หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 40 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ความอยุติธรรมเชิงโครงสร้าง โจทย์ที่เด็กรุ่นใหม่ตั้งคำถาม และเลี้ยงลูกอย่างไรในสังคมแห่งความอยุติธรรม พิมพ์
Wednesday, 11 May 2022

Image


วารสารผู้ไถ่
ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๑๑๘ ม.ค. - เม.ย. ๒๕๖๕

 
ความอยุติธรรมเชิงโครงสร้าง โจทย์ที่เด็กรุ่นใหม่ตั้งคำถาม
และเลี้ยงลูกอย่างไร ในสังคมแห่งความอยุติธรรม?
ผ่านบทสัมภาษณ์ หมอโอ๋ เพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน'

องอาจ เดชา สัมภาษณ์


Image

ออกซ์แฟม (Oxfam) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานขับเคลื่อนเพื่อบรรเทาความยากจนทั่วโลก เปิดเผยรายงานสถานการณ์ความยากจนของโลกในช่วงปีที่ผ่านมา ว่า การระบาดของโควิด-๑๙ ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำห่างกว้างมากขึ้น โดยขณะที่บรรดาเศรษฐีมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมหาศาล แต่ผู้คนทั่วโลกมากถึง ๑๖๐ ล้านคน กลับตกอยู่ในความยากจนและหิวโหย

รายงานสถานการณ์ความยากจนประจำปีที่ Oxfam จัดทำขึ้นและมักจะเผยแพร่ก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำบนเวที World Economic Forum ซึ่งปีนี้จะยังคงจัดประชุมทางไกลขึ้นจากเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า ในขณะที่ ๑๐ มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยติดอันดับโลก มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วง ๒ ปีแรกหลังโลกเผชิญกับวิกฤติโควิดระบาด แต่คนยากจนกลับยากจนลงเป็นจำนวนมากขึ้นและเสี่ยงเสียชีวิตจากโควิด เพราะไม่ได้รับหรือเข้าไม่ถึงวัคซีนป้องกัน ทำให้มีรายงานว่า มีคนยากจนทั่วโลกอย่างน้อย ๒๑,๓๐๐ คน เสียชีวิตจากโควิดต่อวัน

รายงาน Inequality Kills ฉบับล่าสุดของ Oxfam ระบุอีกว่า โลกก้าวเข้าสู่ปี ค.ศ.๒๐๒๒ ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่น่าวิตกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พร้อมเตือนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความรุนแรงทางเศรษฐกิจจากความเหลื่อมล้ำ เพราะคนยากจนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุข และตกเป็นเหยื่อจากความรุนแรงของความอดอยากหิวโหย การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความแตกต่างของเพศภาวะ

ขณะเดียวกันท่ามกลางคนยากจนที่มีมากขึ้นราว ๑๖๐ ล้านคนทั่วโลก ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่คนขาวและกลุ่มผู้หญิงได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากภาวะความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ก่อนย้ำว่า ในโลกที่ความไม่เท่าเทียมในเชิงโครงสร้าง ระบบนโยบาย และทางเลือกทางการเมืองบิดเบี้ยวจนเอื้อประโยชน์คนมั่งมี ผลลัพธ์ดังกล่าวทำให้คนธรรมดาทั่วโลกตกอยู่ภายใต้ความยากจนในสภาพจำยอม ซึ่งกรณีของวัคซีนโควิด-๑๙ เป็นตัวอย่างภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นสถานการณ์ดังกล่าวชัดเจนที่สุด และคนหลายร้อยล้านคนจะไม่ตายจากไปหากได้รับวัคซีนทันเวลา

ด้านสถานีโทรทัศน์ CNN รายงานด้วยการหยิบยกประเด็นที่คนรวยรวยขึ้นมาเป็นตัวนำ โดยระบุชัดว่า มูลค่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุด ๑๐ อันดับแรกของโลก ตามการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes นำโดย อีลอน มัสก์ แห่ง Tesla และ เจฟฟ์ เบโซส์ แห่ง Amazon นั้นพุ่งขึ้นจาก ๗ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น ๑.๕ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย ๑.๓ พันล้านดอลลาร์ต่อวัน หรือเฉลี่ยนับตั้งแต่เกิดโควิด-๑๙ จนถึงขณะนี้ มหาเศรษฐีระดับพันล้านสามารถเพิ่มพูนความมั่งคั่งของตนได้ร่วมประมาณ ๕ ล้านล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ความมั่งคั่งร่ำรวยของมหาเศรษฐีกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ มากกว่าในช่วง ๑๔ ปีที่ผ่านมา ที่ในช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดนับจากการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.๑๙๒๙ หลังตลาดหุ้น Wall Street ตกครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา

(ที่มา:  THE STANDARD WEALTH)

 

จากประเด็นข้างต้น ทำให้ ‘ภู เชียงดาว' คุณพ่อคนหนึ่งที่มีลูกเรียนโฮมสคูล ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยสนทนากับ แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือที่หลายคนรู้จักกันดีในนาม "หมอโอ๋" เจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน'

เป็นบทสนทนาว่าด้วยเรื่องชีวิต และแรงบันดาลใจ ที่สั่งสมประสบการณ์การทำงานของคุณหมอ ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ จนเข้าใจ มองเห็นปัญหาโครงสร้างของสังคม และพยายามใช้ทักษะในการสื่อสารเพื่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในท่ามกลางความอยุติธรรมเชิงโครงสร้าง และสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำสูงมากในขณะนี้

 

อยากให้หมอโอ๋ช่วยเล่าชีวิตที่ผ่านมา ว่าครอบครัวนั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้หมอมาสนใจประเด็นเรื่องสังคมแบบนี้ไหม?

ก็มีส่วนบ้าง แต่อาจจะไม่ได้มากนะคะ คือส่วนใหญ่ครอบครัว คุณพ่อจะเป็นคนที่ชอบพาเราไปทำงานในเชิงช่วยเหลือเด็กมากกว่า คือจะพาไปทำบุญ แจกของให้กับผู้อื่น ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ คือคุณพ่อชอบไปทำงานด้านช่วยเหลือสังคมบ้าง แต่ไม่ได้ถึงกับให้เราได้ตั้งคำถามอะไรมากมายในตอนนั้น ก็เป็นอารมณ์แบบว่า เรามีมากกว่าก็เอาไปแบ่งปัน มีกำลังก็ไปช่วยเหลือคนที่ลำบากกว่าเรา ตรงนี้เราสามารถซึมซับได้ ก็ทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่ได้อยู่ในสังคมที่แค่เรารอดก็พอ พ่อแม่ก็คอยบอกเราว่า ต้องมองคนที่อยู่รอบข้างเราด้วย ทางครอบครัวเขาก็จะปลูกฝังเราในเรื่องนี้  

 

พอเติบโตมาในระดับมหาวิทยาลัย หมอโอ๋ มีมุมมองความคิดเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

ตอนที่เรียนและมาทำงานเป็นหมอ ดูแลคนไข้ ก็ทำให้เรามองเห็นความยากลำบากของคนไข้ ทำให้เรามองเห็นในเรื่องการมีข้อจำกัด ทำให้เราซึมซับผ่านการเรียนแพทย์ แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นจุดที่ทำให้เราหันมาสนใจเรื่องสังคม ซึ่งได้จากตอนที่เราไปเรียนเมืองนอก เราได้เห็นเรื่องของรัฐสวัสดิการ เรื่องคุณภาพชีวิตที่ดี ประเทศที่ลงทุนกับเรื่องของคุณภาพชีวิต ตรงนี้น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกและตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมต่างประเทศ คุณภาพชีวิตของเขาดีจังเลย ก็น่าจะทำให้เราได้ซึมซับ จากสิ่งที่เราได้เห็นจากการไปเรียนต่างประเทศมา

 

การอ่านหนังสือ มีส่วนต่อความสนใจเรื่องของสังคมด้วยไหม?

เรื่องหนังสือก็มีส่วนที่ทำให้เรามาสนใจในเรื่องสังคมเหมือนกัน ทำให้เราเริ่มตั้งคำถาม เราก็เติบโตมาในช่วงอนุรักษ์นิยม (Conservative) การอ่านหนังสือทำให้เรามีความเปิดกว้างด้านความคิดมากขึ้น มองเรื่องความเป็นมนุษย์ เรื่องความเท่าเทียมมากขึ้น แล้วการตามอ่านบทความต่างๆ ที่มีมุมมองของคนหลายๆ คน ก็ทำให้เรารู้สึกว่า เออ มันก็ทำให้เราตั้งคำถามกับบางเรื่องมากขึ้น ทำให้เราเข้าใจบริบทของคนหลายๆ ฝ่ายมากขึ้น   

 

ขณะที่หลายประเทศเขามีรัฐสวัสดิการ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีอีกหลายประเทศในโลกนี้ที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำรุนแรง แล้วความอยุติธรรมก็มีเพิ่มมากขึ้น ตรงนี้หมอโอ๋หันมามองประเทศไทย มองสังคมไทยของเราว่าเป็นอย่างไรบ้าง?

ใช่ค่ะ ปัญหาคือบ้านเมืองเราก็ติดอันดับโลกในเรื่องความเหลื่อมล้ำ คือ รวยกระจุก จนกระจาย ก็เป็นความจริงนะคะ แล้วก็เห็นว่าคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมไทยนั้นมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น เรื่องการศึกษา โรงเรียนเด็ก หรือโรงเรียนทางเลือก ก็จะมีราคาที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ ของเด็ก แค่เด็กคนหนึ่งเกิดมามีชีวิตที่ดีก็ต้องใช้เงิน อาศัยเงิน สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า มีแค่คนเพียงจำนวนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยแบบมีความสุข แต่คนที่ปากกัดตีนถีบก็ไม่มีความสุขกันหรอก ยิ่งอยากหายใจในที่ที่มีอากาศดีๆ ก็ไม่ได้ เพราะเครื่องกรองอากาศ มันก็ราคาแพงมาก รวมไปถึงเรื่องของการศึกษา และการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี มันก็เห็นสิ่งเหล่านี้ชัด เวลาที่เราทำงานกับเด็ก กับครอบครัว หมอเป็นหมอด้านวัยรุ่น หมอก็จะเห็นเลยว่า เออ บางทีบางอย่างมันมีข้อจำกัด แค่บอกว่าอยากให้พ่อแม่มีเวลาให้ลูกมากขึ้น แต่ก็ทำไม่ได้หรอก เพราะพ่อแม่ก็ต้องทำงาน ถ้าไม่ทำงานก็ไม่มีเงินค่าเช่าบ้าน ไม่มีค่าเทอมลูก มันก็เป็นเรื่องของปัญหาเชิงโครงสร้าง มองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น เมื่อเราทำงานกับคนมากขึ้น

 

พูดถึงเรื่องโครงสร้างระบบการศึกษาไทย หมอโอ๋มองอย่างไรบ้าง ณ เวลานี้ เหมือนมันไปไม่ถูกทางแล้วหรือเปล่า?

ก็น่าจะใช่นะคะ คือตอนนี้มันก็น่าจะไปไม่ถูกทาง คือระบบการศึกษาไทย เราก็ยังเร่งให้เด็กเรียน แล้วก็ใช้เรื่องการสอบ การวัดผลการสอบเข้า มาเป็นตัวกำหนดความสามารถของเด็ก ทำให้เด็กต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ใช่วัย ต้องรู้ต้องเขียนได้ในวัยอนุบาล อย่างตอนนี้ก็จะให้ท่องสูตรคูณได้ในระดับอนุบาล คือเหมือนพยายามจะทำให้เด็กเก่งเร็วๆ โดยที่ไม่มีความจำเป็น มันไม่ใช่วัยของเขา แล้วสุดท้ายก็มาวัดคุณภาพของเด็กคนหนึ่งด้วยผลการเรียนการสอบแบบนี้ คิดว่าการจัดการศึกษาแบบนี้ไม่น่าจะไปถูกทางนะคะ

 

ตอนนี้ครอบครัวของเราก็เลือกจะจัดโฮมสคูล (Home School) ให้กับลูกชาย คุณหมอมองว่ากระแสการศึกษาทางเลือกตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ รู้สึกเหมือนเริ่มมีผู้ปกครองและเด็กหันมาสนใจกันมากขึ้น คุณหมอมองว่าเป็นทิศทางที่ดีไหม แล้วอยากเสนอแนะ หรือแนะนำผู้ปกครองที่สนใจเรื่องการศึกษาทางเลือกนี้อย่างไรบ้าง?

การศึกษาแบบบ้านเรียน หรือโฮมสคูล ก็ถือว่าเป็นการศึกษาทางเลือก ที่เลือกได้  คือเราจะต้องตอบโจทย์ของเด็กๆ ก่อนนะว่าอยากได้อะไร เราอยากให้เขาแค่มีเกรดดีๆ เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย หรือเราอยากให้เด็กเข้ามาเป็นนักเรียนรู้ เป็นคนที่แก้ปัญหาเป็น เป็นคนที่จัดการตัวเองได้  คือเราต้องตั้งคำถามกับตัวเองให้ได้ก่อนว่า ตกลงต้องการอะไรจากการศึกษา ถ้าคิดว่าเราต้องการให้ลูกเป็นนักเรียนรู้ ทำให้เขาสามารถเป็นเจ้าของการเรียนของตัวเองได้ มันก็คงเป็นคำตอบที่ดีนะ 

หมอคิดว่ามันก็เป็นทางเลือกที่เลือกได้ แล้วเป็นทางเลือกที่ดีของเด็กหลายคนนะคะ อย่างที่บอกว่า แต่ละคนก็มีข้อจำกัด การศึกษาทางเลือกอาจไม่เหมือนกัน ถามว่า โฮมสคูลจะเป็นการศึกษาทางเลือกของบ้านหมอไหม? ก็ไม่ใช่ เพราะทั้งพ่อและแม่ทำงานทั้งคู่ ก็จะยากมาก ดังนั้น เราต้องตั้งคำถามให้ได้ คือเป็นทางเลือกที่เลือกได้ และเป็นทางเลือกที่พ่อแม่ควรเลือก ถ้ารู้สึกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองพร้อม และลูกพร้อมด้วย

 

อยากให้คุณหมอช่วยแนะนำผู้ที่วางแผนจะมีลูก หรือมีลูกแล้ว แต่ต้องมาอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ และอยุติธรรมมาก  เราจะให้คำชี้แนะ ให้ตั้งรับกับมันอย่างไรดี?

ก็คิดว่าเราคงกลับมาตั้งแกนกันใหม่ กับสิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญก็คือ เด็กที่จะเติบโตมาได้โดยที่ไม่ต้องอาศัยอะไรในปริมาณมาก แค่ให้เขารู้ว่าเขาเป็นที่รัก เขาเป็นคนที่มีความหมายกับพ่อแม่ เขาเป็นคนใช้ได้ ให้เขาได้ฝึกสิ่งที่เขาต้องทำ ลงมือทำงาน ฝึกทำงานบ้าน รับผิดชอบเรื่องตัวเองได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งพื้นฐานที่สำคัญ คือเราต้องกลับมาตั้งแกนตรงนี้ก่อนนะ เพราะตอนนี้เด็กอยู่ในโลกของทุนนิยมเยอะมาก คือต้องจ่ายค่าเรียนแพงๆ ซื้อของเล่นแพงๆ ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่าเด็กจำนวนหนึ่งอยู่ในจุดนั้นไม่ได้ เราต้องกลับมาที่แกน ว่าเราอยากจะให้ลูกของเรามีคาแรคเตอร์[๑] อย่างไร เพราะการสร้างคาแรคเตอร์บางอย่างนั้น ไม่ต้องอาศัยเงิน แต่ต้องอาศัยเวลา ถ้าเราแบ่งเวลาตรงนั้นก็ทำได้ ก็จะช่วยเราได้เยอะ มันอาศัยเรื่องของการสร้างพื้นที่ในการเรียนรู้ คือพื้นที่ที่เขาจะทำงานบ้าน พื้นที่ที่เขาจะรับผิดชอบกับเรื่องบางเรื่องที่ทำให้เขาได้ฝึกความคิด ฝึกความรับผิดชอบของตัวเอง ฝึกเรื่องตัวเอง ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นเรื่องสำคัญ  

นอกจากนั้น ความสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การเป็นพ่อแม่ เราจะต้องคำนึงถึงเรื่องความเป็นพลเมืองด้วย เราต้องช่วยกันทำให้สังคมเป็นสังคมที่เขาเรียกว่า "มีความปลอดภัย" แล้วก็มีคุณภาพชีวิตที่เอื้อในการเติบโตของเด็ก ก็เป็นเรื่องสำคัญ เริ่มจากการลงมือผ่านชุมชนของเราก่อน เช่น เราอาจจะรวมตัวกันตั้งห้องสมุดในชุมชน หรืออ่านหนังสือแต่ละบ้านที่หาซื้อกัน เอามาแชร์กัน มาแลกเปลี่ยนกันแบบนี้  คือเราสามารถเริ่มต้นลงมือทำ เริ่มจากเรื่องเล็กๆ ที่เราสามารถทำได้ ลงมือได้ก่อน ก่อนที่จะต้องไปพึ่งพาคนอื่น ในเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งบางทีมันก็เปลี่ยนแปลงได้ยาก

ลงมือทำเรื่องเล็กๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องส่งเสียงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเรื่องใหญ่ๆ อย่างเช่น เรื่องของระบบการศึกษา การพยายามขับเคลื่อนเพื่อไม่ต้องให้มีการสอบเข้า ป.๑ เป็นต้น คือเรื่องพวกนี้ เราสามารถส่งเสียงได้ การเรียกร้องสวัสดิการ เรื่องของโรงเรียนปลอดภัย เรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบของครูที่มีต่อเด็กให้ลดลง เรื่องพวกนี้พวกเราควรจะส่งเสียง เพราะว่ามันจะทำให้คุณภาพชีวิตของเราทุกคนดีขึ้น

 

ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ยุคนี้ กลุ่มหนึ่งก็ถือว่ามีพัฒนาการทางด้านสังคมและการเมืองมากขึ้น จะสังเกตได้จากมีการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ใหญ่หรือคนรุ่นหลัง ต้องหันกลับมาทบทวนเรียนรู้และเข้าใจความคิดของคนรุ่นใหม่ว่า ตอนนี้มันเปลี่ยนไปเยอะแล้วนะ หมอโอ๋ จะแนะนำบอกคนรุ่นหลังอย่างไร ให้ยอมรับและเข้าใจคนรุ่นใหม่ ว่าจริงๆ แล้วเขาต้องการจะเปลี่ยนแปลงสังคม และอนาคตของพวกเขาด้วย?

 

เราจะต้องเข้าใจธรรมชาติก่อนว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกนี้มันเป็นธรรมดามากๆ นะคะ แล้วเราก็หยุดการเปลี่ยนแปลงของโลกนี้ไม่ได้ ในขณะเดียวกัน เราก็ควรทำความเข้าใจด้วยว่า เด็กรุ่นใหม่เองเขาก็เติบโตมากับพื้นที่ที่มันเป็นพื้นที่คนละแบบ อย่างสมัยของพ่อแม่อาจจะผ่านยุคสงคราม หรืออยู่กับอะไรที่ต้องอดทน รอคอย ในขณะที่เด็กยุคใหม่ก็โตมากับความฉลาดรู้ที่มากขึ้น อดทนน้อยลง ต้องตั้งคำถามเยอะขึ้น เพราะว่าคำตอบมันหาง่าย ดังนั้น การที่เราเข้าใจว่าเขาเติบโตมากับสังคมที่เป็นสังคมคนละบริบทกันนี้  ก็จะทำให้เรามีความเข้าใจกันมากขึ้นนะ ว่าเราไม่ต้องคิดเหมือนกัน ถ้าเรามีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน 

ในขณะเดียวกัน ก็อยากให้คนรุ่นหลังได้ลองรับฟังว่า คุณค่าอะไรที่ลูกของเราเขายึดถือ เขามีมุมมองต่อสิ่งนั้นนะคะ การฟังกันและกันมากขึ้นว่าเขากำลังรู้สึกอะไร อะไรที่เป็นสิ่งที่เป็นความต้องการเชิงลึก หรือเป็นคุณค่าที่เขาให้ ก็จะทำให้เราอยู่กันแบบที่เราอาจจะไม่ต้องคิดเหมือนกัน แต่เรามีความเข้าใจกัน ว่าคนเราก็คิดแบบนี้ได้ รู้สึกแบบนี้ได้ คนเราก็ต้องการแบบนี้ได้ แล้วให้คุณค่ากับเรื่องที่แตกต่างกันได้ แบบนี้น่าจะเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้เราอยู่กันได้แบบที่ไม่ต้องคิดเหมือนกัน

 

คุณหมอมีความคาดหวังกับคนรุ่นใหม่ไหม ว่าที่สุดแล้ว พวกเขาคือผู้กุมอนาคตของสังคมกันต่อไป?

ก็คาดหวังนะคะ ว่าพวกเขาคงไม่ได้เป็นเหมือนคนรุ่นก่อน คือถ้ามนุษย์เป็นเหมือนเดิมทุกรุ่น  ประเทศก็คงไม่พัฒนา เพราะว่าโลกกำลังพัฒนา ไม่ได้หยุดนิ่ง ก็คาดหวังว่าเขาจะมีทักษะใหม่ๆ ที่อยู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลกใหม่ๆ แล้วก็คาดหวังให้เขาเป็นคนที่มี Empathy (ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น) การที่จะลุกขึ้นมาทำการเปลี่ยนแปลงเรื่องบางอย่างนั้น มันต้องอาศัยการเข้าใจหัวใจแห่งความยากลำบากของคนอื่นๆ แล้วให้เขามีทักษะการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้น

 

หมอโอ๋ช่วยให้แง่คิดแก่คนรุ่นใหม่ในเรื่องทักษะการสื่อสารให้เข้าถึงได้ง่าย ได้อย่างไร เหมือนที่หมอโอ๋ พยายามสื่อสารเรื่องราวยากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย ไว้ในเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ?

จริงๆ ทักษะการสื่อสาร ถือเป็นทักษะสำคัญ แล้วการสื่อสารด้วยการเข้าใจหัวใจของคนอื่นเป็นเรื่องสำคัญ ถึงแม้ว่าเขาจะคิดเห็นไม่เหมือนเรา ถึงแม้ว่าเขาจะแตกต่างจากเรา มันเป็นทักษะที่เราควรจะต้องฝึกฝน แล้วเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ว่าเราจะมีความตั้งใจดี หวังดี แต่ถ้าเราสื่อสารออกไปได้ไม่ดี สิ่งที่เราต้องการก็อาจจะไม่ได้รับการตอบสนองได้ง่ายนะคะ ก็คิดว่าเรื่องการสื่อสารเป็นเรื่องที่เราควรจะต้องฝึกฝนและเรียนรู้ด้วย



[๑] Character คาแรคเตอร์ หมายถึง อุปนิสัย หรือคุณลักษณะ

 


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >