หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 89 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


กินเปลี่ยนโลก ด้วยวิถีการกิน เพื่อสร้างโลกที่เท่าเทียมและเป็นธรรม พิมพ์
Wednesday, 19 January 2022

Image


วารสารผู้ไถ่
ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๑๑๗ ก.ย. - ธ.ค. ๒๕๖๔

 

กินเปลี่ยนโลก
ด้วยวิถีการกิน เพื่อสร้างโลกที่เท่าเทียมและเป็นธรรม

ธัญลักษณ์ นวลักษณกวี
สัมภาษณ์/เรียบเรียง



 

Image

ทุกวันนี้ เห็นได้ว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการกินอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพที่ดี ประกอบกับกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เข้ามาอยู่ในวิถีชีวิต เป็นความตระหนักและตื่นรู้ของเรามากขึ้น ทำให้เราใส่ใจเรื่องที่มาของอาหารการกินว่าผลิตจากไหน ผลิตอย่างไร กระบวนการผลิตส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อโลกของเราอย่างไรมากขึ้น และนั่นทำให้เราตระหนักถึงเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์มากขึ้นด้วย เช่น เนื้อสัตว์ที่เรากิน ส่งผลให้โลกร้อนขึ้น เนื้อไก่ที่เรากินมีส่วนทำให้เกิดฝุ่น P.M.2.5 มากขึ้น เป็นต้น

เมื่อเร็วๆ นี้มีแคมเปญหนึ่งบนหน้าเพจเพซบุ๊ก ‘ผู้บริโภคที่รัก' ที่ชวนชาวโซเชียล ร่วมสนับสนุนแคมเปญ "ไก่ไร้ฝุ่น" [๑] โดยเข้าลงชื่อใน change.org ที่ให้ข้อมูลว่า อุตสาหกรรมไก่ เป็นวงจรสร้างฝุ่นพิษ PM 2.5 ผ่านกระบวนการเผาในไร่ข้าวโพดที่นำมาเป็นอาหารสัตว์ และมีการรณรงค์ให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในไทย นำ ‘ไก่ไร้ฝุ่น' มาขายให้มากขึ้นเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของผู้บริโภคและเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าสำหรับโลกใบนี้ พร้อมเสนอทางออกให้ผู้บริโภคหันมาเลือกรับประทานไก่บ้าน ไก่ที่เลี้ยงด้วยอาหารไม่สร้างมลพิษ ปลอดสารเคมีและยาปฏิชีวนะ จากกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ใส่ใจอยากส่งไก่ดีๆ ถึงผู้บริโภค อีกทั้งยังพาเชฟร้านอาหารดังมาแนะนำเมนูที่ทำจากไก่บ้านหลากหลายเมนูอีกด้วย

กิจกรรมและแคมเปญนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานของ "กินเปลี่ยนโลก" หรือ food4change ที่ชูคอนเซ็ปต์ว่า "กินทุกวัน เปลี่ยนโลกทุกวัน" ผ่านการรณรงค์เรื่องวิถีการกิน ชวนผู้บริโภคตั้งคำถามค้นหาที่มาของอาหารที่กิน ตลอดจนสิ่งที่ตามมาหลังจากเรากินเข้าไปแล้ว เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมในสังคม

คุณกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ผู้ประสานงานโครงการ ‘กินเปลี่ยนโลก' บอกเล่าให้เห็นที่มาที่ไปของปัญหาระบบอาหารในประเทศ ที่นำไปสู่งานขับเคลื่อน การ ‘กิน' เพื่อเปลี่ยน ‘โลก' ว่า

"ในระบบอาหารทุกวันนี้ อาหารที่เรากินกันอยู่ทั่วไปตามท้องตลาดนั้น เราไม่รู้ที่มาที่ไป ว่าผลิตมาอย่างไร มีปัญหาการปนเปื้อนตกค้างหรือไม่ คนอาจจะเริ่มตื่นตัวเรื่องการกินอาหารที่ทำให้ตัวเองมีสุขภาพดี ก็มีความเชื่อว่าถ้าจะกินดี ต้องกินออร์แกนิค แต่ออร์แกนิคในซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ราคาแพง นอกจากซื้อตามตลาดเขียวหรือซื้อตรงจากผู้ผลิตบางทีถูกกว่าทั่วไปด้วย แต่ปัญหาคือเราไม่รู้แหล่ง ไม่รู้จักผู้ผลิตซึ่งก็ยังมีน้อย และผู้บริโภคยังเข้าถึงได้ไม่ง่ายนัก หากไม่รู้แหล่งผลิต ไม่รู้จักผู้ผลิตและเครือข่ายที่ผลิต หรือไม่ได้อยู่ต่างจังหวัดที่มีตลาดเขียวของผู้ผลิต ชาวนา เกษตรกร และเครือข่ายเกษตรกร ที่นำผลผลิตมาขายในตลาดนัดต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคที่อยู่ใกล้เคียงสามารถเข้าถึงอาหารดีมีคุณภาพได้"

"สิ่งที่เราอยากเห็นคือ คนเราไม่ว่ายากดีมีจนควรจะสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ มีโภชนาการที่มีความปลอดภัย ไม่มีสารปนเปื้อนตกค้างมากเกินไปที่ส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งตรงนี้ ถ้าพูดถึงในประเทศนี้แทบเป็นไปไม่ได้เลย คือเราก็ต้องกินไปตามมีตามเกิด และเอาถูกเข้าว่า อันนี้เป็นมาโดยปกติอยู่แล้ว เพราะว่าการกำกับดูแลหรือการทำให้การผลิตอาหารมีความมั่นคงปลอดภัย มันยากมาก และเรียนกันมาก็มีการสั่งสมความรู้ สั่งสอนกันมาว่า ถ้าไม่ใช้สารเคมีไม่ได้กิน ก็เลยต้องถล่มใส่สารเคมีต่างๆ"

งานของ ‘กินเปลี่ยนโลก' จึงพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการกินของผู้บริโภค ให้หันมาสนใจอาหารท้องถิ่น ด้วยการรณรงค์เกี่ยวกับวัฒนธรรมอาหารที่มีวิถีการผลิตของชุมชนท้องถิ่นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีระบบการผลิตที่ยั่งยืน คำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สร้างความเท่าเทียมและเกื้อกูลระหว่างเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น กับผู้บริโภค ให้เป็นการกินที่เชื่อมโยงกับผู้ผลิตที่รักษาระบบการผลิตอาหารที่เคารพธรรมชาติ และสนับสนุนเศรษฐกิจรายย่อยที่คำนึงถึงความเป็นธรรมของสังคม โดยร่วมกับชุมชนและเครือข่ายต่างๆ รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารท้องถิ่น เช่น สูตรน้ำพริก อาหารจากถั่ว อาหารจากผักพื้นบ้าน เป็นต้น

"เราส่งเสริมเรื่องของกระบวนการอาหารท้องถิ่นมาโดยตลอด สร้างให้ตลาดท้องถิ่น สร้างให้การผลิตในเครือข่ายแบบท้องถิ่นเข้มแข็ง อันนี้ปรากฏการณ์หนึ่งคือตลาดเขียว คนจะใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น คนอยากแข็งแรงขึ้นด้วย มีตลาดเขียวที่เชียงใหม่ตลาดหนึ่งเปิดวันอังคาร และพฤหัส แต่ก่อนบ่ายสองโมง คนจะเริ่มมา เดี๋ยวนี้มาก่อนแม่ค้า มารอ ช่วยแม่ค้าจัดแผง กลัวไม่ทัน อย่างนี้เป็นต้น ก็คือคนพยายามหาอาหารที่มีคุณภาพแล้วตัวเองเชื่อว่ามีความปลอดภัยมากขึ้น"

โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์โควิด-๑๙ ระบาดนี้ คนสนใจกินสมุนไพรเพื่อป้องกันโรคโควิดกันมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดสีเขียวมีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด "มีช่วงที่กินกระชาย ขิง ข่า ตลาดเขียวมีลูกค้าเพิ่มขึ้นบางที่ ๒๐๐-๓๐๐% หมายถึงว่าเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ จาก ๒๐๐ ไม่ได้เป็น ๔๐๐ แต่เป็น ๖๐๐, ๘๐๐%"

คุณกิ่งกร บอกว่า "นี่เป็นโอกาสของเครือข่ายที่ทำงานเรื่องการผลิตอาหารคุณภาพแบบไม่ใช้สารเคมีที่มีการรับรองกันเอง มีความเชื่อมั่นกัน ผู้บริโภครู้จัก ผู้บริโภคได้คุยกับผู้ผลิตโดยตรงและเกิดความมั่นใจ แล้วเกิดเป็นความสัมพันธ์ ผักแบบนี้ อาหารแบบนี้ มันเติบโต มีคนอยากกิน มีคนอยากซื้อมากขึ้น"

 

รณรงค์เรื่องวิถีการกิน เพราะทุกคำที่เรากิน เรากำลังเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้

งานรณรงค์ถือว่าเป็นจุดแข็งที่มีอิทธิพลสามารถสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ซึ่ง ‘กินเปลี่ยนโลก' ใช้สื่อสารกับผู้บริโภคให้เห็นว่าเราจำเป็นต้องรู้กระบวนการผลิตเพื่อที่จะได้ไปส่งเสียงบอกคนที่ปลูก คนที่เอามาขายเรา ให้ช่วยให้หลักประกันความปลอดภัยที่พอเชื่อถือได้บ้าง

หลากหลายแคมเปญที่ ‘กินเปลี่ยนโลก' เลือกนำมารณรงค์ คุณกิ่งกร ยกตัวอย่างว่า พยายามหยิบเอาพืชผักบางชนิดมารณรงค์โดยสร้างเป็นประเด็นสื่อสารกับผู้บริโภค อย่างเช่น แคมเปญส่งเสริมการกินผักยืนต้น การตรวจผักยอดนิยม (Top Hit) ผักที่กินกันเป็นประจำ ซึ่งก็หมายถึงผักที่ตามเราไปทุกฤดูกาล  

"เวลาคนถามว่า แล้วจะกินอย่างไรให้ปลอดภัย เราก็บอกว่า ผักอินทรีย์หากินยาก เพราะเราอยู่ห่างไกลจากชาวนาเกษตรกรที่ทำเรื่องนี้ เราไม่ได้อยู่ต่างจังหวัด คนกรุงเทพฯ ก็หากินลำบาก ดังนั้นก็ควรเลือกกินผักตามฤดูกาล นั่นหมายความว่าคุณต้องหาความรู้ว่าฤดูกาลไหนผักออก แล้วคุณก็เลือกกินตามฤดูกาลเพราะสารเคมีที่ใช้ในการผลิตผักตามฤดูกาลมันน้อยกว่าผักที่มาผิดฤดูกาล หรือผักที่มีทั้งปี อย่าง คะน้า ถ้ากินหน้าหนาวก็มียา มีสารเคมีน้อยกว่าหน้าแล้งกับหน้าฝน คือถ้ามีในฤดูของมัน ศัตรูของมันจะน้อยกว่า และผักนั้นก็จะแข็งแรงกว่า ดังนั้นก็ใช้สารเคมีน้อยกว่า"

"ความรู้เรื่องการกินของคนไทย เรารู้วิธีการกินผักมากกว่ากินแตงกวา ผักกาด กะหล่ำ อย่างแครอทมาจากไหนก็ไม่รู้ บร็อคโคลี่มีอยู่ทั้งปี ผักกาด กวางตุ้ง ผักบุ้ง เนี่ยมีอยู่แค่ ๑๐ กว่าชนิดเอง แต่ที่อยู่รอบสวน อาทิ ดอกแค ขี้เหล็ก มะรุม มะตูมแขก ผักติ้ว ชะมวง นี่คือผักยืนต้น ผักเหมือนกันแต่เป็นพืชยืนต้น (Perennial Crops) คือโตเป็น ๑๐, ๒๐, ๓๐ ปี ถึงเวลาตามฤดูของมัน ก็ออกช่อ ออกยอด ออกดอก มาให้กิน เราควรจะกลับไปกินพวกนั้นมากขึ้น"

หรืออย่างแคมเปญรณรงค์เรื่องส้ม "หยุดส้มอมพิษ" (Orange Spike) ซึ่งทำร่วมกับ อ็อกแฟมประเทศไทย (Oxfam) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รณรงค์ให้ประชาชนหยุดส้มอมพิษตั้งแต่ต้นทาง กระตุ้นให้ผู้บริโภคแสดงสิทธิให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ติดคิวอาร์โค้ด (QR Code) พิสูจน์ว่าส้มที่ขายไม่มีสารพิษ เพื่อผลักดันผู้ผลิตให้ลดใช้สารเคมี ผู้จัดจำหน่ายคัดกรองแหล่งที่มาส้มปลอดภัย และให้รัฐมีมาตรการควบคุมปริมาณสารเคมีในผลิตภัณฑ์ส้มทุกประเภท

"ส้ม ตรวจทุกปีก็ร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกปี ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่หยิบ ๑๐ ตัวอย่าง แล้วเจอเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยที่ยอมรับได้ทั้ง ๑๐ ตัวอย่าง เจอสารเคมีค็อกเทล ๓๐ กว่าชนิด จึงหยิบส้มมารณรงค์ เพื่อจะกระตุ้นให้คนสนใจและจับจ้องให้ผู้ผลิตช่วยทำส้มแบบปลอดภัยมาให้กินหน่อย เราก็ช่วยให้ผู้บริโภคมีความรู้ว่าจะหาส้มอย่างไรกินดี ซึ่งไม่ง่ายเลยนะ ทำส้มออร์แกนิกก็ไม่ง่าย เว้นระยะ ๒-๓ เดือนก็ไม่ง่าย เพราะปลูกส้มให้มันออกทั้งปี ตรงนี้พัก ฉีดใกล้ๆ สารเคมีมันก็ไปมาหากัน"

เพจ ‘กินเปลี่ยนโลก' จึงแนะนำทางเลือกในการเลือกกินเลือกซื้อส้มปลอดสารเคมี โดยนำตัวอย่างการทำเกษตรไร้ควัน ไร้สารเคมี เช่น ‘ส้มไร้ควัน' ของพ่อหลวงสุทัศน์ ยงศักดิ์วัฒน์ เกษตรกรบ้านนาฮ่องใต้ ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาปลูกส้มสายน้ำผึ้ง และกลุ่มปลูกส้มโชกุนแบบสวนสมรมไม่ใช้สารเคมี ต.พะโต๊ะ จ.ชุมพร เป็นต้น ตลอดจนการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเรื่องพืชผักผลไม้ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวที่มีการปลูกแบบไร้สารเคมี ผ่านวงเสวนา อาทิ เรื่องจักรวาลทุเรียน, นิเวศสวนทุเรียน ที่นำเกษตรกรผู้ปลูกจากสวนทุเรียนอินทรีย์ ทุเรียนป่าละอู ทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี และนักวิชาการด้านพฤกษศาสตร์มาให้ความรู้เกี่ยวกับการกิน การปลูก และการค้าทุเรียน เป็นแนวทางให้ผู้บริโภคได้เห็นทางเลือกอาหารที่ดีที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ 

ส่วนแคมเปญรณรงค์เกี่ยวกับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ อย่างเช่นเรื่องไก่ กับแคมเปญ ‘ไก่ไร้ฝุ่น' เราจะเลือกกินไก่อย่างไร ให้ผู้ผลิตรายใหญ่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบสิ่งแวดล้อม

คุณกิ่งกร อธิบายถึงที่มาที่ไปของการรณรงค์แคมเปญเรื่องไก่ ว่า "ทุกวันนี้เรากินไก่ประมาณ ๑๒.๕ ตัว หรือประมาณ ๒๙ กิโลกรัม ต่อคนต่อปี และเราก็จะกินมากขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งไก่ที่เรากิน ๙๐% มาจากบริษัทยักษ์ทั้งนั้น และอาหารไก่ ๕๐% มาจากข้าวโพด ข้าวโพดน่าจะเกินครึ่งมาจากการปลูกแบบเผา อย่างนี้เรามีความสนใจมากน้อยแค่ไหนว่ากระบวนการผลิตไก่มันโอเคไหม ผู้ผลิตก็ควรจะตระหนักว่า ไม่เอาข้าวโพดที่มาจากการเผาที่อยู่บนดอย ส่วนหนึ่งของ PM 2.5 ก็เกิดจากสิ่งนี้ พยายามจะรณรงค์ให้คนเห็นว่าการกินของเรามันเชื่อมโยงกับเรื่องความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และเชื่อมโยงกับความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจของชาวนา เกษตรกร

อยากให้คนได้เชื่อมโยงว่า เราน่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการรายใหญ่รับผิดชอบในการซื้อข้าวโพด หรือไปช่วยส่งเสริมการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรบนที่สูงให้มีความยั่งยืนและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง แล้วเราจะช่วยกันคิดอย่างไรให้มันไม่เดือดร้อนชาวบ้านด้วย จะมีการปรับเปลี่ยนระบบเกษตรบนที่สูงอย่างไร ผู้บริโภคเองต้องเรียกร้องด้วยว่า เราก็ต้องการกินไก่ที่มีคุณภาพที่ไม่ไปทำลายสิ่งแวดล้อมไหม หรือเราควรจะกินไก่น้อยลงไหม เรากินไก่มากขึ้นทุกวันเพราะไก่มันถูก แล้วทำไมมันถูก เพราะมันผลักต้นทุนสิ่งแวดล้อมให้สังคม มันเลยถูก ไอ้ที่เราจ่ายค่าไก่ เราไม่ได้จ่ายค่าสิ่งแวดล้อม"

และล่าสุดกับแคมเปญ ‘#เสน่ห์ตลาดสด #สดเซียนลึกแคร์' [๒] ให้ผู้บริโภคกลับมาให้ความสำคัญกับตลาดสดเพื่ออุดหนุนผู้ประกอบการรายย่อย ลดการผูกขาดตลาดอาหารที่อยู่ในมือผู้ผลิตรายใหญ่ไม่กี่รายของประเทศ ผ่านคลิปวิดีโอที่นำเสนอให้เห็นว่าตลาดสดทำหน้าที่กระจายความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ของอาหารตามฤดูกาล เป็นที่รักษาความรู้ในการกิน การปลูก การเลือกอาหารที่ดีมีคุณภาพ เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนซื้อและคนขายที่มีปฏิสัมพันธ์กันมากกว่าซุปเปอร์มาร์เก็ต เพราะสามารถพูดคุยไถ่ถามถึงสินค้าที่ซื้อขายกันได้จากพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นเซียน รู้ลึกรู้จริงเกี่ยวกับสินค้าที่ขายว่ามีที่มาจากไหน อย่างไร  

คุณกิ่งกร "จากการสำรวจของเรา คนยังใช้ตลาดสดเยอะ ตลาดสดก็ดีขึ้นได้นะ ซึ่งเขาก็มีการปรับตัวเยอะมากจากการที่เราไปศึกษาตลาดสดใหญ่ๆ หลายตลาด ไม่ว่าตลาดเล็กตลาดน้อย เราคิดว่าผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของตลาด เขามีการปรับปรุงตลาด ทำให้มีขยะเน่าเหม็นน้อยลง ทำให้น้ำเฉอะแฉะน้อยลง ให้ตลาดมันแห้งขึ้น ปรับปรุงห้องน้ำให้บริการพ่อค้าแม่ค้าที่มาค้าขายให้ดีขึ้น นี่มันเป็นเหมือนสวัสดิการของผู้ค้าด้วย ก็คือผู้ประกอบการนั่งขายอยู่ในนั้นทั้งวันก็ควรมีห้องสุขาดีๆ ให้เขา รวมถึงที่จอดรถ ตลาดมันก็มีคุณภาพดีขึ้น เราก็อยากเห็นการปรับปรุงตลาดสดด้วย

จริงๆ ผู้บริโภคต้องเรียกร้องตลาดได้ ซึ่งผู้ประกอบการเขาก็ยินดีรับฟัง เพราะเขาก็ต้องแข่งขัน เขาต้องเก็บค่าเช่าจากแม่ค้า เขาก็ต้องให้บริการที่ดี แม่ค้าก็ต้องเริ่มเอาของที่มีคุณภาพมาขาย บางตลาดมีคิวอาร์โค้ดด้วยนะ มันก็ดีขึ้น มีการปรับปรุง ทำให้ความรู้และข้อมูลมันไหลเวียนมากขึ้น แล้วมันก็นำไปสู่การเรียนรู้ ความเข้าใจ ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการมีข้อเสนอแนะ แล้วมากำหนด เราเชื่อเรื่องแบบนี้ว่า ถ้าเราไม่แอ็คทีฟ เราไม่เรียกร้อง ไม่มีใครเขาปรับให้คุณหรอก เราอยากเห็นผู้บริโภคที่ตื่นตัว ไปซื้ออะไรตรงไหนก็เรียกร้องตรงนั้น คุยกับแม่ค้า เรียนรู้จากแม่ค้า ตั้งคำถามตรวจสอบแม่ค้า เรียกร้องผู้ประกอบการว่า ตลาดมันแฉะ มันเหม็นมาก ก็ต้องโวยบ้าง มันก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

คุณใช้อะไร คุณซื้อกินจากตรงไหน คุณเป็นผู้บริโภคตรงนั้น คุณควรจะเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นจากตรงนั้นได้ อย่างซื้อจากซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ต้องให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตรับผิดชอบ บอกความจริงให้หมด ให้มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Tracetability) ที่ดี บอกแหล่งที่มา บอกกระบวนการผลิต แล้วเวลาให้ข้อมูลว่าปลอดภัยก็ต้องให้รายละเอียดหน่อยว่าปลอดภัยอย่างไร อันนี้คือข้อเรียกร้องที่เพจ ‘ผู้บริโภคที่รัก' ทำกับซุปเปอร์มาร์เก็ตอยู่"

           

ผู้บริโภค คนเมือง กับความมั่นคงทางอาหาร ในสถานการณ์โควิด-๑๙

สถานการณ์โควิด-๑๙ ที่ทอดระยะเวลามายาวนานถึง ๒ ปี ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของเราที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการประคองชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยได้ทั้งภัยจากเชื้อโควิด-๑๙ ที่แพร่ระบาดไปทั่วทุกพื้นที่ แล้วยังต้องพยายามให้รอดจากความอดอยากหิวโหยจากพิษเศรษฐกิจที่กระทบต่ออาชีพ การงาน และรายได้  

เห็นได้จากระลอกแรกของการแพร่ระบาดโรคโควิด-๑๙ เมื่อรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ประเทศ ภาพความชุลมุนวุ่นวาย ความแออัดของประชาชนที่ไม่สามารถรักษาระยะห่างทางสังคมได้ เข้าไปซื้อหาข้าวปลาอาหารต่างๆ เพื่อเก็บกักตุนไว้เป็นเสบียงสำหรับครอบครัว จนชั้นวางสินค้าทั้งอุปโภคบริโภค ตามซุปเปอร์มาร์เก็ต และห้างค้าปลีกค้าส่งต่างๆ นั้นพลันว่างเปล่าภายในเวลาอันรวดเร็ว และต่อมาเมื่อเชื้อโควิด-๑๙ แพร่ระบาดไปตามตลาดสดเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วรัฐใช้มาตรการปิดตลาดสด ตลาดนัด ซึ่งรวมไปถึงตลาดเขียวที่ขายสินค้าเกษตรปลอดสารเคมีในทุกพื้นที่ด้วย ยิ่งชี้ชัดขึ้นว่าทางเลือกของประชาชนในการเข้าถึงแหล่งอาหารในยามภาวะวิกฤตินั้นมีจำกัดเต็มที

ในประเด็นนี้ คุณกิ่งกร ช่วยขยายให้เรามองเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า "การเข้าถึงอาหาร ไม่ได้หมายความว่าต้องผลิตเอง ทุกวันนี้คนพึ่งพาการเข้าถึงอาหารด้วยการซื้อกิน ไม่มีใครผลิตได้จริงจังเท่าไหร่ พอมาถึงวิกฤติตอนนี้ก็ไม่ต้องพูดถึงคุณภาพแล้ว แต่ควรเป็นเรื่องของการเข้าถึงอาหารได้โดยไม่ลำบากยากเย็นจนเกินไป คนทุกวันนี้มีความเป็นอยู่ มีระยะทางที่ห่างไกลจากแหล่งอาหาร อาหารผลิตที่ต่างจังหวัดแล้วส่งเข้ามาขาย ผ่านกลไกตลาดที่เป็นตลาดกลาง เมื่อเกิดวิกฤติโควิด ทำให้ตลาดล่ม ถ้าจำกันได้ช่วงแรกระบบขนส่งมีปัญหาเรื่องการขนส่งปุ๊บ พอมันช็อต ก็คือช็อตกันหมด ก็มีความขาดแคลนเป็นจุดๆ ไป"

สิ่งที่ตามมาจากวิกฤติโควิด ก็คือ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจความเป็นอยู่ของประชาชน ผู้คนรายได้ลดลง ไม่มีงานทำ มีปัญหาในการเข้าถึงอาหาร โดยเฉพาะผู้คนในเมืองใหญ่

"คือต่อให้อาหารราคาถูกเท่าไหร่ก็เกือบจะไม่มีเงินซื้อกิน เราก็จะพบภาพที่ต้องมีการทำครัวกลาง ครัวนู่นครัวนี่ แล้วเอาอาหารไปแจกกัน เห็นได้ชัดเลยว่าผู้คนที่มีรายได้น้อย รายได้ปานกลาง ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงอาหารโดยทันที พวกรถเร่ หาบเร่ อะไรต่างๆ ก็ถูกยกเลิก ทำมาหากินไม่สะดวก อันนี้คือผลกระทบที่เราเห็นทันทีเลย"

คุณกิ่งกร บอกว่า กินเปลี่ยนโลก ซึ่งทำการศึกษาเรื่องบทบาทของตลาดสดด้วย พบว่า "คนที่อาศัยกินอาหารจากตลาดสด ตลาดนัด จะอยู่ในรัศมีที่ไม่ไกล คือไม่เกิน ๕-๑๐ กิโลเมตร นั่นหมายความว่าเขามีความจำกัดเรื่องการเดินทาง คนจะสามารถเข้าถึงตลาดได้โดยการขี่มอเตอร์ไซค์ในละแวกใกล้เคียงย่านที่อยู่อาศัย เขาไม่สามารถออกไปห้างขนาดใหญ่ที่เป็นซุปเปอร์สโตร์ หรือว่าเป็นเอ็กซ์ตร้ามาร์เก็ต ดังนั้นมันก็สร้างความลำบากให้คนมากขึ้นเมื่อตลาดนัด ตลาดสดปิด การทำมาค้าขาย จะเห็นว่าอาหารของคนจนคือ อาหารที่อยู่ตามซอกตามซอย ตลาดเล็กตลาดน้อย พอพวกนี้อยู่ไม่ได้ มันก็ลำบากกันทั่ว"

"แต่ยังดีที่คนยากคนจนในเมืองใหญ่สามารถเข้าถึงอาหารได้โดยที่มีคนจนขายคนจนด้วยกันเอง คือผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย พ่อค้าแม่ค้า ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดพุ่มพวงต่างๆ ก็ยังพยายามดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด นำอาหารเข้ามาขายช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้คนที่อยู่ในเมืองได้"

คุณกิ่งกร ยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็น "เหมือนกับตอนน้ำท่วมปี ๕๔ พอศูนย์กระจายสินค้าของห้างพวกนี้ที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด เส้นรังสิต วังน้อย อยู่กันตรงนั้นหมดเลยนะ น้ำท่วมเป็นเดือน ไม่มีอะไรเข้ามาเลย นั่นคือเราเอาความมั่นคงไปผูกไว้กับบริษัทใหญ่ๆ ไม่กี่บริษัท ถ้าไม่ได้ร้านชำที่เหมารถรวมกัน ช่วงนั้นมีคนเล่าว่า พวกร้านชำที่อยู่ตามชุมชนในเมืองใหญ่พากันเหมารถไปซื้อของเอาเข้ามาขาย แล้วก็แบ่งไข่ แบ่งเนื้อสัตว์ต่างๆ นี่คือความพยายามที่จะช่วยเหลือกัน"

นอกจากสถานการณ์โควิด-๑๙ จะฉายภาพให้เราเห็นถึงภาวะยากลำบากของประชาชนในการเข้าถึงอาหารแล้ว มันยังเผยให้เห็นภาพปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศที่เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมของระบบการผลิตและกระจายอาหาร การอุปโภคบริโภคของประชาชนที่ถูกผูกขาดโดยทุนใหญ่ระดับประเทศเพียงไม่กี่ราย ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าประชาชนผู้บริโภคคนไทยถูกจำกัดทางเลือกในการเข้าถึงอาหาร แทบไม่สามารถพึ่งพาตนเอง ไม่สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับตนเองได้เลย

ดังที่คุณกิ่งกร อธิบายว่า "เรามองระยะของโควิดเกือบ ๒ ปี ระลอกแรกนี่แย่มาก คือเงินมันหายไปกะทันหัน มีการตกงานในธุรกิจท่องเที่ยว ยังไม่สามารถปรับตัวได้ ก็จะมีคนที่จนกะทันหัน ตลาดนัด หาบเร่แผงลอย ถูกล็อกดาวน์ให้คนแค่มาซื้อแล้วกลับบ้าน ไม่สามารถมานั่งกินที่ร้านได้ แล้ววิถีชีวิตของคนทำงานในกรุงเทพฯ คือแวะก่อนกลับบ้าน ดังนั้นมันก็จะเกิดปรากฏการณ์ว่าตลาดสดปิด หาบเร่แผงลอยขายไม่ได้ แต่ว่าห้างไม่ปิด คนแน่นตึ้บเลย ไม่ยักกลัวโควิดกัน เดินแบบเบียดมาก อันนี้ก็จะเห็นเป็นปรากฏการณ์

ภาวะที่ระบบการกระจายอาหารของประเทศถูกรวบอยู่ในมือของผู้ประกอบการรายยักษ์ มันก็สะท้อนว่า เวลาเกิดวิกฤติ ผลประโยชน์มันก็ถูกรวบเข้าไปอยู่กับผู้ประกอบการรายยักษ์อีกตามเคย แทนที่จะพยายามช่วยกันส่งเสริมให้เกิดการสร้างกลไกป้องกันตัวเองที่แข็งแรงในระดับชุมชน ตลาดเล็ก ตลาดนัด ตลาดสด หรือผู้ค้า คือเปิดโอกาสให้เขาทำมาหากิน แล้วก็เปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าถึง ก็ไปปิดเขา แล้วไปให้ผู้ค้ารายใหญ่ค้าขายมีกำไรได้ต่อไป อันนี้มันเป็นความไม่เท่าเทียมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร มันยิ่งสะท้อนความเหลื่อมล้ำที่หนักขึ้นไปอีก"

แล้วประชาชนผู้บริโภคอย่างเราจะมีทางเลือก ทางรอด ที่จะสามารถพึ่งพาตนเอง สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับตนเอง เป็นหลักประกันความอยู่รอดปลอดภัยในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ต่างๆ ได้อย่างไรล่ะ?

ในช่วงล็อกดาวน์ เราจึงเริ่มเห็นคนเมืองจำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาปลูกพืชปลูกผักไว้กินเองกันมากขึ้น คนที่อยู่พื้นที่จำกัด อย่าง อพาร์ตเมนท์ คอนโด ก็ปลูกผักในกระถาง ในกระบะ ส่วนคนที่บ้านมีพื้นที่มีบริเวณมากหน่อยก็ทำแปลงผัก ปลูกพืชผักสวนครัว

คุณกิ่งกร "พอเกิดวิกฤติ สิ่งแรกที่เกิดขึ้นในวิกฤติก็คือ การเดินทางสัญจรไปมาไม่สะดวก พอคุณต้องพึ่งพาอาหารที่มันต้องขนส่งมาระยะทางไกลๆ ซึ่งพอการสัญจรไม่สะดวก อาหารมาหาคุณไม่ได้ และคุณก็ไม่อยากไปหาอาหารเพราะกลัว อันนี้แหละพลาดแล้ว คนก็เลยเริ่มคิดปลูกผักกินเอง ถ้าไม่สามารถขยับตัวไปไหน มีอยู่ช่วงหนึ่ง คนจะถามหาเมล็ดพันธุ์กันมาก เพราะอยากมีผักเล็กๆ น้อยๆ ไว้กินเองก็ยังดี คือมีความรู้สึกอุ่นใจว่ามีอาหารอยู่ในมือ"

 "วิกฤติมันเริ่มสอนเราว่าไม่ควรอยู่ห่างไกลจากแหล่งอาหาร คุณควรจะรู้จักแหล่งผลิต และจริงๆ แล้วในเมืองก็จำเป็นต้องมีแหล่งผลิตอาหารที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งแนวคิดพวกนี้ สวนผักคนเมือง [๓] ก็ทำอยู่ อยู่ตรงไหนก็ผลิต อยู่ตรงไหนก็ปลูกได้ ไม่ได้ให้กินเองทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์นะ แค่ ๑-๒% ก็ยังดี มีอาหารใกล้ๆ รู้จักแหล่งผลิตใกล้ๆ แล้วอุ่นใจ สามารถติดต่อสื่อสารมาส่งถึงกันได้ เราควรจะถูกรายล้อมด้วยอาหาร ในเมืองใหญ่ผลิตอาหารได้ สร้างหน่วยย่อยๆ ในการผลิตอาหารเล็กๆ ไม่ถูกตัดขาดจากการเคลื่อนย้ายอาหาร และต้องเป็นอาหารที่เราเลือกได้ด้วย นี่คือความหมายของการเรียกว่า มีความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ"

"ซึ่งนี่เป็นทางออกของเมืองใหญ่ทุกเมืองในโลกนี้ เพราะเมืองใหญ่เป็นเมืองที่ไม่มั่นคงทางอาหารที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้น เมืองใหญ่ต้องหาทางจัดการตัวเองด้วยการสร้างหน่วยผลิตอาหาร หรือสร้างพื้นที่ผลิตอาหารให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และในระยะยาว ควรจะมีพื้นที่กันชน[๔](Buffer Zone) เรื่องอาหารที่ทำให้เมืองใหญ่ไม่ลำบากจนเกินไป แล้วส่งเสริมให้เกิดการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ไม่ต้องขนส่งไกลๆ สร้างความเข้มแข็งของระบบอาหารท้องถิ่น รวมทั้งท้องถิ่นแบบเมืองใหญ่ ต้องส่งเสริมคนเล็กคนน้อย แม่ค้าเล็กแม่ค้าน้อย ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย คนที่จัดหาผักที่ปลอดภัย หรือผลิตผัก เราต้องส่งเสริมแบบนี้ให้มากขึ้น ให้เขามีที่อยู่ที่ยืน เขาถึงจะยืนระยะอยู่ได้ เมื่อเกิดวิกฤติเราก็หันไปพึ่งเขาได้ด้วย ให้เป็นแนวความคิดทั้งในทางปฏิบัติและแนวนโยบาย"

 

ปรากฏการณ์แรงงานคืนถิ่น
ผืนดินถิ่นเกิด คือฐานทรัพยากรและความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน

จากโควิดระลอกแรก ระลอกที่สอง มาจนถึงระลอกที่สาม ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อคนทุกชนชั้นทุกอาชีพ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในภาคธุรกิจท่องเที่ยว เช่น โรงแรมเลิกจ้างพนักงานเกิน ๕๐% ร้านค้าจำนวนมาก ต้องปิดตัวลง คนกลุ่มนี้จึงกลายเป็นคนที่ไม่มีงานทำ แล้วคนกลุ่มนี้ไปไหน คนกลุ่มนี้กลับไปชนบท เราจึงเห็นปรากฏการณ์แรงงานคืนถิ่นฐาน กลับภูมิลำเนาของตนกันเป็นจำนวนมาก

 คุณกิ่งกร ให้ข้อสังเกตถึงผลกระทบจากวิกฤติโควิดที่ทำให้เกิดแรงงานคืนถิ่นเป็นจำนวนมากนี้ว่า

"ดูเหมือนปัญหามันเบาบางลงกว่าระลอกแรก คือคนทำใจแล้วว่าอยู่ต่อไม่ได้ ระลอกแรกคนยังกลับบ้านไม่เท่าไหร่นะ หมายถึงเมื่อประมาณเดือนมีนาคม เมษายน ปี ๒๕๖๓ แต่พอมาระลอกนี้ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๓ ไล่มาจนถึงตอนนี้ ๒๕๖๔ คนกลับบ้านกันมหาศาลมาก แล้วไปอาศัยความมั่นคงทางอาหารในภาคชนบท

พี่อุบล [๕] ที่อยู่ภาคอีสาน แกก็พูดว่า ในตำบลของแกมีประชากรประมาณ ๑,๐๐๐ ครอบครัว มีคนกลับบ้านไปประมาณ ๖๐๐ กว่าคน ตำบลหมู่บ้าน รองรับคนเหล่านี้อย่างไร คนเหล่านี้ก็คือกลับเข้าไปกินกับที่บ้าน ที่บ้านหาอะไรกิน ที่บ้านมีข้าว มีผัก มีปลาอยู่ในหนอง มีหน่อไม้ มีเห็ดอยู่ในป่า เล่นกันจนป่าตึงเครียดน่ะ พูดง่ายๆ ก็คือ อาจไปแย่งทั้งเก็บขาย เก็บกิน แต่ถึงอย่างไรก็จะเห็นว่าฐานทรัพยากรอาหารในชนบท มันเป็นแหล่งที่สร้างความมั่นคงทางอาหารทั้งคนในชุมชนปัจจุบันและคนที่อยู่ในเมืองไม่ได้ ต้องกลับบ้านกันหมด แท็กซี่ก็กลับไม่ใช่น้อยนะ

 สถานการณ์โควิดจากมุมมองของเรา พอเราสังเกตก็เห็นข้อดีของมัน เราไปอยู่ต่างจังหวัดเราจะพบว่า สิ่งที่เป็นแหล่งอาหารของคนทั่วไปที่มันยังดำรงอยู่ คือ ตลาดท้องถิ่น การค้าขาย ชาวบ้านปลูกผักเล็กๆ น้อยๆ เอาผักมาขายหน้าบ้าน ในหมู่บ้าน ในหลายท้องถิ่น เกิดขึ้นโดยทั่วไป นี่คือฐานสำคัญของความมั่นคงทางอาหารในท้องที่ชนบททั่วไป แล้วมันกลายเป็นแหล่งรายได้ของคนเล็กคนน้อย บางคนจากเมืองใหญ่ที่ตกงานก็กลับไปหากินหาอยู่ตามพื้นที่ชนบท ไปเก็บผัก ไปปลูกผัก เปิดร้านเล็กร้านน้อย ไปขายหมูปิ้ง ไก่ย่าง ฯลฯ เห็นเป็นปรากฏการณ์ทั่วไปในชนบท

ซึ่งมันสะท้อนว่าอาชีพใดๆ ที่เกี่ยวกับอาหารยังมีความจำเป็นสำหรับมนุษย์ เราสังเกตในหมู่บ้าน มีร้านค้า แผงขายอาหารเพิ่มขึ้น  ๓-๔ ก้าว แผงหนึ่งๆ ไหนจะไก่ย่าง ลาบน้ำตก กาแฟสดก็มี คือคนที่กลับจากในเมือง ไปมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ซึ่งเวลาเราพูดถึงความมั่นคงทางอาหาร มันสร้างอาชีพให้คนจำนวนมหาศาลด้วย เวลาพูดถึงเรื่องกระบวนการอาหาร มีคนที่เกี่ยวข้องและสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จำนวนไม่น้อย"

 "คนที่กลับบ้านจำนวนหนึ่งไม่กลับเข้าเมือง เราจะเห็นภาพของคนหนุ่มคนสาวที่กลับจริงจัง กลับไปสร้างระบบการเกษตร เราอยากใช้คำว่ามันเป็นแลนด์สเคป (Landscape) ใหม่ หรือภูมิทัศน์ใหม่ของการจัดการที่ดินในชนบท ที่คนหนุ่มสาวไปทำการผลิตครบวงจร มีการแปรรูป มีการเปิดร้านกาแฟ ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเริ่มไปสร้างเครือข่ายกันในพื้นที่ แล้วมันก็ไปกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ผู้ผลิตมีความตั้งใจและสื่อสารออกมาให้ผู้บริโภคได้รู้จัก ทำให้เส้นทางระหว่างคนกินกับคนปลูกใกล้กันมากขึ้น ซึ่งตรงนี้สำคัญ

คนที่กลับไปบ้านก็จะได้เห็นว่า พอถึงเวลาวิกฤติขึ้นมา เมืองมันไม่ได้ช่วยอะไรคุณเลย พื้นที่ชนบทมีของกินให้คุณกิน ถ้าคุณอยู่กรุงเทพฯ คุณอดตาย แต่ในพื้นที่ชนบท ที่บ้านปลูกข้าว ยังมีผักหัวไร่ปลายนา ยังเก็บหาผักป่า หน่อไม้ป่า ในป่าได้ ห้วยหนองคลองบึง มันยังไม่มีสารเคมีหนัก ยังพอเก็บผัก หาปลา แหล่งน้ำธรรมชาติมีการเลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ไข่ มันก็ยังพอมีอาหารให้กิน อันนี้แหละคือความมั่นคงทางอาหารที่แท้จริง คือคุณต้องสามารถอยู่ใกล้แหล่งผลิตอาหาร"

ปรากฏการณ์แรงงานคืนถิ่นดังที่คุณกิ่งกรเล่ามานี้ เป็นปรากฏการณ์นี้น่าสนใจและน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่า นี่จะเป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-๑๙ ยังไม่คลี่คลาย หรือจะนำไปสู่ทิศทางใหม่ของการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาระบบการผลิตและกระจายอาหารในภาคชนบท และการขยายเครือข่ายผู้ผลิตอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารที่มั่นคงและยั่งยืน รวมไปถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวภาคชนบทที่นำโดยคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ให้ท้องถิ่นชนบทเป็นคำตอบของหมุดหมายการพัฒนาประเทศที่ให้ความสำคัญกับการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างแท้จริง

 

ผู้บริโภคที่มีคุณภาพ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงโลกได้

ผู้บริโภคทั่วไปอาจจะมองเพียงความคุ้มค่าจากการได้บริโภคอาหารที่ดีและปลอดภัยต่อสุขภาพ แต่สำหรับผู้บริโภคที่มีความตระหนักและตื่นรู้ ผู้บริโภคที่มีคุณภาพนั้น พวกเขาจะใส่ใจไปถึงต้นทาง ที่มาของการผลิตอาหารเหล่านั้นด้วย ว่าคนบนเส้นทางของกระบวนการผลิตอาหาร มีความเป็นอยู่อย่างไร ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมหรือไม่ ชีวิตพวกเขาต้องเสี่ยงอันตรายจากการผลิตอาหารให้เรามากน้อยแค่ไหน

คุณกิ่งกร ยกตัวอย่างในระดับสากลที่ผู้บริโภคผู้ตื่นรู้และมีคุณภาพสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตได้ อย่างเช่น ในประเทศอังกฤษ องค์กร Fairtrade [๖] มีการรณรงค์แคมเปญ ‘Bitter Sweet' [๗] ‘ความหวานที่ขมขื่น' ตีแผ่ความจริงของกระบวนการจัดหาโกโก้เพื่อป้อนอุตสาหกรรมช็อกโกแลต เป็นสาเหตุหลักของปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในแอฟริกาตะวันตก และชี้ให้เห็นถึงต้นทุนอันขมขื่นของช็อกโกแลตแท่งแสนอร่อย ที่เกษตรกรผู้ปลูกผลโกโก้ ต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรม การขูดรีดแรงงาน ราคาผลผลิตที่ตกต่ำ นำไปสู่ความยากจน และการตัดไม้ทำลายป่าที่ทำให้ชุมชนเกษตรกรรมต้องถดถอย

"มีการรณรงค์ พอเขาได้รับข้อมูลว่าโกโก้มีที่มาสกปรกมาก สกปรกคือ ในแง่ของการละเมิดสิทธิมนุษยชน การกดขี่แรงงาน หรือการใช้แรงงานเด็กอย่างไม่เป็นธรรม ผู้บริโภคเขาก็จะไม่ซื้อ โกโก้นั้นไม่ได้ขายนะ ช็อกโกแลตนั้นขายไม่ดี

หรืออย่างบริษัทน้ำตาลของไทยที่ไปได้สัมปทานน้ำตาลในประเทศกัมพูชา [๘] แล้วไปทำลายป่า ไล่รื้อที่อยู่ที่ทำกินของชาวเขมรเพื่อผลิตน้ำตาลเอาโควตาภาษีพิเศษส่งขายอียู พอมีกลุ่มที่เคลื่อนไหว ผู้บริโภคเขาก็แบนน้ำตาลจากเขมร ไม่ซื้อ ถ้าสินค้านั้นไม่มีแท็ก ไม่มีการรับรองว่า ‘น้ำตาลนี้ไม่ได้มาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน' เขามีความตื่นตัวว่าเรื่องพวกนี้สำคัญ การกินของเขามีส่วนช่วยให้มนุษย์คนอื่นดีขึ้น ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

คุณนึกดู คุณอยากเห็นอะไร อยากได้รับอาหารดีที่มีประโยชน์ ที่มีความปลอดภัย ที่ไม่ทำให้เกิดโรค ในราคาที่เหมาะสมใช่ไหม เราต้องคิดด้วยว่าเกษตรกรที่ผลิต ผู้ประกอบการที่ค้าขายก็ควรจะมีกำไรพอสมควรพอให้เขาเลี้ยงชีวิตได้ นี่คือเส้นทางของอาหารที่เป็นธรรม"

ในขณะที่ในประเทศไทย เมื่อถามว่า ผู้บริโภคคนไทยตื่นตัวและตระหนักจนเป็นสำนึกใหม่ในสังคมแล้วหรือยัง คุณกิ่งกรตอบชัดว่า "ประเทศไทยนี่ระดับของความกังวลของประชาชนไทยยังอยู่แค่ตัวเอง คืออยากกินอาหารที่ปลอดภัย แต่ถ้าเชื่อมโยงไปสิ่งแวดล้อม ก็ไกลไปแล้ว ถ้าเชื่อมโยงไปเรื่องชาวนาเป็นหนี้เป็นสิน ยิ่งไกลหนักเข้าไปใหญ่"

คุณกิ่งกร ยังชี้ให้เห็นว่าการสร้างระบบอาหารที่ดีมีคุณภาพ และการกระจายให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน เพราะเราทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึงอาหารที่ดี ปลอดภัย มีคุณภาพ ในราคาที่เป็นธรรม และที่สำคัญต้องไปแก้ที่ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบอุตสาหกรรมอาหารที่ถูกครอบงำโดยธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอำนาจเหนือรัฐด้วย

"เพราะคนไม่ว่าจะยากดีมีจน ควรจะมีสิทธิเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสม แต่ตั้งแต่เห็นมา ยังไม่มีรัฐบาลไหนทำได้ มันเป็นปัญหาที่ต้องรื้อเชิงโครงสร้างที่ไปส่งเสริมระบบการผลิตที่ไม่ยั่งยืนมากเกินไป ที่ไปพึ่งพาปุ๋ย ยา เมล็ดพันธุ์ ที่มีราคาแพง มากเกินไป เพราะเป็นผลประโยชน์ของบริษัทที่มีอำนาจเหนือรัฐ ก็ยังอยู่กันไปแบบนี้ โดยโครงสร้างมันก็ยังแน่นมาก แก้ยาก เพราะฉะนั้น มีเงินน้อยเงินมากตอนนี้ก็พังจากเรื่องอาหาร คุณไม่สามารถเข้าถึงอาหารดีๆ ได้เพราะว่าเราไม่ช่วยกันคิดที่จะมาขยับปัญหาในเชิงโครงสร้าง รอดได้น้อยหนึ่ง แต่อาจไม่รอดในระยะยาว เราอาจจะรอดได้ชั่วคราว แต่ลูกหลานเราอาจไม่รอด สรุปว่ายังไปได้ไม่ค่อยดีนักเพราะว่าเรายังขาดการเชื่อมโยงให้เห็นว่าปัญหานี้เป็นปัญหาระดับระบบโลกเลย"

"คนต้องเริ่มตระหนักเรื่องแบบนี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของอาหารการกินกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ ไม่ใช่ไปกินแล้วสร้างความร่ำรวยให้คนไม่กี่กลุ่ม เราควรจะกินเพื่อให้เกิดการกระจายความมั่งคั่ง หรือเกิดการทำนุบำรุงสิ่งแวดล้อม ทำให้โลกอุดมสมบูรณ์ขึ้น เราควรจะปรับการผลิตที่มันดีต่อโลก อาหารที่ผลิตมาโดยกระบวนการที่ไม่หักคอธรรมชาติจนเกินไป ไม่อัดปุ๋ยอัดยาเกินไป แล้วที่สำคัญ อาหารก็มีคุณภาพ มีโภชนาการ และทำให้ร่างกายเราแข็งแรง คือมันดีต่อเราโดยทางตรงเลย อันนี้เป็นบทบาทของผู้บริโภคที่ทำได้ เราอยากเห็นผู้บริโภคทำแบบนี้มากขึ้น แล้วเราก็เชื่อด้วยว่ามันจะเป็นหลักประกันให้เรายามวิกฤติ"

ในฐานะที่ ‘กินเปลี่ยนโลก' พยายามขับเคลื่อนกิจกรรมและการรณรงค์เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่า ผู้บริโภคสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ สำหรับในประเทศไทยเอง คุณกิ่งกร มองอย่างมีความหวังว่า การสร้างผู้บริโภคที่มีคุณภาพต้องเริ่มจากปัจเจกบุคคล หรือประชาชนคนเล็กๆ ที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากตนเองก่อน ให้เป็นผู้บริโภคที่มีความรู้ มีคุณภาพ จึงจะไปกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงนโยบาย และไปกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตลาด หมายถึงผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะรายเล็กรายใหญ่

"สร้างตัวเราให้เป็นผู้บริโภคที่มีความรู้ ช่างเลือก ช่างถาม เลือกสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย ผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่ผลิตรักษาความหลากหลาย ไม่ทำลายสุขภาพคนกิน คนปลูก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างทางเลือกให้กับตัวเอง ด้วยการมีส่วนร่วมในการกำหนดระบบอาหารที่เราพึงปรารถนาเป็นผู้บริโภคที่ตื่นตัว ส่งเสียงบอกผู้ประกอบการ บอกรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อเสนอแนะ ข้อเรียกร้องให้รู้ว่าเราจับตาดูอยู่"

และท้ายสุด สำหรับคนที่ทำงานเรื่องนี้มายาวนาน เมื่อถามคุณกิ่งกรถึงความมุ่งหวังหรือเป้าหมายสูงสุดของการทำงานขับเคลื่อน ‘กินเปลี่ยนโลก' และนี่คือคำตอบ

"คือปลายทางเราอยากเห็นระบบอาหารที่ดีที่ทุกคนได้ประโยชน์ สิ่งแวดล้อมได้ประโยชน์ ส่วนแบ่งในห่วงโซ่อุปทานมีความเท่าเทียม มีความเป็นธรรมบ้าง ไม่ใช่อยู่กับคนรวย ส่วนเกษตรกรก็เป็นหนี้อยู่นั่น แล้วไม่อยากให้ลูกหลานมาทำ ก็ต้องเปลี่ยนการกิน เปลี่ยนความรู้ เปลี่ยนความเชื่อ นี่แหละมันถึงจะไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบใหญ่ ซึ่งอันนี้คือความฝันสูงสุด เราอยากเห็นระบบอาหารที่มีความมั่นคง ยั่งยืน มีความปลอดภัย มีความเป็นธรรม ดีต่อสิ่งแวดล้อม สร้างประโยชน์ต่อทุกคน มันจะเกิดขึ้นได้ เราอยากเห็นขบวนการผู้บริโภคที่เข้มแข็ง ตื่นรู้ ตื่นตัว ค้นคว้า ตั้งคำถาม ตรวจสอบ และเข้ามามีส่วนในการสร้าง ในการกำหนดระบบอาหารที่พึงปรารถนา กำหนดทางเลือกในการกินของเราได้ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เราอยากเห็น"

เพราะสิทธิในอาหาร เป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคนที่จะมีความมั่นคงทางอาหาร รอดพ้นจากความอดอยาก และในภาวะวิกฤติต่างๆ ทุกคนมีสิทธิ มีบทบาทหน้าที่ในการเข้าถึงและได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม เพียงกลับมาตระหนักว่า สิทธิในการเลือกกิน สิทธิในการเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เป็นสิ่งที่เราทุกคนควรได้รับ และช่วยกันรณรงค์ให้เกิดทางเลือกใหม่ด้านอาหารปลอดภัย กลับมาสู่คุณค่าที่แท้ของอาหาร เพราะผู้บริโภคที่ตื่นตัว ตื่นรู้ เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตอาหาร และด้วยวิถีการกินอย่างตื่นรู้และมีสำนึกรับผิดชอบของเราเท่านั้น จึงสามารถสร้างโลกที่เท่าเทียมและเป็นธรรมได้



[๑] เพจ ผู้บริโภคที่รัก www.facebook.com/DearConsumers

[๒] #ตลาดสด #สดเซียนลึกแคร์ food4change www.facebook.com/food4change, ๑๔ กันยายน ๒๕๖๔

[๓] โครงการสวนผักคนเมือง โดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) www.thaicityfarm.com

[๔] พื้นที่กันชน หมายถึง พื้นที่โดยรอบหรือติดกับพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งอาจเป็นชุมชน หรือพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในท้องถิ่นที่คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

[๕] นายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน

[๖] Fairtrade แฟร์เทรด คือ ขบวนการส่งเสริมการพัฒนาระบบการค้าที่เป็นธรรมยั่งยืน โดยนำเสนอเงื่อนไขที่ดีกว่าให้แก่ ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค รวมทั้งแรงงาน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่ผลิตสินค้าทั้งใช้เองในประเทศและส่งออกให้ได้รับความเป็นธรรมในราคาสินค้า

[๗] Fairtrade เปิดตัวแคมเปญระดับโลก ‘Bitter Sweet' เพื่ออนาคตที่เป็นธรรมสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้, ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ที่มา: www.ryt9.com/s/anpi/3236211

[๘] มิตรผล ชาวบ้านกัมพูชา ๗๐๐ ครัวเรือน ฟ้องเรียกค่าเสียหายถูกไล่รื้อ ยึดที่ทำกินเป็นไร่อ้อย, ๒ เมษายน ๒๕๖๒ ที่มา: www.bbc.com/thai/thailand-43615768

 


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >