หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 71 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


โควิด : สิ่งทำลายความฝัน ลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และพรากชีวิต พิมพ์
Thursday, 23 September 2021

Image


วารสารผู้ไถ่
ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๑๑๖ พ.ค. - ส.ค. ๒๕๖๔

 

โควิด : สิ่งทำลายความฝัน
ลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และพรากชีวิต
[๑]

โดย สนธยา ตั้วสูงเนิน


 

Image

๒ ธันวาคม ๒๕๖๒ คือ วันที่พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด - ๑๙ รายแรกของโลก และวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๓ คือ วันที่มีการพบผู้ติดเชื้อโควิด - ๑๙ ครั้งแรกในประเทศไทย เป็นสัญญาณการเริ่มต้นของการเกิดโรคระบาด นำมาสู่การเกิดคลัสเตอร์โควิด[๒] ใหญ่ๆ ที่เป็นที่มาของการระบาดของโควิด - ๑๙ ทั้ง ๔ ระลอก ในประเทศไทย ดังนี้

ระลอกที่ ๑ คือ กลุ่มสนามมวยลุมพินีและกลุ่มผู้เที่ยวสถานบันเทิงในช่วงเดือนมีนาคม ๒๕๖๓ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายเชื้อโควิดในวงกว้าง เนื่องจากผู้เข้าชมการแข่งขันส่วนใหญ่เดินทางมาจากหลายจังหวัดและนำเชื้อกลับไปกระจายตามพื้นที่จังหวัดต่างๆ

ระลอกที่ ๒ คือ กลุ่มที่ตลาดกลางกุ้ง ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๖๓

ระลอกที่ ๓ คือ กลุ่มผู้เที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อ เดือนเมษายน ๒๕๖๔ และอีกหลายคลัสเตอร์ที่ทยอยเกิดขึ้นอย่างไม่มีวี่แววว่าจะจบลงง่ายๆ

ระลอกที่ ๔ คือ พบการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่สามารถติดต่อง่าย ขยายวงกว้างเร็ว ทำให้ปอดอักเสบ ยากต่อการควบคุม และไม่สามารถระบุที่มาได้ว่าติดมาจากที่ใด โดยจะขยายได้รวดเร็วในกลุ่มสังคมที่ทำงาน ในชุมชน ในครอบครัว

 

โควิด : ภาวะหมดไฟ สูญเสียความฝัน

ในช่วงเวลาเกือบ ๒ ปี โควิดก่อให้เกิดผลกระทบมากมายต่อชีวิตของผู้คนทั่วโลก ทำให้ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถเอาตัวรอดจากการติดเชื้อ และเร่งพัฒนายาเพื่อรักษาโรคนี้ รวมถึงรัฐบาลไทยเองก็มีความพยายามในการหาแนวทางจัดการกับโควิด ทั้งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและมีคำสั่งขอความร่วมมือจากประชาชนให้งดเดินทางออกนอกเคหะสถานหากไม่มีความจำเป็นตามช่วงเวลาที่กำหนด เป็นการชะลอการทำกิจกรรมของประชาชนในทุกภาคส่วน เพื่อลดการแพร่กระจายของโควิด ที่มีการขยายเวลาบังคับใช้เป็นครั้งที่๑๓[๓] แล้ว รวมถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อเป็นแนวทางการป้องกันตนเอง การจัดหาจัดซื้อวัคซีน เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประชาชน

แม้จะมีวัคซีนที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาในประเทศแล้วถึง ๖ รายการ [๔] แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย ทำให้การจัดหาและกระจายวัคซีนสำหรับประชาชนยังใช้เพียงแค่ ๓ รายการเท่านั้น [๕] ปัจจุบันมีอัตราผู้ได้ฉีดวัคซีนครบทั้ง ๒ โดส แล้วประมาณ ๖%[๖] ซึ่งนับเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรในประเทศ เนื่องจากการจัดการวัคซีนไม่เป็นไปตามแผนที่รัฐบาลได้วางไว้

ยิ่งเวลาทอดยาวมากเท่าไหร่ โควิดยิ่งทำให้ผู้คนหมดไฟ สูญเสียความฝัน ผู้คนต่างเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้าในการใช้ชีวิต เพราะโควิดนำมาซึ่งการสูญเสียโอกาสต่างๆ ของใครหลายคน ที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาของการเจริญก้าวหน้าในชีวิต หรือชีวิตกำลังถึงช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่น การเรียนต่อ การทำงาน การเดินทาง หรือการวางแผนอนาคตทั้งในและต่างประเทศ โควิดจึงเป็นสิ่งที่ขัดขวางการใช้ชีวิต ขัดขวางโอกาสการทำมาหากินและการสร้างรายได้ในอนาคตของพวกเขาเหล่านั้น รวมถึงผลกระทบทางด้านสภาพจิตใจจากการรับแรงกดดันต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านี้ทำให้ความฝันของหลายคนต้องหยุดชะงักลง หรือเลวร้ายที่สุดคือ บางคนอาจต้องยอมทิ้งความฝันของตัวเองไป

 

โควิด : การลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

การมีอยู่ของโควิดทำให้ภาพของการลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ชัดเจนขึ้น ประเทศไทยได้มีการประกาศว่าโควิด - ๑๙ เป็นโรคติดต่ออันตราย[๗] ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดการดูแลประชาชนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและมีสุขภาพที่ดี เพราะรัฐต้องทำให้การรับรองสิทธิด้านสุขภาพของประชาชนทุกคนเป็นจริง ประชาชนทุกคนต้องได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลและการบริการทางสาธารณสุขที่ดี ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๔๗ ว่า

"บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ
บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ
บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย"

หมายความว่า ประชาชนชาวไทยมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขของรัฐ ผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษา ได้รับบริการสาธารณสุขด้านอื่นๆ จากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อเกิดโรคระบาดร้ายแรงหรือโรคติดต่ออันตราย ประชาชนชาวไทยมีสิทธิได้รับการป้องกันและกำจัดโรคโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

แม้จะมีการกำหนดเอาไว้โดยชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ แต่ภาระความรับผิดชอบเหล่านี้กลับถูกผลักให้ประชาชนต้องแบกรับความเสี่ยงต่างๆ ต้องช่วยเหลือกันเองแบบภาคบังคับ ด้วยการพยายามดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือกันเองมาโดยตลอด เพื่อลดหรือป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับผิดชอบค่าตรวจคัดกรองโควิดโดยมีค่าใช้จ่าย ราคาตั้งแต่ ๑,๕๐๐ - ๑๐,๐๐๐ บาท[๘], การรวมน้ำใจบริจาคสิ่งของหรือเงินเพื่อซื้อของหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์[๙] นับตั้งแต่การแพร่ระบาดช่วงแรกจนถึงปัจจุบัน, การสร้างโรงพยาบาลสนามของประชาชน ที่ทนเห็นภาพผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตไม่ไหว[๑๐], การจ่ายเงินเพื่อซื้อวัคซีนทางเลือก[๑๑] ทั้งที่ประชาชนควรได้ฉีดวัคซีนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และได้นำเงินค่าวัคซีนมาใช้สำหรับการดำรงชีวิต, การตั้งกลุ่มอาสาเพื่อช่วยเหลือ จัดหาเตียง การนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล, การจัดทำศูนย์พักคอย (Community Isolation) สำหรับผู้ป่วยโควิด เพื่อรับผู้ป่วยติดเชื้อให้มาพักรักษาตัวแยกออกมาจากครอบครัว ระหว่างรอส่งต่อรักษาในโรงพยาบาล[๑๒], รวมถึงการไม่มีทางเลือกของผู้ป่วยหลังจากที่ติดโควิด - ๑๙ แล้ว ที่บีบให้ประชาชนต้องยอมลดตัวตน ลดคุณภาพชีวิตของตัวเองลง  เพราะไม่ต้องการแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่น เช่นกรณีของหญิงรายหนึ่งที่ติดโควิด แต่ต้องนำมุ้งออกมากางนอนข้างถนน เพราะกังวลว่าตัวเองจะเป็นผู้แพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่นๆ ในครอบครัว เพราะที่พักอาศัยของตนไม่สะดวกแก่การใช้กักตัว[๑๓] ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ควรตกเป็นภาระความรับผิดชอบของประชาชนหรือไม่

รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในฐานะผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย จัดสรรงบประมาณ และดำเนินการเพื่อดูแลประชาชนให้ได้รับประโยชน์สูงสุด จึงควรเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการเตรียมการต่างๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิดนี้ แต่ตลอดระยะเวลาที่เกิดการระบาดของโรคโควิด - ๑๙ มาจนถึงปัจจุบัน เราพบกับระบบการจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ ล่าช้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการโรคโควิด - ๑๙ หลายภาคส่วนทำงานไม่สอดคล้องกัน สร้างความสับสน และทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น สะท้อนถึงการไม่เห็นความสำคัญของประชาชน โดยเห็นภาพชัดได้จากปัญหาใหญ่ๆ เหล่านี้

๑.) กรณีการไม่มีเตียงรองรับที่เพียงพอและรวดเร็วสำหรับผู้ป่วย เห็นได้ชัดจากการระบาดระลอกที่ ๓ ที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีปัญหาไม่มีเตียงเพียงพอเพื่อการรองรับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ล่าช้า การติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างยากลำบาก หลายคนต้องรอข้ามวัน กว่าจะมีสถานที่รับตัวเพื่อการรักษา จนบางคนกลายสถานะมาเป็นผู้แพร่เชื้อให้กับบุคคลใกล้ตัว แม้จะมีการเร่งสร้างโรงพยาบาลสนามและ Hospitel ขึ้นมาเพิ่มเติมหลายแห่งเพื่อรองรับผู้ป่วยแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องผู้ป่วยไม่ได้เตียงรักษาเกิดขึ้นเรื่อยๆ

ตัวอย่างเช่น กรณีของชายคนหนึ่งที่ติดโควิด ได้ทำการติดต่อโรงพยาบาลแต่โรงพยาบาลไม่รับรักษา ต้องรอเตียงนานถึง ๑๐ วัน จนทำให้คนในครอบครัวทั้งหมดติดเชื้อไปด้วย [๑๔] จนเกิดเสียงสะท้อนจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เตียงสำหรับการรักษาผู้ป่วยมีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับการรองรับผู้ป่วยแล้ว  จนบางโรงพยาบาลออกประกาศว่ามีความจำเป็นต้องปิดรับการตรวจคัดกรองโควิด-๑๙ ชั่วคราว [๑๕] โดยเร่งรักษาผู้ป่วยเก่าเพื่อระบายเตียงสำหรับผู้ป่วยใหม่ในแต่ละวัน จนนำมาสู่การกำหนดแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด - ๑๙ ที่บ้าน (Home Isolation) [๑๖] และการจัดตั้งศูนย์พักคอยโควิด (Community Isolation) [๑๗] สำหรับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการไม่หนักมากหรือกลุ่มที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจนอาการดีขึ้น ให้สามารถพักรักษาตัวได้เอง โดยสามารถแยกตัวออกมาจากครอบครัวเพื่อทำการรักษา เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานง่ายขึ้น และสามารถให้การดูแลรักษากลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้อย่างเต็มที่มากขึ้น แต่การรักษาตัวที่บ้านหรือในศูนย์พักคอยก็ยังประสบปัญหา เนื่องจากผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็วและไม่ได้รับยาต้านไวรัสที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดความรุนแรงจากโรคโควิด - ๑๙ ได้ในทันที [๑๘]

ยาฟาวิพิราเวียร์ [๑๙] ถูกพูดถึงในฐานะยารักษาโรคโควิด - ๑๙ เนื่องจากยานี้เป็นยาที่ช่วยลดอาการรุนแรงของโรคโควิด - ๑๙ ได้ แต่ยาฟาวิพิราเวียร์ก็จัดอยู่ในยาอันตรายและส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ การได้รับยาฟาวิพิราเวียร์จึงต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ดังนั้น สิ่งนี้จึงกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดลงเร็วขึ้น เนื่องจากการจ่ายยาที่มีความล่าช้าจนเกินไป แม้ต่อมาภายหลังกระทรวงสาธารณะสุขได้มีการปรับปรุงแนวทางการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้รวดเร็วขึ้น[๒๐] ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เพี่อป้องกันการทรุดหนัก แต่ก็ดูเหมือนว่าสถานการณ์ก็ยังคงน่าเป็นห่วง โดยทางโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ได้ออกมาให้ความเห็นถึงสถานการณ์ยาฟาวิพิราเวียร์[๒๑] ว่าแม้จะปรับการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้เร็วขึ้นตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณะสุขกำหนด แต่หากจำนวนผู้ติดเชื้อในเดือนสิงหาคมซึ่งนับเป็นช่วงที่รุนแรงที่สุดตามทฤษฎีระบาดวิทยายังพุ่งสูงวันละกว่า ๒๐,๐๐๐ คนอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เฉลี่ยเดือนละ ๑ ล้านเม็ด ซึ่งศักยภาพในการผลิตยาของสภาเภสัชกรรมอยู่ที่ ๒ - ๔ ล้านเม็ดต่อเดือน หากรัฐบาลไม่รีบดำเนินการให้เอกชนที่มีความสามารถในการผลิตยาเข้ามาช่วยสภาเภสัชกรรมผลิตยาเพิ่ม ก็เป็นที่น่ากังวลว่าในอนาคตจะเกิดการขาดยาฟาวิพิราเวียร์อย่างแน่นอน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นภาพที่สะท้อนว่ารัฐไม่ได้มีความพร้อมในการวางแผนการรับมือกับโรคโควิด - ๑๙ ให้สอดคล้องและสะดวกต่อการทำงานของผู้ที่เป็นบุคลากรหน้าด่านเลย

๒.) กรณีการจัดสรรวัคซีนที่ล่าช้าและมีจำนวนน้อย ขั้นตอนการขอรับวัคซีนที่ยุ่งยากซับซ้อน และการกระจายวัคซีนไม่เป็นไปตามกำหนด จนโรงพยาบาลหลายแห่งต้องประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีน สร้างความสับสนให้แก่ประชาชน ทำให้หมอ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังต้องคอยรับหน้ากลายเป็นบุคคลหน้าด่าน ที่ต้องคอยตอบคำถามและรับแรงกดดันจากประชาชน เนื่องจากประชาชนทำการลงทะเบียนเพื่อรอรับวัคซีนตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนดไว้ทุกประการ แต่เมื่อถึงเวลา กลับไม่มีวัคซีนสำหรับประชาชน หลายคนถูกเลื่อนวันนัดฉีดวัคซีนออกไป หลายคนที่ต้องการลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีนก็ไม่สามารถลงทะเบียนได้ เนื่องจากระบบลงทะเบียนมีปัญหา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีความเสี่ยง หรือผู้ที่มีความจำเป็นต้องรับวัคซีนก่อน อย่างกลุ่มผู้สูงอายุหรือกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว ๗ กลุ่มเสี่ยง การทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่เอื้อให้ได้รับการบริการที่ดี ซ้ำร้ายในสถานการณ์ที่กำลังยากลำบากของประชาชนเช่นนี้ ยังมีคนบางกลุ่มที่ฉกฉวยโอกาสบนความยากลำบากของผู้อื่นโดยทำการแฮกเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเพื่อลงทะเบียนฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจัดสรรให้ และนำสิทธิการฉีดวัคซีนมาขายต่อให้กับประชาชน[๒๒] สิ่งเหล่านี้นับเป็นการที่ประชาชนถูกละเมิดสิทธิที่ควรจะได้รับตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญโดยมีรัฐเป็นผู้กระทำการละเมิด    

 

โควิด : พรากชีวิต การสูญเสียโดยไม่ได้ร่ำลา

ความตาย คือ การสูญเสียที่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้คนอย่างถึงที่สุด เพราะนั่นหมายถึงการที่จะมีคนหายไปจากชีวิตของเราตลอดกาล หลายคนโชคดีที่ยังมีโอกาสได้ร่ำลา แต่กับบางคนโควิดทำให้เขาต้องจากไปอย่างเดียวดายโดยไม่ทันได้รู้ตัว หลายครอบครัวถูกโควิดพรากชีวิตของคนที่รักโดยที่ยังไม่มีแม้โอกาสได้พูดจาร่ำลากัน แม้กระทั่งหลังความตายก็ยังไม่สามารถจัดพิธีศพให้กับบุคคลที่รักได้ ตัวอย่างเช่น กรณีคุณป้าท่านหนึ่งที่ได้รับการช่วยเหลือจากอาสาสมัครจากชุมชนคลองเตย นำเครื่องออกซิเจนไปติดตั้งให้ที่บ้านระหว่างที่รอเตียง หลังจากที่สามีของคุณป้าเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลไปก่อนหน้าแล้ว และในเวลาต่อมา สามีของคุณป้าก็เสียชีวิต[๒๓] แม้ตอนนี้คุณป้าจะได้เตียงแล้ว แต่การสูญเสียคู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกันมานาน ถือเป็นความเจ็บปวดและสร้างความโดดเดี่ยวให้กับคุณป้าไม่น้อย  หรือกรณีคุณแม่วัย ๗๘ ปี และลูกชายที่เป็นโปลิโอวัย ๕๑ ปี ที่ป่วยเป็นโควิด ต่อมาคุณแม่เสียชีวิต โดยที่ลูกชายยังคงนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลและไม่ทราบว่าคุณแม่เสียชีวิตแล้ว[๒๔]  ซึ่งหลังจากนี้เขาต้องใช้ชีวิตโดยปราศจากแม่ คนที่คอยดูแลเขาอย่างดีตลอดมา รวมถึงเหตุการณ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏตามหน้าสื่อที่เกิดขึ้นรายวัน

นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากโควิด จนต้องสูญเสียหน้าที่การงาน สูญเสียรายได้ หมดหนทางชีวิต จนไม่สามารถแบกรับเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นผลพวงจากสถานการณ์โควิดได้ ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายอีกเป็นจำนวนมาก สิ่งนี้นำมาซึ่งความโศกเศร้าเพราะทุกชีวิตที่สูญเสียล้วนเป็นบุคคลที่รักของคนใกล้ชิด บางคนอาจเป็นเสาหลักของครอบครัว บางคนอาจเป็นคนที่สร้างคุณประโยชน์สำหรับผู้อื่นและสังคมได้อีกมากมาย แต่การบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาลยิ่งเป็นแรงผลักให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

หลายคนอาจจะบอกว่าโชคดีแล้วที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยหากเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตในต่างประเทศ แต่ไม่สมควรมีใครต้องตายเพราะการบริหารจัดการโควิดที่ไม่ดีจากรัฐบาล เพราะรัฐบาลไทยมีเวลาในการรับมือและจัดการโควิดนานร่วมปี นับจากการระบาดช่วงแรก ที่สถานการณ์ถือว่าไม่ได้มีความรุนแรงมาก และมีทีท่าว่าจะดีขึ้นแล้ว จึงถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการถอดบทเรียน  และวางแผนรับมือเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติหรือกำหนดแนวทางที่จะทำให้สถานการณ์โควิดในประเทศดีขึ้นในเร็ววันได้ แต่เมื่อเกิดการระบาดระลอกที่ ๓ ที่สถานการณ์มีความรุนแรงมากกว่า ๒ ครั้งที่ผ่านมา จึงพบว่ารัฐบาลไม่ได้มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้เลย

ที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามหลอกตัวเองและประชาชนตลอดเวลาว่าโรคโควิด - ๑๙ ไม่มีความรุนแรง สามารถควบคุมจัดการได้ ปกปิดข้อมูลสำคัญที่ประชาชนควรรับรู้ การให้ข่าวหรือข้อมูลที่ไม่ชัดเจน สร้างความสับสนให้แก่ประชาชน ชีวิตประชาชนถูกละเลย ไม่ได้รับความใส่ใจ โดยเฉพาะหลังการระบาดระลอกที่ ๓ ที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ คน ยอดผู้เสียชีวิตเฉลี่ยประมาณ ๓๐ - ๔๐ คนต่อวัน ในช่วงเวลา ๓ เดือน (เดือนเมษายน - เดือนมิถุนายน ๒๕๖๔)  ก่อนจะพุ่งสูงขึ้นเป็นยอดผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ ๑๒,๐๐๐ กว่าราย และเสียชีวิตเฉลี่ยวันละร้อยรายในช่วงเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคมช่วงต้น[๒๕] ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติในแต่ละวัน ให้ประชาชนรู้สึกชินกับคำประกาศสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายวัน ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีความสามารถในการจัดการดูแลให้ดีกว่านี้ได้ ซ้ำร้าย การฉีดวัคซีนที่นับเป็นหนทางเดียวที่เป็นความหวังว่าจะทำให้สถานการณ์โควิดดีขึ้น ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ และแนวโน้มสถานการณ์โควิดหลังจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี ๒๕๖๔ อาจรุนแรงกว่าช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพราะถือเป็นการเข้าสู่ช่วงที่เป็นจุดสูงสุดของการระบาด[๒๖]  ยิ่งเวลาถูกทอดยาวออกไปมากเท่าไหร่ ความเสี่ยงยิ่งตกอยู่กับประชาชนมากเท่านั้น

กี่ความฝันที่ต้องดับลง กี่ชีวิตที่ถูกพรากไป กว่าจะถึงวันที่สถานการณ์โควิด - ๑๙ ดีขึ้น หลายคนอาจหมดแรงและล้มหายไปจากการเดินทางเสียก่อน

 



[๑] บทความนี้เขียนขึ้นในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔  และติดตามอัปเดตข้อมูลเพิ่มเติมในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมในช่วงต้น เนื้อหาส่วนใหญ่ถูกเขียนขึ้นโดยอิงจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคม ๒๕๖๔ แต่ด้วยสถานการณ์โควิดเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแต่ละวัน  เมื่อบทความนี้ถูกตีพิมพ์แล้ว เนื้อหาบางส่วนอาจไม่ตรงกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะที่ผู้อ่านกำลังอ่านบทความนี้

[๒] คลัสเตอร์โควิด (Cluster Covid) ใช้เรียกกรณีตรวจพบผู้ติดโควิด - ๑๙ ตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปในรอบ ๑๔ วัน ที่มาจากแหล่งเดียวกันและอาจมีช่วงเวลาสัมผัสใกล้กัน แต่อาจไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าต้นทางเชื้อมาจากที่ใด ผู้ติดเชื้อแต่ละคนติดเชื้อจากคนไหน เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะสัมผัสรับเชื้อจากคนอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน และจะถือว่าคลัสเตอร์นั้นๆ ถึงจุดสิ้นสุดเมื่อไม่พบผู้ติดเชื้อนานกว่า ๑๔ วัน

[๓] การประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ ซึ่งมีการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ไปแล้วทั้งหมด ๑๓ ครั้ง โดยขยายครั้งที่ ๑๓ ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔

[๔] ประชาชาติธุรกิจ. (๒๕๖๔). ไฟเซอร์ อย. อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนแล้ว. แหล่งที่มา : https://www.prachachat.net. สืบค้นเมื่อ  ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔

[๕] ช่วงเวลาที่ทำการเขียนบทความนี้ในเดือนมิถุนายน - สิงหาคม รัฐบาลมีวัคซีนที่จัดสรรไว้สำหรับประชาชนเพียงแค่ ๒ รายการ และวัคซีนจากการจัดสรรของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อีก ๑ รายการ รวมเป็น ๓ รายการ และรัฐบาลก็มีความพยายามในการจัดหาวัคซีนรายการอื่นๆ เข้ามาในอนาคต ซึ่งในวันที่บทความนี้ได้ทำการเผยแพร่แล้ว อาจมีวัคซีนรายการอื่นๆ เป็นทางเลือกให้กับประชาชนเพิ่มมากขึ้น

[๖] Google News. (๒๕๖๔). ภาพรวมการฉีดวัคซีนทั่วโลกและในประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๔. แหล่งที่มา : https://news.google.com. สืบค้นเมื่อ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๔

[๗] ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข. (๒๕๖๓). เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่๓).  แหล่งที่มา  : http://www.ratchakitcha.soc.go.th. สืบค้นเมื่อ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๔

[๘] KTC. (๒๕๖๔). อัปเดต ค่าตรวจโควิด ๒๕๖๔ โรงพยาบาลรัฐและเอกชน ราคาเท่าไหร่. แหล่งที่มา : https://www.ktc.co.th/. สืบค้นเมื่อ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๔

[๙] WorkpointTODAY. (๒๕๖๔). รวมโครงการ บริจาคช่วยเหลือผู้คนในวิกฤตโควิด-๑๙. แหล่งที่มา : https://workpointtoday.com/. สืบค้นเมื่อ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๔

[๑๐] BRIGHT TODAY. (๒๕๖๔). นารา เครปกะเทย เนรมิตโรงงานร้าง สร้างโรงพยาบาลสนาม ลั่น! ถ้าไม่ทำเดี๋ยวทำเอง. แหล่งที่มา : https://www.brighttv.co.th. สืบค้นเมื่อ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๔

[๑๑] ประชาชาติธุรกิจ. (๒๕๖๔). ราคาวัคซีนโมเดอร์นา เทียบค่าแรงขั้นต่ำคนไทย ซื้ออะไรได้บ้าง ?. แหล่งที่มา : https://www.prachachat.net. สืบค้นเมื่อ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔

[๑๒] ผู้จัดการออนไลน์. (๒๕๖๔). "ตัน อิชิตัน" เปิดภาพ "ศูนย์พักคอยตันปัน" เพื่อช่วยผู้ป่วยโควิด ด้านครอบครัวเผยเป็นห่วงแต่ภูมิใจที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม. แหล่งที่มา : https://mgronline.com. สืบค้นเมื่อ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๔

[๑๓] เส้นด้าย - Zendai. (๒๕๖๔). แหล่งที่มา:  https://www.facebook.com/zendai.org. สืบค้นเมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔

[๑๔] PPTV Online. (๒๕๖๔). เปิดใจครอบครัวติดโควิด-๑๙ รพ.ไม่รับรักษา จากคนเดียวลามติดทั้งบ้าน ๖ ชีวิต. แหล่งที่มา : https://www.pptvhd36.com. สืบค้นเมื่อ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๔

[๑๕] กรุงเทพธุรกิจ. (๒๕๖๔). วิกฤติ 'โควิด-๑๙' ป่วยหนักล้น รพ.ปิดรับ ‘ไอซียูเต็มขยายไม่ได้'. แหล่งที่มา : https://www.bangkokbiznews.com. สืบค้นเมื่อ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔

[๑๖] ประชาชาติธุรกิจ. (๒๕๖๔). สธ.เตรียมพัฒนาเทคโนโลยี รองรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวรักษาที่บ้าน. แหล่งที่มา: https://www.prachachat.net. สืบค้นเมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔

[๑๗] ไทยรัฐ. (๒๕๖๔). แนวทางจัดตั้ง "ศูนย์พักคอย" หวังลดผู้ป่วยโควิดตกค้าง รอส่งต่อไป รพ. แหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/news. สืบค้นเมื่อ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔

[๑๘] ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Akanis Srisukwattana. (๒๕๖๔). จากหมออาสา ทำ Home Isolation คนหนึ่ง. แหล่งที่มา : https://www.facebook.com. สืบค้นเมื่อ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔

[๑๙] คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. (๒๕๖๔). รู้จักกับ "ยาฟาวิพิราเวียร์". แหล่งที่มา : https://www.rama.mahidol.ac.th. สืบค้นเมื่อ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔

[๒๐] คณะทำงานด้านการรักษาพยาบาลและการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ. (๒๕๖๔). เอกสารแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือโควิด (COVID-19) ฉบับปรับปรุงวันที่ ๒๑ ก.ค. ๒๕๖๔  สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข. แหล่งที่มา : https://covid19.dms.go.th. สืบค้นเมื่อ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔

[๒๑] เพจเฟซบุ๊กโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ (๒๕๖๔). แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ยาฟาวิพิราเวียร์ต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด - ๑๙. แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/TUFHforCOVID19. สืบค้นเมื่อ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔

[๒๒] ไทยรัฐ. (๒๕๖๔). แฉฉ้อโกง ขายสิทธิฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ จัดระเบียบใหม่ ให้ยืนตามจุด. แหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th. สืบค้นเมื่อ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔

[๒๓] ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Ard Krab (อาสาสมัครทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดจากชุมชนคลองเตย).  (๒๕๖๔). กรณีให้การช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดที่กำลังรอเตียง. แหล่งที่มา : https://www.facebook.com. สืบค้นเมื่อ ๕ สิงหาคม  ๒๕๖๔

[๒๔] เส้นด้าย - Zendai. (๒๕๖๔). กรณีคุณแม่วัย ๗๘ ปี และลูกชายที่เป็นโปลิโอวัย ๕๑ ปี ที่ป่วยเป็นโควิด. แหล่งที่มา :  https://www.facebook.com และ https://www.facebook.com. สืบค้นเมื่อ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔

[๒๕] จำนวนตัวเลขเป็นค่าเฉลี่ยจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม - ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔

[๒๖] PPTV36HD. (๒๕๖๔). แบบจำลองคาดการณ์สถานการณ์โควิด-19 "ถ้าไม่มีล็อกดาวน์". แหล่งที่มา : https://www.pptvhd36.com. สืบค้นเมื่อ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔

 


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >