หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 40 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ถอดรื้อมายาคติ ‘วัฒนธรรมอำนาจนิยม' เพื่อลดความรุนแรงในสังคม ผ่านบทสัมภาษณ์ คุณอวยพร เขื่อนแก้ว พิมพ์
Wednesday, 14 September 2022

Image


วารสารผู้ไถ่
ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๑๑๙ พ.ค. - ส.ค. ๒๕๖๕


ถอดรื้อมายาคติ
‘วัฒนธรรมอำนาจนิยม'
เพื่อลดความรุนแรงในสังคม
ผ่านบทสัมภาษณ์ คุณอวยพร เขื่อนแก้ว

ธัญลักษณ์ นวลักษณกวี สัมภาษณ์/เรียบเรียง


Image 

"คุณรู้ไหม ที่บ้านเป็นที่แรกที่คนเอาเปรียบกัน เริ่มตั้งแต่ผู้ชายไม่ต้องทำงานบ้าน แหมบอกรักเมียรักลูก แล้วทำไมไม่ทำงานบ้าน เขาบอกนั่นเป็นงานของผู้หญิง ข้ออ้างแบบนี้ ไม่ว่าจะการเลี้ยงลูก การนอกใจภรรยา หรืออะไรก็ตาม พี่ถึงบอกว่า ที่แรกที่เราฝึกฝนเรื่องการถูกทำร้ายกัน ก็คือที่บ้าน จากเรื่องบทบาททางเพศนี่แหละ"

"ไม้กวาดมันไม่ต้องใช้ไอ้จู๋ไปจับ เอาจิตสำนึกรับผิดชอบไปจับ เพราะฉะนั้น อย่าเอาเพศไปจับคน เห็นคนทุกคน เห็นงานทุกงาน ใครก็ทำได้ เพศไหนก็ทำได้"

"ตั้งแต่เด็ก เรื่องของเล่น การแต่งตัว เด็กผู้หญิงก็ยังให้เล่นตุ๊กตา ทำกับข้าว ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อจะโยงว่า ต่อไปเพื่อเป็นแม่บ้านแม่เรือน จะได้ทำกับข้าวให้สามีกิน รับใช้สามี ตามวัฒนธรรมที่เชื่อๆ กันมา" 

"พ่อแม่ต้องมาทำความเข้าใจว่า มันเป็นมายังไง เห็นทุกอย่างเป็นเรื่องเพศไปหมด เอาเพศไปกำกับตั้งแต่งาน อันนี้หนึ่งเรื่องนะ เราจะต้องแตกตรงนี้ก่อนเลย เพราะมักจะอ้างว่า เรื่องนี้ผู้ชายทำได้ ผู้หญิงทำไม่ได้ มันแปลว่าเราฝังลึกมากเรื่องเพศ เอาเพศไปจับทุกเรื่อง และสังคมแบบนี้เป็นสังคมที่ไม่โต ก็อยู่อย่างนั้น รักษาระเบียบประเพณี ซึ่งมันทำให้ผู้ชายเห็นแก่ตัว ใช้อำนาจผิดๆ ผู้หญิงก็หมดโอกาสทุกเรื่องเลย"

"มันต้องตีหมดเลยตั้งแต่พฤติกรรม การแต่งกาย ต้องเห็นคนทุกคนไปพ้นเรื่องเพศ ถ้าเรามีลูกสาว เราต้องรู้เลยว่า ลูกสาวเราสามารถโตไปเป็นถึงนายกรัฐมนตรีได้ เห็นลูกชายก็คือเขาต้องเป็นคนที่รับผิดชอบ ไม่เอาเปรียบผู้หญิง ไม่ดูถูกเพศอื่น ไม่กดข่ม ไม่เอาเปรียบใคร สอนให้ทุกเพศมีความรับผิดชอบ รัก เมตตา ไม่เอาเปรียบใครตั้งแต่ที่บ้าน ไม่กดข่มใครที่โรงเรียน หรือทุกที่ที่เขาไป ลูกเราหลานเราควรจะเป็นแบบนี้ พลเมืองควรจะเป็นแบบนี้"

นี่เพียงแค่ส่วนหนึ่ง จากบทสัมภาษณ์ คุณอวยพร เขื่อนแก้ว ที่ยกตัวอย่างเรื่องบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของหญิงชายที่ต่างกัน การเลี้ยงดูลูกชาย ลูกสาว ค่านิยมที่เราถูกปลูกฝังถูกสอนมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพื่อเชื่อมโยงให้เห็น ‘วัฒนธรรมอำนาจนิยม' ‘วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่' ที่ครอบงำ กดทับ ผู้คนในสังคมไทยเรามาช้านาน และด้วยสังคมที่มีระบบเพศแบบนี้เองที่สร้างความรุนแรง ความไม่เป็นธรรม การเลือกปฏิบัติ และความไม่เท่าเทียมทางเพศมากมาย ทั้งที่มองเห็นได้ชัดและถูกทำให้มองไม่เห็นเพราะมันถูกเคลือบและครอบเอาไว้ด้วยวาทกรรมที่ว่า นี่คือ ‘วัฒนธรรมประเพณี' ‘เป็นหลักปฏิบัติทางศาสนา' ‘เป็นกรรมชาติที่แล้ว' นี่คือความปกติ ดีงาม เป็นธรรมชาติ เป็นเรื่องธรรมดา และบ่อยครั้งผ่านการให้ความหมายว่านี่เป็น ความรัก ความห่วงใย และความหวังดี

หารู้ไม่ว่านี่เองที่เป็นสาเหตุหลัก เป็นต้นตอ ของปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย ความรุนแรงที่เกิดจากระบบที่ไม่เป็นธรรมในสังคม ที่ส่งผลร้ายลุกลามไปยังระบบและสถาบันทุกระดับ ตั้งแต่ ครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ไปถึงประเทศ จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ใกล้ตัวเราทุกคน ดังข่าวสารความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรง และขยับเข้ามาใกล้ตัวเราทุกที ในการใช้ชีวิตของเราในสังคมทุกวันนี้อย่างยากจะหลีกเลี่ยง

"ผู้ไถ่" ฉบับนี้ ขอนำเสนอ ที่มา รากเหง้า ต้นตอ ปัญหาความรุนแรงที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทย ผ่านการสัมภาษณ์ คุณอวยพร เขื่อนแก้ว นักสตรีนิยมแนวจิตวิญญาณเพื่อความเป็นธรรม ที่ทำงานเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และงานด้านสันติวิธี มายาวนานกว่า ๓๐ ปี คุณอวยพรเป็นกระบวนกรที่สอนให้ผู้คนมองเห็นปัญหาของวัฒนธรรมอำนาจนิยม โดยเฉพาะวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ที่ใช้ ‘อำนาจเหนือ' (Power Over) กดข่ม ทำให้เราคุ้นชิน จนฝังลึกกลายเป็นค่านิยมของสังคมไทยและสังคมโลกมาเนิ่นนาน

คุณอวยพรจะพาเราวิเคราะห์เรื่องอำนาจเพื่อให้เข้าใจแนวคิดและวิธีการฟื้นฟู สร้างเสริมอำนาจและศักยภาพของผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม พร้อมย้ำว่า การทำงานช่วยเหลือเยียวยาความรุนแรงระดับบุคคลจะหมดไป เมื่อระบบที่ไม่เป็นธรรมในสังคมถูกท้าทายและกดดันให้เปลี่ยนแปลง แล้วไปเรียนรู้เรื่อง ‘อำนาจร่วม' (Power Sharing) ที่เราควรนำมาใช้ขับเคลื่อนสังคม และเสริมสร้าง‘อำนาจภายใน' (Power Within) ผ่านการมองให้เห็นพลังอำนาจที่มีอยู่แล้วในตัวเราทุกคน เพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคมแห่งความรุนแรง ให้เป็นสังคมแห่งความเมตตากรุณา เกื้อกูลแบ่งปัน และรับฟังซึ่งกันและกัน

 

ปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยเกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมอำนาจนิยม

วัฒนธรรมอำนาจนิยมไม่ได้ดำรงอยู่เฉพาะในสังคมไทย แต่มันครอบคลุมสังคมทั่วโลก โดยโครงสร้างของมันเป็นวัฒนธรรมที่เอื้อ หรืออนุญาตให้เกิดการใช้อำนาจผิดๆ โดยบุคคลและกลุ่มคนที่มีอำนาจสูงสุดในสถาบันนั้น ตั้งแต่สถาบันครอบครัว หมู่บ้าน หรือในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน และในระดับสังคมใหญ่ ในวัฒนธรรมอำนาจนิยม เราถูกสั่งสอนและหล่อหลอมให้นับถือคนที่มีอำนาจมากที่สุด และแหล่งอำนาจนั้นมาจากตำแหน่ง บทบาทหน้าที่ อาชีพ เพศ อายุ วัย ยศฐาบรรดาศักดิ์ หรือทรัพย์สินที่เขามี ยกตัวอย่างเช่น ในครอบครัว พ่อจะมีอำนาจสูงสุด ถ้ามองเฉพาะคู่ชีวิตก็จะถือว่าสามีเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือในห้องเรียน ครูก็จะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด

ในวัฒนธรรมอำนาจนิยม บุคคลหรือกลุ่มคนที่มีอำนาจมากที่สุดในสถาบันนั้นจะใช้อำนาจแบบไหนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ในวัฒนธรรมนี้จะเป็นลักษณะการใช้อำนาจเหนือ (Power Over) ก็คือใช้อำนาจที่ตัวเองหรือกลุ่มของตนเองมีอยู่ไปกดทับ กดข่มอีกบุคคล หรือกลุ่มคน หรือต่อกลุ่มสมาชิกขององค์กร การใช้อำนาจเหนือมีหลายรูปแบบ เช่น  ตัดสินใจแทน การกดดัน การโน้มน้าว การบังคับข่มขู่ การคุกคามที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย การเอาเปรียบ การกลั่นแกล้ง หรือการแสวงหาประโยชน์ รวมถึงการใช้ความรุนแรงทางวาจา ตำหนิ ดุด่า การกระทำความรุนแรงทางกาย ทางเพศ หรือการใช้ความรุนแรงด้วยการทำให้เขาด้อยค่า  ทำให้คนสูญเสียความมั่นใจ หรือทำให้ไม่มีตัวตน ในวัฒนธรรมแบบนี้ บุคคลหรือกลุ่มคนที่มีแหล่งอำนาจมากจึงใช้อำนาจผิดๆ กับใครก็ได้ เพราะเขารู้ระบบต่างๆในสังคมว่ามันเอื้อหรืออนุญาตให้ทำได้อย่างสะดวกใจ ผู้นำชุมชน หรือแม้แต่ตำรวจก็จะไม่ไปเอาเรื่องเขา ถ้าต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เขาก็มีเงินหรือเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่จะไปทำให้กระบวนการยุติธรรมมันไม่ทำงาน  

 

วัฒนธรรมที่สอนเราว่า "เรื่องของคนอื่น อย่าไปยุ่ง" ทำให้ปัญหาความรุนแรงในสังคมมีเพิ่มขึ้น

มีปัจจัย ๒ ประเด็นที่ทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นมากขึ้นในสังคมไทย และรูปแบบมันน่ากลัว และมันขยายเพิ่มขึ้น คือ หนึ่ง เราถูกสอนมาผิดๆ เราถูกสอนจนเชื่อฝังหัวว่า สถาบันทุกสถาบันปลอดภัย เป็นที่รับรองความปลอดภัยให้เรา ไม่ว่าเราในฐานะที่เป็นลูก เป็นเมีย เป็นนักเรียน หรือเป็นศาสนิกที่ไปโบสถ์หรือไปวัด  สอง วัฒนธรรมตำหนิเหยื่อซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของวัฒนธรรมอำนาจนิยมแบบชายเป็นใหญ่  คือวัฒนธรรมที่มีการตำหนิลงโทษผู้ถูกกระทำรุนแรง เช่น การตำหนิเด็กที่เห็นต่างจากผู้ใหญ่ว่า เขาเถียงผู้ใหญ่  เป็นเด็กก้าวร้าว หรือเป็นเด็กไม่เคารพผู้ใหญ่ ไม่เคารพวัฒนธรรมประเพณีไทย เป็นต้น หรือหากเป็นกรณีของการลวนลาม หรือทำร้าย หรือละเมิดทางเพศ วัฒนธรรมนี้ก็จะตำหนิผู้หญิงต่างๆ นานา เช่น ว่าผู้หญิงไปให้ท่าผู้ชาย หรือไปให้ร้ายว่า เป็นเพราะเขาแต่งตัว หรือสมยอม เป็นต้น   ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้วคนที่ต้องถูกประณาม ถูกลงโทษ หรือถูกตำหนิ คือกลุ่มคนที่ทำร้ายคนอื่น หรือใช้อำนาจเหนือคนที่มีแหล่งอำนาจน้อยกว่า ในวัฒนธรรมที่ตำหนิคนที่ถูกกระทำรุนแรง เช่น ผู้หญิง เด็กหญิง รวมทั้งเด็กผู้ชาย ก็ถูกพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ทำร้าย กลุ่มคนชายขอบทางชาติพันธ์ คนยากจน หรือแรงงานข้ามชาติ เขาไม่กล้าพูด เพราะเขารู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่มีระบบคุ้มครองชีวิตพวกเขา โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงโดยผู้ใหญ่ในครอบครัว หากพวกเขาไปบอกว่าพ่อแม่ทำร้าย ก็มักจะไม่มีใครเชื่อ เพราะในวัฒนธรรมอำนาจนิยมเราถูกสอนให้เชื่อคนที่มีแหล่งอำนาจมากกว่า ดังนั้นระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่เราจึงถูกสอนให้เชื่อคำพูดของผู้ใหญ่มากกว่าคำพูดของเด็ก (เช่นเดียวกับการที่เราถูกหล่อหลอมให้เชื่อคำพูดของผู้ชายมากกว่าคำพูดของผู้หญิง) นอกจากนี้แล้ว ความเชื่อนี้ทำให้เด็กมักถูกตำหนิว่า พวกเขาไม่รู้บุญคุณพ่อแม่ พ่อแม่เขาทุบตี หรือควบคุมการตัดสินใจเรื่องการเรียนหรือการงาน เป็นเพราะความรัก ความหวังดี ที่อยากให้ลูกได้ดี เป็นต้น เพราะฉะนั้นปัญหาที่ตามมาคือ กลุ่มคนที่ถูกกระทำ เขาไม่รู้จะไปบอกใครเพราะเขาจะถูกซ้ำเติม

ปัจจัยที่สอง คือ วัฒนธรรมที่หล่อหลอมให้เราเชื่อว่า เรื่องของคนอื่นอย่าไปยุ่ง อันนี้ชัดมาก พี่มักได้ยินพ่อแม่สอนลูกแบบนี้ แม้กระทั่งคนข้างบ้าน ว่า อย่าไปยุ่งนะ เรื่องครอบครัวเขา คำว่า "เราไม่แคร์เพราะว่าเป็นคนอื่น" อันนี้ เท่ากับเราอนุญาตให้เกิดความรุนแรงต่อหน้าต่อตาเรา แล้วคนที่ถูกใช้ความรุนแรงในบ้านนั้น หรือในห้องเรียนนั้น ในชุมชนนั้น เขาก็ทั้งกลัวทั้งอายนะ เมื่อไม่มีคนมาช่วยเขา เขาก็ยิ่งรู้สึกแย่ แล้วจะถูกกระทำซ้ำๆ เวลาเราบอกว่าเป็นเรื่องของคนอื่น เราไม่ไปยุ่ง บุคคลที่กระทำความรุนแรงก็ย่ามใจเพราะรู้ว่าไม่มีใครหยุดเขา กฎหมายก็ไม่หยุดเขา เพื่อนบ้าน ผู้นำชุมชนก็ไม่หยุดเขา ครูหรือผู้อำนวยการโรงเรียนที่สอนก็ไม่มาหยุดการกระทำความรุนแรง ไม่หยุดการใช้อำนาจผิดๆ ของเขา การไม่มีระบบใดๆ ในสังคมมาหยุดยั้งคนที่กระทำรุนแรงจึงทำให้ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย คนที่กระทำรุนแรงลอยนวลสบายๆ คนที่กระทำความรุนแรงไม่ใช่คนบ้าหรือคนเสียสติ แต่เขาทำความรุนแรงได้เพราะรู้ดีว่าเขาสามารถทำได้ เพราะไม่มีใครหรือระบบใดๆ ในสังคมมาหยุดหรือลงโทษเขาต่างหาก

 

ปัญหาความรุนแรงเกิดจากระบบที่ไม่เป็นธรรม สถาบันต่างๆ ที่เป็นโครงสร้างหลักของสังคมเอื้อให้ความรุนแรงขยายตัวเพิ่มขึ้น

ความรุนแรงเริ่มที่ครอบครัวและส่วนใหญ่เริ่มที่ผู้ชาย เพราะผู้ชายถูกให้ค่าเรื่องอำนาจ ได้รับอนุญาตโดยวัฒนธรรม ให้เป็นเพศที่มีอำนาจ ผู้ชายจะถูกสอนว่าใช้อำนาจกับเมียกับลูกได้ เมื่อผู้ชายกระทำรุนแรงกับภรรยาหรือคู่รัก ผู้คนในสังคมจะเชื่อว่าเรื่องผัวเมียตีกัน เป็นเรื่องปกติ เหมือนลิ้นกับฟัน ความรุนแรงจึงถูกเรียกชื่อว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครไปหยุดหรือขัดขวางผู้ชายที่กระทำความรุนแรง เพราะมันถูกกำกับด้วยความเชื่อผิดๆ ที่เราถูกสอนมาว่า "เดี๋ยวเขาก็ดีกัน เราก็จะกลายเป็นหมาหัวเน่า"  

และระบบ สถาบันต่างๆ ที่ควรจะรองรับดูแลผู้ที่ถูกใช้ความรุนแรง มันไม่ทำงาน  ชุมชนก็ไม่เอื้อ ผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ยุ่ง ตำรวจก็ไม่ยุ่ง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผู้หญิงที่ถูกแฟนทำร้ายไปแจ้งความ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ตำรวจก็หลีกเลี่ยงไม่อยากรับแจ้งความ อ้างว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เดี๋ยวก็คืนดีกัน คือความเชื่อว่าเดี๋ยวเขาก็คืนดีกัน และไม่ใช่เรื่องใหญ่นี่แหละ ทำให้ผู้หญิงจำนวนมาก อยู่ในความสัมพันธ์ที่เขาถูกใช้ความรุนแรงสาหัสและมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตจากการถูกคู่รักทำร้าย หรือหากไม่เสียชีวิต ก็ตกอยู่ในอันตราย และมีความทุกข์ใจอย่างโดดเดี่ยว

ที่ผ่านมา พี่จะทำงานกับคนกลุ่มนี้เยอะมาก จนถึงปัจจุบัน แม้กระทั่งในกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นแฟนกันหรือคู่รักที่ยังไม่แต่งงาน ความรุนแรงมีแต่จะเพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดลง พี่เพิ่งอบรมไปเมื่อต้นเดือน ครูที่มาเรียนเล่าให้ฟังว่า ครูล่วงละเมิดเด็กแต่ผู้อำนวยการก็ไม่ทำอะไรเลย เห็นได้ชัดว่ามันน่ากลัวมากที่เด็กไม่มีความปลอดภัยในโรงเรียน และเมื่อถูกทำร้ายก็ไม่มีใครช่วยเหลือ เพราะครูเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ความรับผิดชอบที่จะต้องไปรายงานต่อตำรวจ

เพื่อนพี่ที่ตั้งองค์กรด้วยกันเขาบอกว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เขาโตมา ถ้าเราเป็นครูในโรงเรียน แล้วเรารู้ว่าครูอีกคนหนึ่งละเมิดเด็ก ถ้าเราไม่แจ้งความ เราจะมีความผิด แต่ประเทศไทยไม่มีกฎระเบียบแบบนี้ไง  

ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหา หนึ่ง คือมันต้องมีระบบรองรับที่ทำหน้าที่ทั้งปกป้องเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง และหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น สังคมต้องมีการคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเพราะแหล่งอำนาจพวกเขาไม่มี ยิ่งเป็นเด็กยากจน พวกเขายิ่งเสี่ยงที่จะถูกทำร้าย

เราถูกสอนให้เชื่อว่าครอบครัวเป็นพื้นที่ที่อบอุ่นปลอดภัย โรงเรียนทำหน้าที่โอบอุ้มดูแลเด็ก ครู เป็นเสมือนพ่อแม่คนที่สองของเด็ก แต่ในความเป็นจริงสถานที่ทั้งสองแห่งนี้ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของผู้คนจำนวนมาก เราควรสร้างความตระหนักในสังคมว่าโรงเรียนไม่ได้การันตีความปลอดภัยให้ลูกหลานเรา และบ้านก็ไม่ได้การันตีความปลอดภัยสำหรับเด็กหรือผู้หญิง เด็กหลายคนอาจจะถูกพ่อแม่ใช้ความรุนแรง เช่น การบังคับให้เรียนในสิ่งที่ลูกไม่อยากเรียน เรื่องการคบเพื่อน เรื่องการทำงาน หรือแม้แต่การมีคู่  ส่วนใหญ่เด็กหญิงและผู้หญิงจะถูกบังคับถูกโน้มน้าวมากกว่าเด็กผู้ชาย  

อีกสถานที่หนึ่งคือ ที่ทำงาน ซึ่งก็อาจจะเป็นที่ที่ไม่ปลอดภัยอีกเช่นกัน ถ้าเราเป็นผู้หญิง แล้วถูกลวนลามทางเพศจากเจ้านาย แต่เรายังจำเป็นต้องทำงานในองค์กรนั้น จะไปแจ้งความเขาก็ไม่ได้ เพราะเราจะถูกไล่ออกจากงาน เพราะองค์กรไม่มีกฎระเบียบความปลอดภัยเรื่องการลวนลามทางเพศ  ดังนั้นทุกๆ ที่ที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ในตอนนี้ ทุกสถาบัน ไม่ว่าสถาบันที่เราทำงาน องค์กร โรงเรียน ครอบครัว แม้กระทั่งโบสถ์ และวัด ก็ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย พี่เคยทำงานกับแม่ชีอยู่หลายปี ทราบว่าแม่ชีถูกข่มขืนโดยพระ เด็ก เณรน้อยก็ถูกข่มขืนโดยพระผู้ใหญ่ที่อยู่ในนั้น แต่เขาก็ไม่กล้าออกมาพูดเพราะกลัวจะถูกกลั่นแกล้ง กลัวจะไม่มีที่อยู่อาศัย

เพราะฉะนั้น ความรุนแรงมันจึงเกิดขึ้นได้ทุกที่ ตั้งแต่ที่บ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน โบสถ์ วัด ผู้นำชุมชน และกระบวนการยุติธรรมของไทยไม่รับประกันความปลอดภัย หรือสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ถูกกระทำที่มีแหล่งอำนาจน้อยกว่า

 

วัฒนธรรมอำนาจนิยมที่มันแพร่ขยายไปทุกระบบ ทุกสถาบัน เราจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร

เริ่มจากตัวเรานี่แหละ ถ้าเรารู้ว่าวัฒนธรรมอำนาจนิยมนี้ ท้ายที่สุดมันไม่ช่วยใครเลย กลุ่มคนที่ใช้อำนาจ พี่เป็นชาวพุทธ พี่ก็เชื่อว่าเขาไม่มีทางบรรลุธรรม เพราะเขาไม่มีธรรมะ ไม่ว่าธรรมะในแง่ของการเป็นสามี เป็นครู เป็นผู้ใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นผู้นำสถาบัน หรือเป็นผู้นำประเทศ พวกเขาไม่มีศีลธรรม ไม่มีความเมตตากรุณา ไม่มีสติปัญญา ในแง่ระดับจิตวิญญาณ พวกเขาไม่มีทางเข้าถึงพระเจ้า พี่เชื่ออย่างนี้นะ และการที่ไม่มีใครจัดการเขา ยิ่งทำให้เขาทำผิดเรื่อยๆ แล้วความรุนแรงเหล่านี้มันสร้างความเจ็บปวด ความสูญเสียต่อผู้ที่ถูกกระทำซึ่งมีจำนวนไม่น้อย ครอบครัวแตกแยก  เพิ่มปัญหาทางสุขภาพ สังคมที่มีการใช้ความรุนแรงจนเป็นเรื่องปกติ เป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่ ไม่ปลอดภัย ไม่มีสันติ และไร้ความเป็นธรรม เราอาจจะเรียกว่า เป็นสังคมที่ด้อยหรือขาดการพัฒนาก็ว่าได้

วิธีคิดและแนวทางการทำงานที่พี่เชื่อมั่นคือ พยายามจะพูดหรือสอนในงานอบรมว่า มันมีทางเลือกใหม่  พวกเราสามารถเปลี่ยนหรือสร้างวัฒนธรรมที่พี่แปลเป็นภาษาไทยเรียกว่า วัฒนธรรมอำนาจร่วม (Power Sharing Culture) การใช้อำนาจร่วมก็คือ การที่บุคคล และกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันในทุกสถาบัน และในสังคมใหญ่ แบ่งปันทรัพยากร แบ่งปันทรัพย์สิน แบ่งปันปัญญา ให้คนอื่นหรือกลุ่มอื่นที่เขาไม่มีหรือมีน้อยกว่าเรา รวมถึงการร่วมกันตัดสินใจ การปรึกษาหารือ คือการล้มล้างวัฒนธรรมที่ให้บุคคลหรือกลุ่มคนเพียงไม่กี่คนที่มีแหล่งอำนาจมาก เป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจ

การใช้อำนาจร่วมยังหมายถึง การแบ่งเบาภาระเรื่องความรับผิดชอบในทุกที่ เช่น ยกตัวอย่างในระดับครอบครัว ลูกเป็นผลผลิตของทั้งพ่อและแม่ ดังนั้นพ่อกับแม่ต้องแบ่งปันหน้าที่ความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูร่วมกัน  บ้านเป็นสถานที่ที่ทุกคนอยู่อาศัยและทำความสกปรก คนทุกเพศจึงต้องรับผิดชอบงานบ้าน   งานดูแลพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ที่เจ็บป่วยก็เป็นความรับผิดชอบของทั้งลูกชายและลูกสาว เป็นต้น

พี่คิดว่าวัฒนธรรมอำนาจร่วมเป็นทางออกแทบจะทุกวิกฤติ เราก็เห็นแล้วในหลายๆ ประเทศ และจริงๆ ประชาธิปไตยมันคือการใช้อำนาจร่วม  ผ่านการให้ประชาชนเลือกผู้แทนขึ้นมา ตอนนี้เขาถึงพยายามจะให้ทุกจังหวัดเลือกผู้ว่าฯ เองได้ เพราะว่าหากเราเลือกเขา เขาจะฟังเสียงเรา เพราะเราอยากมีตัวแทนเสียงเข้าไปบอกว่า จังหวัดเราต้องการอะไร นี่คือวัฒนธรรมอำนาจร่วม เพื่อจะจัดการทรัพยากรในหมู่บ้าน ตำบล และท้องถิ่นของเรา เพื่อบอกความต้องการของเรา เพื่อร่วมกันกำหนดชีวิตและสังคมที่เราต้องการ นี่คือการฟังเสียงกันและกัน และตัดสินใจร่วมกัน

พี่พบว่าคนรุ่นใหม่เขาไม่เอาวัฒนธรรมอำนาจนิยม เพราะเขารู้ดีว่ามันไม่ดีกับใครเลย เมื่อพี่อบรมกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่อายุ ๓๐ กว่า เมื่อเราถามเขาว่า ใครเห็นพ่อกับแม่ใช้อำนาจร่วมบ้าง เขาจะยกมือ ๓-๔ คน พอถามว่า ใครบ้างในห้องนี้ที่มีแฟนแล้วใช้อำนาจร่วมกัน เขาก็ยกมือกันพรึบเลย

พี่คิดว่าการสร้างวัฒนธรรมอำนาจร่วมมันทำได้ เพราะคนรุ่นใหม่เขาก็ไม่เอาแล้ว แล้วผู้คนในสังคมตอนนี้จำนวนไม่น้อยที่เดินกันดุ่มๆ นั้น เป็นผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงที่เต็มไปด้วยบาดแผลทางใจ (Trauma Survivor) เต็มไปหมด หมายความว่าคนกลุ่มนี้ล้วนมีความป่วยทางจิตใจและจิตวิญญาณแต่พวกเขาไม่สามารถบอกกับใครได้ ไม่ได้รับการเยียวยาที่ถูกต้องเหมาะสม เมื่อเขามีอาการเจ็บป่วย พอไปโรงพยาบาลก็ได้แค่ยาแก้ซึมเศร้า แต่ลึกๆ ไม่มีใครถามประวัติว่าอาการเจ็บป่วยที่ปรากฏทางกายนั้นมันเป็นผลของการถูกใช้ความรุนแรง ยาที่กินนั้นอาจช่วยอาการทางกาย แต่มันไม่ได้ฟื้นฟูจิตใจและจิตวิญญาณ ไม่ได้ฟื้นฟูเยียวยา คุณค่า ศักดิ์ศรี ศักยภาพ และอำนาจภายในให้พวกเขา

 

ปัญหาสังคม เรื่องภาวะซึมเศร้า ทุกวันนี้เยาวชน คนทำงาน เป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะขึ้น ที่พี่บอกว่า มาจากปมปัญหาในชีวิตของเขาตั้งแต่เด็ก แต่ในอีกมุมหนึ่งทางการแพทย์ก็จะบอกว่าเป็นเรื่องของสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล

พี่จะมองต่างนะ พี่คิดว่าเรื่องภาวะซึมเศร้า สมมุติเราซึมเศร้ามา ๓ วัน แล้วเราไม่ออกมาทำกิจกรรม เพื่อดูแลตัวเอง (Self care) แน่นอน จิตของเรา เวลาเรากลัว เราโกรธ เราเสียใจ น้อยใจ รู้สึกไร้ค่า หรือผิดหวังมันจะผลิตสารเคมีออกมา จากนั้นจิตเราก็จะได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่ผลิตออกมาทางกาย แต่ถ้าเราไปตีความว่า ทุกคนที่ซึมเศร้ามาจากสารเคมีในสมองไม่สมดุล มันคงไม่ใช่ เพราะปัญหามันมาจากสังคม เช่น ระบบเศรษฐกิจ การเมือง ปัญหาจากครอบครัว หรือถูกกระทำรุนแรงสะสมมาหลายปี ดังนั้นเราต้องไปสืบหาสาเหตุที่ทำให้คนซึมเศร้า ไปแก้ที่เหตุ แล้วอาการมันก็จะหายค่ะ

พี่เคยไปร่วมสอนพยาบาลที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ที่จังหวัดอุบลราชธานี เขาเป็นโรงพยาบาลที่ได้รางวัลเป็นโรงพยาบาลที่ดีที่สุดของประเทศในงานเกี่ยวกับสุขภาพจิต เราอบรมกับพยาบาล ทำกันอยู่ ๑ ปี พี่ก็ไปอบรม ๓ รอบ บินไปทีละ ๕ วัน หลังจากอบรม เราขอให้พยาบาลบันทึกทุกเคสที่ผู้หญิงมีอาการซึมเศร้า คือ มีผู้หญิงที่อายุมากแล้วมาหาหมอทุกเดือนเพื่อมารับยา เหมือนเราเป็นเบาหวาน แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้เขาจะมีอาการทางจิตใจ ซึมเศร้า เพราะเขาถูกกระทำความรุนแรงจากสามี แต่ไม่ได้บอกลูก ไม่ได้บอกใคร เพราะลูกไปอยู่กรุงเทพฯ เขาก็เก็บกดความทุกข์ใจเอาไว้ แต่อาการของเขาทั้งหมดมันแค่เป็นปลายเหตุจากความรุนแรงทางเพศที่ถูกกระทำจากสามี

พี่บอกพยาบาลที่มาอบรมว่าในจำนวนคนไข้ผู้หญิง ๒๐๐ กว่าคนที่รับดูแลทั้งปี ลองใช้กระบวนการปรึกษาแนวใหม่ คือฟังความทุกข์ของเขาก่อนที่จะให้ยา แล้วลองหาสาเหตุที่พวกเขาซึมเศร้า พวกเขาบอกว่าในจำนวน ๒๐๐ กว่าคน มีจำนวนถึง ๑๘๐ กว่าคนที่พบว่าถูกกระทำรุนแรงจากสามี ตัวเลขนี้มันสูงมาก เราก็เลยชวนพยาบาลที่สนใจว่าต่อไปให้ใช้กระบวนการปรึกษาแนวฟื้นฟูอำนาจและศักยภาพ (Empowerment) อย่าเพิ่งให้ยา คุณแค่ฟังเขาด้วยใจ ไม่สอน ไม่แนะนำ และไม่ตำหนิ แค่ฟังเขาก่อนแล้วสะท้อนกลับสิ่งที่เขาเล่าออกมา เช่น พูดว่า ดูเหมือนว่าคุณถูกใช้ความรุนแรง หรือสามีไม่ทำงาน กินเหล้า และมันทำให้คุณทุกข์ใจ หรือถามว่าชีวิตเขาช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง ให้เวลาเขาแค่  ๑๐ - ๑๕ นาที หรือครึ่งชั่วโมงก็แล้วแต่เคส

เรามีพยาบาล ๒-๓ คน ที่ทดลองเอากระบวนการปรึกษาแบบนี้ไปใช้ หลังจากที่พยาบาลเหล่านี้ใช้กระบวนการนี้แล้ว เขาเล่าให้ฟังว่าเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงผู้มารับบริการเล่าให้ฟังถึงความรุนแรง และเมื่อพยาบาลสะท้อนกลับไปว่า "ดูเหมือนว่า คุณถูกสามีใช้ความรุนแรงมานานจนทำให้มีอาการเจ็บป่วย" ปรากฏว่ามีผู้หญิงหลายคนต้องการหย่าสามี เพราะเขารู้ว่าเขาต้องไปตัดที่ต้นตอปัญหาความเจ็บป่วยของเขา บางคนตัดสินใจบอกลูกว่า ถูกพ่อของลูกทำร้ายเขา ขนาดอายุ ๗๐ กว่าแล้ว สามีก็ยังทำร้ายอีก พยาบาลเล่าต่อว่าผู้หญิงกลุ่มนี้ เมื่อได้ระบายความทุกข์ในใจที่เก็บสะสมไว้นานเพียงลำพัง หลายคนจะบอกว่า มาหาหมอ เพราะอยากระบาย กลับไปบ้านแล้วไม่กินยาหรอก สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ พื้นที่ปลอดภัยที่เขาจะสามารถเล่าเรื่องความรุนแรงที่เขาถูกกระทำ เพราะความทุกข์ของเขาไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อหรือระบบประสาทมีปัญหา แต่มันมาจากความกดดันเพราะมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ เช่นใช้หนี้แทนลูกชาย หรือเจอความรุนแรงจากสามี ไม่ว่าจะเป็นทางคำพูด ทางกาย หรือการถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ (Forced Sex) อายุ ๖๐ กว่าแล้ว ผู้หญิงไม่อยากมีเซ็กส์ แต่วัฒนธรรมเรามันสอนให้ผู้หญิงเก็บเรื่องทางเพศไว้เป็นความลับ ห้ามพูดเรื่องนี้กับใคร และต้องทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการทางเพศของสามี แม้จะไม่เต็มใจ หรือต้องยอมทำด้วยความทุกข์ใจก็ตาม

ผู้หญิงเราโตมาในสังคมที่หล่อหลอมไม่ให้เราสามารถพูดเรื่องเพศได้ ดังนั้นเวลามีปัญหาเรื่องนี้แล้วจะไปบอกใครได้ล่ะว่าอาการปวดท้อง ปวดหัว และความเครียดของเรามีสาเหตุจากการที่สามีบังคับให้เรามีเพศสัมพันธ์

เราได้ฟังเคสแบบนี้บ่อยๆ และถ้าไปดูรูปแบบความรุนแรงบนฐานของเพศ (Gender  Base Violence) เราจะพบว่าความรุนแรงที่ผู้หญิงเจอมีเยอะมาก แล้วในที่สุดความรุนแรงเหล่านี้ก็นำไปสู่อาการเจ็บป่วยทางกายและทางจิตใจ และอาการที่เราเรียกว่า ภาวะซึมเศร้า แต่บ้านเราไม่เคยลงทุนวิจัยปัญหาสุขภาพที่โยงจากสังคม ว่ามันเกิดจากระบบในสังคม เกิดจากความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพของผู้หญิง

เพราะฉะนั้น การแพทย์บ้านเรา พี่จะวิเคราะห์ว่ามันเป็นการแพทย์แบบชายเป็นใหญ่ ดูเฉพาะระบบทางกาย หรืออาหารการกิน การออกกำลังกาย ไม่ได้ดูเรื่องสังคมอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะไม่โยงเรื่องเพศ หรือความรุนแรงเลย  พวกเราทำงานเรื่องนี้ในเมืองไทยมานานและทราบว่ามีการค้นพบที่สหรัฐอเมริกาเขาทำวิจัยประมาณกว่า ๔๐ ปี และพบว่ามีผู้หญิงที่มีภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นมากในสหรัฐอเมริกา และจากการทำงานวิจัยเขาพบว่าอาการซึมเศร้าของผู้หญิงเชื่อมโยงกับบทบาททางเพศที่ผู้หญิงต้องรับภาระมากมาย ทั้งงานบ้าน งานเลี้ยงลูก งานดูแลสามี งานดูแลพ่อแม่ของตัวเอง  ต้องทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้ และถูกกระทำรุนแรงจากสามี เขาจึงพบว่ามีจำนวนผู้หญิงที่เป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย เพราะในระบบโครงสร้างสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงถูกกำหนดให้รับภาระเยอะมาก เช่น ทำงานบ้าน ดูแลลูก สามี ดูแลพ่อแม่ตัวเองและพ่อแม่สามี ดูแลคนป่วยในบ้าน และทำงานเพื่อหารายได้อีก โอกาสในทางสังคม หน้าที่การงาน และระบบช่วยเหลือสนับสนุนของผู้หญิงมีน้อยกว่าผู้ชาย และผู้หญิงจะถูกละเมิดถูกทำร้าย (Abuse) มากกว่าผู้ชาย

พี่ทำงานกับผู้หญิงมาเยอะมาก ถึงตอนนี้น่าจะมากกว่าหมื่นคนแล้ว พอเราไปทำอบรมกับพยาบาลที่โรงพยาบาลศรีมหาโพธิ์ ตัวเลขของคนไข้ผู้หญิงที่ซึมเศร้ามันจึงยืนยันเรา ว่าปัญหาสุขภาวะผู้หญิงมาจากกระบบเพศ มาจากวัฒนธรรมประเพณี ไม่ได้เกิดจากระบบประสาท ติดเชื้อโรค หรือมาจากสมองผิดปกติ และพวกเขาก็ไม่ได้เป็นโรคจิตเภท ดังนั้นการใช้ยารักษาอาการเจ็บป่วยที่ปรากฏให้เห็นทางกายเป็นหลักจึงไม่ได้ผล

 

อยากให้พี่ช่วยเล่าเคสที่ช่วยให้คำปรึกษา อย่างคนที่มีภาวะทรอม่า (Trauma) [๑] ที่ถูกกระทำมาตั้งแต่เด็กแล้วปัญหาได้รับการคลี่คลาย

ปกติคอร์สอบรมเรื่องการช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำรุนแรง เราจะใช้เวลาอย่างน้อย ๕ วัน ในวันที่ ๔  เราจะพูดเรื่องทรอม่า คืออาการบาดเจ็บทางจิตใจ อาการเจ็บป่วยทางกาย ความทุกข์ทางจิตวิญญาณของคนที่ถูกใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในวัยเด็ก ซึ่งผู้ชายหลายคนประสบเพราะว่าไม่มีที่ให้พูดระบาย พี่ถามผู้เรียนว่า ใครบ้างเป็น Trauma Survivor [๒] จากความรุนแรงในครอบครัว เขาก็ยกมือกันหนึ่งในสามของผู้เรียนทั้งหมด (โดยปกติคอร์สอบรมเราจะรับประมาณ ๒๒ คน ต่อรุ่น)  ใครบ้างที่เคยถูกแฟนเก่า หรือในความสัมพันธ์ปัจจุบันถูกใช้ความรุนแรง (Abuse) มีคนยกมือหนึ่งในสาม ใครบ้างที่มีเพื่อนสนิท มีพ่อ แม่ พี่ น้อง ที่ถูกกระทำความรุนแรง ก็มีคนยกมือจำนวนเกินครึ่ง และใครบ้างที่ทำงานช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำรุนแรง มี ๓-๔ คน ที่ยกมือทุกรอบ นี่แสดงว่าในสังคมเรามีคนถูกใช้ความรุนแรงจำนวนมาก ในการอบรมเราเน้นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนมาทบทวนเรียนเรื่องความรุนแรงผ่านประสบการณ์ชีวิต บ่อยครั้งมากที่คนมาเรียนจะเล่าเรื่องความรุนแรงตั้งแต่ช่วงเช้าของวันแรก เขาได้ยินว่าหลักสูตรนี้มันช่วยเยียวยา มันช่วยเปลี่ยนชีวิตคน เขาจึงตั้งใจมาเพื่อจะทำงานกับตัวเอง

เมื่อกลุ่มผู้เรียนมีความไว้วางใจกัน คนที่มีบาดแผลเขารู้ว่ามีพื้นที่ปลอดภัย เขาจึงเล่า เรารู้ว่าเขามีวิธีการเยียวยาดูแลตัวเอง เราแค่เป็นประจักษ์พยานรับฟัง สติ ปัญญา ความเข้มแข็งของพวกเขา จากนั้นเราแค่ถามเพื่อนร่วมเรียนคนอื่นๆ ให้แบ่งปันกระบวนการเยียวยาทรอม่า และเราเพิ่มเติมวิธีการที่เรารับรู้ว่ามีการใช้กันอย่างเป็นสากล

ในโลกตะวันตก มีงานทดลองและงานวิจัยเรื่องการเยียวยาทรอม่ากันเยอะมาก คนที่มาเรียนก็มีวิธีของตัวเองอยู่แล้ว แต่บางวิธีอาจจะไม่ได้ผลเพราะมันแค่เป็นการรับมืออาการทรอม่าแบบให้ผ่านภาวะวิกฤติของอาการทรอม่า (Coping Mechanism) แต่มันไม่ยั่งยืน หรือให้โทษในภายหลัง บางคนทำไม่ต่อเนื่อง หรือทำแค่วิธีการเดียว ซึ่งมันไม่พอสำหรับคนที่มีอาการหนักหรือสะสมมายาวนาน เพราะว่าองค์ความรู้เรื่องนี้ในบ้านเรามันไม่มี เท่าที่ทราบ เราไม่มีโครงการเยียวยาทรอม่าในเมืองไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Trauma Survivor มันเป็นปัญหาสุขภาพที่ผู้หญิงเจอมาก ในระบบการแพทย์แบบชายเป็นใหญ่ มันจึงไม่ได้รับความสำคัญ เพราะมันเป็นปัญหาหรือประเด็นของผู้หญิง และในสังคมชายเป็นใหญ่โดยรวมมันก็ไม่มีสถาบันหรือระบบรองรับปัญหาของผู้หญิงและเด็กอยู่แล้ว

เราพบคนที่เคยถูกกระทำรุนแรงและยังมีความทุกข์จากอาการทรอม่าในทุกกลุ่มที่เราอบรมเรื่องนี้ เวลาเราพูดเรื่องทรอม่า สำหรับศูนย์ฯ เรา มันคือการทำให้ผู้หญิง หรือคนข้ามเพศ และผู้ชายที่เคยถูกกระทำรุนแรงกลับมารักตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง แล้วมาวางแผนดูว่ามีวิธีการดูแลทรอม่าตัวเองอย่างไรไม่ให้มันกระทบชีวิตและสุขภาพของเรา ในพื้นที่ๆ ปลอดภัย หลายคนจะแบ่งปันวิธีการเยียวยาฟื้นฟูสุขภาวะ ฟื้นฟูชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณของพวกเขา  เราเรียนรู้และเป็นประจักษ์พยานแก่กันและกัน บางคนพอพูดเรื่องนี้เขาก็จะพูดถึงเรื่องราวของแม่ เรื่องอาการของแม่ที่ถูกพ่อทำร้าย พี่จะสะท้อนกลับว่า ฟังดูเหมือนว่า แม่คุณมีอาการทรอม่าเยอะ เขาบอกใช่ แต่เขาไม่รู้มาก่อนว่ามันคือทรอม่า เพราะแม่เขาไม่พูดว่าถูกพ่อทำร้าย พี่จึงเห็นว่าความรู้เรื่องนี้มันสำคัญมาก พอคนมีความรู้ที่ถูกต้องเขาก็เอากระบวนการเยียวยาไปใช้ เอาไปช่วยคนในครอบครัว

 

วิธีการเยียวยาทรอม่าที่สำคัญที่สุด ขั้นแรกคือ การฟังคนที่ถูกกระทำรุนแรงด้วยใจจริงๆ ฟังด้วยความใส่ใจ ฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจ ไม่สอน ไม่แนะนำ ไม่ตำหนิ ไม่ถามแทรก ให้เขาเล่าเท่าที่เขาอยากเล่า อนุญาตให้เขาร้องไห้โดยที่เราไม่ต้องปลอบ เพียงแค่ให้เขาได้สัมผัสความทุกข์ที่เขาเก็บงำไว้นาน ให้เขาเล่าเพื่อระบายความจริงแค่นั้นเอง หลายคนที่ไปโรงพยาบาลเล่าให้เราฟังว่าเวลาไปหาหมอ ไปหาจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลนั้น เจ้าหน้าที่ไม่มีเวลา หมอไม่ถามอะไร ไม่ฟังอะไรลึกซึ้งมาก จัดใบสั่งยาให้ บางคนก็โดนตำหนิหากไม่กินยาตามที่หมอสั่ง และหากอาการไม่ดีขึ้น เขาก็ให้ยาเพิ่ม  แต่คนที่มีความรู้เรื่องทรอม่า เขาก็รู้ว่าอาการที่เขาเป็นไม่ได้มาจากโรคประสาท หรือเขาเป็นโรคจิตเภท แต่มันเกิดจากปัญหาความสัมพันธ์ที่เขาอยู่กับคู่ที่ใช้ความรุนแรง หรือปัญหาจากวัยเด็กที่ถูกใช้ความรุนแรงและมันส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงวัยผู้ใหญ่  เมื่อคนที่ถูกใช้ความรุนแรงเขาเล่าเรื่องราวให้ฟังต่อ พี่ก็แค่พูดสะท้อนกลับว่า ฟังดูเหมือนว่าคุณอยู่ในความสัมพันธ์ที่คุณถูกใช้ความรุนแรง เพราะเขาทำร้ายคุณ หลายคนก็จะบอกว่า คิดจะหย่า คิดจะเลิก แต่ห่วงลูกว่าจะไม่มีพ่อ และหลายคนเขาก็ไม่เคยบอกลูก เพราะกลัวลูกจะเครียดและทำให้เสียการเรียน เพราะลูกอยู่กรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่น หากพบกรณีแบบนี้ พี่ก็จะพูดซ้ำว่าความทุกข์ของเขาเกิดจากความรุนแรงที่สามีกระทำ แต่การไม่บอกลูกจะยิ่งทำให้เขาโดดเดี่ยว และเขาควรบอกความจริงแก่ลูก เพราะลูกทุกคนคงอยากให้แม่มีความสุขและปลอดภัย  ผู้หญิงไทยเราถูกหล่อหลอมด้วยคำสอนของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ว่า การเป็นแม่ที่ดีนั้นต้องอดทนเพื่อลูก ไม่ควรจะหย่า เพราะการหย่าคือการเห็นแก่ตัว มันคือการไม่รักลูก และเรายังถูกสอนผิดๆ ต่อๆ กันมาว่า ลูกจะมีปมด้อยหากพ่อแม่แยกทางกัน  หากพบว่าผู้หญิงมีความเชื่อฝังหัวแบบนี้พี่ก็จะพูดว่า ที่คุณคิดจะหย่าเพราะคุณรักตัวเอง คุณรู้ดีว่ามันแย่มาก และฟังดูเหมือนว่าคุณต้องการมีชีวิตที่ปลอดภัยและมีความสุข  พี่จะสนับสนุนให้เขาบอกความจริงแก่ลูก และให้บอกลูกด้วยว่าความสัมพันธ์ที่จะสิ้นสุดลง คือความสัมพันธ์ระหว่างผัวเมีย คือความสัมพันธ์เฉพาะระหว่างผู้ใหญ่สองคน แต่เด็กจะยังมีทั้งพ่อและแม่ที่ต่างทำหน้าที่ของตัวเอง จากนั้นพี่จะให้ข้อมูลการทำงานวิจัยของประเทศสหรัฐอเมริกาที่พบว่าเด็กที่โตมาในครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรงจะส่งผลต่อสุขภาวะของเด็กมากมาย เช่น ส่งผลต่อการเรียนและความมั่นคงทางจิตใจของเด็ก  หากเขายังอยู่ในความสัมพันธ์ที่ถูกใช้ความรุนแรงทั้งลูกและเขาจะได้รับผลกระทบที่จะส่งผลต่อชีวิตอย่างยาวนาน

พี่ต้องค่อยๆ ทำงานกับผู้หญิงที่ถูกหล่อหลอมสอนให้รักษาสถาบันครอบครัว โอบรับแม้กระทั่งตัวเองเสี่ยงที่จะถูกใช้ความรุนแรงจนเสียชีวิตเพราะความรักลูก เพราะว่าผู้หญิงถูกบอกว่าต้องรักลูก ต้องเสียสละเพื่อลูก ในขณะที่ตัวเองถูกใช้ความรุนแรง ไม่มีความสุข ไม่มีความปลอดภัยและถูกละเมิด ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการเติบโตมาในวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงไม่ได้ถูกสอนให้รักและเห็นคุณค่าของชีวิตตัวเอง แต่ถูกสอนให้รักและดูแลคนอื่น เช่น รักผัว รักลูก ดูแลพ่อแม่ เสียสละให้น้อง เป็นต้น เพราะฉะนั้นในกระบวนการช่วยเหลือเยียวยา เราจึงต้องรื้อถอนความเชื่อฝังหัวจากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่

 

เยาวชนยุคนี้มีคนที่ผ่านการพยายามฆ่าตัวตายมากขึ้นด้วย

พี่คิดว่าเราล้มเหลวเรื่องระบบการศึกษา พี่มีโอกาสได้อบรมครูจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นครูประถม มัธยม และอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ มีเด็กในมหาวิทยาลัยที่พยายามฆ่าตัวตายเพราะอาจารย์ผู้สอนไม่มีทักษะความรู้ด้านการปรึกษา (Counseling)   เมื่อต้องอบรมครูอาจารย์ พี่บอกพวกเขาว่า คุณไม่ต้องทำอะไรมากเลย คุณแค่ฟังเด็ก คุณแค่ฟังให้เขาระบาย ทำให้เขารู้สึกปลอดภัยกับผู้ใหญ่เช่นคุณ  เพราะเด็กเขาไม่มีที่พึ่ง พ่อแม่ไม่ฟังเขา  เราก็ต้องทำให้ครูเข้าใจสภาพพ่อแม่ไทยที่ต้องการให้ลูกเป็นตัวแทนของตัวเอง ต้องการให้ลูกเรียนหมอ ต้องการให้ลูกเป็นหน้าตาของครอบครัว ให้ลูกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดังนั้นเมื่อพ่อแม่ไม่ฟังลูก  เด็กและเยาวชนเขาก็ไม่มีคนอื่นที่เขาจะสามารถไว้ใจระบายความจริงในใจให้ฟัง แล้วในสังคมปัจจุบันนี้ เด็กเยาวชนก็อยู่กับเครื่องมือสื่อสารมาก มันทำให้เขาไม่สามารถอยู่กับตัวเองได้ เวลาเขาอยู่กับเพื่อนต่างคนก็ต่างนั่งดูจอของตัวเอง ไม่ได้อยู่กับเพื่อนเลยจริงๆ ดังนั้นเราจึงอยู่ในสังคมหรือครอบครัวที่ไม่มีใครฟังใคร ไม่มีใครรองรับปัญหาของใครได้ แล้วถ้าข้างในจิตวิญญาณของเด็กเยาวชนไม่มั่นคง เขาก็มีปฏิกิริยาตอบโต้กับความโกรธ หรือความผิดหวังเร็วมากเลย คือทำไปตามอารมณ์ เช่น หากวันนี้น้อยใจแม่ หรือน้อยใจใครที่เขาใกล้ชิด เขาสามารถฆ่าตัวตาย หรือไม่ก็ไปทำร้ายคนที่ทำให้เขาผิดหวังได้เลย

พี่คิดว่าภาวะจิตวิญญาณ ภาวะความมั่นคงภายในของเด็กวัยรุ่นนี่เปราะบางมาก สาเหตุหนึ่งคือ พ่อแม่ของพวกเขาก็ไม่มีภาวะความมั่นคงข้างใน สอง โรงเรียนก็ไม่ได้สอนเรื่องความมั่นคงด้านจิตใจ จิตวิญญาณ เรื่องความมั่นใจหรือการเห็นคุณค่าในตัวเอง โรงเรียนไปเน้นทางวิชาการที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับชีวิตเด็กเลย นี่เป็นปัญหาหนักของกระทรวงศึกษาฯ ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ แม้กระทรวงจะพูดเรื่องปฏิรูปการศึกษามานานกว่า ๓๐ ปีแล้วก็ตาม  ดังนั้นหากทั้งสองสถาบันที่เด็กเยาวชนใช้ชีวิตของพวกเขามากที่สุดไม่สามารถให้คุณค่า ความมั่นใจ แรงบันดาลใจ ความสุข และความมั่นคงทางจิตใจแก่พวกเขาได้ พวกเขาก็จะเคว้งคว้างไปตามกระแสสังคม โดยเฉพาะสื่อที่เสนอเรื่องราวที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตพวกเขา

เพราะเด็กวัยรุ่นเขามี ๒ ที่ที่สำคัญในชีวิต คือ ที่บ้าน กับที่โรงเรียน ที่เป็นสถานที่ที่เขาใช้ชีวิตมากที่สุด ถ้าที่ใดที่หนึ่งเป็นหลักของเขา เขาจะโอเค แต่หากว่าทั้ง ๒ ที่ไม่เวิร์ก เขาก็จะหลุดเลย เพราะฉะนั้น คนที่คิดฆ่าตัวตายจะเป็นเด็กวัยรุ่นเยอะมาก เพราะสถาบัน ๒ สถาบันนี้มันล้มเหลว เวลาที่พี่ให้คำปรึกษา (Counseling) แก่เยาวชน จะรู้เลยว่าทั้งสองสถานที่นี้ไม่ได้เป็นที่พึ่งทางจิตใจให้แก่พวกเขาเลย หลายคนไม่ได้ฆ่าตัวตายเพราะยากจนนะ ที่บ้านมีพร้อม กินได้ อยู่ดี แต่มีเรื่องการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องของผู้ปกครอง การที่เขาไม่มีที่พึ่งทางใจ พี่ว่านี่เป็นวิกฤติสำหรับชีวิตเด็กและเยาวชน

พี่คิดว่า ตรงนี้กลไกของรัฐและชุมชน กลไกของระบบต่างๆในสังคม จะต้องเข้ามาช่วยส่งเสริมดูแลโอบอุ้มชีวิตของเด็ก เยาวชน และตัวผู้ปกครองเองต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเลี้ยงดูลูกจริง ไม่ใช่เลี้ยงตามสื่อ เลี้ยงตามกระแสสังคมที่เน้นวัตถุ หรือเลี้ยงลูกหลานตามที่ตนเองเคยถูกเลี้ยงมา วิชาเรื่องการเลี้ยงลูกต้องเป็นความรู้ที่กระจายไปในสังคมทุกระดับ

โรงเรียนของรัฐและเอกชนจะต้องลงทุนจ้างนักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยา แต่หากนักจิตวิทยาในโรงพยาบาลมีไม่พอในประเทศนี้ ก็จ้างนักสังคมสงเคราะห์ทำงานด้านนี้แทน โรงเรียนและมหาวิทยาลัยประเทศที่ก้าวหน้าและห่วงใยอนาคตของเด็ก เยาวชน เขาจะมีครูที่ดูแลเรื่องนี้ตั้งแต่ระดับมัธยมไปถึงมหาวิทยาลัย แต่โรงเรียนของไทยเรามีครูฝ่ายปกครองซึ่งไม่ใช่ผู้มีความรู้เรื่องการปรึกษา (Counselor) ครูฝ่ายปกครองในโรงเรียนไทยจึงเป็นผู้ใช้อำนาจลงโทษเด็ก เรื่องการแต่งตัว ผมเผ้า ซึ่งไร้สาระมาก  และไม่มีความรู้เรื่องจิตวิทยาเด็กเลย เวลาเราไปประเทศที่เจริญ เขามีนักสังคมสงเคราะห์ มีนักจิตวิทยา (Psychologist) ในโรงเรียน เขามีระบบที่เอื้อเด็กมาก พอมานึกถึงโรงเรียนไทยและเด็กไทยแล้วรู้สึกหดหู่และสงสารเด็กมาก

พี่คิดว่า ถ้ากระทรวงศึกษาฯ จะปฏิรูปจริง หนึ่ง ต้องแก้หลักสูตรและวิธีการสอนอย่างจริงจังเสียที แต่ระบบที่จะช่วยได้ไม่ยากคือ ต้องจ้างนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ (Social Worker) หรือใครที่ได้ผ่านการอบรมเรื่องการเสริมพลัง (Empower) เด็ก มีความรู้เรื่องจิตวิทยาเด็ก เป็นที่พึ่งของเด็ก เพราะครูที่สอนประจำ งานเขาเต็มหรือล้นแล้ว เพราะครูมีงานที่ไม่เกี่ยวกับการสอนมาดึงเวลาและพลังชีวิตพวกเขาไปหมดแล้ว และเราก็มีครูจำนวนไม่น้อยที่ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจเด็ก เพราะพวกเขาเข้าไปเป็นครูเพราะอยากรับราชการเพื่อความมั่นคงและสวัสดิการของตนเองและครอบครัว  ครูกลุ่มนี้แม้จะมีเวลาหรือรู้ว่าเด็กมีปัญหาพวกเขาก็ไม่สนใจว่าเด็กคนไหนมีปัญหาอะไร

ดังนั้นกระทรวงศึกษาฯ และโรงเรียนจะต้องลงทุนเพื่อเด็ก หากโรงเรียนไม่มีระบบที่สนับสนุนเด็ก เด็กต้องเจอปัญหาต่างๆ ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เด็กก็จะหลุดจากระบบ แล้วเราก็ทราบกันจากสื่อโซเชียลว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ถูกละเมิดทางเพศทั้งจากผู้ใหญ่ในโรงเรียน ผู้ใหญ่ในครอบครัว และผู้ใหญ่ในชุมชน  เราจึงเห็นข่าวเด็กฆ่าตัวตาย และที่เป็นเด็กยากจนก็มีจำนวนมาก ดังนั้นกระทรวงศึกษาฯ ต้องมีคนเหล่านี้ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ หรือถ้าไม่สามารถจ้างได้ ต้องมีครูมาทำหน้าที่นี้ครึ่งเวลา ฝึกฝนอบรมให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ครูกลุ่มนี้ ฝึกฝนให้เขาเป็นผู้ให้การปรึกษา ให้ครูฝ่ายปกครองมาอบรมก็ได้ ให้เข้าใจเรื่องจิตวิทยาที่ทันสมัย เข้าใจเรื่องความรุนแรง แล้วก็สามารถเอ็มพาวเวอร์เด็กได้จริง

 

วิกฤติของประเทศ  คือพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบคอนโทรล หรือไม่ก็เลี้ยงแบบปล่อยปละละเลย

วิกฤตินี้เป็นผลพวงของวัฒนธรรมอำนาจนิยม พ่อแม่จำนวนไม่น้อยยังเลี้ยงลูกแบบเก่า คือควบคุมลูก เพราะเราถูกสอนมาให้เชื่อว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี อันนี้น่ากลัวมาก น่ากลัวที่สุด แล้วตอนนี้คนไทยยังเชื่อยังฝังใจว่า การควบคุม การทำร้ายลูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตามนั้นเป็นเรื่องปกติ เพื่อจะให้ลูกได้ดีเพราะพ่อแม่รักลูก และมีผู้ปกครองอีกกลุ่มหนึ่งที่เคยโดนพ่อแม่ทำร้าย  เคยยากจนลำบากมาก่อน พอตอนนี้มีอยู่มีกินแล้ว ก็เลี้ยงลูกตามใจลูกมาก ไม่ต้องทำงานอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นงานบ้านหรืองานของครอบครัว ให้เรียนอย่างเดียว (ซึ่งก็ฝากความหวังไว้กับโรงเรียนไม่ได้เพราะหลักสูตรของโรงเรียนไทยมันล้าหลังและไม่เชื่อมโยงกับชีวิติของเด็ก) อยากได้อะไรก็ประเคนให้ลูกเพราะมีลูกคนเดียวหรือสองคน การเลี้ยงลูกทั้งสองแบบนี้มันสุดโต่ง ไม่เป็นผลดีต่อทั้งลูกและผู้ปกครองเอง

พี่ก็เห็นว่ามีหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก (Parenting) ต่างๆ ก็เยอะนะ แต่ก็จะเหมาะกับคนชั้นกลางที่เขาหาอ่าน มีเวลาและสนใจที่จะเรียนรู้ แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นพ่อแม่ทั่วไปสนใจก็จะเป็นเรื่องอาหารการกิน การแต่งตัว การเรียนพิเศษเพื่อลูกจะได้สอบเข้าโรงเรียนดังๆ ไม่ใช่เรื่องการสร้างความมั่นใจให้ลูก มีภาวะผู้นำ มีความคิดสร้างสรรค์ ให้ลูกเห็นคุณค่าและเคารพตัวเอง ถ้าไปดูประเทศที่เจริญก้าวหน้า จะเห็นว่าบนแผงหนังสือเขามีหนังสือ Parenting เยอะมาก หรือมีคู่มือก้าวหน้าเรื่องเลี้ยงลูกวัยรุ่น ซึ่งบ้านเรายังมีให้เห็นน้อยมาก ตอนนี้พี่เลยเขียนหนังสือขึ้นมา เขากำลังพิมพ์อยู่ เรื่องเลี้ยงลูกให้ถูกยุคสมัย มีหัวข้อมากมายตั้งแต่การใช้อำนาจ การสอนเรื่องเพศ เรื่องการรับฟังลูก เวลาลูกมีปัญหาที่โรงเรียน จะสนับสนุนลูกอย่างไรให้แก้ปัญหาแบบสันติวิธี รวมถึงหัวข้อการเลี้ยงลูกหากเราเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อเลี้ยงเดี่ยว ถ้าเราเป็นพ่อแม่เพศเดียวกัน ถ้าเราเป็นตายายที่ต้องเลี้ยงดูหลาน เราจะเลี้ยงแบบไหนให้เขามีฐานที่จะรับมือกับปัญหาและวิกฤติในชีวิต หรือในสังคมเรา

พี่คิดว่า เรื่องการเลี้ยงดูลูก (Parenting) หรือการเป็นพ่อแม่แบบใหม่ ต้องมีสื่อของรัฐ มีรายการทีวีให้ดู มีการพูดคุยกันไปทั่ว และอาจต้องทำผ่านการอบรมเฉพาะ คือเรามีการอบรมของหน่วยงานรัฐเยอะมาก แต่มันไม่ได้ประโยชน์ไง พี่อยู่บ้านเนี่ย มีพ่อแม่ผู้ปกครองมาหาบ่อย มาถามปัญหาซึ่งเรารู้เลยว่าเขาไม่รู้ แค่การบ้านลูกเขายังไม่รู้ว่าจะช่วยยังไง แล้วลูกก็โดนตีหรือโดนตำหนิจากครู  มีปัญหากับเพื่อนในห้อง หรือรุ่นพี่ คือผู้ปกครองเขามาหาเพื่อถามทุกเรื่อง พี่ก็เลยรู้ว่า พ่อแม่รักลูกนะ แต่ไม่มีความรู้ (Knowledge) ที่จะช่วยลูกหลานในยุคนี้ที่เราต้องเผชิญปัญหาหลายด้าน และสังคมมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนหลายคนที่เป็นผู้ปกครองเขาตั้งหลักไม่ทันเพราะไม่มีความรู้เพียงพอ

นี่คือวิกฤติของสังคมนะ เราถูกบอกโดยนักการเมือง รัฐบาล และนักเศรษฐกิจ ให้เห็นแต่เรื่องเศรษฐกิจว่าเป็นวิกฤติของประเทศ  คนไทยส่วนใหญ่เลยไม่สนใจปัญหาของคนในสังคมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เขาเป็นกำลังสำคัญที่จะพัฒนาและฟื้นฟูปัญหาเศรษฐกิจของเราให้ดีขึ้น หากพวกเขาได้รับการสนับสนุนทางด้านการศึกษา ได้โอกาสและการฝึกฝนที่ดี เรากำลังเจอปัญหาวิกฤติในการเลี้ยงดูลูก และการสนับสนุนเยาวชนของเราให้สมยุคสมัย  โรงเรียนไม่มีหลักสูตรหรือวิธีคิดอะไรใหม่ที่สมสมัยเลย

พี่ก็คิดอยู่ว่าพวกเราที่สนใจประเด็นนี้จะทำอะไรกันได้บ้าง เห็นว่ามีสมาคมผู้ปกครองซึ่งไม่มีแหล่งอำนาจหรือบทบาทอะไรเลย แค่ถูกตั้งขึ้นมาเฉยๆ ให้มีองค์กรนี้  ในขณะที่สมาคมผู้ปกครองของประเทศที่เขาเจริญ เขาเข้มแข็งมาก พี่เคยไปเมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลียเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน เพื่อนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เขาบอกว่า เธอรู้ไหม สมาคมผู้ปกครองเขาพบว่า ลูกเขาสุขภาพแย่ ขนาดอนุบาลต้องกินอาหารทำลายสุขภาพ (Junk Food) [๓] ที่จำหน่ายในโรงอาหาร ของโรงเรียน เขาก็ลุกขึ้นมาประท้วงจนกระทั่งทั้งรัฐวิคตอเรียประกาศเป็นกฎเลยว่าโรงเรียนจะต้องไม่อนุญาตให้พ่อค้าแม่ค้านำอาหารจังก์ฟู้ดมาขายให้ลูกเขา  

สมาคมผู้ปกครองในบ้านเราถูกละเลย ถูกตั้งขึ้นมาเฉยๆ มันไม่ทำงาน ผู้ปกครองเข้าใจว่าลูกไปโรงเรียนก็จบ หายห่วงแล้ว ไม่ได้รู้ว่าโรงเรียนไม่ได้การันตีความปลอดภัย  แต่หากโรงเรียนอยากสอนหลักสูตรอะไรที่ก้าวหน้า ชักชวนสมาคมผู้ปกครอง ผู้นำชุมชนท้องถิ่น ร่วมกับพวกศิษย์เก่าที่จบโรงเรียนนั้นไปแล้ว มาทำงานร่วมกันกับโรงเรียน อันนี้พี่ว่าน่าจะช่วยได้ กระทรวงต้องกระจายอำนาจและกระจายทรัพยากรจริงๆ

 

เรื่องวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อม พี่ทำงานเห็นปัญหานี้อย่างไรบ้างว่า ควรแก้ไขอย่างไร

พี่เห็นว่าที่ผ่านมา ๑๐ กว่าปี บ้านเรามีการสอนเรื่องเพศและเพศวิถี แต่โรงเรียนหรือกระทรวงศึกษาฯ มีเวลาให้สอนเรื่องนี้น้อยไป และทราบมาว่า หลายโรงเรียนเขาไม่ให้สอนเลย ไปเน้นแต่วิชาการที่เด็กไม่ได้ประโยชน์ในการนำมาใช้ในชีวิตจริง  ขณะเดียวกันถ้าเราจะสอนเรื่องเพศศึกษากับเด็ก พี่คิดว่ามันจะต้องล้อไปกับหลักสูตรอื่นๆ ที่ต้องสอน เช่น สอนเด็กเรื่องความมั่นใจในตัวเอง ความเป็นผู้นำ สนับสนุนเรื่องการเล่นกีฬา งานศิลปะและดนตรี การศึกษาธรรมชาติ และงานอาสาสมัครช่วยเหลือชุมชนและผู้คนที่เขาอยู่อาศัย เพราะในวัยรุ่นส่วนหนึ่งมันก็จะมีเรื่องฮอร์โมนทางเพศ เรื่องความต้องการทางเพศ เรื่องที่อยากรู้ อยากลอง หากเราสอนแต่เรื่องนี้โดยไม่ผนวกเรื่องอื่นๆ ที่ว่ามาเข้าไปในโรงเรียนแล้ว เรื่องเพศอาจจะกลายเป็นเรื่องเดียวที่เขาไปโฟกัสโดยเฉพาะ เพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาให้เขา ดังนั้นโรงเรียนจะต้องสอนวิชาอื่นๆ ด้วยที่จะทำให้เด็กวัยรุ่นได้ใช้พลังชีวิตและความสามารถของพวกเขาในเรื่องที่จะเป็นฐานของชีวิตพวกเขาในอนาคต  แต่หากเราไปสอนเรื่องเพศอย่างเดียว แน่นอนเด็กสมัยนี้เขาเรียนรู้ผ่านสื่อมากมายเองอยู่แล้ว แต่เวลาเขาจะมีเพศสัมพันธ์กัน เขาไม่มีสติ เขาก็ไม่ป้องกัน ผู้ใหญ่หลายคนยังไม่มีสติเรื่องนี้ โดยเฉพาะหากเด็กผู้ชายไม่ถูกสอนให้ป้องกัน เคารพ และมีความรับผิดชอบเมื่อจะมีเพศสัมพันธ์

ก่อนหน้านี้พี่เคยไปอเมริกาบ่อย เวลาไปอยู่ต่างประเทศ เห็นพ่อแม่เขาเลี้ยงลูกวัยรุ่น พอช่วงวัยรุ่นปุ๊บ พ่อแม่จะใส่ใจมากเป็นพิเศษเลย เพราะเขารู้ว่าเด็กสามารถไปติดยาเสพติด หรือว่าไปมีเพศสัมพันธ์โดยไม่รับผิดชอบ แล้วก็ท้องไม่พร้อม เพราะฉะนั้น ช่วงนั้นเขาจะพาลูกๆ ทั้งผู้หญิงผู้ชายไปเล่นกีฬา เล่นดนตรี ทำงานศิลปะ ไปเป็นอาสาสมัคร หรือไปอยู่กับธรรมชาติ

เราต้องสอนเรื่องเพศให้ลูกหลานใหม่ เพราะเรารู้ดีว่าครูคงไม่สอนเรื่องนี้ให้ลูกหลานเราในโรงเรียน สิ่งที่เราต้องสอน หนึ่ง ถ้าเขาคิดจะมีเพศสัมพันธ์ เขาต้องรู้ว่าไม่บังคับขืนใจใคร สอง มีเพศสัมพันธ์แล้วต้องป้องกัน คือไม่ได้รู้แค่ว่ามีเพศสัมพันธ์แบบไหนได้บ้าง เขาต้องเรียนรู้แต่ต้องมีสติปัญญากำกับ เพราะความรับผิดชอบหลักของเขาคือต้องเรียนให้จบ เพราะไม่งั้นเขาจะหางานดีๆ ได้ยากมาก ก็จะเป็นภาระพ่อแม่ หากท้องในวัยเรียน ผู้หญิงก็จะถูกกดดันให้ออกจากโรงเรียน เรียนไม่จบ จะมีปัญหาตามมามากมายเพราะว่าสภาวะที่เขาไม่พร้อมที่จะเป็นแม่หรือเป็นพ่อคน พ่อแม่วัยรุ่นไม่ใช่สถานการณ์ที่เราควรจะมีในสังคมค่ะ เพราะเขาไม่พร้อมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น สติปัญญา การเงิน ความรู้ และความพร้อมที่จะเป็นพ่อแม่

พี่อาศัยอยู่ในชนบทที่เด็กท้องในวัยรุ่น ระดับมัธยมค่อนข้างเยอะ ในที่สุดตายายปู่ย่าก็ต้องมาช่วยกันเลี้ยง และเป็นการเลี้ยงที่ไร้คุณภาพ เพราะปู่ย่าตายายไม่ได้อยากเลี้ยงเด็กตอนแก่ หลายคู่ก็แยกกันไปหลังจากผู้หญิงคลอดลูก และหลายรายทั้งหญิงชายจากนั้นก็มีลูกกับแฟนใหม่อีก เพราะเขาต้องการเพียงแค่มีเซ็กส์กัน ไม่ได้ต้องการสร้างครอบครัว หรือความสัมพันธ์ที่ยืนยาว พยาบาลที่ทำงานในภาคอีสานบอกว่า พวกเขาเห็นแม่วัยรุ่นเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกอย่างมีคุณภาพได้เพราะสภาวะที่ไม่พร้อมที่กล่าวมาข้างต้น ปัญหาวิกฤติอีกเรื่องคือ จำนวนวัยรุ่นที่ติดยาเสพติดมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย พี่ได้ยินพ่อแม่พูดว่า ขอให้ลูกชายอย่าติดยา ส่วนที่มีลูกสาว ก็ขออย่าให้ท้องวัยเรียน

ความรู้กับสติปัญญามันต้องไปด้วยกัน เรารู้ว่าเราจำเป็นต้องสอนหลักสูตรเรื่องเพศ แต่ขณะเดียวกัน หลักสูตรอื่นๆ ในโรงเรียนต้องขยับด้วย เรื่องกีฬา เรื่องศิลปะ เรื่องดนตรี มีอะไรมากมายให้เยาวชนเลือกด้วย แล้วสอนเรื่องการมีสติปัญญากำกับในเรื่องการจะมีเพศสัมพันธ์ของเด็กเยาวชน ไม่ใช่ว่าเรื่องพูดได้ ทำได้ มีได้ แต่ไม่รับผิดชอบอะไรเลย ไม่ว่าเราจะสอนอะไร เราต้องมีสติปัญญากำกับ ไม่ใช่สอนแค่เทคนิค วิธีการ หรือว่าพูดได้ ทำได้ เรามีสิทธิเสรีภาพ แต่ไม่มีสติ ไม่มีปัญญากำกับ พอเด็กไปเพ่งสนใจเรื่องนี้เป็นหลัก เขาก็ไม่สนใจเรื่องอื่น เรื่องนี้พ่อแม่ ผู้นำชุมชน และโรงเรียนต้องหันมาทำงานร่วมกัน

เพื่อนพี่ชาวต่างชาติ ลูกเขาอายุ ๑๗  ปี พ่อแม่เขากังวลนะ เขาประกบ แต่ไม่ได้ประกบแบบอำนาจเหนือ (Power Over) เขาพูดกับลูกชายว่า ลูกมีแฟนใช่ไหม ลูกต้องรู้นะว่าถ้าลูกจะมีเซ็กส์ ลูกต้องป้องกัน และลูกจะไปบังคับขืนใจแฟนไม่ได้ เขาสอนลูกชายแบบนี้ เขาบอกว่ามีแฟนได้ แต่ต้องรู้ว่าตัวเองต้องเรียนเป็นหลัก เขาไม่เลี้ยงลูกแบบตามใจ ลูกอยากจะมีรถของตนเอง อยากจะไปเที่ยว ก็ต้องหาเงินเอง ลูกเขาไปทำงานเสิร์ฟร้านอาหารไทย ครอบครัวนี้ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ยากจนนะ แต่เขาสอนลูกให้มีความรับผิดชอบ เราต้องสอนต้องฝึกความรับผิดชอบทุกเรื่องให้ลูกค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศสัมพันธ์ การทำงานช่วยเหลือพ่อแม่ ความรับผิดชอบเรื่องเรียน มนุษย์ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบกับพฤติกรรมตัวเอง ถ้าเราเลี้ยงเด็กไม่ให้มีความรับผิดชอบ สังคมก็แย่สิ ใครอยากจะทำอะไรก็ได้ ความรับผิดชอบมาจากการฝึกฝนค่ะ มันจะไม่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

 

ก็ยังเป็นเรื่องวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ครอบงำเราอยู่ อย่างเรื่องการสอนลูกชาย ลูกสาวให้มีระเบียบวินัยหน้าที่ต่างๆ  ที่แตกต่างกันอยู่ดี มีหนทางที่จะทำให้มันจางลง หรือหมดไปได้อย่างไร

พ่อแม่ต้องมาทำความเข้าใจว่า มันเป็นมายังไงในสังคมเรา เราถูกหล่อหลอมให้เห็นทุกอย่างเป็นเรื่องเพศไปหมด เอาเพศไปกำกับตั้งแต่งาน บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบในบ้าน ในชุมชน ในชุมชน ในวัด ในโบสถ์ ในที่ทำงาน ในสื่อและละคร ในทุกๆ ที่เลย พี่ก็จะพูดประจำในการอบรมว่า ไม้กวาดมันไม่ต้องใช้ไอ้จู๋ไปจับ แต่เอาจิตสำนึกความรับผิดชอบไปจับ เพราะฉะนั้นอย่าเอาเพศไปจับคนหรือจับงาน เราต้องเห็นคนทุกคนทำงานทุกอย่างเพราะมันมาจากการฝึกฝนค่ะ งานทุกงาน ไม่ว่างานในบ้าน งานนอกบ้าน งานในชุมชน ใครก็ทำได้ เพศไหนก็ทำได้ อันนี้เรื่องแรกนะ ที่เกี่ยวกับเพศ เราจะต้องสลายความเชื่อฝังหัวตรงนี้ก่อนเลย เพราะเรามักจะได้ยินการอ้างว่า เรื่องนี้ผู้ชายทำได้ ผู้หญิงทำไม่ได้  เวลาได้ยินแบบนี้ให้รู้ว่าเราถูกหล่อหลอมฝังหัวลึกมากในเรื่องเพศ  คือเอาเพศไปจับทุกเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องเหตุผลและอารมณ์ ที่บอกว่าผู้ชายเป็นเพศตรรกะ มีเหตุผล ส่วนผู้หญิงเป็นคนเจ้าอารมณ์ เป็นต้น สังคมแบบนี้เป็นสังคมที่ไม่โต เป็นสังคมที่ไม่พัฒนา ก็จะอยู่กันอย่างนี้ ให้ทำตามเพื่อรักษาระเบียบประเพณี ซึ่งสำหรับพี่ มันหมายถึงวัฒนธรรมความเชื่อที่มันแบ่งแยกเพศ คุณค่า จากความเป็นเพศนี่แหละ แล้วมันทำให้ผู้ชายเห็นแก่ตัว ใช้อำนาจผิดๆ ตั้งแต่ในบ้านเลย และผู้หญิงก็หมดหรือขาดโอกาสในหลายเรื่องเลย ระบบเพศแบบนี้มันผิดธรรมชาติ เพราะธรรมชาติคือ มนุษย์มีหลายเพศ และแต่ละเพศมีความสามารถเหมือนกันหมด ถ้ามีโอกาสและการสนับสนุนให้คนเท่ากันนะ ถ้าพ่อแม่ให้โอกาสลูกสาวลูกชายเท่ากัน ลูกก็จะไปไกล ความมั่นใจมันต้องมีทุกเพศ ภาวะผู้นำมันต้องอยู่ในทุกเพศ รวมถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน ความฉลาด ความกล้าหาญ สติปัญญา ความรับผิดชอบ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การใช้อำนาจร่วม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นของคนทุกเพศ ไม่ใช่เพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น

การเชื่อฝังหัวโดยเฉพาะเรื่องเพศ คือเราจะทำโดยอัตโนมัติ เราจะบอกว่า เด็กผู้หญิงอย่าทำอย่างนี้ มันไม่เรียบร้อย เรามักจะห้ามเด็กผู้หญิงไม่ให้เถียง แต่เด็กผู้ชายเถียงได้ เด็กผู้หญิงถูกสอนให้ทำตัวเรียบร้อยน่ารัก อ่อนหวาน พ่อแม่จะควบคุมลูกสาวมากจนไปล้ำขอบเขตในชีวิตเขา (Cross Boundary)  แต่จะปล่อยให้ลูกชายมีอิสระมากตามความเชื่อที่ถูกฝังหัวมาว่า มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน ส่วนลูกผู้ชายไม่มีเรื่องเสียหายมาให้พ่อแม่ หากยังเลี้ยงลูกสาวแบบนี้เขาเสี่ยงที่จะถูกเอาเปรียบ เสี่ยงที่จะถูกแสวงหาประโยชน์ หรือถูกใช้ความรุนแรง เขาจะไม่กล้ายืนยันสิทธิ หรือบอกความต้องการ หรือความรู้สึกของตัวเอง เพราะกลัวพ่อแม่จะเสียใจ และไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เพราะฉะนั้น หากยังเลี้ยงลูกชายไม่ให้ช่วยงานบ้าน ไม่ต้องดูแลพ่อแม่ มีอิสรภาพแบบไม่มีความรับผิดชอบ ลูกชายก็เสี่ยงที่จะนำปัญหามาให้พ่อแม่ เรารู้กันดีว่าผู้ชายที่ถูกอนุญาตส่งเสริมให้พัฒนาความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic Masculinity) นั้น ล้วนจบลงด้วยการติดยาเสพติด ติดการพนัน คดโกง บ้าอำนาจ ใช้ความรุนแรงแม้กระทั่งกับพ่อแม่ตัวเอง และไม่รับผิดชอบลูกเมีย เป็นต้น

ดังนั้น การเอากรอบเพศไปจับงาน ไปครอบความเป็นมนุษย์ ไปครอบความเป็นคน สิ่งนี้นี่แหละที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และโอกาสของมนุษย์คนหนึ่งที่จะโตไปพ้นความเป็นเพศ คือคนทุกคนควรจะมีศักดิ์ศรี มีความมั่นใจ มีความกล้าหาญ มีสติปัญญา มีแรงบันดาลใจ มีอะไร และเป็นอะไรได้เท่าที่เขาจะทำได้โดยไม่เอากรอบเพศมาจับ ถ้าไม่เอากรอบเพศมาจับ คุณจะเห็นแต่ความเบิกบาน ความสวยงาม การแบ่งปันอำนาจและความรับผิดชอบ ความเท่าเทียม ความเสมอภาค และการไม่เอาเปรียบกันและกัน

ที่บ้าน เป็นที่แรกที่คนเอาเปรียบ เริ่มตั้งแต่ผู้ชายไม่ต้องทำงานบ้านและไม่ต้องช่วยเลี้ยงลูก ไม่ต้องดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วย นั่นคือที่แรกที่เราสอนผู้ชายไม่ให้มีความรับผิดชอบ ไม่ให้มีความเมตตากรุณา มีความใส่ใจและเห็นอกเห็นใจ หรือมีความละเอียดอ่อน การเห็นคุณค่าและการเคารพกันและกัน ผ่านการกระทำ หากเรายังเลี้ยงให้ผู้ชายไม่ต้องรับผิดชอบตั้งแต่งานในบ้าน ทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจทั้งการเที่ยวกลางคืน การกินเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยเพื่อความสนุกสนานของตัวเอง  แน่นอนว่าเขาจะเป็นคนเห็นแก่ตัว ขาดจริยธรรมและศีลธรรม ทำอะไรตามใจตัวเอง ไม่ฟังลูกฟังเมีย รวมถึงการนอกใจภรรยาที่ทำไปแล้วไม่รู้สึกผิด พี่ถึงพูดว่าสถานที่แรกที่เราฝึกฝนการทำร้ายกันและการเอาเปรียบกัน ก็คือที่บ้าน จากเรื่องบทบาททางเพศนี่แหละ เพราะฉะนั้น ต้องรื้อถอนวัฒนธรรมนี้เลย มันไม่ใช่บ้านหรือสังคมที่น่าอยู่ มันลดทอนจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ ความรับผิดชอบต่อกันและกัน และการมีความเมตตากรุณาต่อกันและกัน

 

การกำหนดว่า เด็กผู้ชายต้องสีฟ้า เด็กผู้หญิงต้องสีชมพู แค่เรื่องนี้ก็สามารถเป็นจุดเริ่มต้นการกดขี่ในสังคมได้

มีความเชื่อกันมาผิดๆ ว่า ผู้หญิงคู่กับสีชมพู มาจากความเชื่อว่า ผู้หญิงต้องสวยงามน่ารัก ถ้าผู้ชายชอบสีชมพู หาว่าเป็นตุ๊ด เป็นเกย์ ซึ่งมันไม่ใช่ กลายเป็นเอาสีชมพูไปโยงกับผู้หญิง เอาสีฟ้าไปโยงกับผู้ชาย ซึ่งมันผิดตั้งแต่ต้นแล้ว ขณะเดียวกันเราก็เอาเรื่องเพศไปกำกับทุกเรื่องไม่ใช่แค่เรื่องสีของเสื้อผ้า เช่น เรื่องกีฬาซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ข้อและกระดูก แต่ความเป็นเพศมันก็เริ่มตั้งแต่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ให้ลูกผู้หญิงปีนป่ายต้นไม้ แล้วเขาจะเอากำลังเอาแรงที่ไหนไปเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จล่ะ เห็นไหมตอนนี้นักวอลเลย์บอลหญิงดังไปทั่วโลกแล้ว ซึ่งผู้หญิงควรใช้ร่างกายเพื่อป้องกันตัวเองจากผู้ชายไม่ดีจะมากระทำกับเรา ถ้าร่างกายเขาแข็งแรง เขาก็ออกมาสู้ป้องกันตัวเองได้ เราจะเป็นคนมีสุขภาพดี ไม่ใช่สอนให้เขานั่งพับเพียบ เด็กผู้หญิงก็ยังให้เล่นตุ๊กตา ทำกับข้าว ซึ่งทั้งหมดโยงกับความเป็นเพศวิถีว่า ต่อไปแต่งงานกับผู้ชายแล้วจะได้ทำกับข้าวให้สามีกิน ทั้งหมดคือเรื่องเพศที่เราหล่อหลอมลูกหลานเราตั้งแต่เล็ก ตั้งแต่เรื่องของเล่น การแต่งตัว การฝึกทำงานบ้าน การห้ามโน่นห้ามนี่สำหรับเด็กผู้หญิง การทำให้เด็กหญิงและผู้หญิงฝักใฝ่แต่เรื่องสวยงามและมีกิริยามารยาทเรียบร้อย เพื่อจะฝึกฝนโยงให้ไปเป็นแม่บ้านแม่เรือน รับใช้สามีตามวัฒนธรรมเดิมที่เชื่อและสอนกันต่อๆ มา แต่เด็กผู้หญิงที่โตมาด้วยเบ้าหลอมทางเพศแบบนี้จะเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดภาวะผู้นำ ความมั่นคงภายใน ความมั่นใจในตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง และไม่สามารถยืนยันสิทธิและความคิดเห็นของตัวเอง

พี่คิดว่ามันต้องรื้อถอนหมดเลยในเรื่องเพศ ตั้งแต่พฤติกรรม กิริยาท่าทาง การแต่งกาย การทำงาน ความรับผิดชอบ สิทธิ เสรีภาพ  ความสามารถ ความเป็นผู้นำ ให้ฝึกทุกคนไปพ้นเรื่องเพศ ถ้าเราเห็นลูกสาว เราต้องรู้เลยว่า ลูกสาวเราสามารถโตไปเป็นถึงนายกรัฐมนตรีได้ เห็นลูกชายก็คือเขาต้องเป็นคนที่รับผิดชอบ ไม่เอาเปรียบผู้หญิง ไม่ดูถูกเพศอื่น ไม่กดข่ม ไม่เอาเปรียบใคร สอนให้ทุกเพศมีความรับผิดชอบ มีความเมตตากรุณา มีจริยธรรม ไม่เอาเปรียบใครตั้งแต่ที่บ้าน ไม่กดข่มใครที่โรงเรียน หรือในทุกที่ที่เขาไป พลเมืองของสังคมเราควรจะเป็นแบบนี้ ลูกเราหลานเราควรจะเป็นแบบนี้ แล้วเราจะอยู่ในสังคมที่สันติ เท่าเทียม เสมอภาค

 

เวลาเจอเด็กถูกทิ้ง ข่าวก็จะนำเสนอว่า แม่ใจร้าย แม่ใจยักษ์ แล้วผู้ชายไปอยู่ที่ไหน?

ประเด็นคือ ในวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ คุณสังเกตไหม เมื่อเกิดปัญหาอะไร สังคมจะโทษผู้หญิง โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่เสนอข่าว เช่น ถ้าผู้หญิงถูกข่มขืน ก็จะถูกถามว่า ไปทำอะไรตอนกลางคืน สมยอมเขาหรือเปล่า อยากก้าวหน้าทางตำแหน่งละมั้ง ไต่เต้าหรือเปล่า ในวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่นี้ ผู้ชายนี่มีความปกติทุกเรื่อง ไม่บกพร่อง ไม่มีข้อที่ควรตำหนิ หรือทำอะไรผิดเลย นี่คือแก่นของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่  

เพราะฉะนั้น เรื่องแม่ใจยักษ์ แม่ใจร้ายนี่ สื่อหนังสือพิมพ์ คนทำสื่อก็สืบทอดวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่แบบนี้ อย่างไม่รู้ตัว วิธีคิดของสื่อ ทัศคติของคนทำข่าว คือฝังหัวเรื่องชายเป็นใหญ่ แม้ในหมู่สื่อมวลชนหรือนักข่าวที่เป็นผู้หญิง เพราะเราถูกหล่อหลอมมาในวัฒนธรรมเดียวกันว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่ควรถูกตำหนิ จนถึงวันนี้พี่ก็ยังเห็นอยู่ตลอดเวลาว่า พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์หรือในสื่อโชเชียลลงว่า แม่ใจร้าย แม่ใจยักษ์ หรือผู้หญิงที่ทำแท้งหรือทิ้งลูกเพราะไม่สามารถเลี้ยงได้ก็จะโดนรุมด่า  เด็กหญิงหรือผู้หญิงที่ถูกละเมิดทางเพศก็ยังถูกตำหนิหรือถูกประณาม ส่วนผู้ชายที่ข่มขืน ทำร้ายผู้หญิงหรือทำให้ผู้หญิงท้องแล้วทิ้ง ไม่รับผิดชอบ หายหัวไปเลย ข่าวจะไม่พูดถึงการไร้ความรับผิดชอบหรือความโหดร้ายของผู้ชายเลย

ในวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ อะไรก็ตามที่นำไปโยงกับเรื่องเพศ ผู้หญิงจึงเป็นเพศที่ผิดและถูกตำหนิเสมอ หากหย่าผัวที่ไม่ดี พ่อแม่ก็ไม่สนับสนุน ชาวบ้านก็นินทาทั้งๆ ที่เขาหย่าเพราะผัวเขาไม่ได้เรื่อง หรือทำร้ายเขา  นี่คือแก่นของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ พี่ถึงบอกว่าเวลาสอนอบรม พี่จะเปลี่ยนภาษาใหม่หมดเลย เช่น ถ้าผู้หญิงท้องแล้วไม่มีพ่อ พี่บอกว่า "ไม่ใช่ ท้องแล้วพ่อมันไม่รับผิดชอบ" คำพูดต้องเปลี่ยน เพราะคำพูดมันสะท้อนวิธีคิด วิธีคิดมันสะท้อนสิ่งที่เราถูกหล่อหลอมจนเราเชื่อฝังหัว  โดยไม่มีการวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล เราจะเปลี่ยนสังคมก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดที่ครอบงำผู้คนในสังคม  

พี่โตมาในสังคมที่บอกว่า "เนี่ย เด็กคนนี้มันเป็นลูกไม่มีพ่อ" ภายหลังที่พี่เข้าใจเรื่องวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ พี่จะบอกว่า "เขามีพ่อที่ไม่รับผิดชอบค่ะ" คุณเข้าใจไหม ไม่มีพ่อ คือ พ่อมันตายน่ะ แต่นี่พ่อมันไปมีเมียใหม่ไง และไม่รับผิดชอบเลี้ยงดูลูก ดังนั้น แม้กระทั่งภาษา เราต้องแคะ ต้องแงะ ต้องรื้อถอน หาคำพูดและวิธีพูดแบบใหม่ที่สะท้อนความจริง พี่จึงมักจะเอาภาษาด้านสิทธิความเท่าเทียมมาใช้ในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ของเรา

อีกประเด็นที่พูดไปก่อนหน้านี้คือในวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ผู้ชายหายไปในทุกเหตุการณ์ที่เขาก่อเรื่อง ดังนั้นเวลาทำงานให้การปรึกษาแนวสตรีนิยม พี่จะพูดใหม่ว่า ฟังดูว่าสามีคุณไม่รับผิดชอบทั้งงานเลี้ยงลูกและรายจ่ายของครอบครัว ผู้ชายคนนี้เขาทำร้ายจิตใจคุณ เขาไม่คู่ควรกับคุณ เขาไม่ได้รักคุณ เขารักตัวเอง และเขาควบคุมคุณ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องถอดรื้อ (Deconstruct) ก็คือวัฒนธรรมการตำหนิเพศหญิง หรือตำหนิคนที่มีแหล่งอำนาจน้อยกว่า ว่าเขาเป็นฝ่ายผิด หรือเป็นฝ่ายที่ก่อให้เกิดปัญหา วัฒนธรรมตำหนิเหยื่อหรือตำหนิผู้ถูกกระทำรุนแรง ( Blame the Victim) แบบนี้เราต้องเลิกทำในสังคมเรา แล้วเมื่อไรที่เราเห็นนักข่าวหรือสื่อพูดแบบนี้ สื่อของช่องไหนก็ตาม เราเขียนไปตำหนิ เขียนไปบอกเลย  อย่าอยู่นิ่งเฉย เพราะการนิ่งเฉยคือการเข้าร่วมส่งผ่านวัฒนธรรมที่ทำร้ายและทำลายคน

 

อำนาจภายใน (Power Within) มีความสำคัญอย่างไรบ้าง

มีความสำคัญมากค่ะ เพราะในวัฒนธรรมอำนาจนิยมมันทำลายอำนาจภายในของคนทุกคน โดยเฉพาะคนที่มีแหล่งอำนาจน้อย ถ้าพ่อแม่เป็นคนที่ตัดสินใจแทนลูก ไม่ฟังลูก คุณจะรู้เลยว่า เด็กคนนี้ พอโตเป็นผู้ใหญ่ เขาจะไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย พี่เจอบางคนเมื่ออายุ ๓๐ ปี บางคนอายุ ๕๐ แล้ว พี่เศร้าใจมาก เขาถูกทำร้าย ถูกควบคุมตั้งแต่เล็ก เป็นคนไม่มีความมั่นใจ ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่กล้าบอกความต้องการของตัวเอง และลึกลงไป เขาไม่เห็นคุณค่าในตัวเองเลย เพราะพ่อแม่ไม่เคยฟังเสียงเขา ไม่เห็นคุณค่าความสามารถของเขา พ่อแม่คิดแทนเขาหมด

อำนาจภายในถือเป็นแกนหรือฐานของคนที่ถูกใช้ความรุนแรงที่จะฟื้นฟูอำนาจในตัวเอง ฟื้นความมั่นใจ เห็นว่าตัวเองมีคุณค่า เห็นว่าตัวเองมีศักดิ์ศรี และเห็นว่าเขาเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพ มีแรงบันดาลใจ มีความฝันและมีความหวังในชีวิต ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ อำนาจภายใน และเราต้องเห็นสิ่งเหล่านี้ในตัวทุกคน เห็นสิ่งเหล่านี้ในตัวเด็กทุกคน เห็นสิ่งเหล่านี้ในคนยากคนจน ในตัวผู้หญิง ในตัวคนข้ามเพศ ในตัวคนที่สังคมรังเกียจ คนที่สังคมเห็นเขาไร้ค่า และต้องเห็นว่าเขามีสิ่งเหล่านี้อยู่จริงๆ มากน้อยต่างกันไป เพราะหากพวกเขาไม่มีสิ่งเหล่านี้ เขาจะอยู่ในสังคมอำนาจนิยมไม่ได้ เขาคงฆ่าตัวตายไปแล้ว อำนาจภายในนี้แหละที่ทำให้เขากัดฟันอดทน ฮึดสู้ ไม่ยอมแพ้ และพยายามที่จะยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง พยายามสร้างชีวิตตัวเอง พยายามสร้างความฝันตัวเองใหม่ พยายามหาแรงบันดาลใจ พยายามหาทางออก หาทางเลือกให้ตัวเองใหม่

ถ้าเราไม่เห็นอำนาจภายในตัวคน เราก็จะทำงานแบบสงเคราะห์ เขาไม่มีผ้าห่ม เอาผ้าห่มไปให้ เอาเงินไปแจกเพื่อหาเสียง วัฒนธรรมสังคมสงเคราะห์มันมาจากความเชื่อว่ามนุษย์ไม่เท่ากัน และมนุษย์ไม่มีอำนาจ ไม่มีเสรีภาพ ก็เลยใช้วิธีแจกของ แจกโครงการในนามอะไรก็ตาม แล้วคนแจกก็ได้หน้าได้ตา ได้เกียรติยศชื่อเสียง ซึ่งมันเป็นวัฒนธรรมที่ยิ่งไปทำให้วัฒนธรรมอำนาจนิยมมันยังอยู่ได้นาน มันฝังรากลึก

เพราะฉะนั้น การเห็นอำนาจภายในคือการเห็นศักยภาพของคนทุกคน โดยเฉพาะคนที่เป็นแหล่งอำนาจน้อย และให้ตระหนักรู้ว่าที่เขาเป็นแบบนี้เพราะเขาไม่มีโอกาส ไม่มีแหล่งสนับสนุน เพราะโอกาสเขาถูกขโมยไป หรือศักยภาพของเขาถูกทำลายตั้งแต่ที่บ้าน

 

คำสำคัญคือ เห็นคนเท่ากัน

คนมันเท่ากันในแง่อะไรรู้ไหม เท่ากันในแง่ศักยภาพ ความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรี และคุณค่าที่เขาเกิดมาในแผ่นดินหรือในโลกใบนี้ แม้กระทั่งเขาเป็นแรงงานข้ามชาติ แต่เขาเท่ากันกับเรา คนเราเท่ากันแม้กระทั่งในระดับจิตวิญญาณ พระเจ้าก็รักมนุษย์เท่ากัน ในศาสนาพุทธที่พี่นับถือ พี่ก็เพิ่งได้เรียนรู้ตอนโตเป็นผู้ใหญ่จากอาจารย์พุทธสตรีนิยมว่า ผู้หญิงก็บรรลุธรรมได้ในสมัยพระพุทธเจ้า บรรลุธรรมได้เป็นพันๆ รูปเลย แต่พี่ไม่เคยเรียนรู้เพราะพระไม่เคยสอน ไม่เคยบอก จนถึงวันนี้มีผู้หญิงอยากบวชเป็นภิกษุณีไปถามพระอาจารย์ พระก็ยังบอกว่าอย่าบวชเลยภิกษุณีเดี๋ยวไปทำตัวไม่ดีเวลาอยู่รวมกัน ปฏิบัติแบบโยมนี้ก็ดีแล้ว แต่ตัวท่านเองก็พูดไปก่อนหน้านี้ว่าที่การภาวนาของท่านก้าวหน้าก็เพราะได้บวชเป็นพระนั่นแหละ

การที่คนเราจะเห็นมนุษย์เท่ากัน ต้องเกิดจากสังคมที่สร้างระบบการศึกษา ความสัมพันธ์ในครอบครัว และในสถาบันทุกระบบ รวมถึงกระบวนการยุติธรรม ระบบเศรษฐกิจ จะต้องสร้าง นโยบาย แนวปฏิบัติ งบประมาณทั้งหมดเพื่อให้เข้าถึงคนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีแหล่งอำนาจน้อย จากนั้นเขาถึงจะขยับมาใกล้เคียงกัน หรือไม่เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างที่เป็นอยู่ในบ้านเรา   เหมือนที่ประเทศฟินแลนด์ ถ้าเราอยากจะเป็นแบบฟินแลนด์ เราก็ต้องวางแผนแบบนี้ ๓๐ ปี ๔๐ ปี เพื่อจะสร้างประเทศไทยเราให้เป็นแบบนั้น มันต้องวางแผน วางยุทธศาสตร์ในระดับยาวแบบนั้นว่า เราทำได้ค่ะ พี่เชื่อแบบนี้เพราะเราเห็นอยู่ว่า เนเธอร์แลนด์เขาเริ่มเมื่อ ๕๐ - ๖๐ ปี แล้วตอนนี้เขาเริ่มขยับไปเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกเรื่องความสุข ความเท่าเทียม ความปลอดภัย  เรื่องคุณภาพการศึกษา สิ่งแวดล้อมได้ เพราะเขาวางนโยบายและงบประมาณไว้ชัดมากในทุกกระทรวง ในทุกระบบของสังคม

 

ถ้ามีคนบอกว่า พี่ไปเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วที่เขาไปไกลแล้ว แต่นี่คือสังคมไทย มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่เราจะเป็นแบบเขาได้

พี่ว่าถ้าเขาไม่เชื่อเพราะเขาถูกสอนให้เป็นคนเฉื่อยชา ถูกกระทำ (Passive) แบบยอมรับชะตากรรม เขาถูกสอนให้มองไม่เห็นความเป็นไปได้ของการออกจากวัฒนธรรมอำนาจนิยม เขามีความกลัว อีกอย่างเขาอาจไม่เคยมีโอกาสไปเห็นสังคมที่มันเปลี่ยนแปลงได้ พี่เห็นว่าจริงๆ แล้วในหลายครอบครัวเปลี่ยนไปเยอะมาก เวลาพี่ทำงานกับน้องผู้หญิง น้องผู้ชายที่มีความมั่นคง พี่รู้เลยว่าพ่อแม่เขาเป็นยังไง พี่บอกว่า คุณมั่นคงมาก แล้วคุณไม่ตำหนิ ไม่ตีตราคนอื่น เขาบอกว่าพ่อแม่เลี้ยงเขามาแบบนี้ ลูกเขาจะไม่ทำร้ายใครเลย ลูกจะเต็มไปด้วยความมั่นคงข้างใน มีความเมตตากรุณา มีความรัก เคารพตัวเอง และเห็นคุณค่าของตัวเองและผู้อื่น

เพราะฉะนั้น พี่ว่ามันเปลี่ยนได้ เราแต่ละคนก็ลองไปเปลี่ยนที่บ้านตัวเองสิ แต่คนที่พูดแบบนี้ว่าเปลี่ยนไม่ได้หรอก มันอาจจะแปลว่าเขาใช้อำนาจเหนือ (Power Over) กดข่มคนอื่น เขาก็เลยไม่เชื่อ หรือเขาถูกใช้อำนาจเหนือมานานจนอำนาจภายใน (Power Within) เขาถูกทำลายไปหมด เขาเลยไม่เชื่อว่ามันจะเปลี่ยน แต่พี่เชื่อค่ะว่าเราเปลี่ยนแปลงได้ ขนาดว่าพี่เกิดมาเป็นคนยากจน และที่บ้านใช้ความรุนแรง แต่พี่โชคดีที่เรียนเก่ง และก็ไปเสาะแสวงหาความรู้ ได้ไปทำงาน แล้วพี่ก็เห็นคนมันเปลี่ยนไง พี่ไปทำงานกับผู้อพยพ คนที่อยู่ในค่ายผู้อพยพ คนถูกข่มขืน คนที่ลี้ภัยสงครามจากประเทศตัวเอง แต่เขาเปลี่ยนภายใน ๕ ปี เขาเป็นตัวแทนกลุ่มของเขาไปประชุมยูเอ็น เขามีความมั่นใจ ดังนั้นมันต้องเปลี่ยนได้สิ ถ้าเราให้โอกาสคน พี่เชื่อว่าคนมันเปลี่ยนได้ สังคมมันเปลี่ยนได้ และเราแต่ละคนต้องช่วยกันให้ความหวังว่ามันเปลี่ยนได้ เพราะอำนาจนิยมมันเกิดจากคนคิดขึ้นมา ปฏิบัติตามกันแล้วส่งต่อกันเรื่อยมา  มันจึงเปลี่ยนแปลงได้ค่ะ  หากเราไม่ยอมรับวัฒนธรรมนี้ มันก็เปลี่ยนได้ เพราะเราเปลี่ยนแล้ว จากการที่เราไม่เชื่อ ไม่ยอมรับ แล้วพลังที่จะเปลี่ยนมันก็จะมา และหากเราไปมีเพื่อน มีกัลยาณมิตรที่คิดและเชื่อเช่นเดียวกับเรา เราก็จะสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงได้มากยิ่งขึ้นไปอีก

 

พี่ทำงานช่วยเยียวยาคนที่ได้รับความรุนแรงต่างๆ เห็นสังคมตอนนี้ที่เจอแต่คนเป็นโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ป่วยจิตมากมาย อยากให้พี่ช่วยแนะนำคนที่จะช่วยเพื่อน ครอบครัว ที่จะให้คำปรึกษาเขาได้อย่างไรบ้าง

พี่กำลังจะออกวิดีโอคลิปชุดต่อไปกลางเดือนหน้า เพราะพี่รู้สึกว่ามันเป็นวิกฤติ จากการที่นั่งฟังครูก็รู้ว่าปัญหาเด็กหลุดจากโรงเรียน ฟังจากคนทำงานสังคม ฟังจากพยาบาล  ตอนนี้ผู้คนในสังคมเผชิญปัญหาเยอะมาก หากเราจะช่วยเหลือ เอาง่ายๆ เลยนะ ใครก็ตามที่มีความทุกข์ที่อยู่ใกล้เรา เราสังเกต เห็นหน้าเขา เราฟังเขาด้วยใจที่ว่าง ไม่ต้องสอน ไม่ต้องตำหนิ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นลูกเรา แฟนเรา เป็นเพื่อนบ้าน เพื่อนที่ทำงาน เป็นคนในโบสถ์ในวัด ฟังเขาจนจบ อยู่กับความทุกข์ของเขาจริงๆ จากนั้นคุณจะเห็นสีหน้าเขาดีขึ้น

จากนั้นคุณบอกเขาว่า ขอบคุณมากที่เล่าให้ฟัง เราให้กำลังใจเขาง่ายๆ จากการที่คุณเห็นอำนาจภายในของเขา คุณฟังจนจบโดยไม่ตัดสินตีตรา ไม่แนะนำ คุณจะเห็นว่าคนนี้มีศักยภาพ เช่น เมื่อเขาเล่าจบ แทนที่จะสอนหรือเล่าประสบการณ์ตัวเอง บอกเขาว่า  คุณมีความรับผิดชอบสูงมาก คุณทำงานหนัก คุณไม่ย่อท้อ คุณรักลูก คุณเป็นผู้นำครอบครัว พี่จะบอกผู้หญิงคนนั้นแบบนี้เลย คุณนี่แหละเป็นผู้นำครอบครัว คุณมีความเข้มแข็ง คุณรับผิดชอบสูงมาก คุณขยันมาก คุณพยายามจะแก้ปัญหา แต่ตอนนี้มันยังแก้ไม่ได้ พี่จะพูดแค่นี้ และก็เห็นว่าหน้าตาเขาก็เปลี่ยนไปจริงๆ  หน้าตาเขาสดใสขึ้น ร่างกายผ่อนคลายลง

และหากเป็นเด็กเยาวชน เราก็ยิ่งต้องฟังให้มากขึ้นอีก ไม่เช่นนั้นเขาก็จะหลงไปอีกทาง ไปหาเพื่อนไปใช้สารเสพติด หลังจากฟังเขาพูดจบ คุณแค่บอกเขาว่า เขาเยี่ยมมากเลย เขารู้ปัญหาชัดมาก ปัญหาเกิดจากพ่อไม่เคยฟัง แม่ไม่เคยฟังเขา เขาก็เลยไปอยู่กับเพื่อนเพราะเพื่อนฟังเขา เขารู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร แต่ว่าตอนนี้ต้องพึ่งพิงพ่อแม่เรื่องการกิน เรื่องที่อยู่อาศัย  จากนั้นพี่จะบอกเด็กว่า รู้ไหมว่าพ่อแม่เขาถูกหลอมมาจากอำนาจนิยม เขาเชื่อว่าต้องเลี้ยงลูกแบบนี้ แบบรักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ไม่ฟังลูก เขาถูกหลอมด้วยวัฒนธรรมที่ต่างจากคุณ เราเติบโตมาคนละวัฒนธรรม มันจึงปะทะกัน (Crash) ทางความคิดและการกระทำ หรือแม้แต่เรื่องการเมือง หรือความคิด ความเชื่ออื่นๆ  คือพยายามจะบอกให้เด็กเข้าใจที่มาที่ไปของพ่อแม่ เพราะถ้าเขาเข้าใจปุ๊บ เขาจะอดทนที่จะอยู่ อดทนที่จะฟัง ถึงแม้จะไม่เห็นด้วย เราต้องรู้ว่าเขาถูกหลอมมาอีกวัฒนธรรมหนึ่ง คือพี่รู้สึกว่า ถ้าในครอบครัวเรา เรายอมอดทนฟังกัน และพยายามจะฟังกันแม้เราจะไม่เห็นด้วย ยอมรับความต่างให้ได้แม้จะไม่ถูกใจเรา เด็กจะไม่หลุดจากครอบครัว หากที่บ้านเป็นที่พึ่งทางใจของเขาได้จริง

ตอนนี้พี่ให้คำปรึกษาเด็ก รู้เลยว่าพ่อแม่ไม่ฟังพวกเขาเลย ลูกในครอบครัวแบบนี้ก็เลยรู้ว่าจะพูดแค่ไหนกับพ่อแม่ เขารู้ว่าเขามีอำนาจแค่ไหน เพราะเขาเห็นพ่อแม่ทำแบบนี้มาตั้งแต่ ๗-๘  ขวบ ส่วนพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกตามใจ ก็ต้องเลิกเลยนะ เลี้ยงลูกตามใจ ลูกจะหนักเลย เขาจะไม่รู้ขอบเขต (Boundary) ซึ่งจะทำร้ายตัวเขาเอง และทำร้ายคนอื่นด้วย เพราะการเลี้ยงลูกตามใจ เขาจะไม่รับผิดชอบ คนทุกคนจะต้องฝึกความรับผิดชอบ เริ่มจากที่บ้านก่อน ล้างจานตัวเอง ซักผ้าเอง ถึงแม้การบ้านเขาไม่ชอบ เขาก็ต้องทำ ไม่งั้นเขาจะไม่ได้เกรด อย่างหลานพี่ พี่บอกว่า ตอนยายเรียนหนังสือ ยายก็ไม่อยากทำ แต่ถ้าหนูทำปุ๊บ เกรดก็จะดี เราต้องการเกรดดีๆ เพื่อจะได้เรียนจบ จะได้มีงานทำ ก็ต้องชวนเขาพูด ถึงเขาจะทำช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร ก็หลอกล่อให้ทำการบ้าน เพื่อให้เขาฝึกความรับผิดชอบ เพราะความรับผิดชอบเป็นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน แล้วต้องฝึกเขาตั้งแต่ยังเด็ก ๔-๕ ขวบ  เริ่มตั้งแต่เก็บของเล่น ล้างจานเอง ไม่สะอาดไม่เป็นไร เพราะเรากำลังสอนให้เขามีวินัยและรับผิดชอบ ไม่ได้สอนให้เขาล้างจานให้สะอาด

เพราะฉะนั้น หากคุณเป็นผู้ใหญ่ พี่ขอให้ผู้ใหญ่ฟังเด็กจนจบ ต้องฟังจริงๆ แล้วถ้าลูกทำผิด อย่าตำหนิเด็ก อย่าสั่งสอน อย่าเปรียบกับเพื่อนเขาหรือลูกคนอื่น ให้ฟังเขา ถามเขาว่าเกิดอะไรขึ้นลูก คือถึงพ่อแม่ไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีแก้ปัญหาของลูกที่อาจจะสร้างความเสียหาย เพราะเขาไม่มีประสบการณ์มาก่อน แต่เราผู้ใหญ่ทุกคนก็เคยสร้างความเสียหาย เคยทำผิดพลาดมาก่อน ดังนั้นต้องฟังเขาจนจบ แล้วบอกว่า "ขอบคุณลูกมากที่ไว้ใจเล่าให้แม่ (พ่อ) ฟังจนจบ"  แล้วก็ถามต่อว่า "เรื่องนี้ลูกคิดจะแก้ปัญหาอย่างไรต่อ" "แล้วจะให้พ่อแม่ช่วยอะไรบ้าง" หากทำแบบนี้คุณจะได้ลูกกลับคืนมา คุณจะได้แฟนกลับคืนมา จะได้พี่น้อง เพื่อนร่วมงานกลับคืนมา

อย่าตำหนิ การตำหนิมันเป็นส่วนหนึ่งจากวัฒนธรรมอำนาจนิยมแบบชายเป็นใหญ่  อย่าส่งทอดวัฒนธรรมนี้ผ่านการตำหนิ คนทำพลาดเขารู้อยู่แล้วว่าทำพลาด ทำผิด หากเราไม่ตำหนิ เขาจะเล่าหมด แล้วเราจะได้เขากลับคืนมา แล้วเขาจะรู้เลยว่า ต่อไปถ้าเขาทำอะไรพลาด เขาจะมาหาคนนี้ แล้วการพลาดของเขาจะน้อยลงเพราะเราไม่ตำหนิไง แค่นี้ค่ะ แค่ฟังจริงๆ ฟังจนจบ อย่าสอน อย่าแนะนำ อย่าตำหนิ เพราะเราไม่รู้ว่าชีวิตเขาผ่านอะไรมาบ้าง เส้นทางของทุกคนกว่าเขาจะมาหาเรา เขาผ่านอะไรมาเยอะแยะมากมาย แล้วหลายคนแหล่งอำนาจเขาน้อย บางคนเขาไม่มีแหล่งอำนาจภายนอก ไม่มีสติ หรือไม่มีความมั่นใจ เขาไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นคนแบบนี้ เป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจ แต่มันเกิดจากการอบรมเลี้ยงดูที่ครอบครัวใช้อำนาจเหนือ  เราจึงต้องฟังกันและกันให้มากขึ้น เพื่อให้เขารู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ และไม่โดดเดี่ยว การฟังแบบนี้คือการเปลี่ยนวัฒนธรรมอำนาจนิยมแล้วค่ะ

และถึงแม้เขาจะคิดต่างจากเรา เรื่องการเมืองหรือเรื่องอะไรก็ตาม ให้ฟังเด็กจนจบ ไม่ต้องบอกว่า เราผิด เขาถูก เขาผิด เราถูก แม้กระทั่งที่บ้าน เวลาที่คนทะเลาะกัน อย่าเพิ่งบอกว่าใครผิด ใครถูก ฟังแต่ละฝ่ายก่อนจนจบ จะฟังพร้อมกันหรือแยกฟังทีละคนก็ได้ แล้วชวนกันสรุปบทเรียนจะดีกว่า เช่น ชวนกันคุยว่า หากเราทำแบบนี้ผลกระทบจะเกิดอะไรขึ้น เอาเหตุผลมาคุยกัน แค่นี้ค่ะ ทำกับคนใกล้ชิดเรา แล้วมันก็จะดีขึ้น...

อ่านบทสัมภาษณ์นี้จบแล้ว ย้อนมองดูสังคมไทยเรา อยากเห็นสังคมเป็นแบบไหนย่อมขึ้นอยู่กับคนในสังคมนั้นจะช่วยกันสร้าง ถอดรื้อ เปลี่ยนแปลง ร่วมกันสร้างสังคมใหม่ด้วยกรอบคิดใหม่ "หยุดวัฒนธรรมอำนาจนิยม เท่ากับหยุดความรุนแรงในสังคม"  การเห็นอำนาจ คือการเห็นศักยภาพของคนทุกคน เห็นถึงความเป็นมนุษย์ เห็นคนเท่ากัน สร้างวัฒนธรรมที่ไม่ยอมรับความรุนแรง แปรเปลี่ยนให้เป็นสังคมแห่งความเมตตากรุณา เกื้อกูล รับฟังซึ่งกันและกัน และร่วมคิดร่วมทำ เพื่อสังคมนี้ โลกใบนี้ ที่น่าอยู่สำหรับเราทุกคน



[๑] Trauma ทรอม่า บาดแผลทางใจ สาเหตุหนึ่งของโรคซึมเศร้า

[๒] Trauma Survivor ผู้รอดชีวิตจากบาดแผลทางใจ

[๓] Junk Food อาหารขยะ เป็นคำใช้กับอาหารที่มีแคลอรีจากน้ำตาลหรือไขมันสูง โดยมีโปรตีน วิตามินหรือเกลือแร่ต่ำ การใช้คำนี้ส่อว่า อาหารนั้น ๆ มี "คุณค่าทางโภชนาการต่ำ" และมีไขมัน น้ำตาล เกลือและแคลอรีมากเกิน

 

คุณอวยพร เขื่อนแก้ว เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม (ศูนย์บ้านดิน) ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมสำหรับนักกิจกรรมเพื่อสังคม คนทำงานเพื่อสังคม โดยใช้แนวคิดที่ผสานระหว่างสตรีนิยม จิตวิญญาณ และสันติวิธี เป็นฐานในการจัดอบรมให้แก่นักกิจกรรม คนทำงานเพื่อสังคมทั้งไทยและต่างชาติ คุณอวยพรยังเป็นกระบวนกรและนักบำบัดที่ให้การอบรมเยียวยาผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง ด้วยการสร้างเสริมพลังอำนาจ (Empower) และฟื้นฟูสุขภาพด้วยการมีสุขภาวะที่ดี (Well-Being) โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาแนวสตรีนิยมเพื่อฟื้นฟูอำนาจ ศักยภาพ และสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ถูกกระทำรุนแรง ซึ่งเธอมีประสบการณ์การทำงานและสอน Counseling ให้คำปรึกษาแก่ผู้มีภาวะซึมเศร้าและคิดฆ่าตัวตาย ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและจากคู่รัก ผู้ถูกใช้ความรุนแรงอันเนื่องมาจากความเป็นเพศ เพศภาวะและเพศวิถี ผู้ได้รับความรุนแรงจากองค์กร ที่ทำงาน และจากระบบรัฐ วัยรุ่นที่ประสบปัญหา วัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อม ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้พิการ ผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี ผู้ต้องขัง ผู้ประสบภาวะสูญเสียและประสบภัยพิบัติธรรมชาติ รวมถึงผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ เหยื่อค้ามนุษย์ กลุ่มคนอัตลักษณ์ชายขอบหลากหลายกลุ่มในประเทศ และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจาก ศูนย์บ้านดินที่แม่ริมแล้ว ยังร่วมก่อตั้งและสร้างสวนภาวนาสานสันติ เป็นสวนสำหรับการพักกายใจและการภาวนาเพื่อฟื้นฟูพลังชีวิตและจิตวิญญาณของนักกิจกรรม คนทำงานเพื่อสังคม ที่ต้องการฟื้นฟูสุขภาวะ ทบทวนชีวิตและเยียวยาจิตใจ สวนภาวนานี้ตั้งอยู่ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

 


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >