หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 42 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


บันทึก “คลังรักษาความทรงจำ” เพื่อขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ วรพจน์ สิงหา เรื่อง/สัมภาษณ์ พิมพ์
Wednesday, 18 May 2022

Image


วารสารผู้ไถ่
ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๑๑๘ ม.ค. - เม.ย. ๒๕๖๕

 

บันทึก "คลังรักษาความทรงจำ"
เพื่อขับเคลื่อนประวัติศาสตร์

วรพจน์ สิงหา เรื่อง/สัมภาษณ์


Image

สารวันสันติสากลของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เสนอแนวทาง ๓ ประการ เพื่อการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน คือ การเสวนาของคนระหว่างรุ่น, การศึกษา และการทำงาน และยังระบุว่าวิกฤติการณ์ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในความร่วมมือกันของคนระหว่างรุ่น "คนหนุ่มสาวต้องการภูมิปัญญา และประสบการณ์ของผู้สูงอายุ"

ความท้าทายทางสังคมที่สำคัญ และกระบวนการสร้างสันติภาพ จำเป็นต้องพูดคุยกันระหว่างผู้เป็น "คลังรักษาความทรงจำ" นั่นคือผู้สูงอายุ และผู้ที่ "ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์" ไปข้างหน้า นั่นคือคนหนุ่มสาว แต่ละคนต้องเต็มใจให้พื้นที่ว่างแก่กันและกัน ไม่ยืนกรานที่จะครองเวทีทั้งหมด โดยมุ่งแต่เรื่องประโยชน์ของตนเอง ราวกับว่าไม่มีทั้งอดีตและอนาคต

สังคมไทยปัจจุบันมีช่องว่างทางความคิดระหว่างวัยเกิดขึ้น ซึ่งคงเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ที่สำคัญคือการเสวนาที่จริงใจ และรับฟังซึ่งกันและกัน โดยในสารวันสันติสากลระบุว่าจำเป็นต้องมี "ความไว้วางใจซึ่งกันและกันนี้อีกครั้ง"

ประสบการณ์ชีวิตและความมุ่งมั่นเสียสละของ "คลังความทรงจำ" ทั้ง ๓ ท่านต่อจากนี้ สามารถเป็น "อนาคตที่ยั่งยืน" ได้สำหรับคนรุ่นหลังที่มุ่งมั่นสร้างสันติเพื่อตนเองและสังคมรอบข้าง

         

รศ.ดร. วไล ณ ป้อมเพชร
ประสบการณ์ของอาจารย์นักสิทธิมนุษยชน

ในสารวันสันติสากลระบุว่าทุกคนสามารถทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างโลกที่สงบสุขยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากหัวใจของแต่ละบุคคลและความสัมพันธ์ของตนเอง ภายในครอบครัว ภายในสังคม และสิ่งแวดล้อม และตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและประเทศต่างๆ

ชีวิตเกือบทั้งชีวิตของ "อาจารย์วไล ณ ป้อมเพชร" คือการทำงานเพื่อส่งเสริมงานด้านสันติภาพและสิทธิมนุษยชน ทั้งในประเทศไทยและประเทศต่างๆ อย่างแท้จริง และทุกคนสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตและการทำงานของท่านได้อย่างดี

อาจารย์วไลเกิดที่กรุงเทพฯ ปี พ.ศ.๒๔๘๐ ปัจจุบันอายุ ๘๕ ปี มีพี่น้อง ๘ คน โดยอาจารย์วไลเป็นคนที่สอง อาจารย์วไลเล่าว่า เกิดมาในครอบครัวใหญ่ นอกจากครอบครัว ยังมีตา ยาย ป้า และน้าอยู่ร่วมกัน "ผู้ใหญ่ทุกคนช่วยอบรมเลี้ยงดูลูกหลานให้มีระเบียบวินัย พวกเราจะกิน นอน เล่น ตามเวลาที่กำหนดไว้"  ซึ่งอาจารย์วไลบอกว่า การเลี้ยงดูของครอบครัวมีผลต่อการเติบโตของเด็กอย่างมาก

ชีวิตของอาจารย์วไลเชื่อมโยงอยู่กับ ‘สงครามและสันติภาพ' มาตั้งแต่เริ่มต้น โดยในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งลุกลามจากยุโรปมาเป็นสงครามที่เรียกว่า ‘สงครามมหาเอเชียบูรพา' ตอนนั้นครอบครัวของอาจารย์วไลอยู่ที่ทุ่งมหาเมฆ "ตอนมีสงคราม ตอนนั้นยังเด็กมาก จำได้ว่ามีเสียงหวอ ทำให้ตกใจกลัว ต้องเตรียมตัวเข้าหลุมหลบภัย จนมีเสียงหวออีกครั้งหนึ่ง จึงขึ้นจากหลุมได้"

"ตอนระเบิดลง ปู่ย่าตายายต้องพาเด็กๆ ลงไปที่หลุมหลบภัย เป็นสภาพที่ยากลำบากมาก และกลางวัน เวลาเดินออกไป ได้เห็นอะไรหลายอย่าง เศษสกปรกที่ถนน หลายอย่างพัง เรารู้สึกเศร้าใจ ทำไมต้องรบกัน พอมีระเบิด ต้องวิ่งไปหลบในหลุม"

รากฐานของชีวิต นอกจากการเลี้ยงดูของครอบครัว ก็มาจากช่วงเวลา ๑๕ ปี ในโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย "เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ มีความรักให้เพื่อนมนุษย์ มีความเข้าใจลูกศิษย์ รู้จักให้มากกว่ารับ อยากเห็นโลกของเราดีขึ้นกว่าเดิม ก็ได้รับการอบรมพื้นฐานมาจากโรงเรียน"

อาจารย์วไลอยากเป็นครูตั้งแต่เด็ก โดยชอบเล่นครู-นักเรียนกับน้องๆ โดยอาจารย์วไลเริ่มเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยจนจบชั้นมัธยมศึกษา สมัครเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะอยากเป็นครูสอนหนังสือจริงๆ และเมื่อเรียนจบปี ๔ จากคณะอักษรศาสตร์ ก็ได้รับเลือกเป็นอาจารย์สอนที่คณะอักษรศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๕-๒๕๒๖ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันตกและภาควิชาประวัติศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์

"ในชีวิตอยากเป็นครู และประทับใจครูท่านหนึ่ง คือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร สอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนมาร์แตร์ฯ ท่านสอนหนังสือดีมาก ทำให้เรารักวิชา และท่านมีพระทัยเมตตาต่อลูกศิษย์ ทำให้ตอนเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ เราก็สอนด้วยความรักวิชาที่สอน ที่สำคัญคือรักลูกศิษย์ทุกรุ่น การอบรมลูกศิษย์ มีความสำคัญไม่แพ้การเรียนวิชาความรู้ ในฐานะที่เป็นครู เป็นอาจารย์ เด็กคือคนที่เราต้องมีเมตตา สอนเขา และสื่อสารกับเขา"

อาจารย์วไลเชื่อมาตั้งแต่เด็กว่า "ความร่วมมือจะให้ผลดีกว่าการแก่งแย่งแข่งขัน และครูก็สอนลูกศิษย์และเยาวชนให้นึกถึงเรื่องนี้ด้วย"

 

สัมผัสชีวิตคนยากจนในสลัม

ปี ค.ศ.๑๙๕๘ (พ.ศ.๒๕๐๑) ขณะที่อาจารย์วไลเรียนอยู่ชั้นปีที่ ๔ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นลูกศิษย์ของคุณพ่ออัลเฟรด บอนแนงก์ พระสงฆ์คณะเยสุอิต ชาวฝรั่งเศส ซึ่งในช่วงนั้นเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาฝรั่งเศสที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์วไลเล่าถึงความประทับใจเกี่ยวกับคุณพ่อบอนแนงก์ว่า "เคยไปฟังที่ท่านพูดถึงชีวิตตอนที่ท่านอยู่ที่ประเทศจีน พ่อบอนแนงก์ถูกจับเข้าคุกที่เมืองเทียนสิน ถูกคุมขังอยู่ ๑๑๕ วัน ถูกล้างสมอง ๓ ครั้ง และถูกไล่ออกจากประเทศจีน หลังจากเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสไม่กี่เดือน ก็เดินทางมาประเทศไทย ค.ศ.๑๙๕๕ (พ.ศ.๒๔๙๘)"

นอกจากวิชาที่คุณพ่อบอนแนงก์สอนในมหาวิทยาลัย อาจารย์วไลยังได้ติดตามคุณพ่อบอนแนงก์ไปเรียนวิชาที่ไม่มีสอนในรั้วมหาวิทยาลัย และเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตที่ยังจำได้ดีจนถึงปัจจุบัน "คุณพ่อบอนแนงก์พาไปสัมผัสชีวิตคนยากจนที่สลัมดินแดงและสลัมคลองเตย ตอนแรกไม่ได้บอกว่าจะพาไปที่ไหน หรือจะพบอะไร บอกเพียงว่าอยากให้ไปช่วยสอนภาษาอังกฤษให้เด็กยากจน พวกเขาจะได้มีงานทำ"

อาจารย์วไลอธิบายภาพที่เห็นว่า "ตอนนั้นสะเทือนใจมากที่เห็นภาพอย่างนั้น คือกองขยะใหญ่ๆ มีเด็กๆ กำลังคุ้ยขยะหาของเก่า สภาพที่พักอาศัยทรุดโทรม คนอยู่อย่างแออัด ตอนสอนภาษาอังกฤษมีเด็กวัยรุ่นมาเรียน ๕-๖ คน ในห้องเล็กๆ ไม่มีอุปกรณ์การเรียน มีแต่กระดาษและดินสอ นอกจากนี้ อาจารย์วไลยังต้องพากย์หนังกลางแปลง ซึ่งคุณพ่อบอนแนงก์นำภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพมาให้คนในสลัมได้ดู แต่ส่วนใหญ่เป็นหนังเงียบ จึงต้องมีคนพากย์และอธิบาย "เดินตามท่านไปเยี่ยมชาวบ้านที่เจ็บป่วย รู้สึกว่าคุณพ่อบอนแนงก์สอนให้รู้จักช่วยเหลือคนยากจน เท่าที่เราจะทำได้ และสอนให้เรารับผิดชอบต่อสังคม"

หลังเรียนจบและเป็นอาจารย์สอนหนังสือแล้ว อาจารย์วไลยังได้ชักชวนลูกศิษย์และเพื่อนอาจารย์ไปช่วยสอนหนังสือให้กับเยาวชนที่ยากจนที่สวนลุมพินี "รู้สึกมีความสุขในใจที่พอจะได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์"

หลังจากนั้น อาจารย์วไลไปศึกษาต่อต่างประเทศ จบปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ประเทศฝรั่งเศส

สิ่งที่เป็นความประทับใจของอาจารย์วไลในอาชีพอาจารย์คือ เมื่อครั้งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรฯ เสด็จมาทรงศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ ซึ่งขณะนั้น อาจารย์วไลทำหน้าที่เป็นหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าใกล้ชิด และถวายพระอักษรวิชาอารยธรรมตะวันตก ประวัติศาสตร์ อังกฤษ และประวัติศาสตร์รุสเซีย และอาจารย์วไลได้รับพระเมตตาในฐานะที่เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรอยู่เสมอ

 

๑๔ ตุลา ๒๕๑๖
ทุกข์ของประเทศ ทุกข์ของชีวิต

ชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัย แม้มีรายได้น้อย แต่อาจารย์วไลมีความรู้สึกพอใจในค่าตอบแทนที่ได้รับ สำหรับภารกิจที่มีคุณค่าต่อสังคม ความพอใจและความอิ่มใจทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่เป็นอาจารย์ เกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ และมีผลกระทบต่อชีวิตของอาจารย์วไลอย่างลึกซึ้ง และนับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่อาจารย์วไลบอกว่าอยากไปอยู่ที่อื่นมากกว่าประเทศไทย "วันนั้นเป็นวันที่ทุกข์มากที่สุด นึกในใจว่าอยู่ไม่ได้แล้วประเทศนี้ ประเทศที่มีการฆ่ากัน อยู่ไม่ได้จริงๆ รู้สึกอย่างนั้น" อาจารย์วไลเป็นครูที่เคยแต่สอนให้รักและเมตตาลูกศิษย์ เคยแต่ให้อภัย และสนับสนุนเยาวชน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนั้นทำให้อาจารย์วไล "หมดกำลังใจในการสอนหนังสือ และไม่อยากที่จะอยู่ในประเทศไทย"

อาจารย์วไลอธิบายว่า สังคมไทยช่วงเวลานั้นมีความแตกแยก หวาดระแวง มีการใส่ร้ายป้ายสี ไม่มีความเมตตากรุณา ซึ่งเป็นค่านิยมพื้นฐานของคนไทย

 

"สงครามเย็น"
การศึกษาเพื่อสันติภาพและสิทธิมนุษยชน

งานสอนหนังสือของอาจารย์วไลสิ้นสุดลงใน พ.ศ.๒๕๒๖ เมื่อลาราชการไปทำงานในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการศึกษาเพื่อสันติภาพและสิทธิมนุษยชน ที่องค์กร UNESCO กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยทำงานอยู่ที่กรุงปารีส ๘ ปี (พ.ศ.๒๕๒๖-๒๕๔๐) โดยเป็นงานส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ ทำกิจกรรมด้านการศึกษาเพื่อสันติภาพและสิทธิมนุษยชน กลุ่มเป้าหมายคือ ครู อาจารย์ นักพัฒนาหลักสูตรและเยาวชน กิจกรรมประกอบด้วยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การสัมมนาทางวิชาการ ฯลฯ ให้นักวิชาการได้พบปะหารือในเรื่องการศึกษาเพื่อสันติภาพ และความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ

ช่วงที่อาจารย์วไลทำงานที่กรุงปารีส ยังเป็นช่วงระยะที่ ‘สงครามเย็น' ยังไม่สิ้นสุด ช่วงเวลานั้น โลกของเรากำลังถูกคุกคามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ที่ต่างฝ่ายต่างสะสมไว้ ‘การศึกษาเพื่อสันติภาพจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน'  ซึ่งอาจารย์วไลได้เดินทางไปจัดประชุมในประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรปตะวันตกและตะวันออก แอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา

กระทั่ง พ.ศ.๒๕๓๓ อาจารย์วไลย้ายมาอยู่ UNESCO สำนักงานที่กรุงเทพฯ ซึ่งรับผิดชอบประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค นอกจากงานด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษานอกระบบโรงเรียน งานที่สืบต่อจากที่ทำเมื่ออยู่ปารีส แต่เน้นเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคเท่านั้น โดยชักชวนนักวิชาการและนักการศึกษาในประเทศต่างๆ ให้หันมาสนใจและศึกษาค่านิยมของชาวเอเชีย และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ได้ร่วมมือกันจัดตั้งเครือข่ายของนักวิชาการ นักการศึกษา ครู อาจารย์ขึ้น เรียกว่า APNIEVE (Asia - Pacific Network for International Education and Values Education)

อาจารย์วไลอธิบายว่า "การสร้างคนให้มีคุณภาพ ต้องเริ่มจากโรงเรียน และโรงเรียนสามารถเป็นเครื่องมือของการเปลี่ยนแปลงในสังคม เป็นเครื่องมือของสันติภาพและประชาธิปไตย"

นอกจากนี้ อาจารย์วไลให้ความสำคัญกับโรงเรียน ครู และนักเรียน ดังนั้น โครงการโรงเรียนเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ หรือ UNESCO Associated Schools Project (ASP) จึงได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็ง และเพิ่มจำนวนมากขึ้นในภูมิภาค โดยโรงเรียน ASP เมื่อเริ่มตั้งขึ้น มีวัตถุประสงค์ที่จะให้โรงเรียนเป็นเครื่องมือของสันติภาพ คือให้สถาบันการศึกษาส่งเสริม ‘การศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีและสันติภาพระหว่างชาติ' โดยจุดมุ่งหมายสูงสุดของโครงการคือ สันติภาพ ไม่ใช่เพียงความเข้าใจอันดีระหว่างชาติเท่านั้น หากแต่เป็นความเข้าใจอันดีระหว่างชาติอันจะนำไปสู่สันติภาพ

อาจารย์วไลอายุครบ ๖๐ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ แม้จะเกษียณอายุแล้ว แต่ยังมีงานที่ต้องทำอีกมาก โดยช่วยรับเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการและหน่วยงานมากมาย และยังทำงานด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนกับหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนหลายหน่วยงาน

ถามอาจารย์วไลว่าอะไรคืออุปสรรคของการสร้างสันติภาพ อาจารย์บอกว่า "ความอวดดีของคน พอมีอำนาจ มีเงิน มีการคดโกง คือเราไม่ได้เห็นมนุษย์เป็นมนุษย์ด้วยกัน ใครมีอำนาจ ใครมีเงิน เราก็ชื่นชม คนยากจนที่เป็นคนดี เราไม่ค่อยชื่นชม เป็นกิเลสของมนุษย์ เป็นความน่าเศร้าของมนุษย์ เราอยากให้โลกมีสันติภาพ แต่ต้องยอมรับว่ายากเหมือนกัน งานสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ เป็นงานระยะยาว ต้องใช้เวลา"

 

เสวนากับคนรุ่นหลัง
ผู้ใหญ่ต้องใจกว้างและมีเมตตา

อาจารย์วไลทำงานส่งเสริมสันติภาพและสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศไทยและระดับโลก ทำงานร่วมกับเยาวชนมายาวนานเกือบตลอดชีวิต ได้เห็นพลังของเยาวชน และเชื่อมั่นในความสามารถของเยาวชนในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ

"ผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี สนับสนุนเยาวชนให้สร้างประโยชน์ต่อสังคมในอนาคต ผู้ใหญ่ต้องใช้การสื่อสาร พูดคุย เด็กก็ต้องมีเมตตากับผู้ใหญ่ด้วย ต้องยอมรับว่ายุคนี้เป็นยุคของเขา เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บังคับมากไม่ได้ ยุคนี้กิเลสเยอะมากขึ้น สมัยก่อนที่เราเป็นเด็ก ไม่มีแบบนี้ สมัยนี้เด็กๆ จะอยู่กับโทรศัพท์ บางทีก็เป็นเท็จ จริงหรือเปล่าไม่รู้ ต้องคิด วิเคราะห์ แยกแยะ เราต้องสอนให้เด็กคิดเป็น ทุกอย่างมีทั้งดีและไม่ดี"

"คนหนุ่มสาวมีแนวคิดของเขา เราต้องมีเมตตา เพราะเราเป็นผู้ใหญ่ ช่องว่างระหว่างวัย มีอยู่ทุกยุคสมัย ผู้ใหญ่อาจจะไม่เข้าใจเด็กทั้งหมด เด็กก็ไม่เข้าใจเราทั้งหมด เขาอาจจะมองเราเป็นของเก่า เขามีความคิดใหม่ เราผู้ใหญ่ต้องมีเมตตา เพราะเด็กจะดูผู้ใหญ่เป็นตัวอย่าง อยากฝากผู้ใหญ่ว่าต้องยุติธรรม เมตตา และใจกว้าง เราต้องเข้าใจเด็ก เขามีความมั่นใจในวัยของเขา เด็กจะเป็นอย่างนี้"

         

รศ.ดร.โคทม อารียา
ภูมิปัญญาของนักสันติวิธี

ในสารวันสันติสากลกล่าวถึงการเสวนาเพื่อสร้างสันติภาพ ต้อง ‘เต็มไปด้วยความจริงใจ' และต้องมี ‘ความไว้วางใจ' พื้นฐานระหว่างผู้ร่วมสนทนาเสมอ และการเสวนาคือการรับฟังซึ่งกันและกัน แบ่งปันมุมมองที่แตกต่างกัน นำมาสู่ข้อตกลงร่วมกัน และเดินไปด้วยกัน

ชื่อของ อาจารย์โคทม อารียา ในแวดวงการศึกษาและผู้ที่สนใจแนวคิดสันติวิธี คงมีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก อาจารย์โคทมเป็นผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งที่สังคมไทยนึกถึงเมื่อมีเหตุการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้น และท่านคอยชี้แนะถึงทางออกที่ควรจะเป็นในสถานการณ์ที่บ้านเมืองกำลังสับสน

อาจารย์โคทม อารียา เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ ที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันอายุ ๗๙ ปี เป็นลูกคนสุดท้อง ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๕ คน โดยพ่อเป็นนักบัญชีและแม่เป็นครู

อาจารย์โคทมย้อนวัยเด็กให้ฟังว่า "ผมเป็นลูกติดแม่ในระดับหนึ่ง ซึ่งครอบครัวมีผลต่อการดำเนินชีวิต รู้สึกว่าเป็นลูกคนโปรด แม่รักมาก สิ่งที่รับถ่ายทอดมา ส่วนใหญ่เป็นเรื่องพื้นฐาน ตามคำสอนที่ให้รักเพื่อนมนุษย์ และให้มีจิตใจรับใช้คนอื่น"

ครอบครัวของอาจารย์โคทมในช่วงวัยเด็ก แม้จะมีรายได้ไม่มากนัก แต่คุณพ่อคุณแม่เห็นความสำคัญของการศึกษาสำหรับลูกทุกคน "ช่วงเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ มีการสอนและอธิบายประวัตินักบุญ บุคคลที่ประทับใจตั้งแต่วัยเรียนคือ คนที่ทำงานเพื่อผู้ยากไร้ จำได้ว่าประทับใจนักบุญฟรังซิส เขาพยายามบอกว่าคนเหล่านี้ทำงานเพื่อสังคม ผมคิดว่ามีส่วนในการเตรียมคุณค่าพื้นฐานของตัวเอง"

"ความเชื่อทางศาสนาเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต สำคัญที่สุดคือรักเพื่อนมนุษย์ เหมือนรักตนเอง ผมคิดว่าเป็นคำสอนที่ยิ่งใหญ่มาก และผมไม่เคยทิ้งคำสอนนี้ ความรักเพื่อนมนุษย์คือพื้นฐานของสันติวิธี"

"บังเอิญปีที่ผมเรียน ช่วงระดับมัธยม ๘ สถานทูตฝรั่งเศสตัดสินใจให้ทุน ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ผมก็เลยไม่เป็นภาระของครอบครัว ได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ผมไปเรียนที่ฝรั่งเศส เป็นเวลา ๙ ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๐๓ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๑๑"

 

ฝรั่งเศส ๑๙๖๘ : ปฐมบทแห่งสันติวิธี

อาจารย์โคทมจบปริญญาเอก Docteur Ingenieur Universite de Paris ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ ด้านวิทยาศาสตร์ โดยระหว่างศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส เริ่มสนใจศึกษาแนวคิดสันติวิธีและสนใจปัญหาของบ้านเมือง ทั้งการปกครองที่เมืองไทยในช่วงเวลานั้นและทั่วโลก

พฤษภาคม ๑๙๖๘ (พ.ศ.๒๕๑๑) ประเทศฝรั่งเศส เยาวชนนักศึกษาลุกฮือขึ้นขับไล่รัฐบาลของประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอโกลด์ ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนี้ มีผู้ใช้แรงงานเกือบสิบล้านคนเข้าร่วมการประท้วงทั่วทั้งประเทศ โดยมีข้อมูลระบุว่าเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมที่ประเทศฝรั่งเศสครั้งนั้น เป็นจุดเปลี่ยนอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส เพราะเหมือนเป็นการจุดประกายการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่สร้างสังคมที่เปิดกว้างและก้าวหน้ายิ่งขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญ เป็นภาพความทรงจำที่ยังชัดเจนสำหรับอาจารย์โคทมจนถึงทุกวันนี้

"ผมอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ได้เห็นและมีส่วนร่วมด้วย เป็นการฝึกฝนไปในตัว ให้เข้าใจว่าเป็นวิธีการแบบหนึ่ง จะสำเร็จหรือไม่ ไม่รู้ แต่ว่าเป็นการสร้างจินตนาการ คำขวัญของนักศึกษาตอนนั้นก็คือ จินตนาการคืออำนาจ ถ้าไม่มีจินตนาการ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ก็ไม่มีนวัตกรรม ไม่มีการเปลี่ยนเชิงปฏิรูป ยังจำได้จนถึงวันนี้ ชุมนุมกันเป็นล้านคน เหตุการณ์นี้ก็ ๕๐ กว่าปีแล้ว"

"ผมเริ่มสนใจเรื่องการเมืองตอนเรียนอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส เริ่มรู้สึกว่าการเมืองบ้านเรามันแย่ เราต้องกลับมาทำอะไรบางอย่างไหม ทำอะไรเพื่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง"

"เรื่องสันติวิธีเริ่มตั้งแต่ผมเรียนอยู่ประเทศฝรั่งเศสแล้ว อ่านหนังสือเกี่ยวกับแนวคิดสันติวิธี ตอนนั้นคิดว่าจะสู้อย่างไรดี ตั้งแต่ปี ๒๕๑๑ ก็เริ่มอ่านแล้ว จะได้เถียงกับเพื่อนได้ การต่อสู้จะใช้อาวุธหรือใช้สันติวิธี ถ้าอยากได้การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลังจากนั้น พอสนใจก็ศึกษาหาความรู้ หาวิธีการที่จะใช้สันติวิธีให้ได้ผล ผมคิดและตัดสินใจว่าการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ควรเป็นแนวทางสันติวิธี"

 

๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ - ๖ ตุลา ๒๕๑๙
บทเรียนสันติวิธีของสังคมไทย

อาจารย์โคทมกลับมาเมืองไทย พ.ศ.๒๕๑๒ เป็นอาจารย์สอนวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเวลา ๒๘ ปี จนถึงปี ๒๕๔๐ ในช่วงเวลาระหว่างนั้น มีเหตุการณ์บ้านเมืองครั้งใหญ่หลายครั้งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งหลายอย่างยังคงหลงเหลือเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

"พอกลับมาเมืองไทย ขณะที่เป็นอาจารย์สอน ผมก็เป็นนักกิจกรรมคู่ไปด้วย ผมมาเป็นกรรมการองค์กรที่ตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ชื่อสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมีอาจารย์เสน่ห์ จา- มริก เป็นประธานคนแรก ผมเป็นประธานคนที่สาม ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) พอเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลา สหภาพฯ ต้องหยุดดำเนินงาน เพราะมีคนมาที่สำนักงานของเรา ยึดเอกสารต่างๆ ไป ออกประกาศไปว่าได้ค้นเจอเอกสารปลุกระดมเกี่ยวกับประชาธิปไตยจำนวนมาก ที่สำนักงานของสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน"

อาจารย์โคทมเล่าว่า แม้จะจริงใจในการแก้ปัญหาบ้านเมือง แต่สันติวิธีในปี พ.ศ.๒๕๑๙ กลายเป็นคำที่ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายต่างหวาดระแวง "ขณะที่พูดเรื่องสันติวิธี ทั้งสองฝ่ายก็ไม่ไว้ใจ เพราะว่า พคท. พรรคคอมมิวนิสต์ฯ เขาก็ไม่เอาสันติวิธี บอกใช้ไม่ได้ บอกว่าเป็นพวกลัทธิแก้ จะเบี่ยงเบนวิธีการของเราเพื่อเป้าหมาย เป็นซ้ายปลอม ซ้ายก็โจมตี ฝ่ายขวาก็แน่นอนอยู่แล้ว ฝ่ายขวาก็ต้องการปราบ จึงไม่ต้องการให้พูดเรื่องสันติวิธี พูดเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ยังไง เอาเป้าหมายเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เอาวิธีการ คล้ายๆ กับเป็นวิธีการหลอก สันติวิธี สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องหลอกลวง ก็โดนโจมตีอีก"

หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาผ่านไป อาจารย์โคทมได้ร่วมทำงานกับกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) ทำเรื่องสิทธิมนุษยชนและสันติวิธีด้วยความเข้มข้น มีทั้งกิจกรรม ความคิดเห็น การพิมพ์หนังสือ และการเขียนบทความต่างๆ "กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคมตั้งมาก่อนเหตุการณ์ดังกล่าว โดยอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ทางพุทธ พระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ทางคาทอลิก และอาจารย์โกศล ศรีสังข์ ทางโปรเตสแตนต์ สามท่านนี้เป็นหลัก แต่หลังเหตุการณ์ คนที่เป็นหลักคือ นิโคลัส เบนเนตต์"

ในหนังสือ ‘สร้างสันติด้วยมือเรา' ระบุว่ากลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ ท่ามกลางความรุนแรงแห่งความขัดแย้งทางการเมือง จุดมุ่งหมายสำคัญของกลุ่มคือการประยุกต์ ศาสนธรรมเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน

ปี พ.ศ.๒๕๔๐ อาจารย์โคทมลาออกจากอาชีพอาจารย์ เพราะมีตำแหน่งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต. ๒๕๔๐-๒๕๔๔) และไปทำงานที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT - Asian Institute of Technology) หลังจากนั้น เป็นประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (๒๕๔๘-๒๕๕๑) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (๒๕๔๙-๒๕๕๐)

 

เหตุการณ์ความไม่สงบ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
สันติวิธีคือทางออก

ในปี พ.ศ.๒๕๔๖ อาจารย์โคทมอายุครบ ๖๐ ปี หลังจากเกษียณอายุจากสถาบัน AIT ได้ไปเป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสืบเนื่องในเวทีการประชุมครั้งหนึ่ง ซึ่งมีคุณหมอประเวศ วะสี เป็นผู้อภิปรายบนเวที "ตอนนั้นช่วงปี ๒๕๔๗ เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ภาคใต้ และเหตุการณ์ที่ตากใบผ่านไปแล้ว หมอประเวศบอกว่าปัญหาชายแดนภาคใต้ต้องใช้สันติวิธี และมหาวิทยาลัยมหิดล มีงบประมาณ มีศักยภาพ ที่จะทำงานนี้เพื่อประโยชน์ของสังคม ถ้าหาใครไม่ได้ ก็ไปชวนอาจารย์โคทม ซึ่งผมอยู่ในห้องประชุมนั้นพอดี และยังไม่ทันจบการประชุมเลย อาจารย์หมอพรชัย[๑] อธิการบดีก็มาคุยด้วย บอกอาจารย์มาช่วยกันทำงานหน่อย หลังจากนั้น ผมก็เขียนโครงการ ตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล ชื่อติดตลาดอยู่เหมือนกันนะ ระยะหนึ่ง ลงไปภาคใต้และอีกหลายที่ มีอาจารย์หลายท่านช่วยกันทำงานอย่างหนักจนถึงทุกวันนี้"

โดยในช่วงปีพ.ศ.๒๕๕๓ อาจารย์โคทมได้นำคณะธรรมยาตราเดินเท้า ๑,๑๐๐ กิโลเมตร จากมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มุ่งหน้าสู่ จ.ปัตตานี รณรงค์ใช้สันติวิธีดับไฟใต้ ผ่าน ๑๑ จังหวัด ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และปัตตานี

ในปัจจุบัน อาจารย์โคทมยังคงเป็นที่ปรึกษาของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

อาจารย์โคทมอธิบายว่า สังคมไทยได้เรียนรู้มากขึ้นแล้ว เกี่ยวกับแนวคิดสันติวิธี "เมื่อก่อนคำว่าการมีส่วนร่วมเป็นคำแสลงหู จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ในรัฐธรรมนูญเขียนเรื่องการมีส่วนร่วมไว้หลายแห่งและมีคำว่าสันติวิธีด้วย แต่ฉบับสุดท้ายนี่ถอยลง คือมีคำดังกล่าว แต่ว่าไม่เข้มข้นเหมือนรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐"

"ผมคิดว่าการมีส่วนร่วม กับสันติวิธี ไปในทิศทางเดียวกัน แม้กระทั่งกองทัพภาคที่ ๔ เขียนเลยว่า เราจะใช้สันติวิธี และเราจะเคารพสิทธิมนุษยชน นโยบายของ สมช. (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ) เขียนเลยว่าใช้สันติวิธี เคารพสิทธิมนุษยชน นี่ก็ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยในเชิงวาทกรรม แต่แน่นอนก็มีคนไม่เชื่ออยู่แล้ว แต่การยอมรับ อย่างที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ผมว่าไว้ และเริ่มมีคนศึกษา อย่างเช่น อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ที่ธรรมศาสตร์ ศึกษาเรื่องนี้ ทุ่มเทกับงานวิชาการ ทางมหาจุฬาราชวิทยาลัย ก็จัดหลักสูตรสันติศึกษา มอ. สงขลา ก็ทำหลักสูตรสันติวิธี เป็นต้น และผมยังเชื่อว่าสันติวิธียังเป็นทางออกของสังคม ไม่เฉพาะประเทศไทย"

 

สานเสวนาระหว่างวัย
ความคิดที่ควรสานต่อ

ชีวิตที่เชื่อมั่นในแนวคิดสันติวิธี และการทำงานเพื่อสันติภาพมาตลอดชีวิตของอาจารย์โคทม คงเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนไม่มากก็น้อย คนรุ่นหลังอย่างผู้เขียนเองได้เรียนรู้จากสิ่งที่อาจารย์เล่าให้ฟังอย่างมากมาย

ชีวิตของอาจารย์โคทมเกี่ยวร้อยเชื่อมโยงอยู่กับทุกข์สุขของสังคมไทย ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองแม้หลายครั้งจะถูกเข้าใจผิดอยู่เสมอในความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่างๆ

อาจารย์โคทมกล่าวว่าแนวคิดที่ระบุในสารวันสันติสากล เรื่อง "การสานเสวนาระหว่างวัย" เป็นสิ่งที่ควรสานต่อสำหรับสังคมไทยปัจจุบัน "อย่างที่พระสันตะปาปาบอก คือการสานเสวนา ก่อนหน้านี้เรามักจะพูดถึงการสานเสวนาระหว่างความเชื่อ ความศรัทธา ผมว่าถ้ามีการสานเสวนาระหว่างวัย ผมว่าเป็นความคิดริเริ่มที่น่าสานต่ออย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสังคมไทยปัจจุบัน"

"สานเสวนาต้องสื่อใจถึงใจ ต้องเต็มใจรับฟังในสิ่งที่ไม่อยากฟัง และต้องมีจินตนาการที่จะเสนอสิ่งที่เราอยากเสนอ"

โดยอาจารย์โคทมอยากให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน "สร้างสรรค์สังคมต่อไป เพราะนี่คือธรรมชาติที่เป็นพลวัตของมนุษย์ สันติวิธีคือการไม่ยอมจำนน ผมเน้นสันติวิธี ผมไม่แนะนำให้เยาวชนลูกหลานของผมสู้ด้วยอาวุธ เพราะผมไม่อยากให้เกิดการบาดเจ็บล้มตาย"

"ยุคของเขา เขากำลังสร้างอนาคตของเขา เขากำลังสู้ในแบบของเขา ผมสู้มาเพื่อความอยู่รอดของตัวผมและลูกหลาน ตอนนี้ลูกหลานก็ต้องต่อสู้ เพื่อความอยู่รอดของคนรุ่นต่อจากพวกเขาต่อไป"

 

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์
ชีวิตและแนวคิดของนักระบาดวิทยา

ในสารวันสันติสากลของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส นอกจากข้อเสนอ ๓ ประการ คือ การเสวนาของคนระหว่างรุ่น, การศึกษา และการทำงาน เพื่อการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน ยังได้กล่าวถึงการแพร่กระจายของ ‘โรคระบาดใหญ่' อยู่ตลอดในเอกสารฉบับนี้ ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าจนถึงวันนี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ยังสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้คน ทั้งในสังคมไทยและโลกของเรา

ช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ชื่อของ คุณหมอคำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ดูจะคุ้นเคยและเป็นที่รู้จักกันดีในสังคมไทย เพราะท่านคือหนึ่งในที่ปรึกษาด้านวิชาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ และอดีตนายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน สาขาระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคุณหมอคำนวณทำหน้าที่เสนอแนะข้อมูลสำคัญสำหรับสังคมไทย ทั้งในรูปแบบวิชาการ วิทยากรรับเชิญในเวทีต่างๆ รวมถึงเขียนบทความให้แง่คิดในนิตยสารคาทอลิก

ชีวิต แนวคิด และประสบการณ์จากการทำงานด้านสาธารณสุขของคุณหมอคำนวณย่อมเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้

คุณหมอคำนวณเกิดปี พ.ศ.๒๔๙๘ ปัจจุบันอายุ ๖๗ ปี มีพี่น้องทั้งหมด ๗ คน โดยคุณหมอคำนวณเป็นลูกคนสุดท้อง คุณหมอคำนวณเล่าว่า เกิดในครอบครัวของผู้อพยพย้ายถิ่น เพราะคุณพ่อคุณแม่เป็นคนจีนมาจากเมืองซัวเถา หนีความยากจนมาจากเมืองจีน โดยมีญาติเดินทางมาเมืองไทยอยู่ก่อนแล้วที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

"ช่วงแรกคุณพ่อก็มารับจ้าง ต่อมาค้าขายยางพารา คือรับซื้อยางสดจากชาวบ้าน และไปขายต่อที่โรงงาน ตอนแรกราคายางดี ตั้งตัวได้ มีร้าน มีบ้านของตัวเอง แต่ต่อมา ราคายางตกต่ำ เศรษฐกิจก็ลำบาก คุณพ่อตัดสินใจขายบ้านที่หาดใหญ่ และย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ"

คุณหมอคำนวณเรียนชั้นประถมฯ ที่โรงเรียนแสงทองวิทยา หาดใหญ่ หลังจากย้ายมากรุงเทพฯ ได้มาเรียนต่อที่โรงเรียนกุหลาบวิทยา และเข้าเรียนระดับประถม๗ ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก จนจบการศึกษา และได้ไปสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ต้นทุนของชีวิต
ความสำคัญอยู่ที่ครอบครัว

คุณหมอคำนวณเล่าว่า สิ่งหนึ่งที่ถูกปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กคือทุกคนต้องช่วยทำงานบ้าน  "ตอนที่ย้ายมากรุงเทพฯ ที่บ้านทำอาชีพขายผ้านุ่ง ผ้าโสร่ง ลูกๆ มีหน้าที่ช่วยพับผ้า และติดตรา ใส่ซอง เราคุ้นเคยกับการทำงาน ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญ คือพอเราทำงาน คุณพ่อก็ให้เงิน ไม่แจกเงินให้เปล่าๆ ต้องทำงานแลกเงิน เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เราได้ รู้สึกว่ามีคุณค่า ไม่ใช่ได้มาอย่างง่ายๆ เพราะฉะนั้น พวกเราติดนิสัยจะใช้เงินแต่ละบาท ต้องคิดก่อน เป็นสิ่งที่ดีที่ครอบครัวปลูกฝังให้"

คุณหมอคำนวณกล่าวว่า "เด็กๆ ควรจะเกิดและเติบโตในครอบครัวที่ไม่มีความรุนแรง พ่อแม่ผมเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่เคยทะเลาะตบตีกัน เป็นต้นทุนของชีวิตที่ดี ถ้าเด็กเกิดในครอบครัวที่พ่อแม่ทะเลาะกัน มีสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี จะลำบากมากสำหรับเด็ก ต้นทุนชีวิตของเด็ก สำคัญอยู่ที่ครอบครัวที่เติบโตมา"

"ผมมีโอกาสได้เข้าโรงเรียนที่ดี และเป็นโรงเรียนคาทอลิก คือโรงเรียนแสงทองวิทยา ของคณะซาเลเซียน โรงเรียนกุหลาบวิทยา ที่ตลาดน้อย และโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ซึ่งโรงเรียนคาทอลิกจะมีบรรยากาศที่สอนทั้งทางโลกและทางธรรม"

"โรงเรียนเป็นที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการค้นคว้า มีห้องสมุด อยากอ่านหนังสือก็ไปเข้าห้องสมุดค้นคว้าได้ มีสอนดนตรี สอนสิ่งต่างๆ ที่เราสนใจ บรรยากาศที่ดีเป็นสิ่งสำคัญที่จะหล่อหลอมเด็ก"

คุณหมอคำนวณเล่าว่า ความสนใจที่อยากจะเป็นแพทย์ เพราะส่วนหนึ่งได้แรงบันดาลใจจากหนังสือชีวประวัติของอัลเบิร์ต ชไวเซอร์ นายแพทย์ที่อุทิศชีวิตดูแลรักษาคนไข้ที่แอฟริกา ได้รับการยกย่องว่าเป็นคุณหมอที่รับใช้คนที่ขาดแคลน และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ค.ศ.๑๙๕๒ จากความพยายามอันยาวนานของนายแพทย์ผู้นี้ทำให้ได้รับการสรรเสริญจากทุกคนทั่วโลก "ประวัติชีวิตของอัลเบิร์ต ชไวเซอร์ เป็นแรงบันดาลใจแรกที่ทำให้ผมสนใจเรียนแพทย์ และพอสอบเข้าได้ ก็เดินอยู่บนเส้นทางสายนี้"

 

๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ - ๖ ตุลา ๒๕๑๙
หลักสูตรนอกมหาวิทยาลัย

ปี พ.ศ.๒๕๑๖ คุณหมอคำนวณเป็นนักศึกษาปี ๑ ช่วงเวลานั้นบรรยากาศในรั้วสถาบันการศึกษาเต็มไปด้วยบรรยากาศของการแสวงหาและค้นหาความหมายของการใช้ชีวิต "ผมจำได้ว่าเข้ามหาวิทยาลัยเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน พอเดือนตุลาคม ก็เกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา"

ช่วงเวลานั้นเป็นบรรยากาศที่เรียกว่าเป็นสังคมของการเปลี่ยนผ่าน "สังคมช่วงก่อนเหตุการณ์ ๑๔ตุลา เป็นสังคมที่ค่อนข้างจะเรียกว่าเป็นสังคมที่คนเน้นการประสบความสำเร็จในชีวิตส่วนตัว สนใจเรื่องของธุรกิจ เรื่องของตำแหน่งหน้าที่ ไม่ได้สนใจสังคมในภาพรวม แต่ช่วงเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา มันเปลี่ยนแนวคิดนั้น บอกว่าความสำคัญของชีวิต ไม่ได้อยู่ที่ความสำเร็จในธุรกิจ หรือตำแหน่งหน้าที่การงานแต่อย่างเดียว แต่มีความหมายของชีวิตอะไรบางอย่างที่ต้องค้นให้เจอ ถ้าเราค้นพบ เราจะประสบกับความสุขที่แท้จริงในชีวิต"

"นักศึกษาสมัยนั้นจะอยู่ในบรรยากาศค้นหา แสวงหาว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสมสำหรับพวกเขา จะทำตัวให้มีคุณค่าได้อย่างไร และสิ่งเหล่านี้ก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพราะเวลาคนค้นคว้า จะเริ่มพบว่ามันไม่ควรเป็นแบบนั้น สังคมไม่ควรเป็นแบบนี้ ควรจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ก็เลยเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางการเมือง เพราะบรรยากาศมันทำให้คนแสวงหาว่าอะไรที่ถูกที่ควร  ความถูกความควรของเป้าหมายอาจเหมือนกัน  แต่วิธีการไปสู่เป้าหมายนั้นอาจแตกต่างกัน  คนส่วนหนึ่งอาจเลือกใช้การจับอาวุธขึ้นสู้กับคนที่ถือกฎเกณฑ์ แนวนี้จะตรงกับทฤษฎีการเมืองบางลัทธิ  แต่คนอีกส่วนอาจเลือกใช้วิธีการเสวนา เจรจา สันติ ทางคาทอลิกจะสนับสนุนแนวแบบหลัง"

"ผมผ่านเหตุการณ์ทั้ง ๑๔ ตุลา และ ๖ ตุลา เวลาเรียนแพทย์ ๒ ปีแรกอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ ถนนพญาไท ช่วงนั้นทำกิจกรรมเยอะมาก พอปี ๓ ข้ามไปเรียนที่ศิริราช ด้วยความที่เราถูกฝึกมาให้เป็นคนที่ตั้งคำถาม สงสัย ตรวจสอบค่านิยมของสังคมว่าค่านิยมนี้ถูกต้องหรือไม่ เราไปเจอสังคมที่เรียกว่าเป็นสังคม ซีเนียริตี้ (seniority) คือมหาวิทยาลัยจะมีระบบรุ่นพี่เป็นคนกำกับรุ่นน้อง รุ่นพี่สั่งอะไรต้องทำหมดทุกอย่าง สังคมเป็นแบบนั้น ซึ่งก็มีเหตุมีผล เพื่อทำให้รุ่นพี่รุ่นน้องสนิทกัน แต่ว่าช่วงเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ทำให้เราสงสัยว่าสิ่งนี้ถูกต้องหรือไม่ เพราะฉะนั้น ก็มีการต่อสู้กันทางความคิด เพื่อเปลี่ยนแปลงประเพณีต่างๆ ที่เกินเลยไป เช่น การรับน้อง การดื่มเหล้า ฯลฯ แต่ก็แสดงออกด้วยการเขียน การพูด มีการประท้วงไม่ร่วมกิจกรรมที่เห็นว่าไม่เหมาะ พอเวลาผ่านไป จบไปทำงานกัน  ก็ยังเป็นพี่น้องกันอยู่"

คุณหมอคำนวณบอกว่า ที่สำคัญมากกว่าหลักสูตรในมหาวิทยาลัย คือหลักสูตรนอกมหาวิทยาลัย "ช่วงเรียนหนังสือ มีส่วนหนึ่งคือหลักสูตรในห้องเรียน อีกส่วนหนึ่งคือการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ผมใช้เวลาพอๆ กัน ทำให้เป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ชีวิตในแง่มุมต่างๆ"

 

สาธารณสุขเพื่อชาวบ้าน

คุณหมอคำนวณเล่าว่า การเรียนแพทย์ ทำให้ต้องดูแลคนไข้ และพบว่างานด้านสุขภาพสามารถเปลี่ยนชีวิตชาวบ้านได้ และระบบสาธารณสุข แทนที่จะกระจุกตัวอยู่ในเมือง สามารถเปลี่ยนแปลงให้นำสาธารณสุขไปอยู่ใกล้ชาวบ้านได้

คุณหมอคำนวณจบแพทยศาสตร์ศิริราช ปี พ.ศ.๒๕๒๒ ไปเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี "ตอนนั้นงานหนักมาก คนไข้นอนตามระเบียง คนไข้เยอะมาก ทำงานแบบเรียกว่าเกือบไม่ได้นอน ไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ แต่มีความภูมิใจลึกๆ ว่าเราได้ช่วยชีวิตคน เพราะว่าชาวบ้านไปที่ไหนไม่ได้"

หลังจากนั้น คุณหมอคำนวณสมัครไปทำงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น เพราะว่าที่ภรรยาได้สมัครไปอยู่ที่นั่นล่วงหน้ามาก่อนหนึ่งปี "เวลาที่ไปทำงาน เห็นความลำบากของชาวบ้าน ชาวบ้านทางอีสาน เป็นชาวบ้านที่เรียกว่าเวลามาหาหมอ เขาจะมาบอกอย่างเดียวเลยว่า คุณหมอ ถ้ารักษาได้ ให้รักษาที่นี่ ถ้าต้องตาย ขอกลับไปตายที่บ้าน อย่าส่งเขาไปโรงพยาบาลใหญ่ เพราะเขาไม่มีเงิน หากไปตายที่อื่น หารถขนศพกลับมาบ้านไม่ได้ แพงมาก"

คุณหมอคำนวณอธิบายว่า "เวลาที่เราพูดถึงการเปลี่ยนแปลง มีหลายมิติมาก ใครถนัดด้านไหน ก็พยายามเปลี่ยนแปลงในมิติและความเชื่อที่ตัวเองมีอยู่"

"พระสันตะปาปาบอกว่า งานคือจุดตั้งต้นของการสร้างสันติ อันนี้จริง งานทำให้เรารู้สึกว่าเราสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่น โดยใช้งานเป็นตัวเชื่อม งานทำให้เราเห็นคุณค่าของตัวเอง ทำให้เราเห็นคุณค่าของชีวิตคนอื่นด้วย ถ้าเราไม่มีงานทำ หรือไม่ทำงาน เราจะไม่เห็นคุณค่าของตัวเรา และเราไม่เห็นคุณค่าของคนที่เราจะเชื่อมโยงด้วย"

 

งานป้องกันโรคระบาด

คุณหมอคำนวณรับราชการตั้งแต่เป็นแพทย์ธรรมดา กระทั่งเริ่มทำงานสายวิชาการ ด้านงานส่งเสริมป้องกัน เป็นผู้อำนวยการฝึกอบรมแพทย์ทางด้านระบาดวิทยา หลังจากนั้น เป็นผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค

ความสำคัญของงานระบาดวิทยา คือการต่อสู้กับโรคติดต่อในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น อหิวาตกโรค ไข้เลือดออก โรคเอดส์ โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ในปัจจุบัน ซึ่งคงต้องยอมรับว่าสังคมไทยแทบจะไม่เคยรับรู้ถึงบทบาทของแพทย์นักระบาดวิทยาว่าเป็นใคร ทำอะไร และสำคัญอย่างไร

ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กลุ่มนักระบาดวิทยาคือบุคลากรที่สำคัญอย่างแท้จริง พวกเขาต้องทำงานหนักและเหน็ดเหนื่อย ซึ่งนักระบาดวิทยามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

"ผมทำงานด้านการป้องกันควบคุมโรค  โดยงานหลักคืองานส่งเสริมป้องกันไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ป่วย ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งงานของแพทย์ส่วนใหญ่จะเป็นงานรักษาที่ปลายเหตุในโรงพยาบาล ผมได้ทำงานในเชิงปลายเหตุก่อน และขยับมาที่งานป้องกันควบคุมต้นเหตุ สายงานที่ผมเลือกคือเป็นสายวิชาการ เป็นงานที่ให้ข้อเสนอแนะ เพื่อให้ฝ่ายตัดสินใจ เลือกว่าจะทำหรือไม่ทำ อย่างไรบ้าง คือตัดสินใจบนฐานทางวิชาการ ว่าหลักการทางวิชาการควรเป็นอย่างไร แต่แน่นอนคนตัดสินใจเขาก็มีมิติอื่นที่กดดันอยู่"

 

ส่งต่อ "คบไฟ"
ภารกิจเพื่อสังคมที่ดีกว่า

ความคิดและประสบการณ์ชีวิตของคุณหมอคำนวณ คงมีประโยชน์ต่อทุกคนไม่มากก็น้อย ซึ่งการพูดคุยครั้งนี้ เปรียบเสมือนการพูดคุยของคนต่างรุ่นวัยเช่นเดียวกัน และผู้เขียนได้รับมุมมองความคิดจากคุณหมอคำนวณในหลายเรื่อง แม้จะไม่สามารถระบุรายละเอียดได้ทั้งหมดในพื้นที่อันจำกัด

คุณหมอคำนวณบอกว่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เป็นประวัติศาสตร์ของการส่งต่อภารกิจ "เราต้องส่งต่อภารกิจวันนี้ของพวกเรา ไปให้คนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ไม่เหมือนคนรุ่นเรา เพราะเขาเติบโตมาในสถานการณ์ ในยุคสมัยที่แตกต่าง คนรุ่นปัจจุบันเหมาะสมที่จะรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันที่สลับซับซ้อน เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว"

"เราต้องส่งคบเพลิงต่อไปให้คนรุ่นใหม่ ไม่ว่าคนรุ่นไหนก็ตาม จะมีลักษณะคล้ายกันคืออยากทำอะไรที่ดีกว่าเดิม อยากให้สังคมดีกว่าเดิม ฝากไว้กับคนรุ่นใหม่ว่าคนรุ่นใหม่ต้องรับภารกิจของการนำสังคมไปสู่สังคมที่ดีกว่าเดิม โดยใช้ความรู้ ความสามารถ และทักษะที่เขาถูกหล่อหลอมมา เรียนรู้จากคนรุ่นเก่า และปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันและสิ่งที่จะเกิดในอนาคต"

การเรียบเรียงประวัติชีวิตของผู้ใหญ่ทั้งสามท่านนี้ นับเป็นพรอย่างหนึ่งในชีวิตของผู้เขียน ซึ่งทั้งสามท่านล้วนทำงานในมุมของตนเองอย่างเต็มที่เพื่อสร้างสังคมแห่งสันติ

อาจารย์วไล และอาจารย์โคทม อุทิศตนเพื่องานด้านสันติภาพ สันติวิธี และสิทธิมนุษยชน ส่วนคุณหมอคำนวณในฐานะแพทย์นักระบาดวิทยา ทุ่มเทเสียสละตนเองเพื่องานป้องกันโรคระบาดอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ซึ่งประวัติชีวิตส่วนบุคคลเชื่อมโยงกับประวัติของสังคม ทั้งงานด้านสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และสาธารณสุข

ขณะที่เรียบเรียงเรื่องราวชีวิตของแต่ละท่าน ผู้เขียนต้องกลับไปอ่านและทบทวนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในสังคมไทยและสถานการณ์ของโลกในแง่มุมต่างๆ พร้อมกันไปด้วย ...สิ่งที่ค้นพบคือ ‘หนึ่งชีวิตคน' สามารถสะท้อนภาพที่แท้จริงของบ้านเมืองและประวัติศาสตร์โลกได้อย่างชัดเจนที่สุด

 


[๑] ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >