนี้มองอย่างไร"

"ที่ไทยพีบีเอสทำหลายอย่างและเชื่อมโยงกันหมด เช่น ให้พนักงานพาลูกมาที่ทำงานได้ หรือเนิร์สเซอรี่จะไม่เลี้ยงเด็กอ่อน จะเลี้ยงเด็กโตขึ้นมานิดหนึ่ง ไทยพีบีเอสมีชมรมคุณพ่อบ้าน พนักงานชายหิ้วกระติกนมมาคุยกันในหมู่พนักงานชาย เป็นแก๊งคุณพ่อเลี้ยงลูก คุยกันว่าเลี้ยงลูกเป็นอย่างไร ผู้ชายคุยกันเรื่องเลี้ยงลูก น่ารักดี ไปคุยกับพนักงานหญิง ปัญหาอาจจะเจอไม่เหมือนกัน"

"หรืออีกที่ที่น่าสนใจและเป็นโจทย์เรื่องครอบครัว บริษัททำงานโจทย์ใหญ่คือ เรื่องผู้สูงอายุในครอบครัว แต่ยังไม่มีการพัฒนาแนวคิดและสวัสดิการ คือพนักงานก็ร่วงโรยไป ต้องลาออกไปดูแลพ่อแม่ ซึ่งบ้านเราตัวเลขออกมามีเยอะมาก"

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คุณรัชดาตั้งข้อสังเกตคือ หลายบริษัทบอกว่าไม่มีเด็กแล้ว เพราะถ้าเป็นบริษัทเก่าๆ พนักงานก็แก่ ลูกก็โต ถ้าเป็นบริษัทคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ก็ไม่มีลูก หลายที่เปิดเนิร์สเซอรี่ก็ปิดไปแล้ว ไม่มีคนมาใช้ แต่โจทย์คือพนักงานลาออกไปดูแลพ่อแม่ ทุกคนเริ่มเห็นปัญหานี้ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร

"บางบริษัทจัดตรวจสุขภาพ จัดแพคเกจให้พ่อแม่ของพนักงาน และสนับสนุนให้พนักงานพาพ่อแม่มาตรวจสุขภาพ โดยจัดเป็นวันหยุดพิเศษให้ เพื่อประคองพ่อแม่ที่ดูแลตัวเองได้ ให้อยู่ดูแลตัวเองได้ให้นานที่สุด เพราะทันทีที่ป่วย จะดึงคนทำงานออกไปดูแล"

คุณรัชดาเล่าถึงบริษัทไทยซัมมิท ฮาร์เนส ว่าน่าสนใจมากเหมือนกัน "เริ่มจากห้องนมแม่ เริ่มจากความร่วมมือเดิม ที่เคยทำกับมูลนิธินมแม่ และ สสส. ชอบตรงที่เขาไม่มองเป็นเครื่องมือสำเร็จรูปแล้วจบ ไม่งั้นก็แค่จัดห้องนมแม่แล้วก็จบ แต่เขาเข้าใจกระบวนการ เริ่มพัฒนาจากฐานของงานด้านทรัพยากรบุคคล เริ่มเห็นว่าสร้างห้องนมแม่ ก็ใช่ว่าจะมีคนมาใช้ ทำไมสร้างแล้ว ไม่มีคนมาใช้ เขาก็พัฒนามาเรื่อยๆ เชิงกายภาพ หนึ่ง ไกลไป ก็ย้ายมา พนักงานก็ยังไม่รู้ว่าทำไมต้องให้ลูกกินนมแม่ ต้องยุ่งยากขนาดมานั่งปั๊มนมและส่งกลับบ้าน ก็แปลว่าขาดความรู้ เขาก็นำคนมาอบรม ทำให้เห็นว่าจำเป็นและสำคัญ และบริษัทส่งเสริม จนพนักงานสามารถพูดได้ว่าพอลูกกินนมแม่แล้ว ลูกมีพัฒนาการที่ดี ไม่เจ็บป่วยง่าย เมื่อเทียบกับลูกคนอื่นๆ ที่ไม่ได้กินนมแม่ ลูกไม่ป่วย เขาไม่ต้องลางาน"

"ช่วงโควิด-๑๙ บริษัทนี้ดูแลไปถึงครอบครัวได้ดีมาก เพราะพนักงานไม่ได้ล่องลอยอยู่ตัวคนเดียวในโลก แต่เชื่อมโยงกับครอบครัวอย่างไรบ้าง ไม่ได้ตัดขาดจากครอบครัว และเขาบอกชัดว่าเรามักจะคิดว่าสวัสดิการการทำงานเป็นเรื่องตายตัว แต่จริงๆ ไม่ใช่ อยู่ที่บริบทขององค์กร บริบทของพนักงาน เราต้องเข้าใจก่อนว่าพนักงานของเราเป็นอย่างไร ปัญหาของเขาอยู่ตรงไหน เพื่อที่จะตอบโจทย์ได้ตรง ไม่ต้องทำเหมือนกันก็ได้ ทำให้เขายืดหยุ่นมาก ที่จะค้นหาปัญหาใหม่ๆ และตอบโจทย์ของตัวเอง"

น่าชื่นชมไม่น้อยกับหลายหน่วยงานองค์กรที่พยายามดูแลครอบครัวของคนทำงาน เพื่อให้ครอบครัวของพนักงานสามารถดำรงชีวิตได้อย่างดีในสภาพสังคมแบบปัจจุบัน

 

ปัญหาเด็กสลับซับซ้อน
ไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียวในการแก้ไขปัญหา

อีกหนึ่งงานที่น่าสนใจของคุณรัชดาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเด็กและเยาวชน คือการเข้าไปช่วยงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และกองทุนสื่อ เมื่อปลายปี ๒๕๖๔ เริ่มโครงการเด็กนอกระบบ หรือเด็ก Drop out โดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ทำวิจัยให้กับ กสศ. โดยทางศูนย์จิตตปัญญาศึกษาระบุว่า "ปัญหาเด็กสลับซับซ้อน ไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียวในการแก้ไขปัญหา"  ซึ่งปัญหามันใหญ่ ยาก และซับซ้อน ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีเครือข่าย

"เป็นงานขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ เอาข้อมูลจากพื้นที่มาสนับสนุนว่าสมมติฐานนี้ใช่หรือไม่ เพื่อจะให้เครื่องมือทำงานกับ กสศ. ในการช่วยเหลือเด็กที่หลุดจากระบบ หรือเด็ก Drop out และพื้นที่ทำงานมีทั้งหมด ๔ แห่ง คือ นครสวรรค์ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา และอาศรมวงศ์สนิท นครนายก"

คุณรัชดาเข้าไปช่วยดูงานด้านการสื่อสาร โดยต้องลงพื้นที่ด้วย และพบว่านี่เป็นปัญหาครอบครัวโดยตรง โดยทุกที่จะเจอเหมือนกันคือ ปัญหาเด็กหลุดจากระบบจากโรงเรียน และจากครอบครัว "จริงๆ จากครอบครัวเป็นรากของปัญหามากกว่า เด็กออกมาจากครอบครัวแล้ว โรงเรียนประคองไม่อยู่ ก็หลุดจากระบบเลย"

คุณรัชดาเล่าไว้น่าสนใจมาก เช่น ที่จังหวัดขอนแก่น ครูมัธยมทำงานกับพวกเด็กแก๊ง เด็กแว้น ซึ่งเป็นปัญหาของเทศบาลนครขอนแก่น ในช่วงประมาณ ๑๐ปีที่ผ่านมา นครขอนแก่นรับมือเรื่องนี้ โดยความร่วมมือของหลายฝ่าย ไปเรียนรู้เพื่อถอดบทเรียนว่าสภาพปัญหาคลี่คลายไปอย่างไร เนื่องจากพัฒนาวิธีทำงานมา ๑๐ ปี เป็นเครือข่ายที่แน่นมาก มีคนทุ่มทรัพยากรให้ ๑๐-๒๐ ปีที่แล้ว เจอเรื่องเด็กแก๊ง เด็กแว้น ร่วมกับเทศบาล มีความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทำให้เกิดระบบที่จะดูแลเด็กแก๊งเหล่านี้ เด็กแก๊งก็เป็นเด็กที่หลุดมาจากโรงเรียน มามั่วสุมกัน จะช่วยเหลือเขาอย่างไร

"ทุกคนมีปัญหาครอบครัวไม่มากก็น้อย ปัญหาเรื่องบ้านแตกสาแหรกขาด ซึ่งเป็นความรุนแรงโดยตรง บางทีเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เรื่องความไม่เข้าใจ คุยกันไม่รู้เรื่อง แรงดึงก็เยอะ ที่ขอนแก่น บางกรณี รู้สึกแรงดันไม่มาก คุยกับเด็กบางคน ครอบครัวก็มีปัญหาไม่มาก แต่แรงดึงข้างนอกเยอะกว่า อยู่กับเพื่อนสนุกกว่า พอออกมาแล้วมันไหลไปตามเพื่อน เข้าออกสถานพินิจ มีวิธีที่จะทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ เป็นวิธีทำงานกับเด็กที่หลุดออกมาแล้ว ทำงานกับตัวเด็ก ก่อนจะส่งเด็กกลับไปที่บ้าน เด็กหลายคนกลับบ้าน คืนสู่ครอบครัว ถ้ายังตั้งหลักไม่ได้ ก็มาพักที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว กลับได้แค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หมายถึงความสัมพันธ์สามารถกลับไปได้ ไม่ได้ขัดแย้งกัน เด็กอาจจะต้องตั้งหลัก ตั้งตัว ทำงาน ออกมาเช่าบ้านอยู่ แต่ว่าจากเดิมที่คุยกันไม่ได้ ก็สามารถพูดคุยกันได้ แค่นี้ก็ถือเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งของความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น"

ในมุมมองของคุณรัชดา อีกปัญหาใหญ่ของครอบครัวยุคนี้คือ ความไม่เข้าใจกันของคนในครอบครัว ทำให้การดูแลกันในครอบครัวไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ หากความสัมพันธ์ไม่ดีพอ "จากการทำงานเรื่องเด็กและวัยรุ่น คิดว่าบ้านเรามีช่องว่างตรงที่เราเข้าใจว่าวัยรุ่นเป็นเด็ก แต่วัยรุ่นไม่ใช่เด็ก วิธีดูแลต้องไม่เหมือนดูแลเด็ก พ่อแม่ต้องปรับตัวอย่างมากในช่วงรอยต่อของชีวิต ครอบครัวต้องการการสนับสนุนตรงนี้ว่าครอบครัวคืออะไร ต้องการอย่างไร หรือวิธีการยังใช้การสั่งสอน ปลูกฝังความคิดความเชื่อแบบเดิมๆ ให้กับลูกหลานอยู่หรือเปล่า เราคิดว่าควรจะคิดเหมือนกันใช่ไหม ถ้าคิดเหมือนพ่อแม่ที่เป็นเหมือนคนส่วนใหญ่ในสังคม ต่อไปจะได้ไม่ลำบาก ซึ่งสมัยก่อนอาจจะใช่ แต่ปัจจุบันอาจจะไม่ใช่ การที่ครอบครัวจะมีความรู้ความเข้าใจถึงวิธีการดูแลลูกหลานที่สอดคล้องกับยุคสมัย ก็เป็นสิ่งที่ครอบครัวต้องการการสนับสนุนอย่างเหมาะสมด้วยเหมือนกัน"

งานสนับสนุนช่วยเหลือเด็ก เยาวชน และครอบครัว ไม่ใช่งานง่ายและสะดวกสบาย แต่เป็นงานที่สลับซับซ้อน เหน็ดเหนื่อย และต้องใช้เวลา มุมมองจากการทำงานของทั้งสองท่านคงทำให้เราได้แง่คิดมากมาย และได้เห็นความพยายามในการหนุนเสริมเด็กและครอบครัวจากหลายฝ่าย ซึ่งในมุมส่วนบุคคลที่เราทุกคนมีลูกหลานในครอบครัวของตัวเอง คงต้องดูแลประคับประคองพวกเขาอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสร้างความมั่นคงของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต



[๑] Chatbot คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่ง ถูกพัฒนาขึ้นมาให้มีบทบาทในการตอบกลับการสนทนาผ่านข้อความ หรือเสียง แบบอัตโนมัติและรวดเร็ว

[๒] VUCA World เดิมทีเป็นคำที่ทางกองทัพสหรัฐอเมริกาใช้เรียกสถานการณ์ในสงครามที่แอฟริกา และอิรักที่สื่อในความหมายที่สับสนและผันผวน จนกระทั่งนำมาเปรียบเทียบในวงการธุรกิจ เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

VUCA ย่อมาจาก V (Volatility) คือ ความผันผวน การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ไม่สามารถคาดเดาได้  U (Uncertainly) คือ ความไม่แน่นอน ยากต่อการตัดสินใจ  C (Complexity) คือ ความซับซ้อนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ในเชิงระบบ  A (Ambiguity) คือ ความคลุมเครือไม่ชัดเจน ไม่สามารถคาดเดาผลได้ชัดเจน


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >