หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 46 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ถอด ‘คลังความทรงจำ' ของปราชญ์ผู้รู้ ผู้สูงวัย กับคนรุ่นใหม่ จะเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างไร... พิมพ์
Friday, 06 May 2022

Image


วารสารผู้ไถ่
ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๑๑๘ ม.ค. - เม.ย. ๒๕๖๕

 

ถอด ‘คลังความทรงจำ' ของปราชญ์ผู้รู้ ผู้สูงวัย กับคนรุ่นใหม่
จะเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างไร ไม่เดินหลงทาง

องอาจ เดชา
เรื่อง/สัมภาษณ์



 

Image

เพราะกระบวนการสร้างสันติภาพ จำเป็นต้องพูดคุยกันระหว่าง ‘ผู้เป็นคลังรักษาความทรงจำ' คือ ผู้สูงอายุ และ ‘ผู้ที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ไปข้างหน้า' คือ คนหนุ่มสาว ดังนั้น การถอด ‘คลังความทรงจำ' จากคนรุ่นก่อน สู่คนรุ่นใหม่นั้นจึงมีความสำคัญ มีคุณค่าความหมายต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพราะทุกกิจกรรม ทุกการก้าวย่าง ทุกประสบการณ์ ล้วนมีคุณค่า มีความหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว การฝึกฝน การเรียนรู้ และการทำงาน ที่ช่วยหล่อหลอมความเป็นตัวตนและเชื่อมให้เกิดการสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้

 

เปิดคลังความทรงจำ
‘พะตีจอนิ โอ่โดเชา' ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ

เรานั่งสนทนากับพะตีจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ วัย ๗๘ ปี ที่ร้านกาแฟ Lazy Man ที่แปลว่า คนขี้เกียจ ของ แซวะ ศิวกร โอ่โดเชา ลูกชายของพะตีจอนิ ที่เอาบ้านไม้ของตนเอง มาปรับเป็นร้านกาแฟเล็กๆ ในหมู่บ้านหนองเต่า ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อพูดถึงพะตีจอนิ โอ่โดเชา หลายคนรู้จักกันดี ว่าเป็นปราชญ์ชนเผ่าปกาเกอะญอ ที่สนใจปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และถือว่าเป็นต้นแบบนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมชาติพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

พะตีจอนิ เล่าความหลังให้ฟังอย่างสนุกสนานว่า จริงๆ ชื่อ จอนิ เพี้ยนมาจากคำว่า เจแปนนิส ก็เพราะว่าตนเองนั้นเกิดในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารญี่ปุ่นบุก และเดินทัพเข้ามาในประเทศไทย หลายเส้นทาง 

"คิดว่าญี่ปุ่นบุกมาหลายทาง เส้นทางแม่วาง-ขุนยวม ก็เป็นอีกหนึ่งเส้นทาง ที่ทหารญี่ปุ่นได้มาถึงแถวนี้  ก็ถือว่าเป็นช่วงที่ข้าวยากหมากแพง ลำบากทุกข์ยาก อดอยาก ไม่มีข้าวกิน ครอบครัวของลุงมีทั้งหมด ๘ คน ต้องล้มป่วยล้มตายกันไป ๖ คน จนกระทั่งเหลือแต่พ่อกับพะตีจอนิ ๒ คนเท่านั้น"

หมู่บ้านหนองเต่านี้ แต่เดิมเคยเป็นดินแดนเก่าแก่ของชาวลัวะ แล้วต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง พอสงครามสงบลง ทำให้ชุมชนบนดอยนั้นอยู่กันอย่างลำบาก มีปัญหาหลายๆ อย่างตามมาไม่รู้จักจบสิ้น แต่ละบ้านนั้นข้าวไม่พอกิน เกลือแพง ก็เริ่มมีปัญหาทะเลาะวิวาทเรื่องที่ดิน มีคนเอาเปรียบกัน พะตีจอนิก็อยู่อย่างอดอยาก พ่อของพะตีจอนิ ก็พยายามเอาตัวให้รอด ไปไหนก็มีพะตีจอนิ ติดสอยห้อยตามไปด้วย จึงทำให้พะตีจอนินั้นมีความผูกพันกับพ่อ และได้เรียนรู้ซึมซับเรื่องราวต่างๆ จากพ่อมากขึ้น จนทำให้พะตีจอนิ ได้เรียนรู้เรื่องราวของสังคม และอยากเปลี่ยนแปลงสังคมมากขึ้น

"ตอนเป็นเด็ก ลุงจะไปกับพ่อตลอดเวลาเลย ชอบไปนั่งฟังคนเฒ่าคนแก่ บางคนอายุ ๗๐-๘๐ ปี บางคนอายุ ๑๐๐ กว่าปีก็มี คนเฒ่าจะชอบเล่านิทาน ลุงจะฟังเขาเล่าจนหมด พอหมดเรื่องแล้ว ก็ไปค้นหาคนเฒ่าคนใหม่เล่านิทานให้ฟังอีก พอเราโตมา จึงกลายเป็นนักเล่านิทาน จะเก่งเรื่องการเล่านิทานปกาเกอะญอไปเลย มีเรื่องเล่าเยอะมากไม่มีวันจบหรอก" พะตีจอนิ เล่าให้ฟัง 


ครูบาอาจารย์ ล้วนคือผู้เป็นแบบอย่างของพะตีจอนิ โอ่โดเชา

พะตีจอนิ เล่าให้ฟังว่า ตอนเป็นเด็กน้อย ก็ติดสอยห้อยตามพ่อมาโดยตลอด พอโตขึ้นมาหน่อย พ่อพาไปเป็นเด็กวัด ไปฝากเรียนกับครูบาอุ่นเฮือน วัดหลวงขุนวิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นก็ไปอยู่กับครูบาปิยะ วัดต้นแหนน้อย อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

จุดเปลี่ยนที่สำคัญก็คือ ในปี ค.ศ.๑๙๕๓ (พ.ศ.๒๔๙๖) คุณพ่อโฟญีณี และคุณพ่อยอแซฟ เซกีน๊อต ได้ไปสำรวจพื้นที่ชุมชนบนดอยที่อำเภอจอมทอง แล้วได้ทำการสร้างศูนย์อบรมเด็กชาวไทยภูเขาแม่ปอน ขึ้นที่นั่น ต่อมาพะตีจอนิได้มีโอกาสไปเรียนรู้ กินนอนอยู่ที่นั่น และก็ได้มีโอกาสเรียนรู้กับพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ได้เรียน ‘เทวศาสตร์แห่งการปลดปล่อย'[๑] ด้วย ในขณะที่เรียนหนังสือที่แม่ปอน ก็ได้เรียนทั้งหนังสือไทย หนังสือปกาเกอะญอ และภาษาโรมัน จนกระทั่ง ปี พ.ศ.๒๕๒๐ พะตีจอนิจึงได้รับความเชื่อเข้าเป็นคริสตชนคาทอลิก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

จากนั้น ก็หวนคืนบ้านเกิดที่บ้านหนองเต่า ซึ่งทำให้พะตีจอนิ ได้สัมผัสรับรู้เห็นถึงปัญหามากมายหลายเรื่อง

พะตีจอนิ เล่าให้ฟังว่า จำได้ว่าในช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๕ นั้น พะตีจอนิ ได้รับรู้ถึงปัญหาของหมู่บ้าน เรื่องมีนายทุนพยายามเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน คือเอาข้าวสารให้ชาวบ้านกู้ยืม ๑ ถัง แต่ต้องจ่ายคืน ๓ ถัง ในขณะที่ไปถามหมู่บ้านอื่นๆ เขาให้ยืม ๑ ถัง ก็ใช้คืน ๑ ถัง

"แบบนี้มันไม่มีความยุติธรรมเลย พะตีก็เลยพยายามหาทางช่วยเหลือชาวบ้าน"

ต่อมา ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๙ พะตีจอนิ โอ่โดเชา ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ในยุครัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช[๒] ซึ่งถือว่าเป็นยุคข้าวยากหมากแพง พะตีจอนิพยายามหาทางออก อยากแก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน จึงตัดสินใจนำโครงการผันเงิน[๓] นั้นมาจัดตั้งเป็นกองทุนธนาคารข้าว เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือคนยากคนจน ให้ยืม ๑ ถัง แล้วใช้คืน ๑ ถัง อีกทั้งพะตีจอนิ ยังชักชวนชาวบ้านที่ยากจน ที่ไม่มีนา ไม่มีข้าว ให้ไปช่วยกันขุดเบิกนาขึ้นมาใหม่ แล้วให้เลือกเอาพื้นที่ตรงไหนก็ได้ตามใจ

แน่นอน การที่พะตีจอนิ เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน ให้ลืมตาอ้าปาก มีข้าว มีนา ทำให้หลายครอบครัวในชุมชนกินดีอยู่ดีมากขึ้น แต่ได้ทำให้กลุ่มนายทุนที่เคยปล่อยให้กู้ยืมข้าว ไม่พอใจเป็นอย่างมาก จนกระทั่งหาทางกลั่นแกล้งเอาผิดพะตีจอนิ ในฐานะผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น ว่ามีการฉ้อโกงเงินหลวง มีการนำงบประมาณมาใช้ผิดประเภท ทั้งๆ ที่พะตีจอนิ นำเงินผันนั้นมาตั้งเป็นธนาคารข้าว และชักชวนชาวบ้านไปช่วยกันขุดเบิกนาขึ้นมาใหม่ สามารถปลดแอกความอดอยากยากจนได้  

 

เข้าสู่ยุคเงินเป็นใหญ่ สุดท้ายกลายเป็นหนี้สิน

"พอหลังจากมีธนาคารข้าว ทุกคนมีนา มีไร่ มีข้าวพอกิน เงินเริ่มเป็นใหญ่ มีถนน มีไฟฟ้าเข้ามา คนเริ่มอยากได้เงิน อยากได้ทีวี ตู้เย็น มอเตอร์ไซค์ ทำให้หลายคนเริ่มมีการขายที่ดิน หลายคนทำเกษตรเชิงเดี่ยว ทุกคนเริ่มเจอปัญหาหนี้สิน"

ครอบครัวของพะตีจอนิ ซึ่งมีลูกทั้งหมด ๕ คน ก็พยายามปรับตัวเรียนรู้กับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเดิมเคยมีช้างไว้ชักลากไม้ในยุคสัมปทานป่า ก็เปลี่ยนมาลองทำธุรกิจท่องเที่ยว ทัวร์ป่า นำช้างมาให้นักท่องเที่ยวขี่ช้าง และล่องแพไม้ไผ่ ทำทัวร์แม่วาง สุดท้ายก็ไปไม่รอด เพราะทำไปทำมา ต้องไปกู้เงินจากธนาคารมาทำ กลายเป็นหนี้หมุนเวียน ทำไปก็ใช้หนี้ไป ไม่ไหว จึงหยุดกิจการ ถอยกลับมาในหมู่บ้าน ก็ไปทำเกษตรเชิงเดี่ยว สุดท้ายก็เจอปัญหาแบบเดิมๆ อีก

ระหว่างช่วงรอยต่อของความเปลี่ยนแปลง ชุมชนบนดอยนั้นกลับต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้าน มาอย่างหนักหน่วง ต่อเนื่องและยาวนาน

เมื่อรัฐในยุคสมัยนั้น มีนโยบายจะเอาคนออกจากป่า หลังจากรัฐประกาศกฎหมายหลายฉบับมาทับเขตพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินของชาวบ้าน หลายชุมชนบนดอย

จนทำให้พะตีจอนิ ต้องออกมาเป็นผู้นำชนเผ่าในการเรียกร้องเคลื่อนไหวต่อสู้

"คือตอนนั้น พะตีมีความตั้งใจจะเดินขบวน ก่อนที่จะเดินขบวน เราก็อยู่กับพ่อนิพจน์ ขอพ่อมาเดินขบวน เขาบอกว่าเขาเป็นพระ ไปร่วมเดินด้วยไม่ได้ ผมก็เลยไปขอความช่วยเหลือจากนักพัฒนา ที่มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ นอกจากนั้น ยังมีครูบาอาจารย์อีกหลายคนที่ทำให้พะตีจอนิได้เจอ แล้วได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน" อย่างเช่น อาจารย์ ชยันต์ วรรธนะภูติ, อาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ, เดช พุ่มคชา เป็นต้น

มีอยู่ช่วงหนึ่ง เราได้เห็นพะตีจอนิ ไปเข้าร่วมประชุมตามห้องประชุมมหาวิทยาลัยต่างๆ บ้างก็ลงไปที่กรุงเทพฯ ไปหน้าทำเนียบ กับพี่น้องสมัชชาคนจน

"ช่วงนั้น พะตีจะให้พฤ ลูกชาย เป็นคนขับรถ พาไปร่วมประชุม ร่วมชุมนุมกัน บางครั้งก็พากันตระเวนไปส่งข่าวให้กับพี่น้องชนเผ่าตามหมู่บ้านต่างๆ จนประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๗ ถือว่าเป็นยุคที่พี่น้องชาวบ้าน พี่น้องชนเผ่าออกมาชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมกันที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ปักหลักชุมนุมกันเป็นเดือนๆ คือเราก็อยากแสดงพลัง เรียกร้องสิทธิชนเผ่ากันบ้าง"


ในสายตาของพะตีจอนิ มองคนรุ่นใหม่ และได้ให้แง่คิดดีๆ ต่อเด็กรุ่นใหม่เอาไว้อย่างน่าสนใจ

พะตีจอนิ บอกว่า คนรุ่นใหม่ รุ่นลูกรุ่นหลานจะต้องสร้างตัวเองใหม่ ให้มีความภาคภูมิใจในความเป็นชนเผ่าพื้นเมือง ในขณะเดียวกัน กระบวนการต่อสู้เคลื่อนไหวก็ยังจำเป็นต้องมีอยู่ แต่จะสืบทอดจะต่อสู้กันอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

"แต่อยากให้กลับไปเรียนรู้เรื่อง ฟ้าเจ็ดซ้อน ดินเจ็ดชั้น ให้เข้าใจกันเสียก่อน พะตียึดหลักว่า "แหล่หน่า ทอจึ เอ๊ะเหน่แค่ะ  จุ๊เหน่บอ  เคลอเหน่เหล่อ  พคีเหน่โฆพอ คลี่เหน่ที  โกเหน่แหม่ แมโหล่ลอ" (๙ คุณลักษณะผู้นำปกาเกอะญอ) ต้องใช้นิทานมาสำรวจว่า ถ้าอย่างนี้พะตีจะไปเดี่ยวๆ ไม่ได้ จะต้องไปหาคนที่หูกว้าง มือยาว แหลมกว่าเข็ม หนักกว่าหิน เบากว่านุ่น ร้อนกว่าไฟ เย็นกว่าน้ำ และต้องเข้าใจว่าวิญญาณของปกาเกอะญอนั้นมี ๓๒ ขวัญ และก็มีฟ้า ๗ ซ้อน ดิน ๗ ชั้น มันอยู่ทุกหนทุกแห่ง[๔]"

พะตีจอนิ ย้ำว่า "เพราะที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า เด็กๆ ออกมาเรียกร้องแล้วก็ติดคุก ซึ่งผมรู้สึกไม่ดี ไม่พอใจที่ไปจับเด็กอย่างนั้น เพราะถ้าคุณจับ ๑ ก็ยังเหลืออีก ๑๐๐ เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีความหวังใหม่อยู่เสมอ"

พะตีจอนิ ยังบอกถึงต้นตอของปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทย ในประเทศไทย หรือในโลกใบนี้ เอาไว้อย่างน่าสนใจ

"ที่มันเป็นปัญหากันอยู่ในขณะนี้ ก็มีอยู่ไม่กี่อย่างนี่แหละ ๑.เพราะคิดไม่เหมือนกัน  ๒.แย่งดิน น้ำ ป่า   ๓.ทะเลาะกันเรื่องอำนาจ   ๔.ขัดแย้งเรื่องเผ่าพันธุ์ ผิวสีขาว สีดำ สีแดง  และ  ๕.ทะเลาะกันเรื่องเงินตรา ที่เราเห็นผู้คนทะเลาะกัน ฆ่ากันตาย ก็เพราะ ๕ ข้อนี่แหละ อันนี้เป็นประสบการณ์โดยตรงของลุง ที่เป็นปัญหาในยุคนี้"

พะตีจอนิ บอกอีกว่า เพราะฉะนั้น เด็กรุ่นใหม่ จะต้องไปคิดกันเยอะๆ คิดกันยาวๆ เพราะสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ ก็ทำอะไรเหมือนๆ กัน คือ วันหนึ่ง นั้นโง่ ๓ ครั้ง และฉลาด ๓ ครั้ง คือเราต้องทดลองถูกบ้างผิดบ้าง กว่าจะเรียนรู้และเข้าใจได้ 

"ยกตัวอย่าง สมัยที่พะตีเป็นผู้ใหญ่บ้าน จะมีลูกบ้านทะเลาะ มีกรณีพิพาทเรื่องที่ดินที่นากัน ทะเลาะกันเถียงกันไม่รู้จบ พะตีก็เลยบอกว่างั้นให้ใช้เวลาคุยกันไกล่เกลี่ยกัน ๑ ปี ถ้าครบ ๑ ปีแล้ว ยังไม่จบ ก็จะบอกว่า ถ้าผ่านไปหนึ่งปียังทะเลาะกันอยู่ ถ้าไม่พอใจ ก็ฆ่ากันให้ตายไปเลย อือ พอเจอพะตีพูดแบบนี้ ทั้งสองคนเริ่มคิดได้กันแล้วเว้ยเฮ้ย"

ประสบการณ์ที่ผ่านมาของพะตีจอนิ โอ่โดเชานั้น มีทั้งสุขและทุกข์ มีทั้งสมหวังและผิดหวัง ได้อย่างหนึ่ง สูญเสียอะไรไปอย่างหนึ่งเสมอ

โดยเฉพาะกับครอบครัว พะตีจอนิ ยอมรับว่า ที่ผ่านมา เขาต้องออกจากบ้าน ไปร่วมขับเคลื่อนต่อสู้เพื่อทวงสิทธิชนเผ่า แต่จำต้องทิ้งครอบครัว โดยเฉพาะภรรยา อยู่กับลูกๆ เพียงลำพัง บางครั้งออกไป หายไปเป็นเดือนๆ ก่อนกลับเข้ามาบ้าน

แน่นอน บทเรียนอันเจ็บปวดข้างในนี้ ทำให้พะตีจอนิในวัย ๗๘ ปี ได้กลับมานั่งฉุกคิด ตรึกตรอง และอยากจะถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นคนรุ่นลูกรุ่นหลานได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนรุ่นก่อนนั้นด้วย ว่าขับเคลื่อนต่อสู้ได้ แต่อย่าลืมว่ายังมีครอบครัวอยู่ข้างหลัง ที่ต้องการดูแลเอาใจใส่  

"ตอนหลังมานี้ ลุงอยากจะฟื้นฟูจิตวิญญาณครอบครัว โดยการวางพื้นฐานครอบครัวให้กลับมาผูกพันแน่นแฟ้นกันใหม่ โดยลุงจะบอกกับลูกหลานทุกคนว่า ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ปีหนึ่งเราจะต้องมาเจอกัน ๒ ครั้ง ที่บ้านหลังใหญ่นี้ เป็นเหมือนการกลับมาสถาปนาครอบครัวกันใหม่ให้แน่นแฟ้น ก็พยายามเรียกลูกหลาน มานั่งพูดคุยกัน  คือเราต้องสร้างความภาคภูมิใจตนเองก่อนให้ได้"

ที่สำคัญ พะตีจอนิ ยังคงบอกย้ำว่า ที่สุดแล้ว คนเราต้องคืนกลับมาอยู่กับธรรมชาติ ไม่ให้พังทลายไปกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เราต้องหันกลับมาสู่รากเหง้าของปกาเกอะญอเหมือนเดิม ทำนา ทำไร่หมุนเวียน เลี้ยงสัตว์ และทำสวนของคนขี้เกียจอีกด้วย

อย่างที่หลายคนรับรู้กัน พะตีจอนิ เคยทำการเกษตรแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการขายเพราะหวังทำรายได้และทำติดต่อกันอยู่เกือบ ๑๐ ปี แต่กลับมีหนี้สินจากค่าปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น ทำให้พะตีจอนิ ยอมแพ้ต่อการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ปล่อยสวนให้หญ้ารกและพืชผลขึ้นเองตามธรรมชาติตั้งแต่นั้นมา แต่ ๑๐ กว่าปีให้หลัง สวนที่ถูกปล่อยทิ้งไม่มีการดูแลเพราะความขี้เกียจก็ได้ผลิดอกออกผล และทำให้พะตีได้อีกบทเรียนหนึ่งว่า ‘การทำสวนที่ดีที่สุดคือปล่อยให้สวนได้เติบโตเองตามธรรมชาติ' จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘สวนคนขี้เกียจ' เช่นทุกวันนี้

สวนคนขี้เกียจ' หรือ ‘สวนจอเกอะโดะ' สวนที่มีชื่อมาจากนิทานเรื่องคนขี้เกียจที่คนปกาเกอะญอเล่าต่อกันจนกลายเป็นปรัชญาชีวิตส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น

พะตีจอนิ ชี้ให้ดูสวนคนขี้เกียจหลังบ้าน แปลงเล็กๆ ในพื้นที่ ๒ ไร่ ที่พะตีจอนิลงมือปลูกทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างละเล็กอย่างละน้อย บางครั้งก็โยนเมล็ดพันธุ์ลงไปในดิน ให้มันงอก เติบโตขึ้นมาเอง พะตีบอกว่า ดูพื้นที่แค่นี้ แต่มีพันธุ์ไม้พันธุ์พืชหลากหลายมากกว่า ๘๕ ชนิด

"ป่าหลังบ้านนี้ ลุงใช้เวลาทั้งหมด ๓๐ กว่าปี ตอนนี้มีหมดทุกอย่าง ทั้งมะม่วง มะละกอ กล้วย อะโวคาโด อ้อย ไผ่ หวาย มีไม้ยืนต้น มีสมุนไพร และพืชใต้ดินอีกเป็นจำนวนมาก ดูสิ มีหมดเลย มองดูดีๆ นี่มันคือบทกวีชีวิตเลยนะ" พะตีจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ชนเผ่าปกาเกอะญอ บอกกับเราด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดี...

 

๒.ถอดความทรงจำของ ‘พฤ  โอ่โดเชา'
ผู้เป็นเหมือนล่ามประจำตัวของพ่อ ที่ร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิชนเผ่ากันมายาวนาน

พฤ โอ่โดเชา เป็นลูกชายของพะตีจอนิ โอ่โดเชา เขาบอกว่า ชีวิตได้ซึมซับความรู้จากพ่อตั้งแต่เล็กจนใหญ่โดยไม่รู้ตัว

พฤ เล่าชีวิตวัยเยาว์ให้ฟังว่า เขามีโอกาสได้ลงจากดอย มาเรียนอยู่ในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ เป็นโรงเรียนกินนอนซึ่งเขาปรับตัวได้ยากมาก บ่อยครั้งเขานั่งร้องไห้อยากกลับบ้านดอย เขาต้องเริ่มเรียนภาษาไทย ต้องหัดพูดภาษาไทยครั้งแรกที่นี่ซึ่งมันยากมาก เพราะอยู่บนดอยเขาไม่ค่อยได้พูด พูดก็ไม่ชัดด้วย

"ตอนนั้น ผมจำได้ว่า ในห้องเรียนมีทั้งหมด ๓๐ กว่าคน ผมนี่สอบได้รองบ๊วยตลอดเลย ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรกับเขาเลย"  พฤ เล่าให้ฟังพร้อมเสียงหัวเราะ

หลังจากนั้น พ่อได้ส่งพฤไปเรียนกับคุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ได้เรียนเรื่องศาสนา เรียนภาษากะเหรี่ยงด้วย จากนั้น จึงได้กลับคืนมาบ้านดอย กลับมาช่วยพ่อทำงาน ทำทุกอย่าง ทำไร่ ทำนา เลี้ยงควาย และไปเลี้ยงช้าง ไปอยู่ปางช้าง ทำทัวร์ป่าขี่ช้าง ล่องแพ แถวแม่วาง

"การที่ผมได้ทำงานอยู่ใกล้ชิดกับพ่อ ทำให้ผมได้ซึมซับเรียนรู้จากพ่อโดยไม่รู้ตัว เพราะพ่อจะพูดอยู่เสมอว่า พ่อเป็นลูกกำพร้า เหลือแต่ปู่ก็ติดยา ตอนเป็นเด็กพ่อจะถูกรังแก ถูกเอารัดเอาเปรียบมาโดยตลอด พ่อจะเล่าให้ลูกๆ ฟังถึงเหตุการณ์สมัยก่อน ที่มีคนเอาเปรียบชาวบ้าน ให้ยืมข้าว ๑ ถัง แต่ต้องใช้คืน ๓ ถัง แต่พอไปบ้านอื่นถัดไป ทำไมเขาถึงใช้คืน ๑ ถัง จนทำให้พ่อลุกขึ้นมาสู้ พ่อร่วมขุดนาให้กับคนยากคนจน แล้วก็คิดริเริ่มตั้งธนาคารข้าวขึ้นมา ให้ชาวบ้านได้ลืมตาอ้าปาก จนทำให้ไปขัดแย้งกับกลุ่มที่เคยเอาเปรียบชาวบ้าน"

ต่อมา หมู่บ้านของพฤและอีกหลายๆ หมู่บ้านบนดอยต้องเจอกับปัญหา เมื่อรัฐมีประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ทำให้พะตีจอนิ กับพฤ ต้องออกจากบ้านไปชุมนุมเคลื่อนไหวกัน โดยทั้งพะตีจอนิ และพฤ มีโอกาสได้เจอกับอาจารย์ นักวิชาการ เอ็นจีโอหลากหลายมาก

"คือพ่อจะพูดภาษาไทยไม่คล่อง โดยเฉพาะเวลาจะพูดเรื่องของกฎหมาย ก็เลยต้องพาผมไปช่วยแปล เป็นล่ามภาษาปกาเกอะญอให้กับพี่น้องชาวบ้านให้เข้าใจ แล้วพอมีเวทีสัมมนากันบ่อยมาก เขาก็จะให้ผมเป็นล่ามแปลประจำตัวพ่อ จากภาษาปกาเกอะญอให้เป็นภาษาไทย จนผมกลายเป็นล่ามคนแรกของชนเผ่าปกาเกอะญอไปเลย"

พฤ จึงมีบทบาทในการเรียกร้องเคลื่อนไหว และถือว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มเยาวชนชนเผ่าแห่งลุ่มน้ำแม่วาง ร่วมกับแกนนำชนเผ่าหมู่บ้านอื่นๆ กลายเป็นพลังสำคัญอีกคนหนึ่งในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ๙๙ วันในครั้งนั้น ถือว่าเป็นการชุมนุมที่สร้างกระบวนการต่อสู้และการเรียนรู้ให้กับพฤ เป็นอย่างมาก

"เท่าที่ผมสังเกต ตอนนั้นพ่อเป็นแกนนำ พ่อก็มักจะชวนผมไปเข้าค่ายเยาวชน ร่วมกับนักศึกษาด้วย เหมือนๆ กับต้องการจะฝึกผมให้ช่วยเหลือชาวบ้านนั่นแหละ"

ต่อมา พ่อได้เรียกพฤ มานั่งพูดคุยกันว่า ถึงเวลาที่พฤ ควรจะสร้างครอบครัวได้แล้ว ดีกว่าต้องใช้ชีวิตที่ต้องมีแต่ชุมนุมเคลื่อนไหวอยู่แบบนี้ จากนั้น พฤได้แต่งงานปักหลักปักฐานสร้างครอบครัวใหม่ที่บ้านแม่ลานคำ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

"ที่ผมตัดสินใจแต่งงาน ไปอยู่สะเมิง จริงๆ ก็อยากไปใช้ชีวิตอยู่แบบสงบๆ แต่ก็ต้องไปเจอปัญหาให้ออกมาชุมนุมประท้วงกันอีกครั้ง จำได้ว่าครั้งหนึ่ง ถึงขั้นต้องฟ้องป่าไม้จังหวัดกันเลย เพราะมีการกล่าวอ้างออกสื่อ กล่าวหาผมไปจุดไฟเผาป่าในพื้นที่สะเมิง ซึ่งในเวลาที่เขากล่าวหาผมนั้น ตัวผมยังอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ มีพยานหลักฐานชัดเจน จึงทำให้ทีมทนายบอกว่า เราต้องฟ้อง จนเขาต้องออกมาขอโทษ และขอให้เราถอนฟ้องให้"

นั่นทำให้ พฤ มานั่งคิดว่าทำไมปัญหาเรื่องชาติพันธุ์จึงเป็นปัญหาที่ไม่รู้หมดสิ้นเสียที หรืออาจเป็นเพราะเรื่องการศึกษา การสื่อสารมีปัญหาหรือเปล่า ทำให้คนข้างล่าง สังคมส่วนใหญ่เข้าใจผิด และจะทำอย่างไรถึงจะสื่อให้สังคมได้รับรู้ข้อเท็จจริง

จึงทำให้ พฤ เริ่มสนใจประเด็นเรื่องการสื่อสาร เรื่องการนำเสนอ จึงพยายามฝึกฝนเรียนรู้ มาทำสื่อชาวบ้าน เป็นนักข่าวพลเมือง ให้กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส คอยบอกเล่าเรื่องราว วิถีชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง แต่นั่นก็ยังพบเจอกับปัญหาที่ยังคงฉายซ้ำเดิมๆ เมื่อยังมีข่าวกรณีเจ้าหน้าที่รัฐ ไปจุดไฟเผากระท่อมของพี่น้องบางกลอย จนต้องมีการอพยพ และจับกุมชาวบ้านกันอยู่ ซึ่งทำให้เขาตั้งคำถามกับสังคมไทยมากยิ่งๆ ขึ้น


พออายุมากขึ้น เริ่มทบทวนประสบการณ์ชีวิต

พฤ เล่าให้ฟังว่า พออายุมากขึ้น ผมเริ่มหงอกตามพ่อแล้ว ทำให้ต้องกลับมานั่งคิดทบทวนผลของการออกไปชุมนุมเคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิชนเผ่ามาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งแน่นอน ทำให้เห็นถึงทั้งปัญหาและทางออกในอนาคตกันมากยิ่งขึ้น

"เมื่อผมถอยกลับมา ผมมองดูพ่อ ทำให้เรารู้สึกว่า การต่อสู้ที่ผ่านมามันทำให้สูญเสียอะไรไปบางสิ่ง ละทิ้งอะไรไปบางอย่าง พ่อผมออกไปเป็นแกนนำ ไปร่วมต่อสู้ข้างนอก บางครั้งหายไปเป็นเดือน กลับมาบ้านไม่กี่วัน ก็ต้องออกไปอีก ซึ่งทำให้ผมรู้เลยว่า ทำให้แม่นั้นน้อยใจพ่อมาก เหมือนถูกทอดทิ้ง แต่แม่ก็ไม่ปริปากบ่น แล้วการออกไปต่อสู้เคลื่อนไหวข้างนอกของพ่อ พอกลับมา พบว่าต้องสูญเสียที่ดินบางส่วนไป ถูกชาวบ้านบางคนบีบแบ่งที่ดินไปบ้างก็มี เพราะพ่อปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ดูแล แบบนี้ก็มี"

อย่างไรก็ตาม พฤ ยังคงมองว่า ผลของการเคลื่อนไหวต่อสู้ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาของพะตีจอนิ กับพฤ นั้นก็ได้รับความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหลายๆ เรื่องเช่นกัน

"อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าการออกกฎหมายนั้นยังไม่เป็นจริงก็ตาม แต่ก็ยังได้เป็น มติ ครม.ออกมา นอกจากนั้น ทำให้ชาวบ้านได้รับรู้ความจริงถึงแผนการของเจ้าหน้าที่ว่าอันไหนจริงอันไหนเป็นความหลอกลวง และมันทำให้เราเข้าใจว่า ถ้าจะเรียกร้องอะไรต่อกระบวนการทำงานของรัฐ มันต้องต่อสู้เรียกร้องในระดับข้างบน มันต้องไปเปลี่ยนที่ตัวโครงสร้าง มติ ครม. หรือนโยบายรัฐโน่นเลย ถึงจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้  ถ้าแก้ข้างบนได้ สั่งการลงมา แล้วเจ้าหน้าที่ระดับล่างก็จะยอมรับและทำตาม"

พฤ ยังได้พูดถึงผู้รู้ ครูบาอาจารย์ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ในการทำงานมาโดยตลอด

พฤ บอกเล่าให้ฟังว่า คนที่คอยให้กำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจคนแรก ก็คือ พี่มด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์[๕] ซึ่งทำงานต่อสู้ให้กับพี่น้องกลุ่มสมัชชาคนจน ซึ่งครั้งหนึ่ง พฤ และพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้มีโอกาสลงไปร่วมชุมนุมกับสมัชชาคนจนที่หน้าทำเนียบ

"ผมได้จิตใจ จากพี่มด วนิดา แกจะคอยให้กำลังใจผม ตบหลังผม ซึ่งเราเป็นคนดอยเล็กๆ แต่พี่มดก็พยายามยกชนเผ่าของเราไปร่วมเปิดพื้นที่ในการเรียกร้องต่อสู้  ตอนนั้น ผมบอกไปว่าผมแต่งตัวไม่เรียบร้อย ใส่รองเท้าแตะ ไม่กล้าเข้าไปในสภา ในทำเนียบ แต่พี่มดบอกว่าเข้าไปได้เลย ไม่ต้องอาย ไม่ต้องกลัว เพราะเราก็คนเหมือนกัน"

อีกหลายคนที่พฤ พูดถึง ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ, อาจารย์มาลี สิทธิเกรียงไกร, บาทหลวงวินัย บุญลือ, พระปลัดสุชาติ สุวฑฒโก, สุวิทย์ วัดหนู, สุริยันต์ ทองหนูเอียด, เดโช ไชยทัพ, ประยงค์ ดอกลำไย, สุวิชานนท์ รัตนภิมล หรือแม้กระทั่งสื่อมวลชน อย่าง ศุภรา จันทร์ชิดฟ้า และภาสกร จำลองราช ฯลฯ บุคคลเหล่านี้ ล้วนเป็นผู้ที่รักความเป็นธรรม มีอุดมการณ์ อยากช่วยเหลือคนด้อยโอกาสอยู่แล้ว และพร้อมที่จะช่วยเหลือพวกชาวบ้านชนเผ่าอย่างเรา ในยามที่เกิดปัญหาและวิกฤติ

ผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับพฤ ในการดำเนินชีวิตอีกคนหนึ่งที่จะพูดถึงไม่ได้ นั่นคือ คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ซึ่งในวัยเรียน พะตีจอนิ โอ่โดเชา ได้ส่งพฤ ลูกชายไปเรียนกับคุณพ่อนิพจน์ ที่อำเภอจอมทองด้วย

"ผมจำได้ดีเลยว่า พ่อนิพจน์ จะบอกย้ำกับผมว่า คุณจะต้องกลับไปร่วมประวัติศาสตร์กับพี่น้องชนเผ่า ไปรับรู้ความทุกข์ร่วมกับพี่น้องชาวบ้าน ชาวกะเหรี่ยงเสียก่อน ไปหาจุดต่ำที่สุดของพี่น้องปกาเกอะญอ ที่เคยถูกคนอื่นปรามาสว่าเป็นคนดอย สกปรก ชอบตัดไม้ทำลายป่า ทั้งๆ ในใจเราจะค้านเสมอว่า ไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่า แต่เราทำไร่หมุนเวียนก็ตาม คือพ่อนิพจน์ ต้องการให้เรายอมรับตัวตนของเราก่อน แล้วค่อยกลับมาเข้าใจตัวเอง และช่วยเหลือชาวบ้าน"


มองคนรุ่นใหม่ ในสายตาของ พฤ โอ่โดเชา

พฤ โอ่โดเชา บอกเล่าให้ฟังว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เขาพยายามจะบอกกับคนรุ่นใหม่ให้ได้รับรู้ว่า การต่อสู้เรียกร้องของคนที่อยู่ในป่านั้นเคลื่อนไหวกันอย่างไร แล้วจะต้องทำอย่างไร

"เมื่อก่อน คนรุ่นก่อนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องนั้น ชาวบ้านทุกคนจะต้องมีส่วนร่วม ร่วมกำหนด ร่วมตัดสินใจ แต่ผมไม่รู้ว่าในปัจจุบันนี้ คนรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนนั้น ยังใช้รูปแบบแบบนี้อยู่หรือไม่  อยากให้คนรุ่นใหม่บนดอย ออกไปร่วมการต่อสู้กับคนรุ่นใหม่ในเมืองดูนะ  แต่ปัจจุบัน มันเหมือนกับว่า คนรุ่นใหม่จะถูกบีบในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ มันกำลังบีบให้ลูกหลานพี่น้องบนดอย ทุกคนต้องมุ่งทำงานรับจ้าง เอาครอบครัวให้รอดก่อน จะออกไปเคลื่อนไหวชุมนุมร่วมกับเครือข่าย เหมือนเมื่อก่อน ไปเรียกร้องชุมนุมกันเป็นเดือนๆ อาจจะเป็นไปได้ยากขึ้น"

พฤ บอกอีกว่า กรณีที่ไปเคลื่อนไหวชุมนุมในปัจจุบัน เราต้องดูบริบทหลายอย่าง ว่ามันสอดคล้องกับวิถีของเราไหม แล้วบางทีอาจต้องพบกับความเสี่ยงติดคุกติดตะรางด้วยนั้น ก็ต้องถามน้องๆ คนรุ่นใหม่ด้วยว่าพร้อมจะยอมรับความเสี่ยงนั้นได้ไหม ดังนั้น ตนคิดว่าคนรุ่นใหม่ก็ยังจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็น คำชี้แนะจากคนรุ่นก่อนด้วย นอกจากนั้น เราอาจจะต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสสื่อโซเซียลมีเดียกันเพิ่มมากขึ้น เคลื่อนไหวโดยใช้สื่อของตนเอง โดยคนรุ่นใหม่อาจต้องมาช่วยคนรุ่นก่อนเคลื่อนไหวผ่านสื่อต่างๆ ได้

 

๓.ถาวร กัมพลกูล (บือพอ)
ศิลปิน คนเขียนหนังสือ ผู้ฟื้นฟูภาษาและอัตลักษณ์ปกาเกอะญอ

ถาวร กัมพลกูล เป็นครูคำสอน สังฆมณฑลเชียงใหม่[๖] และเป็นศิลปิน นักคิดนักเขียนชาวปกาเกอะญอที่พยายามรักษาภูมิปัญญาชาติพันธุ์ เล่นเตหน่า[๗] อนุรักษ์ฟื้นฟูภาษาและอัตลักษณ์ปกาเกอะญอ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ได้บอกเล่าถอดความทรงจำในวัยเยาว์ให้ฟังอย่างน่าสนใจ

"ผมก็เป็นชนเผ่าปกาเกอะญออีกคนหนึ่ง ที่ในวัยเด็กได้มีโอกาสไปเรียนหนังสือที่แม่ปอน เป็นโรงเรียนของมิชชันนารี ที่อำเภอจอมทอง เป็นโรงเรียนที่ให้โอกาสทางการศึกษาแก่ชนเผ่าในเรื่องของศาสนา วัฒนธรรม และภาษาด้วย ก็ได้เรียนเขียนอ่านภาษาไทย ภาษาปกาเกอะญอ ภาษาโรมัน จนจบชั้น ป.๔ สมัยนั้น ต่อมาก็ลงมาเรียนต่อที่โรงเรียนมงฟอร์ต เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนของคณะนักบวชในศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก หลังจากนั้น ในช่วงปิดเทอม ทางอาจารย์เขาก็ให้เรากลับไปอยู่ตามหมู่บ้านชนเผ่าบนดอย บอกเราว่า ให้กลับไปเรียนรู้จักรากเหง้าของตนเอง ไปอยู่ร่วมกับพี่น้องชาวปกาเกอะญอ ไปเรียนรู้เรื่องของตนเอง ก็ทำให้ผมมีโอกาสไปนั่งพูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ ได้เรียนรู้เรื่องเล่า คำสอน คำธา บทกวี ลำนำ คำพังเพย นิทาน ถือว่าทำให้ผมได้รับการฝึกฝน กล่อมเกลาในเรื่องเหล่านี้มานานพอสมควร"

นอกจากนั้น ถาวร ยังได้มีโอกาสใกล้ชิดและเรียนรู้จากคนเฒ่าคนแก่ ครูบาอาจารย์อีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็นพะตีจอนิ โอ่โดเชา, พะตีปุนุ ดอกจีมู, อาจารย์ประเสริฐ ตระการศุภกร, อาจารย์ชัชวาล ทองดีเลิศ, คุณพ่อสมพงษ์ กำพลกูล  รวมไปถึงคุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ซึ่งท่านเหล่านี้ ทำให้ตนเองได้เรียนรู้กระบวนการทำงานในวิถีชีวิต ศาสนาและวัฒนธรรมของคนรากหญ้ามาอย่างต่อเนื่อง


จนกระทั่งกลายมาเป็น
‘บือพอ' คนเขียนหนังสือ เพื่อสื่อสารเรื่องราววิถีปกาเกอะญอให้สังคมไทยเข้าใจ

"คือปกติ ผมเป็นคนชอบจดบันทึกเรื่องเล่า นิทาน คำธา เอาไว้อยู่แล้ว ต่อมา มีโอกาสได้อ่านงานเขียนของวีระศักดิ์ ยอดระบำ ที่เขียนเรื่อง คนปกากะญอ ก็ทำให้ได้แนวคิด แนวทางการเขียน จนผมได้ลงมือเขียนหนังสือออกมาเรื่องหนึ่ง ชื่อ ชีวิตข้า ปกาเกอะญอ โดยเป็นการบันทึกเรื่องเล่าสมัยตนเองเป็นเด็ก ชอบหาปูหาปลาในลำห้วย ในไร่ มีเรื่องราววิถีชีวิต และนิทานอยู่ด้วย จากนั้น มีพี่พจนา จันทรสันติ มาเห็นต้นฉบับเข้า บอกว่าน่าสนใจดี จึงนำไปเสนอให้กับสำนักพิมพ์สารคดีตีพิมพ์ให้ โดยใช้นามปากกา บือพอ"

ต่อมา ถาวร ได้รับรู้เรื่องราวของพี่น้องชนเผ่าปกาเกอะญอ ถูกรัฐ ถูกสังคมข้างล่างกล่าวหาว่าเป็นคนทำไร่เลื่อนลอย ทำลายป่า จึงทำให้เขาตัดสินใจเขียนเรื่อง "ไร่หมุนเวียน  ในวงจรชีวิตชนเผ่าปกาเกอะญอ" ขึ้นมาอีกเล่มหนึ่ง เป็นงานเขียนเชิงพรรณนา ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่เอาไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้นำไปศึกษาเป็นงานวิจัยกันต่อไปได้

อีกบทบาทหนึ่ง ก็คือ เป็นผู้ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจวัฒนธรรมชนเผ่า ผ่านเครื่องดนตรีเตหน่า ถาวร บอกว่า จริงๆ ตนเองไม่ได้เก่งเรื่องเตหน่า แต่พอเล่นได้ ส่วนใหญ่จะถนัดเล่นเตหน่าในท่วงทำนองแบบดั้งเดิม เล่นไปควบคู่กับการร้องลำนำอื่อธา

"ที่สนใจและมาสนับสนุนส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่หันกลับมารื้อฟื้นเล่นดนตรีเตหน่า ก็เพราะว่าก่อนหน้านั้น เครื่องดนตรีเตหน่ามันเริ่มจะสูญหายไปแล้ว ต่อมาที่เห็นก็คือมีคนรุ่นก่อนหลายคน เช่น ตือโพ ได้หยิบมานำเสนอเล่นเตหน่าจนพี่น้องปกาเกอะญอบนดอยหันกลับมาสนใจกันมากขึ้น หลังจากนั้น ก็จะมีศิลปินปกาเกอะญออีกหลายคน เช่น ทองดี ธุรวร หรือ ชิ สุวิชาน นำมาสืบทอดกันต่อมา ทุกวันนี้ ผมก็จะเป็นผู้คอยสนับสนุนให้น้องๆ เยาวชนคนปกาเกอะญอได้สืบสานกันต่อไปพร้อมๆ กับสอนเรื่องคำธา นิทาน คำพังเพยของปกาเกอะญอ"


ย้ำ คนรุ่นใหม่ จะก้าวไปข้างหน้า จะต้องมีพื้นที่และโอกาส

ถาวร มองว่า คนรุ่นหลัง คนรุ่นใหม่จะก้าวไปทางใดนั้น จะขึ้นอยู่กับพื้นที่และโอกาสมากกว่า ว่าจะมีพื้นที่ให้พวกเขามากน้อยเพียงใด

"อย่างทุกวันนี้ ผมก็พยายามจะเปิดพื้นที่ ให้โอกาสแก่เด็กๆ ที่ศูนย์คำสอนสังฆมณฑลเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เราจะสอนหนังสือ สอนให้เขาได้เรียนภาษาอังกฤษ สอนคำธา นิทานคำพังเพย ซึ่งพอเราสร้างพื้นที่ให้เขามีโอกาส พวกเขาก็สนใจที่จะเรียนรู้"

ถาวร บอกว่า ถึงแม้ว่าเขาจะใช้ภาษาอื่นเป็นภาษาที่สอง ภาษาที่สาม แต่พวกเขาก็ไม่ได้หลงลืมภาษาดั้งเดิมของตนเอง ไม่ได้ลืมเชื้อชาติของตน ว่าคือคนปกาเกอะญอ ก็พยายามรักษารากเหง้า เลือดเนื้อของปกาเกอะญอนั้นยังมีอยู่ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ อยากให้ระบบการศึกษาไทย กระทรวงศึกษาธิการ น่าจะปรับเน้นให้มีหลักสูตรท้องถิ่น ให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา เพื่อสร้างความภาคภูมิใจของชนเผ่า

"ที่สำคัญ คืออยากฝากไปถึงน้องๆ คนรุ่นใหม่ว่า ทุกเชื้อชาติ ทุกชนเผ่านั้นก็มีคุณค่าของตัวเอง เพราะฉะนั้น สังคมข้างนอกก็เรียนรู้สังคมของเรา ในขณะที่เราก็ต้องเรียนรู้สังคมข้างนอกด้วย แล้วเราก็ต้องกลับมาเรียนรู้เรื่องราวของตนเองด้วย ยอมรับในวัฒนธรรมของตนเอง ถ้าเราเรียนรู้ตนเอง และเรียนรู้คนข้างนอกด้วย เราก็สามารถจะอยู่ร่วมกับคนในสังคมทั่วไปได้"

 

๔. คลังความทรงจำ ของ ชิ สุวิชาน

ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์  ศิลปินปกาเกอะญอ และเป็นนักวิชาการด้านชาติพันธุ์  ปัจจุบัน เขาเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการภูมิวัฒนธรรม วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนคริน ทรวิโรฒ ได้บอกเล่าความทรงจำวัยเยาว์ ให้ฟังว่า เกิดและเติบโตที่มูเส่คี ดินแดนป่าสนวัดจันทร์ หรืออำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตผ่านครอบครัว ผ่านพ่อ พอจำความได้ก็รู้ว่าอาศัยอยู่กับครอบครัวของตายาย ในขณะที่พ่อพนา พัฒนาไพรวัลย์ เป็นครูสอนที่โรงเรียนสหมิตรวิทยา จนกระทั่ง พ่อตัดสินใจจะไปหักร้างถางพง บอกว่าจะไปก่อตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่

"พ่อบอกกับหลายคนว่า อยากไปจุดตะเกียงบนยอดดอย ไปสร้างชุมชนใหม่ ที่มีพันธกิจร่วมกันกับญาติประมาณ ๔ ครอบครัว โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันว่า อยากให้เป็นชุมชนปกาเกอะญอที่เป็นคริสเตียนจริงๆ จู่ๆ ก็พาครอบครัวมาอยู่ในดินแดนใหม่ อยู่กันแค่สี่หลังคา สร้างบ้านอยู่กันคนละมุม ตั้งอยู่ห่างๆ กัน มีการวางผังหมู่บ้าน มีถนนกว้างขนาดสี่เลน บริเวณนี้ยังเป็นป่า เป็นที่โล่งๆ"

ต่อมา เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ประมาณราวปี พ.ศ.๒๕๒๗ พ่อพนา ได้ประสานไปยังกรมพัฒนาที่ดิน โครงการหลวง เข้ามาช่วยปรับที่ดิน มีการสร้างถนนตัดผ่านในหมู่บ้าน เริ่มมีคนอยากขอย้ายอพยพเข้ามาอยู่ พ่อก็จะมีการสัมภาษณ์ทุกคนก่อนว่า พร้อมและยอมรับเจตนารมณ์ของหมู่บ้านหรือไม่ว่า หมู่บ้านนี้จะเป็นชุมชนคริสเตียน และจะต้องทำพันธกิจร่วมกัน

"ทำให้ผมมองเห็นความเป็นครูในตัวพ่อ ทำให้ผมมองเห็นความเป็นศาสนิกชนในตัวพ่อ และทำให้ผมมองเห็นความเป็นนักพัฒนาในตัวพ่อ ซึ่งตอนนั้นจำได้ว่า พ่อจะมักชวนผู้เฒ่าผู้แก่มาล้อมวงคุยกันในเรื่องวัฒนธรรม วิถีความเป็นอยู่ของพี่น้องปกาเกอะญอ บางครั้งพ่อก็จะชวนเจ้าหน้าที่ทั้งของรัฐ ทั้งผู้นำศาสนา มิชชันนารี มาทานข้าวที่บ้าน ซึ่งได้ทำให้ผมมีโอกาสซึมซับความรู้จากวงสนทนาของคนกลุ่มเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว หรือบางครั้ง ผมจะมองเห็นพ่อไปหยิบเอาท่อนไม้ มานั่งทำเตหน่า จากท่อนไม้กลายเป็นเครื่องดนตรีชนเผ่า ทำให้ผมจำบทบาท ท่วงทำนองของพ่อ เวลาพ่อพูด ผมนั่งฟัง ซึ่งมีทั้งตลกขบขัน และมีทั้งสาระ ทำให้ผมซึมซับรับมาโดยไม่รู้ตัว"

ชิ สุวิชาน พูดถึง ยาย ว่าถือเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เรื่องเล่า นิทาน คำธา คำสอนให้กับเขา

"ตอนวัยเด็ก ผมจะผูกพันอยู่กับยายมาตลอด ยายจะมีส่วนช่วยหล่อหลอมเรื่องเล่า นิทาน คำสอน บทธาของปกาเกอะญอให้กับผม ทุกคืนก่อนนอน ยายชอบเล่านิทานให้ฟัง"

ธรรมชาติ นั้นช่วยกล่อมเกลา ชีวิต จิตใจของ ชิ สุวิชาน ในวัยเยาว์ เขาจะชอบเข้าป่ากับเพื่อนๆ ไปลำห้วย หนองน้ำ ทำให้เรียนรู้วิธีการเอาตัวรอด และช่วยฝึกความแข็งแกร่งให้กับตนเอง

"มันทำให้เรารู้ว่า เก็บผลไม้ในป่าอย่างไรไม่ให้มันร่วง ขึ้นต้นไม้อย่างไรไม่ให้เราตก ว่ายน้ำอย่างไรให้รอด บางครั้งก็พากันไปตกเบ็ดตกปลา ทุกคนก็จะเรียนรู้กันว่าถ้าอยากได้ปลาชนิดนี้ เราจะต้องใช้เหยื่ออะไรล่อปลา ซึ่งมีทั้งตั๊กแตน เขียด หนอน ข้าวหรือข้าวโพด มาทำเป็นเหยื่อ แม้กระทั่งการล่าสัตว์ การดักสัตว์ อย่างเช่น หนู หรือตุ่น พอมีประสบการณ์มากหน่อย ก็จะขยับไปล่าสัตว์ ยิงปืน ล่านก กระรอก กระต่าย เก้ง อีเห็น หรือหมูป่า ซึ่งวิชาเหล่านี้เราได้มาจากเพื่อนๆ ซึ่งผมล่าสัตว์ ได้อย่างเก่งที่สุดก็แค่ล่ากระต่าย เพราะว่าการล่าสัตว์อื่นๆ ที่ใหญ่กว่านั้นต้องอดทน รอล่าสัตว์ข้ามคืนเพื่อจะได้มา"

พอเข้าสู่วัยเรียน ชิ สุวิชาน ได้เข้าไปเรียนในระบบ ที่โรงเรียนสหมิตรวิทยา เขาต้องเรียนรู้ปรับตัว เริ่มต้นใช้ภาษาไทย ไปพร้อมกับเรียนรู้เรื่องการเล่นดนตรี

"ผมจำได้ว่า มีครูคนหนึ่งที่ผมจำได้แม่นยำมากคือ ครูประวิทย์ สุริยมณฑล ซึ่งเขาเคยเป็นลูกศิษย์ของพ่อผมมาก่อน และผมจำได้ว่าครูประวิทย์คนนี้แหละที่เป็นหนึ่งในแกนนำต่อสู้เรื่องป่าสนวัดจันทร์ ที่คัดค้าน ออป.[๘]จะมาตัดโค่นป่าสนในสมัยนั้น และเป็นผู้ชักชวน พะเลอโดะ หรือ วีระศักดิ์ ยอดระบำ นักคิดนักเขียนที่เข้าป่ายุคนั้น มาร่วมคัดค้านเคลื่อนไหวด้วย จำได้ว่า ตอนนั้น ผมยังเป็นเด็กนักเรียน และมีภาพของผมยืนอยู่หน้าโรงเรียนกลางป่าสน ลงสื่อหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้วย"

 

คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร คือผู้ที่มีบทบาทเรื่องสังคมพัฒนา ศาสนา และวัฒนธรรมชุมชน

ครูบาอาจารย์ที่ สุวิชาน ได้พูดถึงต่อมา ก็คือ คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร หรือบาดหลวงนิพจน์  เทียนวิหาร ซึ่งคุณพ่อนิพจน์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์สังคมพัฒนา สังฆมณฑลเชียงใหม่ (ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๘-๒๕๔๐) คุณพ่อนิพจน์ ยังเป็นผู้ก่อตั้งกิจกรรมกองบุญข้าวของชาวปกาเกอะญอ และก่อตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมศาสนาและวัฒนธรรมชุมชน อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๐ ตามเจตนารมณ์ของสภาสังคายนาสากลวาติกัน ครั้งที่ ๒ ที่เกิดแนวคิดการพัฒนาที่สำคัญคือ แนวคิดศาสนาและวัฒนธรรมชุมชน เรียกร้องให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับโลก วัฒนธรรม และชาวบ้านชาติพันธุ์

ต่อมา คุณพ่อนิพจน์ ได้สนใจตั้งสถาบันปรีชาญาณแห่งเอเชียขึ้นมา โดยมีคณะกรรมการบริหาร  ๙ คน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย  ๕ แห่ง และทีมที่ปรึกษา ๙ คน จาก ๕ ประเทศ  เพื่อส่งเสริม ๑.ประเพณีท้องถิ่น ที่แตกต่างหลากหลาย ให้เป็นพลังสร้างสรรค์   ๒.ศูนย์การเรียนรู้  เพื่อรื้อฟื้น  และปฏิบัติชีวิตจิต  ๓.การริเริ่มเครือข่ายระดับท้องถิ่น แบบเพื่อน   ๔.ปรีชาญาณท้องถิ่น  ที่สามารถท้าทายกระบวนทัศน์ที่ครอบคลุมและนำเสนอหนทางแก้ไขที่ยั่งยืน   ๕.ปัญญาชนชาวบ้าน  และปัญญาชนสาธารณะ  ทำงานเพื่อความดีส่วนรวม

ชิ สุวิชาน มองว่า คุณพ่อนิพจน์ เป็นผู้บุกเบิกในการวางแนวคิดของงานพัฒนาชุมชนให้กับพี่น้องชนเผ่าอย่างแท้จริง โดยเน้นการบูรณาการ ขับเคลื่อนงานสายวัฒนธรรมของปกาเกอะญอ ผ่านชุมชนคาทอลิก ผ่านแนวคิด วัฒนธรรมชุมชน โดยมีความเชื่อในพลังของชุมชน โดยนำศาสนจักรมาปรับตัวรับใช้งานพัฒนา ซึ่งครั้งหนึ่งคุณพ่อนิพจน์ ได้เคยไปนำเสนอแนวคิดเหล่านี้ให้กับทางนครรัฐวาติกัน ประเทศอิตาลี ท่านเสนอว่า "กระบวนการการทำงานชุมชนเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง ต้องตั้งอยู่บนฐานของศาสนา และวัฒนธรรมของชาวบ้าน" จนกลายเป็นที่ยอมรับในงานพัฒนาชุมชนนี้มาอย่างต่อเนื่อง

 

ชิ สุวิชาน ชื่นชมหลักคิดของคุณพ่อนิพจน์กับกองบุญข้าว
เปรียบข้าว คือพืชศักดิ์สิทธิ์ ที่เสียสละและแบ่งปัน

ครั้งหนึ่ง คุณพ่อนิพจน์ เคยมาบรรยายในชั้นเรียนปริญญาโท มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งสุวิชาน มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกัน ทำให้สุวิชานรู้สึกประทับใจในแนวคิดของคุณพ่อนิพจน์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของกองบุญข้าว เพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ เด็กกำพร้า และหญิงม่าย ซึ่งถือว่านี่เป็นปรีชาญาณ ที่ทำให้เรารู้ว่านี่คือศาสนจักรที่กินได้ และสามารถปลดปล่อยความยากจน ความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง

"คุณพ่อนิพจน์ มองว่า ข้าวนั้นคือพืชศักดิ์สิทธิ์ เหมือนเป็นพระวรกายของพระเยซู คือมีความเสียสละและแบ่งปัน โดยมองว่า ข้าวนั้นต้องตายถึง ๓ ครั้ง เช่นเดียวกับพระเยซู นั่นคือ ตายครั้งที่หนึ่ง คือจากเมล็ดกลายเป็นต้นกล้า ตายครั้งที่สอง คือต้นข้าวแก่แห้งกลายเป็นรวงเมล็ดข้าว ตายครั้งที่สาม คือจากข้าวเปลือก ข้าวสาร กลายเป็นข้าวสุก จะเห็นว่าต้องตายถึง ๓ ครั้ง เพื่อจะให้คนได้กินข้าว"

 

ทัศนคติของ ชิ สุวิชาน มองคนรุ่นใหม่ ต้องมีทางเลือกที่หลากหลาย

ชิ สุวิชาน ได้พูดถึงคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันนี้ว่า คนรุ่นใหม่มีความหลากหลายมากกว่ายุคก่อนๆ และก็มีความต้องการมากขึ้นไปด้วย เพราะฉะนั้น เราจะใช้แนวคิดแบบเดิมก็คงไม่ได้แล้ว ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีวิธีการที่หลากหลาย และต้องดูทักษะความคิดของแต่ละคนด้วยว่า คนๆ นี้สนใจอยากจะเรียนรู้อะไร แล้วเราจะต้องเรียนรู้จากเด็กให้มากที่สุด ว่าพวกเขาสนใจอะไร และเราต้องรู้ด้วยว่าโจทย์ความต้องการของเด็กๆ จะไม่เหมือนกัน ความสนใจของทุกคนนั้นต่างกัน

"ยกตัวอย่างลูกศิษย์ของผมที่มาเรียนวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย เมื่อผมถามไปว่าเรียนจบแล้วจะไปทำอะไร  ซึ่งแต่ละคนจะมีคำตอบไม่เหมือนกันเลย บางคนบอกจะกลับไปจัดการเรื่องท่องเที่ยว บางคนบอกจะไปเป็นข้าราชการ บางคนบอกจะไปเป็นนักพัฒนา บางคนบอกจะไปทำงานด้านสื่อ อีกคนบอกว่าอยากไปทำอาร์ตแกลลอรี หรือกรณีที่ผมไปลงพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน ในเรื่องการพัฒนาทักษะอาชีพ ยกตัวอย่าง ๑๒ คน แต่มีความต้องการไม่เหมือนกันเลย เพราะฉะนั้น เราจำเป็นที่จะต้องสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้มีความหลากหลาย และมีทางเลือกให้มากขึ้นด้วย คือในยุคนี้ ถ้าเรามอบทางเลือกให้เขา แต่มันไม่ตอบโจทย์ชีวิต ในที่สุดเขาก็จะออกไปหาทางเลือกใหม่ เพราะเขารู้ดีว่า พื้นที่ทางเลือกในปัจจุบันนี้ มันมีให้เขาเลือกได้มากมายหลายทาง"  ชิ สุวิชาน บอกย้ำในตอนท้าย

 

นี่คือ คลังความทรงจำ จากรุ่นสู่รุ่น ของคนรุ่นก่อนที่เฝ้ามองคนรุ่นใหม่ ที่ทำให้เราเรียนรู้ว่า ปราชญ์ ผู้รู้ ผู้อาวุโส คนรุ่นก่อนนั้นเต็มเปี่ยมด้วยประสบการณ์และภูมิปัญญา ที่คนรุ่นใหม่ต้องเงี่ยหูฟัง เรียนรู้ นำไปปรับใช้ และดำเนินรอยตามได้

และในทางกลับกัน ผู้ใหญ่ก็ต้องรับฟังคนรุ่นใหม่ และเข้าใจพวกเขาด้วยว่า อะไรคือคุณค่าสำคัญที่เด็กสนใจให้ความสำคัญในยุคนี้ ต่อตัวตน ต่อโลก ต่อธรรมชาติ ถ้าทั้งสองรุ่นยอมรับความต่าง สร้างความเข้าใจ ก็จะทำให้ทุกกิจกรรม ทุกการก้าวย่างนั้นมีคุณค่า ความหมาย มีหัวใจที่อยากให้โลกนี้มีสันติสุขและงดงามต่อไป

 

[๑] เทวศาสตร์แห่งการปลดปล่อย (Liberation Theology) เป็นการตีความหลักความเชื่อในศาสนาคริสต์จากประสบการณ์ของความทุกข์ยาก การต่อสู้และความหวังของคนจน เป็นความพยายามที่จะอ่านคัมภีร์ไบเบิล และหลักธรรมในศาสนาคริสต์จากทรรศนะของคนยากคนจนเรียนรู้ที่จะอ่านพระคัมภีร์ในลักษณะที่ย้ำถึงศักดิ์ศรีและสิทธิของตนเองในการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

[๒] หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ ๑๓ เป็นนักปราชญ์ นักเขียน นักการเมือง และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.๒๕๒๘

[๓] โครงการผันเงิน คือโครงการจัดสรรเงินเพื่อพัฒนาชนบท ผ่านการจัดสรรงบประมาณ หรือที่เรียกว่า การผันงบประมาณ ภายใต้รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บนเป้าประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพในชนบท ต่อสู้กับสงครามความยากจนของราษฎร ต่อรองกับกระแส ฝ่ายซ้าย ที่เบ่งบานในสังคมไทยขณะนั้น ซึ่งเป็นห้วงเวลาก่อนเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลา  

อ้างอิงจาก https://www.bangkokbiznews.com/politics/964451

[๔] ติดตามได้จาก บทความ การศึกษานอกห้องเรียนวิชาเรียนรู้และเคารพธรรมชาติ กับ ครูปราชญ์ปกาเกอะญอ ‘พะตีจอนิ โอ่โดเชา' วารสาร "ผู้ไถ่" ฉบับที่ ๑๐๓ (มกราคมถึงเมษายน ๒๕๖๐) "สันติวิธีเริ่มที่ครอบครัว"

[๕] ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน นักต่อสู้ที่ยืนหยัดเคียงข้างการเคลื่อนไหวภาคประชาชนมายาวนาน มีบทบาทในการก่อตั้งสมัชชาคนจนร่วมกับองค์กรชาวบ้านทั่วประเทศ

[๖] ศูนย์มิสซังโรมันคาทอลิกเชียงใหม่ หรือสังฆมณฑลเชียงใหม่

[๗] พิณของปกาเกอะญอ

[๘] องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้

 


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >